Salut d'Amour

Edward Elgar: Salut d’Amour Op.12

หนึ่งในเพลง Duo ระหว่าง Piano และ Violin ที่มีความหวานแหวว โหยหาย คิดคำนึง อยากได้พบเจอที่สุด ประพันธ์โดย Sir Edward Elgar คีตกวีชาวอังกฤษผู้เป็น Conductors ประจำให้กับ London Symphony Orchestra Principal และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Master of the King’s Music ในปี 1924

ผมตามหาเพลงนี้มาสักพักแล้ว จำไม่ได้ว่าได้ยินครั้งแรกเมื่อไหร่ แต่มาสะดุดหูผมตอนเครดิตหนังเรื่อง Edvard Munch (1974) ที่ทำให้ผมออกตามหาเพลงนี้ (ในเครดิตของ Edvard Munch ก็ดันไม่บอกด้วยว่าเพลงอะไร) ทีแรกนึกว่าเป็นเพลงของ Chopin ซึ่งเริ่มต้นทำนองมันคล้ายกับ Nocturne Op.9 No.2 มากๆ แต่ก็ไม่ใช่ ลองหา Variation อื่นก็ไม่ตรง ไม่ใช่แค่ Chopin นะครับแต่ยัง Liszt, Shubert ศิลปินดังๆที่มีชื่อเรื่องเพลงหวานๆ มดกินน้ำตาล ไม่รู้กี่ร้อยเพลง หาเป็นวันๆก็ยังไม่เจอ ใกล้ถอดใจ สงสัยจะไม่มีโอกาสรู้เสียแล้วว่าเพลงชื่อเพลงอะไร

ชะตามันชอบเล่นตลกกับผม ได้ยินเพลงนี้อีกครั้งในหนังเรื่อง Steamboat Bill, Jr (1928) เป็นเพลงที่บรรเลงประกอบหนังเงียบ เวอร์ชั่นเปียโนโดย William Perry นี่แสดงว่าผมอาจยังมีความหวัง ก็ลองค้นหาจากชื่อผู้บรรเลงดู ก็ยังหาไม่เจอ แต่พบว่า เพลงที่เล่นประกอบหนังเงียบส่วนใหญ่มักเป็น Ragtime (เป็นเพลงประเภทหนึ่งคล้ายๆ Blues, Jazz, Swing ที่มีจังหวะง่ายๆ สนุกสนาน) ก็เลยลองค้นหาดู ทีแรกคิดว่าเป็น Scott Joplin ที่เพลงของพี่แกได้รับความนิยมสูงสุดในแนวนี้ ก็ฟังแทบทุกเพลงที่หาได้ใน Youtube แต่ยังหาไม่เจอ

ไปศึกษาประวัติ Ragtime เพิ่มเติม ได้ที่ : http://pantip.com/topic/31739478

ใจยอมแพ้ไป 90% แล้ว คิดว่าสงสัยชาตินี้คงหาไม่เจอแล้ว อยู่ดีๆวันหนึ่ง (เมื่อวานนี้เลย) ผมก็คลิก Youtube ฟังเพลงเล่นๆเรื่อยๆ จนไปเจอ Sarah Chang ในเพลงที่ผมเคยเขียนรีวิวไปแล้ว ว่าไปการแสดงไวโอลินของเธอก็ให้อารมณ์ที่คล้ายๆกับเพลงนี้ ฤาว่าผมเคยได้ยินเพลงนี้จากหนึ่งในการแสดงของเธอหรือเปล่า ลองคลิกๆดู เห้ย! Eureka!!! ใช่เลย เจอแล้ว เพลงนี้แหละ Salut d’Amour Op.12 ผมต้องเคยได้ยินครั้งแรกจากการเล่นของเธอแน่ๆ คลิปนี้ครับ

การค้นหามาถึงจุดสิ้นสุด ผมดีใจน้ำตาไหลพรากๆ ในที่สุดก็หาเจอ นี่มัน ‘งมเข็มในมหาสมุทร’ ชัดๆเลย ความรู้สึกเหมือนตอนที่ผมกำลังตามหาหนังเรื่องโปรด ที่กว่าจะเจอก็ลากเลือด ดูหนังมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเรื่อง กว่าจะเจอที่ถูกใจ ผมใส่เพลงนี้ในเพลงโปรดเรียบร้อยแล้ว ถ้าในสถานการณ์ปกติเพลงนี้อาจจะไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกอะไรมากมาย แต่เพราะความยากลำบากในการทำ ทำให้ผมต้องฟังแล้วฟังอีก จนมันเพราะจับใจ ช่วงเวลาขณะที่ผมค้นพบ มันเหมือนได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นี่แหละที่ฉันเฝ้าค้นหา ตามหา

Salut d’Amour, Op. 12 เป็นผลงานดนตรีสำหรับบรรเลงด้วยไวโอลินและเปียโน ผลงานประพันธ์ของ Sir Edward William Elgar, 1st Baronet (2 มิถุนายน 1857 – 23 กุมภาพันธ์ 1934)

Elgar ประพันธ์ผลงานชิ้นนี้สำหรับประกอบโคลงภาษาอังกฤษชื่อ “The Wind at Dawn” เพื่อใช้จีบ Caroline Alice Roberts, ตอนแรก Elgar ตั้งชื่อเพลงนี้เป็นภาษาเยอรมันว่า “Liebesgruss” ที่แปลว่า Love’s Greeting (ที่ใช้ชื่อเพลงภาษา German เพราะคู่หมั้นของเขาเก่งภาษาเยอรมัน) และบรรเลงเพลงนี้เพื่อเป็นมอบของขวัญ ใช้หมั้นกับเธอเมื่อวันที่ 22 กันยายน 1880

ต่อมา Elgar เปลี่ยนชื่อเพลงเป็นภาษาฝรั่งเศส “à Carice” หรือ “Carice” ที่เป็นการเล่นคำผสมชื่อของภรรยา Caroline Alice และเมื่อทั้งสองแต่งงานกันมีลูกสาว 2 ปีหลังจากนั้น ก็ตั้งชื่อเธอว่า Carice

เพลงนี้ไม่ได้ถูกเผยแพร่ให้กับสาธารณะชนเลย จนกระทั่ง Schott & Co. ได้ขอซื้อลิขสิทธิ์การตีพิมพ์ โดยในเวอร์ชั่นแรกมี 4 แบบ
Duo: Violin กับ Piano
Duo: Cello กับ Piano
Piano Solo
และสำหรับ Orchestra วงเล็ก
วางจำหน่ายครั้งแรกในปี 1889 โดยเปลี่ยนชื่อเพลงเป็นภาษาฝรั่งเศส “Salut d’Amour” และให้ Liebesgruss เป็นชื่อรอง ส่วนชื่อผู้ประพันธ์ใช้นามปากกาว่า ‘Ed. Elgar’ เหตุที่ต้องเปลี่ยนเพราะชื่อเพลงภาษาฝรั่งเศสจะสามารถขายได้ทั่วยุโรป ไม่ใช่แค่ฝรั่งเศส ถ้าใช้ชื่อเยอรมันจะขายไม่ค่อยได้

การแสดงต่อสาธารณะครั้งแรกเป็น Orchestra จัดขึ้นที่ Crystal Palace เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1889 โดยมีผู้กำกับวง (Conductor) คือ Augus Manns, มีการบันทึกเพลงลงแผ่นเสียงครั้งแรกในปี 1915 โดย The Gramophone Company เป็นเวอร์ชั่น Orchestra กำกับโดย Edward Elgar เองเลย

เพลงนี้ถือว่าได้รับความนิยมอย่างสูงในยุโรปและเมื่อเผยแพร่ไปที่อเมริกาก็ได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นกัน เป็นหนึ่งในเพลงที่มีการเรียบเรียงใหม่ให้เข้ากับเครื่องดนตรีหลากหลาย ขนาดว่ามีคนเอาไปแต่งคำร้องชื่อเพลงว่า “Woo thou, Sweet Music” โดย A. C. Bunten น่าเสียดายผมหาเวอร์ชั่นที่มีเนื้อร้องของเพลงนี้ให้ฟังไม่ได้

หลังจากผมได้รู้จักเพลงนี้ ก็ได้เวลาตามหาเวอร์ชั่นที่ไพเราะที่สุด (ที่มีอยู่ใน Youtube) กับนักไวโอลิน ผมคิดว่านี่เป็นเพลงที่น่าจะเป็น ‘บทเรียน’ เพลงหนึ่งนะครับ โน๊ตอาจจะไม่ยากอะไรมาก แต่ขึ้นอยู่กับเทคนิคและการตีความ ซึ่งผมคิดว่าเวอร์ชั่นของ Antonio Stradivari นี้มีความลงตัวที่สุดแล้ว

ผมชอบการตีความที่ให้อารมณ์ความรู้สึก แต่ก็ไม่ทิ้งจังหวะ ไม่เร่ง Tempo มีความต่อเนื่อง และไม่ต้องโชว์เทคนิคอะไรมากมาย, สำหรับผมเวอร์ชั่นนี้ถือว่าลงตัวที่สุดแล้ว ไม่มีจังหวะสะดุด ไม่มีเล่นผิด และสามารถถ่ายทอดอารมณ์เพลงผ่านเสียงดนตรี สีหน้า และอารมณ์เพลงได้ตามความต้องการของผม

แต่มีการตีความอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ เป็น Piano Solo บรรเลงโดย Heloise Ph. Palmer ที่ 1 นาทีแรกใช้การเล่นด้วยความเร็ว Moderate ผมไม่แน่ใจว่าใน Sheet ของเพลงนี้ ช่วงแรกของเพลงมีความเร็ว Moderate หรือเปล่า แต่รู้สึกได้ว่าอารมณ์เพลงต่างจากเวอร์ชั่นอื่นๆมาก ซึ่งมักเริ่มต้นมามักจะมี Tempo ที่เร็วพอสมควร นี่เป็นเวอร์ชั่นที่มีเพิ่มความหวาน และสร้างอารมณ์โหยหาได้ที่สุดแล้ว, น่าเสียดายคลิปนี้เสียงเบาไปหน่อยนะครับ ต้องเร่งเสียงสุดๆเลยถึงจะได้ยิน

มีนักวิจารณ์เพลงในสมัยนั้นพูดถึงเพลงนี้ว่ามีอารมณ์มากเกินไป (too emotional) ดูไม่เหมาะกับคนชั้นสูงที่จะแสดงความรู้สึกออกมา (too deliberately noble in expression), ไม่มีที่ไหนเขียนไว้นะครับว่าสไตล์เพลงของ Elgar เข้าพวกไหน ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็น ลัทธิแสดงพลังอารมณ์ (Expressionism) ซึ่งถ้าดูจากช่วงเวลาก็ถือว่าใกล้เคียงกันเลย Edward Elgar มีชีวิตในช่วง 1857-1934 ส่วน Expressionism จะอยู่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 (1850-1950) ซึ่ง Elgar คงได้อิทธิพลจากลัทธิแสดงพลังอารมณ์มาเยอะพอสมควร จึงสามารถแต่งเพลงที่แสดงความรู้สึกออกมาได้ขนาดนี้

ใน Edvard Munch นี่เป็นเพลงตอน End Credit ที่ทำให้เรานึกถึงบรรยากาศ วันคืนที่แสนสุข คนรักที่ตอนนั้นเคยรักกัน ต้องการซึ่งกันและกัน (แม้ตอนนี้จะไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว) แสงแดดสลัวๆยามเช้า สัมผัสอันนุ่มนวล รอยยิ้มของเธอ มันเป็นความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน

เห็นล่าสุดใครเล่นเกม Fallout 4 จะมี Classical Radio นี่เป็นเพลงหนึ่งที่ค่ายเกม Bethesda ใส่เข้าไปให้ผู้เล่นได้ยินกันด้วย เหมือนเป็นการบอกว่า นี่เป็นเพลงหนึ่งที่ควรค่าแก่เก็บรักษาไว้เพื่อมนุษยชาติ แม้โลกจะล่มสลายกลายเป็นเถ้าทุลี แต่ความคลาสสิคของเพลงนี้จะยืนยงเป็นอมตะตลอดกาล

นี่เป็นอีกเพลงเพราะที่ผมอยากแนะนำให้ได้รู้จักกันนะครับ คงไม่ค่อยมีโอกาสได้ยินกันบ่อย แต่ถ้ามีอยากให้ระลึกกันได้ว่าเป็นเพลงนี้ ถ้าใครชอบเพลงหวานๆของ Chopin, Liszt หรือ Shubert เพิ่ม Edward Elgar เข้าไปอีกคนนะครับ

TAGLINE | “Salut d’Amour หนึ่งในเพลง Duo ระหว่าง Piano และ Violin ที่มีความหวานแหวว โหยหาย คิดคำนึง อยากได้พบเจอที่สุด ประพันธ์โดย Sir Edward Elgar”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORI 

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: