Faraway, So Close! (1993) : German – Wim Wenders
หนังรางวัล Grand Prix จากเทศกาลหนังเมือง Cannes โดยผู้กำกับชาวเยอรมัน Wim Wenders ภาคต่อ Wings of Desire (1987) เป็นเรื่องราวของเทวดาอีกตนหนึ่งที่ยังคงมีชีวิตไปตามปกติ แต่เกิดเหตุการณ์บางอย่างทำให้เขาต้องลงมาเกิดบนโลกมนุษย์โดยไม่ตั้งใจ ใครชอบภาคแรกก็ไม่ควรพลาดภาคนี้ด้วยประการทั้งปวง
ถึงจะเป็นภาคต่อที่เกิดในโลกเดียวกัน แต่อะไรหลายๆอย่างได้เปลี่ยนไปมาก จนหลายคนอาจรู้สึกว่า Faraway, So Close! เป็นภาคต่อที่สู้ภาคแรกไม่ได้เลย ส่วนตัวผมเห็นต่าง ชอบแนวทางของภาคสองมากกว่ามากๆ เพราะมันมีหลายอย่างที่จับต้องได้ เห็นและเข้าใจได้ชัดเจนกว่า โดยเฉพาะการเลือก ภาคแรกมันเป็นเลือกระหว่างการมีตัวตนกับไม่มีตัวตน (ค้นพบตัวตน) ส่วนภาคสองเป็นการเลือกที่จะใช้ชีวิต (ค้นหาตัวตน) นี่คงเป็นสิ่งที่ Wim Wenders วางแผนมาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะใน Wings of Desire มีเทวดา 2 ตน ในเรื่องนั้นเป็นเรื่องของเทวดาตนแรก ส่วน Faraway, So Close! เป็นเรื่องของเทวดาตนสอง มองได้ว่า 2 เรื่องนี้เติมเต็มซึ่งกันและกัน การดูเฉพาะภาคแรกจะเหมือนมีบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไป มันจะถูกเติมเต็มในภาคสอง แต่ก็ใช่ว่าปริศนาบางอย่างจะหมดไปนะครับ คำถามใหม่ๆก็จะเกิดขึ้นด้วย
เหตุผลที่หลายคนอาจไม่ชอบหนังภาคนี้ คงเพราะมันไม่ตื่นตาตื่นใจ อึ้งทึ่งได้เท่ากับภาคแรก … ผมเชื่อว่าแทบทุกคนที่ดู Faraway, So Close! ล้วนต้องเคยดู Wings of Desire มาก่อนทั้งนั้น เพราะหลงใหลชื่นชมในมนต์เสน่ห์ของหนัง จึงอยากกลับมาสัมผัสกับบรรยากาศแบบนั้นอีกครั้ง ผมคิดว่าคนที่ไม่ชอบไม่ใช่หนังแย่กว่าเดิมนะครับ จริงๆมันก็ยอดเยี่ยมเทียบเท่าภาคแรกนะแหละ แต่เพราะเรามีความเข้าใจต่อเทคนิค วิธีการเล่าเรื่องของหนังมาแล้ว จึงไม่รู้สึกมีอะไรให้น่าตื่นเต้นอีกต่อไป คงต้องโทษระยะห่างของหนังทั้ง 2 ภาคด้วย ที่ฉายห่างกันถึง 6 ปี คนดูรุ่นหลังๆอาจไม่รู้สึกอะไร แต่สมัยนั้นระยะเวลาขนาดนี้มันก็น่าจะมีอะไรหลายๆอย่างที่พัฒนาไปมากด้วย แต่หนังถือว่าไม่มีเทคนิคอะไรใหม่ มีแค่แนวคิดที่ถือว่าเปลี่ยนไป มันจึงเหมือนย้ำอยู่กับที่มากกว่าพัฒนาไปข้างหน้า
เขียนบทโดย Richard Reitinger, Wim Wenders มีการเปลี่ยนนักเขียนจาก Peter Handke ที่ไม่กลับมาเป็น Ulrich Zieger คนนี้ก็เป็นกวีและนักเขียนบทละครที่มีชื่อเสียงพอสมควรนะครับ ภาคแรกหนังตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีตัวตน ครึ่งแรกเหมือนการปลูกต้นกล้า ที่เริ่มจากเป็นรดน้ำ เลี้ยงดูจากเมล็ดจนโตเป็นต้นไม้ใหญ่ (เรียนรู้ รู้จัก สร้างความสัมพันธ์ และเติบโตไปพร้อมกัน) ครึ่งหลังเมื่อเทวดาได้ไปเกิดบนโลก มันคือเพื่อยืนยันการมีตัวตน (ค้นพบรากของต้นกล้าว่าที่จริงหยั่งลึกอยู่ที่ผิวโลก) ประเด็นของภาคสอง คือการออกตามหาต้นกล้าที่โตสมบูรณ์แล้ว ตัวละครไม่ได้บ่มเพาะปลูกมันขึ้นมา แต่เขารู้ว่ามีอยู่ จึงออกเดินทาง ด้วยความเชื่อที่ว่าสักวันจะเจอรากต้นกล้าที่ตนค้นหา … แรงจูงใจในการเกิดถือว่าต่างกันโดยสิ้นเชิง Damiel เขาค้นพบความต้องการของตัวเอง, ส่วน Cassiel เหมือนฟ้ากลั่นแกล้ง เพราะอยากช่วยเด็กหญิงคนหนึ่งที่ลื่นตกตึก จึงกลายเป็นมนุษย์โดยไม่ตั้งใจ แต่เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เขาจึงต้องค้นหาเหตุผลและเป้าหมายของตัวเอง
นักแสดงนำกลับมากันครบ Otto Sander รับบท Cassiel ที่กลายเป็นพระเอกหนัง เป็นคนดำเนินเรื่องแทน Damiel หลังจากได้กลายมาเป็นมนุษย์ เขาได้พบโลกในมุมต่างๆมากขึ้นกว่าที่เคยรู้ … ปกติแล้วเทวดาจะเป็นกลางเสมอ ไม่ว่าสิ่งที่มนุษย์ทำจะดีหรือเลว … เขาได้นิยามความดีความชั่วขึ้นมา อะไรที่ทำแล้วไม่ดี มีผลเสียต่อผู้อื่นคือความชั่ว และอะไรคือความดีละ? ในหนัง Damiel พยายามหาคำตอบอยู่ กว่าเขาจะพบก็ได้รู้ว่าการทำความดีมันยากกว่าทำความชั่วหลายพันเท่าเลย
Bruno Ganz กับบท Damiel ปริศนาคาใจใน Wings of Desire น่าจะได้รับคำตอบแล้ว Damiel มีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ได้ ทำงานเป็นคนทำ Pizza แต่งงานกับแฟนสาว มีลูกสาวน่ารักๆ เขายังคงสัมผัสได้ถึง Cassiel ที่คอยเป่าหู (เรียกร้องความสนใจ) อยู่เรื่อยๆ เขาไม่ลืมช่วงเวลาขณะตัวเองเป็นพระเจ้า ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมว่ายังมีอีกสิ่งอย่างที่เขาไม่รู้ ผมชอบช่วงเวลาขณะที่ Damiel ได้เจอกับ Cassiel อีกครั้ง มันเหมือนการได้เจอเพื่อนเก่า Damiel แนะนำให้ Cassiel ลองอะไรหลายๆอย่าง พูดจายั่วถึงสิ่งที่เขาไม่เคยเจอ แต่นั่นมันแค่จุดเริ่มต้น เพราะจากนี้ Cassiel ต้องเดินทางค้นหาตัวเอง นั่นเป็นสิ่งที่ Damiel ช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย
หนึ่งเทวดาที่มาแทน Cassiel นางฟ้า Raphaela รับบทโดย Nastassja Kinski ลูกสาวของ Klaus Kinski (ที่ไม่ยอมรับเขาเป็นพ่อด้วยซ้ำ) บทของเธออาจจะไม่เยอะมาก แต่โผล่มาสร้างเสียงหัวเราะ (คนไทยอาจขำไม่ออกเท่าไหร่) ผมเปรียบเธอเป็นตัวละครที่ตรงข้ามกับ Marion (Solveig Dommartin) คนรักของ Damiel ใน Wings of Desire เป็นตัวแทนความรักของมนุษย์ ส่วน Raphaela เป็นตัวแทนของนางฟ้าที่รักและเป็นห่วง Cassiel
Willem Dafoe เฮียแกยังหนุ่มมากๆ รับบท Emit Flesti เป็นทวิภพ ตัวแทนของโลกและสวรรค์ มีคนวิเคราะห์ว่าตัวละครนี้คือ “เวลา” ที่ไม่สามารถหยุดได้ แต่เขาก็หยุดได้นะแปปนึง (ฉากช่วงท้ายๆที่พี่แกหยุดเฟืองที่หมุนอยู่) Dafoe เป็นนักแสดงที่มาแย่งซีนหลากๆฉากในหนัง หน้าหน้าพี่แกโคตรตัวร้าย (เชื่อว่าใครๆก็คิดแบบนั้น) ซึ่งจริงๆบทนี้ก็ไม่ได้ดี ไม่ได้ร้าย จริงๆไม่ควรมีตัวตนด้วยซ้ำ แต่ที่ Wenders ใส่เข้ามา ก็คงเพื่ออธิบายการกลายเป็นมนุษย์ของ Damiel และ Cassiel ครับ เพราะมีคนที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างมนุษย์กับเทวดาอยู่ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่เทวดาจะกลายเป็นมนุษย์ และมนุษย์กลายเป็นเทวดาได้ (แม้กรณีหลังจะไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนในตอนจบก็เถอะ)
ถ่ายภาพโดย Jürgen Jürges ไม่แน่ใจทำไม Henri Alekan ถึงไม่กลับมานะครับ (สงสัยไม่ว่าง) สำหรับ Jürges ผมว่าเขายังห่างชั้นกับ Alekan อยู่เยอะนะครับ ภาพขาว-ดำ อาจจะสวยไม่เท่า แต่ภาพสีนี้พอใช้ได้ ตัดต่อโดย Peter Przygodda ขาประจำของ Wenders ภาคนี้ไม่มีช่วงหวือหวาเท่าภาคแรก แต่ช่วงแรกๆยังจัดเต็มเหมือนเดิม กับคนที่ไม่เคยดูหนังมาก่อนคงอึ้งทึ่งไปเป็นทิวแถม แต่กับคนที่เคยดูภาคแรกมาแล้ว นี่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ดูเข้าใจเหตุผลได้ง่ายๆเลย หนังมีจุดที่ดูเหมือนว่าผิดพลาดแบบจงใจอยู่ด้วย คือผมเห็น Raphaela ภาพสีอยู่แปปหนึ่ง นี่ทำให้ผมคิดว่ากระบวนการแปลงสี จากภาพสีเป็นภาพขาว-ดำ เกิดขึ้นในกระบวนการตัดต่อ ไม่ใช่ตอนถ่ายภาพ (ทีแรกผมนึกว่าถ่ายฟีล์มขาว-ดำ ใช้กล้องถ่ายภาพขาว-ดำ และฟีล์มสีใช้กล้องสี ถ่ายแยกกัน)
เพลงประกอบโดย Laurent Petitgand รู้สึกว่าโทนเพลงประกอบหนังเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเลยนะครับ ไม่สิ้นหวังเหมือนตอน Wings of Desire แล้ว แต่กลายเป็นฟังแล้วรู้สึกมีความหวังแทน Nick Cave and the Bad Seeds ยังกลับร้องเพลงให้นะครับ และ Lou Reed ที่ไพเราะมากๆ เห็นว่า U2 มา remix เพลง Faraway So Close และ The Wanderer ตอนออก Soundtrack ประกอบหนังด้วยนะครับ
Lou Reed กับเพลง Why Can’t I Be Good เพลงนี้เพราะโดนใจผมมากๆ และเป็นใจความสำคัญของหนังเรื่องนี้เลย เห็นว่า Wim Wenders เป็นเพื่อนกับ Lou Reed มาตั้งแต่สมัย The Velvet Underground ในหนัง Reed มารับเชิญเป็น Cameo ด้วย 3 ฉาก และตอนคอนเสิร์ตของพี่แก ผมว่าพี่แกเท่ห์มากๆ รู้สึกเจ๋งกว่า Nick Cave and the Bad Seeds เยอะเลยนะครับ
ผมไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นในตอนจบ Cassiel ได้กลับไปเป็นเทวดาหรือเปล่า (มีความเป็นไปได้สูง) ฉากล่องเรือสุดท้ายเราจะไม่เห็นเทวดาเลยสักตน ขนาดว่าเป็นภาพขาว-ดำที่ควรเป็นมุมมองของเทวดาก็เถอะ แต่ผมคิดว่านั่นเป็นมุมมองของมนุษย์ ที่ความรู้สึกเสียใจของพวกเขา มันเศร้าหมองจนทำให้ภาพสีกลายเป็นภาพ-ขาวดำ เรือที่ลอยล่องไปในสายน้ำเหมือนชีวิตและกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาไปไม่มีวันหยุด แบบนี้ถือว่าจบปลายเปิดนะครับ ถึงอาจจะดูไม่ happy end แต่ในบริบทหนัง มันไม่ใช่ sad ending เพราะการตายเป็นสีสันหนึ่งของมนุษย์ เพื่อนที่ตาย เขาไม่ได้ตายแล้วสูญหาย ไม่แน่สักวันคงอาจได้พบกันอีก
ผมจัดให้หนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ประเด็นที่ผมไม่ค่อยชอบใน Wings of Desire ต่อ ภาพของพระเจ้าในมุมมองของมนุษย์ ใน Faraway, So Close! ประเด็นนี้แทบไม่ได้รับการพูดถึงเลย เมื่อตัดมุมมองนี้ทิ้งไป เราจะเห็นภาพใหม่ของหนังเป็นการค้นหาความเป็นตัวตนของมนุษย์ ตั้งคำถามที่ว่า อะไรคือความดี? อะไรคือความชั่ว?, อะไรคือการทำดี? อะไรคือการทำชั่ว? ผมเชื่อว่าในจิตใจของมนุษย์ทุกคนจะสามารถแบ่งดีชั่วได้ อยู่ที่เราจะเลือกทำแบบไหน ใช้ชีวิตอย่างไร ในหนังบอกเราว่าการจะทำดีมันไม่ง่าย กว่าที่ Cassiel จะเข้าใจ เขาเคยตกต่ำไปถึงจุดต่ำสุดและค่อยๆไต่กลับขึ้นมา เมื่อเขาเอาหาทางเอาตัวรอดได้แล้ว ก็ถึงจุดที่ต้องตัดสินใจเลือก ระหว่างทางลัดที่แสนสบาย กับการกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง นี่คือจุดที่ผมชอบมากๆและถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้หนังมีคุณค่า Cassiel สามารถตัดสินเลือกในสิ่งที่ถูกต้อง! การค้นหาของเขาจึงมาถึงจุดสิ้นสุด รู้แล้วว่าตนควรมีชีวิตอย่างไรและต่อจากนี้ควรทำอะไร
ผมไม่แน่ใจว่าคุณจะสามารถดู Faraway, So Close! ได้เข้าใจโดยไม่ต้องหา Wings of Desire มาดูไหม ช่วงต้นๆของหนังมีการใช้เทคนิคจากภาคแรก เกริ่นเปิดเรื่องแนะนำอะไรต่างๆ ปรับอารมณ์ให้พร้อมดู จึงเชื่อว่าคนดูที่ไม่เคยดู Wings of Desire มาก่อนก็อาจจะสามารถเข้าใจได้ กระนั้นมีประเด็นบางอย่างที่แอบอ้างอิงมาจากภาคแรก อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่าง Damiel กับ Cassiel, บทของ Peter Falk ฯ อรรถรสจะเสียไหมไม่รู้นะครับ ใครที่ลองแบบนี้ได้ผลอย่างไรบอกผมมาได้นะครับ
แนะนำหนังเรื่องนี้กับคนที่กำลังค้นหาตัวเอง, อยากเข้าใจชีวิต คอหนังที่ชอบหนังดราม่า, บรรยากาศที่อึมครึม ยุค 80s-90s, สะท้อนปัญหาชีวิตและแฝงแนวคิดการใช้ชีวิต ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก จัดเรต PG-13
คำโปรย : “Faraway, So Close! ของ Wim Wenders ภาคต่อของ Wings of Desire ที่ไม่ได้พูดถึงการมีตัวตน แต่เป็นการค้นหาตัวตน งานสร้างอาจไม่ได้ดีกว่าภาคแรก แต่แนวคิดน่าสนใจกว่ามาก”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบ : LOVE
Leave a Reply