Dumbo

Dumbo (1941) hollywood : Walt Disney ♥♥♥

ลูกช้างขี้เมาตัวนี้ช่างน่ารักน่าชัง สดใสซื่อบริสุทธิ์ ไร้เดียงสาเสียเหลือเกิน แต่ผู้ใหญ่รับชมแล้วคงกุมขมับ นี่มันโคตรหนัง Racist เหยียดทั้งเพศ ชนชั้น สีผิว ทุกความแตกต่าง อนิเมชั่นเรื่องนี้เหมาะกับเด็กตรงไหน?

ในบรรดาภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Walt Disney ที่โดยส่วนตัวมองว่าเลวร้ายบัดซบสุด ก็คือ Dumbo ผมไม่เคยรับชมตอนยังเป็นเด็ก แต่ครั้งหนึ่งสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เริ่มรู้ตัวตั้งแต่ฉากฝูงช้างสาวไฮโซหันหลังปฏิเสธไม่ยอมรับลูกช้าง เลวร้ายสุดๆก็ตอนเมา และยังอีกาสีดำอีก (แทนด้วยคนผิวสี) ต่อให้คุณภาพระดับ RARE-Gendary ด้วยสันดานของผู้สร้างที่มองตนเองเป็น ‘White Supremacy’ แบบนี้จะให้วางตัวเป็นกลางได้อย่างไร

ถ้าคุณดูหนังแบบ Dumbo (มาจากคำว่า Dumb แปลว่า โง่งี่เง่า) ทำตัวไร้เดียงสา มีหูใหญ่โตแต่มิเคยใช้รับฟัง กลับนำมาปิดตาไม่สนใจ ต้องการเพียงความสนุกสนานบันเทิงฉาบหน้า ก็เท่ากับส่งเสริมสนับสนุนโดยไม่รู้ตัว เด็กๆที่ดูแล้วชื่นชอบหลงใหล พวกเขาถูก ‘ปลูกฝัง’ ทัศนคติผิดๆนี้ไปเรียบร้อยแล้วนะครับ

สิ่งสร้างความตกตะลึงให้ผมอย่างที่สุดคือ Dumbo ออกฉายในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วประสบความสำเร็จทำกำไรคืนทุนได้ นี่แปลว่าชาวอเมริกันต่างมีทัศนคติอันดีต่ออนิเมะเรื่องนี้ เกิดความพึงพอใจผ่อนคลาย ว่าไปหาใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะชาวชาตินี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานต่อการ ‘เหยียดหยาม’ ผู้อื่นอยู่แล้ว

Walter Elias Disney (1901 – 1966) ผู้บุกเบิกวงการอนิเมชั่นของอเมริกา เกิดที่ Chicago, Illinois, ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านการวาดรูป โตขึ้นทำงาน Commercial Illustrator เริ่มเก็บเงินได้ย้ายไป California ร่วมกับพี่ชาย Roy ก่อตั้ง Disney Brothers Studio ทำอนิเมชั่นขนาดสั้นออกมาหลายเรื่อง ปี 1928 สร้างตัวละคร Mickey Mouse ครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จล้นหลาม ต่อยอดด้วยควบคุมงานสร้าง เบื้องหลังภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรก Snow White and the Seven Dwarfs (1937) เปิดประตูสู่ยุคสมัย ‘Golden Age of Animation’

ทศวรรษของยุคทองอนิเมชั่น มีภาพยนตร์ทั้งหมด 5 เรื่อง ที่กลายเป็นตำนานของ Walt Disney ประกอบด้วย Snow White and the Seven Dwarfs (1937), Pinocchio (1940), Fantasia (1940), Dumbo (1941) และ Bambi (1942) [บางที่จะไม่นับ Bambi เพราะออกฉายในช่วง WWII เกิดขึ้นแล้ว แต่โปรดักชั่นเริ่มขึ้นก่อนหน้านั้นหลายปีเลย]

Dumbo the Flying Elephant เป็นหนังสือเด็กที่เขียนโดย Helen Aberson วาดภาพโดย Harold Pearl ต้นฉบับวางขายปี 1939 เป็น Roll-A-Book มีลักษณะเป็นกล่องที่สามารถหมุนๆแล้วเลื่อนเปลี่ยนหน้าได้ จำนวน 8 ภาพวาด/หน้ากระดาษ (นึกไม่ออกก็สังเกตดูจากรูป ของจริงหาไม่ได้แล้ว) ของเล่นชนิดนี้มีความสร้างสรรค์ดีนะ แต่คงจะใช้ยากน่าดู เพราะเมื่อต้องการย้อนกลับไปอ่านหน้าแรกๆ ก็ต้องหมุนๆๆกลับสถานเดียว, ส่วนฉบับที่กลายเป็นหนังสือเด็ก วางขายปี 1941 จำนวน 36 หน้ากระดาษ

เมื่อปลายปี 1939 นาย Disney ได้มีโอกาสพบเห็นต้นแบบ Roll-A-Book เล่มนี้ เกิดความชื่นชอบประทับใจ พบเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างภาพยนตร์ เลยขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงโดยทันที ตอนแรกตั้งใจให้เป็นอนิเมะขนาดสั้น เพราะเรื่องราวแทบจะไม่มีอะไรเลย แต่ไปๆมาๆเปลี่ยนใจเป็น Feature-Length ตามการโน้มน้าวของสองนักเขียนบท Dick Huemer กับ Joe Grant

ความล้มเหลวไม่ทำเงินของ Pinocchio (1940) กับ Fantasia (1940) ส่งผลกระทบกระเทือนต่ออนิเมะเรื่องนี้พอสมควร สองนักเขียนจึงพัฒนาบทด้วยการแบ่งออกเป็นตอนๆ (ตามแต่ละภาพของ Roll-A-Book) เพื่อสามารถแยกโปรดักชั่นออกเป็นส่วนๆ ในกรณีถ้าทุนไม่พอหรือสร้างไม่เสร็จ จะสามารถนำออกฉายเป็นตอนสั้นๆ แยกจากกันได้

สำหรับผู้กำกับของอนิเมะเรื่องนี้ มีด้วยกัน 6+1 คน
– Ben Sharpsteen เป็น Supervising Director
– Samuel Armstrong เป็น Sequence Director
– Norman Ferguson เป็น Sequence Director กำกับตอน Pink Elephants on Parade
– Wilfred Jackson เป็น Sequence Director
– Jack Kinney เป็น Sequence Director
– Bill Roberts เป็น Sequence Director
+1 John Elliotte เป็น Sequence Director แต่ไม่ได้รับเครดิตเพราะฉากนั้นถูกตัดออกไป

เรื่องราวของ Jumbo Jr. ลูกช้างได้รับการขนานนามว่า Dumbo เพราะเกิดมามีใบหูใหญ่โตผิดปกติ ทำให้ถูกหัวเราะเยาะเย้ย หลังจากแยกจากอ้อมอกแม่ ถูกฝูงช้างสาวไฮโซกีดกันไม่ให้เข้าพวก กลายเป็นตัวตลกของคณะละครสัตว์ ใช้ปมด้อยของตนเองเป็นจุดขาย ได้รับการช่วยเหลือจากหนูน้อย Timothy Q. Mouse (พากย์เสียงโดย Edward Brophy) สนับสนุน ผลักดัน ค้นพบความสามารถพิเศษของช้างน้อย จนมีโอกาสพบเจอหน้าแม่อีกครั้ง

Dumbo เป็นตัวละครที่ 3 ในอนิเมชั่นของ Disney ไม่มีบทพูดสักประโยค ถัดจาก Dopey เรื่อง Snow White and the Seven Dwarfs และ Gideon เรื่อง Pinocchio (แต่คือตัวเอกแรกที่ไม่มีบทพูด)

หูใหญ่ คงเป็นสัญลักษณ์ของการรับรู้ รับฟัง เชื่อคนง่าย ทำให้ถูกชักจูงนำพาไปไหนก็มิอาจขัดขืน แถมพูดไม่ได้ คือไร้สิทธิ์ออกเสียง แสดงความคิดเห็น หรือเป็นตัวของตนเอง, ผมมองนัยยะของตัวละครนี้ คือตัวแทนของอเมริกันชนเด็กรุ่นใหม่ (สมัยนั้น) พบเจอกับความชั่วร้ายต่างๆมากมายของโลก ถึงมันไม่ค่อยน่าอยู่เท่าไหร่ แต่ตราบใดมีเพื่อนแท้ย่อมได้รับการชี้ชักนำไปสู่อนาคตที่สดใสได้

Timothy Quentin Mouse (นี่เป็นชื่อที่ปรากฎขึ้นในเครดิตช่วงท้าย ระหว่างเรื่องจะไม่มีการขนานนาม) สวมชุด The Ringmaster สีแดง พบเจอครั้งแรกกำลังแกะกินถั่ว พอได้ยินฝูงช้างสาวไฮโซไม่รับช้างน้อยเข้าพวก Timothy เลยตัดสินใจเดินเข้าไปกลั่นแกล้งพวกเธอ (นี่เป็นความเชื่อของชาวตะวันตก ที่ว่าช้างมักกลัวหนู แต่ความจริงไม่เลยนะ) แล้วทำการช่วยเหลือผลักดัน Dumbo ให้สามารถเติบโตและดูแลตนเองได้

ปกติแล้ว หนู มักเป็นสัตว์สัญลักษณ์แทนด้วยความชั่วร้าย หนอนบ่อนไส้ ผู้คิดคดทรยศ แต่ในอนิเมชั่นของ Disney มักจะมีลักษณะตรงกันข้าม เพราะเมื่อเทียบขนาดกับช้าง ตัวกระจิดริดแต่มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เข้าสำนวน ‘เล็กพริกขี้หนู’ ทำตัวคล้ายจิตสำนึกของตัวละคร (คล้ายกับ Jiminy Cricket มากๆเลยละ)

เกร็ด: Timothy ต้องถือว่าเป็นตัวละครมีแบบอย่างจาก Jiminy Cricket เรื่อง Pinocchio (1940) แต่เดิมใน Roll-A-Book เป็นนกสีแดงชื่อ Red Robin

เกร็ด 2: มีประโยคคำหนึ่งของ Timothy พูดว่า ‘Lots of people with big ears are famous!’ นี่หมายถึงนักแสดง Clark Gable ที่มักถูกล้อเรื่องหูใหญ่อยู่เป็นประจำ

Elephant Matriarch (พากย์เสียงโดย Verna Felton) ผู้นำฝูงช้างสาวไฮโซ มีท่าทางหยิ่งยโสโอหัง ถือตัวเป็นผู้ดีชนชั้นสูง รับไม่ได้เมื่อเห็น Dumbo มีรูปลักษณะแปลกประหลาดอัปลักษณ์ ประพฤติปฏิบัติตัวนอกคอก สร้างความโกลาหลปั่นป่วนให้กับฝูง ขายหน้าประชาชี จึงประกาศกร้าวไม่ยินยอมรับลูกช้างน้อยเป็นพวกเดียวกันตน ขณะที่เมื่อพบเจอกับ Timothy หนูตัวเล็กๆ ปฏิกิริยาของเต็มไปด้วยอาการรังเกียจ หวาดกลัว ขยะแขยง รุนแรงรับไม่ได้ยิ่งกว่า

ในกรณีของ Dumbo เปรียบก็คือเกิดมามีชนชั้นวรรณะเดียวกัน แต่ทำตัวนอกคอกจึงถูกขับไล่ไสส่ง ขณะที่ Timothy คือเกิดมามีศักดิ์ฐานะชนชั้นต่ำกว่า ยินยอมรับไม่ได้ตั้งแต่แรกพบเจอ, อาการปฏิเสธต่อต้านไม่ยินยอมรับผู้อื่น ทั้งๆที่ก็เผ่าพันธุ์พวกเดียวกัน นี่คือการเหยียด (Racism) ซึ่งตัวละครนี้มองได้ทั้งประเด็นชนชั้น และเพศหญิง

Jim Crow (พากย์เสียงโดย Cliff Edwards) ผู้นำฝูงอีกาปากดี ก็ไม่รู้คาบหมาไว้กี่ตัว ชอบพูดเพ้อเจ้อ ยั่วยุท้าทาย เอาจริงๆกลับป๊อดปอดแหก ขลาดเขลาเสียนี่กระไร แต่เพราะด้วยเหตุนี้ทำให้ช้างน้อย Dumbo ได้ค้นพบความสามารถพิเศษของตนเอง

อีกาตัวดำ ดีแต่ปาก พูดสำเนียง African-America (โดยนักพากย์ผิวสี) ก็แน่ละตัวแทนของคนผิวสี ไม่ได้มีอะไรดีแต่ชอบทำตัวอหังการ ฝักใฝ่นิยมเฉพาะพวกเดียวกันเอง ช่วงทศวรรษนั้นกระแสรณรงค์เรียกร้องความเท่าเทียมเสมอภาคกำลังเร่าร้อนรุนแรงมากๆ นี่เป็นการแสดงทัศนะของนาย Walt Disney ว่าคนพวกนี้ ‘ดีแต่ปาก’

ด้วยทุนสร้างที่มีจำกัด Ben Sharpsteen ผู้เป็น Supervising Director จึงพยายามลดรายละเอียดอันเลิศหรูหราอลังการ ฟุ่มเฟือย และเสียเวลาทำงาน ออกแบบตัวละครง่ายๆไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมาก พื้นหลังใช้การลงสีน้ำง่าย (Watercolor) ทุ่มให้เวลากับแผนกอนิเมเตอร์ศึกษาการเคลื่อนไหวของสัตว์ชนิดต่างๆ มีการนำช้างและสัตว์อื่นๆเข้ามาในสตูดิโอเพื่อสังเกตการณ์ เป็นแบบอย่างให้กับการวาดภาพ

รายละเอียดสมจริง การเคลื่อนไหวอันเป็นธรรมชาติของอนิเมชั่นใน Dumbo ได้รับการยกย่องว่า ‘the greatest accomplishments in American animation’

เกร็ด: มีอนิเมชั่นของ Disney เพียงสองเรื่องที่วาดพื้นหลังด้วยสีน้ำ คือ Snow White กับ Dumbo

ระหว่างโปรดักชั่นของ Dumbo มีเหตุการณ์ประท้วงหยุดงานของ Herbert Sorrell ผู้นำ Screen Cartoonist’s Guild เรียกร้องให้ Disney เซ็นข้อตกลงร่วมกับสภาพของตน ประเด็นหลักๆคือเรื่องค่าแรง สวัสดิการ ของอนิเมเตอร์/ศิลปินระดับล่าง แต่นาย Disney ปฏิเสธไม่เซ็นด้วยถึงสองครั้งครา ทำให้ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 1941 ทุกคนเลยนัดกันหยุดงาน รวมกลุ่มแต่งหน้าตัวตลก ‘Hit the Big Boss for a Raise’ ห้าสัปดาห์ผ่านไป จบลงด้วยการจับมือคืนดียิ้มร่ากันทุกฝ่าย

ด้วยเหตุนี้เลยมีฉากหนึ่งของกลุ่มตัวตลก หลังจากประสบความสำเร็จกับการแสดงชุดใหม่ ชักชวนกันไปขอขึ้นเงินเดือนหัวหน้า ใช้คำว่า ‘Hit the Big Boss for a Raise’ ตรงๆเลยนะ, ไดเรคชั่นของฉากนี้ธรรมดาที่ไหนกัน พวกเขาเหล่านี้คือตัวตลก เราจะเห็นตอนแต่งหน้าขาวโพลนจมูกแดง แต่เมื่อล้างออกหลังการแสดง นี่คือมากสุดมองเห็นเพียง ‘เงา’ เพราะพวกเขาถือว่าไม่มีตัวตน ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาวาดหน้า ประหยัดงบลงได้อีก

ถึงจุดเริ่มต้นของ Pink Elephants on Parade จะเป็นอะไรที่บ้าคลั่งเสียสติแตกพอสมควร ช้างน้อยดื่มเบียร์จนเมามายแล้วเห็นภาพหลอนล่องลอย แต่ก็อดไม่ได้จะต้องชมว่าคือ Sequence ที่เป็น Masterpiece ของอนิเมชั่นเรื่องนี้เลย เด็กๆเห็นแล้วเก็บไปฝันร้ายอย่างแน่นอน

ความลื่นไหลของการเปลี่ยนแปรสภาพไปเรื่อยๆของช้างสีชมพู เป็นอะไรที่ลึกล้ำ ตราตรึง เหนือจินตนาการมากๆ ให้สัมผัสของความมึนเมา ล่องลอย ชวนให้เคลิบคลิ้ม (Psychedelic) ราวกับถูกสะกดจิต

เพลงประกอบโดย Frank Churchill กับ Oliver Wallace โดดเด่นทั้ง Soundtrack และบทเพลงขับร้อง ให้สัมผัสของดนตรีคณะละครสัตว์ มีความสนุกสนานเพลิดเพลิน ตื่นเต้นเร้าใจ แต่เมื่ออารมณ์เศร้าโศก โหยหา คำนึงถึง ก็มีความลึกซึ้งกินใจ

ไฮไลท์ของบทเพลงคำร้องคือ Baby Mine แต่งทำนองโดย Frank Churchill คำร้องโดย Ned Washington ขับร้องโดย Betty Noyes ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Song

อารมณ์ของบทเพลงนี้ เอ่อล้นด้วยความครุ่นคิดถึง คำนึงโหยหา เป็นลักษณะของ Lullaby กล่อมเด็กน้อยเข้านอน พอเห็นคู่แม่ลูกของสัตว์ชนิดต่างๆที่ได้อยู่ใกล้ๆกัน เว้นเพียง Jumbo กับ Dumbo หลายคนคงน้ำตาคลอเบ้า คิดถึงแม่ขึ้นมา

Dumbo คือเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต พบเจอผู้คนดีชั่ว เรียนรู้ทดลองค้นหา พบเจออัตลักษณ์ตัวตนเอง เพื่อให้สามารถมีชีวิตเอาตัวรอดได้เอง ในโลกอันกว้างใหญ่ที่แสนโหดร้าย

โลกอันกว้างใหญ่ใน Dumbo เต็มไปด้วยความชั่วร้ายนานับประการ
– ฝูงช้างสาวไฮโซ ชอบดูถูกเหยียดหยามกีดกั้นผู้อื่น
– เหล่าตัวตลก สนแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง
– เบียร์/ของมึนเมา ก่อให้เกิดภาพหลอนอันตราย
– ฝูงอีกา ดีแต่พูดจาหมาเต็มปาก
ฯลฯ

เมื่อใดสามารถอดทน ฝืนกั้น ดิ้นรนก้าวข้าวผ่านความชั่วร้ายต่างๆนานาเหล่านี้ไปได้ ก็จะพบเจอทางออกของชีวิต เอาตัวรอดในโลกว้างนี้ได้ด้วยตนเอง และเมื่อนั้นไม่ว่าจะอยากได้ต้องการอะไร ก็สำเร็จลุล่วงสมปรารถนา

พล็อตแบบนี้ ดูแล้วก็ไม่ได้มีความเลวร้ายประการใด แต่การแทนสิ่งสัญลักษณ์ต่างๆของนาย Disney บ่งบอกถึงตัวตน ลักษณะนิสัยของเขา หาได้บริสุทธิ์ใจจริงไม่
– พวกคนที่ชอบดูถูกเหยียดหยามกีดกั้น คือไฮโซผู้ดี ชนชั้นสูง และอิสตรี
– ตัวตลกก็คือพวกลูกจ้างคนทำงานใตัสังกัด สนแต่เงินๆทองๆความสะดวกสบายของตนเอง
– เพราะช้างไม่ใช่มนุษย์ เสพสิ่งของมึนเมาโดยไม่ผิดกฎหมายใดๆ
– คนผิวสี มันก็ดีแต่พูดเห่า เอาเข้าจริงขาดเขลาไม่กล้าทำอะไร

นี่คือโลกที่นาย Disney นำเสนอ ตีแผ่ สะท้อนออกมาเป็นเรื่องราวเพื่อเสี้ยมสั่งสอนเด็กๆชาวอเมริกัน ถ้าอยากเติบโตขึ้นเป็นผู้ชนะ เอาตัวรอดเองได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งต้องทำตัวไร้เดียงสา ปิดหูปิดตาไม่ต้องไปสนใจ เหยียบย้ำ ก้าวข้ามผ่านให้ได้เป็นพอ ก็จะพบเจอมีอนาคตอันสดใส

ประหยัดสุดๆแล้ว แต่ยังใช้ทุนสร้างไปถึง $814,000 เหรียญ ทำเงินประมาณ $2.5 ล้านเหรียญในการออกฉายครั้งแรก ถือว่าได้กำไรคืนมาพอสมควร (มากกว่ารายรับของ Pinocchio กับ Fantasia สองเรื่องรวมกันเสียอีก)

เข้าชิง Oscar สองสาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Music, Scoring of a Musical Picture ** คว้ารางวัล
– Best Music, Original Song บทเพลง Baby Mine

เมื่อปี 1947 ได้ออกฉายยังเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Prix du meilleur dessin animé หรือ Best Animation Design น่าจะเป็นครั้งแรกครั้งเดียวที่มีการมอบรางวัลนี้

ถ้าตัดประเด็นอคติ ความเหยียดทั้งหลายออกไป Dumbo ถือว่าเป็นอนิเมชั่นที่เจ๋งมากๆ โดดเด่นในแง่การสร้าง ไดเรคชั่น อนิเมชั่น และเพลงประกอบ ระดับสมบูรณ์แบบ แต่เมื่อ’โลก’มันเต็มไปด้วยความชั่วร้ายเหล่านี้ ผมคงได้แต่ส่ายหัวทำใจ ตราหน้าว่าคืออนิเมชั่นสุดอันตรายเรื่องหนึ่ง ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้เด็กเล็กได้รับชม

เกร็ด: Dumbo คืออนิเมชั่นเรื่องที่นาย Walt Disney ชื่นชอบสุดในโปรดักชั่นของตนเองด้วยนะครับ น่าจะพอคาดเดากันได้อยู่แล้วว่าเพราะอะไร

เช่นกันผู้กำกับ John Lasseter ชื่นชอบระดับอนิเมชั่นเรื่องโปรด เมื่อปี 2006 มีสนใจอยากสร้างภาคต่อ Dumbo II ให้สองเพื่อนรักตกรถไฟพลัดหลงเข้าไปในเมืองใหญ่ โชคดีที่ไร้ความคืบหน้าใดๆ แต่กลับกลายเป็นฉบับ Live-Action โดยผู้กำกับ Tim Burton ออกฉายปี 2019 จินตนาการไม่ออกเลยทีเดียวว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

แนะนำกับคออนิเมชั่นคลาสสิก สังกัด Walt Disney Picture, ศิลปิน อนิเมเตอร์ที่ทำงานด้านนี้, ผู้ชื่นชอบคณะละครสัตว์ การแสดงช้าง, และหลงใหลในความเป็นอเมริกันชน ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ นี่คือช่วงวัยที่สามารถทำความเข้าใจประเด็นเหยียดได้แล้ว

TAGLINE | “Dumbo อนิเมชั่นจาก Walt Disney แม้จะมีความยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ แต่แอบแฝงความชั่วร้ายบริสุทธิ์ ดูจบแล้วก็จะ Dumb เหมือนช้างน้อย”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | WASTE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: