Fantasia

Fantasia (1940) hollywood Anime Film ♥♥♥♥

คุณเคยไปชมการแสดงสดดนตรีคลาสสิกหรือเปล่า ถ้าเคยและมีความชื่นชอบ ผมแนะนำอย่างยิ่งให้ดูหนังเรื่องนี้, นี่เป็นอนิเมะที่ไม่ไม่มีเรื่องราว จะเรียกว่าเป็น ภาพประกอบเพลง หรือเพลงประกอบภาพก็ได้ มีทั้งแบบนามธรรม (Abstract), เพลงสร้างเรื่องราว, เรื่องราวประกอบเพลง ฯ เป็นหนังที่ทำให้คุณจะเห็นภาพ ‘เสียง’ ในแบบที่ไม่เคยรู้มาก่อน

นี่เป็นอนิเมชั่นแปลกที่สุด เท่าที่นาย Walt Disney เคยสร้างมา แต่ถือว่ามีความเป็นศิลปะในระดับสูงสุด, ภาพรวมของหนังไม่มีเนื้อเรื่องอะไรเลย เป็นการเลือกเพลงคลาสสิกเพราะๆ มาบรรเลงประกอบภาพวาดสวยๆ แต่ในช่วงนั้นๆจะมี ‘เรื่องราว’ บางอย่างสอดแทรกอยู่

ตอนสมัยผมเรียนอยู่กรุงเทพฯ มีโอกาสเมื่อไหร่ก็จะไปชมการแสดงของ BSO (Bangkok Symphony Orchestra) วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ มีการแสดงสดแทบทุกเดือน ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ลง MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ) หรือไม่ก็ TPO (Thailand Philharmonic Orchestra) วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถวศาลายา เห็นมีเปิดการแสดงอยู่เรื่อยๆ เช่นกัน, พอมาอยู่ต่างจังหวัดแล้วก็ทำใจ ไม่มีโอกาสไปฟังเพลงอีกเท่าไหร่แล้ว ถ้าคุณอยู่กรุงเทพฯ และชอบเพลงคลาสสิก มีโอกาสแนะนำให้ลองไปสักครั้งนะครับ แต่งตัวธรรมดาๆไปก็ได้ แต่ขอให้สุภาพหน่อย ไฮโซเขาใส่เดรส ใส่สูทมาฟังเพลง ถ้าคุณใส่ขาสั้นรองเท้าแตะ ก็อย่าไปเลือกนั่งแถวหน้าๆละ ถือว่าไม่ให้เกียรติสถานที่และนักดนตรีอย่างมาก

วิธีการดูหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่ ‘ดู’ นะครับ แต่เป็นการ ‘ฟัง’ รับรู้ด้วยการ ‘เห็น’, ผมเปรียบเทียบกับการไปนั่งฟังการแสดงสดดนตรีคลาสสิก แล้วได้เห็นภาพเคลื่อนไหวประกอบเพลง ที่มีลักษณะเป็นไปตามอารมณ์เพลง มีทั้งภาพ Abstract เป็นสี เส้น แสง เงา, เป็นเรื่องราวประกอบเพลง, เพลงประกอบเรื่องราว ฯ แต่ละเพลงจะมีเรื่องราวแฝงอยู่ ทุกการเคลื่อนไหวก็มีความหมายแฝง บางอย่างเราไม่ต้องไปทำความเข้าใจมันก็ได้ ให้ความรู้สึกและบรรยากาศพาไป แต่ถ้าคุณชอบคิดหาคำตอบ มันก็มีสัญลักษณ์พวก แสง สี สัตว์สัญลักษณ์ การกระทำต่างๆ ฯ เหล่านี้ที่สามารถวิเคราะห์ให้เป็นรูปธรรมได้

หนังเริ่มต้นเหมือนการแสดงสด Orchestra เปะๆเลย ให้นักดนตรีวง Philadelphia Orchestra เดินเข้ามานั่งเตรียมตัว ปรับเสียง และเตรียมพร้อมแสดงดนตรี, Deems Taylor เป็นพิธีกร (Master of Ceremonies) แนะนำก่อนเริ่มต้นการแสดง และ Leopold Stokowski เป็นวาทยากร

  • เพลงแรก Toccata and Fugue in D Minor ของ Johann Sebastian Bach ภาพประกอบจะเริ่มจากเงาของนักดนตรีฉายบนฉากด้วยแสงสีต่างๆ จากนั้นค่อยเริ่มแปรสภาพเป็นเส้น รูปทรง ก้อนเมฆ และวัตถุที่เริ่มมีรูปร่าง, เรื่องราวของภาพประกอบเพลงนี้ คือ การแปรเปลี่ยนสภาพ จากสิ่งที่มีรูปร่างกลายเป็นสิ่งไม่มี จาก object สู่ abstract ที่กำลังจะกลายเป็นวัตถุอีกครั้ง
  • Nutcracker Suite ของ Pyotr Ilyich Tchaikovsky เพลงนี้เป็น ballet suite ภาพที่เห็นจึงเป็นเหมือนการเต้นของ เหล่าภูติ (Fairy), ปลา, ดอกไม้, เห็ด, ใบไม้ ส่วนท่าเต้นล้วนมีชื่อเสียงทั้งนั้น อาทิ Dance of the Sugar Plum Fairy, Chinese Dance, Dance of the Flutes, Arabian Dance, Russian Dance และ Waltz of the Flowers, เรื่องราวของการเต้นนี้ คือ การแปรสภาพจากการเคลื่อนไหวของมนุษย์ (Ballet) ให้กลายเป็นทุกสิ่งที่สามารถเคลื่อนไหวได้ อาทิ สัตว์, สิ่งของ หรือตัวละครจากเทพนิยาย
  • The Sorcerer’s Apprentice ประพันธ์ Orchestra โดย Paul Dukas จากบทกลอนของ Johann Wolfgang von Goethe เรื่อง Der Zauberlehrling เขียนเมื่อปี 1797, จากเรื่องราวกลายมาเป็นบทเพลง และกลายมาเป็นภาพในหนังเรื่องนี้ นี่เป็นตอนเดียวของหนังที่มี ‘เรื่องราว’ แบบจับต้องได้, Mickey Mouse รับบทนักเวทย์ฝึกหัด มีอาจารย์ชื่อ Yed Sid, Mickey พยายามที่จะใช้เวทย์มนต์ ทำให้ตัวเองไม่ต้องทำงานหนัก แต่เขากลับไม่สามารถควบคุมเวทย์มนต์นี้ได้ ก่อเกิดเป็นหายนะ, แรกสุดเลยนาย Walt Disney ต้องการทำหนังเรื่องยาวของ Micky Mouse ต่อมาสนใจอยากดัดแปลง The Sorcerer’s Apprentice จึงเอาสองแนวคิดมารวมกัน ให้ Mickey รับบทเป็นนักเวทย์ฝึกหัดเสียเลย แต่เพราะเรื่องราวไม่ได้ยาวมาก และเขาต้องการเอาเพลงของ Dukas มาใช้ จึงเหลือเรื่องราวแค่นี้ และไปเพิ่มเติมแนวคิดเรื่อง การสร้างภาพจากเสียงขึ้นแทน, ใจความแฝงของเรื่องราวนี้ ตีความได้เยอะมาก อาทิ พูดถึงเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์สะดวกสบายขึ้น (เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย=เวทย์มนต์) แต่ถ้าใช้มากไปโดยขาดการควบคุม มันก็จะทำให้เกิดความวุ่นวายได้, หรือ ความหมกมุ่นในความคิดบางอย่าง ที่บางครั้งก็มากไปจนเกินควบคุม, ผมมองลึกลงไปในหนังเรื่องนี้ เห็น Micky Mouse คือ Disney ที่เหมือนนักเวทย์ฝึกหัด (เพิ่งเริ่มทำหนังมาไม่กี่เรื่อง) แต่ต้องการเป็นผู้ยิ่งใหญ่ บางครั้งมันก็ประสบความสำเร็จ บางครั้งมากเกินไปก็ล้มเหลว ยังมีอะไรต้องเรียนรู้อีกเยอะ (แบบ Micky Mouse)
  • Rite of Spring ของ Igor Stravinsky พาเราย้อนเวลาไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นของโลก ภาพจักรวาล แกแลคซี่ ดวงดาว ชั้นบรรยากาศโลก ลาวาปะทุจากผืนแผ่นดิน จากนั้นคือกระบวนการเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิต จากเซลล์เล็กๆรวมตัว วิวัฒนาการขึ้น จากอาศัยอยู่ในน้ำเดินขึ้นบก กลายมาเป็นไดโนเสาร์ ปิดท้ายด้วยการสูญพันธุ์ (หนังใช้แนวคิดเรื่องแผ่นดินไหวคร่าชีวิตไดโนเสาร์), เดิมทีนั้น Rite of Spring เป็น Ballet ที่เขียนขึ้นเพื่อบรรยายวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม (primitive life) ซึ่งสิ่งที่หนังนำเสนอ แทนที่จะเป็น Ballet ในรูปแบบเดิมๆ ก็ถูกเปลี่ยนเป็นภาพต้นกำเนิดของสรรพสิ่งบนโลกแทน
  • Intermission พบกับเส้น Soundtrack ที่จะมีการนำเสนอตัวละคร ‘เสียง’ เป็นลักษณะของเส้นคลื่นที่จะมีรูปแบบเปลี่ยนไป เกิดจากเสียงของเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ, เราจะเห็น เส้น สี อารมณ์ของคลื่นมีลักษณะเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น, ช่วงนี้อาจดูไม่มีอะไรมาก แต่กับคนที่ทำงานสายดนตรี นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทำงานกับเสียง นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาเห็นอยู่แทบทุกวัน ตอนสมัยเรียน ผมทำหนังสั้น ช่วงตัดต่อเสียงก็เคยเห็นคลื่นเสียง ลักษณะคล้ายๆกันนี้อยู่ ทุกเสียงบนโลก มีอารมณ์ ความรู้สึก และความหมายของมันอยู่นะครับ อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็น รู้สึกหรือสัมผัสได้หรือเปล่า
  • The Pastoral Symphony หรือ Symphony No. 6 ของ Ludwig van Beethoven, คนส่วนใหญ่จะรู้จัก Beethoven: Symphony No.5 กันอยู่แล้ว แต่น้อยคนจะรู้จัก Symphony No.6, นี่เป็นเพลงที่ได้รับการยกย่องว่า มีความสวยงามยิ่งกว่าภาพวาดเสียอีก (more the expression of feeling than painting), แรงบันดาลใจเพลงนี้ เกิดจากความรักในธรรมชาติของ Beethoven เขาชอบใช้เวลาเดินชมวิวกินบรรยากาศในชนบท สำหรับเพลงนี้เหมือนว่าเขา ‘วาด’ ทำนองขึ้นมา, หนังได้ดัดแปลง ขยายเรื่องราวโดยมีการนำเสนออ้างอิงกับตำนานปรัมปรา เทพเจ้าแห่ง Greek-Roman (Classical Mythology) บนเทือกเขา Olympic ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิต อาทิ Unicorns, Fauns, Pegasus, Centaurs เทพเจ้า อาทิ Bacchus (God of Wine), Cupid, Vulcan, Zeus, Iris, Apollo, Morpheus, Diana ฯ, นี่คือการนำเสนอโลกแฟนตาซี เรื่องราวปรัมปราที่เป็นความเชื่อเหนือธรรมชาติ จินตนาการขึ้นจากบรรยากาศและเสียงเพลง (Fantasy Abstract)
  • Dance of the Hours ของ Amilcare Ponchielli เป็น comic ballet แบ่งออกเป็น 4 เรื่อง ตามช่วงเวลา เช้า, บ่าย, ค่ำ, ดึก ภาพที่เห็นจะเป็นสรรพสัตว์หลากหลายชนิดเต้น ballet ประกอบเพลง, ซึ่งภาพที่เห็นนี้ล้วนแล้วแต่มีสัญลักษณ์บางอย่างแฝงเอาไว้ อาทิ นกกระเรียน ฮิบโป ช้าง เป็นสัญลักษณ์แทนด้วยเพศหญิง ส่วนจระเข้, อีกา คือเพศชาย ท่าทาง สีหน้า การกระทำ เรื่องราวเป็นยังไงลองไปหาชมดูเองนะครับ, ช่วงนี้ผมเรียกว่า เพลงประกอบภาพ ที่เรื่องราวแฝงด้วยนัยยะ (Symbolism)
  • โปรแกรมสุดท้ายเป็น เพลงควบ ประกอบด้วย Night on Bald Mountain ของ Modest Mussorgsky และ Ave Maria ของ Franz Schubert นี่เป็นสองเพลงที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ทั้งเรื่องราว อารมณ์และบรรยากาศ หนึ่งคือความมืดมืด จิตวิญญาณที่ชั่วร้าย และความตาย สองคือแสงสว่าง จิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ และการมีชีวิต, การเลือก 2 เพลงนี้ปิดท้าย ถือว่ามีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ผมนึกถึงคำพูด ‘The night is darkest just before the dawn.’ (The Dark Knight) ก่อนที่จะเริ่มต้นสู่เช้าวันใหม่ เราจะต้องผ่านช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุด (ก่อนพบแสงสว่าง ต้องพบกับความมืด) ซึ่งผมขอเรียบเรียงคำพูดใหม่ว่า ก่อนหนังจะถึงจุดจบ ต้องพบกับช่วงเวลาตื่นเต้นที่สุดก่อน

ในกระบวนการคัดเลือกเพลงมาใช้ในหนัง มีตัวเลือกอื่น อาทิ Cydalise et le Chèvre-pied ของ Gabriel Pierné (เดิมเพลงนี้อยู่ในตำแหน่งของ The Pastoral Symphony ถูกเปลี่ยนเพราะสร้างเนื้อเรื่องประกอบไม่ได้), Ride of the Valkyries ของ Richard Wagner, The Swan of Tuonela ของ Jean Sibelius, Invitation to the Dance ของ Carl Maria von Weber และ Flight of the Bumblebee ของ Nikolai Rimsky-Korsakov เหตุผลที่ต้องตัดออก เพราะมันจะทำให้หนังยาวเกินไป กระนั้นมีอีกเพลงที่ทำแอนิเมชั่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ถูกตัดออกไป คือ Clair de Lune ของ Claude Debussy ผมไปเจอคลิปใน Youtube เป็น Deleted Scene นะครับ ตำแหน่งของมันคือหลังจากเพลง Dance of the Hours ลองไปฟังและชมกันเลย

การออกแบบและอนิเมชั่นของหนังเรื่องนี้ถือว่า ล้ำสมัยมากในขณะนั้น แม้การวาดภาพลงสีจะยังเป็นแบบฉากต่อฉาก (scene by scene) 1 วินาทีมี 24 ภาพ แต่มีการใช้เครื่อง Xerox (สมัยนั้นเครื่อง Xerox พบได้แต่ในสำนักงานใหญ่ๆเท่านั้น ราคายังแพงและไม่แพร่หลายเหมือนปัจจุบัน) เพื่อช่วยย่นเวลาในการร่างวาดภาพ แต่ก็ยังถือว่างานหนักไม่น้อย, การทำงานจะแบ่งออกเป็นทีม ตามเนื้อเรื่องแต่ละตอน (หนังมีผู้กำกับ 12 คน) นักออกแบบและอนิเมเตอร์จะไม่ทำงานข้ามทีมตนเอง (เพื่อเร่งเวลาให้หนังเสร็จเร็วขึ้น), ทีมที่ผมคิดว่าทำงานหนักที่สุดคือ กลุ่ม Rite of Spring ที่ต้องไปค้นคว้าวิจัยเรื่องราวจากพิพิธภัณฑ์ จากหนังสือ ผู้เชี่ยวชาญ กว่าจะรู้ว่า ไดโนเสาร์มีหน้าตา ลักษณะนิสัย เคลื่อนไหวยังไง และข้อสรุปว่าเกิดอะไรขึ้นกับไดโนเสาร์และโลก, สำหรับทีมที่เหมือนงานจะง่ายที่สุด คือ  Toccata and Fugue แต่อนิเมเตอร์ที่เป็นหัวหน้างาน ออกมาพูดว่า ‘no idea’ ไม่รู้จะทำยังไงกับมันดี งานเคยถูกตีกลับจาก Walt Disney เพราะ ซับซ้อนเข้าใจยากเกินไป, สำหรับ Night on Bald Mountain ได้ว่าจ้าง Béla Lugosi นักแสดง Dracula ให้มาเป็นแบบ สำหรับวาดอสูรกาย

ขณะที่หนังฉาย 13 พฤศจิกายน 1940 ขณะนั้นทั่วโลกกำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ไม่มีใครดูหนังเรื่องนี้กันเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหนังยุโรปเงียบสนิท ส่งหนังไปฉายไม่ได้ ด้วยทุนสร้างที่สูงถึง $2.28 ล้านเหรียญ ฉายครั้งแรกทำเงินได้ประมาณ $325,000 เท่านั้น แต่หลังสงครามจบหนังก็ได้มีโอกาสฉายใหม่อีกหลายครั้งในปี 1942, 1946, 1956 และ 1963 รวมแล้วจนถึงปัจจุบัน หนังทำเงินไปถึง $76.4 ล้านเหรียญ (นับเฉพาะในอเมริกา)

มีความพยายามสร้างภาคต่อของหนังเรื่องนี้ โดยใช้แนวคิดคล้ายๆเดิม โดย Roy E. Disney (หลานชายของนาย Walt Disney) ได้สร้าง Fantasia 2000 ประกอบด้วย 7 เรื่องราว 7 เพลงประกอบ บรรเลงโดย Chicago Symphony Orchestra มี James Levine เป็นวาทยากร, ว่ากันตามตรง นี่เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะ Fantasia เป็นหนังที่ไม่ใช่หนัง ผมมองเป็นงานศิลปะที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว สิ่งที่ Fantasia 2000 ทำ ก็คือ ‘ลอกเลียนแบบ’ ไม่มีแนวคิดที่เป็นของตัวเองเลย นี่ทำให้หนังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้ง Boxoffice และคำวิจารณ์ เพราะมันเทียบกันไม่ได้ ไม่มีค่าพอที่จะให้เทียบแม้แต่น้อย

ถ้าไม่คิดว่า Fantasia คือหนัง แต่เป็นการดู Music Video ประกอบเพลง Classic เพราะๆ ภาพสวยๆ ผมว่าคุณคงไม่มีอคติ หรือไม่ชอบหนังเรื่องนี้แน่, แต่กับคนที่คาดหวังจะบริโภคเรื่องราว อยากดู Micky Mouse รับรองว่าต้องได้ผิดหวังเต็มๆเลย, ทำใจให้สบาย หัวโล่งๆ ว่างจากธุระ เปิดดูจอใหญ่ๆ นั่งโซฟาผ่อนคลายยามบ่าย ผมไม่แนะนำให้ดูก่อนนอนนะครับ เพราะจะหลับสบายก่อนหนังจบ แต่ถ้าดูเพื่อให้หลับ ตั้งเวลาให้โทรทัศน์ปิดเองด้วยนะครับ

จัดเรตทั่วไป แต่เด็กคงไม่ทนดูกับคุณนะครับ รอจนถึงตอน Micky Mouse ค่อยเรียกเขามาดูก็พอ

TAGLINE | “Fantasia ไม่ใช่หนัง แต่เป็นการรับชมภาพอนิเมชั่นเคลื่อนไหวสวยๆ ฟังประกอบเพลงคลาสสิกเพราะๆ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์และอมตะ”
QUALITY | RAREGENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: