evita

Evita (1996) hollywood : Alan Parker ♥♥♥

นี่เป็นหนังเพลงที่เซอร์ไพรส์ผมมาก ดูสนุกอย่างไม่น่าเชื่อ กับคนที่เคยผ่านประสบการณ์หนังคล้ายๆกัน อาทิ The Umbrellas of Cherbourg (1964) คงพอจะเข้าใจวิธีการนำเสนอได้ไม่ยาก แต่ถ้าไม่คงจะเกาหัวแล้วบ่นว่า นี่มันหนังบัดซบอะไรเนี่ย!, นำแสดงโดย Madonna, Antonio Banderas และ Jonathan Pryce เข้าชิง Oscar 5 สาขา ได้มา 1 รางวัล

ก่อนรับชมหนังเรื่องนี้ แนะนำให้ลองไปหา The Umbrellas of Cherbourg (1964) มารับชมก่อนนะครับ ถ้าคุณสามารถฝ่าด่าน เอาชนะ ทนดู ทำความเข้าใจหนังเรื่องนั้นได้ ก็มีแนวโน้มสูงที่คุณจะสามารถรับชม Evita ได้โดยไร้อคติ เพราะเท่าที่ผมอ่านคำวิจารณ์ด้านลบของผู้ชมใน IMDB ล้วนบ่นขรมเรื่องวิธีการนำเสนอ และรสนิยมของผู้กำกับ หาได้เข้าใจจุดประสงค์ของหนังด้วยซ้ำ

ดัดแปลงจากละครเพลงเรื่อง Evita (1978) ของ Andrew Lloyd Webber (ทำนอง) กับ Tim Rice (คำร้อง) เป็นแนว Rock Opera เปิดการแสดงครั้งแรกที่ West End (London) คว้ารางวัล Laurence Olivier Award: Best Musical, ปีถัดมาเปิดการแสดงที่ Broadway กลายเป็นละครเพลงสัญชาติอังกฤษเรื่องแรกที่ได้ Tony Award: Best Musical

เรื่องราวชีวประวัติของ Eva Perón จากหญิงสาวคนธรรมดาๆ เดินทางสู่ Buenos Aires ไต่เต้าขึ้นจนได้เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศอาร์เจนติน่า จบที่การเสียชีวิต (ขณะยังเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งอยู่)

María Eva Duarte de Perón (1919 – 1952) เกิดที่ชนบท Los Toldos เมือง Pampas ประเทศอาร์เจนติน่า บิดาเสียชีวิตตอนเธออายุ 7 ขวบ (ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมงานศพของพ่อ เพราะเป็นลูกนอกสมรส) ย้ายไปอยู่ที่เมืองหลวง Buenos Aires ตอนอายุ 15 ปี เริ่มอาชีพเป็นนักแสดงละครเวที ต่อมาได้ออกอากาศในวิทยุ เป็นนางแบบถ่ายปกนิตยสาร และได้แสดงภาพยนตร์จนกลายเป็นดาราดังในที่สุด

ในปี 1944 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอาร์เจนติน่า ทหารนักการเมืองและศิลปินต่างออกมาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทำให้ Eva ได้พบกับนายพล Juan Perón ทำงานร่วมกันด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชั้นแรงงานและคนยากจนดีขึ้น จนทำให้ Juan Perón ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจนได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดี

ครั้งหนึ่งเมื่อ Juan Perón ถูกจับในข้อหากบฏ Eva ออกเดินสายเพื่อเรียกร้องให้ประชาชนออกมาประท้วงให้ทางการปล่อยตัว (ซึ่งก็ยอมทำตาม) ปีต่อมาทั้งสองได้แต่งงานกัน และปี 1946 การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของอาร์เจนติน่า Juan Perón ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี และ Eva กลายเป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง ในวัยเพียง 26 ปี

ด้วยความที่ Eva ต้องการใกล้ชิดกับประชาชน จึงขอให้เรียกเธอว่า Evita, Little Eva หรือ Evie (เป็นคำแผลงภาษาสเปนของ Eva Perón)

Evita ถือว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพล บทบาทสำคัญต่อชาวอาร์เจนติน่าอย่างมาก ความสวยของเธอเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ และผลงานการกระทำต่างๆก็สามารถเอาชนะใจ เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน แต่ใช่ว่าเธอจะเป็นแม่พระมีแต่ด้านดี (คนอาร์เจนติน่าส่วนใหญ่จะมองเธอเป็นเหมือนแม่พระ เทียบเคียงพระแม่มารีเลยละ) การกระทำตัดสินใจหลายๆอย่างมองได้เป็นการสร้างภาพ เช่น เข้าข้างคนจนแต่แต่งตัวหรูหรา, แจกของ (พร้อมเรียกผู้สื่อข่าวไปด้วย), ยกเลิกองค์กรการกุศล (แล้วก่อตั้งองค์กรของตนเอง), เข้าข้างประเทศผู้นำ Fascist (จับมือกับจอมพล Fransco ของสเปน) ฯ

ก่อนที่ Evita จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็น ‘ผู้นำทางจิตวิญญาณของประเทศ’ (Spiritual Leader of the Nation) โดยสภานิติบัญญัติของอาร์เจนติน่า หลังสามีได้รับการเลือกตั้งเป็นปธน. สมัยที่ 2 ทีแรกเธอตั้งใจจะเป็นรองประธานาธิบดีเองด้วย แต่เพราะร่างกายที่อ่อนแอลง (เธอเป็นผู้หญิงคนแรกของอาร์เจนติน่าที่รักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด/คีโม แต่ไม่สำเร็จ), หลังจากเสียชีวิต รัฐบาลได้จัดพิธีศพอย่างเอิกเริกยิ่งใหญ่ มีประชาชนมากมายนับล้านจากทั่วประเทศ ออกมาร่วมแสดงความเศร้าโศกเสียใจ

มีความพยายามดัดแปลง Evita เป็นภาพยนตร์มาตั้งแต่ปี 1976 เมื่อละครเพลงในอเมริกาประสบความสำเร็จอย่างมาก เปิดการแสดงต่อเนื่องถึง 1,567 รอบ และที่อังกฤษอีก 2,913 รอบ, โปรดิวเซอร์มีความสนใจ Alan Parker มาตั้งแต่แรก แต่พอหลังจากเขากำกับหนังเรื่อง Fame (1980) รู้สึกว่าเรื่องราวคล้ายๆกันจึงบอกปัด (อีกแหล่งข่าวบอกว่า เขาอยากไปทำอย่างอื่นนอกจาหนังเพลงบ้าง)

ลิขสิทธิ์การดัดแปลงจึงถูกประมูล เริ่มต้นจาก Warner Bros. ไปเป็น Metro-Goldwyn-Mayer ต่อด้วย Paramount Pictures แต่ก็ไม่มีสตูดิโอไหนสามารถสร้างสำเร็จได้เลย, ครั้งหนึ่งตกไปอยู่ในมือของผู้กำกับ Oliver Stone ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับในปี 1987 (เขาเป็นแฟนละครเพลงเรื่องนี้ด้วยละ) ติดต่อ Meryl Streep ให้รับบทนำ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังหาจังหวะสร้างไม่ได้ ทำให้ Stone หนีไปกำกับ Nixon (1995) ถอนตัวออกไป

ธันวาคม 1994, Alan Parker กลับมาให้ความสนใจโปรเจคนี้อีกครั้ง ครานี้เซ็นสัญญาและลงมือดัดแปลงบท กำกับภาพยนตร์ด้วยตนเอง โดยใช้บทที่ Stone ปรับปรุงไว้นำมาพัฒนาต่อ เป็นรูปเป็นร่างเสียที

Sir Alan William Parker (1944-ยังมีชีวิตอยู่) ผู้กำกับ นักเขียนบท โปรดิวเซอร์สัญชาติอังกฤษ แนวที่ถนัดประกอบด้วย หนังเพลง อาทิ Bugsy Malone (1976) [หนัง debut ของผู้กำกับ], Fame (1980), Pink Floyd – The Wall (1982), The Commitments (1991), Evita (1996), หนังดราม่าเข้มข้น จากเรื่องจริง อาทิ Midnight Express (1978), Mississippi Burning (1988), Come See the Paradise (1990) ฯ ได้เข้าชิง Oscar: Best Director 2 ครั้ง ไม่เคยได้รางวัล แต่ถือว่าประสบความสำเร็จในอังกฤษบ้านเกิดนะครับ เข้าชิง BAFTA 9 ครั้ง ได้มา 4 รางวัล จนได้รับแต่งตั้งยศอัศวิน

“While Evita is a story of people whose lives were in politics, it is not a political story. It is a Cinderella story about the astonishing life of a girl from the most mundane of backgrounds, who became the most powerful woman her country (and indeed Latin America) had ever seen, a woman never content to be a mere ornament at the side of her husband, the president.”

– Alan Parker

Antonio Banderas คือนักแสดงคนแรกที่ตอบตกลงโปรเจคนี้ ตั้งแต่ปี 1987 ก่อนที่ Stone จะเข้ามามีส่วนร่วมกับโปรเจคเสียอีก, รับบท Ché (ไม่ใช่และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Che Guevara แม้แต่น้อย) นี่เป็นตัวละครดำเนินเรื่อง ทำหน้าที่เหมือนพิธีกร MC (Master of Ceremony) ไม่ได้มีตัวตนจริงๆในเรื่องราว แค่ปรากฎอยู่ทุกฉาก เข้าร่วมกับทุกเหตุการณ์

สำหรับบท Evita มีการเปลี่ยนผ่านนักแสดงหลายคนทีเดียว เริ่มจาก Michelle Pfeiffer จากนั้นเป็น Meryl Streep, Glenn Close ฯ เดือนธันวาคม 1994 Madonna ได้ส่งจดหมายความยาว 4 หน้ากระดาษ อธิบายว่าทำไมเธอถึงเหมาะกับการรับบทนี้

“Her handwritten, four-page letter was extraordinarily passionate and sincere. As far as she was concerned, no one could play Evita as well as she could, and she said that she would sing, dance and act her heart out, and put everything else on hold to devote all her time to it should I decide to go with her.”

– Alan Parker พูดถึงจดหมายของ Madonna

มีหรือที่ผู้กำกับจะไม่ยินยอมให้เธอรับบทนำ แต่โปรดิวเซอร์มีความวิตกในการร้องเพลงของ Madonna ทำให้เธอตัดสินใจเข้าเรียนฝึกการออกเสียง ร้องเพลงอย่างจริงจัง หัดใช้กระบังลมในการออกเสียงไม่ใช่แค่ลำคอ นั่นทำให้เสียงร้องของเธอจะมีพลังขึ้นกว่าปกติ

ระหว่างการถ่ายทำ Madonna ได้ตั้งครรภ์ ทำให้เธอดูเหนื่อยอ่อนล้ากว่าที่ควรเป็น (เห็นว่าจะเป็นลมแทบทุกครั้งหลังถ่ายแต่ละซีนเสร็จ) ซึ่งบังเอิญเข้ากับเหตุการณ์ช่วงท้ายๆที่ Evita ป่วยหนัก นี่จึงเป็นการแสดงที่เธอพูดให้สัมภาษณ์ออกมาเองเลยว่า ‘ได้ทุ่มเทสุดตัวทั้งแรงกายแรงใจ เป็นมากกว่าแค่การแสดง แต่คือชีวิตของฉันด้วย’

Jonathan Pryce นักแสดงชาว Welsh รับบท Juan Perón ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกของอาร์เจนติน่า สามีของ Evita, ก่อนหน้านี้ Pryce มักจะได้รับบทตัวละครติ๋มๆ น่ารักๆ เช่น Brazil (1985) แต่หลังจาก Tomorrow Never Dies (1997) ก็มักได้รับบทแต่ตัวร้าย, การแสดงในหนังเรื่องนี้แทบจะไม่ได้แสดงอะไรเลย แค่ใบหน้าที่ใกล้เคียงกับ Juan Perón เหมือนว่าเขาเป็นแค่บันไดขั้นหนึ่งสู่ความสำเร็จของ Evita ก็เท่านั้น

เกร็ด: Pryce เคยได้รับบท ปธน.สหรัฐ จากหนังสร้างจากของเล่นเรื่อง G.I. Joe: The Rise of Cobra (2009) และ G.I. Joe: Retaliation (2013)

ถ่ายภาพโดย Darius Khondji ตากล้องสัญชาติ Iranian-French มีผลงานดังอย่าง Seven (1995), The Beach (2000), Midnight in Paris (2011) ฯ

ในตอนแรก Khondji มีความลังเลใจเพราะไม่อยากถ่ายหนังเพลง แต่เมื่อได้พบกับผู้กำกับที่มี passion ต่อโปรเจคนี้มากจึงเกิดความสนใจ, หลายฉากในหนังถ่ายทำด้วย Moviecam Camera (คล้ายๆกับ Hand-Held) ด้วย Cooke Anamorphic Lenses ทุกฉากจะต้องมีการจัดแสง แม้แต่กลางแจ้งหรือที่มีฝูงชนเยอะๆ นี่ทำให้หนังมีความสว่างและความเข้มของแสงชัดเจน (เป็นวิธีเดียวในยุคก่อน digital ที่สามารถควบคุมความสว่างของแสงได้ดีที่สุด)

ลักษณะการถ่ายทำ ผมเรียกว่าคือการเคลื่อนผ่านเหตุการณ์นั้นๆ มีไม่กี่ฉากเท่านั้นที่จะแช่ภาพค้างไว้นาน เพราะหนังใช้การดำเนินเรื่องโดยใช้เพลงประกอบ ทำให้มีลักษณะเหมือน Music Video มีการตัดต่อที่รวดเร็วฉับไว จึงแทบไม่มีช็อตไหนในหนังเลยที่ยาวเกิน 10 วินาที, ซึ่งการถ่ายทำแบบนี้เหนื่อยมาก เพราะเน้นปริมาณช็อต และต้องเก็บรายละเอียดยิบๆย่อยๆมากมาย

หนังถ่ายทำที่ Argentina ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากประชาชนที่คลั่งไคล้ เทิดทูน Evita เหนือหัว เพราะเธอคือผู้นำทางจิตวิญญาณของพวกเขา จึงไม่ต้องการให้ใครมาทำอะไรลบหลู่, กระนั้นเมื่อไม่สามารถยุติการสร้างได้ รัฐบาลอาร์เจนติน่าจึงได้สร้างหนังชีวประวัติ กึ่งสารคดีเรื่อง Eva Perón: The True Story (1996) ออกฉายปีเดียวกัน เพื่อเล่าความจริงที่เกิดขึ้นกับ Evita

จำนวนฉากที่มีการสร้างขึ้น/ถ่ายทำ 320 สถานที่, มีฉากหนึ่งใช้นักแสดงประกอบกว่า 4,000 คน, ชุดของ Madonna ประกอบด้วยเสื้อผ้า 85 ชุด, หมวก 39 ใบ, รองเท้า 45 คู่ และต่างหู 56 คู่ ถือเป็นสถิติ Guinness World Record สำหรับการเปลี่ยนชุดมากที่สุดในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง (Most Costume Changes in a Film)

ตัดต่อโดย Gerry Hambling ขาประจำของ Alan Parker, ในเวลา 134 นาที นับจำนวนช็อตการตัดต่อได้ 3,000 ครั้ง ได้ความยาวฟีล์ม 320,000 ฟุต

หนังเล่าเรื่องโดยใช้บทเพลงแทนคำพูดโดย Andrew Lloyd Webber กับ Tim Rice ดำเนินเรื่องในลักษณะ Music Video หลายเพลงเรียงต่อเนื่องกัน เริ่มเรื่องราวจากการเสียชีวิตของ Evita ในปี 1952 แล้วย้อนกลับไปในอดีต ณ จุดเริ่มต้น เด็กหญิง Eva เติบโต ไต่เต้า ประสบความสำเร็จ เพื่อค้นหาเหตุผลอะไรที่ทำให้ชาวอาร์เจนติน่าแสดงความเศร้าเสียใจต่อการจากไปของเธอขนาดนี้ ตอนจบคุณอาจได้รับคำตอบ (ถ้าดูเข้าใจ)

การบันทึกเสียงร้องเกิดขึ้นก่อนที่จะเริ่มถ่ายทำ เห็นว่าใช้เวลาในห้องอัดถึง 4 เดือน (นานกว่าการถ่ายทำจริงที่ประมาณ 3 เดือนเสียอีก) Banderas ให้คำจำกัดความรู้สึกขณะบันทึกเสียงว่า ‘scary’ ส่วน Madonna บอกว่า ‘petrified’ (ราวกับถูกสาปเป็นหิน) ทั้งสองต้องร้องต่อหน้า Webber และ Rice เพื่อจะได้คอยปรับปรุงแก้ไขคำร้อง/ทำนอง ให้เข้ากับสไตล์การร้องของทั้งคู่

วิธีการดูหนังเรื่องนี้ให้เข้าใจ คือคุณต้องดูเป็นเพลงๆไปนะครับ ทำความเข้าใจว่าเพลงนั้นคืออะไร นำเสนออะไร มีเรื่องราวใจความอะไร, ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆทุกๆเพลง แล้วเมื่อถึงจุดๆหนึ่งมองหาความสัมพันธ์ ก็จะพบความต่อเนื่องที่คล้องจองกันของแต่ละบทเพลง

บทเพลง Goodnight and Thank You ขับร้องโดย Madonna กับ Antonio Banderas, ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นบทเพลงแรกสำหรับคนที่อ้างว่าดูหนังไม่เข้าใจ ควรทำความเข้าใจก่อนนะครับ เพราะมีเรื่องราวการนำเสนออันเรียบง่าย น่าสนใจที่สุด, เพลงนี้คือการไต่เต้าของ Evita หลังจากเดินทางมาถึง Buenos Aires สรุปเป็นภาพเหตุการณ์ในเวลา 4 นาที ทุกสิ่งอย่างที่ Evita ทำให้ตัวเองจากดินกลายเป็นดาวดารา

บทเพลง Don’t Cry for Me Argentina ขับร้องโดย Madonna, ท่อนฮุคเพลงนี้ดังขึ้น 2-3 ครั้งในหนัง ครั้งแรกเป็นการขอบคุณชาว Argentina ที่ช่วยให้สามีของเธอได้เป็นประธานาธิบดี ส่วนครั้งสุดท้ายตอนเธอป่วยใกล้ตาย บอกว่าชาว Argentina อย่างเศร้าเสียใจเพราะเธอเลย

ฉากที่ริมระเบียง Casa Rosada อ้างอิงจากวันที่ 17 ตุลาคม 1951 ที่ Evita พูดต่อหน้ามวลชนเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งถือเป็นการบอกลาอย่างมีนัยยะด้วย

เพลงนี้เคยขึ้น US Billboard Hot 100 สูงสุดถึงอันดับ 8

บทเพลงที่เป็นไฮไลท์ของหนังคือ You Must Love Me ขับร้องโดย Madonna ช่วงขณะที่ Evita รับรู้ว่าตัวเองป่วยหนัก นี่คือบทเพลงแสดงถึงสิ่งที่เป็นความต้องการตั้งแต่แท้จริงของเธอ ‘ให้ทุกคนรักฉัน’ ทุกสิ่งอย่าง ทุกการกระทำ ไต่เต้าขึ้นมาจนถึงจุดสูงสุด ก็เพียงเพื่อสิ่งนี้

หญิงสาวที่เมื่อวัยเด็กไม่ได้รับการยอมรับว่ามีตัวตน ทำการพิสูจน์ตนเองด้วยการไต่เต้าขึ้นสู่การมีชื่อเสียง ความสำเร็จ โดยไม่คำนึงว่าจะต้องทำอย่างไร แต่นั่นเหมือนว่าก็ยังไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่เธอต้องการแท้จริงคือ ‘การจดจำ’ (สิ่งที่เธอหวาดกลัวที่สุดคือ การถูกลืม) ผมค่อนข้างเชื่อว่า ถ้าเธอไม่ด่วนป่วยหนักเสียชีวิตไปก่อน มีความเป็นไปได้สูงมากว่า สักวันจะกลายเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอาร์เจนติน่า

สิ่งที่น่าเศร้าสุดของเรื่องราวนี้คือ Evita ไม่มีทางรับได้รู้ว่า ชาวอาร์เจนติน่าเศร้าโศกเสียใจในการจากไปของเธอขนาดไหน (รวมถึงเรื่องราววุ่นๆของศพเธอด้วย ที่ถูกขโมย หายไปหลายปี โชคดีตามจนหาพบ) นั่นคือความต้องการของเธอได้รับการตอบสนองแล้ว ไม่มีชาวอาร์เจนติน่าคนไหน แม้แต่สมัยปัจจุบันจะหลงลืมเธอ ทุกปีในวันครบรอบเสียชีวิต จะมีการเฉลิมฉลองหวนระลึกถึงสิ่งที่เธอได้ทำให้ประเทศนี้ นี่เป็นสิ่งตราตรึงจริงๆ

ด้วยทุนสร้าง $55 ล้านเหรียญ (คาดว่าค่าลิขสิทธิ์ที่ประมูลซื้อกันต่อมาเป็นทอดๆ น่าจะเกือบครึ่งหนึ่งแล้ว) หนังทำเงินทั่วโลก $141 ล้านเหรียญ พอจะได้กำไรเล็กน้อย, เข้าชิง Oscar 5 สาขา ได้มา 1 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Cinematography
– Best Editing
– Best Art Direction-Set Decoration
– Best Sound
– Best Music, Original Song บทเพลง You Must Love Me ** ได้รางวัล

ปีนั้นมีหลายสาขาที่ Evita ถูก SNUB จาก Oscar อาทิ Best Picture, Best Director และ Best Actress ที่ Madonna สามารถคว้ารางวัล Golden Globe: Best Actress in a Motion Picture – Comedy or Musical มาครองได้ (นี่น่าจะคือการแสดงดีที่สุดของเธอเลย)

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้มากๆ แต่ไม่รู้สึกตกหลุมรัก, แม้จะมีเทคนิคการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ ปัญหาคือรสนิยมของผู้กำกับ อาทิ การใช้ดนตรี Rock ยุค 90s ประกอบ ที่รับชมในปัจจุบันรู้สึกว่ามันธรรมดา เฉิ่มเชย ตกยุคไปเสียแล้ว หนังขาดความร่วมสมัยจึงไม่กลายเป็นอมตะ กาลเวลาคงค่อยๆกัดกร่อนทำลายคุณภาพหนังไปเรื่อยๆ

แนะนำกับคอหนังเพลงแนวๆ, ผู้สนใจชีวประวัติของ Eva Perón, นักประวัติศาสตร์ละตินอเมริกา ประเทศอาร์เจนติน่า ช่วงเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองปี 1946, แฟนๆ Madonna, Antonio Banderas และ Jonathan Pryce ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับการกระทำหลายๆอย่างของ Evita และการปฏิวัติ ความขัดแย้งของการเมือง

TAGLINE | “หนังเพลงแนวๆ เล่าชีวประวัติของ Evita นำแสดงโดย Madonna ในลักษณะที่น้อยคนจะเข้าใจได้”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: