Easy Rider (1969) : Dennis Hopper ♥♥♥♥
นี่คือ Masterpiece ของภาพยนตร์แนว Road Movie เรื่องราวของชายสองคนหลังจากทำกำไรมหาศาลจากการขายโคเคน ขับขี่รถ Chopper ออกท่องสหรัฐอเมริกา เป้าหมายคือ New Orleans, Louisiana แต่สิ่งที่พวกเขาค้นพบระหว่างเดินทางกลับคือ…
“A man went looking for america and couldn’t find it anywhere”.
คำโปรยบนใบปิด ถือเป็นเนื้อหาสาระใจความของหนังเลยก็ว่าได้! สหรัฐอเมริกา ดินแดนที่เรียกตนเองว่าเสรีชน แต่ยุคสมัยนั้นกลับไม่มีใครที่ได้รับอิสรภาพอย่างแท้จริง
Easy Rider จัดเป็นภาพยนตร์ประเภท Counter-Cultural สะท้อนทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปของอเมริกันชน ในยุคสมัยสงครามเย็น/อินโดจีน Great Depression ทศวรรษแห่งการลอบสังหาร (John F. Kennedy, Martin Luther King, Malcolm X ฯ) และจุดสิ้นสุด Hays Code ของวงการภาพยนตร์
ทั้งหมดที่ว่ากล่าวมานี้คืออิทธิพลทางสังคม ปัจจัยทำให้วัยรุ่นหนุ่มสาวสมัยนั้นเกิดความเบื่อหน่าย ก้าวร้าว ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ ต่อต้านระบบทุนนิยม จึงแปรสภาพกลายเป็นฮิปปี้, Hipster ภาษาไทยคือบุปผาชน คนรักอิสระเสรีภาพ ไม่ยึดติดกฎกรอบวิถีประเพณี เล่นยา มั่วเซ็กส์ ดำเนินชีวิตเรียบง่าย แต่งกายไม่ภูมิฐาน ฟุ้งเฟ้อหรือยึดติดกับสิ่งของมีค่าราคาแพง
เมื่อตอนออกฉาย Easy Rider เป็นภาพยนตร์ที่ผู้ใหญ่ นักวิจารณ์สมัยนั้นดูไม่ค่อยเข้าใจ มองไม่เห็นเนื้อหาสาระ ครุ่นคิดว่าเป็นเพียงหนังทุนต่ำคุณภาพดาดๆ แต่กลับถูกใจจิ๊กโก๋วัยรุ่นสมัยนั้น เพราะสะท้อนจิตวิญญาณ แฟชั่นนิยม โคตรเท่ห์ จนประสบความสำเร็จ ทำเงินมหาศาลถล่มทลาย (เป็นหนัง Indy ทำเปอร์เซ็นต์กำไรสูงสุดตลอดกาล!)
ว่าไปไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยสักนิดที่คนรุ่นก่อนจะไม่ค่อยเข้าใจหนังเรื่องนี้ เพราะเด็กรุ่นใหม่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ล้วนได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยี สารสนเทศ วิถีชีวิตแตกต่างจากเดิม โลกหมุนเร็วขึ้น ยุคสมัยได้เกิดการปรับเปลี่ยนแปลงไป การเลี้ยงดู/ทัศนคติแบบเดิมๆย่อมสอนสั่งพวกเขาไม่ได้ … ‘เด็กรุ่นนี้แม้งบ้าบอคอแตก!’ แล้วใครกันละสร้างโลกให้พวกเขากลายเป็นเช่นนั้น
ขนาดว่า Henry Fonda พ่อของ Peter Fonda ได้มีโอกาสรับชม Rough Cut แสดงความเห็นต่อลูกชายอย่างซีเรียสจริงจัง
“Look son, I know you have all your eggs in this basket, and I’m worried about it, because the film is inaccessible. We don’t see where you’re going and why? I just don’t think many people will get it”.
– Henry Fonda
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึงเลยคือ จุดสิ้นสุดยุคสมัย Hays Code ได้ปรับเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าวงการภาพยนตร์ไปโดยสิ้นเชิง เริ่มต้นจาก Bonnie and Clyde (1967) และปีทองคือ 1969 ประกอบด้วย Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969), The Wild Bunch (1969), Easy Rider (1969), Midnight Cowboy (1969) และ Blue Movie (1969) ** หนังโป๊เรื่องแรกที่ฉายวงกว้างในโรงหนัง เรียกว่าตอบสนองขอบเขตจำกัดใหม่ได้อย่างสุดเหวี่ยง ถึงที่สุดจริงๆ
Dennis Lee Hopper (1936 – 2010) ผู้กำกับ/นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Dodge City, Kansas โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง Old Globe Theatre ที่ San Diego ตามด้วย Actors Studio ณ New York City (เรียนกับ Lee Strasberg ถึง 5 ปี) มีผลงานการแสดงครั้งแรก ในหนังของ James Dean (Idol ส่วนตัว) สองเรื่องติด Rebel Without a Cause (1955) และ Giant (1956) แต่การเสียชีวิตของ Dean ส่งผลกระทบต่อจิตใจและการแสดงของเขามาก ทำให้เกือบเลิกเป็นนักแสดงผันตัวเป็นครู แต่โชคดีที่โอกาสยังมาหาอยู่เรื่อยๆ
Peter Henry Fonda (เกิดปี 1940) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน ลูกชายของนักแสดงชื่อดัง Henry Fonda เกิดที่ New York City แน่นอนว่าลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น เติบโตขึ้นศึกษาด้านการแสดงยัง University of Nebraska Omaha ตามด้วยเข้าร่วม Omaha Community Playhouse (ตามรอยพ่อตนเอง) เริ่มต้นจากละครเวที Broadways แขกรับเชิญรายการโทรทัศน์ บทเล็กๆในภาพยนตร์ Tammy and the Doctor (1963), โด่งดังจาก The Wild Angels (1966) จนกลายเป็น ‘an icon of the counterculture’ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Trip (1967), Easy Rider (1969), Ulee’s Gold (1997) ฯ
ก่อนหน้านี้ Hopper และ Fonda เคยมีผลงานแสดงร่วมกันเรื่อง The Trip (1967) พัฒนาบทโดย Jack Nicholson ซึ่งพวกเขาทั้งสามต่างมีความใคร่สนใจร่วมงานกันอีก โดยแรงบันดาลใจของ Easy Rider มาจากผลงานของ Fonda เรื่อง The Wild Angels (1966) ซึ่งเป็นแนว Western ครุ่นคิดว่าถ้าเปลี่ยนจากคาวบอยขี่ม้า มาเป็นการขับมอเตอร์ไซด์ทัวร์สหรัฐอเมริกา มันคงน่าสนใจไม่น้อย
หลังจากพูดคุยกัน Hopper แสดงความสนใจอยากกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตนเอง ตอนแรกตั้งชื่อโปรเจคว่า The Loners ต่อมานำพานักเขียน Terry Southern (Dr. Strangelove, The Loved One, The Cincinnati Kid ฯ) เข้าร่วมกันพัฒนาบท และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Easy Rider
แซว: Hopper เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า Southern ไม่ได้เป็นผู้ครุ่นคิดพัฒนาอะไรนอกจากตั้งชื่อหนัง แต่เพราะยุคสมัยนั้นจำต้องมีนักเขียนสังกัด WGA ขึ้นในเครดิต เลยจำต้องคงชื่อหมอนี่ไว้ แล้วต่อมาจึงเพิ่มชื่อตนเองและ Fonda เข้าไปด้วยภายหลัง
Wyatt (รับบทโดย Peter Fonda) และ Billy (รับบทโดย Dennis Hopper) หลังจากลักลอบขนโคเคนจากเม็กซิโก ข้ามประเทศมาขายให้นายหน้ายัง Los Angeles ได้รับเงินก้อนโต ทำการม้วนใส่ท่อ เก็บซ่อนไว้ในถังน้ำมันรถมอเตอร์ไซด์ Chopper มุ่งหน้าออกเดินทางสู่เทศกาล Mardi Gras ณ New Orleans, Louisiana เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จอันสุดเหวี่ยงนี้
ระหว่างทาง พวกเขาทั้งสองได้มีโอกาสพบเจอกับ
– Jesus (รับบทโดย Antonio Mendoza) เป็นชาวนาที่ Arizona พบเจอขณะยางแตกให้ความช่วยเหลือ เล่าให้ฟังถึงการค้นพบ ‘สถานที่’ ของตนเอง ภรรยาสุดสวย และลูกๆเต็มบ้าน
– Connection (รับบทโดย Phil Spector) ฮิปปี้ที่โบกรถ แล้วนำพาทั้งสองสู่ชุมชนของตน อาศัยอยู่กับป่าเขา ธรรมชาติ วิถีชีวิตรักอิสระ Free Love/Sex ชักชวนให้อาศัยอยู่ร่วมกัน
– เดินทางมาถึง New Mexico ร่วมขบวนพาเรดแต่ถูกจับ นั่นทำให้พบเจอกับ George Hanson (รับบทโดย Jack Nicholson) ทนายหนุ่มติดคุกเพราะมึนเมา พวกเขาพูดคุยกันถูกคอเลยชักชวนกันมุ่งสู่ Mardi Gras แต่โชคชะตาจับพลัดให้ไปไม่ถึงซะงั้น!
– มาถึง New Orleans สองหนุ่มแวะเข้าซ่อง ได้สองโสเภณีสาว Karen และ Mary พาเที่ยวทัวร์งาน Mardi Gras แต่ดันมาลงเอยยังสุสานเสียได้
Fonda รับบท Wyatt (Earp) หรือ Captain American สูงหล่อ มาดเท่ห์ สงบนิ่ง สาวๆพบเห็นต่างลุ่มหลงใหลในเสน่ห์ หัวสมองครุ่นคิดโน่นนี่นั่น จริงจังต่อทุกสิ่งอย่าง และพบเห็นรับรู้เข้าใจ ทุกสิ่งอย่างประสบพบเจอมานี้ ‘We blew it!’
แม้ Fonda จะเป็นผู้ริเริ่มโปรเจคนี้ (และเป็นโปรดิวเซอร์) แต่เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ไม่เข้าใจหนังเลยว่ะ! ถึงกระนั้นนี่คือผลงานได้รับการจดจำสูงสุดของพี่แกเลยก็ว่าได้
“Where did those two guys come from? What was their background? How did they set up that drug-smuggling deal? Where were they going? And what, oh what, did the movie mean?”
Hopper รับบท Billy หนุ่มฮิปปี้เซอร์ๆ ไว้ผมยาวไม่ยอมตัด เป็นคนวอกแวก ลุกรี้ลุกรน ชื่นชอบความสนุกสนานครึกครื้นเครง ไม่ค่อยครุ่นคิดจริงจังอะไรกับชีวิตนัก นอกจากตอบสนองตัณหา/สันชาติญาณตนเอง ต้องการออกเดินทางมุ่งสู่ New Orleans ฟาดสาวสักคน แค่นั้นก็เพียงพอแล้วในชีวิต
สองพระเอกของหนัง ได้กลายเป็น Archetype ของหนังแนว Buddy – Road Movie มีความแตกต่างขั้วตรงข้าม น้ำ-น้ำมัน แต่แปลกที่พวกเขากลับสามารถร่วมทำบางสิ่งอย่าง ออกเดินทาง จากจุดเริ่มต้นถึงเป้าหมายได้สำเร็จลุล่วง
แถมนักแสดงแย่งซีนโดดเด่น John Joseph Nicholson (เกิดปี 1937) สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Neptune City, New Jersey เดินทางสู่ Hollywood เมื่อปี 1954 ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ออฟฟิศที่ MGM Cartoon Studio พวกเขาเสนองานนักวาด Animator แต่ปฏิเสธเพราะต้องการเป็นนักแสดง, มีโอกาสเรียนการแสดงที่ Players Ring Theater ผลงานเรื่องแรก The Cry Baby Killer (1958) ตัวประกอบสมทบใน The Little Shop of Horrors (1960) The Raven (1963), The St. Valentine’s Day Massacre (1967) ฯ เริ่มมีชื่อเสียงจากเขียนบท The Trip (1967) และสมทบ Easy Rider (1969) ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor โด่งดังระดับ ‘Superstar’
รับบท George Hanson ทนายความขี้เมามาย คาดว่าเพราะถูกกดดันจากพ่อที่เป็นคนใหญ่คนโต คาดหวังให้ลูกชายเติบโตขึ้นกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งเขาก็ปฏิบัติตามแต่ในทางเสียๆหายๆ หลังจากมีโอกาสพบเจอ Billy และ Wyatt พูดคุยถูกคอกันจนร่วมออกเดินทางมุ่งสู่ New Orleans ด้วยความเฉลียวฉลาดเกินหน้าเกินตา สามารถวิพากย์สังคม ตีแผ่ความจริง เล่าถึงความหวาดกลัวเกรงของผู้คน นั่นทำให้โชคชะตาขาดโดยไม่รู้ตัว
ทำไม Hanson ถึงตัดสินใจร่วมออกเดินทางกับสองหนุ่ม? เพราะตัวเขาราวกับคนที่ถูกครอบงำจากครอบครัว/สังคม เลยโหยหาอิสรภาพเสรี การได้พบเจอรู้จักจึงถือเป็นโอกาสแห่งชีวิต ขวนขวายไขว่คว้าต้องการเป็นแบบนั้นบ้าง เลยยินยอมร่วมเดินทางเพื่อเปิดหูเปิดตาเปิดโลกทัศน์ โบยบินออกจากกรงขังตนเองเสียที
มันจะมีวินาทีที่เหล้าเข้าปาก แล้ว Nicholson ทำท่าซีดซ้าดตีปีกไก่อยากโบยบิน โอ้โห! แค่นั่นก็ขโมยซีนความโดดเด่นไปจากสองพระเอกโดยทันที 17 นาทีที่สร้างมิติสีสันให้เรื่องราว บทบาทน้อยแต่เล่นใหญ่ ได้ใจผู้ชมไปเต็มๆ
เกร็ด: Hopper กับ Nicholson เป็นแฟนตัวยงของผู้กำกับอิตาเลี่ยนชื่อดัง Michelangelo Antonioni อัญเชิญมารับชมหนังรอบทดลองฉาย ประทับใจถึงขนาดว่าคัดเลือก Nicholson แสดงนำเรื่อง The Passenger (1975)
ไดเรคชั่นของ Hopper ร่างพล็อตหนังไว้คร่าวๆ แต่ปล่อยว่างบทพูดสนทนาให้ทำการ Ad-Lip ครุ่นคิดกันสดๆ ซึ่งระหว่างการเดินทางเสพยา(กัญชา)เป็นเรื่องปกติ มีทีมงานแค่ตากล้อง László Kovács ยอดฝีมือสัญชาติ Hungarian อีกคนหนึ่ง ที่เหลือและตัวประกอบว่าจ้างชาวฮิปปี้ พบเจอระหว่างทาง ชักชวนให้มามีนเมาร่วมงาน
เรื่องราวของหนังที่ออกมาดูมึนๆ เมาๆ นักแสดงก็ดูลอยๆสมบทบาทเหลือเกิน ให้ตระหนักลึกๆไว้ในใจว่าพวกเขาเสพยาจริงๆระหว่างเข้าฉาก (แต่ยกเว้นโคเคน ที่เห็นว่าหาซื้อขายจริงๆไม่ได้เลยต้องใช้ของปลอมแทน)
ถ่ายภาพโดย László Kovács (1933 – 2007) ตากล้องสัญชาติ Hungarian ผลงานเด่น อาทิ Easy Rider (1969), Five Easy Pieces (1970), Paper Moon (1973), For Pete’s Sake (1974) ฯ
งานภาพมีส่วนผสมของฟีล์ม 16mm (ฟุตเทจทดลองฉายให้สตูดิโอออกทุนสร้าง ถ่ายทำก่อนหน้าเริ่มต้นโปรดักชั่นหนึ่งปีเต็ม) กับ 35mm มีการดัดแปลงกล้องให้มีขนาดเล็ก สามารถอุ้มยก ติดกับรถ/มอเตอร์ไซด์ ขยับเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนโดยง่าย และใช้แสงธรรมชาติถ่ายทำทั้งหมด
การถ่ายภาพมักที่จะสะท้อนความแตกต่างตรงกันข้ามระหว่าง Wyatt กับ Billy, ช็อตนี้ต้องชมเลยว่า จัดวางตำแหน่งได้งดงามมากๆ ใช้กระจกแบ่งแยกทั้งสอง ราวกับนามธรรม-รูปธรรม ความจริง-เพ้อฝัน จับต้องได้-จับต้องไม่ได้
Chopper ดัดแปลงทั้งสองคัน ออกแบบโดย Cliff Vaughs และ Ben Hardy เพื่อให้เหมาะสมกับสองนักแสดง ซึ่งความแตกต่างเกิดจาก Fonda เคยมีประสบการณ์ขับขี่มอเตอร์ไซด์ประเภทนี้ เลยสามารถควบคุมคันบังคับ (Apehanger) ที่มีขนาดยาวกว่าได้ ขณะที่ Hopper ไม่ถนัดเท่าไหร่ แค่นี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด
มอเตอร์ไซด์ที่ใช้ในหนังมีทั้งหมด 4 คัน ยี่ห้อ Harley-Davidson Hydra-Glide รุ่นปี 1949, 1950 และ 1952 ประมูลได้มาราคา $500 เหรียญ (เทียบปัจจุบันปี 2019 ประมาณ $3,600 เหรียญ) นอกจากคัน Captain American ที่ถูกทำลายช่วงท้าย อีกสามคันถูกลักขโมยสูญหายหลังงานเลี้ยงปิดกล้อง
ทำไมถึงเก็บซ่อนเงินไว้ในถังน้ำมัน? ในรถยนต์/มอเตอร์ไซด์ น้ำมันคือเชื้อเพลิงใช้ในการขับเคลื่อน ออกเดินทาง ชีวิตเฉกก็เช่นกัน จำต้องมีเงินสำหรับจับจ่ายใช้สอยดำรงชีพ!
ช็อตนี้เจ๋งสุดของหนังเลยนะ เปรียบเทียบคาวบอยขี่ม้า ไม่แตกต่างอะไรกับ นักบิดซิ่งมอเตอร์ไซด์ แถมรายหนึ่งกำลังซ่อมเกือกม้า อีกเจ้าถอดล้อยางรั่ว ตรงไปตรงมาสุดๆเลย
ฉากนี้ถ่ายทำที่ Malibu Canyon, การถูกกัดกันของของ Billy สะท้อนความอภิสิทธิ์ชน ไม่เข้าพวก ที่แม้ในหมู่ชาวฮิปปี้ ก็ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างกัน และการใช้ไม้กางเขนปิดทาง นัยยะถึงศรัทธาความเชื่อ วัฒนธรรมดังกล่าวนี้มิได้เหมาะสมกับทุกคน (Wyatt เข้าพวก แต่ Billy ต่างจากพวก)
ท่วงท่าบนมอเตอร์ไซด์ ผมมองเห็นเหมือนนกกำลังกางปีก โผลบิน สะท้อนถึงอิสรภาพของพวกเขา ได้ทำในสิ่งหัวใจอยาก ไม่มีใครไหนควบคุมบงการครอบงำ (ยกเว้นหมวกกันน็อค)
ฉากนี้ถ่ายทำยัง Morganza, Louisiana ซึ่งก็ใช้บริการตัวประกอบคนในท้องถิ่นแถวนั้น
นี่คือฉากทรงพลังที่สุดของหนังก็ว่าได้ ทั้งๆก็ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ทั้งสามต่างคือตัวประหลาดของสังคม แค่ภาพลักษณ์แต่งกายนอกคอก ทำให้ใครๆต่างจับจ้องมอง ซุบซิบนินทา สาวๆหลงใหล ตำรวจคอยจ้องจับผิด ผู้ใหญ่ต่างโอ้อวดปากดี … สะท้อนค่านิยม โลกทัศนคติอเมริกันชนยุคสมัยนั้น ออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาถึงที่สุด!
ด้วยเหตุนี้โชคชะตากรรมของทั้งสามหลังจากนี้ จึงลงเอยด้วยโศกนาฎกรรม เพราะสังคมยินยอมรับพวกเขาให้มีตัวตนไม่ได้ อิจฉาริษยา แสดงความเห็นแก่ตัว สันดานแท้จริงออกมา!
George Hanson: “They’re not scared of you. They’re scared of what you represent to ’em”.
Billy: “Hey, man. All we represent to them, man, is somebody who needs a haircut”.
George Hanson: “Oh, no. What you represent to them is freedom“.
Mardi Gras เป็นเทศกาลสำคัญที่ชาว New Orleans เฉลิมฉลองทุกๆปี จัดขึ้นวันอังคารก่อนวัน Ash Wednesday ซึ่งเป็นวันที่ชาวคริสเตียนเริ่มถือศีลอด ซึ่งจะกินเวลาไปจนถึงวัน Easter (ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์), มาร์ดิกราส์ เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Fat Tuesday เนื่องจากเป็นวันที่ผู้คนจะกินเนื้อและอาหารอ้วนๆ เพื่อสามารถเริ่มถือศีลอดได้อย่างสุขสบายใจเฉบิ
ปัจจุบันนี้ เทศกาล Mardi Gras ที่ New Orleans กลายเป็นงานเฉลิมฉลองรื่นเริงที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก คลับต่างๆ ในเมืองที่เรียกกันว่า Krewe ต่างส่งขบวนพาเหรดหรูหราและจัดงานเต้นรำสวมหน้ากากเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนถึงวันงาน มีการโยนสร้อยลูกปัดจากขบวนรถพาเหรดให้ผู้ชมข้างทางเป็นที่สนุกสนาน โดยรถพาเหรดแต่ละคันจะมีพระราชาและพระราชินีสวมหน้ากากซึ่งจะไม่เปิดเผยว่าเป็นใครจนกว่าจะถึงงานเต้นรำ ซึ่งสีประจำเทศกาลมีสามสี
– สีม่วง หมายถึงความยุติธรรม
– สีเขียว หมายถึงความศรัทธา
– และสีทองหมายถึงพลัง
นัยยะของเทศกาลนี้ สะท้อนเข้ากับเป้าหมายปลายทางของสองหนุ่ม คือต้องการใช้ชีวิต เงินทองที่ได้มา ไปกับความเต็มที่สุดเหวี่ยงตามใจอยาก โบยบินสู่อิสรภาพไร้ขอบเขต แต่สุดท้ายหลังจากเที่ยวเล่น เมามาย ร่วมรัก พวกเขากลับมาลงเอยยังสุสาน New Orleans Cemetery ซึ่งสะท้อนถึงโชคชะตากรรมของตัวละคร(และสหรัฐอเมริกา) ถ้ายังมัวมึนเมา ล่องลอย เพิกเฉยต่อทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น โดยไม่รู้ตัวก็อาจมาจบสิ้นยังสถานที่แห่งนี้
แซว: New Orleans Cemetery เป็นสุสานของคาทอลิก เห็นว่าก็ไม่ได้อนุญาตหรอกแต่ทีมงานลักลอบถ่ายทำ ซึ่งพอสมาชิกโบสถ์พบเห็นในหนัง ไม่เพียงช็อคคลุ้มคลั่ง ยังสั่งห้ามถาวรห้ามภาพยนตร์เรื่องไหนถ่ายทำยังสถานที่แห่งนี้อีก
Hopper เกลี้ยกล่อม Fonda ให้ฉากนี้พูดคุยกับพระแม่มารีย์ จินตนาการว่าเธอคือแม่(ของFonda) ที่ฆ่าตัวตายเมื่อเขาอายุ 10 ขวบ สอบถามว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น ทีแรกเจ้าตัวก็ไม่อยากเข้าฉากนี้เท่าไหร่ แต่พอกัญชาเข้าปากก็อย่างที่เห็น
หนังได้จัดงานเลี้ยงปิดกล้องไปเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้กำกับ Hopper ค่อยมาระลึกได้ว่ายังไม่ได้ถ่ายทำฉากนี้! ซึ่งกลายเป็นว่ารถ Chopper ทั้งสองคันถูกลักขโมยสูญหายไร้ร่องลอย ก็เลยเอาตัวรอดแบบถูๆไถๆ ไม่พบเห็นมอเตอร์ไซด์ปรากฎในช็อตนี้
“We blew it!”
คำพูดนี้ของ Wyatt ไม่ใช่แค่กล่าวถึงความล้มเหลวผิดหวังในการเดินทาง แต่ยังประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เกิดการปรับเปลี่ยนแปลง แตกต่างจากเดิมไปแล้วโดยสิ้นเชิง!
ช็อตสุดท้ายของหนัง ถ่ายทำจากเฮลิคอปเตอร์ พบเห็นทางแยกระหว่างถนนราดยางกับลูกรัง คล้ายๆกับ ศิวิไลซ์-ไร้อารยะ เส้นทางไหนกันที่สหรัฐอเมริกาจะเลือกดำเนินเดินทางต่อไป
Rough Cut แรกสุดของหนังความยาว 4-5 ชั่วโมง ตัดต่อโดย Hopper กับ Donn Cambern (The Last Picture Show, Romancing the Stone, The Bodyguard ) จัดเต็มด้วยรายละเอียด พื้นหลังตัวละครละเอียดยิบ จากนั้นใช้เวลาปีกว่าๆค่อยเล็มโน่นนี่นั่นออกไป ได้แรงบันดาลใจเทคนิค Flash-Forward จาก 2001: A Space Odyssey (1968) ตัดทอนลงได้ 220 นาที กระนั้นบรรดาโปรดิวเซอร์ยังคงส่ายหัว ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับเลยถูกส่งตัว อ้างว่าให้ไปพักร้อน แล้วดึงตัว Henry Jaglom ให้มาช่วยขัดเกลาจนหลงเหลือ 95 นาที
แซว: เห็นว่าตอน Rough Cut ผู้กำกับ Hopper วางแผนให้หนังขึ้นเครดิตแบบกลับหัวกลับหาง (Upside-Down) เพื่อสะท้อนมุมมองโลกทัศนคติแตกต่างตรงกัน … โปรดิวเซอร์ยินยอมที่ไหน
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Wyatt และ Billy ทั้งสองแทบจะตัวติดกันตลอดการเดินทางครั้งนี้ ประสบพบเจอโน่นนี่นั่นระหว่างทาง ซึ่งแต่ละฉากมีไดเรคชั่นตัดต่อแตกต่างกันไป สะท้อนลักษณะอาการมึนเมาเหมือนคนเสพยา ผมขอตั้งชื่อเทคนิคนี้ว่า ‘Psychedelic Editing’
ผมชื่นชอบเทคนิคไฟกระพริบเป็นอย่างมาก คือมีการแทรกภาพอนาคตปรากฎขึ้นแวบๆสองสามครั้งแล้วก็กระโดดไปฉากนั้นเลย มอบสัมผัสคล้ายๆเวลาเปิดหลอดไฟนีออน สตาร์ทเตอร์จะกระพริบสองสามครั้งเป็นการปรับสายตาแสงสว่าง
เทคนิคที่พบบ่อยคือการร้อยเรียงภาพ Montage ภาพประกอบเพลง/เพลงประกอบภาพ คล้ายๆ Music Video อาทิ ทิวทัศน์ระหว่างการเดินทาง, ขณะเดินพาเรด, เที่ยวงาน Mardi Gras ฯ
Delete Scene ที่ถูกตัดทิ้ง ว่ากันว่าสูญหายไปแล้ว อาทิ
– อารัมบทดั้งเดิม Wyatt และ Billy เป็นนักแสดงโชว์ผาดโผน ที่ Los Angeles แล้วถูกโกงเงินโดยผู้จัดงาน (เลยตัดสินใจมาขายยา)
– Wyatt และ Billy เดินทางไปเม็กซิโกซื้อโคเคน ขนข้ามภูเขา เดินทางกลับสู่สหรัฐอเมริกา และถูกตำรวจไล่ล่าตลอดทาง
– Wyatt และ Billy มีเรื่องขัดแย้งกับแก๊งค์มอเตอร์ไซด์ท้องถิ่น
– ฉากพาสาวๆเข้าม่านรูด อันเป็นเหตุให้ Wyatt, Billy และ George Hanson ถูกดักซุ่มทำร้ายกลางดึก
ฯลฯ
ส่วนฉากที่เหลือ ต่างถูกตัดเล็มรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ไขมันส่วนเกินออกไป อย่างฉากในร้านอาหาร Morganza, Louisiana สูญหายกว่าสิบนาที เร่งความเร็วตัดสลับไปมาระหว่างทั้งสาม (Wyatt, Billy และ George Hanson) กับคนทั้งหลายที่อยู่ในร้าน จนเกิดความรู้สึกกดดัน หวาดหวั่น สัมผัสถึงอันตราย สายตาอันชั่วร้าย
ตอนจบดั้งเดิมของหนัง Wyatt และ Billy ใช้เงินที่หลงเหลือซื้อเรือที่ Key West และล่องทะเลมุ่งสู่ตะวันตกดิน แต่ผู้กำกับ Hopper เกิดความลังเลใจ อยากได้ตอนจบที่มืดหม่น สิ้นหวังกว่านี้ ผลลัพท์เลยออกมาอย่างที่เห็น
สำหรับเพลงประกอบ ถือได้ว่าเป็นการ Remix บทเพลง Rock & Roll ที่ก่อนหน้านี้มีเพียง Elvis Presley แต่หลังจากความสำเร็จของ Easy Rider ก็ได้ทำให้แนวเพลงดังกล่าว โด่งดังกลายเป็นอมตะระดับโลก! ยอดขายอัลบัม Soundtrack ระดับ Gold Record (เกิน 500,000 ก็อปปี้)
ทุกบทเพลงของหนังคือ Rock & Roll ที่มีเนื้อคำร้อง สอดคล้องกับเรื่องราว ภาพเหตุการณ์ร้อยเรียงขณะนั้น ซึ่งคอยช่วยเติมเต็มความเก๋า เก่าแต่มาดเท่ห์ ถือว่าตรงใจวัยรุ่นยุคสมัยนั้น
เริ่มต้นด้วย The Pusher (1968) แต่งโดย Hoyt Axton บันทึกเสียงโดยวง Steppenwolf ก่อนหน้า Opening Credit หลังจากขายโคเคนร่ำรวย นำจิตวิตวิญญาณ(ธนบัตร)ม้วนใส่ท่อ เก็บซ่อนในถังน้ำมัน เตรียมพร้อมออกเดินทางมุ่งสู่อนาคตเป้าหมาย
Opening Credit นำเสนอบทเพลง Born to Be Wild (1968) แต่งโดย Mars Bonfire บันทึกเสียงโดย Steppenwolf อีกเช่นกัน ร้อยเรียงภาพการเริ่มต้นออกเดินทาง ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์บนท้องถนน ทิวทัศน์สองฟากฝั่งแห่งสหรัฐอเมริกา ช่างกว้างใหญ่ไพศาล งดงามเสียเหลือเกิน
I Wasn’t Born to Follow (1968) แต่งคำร้อง Gerry Goffin, ทำนอง Carole King, บันทึกเสียง The Byrds ประกอบอัลบัม The Notorious Byrd Brothers
ถือได้ว่าเป็นบทเพลงเฉลิมฉลองเสรีภาพของชาวฮิปปี้ ได้รับความนิยมอย่างสูงช่วงปลายทศวรรษ 60s
หนึ่งในบทเพลงที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง If You Want to Be a Bird (Bird Song) แต่งโดย Antonia Duren, บันทึกเสียงวง The Holy Modal Rounders
การบีบเสียงร้องแหลมๆ แม้งกวนประสาทสิ้นดี สอดคล้องเข้ากับพฤติกรรมตัวละครของ Jack Nicholson การแสดงออก ท่าทางนั้นใช่เลย อยากเป็นนกกางปีกโบยบิน โหยหาอิสระเสรีภาพ
Kyrie Eleison/Mardi Gras (When the Saints) ถือเป็นบททเพลงที่สะท้อนจิตวิญญาณของเทศกาล Mardi Gras ออกมาได้อย่างทรงพลัง เรียบเรียงโดย David Axelrod บันทึกเสียงกับวง The Electric Prunes
เกร็ด: Kyrie Eleison ภาษากรีก แปลว่า God show mercy
It’s Alright, Ma (I’m Only Bleeding) แต่งโดย Bob Dylan ประกอบอัลบัม Bringing It All Back Home (1965) เนื่องจากเจ้าตัวเกิดความลังเลที่จะมอบบันทึกเสียงของตนเองให้ เลยมอบแต่สิทธิ์ดัดแปลง แล้วได้ Roger McGuinn กับวง The Byrds บันทึกเสียงใหม่
การเดินทางครั้งสุดท้ายของ Wyatt กับ Billy หลังพบเจอความผิดหวังใน Mardi Gras ชีวิตของพวกเขากำลังถึงกาลจบสิ้น
Closing Credit บทเพลง Ballad of Easy Rider แต่ง/ขับร้องโดย Roger McGuinn แต่ได้รับคำแนะนำจาก Bob Dylan, ต้องถือว่าเป็นบทเพลงที่จับบรรยากาศ โลกทัศนคติทางสังคม ยุคสมัย 60s ของสหรัฐอเมริกาได้อย่างลงตัว พอดิบพอดี
เกร็ด: หลังจาก Easy Rider ออกฉายประมาณเดือนเศษๆ ได้มีเทศกาลดนตรียิ่งใหญ่ที่สุดในโลก Woodstock ถือกำเนิดขึ้น! ซึ่งบทเพลง Rock & Roll แทบทั้งหมดของหนัง คงได้ยินฟังในงานสามวันสามคืนอย่างแน่แท้!
คำว่า Easy Rider เป็นศัพท์แสลงที่มีหลากหลายความหมายทีเดียว
– แรกเริ่มหมายถึงคนขี่ม้าที่มีความเชี่ยวชาญ หรือม้าที่ใครๆก็สามารถขึ้นขี่ได้ง่าย
– ต่อมาหมายถึงพวก ‘Freeloader’ ชอบเป็นภาระให้ผู้อื่น
– หญิงสาวผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่อง Sex จีบง่าย ได้เร็ว หน่ายไว
– ในทศวรรษ Great Depression หมายถึงรถไฟเคลื่อนที่ช้า บุคคลไม่เอาอ่าว
– สงครามโลกครั้งที่สอง หมายถึง Houseboy ทำงานง่ายๆในค่ายทหาร
– ทศวรรษ 60s หมายถึง Free Love ซึ่งสะท้อนค่านิยมใหม่ของชาวฮิปปี้ ส่วนมากมักเกี่ยวกับเรื่อง Sex
เรื่องราวของ Easy Rider นำเสนอการเดินทางเพื่อเติมเต็มเป้าหมายหัวใจของสองหนุ่ม นั่นคือการค้นหาสถานที่ ‘บ้าน’ ของตนเอง แต่กลายเป็นว่าไม่พบเจอ แม้จะไปถึงเป้าหมาย New Orleans, Louisiana กลับได้รับความล้มเหลว เพราะไม่มีแห่งหนไหนหลงเหลืออุดมคติ ‘อเมริกันชน’ อีกต่อไป
เสรีภาพเป็นสิ่งที่ใครๆต่างโหยหาไขว่คว้า แต่คนที่อ้างว่าตนเองได้รับอยู่ นั่นคืออิสรภาพจริงๆนะหรือ? ผมว่าคำตอบนี้อยู่ที่ตัวเราเอง มองเห็นคำว่า ‘Freedom’ หมายถึงอะไร
เสรีภาพ, อิสรภาพ หรือเสรีธรรม ในทางปรัชญา หมายถึง เจตจำนงเสรี ความสามารถของตัวกระทำที่จะเลือกครุ่นคิด แสดงออก โดยไม่ถูกจำกัดครอบงำจากปัจจัยบางอย่าง ทางอภิปรัชญา, กายภาพ, จินตภาพ และข้อจำกัดทางสังคม
ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์ทุกคนในโลกต่างไร้ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า ‘เสรีภาพ’ ตราบเท่าที่ยังถูกพันธการในวัฎฎะสังสาร แต่มุมมองทางสังคมยุคสมัยนี้ ปลูกฝังแนวคิดทัศนคติผิดๆ มักหมายถึงความเพ้อใฝ่ฝัน เติมเต็มเป้าหมายชีิวิต เมื่อไหร่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ร่ำรวยเงินทอง ก็สามารถทำอะไร ‘อภิสิทธิ์ชน’ ได้ตามใจ!
ทุกตัวละครใน Easy Rider ต่างเป็นคนเหน็ดเหนื่อยหน่าย เบื่อโลก สิ้นหวังต่อชีวิต โหยหาอิสรภาพ อ้างว่าได้มา แต่สุดท้ายก็สูญเสียทุกสิ่งอย่างไป นั่นเพราะการแสดงออกว่าตนเองเป็นเสรีชน สร้างความอิจฉาริษยาต่อผู้พบเห็น รับไม่ได้ อยากเป็นแบบนั้นบ้าง จึงกระทำการ…อันโง่เขลา
ด้วยเหตุนี้ผมเลยมองการจะได้รับอิสรภาพแท้จริง ถ้ายังไม่ถึงขั้นบรรลุนิพพานก็อยู่ที่จิตใจของเรานี่แหละ ลดละความโลภ โกรธ หลง เพ้อใฝ่ฝันทะเยอทะยาน เพียงพอกับสิ่งที่มี ยิ้มแย้มไม่ว่าจะสุขทุกข์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตากรุณาปราณี ทำความดี เหล่านี้จักทำให้พันธนาการกิเลสเบาบางลง และนั่นอาจทำให้สักวันเราสามารถหลุดจากบ่วงพันธการแห่งกรรม ที่คอยฉุดเหนี่ยวรั้งจิตวิญญาณให้เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น
ฮิปปี้, บุปผาชน คนรักอิสระ การเกิดขึ้นของกระแสวัฒนธรรมดังกล่าว ล้วนคือผลกระทบสืบเนื่องจากยุคสมัยสงครามโลก เด็กรุ่นนี้เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมอันตึงเครียด ทุกข์ยากทรมาน เลยไม่อยากถูกผูกมัดพันธการต่ออะไรหรือจากใคร อิสรภาพคือสิ่งที่โหยหา ใช้ข้ออ้างความรัก เสพยา เพื่อปลีกหลีกหนีตัวตนเองออกจากวิถีสังคม … แต่จะมีสักกี่คนสามารถเอาตัวรอดด้วยการไม่ครุ่นคิดทำอะไรเลย
สหรัฐอเมริกา ทศวรรษนั้นกลายเป็นประเทศที่พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสร้างภาพ ‘ผู้ชนะ’ มหาอำนาจ จ้าวโลก! แต่กลับไม่เคยหันหลังเหลียวแลประชาชนในชาติสักเท่าไหร่ บรรดาผู้นำคนรุ่นก่อนทอดทิ้งวัยรุ่นใหม่ แถมยังดูถูกเหยียดหยามจากความไม่เข้าใจ ‘เด็กรุ่นนี้แม้งบ้าบอคอแตก!’
บรรดานักวิจารณ์รุ่นเก่า และกฎระเบียบ Hays Code แห่งวงการภาพยนตร์ก็เฉกเช่นกัน สืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ (ของทุกสิ่งอย่างบนดาวเคราะห์โลก) นั่นทำให้มนุษย์ต้องปรับปรุงพัฒนาตนเอง แก้ไขสิ่งบกพร่อง เฉิ่มเฉย ล้าหลัง ให้เข้ากับมุมมองโลกทัศน์ยุคสมัยใหม่ ตอบสนองความต้องการของฝูงชนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด
กาลเวลาได้ทำให้ Easy Rider กลายเป็นภาพยนตร์ที่บันทึกประวัติศาสตร์ Counter-Cultural จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของโลกทัศนคติ ค่านิยม เทรนด์แฟชั่น สังคมอเมริกัน ว่าไปถือว่าทรงคุณค่าไม่ย่อหย่อนกว่า The Mother and the Whore (1973) ที่บันทึก ‘การปฏิวัติทางสังคม’ ของประเทศฝรั่งเศส
หนังถ่ายทำเสร็จสิ้นตั้งแต่ต้นปี 1968 แต่ยืดเยื้อไว้เพราะเหตุการณ์ลอบสังหาร Robert F. Kennedy เลื่อนฉายปีเต็มๆ ทำให้ได้ไปเทศกาลหนังเมือง Canes แล้วคว้ารางวัล Best First Work (ครั้งแรกครั้งเดียวกับรางวัลพิิเศษนี้)
ใช้ทุนสร้างประมาณ $360,000 – $400,000 เหรียญ แต่เห็นว่าจริงๆมากกว่านั้น เพราะค่าลิขสิทธิ์เพลงประกอบหลักสิบ ดูแล้วไม่น่าต่ำกว่า $1 ล้านเหรียญ, ถึงกระนั้นในอเมริกาทำเงินได้ประมาณ $41.7 ล้านเหรียญ สูงสุดอันดับสามแห่งปี (รองจาก Butch Cassidy and the Sundance Kid และ Midnight Cowboy) รวมทั่วโลกเกินกว่า $60 ล้านเหรียญ
เข้าชิง Oscar สองสาขา
– Best Supporting Actor (Jack Nicholson) พ่ายให้กับ Gig Young เรื่อง They Shoot Horses, Don’t They?
– Best Writing, Story and Screenplay Based on Material Not Previously Published or Produced พ่ายให้กับ Butch Cassidy and the Sundance Kid
ความสำเร็จอันล้นหลามของ Easy Rider ถูกมองเป็นผลพวงต่อเนื่องจาก Bonnie and Clyde และ The Graduate ตรงใจวัยรุ่นยุคสมัยนั้น ซึ่งร่วมกันสร้างยุคสมัย ‘New Hollywood’ หรือ ‘post-classical Hollywood’ (รับอิทธิพลเต็มๆจาก French New Wave) หนังทุนสร้างต่ำก็สามารถทำเงิน ประสบความสำเร็จล้นหลามได้เช่นกัน
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่อง ในความเรียบง่ายแต่ซ่อนเร้นด้วยนัยยะความหมายลึกซึ้ง การแสดงแย่งซีนของ Jack Nicholson ภาพสวยๆร้อยเรียงราวกับบทกวี และบทเพลงประกอบฟังสบาย ผ่อนคลาย รุกเร้าใจ
แนะนำคอหนัง Road Movie ชื่นชอบท่องเที่ยวด้วยรถมอเตอร์ไซด์ Chopper, หลงใหล Counter-Cultural วัฒนธรรมชาวฮิปปี้, ทิวทัศน์สวยๆ ตัดต่ออาร์ทๆ เพลงประกอบ Rock & Roll, แฟนๆผู้กำกับ/นักแสดง Dennis Hopper, Peter Fonda และ Jack Nicholson ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ เสพยา มั่วเซ็กส์ สังคมเดียจฉันท์ และฆาตกรรม
เป็นรีวิวหนังที่ดีที่สุดเท่าที่เคยอ่านมาเลยครับ ครบถ้วนทุกรายละเอียด ไม่คิดว่าจะมีคนรีวิวด้วยซ้ำ หนังมันเก่ามากแล้ว ขอบคุณสำหรับรีวิวครับ