Elephant Boy (1937) : Robert J. Flaherty, Zoltán Korda ♥♥
(mini Review) Selar Sabu เด็กชายอายุ 11 ปี บุตรคนเลี้ยงช้าง เกิดที่ Karapur, British India ในชีวิตไม่เคยรับชมภาพยนตร์มาก่อน ได้รับการค้นพบเจอโดยตากล้อง Osmond Borradaile พาตัวมาแนะนำ Robert J. Flaherty ชักชวนให้ดัดแปลงเรื่องสั้น Toomai of the Elephants (1893) ของ Rudyard Kipling โดยมีหนุ่มน้อยคนนี้แสดงนำ
ชื่อของ Sabu (1924 – 1963) อาจถูกหลงลืมเลือนไปตามกาลเวลา แต่ใครเป็นคอหนังคลาสสิกฝั่งประเทศอังกฤษ น้อยนักจะไม่รู้จัก! สามารถเรียกได้ว่า ‘เด็กมหัศจรรย์’ ด้วยความนอบน้อมถ่อมตน นิสัยน่ารักขี้เล่นสนุกสนาน ทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างตั้งใจ ขนาดว่าผู้กำกับ Michael Powell เคยร่วมงานเรื่อง The Thief of Bagdad (1940) และ Black Narcissus (1947) ยังแสดงความเห็นว่า
“Sabu had a ‘wonderful grace’ about himself”.
– Michael Powell
ตำนานของ Sabu คือเด็กหนุ่มผิวเหลือง/เอเชีย สามารถเลี้ยงสัตว์ให้เชื่อง (ช้าง, เสือ, งู ฯ) อยู่ในโลกแห่งการผจญภัย ไม่ก็ในเทพนิยายแฟนตาซี อาทิ Jungle Book (1942), Arabian Nights (1942), Cobra Woman (1944), Hello Elephant (1952), The Treasure of Bengal (1954), A Tiger Walks (1964) ฯ
น่าเสียดายที่ความเยาว์อยู่ติดตัวมนุษย์ได้ไม่นาน เมื่อ Sabu เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด อาชีพการงานอยู่ในช่วงสู่ขาลง ทั้งยังพลาดโอกาสแสดงนำ Mother India (1957) วันดีคืนดีแบบไม่มีปี่ขลุ่ย ล้มป่วยหัวใจล้มเหลวเสียชีวิต สิริอายุเพียง 39 ปี
จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ เกิดจาก Robert J. Flaherty (1884 – 1951) ผู้กำกับสารคดี Docu-Fiction สัญชาติอเมริกัน เมื่อประมาณปี 1929 ติดต่อเข้าหาโปรดิวเซอร์ Alexander Korda อยากเดินทางไปประเทศ Mexico ถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับเด็กชายและวัวกระทิง
หลังจากพูดคุยสนทนา Korda โน้มน้าวชักจูงให้ Flaherty ออกเดินทางสู่อินเดีย (ขณะนั้นยังเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ) ปรับเปลี่ยนจากกระทิงเป็นช้าง แล้วสร้างเรื่องราวดัดแปลงจากวรรณกรรมของ Rudyard Kipling (ตอนแรกยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเป็น Toomai of the Elephants)
อินเดียเหรอ ก็ดีนะ ไปไกลกว่าที่วาดฝันไว้เสียอีก! นั่นทำให้ Flaherty พร้อมทีมงาน ออกเดินทางมุ่งสู่เอเชียใต้ สำรวจสถานที่ถ่ายทำ และได้พบเจอกับ Sabu เลือกให้รับบทแสดงนำเป็นเด็กเลี้ยงช้าง
ถ่ายภาพโดย Osmond Borradaile (1898 – 1999) ตากล้องขาลุยสัญชาติ Canadian ถ่ายทำเรื่องราวชีวิตของ Sabu ธรรมชาติผืนป่าอินเดีย และการไล่ต้อนคล้องช้าง ได้ฟุตเทจความยาวกว่า 55 ชั่วโมง ส่งกลับไปยังประเทศอังกฤษ
Charles Crichton (1910 – 1999) ผู้กำกับ/นักตัดต่อสัญชาติอังกฤษ ในสังกัดโปรดิวเซอร์ Alexander Korda ได้รับมอบหมายให้ทำการร้อยเรียงฟุตเทจต่างๆเข้าด้วยกัน แต่ผลลัพท์ไม่ค่อยน่าพึงพอใจสักเท่าไหร่ เพราะหนังขาดเรื่องราวที่น่าสนใจ
ด้วยเหตุนี้ Alexander Korda เลยมอบหมายให้น้องชาย Zoltán Korda (1895 – 1961) และทีมนักเขียนบท ร่วมกันระดมสมองหาหนทางออก จนได้ข้อสรุปดัดแปลงเรื่องสั้น Toomai of the Elephants (1893) ที่รวมอยู่ในหนังสือ The Jungle Book ของ Rudyard Kipling (1865 – 1936) นักเขียนวรรณกรรมชื่อดังสัญชาติอังกฤษ ที่เกิดและเติบโตยังประเทศอินเดีย
โปรดิวเซอร์ Korda ได้ติดต่อขอให้ Sabu เดินทางจากอินเดียสู่ประเทศอังกฤษ เพื่อถ่ายทำส่วนต่อเติมของหนัง โดยมี Zoltán Korda รับหน้าที่กำกับ และใช้บริการของ Walter Hudd (1897 – 1963) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ รับบท Petersen นายฝรั่งผู้ว่าจ้างงานคนเลี้ยงช้าง
ในส่วนการเพิ่มเติมนี้ ถ่ายทำยัง Denham Studios, London ข้อสังเกตง่ายๆคือ ทุกฉากที่มีนายฝรั่งปรากฎตัวอยู่ ว่าไปก็เกือบครึ่งหนึ่งของหนังเลยนะ!
เรื่องราวของ Toomai (รับบทโดย Sabu) เด็กชายผู้มีความฝันใฝ่อยากเป็นนักล่าสัตว์ แต่เพราะตนเองตัวเล็กนัก และยังใช้ชีวิตอยู่กับพ่อที่เป็นควาญช้าง เลยถูกเสี้ยมสอนให้เรียนรู้จักวิธีเลี้ยงช้าง จนสนิทสนมกับ Kala Nag ช้างใหญ่งาสวย เฉลียวฉลาด สง่างามที่สุดในละแวกนั้น
วันหนึ่ง Petersen (รับบทโดย Walter Hudd) ประกาศเกณฑ์คนเลี้ยงช้างจำนวนมาก เพื่อนำมาทำงานให้รัฐบาล พ่อและ Kala Nag ก็เป็นส่วนหนึ่งได้รับเลือก ซึ่ง Toomai ก็ได้ออกเดินทางติดตามไปด้วยเพื่อดูการคล้องช้าง แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็บังเกิดขึ้น
และเพื่อให้ได้รับการยินยอมรับจากผู้อื่น Toomai จำต้องพิสูจน์คุณค่าความสามารถของตนเอง ร่วมกับช้างเพื่อนยาก Kala Nag ที่ถูกใครๆเข้าใจผิดว่าไม่สามารถเลี้ยงให้เชื่องได้ ทำการกวาดต้อนฝูงช้างป่านับสิบร้อย จนได้รับฉายา ‘Toomai of the Elephants’
กาลเวลาทำให้คุณภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้เสื่อมคลายไปมาก ปัจจุบันคงไม่มีใครตื่นตราตะลึงกับป่าไม้ ลำธาร งู เสือ หรือเด็กชายขี่ช้างอีกต่อไป แต่ยุคสมัยนั้นเหล่านี้คือของแปลกใหม่ ชาวตะวันตกไม่เคยพบเห็นดินแดนป่าเถื่อน ธุรกันดาร อารยธรรมยังเข้าไม่ถึง ซึ่งทั้งหมดนี้มี Sabu เด็กชายผู้มีความใสซื่อบริสุทธิ์คือจุดศูนย์กลาง สัญลักษณ์แห่ง’โลกตะวันออก’
ซ่อนเร้นอยู่เล็กๆกับใจความ ‘อาณานิคม’ ด้วยเหตุผลของการคล้องช้างจำนวนมากมายไม่ได้ระบุไว้ แต่นายจ้างคือชายสัญชาติอังกฤษ ซึ่งคงเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนที่มีมูลค่าสูงกว่า ปากอ้างว่าสร้างรายได้ให้กับแรงงานชนพื้นเมือง แท้จริงคือกดขี่ข่มเหงด้วยรายได้แสนต่ำ และสุดท้ายเมื่อหมดผลประโยชน์ใดๆแล้ว ก็คงเหมือนหมาขี่แล้วสะบัดตูดหนี ใครมาเดินเหยียบย่ำก็ช่างหัวมัน!
เกร็ด: ก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์เรื่อง Chang: A Drama of the Wilderness (1927) สร้างโดย Merian C. Cooper และ Ernest B. Schoedsack เดินทางมาถ่ายทำยังเมืองไทย ด้วยลักษณะ Docu-Fiction ลักษณะคล้ายๆกัน
เกร็ด 2: หนังไทยแท้ๆ มรดกภาพยนตร์ของชาติก็มีนะ คล้องช้าง (พ.ศ. ๒๔๘๑) ไม่รู้ได้แรงบันดาลใจจาก Elephant Boy ด้วยหรือเปล่านะ
ส่วนตัวเฉยๆกับหนัง รู้สึกว่าเรื่องราวใจความมันไม่ได้มีความน่าสนใจสักเท่าไหร่ และเชื่อว่าฟุตเทจดีๆของ Flaherty น่าจะสูญหายไปเยอะ เพราะสองพี่-น้อง Korda สนแต่สร้างภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราว ไร้ซึ่งอารมณ์ศิลปิน นักกวี เรียงร้อยถักถอวิถีธรรมชาติสวยๆงามๆออกมา
จัดเรตทั่วไป
Leave a Reply