The Evil Dead 2

Evil Dead II (1987) hollywood : Sam Raimi ♥♥♥♥

นี่คือผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Sam Raimi ภาคต่อกึ่ง remake ที่ดูเหมือนแนว Horror Comedy แต่ได้แปรสภาพเป็น Surrealist เพราะความเว่ออลังการของ Special Effect ทั้งหลาย, และภาพลักษณ์ของตัวละคร Bruce Campbell ในบท Ash นับแต่ภาคนี้ ได้รับยกย่องให้เป็น Superhero แห่งจักรวาลของหนัง Horror

ความเว่อของผีอมตะภาคนี้ ซอมบี้ลุกขึ้นจากหลุมเต้นระบำใต้แสงจันทร์, สต๊าฟหัวกวางที่อยู่ดีๆหันมาหัวร่อกับพระเอก, ยิงปืนถูกผนังกำแพงแล้วเลือดพุ่งราวกับเขื่อนแตก แถมอยู่ดีๆเปลี่ยนเป็นสีดำ ฯ ความน่าฉงน น่าขยะแขยง อะไรว่ะของหนังเรื่องนี้ คิดให้ตายก็ขบไม่ออกว่ามีนัยยะสื่อความหมายอะไร จากที่แค่เคยสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก Expressionist ออกมาจากภายใน ผมมองว่าหนังได้ก้าวผ่านจุดนั้น กลายเป็น Surrealism ลัทธิเหนือจริงไปเรียบร้อยแล้ว

คุณอาจจะคิดว่า หนังมันก็เหมือนแนว Horror สยองขวัญทั่วไป ความเว่อๆทั้งหลายก็เพื่อขับเน้น ทวีให้ผู้ชมรู้สึกขยะแขยง ขนหัวลุกพอง ท้องไส้ปั่นป่วน แต่เพราะการแทรกใส่ Comedy ที่เป็นอารมณ์ขัดแย้งเข้ามาด้วย แทนที่จะหวาดกลัวสยดสยองกลับหัวเราะขบขัน คิดว่ามันผิดแปลกจากปกติไหมละครับ

นี่แตกต่างกับ Dawn of the Dead (1978) ของผู้กำกับ George A. Romero มากๆเลยนะ รายนั้นทำการเปลี่ยนมุมมองแนวคิด วิธีการนำเสนอ มองโลกกลับตารปัตร จากเครียดชิบหายใน Night of the Living Dead (1968) แทบจะไม่มีความ Horror น่าสะพรึงกลัวหลงเหลืออยู่ในภาคต่อ, แต่กับ Evil Dead 2 แนวคิด วิธีการนำเสนอ ความขยะแขยงสยดสยองยังคงอยู่ เพียงเพิ่มใส่องค์ประกอบ Comedy เข้าไป นี่ไม่ใช่การมองโลกกลับตารปัตร แต่เป็นการแปรสภาพสู่ความขบขัน ตลกร้าย

หลังเสร็จจาก The Evil Dead (1981) ภาพยนตร์เรื่องต่อไปของ Sam Raimi คือ Crimewave (1986) ร่วมพัฒนาเขียนบทกับสองพี่น้อง Coen Brothers ด้วยทุนสร้างที่สูงถึง $2.5 ล้านเหรียญ ทำให้สตูดิโอมีความหวั่นวิตกไม่เชื่อมือผู้กำกับหน้าใหม่ เข้าแทรกแซงการทำงานอย่างมาก แถมปิดกั้นไม่ยอมให้เข้าห้องตัดต่ออีกต่างหาก ผลลัพท์ออกมา หนังทำเงินได้เพียง $5,101 เหรียญ ขาดทุนย่อยยับ คำวิจารณ์ระดับหายนะ ชื่อเสียงที่อุตส่าห์สร้างมาดับสิ้นสูญสลายลงทันที

Raimi ที่หมดอาลัยสิ้นหวังในชีวิต ได้รับคำโน้มน้าวจาก Irvin Shapiro ให้สร้าง Evil Dead ภาคต่อออกมา ในตอนแรกส่ายหัวปฏิเสธแต่ก็ยินยอมคล้อยตาม พัฒนาพล็อตภาคต่อให้ Ash เดินทางย้อนเวลาสู่ยุค Middle Age ต่อสู้กับต้นกำเนิด Evil Dead แต่เพราะประเมินทุนสร้างไว้สูงถึง $4 ล้านเหรียญ หาเงินได้ไม่ถึงจำต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องราวใหม่หมด (กระนั้นพล็อตนี้ก็ถูกนำไปสานต่อใน Army of Darkness (1992) หนังปิดไตรภาค Evil Dead)

ช่วงระหว่างหาทุนสร้าง Raimi ได้มีโอกาสพบกับโปรดิวเซอร์รุ่นใหญ่ Dino De Laurentiis ที่ได้ชักชวนให้กำกับหนังดัดแปลงจากนิยายของ Stephen King เรื่อง Thinner แต่เจ้าตัวบอกปัดปฏิเสธเพราะกำลังเตรียมงานสร้าง Evil Dead ภาคใหม่อยู่ ซึ่งพอเรื่องนี้ไปเข้าหู King ที่ว่ายังหาทุนสร้างไม่ได้ โทรศัพท์กริ๊งเดียวหา De Laurentiis ให้ช่วยสนับสนุนชายหนุ่มคนนี้หน่อย เพราะความชื่นชอบประทับใจใน The Evil Dead (1981) ภาคแรกเป็นอย่างมาก ซึ่งปู่แกก็ได้หาทุนมาให้ $3.6 ล้านเหรียญ อย่างที่บอกไม่เพียงพอในความตั้งใจแรก จำต้องเปลี่ยนแผน ครุ่นคิดพัฒนาเรื่องราวขึ้นใหม่ ให้เพียงพอกับเงินทุนที่ได้รับมา

ด้วยความต้องการให้เป็นหนังภาคต่อ แต่ถ้าหวนระลึกให้ดีจะพบว่า Book of the Dead ในภาคแรกได้ถูกทำลายสิ้นสภาพไปแล้ว จะเป็นไปได้ยังไงที่ผีปีศาจจะหวนคืนกลับมา ครุ่นคิดหัวแทบแตกร่วมกับเพื่อนสมัยเรียน Scott Spiegel ได้ข้อสรุปว่าจะทำเป็นกึ่งๆ remake เปลี่ยนแปลงตอนจบของภาคแรก คิดจะนำฟุตเทจของภาคแรกมาใช้แต่ติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ด้วยเหตุนี้ 10 นาทีแรกของหนังจึงเป็นการ remake ถ่ายทำใหม่ เรื่องราวเดิม รวบย่อตัดตอนให้เหลือแค่สองตัวละคร Ash กับ Lydia พอหญิงสาวถูกเข้าสิง ตัดคอ นำไปฝังดิน เรื่องราวของหนังภาคใหม่ถึงได้เริ่มต้นขึ้น

เราจะเรียกหนังแบบนี้ว่าอะไรดีละ กึ่งสร้างใหม่ (semi-Remake) ก็เพิ่งเคยพบเจอกับเรื่องนี้แหละ ที่ใช้ Prologue ทำการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวของหนังภาคก่อน เพื่อให้สามารถดำเนินเรื่องต่อในหนังภาคใหม่ได้

Bruce Campbell กลับมารับบท Ashley James ‘Ash’ Williams ในภาคนี้ตัดความขี้ขลาดเขลาทิ้งไป กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ ปฏิภาณไหวพริบเต็มเปี่ยม ผสมโชคเข้าข้างด้วยตอนที่กลายร่างเป็น Evil Ash ทั้ง 2.5 ครั้ง สามารถเรียกสติหวนคืนกลับมาเป็นปกติได้ (ครั้งที่ .5 คือตอนวิญญาณร้ายเข้าสิงเพียงมือขวา ไม่ใช่ทั้งตัว)

ใบหน้าของ Campbell เห็นช็อต Close-Up ทีไรมักตัวสั่นๆ ทำตาโตลุกโพลง ชอบเลิศคิ้วทำหน้าพิศวง เกร็งหน้าเกร็งคาง เวลาหัวเราะตกใจก็อ้าปากกว้างสุดๆ ให้มีลักษณะเหมือนคนซีเรียสจริงจัง อารมณ์ Extreme ตลอดเวลา, แต่นั่นยังไม่เท่าหลังจากตัดมือ (ฉากที่สู้กับมือตนเองนี่เป็นไฮไลท์การแสดงของ Campbell เลยนะครับ) พบเจอกับเลื่อยไฟฟ้า นำมามัดผูกติดแทน และปืนลูกซองที่ยาวเกินไป ตัดหัวออกเอาเหน็บห้อยไว้ด้านข้างหลัง เลิศคิ้วแล้วพูดว่า Groovy นี่เป็นภาพลักษณ์ที่โคตรเท่ห์ระเบิด นิตยสาร Empire โหวตตัวละครนี้ ‘greatest movie character of all time’ ติดอันดับ 24

ภาพลักษณ์ที่ว่ามานี้ถึงดูจริงจัง เท่ห์ระเบิด Superhero แต่กลับเหมือนตัวตลก ราวกับออกมาจากหนังสือการ์ตูน เรียกเสียงหัวเราะลั่นให้กับผู้ชมได้อย่างสุดเหวี่ยง เพราะกับเหตุการณ์บ้าบอคอแตกที่เกิดขึ้นนี้ เมิงจะเท่ห์ทำพรือ! ไม่ดูตาม้าตาเรือ สถานการณ์ที่ตัวเองตกอยู่เลยหรือไง ถึงจะเลวร้ายแค่ไหนก็ขอให้หล่อเท่ห์ดูดีไว้ก่อน

สำหรับนักแสดงสมทบอื่น … ส่วนใหญ่คัดเลือกมาแบบไม่ค่อยสนใจฝีมือการนัก ล้วนเป็น Stereotype ก็แบบที่ใครๆคาดเดาได้อยู่แล้วว่าต้องเป็นอย่างไร ขอไม่พูดถึงแล้วกัน

ผู้กำกับ Raimi มี Cameo ช่วงท้ายของหนัง หนึ่งในนักรบชุดเกราะ ที่กล่าวสุนทรพจน์ว่า

“Hail he who has come from the skies to deliver us from the terrors of the deadites!”

โปรดิวเซอร์ De Laurentiis ชอบที่จะให้หนังในสังกัดถ่ายทำใกล้ๆสตูดิโอ Wilmington Studio แต่ทีมงานมีความหวาดหวั่นวิตก (กลัวการแทรกแซงแบบโปรเจคก่อน) จึงเลือกสถานที่ถ่ายทำ Wadesboro, North Carolina ห่างไปประมาณ 3 ชั่วโมงเดินทาง ที่ซึ่ง Steven Spielberg ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่อง The Color Purple (1985)

ถ่ายภาพโดย Peter Deming ตากล้องสัญชาติอเมริกายอดฝีมือ ขาประจำของ Raimi, David Lynch, Wes Craven มีผลงานอย่าง Scream 2 (1997), Austin Powers (1997), Mulholland Drive (2001), Drag Me to Hell (2009), The Cabin in the Woods (2012), Oz the Great and Powerful (2013), Twin Peaks (2017), New Mutants (2018) ฯ

ด้วยงบประมาณที่สูงขึ้น ทำให้หนังได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นในการถ่ายทำ สามารถเช่ากล้อง Steadicam หรือรางเลื่อน เครน เพื่อให้การถ่ายทำมีความสะดวกสบายขึ้น ซึ่งก็ทำให้เกิดช็อต Tracking ในตำนานระดับ Masterpiece อยู่หลายครั้งเลยละ

มุมมอง POV สวมวิญญาณผีปีศาจ (Evil Force)
– กล้องเคลื่อนผ่านป่าดงพงไพร และรถยนต์ที่จอดอยู่ ทะลุจากกระจกหลังออกสู่กระจกหน้าเคลื่อนไปถึงหน้ารถ … น่าพิศวงมากว่าถ่ายทำได้อย่างไร
– กล้องเคลื่อนมาจากป่า พอ Ash หันมาเห็นก็รีบวิ่งหนีหางจุกตูดเข้าไปในบ้าน ผ่านประตูหน้าต่าง กระแทกผ่านประตูหน้าต่าง เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา หมุนๆๆ จนสุดท้าย … โห! ฉากนี้ผมอ้าปากค้างเลยละ เป็น long-take ที่หัวใจแทบวาย ลากยาวไปขนาดนั้นได้ยังไง!

สำหรับเทคนิคการถ่ายภาพอื่นๆก็ยังอยู่ครบ ไม่ย่อหย่อนไปจากภาคแรก อาทิ ซ้อนภาพ (Exposure) เห็นวิญญาณผี, Tracking, Panning, Whip-Pan, Zooming, หมุนกล้อง, Reverse Shot, Stop Motion, Point Of View, มุมก้มเงย เอียงกระเท่เร่ (Dutch Angle) 180 องศา ฯ เพิ่มเติมคือ Visual Effect อุโมงค์ย้อนเวลาช่วงท้าย

เชื่อว่าหลายคนอาจเพิ่งเริ่มหลุดหัวเราะ เข้าใจว่านี่เป็นหนัง Horror Comedy เมื่อถึงฉาก ‘laughing room’ ราวกับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวของ Ash (แบบตอนท้ายของภาคแรก) มุมกล้องจะเอียงกระเท่เร่ (Dutch Angle) เริ่มจากหัวสต๊าฟกวางหันมาหัวเราะ (ก็ไม่รู้ทำยังไงนะครับ ใช้ CG ช่วยกระมัง) ตามด้วยโคมไฟ ถ้วยชาม นาฬิกา โซฟา ทุกอย่างจะขยับไปมา พร้อมเสียงหัวเราะ Sound Effect เหมือนจะหัวเราะเยาะเย้ยสมน้ำหน้าพระเอกที่ยังดื้อด้านมีชีวิตอยู่ ราวกับคนเสียสติทำให้เขาต้องหลุดหัวเราะออกมาด้วย, ถ้าถึงฉากแล้วคุณยังขำไม่ออก แนะนำให้เลิกดูเสียทันทีเลยนะครับ อย่าฝืนตัวเองในสิ่งที่ไม่ใช่รสนิยม เพราะมันอาจทำให้คุณต่อต้านแนวหนังนี้ไปโดยสิ้นเชิง

เผื่อคนไม่ได้สังเกต หลังจากที่ Ash ตัดมือของตัวเอง เขาเอาใส่กล่องอะไรสักอย่างแล้วหยิบหนังสือวางทับ เล่มบนสุดมีชื่อว่า A Farewell to Arms (1929) เขียนโดยนักเขียนสัญชาติอเมริกา Ernest Hemingway, คำว่า Arms ของหนังสือเล่มนี้แปลว่า อาวุธ/กองทัพ แต่หนังนำมาล้อเลียนสื่อความหมายถึง มือที่จากไปของ Ash

เช่นกันกับถุงมือของ Freddy Krueger จากหนังเรื่อง A Nightmare on Elm Street (1984) จะเห็นแอบซ่อนแขวนอยู่บนผนังพื้นหลังในห้องเก็บของ นี่ถือเป็นการคำนับขอบคุณ เพราะหนังเรื่องนั้นก็มี in-jokes เปิดฉาย Evil Dead ภาคแรกในรายการโทรทัศน์

หนังยังคงใช้เทคนิค Fake Shemps เพื่อไม่ให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าตัวของนักแสดงหลัก ใช้เพื่อน/ทีมงาน/หาข้ออ้างจ่ายค่าตัวถูกๆ อย่างน้องชายผู้กำกับ Ted Raimi, นักเขียนบท Scott Spiegel ฯ จับมาแต่งหน้าทำ Make-Up Special Effect เข้าฉากที่เมื่อนักแสดงหลักกลายเป็นผีปีศาจไปแล้ว

เกร็ด: มีตัวหนึ่งที่เป็นหนูจริงๆในหนัง พบเจอระหว่างถ่ายทำเก็บภาพไว้ได้ ชอบโผล่ออกมาวิ่งเล่น ทีมงานตั้งชื่อให้ว่า Señor Cojones (ภาษาสเปน เป็นคำแสลงแปลว่า testicles)

ตัดต่อโดย Kaye Davis, หนังใช้มุมมองของ Ash เป็นหลัก แต่ถ้าให้ฉายเดี่ยวคนเดียวตลอดทั้งเรื่องคงมากเกินไปหน่อย เลยต้องสร้างกลุ่มของตัวละครสติปัญญาต่ำๆเข้ามา ให้ผีปีศาจได้เข้าใช้บริการยึดร่างยืดระยะเวลาออกไปได้อีกหน่อย และใส่เหตุผลรองรับกับบุคคลที่เป็นต้นตอของเรื่องราว Flashback ศาสตราจารย์เจ้าของกระต๊อบหลังนี้ ที่ได้ทำการทดลองบางอย่างผิดพลาด และลูกสาวที่เพิ่งลงมาจากเครื่องกำลังเดินทางไปหา

อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น นี่ไม่ใช่เรื่องราวความตั้งใจของผู้กำกับตั้งแต่แรก ต้องการพาพระเอกย้อนเวลาไปยุคกลาง (ที่ไหนสักแห่ง) แต่เมื่อมันยังไปไม่ได้ถึงจุดนั้น จำเลยพัฒนาเรื่องราวที่สามารถมุ่งตรงไปสู่, ตอนผมเห็นมีการพูดถึงฮีโร่ตกมาจากฟากฟ้าในหนังสือ Book of the Dead นี่เป็นการพยากรณ์ตอนจบของหนังชัดเจนมากๆ เชื่อว่าหลายคนคงเดาได้ไม่ยาก

สำหรับเทคนิคการตัดต่อจะไม่ค่อยเป็น Montage มากเหมือนภาคแรก แต่ยังคงเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ จากฟุตเทจจำนวนมากมายมหาศาล เกิดการตัดต่อที่รวดเร็ว เร่งเร้าอารมณ์ ฉับไว, Post-Production หมดเวลาไปกับการสร้าง Visual Effect ช่วงท้ายเป็นส่วนใหญ่ (ภาคแรกเสียเวลาไปกับ Stop Motion แต่ภาคนี้เสียเวลากับ Visual Effect แทน)

เพลงประกอบโดย Joseph LoDuca ที่หวนกลับมาทำเพลงให้อีกครั้ง คราวนี้เห็นว่าตั้งใจมากๆ แต่ผลลัพท์บอกตามตรงไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ (ผมค่อนข้างชอบภาคแรกกว่ามาก) ไม่รู้ภาคนี้สื่อสารอะไรผิดกับผู้กำกับหรือเปล่า เพราะโทนเพลงออกมาซีเรียส จริงจัง หนักแน่น ทรงพลัง ทั้งๆที่ควรจะมีกลิ่นอาย Comedy แฝงอยู่บ้าง แต่กลับไม่มีสัมผัสนั้นผสมอยู่เลย

สิ่งที่หายไปอย่างน่าผิดหวังสุดๆในงานเพลงคือ สไตล์ดนตรีของ Krzysztof Penderecki หรือไม่รู้เพราะหนังไม่มีจังหวะกรีดกรายกรี๊ดกราดอะไรแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว จึงไม่สามารถหาจุดแทรกใส่งานเพลงลักษณะนี้ลงไปได้อีก

 

เป็น Sound Effect ที่มีความโดดเด่นขึ้นมา ทั้งเสียงพากย์ผี เสียงหัวเราะอย่างบ้าคลั่ง เสียงอะไรก็ไม่รู้มากมายเต็มไปหมด, ขณะกล้องเคลื่อนไหวมุม POV ของผีปีศาจ มันจะมีเสียงเหมือน Shepard Tone ได้ยินหึ่งๆดังขึ้น/เบาลงเรื่อยๆตลอดเวลา แต่ไม่ยักกะถึงจุดสิ้นสุดสักที เพราะนี่เป็น Sound Illusion หลอกให้หูเราคิดไปเลย แต่จริงๆมันคือการวนลูปไปมาต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

ไฮไลท์ของ Sound Effect อยู่ที่ฉากในบ้าน เมื่อทั้ง 5 ได้ยินเสียงรถซิ่งโฉบเฉี่ยวไปมา ตามด้วยสรรพสัตว์ ลิง ม้า เสือ และอะไรอีกก็ไม่รู้มากมาย ใบหน้าพวกเขาจะหันควับไปมาตามเสียง (ก็ไม่รู้เป็น Stereo หรือเปล่านะ) นี่เป็นการใช้เสียงประกอบเพื่อสร้างความระทึก เขย่าขวัญ สั่นสะพรึง ได้อย่าง… ผมว่ามันตลกมากกว่านะ ยิ่งเห็นใบหน้าของ Campbell เลิศคิ้ว ก็อดหัวเราะไม่ได้

ผู้กำกับ Sam Raimi ไม่เคยมีความคิดที่จะนำพาตัวเองหวนคืนกลับสู่ภาคต่อ Evil Dead แม้แต่น้อย ไม่ได้คิดหวังให้มีภาคต่อ ไม่ได้ตั้งใจกลับมาสร้างอีก แต่เมื่อชีวิตที่ควรเดินไปข้างหน้ากลับพบเจอเหวลึก พลัดตกลงไปเกือบดับดิ้นกับ Crimewave (1986) นั่นทำให้เขาต้องปืนกลับขึ้นมาหวนคืนสู่จุดเริ่มต้น มองหาหนทางเดินใหม่ (มองได้คือนัยยะ 10 นาทีแรก ที่เป็นการแก้ไขตอนจบของหนังภาคก่อนเพื่อเริ่มต้นใหม่) ซึ่งคราวนี้เหมือนว่าเขาได้ค้นพบเส้นทางที่ถูกต้องเสียที ผลงานถัดไป Darkman (1990) กรุยทางสู่การเป็นผู้กำกับหนัง Superhero อย่างเต็มตัวในอีกทศวรรษถัดมาได้อย่างสมเกียรติ และปิดท้ายไตรภาค Army of Darkness (1992) เสียงตอบรับก็ไม่เลวร้ายเท่าไหร่

เสียงหัวเราะที่เกิดขึ้นจากหนังเรื่องนี้ คือสิ่งที่ออกมาจากใจของ Raimi เองเลย เขาพบเจอกับความ Horror รอบตัวมากมาย ผู้คนที่เปลือกนอกเป็นอย่างหนึ่ง แต่ภายในราวกับถูกวิญญาณปีศาจเข้าสิง เต็มไปด้วยความน่าเกลียดอัปลักษณ์สิ้นดี (ผมไม่ขอวิเคราะห์ประเด็นนี้ซ้ำนะครับ เขียนแล้วอย่างละเอียดใน The Evil Dead) แต่แทนที่เราจะหวาดกลัว ขนลุกขนพอง สยอง พ่ายแพ้ ยิ้มร่าหัวเราะให้มันสิ ประชดประชันมันเข้าไป, นี่รวมไปถึงตัวละคร Bruce Campbell ร่างอวตารของผู้กำกับ ตัวของเขาได้เคยถูกผีปีศาจเข้าสิง ครั้งแรกโชคดีรอดกลับมาเป็นปกติได้ ต่อมามือข้างหนึ่งพยายามขัดขืนต่อต้านทุกสิ่งอย่าง ก็ช่างแม้งประไรตัดทิ้งเสียก็หายขาดแล้ว และครั้งสุดท้ายที่ดูเหมือนจะไม่น่ารอดแน่ แต่เมื่อได้พบเจอบางสิ่งอย่าง ตระหนักระลึกเข้าใจความต้องการของตนเอง สามารถขับไล่วิญญาณผีออกจากร่าง ต่อจากนี้จะขอดิ้นรนสู้ฆ่าเอาตัวรอด ไม่ยอมเป็นผู้พ่ายแพ้อีกเป็นคำรบสอง

สำหรับเหตุผลที่ตอนจบต้องไปโผล่ใน Medieval Age ไว้ผมจะกล่าวถึงในบทความถัดไปนะครับ

ด้วยทุนสร้าง $3.6 ล้านเหรียญ สัปดาห์แรกทำเงินได้ $807,260 ล้านเหรียญ รวมตลอดโปรแกรมฉายในอเมริกา $5.9 เกือบที่จะคืนทุน (แต่น่าจะได้คืนจากรายรับต่างประเทศ ไม่มีรายงานตัวเลข) ขณะที่เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ค่อนข้างดีมากๆ ส่วนใหญ่จะชื่นชอบมากกว่าภาคแรก คะแนนจากเว็บมะเขือเน่า อยู่ที่ 98% จาก 53 นักวิจารณ์

พอหนังก้าวผ่านความเป็น Horror อันน่ารังเกียจขยะแขยง กลายไปเป็น Surrealist ที่แฝงนัยยะอันเข้มข้น เกี่ยวกับทัศนคติมุมมองต่อโลกของผู้กำกับ Sam Raimi จากอคติที่เคยมีกับ The Evil Dead พลันสูญหายมลายไปหมดสิ้น (แต่ผมก็ยังไม่ชอบหนังเรื่องนั้นอยู่นะ) ยิ้มหัวเราะมองโลกในแง่ดี นี่ทำให้ผมชื่นชอบประทับใจหนังเรื่องนี้ขึ้นมาทันที และการแสดงของ Bruce Campbell โดดเด่นขึ้นกว่าภาคที่แล้วมากๆ นี่สินะที่เรียกว่าตำนาน

แนะนำกับคอหนัง Horror Comedy เรื่องราวเหนือธรรมชาติ สนใจภูติผีปีศาจ, ศิลปิน Surrealist ทั้งหลาย ลองเช็คดูว่ามันเข้ากับลัทธินี้จริงไหม, แฟนๆผู้กำกับ Sam Raimi และนักแสดงคู่บารมี Bruce Campbell ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความเว่อเกินจริง เลือดไหลหนองท่วม และความบ้าคลั่งเสียสติ

TAGLINE | “Evil Dead 2 ของผู้กำกับ Sam Raimi ได้ก้าวข้ามผ่าน Horror Comedy ไปสู่แนว Surrealist สุดแปลกแต่ยิ่งใหญ่ พร้อมกับการแสดงของ Bruce Campbell ที่กลายเป็น Iconic แห่งวงการภาพยนตร์”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: