Encounters of the Spooky Kind

Encounters of the Spooky Kind (1980) Hong Kong : Sammo Hung ♥♥♥♡

หง จินเป่า ไม่ได้พบเจอแค่ผีที่น่าสะพรึงกลัว แต่ยังมนุษย์มากมายที่หมายปองร้ายต่อเขา (คนเหล่านี้น่ากลัวกว่าผีเสียอีกนะ!) ด้วยความซื่อบื้อสนิทจนได้กลายเป็นลูกศิษย์อาจารย์ยอดฝีมือ แข่งกันทำพิธีกรรม ใครอยู่สูงเสียดฟ้าใกล้สวรรค์กว่าจักมีโอกาสได้รับชัยชนะ

ครั้งแรกของวงการภาพยนตร์ กับการผสมผสานศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว (Martial Arts) เข้ากับแนว Comedy Horror ฟังดูเป็นส่วนผสมที่แปลกประหลาด แต่ผลลัพท์ออกมาบันเทิงเป็นบ้า!

เหตุผลที่ทำให้ผมชื่นชอบหนังมากๆ เพราะมันไม่ใช่แค่ผีอำ-อำผี แต่ยังสะท้อนเสียดสีอะไรหลายๆเกี่ยวกับมนุษย์ ถ้าต้องการเอาตัวรอดในโลกที่เต็มไปด้วยคนชั่ว/ผู้นำคอรัปชั่น ไม่ใช่ให้ปรับตัวกลายเป็นแบบพวกเขา แต่คือเอาส่วนดีสุดของความเป็นเราต่อสู้เผชิญหน้า ถึงหลายครั้งมันอาจไม่เพียงพอได้รับชัยชนะ เมื่อมีใครอื่นเห็นคุณค่าก็มักให้การช่วยเหลือสนับสนุนเอง

หง จินเป่า, Summo Hung (เกิดปี 1952) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติ Hong Kong อพยพมาจากเมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง ด้วยความที่ทั้งตระกูลเวียนวนอยู่ในธุรกิจภาพยนตร์ พ่อ-แม่ เป็นนักออกแบบเสื้อผ้า, ย่าเป็นครูสอนศิลปะป้องกันตัว, ปู่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์, ตัวเขาเลยเกิดความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ขอให้ครอบครัวไปร่ำเรียนสถาบัน China Drama Academy ซึ่งสอนศิลปะการต่อสู้ รวมทั้งงิ้วปักกิ่ง ในตอนแรกอาจารย์ไม่แน่ใจความสามารถของเขานัก เนื่องจากเห็นร่างที่อ้วนและความช่างกิน แต่ไม่ช้าก็เปลี่ยนใจหันมายอมรับในความสามารถ ต่อมากลายเป็นเพื่อนสนิทร่วมรุ่นเดียวกับเฉินหลง และหยวนเปียว

ในทศวรรษ 70s หง จินเป่า กลายเป็น Stuntman ที่มีชื่อเสียงของฮ่องกงจนได้เซ็นสัญญากับบริษัท Golden Harvest ประจวบกับการมาถึง-จากไปของ Bruce Lee เคยเป็นคู่ต่อสู้กันเรื่อง Enter the Dragon (1973) ทำให้ถูกจับตามองว่าจะก้าวขึ้นมาแทนที่ในอนาคต, รับบทนำครั้งแรก Shaolin Plot (1977), ตามด้วยผลงานกำกับ The Iron-Fisted Monk (1977), Encounters of the Spooky Kind (1980), The Prodigal Son (1981), กระทั่งได้ร่วมงานกับเฉินหลงและหยวนเปียว Winners and Sinners (1983) ประสบความสำเร็จล้นหลามจนทำให้วงการภาพยนตร์แอ๊คชั่นฮ่องกงกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้งหลัง โดยทั้งสามได้รับฉายาว่า ‘3 พี่น้องร่วมสาบาน’ ซึ่งหง จินเป่า ถือว่าเป็นพี่ใหญ่ เนื่องจากมีอายุมากสุด

แรงบันดาลใจของ อำให้ดี ผีชิดซ้าย มาจากเรื่องเล่าหลอนๆตั้งแต่สมัยเด็ก ที่มักถูกเพื่อนๆเล่าให้ฟังขณะเรียนอยู่ Yu Jim Yuen’s Opera School, ขณะที่ชื่อหนังภาษาอังกฤษ เป็นการล้อเลียนกับ Close Encounters of the Third Kind (1977) ของ Steven Spielberg เปลี่ยนจากพบเจอมนุษย์ต่างดาว กลายมาเป็นเห็นวิญญาณแทน

เรื่องราวของ Bold Cheung (รับบทโดย หง จินเป่า) ชายหนุ่มร่างท้วม นิสัยทึ่มทื่อซื่อบื้อ ไม่ค่อยเฉลียวฉลาดนัก แต่มีฝีมือกังฟูไร้ข้อกังขา และชอบอ้างว่าตนเองมีความกล้าหาญไม่เป็นรองใคร, แต่งงานแล้วกับภรรยาที่นอกใจไปคบชู้นายจ้าง Master Tam (รับบทโดย Huang Ha) วันหนึ่งรีบกลับบ้านเร็วเกือบจับได้คาหนังคาเขา ถูกท้าพนันให้ค้างคืนยังวัดร้าง ที่ซึ่งนักพรตเต๋า Chin Hoi (รับบทโดย Peter Chan) ให้ใช้วิธีการอมุษย์เข้าทำลายล้าง แต่ก็ถูกขัดขวางโดยศิษย์ร่วมสำนัก Tsui (รับบทโดย Chung Fat) เพราะไม่อยากให้วิชาของอาจารย์ที่ร่ำเรียนมา ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการเข่นคร่าชีวิตมนุษย์เพื่อนร่วมโลกเดียวกัน

ในแง่การแสดงของ หง จินเป่า อาจมิได้มีความโดดเด่นอะไรมาก แต่ภาพลักษณ์ท้วมๆดูไม่น่าเก่งวิทยายุทธกลับยอดฝีมือระดับปรมาจารย์ (นี่เรียกว่า คมในฝัก) จุดเด่นคือความหลากหลายในการใช้ศิลปะป้องกันตัวหลายๆแขนง โดยเฉพาะการเลียนแบบท่วงท่าของลิง (ซุนหงอคง) และเด็ก (เทพเจ้าสงคราม) ออกมาทางสีหน้าและการเคลื่อนไหวได้อย่างสมจริง เรียกเสียงฮาได้มาก แต่ผมปรบมือยกย่องส่งเสียงเชียร์ รวมกับถูกเทพเทวดาอวตารสถิตย์จริงๆ

สำหรับนักแสดงสมทบ เริ่มจากอาจารย์/มิตรแท้หนึ่งเดียวของ Bold Cheung คือนักพรต Tsui รับบทโดย Chung Fat (เกิดปี 1953) เกิดที่ Guangdong, สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังเรียนจบจาก Peking Opera School มุ่งสู่ Hong Kong เริ่มจากเป็น Stuntman, ตัวประกอบ, หนึ่งในนักแสดง Enter the Dragon (1973), สนิทสนมกับเฉินหลง และหง จินเป่า ร่วมงานกันหลายครั้งนับไม่ถ้วน, แม้เป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกับ Chin Hoi วิชาความรู้ได้รับการถ่ายทอดพอๆกัน แต่เพราะไม่หลงใหลในลาภยศเงินทองความสุขเฉพาะหน้า เลยแสวงหาสันโดษและชอบช่วยเหลือผู้คน กระนั้นเมื่อรับรู้ว่าการกระทำอันชั่วร้ายของเพื่อนเก่า พยายามหยุดยับยั้ง ให้ความช่วยเหลือ Bold Cheung เอาตัวรอดไปได้อย่างหวุดหวิดทุกครั้งไป

Chan Lung สตั๊นแมนที่มีผลงานตั้งแต่ The Big Boss (1971), รับบทนักพรต Chin Hoi ที่นำเอาวิชาความรู้ไปใช้หากินแลกมากับเงินทองมากมาย ไม่สนใจถูกผิดกฎเกณฑ์ของสังคม เพื่อนร่วมสำนักตักเตือนไม่ยอมรับฟัง ซึ่งเมื่อกระทำการไม่สำเร็จแค้นใจเจ็บ ใช้ทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้เอาชนะ โดยไม่สนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนอื่นรอบข้าง

คู่ปรับตัวฉกาจของพระเอก Master Tam รับบทโดย Huang Ha อีกหนึ่งสตั๊นแมนเลื่องฝีมือ ผลงานอาทิ Drunken Master (1978), Mr. Vampire (1985), A Chinese Ghost Story (1987), ด้วยความที่สถานะทางสังคมค่อนข้างสูง (น่าจะเป็นขุนนาง เลยมีเส้นสายกับทางการ) เวลาจะลักลอบทำสิ่งขัดต่อศีลธรรมจรรยา จึงใช้วิธีแอบๆไม่ต้องการให้ใครล่วงรับรู้ และที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือคนขับรถลากคือสามีของหญิงชู้ที่ตนลักลอบได้เสีย อะไรมันจะบังเอิญขนาดนั้น, ไฮไลท์ของตัวละครนี้คือการกลายเป็นนักดาบยอดฝีมือ ต่อกรกับเทพเจ้าสงครามได้อย่างตื่นเต้นเร้าใจ

Lam Ching-ying (1952 – 1997) สตั๊นแมนยอดฝีมือ ได้รับการจดจำสูงสุดจาก Mr. Vampire (1985), รับบทนายตำรวจที่ถูกสั่งมา (น่าจะโดย Master Tam) ให้ทำการจับกุมขัง Bold Cheung โดยไร้ซึ่งหลักฐานกระทำความผิด หลังจากถูกแหกคุกก็ติดตามไล่ล่า ปอดแหกเพราะกลัวผี สุดท้ายแล้วก็ไม่รู้หายตัวไปไหน สงสัยจะพ่ายให้กับลูกน้องทั้งสี่ของตนเอง (จริงๆน่าจะให้ตัวละครนี้ถูกเทพอวตารลง กลายเป็นหนึ่งในคู่ต่อสู้ช่วงไคลน์แม็กซ์ของพระเอก)

ถ่ายภาพโดย Lee Yau-tong, Ng Cho-wah, โดดเด่นในการจัดโทนแสงสี (เน้นน้ำเงิน-เขียว-แดง-ดำ) และ Special Effect สร้างสัมผัสอันหลอกหลอนดูน่าหวาดสะพรึงกลัว ที่ว่ากันว่าเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจให้แฟนไชร์ Evil Dead ของผู้กำกับ Sam Raimi

Prologue กับฉากความฝันของ Bold Cheung สองผีในไหสนทนาด้วยเสียง Echo พวกมันถูกผนึกตราสังข์ไว้ไม่ให้ไปผุดไปเกิด คาดหวังว่าสักวันจะมีคนโง่หลงผ่านมาปลดปล่อยพวกตนสู่อิสรภาพ, นัยยะของ Sequence นี้ สื่อถึงบางสิ่งชั่วร้ายแอบหลบซ่อนอยู่ภายในจิตใจ พยายามฉุดดึงเหนี่ยวรั้ง กัดกร่อนกินทำลาย เริ่มต้นก็อธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในหนังต่อไปได้ครบถ้วนสมบูรณ์

ความเชื่อนี้มีอยู่จริงในประเทศจีน ปลอกผลแอปเปิ้ลต่อหน้ากระจกยามค่ำคืน ถ้าเสร็จสำเร็จอธิษฐานอะไรก็จักสมหวัง พลาดพลั่งก็จะถูกวิญญาณร้ายเข้ามาหลอกหลอน, แต่ผมมองฉากนี้มีอีกนัยยะหนึ่ง แอปเปิ้ลคือผลไม้แห่งองค์ความรู้ (ที่อดัมกับอีฟ เด็ดมารับประทานทำให้ถูกขับไล่ตกสวรรค์) เมื่อถูกปลอกก็เท่ากับความจริงบางอย่างกำลังได้รับการเปิดเผย ทั้งเรื่องผีและแฟนสาวลักลอบเป็นชู้

ผีสาวในกระจก น่าสนเท่ห์มากว่าเธอเป็น Two-Face คนสองหน้า ซึ่งสะท้อนกับอะไรหลายๆสิ่งอย่างในหนัง
– การต่อสู้ระหว่างสองฝั่งฝ่าย ดี-ชั่ว คน-ผี โลกมนุษย์-โลกวิญญาณ ฯ
– บุคคลผู้มีความสองหน้าทั้งหลาย ต่อหน้าพูดแสดงออกอย่างหนึ่ง ลับหลังคิดคดทรยศโป้ปดหลอกลวงหักหลัง (ก็แทบทุกตัวละครในหนังที่เป็นเช่นนี้ ยกเว้นพระเอกกับนักพรต Tsui)

คนดีผีย่อมไม่สามารถทำอะไรได้ มิอาจแม้แต่จะเอื้อมมือไขว่คว้า ดึงฉุดรั้งมาครอบครอง สุดท้ายเลยถูกตัดขณะกำลังเอื้อมไปจับ หลอมละลาย ถล่มทลาย ไม่หลงเหลือเศษซากชิ้นดี

ผีกระโดดมีคำเรียกว่าเจียงซือ (Jiangshi) แปลตรงตัวแปลว่า ศพแข็ง เป็นพวกแวมไพร์/ซอมบี้ ตามความเชื่อจีน อาศัยนอนหลับอยู่ในโลงศพหรือถ้ำในเวลากลางวัน ขณะที่ตอนกลางคืนจะออกหากินด้วยการดูดเลือดของมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตต่างๆ ด้วยการกระโดด ผิวขาวซีดและมีขนยาวเกิดจากเชื้อรา

ฉากนี้ทำให้ผู้ชมรับรู้ว่า เจียงซือเป็นผีประเภทที่สู้รบปรบมือด้วยวิธีการธรรมดาสามัญไม่ได้ ต่อให้กังฟูเก่งแค่ไหนถ้าไม่ล่วงรู้จักจุดอ่อน ย่อมต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอน

นัยยะของฉากนี้ สื่อถึงการควบคุมบงการผู้อื่นให้ขยับเคลื่อนไหวทำตามคำสั่งของเจ้านาย/หัวหน้า/ผู้มีอิทธิพล/ผู้นำปกครองบริหารประเทศ (นี่สื่อถึงแนวคิดของเผด็จการ) ซึ่งวิธีเอาตัวรอดของพระเอก
– ปีนขึ้นไปบนคาน … ผู้นำพวกนี้มักคิดว่าตนเองเฉลียวฉลาดอยู่ตำแหน่งสูงสุดแล้ว เลยไม่คิดที่จะเงยหน้าขึ้นมองหาใครอื่นอยู่เหนือกว่า
– หลบซ่อนใต้โลงศพ … เมื่อตอนชนชั้นผู้นำตัดสินใจเลยหน้าขึ้นข้างบน ก็มักจะไม่คิดหวนกลับมามองสิ่งที่อยู่ต่ำกว่า แต่เพราะคราวนี้ดันกระโดดไปเหยียบตีน เลยรับรู้ได้ว่าแอบซ่อนอยู่
– ขว้างไข่ นี่อารมณ์ประมาณขับไล่ให้ออกนอกร่าง แต่ก็ไม่รู้ทำไมต้องไข่ไก่เท่านั้น (คาดเดาว่า เพราะเลือดที่ใช้ทำพิธีกรรมเกิดจากการเชือดคอไก่ มันเลยต้องใช้ของสแลงกันเองคือไข่ไก่)
– เฉกเช่นเดียวกับสาดเลือดสุนัข ถือเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งอัปรีย์ชั้นต่ำ

ผีเลียนแบบ คงเพราะนอนในโลงศพเดียวกัน เลยทำให้สามารถเคลื่อนขยับตามได้ (ก็ไม่รู้ความเชื่ออะไรนะ!) ด้วยบรรยากาศเพลงประกอบหลอนนิดๆ สยิวๆพร้อมรอยยิ้มหึๆ แต่ยังชึ้นใจเพราะมันก็ไม่ได้ทำอะไรร้ายแรง จนกระทั่งเมื่อแมวดำกระโดดข้าม (ความเชื่อที่ว่าจะทำให้คนตายฟื้นคืนชีพ) คราวนี้ก็ได้วิ่งหนีเผ่นหน้าตั้งเป็นป่าราบ เร้าใจเป็นบ้า!

ฉากต่อสู้ในดงไผ่ ภาพรวมก็ถือว่าเร้าใจใช้ได้ น่าเสียดายขาดความยิ่งใหญ่อลังการระดับเดียวกับ A Touch of Zen (1971) แต่เรื่องนั้นมันก็ระดับตำนานเลยนะ อย่าเอาไปเทียบดีกว่า

ความพ่ายแพ้ของนักพรต Chin Hoi เห็นเค้าลางเสียเปรียบมาตั้งแต่ถูกงับนิ้ว จากที่เคยร่ายคาถาทิ้งไว้ ชี้ไปตรงไหนพลังดรรชนีจะทำลายล้างสิ้นทุกสิ่งอย่าง, การชี้นิ้วถือวิธีการของบรรดาชนชั้นผู้นำทั้งหลาย เพื่อใช้ออกคำสั่งต่อลูกน้อง กำหนดทิศทางอะไรๆให้ดำเนินไปตามประสงค์ แต่เมื่อมันถูกงับนั่นแปลว่าจะทำให้หลงทางผิด ถือว่าเกิดความพ่ายแพ้แล้วนับแต่บัดนั้น เหลือแค่ว่าเมื่อไหร่จะเดินไปถึงสุดขอบเหวตกลงไปตาย

หุ่นฟางในพิธีกรรมวูดู เพื่อให้สามารถควบคุมร่างกายบุคคลอื่นให้ขยับเคลื่อนไหวได้ดั่งใจ, นี่ถือเป็นอีกลักษณะหนึ่งของการบีบบังคับ มัดมือชก ให้ผู้อื่นกระทำตามคำสั่งของเจ้านาย/หัวหน้า/ผู้มีอิทธิพล/ผู้นำปกครองบริหารประเทศ ไม่สามารถขัดขืนตอบโต้ใดๆได้ทั้งนั้น

มือของ Bold Cheung (ราวกับกรรมสนองที่เคยไปตัดมือผีสาวในกระจกมา เลยมิอาจควบคุมข้างหนึ่งนั้นของตนเองได้) มิสามารถขยับเคลื่อนไหวได้ดั่งใจ ถือเป็นสัญลักษณ์ของการกระทำ ชุบมือเปิบ ยืมมือฆ่าคน (สำนวนจริงๆคิอ ยืมดาบฆ่าคน)

ต่อยอดมาจาก Ugetsu (1953) และ Kwaidan (1965) คือการคัดลอกตัวอักษรหฤทัยสูตรด้วยภาษาจีน แตกต่างกับความเชื่อญี่ปุ่นนิดนึงตรงที่การทำเช่นนี้ ทำให้ผีมองไม่เห็นตัว แต่เรื่องนี้ใช้เป็นเหมือนยันต์กันภัย สามารถป้องกันอันตราย สิ่งของชั่วร้ายไม่ให้ถูกตัวเข้าสิงสู่ภายใน

เกร็ด: หฤทัยสูตร (The Heart Sūtra) หรือปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร คือพระสูตรในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีความหมายตามตัวอักษรว่า ‘พระสูตรอันเป็นหัวใจแห่งปฏิปทาอันยวดยิ่งแห่งความรู้แจ้ง’ เป็นโศลกภาษาสันสกฤตจำนวน 14 โศลก แต่ละโศลกมี 32 อักขระ ได้รับการแปลเป็นภาษาจีนโดยพระเสวียนจั้ง (ถังซำจั๋ง)

เวลาทำพิธีกรรม ฝั่งไหนอยู่ตำแหน่งสูงเสียดท้องฟ้าใกล้สวรรค์มากกว่า จักได้รับอิทธิฤทธิ์พลังสูงส่งกว่า … แม้งเพ้อเจ้อว่ะ!

เอาความรู้สึกเพ้อเจ้อนี้เป็นที่ตั้ง ครุ่นคิดค้นหานัยยะเหตุผล คงต้องการสื่อถึงการโหยหาอำนาจ ไต่เต้าขึ้นดำรงตำแหน่งสูงๆของมนุษย์ จะทำให้รู้สึกเหมือนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ทรงพลัง อภิสิทธิ์ชนชั้นเหนือกว่าผู้อื่น

การต่อสู้ของพระเอก ถูกนักพรตอัญเชิญสองเทพฉุดลงมาจากฟากฟ้า อวตารสถิตย์ลงสู่ร่างของมนุษย์ (คงประมาณว่า ทวยเทพทั้งหลายเข้าสิงสถิตย์ได้แต่ร่างมนุษย์ ต่ำกว่านั้นในเจียงซือหรือร่างศพไม่น่าจะได้)
– ซุนหงอคง/เห้งเจีย (Money King) ลีล่าท่วงท่าเสียงร้องของลิง แสดงถึงความขี้เล่น ซุกซน เมื่อได้รับการเสี้ยมสอนสั่งจากพระพระถังซัมจั๋ง เลยมีความซื่อสัตย์สุจริต
– นักฆ่ามังกร (Dragon Slayer) ใช้ห่วงทองเป็นอาวุธ คงสื่อถึงความต้องการคลอบงำ บีบรัด ให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของตนเอง [นี่เป็นอาวุธที่พลิกแพลงได้ยากยิ่ง แต่ถือว่าเสียเปรียบเมื่อสู้กับหมัดมวยไร้แบบแผนของเห้งเจีย]
– เทพเจ้าสงคราม มาในคราบของวิญญาณเด็กน้อยบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ขี้เล่นและขี้แย คือตัวตนของพระเอกเช่นกัน
– เทพเจ้าแห่งดาบ มีความสงบนิ่งเยือกเย็นเหมือนผู้เฒ่าสูงวัย (ตรงกันข้ามกับเทพสงครามเลยละ) คงผ่านประสบการณ์อะไรๆมาโชกโชน จึงสามารถใช้ความเฉลียวฉลาดมากกว่า กรีดเกาะอกของพระเอกให้ขาดได้สำเร็จ

รองเท้า ของต่ำสุดของร่างกาย คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักมองข้ามไม่สนใจ แต่คือรากฐานสำคัญเพราะถ้ามันถูกทำลาย มนุษย์ก็จักไม่สามารถลุกขึ้นยืนเดินตั้งตัวตรงได้, ความพ่ายแพ้ที่เกิดจากรองเท้า สื่อถึอวิธีการทำลายชนชั้นผู้นำ ต้องเริ่มจากบ่อนทำลายรากฐานส่วนล่างต่ำสุดเสียก่อน แล้วเบื้องบนมันจะพังโคลมลงมาเอง

ตัดต่อโดย Peter Cheung ยอดฝีมือสัญชาติ Hong Kong คว้ารางวัลนับไม่ถ้วนตอนร่วมงานกับ Bruce Lee และถือว่าเป็นขาประจำของหนัง Martial Arts แทบทุกแขนง, มาเรื่องนี้ก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน สามารถร้อยเรียงฉากต่อสู้ให้มีความต่อเนื่องลื่นไหล ปรับเปลี่ยนมุมมองกล้องฉับไวโดยผู้ชมแทบไม่รับรู้ตัว และมีการใช้ Slow Motion จังหวะที่ต้องการเน้นสุดๆ

ไฮไลท์คือการตัดสลับไปมาระหว่าง ปะรำพิธี-สิ่งที่เกิดขึ้นจริง เช่นว่า ตอนนักพรต Chin Hoi ถอดวิญญาณเข้าสิงร่างของแวมไพร์/ซอมบี้/ศพ, กระทำกับหุ่นฟางวูดู อันเป็นเหตุให้แขนของ Bold Cheung เคลื่อนขยับผิดธรรมชาติ ฯ ซึ่งก็มักมีจังหวะสองภาพซ้อนทับกันพอดี ให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการควบคุมบงการของอีกฝ่าย

ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Bold Cheung แทบทุกฉากต้องมีตัวละครนี้ปรากฎอยู่ แต่ผู้ชมจะไม่ถึงกับซื่อบื้อไร้เดียงสาเท่า รับรู้ความจริงก่อนว่าภรรยาของเขาลักลอบมีชู้กับใคร ทำให้เกิดการลุ้นระทึกติดตามให้กำลังใจเชียร์ เมื่อไหร่พระเอกจะล่วงรู้ความจริงเสียที

เพลงประกอบโดย Frankie Chan นักแสดง/เชี่ยวชาญศิลปะการแสดง และก็แต่งเพลงได้ด้วย เป็นขาประจำของ หง จินเป่า, ลักษณะของบทเพลงช่วยเสริมสร้างบรรยากาศ ความหลอกหลอนสะพรึงให้กับหนัง โดยเฉพาะขณะแวมไพร์กำลังลุกขึ้นจากโลง, พระเอกกำลังถูกผีอำ ฯ แต่ถ้าเมื่อไหร่ต่อสู้ดวลกังฟู ฟาดฟันอาวุธดาบหอก นั่นแทบจะไม่ใช่ดนตรีอะไรช่วยเลย มีเพียง Sound Effect ล้วนๆ

ไฮไลท์ของ Sound Effect นอกจากลมฟ้าฝนพายุคลั่ง ยังรับอิทธิพลจากหนังของ Bruce Lee คือขณะต่อสู่จะมีการตะโกนส่งเสียงข่มขวัญศัตรู ซึ่งช่วงท้ายไคลน์แม็กซ์ การต่อสู้ที่อวตารเทพสถิตย์ ก็จะมีเสียงลิง, เด็กชาย, หมัดระแทก, ฟาดดาบ, กระทบเหล็ก ฯ สารพัดเสียงก็ว่าได้ แม้ให้สัมผัสที่เกินจริง แต่มีความเร้าใจเหลือหลาย

นอกจากผีในกระจกที่ลักพาตัวเพื่อนของพระเอกไปตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง (หมอนั่นก็หายตัวไปเลยแบบไม่มีใครสนใจ) ที่เหลือก็มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่โหดโฉดชั่วร้ายอันตราย สร้างเจียงซือ นำศพคนตายสวมวิญญาณให้กลับมามีชีวิต ควบคุมร่างกายแขนขา หรืออัญเชิญเทพเทวดาลงมาอวตารสถิตย์ ต่อสู้เข่นฆ่าแกงทำร้ายคนเป็น

ถึงผี/วิญญาณ/ซอมบี้/แวมไพร์ จะแต่งหน้าตาให้มีความหลอกหลอนน่ากลัวสักเพียงไหน แต่ก็เทียบไม่ได้กับจิตใจมนุษย์เลวทรามต่ำช้ายิ่งกว่า เริ่มจากคบชู้สู่ชาย, หลงใหลในรูปรส เงินทอง, ติดนิสัยพนันขันต่อ, คอรัปชั่นใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น, เลวร้ายสุดคือต้องการปิดปากฆ่าให้ตาย แต่เมื่อวิธีการธรรมดาสามัญเป็นไปไม่ได้ (เพราะพระเอกเก่งกังฟูเหลือเกิน) เลยต้องใช้วิธีหลุดโลกเหนือธรรมชาติ ทั้งยังไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับตนเองได้อีกด้วย

ผมไม่แน่ใจความต้องการลึกๆของ หง จินเป่า ต้องการล้อเลียน/เสียดสีเรื่องราวของหนัง กับแนวทางปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนหรือเปล่า? ที่ชอบใช้คำสั่ง/กำลัง/ข้ออ้างโน่นนี่นั่น เข้าควบคุมครอบงำบีบบังคับประชาชนใต้สังกัดให้ต้องยึดมั่นปฏิบัติตาม ใครไหนเผลอล่วงรับรู้ความลับ/สิ่งคอรัปชั่นชั่วร้ายภายใน จำต้องรีบเร่งหาวิธีปิดปากปลิดชีพ ไม่ปล่อยให้ข้อเท็จจริงถูกเปิดโปงสู่สาธารณะ สร้างความสั่นคลอนให้เกิดขึ้น

ความขัดแย้งของสองฝั่งฝ่าย ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ระดับไหน มนุษย์-ภูตผี, ความดี-ชั่ว, เทพสวรรค์-ยมโลก, ก๊กมินตั๋ง-คอมมิวนิสต์ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็สามารถย่นย่อลงมาเหลือระดับจุลภาค สามี-ภรรยา ผัว-เมียทะเลาะเบาะแว้ง ลักลอบเป็นชู้นอกใจ ตอนจบที่หลายคนอาจมองว่าไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่ แต่คือมุก’ตบ’ท้าย ความรุนแรงจักทำให้เกิดความหลากจำ (แต่มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรใดๆนะครับ)

อำให้ดี ผีชิดซ้าย อาจไม่ใช่หนังที่มีความสมบูรณ์แบบทางศิลปะ แต่ในแง่ความบันเทิงถือว่าจัดเต็ม หลายคนอาจไม่เข้าใจวัฒนธรรม/ความเชื่อ ไร้ซึ่งความตลกขบขัน โปรดักชั่นก็ดูเก่าๆเฉิ่มเชยตกยุคสมัย แต่กระนั้นแค่เพียงฉากต่อสู้ด้วยลีลา ท่วงท่า จังหวะ มีความลงตัวอย่างที่สุด อ่านภาษากายออกย่อมเห็นถึงความงดงามไร้ที่ติ

แนะนำคอหนัง Action Comedy Horror, ชื่นชอบศิลปะการต่อสู้ (Martial Arts), สนใจตำนานความเชื่อเรื่องผีๆของจีน, แฟนๆ หง จินเป่า, หลิน เจิ้งอิง ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 13+ กับพิธีกรรมบ้าบอคอแตก พฤติกรรมความชั่วร้ายของตัวละคร

TAGLINE | “ใครที่มีโอกาสได้รับชม/พบเจอ Encounters of the Spooky Kind ย่อมต้องขนลุกขนพองกับการแสดงรำมวยของ หง จินเป่า ระดับปรมาจารย์”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: