Exodus

Exodus (1960) hollywood : Otto Preminger ♥♥♥

ด้วยความยาวระดับ Epic ถึง 208 นาที ขณะฉายรอบปฐมทัศน์ผ่านไป 3 ชั่วโมง มีชายคนหนึ่งลุกขึ้นจากที่นั่งตะโกนบอกผู้กำกับ “Otto Preminger, let my people go!” ประโยคนี้ได้กลายเป็นตำนานของหนังทันที, เมื่อปี 1947 สหประชาชาติลงมติแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ให้กับชาวยิวกลายเป็นรัฐอิสราเอล แทนที่ทุกอย่างจะถึงจุดสิ้นสุด แต่เพราะดินแดนแห่งนั้นยังมีชาวอาหรับอาศัยอยู่ด้วย กลายเป็นชนวนเริ่มต้นสงครามแก่งแย่งชิงพื้นที่ต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน

ผมรู้จักภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกจากการสุ่ม Soundtrack ของ Youtube ฟังไปเรื่อยๆแล้วสะดุดหู เพลงอะไรไพเราะจัง เห็นชื่อ Exodus ก็นึกว่าคงมาแบบ The Ten Commandments (1956) หรือ Exodus: Gods and Kings (2014) เรื่องราวของ Moses ที่อพยพพาชาว Hebrews/Jewish ข้าม Red Sea หนีการไล่ลาของกษัตริย์ Ramesses II หนังเรื่องนี้ไม่ได้ใกล้เคียงเลยนะครับ แต่ชั่วโมงแรกแอบมีสิ่งคล้ายๆกันนั้นแฝงอยู่ ชาวยิวกลุ่มหนึ่งหนีขึ้นเรือ พยายามหาทางข้ามทะเล Mediterranean เพื่อกลับสู่ดินแดนบ้านเกิดปาเลสไตน์

นำบทเพลง Main Theme มาให้รับฟังกันก่อนเลย ประพันธ์โดย Ernest Gold ที่สามารถคว้า Oscar: Best Original Score ไปครอบครองได้

เนื่องจาก Theme from Exodus นี้ได้รับความนิยมอย่างสูง จึงถูก Cover มากมาย ที่แนะนำอย่างยิ่งเลยคือ ฉบับบรรเลงเปียโนโดยสองพี่น้อง Ferrante and Teicher เคยติดอันดับ Billboard Hot 100 สูงถึงอันดับ 2 จนได้รับ Gold Record (ยอดขายเกิน 500,000 ก็อปปี้)

ฉบับคำร้องแต่งโดย Pat Boone เลือกเอาฉบับขับร้องโดย Andy Williams ใช้ชื่อว่า The Exodus Song (This Land Is Mine) รวมอยู่ในอัลบัม Moon River And Other Great Movie Themes (1962)

ตอนผมเขียนบทความ แผ่นดินของเรา (พ.ศ.๒๕๑๙) ทำให้รับรู้ว่าบทเพลง แผ่นดินของเรา (Alexandra) พระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๔ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้แรงบันดาลใจจาก Soundtrack ของ Exodus เรื่องนี้เอง ก็ว่าอยู่นะทำไมช่างคุ้นหูเสียเหลือเกิน ลองเทียบกันดูเองนะครับ ฉบับไหนไพเราะที่สุด

เกร็ด: แผ่นดินของเรา (Alexandra) ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชนิพนธ์ในวโรกาสที่ เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ สหราชอาณาจักร (Princess Alexandra of Kent) เสด็จเยือนประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปรับด้วยพระองค์เองที่สนามบินดอนเมือง ระหว่างที่รอเครื่องบินลงจอดราว ๑๐ นาที ได้ทรงตัดสินพระทัยที่จะแต่งเพลงต้อนรับเจ้าหญิง ประพันธ์ทำนองเพลงภายในเวลาไม่กี่นาที จากนั้นก็ทรงส่งโน้ตนั้นให้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องให้ทันทีเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อเพลง Alexandra, สำหรับเนื้อร้องภาษาไทย สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้องภาษาไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ตั้งชื่อว่า ‘แผ่นดินของเรา’

เรื่องราวของหนังเรื่องนี้ก็เกี่ยว “แผ่นดินของเรา” เหมือนกันนะครับ ปาเลสไตน์ (Palestine) ดินแดนที่ตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันตกของทะเล Mediterranean กับแม่น้ำจอร์แดน ด้วยเนื้อที่ 27,009 ตร.กม. มีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร โดยชนกลุ่มแรกที่อาศัยอยู่คือ ชาวอาหรับเผ่า Canaan (หรือ Ka’nan) ประมาณ 3,300 B.C. (ก่อนคริสต์กาล) ว่ากันว่าสืบเชื้อสายมาจาก Canaan บุตรของ Ham ที่ถูก Noah สาปแช่งให้เป็นทาส

เกร็ด: ตามคำภีร์ไบเบิ้ล Noah คือเหลนของ Adam กับ Eve เมื่อมีอายุได้ 500 ปี มีบุตรชายสามคนชื่อ Shem, Ham, Japheth ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมโลก  Noah ​เริ่ม​ทำ​สวน​​ปลูก​องุ่น วันหนึ่ง​ดื่ม​เหล้า‍หมักเองจน​เมามาย ​นอน​เปลือย‍กาย​อยู่​กลาง​เต็นท์​ Ham ​เห็น​บิดาในสภาพเช่นนั้นจึง​บอก​ Shem กับ Japheth ​ที่เอา​ผ้า​พาด​บ่า​เดิน​ถอย‍หลัง​เข้า​ไป​ปก‍ปิด​กาย​โดย​ไม่‍ได้​หัน‍หน้า​มาดู เมื่อ​ Noah ​สร่าง​เมา​แล้วทราบเรื่อง จึงให้คำอวยพรแก่ Shem กับ Japheth และสาปแช่งบุตรของ Ham ให้ Canaan กลาย​เป็น​ทาส​ต่ำ‍สุด​ของ​วงศ์ตระกูล

ด้วยตำแหน่งพื้นที่ปาเลสไตน์ เป็นศูนย์กลางของเส้นทางต่างๆเชื่อมระหว่าง 3 ทวีป (เอเชีย, ยุโรป, แอฟริกา) ทำให้ดินแดนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของศาสนา สังคม วัฒนธรรม และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ฉนวนดินแดนที่มีการสู้รบแก่งแย่งชิงระหว่างกองทัพอันยิ่งใหญ่เกรียงไกรทุกยุคทุกสมัยอยู่ตลอดเวลา

หลังจากที่ Moses อพยพพาชาว Hebrews/Jewish ข้าม Red Sea จากอียิปต์ช่วงประมาณปี 1,270 B.C. เป้าหมายปลายทางคือ Canaan ดินแดนที่พวกเขามีความเชื่อว่า ‘พระเจ้ามอบให้ชาว Jews’ เรียกดินแดนแห่งนี้ว่า Promise Land ทำสงครามกับกับชนดั้งเดิม Canaan จนได้ครอบครองส่วนต่างๆ ของปาเลสไตน์เกือบทั้งหมด ขับไล่ชาวอาหรับออกนอกประเทศได้สำเร็จ ตั้งระบอบกษัตริย์ Kingdom of Israel เมื่อประมาณปี 1,050 B.C. มีกษัตริย์ปกครอง 3 พระองค์ Saul, David และ Solomon ก่อนจะแยกเป็น 2 ประเทศในรัชสมัยของ Rehoboam ประมาณปี 930 B.C. เป็น Kingdom of Israel (เมืองหลวง Shechem และ Samaria) และ Kingdom of Judah (เมืองหลวง Jerusalem)

ดินแดนแถบนี้ได้ถูกปกครองโดยกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์ อาทิ Babylonian, Assyrian, Persian, Greek-Roman ฯ ครั้งหนึ่งในช่วงที่ภายใต้การปกครองของ Roman ชาว Jewish กลุ่มหนึ่งได้ลุกขึ้นแข็งข้อต่อจักรพรรดิ Titus (ค.ศ. 39 – 81) จึงสั่งทำลายกรุง Jerusalem เสียจนราบคาบ, คริสต์ศตวรรษที่ 4 จักรพรรดิ Constantine the Great (ค.ศ. 272-337) ได้สร้างวิหารศักดิ์สิทธิ์ Church of the Holy Sepulchre ขึ้นในกรุง Jerusalem กลายเป็นสถานที่ดึงดูดให้คริสต์ศาสนิกชนเข้ามาจาริกแสวงบุญกันมากขึ้น

ปี ค.ศ. 636 อาณาจักรอิสลาม Rashidun Caliphate นำโดย Abu Ubaidah เข้ายึดกรุง Jerusalem ได้สำเร็จ ประชากรที่เคยนับถือศาสนาคริสต์ก็เริ่มแปรเปลี่ยนมานับถืออิสลาม จนส่วนใหญ่กลายเป็นชาวมุสลิมไปจนเกือบทั้งหมด, ต่อจากนั้นเกิดสงคราม Crusade ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1099-1187 และช่วงหนึ่ง Ottoman Empire (ชาว Turk) ได้ครอบครองนานถึง 400 กว่าปี ล่มสลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

ปี ค.ศ. 1897 ได้เกิดขบวนการ Zionist หรือ Zionism นำโดย Theodore Herzl วัตถุประสงค์เพื่อนำพาชาว Jewish ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก หวนกลับคืนสู่ผืนแผ่นดินมาตุภูมิบ้านเกิด ในดินแดนปาเลสไตน์ดั้งเดิม (The Eretz Israel) โดยมีความเชื่อว่า ‘พระเจ้าได้ประทานดินแดนแห่งนี้ให้กับชาวยิว ดังนั้นดินแดนนี้จึงเป็นของยิวตั้งแต่อดีตกาล’ แนวความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กลายมาเป็น Balfour Declaration (ปฏิญญาบัลฟอร์) ปี 1917 เซ็นโดย Lord. Arthur James Balfour รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ เงื่อนไขให้สหราชอาณาจักรซึ่งมีอิทธิพลเหนือดินแดนตะวันออกกลางในช่วงนั้น ตอบแทนโดยการมอบดินแดนปาเลสไตน์ให้เป็นที่พักพิงถาวรของชาวยิว แต่เพราะผู้มอบไม่ใช่เป็นเจ้าของที่แท้จริง และผู้รับมอบเองก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะรับ ทำให้นี่เป็นการเซ็นปฏิญญาณที่ได้รับการพูดถึงว่า ‘แปลกพิศดารและอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์’

ปี ค.ศ. 1923 องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) มอบหมายให้อังกฤษเป็นผู้ดำเนินการส่งมอบดินแดนปาเลสไตน์ให้แก่ชาวยิว แต่อังกฤษก็ยังคงครอบครองดินแดนไว้เพื่อใช้ต่อรองกับกลุ่มชาติอาหรับ ในการทำสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแน่นอนว่าภายหลังสงคราม ดินแดนเจ้าปัญหานี้ก็ยังไม่ได้ถูกส่งมอบให้แก่ฝ่ายไหนอยู่ดี อีกทั้งปัญหาการอพยพเข้ามาของชาวยิวจำนวนมากก็ยังทวีความวุ่นวายเข้าไปทุกขณะ โดยมีกลุ่มชาติอาหรับแสดงท่าทีไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัด

ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของอังกฤษ จึงโยนให้เป็นมติของสมัชชาสหประชาชาติ (United Nation) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1947 มีการลงมติแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ให้กับชาวยิว โดยแบ่งเอาดินแดนบางส่วนของซีเรียและอียิปต์ไปด้วย แต่ทั้งนั้นมติตัดสินดังกล่าวไม่ได้ขอความเห็นชอบจากชาวปาเลสไตน์เลยแม้แต่น้อย ทำให้การแบ่งดินแดนในครั้งนั้นออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่อาศัยของชาวยิว และอีกส่วนหนึ่งเป็นที่อาศัยของชาวมุสลิมอาหรับ

เรื่องราวของหนังจบที่ตรงนี้นะครับ ชนวนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งของคลื่นระลอกใหม่ระหว่าง ชาวยิวที่อ้างสิทธิ์ดินแดนของพระเจ้า และชาวมุสลิมอาหรับที่เป็นเจ้าของดินแดนมาตั้งแต่แรก กลายเป็นสู้รบทำสงครามยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีท่าทีจบสิ้น แต่จะแถมประวัติศาสตร์ต่อจากนี้ให้อีกหน่อย

ปี ค.ศ. 1948 มีการจัดตั้งรัฐยิวขึ้นอย่างเป็นทางการบนแผ่นดินปาเลสไตน์โดยมี David Bengurion เป็นผู้นำคนแรก ตั้งชื่อว่ารัฐอิสราเอล (State of Israel) ว่ากันว่ารัฐนี้ถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นยามเฝ้าน้ำมันในตะวันออกกลางของอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่หลักในการเป็นพันธมิตรของชาติตะวันตกเพื่อสกัดกั้นและไล่กัดกระแสชาตินิยมอาหรับที่ต้องการควบคุมน้ำมันเพื่อประโยชน์ของคนในพื้นที่ แทนประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติตะวันตก

รัฐอิสราเอล ถือเป็นรัฐเหยียดเชื้อชาติ เพราะกีดกันคนที่ไม่ใช่เชื้อสายยิว บ่อยครั้งมีการเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อฆ่าชายหญิงและเด็ก ซึ่งเป็นวิธีสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวปาเลสไตน์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ชาวปาเลสไตน์หมดกำลังใจในการต่อสู้ และหลบหนีออกจากพื้นที่จนกลายเป็นผู้ลี้ภัยถาวรในค่ายรอบๆ อิสราเอล

เหตุการณ์บานปลายจนกระทั่งเกิดสงครามครั้งใหญ่เมื่อปี 1967 ชาวอาหรับในดินแดนปาเลสไตน์ขอความร่วมมือจากอาหรับชาติอื่น (เช่น อียิปต์ จอร์แดน ซีเรีย ฯ) เพื่อถล่มชาวยิวในอิสราเอล โดยกองทหารอาหรับมีกำลัง 7 แสน ขณะที่กองทหารรัฐอิสราเอลมีเพียง 2 แสนคน ใช้เวลารบ 6 วัน (Six-Day War) แต่กลับเป็นชาวยิวที่ได้รับชัยชนะ (เพราะได้รับความช่วยเหลือจากอเมริกา) ชาวอาหรับทั้งหลายแทบทั้งหมดจึงถูกขับไล่ออกจากดินแดนปาเลสไตน์

ด้วยเหตุนี้จึงเกิด ‘องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์’ (PLO : Palestine Liberation Organization) ก่อตั้งโดยกลุ่มชาวอาหรับที่ต้องการทวงปาเลสไตน์คืนจากยิว ประธานขององค์กรคือ Yasser Arafat ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ในสหประชาชาติเป็น ‘องค์การมิใช่รัฐ’ (non-state entity) ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 1974 ซึ่งให้สิทธิพูดในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง

การรบพุ่งและใช้ความรุนแรงยังมีมาต่อเนื่อง เคยมีการเปิดเจรจาผ่านสหประชาชาติลงนามใน ‘ข้อตกลงสันติภาพออสโล ฉบับที่ 1’ (Oslo Peace Accord) เมื่อปี 1993 แต่เอาเข้าจริงข้อตกลงนี้ก็มิได้ส่งผลอะไรมาก เพราะเมื่อ 2 ชาติกันเจอทีไร ก็มีเรื่องปะทะกันทุกครั้งไม่รู้จักจบจักสิ้น

reference: https://www.dek-d.com/studyabroad/35060/
reference: http://oknation.nationtv.tv/blog/Mustafa/2012/01/30/entry-3
reference: http://www.islammore.com/view/405

Otto Ludwig Preminger (1905 – 1986) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติ Austria-Hungary เกิดที่ Wiznitz (ปัจจุบันคือเมือง Vyzhnytsia, Ukraine) ในครอบครัวเชื้อสาย Jews มีความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 อาศัยอยู่ที่ Vienna เป็นนักแสดงละครเวทีหลายเรื่องจนได้รับโอกาสกำกับ จนมีผู้ชื่นชอบให้ทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Great Love (1930) แต่ก็ยังไม่ได้มีความสนใจงานด้านนี้นัก

จนเดือนเมษายน 1935 ระหว่างกำลังเตรียมการแสดงละครเวทีเรื่องหนึ่ง ได้มีโอกาสพบเจอกับ Joseph Schenck และ Darryl F. Zanuck ผู้ร่วมก่อตั้ง Twentieth Century-Fox พูดคุยกันเพียงครึ่งชั่วโมง Preminger ก็ตบปากรับคำเชิญเดินทางสู่ Hollywood เริ่มจากกำกับหนังเกรด B สองเรื่อง ทำงานตรงเวลา เสร็จตามกำหนด ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี จนได้รับโอกาสให้กำกับ Kidnapped (1938) หนังทุนสร้างสูงสุดของสตูดิโอขนาดนั้น แต่กลับมีเรื่องขัดแย้งกับ Zanuck จนถูกไล่ออก ตัดสินใจกลับไปหางานที่ถนัด สร้างละคร Broadways จนมีชื่อเสียงโด่งดัง ขนาดว่า William Goetz ผู้บริหารคนใหม่ของ Fox (แทนที่ Zanuck ที่ไปรับราชการทหาร) ต้องยื่นสัญญา 7 ปีแบบแถมโน่นนี่ไม่อั้นให้กลับมาสู่อ้อมอก Fox และได้กำกับ Laura (1944) ผลงานเรื่องแรกที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Director

Preminger ถือเป็นผู้กำกับ high-profile คนหนึ่ง แม้จะไม่เคยได้ Oscar: Best Director แต่ถือว่ามีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์อย่างมาก ผลงานของเขามักมีความหมิ่นเหม่ ท้าทายกองเซนเซอร์ด้วยหัวข้อต้องห้ามใน Hollywood ขณะนั้น อาทิ คนติดยาใน The Man with the Golden Arm (1955), การข่มขืน Anatomy of a Murder (1959), Homosexual เรื่อง Advise & Consent (1962) ฯ

หลังเสร็จจาก Anatomy of a Murder (1959) ผลงานถัดไปของ Preminger สร้างขึ้นจากนิยายชื่อเดียวกันของนักเขียนสัญชาติอเมริกัน Leon Uris (1924 – 2003) ตีพิมพ์ปี 1958 ได้แรงบันดาลใจจากเรือ ‘S.S. Exodus’ หรือ ‘Exodus 1947’ ที่ขนชาว Jews จากท่าเรือ Sète ใกล้ๆ Marseilles ประเทศฝรั่งเศส เป้าหมายคือท่าเรือ Haifa, British Mandatory Palestine

เกร็ด: นิยาย Exodus (1958) ขายดีระดับปรากฎการณ์ ติดอันดับ Best-Selling อันดับ 1 ของ New York Times ถึง 19 สัปดาห์ ยอดขายจนถึงปี 1965 ประมาณ 5 ล้านเล่ม (ติด Top 10 นิยายขายดีตลอดกาลของ NYT) ว่ากันว่าเทียบเท่ากับตอนวางขายนิยาย Gone with the Wind (1936)

เกร็ด 2: ว่ากันว่าที่นิยาย Exodus ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะแทบทั้งนั้นคือชาวยิวผู้ซื้อไป และได้ครองอเมริกาเรียบร้อยแล้ว แทบทุกครัวเรือนจะต้องมีนิยายเล่มนี้ประดับไว้ ใครๆคงต้องเคยอ่านกัน

ประวัติเรือ Exodus: สร้างขึ้นเสร็จปี 1927 โดย Baltimore Steam Packet Company เป็น Packet Steamer เดิมชื่อ SS President Warfield (1928-1942) ถูกซื้อโดยกองทัพเรืออเมริกาใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนชื่อเป็น USS President Warfield (IX-169) ปลดประจำการ 13 กันยายน 1945 ขายต่อให้ Potomac Shipwrecking Co. เมื่อ 9 พฤศจิกายน 1946

Exodus ออกเดินทางเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 1947 บรรทุกผู้โดยสาร 4,515 คน (เป็นปริมาณเยอะที่สุดตั้งแต่เคยมีการขนคนสู่ปาเลสไตน์) นำโดยกัปตัน Yossi Harel หลังจากออกจากท่า ถูกติดตามสกัดกั้นจากกองทัพเรืออังกฤษ ใช้เวลา 2 สัปดาห์พยายามอย่างสุดความสามารถ เห็นฝั่งท่าเรือ Haifa เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 1947 แต่ถูกเรือรบอังกฤษพุ่งเข้าใส่ (Ram) บุกขึ้นเรือได้สำเร็จ บรรดาผู้อพยพทั้งหมดต่างถูกส่งกลับฝรั่งเศสในวันถัดมา ส่วนใหญ่ส่งคืนค่ายกักกัน มีไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้เหยียบย่างแผ่นดินปาเลสไตน์สมหวังแบบในหนัง

เกร็ด: เพราะการโดนเรือรบของอังกฤษพุ่งใส่ ทำให้ Exodus ได้รับความเสียหายมากจนจมลง กลายเป็นส่วนหนึ่งของเขื่อนกั้นน้ำทะเล (Breakwater) ที่ท่าเรือ Haifa ไปโดยปริยาย

เกร็ด 2: ปี 1950 เรือ Exodus ได้รับการยกย่องจาก Abba Koushi ผู้ว่าการเมือง Haifa ว่าเป็น “Ship that Launched a Nation”

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Dalton Trumbo ซึ่งขณะนั้นยังถูก Hollywood Blacklist จากการเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ หนังจะถูกห้ามฉายถ้ามีชื่อขึ้นเครดิต แต่ Preminger สนใจที่ไหน เรื่องราวมันก็ผ่านไปทศวรรษกว่าแล้ว นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ชื่อนักเขียนจาก Blacklist ได้กลับมาขึ้นเครดิตอีกครั้ง [นี่ทำให้ Trumbo ได้กลายเป็นนักเขียน Spartacus (1960) ตามมาด้วย]

เรื่องราวของ Ari Ben Canaan (รับบทโดย Paul Newman) ได้ทำการลักลอบขนชาวยิวจำนวน 611 คนอย่างผิดกฎหมาย ออกจากค่ายกักกันที่ Karaolos, Cyprus ขึ้นเรือ Exodus ที่ท่า Famagusta เพื่อออกเดินทางสู่ Haifa, British Mandatory Palestine แต่ถูกสกัดกั้นไว้ได้ทันจากกองทัพเรืออังกฤษ ที่ได้ส่ง Kitty (รับบทโดย Eva Marie Saint) พยาบาลสาวขึ้นเรือเพื่อช่วยโน้มน้าวให้ยอมจำนน แต่เธอกลับไปชักจูง General Sutherland (รับบทโดย Ralph Richardson) ให้ปล่อยเรือออกจากท่าได้สำเร็จ

หลังจากเดินทางมาถึงปาเลสไตน์ หนังนำเสนอ 3 มุมมองที่เกิดขึ้นจาก 3 ตัวละครชาว Jews ประกอบด้วย
– Karen Hansen Clement (รับบทโดย Jill Haworth) เด็กหญิงสาวอายุ 14 เดินทางไปที่ Gan Dafna หมู่บ้านสมมติที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ Mount Tabor เพื่อเรียนรู้การทำงาน มีชีวิตอย่างสงบสุขสันติ
– Dov Landau (รับบทโดย Sal Mineo) เด็กหนุ่มน้อยที่เต็มไปด้วยความคับข้องแค้น เก็บกดเต็มอก ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มหัวรุนแรง Irgun เพื่อระเบิดทุกสิ่งอย่างของชาวอังกฤษ
– Ari Ben Canaan (รับบทโดย Paul Newman) ชายหนุ่มผู้แสวงหาความสงบสุขสันติ แต่เพราะสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้เขาต้องใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนโหวตลงประชามติของสมัชชาสหประชาชาติ ต่อการแบ่งแยกดินแดนปาเลสไตน์ให้กับชาวยิว วันที่ 29 พฤศจิกายน 1947 และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น เมื่อชาวมุสลิมอาหรับไม่ยินยอมรับประชามติ เตรียมพร้อมเปิดฉากต่อสู้รบทำสงครามกับชาวยิว

นิยายเรื่องนี้ถือว่าเป็นแนวชวนเชื่อ สนับสนุนองค์กร Zionist อย่างยิ่ง นั่นหมายถึงการ anti-Arab, anti-British แสดงความต่อต้านชาวมุสลิมอาหรับ และสหราชอาณาจักรอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้ Preminger กับ Trumbo จึงพยายามตัดทอนส่วนที่สร้างความเกลียดชังออก แต่ก็ยังมีหลายประเด็นหลงเหลืออยู่ชัดเจน (ที่ไม่สามารถตัดออกได้ด้วยนะ)

เจ้าของต้นฉบับนิยาย Leon Uris มีความเห็นต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ไม่ชอบเท่าไหร่ มันเหมือนว่าผู้กำกับและนักเขียนบท ได้แสดงทัศนะส่วนตัวออกมาตรงๆผ่านทางหนังเลยว่า นี่ไม่ใช่นิยายที่มีความยอดเยี่ยมแต่ประการใด เต็มไปด้วยความน่าเบื่อสิ้นดี

เช่นกันกับนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศอิสราเอล David Ben-Gurion เคยแสดงความเห็นต่อนิยายเรื่องนี้ว่า

“As a literary work it isn’t much, But as a piece of propaganda, it’s the best thing ever written about Israel.”

Paul Leonard Newman (1925 – 2008) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Shaker Heights, Ohio ในครอบครัว Jewish บรรพบุรุษอพยพมาจาก Hungary/Poland มีความสนใจการแสดงตั้งแต่เด็ก เล่นละครโรงเรียนตอนอายุ 7 ขวบ พอสิบขวบกลายเป็นนักแสดงละครเวที เรียนจบ Bachelor of Arts สาขาการแสดงและเศรษฐศาสตร์ที่ Kenyon College ทั้งยังเป็นลูกศิษย์ Lee Strasberg ที่ Actors Studio, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Silver Chalice (1954) มีชื่อเสียงจาก Somebody Up There Like Me (1956) ตามด้วย Cat on a Hot Tin Roof (1958), The Long, Hot Summer คว้ารางวัล Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Hustler (1961), Cool Hand Luke (1967), Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969), The Sting (1973), The Verdict (1982), คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง The Color of Money (1986) ฯ

รับบท Ari Ben Canaan ชายผู้มีชีวิตสองด้าน แสวงหาความสงบสุขสันติ แต่มีเรื่องให้ต้องต่อสู้เอาชีวิตเป็นเดิมพันเรื่อยไป ซึ่งสุดท้ายแล้วความพยายามวางตัวเป็นกลางก็มิอาจสามารถสัมฤทธิ์ผลได้ ซึ่งฝั่งที่เขาเลือกแน่นอนว่าคือเชื้อชาติของตนเองเป็นสำคัญ

ท่ามกลางเสียงครหาจากนักวิจารณ์ตั้งแต่การคัดเลือกนักแสดง ไม่ได้เหมาะกับภาพลักษณ์ของ Ari Ben Canaan แม้แต่น้อย แต่ผู้กำกับ Preminger ยืนกรานว่าเขามีภาพของ Newman คนเดียวเท่านั้น แต่ทั้งนี้ในกองถ่ายทั้งสองกลับไม่ถูกกันสักเท่าไหร่ เพราะผู้กำกับไม่ยอมฟังคำเสนอแนะนำของนักแสดงแม้แต่น้อย

ส่วนตัวไม่เห็นภาพความขัดแย้งเท่าไหร่กับตัวละครนี้เท่าไหร่ (คงเพราะผมไม่เคยอ่านนิยายด้วยกระมัง) แต่รู้สึกว่านี่ไม่ใช่บทบาทที่มีความโดดเด่นอะไรของ Newman เหมือนใจทุ่มให้ไม่เต็มร้อยยังไงชอบกล และบทโรแมนติกกับตัวละครของ Eva Marie Saint เคมีพวกเขาไม่ค่อยเข้าขากันเสียเท่าไหร่

Newman ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า คิดผิดที่รับเล่นหนังเรื่องนี้ ทั้งๆที่ตัวเขาเองก็เป็นชาว Jews แต่เพราะภายหลังกลายเป็นผู้มีทัศนะทางการเมืองฝักใฝ่ฝั่ง Democrat รับไม่ได้กับการกระทำของรัฐอิสราเอล ที่ใช้ความรุนแรงขับไล่ชาวมุสลิมอาหรับออกจากดินแดนปาเลสไตน์

Eva Marie Saint (เกิดปี 1924) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Newark, New Jersey โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงที่ Bowling Green State University ตามด้วย Delta Gamma Sorority เริ่มมีผลงานจากรายการโชว์ทางโทรทัศน์ ซีรีย์ ภาพยนตร์เรื่องแรก On the Waterfront (1954) คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actress ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ A Hatful of Rain (1957), North by Northwest (1959), Superman Returns (2006) รับบท Martha Kent

รับบท Kitty Fremont พยาบาลยังสาวสูญเสียสามีนักข่าวที่ปาเลสไตน์ เดินทางสู่ Cyprus เพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนและพบเจอกับเพื่อนเก่าของสามี จับพลัดจับพลูได้ช่วยงานค่ายกักกันที่ Karaolos เกิดความสนใจรับเด็กหญิงสาวชาวยิว Karen Hansen เลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม แต่เพราะเธอได้ขึ้นเรือ Exodus จึงตัดสินใจเดินทางกลับปาเลสไตน์เพื่อตามหาพ่อของตนเอง Kitty เลยติดตามไปด้วยจนถึงที่สุด

คิดว่าตัวละครนี้น่าจะอายุประมาณ 23-27 ปี แต่ Saint ขณะนั้นอายุ 35 มากเกินไปพอสมควร ซึ่งริ้วรอยความเหี่ยวย่นทำให้ตัวละครดูแก่ไปสักนิด เป็นแม่ของ Jill Haworth (ที่รับบท Karen Hansen) ได้สบายๆเลยละ แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะ Saint สร้างความเฉลียวฉลาดให้ตัวละครนี้พอสมควร กระนั้นเมื่อถึงครึ่งหลัง บทบาทของเธอก็ลดลงมากจนจืดจาง เพราะความที่ไม่ใช่ชาว Jews เลยกลายเป็นคนนอกไม่เข้าพวก (แต่ผมว่าเธอก็กลมกลืนไปกับชาว Jews อยู่นะ)

Jill Haworth (1945 – 2011) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Hove, Sussex มีแม่เป็นนักเต้นบัลเล่ต์ เดินรอยตามเข้าเรียนที่ Sadler’s Wells Ballet School ภาพยนตร์เรื่องแรก The 39 Steps (1959) ตามด้วย The Brides of Dracula (1960) ฯ แม้จะผลงานหนังของ Haworth จะไม่ค่อยมีโดดเด่นเสียเท่าไหร่ แต่ละครเวทีเป็นต้นแบบ Sally Bowles เรื่อง Cabaret (1966) ที่ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แสดงนำโดย Liza Minnelli เมื่อปี 1972

รับบท Karen Hansen Clement เด็กหญิงสาวที่มีความรักครอบครัว เชื้อชาติพันธุ์ของตนเองอย่างมาก ทั้งๆได้รับโอกาสไปอยู่อเมริกาแต่กลับเลือกกลับบ้านเพื่อค้นหาพ่อ แม้การได้พบเจอจะทำให้เธอค่อนข้างผิดหวังในชีวิต แต่เพราะตกหลุมรักกับ Dov Laudau จึงต้องการเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีอนาคต และชีวิตที่อิ่มเอมด้วยความสุข

ไม่ใช่แค่ความเยาว์ของ Haworth (เธออายุ 14 จริงๆนะครับ) การแสดงก็เต็มไปด้วยความใสซื่อบริสุทธิ์ ยิ่งตอนบอกรักกับ Landau ใครจะไปคิดว่าเป็นการปักธงอันรวดร้าวมากในฉากถัดมา, ภาพลักษณ์นี้ของเธอทำให้ผมจินตนาการถึงตอนรับบท Sally Bowles ไม่ออกเลยนะครับ นั่นแปลว่าชีวิตเธอหลังจากนี้คงเข้าสู่ด้ามืดอย่างเต็มตัวเลยละ

Salvatore Mineo, Jr. (1939 – 1976) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ The Bronx, New York สืบเชื้อสาย Sicilian ครอบครัวอพยพจากอิตาเลี่ยน เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที ได้รับการช่วยเหลือผลักดันจาก Yul Brynner จากละครเพลง The King and I จนมีผลงานภาพยนตร์เรื่อง Six Bridges to Cross (1955) [เห็นว่าได้ตัดหน้า Clint Eastwood] โด่งดังสุดขีดกับ Rebel Without a Cause (1955) ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor, Giant (1956), Tonka (1958) ฯ แต่กลายเป็น Typecasting ภาพลักษณ์เด็กหนุ่มผู้มีปมปัญหาขัดแย้งกับผู้ใหญ่ ทำให้พออายุมากขึ้นเลยหมดโอกาสพิสูจน์ตัวเอง

รับบท Dov Landau เด็กหนุ่มชาว Jews ที่เคยเป็นสมาชิกค่ายกักกันของนาซี พานพบความชั่วร้ายต่างๆนานา เอาตัวรอดจากการเป็นนักสร้างระเบิด และบำเรอกามให้กับทหารเยอรมัน ด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว อึดอัดอั้นตันใจ จึงต้องการล้างแค้นทุกคนในโลกที่กระทำความรุนแรงกับคนของพวกเขา

ผมจดจำน้ำเสียงกับใบหน้าของ Mineo ได้จากตั้งแต่ครั้งแรกที่พบเห็น เดาได้เลยว่าต้องรับบทตัวละครแบบไหนแล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ กระนั้นต้องยอมรับเลยว่าเขาเป็นนักแสดงฝีมือ ขโมยซีนความโดดเด่นไปเลยละ และไม่คิดว่าหนังจะกล้าใส่ประเด็นทาสบำเรอกามให้กับตัวละครนี้ด้วย สร้างมิติให้เกิดความสั่นสะท้าน ขนหัวลุกเลยทีเดียว

หนังเรื่องนี้ยังรวมดารา (Ensemble Cast) ที่ดังๆอีกหลายคน อาทิ

Sir Ralph David Richardson (1902 – 1983) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ หนึ่งในสามตำนานของละครเวทีอังกฤษ เคียงคู่ Johm Gielgud กับ Laurence Olivier (เห็นว่าตอนแรกชักชวนทั้ง Gielgud กับ Olivier แต่ทั้งคู่บอกปัดบทนี้) รับบท General Sutherland ถ้าไม่ได้ไหวพริบปณิธาน เรือ Exodus คงแล่นออกจาก Cyprus ได้โดยไม่ถูกขัดขวาง แต่ขณะเดียวกันก็เพราะตัวละครนี้ที่ทำให้ Exodus ได้ไปต่อเช่นกัน

Peter Sydney Ernest Lawford (1923 – 1984) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ หนึ่งในสมาชิก Rat Pack พี่เขยของปธน. John F. Kennedy รับบท Major Caldwell ลูกน้องคนสนิทของ General Sutherland เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งอหังกา แต่กลับสะเพร่าเรินเร่อ ยึดมั่นในระบบมากเกินไป ขาดสันชาติญาณในการคิดตัดสินใจ

Lee J. Cobb (1911 – 1976) นักแสดงสัญชาติอเมริกา ที่มีผลงานดังอย่าง 12 Angry Men (1957), On the Waterfront (1954), The Exorcist (1973) ฯ รับบท Barak Ben Canaan พ่อของ Ari Ben Canaan ที่เป็นผู้ฝักใฝ่การเมือง รักสงบสันติ ตรงข้ามกับพี่ชาย Akiva Ben-Canaan รับบทโดย David Opatoshu (1918 – 1996) นักแสดงสัญชาติอเมริกา ที่เป็นผู้นำกลุ่มหัวรุนแรง Irgun

ถ่ายภาพโดย Sam Leavitt (1904 – 1984) คว้า Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง The Defiant Ones (1958) ผลงานอื่นๆอาทิ A Star Is Born (1954), Anatomy of a Murder (1959), Cape Fear (1962) ฯ หนังใช้กล้อง Super Panavision ฟีล์มขนาด 70mm เรียกว่ากว้างใหญ่สุดลูกหูเต็มตา ถ้ามีโอกาสรับชมในโรงหนังสักครั้งไม่ควรพลาดเลย

หนังถ่ายทำสถานที่จริง Israel และ Cyprus ประเทศหลังเหมือนว่าจะยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอยู่ และมองการสร้างหนังเรื่องนี้เหมือนมีความ anti-British จึงปฏิเสธให้การช่วยเหลือใดๆ

งานภาพของหนังอยู่ในระดับสวยงามมากๆ ช็อตแรกถ่ายจากบนเทือกเขา เห็นท้องฟ้า ผืนแผ่นดิน และทะเล Mediterranean กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา จากนั้นมีการแพนหมุนกล้องมาบรรจบที่นักแสดง เห็นทิวทัศน์โดยรอบได้เกือบจะ 360 องศา

อีกช็อตสวยๆก็หมู่บ้านชาวอาหรับ Abu Yesha แล้วแพนกล้องไปทางซ้ายจนเห็น Gan Dafna

สำหรับไดเรคชั่นที่ผมชอบสุดในหนัง, ระหว่างที่ General Sutherland ได้รับการเกลี้ยกล่อมจากพยาบาลสาว Kitty ให้ปล่อยเรือ Exodus ล่องไปสู่ปาเลสไตน์ เมื่อเขาครุ่นคิดตัดสินใจได้ปุ๊ป ทำการเคลื่อนโต๊ะแยกไปอีกฝั่ง ลุกขึ้นเดินแทรกตัวไปเตรียมตัวเดินทางสู่กรุง London นี่ราวกับตอน Moses ยกไม้เท้าทำให้ผืนน้ำแยกแห่ง Red Sea แยกออกจากกัน จนสามารถอพยพชาว Jews เดินข้ามฝากจากอิยิปต์ไปสู่ Promise Land ได้

อีกช็อตหนึ่งที่สะท้อนนัยะแฝงแน่ๆ เมื่อ Ari Ben Canaan พา Kitty Fremont ไปชมวิวทิวทัศน์ของปาเลสไตน์ มีช็อตเดินผ่านต้นไม้สามต้น นี่เปรียบเทียบอะไรได้เยอะมาก
– 3 ศาสนาที่มีอิทธิพลต่อดินแดนแห่งนี้ Jewish, Muslim, Christian
– 3 มุมมองตัวละครชาว Jews ของหนัง ประกอบด้วย Karen Hansen แสวงหาความสงบสุข, Dov Landau ต้องการแก้แค้น เต็มไปด้วยความรุนแรง, Ari Ben Canaan ผู้กึ่งกลางระหว่างสองฝั่ง

ตัดต่อโดย Louis R. Loeffler ขอประจำของ Preminger ได้เข้าชิง Oscar: Best Edited สองครั้งจาก Anatomy of a Murder(1959) กับ The Cardinal (1963) ด้วยความยาว 208 นาที หนังยาวเกินไปมากๆจนผมหาวแล้วหาวอีก การดำเนินเรื่องก็ค่อนช้า ไคลน์แม็กซ์ก็ไม่สุดค้างๆคาๆยังไงชอบกล

สำหรับมุมมองการดำเนินเรื่องถือเป็นปัญหาใหญ่ของหนัง เพราะมีความสับสนปนเป ซับซ้อนเข้าใจยาก เรียงร้อยขาดความต่อเนื่องสวยงาม ประกอบด้วย
– ช่วงแรกเริ่มจากในสายตาของ Kitty ถือว่าเป็นคนนอกจับพลัดจับพลูเข้ามาพบเจอรู้จักกับปาเลสไตน์ และชาวยิว
– แต่พอหนังเดินทางเข้าสู่ปาเลสไตน์ ได้มี 3 มุมมองเกิดขึ้นพร้อมๆกันคือ
> เรื่องราวของ Karen Hansen อาศัยอยู่ที่ Gan Dafna
> มุมของ Dov Landau กับการเป็นสมาชิกของ Irgun
> และ Ari Ben Canaan ผู้อยู่กึ่งกลางของสองฝั่ง เดินทางไปหาพ่อ Barak (อยู่ที่ Gan Dafna) และเพื่อนพ่อ Akiva (หัวหน้ากลุ่ม Irgun)

ส่วน Kitty ในช่วงครึ่งหลังเหมือนว่าเธอยังคงสถานะเป็นในสายตาคนนอกอยู่ เหมือนจะมีโอกาสพบเห็นรับรู้เรื่องราวทั้ง 3 มุมมอง แต่ไม่นานก็ตัดสินใจเข้าร่วมสนับสนุน เป็นส่วนหนึ่งกับชาวปาเลสไตน์ (ตกหลุมรักกับ Ari Ben Canaan)

จริงอยู่ที่ไม่มีส่วนไหนของเรื่องราวตัดสามารถออกได้เลย เพราะมีความเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน นำสักเรื่องราวออกไปจะทำให้ขาดความสมดุลไปทันที กระนั้นอีกปัญหาหนึ่งอยู่ที่ไดเรคชั่นของผู้กำกับ มีความเชื่องช้า เหนื่อยหน่าย เรื่อยเปื่อยเกินไป สัมผัสของ Super Panavision ไม่ได้ช่วยให้เกิดความเพลินเพลินในการเสพความงามของภาพแม้แต่น้อย

จะมีอีกอย่างก็เพลงประกอบโดย Ernest Gold (1921 – 1999) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆอาทิ The Defiant Ones (1958), On the Beach (1959), It’s a Mad Mad Mad Mad World (1963), The Secret of Santa Vittoria (1969), Cross of Iron (1977) ฯ กระนั้นต้องถือว่า Exodus คือ Masterpiece ของ Gold เลยก็ว่าได้

แม้บทเพลง Main Theme ของหนัง จะโด่งดังกลบเพลงอื่นเสียหมด แต่ก็มีอีกเพลงหนึ่งชื่อ Karen หลับตาแล้วจินตนาการภาพของหญิงสาว, ชาวปาเลสไตน์, รัฐอิสราเอล จะมีสัมผัสความหมายชัดเจนมากๆ น่าสงสารเห็นใจ เจ็บปวดรวดร้าวถึงทรวง ถือเป็นบทเพลงสะท้อนถึงโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นได้สวยงามที่สุด

Exodus แปลว่า การอพยพ, เดินทางจากไป ฯ หนังเป็นเรื่องราวของการต่อสู้ค้นหาที่พึ่งพิง/จุดยืน/อุดมการณ์ ของมนุษย์ ในชีวิตและสังคม
– หญิงสาว Kitty ได้สูญเสียสามีไป เธอกำลังมองหาที่พึ่งพิงใหม่ในชีวิต ตอนแรกสนใจเด็กหญิงสาว Karen แล้วต่อมาตกหลุมรัก Ari Ben Canaan พร้อมกับอุดมการณ์ของเขา ตัดสินใจที่จะยืนเคียงข้าง ต่อสู้ร่วมกับชาวยิวในปาเลสไตน์ (ทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้จำเป็นต้องเกี่ยวเนื่องอะไรด้วยเลยก็ได้)
– ผู้ชายตระกูล Ben Canaan มีความต้องการให้ชาติพันธุ์ของพวกเขามีที่ยืนบนโลกใบนี้ แต่ละคนก็จะมีวิธีการ/อุดมการณ์/ความเชื่อของตนเองแตกต่างออกไป
– Karen Hansen
> ตอนอายุ 14 ยังเป็นเด็กหญิงสาว มองหาบุคคลแทนพ่อ-แม่ ที่สามารถมอบความรัก ความอบอุ่น เป็นแบบอย่างได้
> พออายุ 15 กลายเป็นหญิงสาววัยรุ่น ตกหลุมรัก Dov Landau ชายหนุ่มที่เธอรู้สึกอยากมอบความรัก ความสุขให้ และต้องการเป็นแบบเขา (กลับตารปัตรกับตอนอายุ 14 โดยสิ้นเชิง)
– Dov Landau แม้เจ้าตัวจะอ้างว่าผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายที่สุดในชีวิตมา แต่ถือว่ายังอ่อนต่อโลกนัก มีอะไรๆต้องเรียนรู้ค้นหาตัวเองอีกมาก, ตอนที่ Karen บอกรักก็เหมือนจะไม่ได้ครุ่นคิดจริงจังอะไร แต่ภายหลังเมื่อมาระลึกได้ก็รวดร้าวแทบขาดใจ

การเดินทางด้วยเรือชื่อ Exodus จาก Cyprus ข้ามทะเล Mediterranean เปรียบได้กับเหตุการณ์ที่ Moses พาชาว Hebrew จากอิยิปต์ข้าม Red Sea ถึงวิธีการจะต่างกันพอสมควร แต่จุดหมายปลายทางกลับคือดินแดน Canaan, Promise Land, ปาเลสไตน์ หรือปัจจุบันคือประเทศอิสราเอล

สำหรับตัวตายตัวแทนของ Moses ใกล้เคียงสุดคงคือ Ari Ben Canaan บุคคลผู้ยืนอยู่สองฝั่งอุดมการณ์ (Moses ก็เป็นทั้งวรรณะกษัตริย์และทาส) ก่อนที่สุดท้ายจะตัดสินใจทำทุกสิ่งอย่างเพื่อชาวยิว และแผ่นดินแดนของตนเอง

ในมุมมองคนนอก ประเทศที่สามอย่างเราๆ ตัวละครที่เปรียบเทียบได้ตรงที่สุดก็คือ Kitty หญิงสาวผู้ไม่ได้เคยรับรู้ เข้าใจอะไรทั้งนั้น รับชมหนังเรื่องนี้ก็เหมือนเธอที่พบเจอเหตุการณ์ต่างๆ พยายามศึกษาทำความเข้าใจ และค้นหาบทสรุปให้กับตัวเอง, สำหรับผู้ชมส่วนใหญ่คงทำได้แต่ ‘เพิกเฉย’ ต่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เพราะเราไม่สามารถทำบ่างสิ่งให้เกิดขึ้น ช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงอะไรได้ นอกเสียจาก’ตระหนัก’และ’เข้าใจ’ถึงสาเหตุ ผลกระทบ จดจำบทเรียนแห่งความขัดแย้งที่ต้องหวังว่า ไม่ให้มันเกิดขึ้นกับชาติของเรา

จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งเกิด ผมว่ามันค่อนข้างชัดเจนเลยนะว่าเกิดจาก ‘ความยึดติดในสถานที่’ เพราะดินแดนแห่งนี้คือ ‘แผ่นดินของเรา’ ทุกฝ่ายต่างอ้างความเป็นเจ้าของจึงเกิดการแก่งแย่งชิงดีเพื่อครอบครอง ใครมีเงินทองกำลังยุทธโธปกรณ์มากกว่าก็มีแนวโน้มได้รับชัยชนะ ผู้แพ้จำต้องหลีกลี้หนีเอาตัวรอด เวียนวน “วงจรอุบาทว์” ไม่มีวันจบสิ้น

ผมไม่ขอออกความเห็นว่าฝ่ายไหนถูกผิดน่าเห็นใจ เพราะรู้สึกว่าไปๆมาๆมันก็เลวบัดซบไปครบทุกฝ่าย, รับชมหนังเรื่องนี้จบคนส่วนใหญ่คงรู้สึกเห็นใจชาวยิว แต่จะบอกว่าปัจจุบันการแสดงออกของประเทศอิสราเอลต่อต้านชาวอาหรับมุสลิม กลับเต็มไปด้วยความขัดแย้งรุนแรง เข้าสำนวน ‘ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง’ ขณะที่อีกฝ่ายก็มีพฤติกรรมตอนนี้เหมือน ‘หมาหมู่ลอบกัด’ เชื่อใจไม่ได้ทั้งนั้น

บ้านของเราสร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรง หยาดเหงื่อ แต่เมื่อถูกคนภายนอกเข้ามารุกราน แย่งชิง ทำลาย เป็นใครคงต้องหาทางปกปักษ์รักษา ปกป้องของของเราไว้ให้จนถึงที่สุด แต่เมื่อถึงจุดไม่ไหวแล้ว ดื้อรั้นต่อไปก็มีแต่สร้างความเสียหายไม่รู้จบสิ้น ก็ถึงเวลาปล่อยวางเสียบ้างนะครับ ที่คนศาสนาอื่นนิยมตีกันเพราะพวกเขาไม่รู้จักคำนี้ ใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นที่ตั้ง หายใจเข้าลึกๆแล้วผ่อนออกมา “ไม่มีอะไรในโลกที่จีรัง”

ด้วยทุนสร้าง $4.5 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกาเหนือ $8.7 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $20 ล้านเหรียญ แม้จะขาดทุนย่อยยับในประเทศอังกฤษ (ก็แน่ละ หนังตีความได้ในเชิง anti-British ชาวอังกฤษที่ไหนจะอยากรับชม) แต่ก็ถือว่ากำไรมหาศาลเท่าตัว

เข้าชิง Oscar 3 สาขา ได้มา 1 รางวัล
– Best Supporting Actor (Sal Mineo)
– Best Cinematography, Color
– Best Music, Scoring of a Dramatic or Comedy ** คว้ารางวัล

ส่วน Golden Globe เข้าชิง 3 สาขา ได้มา 1 รางวัล
– Best Supporting Actor (Sal Mineo) ** คว้ารางวัล
– Most Promising Newcomer – Female (Jill Haworth)
– Best Original Score

ถึงหนังจะโคตรยาว และเรื่องราวความขัดแย้งในปาเลสไตน์ก็หาได้อยู่ในความสนใจ (ถ้าไม่เพราะต้องเขียนบทความนี้ ก็ไม่คิดสนใจอยากศึกษาเท่าไหร่) แต่ผมพึงพอแล้วกับแค่เพลงประกอบที่เพราะพริ้งจับใจ ฟังวนเป็นสิบเป็นร้อยรอบก็มิเคยเบื่อเลย อาจมีคุณค่ามากกว่าหนังทั้งเรื่องเสียด้วยซ้ำไป

แนะนำกับผู้สนใจจุดเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวยิว กับชนอาหรับมุสลิม ที่ดินแดนปาเลสไตน์, ชื่นชอบหนัง Epic งานภาพสวยๆ เพลงประกอบเพราะๆ ดำเนินเรื่องช้าๆเนิบๆ ทนความยาว 3 ชั่วโมงกว่าๆได้ไม่เบื่อ, แฟนๆผู้กำกับ Otto Preminger นักแสดงอย่าง Paul Newman, Eva Marie Saint, Ralph Richardson, Lee J. Cobb ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับการเหยียดเชื้อชาติ และแนวคิดความขัดแย้งรุนแรง

TAGLINE | “หลับให้สบายกับบทเพลงอันเพราะพริ้งของ Ernest Gold ยิ่งใหญ่น่าสนใจกว่าการต่อสู้เพื่ออิสระภาพของ Exodus เป็นไหนๆ”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: