East of Eden (1955) : Elia Kazan ♥♥♥♥
พ่อที่ดีเกินไป บางทีก็ไม่สามารถเข้าใจลูกชาย James Dean -ในบทบาทแจ้งเกิด- ทำไมเติบโตขึ้นถึงกลายเป็นสารเลว ทำตัวแย่ๆ อารมณ์กวัดแกว่ง ชอบใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ทั้งชีวิตของ James Dean มีโอกาสแสดงภาพยนตร์เพียงสามเรื่อง (จริงๆมีก่อนหน้านี้ แต่เป็นแค่ตัวประกอบไม่ได้รับเครดิต) ประกอบด้วย East of Eden (1955), Rebel Without a Cause (1955) และ Giant (1956) ก่อนประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 24 ปี
East of Eden คือภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด ได้รับบทนำ และถือเป็นการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิต (แต่คนส่วนใหญ่มักจดจำ Rebel Without a Cause มากกว่า) ซึ่งทั้งสามผลงานมีเพียงเรื่องนี้เสร็จสิ้นออกฉาย เจ้าตัวมีโอกาสรับชม (อีกสองเรื่อง เสร็จสิ้นหลังเสียชีวิตจากไปแล้ว) ยอดเยี่ยมถึงขนาดได้เข้าชิง Oscar: Best Actor แบบ Posthumous ถูกฉกแย่งชิงไปโดย Ernest Borgnine จากเรื่อง Marty (1955)
สำหรับผู้ชมทั่วไป East of Eden คงเป็นหนังที่น่าเบื่อชะมัด ดำเนินเรื่องอย่างเชื่องช้า เนื้อหาสลับซับซ้อน ตัวละครเต็มไปด้วยความกวัดแกว่งทางอารมณ์ เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้สักอย่าง แต่จะบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Masterpiece โดดเด่นมากๆกับการแสดง ถ่ายภาพ และเรื่องราวสะท้อนจิตวิทยาครอบครัว ปัญหาวัยรุ่น อิทธิพล/ผลกระทบของการเลี้ยงดูบุตรหลาน ได้ผลลัพท์แตกต่างกันออกไป
ผมเองมีความรู้สึกอึ้งทึ่ง ตราตะลึง โดยเฉพาะการแสดงของ James Dean กลั่นออกมาจากตัวของเขาเองเลยมั้งนะ และไดเรคชั่นของผู้กำกับ Elia Kazan ใช้การถ่ายภาพสะท้อนจิตวิทยาตัวละครออกมาได้อย่างคลุ้มคลั่ง ทรงพลัง ไม่ย่อหย่อนไปกว่า A Streetcar Named Desire (1951) หรือ On the Waterfront (1954)
ต้นฉบับของ East of Eden (1952) คือนวนิยายของ John Steinbeck (1902 – 1968) ว่าที่นักเขียนรางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรม ได้รับฉายา ‘a giant of American letters’ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Of Mice and Men (1937), The Grapes of Wrath (1939) ** คว้ารางวัล Pulitzer Prize for Fiction
ความตั้งใจ ทะเยอทะยานของ Steinbeck พัฒนานวนิยายเล่มนี้จากเรื่องเล่าบรรพบุรุษของตนเอง ปู่ทวดอพยพมาจาก Germany สถานที่พื้นหลังคือ Salinas Valley ตัวเขาเติบโตใช้ชีวิตวัยเด็กที่นี่ และทำการอ้างอิงเรื่องราวจากคัมภีร์ไบเบิ้ล พันธสัญญาเดิม โดยเฉพาะบทปฐมกาลที่ 4 คาอินและอาเบล (Cain and Abel) สามารถเทียบแทนด้วยสองตัวละคร Caleb กับ Aron ซึ่งชื่อหนังสือเล่มนี้ได้แรงบันดาลใจจาก
“And Cain went out from the presence of the LORD, and dwelt in the land of Nod, on the east of Eden.”
Genesis 4:16 (King James Version)
เทียบความใกล้เคียง
– ไบเบิ้ล: Cain ทำงานกสิกรรม Abel เลี้ยงแกะ, นวนิยาย: Caleb ทำธุรกิจปลูกถั่ว Aron เรียนเป็นบาทหลวง
– พระเจ้าปฏิเสธพืชผลจาก Cain แต่รับเนื้อแกะจาก Abel, พ่อปฏิเสธเงินของ Cal รับน้ำใจจาก Aron
– Cain เข่นฆ่า Abel, Caleb บอกความจริงเกี่ยวกับแม่ให้ Aron เขาเลยสมัครเป็นทหาร ถูกฆ่าตายในสงคราม (ส่วนแม่แขวนคอฆ่าตัวตาย)
– พระเจ้าทำเครื่องหมายไว้บนตัว Cain สัญลักษณ์ของฆาตกร, Caleb เต็มไปด้วยความรู้สึกผิด ตกอยู่ในความมืดหมองหม่นชั่วชีวิต
ความสำเร็จล้นหลามของนวนิยายเล่มนี้ กลายเป็น Best-Selling โดยทันที แต่กลับไม่ค่อยถูกใจนักวิจารณ์สักเท่าไหร่ เพราะการเปรียบเทียบเรื่องราวเข้ากับคัมภีร์ไบเบิ้ล ยังถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในยุคสมัยนั้น
สำหรับ Steinbeck บอกว่านวนิยายเล่มนี้คือ Magnum Opus ผลงานชิ้นเอกของตนเอง
“It has everything in it I have been able to learn about my craft or profession in all these years. I think everything else I have written has been, in a sense, practice for this”.
– John Steinbeck
Elia Kazan ชื่อเดิม Elias Kazantzoglou (1909 – 2003) ผู้กำกับสัญชาติ Greek-American เกิดที่ Constantinople, Ottoman Empire (ปัจจุบันคือ Istanbul, Turkey) ตอนอายุได้ 4 ขวบ ครอบครัวอพยพสู่อเมริกา โตขึ้นเข้าเรียน Williams College ตามด้วย Yale School of Drama และ Juilliard School กลายเป็นนักแสดงอาชีพอยู่ถึง 8 ปี เข้าร่วม Group Theatre แสดง-กำกับละครเวที Broadway ประสบพบเจอความสำเร็จมากมาย สู่วงการภาพยนตร์กับ A Tree Grows in Brooklyn (1945) ผลงานเด่นๆ อาทิ Gentleman’s Agreement (1947), A Streetcar Named Desire (1951), Viva Zapata! (1952), On the Waterfront (1954), East of Eden (1955), Splendor in the Grass (1961) ฯ
ปี 1947, Kazan ร่วมกับ Robert Lewis และ Cheryl Crawford ก่อตั้ง Actors Studio โดยมี Lee Strasberg เป็นผู้อำนวยการ ได้นำเอาทฤษฎี Method Acting เข้ามาใช้ในการเรียนการสอน โดยนำแนวคิดมาจาก Konstantin Stanislavski ผู้ฝึกสอนการแสดงสัญชาติรัสเซีย ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ อาทิ James Dean, Montgomery Clift, Karl Malden ฯ
Kazan เป็นผู้กำกับที่ได้รับการกล่าวถึงว่าคือ Actor’s Director เพราะมีความรู้เชี่ยวชาญด้านการแสดง สามารถชี้ชักนำด้วยวิธีการที่ทำให้นักแสดงถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกออกมาจากภายในของตัวละคร ได้อย่างทรงพลังและสมจริง
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Paul Osborn (1901 – 1988) นักเขียนบทละคร/ภาพยนตร์ เพื่อนสนิทสนมกับ Kazan อยากร่วมงานกันมานานแต่เพิ่งมีโอกาสกับ East of Eden, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Portrait of Jennie (1948), Sayonara (1957), South Pacific (1958) ฯ
เรื่องราวมีพื้นหลังประมาณ ค.ศ. 1917 – 18 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ณ เมืองริมฝั่งทะเล California, บาทหลวง Adam Trask (รับบทโดย Raymond Massey) มีบุตรชายสองคนที่นิสัยขั้วตรงข้าม
– Aron Trask (รับบทโดย Richard Davalos) เป็นคนเฉลียวฉลาด ซื่อสัตย์ ยึดมั่นในคุณธรรมความดี ตกหลุมรักอยากแต่งงานกับ Abra Bacon (รับบทโดย Julie Harris) ทะนุถนอมเอ็นดู ต้องการทำให้ทุกอย่างถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี
– Caleb Trask (รับบทโดย James Dean) ตรงกันข้ามกับ Aron ชอบเที่ยวเตร่ สำมะเลเทเมา ทำอะไรไม่เคยถูกใจพ่อ ออกเดินทางค้นหา พบเจอแม่แท้ๆของตนเอง Cathy Ames (รับบทโดย Jo Van Fleet) เป็นแม่เล้าคุมซ่องโสเภณี รับรู้ว่าเชื้อเลวๆของตนก็ล้วนมาจากเธอคนนี้
เกร็ด: จริงๆแล้วเรื่องราวของ Caleb กับ Aron ถือเป็นครึ่งหลังของนวนิยาย East of Eden ขณะที่ครึ่งแรกหลายคนน่าจะคาดเดาได้ คือเรื่องราวของพ่อ Adam แต่งงานกับหญิงสาวชื่อ Cathy Ames (น่าจะใช้ชื่อ Eve) ซึ่งสาเหตุที่หนังเลือกดัดแปลงแค่ครึ่งหลังเท่านั้น เพราะแค่ส่วนนี้ก็กินเวลาเกือบๆ 2 ชั่วโมงเข้าไปแล้ว ถ้าเอาครึ่งแรกด้วยคงกลายเป็นภาพยนตร์ระดับ Epic ความยาวไม่ต่ำกว่า 3-4 ชั่วโมงแน่ๆ
James Dean (1931 – 1955) นักแสดงหนุ่มชาวอเมริกัน เกิดที่ Marion, Indiana ครอบครัวมีอาชีพกสิกรรม แต่หลังจากถูกยึดที่ดินมุ่งหน้าแสวงโชคสู่ Santa Monica, California สนิทสนมกับแม่ แต่ก้าวร้าวกับพ่อ จนถูกส่งไปให้อาศัยกับลุงป้าที่ Fairmount, Indiana วันๆเที่ยวเตร่ แข่งรถ ชนวัว ดูหนัง หลังจากแม่เสียชีวิต เหมือนว่าตัวเขาถูก ‘sexually abused’ จากบาทหลวงผู้ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิต โชคยังดีค้นพบความสนใจจากเป็นนักแสดงโรงเรียน ศึกษาต่อยัง University of California, Los Angeles แค่เทอมเดียวได้เป็นนักแสดงละครเวที Macbeth เข้าตา James Whitmore ส่งเสริมสนับสนุนให้สมัครเข้า Actors Studio ของ Lee Strasberg
รับบท Caleb Trask วัยรุ่นหนุ่มผู้เต็มไปด้วยความเก็บกด อัดอั้น ต้องการได้รับความยอมรับ ‘รัก’ จากพ่อ แต่เพราะมีพี่ชายดีเลิศประเสริฐศรี กลายเป็นปมด้อยที่ต้องการพิสูจน์ตนเอง พยายามเรียกร้องความสนใจกลับไม่เคยเห็นหัว ด้วยเหตุนี้เลยออกติดตามค้นหามารดา เผื่อว่าจะได้ค้นพบรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับต้นกำเนิด ไฉนฉันถึงเกิดเป็นลูกนอกคอกของครอบครัว และเมื่อพบเจอแม่แท้ๆถึงได้เข้าใจ นี่ยังไงเชื้อชั่วที่ติดตัวฉันมา
การได้พบเจอแม่ ทำให้ความรุนแรงภายในของ Cal ค่อยๆได้รับการผ่อนคลายเบาลง ตั้งมั่นที่จะทำบางอย่างเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อ’ซื้อ’ใจของพ่อ แต่เมื่ออะไรๆยังคงเดิมไม่แตกต่าง ถึงจุดที่เรียกว่าแตกหัก หมดสิ้นอาลัยตายอยาก เลยทำการล้างแค้นลงกับพี่ชาย เป็นเหตุให้พ่อกลายเป็นอัมพาตขยับตัวไม่ได้ ตราบาปฝังใจตราบจนวันตาย
ในตอนแรก Kazan นำบทหนังไปพูดคุยกับ Marlon Brando และ Montgomery Clift ทั้งคู่แสดงความสนใจ แต่ว่าอายุมากเกินไป 30 กับ 34 ปีแล้ว คงไม่เหมาะสมเท่าไหร่ ต่อมาคือ Paul Newman ซึ่งก็ยังดูหนุ่มแน่น แต่ผู้กำกับตัดสินใจเลือก James Dean ไม่รู้เพราะเดินทางไปที่บ้านของเขาหรือเปล่า พบเห็นความสัมพันธ์พ่อ-ลูก ที่แทบไม่แตกต่างอะไรกับบทบาทตัวละครนี้
เมื่อผู้เขียนนวนิยาย John Steinbeck มีโอกาสพบเจอ Dean ในกองถ่าย ถึงกับอุทานออกมาว่า
“Jesus Christ, he IS Cal!”
ด้วยไดเรคชั่นของ Kazan มักปล่อยให้นักแสดงขายฝีมืออันจัดจ้าน ปลดปล่อยออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งเมื่อ Dean สวมบทบาท Method Acting มีความสุดเหวี่ยงทางอารมณ์อย่างมาก สะท้อนออกมาผ่านสีหน้าดวงตา ท่วงท่าทาง ลีลาเคลื่อนไหว กวัดแว่งไปมาดั่งพายุเฮอริเคนถาโถมเข้าใส่ ใช้พื้นที่การแสดงจากความกว้างยาวของ Anamorphic Widescreen ได้อย่างคุ้มค่าทุกกระเบียดนิ้ว
ความทุ่มเทอย่างจริงจังเกินร้อย ทำให้หลายๆครั้งอารมณ์ของตัวละครตามติดตัว Dean หลังจากถ่ายทำเสร็จสิ้นแล้วด้วย เห็นว่าบางวันปิดประตูล็อกห้อง นั่งร้องไห้เป็นชั่วโมงๆเพราะอินจัด ขนาดว่าวันสุดท้ายของการถ่ายทำ Julie Harris เข้าไปหาบอกลา เพราะคิดว่าตนเองคงไม่อยู่ขณะงานเลี้ยงหลังถ่ายเสร็จ พบเห็น Dean ร่ำร้องไห้
“It was so moving. It was his first picture , it meant so much, and now it was over.”
– Julia Harris เอ่ยถึง James Dean
มันจะมีวินาทีช็อตโลก! เมื่อถึงจุดแตกหักของ Cal เหมือนว่าเขากำลังจะทำรุนแรงบางอย่างกับพ่อ แต่กลับกลายเป็นโถมเข้าโอบกอดแบบคาดไม่ถึง แล้วอยู่ดีๆก็วิ่งหนีออกจากบ้านไป นั่นไม่มีในบท เป็นการ ‘Improvise’ สดๆของ Dean ทำเอา Raymond Massey ไปต่อไม่ถูกเลย
Julia Ann ‘Julie’ Harris (1925 – 2013) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เจ้าของสถิติเข้าชิง 10 รางวัล Tony Award (คว้ามา 5 ครั้ง **เคยเป็นเจ้าของสถิติแต่ถูกทำลายไปแล้ว), 3 รางวัล Emmy และ Grammy แต่ไม่เคยคว้า Oscar สักครั้งเดียว
เกิดที่ Grosse Pointe, Michigan โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงที่ Perry-Mansfield Performing Arts School & Camp ใน Colorado มีอาจารย์ Charlotte Perry ที่ต่อมาแนะนำให้เธอเข้าเรียน Yale School of Drama ต่อด้วย Actor’s Studio, เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก The Member of the Wedding (1952) เข้าชิง Oscar: Best Actress ครั้งแรกและครั้งเดียว, East of Eden (1955) ประกบ James Dean, The Haunting (1963) ฯ
รับบท Abra Bacon สวย น่ารัก ร่าเริงแจ่มใส แต่นั่นคือสิ่งที่ใครๆพบเห็นเพียงเปลือกนอก เพราะตอนยังเด็กอายุ 13 ปี พ่อแต่งงานใหม่กับใครก็ไม่รู้ นั่นสร้างความไม่พอใจแสดงออกหัวขบถขัดแย้ง แต่ไม่นานก็สามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาดังกล่าว ถึงกระนั้นความรักของเธอกับ Aron มันสวยงามสดใสเลิศเลอเกินไป พูดคุยกับ Cal อยากให้มันมีอะไรนอกรีตนอกรอย แตกต่างไปจากความถูกต้องดีงามทางสังคมบ้าง
ค่อนข้างชัดเจนเลยว่า Abra เป็นคนปากไม่ค่อยตรงกับใจ ลึกๆมีความอิจฉาริษยา Cal เพราะสามารถทำอะไรๆได้โดยอิสระ ไม่มีใครสามารถบีบบังคับควบคุมได้ หลังจากพูดคุยพบเจอกันหลายครั้ง ประกอบกับตัวตนแท้จริงของ Aron เริ่มเปิดเผย หญิงสาวก็ค่อยๆหลวมตัวตกหลุมรัก ความเป็นชู้นี่มันสร้างความตื่นเต้น สั่นสะท้าน สุขใจเหลือหลาย
การันตีได้เลยว่า ถ้าตัวละครนี้แต่งงานกับ Aron ชะตากรรมของเธอคงไม่แตกต่างจาก Cathy Ames โหยหาอิสรภาพแทบตาย แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นดั่งนกในกรงขัง สักวันหนึ่งเมื่อถึงจุดแตกหัก ควักคว้าปืนขึ้นมายิงสวนใส่ แล้วออกเดินทางหนีหายไป … กลายเป็นแม่เล้าเปิดซ่องโสเภณี อย่างแน่แท้
แม้ว่า Harris ขณะนั้นจะอายุ 30 ปีแล้ว แต่ใบหน้าของเธอก็ยังดูเด็ก ‘Baby Face’ เรื่องความสามารถเป็นที่ถูกใจผู้กำกับ Kazan มาแต่ไหนแต่ไร ถ่ายทอดความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา แต่ลึกๆแล้วอยากโบยบินอิสระเสรีสู่โลกกว้าง เฝ้ารอคอยวันเวลาจะมีใครสักคนไหมนำพาฉันออกไป
“[Harris] is one of the most beautiful people I’ve known in my life”
– Elia Kazanกล่าวถึง Julia Harris
Richard Davalos (1930 – 2016) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City สืบเชื้อสาย Spanish โตขึ้นได้เข้าเรียน Actor’s Studio แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก East of Eden (1955) พอมีผลงานบ้างประปราย ส่วนใหญ่เป็นละครเวทีเสียมากกว่า
รับบท Aron Trask เทพบุตรแสนดีที่ทำอะไรๆถูกใจพ่อไปเสียหมด จนเกิดความหลงระเริง คึกคะนอง วาดฝันอนาคตอันสวยสดใส แต่งงานกับ Abra อย่างสมบูรณ์แบบไร้ตำหนิ แต่หลังจากการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้เขาเกิดความคำนึงต่อต้านโลก ‘มนุษย์ทำสงครามขัดแย้ง เข่นฆ่าแกงกันได้อย่างไร?’ ประกาศกร้าวจะไม่มีวันสมัครเป็นทหาร แต่แล้วเมื่อความจริงบางอย่างได้รับการเปิดเผย รับรู้จักแม่แท้ๆของตนเอง หมดสิ้นอาลัยตายอยากอาสาไปตายเพื่อตนเอง เอาหัวชนกระจกหน้าต่างรถไฟ ทุกสิ่งอย่าง/หัวใจ พลันแตกสลายหมดสิ้นกัน
ภาพลักษณ์ของ Davalos เทพบุตรสุดหล่อ ทำอะไรๆก็ดูดีไปหมด สร้างความน่าหงุดหงิดรำคาญใจให้กับผู้ชมอย่างมาก คนแบบนี้มันจะโลกสวยสดใสไร้เดียงสาไปไหน ขณะที่การแสดงไม่มีอะไรโดดเด่น แต่ดวงตาสีหน้าอารมณ์ขณะพบเจอความจริง ทุกสิ่งเคยวาดฝันพังทลายลงในพริบตา
Raymond Hart Massey (1896 – 1983) นักแสดงสัญชาติ American-Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario โตขึ้นสมัครเป็นทหารเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กลับมาศึกษาต่อยัง Balliol College, Oxford ทำงานธุรกิจครอบครัว แล้วลาออกมาเป็นนักแสดงละครเวที ไม่ประสบความสำเร็จนักเลยเข้าสู่วงการภาพยนตร์ High Treason (1928), เริ่มมีชื่อเสียงจากบท Sherlock Holmes เรื่อง The Speckled Band (1931), Things to Come (1936), Abe Lincoln in Illinois (1938), The Woman in the Window (1944), A Matter of Life and Death (1946), East of Eden (1955) ฯ
รับบท Adam Trask พ่อผู้เป็นบาทหลวง และเจ้าของกิจการฟาร์ม ลงทุนลงแรงว่างจ้างเกษตรกรปลูกผักกาด ตั้งใจเอาขึ้นรถไฟแช่น้ำแข็งส่งไปขายยัง New York City แต่เกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึงทำให้ทุกสิ่งอย่างล้มละลายพังครืนลงมา
ไม่ต่างอะไรกับชีวิตแต่งงานกับ Cathy Ames พยายามควบคุมบงการเธอให้อยู่ภายใต้อำนาจมนต์ตรา สุดท้ายเลยถูกยิงเข้าที่แขนกลายเป็นแผลเป็น จำต้องปลดปล่อยเธอสู่อิสรภาพ ทอดทิ้งลูกชายสองคน Caleb กับ Aron ไว้ให้เป็นภาระของตนเอง
เพราะเป็นบาทหลวงจึงมีศรัทธายึดถือมั่น ‘รักทุกคนเท่าเทียมกัน ให้อภัยได้ทุกสิ่งอย่าง’ แต่ในความจริงแล้ว เขากลับมืดบอดที่จะแสดงความรักต่อลูกๆตนเองอย่างเท่าเทียม แถมยังบีบบังคับให้พวกเขา(และอดีตภรรยา) ต้องดำเนินเดินตามรอยเท้า แสดงออกด้วยอำนาจเผด็จการ จงปฏิบัติตามทุกสิ่งอย่างให้เหมือนตนเอง สำหรับ Aron ถือว่าตกอยู่ในกะลาครอบเดียวกัน แต่ Caleb พยายามแสวงหาอัตลักษณ์ตัวตนเอง จึงถูกกีดกันผลักไส ไม่ยินยอมรับ … นี่นะหรือความรักของคนที่ให้อภัยได้ทุกสิ่งอย่าง
การแสดงนั้นไม่เท่าไหร่ แต่ภาพลักษณ์ของ Massey คือจุดขายที่ทำให้เขาเอาตัวรอดในวงการมาได้หลายทศวรรษ เป็นคนมี Charisma แห่งผู้นำ น่ายกย่อง เคารพนับถือ แต่บทบาทก็มีทั้งดีสุดขั้วชั่วสุดขีด กระจกสองด้านที่เมื่อถึงทศวรรษ 50s เส้นแบ่งบางๆนั้นถูกลบเลือนลาง จึงสามารถสะท้อนกันและกันได้อย่างกึ่งก้องกังวาลย์
Massey ไม่ค่อยประทับใจการแสดง ‘method acting’ ของ Dean สักเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้ความตึงเครียดต่อกันของทั้งคู่จึงค่อนข้างก้าวร้าวรุนแรง ผู้กำกับ Kazan เห็นเช่นนั้นก็ไม่เข้าไปช่วยเหลือไกล่เกลี่ยแต่ประการใด เพราะสอดคล้องกับบทบาทตัวละครของทั้งคู่เป็นอย่างดี เพิ่มเคมีระหว่างเข้าฉากได้อย่างลงตัว
ถึงกระนั้นในบรรดาผลงานการแสดงของตนเอง Massey เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ชื่นชอบโปรดปรานหนังเรื่องนี้ที่สุดแล้ว
Catherine Josephine Van Fleet (1915 – 1996) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Oakland, California เริ่มจากเป็นนักแสดง Broadway จนสามารถคว้ารางวัล Tony Award: Best Supporting Actress จากเรื่อง The Trip to Bountiful (1953), ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานละครเวทีกับ Kazan เรื่อง Flight to Egypt (1952) และ Camino Real (1953) เลยชักชวนมาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด East of Eden (1955) คว้า Oscar: Best Supporting Actress, ผลงานเด่นๆตามมา อาทิ The Rose Tattoo (1955), Gunfight at the O.K. Corral (1957), Cool Hand Luke (1967), The Tenant (1976) ฯ
รับบท Cathy Ames/Kate Trask ภรรยาของ Adam แม่ของ Caleb และ Aron ปัจจุบันเป็นแม่เล้า คุมกิจการบ่อน บาร์ และซ่องโสเภณี ริ้วรอยเหี่ยวย่นสะท้อนถึงประสบการณ์ชีวิต ผ่านอะไรๆร้อนหนาวมามาก เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เย็นชา ก้าวร้าว ชอบทำอะไรแตกต่างต่อต้านขนบวิถีทางสังคม
ชีวิตของเธอคงเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าไม่พบเจอ Caleb และรับรู้ว่าเขาคือลูกชายแท้ๆของตนเอง แรกๆพยายามแสดงออกแบบไม่ยี่หร่าสนใจ แต่เหตุผลของการให้เงิน $5,000 เหรียญ สำหรับลงทุนธุรกิจปลูกถั่ว นั่นเพราะความรักที่คนเป็นแม่มีให้ต่อลูกอย่างแน่นอน ถึงชีวิตฉันไม่เคยอุ้มโอบกอด นี่คือสิ่งดีงามสุดจะสามารถให้ได้ในชีวิต
แม้ในหนังจะไม่นำเสนอสิ่งเกิดขึ้นหลังจากแม่พบเจอ Aron แต่ในนวนิยายคือ เธอส่งมอบกิจการทุกอย่างให้ลูกที่แสนดี แล้วผูกคอฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกผิด ละอายใจตนเอง จนมิอาจทนมีชีวิตอยู่ต่อได้ … นี่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า การได้พบเจอลูกทั้งสอง เยื่อใยความรักเป็นสิ่งไม่มีวันตัดขาดอย่างแท้จริง
การแสดงของ Jo Van Fleet เขวี้ยงขว้าง เอา Oscar ไปเลยเถิด ภายนอกดูเยือกเย็นชา แข็งกระด้าง ก้าวร้าว ทำเป็นไม่หยี่หร่าสนใจอะไร แต่ภายในคลุ้มคลั่งปั่นป่วน ‘ปากไม่ตรงกับใจ’ แอบจับจ้องมองกระจกเพราะอยากเห็นลูกชายสุดรัก อยากเข้าไปโอบกอดสัมผัสแต่ก็มิอาจขัดขืนคาแรคเตอร์ของตนเอง
ถ่ายภาพโดย Ted D. McCord (1900 – 1976) สัญชาติอเมริกัน เข้าชิง Oscar: Best Cinematography สามครั้งจาก Johnny Belinda (1948), Two for the Seesaw (1962), The Sound of Music (1965), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Treasure of the Sierra Madre (1948), The Breaking Point (1950), East of Eden (1956) ฯ
ครั้งแรกของผู้กำกับ Kazan ที่เลือกใช้ CinemaScope ถ่ายทำภาพสี ขนาด Anamorphic Widescreen (2.55 : 1) ซึ่งก็ได้ทำการทดลองระยะภาพ นำเสนอออกมาได้อย่างคุ้มค่า และอีกอย่างที่โดดเด่นคือมุมเอียง (Dutch Angle) สะท้อนโลกอันบิดเบี้ยวภายในจิตใจของตัวละครออกมา
เริ่มต้นอารัมบทของหนัง นำเสนอวิธีใช้ประโยชน์จาก Anamorphic Widescreen แบบตรงไปตรงมาที่สุด คือการไล่ล่าติดตามตัว ซึ่งสามารถเล่นกับระยะใกล้-ไกล ตื้น-ลึก พบเห็นสองตัวละครผู้ติดตาม-ผู้ถูกติดตาม (Caleb-Cathy) อยู่ห่างในระยะพอเหมาะจะปรากฎบนฟีล์มภาพยนตร์ได้
นี่ก็เช่นกัน นำเสนอระยะห่างระหว่างพ่อ Adam กับลูกชาย Caleb อยากที่จะเข้าใกล้เรียกร้องความสนใจ แต่ก็พยายามหลบซ่อน เล่นตัว อยู่ห่างๆในระยะสายตา ความยาว Anarmophic Widescreen พอดิบพอดี
โรงน้ำแข็ง สถานที่เต็มไปด้วยความหนาวเหน็บยะเยือก คงสะท้อนถึงความรู้สึกภายในจิตใจของ Caleb และความสัมพันธ์ระหว่าง Aron-Abra กอดจูบกันในที่แห่งนี้ คงเป็นความรักเย็นชาน่าดู
ว่ากันด้วยมุมเอียง, Dutch Angle มักใช้สะท้อนมุมมอง/โลกทัศน์ อันบิดเบี้ยว ผิดปกติ ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของตัวละคร ส่วนใหญ่เท่าที่พบเห็น มักเป็นฉากที่บ้าน และความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ Adam กับลูกชาย Caleb
นี่เป็นช็อตที่ผู้กำกับ Kazan เรียกว่า ‘Perfect Shot’ เริ่มจากการเซ็นชื่อลงนาม (จ่ายเงินกระมัง) รถไฟกำลังเคลื่อนแล่น กล้องติดตามตัวละครมาจนถึงขณะนี้ จับจ้องมองการเดินทางเพื่อเติมเต็มความเพ้อฝัน
“It’s a perfect shot because it shows that their hope is going off. It’s sentimental and still emotional”.
– Elia Kazan
หลังจากความเพ้อฝันของพ่อพังทลายลง ความฝันใหม่ของลูกได้ถือกำเนิดขึ้น ภาพเบลอๆมัวๆ(เหมือนฝัน)ช็อตนี้ คือการได้เปิดเผยตัวตน พูดคุยกับแม่ ที่ยินยอมรับรู้แล้วว่าเขาคือลูกชายแท้ๆตนเอง เดินรักษาระยะห่างปริมาณหนึ่งเพราะยังไม่คุ้นเคยกันสักเท่าไหร่
ผมค่อนข้างชื่นชอบ ซาบซึ้งช่วงเวลานี้ของหนังมากเลยนะ หวนระลึกถึงหนึ่งในหนังเรื่องโปรด Apur Sansar (1959) ของผู้กำกับ Satyajit Ray การพบเจอกันครั้งแรกระหว่างพ่อ-ลูก เป็นอะไรที่ไม่ง่ายจะยินยอมรับกันและกัน แต่สัมพันธ์สายเลือด ไม่มีอะไรตัดขาดได้จริงๆ
ชิงช้าสวรรค์ที่ไม่เห็นมันจะหมุน –” สะท้อนความสัมพันธ์ของ Caleb-Abra กำลังหมุนวนมาใกล้จนถึงจุดสูงสุดที่จะตกหลุมรัก แต่หญิงสาวยังพยายามหักห้ามด้วยจิตสำนึกของตนเอง ฉันคบหาอยู่กับ Aron ทำแบบนี้มันไม่สมควรสักเท่าไหร่
ลึกๆในใจของ Caleb ก็เฉกเช่นเดียวกัน ถึงใครๆบอกว่าเขาเป็นเด็กนิสัยไม่ดี แต่เรื่องแบบนี้กลับรู้สึกผิดต่อ Aron นี่ก็แปลว่าตัวตนแท้จริงของชายหนุ่ม อยากจะเป็นคนดี แต่เพราะพ่อแท้ๆไม่เคยยินยอมรับ ให้โอกาสเขาเสียที
การปีนป่ายบ้านขึ้นไปหา Abra ถึงห้องของเธอ เป็นการสะท้อนถึงแรงผลักดัน ความต้องการระดับสูง อยากที่จะเป็นคนดี ซื้อใจพ่อให้จงได้
ฉากนี้มีขณะหนึ่งที่ถูกตัดออกไป Caleb พบเห็นรองเท้าของ Abra วางอยู่ริมหน้าต่าง หยิบขึ้นมาสูดดม ใบหน้าราวกับสำเร็จความใคร่ ‘Fetishism’ น่าจะพอเข้าใจเหตุผลกันนะว่า ทำไมสุดท้ายถึงโดนเล็มหายไป
เห็นว่า Dean ทีแรกไม่ยินยอมถ่ายฉากนี้ -สงสัยจะกลัวความสูง- วิธีการของผู้กำกับ Kazan คือมอมเหล้าให้กรึ่มๆ จนยินยอมพร้อมใจ ปีนป่ายขึ้นไป คำพูดที่ว่า ‘ฉันขึ้นมาได้ยังไง’ นั่นพูดกับตนเองโดยเฉพาะ
เมื่อไม่สามารถซื้อใจพ่อได้ ถือว่าช่วงเวลาวิกฤต ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ แทบทั้งร้อยกับวัยรุ่น มักแสดงความรุนแรงเกรี้ยวกราดโกรธทะลักออกมา แต่แปลกไม่ใช่กับ Caleb เพราะเขาได้เรียนรู้จาก Abra และการชกต่อยกับ Aron ไม่ได้สร้างประโยชน์ ระบายความคับข้องแค้นภายในจิตใจออกมาแม้แต่น้อย สวมกอดให้อภัยและเกิดความเข้าใจ นั่นคำตอบของการแสดงออกว่ารักทั้งๆไม่เคยได้รับรักตอบ
เหตุการณ์นี้ถือว่าสะท้อนเรื่องเล่าของ Abra ที่ว่าตอนอายุ 13 ปี เคยโกรธเกลียดภรรยาใหม่ของพ่อ ถึงขนาดเขวี้ยงขว้างแหวนเพชรราคาแพงโยนทิ้งลงแม่น้ำ แล้วต่อมายินยอมยกโทษให้อภัยพ่อ … ฟังดูพึลึก แปลกประหลาด แต่กลับสร้างความสงบให้กับจิตใจของเด็กสาว การกระทำของ Caleb ก็คงเฉกเช่นเดียว
เมื่อไม่ได้รับการยินยอมรับจากพ่อ Caleb หนีเข้าไปหลบซ่อนยังพงไม้ Willow หลังบ้าน Abra เข้าไปให้กำลังใจแต่ถูก Aron ขับไล่ผลักไส สองหนุ่มเผชิญหน้า หญิงสาวต้องถอยออกมาบดบังพวกเขาแล้วเดินจากไป (ให้หนุ่มๆหาข้อยุติกันเอง)
ไดเรคชั่นของฉากนี้มีความน่าสนใจมากๆทีเดียว ถ้าเปรียบพงไม้ดั่งจิตใจของ Caleb ตอนแรกเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในความมืดมิด จากนั้น Abra เข้าไปให้กำลังใจแต่ก็ไม่ทำให้อะไรๆดีขึ้น (ผู้หญิงทำได้เพียงให้กำลังใจ แต่มักไม่สามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอะไรของผู้ชายได้) และสุดท้ายคือ Aron ระบายความอัดอั้นตันใจออกมา (มีเฉพาะผู้ชายด้วยกันเท่านั้น ถึงสามารถเข้าใจปัญหาของกันและกัน) นั่นทำให้ Caleb เดินออกมาจากพงแห่งความมืดมิด เข้ามากอดคอ ชักชวนนำพาไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง เปิดเผยข้อเท็จจริงบางอย่าง ให้มันได้รับรู้กันไปซึ่งๆ ใครกันแน่สมควรถูกเรียกว่า ‘สารเลว’
เมื่อ Caleb ส่งเสียให้ Aron ไปดีแล้ว กลับมาโยกเยกชิงช้าหน้าบ้าน กล้องถ่ายภาพแกว่งไกวไปมา สะท้อนความสั่นคลอน โคลงเคลงของชีวิต และครอบครัว ก้าวมาถึงจุดหักเห เปลี่ยนแปลง หายนะ คลื่นลม พายุคลั่งกำลังย่างกรายเข้ามา ไม่มีอะไรจักเหมือนเดิมคงอยู่ตลอดไป
สุดท้ายแล้วพ่อผู้เกิดอาการช็อกกับทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น ตกอยู่ในสภาพอัมพาต ‘ตายทั้งเป็น’ ไม่สามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวทำอะไรได้ด้วยตนเอง พูดจายังลำบาก เหลือเวลาชีวิตคงอีกไม่มาก และเพราะความที่รอบข้างกายแทบไม่หลงเหลือใคร วิธีการเอาตัวรอดเดียวเท่านั้นคือกล้ำกลืนฝืนทน พูดสิ่งที่อาจไม่ใช่ความต้องการจากใจ ขอให้ลูกชายอยู่เคียงข้างปฐมพยาบาล รับเคราะห์จากมุมมืดมิดที่ตนไม่คิดฝักใฝ่
ความน่ารำคาญของนางพยาบาล คือบทสรุปที่สะท้อนถึงทุกตัวละครในหนังเรื่องนี้ ต่างมิใคร่แคร์ความรู้สึกผู้อื่นใด ชอบเรียกร้องโน่นนี่นั่นแบบไม่สนใจ
– พ่อ Adam ต้องการให้ลูกๆเป็นคนดี แต่กลับไม่เคยสนหัวพยายามเข้าใจสาเหตุผลการเป็นคนชั่วของ Caleb
– Caleb พยายามทำหลายสิ่งอย่างให้พ่อหันมาสนใจ ยินยอมรับ แต่พอถูกปฏิเสธก็แสดงความเกรี้ยวกราด คลุ้มคลั่ง ไม่พึงพอใจออกมา โลกต้องหมุนรอบตนเอง
– Aron คล้ายๆพ่อ ต้องการให้ทุกสิ่งรอบข้าง สมบูรณ์ดีพร้อม ‘โลกสวย’ ไม่เคยสนใจบริบทข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
– แม่ Cathy ทุกอย่างต้องหมุนรอบตนเอง ไม่ยินยอมถูกคุมขังดั่งนกในกรง โหยหาอิสรภาพเสรี
ตัดต่อโดย Owen Marks (1899 – 1960) สัญชาติอังกฤษ ขาประจำของ Warner Bros. มีผลงานเด่นอย่าง Casablanca (1942), Janie (1944), The Treasure of the Sierra Madre (1948), White Heat (1949) ฯ
หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมอง/สายตาของ Caleb Trask โดยทุกสิ่งอย่างของงานภาพ จะสะท้อนจิตวิทยา อารมณ์ ความรู้สึกของตัวละครนี้ออกมา (คล้ายๆกับ Film Noir แต่ถือเป็นลักษณะของ Expressionist)
การตัดต่อถือว่าไม่โดดเด่นสักเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่มักเป็น Long Take ความยาวเฉลี่ยของแต่ละช็อต Average Shot Length (ASL) เท่ากับ 10 วินาที หนังที่มุ่งเน้นขายการแสดงเป็นหลัก ก็มักให้อิสระปลดปล่อยความสามารถอย่างเต็มที่แบบนี้
เพลงประกอบโดย Leonard Rosenman (1924 – 2008) สัญชาติอเมริกัน ครูสอนเปียโน James Dean ซึ่งก็ได้แนะนำให้ผู้กำกับ Kazan เลือกใช้บริการ แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที ผลงานเด่นๆ อาทิ East of Eden (1955), Rebel Without a Cause (1955), Barry Lyndon (1975), Bound for Glory (1976), Star Trek IV: The Voyage Home (1986) ฯ
ในส่วนของงานเพลง คอยช่วยเสริมเติมแต่งอารมณ์ให้กับเรื่องราว ไม่ได้มุ่งขับเน้นให้โดดเด่นเกินหน้าเกินตา มาแค่คลอประกอบอย่างกลมกลืน สร้าง Subtle สอดซ่อนเร้นความรู้สึก/ต้องการแท้จริงของตัวละครไว้ภายใน
Main Theme ฟังดูช่างขัดแย้งกับเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขึ้น ตัวละครเต็มไปด้วยความเก็บกด อึดอัดอั้น เกรี้ยวกราดโกรธ แต่ทั้งนั้นบทเพลงนี้สะท้อนสิ่งที่คือความสงบสุขทางจิตใจ หรือสิ่งที่พวกเขาต่างโหยหา ไขว่คว้า ต้องการให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ หรือคือ Eden สรวงสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น East of Eden หรือ Land of Nod คือสถานที่ที่ Cain ถูกพระผู้เป็นเจ้าขับไล่ เนรเทศ หลังจากเข่นฆ่า Abel จนดับสิ้นสูญตายจากไป เร่ร่อนพเนจร ไม่สามารถค้นหาความสงบสุขทางจิตใจได้อีกต่อไป
ความดี-ชั่ว ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถสืบสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น คนสู่คน เหมือนยีนส์ กรรมพันธุ์ พ่อ+แม่=ลูก แต่การที่ลูกไม้ตกไม่ไกลต้น มักเกิดจากการเลี้ยงดู ความเอาใจใส่ สภาพแวดล้อม ถึงกระนั้นต่อให้วิธีการเหมือนเปะๆ ก็ยังอาจได้ผลลัพท์แตกต่างกันอยู่ดี (เหมือน Caleb กับ Aron) เพราะก็มีปัจจัยอื่นอีกมากมาย ไม่สามารถหาข้อสรุปที่แน่นอนได้
ด้วยเหตุนี้คนส่วนใหญ่จึงมักมีความเข้าใจว่า ‘ดี-ชั่วล้วนขึ้นอยู่กับตัวเราเอง’ คือมันก็ไม่ผิดเท่าไหร่หรอกนะ แต่ก็ไม่ถูกต้องไปเสียหมด
เพราะทุกสิ่งอย่างในโลก/การกระทำของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุผล ที่มาที่ไป ‘กฎแห่งกรรม’ บางอย่างมันก็อาจไม่ใช่ชาตินี้ที่เป็นแรงผลักดันให้กระทำความดี-ชั่ว ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยจิตสำนึกพื้นฐาน ไม่มีใครอยากเป็นคนสารเลว แต่ถ้าทำดีแล้วไม่มีใครชื่นชม ได้ผลตอบรับแย่ๆจากสังคม ใครไหนกันจะอยากกระทำสิ่งเหล่านั้น
อิทธิพลของครอบครัวและสังคม ถือว่ามีผลกระทบมหาศาลต่อความคิดอ่าน การกระทำของมนุษย์ เพราะต้องการได้รับการยินยอมรับจากพ่อ-แม่ ไอดอล บุคคลผู้ที่ตนชื่นชอบ สร้างสรรค์อัตลักษณ์ตัวตนเองให้แตกต่างจากใคร จักได้มีพื้นที่ว่างสำหรับยืนอาศัยอยู่บนโลกใบนี้
สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนออกมา เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่โหยหาต้องการ ‘ความรัก’ จากบิดา/พระเจ้าผู้สร้าง เมื่อไม่ได้รับการตอบรับดั่งใจปรารถนา เหตุการณ์โศกนาฎกรรมจึงบังเกิดขึ้น
เฉกเช่นนั้นแล้ว East of Eden ถือว่าเป็น Anti-Christ หรือไม่? ผมว่าหนังนำเสนออย่างก้ำกึ่งกลาง คือให้สามารถมองทั้งสองมุมได้ ก็แล้วแต่ผู้ชม จะสามารถครุ่นคิดตีความไปเอง
– สิ่งที่พ่อต้องการ เพียงให้ลูกหลานเติบโตขึ้นเป็นคนดีของสังคม แต่เมื่อพยายามอย่างสุดความสามารถแล้วก็ต้องปล่อยไปตามยถากรรม ถูกขับไล่ออกนอกอาณาจักรของพระองค์
– Anti-Christ มองว่าพ่อคือบุคคลผู้เห็นแก่ตัว เผด็จการ สนเพียงความต้องการของตนเอง บีบบังคับให้ลูกๆต้องปฏิบัติตาม เป็นคนดีของสังคมเท่านั้นถึงจะอยู่รอดปลอดภัย
กับคนที่ศึกษาพุทธศาสนา ย่อมสามารถรับรู้ได้ว่า ‘ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์’ นี่ไม่ใช่แค่ระหว่างชาย-หญิง ยังเหมารวมถึงพ่อแม่-ลูก เพราะเมื่อไหร่มีความมากล้นเกินพอดี ย่อมเกิดการยึดติดหมกมุ่น คลั่งไคล้หลงใหล จนมิสามารถปลดปล่อยวาง หาความสงบสุขภายในจิตใจได้
เป้าหมายของผู้เขียนนวนิยาย John Steinbeck อาจไม่ใช่ทั้งประเด็น Anti-Christ หรือสะท้อนปัญหาวัยรุ่น/ครอบครัวออกมา แต่คือการค้นหาสิ่งเรียกว่า ‘ความสุขสงบทางใจ’ อะไรคือความเพียงพอดีของชีวิต สุข-ทุกข์ ดี-ชั่ว มนุษย์เราต้องโอบรับมันเข้ามาทั้งหมด เพราะไม่ทางที่ใครจะยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ หรือเลวร้ายไร้ที่ติ
ประเด็นเล็กๆที่หนังสอดแทรกฝังไว้คือ anti-German Xenophobi ชาวอเมริกันยุคสมัยนั้น ตราติดตรึง เหมารวมความชั่วร้ายของพวกเยอรมัน ผู้ก่อให้เกิดสงครามโลกทั้งสองครั้ง เลยไม่แปลกจะแสดงอาการต่อต้าน รับไม่ได้ นี่แหละคือสังคมที่ยกย่องความรักเป็นสิ่งสูงส่ง เมื่อเกิดการสูญเสียเลยแสดงออกด้วยความเกรี้ยวกราดโกรธแค้น บ้าคลั่งเสียสติแตก ทั้งๆผู้อพยพเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นอะไรด้วยเลย กลับถูกรุมล้อมลงประชาทัณฑ์ ช่างเป็นฝูงชนที่โง่เง่าเขลาปัญญาโดยแท้
เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Best Dramatic Film ถือเป็นรางวัลพิเศษ ปลอบใจไม่ได้ Palme d’Or ให้กับ Marty (1955)
หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ทำเงินได้ประมาณ $5 ล้านเหรียญ ดูแล้วน่าจะทำกำไรได้พอสมควร เข้าชิง Oscar 4 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Director
– Best Actor (James Dean)
– Best Supporting Actress (Jo Van Fleet) ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Screenplay
ถูก SNUB สองสาขาคือ Best Picture และ Best Cinematography ซึ่งในบรรดาหนังที่เข้าชิง นอกจาก Marty (1955) [ที่คว้า Oscar: Best Picture] ก็ไม่มีเรื่องอื่นได้รับการจดจำเหนือกาลเวลา
เกร็ด: หนังเรื่องโปรดของ Ryan Gosling, Nicolas Cage [เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ‘สนใจอาชีพนักแสดงเพราะอยากเป็น James Dean’]
ส่วนตัวชื่นชอบประทับใจหนังเรื่องนี้อย่างมาก อึ้งทึ่งตราตะลึงกับ James Dean ถือเป็นหนึ่งในการแสดงอันยอดเยี่ยม ทรงพลังที่สุด เท่าที่เคยพบเห็นมาเลย ไดเรคชั่นของ Elia Kazan มาถึงจุดสูงสุดแล้วกระมัง
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อ-แม่ พยายามทำความเข้าใจให้ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร ทำไมพวกเขาถึงแสดงพฤติกรรมแหลกเหลวเหล่านั้นออกมา ศึกษา เรียนรู้ จดจำ อย่าให้มันเกิดขึ้นกับลูกๆหลานๆของตนเอง
แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ ตำรวจ ครู-อาจารย์ ทุกอาชีพสาขาทำงานเกี่ยวกับวัยรุ่น เพื่อจะได้มีความเข้าใจถึงสาเหตุผล ความหัวขบถดื้อรัน ทุกปัญหาล้วนมีที่มาที่ไป อย่าเอาแต่โทษว่าเป็นความเลวชั่วร้ายของพวกเขาสถานเดียวอีกเลย
จัดเรต 18+ กับความรุนแรง กวัดแกว่ง เกรี้ยวกราด
ประเด็นล่าแม่มดเยอรมันนี่น่าจะมีนัยยะถึงตัวผู้กำกับ Elia Kazan เองด้วยมั้ง ที่เจ้าตัวโดนเรื่องเคยอยู่กับคอมมิวนิสต์
แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเรื่องล่าแม่มดของฮอลลีวู้ดแบล็คลิสต์สมัยนั้น
หรือเรื่องที่ตัวเองเผยรายชื่อจนโดนหาว่าทรยศแบบที่พูดถึงในหนังก่อนหน้าอย่าง On the Waterfront (1954)
แต่ตัวละครเยอรมันที่โดนล่าแม่มดนั่น น่าจะสื่อถึงคนโดนหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์แน่ๆ
ดูมันจงใจใส่เข้ามาในเรื่องแบบเน้นพอสมควร