E.T.

E.T. the Extra-Terrestrial (1982) hollywood : Steven Spielberg ♥♥♥♥

เพื่อนรักจากต่างดาว คือด้านมืดของเด็กชาย (และผู้กำกับ Steven Spielberg) ที่ยังไม่สามารถปรับตัวต่อการสูญเสียพ่อ เลยสร้างเพื่อนในจินตนาการเพื่อทดแทนความรู้สึกขาดหาย ค่อยๆเรียนรู้จักชีวิต พบเจอมิตรภาพ เข้าใจการสูญเสีย พิสูจน์ตนเองจนสามารถลุกขึ้นและก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้เอง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ขณะที่ฉากโมเสสแหวกทะเลแดงใน The Ten Commandments (1956) ได้รับการกล่าวขวัญ ‘Greatest Special Effect of All Time’, ภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากที่ Elliott และ E.T. ปั่นจักรยานเหินผ่านพระจันทร์เต็มดวง ถูกเรียกว่า ‘The Most Magical Moment in Cinema History’

E.T. the Extra-Terrestrial คือภาพยนตร์สุดมหัศจรรย์อันทรงคุณค่า เอ่อล้นด้วยจินตนาการเพ้อฝัน ที่ไม่ใช่แค่เหมาะสำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ยังสามารถอึ้งทึ่งตราตรึงไปกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ และไดเรคชั่นของ Steven Spielberg ทำให้ได้รับฉายา ‘พ่อมดแห่งวงการภาพยนตร์’

แต่มาครุ่นคิดดู E.T. the Extra-Terrestrial เป็นภาพยนตร์ที่โคตรจะดาร์ก/มืดหม่นมากๆเลยนะ นำเสนอสภาพจิตใจอันหดหู่ซึมเศร้าของเด็กชาย แถมหน้าตาสิ่งมีชีวิตต่างดาว E.T. ก็โคตรอัปลักษณ์พิศดาร น่ารังเกียจขยะแขยงเหลือทน แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับเด็กๆ(และผู้ใหญ่)สมัยนั้น ถึงได้ตกหลุมรักคลั่งไคล้อย่างหัวปลักหัวปลำ

การมาถึงของสงครามเย็น ทำให้ร่องรอยต่อระหว่างดี-ชั่ว ถูก-ผิด ค่อยๆเลือนลางจางหายไป รูปสวยใช่ว่าข้างในจะงดงาม เฉกเช่นเดียวกับภายนอกโคตรอัปลักษณ์พิศดาร แต่จิตใจอาจเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์สดใส … นี่น่าจะเป็นสาเหตุผลสำคัญหนึ่งที่ทำให้ E.T. the Extra-Terrestrial กลายเป็นผลงานที่ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าวงการภาพยนตร์ และทุบสถิติทำเงินสูงสุดตลอดกาลขณะนั้นของ Star Wars (1977)


Steven Allan Spielberg (เกิดปี 1946) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เจ้าของฉายา ‘พ่อมดแห่งวงการภาพยนตร์’ เกิดที่ Cincinnati, Ohio, ครอบครัวนับถือ Orthodox Jewish ปู่ทวดอพยพจากประเทศ Ukrane ชื่นชอบเล่าอดีตพี่น้องหลายสิบของตนต้องสูญเสียชีวิตในค่ายกักกัน (นั่นคือเหตุผลที่ปู่ทวดอพยพย้ายสู่อเมริกา), ตั้งแต่เด็กมีความสนใจเล่นถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยกล้อง 8mm จาก 9 นาทีกลายเป็น 40 นาที พออายุ 16 สร้างภาพยนตร์ไซไฟ 140 นาทีเรื่อง Firelight (เป็นแรงบันดาลใจให้ Close Encounter) ทุนสร้างจากครอบครัว $500 เหรียญ ออกฉายโรงภาพยนตร์แถวบ้าน ได้ทุนคืนทั้งหมดในรอบฉายเดียว, หลังเรียนจบมัธยมปลาย มุ่งสู่ Los Angeles เข้าเรียน California State University, Long Beach ระหว่างนั้นเป็นเด็กฝึกงานที่ Universal Studios มีโอกาสถ่ายทำภาพยนตร์ 35mm ขนาดสั้นเรื่อง Amblin’ (1968) คว้ารางวัลมากมาย แถมยังไปเข้าตารองประธานสตูดิโอขนาดนั้น Sidney Sheinberg จับเซ็นสัญญา 7 ปี ดรอปเรียนจากมหาวิทยาลัยโดยพลัน

ช่วงแรกๆในวงการ เริ่มทำงานเป็นผู้กำกับซีรีย์โทรทัศน์ ไม่นานนักสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Sugarland Express (1974) แม้คำวิจารณ์ค่อนข้างดีแต่ไม่ทำเงินเท่าไหร่ ตามด้วย Jaws (1975) แม้ประสบปัญหามากมาย ทุนสร้างบานปลาย แต่กลับทำเงินถล่มทลายมากมายมหาศาล ผลงานถัดมา Close Encounters of the Third Kind (1977), 1941 (1979), Raiders of the Lost Ark (1981)

เมื่อปี 1978, Spielberg ประกาศว่าจะทำโปรเจคชื่อ Growing Up ภาพยนตร์อัตชีวประวัติของตนเอง โดยนำเรื่องราวช่วงชีวิตวัยเด็ก เมื่อตอนพ่อ-แม่ เลิกราหย่าร้าง จิตใจของเขาเต็มไปด้วยความเวิ้งว้างว่างเปล่า จึงสร้างเพื่อนในจินตนาการเป็นเอเลี่ยนต่างดาว

“[alien was] a friend who could be the brother [he] never had and a father that [he] didn’t feel [he] had anymore”.

– Steven Spielberg

แต่ความล่าช้าของ 1941 (1979) ทำให้ Spielberg ไม่มีเวลาว่างหลงเหลือเพียงพอ จำต้องออกเดินทางไป Tunisia เพื่อเริ่มโปรดักชั่น Raiders of the Lost Ark (1981) แต่ระหว่างถ่ายทำมีเวลาว่างเหลือเยอะ เลยนำบทหนัง Night Skies เคยครุ่นคิดคร่าวๆไว้กับ John Sayles เพื่อเป็นภาคต่อของ Close Encounters of the Third Kind (1977) มาปัดฝุ่นปรับปรุงใหม่กับ Melissa Mathison เรื่องราวของมนุษย์ต่างดาวเป็นเพื่อนกับเด็กชายออทิสติก และตอนจบตัดสินใจออกเดินทางไปนอกโลกด้วยกัน

Spielberg ประทับใจบทร่างแรกของ Mathison เป็นอย่างมาก นำไปเสนอสตูดิโอ Columbia Picture แต่ผู้บริหารขณะนั้น Marvin Atonowsky มองว่าภาคต่อของ Close Encounters of the Third Kind มีความจำเพาะกลุ่มเกินไป ดูแล้วไม่น่าจะทำเงินสักเท่าไหร่ แถมยังเรียกว่า ‘a wimpy Walt Disney movie’ เลยบอกปัดปฏิเสธไม่สนหัว

หลังจากนั้นมีการปรับแก้ไขบทเพิ่มเติม และตัดสินใจไม่เชื่อมโยงให้เป็นภาคต่อของ Close Encounters of the Third Kind พอนำไปเสนอ Universal Studios อนุมัติทุนสร้าง แถมด้วยค่าลิขสิทธิ์บทหนังสูงถึง $1 ล้านเหรียญ และ Spielberg ต่อรองได้อีก 5% กำไรหนัง

เรื่องราวมีพื้นหลัง San Fernando Valley, เด็กชายวัยสิบขวบ Elliott (รับบทโดย Henry Thomas) พานพบเจอบางสิ่งอย่างในโรงเก็บของ พยายามพูดบอกแม่ Mary (รับบทโดย Dee Wallace), พี่ชาย Michael (รับบทโดย Robert MacNaughton) และน้องสาว Gertie (รับบทโดย Drew Barrymore) ก็ไม่มีใช่ใคร่เชื่อถือ จนกระทั่งใช้ลูกกวาด Reese’s Pieces โปรยทานเรี่ยราดให้เจ้าสิ่งนั้นติดตามเข้ามาหา จนได้ค้นพบว่าคือมนุษย์ต่างดาวตั้งชื่อ E.T. จึงนำมาหลบซ่อนเร้นไว้ในห้องนอน ยังตู้เสื้อผ้าของตนเอง

E.T. เป็นมนุษย์ต่างดาวที่พลัดพรากจากยานแม่ กำลังถูกมนุษย์/ผู้ใหญ่ไล่ล่าติดตามตัว แม้ไม่ทราบจุดประสงค์แต่มีแนวโน้มไม่ใช่เรื่องดีงาม การพานพบเจอ Elliott ทำให้ค่อยๆเรียนรู้จักโลก ประสานจิตวิญญาณ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ขณะเดียวกันก็เริ่มครุ่นคิดวิธีติดต่อสื่อสาร ประดิษฐ์เรดาร์จานดาวเทียม คาดหวังว่าเพื่อนๆจะหวนมารับเขากลับสู่บ้านของตนเองก่อน … จะมีเหตุอันใดเป็นไป


Henry Jackson Thomas Jr. (เกิดปี 1971) นักแสดง/นักดนตรี สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Antonio, Texas ระหว่างเข้าเรียน East Central High School ได้มีโอกาสมาคัดเลือกนักแสดง E.T. the Extra-Terrestrial (1982) นำเอาความรู้สึกที่สุนัขตัวโปรดเพิ่งเสียชีวิต ถ่ายทอดออกมาจากผู้กำกับ Spielberg ร่ำร้องไห้ เลยมอบบทบาทแจ้งเกิดโด่งดังที่สุดในชีวิตให้

รับบท Elliott เด็กชายวัยสิบขวบ แม้ดูมีชีวิตปกติสุขแต่เบื้องลึกยังเก็บกดต่อการจากไปของพ่อ เรียกร้องความสนใจต่อไม่มีใครใคร่เหลียวแล จนกระทั่งได้พบเจอ E.T. มีสายสัมพันธ์จิตวิญญาณร่วมกัน เรียนรู้จัก’เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ และต้องการช่วยเหลือเพื่อนรักได้มีโอกาสกลับบ้านของตนเอง

แซว: ชื่อเรียก E.T. ก็มาจากอักษรตัวแรกและสุดท้ายของ Elliott

ตัวละครนี้ถือได้ว่าเป็นตัวแทนผู้กำกับ Spielberg เมื่อครั้นเยาว์วัย นิสัยค่อนข้างจะดื้อรั้นเอาใจ แต่ผู้ชมจักยินยอมให้อภัยเพราะเด็กๆมักทำสิ่งต่างๆไปด้วยความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา เฉกเช่นเดียวกับ Elliott ดวงตาค่อนข้างใสซื่อ ซึ่งผมว่าบื้อไปด้วยซ้ำ ขาดมิติด้านมืดที่สมควรปรากฎพบเห็น ใช้ภาษาภาพยนตร์กลบเกลื่อนบดบัง … คงกลัวว่านักแสดงเด็ก อาจแสดงไม่สมจริงเทียบเท่าผู้ใหญ่

ชีวิตหลังจากนี้ของ Thomas ยังอยู่ในวงการตราบจนปัจจุบัน แต่กลายเป็นนักแสดงสมทบ/เกรดบี ที่ไม่ค่อยมีใครจดจำสักเท่าไหร่ ขณะเดียวกันยังพัฒนาความสนใจด้านการเล่นกีตาร์ ตั้งวง The Blue Heelers และออกอัลบัมเพลง


สำหรับ E.T. ย่อมาจาก Extra-Terrestrial สิ่งมีชีวิตต่างดาวจากนอกโลกอายุ 10 ล้านปี สรรค์สร้างขึ้นโดย Carlo Rambaldi (1925 – 2012) นักออกแบบ Special Effect สัญชาติอิตาเลี่ยน ผลงานเด่นๆก่อนหน้านี้คือ King Kong (1976), Close Encounters of the Third Kind (1977) และ Alien (1980)

แรงบันดาลใจใบหน้าของ E.T. คือส่วนผสมระหว่าง Carl Sandburg, Albert Einstein, Ernest Hemingway และสุนัขพันธุ์ปั๊ก (แต่ผมว่าคล้ายโยดา จาก Star Wars มากกว่านะ) สร้างขึ้นมา 4 หัวให้สามารถขยับเคลื่อนไหวแสดงสีหน้าปฏิกิริยา (Facial Expressions), กระพริบดวงตาโตสีฟ้า (Big Eye), ส่วนคอโยกขึ้นลงด้วย Animatronic และครอบสวมใส่โดยคนแคระ Tamara De Treaux, Pat Bilon และเด็กชายพิการไร้ขา อายุ 12 ขวบ Matthew DeMeritt ความสูง 2’10” สังเกตว่าเวลาเดินช่างดูเหมือนนกเพนกวิ้นเหลือเกิน

เกร็ด: ราคาของหุ่น E.T. คือ $1.5 ล้านเหรียญ ใช้เวลาสร้าง 3 เดือนเต็ม

สำหรับผู้พากย์เสียง E.T. อันโคตรเป็นเอกลักษณ์คือ Patricia Anderson Welsh (1915 – 1995) นักพากย์รายการวิทยุ Soap Opera, เพื่อให้ได้เสียงดังกล่าวออกมา เธอต้องสูบบุหรี่อัดควันเข้าไปในลำคอถึงสองแพ็ก และใช้เวลาเข้าห้องอัด 9 ชั่วโมงครึ่ง รับค่าจ้างเพียง $380 เหรียญ

เกร็ด: George Lucas ยังว่าจ้างเธอมาให้เสียง Boushh เรื่อง Return of the Jedi (1983)

ถ่ายภาพโดย Allen Daviau (เกิดปี 1942) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ Spielberg ช่วงแรกๆ ผลงานเด่นอาทิ The Color Purple (1985), Empire of the Sun (1987), Avalon (1990), Bugsy (1991) ฯ

สถานที่ถ่ายทำหลักๆคือ San Fernando Valley ทางตอนเหนือของ Los Angeles โดยใช้ชื่อกองถ่าย A Boy’s Life เพื่อปกปิดรายละเอียดหนังไม่ให้ความลับรั่วไหล ซึ่งทีมงานทุกคนต้องมีบัตรผ่าน ID Card สำหรับเข้าออก นักแสดงไม่ได้ครอบครองบทหนัง และการถ่ายทำแบบไล่เรียงลำดับ (Chronological Order) เพื่อเด็กๆจักสามารถแสดงด้วยความต่อเนื่อง

จุดเด่นของการถ่ายภาพ คือมุมกล้องที่มักสูงแค่ระดับสายตาของ Elliott หรือไม่ก็ E.T. ทำให้หลายครั้งมองไม่ค่อยเห็นใบหน้าผู้ใหญ่ (หรือไม่ก็ปกคลุมด้วยความมืดมิดแบบช็อตนี้) ซึ่งถือเป็นการแทน ‘มุมมอง’ เด็กๆในการดำเนินเรื่อง

สถานที่พบเจอครั้งแรกระหว่าง Elliott และ E.T. คือโรงเก็บของที่ใครก็ไม่รู้เปิดไฟทิ้งไว้สว่างจร้า และจันทรายามค่ำคืนพบเห็นเพียงเศษเสี้ยว (มันคงอีกหลายวันคืนกว่าจะถึงพระจันทร์เต็มดวง)

การจัดแสงไฟในหนังเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่ามันประดิษฐ์ประดอยจนดูผิดเพี้ยนไปกว่าปกติพอสมควร แต่ถ้ามองว่าคือแฟนตาซีในโลกของเด็กๆก็พอที่จะยินยอมให้อภัยได้บ้าง, ดูอย่างช็อตนี้ หลอดไฟกลมบนศีรษะของเด็กชาย ดวงกระเปี๊ยกแทบไม่ให้แสงใดๆ แล้วไฉนในโรงเก็บของกลับส่องสว่างเจิดจรัสจร้าเช่นนั้นได้?

ก็ให้ตีความไปว่า แสงสว่างในโรงเก็บของหรือที่หลบซ่อน E.T. มันคือประกายแห่งความหวังที่สามารถส่องสว่างชีวิตเด็กชายให้เจิดจรัสจร้ากว่าเดิม มันจึงสร้างความลุ่มหลงใหล ใคร่สงสัย อยากล่วงรับรู้ว่าภายในมีอะไรในความผิดปกตินี้

ตามสูตรของหนังสัตว์ประหลาด จะไม่เร่งรีบร้อนเปิดเผยใบหน้าภาพลัลกษณ์แท้จริงของสิ่งมีชีวิตต่างดาว เรื่องนี้ก็เฉกเช่นกัน เริ่มด้วยนิ้วมือค่อยๆยื่นปรากฎมาก่อน จากนั้นโดยไม่ทันตั้งตัวท่ามกลางไร่อ้อย Elliott สาดส่องแสงไฟพบเจอตัวเป็นๆ เพียงไม่กี่เสี้ยววินาทีต่างแสดงอาการตื่นตระหนกตกใจกลัว กรีดร้องลั่น … แต่นี่แค่อารัมบทเพื่อให้ผู้ชมค่อยๆปรับตัวยินยอมรับได้กับความอัปลักษณ์พิศดารของตัวละครนี้

ทำไมต้องท่ามกลางไร่อ้อย? (น่าจะไร่อ้อยใช่ไหม?) ฉากนี้ทำให้ผมนึกถึง Superman ที่พ่อแม่บุญธรรมของ Clark Kent ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าว ไร่อ้อย ซึ่งถือเป็นพืชพันธุ์/วัตถุดิบตั้งต้นของการทำอาหาร, ซึ่งความรกๆของพงไม้ ยังสามารถสื่อถึงสันชาติญาณของสิ่งมีชีวิต หรือค้นพบเจออีกธรรมชาติตัวตนเอง

Elliott จับจ้องมองลอดผ่านเครื่องเล่นชิงช้า พบเห็น E.T. เดินเข้าไปอีกฟากฝั่งของรั้วเหล็ก ซึ่งแสงไฟสีแดงสัญลักษณ์แห่งอันตรายขวางกั้น นั่นทำให้เขาครุ่นคิดวางแผนกระทำการบางอย่าง … แทนที่จะให้ตนเองเดินเข้าไปสู่เขตแดนอันตราย ก็ล่อลวงสิ่งมีชีวิตนั้นให้เดินออกมาหาตน (นี่เรียกว่ากลับตารปัตรในมุมมองความคิดเห็น จุดเริ่มต้นของการ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’)

เดิมนั้นทีมงานติดต่อ Mars Company บริษัทผลิตขนม M&M เพื่อต้องการใช้เป็นขนมหลอกล่อ E.T. แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ผลิตภัณฑ์เพราะมองว่าสิ่งมีชีวิตต่างดาวตัวนี้น่าคงสร้างความหวาดกลัวให้กับเด็กๆ ส่งผลประทบต่อยอดขายให้ตกต่ำลง ด้วยเหตุนี้เลยจำเป็นต้องเปลี่ยนมาเป็น Reese’s Pieces ซึ่งผลลัพท์เมื่อตอนหนังออกฉาย ปรากฎว่ายอดขายถล่มทลาย ถูกกวาดซื้อไปเกร็งราคาจัดจำหน่ายอยู่เป็นปีๆ

นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ผลิตภัณฑ์ Tie-in แล้วส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายสินค้านะครับ ก่อนหน้านี้ก็เรื่อยๆมาเรียงๆ อาทิ
– From Here to Eternity (1953) ทำให้ยอดขายเสื้อฮาวาย ได้รับความนิยมถล่มทลาย
– Superman (1978) ตื่นเช้ามาที่บ้านของหนุ่มน้อย Clark Kent มีกล่อง Cheerio’s® วงอยู่ข้างเตียง
ฯลฯ

โต๊ะรับประทานอาหารบ้านนี้ช่างแปลกพิลึก มีลักษณะสามมุม แบ่งแยกออกเป็นสามกลุ่มตัวละคร
– แม่ Mary และพี่ชาย Michael ถือว่านั่งอยู่ฝั่งผู้ใหญ่ สามารถเรียนรู้ปรับตัวและเข้าใจการจากไปของพ่อ
– Elliott อายุสิบขวบ ถือว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยรุ่น เริ่มเรียนรู้จดจำแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจอะไรๆมากนัก ซึ่งพอพ่อจากไปจึงยังมิอาจปรับตัวยินยอมรับความจริง
– น้องสาว Gertie ยังเด็กเล็กใสซื่อไร้เดียงสา ยังไม่เรียนรู้เข้าใจอะไรเท่านั้น พูดออกมาว่าพ่ออยู่เม็กซิโกแต่กลับไม่รับรู้สึกใดๆ

ผมละอยากเรียก E.T. ว่าหนังนัวร์เสียจริง! สังเกตว่าบ้านหลังนี้ใช้บานเกล็ด ที่พอแสงสว่างสาดส่องเข้ามา พบเห็นเงาอาบฉาบผนังมีลักษณะเหมือนซี่กรงขังคุก ซึ่งสะท้อนถึงจิตใจพวกเขาต่างผูกติดอยู่กับอะไรบางอย่าง ไร้อิสระเสรีภาพในการครุ่นคิดตัดสินใจกระทำ … ซึ่งก็คือการเลิกราจากไปของพ่อ ทำให้ทุกคนในครอบครัวเต็มไปด้วยความผิดหวัง ทุกข์เศร้าโศก แม้มีแสดงออกที่แตกต่าง ก็ยังไม่สามารถปรับตัวเองให้ยินยอมรับวิถีชีวิตต่อจากนี้ได้

มนุษย์ต่างดาวหรือสุนัขว่ะเนี่ย? แค่เพียงโปรยขนม M&M Reese’s Pieces ก็ยินยอมมาตามนัก สังเกตแสงไฟโคตรผิดธรรมชาติที่สาดส่องลงบนดวงตาของเด็กชาย มันมาจากส่วนไหนของโลกกัน … หรือว่าดวงจันทร์?

มือของ E.T. ที่ค่อยๆยื่นเข้ามา เริ่มต้นย่อมทำให้เด็กชายเกิดความตื่นตระหนกหวาดสะพรึง ไม่รู้จะมาดีหรือร้าย แต่พอปล่อยขนม Reese’s Pieces ให้ตกลงพื้น สันชาตญาณทุกคนจะสามารถเข้าใจได้ อร่อยละสิเลยมาขออีก!

เอาจริงๆผมหาไม่เจอช็อตสัมผัสแรกของ Elliott สัมผัสกับ E.T. แบบภาพบนโปสเตอร์ ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดฝาผนัง The Creation of Adam ของ Michelangelo การสื่อสารของทั้งคู่เหมือนจะเริ่มต้นด้วยภาษามือ และวินาทีที่เด็กชายง่วงหงาวหาวนอน ราวกับว่าสายสัมพันธมิตรภาพของทั้งคู่ได้เริ่มต้นเชื่องโยงกันขึ้น

พอจะพบเห็น Easter Egg ในช็อตนี้กันหรือเปล่า??

สถานที่เก็บซ่อนตัวของ E.T. คือตู้เสื้อผ้า/ห้องเก็บเสื้อผ้า … ใครเป็นแฟนหนัง LGBT และ Narnia น่าจะกรี๊ดแตก แต่บริบทนี้มันไม่เชิงว่า Elliott มีความเบี่ยงเบนทางเพศประการใด แค่ว่ามันคือสิ่งที่เขาต้องการปกปิดหลบซ่อนไว้ภายในจิตใจ

ซึ่งฉากที่ผู้กำกับ Spielberg บอกว่าชื่นชอบประทับใจสุดของหนัง คือตอนที่ E.T. สวมใส่วิกแต่งตัวเป็นหญิง … ผมว่าทุกคนตอนเป็นเด็กย่อมต้องมีความสงสัยเรื่องเพศ ฉันคือชายหรือหญิง แตกต่างกันเช่นไร?

ฉากนี้ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว Elliott พยายามพูดอธิบายโน่นนี่นั่นให้ E.T. เรียนรู้รับฟัง แต่สังเกตว่าหนังถ่ายภาพย้อนแสง พบเห็นใบหน้าของพวกเขาปกคลุมด้วยความมืดมิด แถมเด็กชายก็มักหลุดออกนอกเฟรมบ่อยครั้ง นั่นไม่เพียงแปลว่า พูดอะไรไม่รู้เรื่องเข้าใจ แต่สารัตถะทางโลกเต็มไปด้วยความน่าเบื่อหน่าย เหมือนกับปลาในโถที่ถูกกักขังไร้อิสรภาพ จิตใจของเด็กชายในบ้านหลังนี้ก็เฉกเช่นกัน

วินาทีที่น้องสาวคนเล็ก Gertie พบเจอกับ E.T. ครั้งแรก มุมกล้องเงยขึ้นเพื่อสะท้อนการมาจากเบื้องบน/สิ่งมีชีวิตต่างดาว ซึ่งสร้างความหวาดตื่นตระหนกตกใจกลับให้กับเด็กหญิง จนต้องกรีดร้องลั่นออกมา เฉกเช่นเดียวกับ E.T. อ้าปากหวอ ยืดหดคอ ยกมือขึ้นค้างไว้ การแสดงออกของพวกเขาแทบไม่แตกต่างอะไรกันเลย

การมาถึงของฉากนี้สร้างความอึ้งทึ่งคาดไม่ถึงให้ผมอย่างมาก, เริ่มต้นด้วย Vertigo Zoom (หรือ Dolly zoom) กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลังพร้อมๆกับการซูมเข้าไปข้างหน้า (เพราะเทคนิคนี้เริ่มต้นจากภาพยนตร์เรื่อง Vertigo ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock เลยได้รับการตั้งชื่อเพื่อยกย่องเป็นเกียรติ) แสดงถึงมุมมองสายตาของผู้ใหญ่ที่กำลังจับจ้องมองหาสถานที่หลบซ่อนตัวของสิ่งมีชีวิตต่างดาว แล้วอยู่ดีๆเลนส์ซูมขนาดยาวๆ (ดูเหมือนลึงค์/อวัยวะเพศชาย)โผล่ปรากฎเข้ามา และชายปริศนาฉายา Keys ถ่ายมุมกล้องตำแหน่งตรงเป้ากางเกงพอดิบพอดี … เฉกเช่นนี้จะให้ครุ่นคิดจินตนาการถึงอะไรกัน??

Harrison Ford มีบทรับเชิญในหนังด้วยนะครับ แสดงเป็นครูใหญ่ประจำโรงเรียนแต่ถูกตัดทิ้งออกไป ซึ่งเหมือนว่าผู้ชมยังพอจะได้ยินเสียงและเห็นด้านหลังช็อตนี้ กำลังบรรยายสอนวิชาวิทยาศาสตร์

ทำไมแม่ถึงมองไม่เห็น E.T. ? ผมว่ามันเป็นความพิศวงอันสุดมหัศจรรย์ของหนัง เพราะใครๆย่อมคาดเดาได้ว่า ผู้ใหญ่ต้องมีปฏิกิริยาโต้ตอบสนองต่อสิ่งอัปลักษณ์พิศดารนี้ ในทางต่อต้านยินยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน จึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้พบเจอสวนทางกันก่อน ซึ่งตอนเธอพบเห็น E.T. จริงๆ ก็ชัดเจนว่าสมมติฐานถูกต้อง

“E.T. phone home.”

ประโยคนี้กลายเป็นคำพูดติดปาก ได้รับความนิยมอันดับ 15 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes

ค่ำคืน 15 ค่ำ วันฮาโลวีน เด็กๆมักปลอมตัวเป็นสัตว์ประหลาด เล่นเกม Trick or Treat เพื่อขอสิ่งของแลกเปลี่ยนจากผู้ใหญ่ไม่ให้ประสบพบโชคร้าย สามตัวละครปลอมตัวเป็น
– Michael คนจรที่ถูกขวานจามหัว ไร้สมองที่จะครุ่นคิดทำอะไรด้วยตนเอง ยินยอมติดตามน้องชาย Elliott ไปไหนไปกัน
– Elliott แต่งหน้าเหมือนซอมบี้ ขยับเคลื่อนไหวโดยไร้จิตวิญญาณ (จิตวิญญาณของเขาขณะนี้คือ E.T.)
– Gertie ปลอมตัวเป็น Cowgirl สาวควบม้ายั่วสวาทหนุ่มๆ … แต่เธอยังเด็กเกินไปจะรับรู้เดียงสาหรือเปล่านะ
– แม่ Mary กลายเป็นนางแมวยั่วสวาท นี่สะท้อนความร่านราคะที่ยังคงซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจเธอ ต้องการชายคนรักเพื่อเติมเต็มความต้องการ แต่ขณะนี้กำลังขาดอีกฝั่งฝ่ายสำหรับเติมเต็ม
– ส่วน E.T. แค่สวมใส่ผ้าคลุมสีขาวเจาะรูตรงตา เรียบง่ายแต่เฉลียวฉลาดที่สุดเลย

ท่าทางผู้กำกับ Spielberg จะติดใจกับ Cameo ของตัวละครโยดามากๆ ซึ่งตอนต้นเรื่องพี่ชาย Michael ได้ทำเสียงพูดล้อเลียนไปแล้วรอบหนึ่ง แถมกลางเรื่องวัน Halloween จะมีคอสเพลย์โผล่มาอีก!

แซว: ผู้กำกับ Spielberg แนะนำ George Lucas ให้สร้างสปีชีย์ E.T. ขึ้นมาเป็นตัวละครในแฟนไชร์ Star Wars ซึ่งก็ยินยอมทำตามคำขอ ปรากฎพบเห็นในไตรภาคต้น Star Wars: Episode I – The Phantom Menace (1999)

ฉากนี้ผู้กำกับ Spielberg สรรค์สร้างขึ้นเพื่อเคารพคารวะ Miracle in Milan (1951) โคตรหนัง Italian Neorealist ของผู้กำกับ Vittorio De Sica นำเสนอความมหัศจรรย์ที่ไม่มีใครคาดคิดถึงเมื่อทุกคนสามารถขี่ไม้กวาดลอยได้!

สำหรับเด็กๆ การปั่นจักรยานคือสิ่งที่สามารถพุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูงสุด แต่จินตนาการสำคัญกว่าการเรียนรู้ วินาทีอันสุดมหัศจรรย์ ทำให้พวกเขาสามารถล่องลอยเปิดโลกทัศน์ ไปไกลถึงไหนต่อไหนก็ได้ไร้ซึ่งขอบเขตพรมแดนขวางกั้น

พระจันทร์ เสมือนดินแดนแห่งความเพ้อฝัน ซึ่งสามารถสะท้อนถึงมิตรภาพระหว่าง Elliott และ E.T.
– พบเจอฉากแรกๆ จะพบเห็นพระจันทร์เสี้ยว
– เมื่อมิตรภาพเบ่งบาน วินาทีนี้เกิดความเชื่อมั่นต่อกันและพัน พื้นหลังคือพระจันทร์เต็มดวง
– และช่วงท้ายเปลี่ยนมายามเย็น #ทีมE.T. เหินผ่านพระอาทิตย์กำลังเคลื่อนคล้อยตกดิน พวกเขากำลังใกล้ถึงเวลาร่ำลาจาก

เกร็ด: อุปกรณ์สื่อสารของ E.T.’s Communicator ได้รับการประดิษฐ์โดยนักวิทยุสมัครเล่น Henry Feinberg ซึ่งสามารถใช้งานได้จริง!

แม่สวมโค้ทสีดำแทนเสื้อลวดลายเสือสมิงของตนเอง แสดงถึงความตระหนักได้ว่าฉันมีบางสิ่งอย่าง(ลูกๆ)ที่ต้องรับผิดชอบ จะมัวสรรหาความสุข ตอบสนองตนเองต่อไปอีกไม่ได้แล้ว

แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าของช็อตนี้ นอกจากตำรวจที่พบเห็นเพียงด้านหลังลางๆ ยังคือ Elliott หลบซ่อนตัวอยู่หลังตู้เย็น แฝงนัยยะถึงความหลงลืม การมองข้ามของแม่ ไม่ได้ใคร่สนใจให้เวลากับเขาสักเท่าไหร่ จนครุ่นคิดเพ้อไปไกลว่าลูกหลบหนีออกจากบ้าน (ขณะที่พี่ชายและน้องสาว นั่งนิ่งเงียบไม่ไหวติง ไม่ต้องการปริปากพูดบอกอะไรออกไป)

อาการของป่วยทรุดลงของ E.T. ไม่ทราบสาเหตุจากอะไร แต่ถือว่าสะท้อนสภาพจิตใจของ Elliott หลังจากพวกเขาสามารถติดต่อสื่อสารกับพรรคพวกเพื่อนต่างดาว เด็กชายจึงเกิดความหวาดระแวง กลัวการสูญเสียเพื่อนรักยิ่งคนนี้ไป (คล้ายๆกับพ่อที่หนีหายตัวไปอยู่ Mexico)

สถานที่ที่ Elliott ค้นพบเจอ E.T. คือตรงใต้สะพานพร้อมกับแรคคูน (ไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร?) นำพากลับมาที่บ้านหน้าห้องอาบน้ำ คงตั้งใจจะชำระล้างทำความสะอาดร่างกาย แต่จิตใจของเด็กชายยังคงเต็มไปด้วยความซีดเซียว ขุ่นมัวหมอง (สังเกต E.T. ตัวสีขาวโพลนเหมือนไปคลุกแป้งฝุ่นมา)

วินาทีที่แม่มาพบเห็น ทำแก้วน้ำตกสะท้อนถึงความตื่นตระหนกตกใจกลับ พบเห็นความอัปลักษณ์ของ E.T. ช่างดูสกปรก น่าขยะแขยง อดรนทนรับไม่ได้ ต้องอุ้มพาตัวลูกๆให้อยู่ออกห่าง

การมาถึงของมนุษย์ต่างดาว หรือคือโลกของผู้ใหญ่ (ในมุมมองของเด็กๆ) สังเกตมุมกล้องในสายตา E.T. เงยหน้าขึ้นราวกับว่าคนพวกนี้มาจากนอกโลก สง่างามด้วยธงชาติสหรัฐอเมริกาปักที่แขน … วินาทีเดินเรียงแถวผมละนึกถึง The Right Stuff (1983) แต่เดี๋ยวนะ E.T. สร้างก่อนนี่หว่า –”

ในที่สุดใบหน้าของชายผู้มีนามปากกาว่า Keys ก็ได้ปรากฎพบเห็นสักที! ช็อตนี้พบเห็นภาพของ Elliott ปรากฎขึ้นบนหมวกครอบนักบินอวกาศ นัยยะสะท้อนถึงการกว่าจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ทุกคนย่อมเคยเป็นเด็กมาก่อนหน้า

กล่าวคือ Keys ก็ไม่เชิงว่าตัวร้ายของหนัง (ที่พยายามชี้นำทางเช่นนั้นมาโดยตลอด) ภาพช็อตนี้สะท้อนความเพ้อฝันของผู้ใหญ่ที่ก็เคยเป็นเด็ก โหยหา เฝ้ารอยคอยที่จะได้พานพบเจอสิ่งมีชีวิตต่างดาว แต่ก็เพิ่งเคยได้มีโอกาสครั้งนี้ มันช่างเป็นเรื่องน่ายินดีและเศร้าสร้อยโหดร้าย เพราะกำลังจะสูญเสียจากไป

มิตรภาพความสัมพันธ์ระหว่าง Elliott กับ E.T. (หรือคือเด็กชาย-เพื่อนในจินตนาการ) เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่สามารถยินยอมรับได้ พวกเขาจึงพยายามทุกวิธีทางเพื่อแบ่งแยก กีดกัน มิให้เติบโตขึ้นมัวแต่จมอยู่ในความเพ้อฝัน ก้าวออกมาเผชิญหน้าโลกความเป็นจริง

Elliott จากเคยมีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นแฟ้นกับ E.T. หลังจากถูกผู้ใหญ่ทำให้ตัดขาดสะบั้น สิ่งหลงเหลืออยู่กับเขานั้นเพียงภาพเงาสะท้อนกระจก และความตายของเพื่อนรัก ซึ่งจักสามารถฟื้นคืนชีพเพราะศรัทธา ความเชื่อมั่นแรงกล้า (สะท้อนกับการฟื้นคืนชีพของพระเยซูคริสต์)

ขณะเดียวกันสามารถมองการฟื้นคืนชีพของ E.T. คือการตื่นขึ้นทางจิตวิญญาณของเด็กชาย หลังจากรับเรียนรู้จักการสูญเสีย ทำให้เข้าใจว่าทุกชีวิตมีเกิด-ดับ พบเจอ-พลัดพราก ไม่ว่าพ่อหรือใครไหน เพราะนั่นคือสัจธรรมความจริงวิถีแห่งโลกใบนี้

นั่นทำให้ฉากการโบยบินอีกครั้งของ #ทีมE.T. สะท้อนถึงอิสรภาพของเด็กๆ เมื่อเกิดความเชื่อมั่นในสิ่งพวกเขาครุ่นคิดว่ากระทำถูกต้องเหมาะสมควร จึงไม่จำเป็นต้องก้มหัวยินยอมกระทำตามคำแนะนำสั่งสอน ‘เผด็จการ’ ของผู้ใหญ่

ฉบับดั้งเดิมของหนังนั้น จะพบเห็นสองนายตำรวจซ้ายขวาถืออาวุธปืน สัญลักษณ์แห่งความรุนแรง (และอวัยวะเพศชาย) เพื่อใช้ข่มขู่เด็กๆให้หยุดรถจักรยานยินยอมพ่ายแพ้ แต่ Spielberg ไม่รู้เกิดปม Trama อะไรขึ้น จึงมีการใช้ CGI ปรับแก้ไขในฉบับ Special Edition ออกฉายปี 2002 เปลี่ยนให้ทั้งสองถือ Walkie-Talkies แทน …. แน่นอนได้เสียงตอบรับย่ำแย่จนผู้กำกับต้องออกมากล่าวขอโทษ

“[In the future,] … There’s going to be no more digital enhancements or digital additions to anything based on any film I direct”.

แซว: ไม่รู้ว่า Spielberg ได้แรงบันดาลใจการปรับแก้หนังด้วย CGI จากเพื่อนสนิท George Lucas ที่ได้ทำการเปลี่ยนตอนจบของ Return of the Jedi (1983) หรือเปล่านะ!

ฉากของการร่ำลาจาก E.T. เดินทางกลับบ้าน ตระการตาไปด้วยแสงไฟด้านหลังสาดส่อง คอยบดบังคราบน้ำตาและความเศร้าโศกของเด็กๆ และรุ้งกินน้ำ โดยปกติมักเกิดขึ้นบนฟ้าหลังฝน นั่นสะท้อนถึงสภาพจิตใจของเด็กชาย จากเรื่องราวเหตุการณ์ครั้งนี้ คงได้เรียนรู้และเข้าใจความหมายชีวิตมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน

ตอนจบดั้งเดิมของหนัง ให้สัมภาษณ์โดย Robert MacNaughton ที่รับบท Michael บอกว่าทุกคนนั่งล้อมวงเล่นเกม Dungeons and Dragons (ล้อกับตอนต้นเรื่องที่ Elliott อยากเล่นด้วยแต่ไม่ได้เล่น) ซึ่งครานี้ Elliott คือ Dungeon Master เพราะเขาเป็นผู้พบเจอ E.T. และกล้องเคลื่อนขึ้นไปบนหลังคา พบเห็นอุปกรณ์สื่อสาร ( E.T.’s Communicator) ที่ยังคงทำงานอยู่

ตัดต่อโดย Carol Littleton (เกิดปี 1948) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Body Heat (1981), The Big Chill (1983), The Manchurian Candidate (2004)

ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ E.T. และ Elliott ซึ่งช่วงที่พวกเขาอยู่ห่างกัน ก็จะมีการตัดสลับสับเปลี่ยนไปมา เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงใยระหว่างกัน

Sequence ที่ผมถือว่าคือไฮไลท์ของหนังเลยก็คือ E.T. ดื่มเบียร์เมามาย ตัดสลับกับ Elliott ในห้องเรียนที่กำลังง่วงหงาวหาวนอน ลากยาวไปถึงตอนกำลังรับชม The Quiet Man (1952) และเด็กชายฉุดกระชากหญิงสาวกลับมาในห้อง

เพลงประกอบโดย John Williams ขาประจำเกือบทุกเรื่องของผู้กำกับ Spielberg มองความท้าทายคือ ทำอย่างไรให้ผู้ชมรู้สึกสงสารเห็นใจ ต่อสิ่งมีชีวิตหน้าตาอัปลักษณ์พิศดารนี้

Spielberg ลุ่มหลงใหลในทุกบทเพลงของ Williams แต่พอพบเห็นความยุ่งยากเสียเวลาในการปรับแต่งท่วงทำนองให้สอดคล้องกับภาพเหตุการณ์ เขาเลยบอกไม่ต้องแก้ไขอะไร จะขอไปตัดต่อเพิ่ม-ลดฉาก เพื่อให้มีความลงตัวกับเพลงประกอบเอง

ผลลัพท์ก็คือ Williams เหมาเรียบกวาดรางวัล Best Original Score จากสี่สถาบัน Academy Award, Golden Globe, Grammy, BAFTA แถมด้วยติดอันดับ 14 จากชาร์ท AFI’s 100 Years of Film Scores [เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สามของ Williams ในชาร์ทนี้ ถัดจาก Star Wars และ Jaws]

แต่ไม่ใช่ Main Theme ของหนังที่ได้รับการจดจำสูงสุดนะครับ Flying Theme ช่วงขณะ Elliott และ E.T. กำลังปั่นจักรยานเหินลอยขึ้นจากผืนดินต่างหาก ช่างมีความไพเราะเพราะพริ้ง และประสานเสียงท่อนฮุคในจังหวะลงตัวพอดิบพอดี สร้างความขนลุกขนพอง ซึ้งซาบซ่าน จนใครหลายคนอาจปริ่บๆคราบน้ำตาและรอยยิ้มหวาน

แถมให้อีกนิดกับบทเพลง The Magic Of Halloween วินาที 0:44 เมื่อสายตาของ E.T. พานพบเห็นเด็กชายสวมใส่คอสเพลย์โยดาเดินผ่านไป ใครเคยรับฟัง Yoda’s theme จาก The Empire Strikes Back (1980) น่าจะจดจำได้อย่างแน่นอน [เพราะ Williams คือผู้แต่งเพลงนี้ให้กับ Star Wars นะครับ]

E.T. the Extra-Terrestrial นำเสนอเรื่องราวการเรียนรู้จักชีวิต เติบโตขึ้นของเด็กชาย แรกเริ่มรับไม่ได้จากการจากไปของพ่อ ต่อมามีโอกาสพบเจอเพื่อนที่สามารถเติมเต็มช่องว่างความรู้สึก สร้างสานความสัมพันธ์ เข้าถึงแก่นแท้มิตรภาพที่ต้องใช้เวลาพิสูจน์ และการเสียสละอันเป็นเหตุให้ต้องพลัดพรากแยกจาก (จึงเกิดความเข้าใจต่อพ่อที่จากไป)

ผู้กำกับ Spielberg สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อเติมเต็มช่องว่างที่เคยขาดหายไปในชีวิตตนเองตั้งแต่เด็ก ซึ่งเมื่อตอนนั้นเป็นได้เพียงจินตนาการภาพเพ้อฝัน แต่ปัจจุบัน(ปีที่สร้างหนังนั้น)สามารถนำเสนอถ่ายทอดออกมา กลายเป็นรูปธรรมจับต้องได้เสียที

ผลงานของ Spielberg ก็มักมีลักษณะแบบนี้ คือเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝันของตนเอง ซึ่งพอดิบพอดีสอดคล้องของกับจินตนาการของเด็กๆ รสนิยมอเมริกันชนยุคสมัยนั้น จับต้องอะไรจึงล้วนประสบผลสำเร็จ ผู้คนมากมายตกหลุมรักคลั่งไคล้ … แต่อย่าหลงลืมว่าทุกสิ่งอย่างคือการขายฝัน ไม่มีใครสามารถจมปลักอยู่ในนั้นชั่วนิรันดร์

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเด็กๆ -ในมุมมองผู้กำกับ Spielberg ถ่ายทอดลงมาในภาพยนตร์เรื่องนี้- คือการแสดงความสนใจของพ่อ-แม่ พี่-น้อง เพราะพวกเขาอยู่ในวัยแห่งการเจริญเติบโต กำลังเรียนรู้จักอะไรใหม่ๆ ยังมีอีกมากไม่เข้าใจต้องการคำอธิบาย แต่ถ้าไร้บุคคลผู้ให้คำชี้แนะนำก็อาจหลงผิดเป็นชอบ มุ่งหน้าสู่ด้านมืดมิดของโลกใบนี้โดยไม่รู้ตัว

แต่ขณะเดียวกันผมมองว่ามันเป็นกระจกสองด้าน กล่าวคือ เด็กๆเติบโตขึ้นในครอบครัวที่พ่อแม่มีความเข้มงวดกวดขัน ดูแลเอาใจใส่ให้ความสนใส่ใจมากเกินไป เติบโตขึ้นคงไม่ต่างจากนกในกรงไร้ซึ่งอิสรภาพเสรี ครุ่นคิดทำอะไรเองไม่ค่อยจะได้ การที่ Spielberg ถูกเลี้ยงดูแบบทิ้งๆขว้างๆไม่ค่อยมีใครสนใจ เขาเลยเติบโตขึ้นเอ่อล้นด้วยจินตนาการเพ้อฝัน โหยหาบางสิ่งอย่างเพื่อเติมเต็มช่องวางขาดหายไปในอดีต

แม้หนังทั้งเรื่องจะนำเสนอมุมมองของเด็กๆ แต่ก็ให้ข้อคิดต่อผู้ใหญ่ไม่น้อยทีเดียวเกี่ยวกับการเลี้ยงดูแลบุตรหลาน ซึ่งแต่ละคนคงมีทัศนคติครุ่นคิดเห็นแตกต่างกันไป อย่างไหนถึงเกิดความเพียงพอดีผมเองก็ไม่สามารถให้คำแนะนำได้ แต่พ่อ-แม่ที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว สนเพียงความต้องการพึงพอใจ สนองตัณหาอิสรภาพส่วนตนเอง นั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้องดีงามอย่างแน่นอน!


หนังเข้าฉายปิดเทศกาลหนังเมือง Cannes (นอกสายการประกวด) ปรากฎว่าได้รับการยืนปรบมือ ส่งเสียงเชียร์อยู่หลายนาที ทำเอาภาพยนตร์สายการประกวดปีนั้นเหงาหงอยด้อยค่าไปเลย

ด้วยทุนสร้าง $10.5 ล้านเหรียญ เปิดตัวสัปดาห์แรกรายได้ $11 ล้านเหรียญ ติดอันดับหนึ่งต่อเนื่องยาวนานหกสัปดาห์ ใช้เวลากว่าครึ่งปีถึงสามารถแซงผ่าน Star Wars (1977) ในสหรัฐอเมริกาทำเงิน $359 ล้านเหรียญ (ประมาณตั้๋ว 120 ล้านใบ) รวมทั่วโลก $612 ล้านเหรียญ

เข้าชิง Oscar 9 สาขา คว้ามา 4 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Writing, Screenplay Written Directly for the Screen
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Sound ** คว้ารางวัล
– Best Sound Effects Editing ** คว้ารางวัล
– Best Visual Effects ** คว้ารางวัล
– Best Original Score ** คว้ารางวัล

เป็นปีที่ใครๆคาดกันว่า E.T. ต้องคว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแน่ๆ แต่อาถรรพ์ของหนังไซไฟ พลาดรางวัลให้ Gandhi (1982) ซึ่งผู้กำกับ Richard Attenborough ให้สัมภาษณ์ภายหลังบอกรู้สึกแย่ที่เหมือนไปฉกแย่งผู้ชนะตัวจริงมา

“I was certain that not only would E.T. win, but that it should win. It was inventive, powerful, [and] wonderful. I make more mundane movies.”

– Richard Attenborough

ไม่ใช่แค่ฉายโรงภาพยนตร์เท่านั้นทำเงินล้นหลาม ครั้งแรกของการจำหน่าย VHS และ Laserdisc เมื่อปี 1988 ยอดขายสูงถึง $75 ล้านเหรียญ!

ระหว่างที่หนังยังฉายอยู่ ผู้กำกับ Spielberg และนักเขียน Mathison ร่วมกันร่าง Treatment ภาคต่อ ตั้งชื่อว่า E.T. II: Nocturnal Fears เรื่องราวของ Elliott และผองเพื่อน ถูกลักพาตัวโดยเอเลี่ยนชั่วร้าย จึงพยายามหาทางติดต่อ E.T. ให้มาช่วยเหลือ แต่พอภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จล้นหลามแบบไม่มีใครคาดคิดถึงเลยล้มเลิกความตั้งใจไป

“It’s would do nothing but rob the original of its virginity”.

– Steven Spielberg

เกร็ด: ความสำเร็จอันล้นหลามของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ Spielberg นำภาพ Elliott และ E.T. ปั่นจักรยานเหินผ่านพระจันทร์เต็มดวง มาเป็นสัญลักษณ์ตราบริษัท Amblin Entertainment

E.T. เป็นภาพยนตร์ที่ยังไม่เก่าเลยนะ ผมรับชมด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะไปกับ Easter Egg และหลายๆสิ่งอย่างที่เป็นการเคารพคารวะยุคสมัยก่อนหน้า เด็ดสุดหนีไม่พ้นเพลงประกอบของ John Williams ลงตัวกับทุกจังหวะตัดต่อ ขนลุกขนพอง อิ่มเอิบหัวใจที่สุด

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” พบเจอมิตรภาพ การเสียสละ เรียนรู้จักชีวิต ความสูญเสีย ทำให้เด็กๆสามารถเติบโต ลุกขึ้น และก้าวเดินต่อไปด้วยลำแข้งตนเอง

สำหรับผู้ใหญ่ แนะนำว่าควรรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้กับบุตรหลานของท่านนะครับ (ดูคนเดียวมันอาจไม่ฟินสักเท่าไหร่) สังเกตรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และอาจคลุกเคล้าน้ำตา มันจะทำให้คุณเหมือนว่ากลับกลายเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่งโดยไม่รู้ตัว

จัดเรต PG กับการกระทำของผู้ใหญ่ที่ค่อนข้างเห็นแก่ตัวทีเดียว

คำโปรย | E.T. the Extra-Terrestrial คือความมหัศจรรย์ราวกับเวทย์มนต์ ส่งให้ผู้กำกับ Steven Spielberg กลายเป็นพ่อมดแห่งวงการภาพยนตร์
คุณภาพ | หัย์
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: