Easter Parade (1948)
: Charles Walters ♥♥♥♥♡
ผลลัพท์ของการร่วมงานครั้งแรกครั้งเดียวของ Fred Astaire กับ Judy Garland นี่คือหนังที่ทำเงินสูงสุดของทั้งคู่ แต่… Garland จะเต้นตามทัน Astaire หรือไม่ ต้องตามลุ้นกัน!
สปอยไปเลยแล้วกัน ว่า ‘ไม่’ Garland พยายามสุดชีวิตแล้วแต่ก็ไม่สามารถเต้นคู่ให้ทันกับ Astaire ได้ แต่ไม่ใช่เพราะตัวจริงของเธอทำไม่ได้นะครับ คือพล็อตหนังจงใจให้ทำไม่ได้
Don Hewes (รับบทโดย Fred Astaire) นักแสดง Broadway ยอดฝีมือ มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเต้นคู่กับ Nadine Hale (รับบทโดย Ann Miller) แต่วันหนึ่งก่อนหน้าวัน Easter หญิงสาวได้ตัดสินใจต้องการฉายเดี่ยว (Solo) ด้วยการเซ็นสัญญากับโรงละครที่จะขึ้นแสดงไว้ด้วย ทำให้ Hewes หัวเสียมาก ไปกินเหล้าที่บาร์แห่งหนึ่ง ปากดีท้าเพื่อนสนิท Johnny (รับบท Peter Lawford) บอกว่า ฉันสามารถเลือกผู้หญิงคนไหนก็ได้มาเต้นคู่ นั่นทำให้จับพลัดจับพลูเลือกนักเต้นสาว Hannah Brown (รับบท Judy Garland) เพื่อเป็นคู่เต้นคนใหม่ของเขา
เรื่องราวต่อจากนี้คือสิ่งที่ผมสปอยไป เพราะ Hannah Brown หญิงสาวไร้ชื่อมีหรือจะสามารถเต้นตามนักเต้นยอดฝีมือได้ ซึ่งจนแล้วจนรอด… นี่ผมไม่ขอเล่าแล้วกันว่าเกิดอะไรขึ้น
ในตอนแรกโปรเจคนี้ MGM วางคู่นักแสดงไว้คือ Gene Kelly กับ Judy Garland ที่เคยร่วมงานกันใน For Me and My Gal (1942) [เป็นหนังเรื่องแรกของ Gene Kelly] และ The Pirate (1948) [เรื่องนี้กำกับโดย Vincente Minnelli สามีของ Garland ขณะนั้น] ยังตั้งใจให้ Vincente Minnelli เป็นผู้กำกับด้วย แต่เพราะความล่าช้าในการถ่ายทำ The Pirate ทำให้ Garland สติแตกกลางกองถ่าย ใช้เวลาพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลหลายสัปดาห์ นักจิตวิทยาบอกว่า ปัญหาของเธอคือความขัดแย้งกับ MGM และความเครียดจากทำงานร่วมกับสามี นั่นทำให้ Minnelli ถูกขอให้ออกจากการเป็นผู้กำกับ Easter Parade โดยทันที แล้วมอบหมายให้ Charles Walters ทำหน้าที่กำกับแทน
Charles Walters (1911-1982) ผู้กำกับและนักออกแบบท่าเต้น สัญชาติอเมริกา, เป็นคนออกแบบท่าเต้นให้กับหนังเรื่อง Girl Crazy (1943), Meet Me in St. Louis (1944) ฯ จนได้รับความไว้วางใจ กลายเป็นผู้กำกับหนังเพลงให้กับ MGM ในยุค 40s-60s มีผลงานดังคือ The Barkleys of Broadway (1949) [หนังเรื่องสุดท้ายของ Astaire กับ Ginger Rogers], Lili (1953) [เข้าชิง Oscar: Best Director], High Society (1956), The Unsinkable Molly Brown (1964) [ทำให้ Debbie Reynolds เข้าชิง Oscar], Walk, Don’t Run (1966) [หนังเรื่องสุดท้ายของ Cary Grant] ฯ
สำหรับ Gene Kelly ที่ต้องถอนตัวออกไปเพราะเข่าหัก เขาบอกกับสตูดิโอว่าเกิดจากการซ้อมเต้น แต่จริงๆเกิดอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา (บางแหล่งบอกว่า Football บางแหล่งบอก Vollyball ก็เลยไม่รู้กีฬาอะไร) MGM ไม่รู้จะทำยังไงดีเพราะการจะหานักแสดงแทน Kelly นั้นยากเหลือเกิน ซึ่งเขาเสนอให้ติดต่อ Fred Astaire ที่ขณะนั้นไม่ได้รับงานแสดงสักพักแล้ว (คือกำลังรีไทร์อยู่) ซึ่งพอ Kelly อธิบายสถานการณ์ให้ Astaire เขาก็ตกลงที่จะกลับมา
นักแสดงอีกคนที่ MGM วางไว้เพื่อรับบท Nadine Hale คือ Cyd Charisse แต่เพราะเธอขาหักเช่นกัน (น่าจะขณะซ้อมเต้น) แทนที่ด้วย Ann Miller นักแสดงที่มีผลงานตั้งแต่กลางยุค 30s แต่นี่เป็นหนังใหญ่เรื่องแรกของเธอ
เรื่องราวของหนังเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวัน Easter ปี 1911 ถึงวัน Easter ปี 1912, ชื่อหนังสื่อถึงขบวนแห่ Easter Parade บริเวณ Fifth Avenue ในวัน Easter Sunday ที่ซึ่งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีไฮโซ จะใส่ชุดแฟนซีสวยๆ เครื่องประดับหรูๆ หมวกใบใหญ่ๆ เดินอย่างเจิดจรัสเฉิดฉาย อวดความรวย สวย และความมีชื่อเสียง
วันอีสเตอร์ (Easter Day) หรือวันปัสกา เป็นวันเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึงพระเยซูคริสต์หลังทรงคืนพระชนม์ชีพจากความตาย, ทั้งนี้วันอีสเตอร์ ไม่มีวันที่ระบุตายตัว แต่ถือเอาอาทิตย์แรกหลังพระจันทร์เต็มดวงในเดือน 4 เป็นตัวกำหนด, กิจกรรมในวันนี้ ชาวคริสต์แต่ละครอบครัวจะแต่งตัวกันอย่างสวยงาม เพื่อร่วมพิธีกรรมในโบสถ์ ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า ฯ ตามบ้านมักจะตกแต่งไข่เป็นลวดลายสีสันต่างๆ เพื่อนำมามอบให้แก่กันและกัน
สัญลักษณ์ของวันอีสเตอร์ที่ใช้ในการเฉลิมฉลองคือ ไข่ โดยชาวคริสต์จะเรียกว่า ไข่อีสเตอร์หรือไข่ปัสกา เพื่อสื่อถึงการเกิดใหม่ ชีวิตใหม่/สิ่งใหม่ๆ กำลังเริ่มต้นขึ้น และนิยมกินไข่ในวันดังกล่าว เชื่อว่าหากกินไข่แล้วจะนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาสู่ชีวิตของเรา
จริงๆหนังไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเทศกาลวันอีสเตอร์เลยนะครับ แค่เป็นวันครบรอบสัญญาที่ Don Hewes ให้กับ Hannah Brown บอกว่า วันนี้ของปีหน้า เธอจะกลายเป็นดาวดารา ที่ใครๆต่างจับจ้องมองเธอ, ถ้ามองเปรียบเทียบก็พอได้ วันเริ่มต้นสัญญาคือการเกิดใหม่ของ Hannah Brown (เหมือนไข่ฟักกลายเป็นลูกเจี๊ยบ) หนึ่งปีผ่านไป ถ้าสัญญานั้นสำเร็จ เปรียบได้กับจากลูกเจี๊ยบที่เติบโตกลายเป็นแม่ไก่เต็มวัยสวยสง่า
เกร็ด: นี่เป็นหนังที่เต็มไปด้วยขนฟูฟ่อง, ไก่, กระต่าย ที่เป็นของเล่นวัน Easter ปรากฎอยู่มากมายเต็มไปหมด มองเห็นกันบ้างหรือเปล่าเอ่ย?
ถ่ายภาพโดย Harry Stradling
ตัดต่อโดย Albert Akst
เพลงประกอบเรียบเรียงโดย Johnny Green กับ Roger Edens แต่งโดย Irving Berlin
เพลง Drum Crazy เป็นการร้องเล่นเต้นฉายเดี่ยวของ Fred Astaire อยู่ต้นๆเรื่อง ที่จะทำให้คุณหลงรักผู้ชายคนนี้โดยทันที, ปกติหนังของ Astaire จะมีส่วนผสมทั้งฉายเดี่ยวและเต้นคู่ แต่นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการเล่นสิ่งอื่น (นอกจากหมวกกับไม้เท้า) คือเล่นเต้นกับกลองในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน มันเลยชื่อ Drum Crazy ที่จะทำให้ผู้ชมเครซี่ไปเลย, ผมนำเพลงมาให้ชม แต่ถ้าเลี่ยงได้ไปหลงใหลเอาในหนังดีกว่านะครับ
สำหรับ Judy Garland มีบทเพลง I Want To Go Back To Michigan เนื้อร้องในเชิงตัดเพ้อรำพันคิดถึงบ้าน ของคนที่อยู่ในเมืองใหญ่, บทเพลงนี้ Irving Berlin แต่งขึ้นในปี 1941 ประสบความสำเร็จปานกลาง แต่พอได้เสียงร้องของ Garland เข้าไปกลายเป็นอมตะโดยทันที
มีเพลงหนึ่งที่ถูกตัดออกตอนฉาย เพราะทำให้หนังยาวเกินไป ชื่อเพลง Mr. Monotony ขับร้องโดย Judy Garland มีฟุตเทจหลงเหลือ นำมาให้ชมกัน
มีเพลงหนึ่งที่ผมหาคลิปมาลงให้ไม่ได้ เป็นการแสดงครั้งแรกบนเวทีของ Don Hewes กับ Juanita (ชื่อใหม่ของ Hannah Brown) ที่เละไม่เป็นท่า โดยเฉพาะชุดของหญิงสาวที่เป็นขนนก (Ostrich-feather) นี่เป็นความจงใจประชดประชัน Ginger Rogers ของ Fred Astaire จากหนังเรื่อง Top Hat ที่เธอดื้อด้านใส่ชุดนี้ แม้มันจะสร้างความลำบากในการเต้นมาแค่ไหนก็ไม่ยอมเปลี่ยน (จน Astaire เรียกชื่อเล่น Rogers ว่า Feather)
สำหรับเพลงไฮไลท์ของหนังที่ได้รับการพูดถึงเยอะที่สุดคือ Steppin’ Out with My Baby มีคู่เต้นของ Fred Astaire ทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย Patricia Jackson, Bobbie Priest, Dee Turnell ช่วงท้ายๆของเพลงจะมีภาพสโลโมชั่น ที่เหมือนว่า Astaire จะเต้นช้ากว่านักเต้นที่อยู่ด้านหลัง, MGM อ้างว่านี่เป็นการถ่ายทำ Slow Motion แบบ synchronized เสียงครั้งแรกของโลก
สาวๆในหนังเรื่องนี้ ทั้ง Judy Garland และ Ann Miller เปรียบได้กับไก่สาวสองตัว ที่หนึ่งเป็นไก่โลโซ อีกหนึ่งเป็นไก่ไฮโซ ดูได้จากบทเพลงช่วงท้าย
– Don Hewes เต้นกับ Hannah Brown เพลง A Couple of Swells ทั้งสองแต่งตัวเป็นคนซ่อมซ่อ กระยาจกขอทาน
– ตรงกันข้ามกับ The Girl on the Magazine Cover ของ Nadine Hale ที่เลิศหรูหราอลังการมีระดับ
นี่คงเป็นใจความของหนังที่ต้องการนำเสนอความแตกต่างของคนสองประเภท สวยรวยฝีมือมือกับขี้เหร่ไร้พรสวรรค์ ซึ่งคนทั้งสองประเภทสามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน แต่ในวิถีที่ต่างออกไป, คนที่มีความสามารถเรื่องพรรค์นี้อยู่แล้วคงไม่ยากอะไร แต่กับคนที่ไม่จำต้องมีความอดทนพยายาม ฝึกฝน เตรียมการ และที่สำคัญคือเป็นตัวของตนเอง ไม่ย้อท้อต่ออุปสรรคใดๆ สักวันความสำเร็จต้องถามหาแน่นอน
เช่นกันกับการยอมรับและความรัก ที่ต้องใช้เวลาและความอดทน ก่อร่างสร้างสม สิ่งสำคัญคือยอมรับในตัวตนของผู้อื่น ไม่ใช่พยายามเปลี่ยนแปลงให้เขาเป็นในแบบที่เราต้องการ นั่นไม่ใช่ความรัก แต่คือผลประโยชน์ ที่เดี๋ยวมันคงแยกจากไปอย่างไร้เยื่อใย (แบบที่ Nadine Hale จาก Don Hewes ก็น่าจะด้วยเหตุผลนี้)
ด้วยทุนสร้าง $2.655 ล้านเหรียญ หนังทำเงิน $5.803 ล้านเหรียญ ถือว่าสูงที่สุดในบรรดาหนังของ Fred Astaire และ Judy Garland, เข้าชิง Oscar สาขาเดียวและได้รางวัล Best Music, Scoring of a Musical Picture
ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้ แทบจะทุกบทเพลงมีความไพเราะโดนใจ ท่าเต้นของ Fred Astaire ได้พัฒนาขึ้นอีกระดับ (คือไม่จำเป็นต้องมีคู่ ก็สามารถร้องเล่นเต้นกับกลองเองได้!) ส่วน Judy Garland ยังคงยอดเยี่ยมเช่นเคย แต่เธอร้องเพลงได้โดดเด่นกว่าการเต้นนะ, และเรื่องราวของหนังเรื่องนี้ ดูสนุกได้สาระข้อคิดกว่า Screwball Musical ที่แสดงคู่กับ Ginger Rogers เป็นไหนๆ
แนะนำกับคอหนังเพลง ชื่นชอบการแสดง Broadway, อยากเห็นขบวนแห่ Easter Parade สมัยก่อน, แฟนๆ Fred Astaire, Judy Garland ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรตทั่วไป ดูได้ทั้งบ้าน
Leave a Reply