State of Siege

State of Siege (1972) French, Italian, German : Costa-Gavras ♥♥♥♥♡

ชายชาวอเมริกันถูกเข่นฆาตกรรม (Political Assassination) หน่วยงานรัฐประกาศจัดงานศพสุดยิ่งใหญ่ แต่เขาคนนั้นคือใคร? มีความสำคัญใดต่อประเทศแถบละตินอเมริกัน? ซึ่งเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผยนั้น สามารถสั่นสะเทือนการปกครองระบอบประชาธิปไตย

แม้หนังจะไม่มีการระบุสถานที่พื้นหลัง เพียงกล่าวถึงคร่าวๆว่าอยู่แถบละตินอเมริกัน แต่สถานที่ถ่ายทำคือ Chile และเรื่องราวอ้างอิงจากความตายของ Dan Mitrione ชายชาวอเมริกันถูกเข่นฆาตกรรมในประเทศ Uruguay ซึ่งผกก. Costa-Gavras เต็มไปด้วยความฉงนสงสัยกับข่าวดังกล่าว เลยออกเดินทาง(สู่ Uruguay)ร่วมกับนักเขียน Franco Solinas (The Battle of Algiers) สืบค้นพบข้อสรุปบางอย่าง รังสรรค์ออกมาเป็นภาพยนตร์ State of Siege (1972)

ในขณะที่ Z (1969) และ The Confession (1970) ต่างนำเสนอเรื่องราวของคอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์ รัฐบาลเผด็จการทหาร, State of Siege (1972) นำเสนอการแทรกแซงทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในประเทศแถบละตินอเมริกัน ส่งชายคนหนึ่งผู้มีความรู้ความสามารถ แสร้งว่าเป็นเพียงที่ปรึกษาตำรวจ แท้จริงแล้วคอยชี้แนะนำการปกครองระบอบประชาธิปไตย เสี้ยมสอนวิธีจัดการพวกครุ่นคิดเห็นต่าง ต้องถูกจับกุม ทัณฑ์ทรมาน กำจัดให้พ้นภัยทาง … นี่นะหรือวิถีประชาธิปไตย(ของสหรัฐอเมริกา) แตกต่างจากเผด็จการตรงไหนกัน?

ผมรู้สึกว่า State of Siege (1972) คือส่วนผสมของทั้ง Z (1969) และ The Confession (1970) [เกือบจะโคลนนิ่งมาจาก The Battle of Algiers (1966)] ทั้งใจความและวิธีการนำเสนอ มีความตื่นเต้นลุ้นระทึก ไม่ใช่ whodunit แต่เป็น how-was-it-done สะท้อนบรรยากาศการเมืองโลกช่วงทศวรรษ 60s-70s ณ จุดสูงสุดสงครามเย็น ไม่ว่าประเทศแห่งหนไหนมันช่างหนาวเหน็บ อันตราย ความตายจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่เลวร้าย … จะมองเป็นภาคสาม ‘Political Thriller’ ของผกก. Costa-Gavras ก็ได้กระมัง


Costa-Gavras ชื่อเต็ม Konstantinos Gavras หรือ Κωνσταντίνος “Κώστας” Γαβράς (เกิดปี ค.ศ. 1933) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติกรีก เกิดที่ Loutra Iraias, Arcadia ประเทศกรีซ, บิดาเข้าร่วมกลุ่ม Greek Resistance ต่อต้าน Nazi ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ภายหลังสงครามรัฐบาลกลับตีตราว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ทำให้ถูกควบคุมขังในช่วง Greek Civil War (1946-49) ครอบครัวจึงจำต้องอพยพหลบลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกา โตขึ้นถึงสามารถกลับมาศึกษาต่อวรรณกรรม Université de Paris ตามด้วยภาพยนตร์ L’Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC), แล้วทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Jean Giono, René Clair, Henri Verneuil, Jacques Demy, René Clément, Jean Becker, จนมีโอกาสกำกับหนังเรื่องแรก The Sleeping Car Murder (1965) คดีฆาตกรรมบนรถไฟสไตล์ Hitchcock แต่ผสมผสานประเด็นการเมือง

สไตล์ของ Costa-Gavras เป็นส่วนผสม/วิวัฒนาการของ ‘political cinema’ ในช่วงทศวรรษ 60s-70s รับอิทธิพลจาก Francesco Rosi (Salvatore Giuliano, Hands over the City, The Moment of Truth), Gillo Pontecorvo (The Battle of Algiers) และ Elio Petri (The Tenth Victim, We Still Kill the Old Way, Investigation of a Citizen Above Suspicion)

Thriller is a way to tell a story about society. Political thrillers are movies about people in a particular situation. We call them thrillers because they are thrilling. It’s a spectacle in a different way. It gives us another possibility. Everything is political.

Costa-Gavras

ช่วงระหว่างเตรียมงานสร้าง The Confession (1970) ผกก. Costa-Gavras ได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Monde เกี่ยวกับการเสียชีวิตของ Dan Anthony Mitrione (1920-70) ชายชาวอเมริกัน ระหว่างปฏิบัติงานเป็นที่ปรึกษาสำนักงานตำรวจ (Office of Public Safety Chief Public Safety Adviser) ประจำประเทศ Uruguay ทั้งๆตำแหน่งก็ไม่ได้ดูสูงส่งอะไร แต่หลังจากถูกพาตัว/เข่นฆาตกรรมโดยกลุ่มเคลื่อนไหว Tupamaros กลับมีการจัดพิธีศพสุดยิ่งใหญ่ เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเข้าร่วมงานมากมาย

ด้วยความฉงนสงสัยว่า Dan Mitrione คือใคร? ผกก. Costa-Gavras เลยชักชวนนักเขียน Franco Solinas (The Battle of Algiers) ร่วมออกเดินทางสู่ประเทศ Uruguay สืบสวนสอบสวน ค้นหาข้อเท็จจริงต่างๆ นำมาพัฒนาสานต่อกลายเป็นภาพยนตร์ State of Siege (1972)

เรื่องราวของหนังเริ่มต้นที่ชายชาวอเมริกันถูกเข่นฆาตกรรม จากนั้นตั้งคำถามเขาคือใคร? (วิธีการเดียวกับ Citizen Kane (1942)) ผกก. Costa-Gavras ให้คำอธิบายเหตุผลว่าไม่ต้องการให้ผู้ชมหมกมุ่นอยู่กับความครุ่นคิด ตาย-ไม่ตาย เมื่อรับรู้ว่าหมอนี่ยังไงต้องเสียชีวิตแน่ๆ ความสนใจจะเปลี่ยนมาเป็นตายเพราะอะไร? ก่อนหน้านี้เคยอะไร? เขาคือใคร?

We start the movie with the American being killed, we see his burial, we see the ceremony. The idea was not to play with that idea: he will be killed or he won’t be killed. It was to follow the story a different way … Yes. He’s dead. But who is he, and what is he doing?

Costa-Gavras

ชายชาวอเมริกัน Philip Michael Santore ถูกค้นพบเสียชีวิตในรถคันหนึ่ง รัฐบาลประกาศจัดพิธีศพสุดยิ่งใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วมงานมากมาย ก่อนถูกนักข่าวตั้งคำถาม ชายคนนี้คือใคร?

เรื่องราวจากนี้จะเป็นการเล่าย้อนอดีต (Flashback) เริ่มต้นจากกลุ่มเคลื่อนไหว Tupamaro ทำการลักพาตัวบุคคลสำคัญๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวสมาชิกองค์กร และประธานาธิบดี Jorge Pacheco Areco ลาออกจากตำแหน่ง ขณะเดียวกันก็ทำการพูดคุยซักถามหนึ่งในบุคคลที่ถูกลักพาตัว Philip Michael Santore (รับบทโดย Yves Montand) ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดว่าชายคนนี้คือใคร มีที่มาที่ไป เคยกระทำอะไร และทำไมถึงหลบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังรัฐบาลชุดนี้


Yves Montand หรือ Ivo Livi (1921-91) นักร้อง นักแสดง สัญชาติ Italian-French เกิดที่ Monsummano Terme, Italy ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1923 ถูกขับไล่จากรัฐบาล Italian Fascist ครอบครัวจึงอพยพมาปักหลักอยู่ Marseilles, เริ่มต้นจากการเป็นนักร้องในผันบาร์ ก่อนได้รับการค้นพบโดย Édith Piaf เมื่อปี ค.ศ. 1944 ชักชวนให้มาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง พอเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง ก็เข้าสู่วงการภาพยนตร์ อาทิ The Wages of Fear (1953), Let’s Make Love (1960), Is Paris Burning? (1966), Grand Prix (1966), Z (1969), Le Cercle Rouge (1970), Le sauvage (1975), Jean de Florette (1986) ฯ

รับบท Philip Michael Santore ชายชาวอเมริกัน ก่อนหน้านี้เคยเป็นครูฝึกตำรวจ สอนทฤษฏี วิธีทัณฑ์ทรมาน จัดการผู้ก่อการร้าย ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองถูกส่งมาเป็นที่ปรึกษากรมตำรวจ ในหลายๆประเทศแถบละตินอเมริกา โดยใช้ตำแหน่งบังหน้า เจ้าหน้าที่องค์กร USAID (United States Agency for International Development) คอยดูแลการสื่อสารและงานจราจร แต่แท้จริงแล้วรับรู้จักคนใหญ่คนโต มีเส้นสายในคณะรัฐมนตรี สามารถแทรกซึมแนวคิด อุดมการณ์ ประชาธิปไตยในสไตล์สหรัฐอเมริกา

แม้ตัวตนของ Santore ได้รับการปกปิดเป็นอย่างดี แต่กลับถูกค้นพบโดยกลุ่มเคลื่อนไหว Tupamaros หรือ National Liberation Movement เลยทำการลักพาตัว เค้นสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเขาก็พยายามบ่ายเบี่ยง บิดเบือนทุกข้อกล่าวหา ถึงอย่างนั้นหลักฐานซึ่งๆหน้าก็มิอาจโต้แย้งเป็นอื่น คือบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมดที่บังเกิดขึ้นในประเทศแห่งนี้

ครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ ผมยังรู้สึกอึ้งทึ่ง ประหลาดใจการแสดงของ Montand ไม่ใช่แค่น้ำเสียงร้องเพลงระดับซุปเปอร์สตาร์ แต่ยังเป็นนักแสดงระดับคุณภาพ ดาวดาราค้างฟ้า ซึ่งครานี้วางมาดได้อย่างสุขุม ลุ่มลึก แม้ถูกลักพาตัวก็ไม่เคยตื่นตระหนัก พยายามสังเกต จดจำสิ่งต่างๆ โดนซักไซ้ไล่เรียงก็สามารถเบี่ยงเบน เลี่ยงตอบคำถาม ถ้าไม่ใช่จนมุมเพราะหลักฐาน ก็ไม่เคยเปิดเผยข้อเท็จจริงใดๆ นี่แสดงถึงอัจฉริยภาพ บุคลิกภาพผู้นำ ต้องเป็นบุคคลสำคัญ เจ้าหน้าที่ระดับสูง มีอำนาจในการตัดสินใจไม่น้อยทีเดียว

การเริ่มต้นด้วยความตายของชายคนนี้ ย่อมสร้างความฉงนสงสัย ผู้ชมรู้สึกสงสารเห็นใจ เกิดอคติต่อต้านพวกกลุ่มเคลื่อนไหว Tupamaros, แต่เมื่อความจริงหลายๆอย่างเริ่มเปิดเผย น่าจะทำให้หลายคนตระหนักถึงความโฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย สมควรแล้วที่ถูกเข่นฆาตกรรม, ถึงอย่างนั้นความตายก็หาใช่หนทางออกของปัญหา ขัดต่อหลักมนุษยธรรม ไม่มีใครอยากทำเช่นนั้น แต่เพราะความผิดพลาด และการยึดถือมั่นในอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างแรงกล้า มันจึงกลายเป็นโศกนาฎกรรม ที่แม้แต่เจ้าตัวก็ยังอับจนปัญหา ทำได้เพียงยินยอมรับโชคชะตา

สิ่งที่ผมรู้สึกอึ้งทึ่งที่สุดในการแสดงของ Montand คือวินาทีตระหนักถึงโชคชะตา รับรู้ว่าไม่มีหนทางแก้ปัญหา เข้าใจด้วยตนเองว่าจะต้องประสบพบเจออะไร ความแข็งกระด้าง เชื่อมั่นใจทั้งหลายพลันหมดสูญสิ้นไป นักโทษประหารชีวิตเฝ้ารอคอยวันตาย ต่อให้รับรู้ว่าตัวละครนี้ไม่ใช่คนดีสักเท่าไหร่ ก็ยังรับรู้สึกว่ามันคือโศกนาฎกรรม … บางคนอาจมองว่านั่นเป็นการเสียสละเพื่อชาติ ก็แล้วแต่อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันไปนะครับ


ถ่ายภาพโดย Pierre-William Glenn (เกิดปี 1943) ผู้กำกับ/ตากล้องชาวฝรั่งเศส เกิดที่ Paris โตขึ้นเริ่มจากเรียนคณิตศาสตร์ ก่อนเปลี่ยนมาฝึกฝนการถ่ายภาพ Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC) จากนั้นมีโอกาสเป็นผู้ช่วยตากล้อง William Lubtchansky, Jean Gonnet, ทำงานวงการโทรทัศน์อยู่หลายปี จนกระทั่งมีผลงานภาพยนตร์ Out 1 (1971), State of Siege (1972), Cousin Jules (1972), Day for Night (1973), Small Change (1976), A Little Romance (1979) ฯ

งานภาพของหนังมีความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน ด้วยเทคนิคแพนนิ่ง-ซูมมิ่ง-แทร็คกิ้ง ละม้ายคล้าย Z (1969) และ The Confession (1970) มันอาจมีมุมมอง/สัมผัสบางอย่างแตกต่างจาก Raoul Coutard แต่จิตวิญญาณของ ‘Political Thriller’ ยังคงความเป็นสไตล์ Costa-Gavras ไม่เสื่อมคลาย

สิ่งที่ต้องชื่นชมคือการกำกับนักแสดงหมู่มาก โดยเฉพาะอารัมบทถ่ายภาพมุมกว้าง ทหาร-ตำรวจปิดกั้นท้องถนน ปูพรมตรวจค้นประชาชน ติดตามหากลุ่มเคลื่อนไหว Tupamaros มุมกล้องเลียนแบบสายตากวาดมอง(แพนนิ่ง)ไปโดยรอบ จับจ้อง(ซูมมิ่ง)บุคคลต้องสงสัย ดูแล้วน่าจะใช้ตัวประกอบหลายร้อยอาจถึงหลักพันเลยกระมัง

จริงๆหนังสามารถเข้าไปถ่ายทำใน Uruguay แต่เหตุผลที่ผกก. Costa-Gavras เลือกประเทศ Chile เพราะได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดี Salvador Allende (1908-73, อยู่ในตำแหน่ง 1970-73) ถือเป็น Marxist คนแรกที่ชนะเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในแถบละตินอเมริกา (มีคำเรียก Democratic Socialist)

เกร็ด: การเข้าไปถ่ายทำใน Chile ก็ไม่ได้ราบลื่นนัก เพราะสมาชิกพรรค Chilean Communist Party แสดงความไม่เห็นด้วยสักเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นโปรเจคนี้มีประธานาธิบดีหนุนหลัง เลยไร้ปัญหาใดๆ


นี่ถือเป็นช็อตน่าสนใจที่สุดของหนัง ใครสักคนระบายสีแผนผังที่นั่งในสภา แบ่งแยกออกเป็นฝั่งขวา-ซ้าย อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม แสดงให้เห็นถึงวิถีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่แม้อ้างว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เสียง แต่แท้จริงนั้นรัฐสภาคือการใช้พรรคพวกพ้อง ใครมีเส้นสายจักสามารถกุมอำนาจ เสียงข้างมาก ทำอะไรๆได้ทุกสิ่งอย่าง โดยไม่จำเป็นต้องสนใจฟากฝั่งขั้วตรงข้าม

และสิ่งที่น่าตกตะลึงที่สุดก็คือนิตยสาร TIME และข้อความ ‘American’ วางรองกระดาษแผนผัง แฝงนัยยะถึงระบบรัฐสภาแห่งนี้ มีสหรัฐอเมริกาแอบซ่อนอยู่เบื้องหลัง!

ตัดต่อโดย Françoise Bonnot (1939-2018) สัญชาติฝรั่งเศส บุตรสาวของนักตัดต่อ Monique Bonnot ขาประจำผู้กำกับ Jean-Pierre Melville, เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยมารดาตัดต่อภาพยนตร์ Two Men in Manhattan (1959), ฉายเดี่ยวกับ Army of Shadows (1969), จากนั้นกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Costa-Gavras ตั้งแต่ Z (1969), The Confession (1970), State of Siege (1972), Special Section (1975), Missing (1982), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Tenant (1976), 1492: Conquest of Paradise (1992), Frida (2002), Across the Universe (2007) ฯ

หนังไม่ได้ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละครไหน แต่ใช้เหตุการณ์ลักพาตัวของกลุ่มเคลื่อนไหว Tupamaros เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีประกาศลาออกจากตำแหน่งในระยะเวลา 7 วัน เล่าเรื่องสลับไปมาระหว่างฟากฝั่งรัฐบาล vs. กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งระหว่างการซักไซ้ไล่เรียง Philip Michael Santore จะมีแทรกภาพเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) สำหรับเติมเต็มคำอธิบาย

  • อารัมบท,
    • ทหาร-ตำรวจ ปูพรมค้นหากลุ่มเคลื่อนไหว Tupamaros ก่อนพบเจอร่างผู้เสียชีวิต Philip Michael Santore
    • รัฐบาลประการจัดพิธีศพสุดยิ่งใหญ่ให้กับ Philip Michael Santore
  • เหตุการณ์ลักพาตัวบุคคลสำคัญ
    • กลุ่มเคลื่อนไหว Tupamaros ปฏิบัติภารกิจลักพาตัวบุคคลสำคัญ
    • นักข่าวสอบถามโฆษกรัฐบาล ว่าใครคือ Philip Michael Santore ที่ถูกลักพาตัว
  • การซักไซ้ไล่เรียง
    • หัวหน้ากลุ่มเคลื่อนไหว พูดคุยซักถาม สืบสาวราวเรื่องจาก Philip Michael Santore เปิดโปงตัวตนแท้จริง
    • ทหารตำรวจเริ่มต้นภารกิจปูพรมตรวจค้นหากลุ่มเคลื่อนไหว Tupamaros
  • การจับกุมผู้ก่อการร้าย
    • หลายวันผ่านไป ทหาร/ตำรวจสามารถพบเจอแหล่งกบดานของกลุ่มเคลื่อนไหว Tupamaros
    • จนสามารถจับกุมสมาชิกได้บางส่วน
  • การโต้ตอบของกลุ่มผู้ก่อการร้าย
    • สมาชิกที่สามารถเอาตัวรอด ตัดสินใจโต้ตอบขั้นเด็ดขาด
    • หลังจากได้รับความเห็นชอบ ทำการเข่นฆาตกรรม Philip Michael Santore
  • ปัจฉิมบท
    • หวนกลับมางานศพสุดยิ่งใหญ่ของ Philip Michael Santore
    • ชายชาวอเมริกันคนใหม่ กำลังลงจากเครื่องบิน เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทน Philip Michael Santore

เพลงประกอบโดย Michail “Mikis” Theodorakis, Μιχαήλ “Μίκης” Θεοδωράκης (1925-21) คีตกวีสัญชาติกรีก เกิดที่ Chios, Second Hellenic Republic ตั้งแต่เด็กค้นพบความหลงใหล Greek Folk Music เริ่มหัดแต่งเพลงด้วยตนเอง ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอาสาสมัครกองหนุน Greek People’s Liberation Army (ELAS), หลังสงครามถูกตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์เลยโดนจับกุม ทัณฑ์ทรมาน เมื่อได้รับการปล่อยตัวเข้าศึกษา Athens Conservatoire ต่อด้วย Conservatoire de Paris จากนั้นเริ่มแต่งเพลง Symphony, Concerto, Bellet, เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Zorba the Greek (1964), Z (1969), Serpico (1973) ฯ

เมื่อปี ค.ศ. 1971, Theodorakis เคยได้รับเชิญจากปธน. Salvador Allende เดินทางสู่ Chile เพื่อแสดงคอนเสิร์ต พบปะผู้คนในแวดวงดนตรี พักอาศัยอยู่หลายเดือนเพื่อศึกษาเรียนรู้ ซึมซับวัฒนธรรม นำแรงบันดาลใจกลับมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ State of Siege (1972)

ใครเคยรับชม Z (1969) จะรับรู้ว่างานเพลงของ Theodorakis ไม่ได้เน้นสร้างบรรยากาศให้กลมกลืน แต่จะมีความโดดเด่นชัดเจน แฝงนัยยะซ่อนเร้น และทำออกมาให้มีความตื่นเต้น รุกเร้าใจ แสดงออกทางอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา เพื่ออารัมบทเข้าสู่เหตุการณ์นั้นๆ

ทุกบทเพลงของหนังจะมีเสียงเครื่องเป่าคล้ายขลุ่ยโดดเด่นดังขึ้นมา ไม่แน่ใจว่าคือเครื่องดนตรีพื้นบ้านละตินอเมริกันหรือเปล่านะ ซึ่งเสียงของเครื่องดนตรีนี้มันจะแฝงความโหยหวน คร่ำครวญ บางครั้งท่วงทำนองสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ ยกตัวอย่าง Main Theme คลอประกอบพื้นหลังด้วยเสียงรัวกลอง ตระเตรียมพร้อมภารกิจบางอย่าง

American เริ่มต้นด้วยเสียง Harmonica เครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของ American West นึกถึงยุคคาวบอย ซึ่งมีความป่าเถื่อน อันตราย ความตาย นั่นคือทัศนคติของหลายชนชาติต่อสหรัฐอเมริกา แม้พานผ่านยุคสมัยนั้นมา แต่สันดานธาตุแท้ยังคงฝังลากลึก นำความรุนแรงแพร่ขยายอิทธิพล แทรกซึมเข้ามายังนานาอารยะประเทศผ่านอุดมการณ์ประชาธิปไตย

บทเพลงของกลุ่มเคลื่อนไหว Tupamaros หรือ National Liberation Movement ต่อต้านรัฐบาลประธานาธิบดี Jorge Pacheco เพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ไม่ต้องการให้ Uruguay ถูกแทรกแซงโดยสหรัฐอเมริกา, เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองเปรียบดั่งรุ่งอรุณ พระอาทิตย์สาดทอแสงยามเช้า ปลุกตื่นผู้คนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ มุ่งสู่เป้าหมายคณะปฏิวัติ สักวันต้องได้รับชัยชนะ ปลดแอกประชาธิปไตยที่แท้จริง

ความหมายของ State of Siege คล้ายๆการประกาศสภาวะฉุกเฉิน (Curfew) คือสถานการณ์ที่รัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจออกคำสั่ง ต้องการควบคุมกิจกรรม/การเคลื่อนไหวของประชาชน ไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ เคหะสถานยามวิกาล บังคับใช้กฎหมายเข้าจัดการบุคคลต่อต้านเห็นต่าง

ถ้ายึดตามความหมายดังกล่าว สถานการณ์ ‘State of Siege’ ของหนังมีระยะเวลาทั้งหมด 7 วัน เริ่มตั้งแต่กลุ่มเคลื่อนไหว Tupamaros ทำการลักพาตัวบุคคลสำคัญๆ เรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่ง ทำให้รัฐบาลประกาศสภาวะฉุกเฉิน ส่งเจ้าหน้าที่ทหาร/ตำรวจ ปูพรมออกติดตามค้นหา ปิดท้องถนนเพื่อตรวจสอบผู้คนผ่านไปมา

แต่ผมมองอีกความหมายหนึ่งของ ‘State of Siege’ คือสถานะรัฐที่ถูกยึดครอง อำนาจภายนอกเข้าแทรกแซง ใครบางคนหลบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลาย คอยชี้นิ้ว ออกคำสั่ง ควบคุมครอบงำ โดยใช้ข้ออ้างหลักการประชาธิปไตย แต่แท้จริงสนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ และคานอำนาจอุดมการณ์การเมืองขั้วตรงข้าม

State of Siege (1972) เป็นภาพยนตร์ที่ทำการเปิดโปงธาตุแท้ระบอบประชาธิปไตย(ของสหรัฐอเมริกา) ปากอ้างว่าประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียม แต่ลับหลังกลับคอยเชิดชัก ควบคุมครอบงำประเทศพันธมิตร เสี้ยมสอนวิธีจัดการกลุ่มเคลื่อนไหว บุคคลครุ่นคิดเห็นแตกต่าง แทรกซึมเข้ามาในระบบราชการ อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทุกสิ่งอย่าง

เมื่อตอนเสร็จสร้าง Z (1969) คนส่วนใหญ่กล่าวหาผกก. Costa-Gavras ว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์, หลังจาก The Confession (1970) ก็เปลี่ยนฝั่งมาเป็นพวกต่อต้าน(คอมมิวนิสต์), พอมาถึง State of Siege (1972) กลับกลายเป็นศัตรูระบอบประชาธิปไตย สรุปแล้วชายคนนี้อยู่ขั้วการเมืองไหนกันแน่? … ทัศนคติดังกล่าวแสดงให้เห็นมุมมองอันคับแคบของผู้มีอุดมการณ์สุดโต่งทางการเมือง ใครไม่ใช่มิตรย่อมถือเป็นศัตรู คนที่เขาอยู่ทางสายกลางก็มีเหมือนกัน อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม, คอมมิวนิสต์-ประชาธิปไตย, ล้วนมีดี-ชั่วในตนเอง

แต่สิ่งที่ผกก. Consta-Gavras ยินยอมรับไม่ได้คือการใช้ความรุนแรง ลักพาตัว ทัณฑ์ทรมาน และโดยเฉพาะเข่นฆ่าสังหาร เพราะทุกชีวิตล้วนมีความสำคัญ กว่าจะถือกำเนิด เติบโต มนุษย์ทุกคนควรได้รับโอกาส ต่อให้เป็นบุคคลโฉดชั่วร้าย ก็ไม่สมควรต้องโทษตายเพื่ออุดมการณ์การเมือง!

เกร็ด: Michèle Ray-Gavras ภรรยาของผกก. Consta-Gavras ทำงานเป็นนักข่าวต่างประเทศ ช่วงปลายปี ค.ศ. 1971 เดินทางสู่ Uruguay เพื่อทำข่าวเลือกตั้งทั่วไป แล้วจู่ๆถูกลักพาตัวโดยกลุ่มลัทธิอนาธิปไตย OPR-33 ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน ก่อนได้รับการปล่อยตัว 3 ธันวาคม ค.ศ. 1971 นี่ไม่น่าจะแค่ความบังเอิญหรอกนะ!

เอาจริงๆผมว่า Z (1969), The Confession (1970) และ State of Siege (1972) สามารถมัดรวมไตรภาค ‘Political Thriller’ ของผกก. Costa-Gavras ได้เลยนะ! ต่างนำเสนอความสุดโต่ง ด้านมืดของอุดมการณ์การเมือง ตีแผ่ความคอรัปชั่น การใช้อำนาจในทางมิชอบ สหรัฐอเมริกา vs. สหภาพโซเวียต ไม่ได้ดี-ชั่วกว่ากันสักเท่าไหร่ สงครามเย็นน่าจะเลวร้ายยิ่งกว่าสงครามโลกครั้งที่สองอีกกระมัง


ด้วยความเป็นหนังร่วมทุนสร้างหลายประเทศ การออกฉายจึงไล่เรียงจาก West German (ธันวาคม ค.ศ. 1972), France (กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1973), Italy (มีนาคม ค.ศ. 1973), ส่วนในสหรัฐอเมริกา ดั้งเดิมจะเข้าฉายยัง John F. Kennedy Center ณ Washington, D.C. ในงานเทศกาลหนังของ American Film Institute แต่ถูกยกเลิกเพราะผู้อำนวยการสถาบัน/ผกก. George Stevens มองว่าเรื่องราวเกี่ยวกับการลอบสังหาร ยังมีความละเอียดอ่อนเกินไปในยุคสมัยนั้น ผลลัพท์ทำให้ผู้กำกับมากมายขอถอนตัว ไม่นำหนังเข้าฉายเทศกาลดังกล่าว (หนึ่งในนั้นก็คือ François Truffaut)

  • Golden Globe Award: Best Foreign Film พ่ายให้กับ The Pedestrian (1973) จากประเทศ West Germany
  • BAFTA Award
    • Anthony Asquith Award for Film Music
    • UN Award **คว้ารางวัล

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 2K ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Costa-Gavras เมื่อปี ค.ศ. 2014 (พร้อมๆกับ Z (1969) และ The Confession (1970)) สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel

ส่วนตัวชื่นชอบหนังอย่างมากๆ ประทับใจในเล่ห์เหลี่ยมการให้ปากคำของ Yves Montand โดยเฉพาะตอนที่เขารับรู้ตัวเองว่าไร้หนทางออก เข้าใจเหตุผลของทั้งสองฟากฝั่ง จำต้องยินยอมรับความโชคชะตากรรม นั่นถือเป็นโศกนาฎกรรมจากอุดมการณ์ทางการเมือง เศร้าสลดหดหู่ กล้ำกลืนฝืนทน ท้าทาสามัญสำนึกผู้ชมได้อย่างทรงพลัง

ในแง่ความตื่นเต้นลุ้นระทึก State of Siege (1972) อาจไม่ตราตรึงเทียบเท่า Z (1969) แต่ผมเชื่อว่าหนังจะสร้างความตระหนักถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา มันหาได้ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ ผิดแผกแตกต่างจากคอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์ เผด็จการสักเท่าไหร่ … ไม่ว่าจะระบอบการปกครองใด ล้วนเต็มไปด้วยผลประโยชน์เคลือบแอบแฝง บุคคลคิดคดคอรัปชั่นด้วยกันทั้งนั้น!

จัดเรต 18+ ลักพาตัว ทัณฑ์ทรมาน การเมืองแทรกแซง ความคอรัปชั่นของรัฐบาล

คำโปรย | การแทรกแซงทางการเมืองใน State of Siege สร้างความกล้ำกลืน ขมขื่น ประชาธิปไตยจอมปลอม
คุณภาพ | กล้ำลื
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: