Elephant

Elephant (2003) hollywood : Gus Van Sant ♥♥♥♥

ตาบอดคลำช้าง คือแนวคิดที่ผู้กำกับ Gus Van Sant ใช้นำเสนอเหตุการณ์สังหารหมู่ ณ โรงเรียนมัธยมปลาย Columbine High School เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1999 ด้วยการร้อยเรียงเรื่องราววัยรุ่น ทั้งมีส่วนร่วม พบเห็น เป็น-ตาย แต่ไม่มีใครล่วงรับรู้ว่าบังเกิดห่าเหวอะไรขึ้น, คว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

ตาบอดคลำช้าง หมายถึง คนที่รู้อะไรด้านเดียวหรือนัยเดียวแล้วเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น

ที่มาที่ไปของสำนวน ตาบอดคลำช้าง คือนิทานชาดก จากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย, สมัยหนึ่งในนครสาวัตถี สมณะ พราหมณ์ ปริพาชก ต่างถือว่าลัทธิทฤษฎีของตนจริงแท้ อย่างอื่นเท็จหมด จึงเกิดการโต้เถียงทะเลาะวิวาท ภิกษุทั้งหลายนำความมากราบทูลพระพุทธเจ้า ทรงตรัสเล่าเรื่องเคยมีมาแล้ว

ราชาพระองค์หนึ่งในนครสาวัตถี ได้ตรัสสั่งราชบุรุษให้นำคนตาบอดแต่กำเนิดทั้งหมดเท่าที่มีมาประชุมกัน ครั้นแล้วโปรดให้นำช้างตัวหนึ่งมาให้คนตาบอดเหล่านั้นทำความรู้จัก ราชบุรุษแสดงศีรษะช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่ง แสดงหูช้างแก่อีกพวกหนึ่ง แสดงงาช้าง ตัวช้าง เท้าช้าง หลังช้าง หางช้าง ปลายหางช้าง แก่คนตาบอดทีละพวกๆไปจนหมดสิ้น พระราชาเลยตรัสถาม “ที่ท่านทั้งหลายกล่าวว่า ได้เห็นช้างแล้วนั้น ช้างเป็นเช่นไร?” คนตาบอดที่ได้คลำศีรษะก็ว่าช้างเหมือนหม้อ คนที่ได้คลำหูก็ว่าช้างเหมือนกระด้ง คลำงาก็ว่าเหมือนผาล คลำงวงก็ว่าเหมือนงอนไถ คลำตัวก็ว่าเหมือนยุ้งข้าว คลำเท้าก็ว่าเหมือนเสา คลำหลังก็ว่าเหมือนครกตำข้าว คลำหางก็ว่าเหมือนสาก คลำปลายหางก็ว่าเหมือนไม้กวาด เสร็จแล้วคนตาบอดเหล่านั้นก็ได้ทุ่มถกเถียงกันว่า ช้างเป็นอย่างนี้ ช้างไม่ใช่อย่างนั้น จนถึงชกต่อยชุลมุน

จบชาดกพระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานเป็นคาถาความว่า “ทราบว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ยึดติดอยู่ในทิฏฐิหรืออุปาทานขันธ์เหล่านี้ จึงกล่าวโต้แย้งวิวาทกัน เหมือนคนตาบอดที่คลำช้างแต่ละส่วน ฉะนั้น”

reference: https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=89

เหตุการณ์สังหารหมู่ ณ โรงเรียนมัธยมปลาย Columbine High School ก็เฉกเช่นเดียวกัน ตำรวจพยายามหาหลักฐาน ศาลพยายามไต่สวน นักวิชาการพยายามครุ่นคิดหาเหตุผล ส่วนคนทั่วไปก็ได้แต่เกาหัว มันบังเกิดห่าเหวอะไรถึงทำให้วัยรุ่นสองคนกระทำสิ่งโฉดชั่วร้ายขนาดนั้น … แต่ไม่ว่าใครจะแสดงความคิดเห็นอะไร ล้วนไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง ก็ได้แค่คลำช้าง คาดเดา โต้ถกเถียง ฟังดูไร้สาระจะคุย!

ผู้ชมส่วนใหญ่ก็คงส่ายหัว ไม่เข้าใจ หนังแม้งไม่ได้มีเนื้อหาสาระ ที่มาที่ไป เห็นเพียงความรุนแรง เข่นฆ่าสังหารหมู่ กราดยิงคนตาย แล้วจะสรรค์สร้างมาเพื่ออะไร? แต่ผมกลับเห็นว่านี่คือผลงาน Masterpiece ของ Gus Van Sant ด้วยจุดประสงค์ให้เกิดการโต้ถกเถียง ช่วยกันขบครุ่นคิด ปะติดปะต่อเรื่องราวจากหลากหลายมุมมอง (แบบเดียวกับ Rashōmon (1950)) เพราะแม้แต่ตัวของผู้กำกับเองก็ไม่รับรู้เหมือนกัน ว่ามันบังเกิดห่าเหวอะไรขึ้น!

แซว: ทั้งๆหนังชื่อ Elephant (2003) แต่กลับไม่เคยมีการพูดกล่าวถึง พบเห็นเพียงภาพวาดนี้ในห้องนอนของ Alex Frost

Gus Green Van Sant Jr. (เกิดปี 1952) ผู้กำกับแห่งกลุ่มเคลื่อนไหว New Queer Cinema เกิดที่ Louisville, Kentucky บิดาเป็นเซลล์แมนขายสิ่งทอ/เสื้อผ้า ทำให้ครอบครัวต้องออกเดินทางย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆจนมาปักหลักอยู่ Portland, Oregon ไต่เต้าจนกลายเป็นประธานบริษัท White Stag Manufacturing Company

ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านการวาดภาพ ระหว่างร่ำเรียนทัศนศิลป์ Rhode Island School of Design ได้มีโอกาสรับชมหนังแนว Avant-Gard อย่าง The Little Shop of Horrors (1960), Pink Flamingos (1972) กลายเป็นแรงบันดาลใจเปลี่ยนจากศิลปะสู่สาขาภาพยนตร์, จากนั้นได้งานเป็นผู้ช่วยกองถ่าย อาศัยอยู่ Hollywood ช่วงทศวรรษ 70s, สรรค์สร้างผลงานอินดี้เรื่องแรก Mala Noche (1986) ต้องตาโปรดิวเซอร์ของ Universal Pictures อาสาออกทุนสร้าง Drugstore Cowboy (1989)

ความสำเร็จอันล้นหลามของ Good Will Hunting (1997) ทำให้ผู้กำกับ Van Sant ริหาญกล้าสร้างใหม่ Psycho (1998) ด้วยทุน $60 ล้านเหรียญ ทำเงินกลับมาเพียง $37.2 ล้านเหรียญ แถมเสียงตอบรับก็ย่ำแย่จนได้เข้าชิง Golden Raspberry Award ถึง 3 สาขา (Worst Remake, Worst Director, Worst Actress)

ตั้งแต่นั้นมาผู้กำกับ Van Sant ก็เริ่มหมกมุ่นอย่างจริงจังเกี่ยวกับความตาย (ไม่แน่ใจว่าเจ้าตัวเคยถึงขนาดคิดสั้นเลยหรือเปล่า) หนึ่งในความสนใจขณะนั้นก็คือเหตุการณ์สังหารหมู่โรงเรียนมัธยมปลาย Columbine High School ณ Columbine, Colorado เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1999 ผู้ก่อเหตุวัยรุ่นเกรด 12 (ม.6) สองคน Eric Harris และ Dylan Klebold ใช้ปืนกราดยิงเพื่อนนักเรียนเสียชีวิต 12 คน +1 อาจารย์ที่ปรึกษา (สิบคนเสียชีวิตที่ห้องสมุด) แล้วยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 21 คน ส่วนมือปืนทั้งสองเมื่อได้รับบาดเจ็บจากการยิงโต้ตอบกับตำรวจ เลยตัดสินใจเข่นฆ่าตัวตาย (รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 15 คน) … นี่ถือเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ในโรงเรียนมัธยมปลายครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา จนมีคำเรียก ‘Columbine Effect’ ต่อเหตุการณ์ลอกเลียนแบบเกิดขึ้นติดตามมา

ในตอนแรกผู้กำกับ Van Sant ครุ่นคิดแผนสรรค์สร้างเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสารคดี แต่ถ้าต้องไปสัมภาษณ์บรรดาผู้รอดชีวิต มันคงไม่ใช่เรื่องเหมาะสมสักเท่าไหร่ เลยตัดสินใจขึ้นหิ้งโปรเจคนี้ไว้ชั่วคราว จนกระทั่งมีโอกาสรับชมหนังสั้น Elephant (1989) กำกับโดย Alan Clarke เรื่องราวเกี่ยวกับการสังหารหมู่ 18 ศพ ที่ Northern Ireland โดยไม่มีคำอธิบายเหตุผลที่มาที่ไป (หนังทั้งเรื่องมีคำพูดเพียง 3 ประโยค) ใช้กล้อง Steadicam ฟีล์ม 16mm ส่วนใหญ่เป็น long take เคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละคร เพื่อให้ผู้ชมสังเกตเหตุการณ์บังเกิดขึ้น

ความเข้าใจของผู้กำกับ Van Sant ต่อชื่อหนังสั้น Elephant (1989) มาจากสำนวนตาบอดคลำช้าง จึงสรรค์สร้างภาพยนตร์ Elepant (2003) ด้วยแนวทางดังกล่าว, แต่ในความเป็นจริงผู้กำกับ Alan Clarke ให้สัมภาษณ์ภายหลังบอกว่านำมาจากอีกสำนวน ช้างในห้อง (the elephant in our living room) หมายถึง การแสร้งว่ามองไม่เห็นปัญหาที่บังเกิดขึ้น (คือทำเป็นมองไม่เห็นว่ามีช้างอยู่ในห้อง)

ปล. เหตุการณ์ใน Elephant (1989) ต้องการสื่อถึงความขัดแย้งทางชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ ‘The Troubles’ ในประเทศ Northern Ireland ช่วงระหว่างทศวรรษ 1960s-90s มีมูลเหตุจากฝั่งนิยมสหภาพต้องการให้ประเทศคงอยู่กับสหราชอาณาจักร ขณะที่อีกฝ่ายชาตินิยมต้องการให้แยกตัวออกมาแล้วไปรวมตัวกับ Ireland, ความตึงเครียดถูกยกระดับจนนำไปสู่การจลาจลรุนแรง เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1969 ทำให้สหราชอาณาจักรต้องส่งกองกำลังทหารเข้ามาประจำการ ซึ่งมีความเอนเอียง ใช้กำลังความรุนแรงกับประชาชน จนบังเกิดเหตุการณ์ ‘Bloody Sunday’ วันอาทิตย์ทมิฬที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1972

ผู้กำกับ Van Sant เห็นว่าไม่ได้พัฒนาบทหนังแต่ประการใด เริ่มต้นด้วยการมองหาสถานที่ถ่ายทำยัง Portland, Oregon ได้อดีตโรงเรียน Whitaker Middle School ซึ่งเพิ่งถูกสั่งปิดกิจการเมื่อปี 2001 เพราะปัญหาเรื่องโครงสร้างอาคารไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย แต่ก็ยังใช้งานได้อยู่ (อาคารที่ใช้ถ่ายทำสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1969 แล้วถูกทุบทำลายเมื่อปี 2007)

จากนั้นประกาศรับสมัครตัวประกอบ 1,500 คน คัดเลือกนักแสดงหลักๆ 15 คน ไม่เคยมีใครผ่านประสบการณ์ด้านการแสดงมาก่อน (เลยใช้ชื่อจริงแทนชื่อตัวละคร) ด้วยเหตุนี้ตลอด 20 วันถ่ายทำ ล้วนใช้การดั้นสด (Improvised) ให้อิสระพวกเขาในการพูด-แสดงออก กระทำสิ่งต่างๆเพื่อสร้างจุดสนใจให้ตนเอง

บทหนังเลยได้รับการพัฒนาขึ้นพร้อมๆการถ่ายทำ (เพื่อจดบันทึกว่าใครพูดอะไร ทำอะไร) ในเครดิตขึ้นชื่อผู้กำกับ Van Sant แต่ผู้จดบันทึกคือ JT LeRoy คือนามปากกาของนักเขียน Laura Albert (ได้รับเครดิน Associate Producer)


ผมจะเขียนถึงแค่ตัวละครหลักๆที่ปรากฎชื่อ (บน Title Card) ในหนังนะครับ

  • Alex หนุ่มเนิร์ดที่มักถูกกลั่นแกล้ง โดนดูถูกเหยีดหยามอยู่เป็นประจำ ทำให้ต้องกลับมารับประทานอาหารกลางวันที่บ้าน ชื่นชอบการวาดรูป เล่นเปียโน สั่งซื้อปืนผ่านอินเตอร์เน็ต และไม่เคยจุมพิตใครมาก่อน
  • Eric เพื่อนของ Alex มีนิสัยเกียจคร้าน (slacker) เหมือนจะไม่ไปโรงเรียนด้วยกระมัง มีรสนิยมรักร่วมเพศ ชื่นชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ แม้คือผู้ร่วมสังหารหมู่ แต่กลับถูกเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด
  • John มาโรงเรียนสายเพราะต้องดูแลบิดาขี้เมา เลยถูกครูใหญ่จ้องจะให้ภาคทัณฑ์ แต่ระหว่างเดินออกจากโรงเรียนนั้นพบเห็น Alex มีท่าทางแปลกๆ เลยพยายามพูดเตือนใครต่อใครไม่ให้เข้าไปในโรงเรียน
  • Mr. Luce ครูใหญ่ประจำโรงเรียน ต้องการควบคุมความประพฤติ John แต่ถูก Eric ไล่ต้อนจนมุมแล้วถูกยิงเสียชีวิต
  • Elias ถือกล้องขอถ่ายรูปเพื่อนๆเพื่อนำมาทำเป็น Portfolio คาดว่าน่าจะถูกยิงเสียชีวิตขณะอยู่ในห้องสมุด
  • Nathan และ Carrie นักฟุตบอลกับสาวสวยประจำโรงเรียน เป็นที่อิจฉาของใครต่อใคร หลบหนี Alex เข้าไปในห้องเย็นเก็บเนื้อสัตว์ ถูกหลอกหลอนด้วยคำพูด “Eeny, meeny, miny, moe.” ไม่รู้เหมือนกันจะรอดชีวิตไหม
  • Michelle สาวเนิร์ดที่มีความละอายในเรือนร่างตนเอง เลยมักถูกกลั่นแกล้ง (Bully) จากสามสาว กลายเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกระหว่างช่วยงานห้องสมุด
  • Brittany, Jordan และ Nicole สามสาวจอมบูลลี่ ชื่นชอบการซุบซิบนินทา ส่งสายตายั่วเย้ายวนให้กับ Nathan กำลังอยู่ช่วงรักษาหุ่น (ทานอาหารน้อยนิดแล้วไปอาเจียนออกในห้องน้ำ)
  • Acadia เพื่อนสนิทของ John (น่าจะแอบชอบกระมัง) เป็นสมาชิกองค์กร Gay-Straight Alliance เมื่อพบเห็นเพื่อนคนหนึ่งถูกยิง เกิดอาการแน่นิ่งจากความตื่นตระหนกตกใจ (panic disorder) แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจาก Benny จนสามารถหลบหนีออกทางหน้าต่าง
  • Benny ชายผิวสีที่เป็นนักกีฬา หลังจากช่วยเหลือ Acadia หลบหนีออกทางหน้าต่าง ออกเดินติดตามหาผู้ก่อการร้ายมาพบเจอ Eric แล้วก็ถูกยิง(น่าจะ)เสียชีวิต โดยไม่ทันได้ทำอะไรทั้งนั้น

ถ่ายภาพโดย Harris Savides (1957-2012) สัญชาติอเมริกัน ขาประจำผู้กำกับ Gus Van Sant ผลงานเด่นๆ อาทิ The Game (1997), Elephant (2003), American Gangster (2007), Zodiac (2007), Milk (2008), The Bling Ring (2013) ฯ

หนังถ่ายทำโดยใช้กล้อง Arricam ฟีล์ม 35mm ซึ่งมีน้ำหนัก 8.15 กิโลกรัม สามารถยกแบกขึ้นบ่าเดินติดตามนักแสดงไปไหนมาไหน และเลือกใช้อัตราส่วน Academy ratio (1.37:1) ให้ผู้ชมจับจ้องมองรายละเอียดอย่างเต็มตา และมอบสัมผัสดิบเถื่อน ดูมีความสมจริง จับต้องได้มากกว่า

งานภาพของหนังเรียกได้ว่า ‘minimalist’ แทบไม่มีเทคนิคลูกเล่นลีลาอะไร ใช้เพียงแสงธรรมชาติ บางครั้งแค่ตั้งกล้องทิ้งไว้ บางครั้งแพนนิ่ง บางครั้งเคลื่อนติดตาม บันทึกภาพนักแสดงระหว่างก้าวเดิน พูดคุยสนทนา ดำเนินกิจกรรมต่างๆในชีวิตวันประจำวัน แทบจะแค่นั้นละ!


Opening Credit นำเสนอ Time-Lapse Photography ถ่ายภาพมุมเงยเห็นเสาไฟและท้องฟ้า เมฆหมอกกำลังเคลื่อนเลื่อนพัดพา มีบางสิ่งอย่างบังเกิดขึ้น แต่ผู้ชมจะได้ยินเพียงเสียงพูดคุยสนทนา

หลายคนคงพยายามครุ่นคิดคาดเดาว่ามีอะไรบังเกิดขึ้น แต่เพราะหนังไม่นำเสนอภาพเหตุการณ์ดังกล่าว มันจึงไม่มีทางที่เราจักสามารถหาข้อสรุปเท็จจริงประการใดๆ นี่ก็ไม่ต่างจาก ‘ตาบอดคลำช้าง’ มามัวเสียเวลาถกเถียงในสิ่งไร้สาระอยู่ทำไม?

แซว: พอจะมีใครจินตนาการออกไหม เสาไฟมันมีรูปลักษณะคล้ายๆ ช้าง?

ตากล้อง Elias เดินผ่านเข้ามา ชักชวนหนุ่ม-สาวถ่ายรูป แชะ แชะ แชะ แล้วแยกย้ายจากไป … นี่เป็น Long Take ที่สามารถอธิบายเหตุการณ์ดำเนินไปของหนัง ก้าวเดิน สนทนา มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน จากนั้นก็แยกย้าย จะว่าไปการถ่ายภาพก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการกราดยิงปืน ปัง ปัง ปัง

A person’s mind stretched by a new idea can never go back to its original dimentions.

Oliver Wendell Holmes Sr. (1809-94) นักกวีชาวอเมริกัน

คำคมบทนี้เหมือนต้องการสื่อถึงโลกทัศน์/ความครุ่นคิด สภาพจิตใจของฆาตกรทั้งสอง เมื่อค้นพบเป้าหมายตนเอง ย่อมไม่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขอะไรได้ทั้งนั้น … ฟังดูจริงในแง่มุมหนึ่ง แต่ก็ไม่ถูกต้องเสมอไป (เพราะถ้าสิ่งนั้นคือความเข้าใจอย่างผิดๆ เมื่อตระหนักรับรู้ยินยอมปรับปรุงตนเอง ย่อมสามารถหวนกลับสู่จุดเริ่มต้นใหม่)

อาจารย์เคมีสอนอะไรสักอย่างเกี่ยวกับอะตอม อิเล็คตรอนโคจรรอบนิวเคลียส ซึ่งสามารถสื่อบุคคลไม่เข้าพวก หรือก็คือ Alex ขนาดว่านั่งอยู่หลังห้อง (หลุดวงโคจรของเพื่อนร่วมชั้น) กลับยังถูกกลั่นแกล้ง (bully) ไม่ได้รับการยินยอมรับจากผู้คนในสังคม … นี่ถือเป็นคำอธิบาย สาเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาครุ่นคิดกระทำสิ่งชั่วร้ายก็เป็นได้!

รูปภาพวาดในห้องนอน Alex ล้วนเป็นผลงานภาพร่าง/งานศิลปะของผู้กำกับ Gus Van Sant ที่น่าสนใจมากๆก็คือภาพกราฟฟิตี้ ผมดูไม่ออกหรอกว่ารูปอะไร แต่สัมผัสได้ถึงความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียด อารมณ์อันรุนแรง ใช้สีแดงของเลือด แทนเจ็บปวด อึดอัดอั้น เก็บกดดันอยู่ภายใน ใกล้ถึงวันปะทุระเบิดออกมา

นี่ไม่น่าใช่เกมที่มีขายทั่วไป คงสร้างขึ้นเพื่อใช้ในหนังโดยเฉพาะ เท่าที่พบเจอข้อมูลมชื่อว่า Gerrycount ผลัดกันเล่นสองคนรับบทเป็น Matt Damon vs. Casey Affleck ออกไล่ล่าเข่นฆ่าศัตรู ยิงปืนผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (First-Person Shooter)

ปัจจุบันยังมีคนอีกมากมายที่ครุ่นคิดเข้าใจว่า Video Games คือสิ่งปลูกฝังความรุนแรงต่อเยาวชน เอาจริงๆมันกลับตารปัตรตรงกันข้ามเลยนะครับ เกมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เลือดสาด ภาพสยดสยอง ล้วนมีจุดประสงค์เพื่อผ่อนคลาย/ระบายความตึงเครียดในชีวิตประจำวัน คือถ้าไม่ใช่ผู้ป่วยจิตเวช ใครไหนจะอยากลอกเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้น? มันก็แค่ความเข้าใจผิดๆ มโนเพ้อภพของคนหัวโบราณคร่ำครึเท่านั้นเอง

สารคดีที่ฉายในโทรทัศน์นำจากภาพยนตร์ซีรีย์ชวนเชื่อ Why We Fight (1942-45) กำกับโดย Frank Capra รู้สึกว่าจะเป็นตอนที่สอง The Nazis Strike (1943) ให้เสียงบรรยายโดย Walter Huston

การเลือกภาพยนตร์ชวนเชื่อเรื่องนี้ น่าจะเพื่อสะท้อนมุมมองทางการเมืองของเด็กๆทั้งสอง ถูกชวนเชื่อหล่อหลอมให้กลายเป็น Neo-Nazi พร้อมใช้ความรุนแรงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน

ผู้กำกับ Van Sant ยังสอดแทรกความเบี่ยงเบน/รสนิยมทางเพศให้ตัวละคร นอกจากการจุมพิตของสองหนุ่ม ยังมีการสนทนาร่วมกลุ่ม Gay-Straight Alliance ยุคสมัยนั้นยังเป็นสิ่งที่สังคมไม่ให้การยินยอมรับนัก ซึ่งสามารถมองเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ให้วัยรุ่นก่อกระทำสิ่งโฉดชั่วร้ายนั้น

สถานที่/บุคคลแรกที่ Alex กระทำการกราดยิงปืน ย่อมสะท้อนถึงตัวตน สิ่งที่เขาบังเกิดอคติเหลือล้น

  • ห้องสมุด สถานที่สำหรับศึกษาหาความรู้ หรือคือ’จิตวิญญาณ’ของโรงเรียนก็ว่าได้ … นี่ย่อมเป็นสถานที่ที่ Alex ต้องการทำลายให้สูญสิ้นไป
  • Michelle สาวเนิร์ดผู้อ่อนแอ เหนียงอายต่อรูปลักษณ์ ทำให้ถูกกลั่นแกล้ง (Bully) เลยชอบเก็บตัว หลบหลีกหนีผู้คน ไม่เคยคบหาใคร … แทบจะเป็นกระจกสะท้อนตัวตนของ Alex เลยก็ว่าได้

การที่กล้องเคลื่อนเลื่อนติดตาม Benny ทำเหมือนว่าเขาจะกลายเป็นวีรบุรุษกอบกู้หายนะบังเกิดขึ้น ในตอนแรกสามารถช่วยเหลือ/ปลุกตื่น Acadia จนสามารถปีนหลบหนีออกนอกหน้าต่าง แต่เมื่อเผชิญหน้ากับ Alex โดนยิงปัง! จบสิ้นกัน ทำลายความคาดหวังของผู้ชมลงหมดสิ้น

เรื่องราวของ Benny สามารถสื่อถึงกลุ่มวัยรุ่นประเภทไม่ได้ยี่หร่าต่ออะไรใคร มีความหลงตนเอง ครุ่นคิดว่าฉันเก่ง ฉันแน่ ฉันสามารถทำทุกสิ่งอย่าง แต่แท้จริงแล้วก็ไม่ได้มีอะไร เหมือนทหารที่ถูกส่งไปแนวหน้าแล้วเดินตรงเข้ารับกระสุนปืน ตกตายแบบไร้สาระจะจดจำ

ผู้กำกับ Van Sant นำแรงบันดาลใจฉากในโรงอาหารจากเหตุการณ์จริง! กล้องวงจรปิดสามารถบันทึกภาพวัยรุ่นผู้ก่อเหตุทั้งสองระหว่างนั่งพักดื่มน้ำ … นำทั้งสองภาพมาเปรียบเทียบให้เห็น

เอาจริงๆผมไม่เข้าใจตรรกะของ Alex ทำไมถึงทรยศหักหลังเข่นฆ่า Eric ดูแล้วก็ไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร แค่กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจส่วนบุคคล? หรือเพราะไม่พึงพอใจ Eric พูดบอกไม่ให้ดื่มน้ำของคนอื่น แค่นั้นเองหรือ? แต่ก็ช่างแม้งเถอะครับ ใครจะไปรับรู้ความครุ่นคิดของอาชญากรเหล่านี้กัจ

Eeny, meeny, miny, moe,
Catch a tiger by the toe.
If he hollers, let him go,
Eeny, meeny, miny, moe.

ชาวอเมริกันคงรับรู้จักท่วงทำนอง/คำร้องนับถอยหลัง สำหรับเกมซ่อนหา เล่นไล่จับ ซึ่งขณะนี้ Alex กำลังละเล่นกับคู่รัก Nathan กับ Carrie ฉันจะยิงใครก่อนดี? สถานที่ก็คือห้องเย็นเก็บเนื้อสัตว์ ช่างมีความหนาวเหน็บ สั่นสะท้านทรวงใน แล้วหนังก็ดำเนินมาถึงจุดจบสิ้นลง ทอดทิ้งให้ผู้ชมเต็มไปด้วยความฉงนสงสัย

ตัดต่อโดย Gus Van Sant, ด้วยความยาว 81 นาที นับได้ 88 ช็อต (เกินกว่าครึ่งจะอยู่ 20 นาทีสุดท้ายของหนัง) Average shot length เกือบๆนาทีละช็อต (โดยเฉลี่ยหนังสมัยนี้ ASL ไม่ถึง 5 วินาทีด้วยซ้ำไปนะ!)

หนังใช้โรงเรียนมัธยมสมมติ Watt High School เป็นจุดศูนย์กลาง นำเสนอผ่านมุมมองตัวละครต่างๆ (ประมาณ 10+ เรื่องราว) ร้อยเรียงสิ่งที่พวกเขาพบเจอ เดินสวนทาง พบปะพูดคุย ทำกิจกรรมต่างๆในช่วงเวลาตั้งแต่ประมาณสิบเอ็ดโมงจนถึงพักเที่ยง

มุมมองที่หนังนำเสนอพานผ่านตัวละครต่างๆ สามารถเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์กลุ่มคนตาบอดคลำอวัยวะส่วนต่างๆ พวกเขาเข้าใจเพียงในสิ่งพบเห็น สัมผัสด้วยตนเอง ไม่รับล่วงรู้เหตุการณ์บังเกิดขึ้น/รูปลักษณะทั้งหมดของช้าง … นี่คือวิธีการนำเสนอของผู้กำกับ Gus Van Sant โดยใช้สำนวนตาบอดคลำช้าง มาเป็นโครงสร้างของภาพยนตร์

ด้วยวิธีการดำเนินเรื่องดังกล่าว ผมเลยไม่รู้จะแบ่งหนังออกเป็นองก์ๆเช่นไร แต่จะขอใช้ภาพ Time-Lapse ก้อนเมฆบนท้องฟ้าที่ค่อยๆมืดครื้ม (สื่อถึงลมพายุ/ภัยพิบัติกำลังมาเยือน) เป็นจุดหมุนเรื่องราว

  • แนะนำตัวละคร วิถีชีวิตวันๆในโรงเรียนมัธยม
  • เรื่องราวของ Alex และ Eric กับการสังหารหมู่เพื่อนนักเรียนมัธยม (ประมาณครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของหนัง)
    • Alex ที่มักถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน ครุ่นคิดวางแผนบางสิ่งอย่าง
    • เดินทางกลับบ้านระหว่างพักกลางวัน เล่นเปียโน สั่งซื้อปืน ซักซ้อมเตรียมการ
    • ออกเดินทางมาโรงเรียนแล้วไล่ล่า กราดยิง สังหารหมู่เพื่อนนักเรียนที่เป็นปรปักษ์

แม้หนังจะไม่มีเพลงประกอบ แต่จะได้ยินเสียงล่องลอยตามสายลม Moonlight Sonata (ดังมาถึงสนามฟุตบอล) และขณะ Alex บรรเลงเพลงเปียโน Für Elise ซึ่งทั้งสองบทเพลงล้วนประพันธ์โดย Ludwig van Beethoven คีตกวีที่ค่อยๆสูญเสียการได้ยิน เลยมักถ่ายทอดผลงานที่เต็มความเก็บกด อึดอัดอั้น (แต่สองเพลงนี้ก็ไม่ได้ฟังดูคลุ้มบ้าคลั่งสักเท่าไหร่)

  • Piano Sonata No.14 in C-Sharp Minor, Op.27 No.2 – “Moonlight” – I. Adagio sostenuto หรือที่ใครๆรู้จักในชื่อ Moonlight Sonata
    • นี่เป็นบทเพลงที่คนส่วนใหญ่มักจินตนาการถึงแสงจันทร์ยามค่ำคืน สาดส่องกระทบพื้นผิวทะเลสาป Lucerne Lake แต่ในความเป็นจริงแล้ว Beethoven ประพันธ์เพลงนี้โดยได้รับแรงบันดาลใจจากฉากความตายในอุปรากร Don Giovanni (1788) ของ Mozart อุทิศให้หนึ่งในนักเรียน Countess Giulietta Guicciardi (1784-1856) ที่(Beethoven)แอบชื่นชอบตกหลุมรัก แต่ก็มิอาจพูดบอก แสดงออก ได้แค่เขียนจดหมายบอกความใน
  • Bagatelle No. 25 in A minor หรือที่ใครๆรู้จักในชื่อ Für Elise (ภาษาเยอรมันแปลว่า For Elise)
    • มีความพยายามค้นหาว่าใครคือ Elise ของ Beethoven
      • นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าคือ Elisabeth Röckel (1793-1883) เพื่อนสนิทของ Beethoven ที่มีชื่อเล่นว่า Elise
      • บางส่วนเชื่อว่า Ludwig Nohl คัดลอกชื่อเพลงผิด น่าจะเป็น Für Therese ซึ่งคือชื่อของ Therese Malfatti (1792-1851) เพื่อนและลูกศิษย์ของ Beethoven ที่เคยสู่ขอแต่งงานแล้วถูกบอกปัดปฏิเสธ
      • อีกแหล่งข่าวเชื่อว่าคือ Elise Barensfeld (1796-1820) นักร้องโซปราโน่ ลูกศิษย์ของ Johann Nepomuk Mälzel ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ Beethoven น่าจะเคยมีโอกาสพบเจอกัน

สังเกตว่าทั้งสองบทเพลงล้วนเกี่ยวกับหญิงสาว ความรักไม่สมหวัง หรือก็คือชีวิตที่ต้องอดรนทน ระทมทุกข์ทรมาน ซึ่งสามารถเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นครุ่นคิดกระทำสิ่งอันเลวร้าว

ผมนำคลิป Für Elise บรรเลงโดยท่านเทพ Vinheteiro ลองติดตาม Channel นี้ดูนะครับ พี่แกมีความสามารถพิเศษที่ชอบทำหน้านิ่ง หันมาจ้องตาผู้ชม เห็นแล้วดูขบขันฉะมัด!

ถ้าเป็นภาพยนตร์ทั่วๆไป เรื่องราวเกี่ยวกับการสังหารหมู่ มักนำเสนอผ่านมุมมองตำรวจ/นักสืบสืบสวนสอบสวน ผู้ประสบเหตุเคราะห์ ไม่ก็อาชญากร เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจถึงเหตุผล ที่มาที่ไป สภาวะทางจิตใจ เพราะเหตุใดถึงกระทำสิ่งชั่วร้าย? ได้รับอิทธิพลจากแห่งหนไหน?

แต่ไม่ใช่สำหรับ Elephant (2003) ที่ผู้กำกับ Gus Van Sant บอกเลยว่าไม่รู้! ไม่เข้าใจ! วัยรุ่นทั้งสองก่อกระทำการสังหารหมู่ไปเพื่ออะไร? เพียงปะติดปะต่อความเป็นได้ผ่านมุมมองตัวละครต่างๆ อาทิ

  • ครอบครัว, บิดาติดเหล้า ไม่เอาใจใส่บุตร
  • โรงเรียน, ครูจ้องจับผิดนักเรียน มาสายก็พร้อมลงโทษ ไม่สวมกางเกงขาสั้นก็ตำหนิต่อว่า
  • เพื่อนพ้อง, การถูกกลั่นแกล้ง (Bully) กระทำร้ายร่างกาย-สายตา-คำพูดติฉินนินทา
  • อิทธิพลของสื่อ, โทรทัศน์ (ฉายภาพยนตร์ชวนเชื่อฮิตเลอร์) เกมคอมพิวเตอร์ (ยิงศัตรูด้านหลัง) ล้วนเต็มไปด้วยความรุนแรง
  • กฎหมายเกี่ยวกับการค้าอาวุธปืน, ยุคสมัยนั้นยังสามารถซื้อ-ขายผ่านอินเตอร์เน็ต

เอาจริงๆปัญหาเหล่านี้ แค่เพียงอย่างหนึ่งเดียวก็สามารถสร้างอาชญากรให้เกิดขึ้นได้แล้วนะ! แต่โลกสมัยนั้น-นี้ มนุษย์ต้องอดรนทนความกดดันจากทุกสรรพสิ่งรอบข้าง เราจึงไม่สามารถหาข้อสรุปเพียงอันหนึ่งเดียวได้อีกต่อไป (แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคงหมกหมุ่น ต้องครุ่นคิดให้ได้ว่า ‘Ultimate Truth’ นั้นคืออะไร)

และด้วยวิธีการนำเสนอแบบ Long Take ตั้งกล้องแช่ภาพไว้ ไม่ก็ขยับเคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละครไปเรื่อยๆ ทำลายความคาดหวังผู้ชมว่าจะมีเหตุการณ์ใดๆ แต่ก็แทบไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น สร้างความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย หมดสูญสิ้นความน่าตื่นเต้นเร้าใจ

นักวิจารณ์ Roger Ebert อธิบายความยอดเยี่ยมของ Elephant (2003) ในแง่ของการต่อต้านความรุนแรง (Anti-Violence) จริงอยู่หนังมีฉากกราดยิงสังหารหมู่ แต่ผู้ชมจะไม่รับรู้สึกถึงความกระตือรือล้น เหตุผลการกระทำ ไม่เห็นมีความน่าตื่นเต้นเร้าใจ … นั่นเพราะวิธีการนำเสนอได้ทำลายความรู้สึกเหล่านั้นหมดสิ้น ใครกันจะไปอยากคัทลอกเลียนแบบตาม

Gus Van Sant’s Elephant is a violent movie in the sense that many innocent people are shot dead. But it isn’t violent in the way it presents those deaths. There is no pumped-up style, no lingering, no release, no climax. Just implacable, poker-faced, flat, uninflected death.

Van Sant has made an anti-violence film by draining violence of energy, purpose, glamor, reward and social context. It just happens. I doubt that Elephant will ever inspire anyone to copy what they see on the screen. 

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนนเต็ม 4/4

สิ่งหลงเหลือของ Elephant (2003) ตามความตั้งใจของผู้กำกับ Van Sant ก็คือรับชมแล้วเกิดการครุ่นคิด โต้ถกเถียง มันเกิดห่าเหวอะไรขึ้นในสังคม? วัยรุ่นทั้งสองกระทำสิ่งชั่วร้ายดังกล่าวไปทำไม? และยังรวมไปถึงคนที่เต็มไปด้วยอคติ หนังแม้งไม่มีเนื้อหาสาระอะไร? สรรค์สร้างมาทำไม? ผมว่าถ้าอย่างน้อยผู้ชมได้ขบครุ่นคิด ก็ถือว่ามีประโยชน์ต่อชีวิตแล้วนะครับ

แต่ที่สุดของการขบครุ่นคิดครั้งนี้ กลับไม่มีใครค้นพบคำตอบใดๆ ช่างเหมือนคำถามอภิปรัชญา มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร? ตายแล้วไปไหน? วัยรุ่นพวกนี้สังหารหมู่เพื่ออะไร? การมัวหมกมุ่นครุ่นค้นหาคำตอบดังกล่าว มันช่างเสียเวลา ไร้สาระจะสนทนา


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้ไม่ได้รับการยืนปรบมือ แต่ผู้ชม/นักวิจารณ์ต่างโต้ถกเถียงกันอย่างเมามันส์ บ้างว่ายอดเยี่ยมโคตรๆ บ้างว่าโคตรไร้สาระจะคุย ผลลัพท์เลยสามารถคว้ามาสามรางวัล

  • Palme d’Or
  • Best Director
  • Cinema Prize of the French National Education System

ด้วยทุนสร้าง $3 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $1.2 ล้านเหรียญ (จากเพียง 38 โรงภาพยนตร์) แต่สามารถคืนทุนเมื่อเข้าฉายฝรั่งเศสสูงถึง $4.4 ล้านเหรียญ (ผลพลอยจากการคว้ารางวัล Palme d’Or) รวมรายรับทั่วโลกประมาณ $10 ล้านเหรียญ

เกร็ด: Tom Hanks ยกให้ Elephant (2003) เป็นหนังเรื่องโปรด Top5 อีกสี่เรื่องที่เหลือประกอบด้วย 2001: A Space Odyssey (1968), The Godfather (1972), The Godfather Part II (1974) และ Fargo (1996)

ระหว่างรับชมผมก็หน้านิ่วคิ้วขมวด ทำไมหนังมันดูดพลังงาน เอื่อยเฉื่อย เรื่อยเปื่อย ไม่ได้มีสาระห่าเหวอะไรเลย กระทั่งเมื่อเริ่มขบครุ่นคิด ทบทวนความเข้าใจ อ่านบทความวิจารณ์อื่นๆเพิ่มเติม ก็ค่อยๆตระหนักถึงสาสน์สาระที่ไม่ปรากฎอยู่ในเนื้อเรื่องราว แต่คือวิธีการนำเสนอ ‘ตาบอดคลำช้าง’ อันโคตรสร้างสรรค์ และถือเป็นโคตรภาพยนตร์ Anti-Violence ยอดเยี่ยมที่สุดตั้งแต่เคยรับชมมา

คือถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจแนวคิด วิธีการนำเสนอ ‘ตาบอดคลำช้าง’ ของผู้กำกับ Gus Van Sant การขบครุ่นคิดถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ เพราะเหตุใด? ทำไม? วัยรุ่นทั้งสองกราดยิงเพื่อนนักเรียนเพื่ออะไร? มันจักไม่มีความสลักสำคัญอีกต่อไป!

เกร็ด: ผู้กำกับ Gus Van Sant อยู่ในช่วงหมกมุ่นเกี่ยวกับความตาย เหมารวม Gerry (2002), Elephant (2003) และ Last Days (2005) เรียกว่า ‘Death Trilogy’ แต่มันก็ไม่ได้สิ้นสุดลงเพียงแค่นี้นะครับ Paranoid Park (2007) และ The Sea of Trees (2015) ก็ยังเวียนวนอยู่ประเด็นเป็นๆตายๆอยู่นั่นละ

แนะนำคอหนัง Indy, Art-House, ใคร่สนใจศึกษาเรื่องราวการสังหารหมู่ของนักเรียนมัธยมปลาย, โดยเฉพาะพ่อ-แม่ ครู-อาจารย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ มองปัญหาวัยรุ่นมาพูดคุยโต้ถกเถียง ว่ามันเกิดเหตุการณ์บ้าบอคอแตกอะไรขึ้น!

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศเครียดๆ การกลั่นแกล้ง (bully) และสังหารหมู่ (massacre)

คำโปรย | Elephant คือการคลำหาเหตุผลที่ไม่ใครให้คำตอบได้ แม้แต่ผู้กำกับ Gus Van Sant
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | คลำช้าง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: