Edvard Munch (1974) : Peter Watkins ♥♥♥♥
ภาพวาดที่ผมใส่เป็นโปสเตอร์วันนี้ คุณรู้รึเปล่าครั้งหนึ่งมันเป็นภาพวาดที่ถูกประมูลในราคาสูงถึง $119.9 ล้านดอลลาร์ นี่เป็นหนังชีวประวัติของ Edvard Munch ศิลปิน Expressionist สัญชาติ Norwegian ผู้วาดภาพ The Scream ที่โด่งดัง
ผมเพิ่งจะมารู้จักกับ Edvard Munch ก็จากหนังเรื่องนี้นะครับ ได้เข้าใจวิถีชีวิต วิธีการคิด แรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน ที่ต้องบอกว่าเศร้าสลดสุดแสนรันทดจริงๆ ผลงานแสดงถึงตัวตน ความรู้สึก สิ่งที่อยู่ในใจ หรือที่เรียกว่าจิตวิญญาณ ล้วนรับอิทธิพลมาจากคนรอบๆข้าง ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดด้วยเทคนิค วิธีการที่ ก้าวผ่านขนบธรรมเนียมประเพณี รูปแบบของการวาดภาพ (breakthrough) นักวิจารณ์สมัยนั้นต่างต่อต้านวิธีคิดและผลงานของ Munch อย่างรุนแรง บ้าถึงกลับพูดว่า นี่เป็นผลงานขยะของคนบ้า กี่ปีให้หลังไม่รู้กว่าที่ผลงานจะได้รับการยอมรับ ไม่ง่ายเลยเมื่อมนุษย์ค้นพบเทคนิค วิธีการอะไรใหม่ๆจะได้รับการยอมรับในทันที Edvard Munch เป็นตัวอย่างที่หดหู่และรันทน จะว่าไปผมว่าชีวิตเขาโชคร้ายยิ่งเสียกว่า Vincent Van Gogh เสียอีกนะ
ผู้กำกับ Peter Watkins เป็นผู้กำกับชาว British ที่ควรรู้จักไว้นะครับ เขาเคยได้ Oscar สาขา Best Documentary จากหนังสารคดีเรื่อง The War Game (1965) สำหรับ Edvard Munch จะว่าเป็นงานในฝันของ Watkins เลยก็ได้ ซึ่งเขาได้ประยุกต์เรื่องราวชีวประวัติ Biographical ให้เข้ากับสไตล์การกำกับของตัวเอง ยึดลักษณะกึ่ง Drama กึ่ง Documentary ที่เรียกว่า docudrama (คล้ายๆ The Fighter-2010, 127 Hours-2010) แนว Drama-Documentary นี้ถือกำเนิดมาก่อนหน้านี้นะครับ ซึ่งผู้กำกับที่นำมาประยุกต์สร้างเป็นหนังบ่อยครั้งที่สุดก็คือ Peter Watkins นี่แหละ, มีหนังเรื่องหนึ่งในกำกับของ Watkins ที่ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ยาวที่สุดในโลก (ไม่นับหนังแนวทดลอง) เรื่อง Resan (1983) ความยาว 873 นาที (14 ชั่วโมง, 33 นาที) [อันดับ 2 คือ Out 1 (1971) ของ Jacques Rivette ยาว 773 นาที]
หนังเรื่องนี้นิตยสาร TIMEOUT จัดว่าเป็นหนัง British เพราะ Peter Watkins เป็นผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ และให้ติดอันดับ 71 จาก The 100 Best British Films แต่ผมถือว่าเป็นหนังของประเทศ Norway เพราะ Edvard Munch เป็นชาว Norwegian ตัวละครพูดภาษานอร์เวย์ทั้งเรื่อง และหนังได้ทุนจาก NRK และ SVT (TV Netword ของ Norway และ Sweden) จะไม่นับว่าเป็นหนังสัญชาติ Norwegian ก็กระไรอยู่, ความตั้งใจของผู้กำกับ คือสร้างให้เป็น TV mini-Series จำนวน 3 ตอน ฉายใน TV Netword ของประเทศแถบ Scandinavia ความยาว mini-Series 210 นาที แต่เพื่อให้ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ต่างประเทศและอเมริกา จึงทำการตัดทอนเรื่องราวบางส่วน เหลือความยาว 174 นาที, เวอร์ชั่นที่ผมดูความยาว 3 ชั่วโมงครึ่ง น่าจะเป็นเวอร์ชั่นเต็มที่ฉาย mini-Series
สิ่งหนึ่งที่ผมขอเตือนไว้สำหรับคนที่ยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ นี่เป็นหนังที่ดูค่อนข้างยาก ไม่ใช่เพราะแนว docudrama ที่อาจดูน่าเบื่อ เพราะสารคดีชีวประวัติมันจะมีอะไรน่าตื่นเต้น น่าสนใจกัน? … จุดนี้หนังทำได้ไม่น่าเบื่อเลย สิ่งที่ทำให้หนังดูยากคือวิธีการถ่ายภาพและการตัดต่อ, หนังเรื่องนี้มีแต่ close-up, mid-shot และ full-shot ไม่มีถ่ายภาพ long-shot หรือ landscape หรือภาพที่ดูสวยงามสบายตาเลย โทนหนังค่อนข้างอึมครึม เต็มไปด้วยหมอกควัน กล้อง 16-mm ใช้ฟีล์มเก่าสีตก ให้ความรู้สึกเหมือนหนังเก่าๆตกยุค ใครเห็นงานภาพของหนังนี้ ความคิดแรกคือนี่ต้องเป็นหนังเกรด B เป็นแน่, ถ่ายภาพว่าโหดแล้ว แต่การตัดต่อโหดยิ่งกว่า ตัดสลับระหว่างตอนเด็กกับตอนโตยังไม่ยากเท่าไหร่ แต่เล่นเอาภาพซ้ำๆบางฉากมาฉายซ้ำให้เราดูแทบทุก 5 นาทีครั้ง แล้วหนังยาว 3 ชั่วโมงครึ่ง ผมไม่ได้นับว่าเท่าไหร่ แต่ต้องเกิน 20+ ครั้งแน่ๆ เชื่อว่านี่อาจทำให้คนดูบางคนถึงขั้นกระอักเลือดออกมาแบบในหนังได้เลยก็ได้ คือภาพที่มันเอามาวนซ้ำๆ เป็นภาพที่เต็มไปด้วยเลือด ความตาย ความหดหู่ ผมเห็นฉากนี้จากครั้งแรกๆไม่รู้สึกอะไร หลังๆสะอิดสะเอียดจนต้องเบือนหน้าหนี, การที่ผู้กำกับใช้เทคนิคอย่างนี้ มันอาจทำให้หนังดูคุณภาพต่ำๆก็จริง แต่มันคือความจงใจที่มีเหตุผลอันลึกซึ้ง เข้ากับบริบทเรื่องราวของหนังมากๆ เพราะมันทำให้คุณสามารถสัมผัส รับรู้ เข้าใจถึงตัวตนของ Edvard Munch ได้ลึกซึ้งถึงขั้วหัวใจของเขาเลย
ดัดแปลงเรื่องราวมาจากจาก Diary ของ Edvard Munch โดยใช้คำพูดบรรยายภาษาอังกฤษประกอบหนังไปตลอดทั้งเรื่อง ถ้าสังเกตคำพูดบรรยาย มันมักจะไม่ได้เล่าถึงตัวเขาเองเท่าไหร่ มักจะพูดถึงผู้คนที่รู้จัก เปรียบเทียบ ให้คำนิยาม เรียนรู้ทำความเข้าใจจิตวิญญาณ (Soul) ของคนเหล่านั้น นี่เป็นวิธีการศึกษามนุษย์และจักรวาลในมุมมองของ Edvard Munch นะครับ
ชีวิตวัยเด็กของ Edvard Munch เกิดในครอบครัวครีสเตียนที่เคร่งครัด แม่เสียชีวิตจากวัณโรค พี่น้องทั้ง 5 ก็ไม่ได้แข็งแรง ตัวของ Munch เองก็มีร่างกายอ่อนแอ ตอนเด็กเคยป่วยหนักจนเกือบตายมาแล้ว ในหนังไม่ได้บอกเราว่า Munch เริ่มต้นการเป็นนักวาดภาพตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมไปอ่านประวัติเพิ่มเติมจึงรู้ได้ว่า เขาได้รับการสนับสนุนจากป้า(พี่ของแม่) หลังจากแม่เสียชีวิต เป็นป้าที่คอยเลี้ยงดูพวกเขา เธอเห็นแววด้านศิลปะของ Munch จึงออกทุนซื้ออุปกรณ์ต่างๆที่ใช้วาดรูปให้ ส่วนพ่ออยากให้เขาเป็นวิศวกร แต่ Munch ชอบการวาดรูปมากกว่าจึงขัดใจพ่อออกจากโรงเรียน เข้าร่วมกับกลุ่มศิลปินในสมาคมศิลปะ เพื่อฝึกหัดการวาดรูป ณ ที่นั่นทำให้เขาได้พบกับสภากาแฟ ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง เป็นที่รวมของนักคิด นักพูด นักเคลื่อนไหว ผู้คนต่างๆที่คอยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำให้มุมมอง ทัศนคติต่อสิ่งต่างๆรอบๆตัวของ Munch เปลี่ยนไป เขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก Hans Jaeger นักเคลื่อนไหวอนาธิปไตยสุดโต่งชื่อดัง ที่ทำให้เขากล้าแสดงออกซึ่งความรู้สึกภายในจิตใจออกมา ผ่านงานศิลปะชิ้นแรก
Lady in Black นี่ถือเป็นการเปิดประตู breakthrough ครั้งสำคัญในนำเสนอสิ่งที่อยู่ในจิตใจของเขาวาดภาพนำเสนอออกมา (Expressionist) ด้วยวิธีการที่รุนแรง ผลลัพท์เป็นภาพที่มีใจความแฝงความรุนแรง ทั้งภายนอกและภายในจิตใจ เมื่อผลงานนี้นำไปจัดแสดง ก็ถูกโจมตีอย่างหนักจากนักวิจารณ์ เพราะพวกเขาไม่ยอมรับวิธีการ นำเสนอภาพอันรุนแรงที่แสดงถึงจิตใจของผู้วาด จึงเปรียบ Edvard Munch ว่าเหมือนคนบ้า ที่วาดภาพไม่เหมือนคนปกติวาดกัน (มันคือการไม่ยอมรับตัวเองว่าในจิตใจของพวกเขานั้นเต็มไปด้วยลักษณะเดียวกับภาพเขียนนี้)
ในหนังจะเป็นการเล่าเหตุการณ์ในชีวิตของ Edvard Munch สลับกับสิ่งที่เป็นอิทธิพล แรงบันดาลใจ ขณะวาดภาพ เขามีความคิด ความรู้สึก จิตใจเป็นอย่างไร วาดเพื่ออะไร ใช้เทคนิคอะไร, ผมไม่ได้นับว่าหนังมีเรื่องราวทั้งหมดเท่าไหร่ จะขอเล่าเฉพาะภาพวาดสำคัญๆที่น่าสนใจนะครับ
Vampire ภาพนี้แท้จริงแล้วคือ Kissing on the Neck ช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตของ Edvard Munch เขาตกหลุมรักกับหญิงหม้ายคนหนึ่ง ทั้งสองแอบเป็นชู้กัน ในไดอารี่ใช้ชื่อสมมติว่า Mrs. Heiberg วิธีที่ Munch แสดงออกต่อเธอ คือการจุมพิตเบาๆที่ต้นคอ นี่ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กลายเป็นภาพนึ้ขึ้นมา, เหตุที่เรียกภาพนี้ว่า Vampire เพราะมันดูเหมือนหญิงสาวกำลังดูดเลือดจากคอของชายหนุ่ม ซึ่งการดูดเลือดมันคือสัญลักษณ์ของการซึมซัม กัดกร่อน ดูดซึม ในยุคสมัยที่ผู้ชายมองตัวเองเหนือกว่าผู้หญิงในทุกๆด้าน (ผมลืมบอกไปว่าหนังเรื่องนี้นำเสนอความ Racist ในหลายๆระดับ คนชั้นกลางต่อคนชั้นสูงและคนชั้นต่ำ, ผู้ชายต่อผู้หญิง) พวกเธอจะเปรียบเหมือนปลิงที่คอยเกาะกินผู้ชาย เมื่อใดที่หมดประโยชน์ ก็จะทิ้งคนเก่าไปหาคนใหม่
The Kiss คนสองคนจุมพิตกัน ไม่รู้ชาย-หญิง ชาย-ชาย หรือ หญิง-หญิง เพราะภาพส่วนใบหน้าใช้การเบลอ ไม่มีการลงลายละเอียด ผมรู้สึกภาพนี้เป็นภาพที่น่ากลัวมากๆ เพราะการไม่ลงรายละเอียดใบหน้าทำให้เราสามารถจินตนาการถึงอะไรก็ได้มากมาย มันอาจจะไม่ใช่แค่การจูบกัน แต่สื่อถึงการกระทำบางอย่างที่รวมคนสองคนเข้าเป็นหนึ่งเดียว มีคำพูดในหนังประมาณว่า “ในความมืดฉันสามารถทำอะไรก็ได้” ทำอะไร…ละ!
Madonna มีช่วงหนึ่งที่ Edvard Munch วาดภาพเปลือย (Nude) ด้วยนะครับ และภาพที่โด่งดังที่สุดชื่อ Madonna คำนี้จริงๆถือเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาคริสต์นะครับ เพราะหมายถึงพระแม่มารี มารดาของพระผู้เป็นเจ้า, การวาดภาพนี้ของ Munch รู้สึกเขาใช้โสเภณีเป็นแบบ นี่ไม่ได้สะท้อนความเชื่อคริสเตียนของเขานะครับ ผมจำเหตุผลที่เขาวาดไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าหนังพูดถึงหรือเปล่า แต่การวาดภาพหญิงสาวเปลือยแล้วให้ชื่อว่า Madonna มีความหมายที่ลึกซึ้งมากๆ, ความโดดเด่นของภาพไม่ได้อยู่ที่ร่างเปลือยเปล่า แต่เป็นผ้าคาดผมสีแดงแสดงถึงความพรหมจรรย์ ผมสีน้ำเงินหมายถึงความตาย (การจุติจากสวรรค์มาบนโลก) ร่างเปลือยเปล่าแสดงถึงความบริสุทธิ์ที่ไม่มีอะไรต้องปกปิด นี่ไม่ใช่ภาพเปลือยที่ทำให้เกิดอารมณ์ความต้องการ แต่เป็นภาพวาดที่สะท้อนจิตใจของ Munch ออกมาถึงหญิงสาวในฐานะมารดาของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยการนิยามความบริสุทธิ์ของตนเองขึ้นมา
The Scream “ขณะที่ฉันกำลังเดินอยู่บนท้องถนนกับเพื่อนทั้งสองในตอนพระอาทิตย์อัสดง ทันใดนั้นท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีแดงดุจเลือด ฉันหยุดนิ่งและโน้มตัวไปยังขอบรั้ว รู้สึกถึงความเหน็ดเหนื่อยที่ไม่อาจบรรยายได้ เปลวเพลิงสีเลือดทอดข้ามฟากฟ้าสีดำ เพื่อนของฉันยังคงเดินต่อไป ฉันหยุดนิ่งอยู่เบื้องหลัง สั่นสะท้านด้วยความกลัว ทันใดนั้นฉันก็ได้ยินเสียงกรีดร้องอันไม่มีที่สิ้นสุดของธรรมชาติ” ภาพวาดที่โด่งดังที่สุดของ Edvard Munch ส่งเสียงกรีดร้อง กึกก้อง และโหยหวน จากข้างในจิตใจ จิตวิญญาณของเขาสะท้อนออกมา นี่เป็นภาพที่ไม่ว่าใครที่เห็นจะรู้สึกตื่นตระหนก ตกใจ หวาดกลัว สัมผัสได้แม้จะไม่มีความรู้ความเข้าใจในงานศิลปะมาก่อน นี่คือ Expressionist ที่แสดงออกซึ่งความรู้สึกของศิลปิน สมัยก่อนไม่มีใครคนไหนจะกล้านำเสนอสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจออกมา ไม่ใช่ว่า Munch เป็นคนกล้าหรืออะไร เขาได้รับอิทธิพล ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆมากมาย ผู้คนรอบข้าง ความตาย ภาพนี้สิ่งที่ Munch กลัวที่สุดคือความตาย มันหลอกหลอน มันสีแดงฉาน (เหมือนสีเลือด) แม่น้ำสายสีน้ำเงิน (สีแห่งความตาย) มนุษย์ทุกคนกลัวความตาย ยิ่งเมื่อรู้ว่าตัวเองกำลังจะตายมันยิ่งกลัว ความกลัวถูกถ่ายทอดออกมากลายเป็นภาพ ภาพนี้แหละคือความกลัว กลัวที่สุดในโลก
Expressionist ผมเชื่อว่าลัทธินี้เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการของมนุษย์ที่ก้าวมาไกล สะสมเพิ่มพูนแทรกซึมอยู่รอบๆตัวเรา มันมีมานานแล้วแต่ไม่มีใครที่จะนำเสนอมันออกมาให้กลายเป็นสิ่งที่เด่นชัด ผู้ที่ค้นพบนำเสนอออกมาเป็นคนแรก คือคนที่สามารถมองเห็นเป็นรูปร่าง เป็นตัวตน จับต้องในสิ่งที่คนอื่นๆมองข้าม, Expressionist คือการแสดงออกซึ่งความรู้สึก ตัวตน จิตวิญญาณ ภาพ The Scream คือผลลัพท์จากการไม่พยายามมองมัน มองข้าม เป็นสิ่งที่มีในใจมนุษย์ทุกคนหวาดกลัว แต่เลือกไม่รับรู้ ไม่อยากมองเห็น ภาพนี้เป็นภาพของความตาย คนสมัยนั้นไม่สามารถยอมรับตัวเองได้ว่า ตัวเองกลัวตาย เขาเห็นภาพนี้แล้วกลัว กลัวอะไร? กลัวในสิ่งที่ไม่สามารถพูดออกมาได้ จริงๆมันพูดได้ พวกเขาเข้าใจแต่ไม่พยายามพูด กาลเวลาผ่านไปมนุษย์เริ่มเปิดใจรับ ภาพนี้แค่นำเสนอความจริงออกมา นี่คือสิ่งจริงแท้ นี่แหละที่ทำให้มันเป็นอมตะ
นักแสดงหนังเรื่องนี้ เห็นว่าเป็นหน้าใหม่ทั้งหมด ไม่เคยมีประสบการณ์แสดงภาพยนตร์มาก่อน Watkins คงมีเหตุผลประมาณ ไม่ต้องการให้นักแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดังกลบสิ่งที่เขาต้องการนำเสนอเสียหมด, วิธีการของ Watkins ถือว่าตรงข้ามกับผู้กำกับ Robert Bresson แต่ผลลัพท์ออกมาคล้ายๆกัน Bresson เลือกนักแสดงที่ไม่มีประสบการณ์ สั่งแสดงฉากเดิมซ้ำไปซ้ำมาจนร่างกายหมดแรงไม่เกิดความรู้สึกต่อต้าน ทำให้แสดงออกมาด้วยความเป็นธรรมชาติที่สุด ส่วน Watkins นักแสดงคงไม่ต้องถ่ายซ้ำหลายๆครั้ง แต่ถ่ายครั้งละนิดๆหน่อยๆ บางครั้งนักแสดงจ้องมองหน้ากล้อง ให้เกิดความกระอักกระอ่วน ยิ่งอายมากยิ่งดี สามารถนำเอาไปใช้ได้เลย, สิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือ 2 วิธีนี้ให้ผลลัพท์ออกมาคล้ายๆกัน คือ นักแสดงดูเป็นเหมือนหุ่นเชิดที่ไม่มีอารมณ์ประกอบ แต่เราสามารถเข้าใจตัวละครผ่านการกระทำ เราจะไม่รู้สึกสุขทุกข์ไปกับตัวละคร แต่จะมองเห็นสถานการณ์ที่เป็นอยู่พวกเขา ดีร้าย สุขทุกข์ การแสดงไม่จำเป็นต้องมากฝีมือ แต่เมื่อผ่านกระบวนการเทคนิคที่มีชั้นเชิง ผู้กำกับจะสามารถทำให้คนดูเข้าถึงตัวละครได้ แม้จะไม่ได้ทำอะไรเลย
ตอนที่ Watkins เลือกนักแสดงประกอบนั้น เห็นว่าเขามองหาคนที่ไม่ชอบผลงานของ Munch มาเพื่อให้บรรยายสรรพคุณว่าไม่ชอบยังไง โดยบทพูดที่ให้ไป เขาอนุญาติให้นักแสดงไร้ประสบการณ์พวกนี้สามารถปรับคำพูด เพื่อให้จดจำได้ง่าย และพูดออกมาได้โดยไม่ติดขัด ประมาณว่าอยากจะพูดอะไรก็พูดออกมาเลย ให้ดูเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องฝืน
ถามว่าการกำกับแบบไหนยอดเยี่ยมกว่า ผมคงไม่ขอตัดสิน แต่ถ้าพูดถึงวิธีการ ผมไม่ชอบทั้งคู่นะครับ ของ Bresson มันเป็นการทรมานนักแสดง ส่วน Watkins เหมือนทำให้นักแสดงขายหน้า ผมไม่มองว่านักแสดงควรจะเป็นหุ่นกระบอก เขาควรมีปากเสียงสามารถพูดคุยนำเสนอแลกเปลี่ยน และแสดงออกมาในความเชื่อของเขา ผู้กำกับทั้งสองถือความได้เปรียบ เพราะเขาคัดนักแสดงหน้าใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ จึงสามารถสั่งการ เผด็จการ ในแบบที่เขาสามารถควบคุมได้ ผู้กำกับสไตล์แบบนี้ผมไม่อยากเอ่ยปากชื่นชมสักเท่าไหร่
ถ่ายภาพโดย Odd Geir Sæther การที่หนังมีเฉพาะ close-up, mid-shot และ full-shot (ถ่ายเต็มตัว) ทำให้ภาพของหนังถูกจำกัดด้วยกรอบของจอภาพยนตร์ คือเราจะไม่สามารถเห็นอะไรไปมากกว่าที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอ ความที่ไม่เห็นอะไรทำให้ความสนใจของคนดูไม่เบี่ยงเบนไป นี่สะท้อนถึงผลงานของ Edvard Munch ด้วยนะครับ ตอนเขาวาด Lady in Black เดิมทีภาพนี้มีองค์ประกอบอื่นๆในภาพด้วยอาทิ แจกัน ดอกไม้ ฯ แต่ตอนที่เขาขับความรู้สึกออกมาขณะวาดภาพ ได้ปรับปรุงโดยการตัดรายละเอียดที่ไม่สำคัญออก รายละเอียดที่ทำให้ผู้ชมเบี่ยงเบนความสนใจไปจากใจความที่ต้องการนำเสนอ
บอกตามตรงคือผมไม่ชอบเทคนิคนี้เท่าไหร่ เชื่อว่าหลายคนก็คงเหมือนกัน ลักษณะมันเหมือนการแอบถ่าย (แบบ Cloverfield) โดยเฉพาะเมื่อนักแสดงหันมามองกล้องบ่อยครั้งทำให้ผู้ชมเกิดความกระอักกระอ่วน (เหมือนว่า Watkins มี Time Machine แล้วย้อนเวลาไปเป็น Paparazzi แอบถ่ายชีวประวัติของ Edvard Munch) คือมันแปลกประหลาดตรงที่ หนังทำให้เราสับสนว่านี่เป็นหนัง หรือเป็นอะไร? ภาพบันทึกเหตุการณ์จริงๆ แอบถ่าย ฯ การสัมภาษณ์ตัวละคร, เสียงบรรยายประกอบ, นักวิจารณ์งานศิลปะออกมาพูดความเห็นแบบตรงไปตรงมา (แถมสวมใส่ชุดในยุคนั้นอีก) นี่เป็นการผสมผสานประเภทของหนัง (Genre) สารคดี เล่าเรื่องดราม่า ที่รวมเรียกว่า DocuDrama ที่ผมเอ่ยไปตั้งแต่ต้น มุมของนักวิจารณ์จะชื่นชมและคลั้งไคล้มากๆ ส่วนคนดูทั่วๆไปจะกุมขมับ มันดูมั่วๆ เละเทะ นี่ฉันดูอะไรอยู่นี่!
ปกติแล้วภาพวาดของ Edvard Munch ถ้าเป็นภาพวาดเสมือน (portrait) บุคคลในภาพจะหลบสายตา ไม่จ้องมองตรงๆหาผู้ชม การหลบสายตานี้ถือว่าตรงข้ามกับเทคนิคการถ่ายหนัง (ที่นักแสดงมักสบตากล้องบ่อยๆ) ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ รูปวาดของ Munch พยายามหลีกเลี่ยงการแสดงออกทางอารมณ์ผ่านสายตา เพราะเขาเน้นให้ภาพแสดงอารมณ์ จิตใจของผู้วาด ไม่ใช่ผู้ถูกวาด แต่ก็มีบางรูปที่บุคคลในภาพจะจ้องมองมาตรงๆ ซึ่งดวงตาของเขาเหล่านั้นมักจะซึมเศร้า หดหู่ ดูแล้วหลอนๆพิกล อย่างภาพ The Murderess, Jealousy มีความพิศวง สัมผัสได้ถึงจิตใจของผู้อยู่ในภาพวาดที่หลอนๆ น่ากลัว
ตัดต่อโดย Watkins เอง ผมเชื่อว่าพี่แกได้แรงบันดาลใจมาจาก A Man with a Movie Camera แน่ๆ ผมไม่ได้ลองจับเวลาว่าแต่ละฉากค้างกล้องไว้นานเกิน 3 วินาทีไหม (น่าจะมีพวกฉากที่ถ่าย close-up ภาพวาดที่เกิน 3 วินาทีแน่ๆ) วิธีนี้ที่ผมเอ่ยไปแล้ว คือมันทำให้ผู้ชมไม่สามารถจับอารมณ์ของตัวละครได้ ซึ่งหนังใช้เทคนิคอีกอย่างหนึ่งคือการบรรยาย โดยปกติการปล่อยให้คนดูสัมผัสอารมณ์ต่างๆด้วยตนเอง มนุษย์แต่ละคนอาจรู้สึกเข้าใจได้ต่างกัน แต่เมื่อเป็นคำพรรณาบรรยาย ความเข้าใจจะตรงกัน และยิ่งตัดต่อเร็วๆ จับอารมณ์จากการแสดงไม่ได้ คำบรรยายนี่แหละจะช่วยทำให้เราเห็นภาพ จินตนาการเข้าใจอารมณ์ของเรื่องราวได้, ช่วงท้ายๆตอน Dance of Life ก่อนเครดิตจบเรื่องขึ้น มีการตัดต่อที่เร็วมากๆ สลับเหตุการณ์ไปมาราวกับประมวลทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้ว ที่เร็วขึ้นเหมือนเป็นการบอกให้รู้ว่านี่คือ Climax ของหนังนะ ใกล้จบแล้ว ตอนจบอาจจะดูห้วนๆ ไม่มีการอธิบายอะไรมาก ไม่มีการทำให้ผู้ชมเห็นว่าเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ Munch ได้รับการยอมรับ อยู่ดีๆก็บอกว่า ได้รับสถาปนาให้มียศ (อะไรสักอย่าง) แล้วตัดจบเลย เอิ่ม…
เทคนิคการเอาภาพเดิมๆมาฉายซ้ำๆ นี่เพื่อเป็นการย้ำเตือนความทรงจำของผู้ชม เพื่อบอกว่า Edvard Munch อะไรบ้างที่ฝังลึกอยู่ในใจของเขา สิ่งที่โผล่ออกมาหลอกหลอนอยู่เรื่อยๆ ไม่มีวันหายไปไหน ช่วงแรกๆจะเห็นว่ามีแค่ตอนแม่ป่วยใกล้ตาย กับวัยเด็กของ Munch ที่ป่วยหนัก กระอักเลือดออกมา อาจมีช่วงทะเลาะกับพ่อบ้าง, ส่วนครึ่งหลังจะเพิ่มช่วงที่เขาตกหลุมรักกับ Mrs. Heiberg จูบครั้งแรกและการเลิกรา เหตุการณ์บางอย่างลืมเลือนหายไป แต่บางอย่างไม่มีวันลืมยังโผล่มาให้เห็นเรื่อยๆ เหตุการณ์ใหม่ๆก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ, ในแต่ละปีของเหตุการณ์ในหนัง เสียงบรรยายจะมีสรุปเหตุการณ์สำคัญระดับโลก อาทิ ฮิตเลอร์เกิด, Van Gogh วาดภาพ, ญี่ปุ่นทำสงครามกับจีน ฯ นี่คล้ายๆกับ The Mirror (1975) นะครับ ทำแบบนี้ก็เพื่อให้คนดูมีจุดอ้างอิงต่อเหตุการณ์จริง ว่าช่วงเวลาในหนัง โลกขณะนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เสียงบรรยาย ให้เสียงพากย์โดย Peter Watkins ผู้กำกับพากย์เองเลยเป็นภาษาอังกฤษซะงั้น, หนังเรื่องนี้ไม่มีเพลงประกอบนะครับ ที่เราจะได้ยินอยู่เรื่อยๆจะเป็นเสียงเปียโนเล่นสด เอามาจากเพลงคลาสสิคดังๆ ที่ผมจำได้ก็อย่าง CanCan Suit, เพลงตอนจบ Edward Elgar: Salut d’Amour Op.12 ฯ หลายฉากในหนังจะมีการลากเสียงประกอบ (Sound Effect) ที่เรียกว่า overlapping sound layers ภาพเปลี่ยนไปไหนต่อไหนแล้ว แต่เสียงที่ได้ยินยังคงเป็นเสียงเดิมลากมาตั้งแต่ซีนแรก ที่ได้ยินชัดๆก็มี เสียงร้องไห้, เสียงหัวเราะ, เสียงพูดคุย, เสียงไอ, ไสไม้, เครื่องจักรทำงาน ฯ สาเหตุที่ต้องมีการลากเสียง ซ้อนทับกันนี้ เหตุผลคล้ายๆกับการตัดต่อที่มีภาพความทรงจำในอดีตโผล่มาให้เราเห็นเรื่อยๆ เสียงมันอาจจะย้อนไม่ได้ (บางทีภาพ Flashback จะไม่มีเสียง) เสียงที่ได้ยินเป็นเสียง ณ จุดเริ่มต้นก่อนที่จะเห็นภาพ มันคือ ณ ปัจจุบันเป็นต้นกำเนิดเสียง ภาพที่เปลี่ยนไปมันคือเหตุการณ์ที่ไม่ได้มีความสำคัญมากกว่าเสียง, อธิบายไปก็งง เอาว่ามันทำให้หนังดูมีมิติของเสียงที่ดูเหนือชั้นก็พอนะครับ
ผมเชื่อว่าคนที่สามารถดูหนังเรื่องนี้จบและรู้เรื่อง คุณน่าจะดูงานศิลปะ ‘เป็น’ ผมเองก็รู้สึกตัวว่าเริ่มเข้าใจความหมายของงานศิลปะมากขึ้น ที่จริงจุดประสงค์ของคอลเลคชั่น Painter & Artist ก็คือเพื่อรวมๆรีวิวหนังแนวคล้ายๆกัน ขมวดเข้ามาเป็นก้อนๆ แต่กลายเป็นว่าผมได้ประโยชน์อื่นที่คาดไม่ถึง คือเข้าใจแนวคิดของศิลปินแขนงอื่นในการสร้างสรรค์ผลงาน ผมเริ่มสามารถ จับใจความสำคัญของงานศิลปะแขนงอื่นได้โดยไม่รู้ตัว ถ้าคุณเป็นนักวาดรูป หรือศิลปิน ดูหนังเรื่องนี้คงจะบรรลุถึง Edvard Munch แน่ๆ ผมถือว่าถ้าใครก็ตามที่เรียกตัวเองว่า Artist แล้วยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ ถือได้ว่า “เสียชาติเกิด” นะครับ
นี่เป็นหนังที่ดูยาก เหมาะสำหรับคนที่เรียนสายศิลป์ สายภาพยนตร์/นักวาดรูป/ออกแบบ/ศิลปะทุกแขนง หรือคนที่ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ของ Expressionist นี่เป็นหนังที่คุณต้องทำความเข้าใจให้ได้อย่างลึกซึ้ง ไม่แนะนำกับนักดูหนังกร่างๆทั่วไป คุณต้องมีประสบการณ์พอสมควร มีความติสต์ระดับหนึ่งถึงจะเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้ จัดเรต 15+ กับภาพและแนวคิดที่ถือว่ารุนแรงพอสมควร
[…] Edvard Munch (1974) : Peter Watkins ♥♥♥♥ ภาพวาดงานศิลปะ เป็นสื่อที่นำเสนอจิตวิญญาณของศิลปิน Edvard Munch ถือว่าเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่ค้นพบวิธีถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นภาพวาด (Expressionist), ผู้กำกับ Peter Watkins นำเสนอแนวคิด สิ่งที่เป็นแรงบันดาล ด้วยเทคนิคแบบสารคดีเชิงแอบถ่ายที่อาจจะดูยากเสียหน่อย แต่ถ้าทนได้ มันจะทำให้คุณสามารถเข้าใจงานศิลปะอย่างถ่องแท้เลยละ […]