Enjō (1958)
: Kon Ichikawa ♥♥♥♥
ดัดแปลงจากนวนิยายอิงเหตุการณ์จริง The Temple of the Golden Pavilion (1956) แต่งโดย Yukio Mishima เรื่องราวของเด็กวัด พานพบเห็นการเปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัตินักบวชนิกายเซน ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เลยตัดสินใจจุดไฟเผาวัดพลับพลาทอง ที่ได้รับการยกย่องเป็นสมบัติแห่งชาติ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผมเกิดการตระหนักขึ้นว่า “สงครามโลกครั้งที่สอง” คือจุดหมุนของการปรับเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่าง วิถีชีวิต ความเชื่อศรัทธา แปรสภาพจากจิตสู่วัตถุนิยม อันเกิดจากชาวตะวันตก (ผู้ชนะสงคราม) นำแนวคิดระบอบทุนนิยมมาเผยแพร่ ปลูกฝัง ครอบงำ ทำให้โลกตะวันออกค่อยๆถูกกลืนกิน ตกเป็นทาส ละทอดทิ้งคุณธรรมดีงามเคยยึดถือคงมั่นไว้ภายใน
ผมมีโอกาสรับรู้จัก Enjō (1958) จากการรับชม Mishima: A Life in Four Chapters (1985) ของผู้กำกับ Paul Schrader นำเสนอเรื่องราวชีวประวัติ Yukio Mishima โดยมีการแทรกสามผลงานนวนิยายชิ้นเอก The Temple of the Golden Pavilion (1956), Kyoko’s House (1959) และ Runaway Horses (1969)
แม้เพียงแค่เรื่องราวสั้นๆ The Temple of the Golden Pavilion ใน Mishima: A Life in Four Chapters (1985) ถือว่ามีความสไตล์ลิสต์ ฟุ้งเฟ้อ สีสันจัดจ้าน แถมบทเพลงประกอบของ Philips Glass ระยิบระยับกึกก้องกังวาล ทำให้พอย้อนมาดูหนังขาว-ดำ Enjō (1958) ทำเอาผมรู้สึกละเหี่ยจิตใจสักเล็กน้อย แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อค่อยๆซึมซับเรื่องราว สัมผัสไดเรคชั่นผู้กำกับ Kon Ichikawa ต้องบอกเลยว่าตราตรึงกว่ากันมาก สามารถเรียกอย่างเต็มปากเต็มคำ Masterpiece
ก่อนอื่นเลยขอพูดถึง Golden Pavilion วัดพลับพลาทอง/ศาลาทอง/คิงกากุ (Kinkaku-ji) มีชื่อทางการว่า วัดสวนกวาง/โรกูอง (Rokuon-ji) ตั้งอยู่เมือง Kyoto ประเทศญี่ปุ่น ก่อสร้างขึ้นปี ค.ศ. 1397 โดยขุนนาง/นักกวี Saionji Kintsune (1171 – 1244) เพื่อใช้พำนักพักอาศัย ต่อมาขายให้โชกุน Ashikaga Yoshimitsu (1358 – 1408) กลายเป็นเรือนรับรองสุดหรูหรา เมื่อพระโอรสรับช่วงต่อจึงปรับเปลี่ยนสู่วัดประจำพุทธศาสนา นิกายเซน
วัดแห่งนี้เคยถูกเผามอดไหม้มาแล้วครั้งหนึ่งช่วงระหว่าง Ōnin War (1467–1477) ได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้กลับมาคงเดิม ประดับหลังคาทองเหลืองอร่าม กาลเวลาทำให้ค่อยๆเสื่อมสภาพลงแต่ก็ยังสามารถรอดผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง โดยไม่ถูกทิ้งระเบิดลง (ถือเป็นสถานที่สำคัญ/ศูนย์รวมจิตใจชาวญี่ปุ่น เลยได้รับการยกเว้นพิเศษ) แต่เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1950 เวลาประมาณตีสองครึ่ง พลับพลาหลังนี้ได้ถูกเผามอดไหม้โดยเด็กวัด Hayashi Yōken
Yukio Mishima ชื่อจริง Kimitake Hiraoka (1925 – 1970) หลังจากพบเห็นข่าวดังกล่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ เกิดความใคร่ฉงนสงสัย อยากรับรู้ถึงสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? เด็กวัดคนนี้ถึงต้องการเผาทำลายวัดพลับพลาทอง ที่ได้รับการยกย่องเป็นสมบัติแห่งชาติ ติดต่อขอสัมภาษณ์บรรดาญาติ มิตรสหาย นักบวช โสเภณี รวมไปถึง Yōken ที่ถูกจับและได้รับตัดสินโทษจำคุก 7 ปี รวบรวมเรียบเรียง ประมวลผลความครุ่นคิด ตีพิมพ์นวนิยาย The Temple of the Golden Pavilion (1956)
