Equinox Flower

Equinox Flower (1958) Japanese : Yasujirō Ozu ♥♥♥♥

เกิดเป็นพ่อนั้นยากลำบาก สามารถแนะนำคนอื่นให้ได้แต่งงานครองรักกับบุคคลที่ใช่ แต่พอลูกสาวของตนเองแท้ๆ กลับหัวรั้นชนฝาไม่ยินยอมพร้อมใจ แล้วเรื่องวุ่นๆก็เกิดขึ้นใน ‘สไตล์ Ozu’ เมื่อคนรุ่นเก่าต้องศิโรราบต่อโลกยุคสมัยใหม่, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

หนังภาพสีเรื่องแรกของปรมาจารย์ผู้กำกับ Yasujirō Ozu ไม่เพียงสะท้อนโลกทัศนคติตัวละครที่มีต่อการแต่งงาน ยังคือความดื้อรันของตนเอง กว่าจะยินยอมเปลี่ยนมาเป็นใช้เทคโนโลยีใหม่ถ่ายทำภาพยนตร์สีครั้งแรก ซึ่งก็เลือกแบบไม่เหมือนใครอื่นสมัยนั้นด้วยนะ!

น่าสนใจทีเดียวที่ผู้กำกับ Yasujirō Ozu เลือกชื่อหนังแทนด้วยดอกไม้ Higanbana ทั้งๆปกตินิยมกับช่วงเวลา/ฤดูกาล อาทิ Late Spring (1949), Early Summer (1951), Early Spring (1956), Tokyo Twilight (1957), Late Autumn (1960), The End of Summer (1961), An Autumn Afternoon (1962) ฯ ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ยังสามารถเชื่อมโยง Equinox Flower เข้ากับฤดูกาลได้อยู่ดี

Equinox Flower, ดอกพลับพลึงสีแดง หรือ Higanbana มาจากคำว่า Higan ภาษาญี่ปุ่นหมายถึง ‘อีกฝั่งหนึ่ง’ ซึ่งเป็นฝั่งตรงกันข้ามกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ ซึ่งความหมายทางพุทธศาสนาหมายถึง ‘จิตตื่น’ หรือช่วงเวลาวิษุวัต (Equinoxes) ที่มีความสมดุล อากาศไม่ร้อนหรือหนาว กลางวันเท่ากับกลางคืน ปีหนึ่งมีสองครั้งคือ
– ศารทวิษุวัต (Autumnal/Fall Equinox) ประมาณวันที่ 22-23 กันยายน ตรงกับฤดูใบไม้ร่วงในเขตซีกโลกเหนือ
– วสันตวิษุวัต (Vernal/Spring Equinox) ประมาณวันที่ 20-21 มีนาคม ตรงกับฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือ

เพราะดอก Higanbana มีสีแดงสดดุจสีเลือด ปรากฏตัวในช่วงเวลาพิเศษของปี ประกอบกับหัวที่เป็นพิษ ทำให้มีการเชื่อมโยงกับความตาย ถึงแม้จะมีดอกที่สวยสดงดงามเพียงไร ก็ไม่มีใครเก็บหรือให้เป็นของขวัญแก่กัน มักจะพบเห็นตามคันนา นิยมปลูกเพื่อเป็นการขับไล่ศัตรูพืช ซึ่งจริงๆก็สามารถนำมารับประทานได้ ถ้าผ่านกรรมวิธีการกำจัดพิษโดยการแช่น้ำ

สิ่งที่มาพร้อมกับดอก Higanbana คือการเก็บเกี่ยวข้าว สำหรับชาวญี่ปุ่นมักมีกิจการขนาดเล็ก เกษตรกรส่วนใหญ่ทำนาเป็นอาชีพเสริม ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ปัจจุบันนี้จะเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องยนต์ แต่ก็มีหลายๆแห่งนิยมทำกันในครอบครัวด้วยมือ อาจจะเป็นการใช้แรงงานและค่าใช้จ่ายสูง แต่มันก็ให้ความรู้สึกพิเศษที่เชื่อมโยงระหว่างการเก็บเกี่ยวข้าวด้วยมือ สู่การนำข้าวไปบนโต๊ะอาหารของครอบครัว การเพาะปลูกข้าวจึงถือเป็นหัวใจของอารยธรรมโบราณของญี่ปุ่น

reference: https://th.japantravel.com/ฟุกุโอกะ/ดอกไม้อีควิน๊อกซ์กับการเกี่ยวข้าว/15544

Higanbana คือสิ่งสัญลักษณ์สื่อความถึงการเชื่อมโยงระหว่างสองสิ่ง พ่อ-ลูก คลุมถุงชน-รักอิสระ งานภาพสู่สีสัน เปิดทัศนคติสู่โลกใบใหม่ ซึ่งคงไม่ผิดอะไรจะบอกว่า ตัวละครหลักของหนัง Wataru Hirayama (รับบทโดย Shin Saburi) สามารถเทียบแทนได้ด้วยผู้กำกับ Yasujirō Ozu เองเลย

ว่าไปโปสเตอร์หน้าปก Criterion Collection ที่นำมานี้ก็แฝงนัยยะความหมายเช่นกัน ภาพบนคือ Wataru Hirayama กำลังนั่งอยู่’ภายใน’ขบวนรถไฟ ขณะที่ภาพด้านล่างคือ’ภายนอก’ช็อตสุดท้ายของหนัง กำลังออกเดินทางมุ่งสู่…

Yasujirō Ozu (1903 – 1963) ปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fukagawa, Tokyo เป็นลูกคนรองจากพี่น้อง 5 คน ตอนเด็กๆชอบโดดเรียนไปดูหนังอย่าง Quo Vadis (1913), The Last Days of Pompeii (1913) กระทั่งได้รับชม Civilization (1918) ตัดสินใจโตขึ้นจะต้องกลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์, เรียนจบ ม.ปลาย อย่างยากลำบาก เพราะเป็นคนหัวช้า สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ไหนก็ไม่ติด โชคดีมีลุงเป็นนักแสดง ได้ทำงานกับสตูดิโอ Shochiku (ขัดขืนคำสั่งของพ่อ) เป็นผู้ช่วยตากล้อง กลับจากรับราชการทหารเลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ไม่นานได้กำกับหนังเงียบเรื่องแรก Sword of Penitence (1927) น่าเสียดายฟีล์มสูญหายไปแล้ว

นับตั้งแต่ที่ผู้กำกับ Keisuke Kinoshita สร้างหนังภาพสีเรื่องแรกของประเทศญี่ปุ่น Carmen Comes Home (1951) โปรดิวเซอร์ของ Shochiku ก็คะยั้นคะยอให้ Ozu ปรับเปลี่ยนตนเองสู่ยุคภาพสี พยายามดื้อรั้นหัวชนฝาอยู่นาน จนในที่สุดก็มิอาจต้านทาน

เลือกดัดแปลงนวนิยายชื่อเดียวกัน ผลงานของ Ton Satomi นามปากกาของ Hideo Yamanouchi (1888 – 1983) นักเขียนชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งมีอีกผลงาน Late Autumn ได้รับการดัดแปลงสู่ภาพยนตร์โดย Ozu ร่วมกับ Kōgo Noda (1893 – 1968) อีกเช่นกัน

Wataru Hirayama (Shin Saburi) นักธุรกิจสูงวัย ฐานะค่อนข้างมั่งคงดีมีลูกสาวสองคน วันหนึ่งชายหนุ่มแปลกหน้า Masahiko Taniguchi (รับบทโดย Keiji Sada) เดินทางมาหายังที่ทำงาน แล้วสู่ขอหมั้นหมายแต่งงานกับลูกสาวคนโต Setsuko Hirayama (รับบทโดย Ineko Arima) แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ทำให้เกิดความอ้ำอึ้งไม่รู้จักตอบว่ายังไง หนุ่มสาวสมัยนี้จะเร่งรีบร้อนรวดเร็วไปไหน ค่อยเป็นค่อยไปมันยากวุ่นวายอะไร?

นักแสดงส่วนใหญ่ของหนัง คงเป็นที่คุ้นหน้าคาดตา ขาประจำของ Ozu ก็จะขอกล่าวเอ่ยถึงเพียงคร่าวๆก็แล้วกัน
– Shin Saburi (1909 – 1982) สมัยยังหนุ่มเคยเป็นเทพบุตรสุดหล่อ ‘Matinee Idol’ เข้าสู่วงการภาพยนตร์โดยการชักชวนของ Ozu กลายเป็นขาประจำในผลงานอย่าง Brothers and Sisters of the Toda Family (1941), Tea Over Rice (1952), Equinox Flower (1958), Late Autumn (1960) ฯ ภาพลักษณ์นักธุรกิจ ผ่านร้อนหนาวมามากประสบการณ์ แม้จะเป็นหัวก้าวหน้าแต่หลายๆอย่างยังคงหัวโบราณคร่ำครึ ให้คำแนะนำผู้อื่นได้แต่พอประสบพบเจอเข้ากับตัวดันดื้อรันชนฝา แต่สุดท้ายก็ค่อยๆเรียนรู้จักปรับตัว เพราะมองเห็นเข้าใจสิ่งทรงคุณค่าที่สุดแห่งชีวิตของลูกๆตนเอง
– Kinuyo Tanaka (1909 – 1977) นักแสดงหญิงมากประสบการณ์ โด่งดังแจ้งเกิดก็ตั้งแต่หนังเงียบของ Ozu เรื่อง I Graduated, But… (1929), ช่วงทศวรรษ 50s สูงวัยขึ้นหันมารับบทแม่ ที่มักเป็นช้างเท้าหลัง มิอาจปฏิเสธขัดขืนหัวหน้าครอบครัว แต่ก็แสดงความรักต่อลูกๆ ไม่ว่าพวกเขาหรือเธอจะเป็นอะไรอย่างไร สามารถปรับตัวยินยอมรับอะไรๆได้ง่ายกว่า
– Ineko Arima (เกิดปี 1932) รับบท Setsuko ลูกสาวคนโตของครอบครัว มาเงียบๆแบบไม่มีใครล่วงรู้ แล้วจู่ๆแฟนหนุ่มก็ไปเปิดเผยตัวต่อพ่อ สร้างความตื่นตกตะลึงงัน แต่ก็ยืนยันคนนี้รักจริงหวังแต่ง ไม่คิดแปรเปลี่ยนผันเป็นอื่นต่อให้ใครจะว่ายังไง
– ไฮไลท์คือ Fujiko Yamamoto (เกิดปี 1931) ผู้ชนะ Miss Nippon คนแรกของประเทศญี่ปุ่น รับบท Yukiko Sasaki เพื่อนสนิทของ Setsuko ที่ยังเป็นสาวโสด ถูกแม่พยายามจับคู่หาสามีให้ แต่ก็ปฏิเสธหัวรั้นไม่ยอมตกลงปลงใจ ครั้งหนึ่งเล่นละครตบตาลุง Wataru หลอกล่อให้ครุ่นคิดว่าตนเองตกหลุมรักชายคนหนึ่งแต่แม่ไม่ยินยอมรับ ทำให้เขาอำนวยอวยพรแนะนำบอกว่าไม่ต้องสนใจ ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ มาเฉลยว่าแท้จริงแล้วต้องการดัดหลัง ‘ถอนหงอก’ ให้ความช่วยเหลือ Setsuko จนออกอาการอ้ำอึ้งกลืนน้ำลายตัวเอง

ถ่ายภาพโดย Yuharu Atsuta ตากล้องขาประจำของ Ozu,

โดยปกติแล้วฟีล์มสีในยุคสมัยนั้น ถ้าไม่มาจากบริษัท Kodak ก็ Fujifilm แต่ Ozu กลับเลือก Agfa (Agfa-Gevaert) ของประเทศเยอรมัน เพราะความอบอุ่นนุ่มนวลในสัมผัสสีส้ม สร้างความกลมกล่อมให้กับผลลัพท์โทนภาพที่ออกมา

เรื่องสไตล์คงไม่ต้องพูดถึง ใครรับชมหนังของ Ozu มาจำนวนหนึ่ง ย่อมสามารถจับทางออกได้อยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าได้ทำการลับมีดมาคมกริบ ทุกช็อตฉากมีความงดงามสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ

ลักษณะการถ่ายทำหนังของ Ozu มีความเป็นระเบียบ แบบแผน หรือเรียกว่า ‘Traditional’ เรียบง่ายแต่ทรงพลังตราตรึง ซึ่งว่าไปก็สะท้อนเข้ากับขนบธรรมเนียม วิถีวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น ซึ่งมักทำอะไรๆให้มีความเปะๆ ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน เข้าแถวซื้ออาหารไม่มีใครแซงคิว หนึ่งในไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่พลเมืองพร้อมใจปฏิบัติตามมารยาทสังคม เคารพสิทธิของผู้อื่นระดับนี้

หนึ่งในไดเรคชั่นที่พบเห็นบ่อยครั้งมากในหนัง เมื่อพ่อกลับมาถึงบ้านก็จะถอดเสื้อผ้า โยนลงพื้น แล้วให้แม่เก็บแขวน จัดระเบียบให้เข้าที่ ถ้าเป็นยุคสมัยนี้ คุณผู้ชายคงได้โดยภรรยาตบกลิ้ง แค่นี้ดูแลตนเองไม่ได้หรือยังไง! แต่วัฒนธรรมของญี่ปุ่นสมัยก่อนเป็นแบบนี้จริงๆ ผู้ชายคือช้างเท้าหน้า/หัวหน้าครอบครัว ย่อมถืออภิสิทธิ์ยินยอมรับได้ (คนไทยยุคสมัยก่อนๆก็ด้วยกระมัง) แต่อะไรๆก็กำลังปรับเปลี่ยนแปลงไปในในยุคสมัยของภาพยนตร์เรื่องนี้

Equinox Flower คือดอกไม้สีแดง (แต่ผมกลับไม่เห็นดอกพลับพลึงในหนังเลยนะ) ดังนั้นอะไรที่เป็นสีแดงปรากฎพบเห็นในหนัง มักต้องสอดแทรกแฝงนัยยะบางอย่างแน่นอน ซึ่งข้อสรุปของผมเองเท่าที่สังเกตได้ คือบางสิ่งอย่างที่มีอันตราย (หรืออาจก่อให้เกิดอันตราย) อาทิ
– กาต้มน้ำ, คือถ้ามันเดือด แล้วจับแบบไม่ระวังก็อาจโดนน้ำร้อนลวก ได้รับอันตราย
– ขวดสาเก, อันนี้แน่นอน ดื่มมึนเมา เป็นอันตรายต่อร่างกาย
– วิทยุ/ลำโพงของแม่, สร้างความรำคาญให้กับพ่อ
– ใครสวมชุด/กิโมโนสีแดง ก็มักเชื่อใจอะไรไม่ได้สักเท่าไหร่
– เก้าอี้นั่งในผับ Luna ออกสีส้มๆแดงๆ นี่ก็สถานที่ซุ่มเสี่ยง มอมเมา เป็นอันตรายต่อสังคมเช่นกัน

ถ้าเป็นช็อตปกติ ทุกคนในภาพนี้จะไล่เรียงตามลำดับ (เหมือนฝั่งขวา) เพื่อไม่ให้เกิดการซ้อนทับใบหน้า แต่ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่า ตัวละครของ Wataru Hirayama ที่อยู่ฝั่งซ้าย กลับนั่งอยู่นอกตำแหน่งคนอื่นเสียอย่างงั้น! นั่นย่อมมีนัยยะถึงความนอกคอก ผิดแผกแตกต่างจากพวก นั่นก็คือความคิดอ่านของเขา ที่ก็ไม่รู้ช้าล้าหลังหรือหัวก้าวหน้านำคนอื่น

ต้ดต่อโดย Yoshiyasu Hamamura, หนังทั้งเรื่องใช้มุมมองของ Wataru Hirayama ปรากฎตัวอยู่ทุกๆฉากในหนัง (ปกติหนังของ Ozu จะไม่จำเพาะเจาะจงขนาดนี้ แต่อาจเพราะนี่ดัดแปลงจากนวนิยาย และคงต้องการสื่อแทนตนเองเข้าไปในตัวละคร จึงให้เขาคือผู้ดำเนินเรื่องหนึ่งเดียว)

ความคมกริบในไดเรคชั่นตัดต่อ ‘สไตล์ Ozu’ จะมีการแบ่งเรื่องราวออกเห็นตอนๆ ทุก Sequence จะมีนำเข้า-ออก ในลักษณะเป็นวนรอบ เริ่มต้นด้วย Establish Shot และมักจบฉากด้วยภาพลักษณะเดิม (แบบมีอะไรเปลี่ยนแปลงต่างออกไปนิดหน่อย), สังเกตง่ายๆกับฉากงานแต่งงาน เริ่มต้นคู่บ่าวสาวและครอบครัวจะเดินผ่านห้องโถงจากซ้ายไปขวา และช็อตสุดท้ายของ Sequence ผู้เข้าร่วมงานเดินกลับจากขวาไปซ้าย

การตัดต่อของเรื่องนี้ หลายครั้งยังสอดแทรกอารมณ์ขันแบบกวนๆ อาทิ
– สองพนักงานทำความสะอาดรถไฟ กำลังพูดคุยนินทาถึงเจ้าสาว มีคำแซวว่าเธอผอมเกิ้น แล้วหนังตัดไปปรากฎป้าย ‘ระวังลมแรง’
– การพูดคุยสนทนาบางครั้งก็ยาวนานเกิ้น ขนาดว่าตัวละครขอไปเข้าห้องน้ำ แต่กลับกลายเป็นว่าพ่อ Wataru หนีเข้าห้องทำงานซะงั้น, ขณะที่เจ้าแม่ชิทแชท กลัวว่าไม่มีใครรู้เลยเอาไม้กวาดพื้นแขวนบนประตู (เพื่ออะไร??)

ฮาสุดของผมคือฉากนี้ ลูกน้องของ Wataru ถูกพาไปเลี้ยงเหล้าที่ร้าน Luna เพื่อซักถามถึงว่าที่เจ้าบ่าวของลูกสาว แต่กลับกลายเป็นว่าหมอนี่คือขาประจำ ทำท่าลุกรี้ลุกรน วันถัดมาก็ว่าจะไปผ่อนคลาย เจ้านายดันแวะมาที่ร้านอีกรอบ และวันถัดไปพูดบอกกับเพื่อนร่วมงาน ‘ช่วงนี้ให้ระวังตัว หัวหน้าอาจออกสอดแนมยามค่ำคืน’ ขณะจุดบุหรี่กำลัง ‘เล่นกับไฟ’ โดยไม่รู้ตัว

เพลงประกอบโดย Takanobu Saitō (1924 – 2004) คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่น มีผลงานหลากหลายแนว Orchestra, Chamber Music, ส่วนภาพยนตร์ร่วมงานกับ Ozu เท่านั้น

งานเพลงในหนังของ Ozu มีลักษณะเหมือนการแต่งแต้มสีสัน ให้สอดคล้องรับกันโทนของเรื่องราว ไม่โดดเด่นชัดจนเกินไป เน้นความกลมกลืนลื่นไหล ส่วนใหญ่มักดังขึ้นช่วงระหว่างเปลี่ยนฉาก ยกเว้นช่วงขณะสำคัญจริงๆ อย่างตอนแม่วิ่งขึ้นไปบอก Setsuko ว่าพ่อยินยอมร่วมงานแต่งงาน บทเพลงเรียบเรียงจาก H.R. Bishop: Home, Sweet Home ช่างมีความละมุ่นไม อาจทำให้หลายๆคนน้ำตาคลอซึม

ภาพรวมของ Equinox Flower คือหนังสไตล์ Ozu ที่มีความงดงาม กลมกล่อม ทุกองค์ประกอบลงตัว ซึ่งพอได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นภาพสี ก็ต้องชื่นชมเลยว่าเตรียมตัวมาดี เปิดโลกทัศน์ มอบสัมผัสใหม่ให้กับผู้ชม อึ้งทึ่งตื่นตราตะลึง สนุกสนานแฝงสาระข้อคิดการใช้ชีวิต ชี้แนะทางออกตอนจบ คนสูงวัยคงต้องทำใจ หนุ่มสาวก็ควรค่อยเป็นค่อยไป

ความขัดแย้งระหว่างหนุ่มสาว-สูงวัย ทั้งร้อยล้วนเกิดจากการเห็นแก่ตัว อีโก้สูงจัดของฝ่ายหนึ่งใด ฉันอยากได้แบบนี้ ใครจะทำไมไม่สนหัว! วิธีแก้ปัญหาหนึ่งเดียวเท่านั้นคือประณีประณอม ยินยอมเปิดใจรับ วางตัวเป็นกลาง หาจุดสมดุลความต้องการของทั้งสองฝั่ง จริงอยู่มันอาจเสียเวลา แต่ชีวิตมีอะไรต้องเร่งรีบร้อน

การเล่าเรื่องเพียงแต่ในมุมมองของพ่อ Wataru Hirayama อาจทำให้วัยรุ่นเซ็งอยู่ไม่น้อย เพราะมิได้นำเสนอความคิดอ่านของคนหนุ่มสาว เพียงต้องการปรับเปลี่ยนแปลงทัศนคติผู้สูงวัย ให้สามารถปรับตัวเข้ากับโลกยุคสมัยใหม่ได้ก็เท่านั้น … แต่ผมมีความเห็นต่างประเด็นนี้นะ สำหรับคนรุ่นหนุ่ม-สาว การรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้พวกเขาครุ่นคิดแทนผู้ใหญ่สูงวัย ถูกหนังสวมรอยดัดหลังถอนหงอก ถ้าฉันต้องตกอยู่ในสถานะเดียวกับตัวละคร มันคงยากลำบากตัดสินใจไม่น้อย นี่อาจก่อให้เกิดการ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ปรับเปลี่ยนแปลงโลกทัศนคติของวัยรุ่นได้เช่นกัน

หลายคนอาจมีความรู้สึกว่า เนื้อหาของหนังมีความเก่าแก่ โบร่ำโบราณ (ทศวรรษ 50s โน่นเลยน่ะ) แถมยุคสมัยปัจจุบันนี้ก็แตกต่างจากอดีตไปมาก แต่จะบอกว่าคุณค่าทางความคิดถือว่ามีความคลาสสิกไม่เสื่อมคลาย
– หนุ่ม-สาว คนรุ่นใหม่ ลองมองผู้สูงวัยที่บ้าน พวกเขายังคงมีหลายๆเรื่องราวดื้อรั้นหัวชนฝาในบางหรือเปล่า
– หรือผู้ใหญ่ที่ศีรษะเริ่มหงอกขาวร่วงโรย พบเห็นเด็กวัยรุ่นลูกหลาน ทำตัวเกินเลยกว่าตนเองจะรับได้บ้างหรือเปล่า

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แนวคิดที่แฝงซ่อนเร้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ สะท้อนข้อเท็จจริงของโลก ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างจากปัจจุบันสักเท่าไหร่ แค่พื้นหลังช่วงเวลามันอาจเก่าก่อนไปบ้าง แต่เชื่อเถอะว่าเสี้ยมสั่งสอน ชี้แนะนำ อะไรๆต่อใครๆได้เยอะแยะ ทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่นหนุ่มสาว

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดของหนัง คือความเพลิดเพลิน บันเทิงใจ แฝงสาระชักชวนให้ครุ่นคิดตาม งดงามสุดก็ไดเรคชั่น ‘สไตล์ Ozu’ รับชมต่อเนื่องคงเบื่อน่าดู นานๆทีย่อมดีกว่า ดื่มด่ำล้ำค่ากับ ‘ขุมสมบัติ’ แห่งวงการภาพยนตร์

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศทุกวัย

คำโปรย | “Equinox Flower ภาพสีเรื่องแรกของ Yasujirō Ozu สะท้อนทุกสิ่งอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเองและโลกใบนี้”
คุณภาพ | ละเมียดละไม
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: