Enter the Dragon (1973) : Robert Clouse ♥♥♡
ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง มังกรประจัญบาน คือจุดเริ่มต้นกระแสคลั่ง Martial Arts ของ Hollywood ที่ได้บรูซ ลี เป็นผู้ริเริ่มแจ้งเกิดจนกลายเป็น Iconic แต่น่าเสียดายที่เขากลับไม่มีโอกาสเห็นความสำเร็จของตนเอง
ต้องบอกไว้ก่อนว่า ผมมีความผิดหวังต่อหนังเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ถ้าคุณรับชมหนังของบรูซ ลี ทั้งสามเรื่องก่อนหน้า จะรู้สึกว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างแตกต่างออกไป นั่นเพราะ Hollywood ไม่ได้มีความเชื่อมั่นหรือสนใจที่จะให้นักแสดงเอเชียกลายเป็นฮีโร่ของพวกเขา นี่คือความ Racist ที่มีอยู่จริงของชาวอเมริกาต่อคนเอเชีย แต่ถ้าคนจะดังต่อให้ช้างสารก็ฉุดไม่อยู่
ประวัติคร่าวๆของบรูซ ลี (Bruce Lee) เกิดที่ San Francisco เติบโตที่ Hong Kong แล้วต้องกลับไปอยู่ที่อเมริกาใหม่ เข้าเรียนมหาลัย University of Washington ศึกษาปรัชญา, จิตวิทยา ฯ จากนั้นเปิดโรงเรียนสอนการต่อสู้อยู่เป็นสิบปี วันหนึ่งติดสินใจปิดกิจการทั้งหมดของโรงเรียน แล้วมุ่งหน้าสู่วงการภาพยนตร์ ด้วยอุดมการณ์เผยแพร่ Martial Arts สู่สากล รับบทเป็นตัวประกอบในละครโทรทัศน์อยู่หลายเรื่อง
เหตุผลที่ตัดสินใจเดินทางกลับมาทำหนังที่ Hong Kong ก็เพราะครั้งหนึ่งได้เคยเสนอโปรเจคละครโทรทัศน์เรื่อง The Warrior ให้กับ Warner Bros. ด้วยคอนเซ็ปนำการต่อสู้ Martial Arts ผสมผสานเข้าไปในพื้นหลังของโลกตะวันตก แต่กลับถูกชุบมือเปิดเปลี่ยนชื่อโปรเจคเป็น Kung Fu (1972 – 1975) นำแสดงโดย David Carradine แล้วตัดชื่อเครดิตของลีออกไป เหตุผลที่ทำเช่นนี้ก็เพราะ พวกเขาไม่มีความเชื่อมั่น ว่าชาวเอเชียจะสามารถรับบทนำแล้วประสบความสำเร็จได้ นี่มองได้ 3 เหตุผลคือ ผลประโยชน์ทางธุรกิจ, ชาตินิยม และการเหยียดเชื้อชาติ
ลีเก็บความคับข้องแค้นใจนี้ไว้ แต่ก็เป็นสิ่งที่เขายอมรับเข้าใจได้ เคยให้สัมภาษณ์ในเชิงเปรียบเทียบกับตัวเองในมุมกลับกัน ถ้าฉันเป็นเจ้าของสตูดิโอแล้วมีนักแสดงต่างชาติมาเสนอโปรเจคขอรับบทนำเองแบบนี้ ตัวเขาก็คงไม่กล้าเสี่ยงยอมรับลงทุนแน่, มองวิกฤตให้เป็นโอกาส ในเมื่อเข้าประตูหน้าบ้านตรงๆของ Hollywood ไม่ได้ ก็ขอลองใหม่แบบเข้าข้างๆ และเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของตัวเองไปในตัวด้วย จึงเดินทางกลับ Hong Kong จนได้สร้างภาพยนตร์ ประสบความสำเร็จล้นหลามมาแล้วถึง 3 เรื่อง
– The Big Boss (1971)
– Fist of Fury (1972)
– Way of the Dragon (1972)
นี่ทำให้ Hollywood ไม่สามารถมองข้าม Superstar คนนี้ได้ ตัดสินใจจรดปากกาเซ็นสัญญา ทดลองให้มารับบทในภาพยนตร์ร่วมสร้างของ Warner Bros. แต่ใช่ว่าจะเป็นหนังฟอร์มใหญ่กระไร ด้วยทุนสร้างเพียง $850,000 ประมาณ 1 ใน 10 ของทุนสร้าง The Man with the Golden Gun (1974) หนังเจมส์ บอนด์ที่ออกฉายปีเดียวกัน
Robert Clouse (1928 – 1997) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Wisconsin เคยทำงานเป็นช่างภาพนิ่งให้กับ CBS Television จากนั้นมีโอกาสกำกับหนังสั้น The Legend of Jimmy Blue Eyes (1964) ได้เข้าชิง Oscar: Best Live Action Short Film เลยได้ทำหนังยาว Darker than Amber (1970), Dreams of Glass (1970) และผลงานลำดับต่อมาที่ประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ Enter the Dragon (1973)
ร่วมงานกับ Michael Allin นักเขียนบทสัญชาติอเมริกา ที่พอได้รับโจทย์จาก Warner Bros. ก็มองหาสิ่งที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังได้ จนพบกับหนังสือการ์ตูน (comic strip) เรื่อง Terry and the Pirate เขียนโดย Milton Caniff ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์รายวัน Chicago Tribune New York News Syndicate ในช่วงระหว่าง 22 ตุลาคม 1934 ถึง 25 กุมภาพันธ์ 1973 โดยวันธรรมดาจะลงเป็นหน้าขาว-ดำ เฉพาะวันอาทิตย์ถึงเป็นหน้าสี
กร็ด: Caniff เป็นนักเขียนการ์ตูนคนแรกที่ได้รางวัล Cartoonist of the Year Award ของ National Cartoonists Society จากการเขียนการ์ตูนเรื่องนี้
สิ่งที่ Allin ได้แรงบันดาลใจจาก Terry and the Pirates ไม่ใช่พล็อตหรือเรื่องราว แต่คือภาพลักษณ์ กลิ่นอาย บรรยากาศ โทนสีสันของการ์ตูน ที่ต้องการนำเสนอออกมา ด้วยเหตุนี้จึงมีนักวิจารณ์หลายคนพูดถึงหนังว่า ราวกับออกมาจากหนังสือการ์ตูน ก็เพราะมีสาเหตุจากตรงนี้แหละ
“When we first started thinking about the look of the film, there was a comic strip called Terry and the Pirates, and that became sort of the genesis of the whole look of the film. But it has a wonderful, brilliant color scheme of golds and blues and reds, and if you think about Enter the Dragon, that’s what we did. And that was very, very conscious. It just felt like it would be very right for the film.”
ว่ากันตามตรง Robert Clouse ไม่ใช่ผู้กำกับที่มีความสามารถน่าสนใจอะไร แต่บรูซ ลีเป็นคนตัดสินใจเลือกมาเพราะถูกใจฉากแอ๊คชั่นในหนังสักเรื่องที่เคยกำกับ และคงด้วยเหตุผลนี้ Clouse จะสามารถทำหนังตามคำร้องขอของลีได้
แซว: ในบทหนัง พอถึงฉากที่มีการต่อสู้จะเขียนประมาณว่า ‘กำกับฉากต่อสู้โดยบรูซ ลี’ แล้วเว้นว่างไว้
เรื่องราวโดยย่อ ลี (รับบทโดยบรูซ ลี) ศิษย์เอกของวัดเส้าหลิน ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมแข่งขันทัวร์นาเม้นต์ Martial Arts ที่จัดโดยฮาน (รับบทโดย Shih Kien) บนเกาะที่อยู่ห่างไกลโดดเดี่ยว พบกับเพื่อนนักประลองอีกสองคน Roper (รับบทโดย John Saxon) และ Williams (รับบทโดย Jim Kelly) แต่มีอะไรที่อยู่เบื้องหลังการต่อสู้ครั้งนี้หรือเปล่า และพวกเขาจะสามารถเอาตัวรอดกลับออกมาได้หรือไม่
สำหรับการเลือกชื่อหนัง Warner Bros. มีความต้องการใช้ Han’s Island เพราะกลัวผู้ชมจะสับสนกับชื่อหนังแอ๊คชั่น Enter the Dragon แต่เพราะบรูซ ลียืนกราน(พร้อมล็อบบี้)ว่าต้องใช้ชื่อนี้เท่านั้น ก็เลยไม่ได้ปลี่ยน, มีอีก 2 ชื่อที่อยู่ในความสนใจตอนแรกคือ Blood and Steel และ The Deadly Three (ซึ่งหมายถึง 3 ตัวละครหลักของหนัง)
บรูซ ลี ในหนังเรื่องนี้ ครึ่งแรกทำตัวเป็นนักสืบ คล้ายๆกับหนัง James Bond ลับๆล่อๆเพราะยังไม่รู้ว่าเบื้องหลังมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่พอถึงจุดที่ผู้ชมรับรู้ทุกสิ่งอย่างแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องปกปิดความสามารถอีกต่อไปแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาปล่อยของโชว์ฉายเดี่ยว พยายามจัดการทุกสิ่งอย่างด้วยตนเอง
Dragon คือมังกร (ซึ่งก็คือชื่อภาษาจีนของบรูซ ลี) ขณะเดียวกันก็แปลได้ว่า งูใหญ่, จะมีฉากหนึ่งที่ลีต้องจับงูเห่า (ซึ่งรีดพิษออกหมดแล้ว) ทั้งหมด 10 เทค มีครั้งหนึ่งที่พลาดโดนงูฉก
ปรัชญาการต่อสู้ของลีในเรื่องนี้ ‘fighting without fighting’ ฟังดูโคตรเท่ห์ แต่กลับใช้จริงแค่ครั้งเดียวตอนโดนก่อกวนบนเรือ แทนที่จะพยายามหาทางนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้จริงในช่วงไคลน์แม็กซ์ของหนัง กลับไม่มีการเอ่ยถึงอีกเลย ผมถือว่าเป็นคำพูดดีไปที ใช้ได้แค่บางสถานการณ์ ไม่เป็นจริงทั้งหมด
กับผู้ชมที่ดูหนังของบรูซ ลีมาหลายเรื่อง จะพบว่าหนังเรื่องนี้ใช้ศักยภาพของลีไม่คุ้มเอาเสียเลย เพราะคู่ต่อสู้แทบทั้งหมดสามารถเอาชนะได้อย่างง่ายดาย แทบไม่ต้องออกลีลาอะไรมากมาย ตัวประกอบก็หมัดเดียวจอด ศัตรูหลักๆมีเพียง O’Hara (รับบทโดย Robert Wall) ที่โดนทุ่มเอาทุ่มเอา ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง และอีกทีก็ Last Boss ที่มีมือไม่สมประกอบ ไหนละฉากต่อสู้ขายทักษะลีลาความสามารถ?
John Saxon ชื่อจริง Carmine Orrico (เกิดปี 1935) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York มีเชื้อสายอิตาเลี่ยน, เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงหนังเกรด B ของ Universal Studio เรื่อง Running Wild (1955) ค่อยๆไต่เต้าขึ้นจนได้รับบทในหนังเกรด A เรื่อง This Happy Feeling (1958) ประกบ Debbie Reynolds และ Curt Jürgens, มีผลงานกว่า 200 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นตัวประกอบ/พระรอง โด่งดังสุดคงเป็น Enter the Dragon (1973) และ A Nightmare on Elm Street (1984)
Roper เป็นนักสู้สัญชาติอเมริกันหนึ่งเดียวของหนัง ชื่นชอบการพนันขันต่อเสี่ยงดวงท้าทายโชคชะตา แต่มักมีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวไม่เป็นผู้เสียเปรียบ กระนั้นในสิ่งที่ขัดต่อหลักศีลธรรมความถูกต้อง Roper ก็จะไม่ยอมเข้าข้างฝ่ายผิด เลือกฝั่งพระเอก และแน่นอนว่าต้องมีชีวิตรอดตอนจบ
ผมคิดว่า Saxon เป็นนักแสดงที่ไม่ได้มีความสนใจ Martial Arts มาตั้งแต่แรก อาจเคยไปเรียนพอเตะต่อยได้ ก็เลยได้รับโอกาสแสดงในหนังเรื่องนี้, มันน่าขบขันด้วยซ้ำ เพราะภาพลักษณ์ของ Saxon ไม่ได้ดูเหมือนนักสู้ยอดฝีมือ (ภาพลักษณ์ความน่าเกรงขามก็ไม่ได้) คือเห็นเป็นตัวตลกทีเล่นมากกว่าทีจริง แต่เพราะความที่เป็นอเมริกาหนึ่งเดียวในหนัง จึงต้องเชิดชูให้โดดเด่นเข้าไว้
เกร็ด: ในบทหนังดั้งเดิมตัวละครของ Saxon ในช่วงท้ายจะร่วมสู้กับบรูซ ลีจนพลาดพลั้งตัวตาย แต่เพราะ… อย่างที่บอก ตัวแทนของคนผิวขาวชาวอเมริกัน ยังไงก็ต้องรอด!
แต่หลายคนอาจข้อใจ เพราะ James Milton Kelly (1946 – 2013) ก็เป็นชาวอเมริกันเหมือนกัน แต่ผมไม่นับเพราะเขาเป็นคนผิวสี
เกิดที่ Millersburg, Kentucky ตัดสินใจเป็นนักกีฬาตั้งแต่สมัยเรียน อาทิ ฟุตบอล, บาสเกตบอล, กีฬาลู่และลาน ฯ ต่อมาเข้าเรียน University of Louisville เปลี่ยนไปเลือกเรียนคาราเต้ จนสามารถคว้าแเชมป์โลก World Middleweight Karate เมื่อปี 1971, ต่อมาเปิดโรงเรียนสอนหมัดมวย เป็นที่นิยมของดารา Hollywood อาทิ Calvin Lockhart ฯ
เดิมนั้น Rockne Tarkington คือคนที่จะมารับบท Williams แต่เกิดอุบัติเหตุหรือยังไงสักอย่างจึงต้องถอนตัวไป โปรดิวเซอร์ Fred Weintraub บังเอิญได้ยินเสียงเล่าขานของ James Kelly ที่เปิดโรงเรียนสอนคาราเต้อยู่แถว Los Angeles พอดี จึงรีบเดินทางไปดู เห็นแล้วประทับใจจับเซ็นสัญญาโดยทันที กลายเป็นนักแสดงผิวสีคนแรกที่ได้เล่นหนัง Martial Arts
ฉากการต่อสู้ของ Kelly ถือว่าค่อนข้างน่าประทับใจ แม้จะไม่ถึงระดับของบรูซ ลี แต่ก็ถือว่ายอดฝืมือ เพียงแต่โชคชะตาของตัวละคร Williams ถือว่าซวยบัดซบ เพราะการที่เป็นคนผิวสี จึงจำเป็นต้องถูกฆ่าให้ตาย แม้ไม่ได้กระทำอะไรผิดทั้งนั้น … นี่แหละครับหนังอเมริกัน
ผมเคยดูหนังเรื่อง Salute (2008) ทำให้บังเอิญเหลียวไปพบเห็นโปสเตอร์กำปั้น Black Power movement ที่มีใจความแฝงสนับสนุนแนวคิดเสมอภาคของคนผิวสีในอเมริกา กระนั้นหลายๆอย่างในหนังต่อตัวละครนี้ เช่น ทำร้ายตำรวจ, ต้องการผู้หญิงหลายคน, ทำให้ต้องตาย ฯ มีนัยยะขัดแย้งกันเองสุดๆ (ไม่รู้เพราะ Kelly แอบเอามาติดเองโดยไม่บอกผู้กำกับหรือเปล่า)
กระนั้นหลังจากหนังเรื่องนี้ Kelly ได้กลายเป็นประหนึ่งผู้นำในตำนานของชาวผิวสี เกิดคำเรียกที่ว่า Blaxploitation แนวหนังที่คนผิวสีนำแสดง เป็นพระเอกหรือวีรบุรุษ โดย Kelly ถือว่าเป็น Superstar คนแรกเลยละ
สำหรับตัวร้าย ฮาน รับบทโดย Shih Kien หรือ Shek Wing-cheung (พากย์เสียงภาษาอังกฤษโดย Keye Luke) เกิดที่ Panyu, Guangdong สาธารณรัฐจีน ก่อนอพยพย้ายไปอยู่ Hong Kong เป็นนักแสดงที่มักได้รับบทเป็นตัวร้ายในหนัง Wuxia มีเสียงหัวเราะเป็นที่จดจำจนได้ฉายา ‘villain laughter’
ตัวร้ายฮาน ถึงมีแขนข้างเดียวแต่มีฝีมือเทียบเท่ายอดฝีมือของเส้าหลิน เป็นตัวร้ายที่ดูไม่เก่งกาจอะไร แต่มีเล่ห์เหลียมลีลา และรายล้อมด้วยลูกสมุนบริวาณจำนวนมาก, หนังค่อนข้างค้างคาเหตุผลที่ว่า ทำไมฮานถึงหันสู่ด้านมืด หรือทำไมแขนขาด (เดาว่าอาจเพราะตอนถูกขับจากเส้าหลิน) อะไรหลายๆอย่างมีความน่าพิศวง แต่คงไม่มีใครได้คำตอบเป็นแน่แท้
ผมชอบใบหน้าของ Shih Kien มากๆ คือเห็นแล้วรู้เลยว่าต้องเป็นผู้ร้าย มีความโหดโฉดชั่วอย่างแน่นอน, การทำให้แขนขาดข้างหนึ่ง ประหนึ่งว่าควรจะไม่สามารถกระทำอะไรด้วยตนเองได้แล้ว แต่เขากลับพยายามฝืนทำทุกสิ่งอย่างด้วยตนเอง ความเคียดแค้นที่ถูกทำให้เหลือมือข้างเดียวนี้กระมังคือเหตุผลที่ทำให้หันหน้าเข้าสู่ด้านมืดอย่างเต็มตัว
เฉินหลง (Jackie Chan) ร่วมแสดงเป็นตัวประกอบในหนังด้วยนะครับ มีฉากหนึ่งที่ได้รับอุบัติเหตุจากโดนไม้กระบองฝาดหรือยังไงสักอย่าง ซึ่งพอถ่ายฉากนั้นเสร็จ บรูซ ลีก็รีบตรงเข้ามาขอโทษขอโพย นี่เป็นช่วงเวลาที่เฉินหลงบอกว่าประทับใจที่สุดในชีวิตเลยละ
ถ่ายภาพโดย Gilbert Hubbs ที่มีผลงานเด่นกับละครโทรทัศน์ พูดชื่อไปคงไม่มีใครรู้จัก, มี 2 ฉากใหญ่ๆที่ต้องพูดถึง
ฉากงานเลี้ยงรับรอง ในห้องโถงที่เต็มไปด้วยกรงนกและสีแดง, เริ่มต้นกล้องจะเคลื่อนวนไปรอบๆระดับสายตา เป็นมุมมองของผู้เข้าร่วมงานประลอง ขณะที่ฮานเข้ามาเปิดงานทุกสิ่งจะหยุดนิ่งสงบ และพอเขาจากไปทุกอย่างจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ปิดท้ายด้วยช็อตจากภาพมุมสูงนี้
กรงนก = ชีวิตที่ถูกจับขัง ในกฎ-กรอบ-เกณฑ์
สีแดง = การต่อสู้, เลือดเนื้อ
Hall of Mirrors ฉากไคลน์แม็กซ์สุดท้ายที่ใช้กระจก 8,000 บาน ได้แรงบันดาลใจจากภัตราคารแห่งหนึ่งใน Hong Kong ที่เหล่าโปรดิวเซอร์ของหนังไปรับประทานอาหารด้วยกัน, นี่เป็นฉากที่บ้ามาก เห็นว่านักแสดงทีมงาน จะอยู่ในห้องนี้ได้ครั้งละไม่เกิน 15 นาที ก่อนปวดเศียรเวียนเกล้ามึนหัว ต้องเดินออกมาพักสายตาก่อนกลับเข้าไปถ่ายทำใหม่
นัยยะของกระจกคือการสะท้อนภาพลักษณ์ มุมมองภายนอกของบุคคลที่มีหลากหลาย อาทิเช่น ชายคนหน่ง เวลาอยู่บ้านเป็นคนยิ้มแย้มไมตรีรักครอบครัว, กับเพื่อนมิตรสหายเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, แต่เวลาทำงานกลับเพื่อนร่วมงานต้องหนักแน่จริงจัง, ส่วนศัตรูต้องเห็นแก่ตัวฆ่าให้ตาย ฯ แต่แท้จริงแล้วตัวตนข้างในจิตใจของมนุษย์ ไม่ได้ถูกแบ่งเป็นภาพลักษณ์ต่างๆมากมายขนาดนี้ กลับมีหนึ่งเดียวเท่านั้น
วิธีการที่จะค้นพบตัวตนของผู้อื่น หรือเอาชนะศัตรูที่แท้จริง จึงเป็นไปตามคำสอนตอนต้นเรื่อง ‘ทำลายภาพลักษณ์ของปลอมทั้งหมด แล้วตัวจริงจะปรากฎ’
“Remember: the enemy has only images and illusions behind which he hides his true motives. Destroy the image and you will break the enemy.”
ปกติแล้วหนังของบรูซ ลี จุดขายคือ นำเสนอความแข็งแกร่งของร่างกาย เห็นกล้ามเนื้อเต็มมัดทุกสัดส่วน มีการใช้พละกำลังที่ถ่ายทอดออกมาจากภายใน แต่หนังเรื่องนี้ไม่มีอะไรแบบนั้นเลยนะครับ ผู้ชมจะเห็นแค่ว่ามีการออกลีลาต่อสู้ บางครั้งเป็น long-take โฟกัสเฉพาะลี ออกหมัดเตะต่อย แต่ก็แค่นั้นแหละ ไร้ลีลา ไร้พลัง ไร้จิตวิญญาณ
ตัดต่อโดย Yao Chung Chang, Kurt Hirschler, George Watters ไม่รู้ทำไมถึงต้องใช้ตั้ง 3 คนนะครับ แต่เห็นคนหนึ่งเป็นชาวจีน น่าจะบรูซ ลีส่งมาสังเกตการณ์ เพราะเขาไม่อยากให้หนังเป็น Hollywood จ๋าเกินไป ลดทอนความสำคัญของตัวเขาเองลง
ฉากแรกของหนังที่วัดเส้าหลิน คู่ต่อสู้ของบรูซ ลี คือหนุ่มอ้วนที่หลายคนอาจคุ้นๆหน้า หงจินเป่า (Sammo Hung) ที่ตอนนั้นยังทำงานเบื้องหลังเป็น choreographer ผู้ออกแบบท่าเต้น ไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ ซึ่งเพิ่งไปสำเร็จวิชา Hapkido จากประเทศเกาหลีใต้มา ลีจึงชักชวนให้มาเป็นคู่ซ้อม, ฉากนี้เป็นการเพิ่มเข้าไปทีหลัง ถ่ายทำที่ Hong Kong และลีกำกับเองเลย Clouse จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมา
การเพิ่มฉากนี้เข้าไปมีความน่าสนใจมาก ถ้าเราลองตัด 10 นาทีแรกออกไปจะพบว่า จุดเริ่มต้นของหนังดั้งเดิมคือขณะ 3 ตัวละครหลักกำลังเดินทางล่องเรือเล็กสู่เรือใหญ่ ซึ่งจะมี Flashback เล่าย้อนอดีตที่มาที่ไปของแต่ละคน นี่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ไม่เลว แต่จะไม่เป็นการบ่งชี้ชัดว่าใครเป็นพระเอกแท้จริงของหนัง (คือเริ่มต้นมาให้แนะนำ 3 ตัวละครหลักมีความโดดเด่นพอๆกัน) การเพิ่มฉากเปิดเรื่องนี้เข้าไป เป็นการบ่งบอกชัดต่อผู้ชมเลยว่า บรูซ ลี คือพระเอกของหนัง!
แต่การเพิ่มฉากนี้เข้ามาก็ทำให้สมดุลของหนังเสียไปอย่างเยอะ เพราะขณะล่องเรือเล็กแนะนำตัวละคร กลับยังมี Flashback แนะนำอีกอดีตของตัวละครบรูซ ลี ปรากฎขึ้นมา แม้จะเป็นคนละเรื่องแต่ก็ได้สร้างความสับสนซับซ้อนให้กับหนังโดยไม่จำเป็น
มุมมองของหนัง พยายามเกลี่ยๆทั้ง 3 ตัวละครให้ถ้วนๆกัน (แต่บรูซ ลีจะเยอะสุด) ผมเชื่อว่า กับผู้ชมเอเชียและแฟนพันธุ์แท้จะสนใจแต่บรูซ ลี, คนผิวสีจะสนแค่ Kelly และชาวอเมริกันจะมอง Saxon ผู้ชมสมัยนั้นแบ่งแยกเชื้อชาติพันธุ์กันอย่างนี้ชัดเจนเลยนะครับ
เพลงประกอบโดย Lalo Schifrin นักเปียโนแจ๊ส และประพันธ์เพลง สัญชาติ Argentine เจ้าของทำนอง Mission: Impossible (ตั้งแต่ฉบับฉายโทรทัศน์), Cool Hand Luke (1967), Dirty Harry (1974), Voyage of the Damned (1976), The Amityville Horror (1979), Rush Hour (1998) ฯ ได้เข้าชิง Oscar 6 ครั้ง ไม่เคยได้รางวัล
เพลงประกอบมีกลิ่นอายคล้าย James Bond Theme อยู่พอสมควร ใช้การผสมผสานเครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีนกับเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ร่วมสมัย กลายเป็นทำนอง Funk Rock แบบแนวๆ อะดรีนาลีนสูบฉีดแต่คงสัมผัสของดินแดนชาติตะวันออกไว้ แถมด้วยการดีดลีดเลาะสายกีตาร์ที่ทำทำนองล้อเสียงร้องเจี้ยวจ้าวของบรูซ ลี
เกร็ด: อัลบัมรวมเพลงของหนังเรื่องนี้ ได้รับความนิยมขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เห็นว่าเกิน 500,000 แผ่น ได้ Gold Record เสียด้วย
ถึงบทเพลงจะมีความไพเราะ ขับเน้นอารมณ์ของเรื่องราวอย่างทรงพลัง ได้รับความนิยมขายดีเทน้ำเทท่า แต่ผมกลับไม่ค่อยชื่นชอบเสียเท่าไหร่ เพราะนี่คือบทเพลงที่ฝรั่งแต่งขึ้น ในมุมที่มองชาวจีน/เอเชีย ไม่ใช่ลักษณะบทเพลงของฝั่งเราโดยแท้ (เปรียบเทียบกับ The King and I น่าจะเห็นภาพสุด นั่นคือสิ่งที่ฝรั่งมองไทย หาได้มีความถูกต้องเหมาะสมอยู่ในนั้นแม้แต่น้อย) แต่เราสามารถมองว่า บทเพลงเป็นอิทธิพลร่วมสมัยก็ได้
ประเทศอเมริกาเพิ่งมาเริ่มรู้จัก Martial Arts ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อได้ส่งทหารไปประจำงานยังประเทศแพ้สงครามญี่ปุ่น ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้จักคาราเต้ ยูโด ฯ นักเรียนเก่งๆปลดประจำการกลับมาเปิดโรงเรียนสอนการต่อสู้ ต่อมากลายเป็นกีฬาที่มีการจัดแสดง ต่อสู้แบบไม่ถูกต้องตัวฝ่ายตรงข้าม (นี่จริงๆนะครับ กีฬาคาราเต้ในยุคแรกๆยังไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน คู่ต่อสู้จะต้องไม่ถูกต้องตัวกัน แค่ออกอาวุธให้เฉียดๆโดนได้ไม่รุนแรง แล้วกรรมการจะประเมินให้คะแนนจากแนวโน้มความรุนแรงที่เกิดขึ้น)
ลองให้ดูคลิปนี้ สมัยก่อน Martial Art มีความหน่อมแน้มมากๆ มองย้อนกลับจากปัจจุบันคงตลกขบขัน แต่คือเรื่องจริงนะครับ
บุคคลแรกของโลกที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการต่อยเตะหน่อมแน้มแบบนี้ ก็คือบรูซ ลี (ตอนนั้นเขายังเปิดโรงเรียนสอนศิลปะป้องกันตัว) เพราะในความเป็นจริง มีที่ไหนถ้าตกอยู่ในสถานการณ์เป็นตาย มนุษย์จะมีสติตั้งท่าออกอาวุธตามสเต็ปจังหวะท่าทางลีลา ทำแบบนั้นก็ได้สิ้นท่ากันพอดี, ลีบอกว่า มันต้องใช้ความเร็วและความแรงปะทะกันเลยถึงจะเห็นผล อย่ามัวยี้ยักรีรอ เก็กท่า เพราะช่วงเวลาเป็นตาย เสี้ยววินาทีก็สามารถตัดสินโชคชะตาชีวิตได้
แน่นอนว่าในขณะนั้น ปรมาจารย์ด้านการต่อสู้ ครูมวยเก่าแก่คร่ำครึทั้งหลายต่างไม่ยินยอม ไม่เห็นด้วย รับไม่ได้ ต่อต้าน แต่ก็ไม่ได้ทำให้บรูซ ลีเกิดความย่อท้อยอมแพ้แต่ประการใด สาเหตุที่เขาปิดโรงเรียนสอนก็เพราะไม่ต้องการเน้นปริมาณอีกต่อไป วิชามวยฝึกจากสำนักไหนก็ได้ แต่สิ่งที่เรียกว่าตัวตน จิตวิญญาณ นั่นต้องของใครของมันเท่านั้น, ลีค้นพบเป้าหมายใหม่ในชีวิต ก็คือการเผยแพร่แนวคิดนี้สู่โลกทั่งใบ แต่เริ่มต้นที่อเมริกามันยากเกินไปสักนิด เลยตัดสินใจกลับไป Hong Kong จุดเริ่มต้นของวิชาการต่อสู้ที่ร่ำรู้เรียนมา ถ้าความคิดของฉันถูก ย่อมต้องได้รับความนิยมแพร่หลาย เมื่อนั้นย่อมต้องมาถึงอเมริกาได้แน่ และเมื่อนั้นทั่วโลกก็จะรู้จักเข้าใจความต้องการแท้จริงของเขา
Enter the Dragon คือความสำเร็จในเป้าหมายแรกของลี ที่จะพาตัวเองกลับสู่อเมริกา แม้ยังมีข้อจำกัดอีกมากที่ถูกควบคุมครอบงำไว้ แต่ก็ทำให้ทั่วโลกได้เรียนรู้จักการมีตัวตนของศิลปะป้องกันตัว Martial Arts ในรูปแบบดั่งที่ใจเขาต้องการ, ฝรั่งเห็นแล้วอึ่งทึ่ง ตะลึงอ้าปากค้าง ตระหนักรับรู้มีความสนใจ นี่แหละที่คือของจริง นักแสดงที่มีความเข้มแข็งแกร่ง หนักแน่นทรงพลัง ลีลาเร้าใจ ขณะรับชมอะดรีนาลีนสูบฉีด หัวใจระทึกเต้นแรง คุณค่าทางภาพยนตร์อาจไม่เท่าไหร่ แต่ความบันเทิงนั้นจัดเต็ม ก่อเกิดกลายเป็นกระแส ‘Kung Fu Kraze’ (ผวนมาจาก Kung Fu Crazy) ขึ้นมาโดยทันที
ใจความของหนังเรื่องนี้ กับสามตัวละครหลัก สามสไตล์ สามอุดมการณ์ สามชาติพันธุ์ รวมแล้วเป็นตัวแทนของมวลมนุษยชาติ แต่สุดท้ายกลับไม่มีใครโดดเด่นได้เหนือกว่าบรูซ ลี ชาวเอเชีย ที่ยึดมั่นอุดมการณ์สูงสุดของ Martial Arts ไม่ใช่การต่อสู้ด้วยกายเอาชนะผู้อื่น แต่คือการสามารถเอาชนะใจตนเอง นั่นต่างหากคือศัตรูแท้จริงของมนุษย์
Decolonization ผมไม่คิดว่าบรูซ ลีจะรู้จักคำนี้หรอกนะครับ เป็นแนวคิดของนักประวัติศาสตร์นับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 มันควรจะจบสิ้นลงได้แล้วกับยุคอาณานิคมที่ชาวยุโรป/อเมริกา แสวงหาในช่วงศตวรรษก่อนหน้า เป้าหมายคือความเสมอภาคเท่าเทียมต่อมนุษยชาติ ทุกเชื้อชาติพันธุ์บนโลกใบนี้, Enter the Dragon คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่แสดงออกด้วยนัยยะนี้ คนสามเชื้อชาติพันธุ์ มีเป้าหมายเพื่อต่อสู้เอาชนะความชั่วร้ายมวลรวมของโลก ชัยชนะคือปลดปล่อย ก่อให้เกิดอิสระเสรีภาพ (Liberation)
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่บรูซ ลี ด่วนเสียชีวิตจากไปเสียก่อน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1973 สิริอายุ 32 ก่อนหน้าหนังเรื่องนี้จะออกฉายเพียง 1 สัปดาห์ในวันที่ 26 กรกฎาคม 1973 ยังมีอีกมากที่ลียังทำไม่สำเร็จ ค้างคาไว้โดยเฉพาะกับ The Game of Death ว่าที่ผลงานลำดับต่อไป ในความพยายามจะผสมผสานปรัชญาการต่อสู้ เข้ากับศิลปะการต่อสู้ ผมว่าถ้าเรื่องนั้นลีสร้างสำเร็จ อาจจะคือ Masterpiece ที่แท้จริงของเขาเลยละ
ใน Hong Kong หนังเรื่องนี้ทำเงินน้อยสุดในบรรดาหนังของบรูซ ลีทั้งหมด แต่ก็ถือเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ HK$3,307,536 แต่ในอเมริกาทำเงินสูงถึง $21.5 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลกประมาณว่าเกินกว่า $90 ล้านเหรียญ
อิทธิพลของหนังเรื่องนี้ ไม่สิต้องพูดว่า อิทธิพลของบรูซ ลี ที่เกิดขึ้นจากหนังเรื่องนี้ นับจากที่เขาเสียชีวิตไป มีผลกระทบต่อแทบทุกวงการ
– วงการภาพยนตร์, หนังทุกเรื่องที่มีการใช้กำลังภายในต่อสู้ จุดเริ่มต้นมาจากบรูซ ลี
– วงการการ์ตูน, Stan Lee เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ทุกตัวการ์ตูนที่ใช้การต่อสู้ด้วยศิลปะป้องกันตัว ล้วนได้แรงบันดาลใจเริ่มต้นจากบรูซ ลี
– วงการศิลปะก้องกันตัว, อย่างน้อยกีฬาคาราเต้ก็เตะต่อยกันจริงๆแล้วนะครับ, อีกทั้งการต่อสู้ของลี เป็นแรงบันดาลใจให้เกิด MMA (Mix Martial Art)
– วงการเกม, Mortal Kombat เห็นว่าลอกพล็อตหนังทั้งเรื่องไปเลย
ฯลฯ
ความสำเร็จ อิทธิพลของหนังเป็นสิ่งน่าขนลุกขนพอง แต่ในมุมของการวิจารณ์ภาพยนตร์ ต้องถือว่าไม่มีอะไรให้น่ายกย่องพูดถึงเท่าไหร่, สิ่งที่ผมหงุดหงิดใจที่สุดในหนังคือ Warner Bros. ที่พยายามจะทำให้เป็นหนังเกรด B เลือกระดับ Safe Zone ปลอดภัยไว้ก่อน (เหมือนตัวละคร Roper) ซึ่งถ้าไม่ได้บรูซ ลี ยังไงหนังก็คงไม่ประสบความสำเร็จแน่ๆ
แนะนำกับคอหนังต่อสู้ Action, Martial Arts, แฟนๆของบรูซ ลี ต้องการเห็นความสำเร็จ สิ่งที่กลายเป็นอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ ไม่ควรพลาดเด็ดขาด
จัดเรต 13+ กับความรุนแรงจากการต่อสู้
Leave a Reply