La Planète sauvage

Fantastic Planet (1973) French : René Laloux ♥♥♥♥♡

บนดาวเคราะห์อันไกลโพ้น Planet Ygam มนุษย์ต่างดาวสีฟ้า Draag ดวงตาแดงกล่ำ ไม่มีผม-ขน ใบหูครีบปลา อายุยืนยาวหลายร้อยพันปี มากด้วยเทคโนโลยีล้ำจินตนาการ สามารถแยกจิตออกจากกาย และมีมนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงเรียกว่า Oms, คว้ารางวัล Special Award จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

มันมีความเจ็บจี๊ดเหมือนเข็มหมื่นแสนเล่มทิ่มแทงลงกลางใจ ระหว่างรับชมอนิเมชั่น Masterpiece เรื่องนี้ เพราะการกระทำอันไร้เดียงสามัญสำนึกของชาว Draag สะท้อนความอมนุษย์ที่เราชาวมนุษย์กระทำแสดงออกต่อสิ่งมีชีวิตอื่นทุกชนิดบนโลก แต่ผมไม่ได้มองใจความอนิเมะแค่ Animal Rights, Human Rights หรือ Racism เท่านั้น ครุ่นคิดต่อจะเกิดความฉงนสงสัย อะไรคือสิ่งที่เหนือกว่า ‘ความเป็นมนุษย์?’
– มิติที่ห้าแบบหนังเรื่อง Interstellar (2014) ของผู้กำกับ Christopher Nolan
– หรือการเดินทางสู่มิติที่สูงกว่าของอนิเมะซีรีย์ Heroic Age (2007)

La Planète Sauvage (แปลตรงตัวว่า Savage Planet, ดาวเคราะห์ที่ป่าเถื่อน) คือภาพยนตร์อนิเมชั่นสองมิติ สัญชาติฝรั่งเศส-เช็กโกสโลวาเกีย ส่วนตัวคิดว่ามีความงดงาม ลุ่มลึกล้ำค่าในเชิงศิลปะที่สุดแล้วในทวีปยุโรป ชั่งใจยากนิดนึงเมื่อเทียบกับ The King and the Mockingbird (1980) ของผู้กำกับ Paul Grimault แต่ผมเทใจให้เรื่องนี้มากกว่า เพราะรสสัมผัสงานศิลป์ คงไม่มีอนิเมะไหนเสมอเหมือนอย่างแน่แท้

René Laloux (1927 – 2004) ผู้กำกับอนิเมชั่นสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ในครอบครัวชนชั้นแรงงาน ร่ำเรียนหนังสืออยู่ไม่กี่ปีก็ต้องออกมาตามลุงเป็นนักแกะสลักไม้/เฟอร์นิเจอร์ เกิดความสนใจเกี่ยวกับหุ่นกระบอกเชิด, พออายุ 27 มีโอกาสทำงานยังคลินิคจิตเวช Cour Chaeverny ทดลองสร้างอนิเมชั่นเพื่อบำบัดรักษาอาการผู้ป่วย ผลลัพท์กลายมาเป็น Tick-Tock (1957) [สร้างด้วยหุ่นกระบอก], Monkey’s Teeth (1960) [Cut-out Animation เขียนบทโดยหนึ่งในผู้ป่วย]

จากนั้นไม่นาน Laloux มีโอกาสรู้จัก Roland Topor (1938 – 1997) นักออกแบบ/วาดภาพ/เขียนการ์ตูน/นิยาย/นักแสดง สัญชาติฝรั่งเศส จัดเป็นศิลปินที่ทำมันทุกอย่าง โด่งดังมากๆกับนิยาย The Tenant (1964) ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดย Roman Polanski เมื่อปี 1976, รับบท Renfield เรื่อง Nosferatu the Vampyre (1979) ของผู้กำกับ Werner Herzog ฯ

ทั้งสองร่วมกันสร้างอนิเมชั่นขนาดสั้น Dead Times (1964) และ The Snails (1965) ต่างเป็นแนว Surrealist ด้วยเทคนิค Cut-Out Animation โดย Topor เป็นผู้ออกแบบ และ Laloux กำกับสร้าง มีความลึกล้ำโดดเด่นจนไปเข้าตาโปรดิวเซอร์ของสตูดิโอ Les Films Armorial ชักชวนให้สร้างอนิเมะขนาดยาว แต่นั่นเป็นสิ่งเกิดขึ้นได้ยากยิ่งในประเทศฝรั่งเศส

แซว: การร่วมงานกันของ Laloux-Topor แถมในลักษณะ Surrealist ชวนให้ระลึกถึงคู่ขวัญ Luis Buñuel กับ Salvador Dalí ขึ้นมาเลย

แม้ว่าฝรั่งเศสจะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อโด่งดังในแขนงศิลปะ/ภาพยนตร์ แต่วงการอนิเมชั่นถือว่าล้าหลังอยู่มาก ก่อนหน้านี้แม้มีอนิเมะขนาดสั้นแนวทดลองมากมาย แต่สำหรับ Feature-Length เพราะข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ องค์ความรู้ คนทำงาน สตูดิโอ และหน่วยงานให้การสนับสนุน จึงมีปริมาณนับเรื่องได้หลักหน่วย และส่วนใหญ่เป็นแนวแฟนตาซี ดัดแปลงจากเทพนิยาย อาทิ
– The Tale of the Fox (1937) กำกับโดย Ladislas Starevitch ถือเป็น Stop-Motion Animation เรื่องแรกของฝรั่งเศส
– Alice in Wonderland (1949) กำกับโดย Dallas Bower ถือเป็นอนิเมชั่นวาดมือสองมิติเรื่องแรกของฝรั่งเศส
– Asterix the Gaul (1967) และ Asterix and Cleopatra (1968) ดั้งเดิมวางแผนฉายโทรทัศน์ จับพลัดจับพลูได้ลงจอใหญ่
ฯลฯ

ในยุโรปมี 2-3 ประเทศขึ้นชื่อมีความพร้อม อนิเมชั่นได้รับความนิยม อาทิ Belgium, Hungary, Czechoslovakia ซึ่ง Laloux ตัดสินใจเดินทางไปประเทศหลังสุด ร่วมงานสตูดิโอ Jiří Trnka Studio ขณะทุกอย่างกำลังไปได้สวย ตัวเขาถูกกดดันจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต เพราะเป็นคนเดียวในโปรดักชั่นที่ไม่ได้มีสัญชาติ Czech เป็นเหตุให้โปรดักชั่นหยุดชะงัก จำต้องขนงานทั้งหมดกลับฝรั่งเศส รวบรวมสมัครพรรคพวกเริ่มต้นใหม่ใช้เวลาอีก 4 ปีเต็ม กว่าจะสร้างอนิเมะขนาดยาวเรื่องแรกนี้สำเร็จเสร็จลงได้

เนื่องจากการจากสร้างอนิเมชั่นขนาดยาวในยุโรปช่วงทศวรรษนั้น เป็นเรื่องยุ่งยากวุ่นวายมากๆ ตลอดชีวิตของ Laloux จึงสำเร็จเสร็จอีกเพียงสองเรื่องเท่านั้นคือ Time Masters (1982) [ครั้งสุดท้ายที่ร่วมงานกับ Topor] และ Gandahar (1987)

ดัดแปลงจากนิยาย Sci-Fi สัญชาติฝรั่งเศส Oms en série (1957) [แปลตรงตัวก็คือ Oms Linked Together] เขียนโดย Stefan Wul ชื่อจริง Pierre Pairault (1922 – 2003) หมอฝันผู้ชื่นชอบนำแขนงความรู้วิทยาศาสตร์ที่ตนสนใจ มาแต่งเป็นนิยายล้ำยุคสมัย ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ Le Temple du Passé (1957), Niourk (1957), L’Orphelin de Perdide (1958) ฯ

เรื่องราวในอนาคตห่างไกลบนดาวเคราะห์ Ygam, มนุษย์ต่างดาว Draag ครั้งหนึ่งได้นำเอา Oms (เล่นพ้องคำในภาษาฝรั่งเศส, Hommes แปลว่า มนุษย์) สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆจากดาวเคราะห์ Terre (ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า โลก) มาเป็นสัตว์เลี้ยงเล่น

ดาวเคราะห์ Ygam มีความยาววันหนึ่งเท่ากับ 45 วันอายุไข Oms (1 ปี = 45 ปี) ด้วยเหตุนี้ทำให้การแพร่ขยายพันธุ์จำนวนประชากรเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไว บางส่วนหลบหนีสู่ธรรมชาติ เต็มไปด้วยความรุนแรงป่าเถื่อน เมื่อมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากจนกลายเป็นภัย จำต้องหาทางกำจัดฆ่าล้างทำลายลงเสียบ้าง

Terr คือเด็กชายผู้เป็นของเล่น/สัตว์เลี้ยงของ Draag ระหว่างเติบโตขึ้นมีโอกาสร่ำเรียนองค์ความรู้ต่างๆ จนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เข้าใจเทคโนโลยีอันล้ำหน้า วันหนึ่งสามารถหลบหนีเอาตัวรอดได้สำเร็จ พบเจอเข้าร่วมกับชาว Oms ที่อาศัยอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ พัฒนายานอวกาศจนสามารถออกเดินทางหนีไปนอกโลก แล้วได้ล่วงรู้ความจริงบางอย่างของ Draag ใช้เป็นข้อต่อรองเพื่อมีชีวิตอาศัยอยู่อย่างเสมอภาคเท่าเทียมและสงบสุข

เกร็ด: ไคลน์แม็กซ์ของนิยายแตกต่างจากฉบับอนิเมะพอสมควร, Draag ไม่ยินยอมต่อรองความเสมอภาคเท่าเทียมกับ Oms เลยเกิดการต่อสู้รบระดับสงครามโลก จนทั้งสองฝ่ายแทบสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ จากนั้นการเจรจาสันติภาพถึงค่อยเริ่มบังเกิดขึ้น และตอนจบมวลมนุษย์ได้เพียงแยกตัวไปอาศัยยังเกาะร้างห่างไกลเท่านั้นเอง

เชื่อว่าหลายคนคงหลงเข้าใจผิดคิดว่าอนิเมชั่นเรื่องนี้คงจะวาดด้วยมือแบบ Traditional Animation แต่แท้จริงแล้วคือ Cut-Out Animation ก็คล้ายๆ Stop-Motion Animation แทนที่จะใช้หุ่นหรือดินน้ำมันปั้นสร้างตัวละครสามมิติ ก็เป็นการวาดภาพลงสีบนกระดาษแข็งหรือ Cut-Out แล้วใช้กรรไกรตัด กาวติด สร้างกลไกให้สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ในระนาบสองมิติ จากนั้นนำไปจัดวางเรียงถ่ายภาพทีละช็อต 20-25 ภาพต่อวินาที ร้อยต่อกันพบเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหว

ด้วยเหตุนี้การเคลื่อนไหวของอนิเมชั่น เลยดูแข็งกระด้างทึ่มทื่อไม่เป็นธรรมชาติ ตัวละครเดินหลังตรง เว้นขณะพวก Draag เปลี่ยนรูปร่าง (Shapeshifter) ใช้เทคนิคถ่ายภาพ Dissolve เข้าช่วย ต่างจากผลงานอนิเมชั่นวาดมือของ Disney ที่พริ้วไหวลื่นราวกับสายน้ำไหล

ไฮไลท์ของอนิเมะคือการออกแบบศิลป์ของ Roland Topor สมทบด้วย Character Designer โดย Josef Kábrt และ Background Designer โดย Josef Váňa ต่างพุ่งเป้าไปยังการซ่อนเร้นแฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ Abstraction เพื่อให้ผู้ชมสามารถครุ่นคิดตีความเข้าใจ หลากหลายทัศนะแนวคิดต่างออกไป

มนุษย์/Oms เป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง มักคิดว่าตัวเองอยู่ตำแหน่งที่สุดของห่วงโซ่อาหาร อนิเมชั่นเรื่องนี้เลยได้ทำการสร้างสมมติฐาน ถ้าเกิดมีเผ่าพันธุ์อื่นในจักรวาลอย่าง Draag ร่างกายสูงใหญ่กว่า เฉลียวฉลาด เทคโนโลยีล้ำอนาคต เฉกเช่นนั้นแล้วโลกทัศนคติของมนุษย์ก็เหมือนช็อตนี้ ถูกเขี่ยกลิ้งง่ายๆลงจากเนินสูงภูเขาราวกับของสัตว์เลี้ยง/เด็กเล่น ไม่รู้สึกทุกข์ร้อน ผิดศีลธรรมจรรยา (สิ่งเหล่านี้ใครเป็นคนสร้างมากัน!)

การออกแบบตัวละคร Draag
– ผู้ใหญ่สูง 12 เมตร (ถือใหญ่กว่ามนุษย์ 10 เท่า)
– ผิวสีฟ้า, ผมขออ้างเหตุผลเดียวกับ James Cameron ที่ออกแบบชาว Na’vi ให้มีสีฟ้า เพราะไม่ต้องการให้เกิดความแตกต่างเปรียบเทียบชาวโลกที่ ผิวขาว-เหลือง-ดำ ต่างมีข้อขัดแย้งกันอย่างไร้สาระ
– หูครีบปลา, ครีบคือสิ่งที่ใช้สำหรับการทรงตัวของปลา แต่ในกรณีนี้น่าจะสื่อนัยยะถึงความสามารถในการเรียนรู้ รับฟัง ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ
– ดวงตากลมแดง สื่อถึงการมีชีวิต (แดง=เลือด=มีชีวิต) เมื่อไหร่ที่ถอดจิต/วิญญาณออกจากร่าง ก็จะกลายเป็นสีขาว
– ไร้ผมขน สิ่งรับสัมผัสความรู้สึก สะสมความสกปรกเกรอะกรัง สะท้อนถึงความบริสุทธิ์เกลี้ยงเกลา ไม่ทุกข์ร้อนหรือเหน็บหนาว
ฯลฯ

ความสามารถที่ดูน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่งของชาว Draag มีสองอย่าง หนึ่งคือการเปลี่ยนรูปร่าง (Shapeshifter) เพื่อไม่ให้เกิดการหลงใหลยึดติดในภาพลักษณ์ภายนอก ที่บางครั้งดูงดงาม บางทีก็อัปลักษณ์เกิ้น อย่างฉากนี้ร่างกายบิดม้วนไปมาอย่างลายตา สื่อได้ความหมายแบบเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ความโป๊เปลือยเห็นหัวนมของตัวละคร จึงไร้ซึ่งความน่าละอาย ลามกจรกเปรต เพราะมันเป็นเพียงภาพลักษณ์ภายนอก สามารถปรับเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

อีกหนึ่งความสามารถคือการถอดจิตออกจากร่างขณะทำสมาธิ ทำให้สามารถเคลื่อนไหวล่องลอยไปมาได้อย่างอิสระ ที่ไหนก็ได้ในโลกหรือออกไปยังดวงจันทร์ พบปะกับผู้คนจากต่างแกแลคซี่

สังเกต: แท่นทำสมาธิมีรูปลักษณะคล้ายหัวใจ นี่น่าจะจงใจอย่างแน่นอนละ

สองความสามารถทางธรรมชาตินี้ของ Draag แสดงถึงวิวัฒนาการทางร่างกายและจิตใจที่เหนือล้ำกว่ามนุษย์อยู่ไกลโข แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ประสบการณ์ชีวิตที่มีมาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่ช่วยให้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น

ชิ้นแรกคือปลอกคอพร้อมเครื่องติดตามลากตัว สวมใส่เหมือนนาฬิกาข้อมือ สามารถดึงดูดให้เข้าหาราวกับพลังงานแม่เหล็ก, นี่เป็นฉากแรกๆที่ผมเริ่มเจ็บจี๊ดเหมือนถูกเข็มทิ่มแทง นึกถึงหมาแมวสมัยนี้ที่ต้องสวมปลอกคอเพื่อแสดงถึงความเป็นเจ้าของ แล้วถ้ามนุษย์ถูกสิ่งมีชีวิตต่างดาวใส่ให้แบบนี้บ้างละ พอเทียบกับถ้าเป็นตัวเอง มันช่างทรมานใจสิ้นดี

ของเล่นชิ้นถัดมาคือหูฟังแห่งองค์ความรู้ (Headphones of Knowledge) ส่งตรงทุกสิ่งอย่างเข้าสู่สมอง ไม่ต้องใช้ตำราหรือครูบาสอนหนังสือ สามารถจดจำได้ทันที แถมไม่มีวันลบลืมเลือน ไร้ซึ่งการสอบเลื่อนชั้น/ตกชั้น/เข้ามหาวิทยาลัย ฯ

ความบังเอิญโชคดีของ Terr เพราะการได้อยู่ใกล้ชิดกับ Draag ชื่อ Tiwa ทำให้เขามีโอกาสร่ำเรียนองค์ความรู้ต่างๆเข้าสู่สมอง จนมีความรอบรู้เฉลียวฉลาดกว่า Oms คนอื่นใด และความต้องการเป็นอิสระทำให้ครุ่นคิดได้ว่า นี่เป็นสิ่งจำเป็นสูงสุดของชีวิต จึงขโมยเอาติดตัวออกมาด้วย

“บุคคลผู้มีความรู้ย่อมได้เปรียบกว่าคนไร้การศึกษา”

สิ่งน่าสนใจมากๆของชาว Draag คือการปกครองด้วยหลักการประชาธิปไตย จากตัวแทนผู้นำ 5 คนโตเถียงขัดแย้งอย่างออกรส ขณะที่สมาชิกอื่นๆต่างจับจ้องรับฟังอย่างสงบไร้ข้อขัดแย้งโต้เถียง (ถือว่า เคารพการตัดสินใจของตัวแทนมากๆ)

สังเกตว่าตัวแทนผู้นำของ Draag นั่งล้อมโต๊ะกลมอย่างเสมอภาค ในทุกหัวข้อจะมีทั้งคนที่คิดจะใช้ความรุนแรงเท่านั้นในการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันก็มีบุคคลคิดตรงกันข้าม ใช่ว่าเราควรแสวงหาสันติภาพไม่ดีกว่าหรือ ประชามติคาดว่าคงเกิดจากผลโหวต ฝั่งได้เสียงข้างมากก็จะเป็นข้อสรุปของกระทู้วันนั้น

มาที่ฝั่งมนุษย์บ้าง เมื่อเด็กชาย Terr เริ่มตั้งไข่ได้ เขาถูก Tiwa จับแต่งองค์ทรงเครื่องให้กลายเป็นโน่นนี่นั่นตามใจเธอ ขัดความประสงค์ต้องการของตนเอง แต่ด้วยไหวพริบเฉลียวฉลาด จึงยินยอมคล้อยตามเรื่อยเปื่อย หาจังหวะเรียนรู้เฝ้าสังเกต และเมื่อทุกอย่างพร้อมก็ตัดสินใจหนีสู่อิสรภาพ

รักแรกพบของ Terr อยู่ท่ามกลางป่าดงพงไพร กิ่งไม้โยงยางระเกะระกะ เต็มไปด้วยความลึกลับซับซ้อน หญิงสาวคนนี้ได้ช่วยชีวิตนำปลอกคอออกให้ ยินยอมติดตามเธอสู่วิถีธรรมชาติ พบปะฝูงคนพวกเดียวกัน

ชุดของ Terr มีลักษณะเป็นข้อๆคล้ายรยางค์ ส่วนที่ถือเป็นแขนขาของสิ่งมีชีวิต สามารถใช้หยิบจับทำอะไรก็ได้ตามประสงค์ นัยยะนี้สื่อถึงความพิเศษของตัวละคร ที่เป็นมากกว่าแค่ Oms แต่รอบองค์ความรู้ของ Draag จักสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์ได้

ถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ในโพรงไม้ (ที่น่าจะตายแล้ว) มีลักษณะคล้ายๆมวยผม/ศีรษะ (เหลืองๆนั่นเหมือนสมองนุ่มๆ) สะท้อนถึงสติปัญญาที่ยังอ่อนด้อยไร้พัฒนาการใดๆ ดำรงชีพด้วยสันชาติญาณ สนแค่การเอาตัวรอดเท่านั้น

พิธีกรรมยามค่ำคืน ฉากนี้มันก็สื่อถึง Sex แบบตรงไปตรงมานะแหละ ซึ่งการเลือกรับพลัง(ความเงี่ยน)จากตำแหน่งโครงกระดูกศีรษะของชาว Draag ราวกับจะสะท้อนความเชื่อที่ว่า นี่คือกิจกรรมสูงส่งทรงคุณค่าที่สุดของมนุษย์ เพราะมันคือสิ่งจะทำให้เผ่าพันธุ์ของเราสามารถดำรงชีพอยู่ได้ เกิดเป็นแสงสว่างแห่งความหวังดั่งหิ่งห้อยเจิดจรัสยามค่ำคืน

การจะพิสูจน์ความเป็นมนุษย์ของ Terr ต้องแลกกับการต่อสู้ สวมวิญญาณ/ผูกมัดตัวเองกับสัตว์เลื้อยคลาน ที่มีปากเหมือนกรรไกรแหลมคม ใช้งับกัดคู่ต่อสู้ นี่เป็นการเปรียบเทียบความรุนแรงของมนุษย์ดั่งสัตว์ชั้นต่ำเดรัจฉาน แต่ก็ไม่รู้ตัวอะไรนะ แค่ว่ามันแข็งแกร่งแต่ส่วนของปากเท่านั้นแหละ (ดีแต่พูดกัดคนอื่น)

การ de-Oms ในตอนแรกเกิดขึ้นทุกๆ 2 ปี แต่เพราะการแพร่ขยายเผ่าพันธุ์มีจำนวนมากเหลือเกินเลยเปลี่ยนเป็นปีละ 2 ครั้ง เครื่องมือชิ้นแรกเหมือนเครื่องยิงลูกพัค/ฮอกกี้ แต่เหรียญกลมๆที่พุ่งออกมาคือควันพิษ สามารถฆ่ามนุษย์ให้ตายได้เพียงสูดดม

ผมคิดว่าเจ้าสิ่งนี้ไม่ได้จะสื่อถึงยาฆ่าแมลงอะไรพวกนั้นนะครับ แต่คือมลภาวะทั้งหลายที่มนุษย์สร้างขึ้นในปัจจุบัน อาทิ ควันรถ, เผาป่า, น้ำเน่าเสีย, ขยะพิษ ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ชาว Oms เลยตอบโต้ด้วยการล้มยักษ์ ใช้ปริมาณที่มีมากมายนับไม่ถ้วน รวมพลังร่วมมือกันจนสามารถโค่นเอาชนะ Draag ตนหนึ่ง, นี่เป็นการสะท้อนว่า ต่อให้มีพละกำลังอำนาจบารมียศศักดิ์ศรีสูงใหญ่ยิ่งขนาดไหน ก็มีโอกาสสามารถพ่ายแพ้ต่อการรวมตัวของฝูงชนหมู่มาก

และเวลายักษ์ล้มแต่ละที มันสั่นสะเทือนรุนแรงทั่วผืนปฐพีเลยนะ ทำให้ชาว Draag ต้องออกมาตรการต่อโต้ขั้นรุนแรงทีเดียว

สถานที่ที่ชาว Oms อพยพหนีกันไปอยู่ คือบริเวณศูนย์รวมเศษซากขยะของชาว Draag ซึ่งก็ได้ใช้มันสมองสติปัญญา นำของเก่าเหล่านั้นมาปรับปรุงพัฒนากลายเป็นเทคโนโลยีล้ำค่าสมัยใหม่ สร้างยานอวกาศสามารถออกเดินทางสู่นอกโลกได้สำเร็จ

นี่เป็นการสะท้อนถึงคุณค่าความสำคัญของ ‘องค์ความรู้’ สามารถพลิกโฉมวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตได้โดยทันที

ณ บนดวงจันทร์ของ Planet Ygam แท้จริงแล้วคือสถานที่ที่จิตของชาว Draag ล่องลอยขึ้นมาเสพสมสู่ร่วมกับจิตของชาวแกแลคซี่อื่น เพื่อให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้

ในความเข้าใจของผม นี่คือร่างจริงๆของชาว Draag ที่ใกล้สูญสิ้นเผ่าพันธุ์เต็มที เพราะมีความอ่อนแอเปราะบางอย่างมาก (แค่ถูกเลเซอร์ยิงใส่ก็แหลกละเอียดเป็นผงแล้ว) ด้วยเหตุนี้พวกเขาเลยพัฒนาการณ์ทางจิตให้สามารถถอดวิญญาณออกจากร่างนี้ ล่องลอยเข้าไปสิงสถิตย์อยู่ในร่างใหม่ที่สามารถปรับเปลี่ยน Shapeshifter มีความแข็งแรงกว่า (บนดาว Ygam) เนื่องจากนั่นเป็นเพียงของปลอม ไม่สามารถสืบเผ่าพงศ์พันธุ์ได้ เมื่อหนุ่มสาว Draag เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ถึงค่อยเรียนรู้การถอดจิตแล้วบินกลับขึ้นไปหาคู่ผสมพันธุ์

(ร่างปูนปั้นของชาว Draag สะท้อนกับฉากที่ Terr ติดกับในคริสทัลเพชร แต่แค่เพียงเสียงผิวปากก็ทำลายแตกละเอียด นี่สะท้อนถึงว่า ต่อให้สิ่งแข็งแกร่งที่สุดในโลกยังสามารถถูกทำลายได้ ถ้ามีความรู้เข้าใจถึงจุดอ่อนของมัน)

ความจริงของชาว Draag ที่ถูกค้นพบครั้งนั้น ทำให้ชาว Oms มีอำนาจต่อรองขึ้นมาทันที ด้วยเหตุนี้การเจรจาสันติภาพเลยบังเกิด ซึ่งช็อตสุดท้ายของอนิเมะ ก่อนหน้านี้จะเห็นว่ามีมนุษย์คนหนึ่งเดินขึ้นมือของเด็กชายตนนี้ แต่ภาพตัดมาอีกทีเห็นสิ่งที่อยู่ในอ้อมอกกลับเป็นสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานตัวหนึ่ง

นัยยะของฉากนี้เป็นการสะท้อนเปรียบเทียบ ชักชวนให้ตั้งคำถามแบบตรงๆเลย ถ้ามนุษย์มีสถานะเหมือนดั่งสัตว์เลี้ยงของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิอื่น ความคิดอ่านต้องการของเราจะเป็นเช่นไร?

ไดเรคชั่นของการถ่ายภาพ จัดเต็มด้วยลีลาเพื่อลดปริมาณการใช้อนิเมชั่นให้น้อยสุด อันประกอบด้วยการเลื่อนภาพ แพนนิ่ง ซูมเข้า-ออก และเทคนิคเปลี่ยนภาพ Fade, Dissolve, Cross-Cutting ฯ

เราสามารถแบ่งอนิเมะออกได้เป็น 2 องก์ ผ่านมุมมองของ Terr
– ครึ่งแรก การมีชีวิตดั่งสัตว์เลี้ยงของ Draag แม้ชีวิตไร้อิสระแต่แลกมาด้วยองค์ความรู้ทรงภูมิ
– ครึ่งหลัง อิสระเสรีภาพ ท่ามกลางเผ่าพงษ์พันธุ์ Oms สามารถพัฒนาตนเองและผองพวกให้ทันทัดเทียมความก้าวหน้าของจักรวาล

เพลงประกอบโดย Alain Goraguer นักเปียโน Jazz สัญชาติฝรั่งเศส ถือว่าได้สร้างทำนองโลกใหม่อันสุดมหัศจรรย์พิศดาร ด้วยการผสมผสานเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ อิเล็กโทน กีตาร์ไฟฟ้า (ลีดด้วยสัมผัส Futuristic) เข้ากับกลอง ฟลุต และเสียงร้องคอรัสอันโหยหวนบ้าคลั่ง ในสไตล์ Progressive Rock

สัมผัสอันน่าพิศวงสะพรึงกลัวของ Ten Et Tiwa จะถือว่าเป็น Character Song ของ Tiwa (ทิวา?) หรือชาว Draag ที่สะท้อนบรรยากาศในโลกของพวกเขา มันช่างลึกลับซับซ้อน มหัศจรรย์พลันวันเสียเหลือเกิน

บทเพลงที่โคตรตราตรึงฝังในจิตความรู้สึกของผมอย่างยิ่ง คือขณะที่ชาว Draag กำลังเต้นระบำหมุนไปมา ด้วยท่วงทำนอง Waltz อยู่บนดวงจันทร์ พบเห็นโดยชาว Oms หรือมนุษย์คนใด หัวใจจักหวาบหวิวสั่นสะท้าน ตื่นอกตกใจ มันเกิดบ้าอะไรขึ้นมาเนี่ย! คงต้องใช้สติปัญญาครุ่นคิดทำความเข้าใจอย่างหนักหน่วงเลยละ

“เอาใจเขามาใส่ใจเรา” สิ่งที่อนิเมะเรื่องนี้พยายามนำเสนอ ไม่ใช่แค่กับมนุษย์สายพันธุ์เดียวกันร่วมโลกเท่านั้น แต่ทุกสิ่งมีชีวิตในสากลจักรวาลถือว่ามีความเสมอภาคเท่าเทียมด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

ทัศนคติความเข้าใจนี้สำหรับชาวยุโรป ถือว่ามีความสุดโต่งรุนแรง ขัดแย้งต่อหลักความเชื่อศรัทธาของหลายๆศาสนา เพราะทัศนคติที่ว่า ‘ทุกสิ่งมีชีวิตเกิดมาไม่เท่ากัน’ มด แมลงสาบ ไส้เดือน ฯ สัตว์ชั้นต่ำแบบนั้นสมควรได้รับการปฏิบัติเสมอภาคเท่าเทียมเช่นนั้นนะหรือ?

กับคนที่ศึกษาพุทธศาสนาแม้จะโดยผิวเผิน ย่อมสามารถเข้าใจและตอบโต้ความเชื่อผิดๆของหลายศาสนาในโลกนี้ได้โดยทันที ใช่ครับ! ทุกสิ่งมีชีวิตมีลมหายใจต่างมีความเท่าเทียมกันทุกประการ ด้วยเพราะสิ่งสำคัญที่ทำให้ร่างกายขยับเคลื่อนไหวคือ ‘จิตวิญญาณ’ ไม่ว่าจะหมูหมากาไก่ มดแมงแมลง ล้วนต่างมีเจ้าสิ่งนี้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครเลือกเกิดได้ แต่ทุกครั้งล้วนเกิดจากผลกรรมที่เคยกระทำสะสมไว้เมื่อครั้นเคยเป็นมนุษย์ ตายไปเกิดใหม่ ชั่วมากก็ชดใช้เป็นสัตว์ชั้นต่ำ สร้างบารมีไว้สูงย่อมเกิดเป็นสัตว์ใหญ่ไม่ก็ได้โอกาสกลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมตกหลุมรักคลั่งไคล้อนิเมะเรื่องนี้มากๆ แนวคิดมันช่างจี้แทงใจดำได้อย่างรุนแรงแสนสาหัส แถมความลุ่มลึกล้ำของการออกแบบงานศิลป์ ชักชวนให้ครุ่นคิดวิเคราะห์ตามไม่รู้จักจบสิ้น แบบที่ก็ไม่เคยพบประสบพบเจอเข้ากับตนเองมาก่อน

แต่นั่นยังแค่ลึกล้ำในความผิวเผินของอนิเมะเท่านั้น เพราะสิ่งที่ผมค้นพบและน่าสนใจกว่ามากๆ ‘อะไรคือสิ่งที่เหนือกว่าความเป็นมนุษย์’ ในทัศนคติของผู้แต่งนิยายและผู้กำกับ?

มนุษย์ต่างดาวสายพันธุ์ Draag บนดาวเคราะห์ Ygam มีหลายสิ่งอย่างที่วิวัฒนาการเหนือกว่ามนุษย์ธรรมดาทั่วไป อาทิ
– สามารถถอดวิญญาณออกจากร่าง ไม่ยึดติดในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส
– มากด้วยองค์ความรู้ สร้างสรรค์เทคโนโลยีล้ำอนาคต
– ทัศนคติเกี่ยวกับชีวิต ประชาธิปไตย ความเสมอภาคเท่าเทียมในระดับอุดมคติ
ฯลฯ

แต่น่าสนใจสุดคือวิวัฒนาการของจิตที่เหนือล้ำไปกว่ากาย อันเป็นสาเหตุให้เรือนร่างแท้จริงของพวกเขาบนดวงจันทร์มีความอ่อนแอเปราะบาง นี่เป็นการแสดงทัศนคติ ต่อให้มนุษย์สามารถพัฒนาคุณธรรมความดีงามทางจิตใจไปถึงสูงสุด ย่อมต้องมีจุดอ่อนคือเรือนร่างกายที่มิอาจตอบสนองให้ดำรงชีพเผ่าพันธุ์อยู่ชั่วกัปชั่วกัลป์

นี่เป็นแนวคิดที่สุดแปลกประหลาด ไม่มีความเป็นไปได้ ซึ่งผมสามารถสวนกลับด้วยคำถามหมัดเด็ด คือถ้าจิตใจของมนุษย์สามารถไปได้ถึงจุดนั้นจริงๆ ร่างกายยังคงมีความจำเป็นอยู่อีกหรือ? ถ้าคุณเป็นชาวพุทธแบบไปวัดไปวาบ้างสักหน่อย น่าจะพอคาดเดาลักษณะของชาว Draag คล้ายคลึงกับเทวดาชั้นพรหม ผู้ไม่ยึดติดในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส มีแค่จิตก็เพียงพอในการดำรงชีวิต เนื้อหนังรูปร่างกายหาได้มีความจำเป็นไม่

เปรียบเทียบเช่นนี้น่าจะมองเห็นสิ่งที่อนิเมะครุ่นคิดไปไม่ถึง เพราะยังจมปลักอยู่ในกรอบของการมีอยู่ จิตวิญญาณจำต้องเสพพลังงาน ร่างกายสืบพงศ์เผ่าพันธุ์ ราวกับว่าถ้าสองสิ่งนี้มิได้รับการกระตุ้นตอบสนอง ทุกสิ่งอย่างจะหมดสิ้นสูญลงโดยพลัน

แต่จะบอกว่าผมโคตรดีใจมากๆ ถึงมันไม่ใช่แนวคิดที่ถูกนัก แต่การมีใครสักคนสร้างภาพยนตร์ตั้งคำถามเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางจิตใจมนุษย์ ถือเป็นสิ่งที่ก้าวล้ำยุคเหนือปัจจุบัน เพราะส่วนใหญ่ภาพยนตร์/อนิเมะ มักจะชักชวนให้เกิดข้อคิดสงสัยเพียงแค่ ‘อะไรคือความเป็นมนุษย์?’ วัดกันที่รูปลักษณ์กายภายนอก หรือการแสดงออกกระทำจากภายใน นั่นเพราะชาวตะวันตกไม่เชื่อเรื่องโลกวิญญาณหลังความตาย เวียนว่ายตายเกิด กฎแห่งกรรม พวกเขาจมปลักเหมือนดอกบัวในโคลนตม มันมีอะไรอีกมากในจักรวาลนี้ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจถึง เรื่องของจิตวิญญาณก็หัวข้อหนึ่ง ที่ส่วนตัวหลงใหลคลั่งไคล้มากสุดเลยละ

แนะนำคออนิเมะ Sci-Fi สัญชาติฝรั่งเศส ชื่นชอบแนว Surrealist หลงใหลการครุ่นคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจ, นักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย Animal Rights, Human Rights ฯ นำความรู้สึกไปต่อยอด, ศิลปิน จิตรกร นักวาดภาพ ห้ามพลาดทีเดียว

จัดเรต 18+ กับเรื่องราวที่สะท้อนความอมนุษย์ของมนุษย์

TAGLINE | “Fantastic Planet คือดาวเคราะห์อันแปลกประหลาด แต่มีความงดงามลุ่มลึกล้ำค่า น่ามหัศจรรย์ที่สุดแห่งจักรวาล”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: