Empire of Passion

Empire of Passion (1978) Japanese : Nagisa Oshima ♥♥♥♡

ผลงานเรื่องถัดมาของผู้กำกับ In the Realm of the Senses (1976) คว้ารางวัล Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, ภรรยากับชู้รัก ตกหลุมแห่งราคะ วางแผนร่วมฆาตกรรมสามีแล้วไปโยนทิ้งในบ่อน้ำ กลายเป็นผีมาหลอกหลอน สำนึกได้ตอนนี้ก็สายเกินไปแล้ว “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

นี่ไม่ใช่ภาคต่อ และหลายคนอาจผิดหวังที่หนังไม่โจ๋งครึ่มเท่ากับ In the Realm of the Sense (1976) แต่เอิ่ม … Nagisa Oshima ไม่ใช่ผู้กำกับหนังโป๊นะครับ เขาคือศิลปินสร้างภาพยนตร์ที่มอง Sex กับ Crime คือสิ่งเดียวกัน

“Sex and crime have one thing in common—they are the most violent urges of human beings.”

สองสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง และความต้องการโดยเร่งด่วนตามสันชาติญาณของมนุษย์, เช่นว่า หิวโหยไม่มีเงินก็จะต้องขโมยเพื่อชีวิตรอด ขณะที่ Sex คือสันชาติญาณเร่งเร้าที่ออกมาจากภายใน ผลักดันให้เกิดการสานต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ ดิ้นรนเอาตัวรอด

Oshima ยังเคยให้นิยามของคำว่าลามก (obscenity) คือบางสิ่งอย่างที่มนุษย์มีความต้องการ อยากที่จะเห็น แต่บางสิ่งอย่าง (จิตสำนึก/ข้อกำหนดทางสังคม) หักห้ามกั้นขวางไว้, ซึ่งเมื่อใดความโป๊เปลือย ปกปิดบังเหล่านี้ได้รับการเปิดเผยออกอย่างโจ่งแจ้ง คำว่า’ลามก’ก็จะสูญสิ้นความหมาย แต่บางสิ่งอย่างที่หักห้ามกั้นขวางนั้นยังคงอยู่ เมื่อนั้นสิ่งสูงค่ากว่านี้ (มโนธรรม) จะปรากฎขึ้น

“The concept of ‘obscenity’ is tested when we dare to look at something that we desire to see but have forbidden ourselves to look at. When we feel that everything has been revealed, ‘obscenity’ disappears and there is a certain liberation. When that which one had wanted to see isn’t sufficiently revealed, however, the taboo remains, the feeling of ‘obscenity’ stays, and an even greater ‘obscenity’ comes into being.”

— Nagisa Oshima จาก Theory of Experimental Pornographic Film (1976)

ถือเป็นแนวคิด/ทฤษฎี ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว สรุปโดยย่อก็คือ เมื่อใดที่เราสามารถอดทน ยินยอมรับ ทำความเข้าใจ มองเข้าไปภายใต้ภาพลามก โป๊เปลือย ความรุนแรง Sex โจ๋งครึ่มเหล่านี้ สิ่งที่เรียกว่าจิตใจ/จิตวิญญาณ เมื่อนั้นจักได้พบเห็นความสวยงามที่เหนือกว่า ขั้นสูงสุดของภาพยนตร์ (และชีวิต)

ทฤษฎีนี้ไม่ผิดอะไรนะครับ แต่เพราะจิตใจของมนุษย์ส่วนใหญ่นั้น ไม่ได้สูงเลอค่าแบบที่ Oshima คาดหวังไว้ น่าจะประมาณ 60% ของผู้ชมหนังของเขา มองว่านี่คือ Pornography Film หรือหนังโป๊ มิสามารถทำความเข้าใจในส่วนที่เหนือล้ำกว่าได้ น่าเศร้าใจโดยแท้

Nagisa Oshima (1932 – 2013) นักเขียน ผู้กำกับสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tamano, Okayama ช่วงวัยเด็กผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 วัยรุ่นเติบโตในช่วงเวลา Great Depression เข้าเรียนจบสาขา Political History จาก Kyoto University เซ็นสัญญากับสตูดิโอ Shochiku เมื่อปี 1954 ทำงานเป็นนักเขียน ผู้ช่วยผู้กำกับ สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก A Town of Love and Hope (1959) เริ่มมีชื่อเสียงจาก Cruel Story of Youth (1960), Night and Fog in Japan (1960), Death by Hanging (1968), Diary of a Shinjuku Thief (1969), The Ceremony (1971) ฯ

