Edvard Grieg: In the Hall of the Mountain King & Morning Mood
คีตกวีและนักเปียโนชาวนอร์เวย์ (Norwegian) Edvard Grieg เขาเป็นผู้นำเพลงคลาสสิคในยุคโรแมนติก (Romantic Era) เพลงที่ดังที่สุดของเขา แต่งขึ้นใช้ประกอบละครเวทีเรื่อง Peer Gynt ของ Henrik Ibsen มีทั้งหมด 4 ท่อน แต่ 2 ท่อนที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดคือ Morning Mood และ In the Hall of the Mountain King
ผมจำไม่ได้ว่าได้ยิน 2 เพลงนี้ครั้งแรกเมื่อไหร่ เริ่มจดจำได้ตอนได้ยิน In the Hall of the Mountain King ในหนังเรื่อง The Social Network จากนั้นก็หนังเรื่อง 8 1/2 และเสียงผิวปากจากหนังเรื่อง M (1939) เลยรู้สึกว่าเพลงนี้ต้องพูดถึงสักหน่อยแล้ว ส่วน Morning Mood เพลงนี้น่าจะเป็นตอนผมไปดู Concert เพลง Classic ตอนค้นข้อมูลพบว่าเป็นเพลงที่ใช้ประกอบละครเรื่องเดียวกัน คนแต่งคนเดียวกัน เลยถือโอกาสวันนี้มาแนะนำควบ 2 เพลงเลยนะครับ
Edvard Grieg เกิดที่เมือง Bergen ประเทศ Norway เมื่อ 15 มิถุนายน 1843 ตระกูลเขาเป็นคน Scott แต่ปู่ทวดย้ายมาตั้งรกรากใน Norway ตั้งแต่ปี 1770 เขาเรียนดนตรีจากแม่ Gesine Judithe Hagerup ที่เป็นนักเปียโนและครูสอนดนตรี เริ่มแต่งเพลงครั้งแรกตอนอายุ 9 ขวบ เริ่มฉายแววอัจฉริยะทางดนตรีเขาชอบเล่นเปียโนเหมือนแม่ของเขา ได้แสดงสดครั้งแรกเมื่อปี 1861 Edvard Grieg ได้รับการยกย่องว่าแต่งเพลงได้งดงาม ฟังแล้วเห็นภาพเทือกเขา สายน้ำ มีกลิ่นไอของประเทศ Norway บ้านเกิดของเขาได้เป็นอย่างสวยงาม ในยุคนั้น Norway พยายามแยกตัวออกมาเป็นประเทศ (จากกลุ่มสแกนดิเนเวีย) บทเพลงของเขาได้ช่วยความเป็นเอกลักษณ์ให้กับประเทศ ชาว Norway ถือว่าเขาเป็นวีรบุรุษคนสำคัญของชาติ
เขาแต่งงานกับ Nina Hagerup (first cousin) ที่เป็นนักร้องโซปราโน (a lyric soprano) หลังจากทั้งสองกลับจากทัวร์การแสดงที่ยุโรป ได้สร้างบ้านริมเขาชื่อว่า Troldhaugen ที่แปลว่า Hill of the Mountain Men จากระเบียงบ้านมองไปเห็น ภูเขาและแม่น้ำ fjore นี่คือจุดเริ่มต้นของการเขียนเพลง Morning Mood และ In the Hall of the Mountain King.
Peer Gynt เป็นบทละครความยาว 5 act เขียนโดย Henrik Ibsen เขาตั้งใจนำเสนอ บทกวีดราม่า (dramatic poem) ที่มีส่วนผสมของตำนาน (legendary) นิยาย (fiction) และตัวละครจากเรื่องเล่าพื้นบ้าน (folklore) Ibsen เริ่มเขียนบทละครนี้เมื่อวันที่ 14 มกราคม ปี 1867 เขียนเสร็จเมื่อ 14 ตุลาคมปีเดียวกัน เรื่องย่อคร่าวๆก็คือ Peer Gynt เด็กบ้านนอกยากจนคนหนึ่ง อาศัยอยู่กับแม่แถบชนบทของนอร์เวย์ เขาไม่ใช่ลูกที่ดี วันๆเอาแต่กินเหล้า หลอกลวง ทะเลาะวิวาท แต่สาวๆกลับหลงเสน่ห์เขา ครั้งหนึ่ง Peer Gynt ฉุดหญิงสาวชื่อ Ingrid ที่กำลังจะแต่งงานหนีไปอยู่ด้วยกัน แต่ Peer Gynt ตั้งใจแค่ฟันแล้วทิ้งเท่านั้น หลังจากนั้น Peer Gynt ก็พบตัวเองตกอยู่ในหมู่ฝูง Troll ที่น่ารังเกียจ ขยะแขยง เขาได้รับข้อเสนอถ้ายอมแต่งงานกับเจ้าหญิง Troll ก็จะได้รับส่วนแบ่งในอาณาจักร Troll เพื่อแลกกับเสรีภาพของตน (เขาจำต้องแต่งงานกับเธอและมีลูกด้วยกัน) ครั้งหนึ่งเขาจึงแอบหนีเข้าไปอยู่ในป่า ได้รับการช่วยเหลือจากหญิงสาวชื่อ Solveig (หนึ่งในหญิงสาวที่เคยหลงคารมเขา) Peer Gynt ตกหลุมรักเธอเข้าให้แต่ในใจ เขาไม่อยากทำแบบที่เคยทำกับ Ingrid ได้ (เพราะรักมาก) เมื่อภรรยา Troll ตามเขามาจนเจอ ขู่ว่าจะทำร้ายลูกถ้าไม่กลับบ้าน มันทำให้เขารู้สึกสำนึกบาปและกิเลสของตนเอง ทำให้เขาต้องหนีออกจากป่า ทิ้ง Solveig หญิงสาวคนรักไว้ตรงนั้น แล้วออกเดินทางไปรอบโลก
สปอยแค่นี้พอนะครับ ผมอ่านเรื่องย่อจบแค่นี้บอกเลยว่า น่าสนใจมากๆ อยากอ่านเรื่องราวเต็มๆเลยละ ไม่แน่ใจเมืองไทยจะมีหนังสือเล่มนี้ขายหรือเปล่า เรื่องราวของ Peer Gynt มีความตลก (comedy) แบบเสียดสี (satire) และช่วงท้ายๆมีการตั้งคำถามเชิงปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism-การมีตัวตนของตน) ว่ากันว่า Ibsen ตอนเขียน 3 บทแรกเสร็จ เขาไม่ค่อยมั่นใจว่าบทนี้จะสามารถดัดแปลงเป็นละครได้ดี เพราะมีองค์ประกอบที่ล้นเกินไป และผู้ชมอาจจะจับประเด็นไม่ได้ แต่กระนั้นมันก็ทำให้เขาประหลาดใจ ตอนเขียนเสร็จตีพิมพ์ครั้งแรก 1,250 เล่ม ขายหมดเกลี้ยง (แต่พอตีพิมพ์ครั้งที่สองขายไม่ออกเสียงั้น) ละครเวทีที่แสดงออกมาก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากๆ เปิดการแสดงครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 1876 ถึงขนาดอเมริกาเอาบทละครนี้ไปดัดแปลงตีความเป็นของตัวเอง ได้รับความนิยมใน Broadway ไม่แพ้กัน
มีนักแสดงชื่อดังหลายคน ที่เคยเล่นเป็น Peer Gynt อาทิ Charlton Heston ในหนังทุนต่ำ ที่เขาสร้างขึ้นเองตอนอายุ 17 ปี
ปี 1957 ผู้กำกับชาวสวีเดน Ingmar Bergman สร้างละครเวทีความยาว 5 ชั่วโมง ให้ Max von Sydow เป็น Peer Gynt เล่นที่ Sweden’s Malmö City Theatre
ปี 1993 นักแสดง Christopher Plummer รับบทนำในละครเวที ร่วมกับ Hartford Symphony Orchestra ใน Hartford เมือง Connecticut
ปี 1995/1996 Alex Jenning ได้รางวัล Laurance Oliveier Award สาขา Best Actor จากการแสดงเป็น Peer Gynt ที่ Royal Shakespeare Company (RSC) ที่อังกฤษ
ปี 2000 ที่ Royal National Theatre มีการดัดแปลงบท Peer Gynt โดย Frank McGuinness โดยให้นักแสดงผิวสีคนมารับบท ประกอบด้วย Chiwetel Ejiofor เป็น Peer ตอนเด็ก, Patrick O’Kane เล่นตอนโต (หมอนี่ผิวขาวนะครับ) และ Joseph Marcell เล่นตอนแก่
ในฉากที่ตัวละคร Peer Gynt กำลังเดินทางเข้าไปในห้องโถงใหญ่ Dovregubbens hall (Troll-Mountain King) ที่นั่นเต็มไปด้วย troll, gnomes และ goblins มี Dovregubben นั่งอยู่บนบัลลังก์ Peer Gynt ยืนต่อหน้ากษัตริย์ จากนั้นก็มีความโกลาหนเกิดขึ้น นี่คือ ขณะเพลง In the Hall of Moutain King บรรเลงขึ้น Greig พูดถึงเพลงนี้ว่า เขาได้เขียนบางสิ่งที่เหมือน reeks of cow-pies, ultra-Norwegianism, trollish self-satisfaction (ผมไม่รู้จะแปลยังไงดี คำมันแบบว่า …) เขาเองก็ทนฟังมันไม่ได้เท่าไหร่ แต่มีลางสังหรณ์ว่ามันจะออกมาดีแน่ๆ เวอร์ชั่นที่ผมไปเจอมาแล้วรู้สึกเพราะมากๆ บรรเลงโดย Berliner Philharmoniker
ผมเลือกคลิปนี้เพราะ ชอบดูนักไวโอลินเล่นมาก ทุกคนต้องทุ่มสุดๆเลย ขยับไม้สีเร็วมากๆเพื่อให้เกิดเสียงวี๊ดๆ (สังเกตดีๆ จะมีนักไวโอลินสีจนสายขาดด้วย) เพลงนี้ถ้าได้ยินแต่เสียงความรู้สึกอาจจะแค่จี๊ดๆ แต่ถ้าได้เห็นด้วยแล้ว ร่างกายจะเกร็ง ก้นจะนั่งไม่ติดเก้าอี้ทันที มันทำให้เราลุ้นระทึกไปกับเรื่องราว การแสดง เสียงดนตรี มันคือความโกลาหล วุ่นวาย ที่ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น ตอนเพลงจบ อะไรจะเกิดขึ้น!
ลองสังเกตคอนดักเตอร์ด้วยนะครับ อารมณ์พี่แกแบบว่าใช่เลยละ ช่วงแรกๆจังหวะเบาๆ เหมือนคนกำลังลุกขึ้นจากเตียง กำกับวงแบบง่วงหงาวหาวนอนสุดขี้เกียจ พอท่อนสนุกสนานขึ้น ก็กลับดูมีชีวิตชีวาคึกครึ้น, วงออเครสต้าถ้าได้คอนดักเตอร์สุดยอดๆแบบนี้ แสดงอารมณ์ให้ทั้งผู้ชมและนักดนตรีเห็น ก็จะสามารถเข้าใจอารมณ์เพลงได้ทันที
ผมอยากให้ลองเปรียบเทียบกับอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ดัดแปลงโดย Trent Reznor และ Atticus Ross ใช้ประกอบหนังเรื่อง The Social Network ผมจำฉากนี้ในหนังได้แม่นมาก เป็นฉากแข่งเรือพายของทั้งสองทีม ที่กำลังขับเคี่ยวเพื่อเข้าเส้นชัย ยิ่งใกล้จุดสิ้นสุดเพลงจะยิ่งเร้าอารมณ์มากๆ จบเพลงด้วยการผลการแข่งขันมีผู้แพ้และผู้ชนะ … เรื่องราวต่างกับจุดกำเนิดของเพลงโดยสิ้นเชิงเลยนะครับ ความรู้สึกอารมณ์ก็ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้ลุ้นว่าใครจะชนะ แต่ลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้น กระนั้นมันก็มีบางอย่างที่เหมือนกัน คือเพลงนี้มันทำให้คนฟังนั่งติดเก้าอี้ไม่ได้
สำหรับ Morning Mood ผมไม่มีรายละเอียดของเพลงนี้เท่าไหร่ เห็นว่าช่วงเรื่องราว Act 4 ที่ Peer Gynt ได้ล่องเรือไปถึงที่แอฟริกา ณ ทะเลทราย Moroccan สหายที่ร่วมเดินทางได้ขโมยเรือเขาไป และทิ้ง Peer Gynt ไว้ที่นั่น เพลงนี้บรรเลงขึ้น เพื่อบรรยายความรู้สึกขณะที่ Peer Gynt ตื่นขึ้นและพบเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น
ว่ากันว่าเพลงนี้ตอนบรรเลงใน Peer Gynt ไม่ได้รับการจดจำเสียเท่าไหร่ เพราะฟังแล้วรู้สึกเหมือนกำลังเห็นพระอาทิตย์ขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ (Spring) บนแผ่นดินสแกนดิเนเวีย มากกว่าจะใช้บรรยายฉากพระอาทิตย์ขึ้นในทะเลทรายที่แห้งแล้ง
ผมก็รู้สึกเช่นนั้นนะครับ เพลงนี้เหมาะกับการบรรยากาศสบายๆ ดูสดชื่นรื่นลม ทะเลทรายมันดูแห้งแล้ง อดอยาก หิวโหย มันควรจะมีบรรยากาศที่ไม่สดชื่นมาก ผมค่อนข้างมั่นใจว่า Grieg แต่งเพลงนี้ขึ้นมาโดยไม่ได้อ้างอิงเรื่องราวอะไรในบทละคร น่าจะเป็น Ibsen ที่เขียนเรื่องราวประกอบเพลง เขาคงสัมผัสอะไรบางอย่างได้กระมังถึงเขียนฉากนี้โดยใช้เพลงนี้ ผมไม่เคยดูเวอร์ชั่นละครเวทีเลยบอกไม่ได้ว่าเข้ากันแค่ไหน มันอาจจะเข้ากันมากๆก็ได้นะครับ
สองเพลงนี้เพลงไหนเพราะกว่ากัน ผมว่ามันเเพราะคนละแบบกันนะ Morning Mood เป็นเพลงสบายๆ เหมาะกับใช้ฟังตอนเช้าดูพระอาทิตย์ขึ้น ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เช้านี้ทำให้วันนี้กลายเป็นวันที่สดใส ส่วน In the Hall of the Mountain นี่เป็นเพลงที่ใช้กับเหตุการณ์การลุ้นระทึก มีความพิศวง น่าติดตาม ไม่น่าเชื่อว่า 2 เพลงที่อารมณ์เพลงต่างกันขนาดนี้ จะอยู่ใน suite เดียวกันได้ ใครชอบเพลงไหนก็กด Favorite เพลงนั้นใน youtube ได้เลยนะครับ
คำโปรย : “ความไพเราะของ Morning Mood และ In the Hall of the Mountain ของ Edvard Grieg คือความสวยงามของสแกนดิเนเวีย ที่ถึงคนไม่เคยไปก็สัมผัสกับมันได้”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบ : LOVE
Leave a Reply