เกร็ด: แม้ว่า Hayashi Yōken จะได้รับการปล่อยตัวออกก่อนกำหนดตั้งแต่ปี 1955 แต่เพราะป่วยหนักวัณโรค เสียชีวิตเดือนมีนาคม 1956 เลยไม่น่ามีโอกาสอ่านนวนิยายเล่มนี้ก่อนตีพิมพ์
วัดพลับพลาทอง ก่อนหน้าถูกเผาทำลาย มีสภาพทรุดโทรมพอสมควร ไร้การบูรณะปรับปรุงแม้ทำรายได้มหาศาล
สภาพเมื่อถูกเผามอดไหม้
การมอดไหม้เมื่อครั้งนั้นได้กลายเป็นโอกาสไปเลย เพราะทำให้เกิดการบูรณะซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ นี่คือภาพปัจจุบันที่มีความอร่ามงาม ตัวศาลายกเว้นชั้นใต้ดินปิดคลุมด้วยแผ่นทองคำแท้บริสุทธิ์ ประดิษฐานพระพุทธรูป โบราณวัตถุมีค่ามากมายา และบนยอดหลังคามีรูปหล่อทองคำรูปนกโฮโอ (Hōō หรือ Phoenix สัญลักษณ์แทนบ้านจักรพรรดิ์/Imperial House)
ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก เมื่อปี 1994
Kon Ichikawa ชื่อเดิม Giichi Ichikawa (1915 – 2008) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Ise, Mei วัยเด็กหลงใหลการวาดรูป ชื่นชอบการ์ตูน Silly Symphony (1929 – 39) โตขึ้นเลยเลือกเข้าเรียน Ichioka Commercial School, Osaka ทำงานเป็นอนิเมเตอร์ยัง J.O. Studio กระทั่งสตูดิโอตัดสินใจปิดแผนก เลยผันมาเป็นผู้ช่วย Yutaka Abe, Nobuo Aoyagi, หลังสงครามโลกในช่วงแรกๆสร้างหนังตลก กระทั่งแจ้งเกิดโด่งดังกับ The Burmese Harp (1956),
หัวข้อความสนใจของ Ichikawa นับตั้งแต่ The Burmese Harp (1956) มักข้องเกี่ยวกับผลกระทบหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทำให้วิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนวนิยาย The Temple of the Golden Pavilion (1956) ถือว่าตรงประเด็นต้องการ ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงโดยทันที
เรื่องราวของ Goichi Mizoguchi (รับบทโดย Raizô Ichikawa) เดินทางมาถึงวัดแห่งหนึ่งใน Kyoto ภายหลังบิดาเสียชีวิต ได้รับการอุปถัมภ์โดยนักบวชนิกายเซน Tayama Dosen (รับบทโดย Ganjirô Nakamura) อาสาส่งเสียให้ร่ำเรียนหนังสือ เผื่อว่าอนาคตจะได้กลายเป็นพระ สืบสานดูแลกิจการงานของวัดต่อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Goichi กลับมีปมด้อยคือพูดติดอ่าง ทำให้ถูกใครๆล้อเลียนจนเก็บมาหมกมุ่นครุ่นยึดติด แถมอดีตยังเคยพานพบเห็นภาพบางอย่างติดตราฝังใจไม่รู้ลืม นั่นทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย มีเพียงพลับพลาทองเป็นที่พึ่งทางใจ
แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง วัดแห่งนี้จากเคยสงบสุขร่มเย็น กลับกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีผู้คนมากหน้าหลายตา ทำเงินมากมายมหาศาล จากวิถีปฏิบัติเคยเคร่งครัดค่อยๆหย่อนยาน เฉกเช่นกันกับ Goichi เริ่มทำตัวสำมะเล คบเพื่อนขาเป๋ Tokari (รับบทโดย Tatsuya Nakadai) ที่สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น! … ท้ายสุดเมื่อไม่หลงเหลือใครให้การยินยอมรับ เลยตัดสินใจจุดไฟเผาพลับพลาทองให้มอดไหม้วอดวาย
นำแสดงโดย Ichikawa Raizō VIII ชื่อจริง Akio Kamezaki (1931 – 1969) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kyoto เมื่ออายุได้ 6 เดือน กลายเป็นลูกบุญธรรมของ Ichikawa Kudanji III นักแสดง Kabuki ชื่อดัง แต่วัยเด็กก็ไม่ได้ฝึกหัดอะไร จนกระทั่งอายุ 15 ถึงค่อยตัดสินใจแน่แน่วว่าจะเดินตามรอยเท้า ขึ้นเวทีแสดงครั้งแรกที่ Osaka Kabukiza Theater สามปีถัดมาต้องการออกจากร่มเงาพ่อ เลยขอแยกจากครอบครัวย้ายคณะไปเรื่อยๆ สร้างชื่อเสียงให้ตนเองระดับหนึ่งแต่ฝีมือก็ถึงขั้นโดดเด่นอะไร กระทั่งได้รับการชักชวนสู่วงการภาพยนตร์ The Great White Tiger Platoon (1954) ผลงานมักเป็นแนว Jidaigeki (Period Drama), แจ้งเกิดโด่งดังกับ Enjō (1958), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ An Actor’s Revenge (1963), แฟนไชร์ Sleepy Eyes of Death (1963–69), The Wife of Seishu Hanaoka (1967) ฯ
รับบท Goichi Mizoguchi แม้ไม่ได้เกิดมาพูดติดอ่าง แต่การได้พบเห็นแม่นอกใจพ่อ ทำให้เกิดปมด้อยขาดความมั่นใจในตนเอง หลังจากพ่อเสียได้รับการอุปถัมภ์โดยนักบวชนิกายเซน Tayama Dosen คาดหวังให้เป็นผู้สืบสานต่อสำนัก แต่หลังจากพานพบเห็นวิถีปฏิบัติเปลี่ยนแปลงไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รับรู้เบื้องหลังความจริงของหลวงพ่อที่เคยเคารพนับถือ เริ่มออกนอกลู่นอกทาง ไม่สนการเรียน ถูกเพื่อนชักนำพาสู่หนทางผิดๆ อดีตตามหวนกลับมาหลอกหลอน สุดท้ายอดรนทนต่อไม่ไหว ตัดสินใจทำเผาทำลายทุกสิ่งอย่างพร้อมปลิดชีพฆ่าตัวตายตาม
ทีแรกโปรดิวเซอร์ต้องการตัว Hiroshi Kawaguchi เพราะเชื่อว่านักแสดงมีชื่อจะสามารถรับบทตัวละครติดอ่างได้ดีกว่า แต่ Ichikawa เชื่อมั่นใน Raizō และต้องการให้โอกาสแจ้งเกิด โน้มน้าวอยู่นานกว่าจะยินยอมเสี่ยง
ว่ากันว่า Raizō นำเอาประสบการณ์วัยเด็กของตนเองถ่ายทอดออกมา เพราะตัวเขาเหมือนจะไม่ค่อยได้รับการยินยอมรับจากครอบครัวสักเท่าไหร่ (คงคาดหวังให้เป็นนักแสดง Kabuki แต่ร่างกายไม่ให้หรือยังไงสักอย่าง เลยกว่าจะเริ่มฝึกหัดก็อายุย่าง 15 ปี ล่าช้ากว่าปกติอยู่มาก)
“He’s expressing something of his true self through his performance. He’s overcome something through his acting … some sort of burden he had been carrying; and his indescribable life can be seen in his expression. I give it a perfect score, 100 of 100. There’s simply nothing else to say”.
– Kon Ichikawa
การพูดติดอ่าง ถ้าไม่ใช่คนญี่ปุ่นคงสังเกตไม่ได้เท่าไหร่ แต่การแสดงออกทางสีหน้า ท่วงท่าทาง โดยเฉพาะการขยับเคลื่อนไหว ช่างมีความอ่อนไหว สง่างาม สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกตัวละครได้อย่างเด่นชัด นี่น่าจะอิทธิพลประสบการณ์จาก Kabuki แน่ๆ ซึ่งทำให้ Raizō ได้รับฉายาต่อจากนี้ ‘the genius who thinks with his body’
Ganjirō Nakamura (1902 – 1983) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Osaka มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นนักแสดง Kabuki ได้รับการชักชวนจาก Kenji Mizoguchi รับบทเล็กๆใน Shin Heike Monogatari (1955) เข้าตาผู้กำกับ Akira Kurosawa ชักชวนมาเล่น The Lower Depths (1957) แจ้งเกิดในวงการภาพยนตร์ตอนอายุ 55 ปี ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ The Loyal 47 Ronin (1958), Enjō (1958), The Birth of Japan (1959), Floating Weeds (1959), When a Woman Ascends the Stairs (1960), The End of Summer (1961), An Actor’s Revenge (1963) ฯ
รับบทเจ้าอาวาส นักบวชนิกายเซน Tayama Dosen ผู้ดูแลวัดพลับพลาทองแห่งนี้ แม้จิตใจฝักใฝ่พุทธศาสนา แต่เบื้องลึกแท้จริงแล้วยังโหยหาความสุขสบายทางโลก ช่วงแรกๆพยายามสร้างภาพให้ Goichi ครุ่นคิดว่าตนเป็นคนดี แต่เมื่อวัดกลายเป็นธุรกิจ เงินทองไหลมาเทมา ลวดลายครามจึงเปิดเผยออก อยากที่จะรู้สำนึกผิดชั่วแต่ก็มิอาจหักห้ามใจ
ผมยังจดจำภาพลักษณ์ของ Nakamura จาก Floating Weeds (1959) ได้อย่างแม่นยำ! ทีแรกก็แอบฉงนสงสัย หน้าตาแบบนี้นะหรือคือเจ้าอาวาส นักบวชผู้ละทางโลก ตั้งแต่ช็อตแรกปะพรมน้ำหอม กระทั่งตอนให้เงินขอทานแบบ หมอนี่มันสร้างภาพชัดๆ ซึ่งก็กลายเป็นเช่นนั้นจริงๆ
บทสมทบของ Nakamura ถือว่าเป็นอีกไฮไลท์ของหนัง โดยเฉพาะสายตาและท่าทาง มีการปรุงปั้นแต่งเพื่อล่อหลอกตนเองว่าเป็นคนดี แต่แท้จริงแล้วกลับมีลับลมคมในหลบซ่อนเร้นไว้ ไม่อาจหักห้ามใจ ‘เห็นผิดเป็นชอบ’ หรือ ‘เห็นกงจักรเป็นดอกบัว’
Tatsuya Nakadai ชื่อเกิด Motohisa Nakadai (1932 -) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ครอบครัวมีฐานะยากจนมาก ไม่อาจส่งเสียเข้าเรียนหนังสือ ทำงานเป็นเสมียนก่อนมีโอกาสพบเจอผู้กำกับ Masaki Kobayashi รับบทเล็กๆในภาพยนตร์ The Thick Walled Room (1956) [ถ่ายทำก่อน ออกฉายล่าช้าสามปี], ตามด้วยซามูไรขาจร Seven Samurai (1954), ได้รับบทเด่นแจ้งเกิด Black River (1957), ตามด้วย Enjō (1958), โด่งดังกับไตรภาค The Human Condition (1959-61), Odd Obsession (1959), When a Woman Ascends the Stairs (1960), Yojimbo (1961), Sanjuro (1962), Harakiri (1962), High and Low (1963), Kwaidan (1964), The Face of Another (1966), Kagemusha (1980), Ran (1985) ฯ
รับบท Tokari เพื่อนขาเป๋ เป็นคนกร้านโลก ไม่ชอบให้ใครมาดูถูกหมิ่นแคลน เวลาพูดมักด้วยน้ำเสียงไม่ยี่หร่าอะไรใคร ใช้ปมด้อยตนเองในการเรียกร้องความสนใจ ชอบชักใยให้ Goichi ทำสิ่งต่างๆตามคำแนะนำตนเอง
แค่ช็อตแรกปรากฎตัว พบเห็นท่วงท่าการเดินเป๋ๆของ Nakadai ช่างดูสมจริงมากๆ น่าสงสารเห็นใจสุดๆเลย แต่พอน้ำเสียงพูดแรกออกมาจากปาก ไอ้หมอนี่มันโคตรกวนประสาท แถมยังปลูกฝัง/สร้างค่านิยมผิดๆให้อีก … ท้ายที่สุดก็เลยโดนดี เมื่อถูกแฟนสาวกระชากหน้ากากตัวตนออกมา ภายในไม่ได้มีความเข้มแข็งแกร่งดั่งเปลือกนอกสร้างภาพมาเลยสักนิด!
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นบทบาทแรกๆของนักแสดงพันหน้า Nakadai ผู้สามารถเล่นเป็นใครก็ได้ สามารถขโมย/แย่งซีนความโดดเด่น ออกมาน้อยแต่ติดตราตรึง แทบไม่อาจละสายตาไปจาก
ถ่ายภาพโดย Kazuo Miyagawa ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติญี่ปุ่น โด่งดังกับ Rashōmon (1950), Ugetsu (1953), Sansho the Bailiff (1954), Enjo (1958), Floating Weeds (1959), Odd Obsession (1959), Yojimbo (1961), Tokyo Olympiad (1965), Kagemusha (1980) ฯ
กล้องมักตั้งสงบอยู่กับที่ (ในมุมมองสายตา Goichi Mizoguchi) แต่มีการเลือกมุม ระยะ ทิศทาง จัดแสง-เงา หรือแพนนิ่ง สื่อนัยยะความหมายได้อย่างลุ่มลึกล้ำ
วัดพลับพลาทอง น่าจะเป็นการสร้างขึ้นใหม่ยังสตูดิโอ Daiei Kyoto เพื่อจะได้ถูกเผามอดไหม้ทำลายเมื่อถ่ายเสร็จพอดี (สถานที่จริงขณะนั้นคงเริ่มการบูรณะซ่อมแซมแล้วละ) ซึ่งตั้งแต่ Opening Credit ปรากฎภาพพิมพ์เขียวของวัด หลังจาก Goichi เริ่มรำลึกความหลัง ก็จะพบเห็นช็อตถ่ายทำจากสถานที่จริง
หนังมีการเลือกใช้มุมกล้องที่โดดเด่นทีเดียว แบ่งวิทยฐานะ ชนชั้นสูง-ต่ำ อย่างเด่นชัดเจน, ช็อตนี้เจ้าอาวาสตัดสินใจอุปการะเลี้ยงดูแล Goichi มุมกล้องก้มลงแสดงถึงความมีอำนาจ สามารถควบคุมสั่งการบริวาร แต่พอเอ่ยปากมือขวาคนสนิทพยายามชันตัวขึ้นเพื่อเรียกร้อง แสดงออกถึงการไม่ยินยอมรับ (เรียกว่าไม่เจียมตนเอง สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น)
วินาทีที่ Goichi หันไปพบเห็นพลับพลาทองครั้งแรก พบเห็นระฆังอยู่ด้านซ้ายของภาพ ซึ่งสามารถสะท้อนสองสิ่งคือสัญลักษณ์แห่งความหวัง จิตวิญญาณ กึกก้องกังวาลย์อยู่ภายในของเขา
ระหว่างที่ Goichi ตกอยู่ในสถานะซึมเศร้า ผิดหวัง พบเห็นภาพพื้นหลังค่อยๆมีการเฟด (ด้วย Rear Projection) ปรับเปลี่ยนจากปัจจุบันกลับสู่อดีต หวนระลึกถึงเหตุการณ์คล้ายคลึงเมื่อครั้นเก่าก่อน (Flashback) ไดเรคชั่นนี้ให้ผลลัพท์คล้ายๆการ์ตูนที่สามารถปรับเปลี่ยนฉากพื้นหลัง ถือเป็นสไตล์ลายเซ็นต์ผู้กำกับ Kon Ichikawa เลยก็ว่าได้
มุมเงยขึ้นท้องฟ้าช็อตนี้ เพราะ Goichi ถูกฝากฝังให้ดูแลเสื้อผ้า/อาวุธ ของทหารเรือนายหนึ่งที่มาเกณฑ์ทหาร กำลังจะโชว์อ๊อฟเพื่อนๆนักเรียน แต่เสียงหัวเราะเยาะที่เขาได้ยิน ตราฝังความโกรธเกลียดเคียดแค้น รับไม่ได้กับปมด้อยตนเอง เลยตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่างที่ชั่วร้ายออกมา
แม่ของ Goichi มาเยี่ยมเยียนที่วัด ขณะพูดคุยกับเจ้าอาวาส แทรกภาพช็อตนี้เพื่ออธิบายสิ่งกำลังเกิดขึ้นใน Kyoto ซึ่งสามารถสื่อได้ถึง
– การมาถึงของสงคราม ก็คือมนุษย์ด้วยกันนี่แหละที่ทำลายบ้านช่องของตนเอง
– บ้าน=ประเทศชาติ คือความย่อยยับพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง
– แม่ของ Goichi นะแหละ คือคนที่ทำลายบ้านของตนเอง (เพราะเธอคบชู้สู่ชาย น่าจะคือสาเหตุให้พ่อตรอมใจตาย ส่วนเขายินยอมรับความมักมากของเธอไม่ได้)
– พยากรณ์ตอนจบที่พลับพลาทองจะมอดไหม้ พังทลายล้าง
เสียงไซเรนดังเตือนเครื่องบินทิ้งระเบิด สร้างความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัวไปทั่ว แต่สำหรับ Goichi กลับมุ่งหน้าไปทำความสะอาดพลับพลาทอง สถานที่แห่งเดียวที่ทำให้จิตใจของเขาสุขสงบ แม้ภายนอกเต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย
แม่ติดตามไปพบเห็น ฉุดลากตัวให้มายังหลุมหลบภัย ภาพช็อตนี้ถ่ายย้อนแสงจากภายใน พบเห็นเงามืดอาบฉาบปกคลุมใบหน้าทั้งสองอย่างมืดมิด ราวกับที่นี่คือขุมนรก สถานที่ชั่วร้าย ตกต่ำทราม และ Goichi แสดงความไม่อยากพูดคุย ปฏิเสธขัดขืน มิอาจยินยอมรับแม่ของตนเอง
การย้อนอดีตช่วงขณะนี้จี้แทงใจดำอย่างมาก ปรากฎภาพที่กลายเป็น Trama สร้างปมด้อยให้กับ Goichi จนถูกพ่อลากพาตัวเดินมายังริมผามหาสมุทร อธิบายถึงชีวิตก็แบบนี้ ‘เราสามารถรักใครก็ได้ เฉกเช่นเดียว เขาก็สามารถรักใครก็ได้ไม่ใช่แค่เรา’ มีเพียงความสุขจากการปล่อยวาง จิตว่าง และความตายเท่านั้นคือสัจธรรม
Goichi ได้มีโอกาสพานพบความสัมพันธ์/ความรักของมนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ
– ตนเองตกหลุมรักสาวคนหนึ่ง แต่ต่อมากลับพบเธอได้เสียกับ Tokari ไปเรียบร้อยแล้ว
– พบเห็น Tokari ใช้ปมด้อยของตนเองเกี้ยวพาราสีสาว
– พบเห็นเจ้าอาวาส รักแบบหลบซ่อน ไม่ยินยอมรับตนเองว่าเป็นฝ่ายผิด
– พบเห็นคู่รักอเมริกัน-สาวญี่ปุ่น มีลูกด้วยกันแต่เขาไม่ต้องการ ตนเองกลายเป็นแพะรับบาป
– และสุดท้ายตัดสินใจซื้อบริการโสเภณี ต้องการล่วงรับรู้ความต้องการทางการ มีดีประการใด
เรื่องราวคู่รักต่างสัญชาตินี้ ดูเป็นความจงใจแฝงซ่อนเร้นสถานะประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เปรียบตนเองดั่งหญิงสาวทำตัวเหมือนโสเภณี เลียแข้งเลียขา เอาอกเอาใจชายหนุ่ม (สหรัฐอเมริกา) ยินยอมได้เสียทุกสิ่งอย่าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป คิดหรือว่าเขาจะมัวมาสนเพียงเรา สักวันย่อมต้องทอดทิ้ง เลิกร้างรา … ก็มีแต่คนญี่ปุ่นด้วยกันเท่านั้นละนะที่จะผลักตก แท้งครรภ์ ทำลายลูกหลาน อนาคต ให้ดับสิ้นสูญ
วินาทีที่ Goichi พูดบอกกับแม่ ว่ารับรู้ทุกสิ่งอย่างที่เธอกระทำ สังเกตว่าเขาลุกขึ้นยืนหันหลังให้เธอ แสดงออกถึงความยินยอมรับไม่ได้ พยายามปฏิเสธทุกสิ่งอย่างที่พยายามทำดีให้ ส่วนแม่ก็ได้แต่นั่งก้มหน้าอย่างรับรู้สำนึกผิด … แต่อดีตมันก็แก้ไขอะไรไม่ได้
เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ระยะห่างระหว่างเจ้าอาวาส ลูกศิษย์ ทุกคนในวัดแห่งนี้ ค่อยๆมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (อยู่ที่ระยะการตั้งกล้องด้วยนะ ให้สัมผัสถึงความสัมพันธ์/เข้าใจที่ห่างออกไป) เพราะพวกเขาต่างลุ่มหลงในวัตถุ ความสุขสบาย ทอดทิ้งวิถีปฏิบัติดั้งเดิมที่เคยมีมา จนกลายเป็น… อะไรก็ไม่รู้
Shakuhachi เครื่องดนตรีไม้ไผ่พื้นบ้านของญี่ปุ่น เป็นที่นิยมของนักบวชนิกาย Fuke-shū (หรือ Fuke Zen) เพื่อใช้สำหรับการฝึกสมาธิ จับลมหายใจระหว่างเป่าเข้าออก
เสียงของ Shakuhachi ก้องกังวานถึงสภาพจิตใจตัวละคร (ที่เป่า) เต็มไปด้วยความโหยหา ต้องการครอบครองบางสิ่งอย่าง แต่เพราะไม่มีวันได้รับมันมา จึงหลงเหลือเพียงความเวิ้งว้างอ้างว้าง จิตใจมิอาจสงบลงได้สักที
ผมไม่ค่อยแน่ใจความเชื่อชาวญี่ปุ่นสักเท่าไหร่ เพราะระหว่างการเผาพ่อ มีการแทรกภาพฝาโลงศพปะทุเปิดออก นั่นสื่อถึงการตายแบบไม่ไปสู่สุขคติหรือเปล่านะ (หนังชี้นำพาไปในลักษณะนั้น)
หญิงสาวที่ Goichi ตกหลุมรักแรกพบ ปรากฎว่าได้เสียกับ Tokari ไปเรียบร้อยแล้ว แม้เธอจะขว้างแจกันใส่เพื่อนชายขาเป๋ แต่สภาพจิตใจของเขากลับไม่ต่างอะไรกัน แตกกระจัดกระจาย ไม่สามารถนำกลับมาประติดประต่อกลายเป็นรูปลักษณ์เดิมได้อีก
ตรงกันข้ามกับผู้หญิงคนก่อนหน้าของ Tokari เธอกอดจูบลูบไล้ขาข้างเป๋ แสดงถึงการมองอิสตรีต่ำค่ากว่าตน ซึ่งช็อตนี้ถ่ายมุมก้มมองต่ำลงมา ฉันไม่ใช่เพศที่ยินยอมถูกกดขี่ข่มเหงโดยง่ายหรอกนะ!
ฟังดูเหมือนเป็นคำล้อเล่นที่โสเภณีสาวพูดบอกกับ Goichi ชื่นชมว่าสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้คมชัด ผิดกับภาษาญี่ปุ่นที่เอาแต่ติดอ่าง เธออาจพูดชื่นชมจากใจก็ได้ แต่เขากลับเห็นผิดเป็นชอบ มองโลกในแง่ร้ายไปเสียแล้ว คนยินยอมรับเขานั่งอยู่ข้างๆนี้ ยังโง่งม หลงตนเอง ครุ่นคิดว่าไม่มีใครใยดีอยู่อีก
ช็อตนี้ดูแล้วน่าจะเป็นการใช้ Rear Projection เพราะคงไม่สามารถให้ตัวละครเข้าไปยืนใกล้ๆเปลวเพลิงมอดไหม้ได้แน่ๆ … แต่มาครุ่นคิดดูอีกที พลับพลาทองหลังนี้อาจเป็นแค่โมเดลจำลองก็ได้นะ ไม่รู้เหมือนกันว่าใช้เทคนิคอะไร
แม้พลับพลาทองจะมอดไหม้วอดวายไปแล้วทั้งหลัง แต่นั่นก็แค่วัตถุสิ่งของภายนอก ซึ่งตัวตนจริงๆของวัดนี้ ยังคงตราฝังอยู่ภายในจิตใจ เห็นภาพสะท้อนบนพื้นผิวน้ำไม่เลือนลางจางหายไปไหน
ตอนจบของหนัง ผู้กำกับ Ichikawa ครุ่นคิดสร้างขึ้นใหม่ให้ Goichi ตัดสินใจกระโดดลงจากรถไฟฆ่าตัวตาย หนทางออกสุดท้ายของคนมีสภาพจิตใจยินยอมรับการเดินทางสู่อนาคตไม่ได้ ก็ขอจบชีพลง ณ ปัจจุบัน ตรงนี้!
ผมว่าเป็นตอนจบที่งดงามกว่าการจองจำติดคุก ชดใช้กรรมของ Hayashi Yōken และเสียชีวิตจากไปด้วยวัณโรค เสียอีกน่ะ!
ตัดต่อโดย Shigeo Nishida สัญชาติญี่ปุ่น ผลงานเด่นๆ อาทิ Gate of Hell (1953), An Osaka Story (1957), Enjō (1958), An Actor’s Revenge (1963), Bamboo Doll of Echizen (1963) ฯ
ร้อยเรียงเรื่องราวในมุมมองสายตาของ Goichi Mizoguchi เริ่มจากภายหลังเหตุการณ์วางเพลิงเผาไหม้พลับพลาทอง หวนระลึกนึกย้อนอดีต และซ้อนอดีตอีกชั้นหนึ่ง เพื่ออธิบายสภาวะทางจิตใจ เพราะเหตุใด ทำไม ถึงได้กระทำการดังกล่าว ไล่เรียงมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน และดำเนินต่ออีกนิดสู่จุดจบตัวละคร
การอารัมบทและปัจจิมบทที่ห้องไต่สวน โดยให้ตำรวจอธิบายการกระทำของ Goichi และสิ่งเกิดขึ้นกับวัดพลับพลาทองเสียก่อน ก็เพื่อผู้ชมจะได้สังเกต ครุ่นคิดค้นหาเหตุผล เพราะอะไร ทำไม ถือเป็นการสำรวจสภาวะจิตใจตัวละคร ไม่ต้องคอยลุ้นระทึกว่าตอนจบจะเกิดอะไรขึ้น
ซึ่งทั้งอารัมบทและปัจจิมบท สังเกตว่า Goichi จะไม่เอ่ยปากพูดคุยสนทนากับใครทั้งนั้น เสียงได้ยินล้วนจากคนรอบข้าง ซุบซิบ นินทา ครุ่นคิดตัดสินแทนเขาทั้งหมด โดยหาได้ล่วงรับรู้ เข้าใจสาเหตุผล เพราะอะไร ทำไม แต่ประการใด!
เพลงประกอบโดย Toshiro Mayuzumi (1929 – 1997) คีตกวี Avant-Garde สัญชาติญี่ปุ่น มีผลงาน Symphony, Ballet, Opera และเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Street of Shame (1956), Enjo (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), Tokyo Olympiad (1965), The Bible… in the Beginning (1966) ฯ
ในส่วนงานเพลง อดไม่ได้ต้องพูดถึง Mishima: A Life in Four Chapters (1985) เพราะมีความแตกต่างลิบลับ น้อยคนนักจะไม่ตราตรึงต่อสไตล์เอกลักษณ์ของ Philips Glass แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ผลงานของ Mayuzumi ก็มีดีโดดเด่นด้วยแง่มุมแตกต่าง เอาจริงๆไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ด้วยซ้ำนะ
Opening Credit เริ่มต้นมาด้วยความหลอกหลอน ราวกับเสียงสวดมนต์? เพรียกแห่งความตาย ค่อยๆย่องย่างกรายเข้ามาเยือน กิเลสของมนุษย์กำลังดิ้นรนในกระทะทองแดงที่ร้อนละอุด้วยเปลวเพลิง
ลักษณะของงานเพลง สะท้อนสภาวะทางจิตใจตัวละคร Goichi Mizoguchi เต็มไปด้วยความเก็บกด คับข้อง เคียดแค้น มันพยายามกรีดกราย ตะเกียกตะกาย หาหนทางระบายออกด้วยการกระทำบางสิ่งอย่าง จนกระทั่งเมื่อจุดไฟเผาพลับพลาทอง เพียง Sound Effect เสียงเปลวเพลิงมอดไหม้ และสุดท้ายทุกสิ่งอย่างหลงเหลือเพียงประกายเศษฝุ่น หมดสิ้นทุกสิ่งอย่าง
Enjō มีชื่อหนังภาษาอังกฤษคือ Conflagration หมายถึง เพลิงไหม้ อัคคีภัย การลุกฮือ และความโกลาหล ซึ่งไม่เพียงสะท้อนการเผาทำลายวัดพลับพลาทอง แต่ยังสภาพจิตใจตัวละครที่เต็มไปด้วยความสับสนว้าวุ่นวาย ไม่สามารถยินยอมรับได้ต่อวิถีปฏิบัติที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป
ความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองของญี่ปุ่น จำต้องยินยอมศิโรราบต่อผู้ชนะ ให้กองทัพสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซง ควบคุมครอบงำ ปลูกฝัง และสร้างค่านิยมใหม่ๆ นำเอาระบอบทุนนิยมเข้ามาเผยแพร่ขยาย เพื่อปรับเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประชาชนให้สอดคล้องทำนองเดียวกับตน
นั่นเองที่ทำให้วัด จากเคยเป็นสถานที่สุขสงบแห่งการปฏิบัติธรรม ค่อยๆถูกรุกรานเพราะสิ่งก่อสร้างจากครั้นประวัติศาสตร์ สร้างคุณค่าความสนใจแก่ผู้ไม่เคยพานพบเห็น โหยหาดิ้นดั้นด้นเดินทางมาเชยชม ซึ่งเมื่อใครๆต่างพากันเข้ามามาก ยอดเงินบริจาคแห่งศรัทธาก็เริ่มสูง พ่อค้าแม่ขายเกาะแก่งดิ้นรนหารายได้ นั่นย่อมทำให้ความครุ่นคิดจิตใจของผู้ยังลุ่มหลงใหลทางโลก นักบวชในศาสนา พบเห็นช่องทางกอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ … ธุรกิจพุทธพาณิชย์ จึงถึอกำเนิดขึ้น
ธุรกิจพุทธพาณิชย์ ขัดต่อหลังปฏิบัติของพุทธศาสนาหรือเปล่า? เอาจริงๆมันไม่ผิดนะครับ คือกำลังศรัทธาที่สามารถช่วยสืบสานต่อ ธำรงพุทธศาสนาให้สามารถคงยืนอยู่ (ได้อีกเป็นสหัสวรรษ) แต่ปัญหาล้วนเกิดจากคนที่ยังมากล้นด้วยกิเลส
– ผู้บริจาค มักโหยหา เรียกร้อง อยากได้บางสิ่งอย่าง คำอธิษฐานกลับคืนสนอง
– ผู้รับบริจาค เห็นเงินตาลุกมันวาว พยายามหาทางคดเคี้ยวกอบโกยกิน ปากอ้างเพื่อวัด พุทธศานา กลับมุบมิบหยิบทอนเข้ากระเป๋าตนเอง
พุทธศาสนาไม่ได้เสื่อมเพราะคำสอน แต่คือมนุษย์ผู้เห็นผิดเป็นชอบ ยึดติดกับความสะดวกสบาย ง่ายในมุมของตนเอง แทนที่จะเข้าหาศาสนา กลับเรียกร้องให้ศาสนาให้เข้าหาตนเอง ก็ไม่เป็นไร ชีวิตของใครของมัน กฎแห่งกรรมเดี๋ยวก็ตามทันเอง ไม่ชาตินี้ก็ต่อๆไป
Kon Ichikawa เปรียบตนเองกับตัวละคร Goichi Mizoguchi พานพบเห็นการปรับเปลี่ยนแปลงของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงคาบเกี่ยวก่อน-หลัง สงครามโลกครั้งที่สอง ชัดเจนว่ายินยอมรับสภาพไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แต่ก็มิอาจกระทำอะไรได้ อึกๆอักๆเหมือนคนติดอ่าง ภายในเต็มไปด้วยความคลุ้มคลั่งเก็บกด อยากที่จะระบายออกมาด้วยการเผามอดไหม้อะไรสักอย่าง
การมอดไหม้ของพลับพลาทอง สามารถครุ่นคิดตีความได้หลากหลาย
– ในเชิงจิตวิทยา สะท้อนการระบายออกของตัวละคร เรียกร้องความสนใจ หมกมุ่นลุ่มหลงใหลในสถานที่ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว
– คือการเผาไหม้กิเลส ความหมกมุ่นว้าวุ่นวายของตัวละคร ทนรับไม่ได้ต่อการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย แม้นั่นจะไม่สามารถทำให้วิถีของโลกหวนกลับคืน (เพราะสุดท้ายพลับพลาทองก็ได้รับการบูรณะสร้างใหม่ ไฉไลกว่าเดิม) แต่จิตใจเขาเกิดความสุขสงบเพียงพอดีแล้ว
– จากที่วัดเคยเป็นสถานที่สุขสงบแห่งการปฏิบัติธรรม ได้ถึงกาลจุดจบยุคสมัย ฟื้นฟูขึ้นใหม่สู่สถานที่ท่องเที่ยวแห่งความเชื่อศรัทธา ผู้คนมากมายเดินทางมาเคารพสักการะ บันทึกความทรงจำ อิ่มเอิบชั่วครั้งคราว แล้วหวนกลับบ้านไป
– จุดจบของประเทศญี่ปุ่น ถูกควบคุมครอบงำโดยต่างชาติ กำลังหมดสูญสิ้นวิถีชีวิตดั้งเดิมเคยมีมา
ฯลฯ
เกร็ด: ในบรรดาผลงานกำกับของตนเอง Kon Ichikawa เรื่องที่ชื่นชอบโปรดปราดสุดคือ Enjō (1958)
ถึงผมจะไม่ค่อยชอบความหมกมุ่นคลุ้มคลั่งของตัวละครสักเท่าไหร่ แต่ก็หลงใหลในเรื่องราว แนวคิด การถ่ายภาพ และไดเรคชั่นผู้กำกับ Kon Ichikawa สร้างความอร่ามงามให้หนังอย่างตราตรึง ทั้งภายนอกและจิตวิญญาณ
พุทธศาสนากำลังก้าวสู่สหัสวรรษแห่งความเสื่อมถดถอย เพราะการเข้ามาของอำนาจทุนนิยม ทำให้มนุษย์ลุ่มหลงใหลในสิ่งข้าวของ อบายมุข รูปลักษณ์ภายนอก ความสะดวกสบาย ทอดทิ้งวิถีธรรมชาติ หันหลังให้กับศีลธรรม-มโนธรรม ยกย่องสรรเสริญคนชั่ว เฉกหัวส่งคนดีไม่มีที่อยู่ … ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือได้ว่านำเสนอช่วงเวลา ‘จุดเปลี่ยน’ สมควรค่าต่อการ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนยุคสมัยนี้ ไปวัดเพื่อถ่ายรูป อัพลงเฟสบุ๊ค อินสตราแกรม อวดอ้างให้โลกรับรู้ว่าตนไปทำบุญ … นั่นคือวิถีพุทธ จริงๆนะหรือ?
จัดเรต 18+ กับสภาพจิตใจของตัวละคร พุทธศาสนาในทางเสื่อมปฏิบัติ และการกระทำอันคลุ้มคลั่งขาดสติ
Leave a Reply