ช่วงทศวรรษ 70s เป็นช่วงขาลงของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น จากการที่สตูดิโอ Daiei ล้มละลายปี 1971, Nikkatsu สตูดิโอเก่าแก่สุดของญี่ปุ่นขณะนั้น หันไปทำ Soft-Porn ปี 1972, ขณะที่ Shochiku, Toho, Toei ต่างมีปัญหาเรื่องการเงินขาดสภาพคล่อง ทำให้ Oshima หันเหไปสร้างละครโทรทัศน์อยู่พักใหญ่

เมื่อปี 1972, Oshima ได้มีโอกาสพบเจอโปรดิวเซอร์สัญชาติฝรั่งเศสชื่อดัง Anatole Dauman ผู้สรรหาทุนสร้างหนังให้กับผู้กำกับดังอย่าง Alan Resnais, Chris Marker, Robert Bresson, Jean-Luc Godard ฯ เมื่อพูดคุยถึงความยากลำบากในการสร้างภาพยนตร์ในญี่ปุ่น Dauman อาสาที่จะสรรหาทุนสร้างให้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นแนว Hardcore Sex ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในทศวรรษนั้น (เพราะการมาถึงของระบบเรตติ้งและ Blue Movie เมื่อปี 1969) กลายมาเป็น In the Realm of the Senses (1976) ด้วยเหตุนี้ผลงานถัดมาจึงได้รับความเชื่อมืออีกครั้ง แต่เมื่อ Empire of Passion สร้างเสร็จ หาได้มีความ Hardcore ดังใจโปรดิวเซอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองจึงหักสะบั้นลงทันที

ช่วงระหว่างสร้าง In the Realm of the Senses ผู้กำกับ Oshima ได้รับหนังสือเล่มหนึ่ง Takashi Nagatsuka: Three Generations to Fertilize the Soil. ส่งตรงจากนักเขียน Itoko Nakamura พร้อมด้วยจดหมาย

“I’m certain that the director of ‘In the Realm of the Senses’ will understand: even in this dark period of Japanese history, the era of the Meiji, love did exist.”

นี่เป็นข้อความที่ Oshima ซาบซึ้งใจอย่างมาก หลังจากอ่านจบเกิดความขนลุกขนพอง เพราะเรื่องราวนี้มีความใกล้เคียงกับบทหนังเรื่องถัดไปที่เขากำลังพัฒนาอยู่ ในตอนแรกตั้งใจดึงองค์ประกอบ บางตัวละครมาใช้เท่านั้น แต่เพราะความเหลื่อมล้ำที่มีมากเกินไป สุดท้ายตัดสินใจนำเรื่องราวส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้มาดัดแปลงสร้างภาพยนตร์เลยดีกว่า

Nakamura เขียนนิยายเรื่องราวนี้อ้างอิงจากเหตุการณ์จริง ‘ฆาตกรรมคนลากรถ Gisaburo’ เมื่อค่ำคืนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1896 ตอนนั้นเขายังเด็กนัก พ่อเป็นนายตำรวจหมู่บ้านใกล้ๆที่เข้าไปสืบสวนคดีใหญ่ และมีนักเขียนนิยายคนหนึ่งทุ่มเทกายใจอยากมากที่จะรวบรวมข้อมูลเขียนหนังสือเรื่องนี้ แต่กลับด่วนเสียชีวิตไปก่อน, พอ Nakamura เติบโตขึ้น จึงตัดสินใจอุทิศนิยายเรื่องนี้ให้กับนักเขียนผู้นั้น ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขากลายเป็น Novelist ทำการรวบรวมข้อมูลจากบันทึกของพ่อ และการสัมภาษณ์บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ นี่คือเรื่องราวใกล้เคียงสุดที่ได้ข้อสรุปมา

Toyoji (รับบทโดย Tatsuya Fuji) ตกหลุมรักเป็นชู้กับหญิงสูงวัยที่ยังคงสาวสวย Seki (รับบทโดย Kazuko Yoshiyuki) เกิดความอิจฉาสามี Gisaburo (รับบทโดย Takahiro Tamura) ที่ได้ครอบครองภรรยายังสวย จึงร่วมกันวางแผนมอบเหล้าแล้วฆ่ารัดคอ ทิ้งศพลงในบ่อน้ำกลางป่า เพื่อหลีกเลี่ยงข้อสงสัยเกลี้ยกล่อมให้เธอบอกว่าสามีไปทำงานรถลากที่ Tokyo แต่ผ่านไปสามปียังไม่กลับมา ชาวบ้านเริ่มเกิดข้อสงสัย และมีข่าวลือว่าผีของ Gisaburo ปรากฎตัวออกมาหลอกหลอนผู้คน นี่ทำให้ชู้รักทั้งสองเกิดความหวาดระแวงกลัวจะถูกจับได้ อดีตความชั่วร้ายที่เคยกระทำกำลังตามกลับมาหลอกหลอนให้ต้องชดใช้กรรม

Tatsuya Fuji (เกิดปี 1941) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น แต่ไปเกิดที่ Beijing ประเทศจีน, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1962 รับบทสมทบใน Black Sun (1964) โด่งดังจากเรื่อง In the Realm of the Senses (1976) ที่ว่ากันว่าได้ร่วมรักจริงๆกับนางเอก ทำให้ไอ้จ้อนของ Fuji โด่งดังกว่าตัวจริงของเขาอีก

รับบท Toyoji อดีตนายทหารที่พอปลดประจำการกลับบ้านมาก็มิอาจหางานอะไรทำเป็นหลักแหล่งได้ วันๆเรื่อยเปื่อย เที่ยวเตร่ หว่านเสน่ห์ ตกหลุมรักหญิงสูงวัย Seki ที่แก่กว่าตนถึง 26 ปี เลยเถิดกลายเป็นชู้ ด้วยความอิจฉาหวาดระแวงสามีของเธอจะจับได้ จึงทำการเกลี้ยกล่อมร่วมกันฆ่า จับไปทิ้งบ่อน้ำกลางป่า ไม่รู้เพราะกลัวศพฟื้นคืนชีพหรือไร ทุกวันต้องไปเก็บใบไม้แล้วโปรยใส่ในบ่อน้ำนั้นให้ผู้พบเห็นเกิดความสงสัย

มีนักวิเคราะห์มองว่าอาจเป็นปม Oedipal ของ Toyoji พ่อแม่น่าจะจากไปแล้ว แถมมีพี่ชายที่เป็นคนบ้า ขาดความรักความเอาใจใส่ เลยทำให้เขามีความต้องการ ตกหลุมรักผู้หญิงสูงวัยกว่า ซึ่งฉากที่เขาทนไม่ได้คือเห็น Seki ป้อนนมให้ลูก แล้วตัวเขาอยากดูดด้วย, นี่สะท้อนความอิจฉาริษยา หวาดระแวงของตัวละคร ที่มีมากผิดปกติ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ Seki เพียงคนเดียว จึงคิดทำทุกสิ่งอย่างแม้แต่การฆาตกรรม

ส่วนตัวไม่คิดว่า Fuji เป็นนักแสดงที่มีฝีมือเท่าไหร่ แต่เขามีความเป็นธรรมชาติ ไม่ตื่นกล้อง ตะขิดตะขวงในฉากร่วมรักกับหญิงสาว (มันคงเพราะ In the Realm of the Senses จัดเต็มมาแล้ว กับหนังง่ายๆแบบนี้ไม่เท่าไหร่หรอก)

มีฉากหนึ่งที่ Toyoji ต้องกระแทกพังประตูเต็มแรงเข้าไปช่วยเหลือ Seki เห็นว่านั่นทำให้ Fuji ได้รับบาดเจ็บต้องไปเข้าเฝือกอ่อน สองวัดถัดมาต้องเข้าอีกฉากที่ถูกจับมัดห้อยลงมาจากต้นไม้ สังเกตว่าผู้คุมจะไม่ค่อยตบตี Toyoji เสียเท่าไหร่

Kazuko Yoshiyuki (เกิดปี 1935) นักเขียน นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ในครอบครัวนักเขียน (พ่อกับพี่ชายเป็นนักเขียน น้องสาวเป็นกวี) เริ่มต้นการแสดงกับคณะละครทัวร์ Gekidan Mingei เมื่อปี 1955 ตามด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก Aya ni ai shiki (1956) มีชื่อเสียงกับ My Second Brother (1959) คว้ารางวัล Mainichi Film Concours: Best Supporting Actress และ Empire of Passion เข้าชิง Japan Academy Prize: Best Actress

Yoshiyuki กลับมามีผลงานตอนแก่อย่างต่อเนื่องช่วงศตวรรษ 21 ในบทแม่/สมทบ อาทิ Cyborg She (2008), Departures (2008), 20th Century Boys (2008), Tokyo Family (2013), Ajin: Demi-Human (2017) และยังให้เสียงพากย์ Ponyo on the Cliff by the Sea (2008), When Marnie Was There (2014) ฯ

รับบท Seki ภรรยาลูกสองกับสามี Gisaburo ที่คงเคยรักกันมาก แต่เพราะวัยที่โรยราทำให้ขาดการเติมเต็มเรื่อง Sex เมื่อได้รับการหยอกเย้า เล้าโลม สุขสมหมายกับหนุ่มน้อย Toyoji กลายเป็นลูกแมวน้อยที่ยินยอมทำตามทุกสิ่งอย่าง แต่พอร่วมกันรัดคอฆ่าสามี วินาทีนั้นเริ่มตระหนักคิดได้ว่าไม่สมควรทำเลย เกิดความเศร้าเส้ยใจ สำนึกแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป ใจหนึ่งรักคลั่ง Toyoji อีกหนึ่งหวาดระแวงกลัวสามีเก่ามากๆเช่นกัน

ผมไม่คิดว่า Seki ถูก Toyoji หลอกนะครับ ทั้งสองรักตกหลุมรัก ต้องการกันจริงๆ แต่แค่การกระทำแสดงออกของเธอ เกิดจากความร่านราคะไม่รู้จักพอ มีลูกถึงสองคนแล้วยังทำตัวเหมือนเด็กงอแงง้องแง้ง คิดตัดสินใจทำอะไรด้วยตนเองยังไม่ได้ นี่ทำให้เมื่อถูกชู้หนุ่มโน้มน้าว ยั่วเย้าอะไรสักนิดหน่อย ก็ขาดจิตสำนึกถูกผิดเหมาะสม ปล่อยให้สันชาติญาณนำทาง ชีวิตเลยจมย่ำอยู่ในบ่อ ดวงตามืดบอด มองไม่เห็นแสงตะวัน

การแสดงของ Yoshiyuki เต็มไปด้วยอารมณ์ที่เร้ารุนแรง โหยกระหายต้องการ ร้อนลุ่มใจ หวาดระแวงกลัว สะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในของตัวละครออกมาได้อย่างสมจริง, ใบหน้าเรือนร่างของเธอยังมีความเยาว์อยู่มาก นั่นเพราะอายุจริงไม่ได้แก่กว่า Fuji สักเท่าไหร่ (แก่กว่า 6 ปีเอง) แต่ในหนังตัวละครของพวกเขาห่างกันถึง 26 ปี

Takahiro Tamura (1928 – 2006) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kyoto คนกลางของสามพี่น้อง Tamura ประกอบด้วย Masakazu และ Ryō ผลงานเด่น อาทิ Twenty-Four Eyes (1954), Tora! Tora! Tora! (1970), Muddy River (1981)

Gisaburo สามีที่รักและทุ่มเทให้กับภรรยาและลูกทั้งสอง แต่เพราะความยากจนเป็นได้แค่คนลากรถ (Rickshaw Man) แม้จะมีความสงสัยในภรรยากับ Toyoji แต่มิเคยล่วงรู้ความจริง ทำให้พอถูกฆ่ากลายเป็นวิญญาณล่องลอย เวียนวนหลงทาง ไม่รู้จะไปผุดไปเกิด ทำยังไงต่อไปในชีวิตดี (เหมือนว่าจะไม่รู้ตัวด้วยว่าถูกฆ่า และใครเป็นผู้กระทำ)

ผี Gisaburo ไม่ได้โผล่สะดุ้งตุ้งแช่ให้ตกใจ หรือวิ่งไล่ติดตามเข่นฆ่า แต่มาลักษณะนิ่งๆ สงบเงียบ นั่งยืนคอยเดินตาม ทำหน้ามึนๆ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครอื่น แต่ผู้พบเห็นต่างหวาดสะพรึงกลัว เสียวสันหลังวูบวาบ ขนหัวลุกซู่สั่นสะท้าน

นี่เป็นบทบาทไม่ได้ขายการแสดงอะไรนัก แค่แต่งหน้าให้ขาวโพลน ซีดเผือก ดูเหมือนผี ทำหน้านิ่งๆก็มีความหลอกหลอนจับใจแล้ว

ถ่ายภาพโดย Yoshio Miyajima ขาประจำของ Masaki Kobayashi โด่งดังกับ The Human Condition (1959-1961), Harakiri (1962), Kwaidan (1964), Empire of Passion (1978), The Fall of Ako Castle (1978) ฯ

ตรงกันข้ามกับ In the Realm of the Senses ที่เน้นถ่ายภายในบ้าน ห้องนอน สังคมเมือง เต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลากหลาย, ขณะที่ Empire of Passion ถ่ายทำในหมู่บ้านเล็กๆ ริมป่าไม้ ลำธาร ธรรมชาติ สะท้อนถึงสันชาติญาณดิบ ความต้องการพื้นฐานขั้นต้นของมนุษย์

ข้อสังเกตซีนที่ผี Gisaburo ปรากฎตัวออกมา ฉากนั้นมักเต็มไปด้วยควันพวยพุ่งออกมารอบด้าน โทนสีของภาพจะเปลี่ยนไปเป็นน้ำเงิน ให้สัมผัสที่เย็นยะเยือก ประกอบเข้ากับดนตรีพื้นบ้านเสียงแหลมกรีดหู บาดสะท้านไปถึงขั้นหัวใจ

ผมค่อนข้างชอบช็อตที่ถ่ายมุมก้ม-เงย จากภายในบ่อน้ำที่สองชู้รักทิ้งร่างของ Gisaburo ลงไป เป็น Long-Take ที่มีความเรียบง่าย ไม่ต้องถ่ายมุมเยอะมากมาย  แต่ให้ความหมายที่ลงตัว สะท้อนถึงสิ่งที่ภายในจิตใจด้นมืดของมนุษย์

(นี่ไม่เหมือนหนังเรื่อง Onibaba ที่ใช้บ่อน้ำ/หลุมขนาดใหญ่ โยนคนทิ้งลงไป แทนสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิงนะครับ)

ตัดต่อโดย Keiichi Uraoka, ถือได้ว่าหนังใช้มุมมองของภรรยา Seki เป็นหลักในการเล่าเรื่อง และหลายครั้งจะมีเสียงบรรยายที่เหมือนหญิงชรา ไม่รู้ว่าเป็นตัวละครใด ผู้กำกับให้คำอธิบายว่า เป็นแนวคิดการเล่าเรื่องราวพื้นบ้านของญี่ปุ่น ที่มักให้หญิงสูงวัยผู้เต็มไปด้วยริ้วรอยเหี่ยวย่นตีนกา และประสบการณ์ สามารถเล่าสอนใจความสำคัญของโลกและชีวิตได้

“In the tradition of ancient Japanese stories, the narrator is an old woman. A woman whose face is riddled with deep wrinkles. Deep like the wrinkles of the earth, because the earth is at the heart of this story.”

 

เพลงประกอบโดย Toru Takemitsu (1930 – 1996) คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับการยกย่องยอมรับจากชาวตะวันตก ในสไตล์พื้นบ้านคลาสสิก (Japanese Folk Song) ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Harakiri (1962), Woman in the Dunes (1964), Ran (1985) ฯ

กับหนังเรื่องนี้ ใช้ส่วนผสมระหว่างดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่น คลุกเคล้าเข้ากับเครื่องดนตรีสากลได้อย่างกลมกล่อมลงตัว ให้สัมผัสที่หลอกหลอน ลึกลับ สั่นสะพรึง บาดลึกเข้าไปถึงขั้วหัวใจ

ผมเคยวิเคราะห์ตีความ ท่าทางการมี Sex ของสองตัวละคร มีความหมายสื่อแทนอะไรบางอย่าง
– ครั้งแรกของ Seki กับ Toyoji เริ่มจากการดูดนม ตามด้วยเล้าโลมท่อนล่าง มองได้คือปม Oedipus Complex
– Toyoji ขอให้ Seki โกนขนหัวหน่าว/ขนเพชร นี่เป็นลักษณะของการครอบครอง ยินยอมให้เป็นเจ้าของ (เหมือนหมาฉี่เพื่อแสดงอาณาเขต การโกนขนมีนัยยะบ่งบอกการเป็นเจ้าของของ Toyoji)
– การตายของ Gisaburo ยกมือสองข้างขึ้นสูง (ราวกับสัญลักษณ์แทน ชาย+หญิง) แล้วจับกำ (ร่วมรัก) พอหมดลม (ถึงจุดสูงสุด) ก็ทิ้งลงแยกจากกัน
– Sex ในป่า เป็น Seki ที่อดรนทนไม่ได้ขึ้นคร่อมก่อน (ต้องการมีอิทธิพลเหนือกว่า) แต่สุดท้ายก็ถูก Toyoji จับหมุน Missionary ท่าถนัด (ผู้ชายกลับมามีอำนาจเหนือกว่า, ผู้หญิงยังคงเป็นเพศที่ยินยอมอยู่ภายใต้)
– ครั้งสุดท้าย หลังจากลุยเละในโคลนตมจนตาบอด Seki ยืนขึ้นเปลือยเปล่า เปิดเผยทุกสิ่งอย่างให้ Toyoji มองเห็นเข้าไปถึงภายใน จบสิ้นที่สุดท้ายทั้งสองนั่งกอดในอ้อมแขนเปลือยเปล่า ถือเป็นท่าที่เสมอเท่าเทียม ไม่มีใครอยู่เหนือหรือต่ำกว่า

หนังตลอดทั้งเรื่อง Toyoji ล้วนเป็นผู้ชี้ชักนำพาให้ Seki ปฏิบัติตามคำขอของตน มีอิทธิพล ครอบงำ ทำตัวเป็นเจ้าของ จริงๆนี่มิอาจเรียกว่าความรัก แต่คือราคะ ตัณหา หลงใหล คลั่งไคล้ กระนั้นฉากร่วมรักครั้งสุดท้ายของพวกเขา ความเท่าเทียมเสมอเหมือน นี่ทำให้ผมเข้าใจความหมายของผู้กำกับ ที่เล่าถึงความสนใจในการดัดแปลงสร้างเรื่องราวนี้ ‘ในยุคสมัยของ Meiji เรื่องราวความรักลักษณะนี้มีอยู่แท้จริง!’

“the era of the Meiji, love did exist.”

ถึง Seki จะตาบอดไปแล้วช่วงท้าย แต่มีขณะหนึ่งเมื่อร่างของ Gisaburo ปรากฎขึ้นจากบ่อน้ำ หนังจงใจทำให้ราวกับว่า เธอมองเห็นเขา (ส่งเสียงร้องลั่น) อันนี้ผู้กำกับบอกเองเลยว่า แล้วแต่ผู้ชมจะตีความ, ส่วนตัวก็คิดว่า เธอมองเห็นจริงๆ เพราะเขาคือแสงสว่างหนึ่งเดียวในชีวิต ปรากฎขึ้นจากส่วนลึกภายในจิตใจ

ใจความของหนัง นำเสนอผลกระทบ สิ่งที่เกิดขึ้นกับสองตัวละครผู้ลุ่มหลงใหลในราคะ กามตัณหา โดยขาดสติครุ่นคิดไตร่ตรองให้รอบคอบรัดกุม อันนำมาให้เกิดความเศร้าสลดเสียใจต่อการกระทำนั้น สำนึกผิดเมื่อสายก็ไร้ความหมายใดๆ ชีวิตจมปลักอยู่กับความหวาดระแวงกลัว เห็นภาพหลอนมายา จนอาจเสียสติกลายเป็นคนบ้า

หนังก็ใส่ตัวละครที่เป็นคนบ้าเข้ามาด้วย นี่เป็นการสะท้อนถึงโลกสมัยก่อนที่ยังไม่มีโรงพยาบาลศรีธัญญา แยกแยะกักกันผู้ป่วยจิตเวช มนุษย์ปกติ/ไม่ปกติ ก็อาศัยอยู่ร่วมกันแบบนี้ในสังคมได้อย่างสงบสุขสันติดี ไม่ได้มีพิษภัยอะไร แถมยังพึ่งพากันและกันได้อีกด้วย

สำหรับผู้กำกับ Oshima เขาอยู่ตรงในหนังเรื่องนี้? ที่แน่ๆคงไม่ใช่ Toyoji, Seki, Gisaburo หรือ Inspector Hotta, มีนักวิจารณ์พูดถึงตัวละครนายน้อย Young Master (รับบทโดย Kawarazaki Kenzo) บุคคลผู้มีความรู้ การศึกษาดีที่สุดในหมู่บ้าน แรกเจอเป็นเจ้าบ่าวงานแต่งงาน ตามด้วยพบ Toyoji กระทำการบางอย่างน่าอันสงสัยแต่ไม่เคยคิดสนใจ พอเรื่องราวบานปลายตัดสินใจบอกตำรวจ Inspector Hotta แต่กลับจดจำไม่ได้แล้วว่าน้ำบ่อไหน โชคชะตาภายหลังจึงถูกแขวนคอฆ่าปิดปาก, นี่เป็นการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Oshima หลังจาก In the Realm of the Senses โดยไม่รู้ตัวถูกศาลญี่ปุ่นสั่งฟ้องข้อหาเป็นผู้สร้างสรรค์สื่อลามกอนาจาร คดีความยืดเยื้ออยู่ถึง 4 ปี สุดท้ายหนังต้องถูกเซนเซอร์ในญี่ปุ่น ปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่

เกร็ด: ชื่อหนังภาษาญี่ปุ่น Ai no Bōrei แปลว่า Love’s Phantom, ขณะที่ชื่อหนังบางครั้งจะเรียกว่า In the Realm of Passion เพื่อทำให้เหมือนเป็นภาคต่อของ In the Realm of the Senses

– หนังเข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes ทำให้ Nagisa Oshima คว้ารางวัล Best Director
– เป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่นส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ได้เข้ารอบใดๆ
– เข้าชิง Japan Academy Prize 8 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
> Best Film
> Best Director
> Best Actress (Kazuko Yoshiyuki)
> Best Supporting Actress (Kazuko Yoshiyuki)
> Best Cinematography
> Best Lighting
> Best Sound
> Best Music Score ** คว้ารางวัล

ไม่แน่ใจสาเหตุที่ชื่อของ Yoshiyuki มีชื่อเข้าชิงสองสาขา Best Actress และ Best Supporting Actress ว่าเกิดจากข้อผิดพลาดอะไรหรือเปล่า ซึ่งการพลาดรางวัลของเธอนับว่าน่าเสียดายมากๆเลยละ

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ แม้ภาพรวมจะค่อนข้างเอื่อยเฉื่อย ยืดเยื้อ มีความน่าเบื่อไปเสียหน่อย แต่เพราะเรื่องราวเป็นการเตือนสติ สะท้อนกฎแห่งกรรม เลยไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะปฏิเสธต่อต้าน ชื่นชมผู้สร้างมีความตั้งใจดี ต้องทำให้มันแรงๆแบบนี้แหละถึงกึ๋น

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะคู่รักหนุ่มสาว รับชมไว้ให้เป็นข้อคิดคติสอนใจ เตือนสติว่าอย่าทำตัวโง่ๆ หลงใหลในราคะ ความอิจฉาริษยา กระทำการฆ่าหั่นศพ ตัดต่อ ฝังคอนกรีต ฯ มันไม่มีเหตุผลอะไรให้มนุษย์ต้องฆ่าแกงกันนะครับ และเมื่อทำไปแล้วโชคชะตาชีวิตของคุณก็จะมีแต่จมดิ่ง ลงไปคุดคู้อยู่ในหลุมนั้นแหละ ไม่มีวันได้ไต่กลับขึ้นมาเห็นแสงตะวันอีกแน่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอหนัง Erotic Horror ความหลอกหลอนเกิดจากอาการหวาดระแวง สะพรึงกลัวในกฎแห่งกรรม, แฟนๆผู้กำกับ Nagisa Oshima ไม่ควรพลาด

จัดเรต R กับภาพโป๊เปลือย Sex ฆาตกรรม และความรุนแรง

TAGLINE | “Empire of Passion ของผู้กำกับ Nagisa Oshima มีข้อคิดคติสอนใจ เตือนสติมนุษย์ผู้หลงใหลในราคะได้เป็นอย่างดี”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: