Entr’acte (1924) : René Clair ♥♥♥♥
เริ่มต้นบนชั้นดาดฟ้า ปืนใหญ่โบราณกำลังเคลื่อนเข้ามา (ด้วยเทคนิค Stop Motion) จากนั้นศิลปินดาด้า Francis Picabia และคีตกวี Erik Satie ค่อยๆกระย่องกระแย้ง (อย่าง Slow Motion) มายืนโต้ถกเถียง เตรียมจุดปืนใหญ่ใส่กรุง Paris แล้วกระโดดถอยหลังออกจากเฟรม (Reverse Shot)
Entr’acte ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า การละเล่นสลับฉาก, เวลาระหว่างปิดฉาก, ความหมายคล้ายๆ Intermission ช่วงหยุดพักระหว่างการแสดง แต่จะมีความแตกต่างอยู่เล็กน้อย
- Entr’acte มักมีดนตรีหรือการแสดงที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวหลัก ดังขึ้นช่วงระหว่างหยุดพัก เพื่อไม่ให้ผู้ชมรู้สึกเสียเวลาเฝ้ารอคอย
- Intermission ไม่จำเป็นต้องมีดนตรีหรือการแสดงใดๆ เพียงช่วงเวลาว่างๆ สงบเงียบงัน ให้ผู้รับชมลุกออกไปเข้าห้องน้ำ พักผ่อนคลายได้ตามอัธยาศัย
Entr’acte (1924) คือโคตรหนังสั้นที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับเป็น “Entr’acte” คั่นระหว่างการแสดงบัลเล่ต์สององก์เรื่อง Relâche (1924) ของคณะ Ballets Suédois ณ Théâtre des Champs-Élysées, Paris น่าเสียดายโปรดักชั่นนี้ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่
แต่หนังสั้นเรื่องนี้ได้เสียงตอบรับอย่างเจี๊ยวจ๊าวจากผู้ชม หัวเราะขบขัน ฮาตกเก้าอี้ทั้งๆไม่รับรู้เรื่องราวใดๆ ถึงอย่างนั้นบรรดานักวิจารณ์กลับส่ายหัว คิ้วขมวด ‘confusing’ ‘nonsensical’ ทั้งยัง ‘offensive’ เต็มไปด้วยความน่าเบื่อหน่าย … ดูไม่เข้าใจก็บอกมาตรงๆ
ทีแรกผมตั้งใจจะเขียน Entr’acte (1924) ควบคู่ไปกับ Ballet Mécanique (1924) เพราะต่างได้รับยกย่องมาสเตอร์พีซของกลุ่มเคลื่อนไหว Dadaism แต่พอเห็นชื่อผู้กำกับ René Clair ก็ใคร่อยากดูผลงานเลื่องชื่ออื่นๆอย่าง The Italian Straw Hat (1928), Under the Roofs of Paris (1930), Le Million (1931) และ Nous la Liberté (1931) เชื่อว่าหลายคนก็อาจเฝ้ารอคอย ส่งท้ายเดือนหนังเงียบด้วยคอลเลคชั่นนี้ก็แล้วกัน
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Francis Picabia ชื่อจริง Francis-Marie Martinez de Picabia (1879-1953) ศิลปิน จิตรกร นักกวีสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นชาว Cuban ที่สืบเชื้อสาย Spanish, วัยเด็กมีความหลงใหลในภาพวาด ร่ำเรียนศิลปะจาก École des Arts Decoratifs, ผลงานช่วงแรกๆรับอิทธิพล Impressionist ก่อนเปลี่ยนมาเป็น Cubism จนกระทั่งเข้าร่วมกลุ่ม Puteaux Group สนิทสนมกับ Marcel Duchamp, Guillaume Apollinaire, Man Ray, ร่วมกันบุกเบิกลัทธิ Dadaism (แต่ภายหลังก็ถอนตัวออกมาเพราะความขัดแย้งกับส่วนตัวกับ André Breton)
ช่วงต้นปี ค.ศ. 1924, Picabia มีความครุ่นคิดที่จะนำความหัวขบถของ Dadaist สู่วงการแสดงบัลเล่ต์ ติดต่อคีตกวี Erik Satie สำหรับทำเพลงประกอบ, นักเต้น Jean Börlin ให้ออกแบบท่าเต้น, จากนั้นสร้างพื้นหลังเวทีโดยใช้แผ่นสีเงิน (Silver Disk) นำมาวางเรียงราย, และตั้งชื่อโปรดักชั่น Relâche ซึ่งเป็นคำภาษาฝรั่งเศสที่มักใช้คาดทับโปสเตอร์ เพื่อสื่อถึงการยกเลิก ปิดกิจการ (Show is Canceled หรือ Theater is Closed)
เท่าที่ผมหาข้อมูลได้เกี่ยวกับการแสดงบัลเล่ต์ชุดนี้ เน้นความอลังการไร้สาระ ไม่มีพล็อตเรื่องราวใดๆ องก์แรกนำเสนอกลุ่มนักเต้นกำลังซักซ้อมเตรียมการแสดง (Rehearsing) แต่กลับมีเหตุการณ์ขัดจังหวะโน่นนี่นั่น จู่ๆได้ยินเสียงสัญญาณไฟไหม้ ขบวนพาเรด ฝูงสรรพสัตว์ นักแสดงกายกรรม เข้าสู่องก์สองยิ่งกว่าความโกลาหล ผสมผสานทุกสิ่งอย่างมั่วๆซั่วๆไปหมด
I wanted to make a ballet that would be a kind of anti-ballet, a ballet that would be the opposite of everything that is usually expected of a ballet.
Francis Picabia
ดั้งเดิมนั้นโปรดักชั่น Relâche (1924) มีแผนทำการแสดงรอบปฐมทัศน์วันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1924 ณ Théâtre des Champs-Élysées, Paris แต่ถูกยกเลิกเพราะอาการป่วยของนักแสดง/นักออกแบบท่าเต้น Jean Börlin (่ป่วยจริงๆไม่ได้แสร้งเล่นตามชื่อโปรดักชั่น) จึงจำต้องเลื่อนมาวันที่ 4-18 ธันวาคม ค.ศ. 1924 น่าเสียดายเสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เลยทำการแสดงได้แค่ 13 รอบเท่านั้น (หนังก็ฉาย 13 รอบเช่นเดียวกัน)
René Clair ชื่อจริง René-Lucien Chomette (1898-1981) นักข่าว-นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่กรุง Paris บิดาเป็นพ่อค้าสบู่ ฐานะกลางๆ โตขึ้นเข้าศึกษาปรัชญา Lycée Louis-le-Grand พออายุ 18 อาสาสมัครคนขับรถในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้รับบาดเจ็บกระดูกสันหลัง จึงเต็มไปด้วยความหลอกหลอน ต่อต้านสงคราม, ต่อมาทำงานนักข่าวหนังสือพิมพ์ฝั่งซ้าย L’Intransigeant
ครั้งหนึ่งมีโอกาสแต่งเพลงให้ศิลปิน Damin เธอชักชวนให้เขาไปสมัครเป็นนักแสดงภาพยนตร์สตูดิโอ Gaumont จับพลัดจับพลูได้รับบทนำ Le Lys de la vie (1920) กำกับโดย Loïe Fuller และ Gabrielle Sorère, หลังจากมีหลายผลงานการแสดง ก็ได้ทำงานผู้ช่วยผู้กำกับ Jacques de Baroncelli
เมื่อปี ค.ศ. 1924 โปรดิวเซอร์ Henri Diamant-Berger มอบโอกาสครั้งสำคัญ กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Paris Qui Dort แปลว่า The Crazy Ray (1924) แนวตลกไซไฟ แต่ยังไม่ทันออกฉายผกก. Clair ก็ได้รับคำร้องขอจาก Francis Picabia ให้ช่วยทำหนังสั้นสำหรับเป็น “Entr’acte” คั่นระหว่างพักครึ่งการแสดงบัลเล่ต์สององก์ Relâche (1924)
มีรายงานว่า Picabia ได้เขียนสรุปความคร่าวๆ (Synopsis) ยาวประมาณหนึ่งหน้ากระดาษ เพื่อมอบให้ผกก. Clair ใช้เป็นต้นแบบอย่าง แรงบันดาลใจสำหรับสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
I accepted to do Entr’acte because I was intrigued by the challenge of making a film that was both experimental and accessible.
I wanted to make a film that would use the unique properties of cinema to create a new and experimental form of art. I didn’t want to make a film that was just a filmed play. I wanted to make a film that was truly cinematic.
René Clair
อารัมบทของ Entr’acte เริ่มต้นบนชั้นดาดฟ้า ปืนใหญ่โบราณกำลังเคลื่อนเข้ามา จากนั้นศิลปินดาด้า Francis Picabia และคีตกวี Erik Satie ค่อยๆกระย่องกระแย้ง มายืนโต้ถกเถียง เตรียมจุดปืนใหญ่ แล้วกระโดดถอยหลังออกจากเฟรม
ช่วงองก์แรกของหนังจะไม่มีเนื้อเรื่องราวอะไร เพียงร้อยเรียงภาพทิวทัศน์กรุง Paris ตัดสลับนักเต้นบัลเล่ต์ (ทำการแสดงโดย Inger Frïis) กำลังเริงระบำอยู่บนพื้นกระจก, ตามด้วยพบเห็นชายสองคน (Marcel Duchamp และ Man Ray) เล่นหมากรุกอยู่บนชั้นดาดฟ้า, และนักล่าคนหนึ่ง (รับบทโดยนักออกแบบท่าเต้น Jean Börlin) ยิงปืนใส่ไข่ลอยอยู่บนน้ำพุ แล้วถูกลอบสังหารโดย Picabia
ครึ่งหลังนำเสนอภาพขบวนแห่รถเข็นศพของนักล่า (เพราะครุ่นคิดกันว่าชายคนนั้นตกหลังคาเสียชีวิต) แต่แล้วเรื่องวุ่นๆวายๆก็บังเกิดขึ้น เพราะรถเข็นศพดันเคลื่อนไหลไปตามท้องถนนหนทาง รวดเร็วยิ่งกว่าเครื่องเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์ (Roller Coaster) วิ่งติดตามจนมาถึงบริเวณชานเมือง ฝาโลงก็ได้เปิดออก แล้วนักล่าคนนั้นกลับกลายเป็นนักมายากล เสกทุกคนให้สูญหายพร้อมกับตนเอง
แซว: นักแสดงทั้งหมดของหนัง ถ้าไม่มาจากคณะบัลเล่ต์ Ballets Suédois ก็ศิลปิน Dada บุคคลมีชื่อเสียงทั้งนั้น
ถ่ายภาพโดย Jimmy Berliet ตากล้องสัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ Entr’acte (1924), Feu Mathias Pascal (1925), Le voyage imaginaire (1926) ฯ
ผกก. Claire โอบรับแนวคิดลัทธิ Dadaism สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในลักษณะ ‘Anti-Movie’ ตั้งแต่การไม่มีโครงสร้าง ทิศทาง เนื้อเรื่องราว (non-narrative), ลีลาถ่ายภาพก็พยายามทำลายกฎกรอบ วิธีครุ่นคิดแบบเดิมๆ มองหาลูกเล่นใหม่ๆ ทดลองเทคนิคภาพยนตร์ล้ำสมัย Stop Motion, Slow Motion (ฉายภาพช้า), Fast Motion (ฉายภาพเร็ว), Reverse Shot (ฉายฟีล์มถอยหลัง), Split Screen (สองหน้าจอ), Double Explosure (ซ้อนภาพ), นี่ยังไม่รวมทิศทางมุมกล้อง ก้ม-เงย เอียง (Dutch Angel) และโดยเฉพาะการเคลื่อนติดตาม (Tracking Shot)
การจัดเต็มเทคนิคภาพยนตร์ จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมเกิดความสับสน วุ่นวาย ถึงระดับขั้นโกลาหล ซึ่งถ้าเป็นผู้กำกับระดับยอดฝีมือ จะรับรู้ทิศทางเป้าหมายอย่างชัดเจน ซึ่งความต้องการของผกก. Clair มุ่งเน้นสร้างเสียงหัวเราะ ความผ่อนคลาย มองผิวเผินเหมือนไม่เน้นสาระอะไร … ไฮไลท์อยู่ครึ่งหลัง ซีเควนซ์วิ่งไล่ติดตามรถเข็นศพ ผมว่าน่าประทับใจไม่น้อยไปกว่า Girl Shy (1924) และ Seven Chances (1925)
I wanted to make a film that would be a visual poem, a film that would use the camera to create images that were both beautiful and strange. I wanted to break away from the conventions of traditional narrative cinema and to create something that was truly experimental.
I wanted to use the camera to create a sense of disorientation and instability. I wanted the viewer to feel like they were being pulled into the film and then dropped back out again. I wanted to create a sense of the world being turned upside down.
René Clair
ปืนใหญ่โบราณ สัญลักษณ์แห่งตาย ถูกใช้ในสงครามเพื่อทำลายล้างศัตรู แต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้จบสิ้นไปแล้ว และคำว่า ‘โบราณ’ ก็สื่อถึงความเก่าก่อน ตกยุค ล้าสมัย ขัดแย้งภาพพื้นหลังภูมิทัศน์กรุง Paris ที่มีความทันสมัยใหม่ … เหล่านี้ล้วนสะท้อนแนวคิด Dadaism ต้องการท้าทายขนบกฎกรอบ รูปแบบประเพณี วิถีที่ผู้คนเคยยึดถือปฏิบัติ โดยมีจุด(ระเบิด)เริ่มต้นจากการพูดคุยสนทนาระหว่าง Francis Picabia & Eric Satie เพื่อทำลายล้างทุกสรรพสิ่งอย่างขวางหน้า
ซีเควนซ์อารัมบทนี้ อาจไม่ได้เฉียบแหลมคม สั่นสะท้านจิตใจ ตราฝังทรวงในแบบ Un Chien Andalou (1929) ของผกก. Luis Buñuel (แต่จะว่าไป Entr’acte (1924) มีลักษณะตรงกันข้าม คือเน้นความสนุกสนานไร้สาระ) แต่แฝงนัยยะที่ละม้ายคล้ายกันมากๆ ต้องการทำลายกฎกรอบ รูปแบบวิธีคิดสมัยก่อน
The canon in the prologue is a metaphor for the traditional art forms that Clair was rejecting; its gradual distortion suggests the way that these art forms were being challenged by the forces of modernity.
นักวิจารณ์ Robin Wood
แซว: จะมองว่าปืนใหญ่คือสัญลักษณ์ลึงค์ อวัยวะเพศชาย แต่ไม่ได้มีความหมายอะไรเสื่อมๆนะครับ สะท้อนความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเองของมนุษย์ (ไม่ใช่แค่บุรุษเพศ) หรือจะมองถึงความหมกมุ่นยึดติดกับอดีตก็ได้เช่นกัน!
หลังจากสิ้นสุด Opening Credit หนังทำการร้อยเรียงภาพภูมิทัศน์กรุง Paris ในลักษณะมุมเอียง (Dutch Angle) มุมคว่ำ สลับบน-ล่าง ซ้าย-ขวา Cross-Cutting สลับไปมา … นี่เป็นการสะท้อนแนวคิด Dadaism เพื่อให้ผู้ชมเปิดมุมมอง พบเห็นโลกในทิศทางใหม่ๆ
ผมชื่นชอบมนุษย์ลูกโป่งนี้มากๆ ในส่วนศีรษะสามารถทำให้โป่งพองและแฟบแห้ง สามารถสื่อถึงจินตนาการ ความครุ่นคิดสร้างสรรค์สุดบรรเจิดของผู้สร้าง (Symbol of the Artist’s Imagination) แต่ขณะเดียวกันอิสรภาพมาพร้อมกับความเปราะบาง เพราะถ้าเป่าลมมากเกินไป ลูกโป่งก็จะระเบิดแตกสลาย
นอกจากนี้ลูกโป่งพองลม ยังสามารถสื่อถึงความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ลุ่มหลงตัวเอง รวมถึงความหมกมุ่นยึดติด ครุ่นคิดจนฟุ้งซ่าน นั่นเป็นสิ่งสมควรถูกทำลาย (ล้อกับเป้าหมายของปืนใหญ่ รวมถึงนักล่ายิงไข่แตก) ตายแล้วค่อยถือกำเนิดขึ้นใหม่
หนังเรื่องนี้ค่อนข้างจะหมกมุ่นกับศีรษะ ชั้นดาดฟ้า ถ่ายภาพจากเบื้องบนหลังคา เพื่อสื่อถึงโลกทัศน์ความครุ่นคิด จินตนาการของมนุษย์ แต่ช็อตนี้เหมือนจะนำเสนอความฟุ้งซ่าน เพราะเมื่อไม้จิ้มฟันนำมากองรวมกัน (ด้วยเทคนิค Stop Motion แล้วซ่อนภาพหนังศีรษะ) จะมีการจุดไฟเผาทำลายล้าง (พร้อมกับการเกาหัวแกรกๆ)
แซว: หนังพูดเรื่องแรกของผกก. Clair ก็ใช้ชื่อว่า Under the Roofs of Paris (1930)
หมากรุก คือเกมแห่งการครุ่นคิดวางแผน ภายใต้กติกามากมาย (จะมีการแทรกภาพเสาปูนเรียงราย เพื่อสื่อถึงกฎกรอบ การถูกห้อมล้อม) ซึ่งเป็นสิ่งที่ลัทธิ Dada พยายามปฏิเสธต่อต้าน Marcel Duchamp และ Man Ray จึงถูกขัดจังหวะ ล้มกระดาน แล้วถูกกระแสน้ำซัดพา (ซ้อนภาพ)เรือลำน้อยล่องลอยคอไปทั่วกรุง Paris ราวกับนกที่โบกโบยบินสู่อิสรภาพ
บางคนอาจมองว่าหมากรุก สามารถสื่อถึงสงคราม ประชาชนไม่ต่างจากเบี้ยหมาก ถูกบุคคลผู้มีอำนาจ อยู่เบื้องบน (พวกเขาก็เล่นกันบนดาดฟ้ากรุง Paris) คอยควบคุมครอบงำ จับให้ก้าวเดินไปโน่นนี่นั่น เป็น-ตายอยู่ในกำมือคนไม่กี่คน ทำให้ประชาชนราวกับล่องลอยคออยู่กลางมหาสมุทร … ผกก. Clair เคยมีประสบการณ์เลวร้ายจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาจึงอาจแฝงนัยยะล้มกระดาน=ต่อต้านสงคราม
โดยปกติแล้วการแสดงบัลเล่ต์จะรับชมได้จากแค่เบื้องหน้าเวที แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถถ่ายภาพจากเบื้องล่าง (ให้นักบัลเล่ต์เต้นบนกระจก) แถมบางครั้งยังมีการสโลโมชั่น เพื่อเป็นการเปิดมุมมอง โลกทัศน์ใหม่ ได้พบเห็นภาพที่(บุรุษ)หลายๆคนเพ้อฝันแฟนตาซี(ถึงสิ่งภายใต้ร่มผ้า) ก่อนถูกผกก. Clair ตบหัวด้วยการเปิดเผยใบหน้านักเต้น คือผู้ชายติดหนวด (จริงๆนักเต้นก็คือหญิงสาว Inger Frïis) อาจสร้างความห่อเหี่ยวให้ใครต่อใคร
ผมคิดว่าความตั้งใจของช็อตนี้ น่าจะต้องการให้ผู้ชมรับรู้สึกเหมือนภาพซ้อนใบหน้าจมอยู่ใต้พื้นผิวน้ำ สื่อถึงความรู้สึกผิดหวังหลังได้พบเห็นใบหน้าแท้จริงของนักเต้นบัลเล่ต์ แต่ยุคสมัยนั้น(น่าจะ)ยังไม่มีกล้องที่สามารถถ่ายใต้น้ำ ดูแล้วใช้วิธีหมุนภาพ 180 องศา (เห็นภาพกลับบนลงล่าง) เท่านั้นเอง
ไข่ลอยอยู่บนน้ำพุ มันช่างดูมหัศจรรย์ ความคิดสร้างสรรค์สุดบรรเจิด สัญลักษณ์ของการถือกำเนิด ตัวแทนโลกยุคสมัยใหม่ แต่กลับถูกยิงโป้งโดยนักล่า (รับบท Jean Börlin) ผมมองว่าคือตัวแทนบุคคลสมัยก่อน คนโบร่ำราณ แต่งตัวเชยๆ ตกยุคตกสมัย (สงสัยจะมาจาก The Three Musketeers) สนเพียงครอบครองเป็นเจ้าของนกตัวนี้ นำมาฝึกฝน เสี้ยมสอนสั่ง ให้อยู่ภายใต้อาณัติของตนเอง
ในคำอธิบายของหนัง กล่าวถึงตัวละครนี้ว่าคือนักล่า (Hunter) ซึ่งเป็นการบอกใบ้อุปนิสัย ธาตุแท้ตัวตน รวมถึงแนวคิดล่าอาณานิคม สำหรับครอบครอง เป็นเจ้าของ ควบคุมครอบงำผู้อื่นให้อยู่ภายใต้ เลยไม่น่าแปลกใจที่จะถูกหมายหัว เป่าของโดยศิลปินดาด้าหัวขบถ Francis Picabia ต้องการกำจัดบุคคลเหล่านี้ให้สิ้นซาก
นักล่าหลังถูกยิง พลัดตกลงมาจากเบื้องบนดาดฟ้า ใครต่อใครต่างครุ่นคิดว่าคงตายห่าไปเรียบร้อยแล้ว จึงจัดรถเข็นศพนำขบวนโดยอูฐ (สัตว์สัญลักษณ์แห่งความเชื่องช้า แต่มีความอึดถึก ตายยาก) แล้วก้าวเดินกันอย่างสโลโมชั่น (เหมือนเป็นการประชดประชันความล้าหลังของตัวละครนี้) วนรอหอไอเฟลขนาดเล็ก (สมมติว่าคือรอบกรุง Paris)
ด้วยความเผอเรอ ไม่รับรู้ตัวเอง รถเข็นศพพลันไถลไปตามท้องถนนหนทาง นี่คือช่วงเวลาแห่งความเพ้อเจ้อไร้สาระ ฝูงชนออกวิ่งไล่ล่าติดตาม แต่เป็นซีเควนซ์แพรวพราวเทคนิคภาพยนตร์ เพื่อสร้างความสับสน โกลาหล โดยเฉพาะตัดสลับภาพเครื่องเล่นโรลเลอร์โคลสเตอร์ (Roller Coaster) มันช่างมีความตื่นเต้นเร้าใจ หลายคนอาจได้หัวเราะ ขบขำกลิ้ง
ถ้าวิเคราะห์กันอย่างง่ายๆ ฝูงชนก็คือมนุษย์ วิ่งไล่ล่ารถเข็นศพสัญลักษณ์ความตาย ชีวิตดำเนินไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ก่อนที่พวกเราทั้งหลายจะสูญหาย(ตาย)จากโลกใบนี้
ผมมองรถเข็นศพ คือสัญลักษณ์ของอดีต (เพราะบรรจุศพนักล่า ตัวแทนคนสมัยก่อน มีความโบร่ำราณ) สิ่งที่มนุษย์ยังคงหมกมุ่นยึดติด ออกวิ่งไล่ล่าติดตาม ไม่สามารถปล่อยละวาง จนเกิดอารมณ์เร่งรีบร้อนรน ขาดสติหยุดยับยั้งชั่งใจ
นี่ไม่ใช่พระเยซูที่ตายแล้วฟื้นคืนชีพ แต่ผมมองว่าคือสัญลักษณ์ของการถือกำเนิด เริ่มต้นใหม่ จากอดีตเคยเป็นนักล่า ลุกขึ้นจากโลงศพกลายเป็นนักมายากล (ตัวแทนผกก. Clair นำเสนอความเป็นไปได้ไม่รู้จบของสื่อภาพยนตร์) สามารถเสกคนให้สูญหายไปพร้อมกับตนเอง ราวกับไม่เคยมีเหตุการณ์อะไรบังเกิดขึ้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน
The magician in Clair’s film is a figure of multiple possibilities, a symbol of the power of art to create illusions, to challenge our expectations, and to open up new ways of seeing.
นักวิจารณ์ Robin Wood
บุคคลที่พุ่งผ่านกระดาษข้อความ FIN (ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า The End) ก็คือผู้กำกับ René Clair จากนั้นก็ถูกใครสักคนเอาเท้าเขี่ยๆ ทำให้ทุกสิ่งอย่างถอยกลับหลัง (Reverse Shot) … เหมือนต้องการจะสื่อว่าหนังจบ แต่การแสดงยังไม่จบ ถึงเวลาหวนกลับมารับชมบัลเล่ต์องก์สอง
หนังไม่มีเครดิตตัดต่อ แต่น่าจะคือผู้กำกับ René Clair, การดำเนินเรื่องมีลักษณะเป็น ‘non-narrative’ คือไม่มีโครงสร้าง ทิศทาง เนื้อหาสาระ หรือนำเสนอผ่านมุมมองอะไร เพียงทำการแปะติดปะต่อเหตุการณ์ที่ดูวุ่นวาย ไร้สาระ แต่อาจแฝงนัยยะซ่อนเร้นบางอย่าง ผมจัดแบ่งหมวดหมู่ออกเป็นอารัมบท และครึ่งแรก-ครึ่งหลัง
- อารัมบท, ประกอบด้วยปืนใหญ่, Francis Picabia และ Eric Satie
- ครึ่งแรก, ร้อยเรียงภูมิทัศน์กรุง Paris
- ร้อยเรียงภูมิทัศน์กรุง Paris
- นักเต้นบัลเล่ต์ Inger Frïis เริงระบำอยู่บนแผ่นกระจก
- Marcel Duchamp และ Man Ray เล่นหมากรุกอยู่บนชั้นดาดฟ้า
- นักล่า (รับบทโดย Jean Börlin) ยิงปืนใส่ไข่ลอยอยู่บนน้ำพุ แล้วถูกลอบสังหารโดย Picabia
- ครึ่งหลัง, พิธีศพของนักล่า
- ผู้คนมากมายต่อแถว เดินขบวน ติดตามรถเข็นศพ
- จู่ๆรถเข็นศพเคลื่อนไหลไปตามท้องถนนหนทาง
- ตัดสลับกับภาพเครื่องเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์ (Roller Coaster)
- มาจนถึงชานเมือง แล้วโลงศพก็เปิดออก นักล่ากลายเป็นนักมายากล เสกทุกคนให้สูญหายพร้อมกับตนเอง
ดูจากปีที่สร้างคงไม่อาจกล่าวได้ว่าหนังรับอิทธิพลจาก ‘soviet montage’ แต่กลับเต็มไปด้วยการตัดต่อ ‘montage’ ตั้งแต่ร้อยเรียงภูมิทัศน์กรุง Paris, แทรกภาพนักเต้นบัลเล่ต์เริงระบำ ปรากฎพบเห็นบ่อยครั้ง (เพื่อเน้นย้ำผู้ชมว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์อะไร), หรือช่วงครึ่งหลังตัดสลับระหว่างรถเข็นศพ กับเครื่องเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์ (น่าจะแค่สร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก เรียกเสียงหัวเราะ)
เพลงประกอบโดย Eric Alfred Leslie Satie (1866-1925) นักเปียโน คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Honfleur, Normandy วัยเด็กมีความสนใจในประวัติศาสตร์และละติน จนกระทั่งปี ค.ศ. 1874 ได้ร่ำเรียนออร์แกนกับ Gustave Vinot ทำให้ค้นพบความหลงใหลคลั่งไคล้ โตขึ้นเข้าเรียนต่อ Paris Conservatoire แต่เพราะเป็นคนขี้เกียจคร้านเลยถูกไล่ออกจากโรงเรียนถึงสองครั้งครา ช่วงปลายทศวรรษ 1880s จึงครุ่นคิดพัฒนาสไตล์ดนตรีของตนเองกลายมาเป็น Gymnopédies (1888)
หลายคนอาจฉงนสงสัยว่าหนังเงียบมีเพลงประกอบได้อย่างไร? ยุคสมัยนั้นยังไม่มีอุปกรณ์บันทึกเสียงไม่ใช่หรือ? คำตอบคือ Satie ใช้วงดนตรีเดียวกับการแสดงบัลเล่ต์ แต่ท่วงทำนองไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆกับ Relâche (1924) ถูกออกแบบให้สอดคล้องลูกเล่นภาพยนตร์ของ Entr’acte (1924) … นี่ถือเป็นครั้งแรกๆในวงการภาพยนตร์ที่ภาพและเสียง มีลักษณะของ ‘film synchronous’
I wanted the music to be like wallpaper. It should be there, but you shouldn’t notice it. It should just blend into the background and help to create the overall atmosphere of the film.
Erik Satie
เมื่อเทียบกับ Ballet Mécanique (1924) ของ George Antheil หลายคนอาจไม่รู้สึกตราตรึงเพลงประกอบของ Entr’acte (1924) แต่ในความเป็นจริงบทเพลงของ Satie เต็มไปด้วยการทดลองรูปแบบใหม่ (Experimental & Avant-Garde Music) เพื่อสร้างความสับสน โกลาหล สะท้อนสังคมอนาธิปไตย (Anarchy) ส่วนผสมดนตรีคลาสสิก, Ragtime, Jazz ฯ บรรเลงเวียนวนซ้ำไป-ซ้ำมา เดี๋ยวดัง-เดี๋ยวค่อย ไม่มีความต่อเนื่อง เพียงความวุ่นๆวายๆ รู้สึกมากมายเต็มไปหมด … นี่คือลักษณะของ ‘Anti-Music’ ซึ่งก็มีรากฐานเดียวกับ Ballet Mécanique (1924)
ผมนำเอาคลิปที่รวบรวมบทเพลงของ Satie ตลอดทั้งโปรดักชั่น Relâche (1924) ซึ่งรวบรวม Cinéma ที่ใช้ในภาพยนตร์ Entr’acte (1924) มาให้รับฟังกัน
Dadaism เป็นลัทธิหรือกระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะ เกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับศิลปะเหนือจริง (Surrealism) ด้วยลักษณะต่อต้านสังคม กฎเกณฑ์ วิถีทางรูปแบบเดิมๆ ซึ่งเคยได้รับการยอมรับทั่วไป ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการก่อกบฎต่อทุกสรรพสิ่งอย่าง Anti-Logic (หรือ Nonsense), Anti-Reason (หรือ Irrationality), Anti-Bourgeois, Anti-Movie, Anti-Music ฯลฯ
มองอย่างผิวเผิน Entr’acte (1924) คือการรวบรวม ร้อยเรียงเหตุการณ์ไร้สาระ (Nonsense) ใช้เทคนิคภาพยนตร์เพื่อสร้างความบันเทิง สนุกสนานเพลิดเพลิน ให้ผู้ชมเกิดรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ พักผ่อนคลายระหว่างรอคอยรับชมการแสดงบัลเล่ต์องก์สอง
แต่ความไร้สาระของ Entr’acte (1924) ล้วนแทรกแซมแนวคิด Dadaism พยายามนำเสนอสิ่งต่อต้านขนบวิถีทางยุคสมัยนั้น ต้องการทำลายขนบกฎกรอบ เป่าขมองบุคคลยังมีความครุ่นคิดเก่าก่อน เพื่อเปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ บังเกิดความเข้าใจอะไรๆที่แตกต่างออกไป
I wanted to make a visual poem, a series of images that would create a sense of mystery and wonder. I also wanted the film to be a reflection of the times, to capture the sense of chaos and absurdity that was prevalent in the world after World War I.
René Clair
หายนะจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นสิ่งที่ผกก. Clair ยังคงจดจำฝังใจ Entr’acte (1924) สามารถมองว่าคือผลงานต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) นำเสนอความสับสน โกลาหล (ของสงคราม) ผู้คนเป็นแค่เพียงหมากกระดานของผู้มีอำนาจ อยู่เบื้องบน (เล่นหมากรุกบนชั้นดาดฟ้า) แถมยังออกวิ่งไล่ล่า ไม่สามารถปล่อยละวางอดีต (รถเข็นศพคือสัญลักษณ์ความตาย)
สงครามพานผ่านมาแล้วหลายปี (แต่ขณะนั้นยังอยู่ในช่วงทศวรรษ Great Depression) มันถึงเวลาที่เราควรเลิกหมกมุ่นกับอดีต/ความตาย ลุกขึ้นมาสรรค์สร้างโลกใบใหม่ กระทำสิ่งแตกต่างออกไป เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์บังเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิม
แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์ชาติก็ไม่เคยเรียนรู้จดจำอะไร ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยกลายเป็น “Entr’acte” สร้างขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง! เหมือนเหตุผลการสรรค์สร้าง สำหรับเปิดคั่นการแสดงบัลเล่ต์ Relâche (1924) องก์หนึ่ง-สอง
จริงๆแล้วผกก. Clair ไม่ได้ครุ่นคิดอยากให้ Entr’acte (1924) ฉายเป็น “Entr’acte” ระหว่างการแสดงบัลเล่ต์ Relâche (1924) แต่เพราะนี่เป็นโปรเจคได้รับมอบหมายมา มันจึงเลือกไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จำต้องยินยอมรับสภาพนั้นไป
Entr’acte was a film that was made for the cinema, not for the theater. It was a film that used the unique properties of cinema to create a new and experimental form of art.
I did not like the way Entr’acte was released with a ballet performance. I felt that the film was not meant to be seen as an intermission piece, and that it was being presented in a way that detracted from its impact. I would have preferred for the film to be seen on its own, without any other distractions.
René Clair
เสียงตอบรับของทั้งบัลเล่ต์ Relâche (1924) และหนัง Entr’acte (1924) โดนนักวิจารณ์สมัยนั้นสับเลอะเทอะ เละเทะ ไร้สาระ น่าผิดหวังโดยสิ้นเชิง
A childish and pointless exercise in surrealism. It is hard to imagine what anyone could find to admire in this dreary and pretentious farce of meaningless images.
นักวิจารณ์ Frank S. Nugent
A series of disconnected episodes, each more pointless than the last, strung together without rhyme or reason. The film is full of strange and disturbing images, and it is not clear what the director is trying to say. The film is also very slow-paced, and it is difficult to stay interested in what is happening. On the whole, Entr’acte is a disappointing film, and it is hard to see why it was ever made.
นักวิจารณ์ Mordaunt Hall จาก The New York Times
กาลเวลาทำให้หนัง (รวมถึงบัลเล่ต์ชุดนี้) ได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างมากๆ ในแง่ความท้าทาย สร้างความประหลาดใจ ชวนให้ขบครุ่นคิด (มีคำเรียก ‘visual wit’) เต็มเปี่ยมด้วยพลัง โกลาหล แต่ทุกสิ่งอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมโดยชาญฉลาด
Entr’acte is a film that is both chaotic and controlled, a film that is sure to leave you feeling exhilarated.
นักวิจารณ์ Bilge Ebiri
Entr’acte is a film that is both funny and thought-provoking. It is a film that is full of visual wit, and it is a film that has something to say about the nature of art and the nature of reality.
นักวิจารณ์ Jay Weissberg
Entr’acte is a masterpiece of Dadaist cinema, a collage of images and ideas that defy easy interpretation. It is a film that is both playful and subversive, and it remains one of the most influential works of experimental cinema ever made.
นักวิจารณ์ Jonathan Rosenbaum กล่าวถึงในหนังสือ Movies as Politics
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K สามารถหาซื้อ Bluray ฉบับของ Pathé Distribution รวมอยู่ในคอลเลคชั่น Coffret René Clair: Paris qui dort + Entr’acte ประกอบด้วยหนังไซไฟขนาดยาว The Crazy Ray (1925) และหนังสั้น Entr’acte (1924)
ผมมีความชื่นชอบตลกเบาๆ (light comedy) สไตล์ผกก. Clair อย่างมากๆ สร้างเสียงหัวเราะ เพลิดเพลินผ่อนคลายอย่างมีระดับ ซึ่งสามารถพบเห็นได้ตั้งแต่ Entr’acte (1924) สอดแทรกอยู่ตามภาษาภาพยนตร์ สนุกสนาน บ้าคลั่ง ป่วนชวนหัว งดงามวิจิตรศิลป์
และในบรรดาผลงานของผกก. Clair น่าเสียดายมีเพียง Entr’acte (1924) เปิดกว้างให้ผู้ชมสามารถครุ่นคิดตีความ ชักชวนตั้งคำถามปรัชญาสุดลึกล้ำ! หรือจะช่างแม้ง เอาแค่หัวเราะเบาๆ ไม่ต้องสนเนื้อหาสาระก็ได้เช่นกัน
จัดเรต pg กับความโกลาหล ตลกเจ็บตัว
Leave a Reply