
Farewell My Concubine (1993)
: Chen Kaige ♥♥♥♥
(6/5/2022) ผู้กำกับเฉินข่ายเกอ เข้าร่วมยุวชนแดงในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) เคยกล่าวประณามบิดา ทุบทำลายสิ่งล้ำค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย หลายปีหลังจากนั้นค่อยๆตระหนักได้ถึงความโง่ขลาดเขลา ถ้าประเทศชาติของเราไร้ซึ่งอดีต มันจะมีอนาคตที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร, คว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
Farewell My Concubine (1993), ชื่อไทย หลายแผ่นดิน แม้สิ้นใจ ก็ไม่ลืม คือภาพยนตร์ระดับมหากาพย์ สัญชาติจีน ถือว่ามีความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุด! เพราะทำการบันทึกประวัติศาสตร์กว่า 50 ปี! ตั้งแต่ยุคสมัยขุนศึก (1916-28), สงครามกลางเมืองจีนครึ่งแรก (1927-36), สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (1937-45), สงครามกลางเมืองจีนครึ่งหลัง (1945-49), ช่วงเวลาปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) และเหตุการณ์หลังจากนั้น เป็นฉากหลังเรื่องราวของสองนักแสดงละครงิ้ว (การแสดงประจำชาติที่เกือบสูญสิ้นเพราะช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม!) ตั้งแต่พวกเขายังเป็นเด็ก อดทนฝึกฝน สะสมชื่อเสียง จนประสบความสำเร็จถึงจุดสูงสุด จากนั้นค่อยๆตกต่ำลง สูญสิ้นความนิยม สังคมไม่ให้การยินยอมรับ มิอาจปรับเปลี่ยนแปลงสู่โลกยุคสมัยใหม่
ความน่าทึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ใช่แค่การเปรียบเทียบเรื่องราวสองนักแสดงละครงิ้ว (ชีวิตตัวละคร) = อุปรากร Farewell My Concubine (ละคอนมายา) = ประวัติศาสตร์ชาติจีน (เหตุการณ์จริง), แต่คือผู้กำกับเฉินข่ายเกอสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างไร?? ในช่วงเวลาที่ประเทศจีนพยายามเซนเซอร์ ปิดกั้น ไม่ยินยอมรับความล้มเหลวของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม
แน่นอนว่าหนังถูกแบนห้ามฉาย แม้ไปคว้ารางวัล Palme d’Or, Golden Globe และเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film แต่ความต้องการจัดกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2000 (เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ!) ทางการถึงขนาดประณีประณอม ตัดทอนบางฉากที่ยินยอมรับไม่ได้จริงๆเท่านั้น เพื่อให้ชาวตะวันตกเห็นว่าประเทศจีนเริ่มเปิดกว้าง ไม่ใช่เผด็จการบ้าอำนาจเหมือนเก่าก่อน (ครั้งนั้นถือเป็นตัวเต็งหนึ่งเลยนะครับ กลับพ่ายเพียงสองคะแนนรอบสุดท้ายให้ Sydney, Australia แต่ภายหลังก็ได้รับโอกาสเมื่อปี 2008)
นี่เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่ผมเคยรับชมมาหลายครั้ง แต่จดจำได้ว่าดูไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่ เนื้อหาคร่าวๆยังพอเข้าใจไหว แต่รายละเอียดยิบย่อยมากมาย ต้องใช้ประสบการณ์ค่อนข้างสูงถึงสามารถขบครุ่นคิดวิเคราะห์ … ไม่เช่นนั้นจะคว้ารางวัล Palme d’Or ควบคู่ FIPRESCI Prize ได้อย่างไรละ!
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง ลิเลียน ลี นามปากกาของ ลีบัค, Lee Bak (เกิดปี 1959) นักเขียนบทกวี นวนิยาย เกิดที่ไทชาน เมืองกว่างโจว ครอบครัวฐานะร่ำรวย บิดาเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตยาแพทย์แผนจีน มีบ้านหลายหลัง (และภรรยาหลายคน) ความวุ่นวายในจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้เธอปักหลักอาศัยอยู่ฮ่องกง ค้นพบความชื่นชอบด้านการเขียน ขณะเดียวกันก็ได้ร่ำเรียนการเต้น Traditional Chinese Dance นานกว่าสิบปี! โตขึ้นเข้าศึกษาต่อยัง Kyoto University จบออกมาทดลองทำงาน ครูสอนเด็กประถม, นักข่าว, นักเต้น กระทั่งตัดสินใจเอาจริงจังด้านการเขียนนวนิยาย
ผลงานของ ลิเลียน ลี เฉพาะนวนิยายมีมากกว่า 120+ เล่ม ยังไม่รวมเรื่องสั้น บทภาพยนตร์ และบทความ(ข่าว)หนังสือพิมพ์ ได้รับความนิยมล้นหลามในฮ่องกง (มี Best-Selling นับไม่ถ้วน) แต่มีไม่กี่เรื่องที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ อาทิ Rouge, Farewell My Concubine, Green Snake ฯลฯ ซึ่งล้วนได้รับการดัดแปลงภาพยนตร์แล้วทั้งนั้น
สำหรับ 霸王別姬 (อ่านว่า Bà Wáng Bié Jī, ป้าหวังเปี๋ยจี) แปลตรงตัว The Hegemon-King Bids Farewell to His Concubine หรือชื่อภาษาอังกฤษ Farewell My Concubine (1985) ดัดแปลงจากนวนิยาย 秋海棠 (อ่านว่า Qiuhaitang) ชื่อภาษาอังกฤษ The Fall of Begonias (1941) ผลงานชิ้นเอกของ Qin Shouou (1908-93)
นวนิยาย The Fall of Begonias (1941) นำเสนอเรื่องราวของนักแสดงละครงิ้วชื่อดัง แต่ความเป็นเสือผู้หญิงทำให้โชคชะตาพลิกผัน หลังแต่งงานกับโสเภณีคนหนึ่งถูกควบคุมครอบงำ โดนภรรยาชักใยอยู่เบื้องหลังจนสูญเสียอาชีพการงาน เลยตัดสินใจลักพาตัวบุตรสาวหลบหนีออกจากบ้าน หาเช้ากินค่ำ จนกระทั่ง …
เกร็ด: ใบของต้น Begonia ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนประเทศจีน (เพราะรูปลักษณะคล้ายแผนที่ประเทศจีนขณะนั้น) ซึ่งเรื่องราวในนวนิยายทำการเปรียบเปรยว่ากำลังถูกกัดกินโดยหนอนผีเสื้อ หรือคือการรุกรานจากประเทศญี่ปุ่น ในช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (1937-45)
The Fall of Begonias (1941) เป็นผลงานได้รับการยกย่อง ‘หนึ่งในวรรณกรรมยอดเยี่ยมที่สุดของประเทศจีน’ เคยได้รับการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ ซีรีย์ บทละครเวที การแสดงละครงิ้ว และเป็นแรงบันดาลใจให้ ลิเลียน ลี นำหลายๆแนวคิดมาปรับปรุง เปลี่ยนพื้นหลัง พัฒนาต่อยอดจนกลายมาเป็นนวนิยาย Farewell My Concubine (1985) ซึ่งได้ทำการผสมผสานการแสดงอุปรากรปักกิ่งเรื่อง ฌ้อปาอ๋อง
西楚霸王 (อ่านว่า ซีฉู่ป้าหวาง) หรือฌ้อปาอ๋อง ชื่อเดิมเซี่ยงอวี่ (232-202 ก่อนคริสต์ศักราช) ขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่ในยุคปลายราชวงศ์ฉิน (221 – 206 ก่อนคริสต์ศักราช) เกิดที่แคว้นฌ้อ ในตระกูลขุนศึก ได้รับการกล่าวขานถึงพละกำลัง สามารถยกกระถางธูปที่มีน้ำหนักร้อยกิโลกรัมไว้เหนือศีรษะ
ช่วงปลายรัชสมัยของจักรพรรดิฉินที่ 2 (210–207 ก่อนคริสต์ศักราช) เมื่อเกิดกบฏชาวนา และอีกหลายๆกบฏต่อต้านราชวงศ์ฉิน เซี่ยงอวี่ก็เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยความสามารถอันโดดเด่นทำให้ไต่เต้าเป็นผู้นำระดับแม่ทัพ ร่วมมือกับหลิวปัง (ปฐมจักรพรรดิจีน ราชวงศ์ฮั่น) ในการโจมตีหัวเมืองต่างๆ โดยวีรกรรมครั้งสำคัญเมื่อปี 206 ก่อนคริสตศักราช นำทัพไปตีเมืองเสียนหยาง (เมืองหลวงของราชวงศ์ฉิน) ทั้งที่มีกองกำลังน้อยกว่าถึง 10 ต่อ 1 หลังข้ามแม่น้ำจางเหอ สั่งให้ทุบหม้อข้าว เจาะรูเรือที่ข้ามแม่น้ำ หมายมั่นปั้นมือจะเอาชนะการสงครามครั้งนี้ให้จงได้ (จนเป็นที่มาภาษิตจีน ‘ทุบหม้อจมเรือ’ หมายถึง สิ่งสำคัญที่ตัดสินชะตากรรม)
แม้การสงครามครั้งนั้นเซี่ยงอวี่จะเป็นผู้ได้รับชัยชนะ แต่กองทัพของหลิวปังกลับเข้าสู่เมืองหลวงก่อนเลยได้นั่งบัลลังก์ฮ่องเต้ สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงจึงสถาปนาตนเองเป็น ฌ้อปาอ๋อง หมายถึง อ๋องแห่งฌ้อผู้ยิ่งใหญ่! นั่นคือต้นสาเหตุแห่งความขัดแย้ง ทำสงครามแก่งแย่งราชบัลลังก์นานถึง 4 ปี (มีชื่อเรียกว่าสงครามฉู่-ฮั่น) ในระยะแรกฌ้อปาอ๋องมีกองกำลังมากกว่า เลยได้รับชัยชนะต่อเนื่องหลายครั้ง แต่จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ (หลิวปัง)ได้รับการช่วยเหลือจากที่ปรึกษาและขุนพลคนสำคัญ ทำให้ได้ฉกชิงความได้เปรียบตอนท้าย จนสามารถปิดล้อมกองทัพฌ้อ ไร้ซึ่งหนทางหลบหนี
ว่ากันว่าระหว่างกำลังถูกปิดล้อมอยู่นั้น ฝ่ายฮั่นได้เล่นเพลงของฌ้อปาอ๋องดังไปถึงกองทัพศัตรูเพื่อข่มขวัญ แต่กลับทำให้ฌ้อปาอ๋องเกิดความมุทะลุดุดัน บุกตีฝ่าวงล้อมจนตัวเองสามารถหลบหนีเอาตัวรอด ก่อนไปจนมุมที่แม่น้ำไก่เซี่ย (ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกของมณฑลอานฮุย) และฆ่าตัวตายด้วยการเชือดคอด้วยดาบ จบชีวิตลงขณะอายุเพียง 30 ปีเท่านั้น
เรื่องราวของฌ้อปาอ๋อง ได้รับการเล่าขานสืบต่อกันมาในวัฒนธรรมจีนจนถึงปัจจุบัน โดยมักมีลักษณะของชายรูปร่างสูงใหญ่ บึกบึน ไว้หนวดไว้เครา อุปนิสัยโหดร้าย เจ้าอารมณ์ มุทะลุดุดัน, ตรงกันข้ามจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ (หลิวปัง) ซึ่งมีความใจเย็น สุขุม และมีเมตตาธรรม, ขณะเดียวกันชีวิตส่วนตัวของฌ้อปาอ๋องกับนางสนมหยูจี เป็นผู้หญิงที่สวยมากๆ ตั้งแต่ครองรักก็ติดตามเคียงคู่ทุกการสงคราม จนวาระสุดท้ายก่อนที่สามีจะบุกฝ่าวงล้อมกองทัพฮั่น มีการร่ำจากลาครั้งสุดท้าย และเธอได้หยิบดาบ(ของชายคนรัก)ขึ้นมาเชือดคอตนเองเสียชีวิต
เฉินข่ายเกอ (เกิดปี 1952) ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นห้า สัญชาติจีน เกิดที่ปักกิ่ง, บิดา Chen Huai’ai (1920-94) เป็นผู้กำกับรุ่นสาม (มีชื่อเรียกยุคสมัย Early Communist Era) ส่วนมารดา Liu Yanchi เป็นนักเขียนบทหนัง, การมาถึงของ Cultural Revolution (1966-76) เฉินข่ายเกอตัดสินใจเข้าร่วมยุวชนแดง (Red Guards) ประกาศไม่เอาบิดา ปฏิเสธวัฒนธรรมต่างชาติและจีนโบราณ ทั้งยังเคยกระทำร้ายบุคคลผู้ครุ่นคิดเห็นต่าง … นั่นคือแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้าง Farewell My Concubine (1993) และ Together (2002) เพื่อแสดงความรู้สึกผิดของตนเอง
เมื่อปี 1978, หลังจากสถาบัน Beijing Film Academy กลับมาเปิดรับสมัครนักศึกษาอีกครั้ง (ปิดไปเพราะช่วงเวลาการปฏิวัติทางวัฒนธรรม) แม้อายุเกินเกณฑ์ไปหลายปี แต่ใช้ข้ออ้างเพราะเข้าร่วมยุวชนแดง เลยได้รับโอกาสกลายเป็นนักศึกษาภาพยนตร์รุ่นเดียวกับจางอี้โหมว, เทียนจวงจวง และจางจุนจ้าว สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 1982
หลังสำเร็จการศึกษา เฉินข่ายเกอติดตามผองเพื่อน (บรรดาว่าที่ผู้กำกับรุ่นห้า) ทำงานยังสตูดิโอเล็กๆ Guangxi Film Studio ยังมณฑลส่านซี กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Yellow Earth (1984) ติดตามด้วย The Big Parade (1986), King of the Children (1987), Life on a String (1991)
เมื่อปี 1988, โปรดิวเซอร์ซูเฟิงติดต่อเข้าหาผู้กำกับเฉินข่ายเกอ ระหว่างเทศกาลหนังแห่งหนึ่ง แนะนำให้อ่านนวนิยาย Farewell My Concubine (1985) เชื่อมั่นว่าเขาเป็นคนเดียวที่สามารถดัดแปลงผลงานเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์
แม้เฉินข่ายเกอจะมีความประทับใจนวนิยายเล่มดังกล่าว แต่รู้สึกว่าอารมณ์ของหนังค่อนข้างจืดจางไปนิด เมื่อมีโอกาสพบเจอผู้แต่ง ลิเลียน ลี เธอจึงมอบอิสรภาพให้เขาในการปรับเปลี่ยนแปลงเรื่องราว รวมถึงตอนจบที่เฉิงเตี๋ยอี หลายปีต่อมาบังเอิญพบเจอต้วนเสี่ยวโหลว ในสภาพเปลือยเปล่า ณ ห้องน้ำสาธารณะแห่งหนึ่ง
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย ลูเวย, Lu Wei ผู้กำกับ/นักเขียนบทภาพยนตร์ คงจากความประทับใจผลงาน The Ballad of the Yellow River (1990) ซึ่งก็ได้ปรับเปลี่ยนตอนจบให้สอดคล้องกับอุปรากร Farewell My Concubine ที่นางสนมอวี้จี่อัน ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต เข่นฆ่าตัวตาย
เรื่องราวเริ่มต้นฤดูหนาวปี 1924, เด็กชายโตวจื่อ บุตรของโสเภณี ถูกขายต่อให้คณะการแสดงอุปรากรจีน ด้วยความที่เรือนร่างอ้อนแอ้น ใบหน้าอ่อนหวาน จึงได้รับการฝึกฝนให้รับบทตัวนาง สนินสนมกับเพื่อนรุ่นพี่ซือโถว คอยให้ความช่วยเหลือ ปกป้องราวกับพี่-น้อง อดรนทนต่อการฝึกฝนที่ยากลำบากไปด้วยกัน
หลังจากเด็กๆเติบโตขึ้น โตวจื่อเปลี่ยนมาใช้ชื่อในวงการเฉิงเตี๋ยอี (รับบทโดย เลสลี่ จาง) มีชื่อเสียงโด่งดังจากบทบาทอวี้จี่อัน (อีกชื่อหนึ่งของ หยูจี) นางสนมของเซี่ยงอี่ (หรือฌ้อปาอ๋อง) แม่ทัพแห่งแคว้นฉู่ตะวันตกในยุคราชวงศ์ฉิน ที่แสดงโดยซือโถว ใช้ชื่อในการแสดงว่าต้วนเสี่ยวโหลว (รับบทโดย จางเฟิงอี้)
ด้วยความสามารถอันโดดเด่นของเฉิงเตี๋ยอี ทำให้คณะการแสดงอุปรากรจีนเป็นที่รู้จัก ได้รับคำสรรเสริญแซ่ซ้องจนมีชื่อเสียงโด่งดัง กระทั่งต้วนเสี่ยวโหลว ตัดสินใจแต่งงานกับนางโลมจูเสียน (รับบทโดย กงลี่) ผู้เต็มไปด้วยมารยาร้อยเล่มเกวียน พยายามกีดกัน ผลักไส เฉิงเตี๋ยอี (ที่แอบชื่นชอบต้วนเสี่ยวโหลว ในความสัมพันธ์ชาย-ชาย) แต่จนแล้วจนรอด จักรพรรดิกับนางสนมก็ไม่สามารถพลัดพรากจากกัน
แต่การมาถึงของช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) คณะการแสดงอุปรากรจีนทั้งหมด ถูกเหล่ายุวชนแดงจับกุมตัว ประจานต่อหน้าสาธารณะ บีบบังคับให้พูดประณาม เปิดโปงความชั่วร้ายของกันและกัน สร้างความขมขื่นให้พวกเขาทั้งสาม บังเกิดเหตุโศกนาฎกรรม ไม่ได้พบเจอหน้ากันอีกจนกระทั่งยี่สิบกว่าปีให้หลัง
เลสลี่ จาง, Leslie Cheung Kwok-wing ชื่อเกิด Cheung Fat-chung (1956 – 2003) นักร้องนักแสดงสัญชาติฮ่องกง เจ้าของฉายา ‘บิดาผู้ก่อตั้ง Cantopop’ เกิดที่เกาลูน บิดาเป็นช่างตัดเสื้อชื่อดังที่มีลูกค้าอย่าง William Holden, Marlon Brando, Cary Grant ตอนอายุ 12 ถูกส่งไปร่ำเรียนยังประเทศอังกฤษ ทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ เลือกเชื่อเลสลี่เพราะชื่นชอบหนัง Gone With the Wind และตัวละคร Leslie Howard, โตขึ้นสอบเข้า University of Leed สาขาการจัดการ แต่แค่เพียงปีเดียวก็กลับบ้านเพราะพ่อล้มป่วย เซ็นสัญญาค่ายเพลง Polydor Records ออกอัลบัมแรก I Like Dreamin (1977) เป็นภาษาอังกฤษเลยดับสนิท แต่ก็ยังฝืนทำต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่งอัลบัม Wind Blows (1982) บทเพลง Monica ติดชาร์ทอันดับ 1 กลายเป็น Superstar โดยทันที
สำหรับภาพยนตร์ เริ่มต้นที่ A Better Tomorrow (1986) ของผู้กำกับ John Woo ทุบสถิติทำเงินสูงสุดใน Hong Kong ตามด้วย A Chinese Ghost Story (1987), Rouge (1987), ร่วมงานกับ Wong Kar-Wai ครั้งแรก Days of Being Wild (1991), Ashes of Time (1994), Happy Together (1997) ฯลฯ
รับบทเฉิงเตี๋ยอี ตั้งแต่เด็กถูกมารดาขายต่อให้คณะการแสดงอุปรากรจีน ด้วยความที่เรือนร่างอ้อนแอ้น ใบหน้าอ่อนหวาน จึงได้รับการฝึกฝนให้รับบทตัวนาง แม้ช่วงแรกๆจะมีความขัดแย้งภายในจิตใจอยู่บ้าง แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็สามารถยินยอมเพศสภาพของตนเอง จนสร้างชื่อเสียงโด่งดังจากบทบาทอวี้จี่อัน (อีกชื่อหนึ่งของ หยูจี) นางสนมของเซี่ยงอี่ (หรือฌ้อปาอ๋อง) ซึ่งชีวิตจริงก็แอบชื่นชอบซือโถว (ชื่อในการแสดงว่าต้วนเสี่ยวโหลว) แต่หลังจากเขาแต่งงานกับนางโลมจูเสียน ก็บังเกิดความไม่พึงพอใจ พยายามหาหนทางกีดกัน ผลักไส ไม่ยินยอมรับอีกฝั่งฝ่าย ถึงขนาดเสพฝิ่นติดยา ยินยอมทำการแสดงต่อหน้าทหารญี่ปุ่น หลังสงครามเลยถูกจับกุม และช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้รับการประณาม เปิดโปงธาตุแท้ตัวตน จนแทบมิอาจอดรนทนได้อีกต่อไป
มีนักแสดงหลายคนที่ได้รับการทาบทามบทบาทนี้ คนแรกๆคือเฉินหลง (เพราะเคยฝึกฝนเป็นนักแสดงละครงิ้วมาก่อน) แต่ปฏิเสธเพราะไม่อยากเล่นเป็นชายรักร่มเพศ, จอห์น โลน (เจ้าของบทจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนเรื่อง The Last Emperor (1987) มีความสนใจอย่างแรงกล้า แต่ไม่สามารถเจรจาโปรดิวเซอร์ได้สำเร็จ, นอกจากนี้ยังมีเจียงเหวิน และนักแสดงละครงิ้วชื่อดัง Hu Wenge, สุดท้ายส้มหล่นใส่เลสลี่ จาง แม้ไม่สามารถพูดจีนแมนดาริน แต่เชื่อว่าน่าจะสามารถสร้างกระแสให้หนัง ดึงดูดแฟนๆในวงกว้าง
เกร็ด: เลสลี่ จาง พยายามฝึกฝนพูดจีนแมนดารินอยู่หลายเดือนจนมีความคล่องแคล่ว แต่หลังถ่ายทำถึงค่อยตระหนักว่าติดสำเนียงกวางตุ้งเกินไป ทีมงานจึงเลือกใช้ Yang Lixin ให้เสียงพากย์แทน ยกเว้นฉากที่ตัวละครเสพฝิ่น ติดยา อาการมึนเมา พูดไม่ค่อยชัด เลยใช้เสียงนักแสดงจริงๆ
เกร็ดหนังเท่าที่ผมหาอ่านได้ ล้วนยกย่องสรรเสริญ เลสลี่ จาง เป็นนักแสดงทุ่มเทให้กับบทบาทอย่างมากๆ อาศัยอยู่ปักกิ่งก่อนเริ่มถ่ายทำหกเดือน เพื่อฝึกภาษา เรียนวิธีแต่งหน้า ท่วงท่าการแสดงละครงิ้ว จนนักแสดงแทนเตรียมไว้ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป, ในกองถ่ายหลังหมดคิวในแต่วัน ก็ไม่เคยหลบหนีหน้าหายไปไหน ชักชวนทีมงานมาดื่มชา กาแฟ ซื้อผลไม้ จ่ายค่าอาหารเย็น พูดคุยอย่างเป็นกันเอง ขี้เล่นสนุกสนาน จนเป็นที่รักใคร่ของทุกคนในกองถ่าย
การแสดงของเลสลี่ จาง ถือว่ามีความสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ! ตั้งแต่ภาพลักษณ์ ใบหน้าละอ่อนหวาน ท่าทางชดช้อย ตุ้งติ้ง สีหน้าอารมณ์ล้วนมีความเป็นหญิง จนไม่สามารแยกแยะชีวิตจริง-ตัวละคร-บทบาทการแสดง ถ้าใครไม่เคยรับชมผลงานเรื่องอื่นๆหรือรู้จักนักแสดงมาก่อน อาจครุ่นคิดว่าเขาเป็นกะเทยจริงๆ สมจริงขนาดนั้นเลยละ!
แต่ไม่ใช่แค่ความสมจริงของตัวละครเท่านั้นนะครับ สิ่งที่ผมชื่นชอบมากๆคือมารยา ลีลาร้อยเล่มเกวียน ระหว่างการเผชิญหน้า เลสลี่ จาง vs. กงลี่ ต้องถือว่าจัดจ้าน แรดร่าน ‘ตาต่อตา ฟันตอฟัน’ ยิ่งกว่าตอน กงลี่ vs. จางจื่ออี๋ ภาพยนตร์เรื่อง Memoirs of a Geisha (2005) เสียอีกนะ! … นี่ทำให้ผมตระหนักว่า ผู้หญิงตบกับกะเทย มันอาจจะรุนแรงกว่า ผู้หญิงตบกันเองเสียอีกนะ (เสียผัวให้หญิงอื่นว่าเลวร้าย แต่เสียผัวให้ชายอื่นยินยอมไม่ได้!)
หลังการฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes คณะกรรมการหลายคนๆตรงเข้ามาขอจับมือแสดงความยินดี, Gary Oldman ชื่นชมอย่างออกนอกหน้า เช่นเดียวกับประธานกรรมการปีนั้น Louis Malle พูดซ้ำๆ ‘Bravo Bravo’ ถือเป็นเต็งหนึ่งจะคว้ารางวัล Best Actor ของเทศกาลด้วยซ้ำนะ!
จางเฟิงอี้, Zhang Fengyi (เกิดปี 1956) นักแสดงชาวจีน เกิดที่ฉางชา มณฑลหูหนาน, เพียงอายุขวบเดียวบิดาย้ายมาอยู่ยัง เขตตงฉวน มณฑลยูนนาน ระหว่างเรียนมัธยมปลาย ตัดสินใจออกมาเข้าร่วมคณะทัวร์การแสดง ฝึกฝนการร้องเพลง เต้นรำ จนกระทั่ง Beijing Film Academy เปิดรับสมัครนักศึกษาอีกครั้ง เข้าร่วมแผนกการแสดง ภาพยนตร์เรื่องแรก Treasure Hunting in Desert (1980), Rickshaw Boy (1982), โด่งดังระดับนานาชาติกับ Farewell My Concubine (1993), The Emperor and the Assassin (1997), Red Cliff (2008) รับบทโจโฉ ฯ
รับบทต้วนเสี่ยวโหลว เพื่อนสนิทของเฉิงเตี๋ยอี ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก ฝึกฝนการแสดงละครงิ้ว จนประสบความสำเร็จ ชื่อเสียงโด่งดังจากบทบาทเซี่ยงอี่ (หรือฌ้อปาอ๋อง) แม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร แต่หลังแต่งงานกับนางโลมจูเสียน ก็ถูกเธอควบคุมครอบงำ จนเกิดความบาดหมางต่อเพื่อนรัก ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ร่วมหัวจมท้าย พานผ่านจุดสูงสุด-ต่ำสุดมาด้วยกัน กระทั่งการมาถึงของช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม คำพูดของเขาจึงเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง
สิ่งที่ตัวละครนี้หมกมุ่นไม่ใช่บทบาทการแสดง ชื่อเสียงหรือความสำเร็จ แต่คือการมีชีวิต ได้กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ ท่องเที่ยวหอนางโลม แต่งงานกับโสเภณี เดี๋ยวรัก-เดี๋ยวเลิก เดี๋ยวพบ-เดี๋ยวจาก ด้วยเหตุนี้จึงสามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลง (ราวกับกิ้งก่าเปลี่ยน) เพื่อให้ตนเองสามารถเอาชีวิตรอด ในสังคมที่ไม่เคยสงบสุขอยู่นิ่ง
แซว: จางเฟิงอี้ และเลสลี่ จาง (ชื่อเกิดคือ จางกั๊วหยง) ต่างเกิดเดือนเดียวกัน ปีเดียวกัน แซ่จางเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเปรียบเสมือนพี่น้อง (จางเฟิงอี้ เกิดก่อนไม่กี่วัน) สนิทสนมกันทั้งในบทบาท และชีวิตจริง
บทบาทของจางเฟิงอี้ อาจไม่ได้โดดเด่นเทียบเท่าเลสลี่ จาง หรือกงลี่ มีลักษณะเป็น ‘stereotype’ ของบุรุษร่างกายบึกบึน กำยำ ภายนอกดูเข้มแข็งแกร่ง แต่จิตใจกลับมีสภาพอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา แถมตัวละครยังไม่ค่อยเฉลียวฉลาดนัก เลยมักไม่สามารถปกปิดความต้องการ อดรนทนแรงกดดันจากผู้คนรอบข้าง เลยถูกลวงล่อหลอก ชักจูงจมูกจากใครอื่นโดยง่าย (ตั้งแต่ครูบา, ภรรยา หรือบรรดายุวชนแดง เว้นเพียงแต่เฉิงเตี๋ยอี เพราะไม่ได้มีรสนิยมรักร่วมเพศ) ถึงอย่างนั้นฉากที่ผมชอบสุดคือตอนใช้กำลังบีบบังคับเฉิงเตี๋ยอี ให้ละเลิกเสพฝิ่น นั่นคือความหมายของเพื่อนแท้ แม้มีอะไรๆขัดแย้งอย่างรุนแรง แต่เรื่องที่เกี่ยวกับความเป็น-ตาย ยังไงก็ต้องให้ความช่วยเหลือ
ประสบการณ์ร้องรำ เต้นระบำ ที่เคยฝึกฝนกับคณะทัวร์การแสดงตั้งแต่สมัยวัยรุ่น ช่วยให้จางเผิงอี้สามารถเล่นกายกรรม ขยับท่วงท่า ควงกระบี่ รับบทบาทเซี่ยงอี่ (หรือฌ้อปาอ๋อง) ได้อย่างสง่างาม ทรงพลัง ไม่ต้องใช้นักแสดงแทนเช่นกัน! … แต่ก็ไม่ได้ต้องใช้อารมณ์ร่วมในการแสดงระดับเดียวกับนางสนมอวี้จี่อัน เลยมักถูกมองข้าม ไม่ค่อยได้รับการพูดกล่าวถึงสักเท่าไหร่
กงลี่, Gong Li (เกิดปี 1965) นักแสดง สัญชาติจีน เกิดที่นครเสิ่นหยาง, มณฑลเหลียวหนิง เป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้องสี่คน บิดา-มารดาต่างทำงานสอนหนังสือ วัยเด็กหลงใหลด้านการร้องเพลง เต้นรำ วาดฝันโตขึ้นโตขึ้นอยากเป็นศิลปินออกอัลบัม ระหว่างเข้าศึกษาต่อ Central Academy of Drama ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับจางอี้โหมว แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Red Sorghum (1988) ทำให้มีโอกาสร่วมงานกันอีกหลายครั้ง (รวมถึงสานสัมพันธ์โรแมนติกช่วงระยะเวลาหนึ่ง) อาทิ Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), The Story of Qiu Ju (1992), To Live (1994), Curse of the Golden Flower (2006), ส่วนผลงานเด่นๆผู้กำกับอื่น อาทิ Farewell My Concubine (1993), 2046 (2004), Memoirs of a Geisha (2005) ฯ
รับบทนางโลมจูเสียน (รับบทโดย กงลี่) หญิงสาวร่านราคะ เต็มไปด้วยมารยาร้อยเล่มเกวียน ต้องการเป็นหนูตกถังข้าวสาร เลยตัดสินใจแต่งงานกับต้วนเสี่ยวโหลว พยายามกีดกัน ผลักไส เฉิงเตี๋ยอี (เพราะตระหนักว่าเพื่อนสนิทคนนี้ แอบชื่นชอบต้วนเสี่ยวโหลว ในความสัมพันธ์ชาย-ชาย) ต่างเคยทำข้อตกลงแลกเปลี่ยน … แต่ก็ไม่เห็นมีใครปฏิบัติตามคำพูด สุดท้ายแม้โกรธเกลียดกันขนาดไหน ยังรู้สึกเป็นห่วงเป็นใย จนกระทั่งการมาถึงของช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม ทำให้เธอตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่าง
การมาถึงของจูเสียน พอดิบพอดีระหว่างที่กองทัพญี่ปุ่นกำลังบุกเข้ามารุกราน ช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (1937-45) แต่ตัวละครนี้ไม่ใช่แค่ตัวแทนทหารญี่ปุ่นเท่านั้นนะครับ ช่วงระหว่างสงครามกลางเมืองจีนครึ่งหลัง (1945-49) ยังเป็นผู้สร้างความแตกแยกระหว่าง ต้วนเสี่ยวโหลว กับเฉิงเตี๋ยอี สามารถเปรียบเทียบถึงความขัดแย้งระหว่าง คอมมิวนิสต์ vs. พรรคก๊กมินตั๋ง, ส่วนช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) ลองไปครุ่นคิดต่อเอาเองนะครับว่า ตัวละครนี้จะสามารถสื่อถืออะไร? หรือบุคคลผู้ใด?
ชื่อเสียงของกงลี่ขณะนั้น ประสบความสำเร็จโด่งดังระดับนานาชาติ ฝีไม้ลายมือการันตีความจัดจ้าน แรดร่านราคะ แต่เธอเพิ่งเสร็จจากถ่ายทำ The Story of Qiu Ju (1992) ที่รับบทหญิงสาวบ้านนอกคอกนา ต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์อยู่เป็นเดือนๆ กว่าจะกลับมาสวยเริดเชิดหยิ่ง นางโลมระดับสูงที่หนุ่มๆต่างลุ่มหลงใหล ต้องการไขว่คว้ามาครอบครองเป็นเจ้าของ
ในเกร็ดหนังอ้างว่า กงลี่อ่านตำหรับตำรา หนังสือเกี่ยวกับหอนางโลมสมัยก่อน ทั้งยังพูดคุยกับเพื่อนที่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้ โสเภณีในช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม … แต่ผมรู้สึกว่าเธอไม่จำเป็นต้องศึกษาอะไรเหล่านี้เลยนะ เพราะตัวจริง ชีวิตจริง ไม่ได้ต่างอะไรจากตัวละครสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อตอนแก่งแย่งผู้กำกับจางยี่โหมว มาจากอดีตภรรยา (เป็นต้นเหตุให้พวกเขาหย่าร้าง แต่กลับเล่นแง่ไม่ยินยอมแต่งงานด้วย) เรื่องจริต มารยาหญิง กงลี่ไม่เป็นสองรองใครอย่างแน่นอน
จนกระทั่งมาพบเจอเผชิญหน้ากับเลสลี่ จาง นี่คือคู่มวยสมศักดิ์ศรีที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีน! ต่างฝ่ายต่างเล่นแง่ ไม่ยินยอมพ่ายแพ้กันและกัน ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ มองตาก็เกลียดเข้ากระดูกดำ แต่ก็ไม่ถึงขั้นอาฆาตมาดร้าย แค่อยากให้อีกฝั่งฝ่ายตีตนออกห่างจากชายคนรักก็เท่านั้น
ถ่ายภาพโดย กูฉ่างเหวย์, Gu Changwei (เกิดปี 1957) เกิดที่เมืองซีอาน มณฑลส่านซี ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการวาดรูป สเก็ตภาพ หลังเรียนจบมัธยมทำงานเป็นคนงานก่อสร้างทางรถไฟ นำค่าแรงส่วนใหญ่มาจ่ายค่าตั๋วหนัง กระทั่งมีโอกาสเข้าศึกษาต่อด้านการถ่ายภาพ Beijing Film Academy เป็นเพื่อนร่วมชั้นผู้กำกับรุ่นห้า ก่อนได้รับมอบหมายให้ไปทำงานยัง Xi’an Film Studio เริ่มจากผู้ช่วยตากล้อง ได้รับเครดิตถ่ายภาพครั้งแรก Red Sorghum (1987) ผลงานเด่นๆ อาทิ Ju Dou (1990), Farewell, My Concubine (1993), In the Heat of the Sun (1994), ก่อนหันมากำกับภาพยนตร์ Peacock (2008), And the Spring Comes (2007) ฯ
ในส่วนของงานภาพต้องชมเลยว่าเต็มไปด้วยเทคนิคลูกเล่น จัดเต็มภาษาภาพยนตร์ แต่งแต้มด้วยแสงสว่าง-เงามืด ทิศทางมุมกล้อง จัดวางองค์ประกอบ รวมถึงรายละเอียด mise-en-scène มุ่งเน้นสร้างบรรยากาศสื่อแทนอารมณ์ สภาพจิตวิทยาตัวละคร และซ่อนเร้นนัยยะเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างลุ่มลึกซึ้ง
ขณะที่งานสร้างของหนังถือว่ามีความเป็นมหากาพย์ โปรดักชั่นสุดอลังการ เพราะต้องทำการออกแบบ ก่อสร้างฉากขนาดใหญ่ขึ้นในสตูดิโอที่ปักกิ่ง ไม่ใช่แค่โรงละครงิ้ว แต่ยังตึกรามบ้านช่อง ท้องถนนหนทาง รวมถึงหอนางโลม ฯลฯ เพราะสมัยนั้นแทบไม่หลงเหลือโบราณสถานยุคเก่าก่อน ถูกทุบทำลายแทบหมดสิ้นช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม
เกร็ด: ผู้กำกับเฉินข่ายเกอขอให้บิดาของตนเอง Chen Huai’ai มาเป็นผู้ดูแลในส่วนออกแบบงานศิลป์ (Art Direction)
อารัมบทและปัจฉิมบทของหนัง นำเสนอช่วงเวลา 20+ กว่าปีให้หลังจากการพบเจอกันครั้งสุดท้ายระหว่างเฉิงเตี๋ยอีและต้วนเสี่ยวโหลว นับจากช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) คาดว่าน่าจะปี 1990 เพราะช่วงท้ายมีการกล่าวถึงการแสดงอุปรากรจีนในโอกาสครบรอบ 200 ปี ของคณะการแสดง Anhui Opera Troupes
In Beijing, 1990, an opera performance was held to commemorate the 200th anniversary of Anhui Opera Troupes.
ช็อตแรกของหนัง เฉิงเตี๋ยอีและต้วนเสี่ยวโหลวเดินเคียงคู่เข้ามาทางประตู แสงสว่างด้านหลังสามารถสื่อถึงอดีตเคยยิ่งใหญ่ของการแสดงอุปรากรจีน พานผ่านโถงทางเดินที่ค่อยๆมืดครึ้มลงเรื่อยๆ สื่อถึงความเสื่อมถดถอยกระแสนิยมตามกาลเวลา กระทั่งก้าวมาถึงภายในสนามกีฬา ปิดประตู ทำให้ปกคลุมด้วยความมืดมิดชั่วขณะ (นี่สื่อถึงช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมอย่างแน่นอน!) แล้วสป็อตไลท์ก็สาดส่องมายังทั้งสอง นัยยะถึงการหวนกลับมาอยู่ในความสนใจของชนชาวจีนอีกครั้ง


เพื่อเป็นการย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้น ฤดูหนาวปี 1924 จึงมีการย้อมสีภาพซีเปีย ให้มีความเก่าแก่ โบร่ำราณ (ดูแล้วน่าจะทำในกระบวนการหลังถ่ายทำ เพราะมีการค่อยๆเฟดกลับสู่เฉดสีปกติในฉากถัดๆมา) ลักษณะคล้ายๆภาพยนตร์เรื่อง And the Ship Sails On (1983) ของผู้กำกับ Federico Fellini … น่าจะเป็นความบังเอิญมากกว่านะครับ เพราะออกฉายปีเดียวกัน
เด็กชายซือโถวจะมีการแสดงหนึ่ง นำก้อนหินทุบศีรษะ เป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ถึงความดื้อรั้น ไม่พึงพอใจ ต้องการทำลายบางสิ่งอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจ (หรือจะมองแค่ว่าเป็นความบ้าพลังของตัวละคร สะท้อนภาพลักษณ์ของเซี่ยงอี่/ฌ้อปาอ๋อง) แต่ช่วงท้ายเมื่อถูกควบคุมตัวโดยยุวชนแดง หินก้อนอันนั้นกลับไม่สามารถทุบทำลาย ทำให้ศีรษะแตก เลือดไหลอาบลงใบหน้า (สื่อถึงการไม่สามารถต่อกรเอาชนะความเปลี่ยนแปลงในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม)

นิ้วที่หกของโตวจื่อ คือส่วนเกินที่ทำให้เขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมคณะการแสดงงิ้ว ด้วยเหตุนี้มารดา(ที่เป็นโสเภณี)เลยทำการหั่นทิ้ง แบบเดียวกับที่เธอกำลังจะทอดทิ้งบุตรชาย เพราะไม่สามารถเลี้ยงดูแลให้เติบโตในซ่องโสเภณี … นัยยะนี้น่าจะสอดคล้องแนวคิดในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม อะไรที่เป็นส่วนเกิน ไร้ความสำคัญ จักถูกกำจัด ทำลายล้าง เลือกเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตส่วนรวมเท่านั้น!
ไดเรคชั่นของฉากนี้มานิ่งๆแบบคาดไม่ถึง มารดาลากพาบุตรชายมายังเขียง แล้วเอาผ้าคลุมปิดหน้า จากนั้นใช้มีดตัดฉับ! โดยไม่ทันรับรู้อะไรทั่งนั้น ก่อนที่ความเจ็บปวดจะถาโถมเข้าใส่อย่างรุนแรง … นัยยะของไดเรคชั่นดังกล่าว สะท้อนถึงวิธีปฏิบัติของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ชอบออกคำสั่งโดยไม่เคยสนฟังเสียงประชาชน เรียกร้องให้ทุกคนปิดหูปิดตายินยอมรับโชคชะตากรรม ก่อนหายยะจักบังเกิดติดตามมาโดยไม่รู้ตัวหลังจากนั้น

เด็กชายโตวจื่อเมื่อถูกมารดาทอดทิ้ง ขายต่อให้คณะการแสดงแห่งนี้ จึงคือสถานที่แห่งเดียวที่เขาสามารถพักอยู่อาศัย แต่บรรดาเด็กๆต่างไม่มีใครยินยอมรับ เขาจึงถอดเสื้อคลุมนำมาเผาไฟ เพื่อทำลายอดีต ตัวตน … นี่คือการนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ของผู้กำกับเฉินข่ายเกอ เพื่ออธิบายหนึ่งในสาเหตุผลเข้าร่วมคณะยุวชนแดง เพราะต้องการพิสูจน์ตนเองให้ได้รับการยินยอมรับจากสังคม!
นี่เป็นฉากที่ล้อกับไคลน์แม็กซ์ของหนัง เด็กๆต่างจับจ้องมองการลุกไหม้ของเสื้อคลุม ไม่ต่างจากคณะยุวชนแดงที่ยืนห้อมล้อมรอบกองไฟ ส่งเสียงเรียกร้องให้โตวจื่อ/เฉิงเตี๋ยอี ทำการลบล้างอดีต เผาทำลายตัวตน
- ความที่โตวจื่อยังเป็นเด็ก ยังไร้ประสีประสา ไม่ค่อยมีความเข้าใจต่อวิถีทางโลก แถมภายในเต็มไปด้วยความเกรี้ยวโกรธ (มารดาที่ทอดทิ้งตนเอง) จึงสามารถเผาทำลายทุกสิ่งอย่าง
- แต่สำหรับเฉิงเตี๋ยอีที่ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ พานผ่านอะไรๆมามาก เรียนรู้จักคุณค่าของละครงิ้ว ความทรงจำมิอาจลบลืมเลือนลาง จึงปฏิเสธเสียงขันแข็ง ไม่ยินยอมเผาทำลายอะไรสักอย่าง (แต่ก็ได้พบเห็นธาตุแท้จริงของบุคคลต่างๆมากมาย)

แม้เป็นเพียงประโยคพูดในบทละคร แต่เด็กชายโตวจื่อกลับไม่สามารถเอ่ยคำ ‘โดยกำเนิดฉันเป็นหญิง ไม่ใช่ชาย’ นั่นเพราะเขาไม่สามารถแยกแยะระหว่างชีวิตจริง-การแสดง หรือจะมองว่าคือความสับสนของอัตลักษณ์ทางเพศ
I am by nature a girl, not a boy
ประโยคพูดชวนสับสนดังกล่าว แฝงนัยยะถึงความไม่เข้าใจในตนเอง (หรือความครุ่นคิดที่ถูกบิดเบือน) ของผู้กำกับเฉินข่ายเกอ ต่อช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เพราะเขาทั้งรักทั้งเกลียดบิดา ตั้งแต่เด็กแทบไม่เคยมีเวลาให้ เลยต้องการเรียกร้องความสนใจ น่าจะคืออีกเหตุผลหนึ่งในการเข้าร่วมยุวชนแดง
นอกจากนี้เรายังสามารถตีความถึงผลกระทบจากเหตุการณ์การปฏิวัติทางวัฒนธรรม เพราะราวกับชนชาวจีนกำลังจะสูญเสียอดีต สิ่งที่ถือเป็น’อัตลักษณ์’ประจำชาติ
แซว: นี่เป็นช็อตที่ส้นตีนของโตวจื่อ (ขณะกำลังฝึกฝนให้ร่างกายมีความยืดหยุ่น) อยู่ตำแหน่งเดียวกับใบหน้าของทั้งเด็กชายและครูฝึก ชัดเจนมากๆเลยนะว่าต้องการสื่อถึงความส้นตีน –”

วันหนึ่งโตวจื่อ (และ Laizi) ตัดสินใจหลบหนีออกจากคณะการแสดง จับพลัดจับพลูได้รับชมการแสดงอุปรากรจีน พบเห็นความยิ่งใหญ่ เสียงปรบมือจากผู้ชมมากมาย สร้างความประทับใจให้เด็กๆทั้งสอง
- สำหรับโตวจื่อ นี่คือความประทับใจแรกที่ได้เห็นพบเห็นความงดงามของอุปรากรจีน จึงบังเกิดความมุ่งมั่นตั้งใจ ต่อจากนี้จักฝึกฝนตนเองให้กลายเป็นนักแสดง มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จให้จงได้
- ส่วน Laizi ถึงขนาดร่ำไห้ออกมา เพราะตระหนักว่ากว่าจะกลายเป็นนักแสดงประสบความสำเร็จระดับนั้น ต้องพานผ่านความเหน็ดเหนื่อย ทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสสักเพียงไหน
ผู้กำกับเฉินข่ายเกอระหว่างเข้าร่วมยุวชนแดง คงได้มีโอกาสพบเห็นศิลปะวัฒนธรรมที่ถูกทำลายล้างมากมาย จากเคยครุ่นคิดว่าเหล่านั้นก็แค่ของเก่า โบร่ำราณ เฉิ่มเชยล้าหลัง แต่เมื่อเริ่มสัมผัสถึงความงดงาม ตระหนักถึงความยากลำบากในการฝึกฝน ต้องอดรนทน กว่าจะพัฒนาตนเองจนมีทักษะ ความสามารถ ได้รับการยินยอมรับจากผู้คน … ฉากนี้เป็นการนำเสนอความประทับใจแรก ‘first impresstion’ ที่ทำให้ทัศนคติเกี่ยวกับการ ‘ทุบทำลายอดีต เพื่อสร้างอนาคตใหม่’ เริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้องสักเท่าไหร่
แซว: นี่ถือเป็นครั้งแรกของผู้ชมด้วยเช่นกัน ที่จะได้พบเห็นการแสดงละครงิ้ว เมื่อเวลาล่วงเลยมากว่า 20+ นาที (นี่ชวนให้ผมระลึกถึงภาพยนตร์หลายเรื่องๆที่พยายามยื้อยักฉากต่อสู้ ไม่เร่งรีบร้อยนำเสนอไฮไลท์ของหนัง เพื่อสร้างความเร่าร้อน กระตือรือล้น เมื่อไหร่จะได้รับชมสิ่งที่เป็นจุดขายสักที)


ไม่มีทางลัดสู่ความสำเร็จ! Laizi เมื่อตระหนักว่าตนเองกำลังจะต้องถูกทุบตีกระทำร้าย ทำให้ไม่สามารถอดรนทน ยินยอมรับความเจ็บปวดทางกาย อนาคตที่ก็ไม่รู้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ เขาเลยเอาลูกกวาดยัดใส่ปาก (คงคล้ายๆเอาเงินใส่ไว้ในปาก เพื่อเป็นค่าผ่านทางสูงยมโลก แต่สำหรับเด็กชายนั่นคือของโปรดที่สุดในชีวิต) แล้วตัดสินใจแขวนคอฆ่าตัวตาย
จะว่าไปฉากนี้ก็ล้อกับไคลน์แม็กซ์ของหนัง นางโลมจูเสียนเมื่อถูกประจานต่อหน้าสาธารณะ (ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม) และสามีพูดปฏิเสธความรัก ทำให้ไม่สามารถอดรนทน ยินยอมรับความเจ็บปวดทางจิตวิญญาณ เธอจึงตัดสินใจผูกคอตายฆ่าตัวตายในลักษณะคล้ายๆกัน

แม้เป็นแค่เพียงประโยคการแสดง โตวจื่อยังคงไม่สามารถพูดออกมาว่า ‘โดยกำเนิดฉันเป็นหญิง ไม่ใช่ชาย’ ซึ่งความดื้อรั้นกำลังจะทำให้คณะการแสดงของพวกเขาสูญเสียโอกาสในการขึ้นเวที ด้วยเหตุนี้ซือโถวจึงเอาเหล็กยัดใส่ปาก ใช้กำลังบีบบังคับจนเลือดไหลออกมา ถึงยินยอมพูดออกในสิ่งที่ใครต่อใครต่อการได้ยิน
ลักษณะการบีบบังคับดังกล่าวคือวิธีการของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ให้พูดบอกความจริง แต่เอ่ยกล่าวคือสิ่งที่พวกเขาอยากได้ยินออกมา (แม้มันจะเป็นคำโป้ปดหลอกลวง เล่นละคอนตบตาก็ตามที)

ความสมจริงในการขึ้นเวทีแสดงครั้งแรกของโตวจื่อ จนไม่สามารถแยกแยะออกว่าเขาคือชายหรือหญิง ทำให้ถูกเรียกตัวโดยขันทีจาง, Eunuch Zhang แม้ราชวงศ์ฉินล่มสลายไปแล้ว แต่ยังคงมีอำนาจบารมี ถึงสามารถบีบบังคับ ออกคำสั่ง ต้องการดื่มน้ำอมฤต ข่มขืนกระทำชำเราเด็กชาย โดยไม่มีผู้ใดสามารถขัดขืนต่อต้าน
ผมมองนัยยะฉากนี้ เหมารวมในเชิงสัญลักษณ์ถึงการสูญเสียความบริสุทธิ์ (ครั้งแรกที่ได้ขึ้นเวที = ครั้งแรกที่มีเพศสัมพันธ์), ขณะเดียวกันยังสามารถสื่อถึงการใช้อำนาจด้วยการบีบบังคับ (ของทั้งระบอบกษัตริย์ และพรรคคอมมิวนิสต์) เพื่อสนองตัณหา ความต้องการส่วนตน กระทำการขืนใจผู้อื่น โดยไม่สนว่าใครจะยินยอมรับหรือไม่
สำหรับการปัสสาวะใส่โถแก้ว ผมขบคิดไม่ออกว่าจะสื่อถึงอะไร แต่เมื่อมองปฏิกิริยาของขันทีตัณหากลับคนนั้น มีสีหน้าเคลิบเคลิ้ม หลงใหล บังเกิดอารมณ์ทางเพศอย่างรุนแรง นั่นสามารถสะท้อนถึงช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ที่ไม่ว่าบรรดาเหล่ายุวแดงจะกระทำสิ่งชั่วร้ายอะไร ท่านประธานเหมาเจ๋อตุงก็บังเกิดความพึงพอใจ ยินยอมรับได้ทุกสิ่งอย่าง
แม้เป็นฉากที่มีความล่อแหลม ต้องห้าม แต่ก็ต้องชมความงดงามในการสร้างบรรยากาศ ควันจากกำยาน ทำให้แสงสีน้ำตาล-เหลืองดูฟุ้งๆ คละคลุ้งไปทั่วห้อง รวมถึงภาพวาดงานศิลปะด้านหลังตัวละคร (ทางฝั่งของโตวจื่อ น่าจะคือหญิงสาวโสเภณี) และช็อตสุดท้ายของฉากนี้ กล้องเคลื่อนเข้าหาภาพวาดเหนือเตียง (นางสนมกำลังเปลือยกายอาบน้ำ มีสองคนรับใช้อยู่เคียงข้าง) สื่อถึงการมีเพศสัมพันธ์กระมัง (แต่ก็ไม่รู้เอากันยังไงนะระหว่างเด็กชาย vs. ขันที)


สภาพของโต่วจื่อ (หลังถูกข่มขืนกระทำชำเรา) แม้เต็มไปด้วยความสิ้นหวัง เจ็บปวดรวดร้าวทั้งร่างกายจิตใจ แต่เมื่อพบเห็นเด็กทารกที่ถูกทอดทิ้งไว้ (มุมกล้องเงยขึ้นถ่ายติดหลังคา/ท้องฟ้า พร้อมเสียงระฆังดังมาเป็นระยะๆ มันราวกับสวรรค์ส่งลงมา … แต่ความเป็นจริงน่าจะนรกส่งมาเกิดมากกว่า) ราวกับพบเห็นประกายแห่งความหวัง จุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ เลยตัดสินใจรับเลี้ยงดูแล และตั้งชื่อว่า Xiaosi

เมื่อจบจากเรื่องราวสมัยวัยเด็ก หนังก็ทำการ Time Skip กระโดดข้ามมาเมื่อครั้นโต่วจื่อและซือโถว เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ใช้ชื่อในวงการเฉิงเตี๋ยอีและต้วนเสี่ยวโหลว กระทั่งก้าวมาถึงจุดสูงสุดในอาชีพการแสดง มีผู้คนมากมายมาต่อแถวให้การต้อนรับ (รวมถึงบรรดาสมาชิก/ทหารจากพรรคก๊กมินตั๋น ช่วงระหว่างสงครามกลางเมืองจีนครึ่งแรก) สามารถเติมเต็มภาพความเพ้อฝันที่เคยพบเห็น ได้อย่างรวดเร็วไวเกิ้น!
ตั้งแต่ก้าวออกจากสตูดิโอถ่ายภาพ นั่งรถลาก ‘long take’ มาถึงโรงละคอนแห่งนี้ ต้องถือว่าเป็นฉากที่มีความอลังการใหญ่โต เพราะอาคารบ้านช่องล้วนต้องก่อร่างสร้างขึ้นใหม่ (ไม่น่าจะมีสถานที่แห่งนี้หลงเหลือในปักกิ่งแล้วมั้ง) ตัวประกอบก็น่าจะหลักพัน ไหนจะเสื้อผ้า แต่งหน้าทำผม สิ่งข้าวของเครื่องใช้ ฯลฯ

หยวนซื่อเยี๋ย เป็นตัวละครที่มีความลึกลับ (ภาพแรกของเขา ใบหน้าอยู่ท่ามกลางความมืดมิด) มักพูดถ้อยคำเหมือนนักปราชญ์ หลงใหลความงดงามในศาสตร์ศิลป์ (เป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะ, Art Patrons) โดยเฉพาะการแสดงของเฉิงเตี๋ยอี สมจริงจนไม่สามารถแยกแยะชาย-หญิง จึงต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ พร้อมส่งเสริมสนับสนุนทุกสิ่งอย่าง
จะว่าไปพฤติกรรมของตัวละครนี้ไม่ต่างจากขันทีจางที่กระทำชำเราเด็กชายโต่วจื่อ (เติมเต็มตัณหาทางร่างกาย) แตกต่างตรงหยวนซื่อเยี๋ยไม่ได้บีบบังคับ ใช้ความรุนแรง ตรงกันข้ามพยายามปรนเปรอ เอ็นดูทะนุถนอม มอบสิ่งข้าวของเพื่อล่อซื้อใจ (เติมเต็มความต้องการทางจิตวิญญาณ)

ภายหลังการแสดงสิ้นสุด หยวนซื่อเยี๋ยเข้ามาแสดงความยินดีต่อสองนักแสดงยังห้องแห่งตัว ให้สังเกตหลายๆช็อตในฉากนี้จะพบเห็นภาพสะท้อนในกระจก แทบทั้งหมดจะคือเฉิงเตี๋ยอี (หรือพูดให้ถูกคืออวี้จี่อัน/นางสนมหยูจี เพราะยังไม่ได้ล้างเครื่องแต่งหน้าจากใบหน้า) เพื่อสื่อถึงความสนใจแท้จริงของชายคนนี้ คือบทบาท ตัวละคร ไม่ใช่ชีวิตจริง/เรื่องส่วนตัวของพวกเขา
และมันจะมีมีวินาทีที่หยวนซื่อเยี๋ยหันไปมองกระจกบานใหญ่ด้านหลัง จับจ้องมองภาพสะท้อนของเฉิงเตี๋ยอี แล้วเอานิ้วโป้งสัมผัสริมฝีปากตัวเอง นั่นคือพฤติกรรมหื่นกระหาย ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของอีกฝั่งฝ่าย … นี่เป็นช็อตที่หลอกตาผู้ชมเอามากๆ ลองเปรียบเทียบหาความแตกต่างของสองภาพนี้ดูนะครับ


ระหว่างที่หยวนซื่อเยี๋ยกำลังเพลิดเพลินเริงอารมณ์ต่อการเชยชมเฉิงเตี๋ยอี ก็ถูกต้วนเสี่ยวโหลวสร้างความน่ารำคาญด้วยการทำโน่นนี่นั่น ยืนบดบังภาพสะท้อนในกระจก ขัดขวางระหว่างกำลังสนทนา ส่งเสียงออกมาอย่างไร้มารยาท แถมยังแสดงความต่ำทรามด้วยพูดบอกกำลังเตรียมตัวไปท่องเที่ยวหอนางโลม … สองตัวละครนี้ช่างแตกต่างตรงกันข้ามเสียจริง!

ผมอ่านเจอในเกร็ดหนังว่า ผู้กำกับเฉินข่ายเกอทำการมอมเหล้ากงลี่ (ก็ไม่เชิงว่ามอมหรอก แค่ให้กรึ่มๆ) เพื่อเกิดความกล้ากระโดดลงมาจากชั้นสามด้วยตนเอง (แต่ข้างล่างก็มีผ้าใบรองรับนะครับ เล่นมุมกล้องกันซะขนาดนี้)

หลังจากรับชมการแสดงของต้วนเสี่ยวโหลว นางโลมจูเสียนจึงตัดสินใจไถ่ถอนตนเองกับแม่เล้า ด้วยการทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง แก้วแหวนเงินทอง ถอดเครื่องประดับกำไล สร้อยคอ ติ่งหู แม้แต่รองเท้าคู่ที่สวมใส่ จนแทบไม่หลงเหลืออะไรติดตัว ก่อนเข้าไปหาว่าสามีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์จริงใจ ต่อจากนี้พร้อมจะอุทิศชีวิตให้ทุกสิ่งอย่าง
การแสดงออกของจูเสียน สื่อถึงความต้องการลบล้างอดีต ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง แล้วสร้างอัตลักษณืขึ้นใหม่ (คล้ายๆกับแนวคิดของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ‘ทุบทำลายอดีต เพื่อสร้างโลกใหม่’) แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถแก้ไขความจริง อดีตเคยเป็นโสเภณี ทำให้เมื่อถูกประจานต่อหน้าสาธารณะ (ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม) คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอไม่สามารถยินยอมรับความจริง เลยกระทำการอัตวินิบาต … การตีความแง่มุมนี้ของตัวละคร แสดงให้เห็นว่าต่อให้เราพยายามบิดเบือน ต้องการลืมเลือน ลบล้างอดีตเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ก็ไม่มีทางจะหลบหนีพ้นความจริงได้พ้น สักวันมันจะหวนกลับมาหลอกหลอน กัดกร่อนกินจิตวิญญาณจากทรวงใน
แซว: คำพูดของแม่เล้าไม่ผิดเลยนะครับ! แม้ว่าจูเสียนจะไม่ได้หวนกลับมาเป็นโสเภณี แต่เพราะการเคยประกอบอาชีพนี้มันเลยติดตามมาหลอกหลอนจนวันตาย
You think you’ll become a lady of virtue? Wake up!
You think you can get away with your past?
You think the wolves and tigers won’t recognize your scent anymore?
Let me tell you something. Once a whore, always a whore.

การแต่งหน้า/ล้างหน้า สามารถตีความถึงการสร้างภาพ สวมบทบาท กลายเป็นบุคคลอื่น (หรือหวนกลับมาเป็นตนเอง) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเฉิงเตี๋ยอีจะเป็นคนแต่งให้ต้วนเสี่ยวโหลว (เพราะเลสลี่ จาง ร่ำเรียนการแต่งหน้างิ้วเพื่อบทบาทนี้โดยเฉพาะ!) สื่อถึงความรัก การดูแลเอาใจใส่ ให้ความช่วยเหลือ พึ่งพาสนับสนุนกันและกัน จนกระทั่งการมาถึงของจูเสี่ยน พวกเขาต่างหันหลังให้กัน ยัยนั่นก็เคยพยายามแต่งหน้าให้สามี (แต่ไม่ได้มีความสามารถด้านนี้) และการมาถึงของช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม ก่อนถูกประจานต่อหน้าสาธารณะ นั่นคือครั้งสุดท้ายที่เฉิงเตี๋ยอีอาสาแต่งหน้าให้ชายคนรัก

เฉิงเตี๋ยอีกับนางโลมจูเสียน เป็นคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อกันมากๆ แค่มองตาก็รู้จักธาตุแท้ตัวตน ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ ฝ่ายหนึ่งมีความโดดเด่นด้านการแสดงบนเวที (เฉิงเตี๋ยอียังแต่งหน้าทำผม สวมชุดเครื่องประดับเต็มยศ) ส่วนอีกฝั่งฝ่ายก็ชอบเล่นละคอนตบตาในชีวิตจริง (แสร้งว่าไม่มีอะไรติดตัวมาสักสิ่งอย่าง) แถมทั้งสองมีเป้าหมายเดียวกัน ต้องการได้รับความรัก/พึ่งพักพิงจากต้วนเสี่ยวโหลว

ผมละยอมใจหยวนซื่อเยี๋ยเลยนะ สรรหาสิ่งข้าวของเลิศเลอค่าเพื่อนำมาปรนเปรอเฉิงเตี๋ยอี พยายามเข้าหาในช่วงเวลาที่เขามีสภาพจิตใจห่อเหี่ยว ต้องการให้คำแนะนำ กำลังใจ ซึ่งเจ้าสิ่งนี้ทำงานขนนกยูง สัตว์สัญลักษณ์ของความงาม ชนชั้นสูง เป็นการบอกว่าอย่าลดคุณค่าของตนเองด้วยการไปกลิ้งเกลือกกับคนชั้นต่ำเหล่านั้น
สังเกตภาพช็อตนี้ต่างสะท้อน (ใบหน้าของเฉิงเตี๋ยอี) และสะท้อน (ใบหน้าของหยวนซื่อเยี๋ย) ผ่านกระจกสองบาน ใครอยากครุ่นคิดก็ไปไล่ระดับการมองของตัวละครเอาเองนะครับ

ตั้งแต่ภาพพื้นหลัง Opening Credit มาจนถึงการล้อเล่นของของเฉิงเตี๋ยอี นี่เป็นการบอกใบ้สิ่งอาจเกิดขึ้นตอนจบได้อย่างแนบเนียนมากๆ ซึ่งเจ้าดาบอันนี้มีการอ้างว่าเป็นของกษัตริย์ราชวงศ์ฉู่ (Chu King หรือก็คือฌ้อปาอ๋อง) อยู่ในการครอบครองของขันทีจาง จากนั่นตกมาถึงมือหยวนซื่อเยี๋ย แล้วก็เวียนวนไปเรื่อยๆระหว่างเฉิงเตี๋ยอีและต้วนเสี่ยวโหลว
เหตุผลของเฉิงเตี๋ยอีครั้งนี้ เหมือนแค่ต้องการประชดรัก เพราะต้วนเสี่ยวโหลวเพิ่งประกาศหมั้นหมายกับนางโลมจูเสียน กำลังจะทอดทิ้งให้เขาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย ผิดคำสัญญาที่เคยมีให้ไว้ แตกต่างจากนัยยะตอนจบ … (เดี๋ยวไว้อธิบายเมื่อตอนนั้นนะครับ)


ขณะที่ต้วนเสี่ยวโหลวกำลังมึนเมาในชีวิตจริง หลังประกาศหมั้นหมายกับจูเสียน เฉิงเตี๋ยอีเข้าฉากการแสดงที่ตัวละครกำลังจะดื่มเหล้า มึนเมา แล้วหมุนวนรอบตัว 360 องศา จนล้มฟุบลงคาพื้น เรียกเสียงปรบมือทั้งจากผู้ชมชาวจีนและทหารญี่ปุ่น ประทับใจการแสดงอย่างล้นหลาม
หนังพยายามชี้นำอย่างมากว่า การมาถึงของจูเสียน = กองทัพทหารญี่ปุ่นกรีธาเข้ามาในกรุงปั่กกิ่ง อันเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกระหว่างเฉิงเตี๋ยอีกับต้วนเสี่ยวโหลว รวมถึงความขัดแย้งภายในประเทศจีนขณะนั้นด้วยนะครับ (ระหว่างคอมมิวนิสต์ กับพรรคก๊กมินตั๋น)

เมื่อทราบข่าวว่าต้วนเสี่ยวโหลวถูกจับกุมตัว แลกเปลี่ยนกับเฉิงเตี๋ยอียินยอมทำการแสดงต่อหน้าทหารญี่ปุ่น ในตอนแรกก็รีบแจ้นกำลังจะออกเดินทางไปให้การช่วยเหลือ แต่การมาถึงของจูเสียนทำให้เขาหยุดยับยั้งชั่วใจ แสดงอาการเล่นแง่เล่นงอน แสร้งทำเป็นกำลังขัดเช็ดเครื่องประดับ เฝ้ารอคอยว่ายัยนั่นจะพูดพร่ำอะไรออกมา

การแสดงให้ทหารญี่ปุ่น เริ่มต้นเห็นเพียงเงา (Silhouette) ถ่ายจากภายนอกห้องโถงการแสดง แสงสีน้ำเงินมอบสัมผัสหนาวเหน็บยามค่ำคืน กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลทิศทางแนวนอน แต่เมื่อถ่ายภายในกลับมีลักษณะตรงกันข้าม แสงสีส้มแทนความอบอุ่น มุมกล้องตัดสลับไปมา ไม่จำกัดตำแหน่ง/ทิศทางอีกต่อไป
คนสมัยนั้นมักครุ่นคิดว่าการแสดงให้ต่างชาติคือความอัปยศ คิดคดทรยศหักหลัง แต่การนำเสนอของหนังเหมือนต้องการสะท้อนสองมุมมอง
- มองจากภายนอกย่อมครุ่นคิดอย่างที่อธิบายไป เป็นสิ่งไม่ถูกต้องเหมาะสม คือการกระทำอัปยศ ทรยศหักหลังประเทศชาติ มอบความรู้สึกหนาวเหน็บ เยือกเย็นชา
- แต่สำหรับทหารญี่ปุ่นที่ได้รับเชยชมการแสดงนี้ ต่างปรบมืออย่างพึงพอใจ ให้การตอบรับอย่างอบอุ่น ไม่ใช่เพราะพวกเขาได้รับชัยชนะสงคราม แต่พบเห็นความงดงามของศิลปะวัฒนธรรม (กลายเป็นต่างชาติที่มองเห็นคุณค่าของการแสดงนี้มากกว่าชาวจีนด้วยกันแท้ๆเสียอีก!)
และสังเกตว่าเฉิงเตี๋ยอีไม่ได้แต่งองค์ทรงเครื่องใดๆ สามารถมองว่าการให้ความช่วยเหลือต้วนเสี่ยวโหลว มาจากความต้องการแท้จริง ไม่ใช่เสแสร้งสร้างภาพ เล่นละคอนตบตาประการใด


หลายคนอาจไม่ได้เอะใจช็อตนี้ เพราะหนังไม่ได้พูดกล่าวถึง หรืออธิบายเหตุการณ์ใดๆบังเกิดขึ้น นำเสนอพานผ่านสายตาของเฉิงเตี๋ยอี หลังให้ความช่วยเหลือชายคนรัก แต่กลับถูกตบหน้า ปล่อยทอดทิ้ง เห็นท่าไม่ดีเลยวิ่งหลบหนี … การมาถึงของฉากนี้ เหมือนต้องการบอกว่าถ้าต้วนเสี่ยวโหลวไม่ได้รับการช่วยเหลือได้ทัน ก็อาจประสบโชคชะตากรรมเดียวกับชาวจีนหัวกบฎกลุ่มนี้ ถูกทหารญี่ปุ่นกราดยิงเสียชีวิต

เต่า ตัวแทนของความยั่งยืน แข็งแรง อดทน และมีเกราะป้องกันอันตราย ถือเป็นหนึ่งในสัตว์มงคลของชาวจีน การได้ดื่มเลือดหรือรับประทานเนื้อเต่า ก็มีความเชื่อว่าจักทำให้อายุยืนยาว สุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด … คาดว่าน่าจะเป็นเต่าจริงๆนะครับ ยื่นงับเหยื่อ เลยถูกเชือดคอ คงเป็นกลยุทธ์หลอกล่อของชาวจีน (แสดงว่าเต่ามันก็ไม่ได้เฉลียวฉลาดปานนั้นนะ)
ในสายตาของหยวนซื่อเยี๋ย การปรนเปรอเฉิงเตี๋ยอีด้วยเลือดเต่า คงต้องการให้เขามีความยั่งยืน จิตใจเข้มแข็งแกร่ง ไม่ต้องไปหวาดหวั่นต่อจักรพรรดิที่ต้องการหลบหนีนางสนม
แต่สำหรับเฉิงเตี๋ยอี การพบเห็นเต่าถูกเชือดได้สร้างความสั่นพ้องให้ตนเอง (เพราะตอนจบเขาก็จะเชือดคอฆ่าตัวตายไม่ต่างกัน) มันคือความเจ็บปวดทางจิตวิญญาณ เพราะกำลังจะสูญเสียชายคนรักให้กับยัยนั่นที่ไม่ยินยอมทำตามคำมั่นสัญญา แถมกำลังจะแต่งงานร่วมห้องหอ เลยเป็นเหตุให้เขาเริ่มหันไปพึ่งพาการเสพฝิ่น

ผู้กำกับเฉินข่ายเกอขอให้จางเฟิงอี้ถกกางเกง เปลือยก้น ถูกเฆี่ยนตีแบบไม่มีแสตนอิน แม้เจ้าตัวจะยินยอมแต่ไม่อนุญาตให้หญิงสาวอายุน้อยกว่า 40 เข้ามาอยู่ในฉากระหว่างถ่ายทำ ขณะที่เลสลี่ จาง พยายามอย่างยิ่งในการอดกลั้น สั่งคัทเมื่อไหร่ก็ไม่สามารถควบคุมตนเอง ปรบมือ หัวเราะลั่น จนน้ำตาเล็ดไหลหลั่ง

ความแตกต่างระหว่างตอนจูเสียนตั้งครรภ์ vs. แท้งบุตรหลังถูกกระทำร้ายโดยทหารญี่ปุ่น ช่างมีความแตกต่างตรงกันข้าม กลางวัน-กลางคืน บรรยากาศอบอุ่น-แห้งแล้ง สิ่งข้าวของเต็มโต๊ะเครื่องแป้ง-หลงเหลือเพียงเครื่องใช้จำเป็น ชุดสีขาว-ดำของต้วนเสี่ยวโหลวก็เฉกเช่นกัน
แซว: กงลี่นี่เป็นเจ้าแม่แห่งการตั้งครรภ์เสียจริงนะ! รับชมมาตั้งแต่ Red Sorghum (1988) ก็ท้องทุกเรื่องเลยอ่ะ! (ทั้งจริง-ทั้งหลอก)


ทหารญี่ปุ่นพยายามก่อกวนการแสดง สร้างความไม่พึงพอใจต่อต้วนเสี่ยวโหลว แต่บทเรียนถูกจับคราก่อนเลยต้องอดทนฝืนกัน ออกมาพูดร้องขอให้หยุดการกระทำไร้มารยาท แต่นั่นเองกลับสร้างความไม่พึงพอใจให้ทหารญี่ปุ่น ลุกฮือกันขึ้นมาทำลายสิ่งข้าวของจนมีสภาพเละเทะ และเป็นเหตุให้จูเสียนสูญเสียบุตรในครรภ์
เราสามารถเปรียบเทียบโรงละครแห่งนี้กับจีนแผ่นดินใหญ่ ถูกกองทัพญี่ปุ่นเข้ามารุกราน สร้างความรำคาญในช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (1937-45) ผลลัพท์ก็มีสภาพอย่างที่เห็น เต็มไปด้วยสิ่งข้าวของพังทลาย กระจัดกระจาย
ซึ่งหลังจากความวุ่นวาย/สงครามสิ้นสุด เฉิงเตี๋ยอีก็โดนจับกุมตัวโดยทันที เพราะเคยทำการแสดงต่อหน้าทหารญี่ปุ่น เลยถูกตีตราว่าเป็นคนขายชาติ!

ต้วนเสี่ยวโหลวร้องขอความช่วยเหลือจากหยวนซื่อเยี๋ย แต่สภาพของเขาตอนนี้ก็ไม่ต่างจากนกในกรง ไม่สามารถหลบหนี ดิ้นหลุดพ้น เอาตัวเองยังแทบไม่รอด เลยโต้ตอบกลับอย่างเยือกเย็นชา แสร้งทำไม่ยี่หร่าต่อคำร้องขอ จนกระทั่งการมาถึงของจูเสียนนำดาบกษัตริย์ราชวงศ์ฉู่ (Chu King หรือก็คือฌ้อปาอ๋อง) มาแบล็กเมล์ได้สำเร็จ … ประมาณว่าถ้าไม่ให้การช่วยเหลือ เธอจะบอกกับนักข่าวว่าใครคือผู้เบื้องหลัง/ให้คำแนะนำเฉิงเตี๋ยอีทำการแสดงต่อหน้าทหารญี่ปุ่น

แม้ว่าเฉิงเตี๋ยอีจะปฏิเสธการช่วยเหลือของหยวนซื่อเยี๋ย แต่เขาก็ได้รับการอภัยโทษจากผู้มีตำแหน่งระดับสูง เพื่อโอกาสได้รับชมการแสดง … แต่ชุดนี้ไม่ใช่ Farewell My Concubine นะครับ (เพราะจักรพรรดิไม่อยู่) ในหนังขึ้นข้อความไว้ว่าศาลาดอกโบตั๋น, The Peony Pavilion (ค.ศ. 1598) บทละครประเภทโรแมนติก ครึ่งโศกครึ่งขัน (Tragicomedy) ประพันธ์โดยถังเสี่ยนซู (ค.ศ. 1550-1616) ในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) นำเสนอเรื่องราวความรักระหว่างลูกสาวข้าราชการร่ำรวยสูงศักดิ์ และบัณฑิตหนุ่มมากพรสวรรค์แต่ฐานะยากจน ที่ต้องต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรค เพื่อให้ได้รับการยินยอมรับ จัดเป็นอุปรากรประเภทคุนฉวี่ (Kunqu Opera) แสดงได้ทั้งหญิง-ชาย หรือสลับเพศก็ยังได้
เกร็ด: งิ้วคุนฉวี่ คือหนึ่งในสามอุปรากรจีน ที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก มีความเก่าแก่กว่างิ้วปักกิ่ง (Beijing Opera) และงิ้วกวางตุ้ง (Cantonese Opera)

มุมกล้องถ่ายผ่านผ้าม่านปักลายเหมือนปลาในตู้ (ช็อตที่ถ่ายตู้ปลาทองก็มีนะครับ) ต่างเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่แหวกว่าย ตะเกียกตะกาย จมปลักอยู่กับเสพติดฝิ่นอย่างหนักของเฉิงเตี๋ยอี (เพราะความโหยหาต้วนเสี่ยวโหลว อยากให้เขามาอยู่เคียงข้าง ซึ่งจะมองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจอย่างหนึ่งก็ได้) จนน้ำเสียงแหบแห้ง ไร้พละกำลังเรี่ยวแรง จนแทบไม่สามารถขึ้นแสดงบนเวที อนาคตช่างขุนหมองหม่น มองไม่เห็นความสว่างสดใส
ปลาทอง เป็นสัตว์น้ำที่แทบไม่ได้มีประโยชน์อะไรอย่างนอกจากมีเพียงความสวยงาม นั่นคือสภาพของเฉิงเตี๋ยอีช่วงขณะนี้ที่ไม่สามารถทำอะไรอย่างอื่นนอกจากเสพฝิ่นติดยา ควันฟุ้งๆ น้ำขุ่นๆ ผ้าม่านมัวๆ สภาพภายในจิตใจของเขาก็คงประมาณนี้แหละ

ไม่ได้เจอพบหน้ากันหลายปี ต้วนเสี่ยวโหลวเป็นพ่อค้าขายแตงโมอยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านของเฉิงเตี๋ยอี จึงมีโอกาสพูดคุยสนทนา หวนรำลึกความหลัง วิพากย์วิจารณ์ความขัดแย้งภายในประเทศระหว่างคอมมิวนิสต์ vs. พรรคก๊กมินตั๋น ในช่วงรุ่งอรุณสงครามกลางเมืองจีนครึ่งหลัง (1945-49)
และช็อตนี้มีตัวละครคาดถึงนั่นคือขันทีจาง จากเคยอาศัยอยู่ในคฤหาสถ์หลังใหญ่ รายล้อมรอบด้วยข้าราชบริพาร แสดงความมักมากในกามคุณ ปัจจุบันตกอับกลายเป็นพ่อค้าขายบุหรี่ แถมต้องแสร้งว่าทำเป็นคนบ้า ราวกับกฎแห่งกรรมที่เคยกระทำบางสิ่งอย่างไว้กับเฉิงเตี๋ยอี … แต่เหมือนเขาจะไม่ได้รังเกียจต่อต้าน ดูสงสารเห็นใจ น่าสมเพศเวทนามากกว่า
สิ่งที่เกิดขึ้นกับขันทีจาง สะท้อนอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต้องการทำลายระบอบศักดินา ฉุดคร่าชนชั้นขุนนาง/ชนชั้นสูง ให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกับประชาชนรากหญ้า และนี่ก็คือสภาพของเขาที่ไม่หลงเหลืออะไร เพียงหาเช้ากินค่ำไปวันๆ แสร้งว่าเป็นคนบ้าเพื่อจะไม่กลายเป็นที่สนใจของผู้ใด

เรื่องราวขณะนี้อยู่ในช่วงสงครามกลางเมืองจีนครึ่งหลัง (1945-49) ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าหยวนซื่อเยี๋ยกระทำผิดข้อหาอะไร (หนังไม่ได้มีการพูดบอกออกมาตรงๆ แต่ถ้าเป็นชาวจีนที่พานผ่านช่วงเวลาดังกล่าว ก็น่าจะเข้าใจได้โดยอัตโนมัติ) คาดคิดว่าพี่แกคงสนับสนุนฝักใฝ่พรรคก๊กมินตั๋น เพราะนี่เป็นการพิจารณาไต่สวนของฝั่งคอมมิวนิสต์ (มีภาพของท่านประธานเหมาเจ๋อตุง ตระง่านอยู่เบื้องหลัง) ที่กำลังถูกขับไล่จนต้องหลบหนีออกจากจีนแผ่นดินใหญ่
แซว: ภาพท่านประธานเหม๋า จะว่าไปมีขนาดใหญ่กว่าใบหน้าประชาชนเสียอีก (แสดงถึงอิทธิพล ความยิ่งใหญ่กว่าปวงชน) แต่หนังกลับทำให้ความมืดพาดทับ จนมองเห็นไม่ค่อยชัดนัก นี่ย่อมเป็นความจงใจของผู้กำกับเฉินข่ายเกออย่างแน่นอนนะครับ!

เลสลี่ จาง แม้นิสัยง่ายๆ เป็นกันเอง แต่ก็ทุ่มเทให้กับบทบาทการแสดงมากๆ ฉากระหว่างตัวละครกำลังลงแดง (เพื่อเลิกเสพฝิ่น) ผู้กำกับพึงพอใจตั้งแต่เทคแรกๆ แต่เจ้าตัวบอกว่ายังไม่สาแก่ใจ ถ่ายทำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกระทั่งมือทุบกระจกแตก เลือดไหลอาบ ถึงค่อยสงบสติอารมณ์ลงได้ (ท่ามกลางความเป็นห่วงเป็นใยของทีมงาน กลัวว่าจะได้รับบาดเจ็บรุนแรง)
แซว: โดยปกติแล้วช็อตลักษณะนี้ มันสื่อถึงความสัมพันธ์ที่แตกหัก แต่สองหนุ่มกลับสามารถปรับความเข้าใจ ต้วนเสี่ยวโหลวให้ความช่วยเหลือเฉิงเตี๋ยอีพานผ่านอีกช่วงเวลาอันเลวร้าย แต่มันก็ไม่ได้ยั่งยืนยาวสักเท่าไหร่หรอกนะ

ฉากนี้คือการล้อมวงสนทนา แสดงความคิดเห็นถึงการละคอนรูปแบบใหม่ ซึ่งมีความแตกต่างจากอุปรากรจีน จะสามารถนำมาปรับประยุกต์ ผสมผสานเข้ากันได้หรือไม่?
- เฉิงเตี๋ยอี แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง มองว่าการแสดงละครงิ้วต้องยึดตามรูปแบบหลักการ วิถีที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา นักแสดงต้องฝึกฝน อดรนทน สะสมประสบการณ์ ถูกเฆี่ยนตีนับครั้งไม่ถ้วนถึงมีโอกาสประสบความสำเร็จในภายภาคหน้า
- ต้วนเสี่ยวโหลว ไม่พยายามแสดงความคิดเห็นใดๆให้ปวดหัว เพียงบอกว่าการแสดงอุปรากรแบบดั้งเดิม ควรเรียกว่างิ้วปักกิ่ง (Beijing Opera) แค่นั้นละ
- ขณะที่ผู้จัดการยืนขึ้น แล้วให้การสนับสนุน เลือกข้างเด็กรุ่นใหม่ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไป (เปิดการแสดงที่สามารถทำเงินให้ตนเอง ในมุมมองนักธุรกิจก็สนเพียงแค่นี้แหละ)
ปล. การแสดงความคิดเห็นไม่มีถูกผิดนะครับ มันคือมุมมองส่วนบุคคล แต่บริทางสังคมขณะนั้นๆ จะให้ค่าคำตอบของแต่ละคนแตกต่างกันไป ซึ่งในช่วงของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เหตุผลของเฉิงเตี๋ยอีและต้วนเสี่ยวโหลว ล้วนเป็นปรปักษ์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างรุนแรง!

นี่เป็นฉากที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง ล้อกับตอนต้นเรื่องที่เด็กชายโตวจื่อและซือโถว ต้องผ่านการฝึกฝน อดรนทนทุกข์ยากลำบาก กว่าจะสามารถไต่เต้ามาถึงจุดสูงสุด ‘ไม่มีทางลัดสำหรับความสำเร็จ’ แต่คนรุ่นใหม่ Xiaosi กลับสนเพียงมองหาหนทางลัด ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องฝึกฝน ไม่ต้องอดรนทน แล้วมันจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร? และต่อให้ไปถึงจุดนั้น มันจะมีความน่าภาคภูมิใจสักเท่าไหร่กัน?
ความขัดแย้งระหว่างคนสองรุ่น สองยุคสมัย สะท้อนถึงโลกทัศน์/ค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนรุ่นเก่าจะปรับตัว ส่วนคนรุ่นใหม่ก็สนเพียงมองไปข้างหน้า เอาความสะดวกสบายของตนเป็นที่ตั้ง … นี่ถือเป็นชนวนสาเหตุสำคัญ นำเข้าสู่การปฏิวัติทางวัฒนธรรม

หลายคนอาจแยกแยะไม่ออกว่าใครคือใคร ซ้ายคือเฉิงเตี๋ยอี ขวาคือ Xiaosi นี่เป็นความพยายามที่จะท้าพิสูจน์ เอาชนะบิดาบุญธรรม บอกว่าฉันไม่จำเป็นต้องฝึกฝน อดรนทน ก็สามารถลอกเลียนแบบ กระทำตามอย่าง ไต่เต้าถึงความสำเร็จระดับเดียวกัน(หรือมากกว่า) ไม่เห็นจะเป็นไปไม่ได้ตรงไหน?
ใช่ครับ การลอกเลียนแบบมันไม่ได้ยากเย็นแสนเข็น ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยทนทุกข์ทรมาน แต่มันสร้างความภาคภูมิใจอะไรให้กับ Xiaosi? สิ่งที่ได้มาโดยง่ายย่อมสูญเสียไปโดยง่าย อะไรที่ไม่ใช่ของเราก็ไม่มีวันเป็นของเรา (นอกจากจะโกหกตัวเองว่ามันเป็นของเรา)
คนรุ่นเก่าเมื่ออายุมากขึ้นย่อมถึงจุดโรยรา เพื่อคนรุ่นใหม่จะมีโอกาสก้าวขึ้นมาแทนที่ นั่นคือความหมายของช็อตที่มีการส่งต่อมงกุฎจักรพรรดิ แม้เฉิงเตี๋ยอีจะหยิบขึ้นมาสวมใส่ให้กับต้วนเสี่ยวโหลว แต่ถือเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่ต้องดำเนินต่อไป ‘The Show Must Go On’ และนางสนมสามารถมีได้หลายคน –“

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว เฉิงเตี๋ยอีก็หันหลังให้กับการแสดงอุปรากรจีน ใบหน้าครึ่งหนึ่งปกคลุมอยู่ภายใต้เงามืด หลายวันถัดมาก็เผาเครื่องแต่งกายสวมใส่ ต้องการทำลายอดีตให้มอดไหม้ (แบบเดียวกับวิธีการของช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม) แต่สิ่งที่อยู่ในความทรงจำของเขา ล้วนมิอาจลบเลือนหายไปไหน (แสดงถึงความสำคัญของอดีต/ประวัติศาสตร์ ล้วนคือสิ่งหล่อหลอมให้กลายเป็นตัวเราในปัจจุบัน)


ช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) อะไรที่เป็นสิ่งของเก่า โบร่ำราณ มีมูลค่าทางประวัติศาสตร์/วัฒนธรรม จะต้องถูกทุบทิ้ง เผาทำลาย แม้แต่เสื้อผ้าลวดลายสวยๆก็ไม่ว่างเว้น แต่ความน่าสนใจของช็อตนี้คือหลอดไฟด้านบนที่แกว่งไกวไปมา ทำให้มองแทบไม่เห็นภาพประธานเหมาเจ๋อตุงที่ติดบนฝาผนัง นัยยะถึงบุคคลที่ควรมอบแสงสว่างให้ประเทศจีน กลับนำความมืดมิด จุดตกต่ำสุดในประวัติศาสตร์เสียอย่างนั้น!

ในความเป็นจริงแล้ว (ผมย้อนกลับไปดูฉากนั้นอีกรอบ) ไม่ใช่ต้วนเสี่ยวโหลวที่พูดประโยคเกี่ยวกับทหารชั้นเลว (ragtag troops) แต่คือผู้จัดการคณะอุปรากรจีน ที่คงจะใส่ร้ายป้ายสีเพื่อให้ไม่ถูกลากไปประจานต่อหน้าสาธารณะ … นั่นคือสิ่งที่หลายๆคนยินยอมกระทำ พูดในสิ่งที่บรรดายุวชนแดงอยากได้ยิน เพื่อตนเองสามารถเอาตัวรอดในช่วงเวลาการปฏิวัติทางวัฒธรรม
สำหรับต้วนเสี่ยวโหลวผู้โชคร้าย ถูกสปอตไลท์สาดส่องทั้งๆไม่ได้กระทำอะไรผิด (แต่ก็ครอบครองดาบของฌ้อปาอ๋อง ไม่รอดเหมือนกัน) ตัวเขาก็พยายามแก้ต่างให้ตนเอง ไม่ต้องการถูกลากไปประจานต่อหน้าสาธารณะ ยินยอมทำทุกสิ่งอย่างรวมถึงการเอาอิฐทุบศีรษะ แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำตัดสินใดๆทั้งนั้น


ฉากนี้ต้องถือว่านำจากประสบการณ์ตรงของผู้กำกับเฉินข่ายเกอ บรรดายุวชนแดงจะทำการยืนห้อมล้อมบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายโจมตี จากนั้นก็จะนำเสื้อผ้า สิ่งข้าวของ วัตถุโบร่ำราญ มาโยนใส่กองไฟเพื่อเผาทำลายอดีตให้วอดวาย (กล้องพยายามถ่ายผ่านเปลวไฟ ให้ความรู้สึกเหมือนเพลิงกำลังลุกมอดไหม้อยู่ภายในจิตใจของตัวละคร) ถ้าบุคคลเหล่านั้นยังต้องการรอดชีวิต จักต้องกล่าวโทษ ป่าวประณาม ประจานความผิดของตนเองและผู้อื่น … จริงๆก็คือพูดในสิ่งที่พวกยุวชนแดงต้องการได้ยินเท่านั้นละ
คนยุคสมัยนั้น การถูกกระทำลักษณะนี้ถือเป็นความน่าอับอายขายขี้หน้า ยิ่งโดนกดดัน บีบบังคับ จนสภาพจิตใจไม่อาจรับไหว (นั่นคือวิธีการที่นักจิตวิทยา/ตำรวจชอบใช้กัน สร้างสถานการณ์ตึงเครียด เก็บกดดัน จนผู้ป่วย/ผู้ต้องหายินยอมพูดบอกความจริงออกมา) จึงเอ่ยกล่าวสิ่งที่พยายามปกปิดซ่อนเร้นไว้ ใครจะว่าอะไรก็เออออห่อหมก ยินยอมคล้อยตามไป สูญสิ้นความเป็นตัวของตนเอง ก็ยังดีกว่าถูกทรมานจนตัวตาย
สำหรับต้วนเสี่ยวโหลว สิ่งต่างๆที่เขาพ่นออกมา ผมรู้สึกว่านั่นไม่ใช่จากความครุ่นคิดของเขาเลยสักอย่าง ล้วนเป็นถ้อยคำที่เกิดจากการถูกบีบบังคับ สถานการณ์นำพาไป หวาดขลาดเกรงกลัวความตาย กลายเป็นใครก็ไม่รู้ที่ขอแค่เพียงเอาตัวรอดชีวิต อะไรจะเกิดขึ้นก็ปิดกั้น ไม่รับล่วงรู้อะไรทั้งนั้น
ส่วนเฉิงเตี๋ยอี เดิมนั้นเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์มั่นคง ไม่ต้องการพูดกล่าวโทษ ป่าวประณามใครทั้งนั้น แต่เมื่อได้ยินคำทรยศหักหลังของต้วนเสี่ยวโหลว มิอาจยินยอมรับสภาพขณะนั้น จึงระบายความอึดอัดคับข้องที่อยู่ภายในออกมา ตีตราต่อว่าจูเสียน เพราะยัยนี่คือต้นสาเหตุทุกสิ่งอย่าง

โศกนาฎกรรมของจูเสียน ค่อนข้างมีความซับซ้อนอย่างมาก เริ่มต้นเกิดจากการถูกเปิดโปงว่าเคยเป็นนางโลมโดยเฉิงเตี๋ยอี แต่ความอับอายขายขี้หน้านั้น ยังไม่เลวร้ายเท่าต้วนเสี่ยวโหลวพูดปฏิเสธความสัมพันธ์ กล่าวว่าไม่เคยรับรักเธอเลย! นั่นทำให้จูเสียนเพิ่งตระหนักรู้ สาแก่ใจ ทุกสิ่งอย่างที่พยายามกระทำมา(ด้วยความกะล่อน ปลิ้นปล้อน หลอกลวง)ตลอดระยะเวลาหลายสิบกว่าปี มันช่างไร้คุณค่าความหมาย ชีวิตไม่หลงเหลืออะไรๆอีกแล้ว ตกตายไปเสียยังดีกว่า (ผูกคอตาย คือสัญลักษณ์ของการสูญเสียสิ้นความเพ้อฝัน/ทะเยอทะยาน)
จูเสียน เป็นผู้หญิงที่สนแต่ตัวตนเอง ไม่เคยครุ่นคิดหัวอกผู้อื่น นี่คงคือครั้งแรกที่เธอได้ยินเขาพูดบอกความรู้สึก เลยไม่สามารถเข้าใจว่าจริง-เท็จ หรือเพียงเพื่อต้องการเอาตัวรอด (คือไม่มีความเข้าใจในธาตุแท้ตัวตนของต้วนเสี่ยวโหลว)
แซว: โดยปกติแล้วความสัมพันธ์ที่พังทลาย มันต้องมีร่อยรอยฉีกขาด หรือกระจกแตกร้าว (แบบภาพถ่ายของเฉิงเตี๋ยอีและต้วนเสี่ยวโหลว) แต่ช็อตนี้คือภาพสะท้อนเปลวเทียน แบ่งแยกทั้งสองออกด้วยชีวิต-ความตาย

เราสามารถมอง Xiaosi คือตัวตายตัวแทนของผู้กำกับเฉินข่ายเกอ เมื่อครั้นยังเป็นเด็กมีความหัวขบถ ดื้อรั้น ทั้งรักทั้งเกลียดบิดา อาสาเข้าร่วมยุวแดง พูดประณามต่อหน้าสาธารณะ แต่เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวสิ้นสุดลง เขาก็เริ่มเรียนรู้จักคุณค่าความสำคัญของศิลปะวัฒนธรรม ตระหนักถึงความผิดพลาด รู้สึกเสียใจในสิ่งบังเกิดขึ้น เฉกเช่นเดียวกับฉากนี้ที่ Xiaosi จู่ๆแต่งองค์ทรงเครื่องการแสดงละครงิ้ว (ทั้งๆที่เขาคือตัวตั้งตัวตีในการประณามคณะการแสดงอุปรากรจีน) เพราะนี่คือความเพ้อฝันตั้งแต่วัยเด็ก ต้องการดำเนินติดตามรอยเท้า (ในกรณีของผู้กำกับเฉินข่ายเกอ คือต้องการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เหมือนอย่างบิดา) ไม่สามารถปล่อยละวางเป้าหมายชีวิตแท้จริงของตนเอง
หนังไม่ได้นำเสนอต่อว่าจะบังเกิดอะไรขึ้นกับ Xiaosi แต่สำหรับผู้กำกับเฉินข่ายเกอ ได้กลายเป็น Zhiquing (ยุวชนที่มีการศึกษา) ถูกส่งไปดินแดนห่างไกลเพื่อพัฒนาชนบท

เหตุการณ์ในปัจฉิมบท นอกจากสะท้อนอุปรากร Farewell My Concubine ที่นางสนมหยูจี/อวี้จี่อัน ตัดสินใจฆ่าตัวตายตามสามี มองผิวเผินเหมือน(ตามท้องเรื่อง)ถือว่าเป็นโศกนาฎกรรม แต่นัยยะการกระทำเพื่อพิสูจน์รักนิรันดร์ สามารถสื่อถึงความซื่อสัตย์มั่นคง จิตใจไม่ผันแปรเปลี่ยนไปตามสิ่งใด
แม้ไม่ได้พบเจอกันกว่า 20+ ปี เฉิงเตี๋ยอียังคงมีความห่วงโหยหาต้วนเสี่ยวโหลว ใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม กระหยิ่มดีใจ ที่ได้โอกาสพบเจอ ร่วมแสดงละครงิ้วเคียงข้างกันอีกครั้ง และจู่ๆตัดสินใจว่านี่จักคือครั้งสุดท้าย ถ่ายภาพย้อนแสงสป็อตไลท์ เคลื่อนไหวช้าๆ (สโลโมชั่น) ค่อยๆชักดาบออกมา … ผู้ชมสามารถจินตนาการต่อเองได้ ไม่จำต้องนำเสนอภาพว่าตัวละครกำลังกระทำอะไร
สำหรับผู้กำกับเฉินข่ายเกอ ความตายของตัวละครไม่ได้สะท้อนสภาพจิตใจของเขา เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการระบายความอึดอัดคับข้อง แสดงความสำนึกรับผิดชอบต่อการกระทำในช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม, เช่นนั้นแล้วตอนจบของหนังสามารถสื่อถึงความสงบสุขที่จักบังเกิดขึ้นภายใน ตัวตนเก่าก่อนได้ตกตายจากไป แต่เขาไม่ได้ทอดทิ้งมันหรอกนะ ยังคงตราฝังไว้ในความทรงจำ เพื่อตอกย้ำเตือนสติ เรียนรู้จากความผิดพลาด ไม่ให้มันหวนกลับมาบังเกิดขึ้นอีกครั้ง!

ตัดต่อโดย Pei Xiaonan (1957-98) มีผลงานร่วมกับผู้กำกับเฉินข่ายเกอ อาทิ Life on a String (1991), Farewell My Concubine (1993), Temptress Moon (1996)
หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสองตัวละครหลัก เด็กชายโตวจื่อเติบโตกลายมาเป็นเฉิงเตี๋ยอี และเด็กชายซือโถวเติบโตกลายมาเป็นต้วนเสี่ยวโหลว เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1924 เมื่อครั้นพวกเขายังเป็นเด็ก ฝึกฝนการแสดงอุปรากรจีน เติบใหญ่ก็ไต่เต้าจนประสบความสำเร็จ แต่พอถึงจุดสูงสุดก็ค่อยๆตกต่ำลง (หลังการมาถึงของ นางโลมจูเสียน) เกิดรอยบาดหมาย ขัดแย้ง กระทั่งแตกหัก พานผ่านระยะเวลากว่า 50+ ปี ไล่เรียงตามประวัติศาสตร์ชาติจีนดังต่อไปนี้
- ยุคสมัยขุนศึก (1916-28)
- มารดาพาเด็กชายโตวจื่อ มาขายต่อให้คณะการแสดงอุปรากรจีน ทำให้ได้รับรู้จักกับซือโถว
- สงครามกลางเมืองจีนครึ่งแรก (1927-36)
- เรื่องราววุ่นๆสมัยวัยเด็ก หลบหนีออกจากโรงฝึกไปแอบชมการแสดงละครงิ้ว ทำให้ค้นพบเป้าหมายที่ต้องการไขว่คว้า
- โตวจื่อเผชิญหน้ากับการค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศ แต่หลังจากค้นพบตนเอง ได้รับโอกาสขึ้นเวที และสูญเสียความบริสุทธิ์ครั้งแรก
- สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (1937-45)
- เมื่อเด็กๆเติบโตขึ้นกลายเป็นเฉิงเตี๋ยอี และต้วนเสี่ยวโหลว สามารถไต่เต้า จนประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงเงินทองไหลมาเทมา
- ขณะที่ต้วนเสี่ยวโหลว ใช้เวลาว่างท่องเที่ยวหอนางโลม พรอดรักกับจูเสียน, เฉิงเตี๋ยอีได้รับการอุปถัมภ์จากหยวนซื่อเยี๋ย ปรนเปรอสิ่งข้าวของให้มากมาย
- ต้วนเสี่ยวโหลวประกาศหมั้นหมายกับจูเสียน แต่ถูกทหารญี่ปุ่นจับกุมตัว, เฉิงเตี๋ยอี ให้ความช่วยเหลือทำการแสดงต่อหน้าทหารญี่ปุ่น
- งานแต่งงานระหว่างต้วนเสี่ยวโหลวกับจูเสียน, ทำให้เฉิงเตี๋ยอี หันไปพึ่งเสพฝิ่น และเติมเต็มราคะกับหยวนซื่อเยี๋ย
- ความตายของผู้ก่อตั้งคณะการแสดงอุปรากรจีน ทำให้โรงเรียนต้องปิดตัวลง
- ระหว่างการต่อสู้ในโรงละคอน จูเสียนต้องสูญเสียบุตรในครรภ์
- สงครามกลางเมืองจีนครึ่งหลัง (1945-49)
- หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ชนะสงคราม เฉิงเตี๋ยอีถูกทางการจับกุมตัว ข้อหาทรยศประเทศชาติจากทำการแสดงให้ทหารญี่ปุ่น แต่ท้ายสุดด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ได้รับการปล่อยตัว
- เฉิงเตี๋ยอีเสพติดฝิ่นอย่างหนัก กว่าจะละเลิกได้ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส
- หยวนซื่อเยี๋ยถูกตัดสินประหารชีวิตข้อหาให้การสนับสนุนศิลปะวัฒนธรรมต่างชาติ (เก็บสะสมของเก่าไว้มากเกินไป)
- คนรุ่นใหม่มีมุมมองต่ออุปรากรจีนที่แตกต่าง ก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยต่อเฉินเตี๋ยอี จนไม่ได้รับโอกาสขึ้นแสดงบนเวทีอีกต่อไป
- ช่วงเวลาปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76)
- ต้วนเสี่ยวโหลวถูกยุวชนแดงควบคุมตัว เพราะครั้งหนึ่งเคยแสดงความเห็นไม่ลงรอยกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน
- ทั้งคณะการแสดงอุปรากรจีนถูกยุวชนแดงไล่ล่าจับกุม ลากพาตัวออกมาประจานความผิดต่อหน้าสาธารณะ
ขณะที่อารัมบท & ปัจฉิมบท จะเริ่มต้น-สิ้นสุด 20+ กว่าปีหลังการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (ไม่ระบุเวลา) เฉิงเตี๋ยอีหวนกลับมาพบเจอต้วนเสี่ยวโหลว ยังสนามกีฬาภายในร่มแห่งหนึ่ง เพื่อทำการแสดงร่วมกันครั้งสุดท้ายในชีวิตของพวกเขา
โดยปกติแล้วหนังที่มีการ Time Skip อยู่บ่อยครั้ง มักนำเสนอเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆ (ในช่วงเวลาขณะนั้นๆ) จึงไม่ค่อยพบความต่อเนื่องทางอารมณ์สักเท่าไหร่ แต่สำหรับ Farewell My Concubine (1993) กลับสามารถหาจุดเชื่อมโยงระหว่างแต่ละช่วงเวลา แถมยังสะท้อนเรื่องราวเข้ากับประวัติศาสตร์ชาติจีน (ที่เป็นพื้นหลัง) ทำให้ผู้ชมแทบไม่รู้สึกถึงการกระโดดไปข้างหน้าเลยสักครั้ง มีความลื่นไหล กลมกล่อม อารมณ์ตัวละครค่อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงไคลน์แมกซ์สูงสุด!
แซว: ผู้กำกับ Martin Scorsese ถือเป็นเจ้าพ่อแห่ง Time Skip พัฒนาขัดเกลาเทคนิคนี้มาตลอดทั้งชีวิต แต่ลีลาการตัดต่อของ Farewell My Concubine (1993) แทบจะเทียบเท่าผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของปู่เลยละ! … นี่พูดถึงเฉพาะการตัดต่อนะครับ
เพลงประกอบโดย เจ้าจี้ผิง, Zhao Jiping (เกิดปี 1945) นักแต่งเพลงจากมณฑลฉ่านซี ตั้งแต่เด็กมีความสนใจทั้งดนตรีคลาสสิกและพื้นบ้านจีน สำเร็จการศึกษาจาก Xi’an Music Conservatory เมื่อปี 1970 แล้วทำงานในสถาบันโอเปร่าท้องถิ่นจนถึงปี 1978 ก่อนตัดใจออกมาร่ำเรียนต่อด้านการประพันธ์เพลงที่ Central Conservatory of Music ณ กรุงปักกิ่ง เริ่มทำงานวงการภาพยนตร์ตั้งแต่ Yellow Earth (1984) และกลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่นห้า ผลงานเด่นๆ อาทิ Red Sorghum (1988), Raise the Red Lantern (1991), Farewell My Concubine (1993), To Live (1994), A Chinese Odyssey (1995) ฯ
ก่อนหน้านี้ ผลงานประกอบภาพยนตร์ของเจ้าจี้ผิง มักเป็นบทเพลงพื้นบ้าน ด้วยเครื่องดนตรีประจำท้องถิ่น (ส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลส่านซี) จนกระทั่ง Farewell My Concubine (1993) ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการแสดงอุปรากรจีน (Chinese Opera) แน่นอนว่าบทเพลงส่วนใหญ่ต้องมีลักษณะของดนตรีงิ้วอย่างแน่นอน!
การบรรเลงดนตรีประกอบการแสดงงิ้ว มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นชัดมากๆ ได้ยินเพียงครั้งเดียวย่อมติดหูอย่างรวดเร็ว (มีความเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้รับการยอมรับจากองค์การยูเนสโก้) ซึ่งทำหน้าที่ช่วยประกอบจังหวะการแสดง บ่งบอกอากัปกิริยาอารมณ์ รวมถึงสร้างบรรยากาศประกอบฉาก สำหรับเครื่องดนตรีประกอบด้วย จิงหู (ซอปักกิ่ง), เอ้อหู (ซอสองสาย), เยวี่ฉิน (ขิมจีน), แบนโจสามสาย, ขลุ่ย, ปี่, ออร์แกน, แตรจีน, กรับ, กลอง, ฆ้อง, ฉาบ ฯลฯ
ขอข้ามมาที่ Ending Credit ก่อนเลยแล้วกัน บทเพลงนี้ไม่ได้มีแค่ดนตรีประกอบการแสดงงิ้วเท่านั้น เจ้าจี้ผิงยังทำการแทรกใส่ท่วงทำนองสากล ดนตรีคลาสสิกตะวันตกเข้าไปด้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์การผสมผสาน วิวัฒนาการทางดนตรี ต่อจากนี้คือยุคสมัยแห่งบูรณาการ ตะวันออกสามารถรวมเข้ากับตะวันตก แต่เราต้องรักษาอัตลักษณ์ชนชาติไว้ให้มั่นคง เพื่ออนาคตจักไม่ถูกกลืนกินจนหมดสูญสิ้นวัฒนธรรม
อุปรากร Farewell My Concubine มีอยู่จริงๆนะครับ แต่คิดว่าน่าจะมีการปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย เพื่อให้เวลาขับขานระหว่างทำการแสดง เนื้อคำร้องจักมีความสอดคล้องกับเรื่องราวของหนัง และพื้นหลังประวัติศาสตร์จีนได้อย่างลงตัว พอดิบดีเลยละ!
จริงๆก็มีหลายท่อนทำนองน่าหยิบยกมาครุ่นคิดวิเคราะห์ แต่เพราะผมหาคลิปแยกทีละเพลงไม่ได้ (แต่มีรวมทั้งอัลบัมที่เว็บ bilibili ต้องค้นหาเป็นภาษาจีนถึงจะพบเจอนะครับ) เลยขอเลือกแค่บทเพลงชื่นชอบสุดในหนัง ระหว่างเฉิงเตี๋ยอีทำการแสดงให้ทหารญี่ปุ่น
The flowers have blossomed
Their season is past
All has fallen
Only the sun is still the same
คำร้องเพียงสี่ท่อนพรรณาถึงฤดูกาลที่ผันแปรเปลี่ยนไป ดอกไม้จากเคยเบ่งบานย่อมแห้งเหี่ยวเฉา เหมือนการแสดงละครงิ้วที่เคยได้รับความนิยมยังถูกทำลายล้าง ประเทศชาติเคยรุ่งเรืองย่อมล่มสลาย (การแสดงครั้งนี้แฝงนัยยะถึงประเทศจีนกำลังถูกญี่ปุ่นเข้ามารุกราน) เฉกเช่นเดียวกับชีวิตเกิด-ตาย แต่สิ่งยังคงอยู่คือพระอาทิตย์ดวงเดิม กฎแห่งกรรมย่อมมิอาจผันแปรเปลี่ยน
Farewell My Concubine คือการรำพันของฌ้อปาอ๋อง ต่อนางสนมหยูจี หลังถูกกองทัพฮั่นห้อมล้อมต้อนจนมุม หนทางออกเดียวเท่านั้นคือความตาย แต่จะไม่ขอเสียเกียรติยินยอมรับความพ่ายแพ้ ‘ฆ่าได้หยามไม่ได้’ การต่อสู้ครั้งสุดท้ายคงไม่มีทางรอดชีวิตกลับมา เป็นความเจ็บปวดแสนสาหัสที่ต้องร่ำจากราหญิงคนรัก ซึ่งเธอก็ทำใจไม่ได้เช่นกันเลยชักดาบขึ้นมาเชือดคอตนเอง พิสูจน์ความรักนิรันดร์ให้เขาเพียงผู้เดียว
เฉิงเตี๋ยอีมีความชื่นชอบ/ตกหลุมรักต้วนเสี่ยวโหลว น่าจะตั้งแต่แรกพบเจอสมัยยังเป็นเด็ก เพราะเขาได้ช่วยเหลือ ปกป้อง จึงทำให้สามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งในตนเอง ด้วยเหตุนี้เมื่อเติบโตขึ้นกลายเป็นนักแสดงอุปรากรจีน มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ จึงไม่ต้องการพลัดพรากแยกจากกัน แต่ชายคนรักกลับตัดสินใจแต่งงานกับนางโลมจูเสียน ซึ่งพยายามกีดกัน ผลักไส ทำให้ทั้งสองเหินห่างไกล แต่โชคชะตาก็นำพาให้พวกเขาพานผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย จากศัตรูภายนอก (กับญี่ปุ่น) ความขัดแย้งภายใน (ระหว่างคอมมิวนิสต์ vs. พรรคก๊กมินตั๋ง) และการมาถึงของคนรุ่นใหม่ (ช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม) แม้ต้องพลัดพรากจากกัน ก็ต้องมีสักวนสามารถหวนกลับมาพบเจออีกครั้ง
ภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากเป็นจดหมายเหตุ ประวัติศาสตร์ชาติจีน ช่วงระยะเวลากว่า 50+ ปี ตั้งแต่ยุคสมัยขุนศึก (1916-28) มาจนถึงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) ยังบันทึกการแสดงศิลปะ มรดกประจำชาติ นั่นคือการแสดงอุปรากรจีน/ละครงิ้ว ตั้งแต่เริ่มต้นฝึกฝน สะสมชื่อเสียง จนประสบความสำเร็จถึงจุดสูงสุด จากนั้นค่อยๆตกต่ำลง สูญสิ้นความนิยม สังคมไม่ให้การยินยอมรับ … นำเสนอในลักษณะเปรียบเทียบ เคียงคู่ขนาน สะท้อนความสัมพันธ์กันและกัน
แต่จุดประสงค์แท้จริงของภาพยนตร์ Farewell My Concubine (1993) คือการแสดงความตระหนักรู้ของผู้กำกับเฉินข่ายเกอ สำนึกผิดต่อสิ่งที่ตนเคยกระทำ สมัยวัยรุ่นเมื่อตอนอายุ 14 ปี เข้าร่วมคณะยุวชนแดง (Red Guard) พูดประณามบิดาต่อหน้าสาธารณะ ทุบทำลายสิ่งข้าวของล้ำค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย หลายปีผ่านไปเมื่อร่างกายเติบใหญ่ ความครุ่นคิด สติปัญญาก็พัฒนาเติบโตขึ้น จึงสามารถเรียนรู้ความผิดพลาด ค่อยๆตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะวัฒนธรรม อดีตคือรากเหง้า อัตลักษณ์ของชนชาติพันธุ์ พื้นฐานสำคัญแห่งการก้าวสู่อนาคต … แม้สิ่งเหล่านั้นจักถูกทำลายหมดสูญสิ้นไปแล้ว (ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม) แต่เขาก็ค้นพบสื่อภาพยนตร์ที่สามารถรื้อฟื้น ก่อร่างสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ เก็บบันทึกไว้ให้คนรุ่นถัดๆไปได้มีโอกาสรับเชยชม
- ยุคสมัยขุนศึก (1916-28)
- เรื่องราวในช่วงนี้สะท้อนความทรงจำสมัยเด็กของผู้กำกับเฉินข่ายเกอ ต่อการสูญเสียมารดา ความเคร่งครัดของบิดา รวมถึงการที่เขาไม่ค่อยอยู่บ้าน (ออกไปทำงานต่างจังหวัดครั้งละนานๆ) จึงมีเพียงน้องสาวพึ่งพากันและกัน (เทียบความสัมพันธ์ระหว่าง โตวจื่อกับซือโถว)
- สงครามกลางเมืองจีนครึ่งแรก (1927-36)
- เหตุการณ์เด่นๆคืออาการสับสนในอัตลักษณ์ทางเพศของโตวจื่อ สะท้อนถึงความขัดแย้งภายใน ไม่เข้าใจตัวตนเองของผู้กำกับเฉินข่ายเกอ ทั้งรักทั้งเกลียดบิดา นั่นน่าจะคือสาเหตุผลหนึ่งที่เขาเข้าร่วมคณะยุวชนแดง
- สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (1937-45)
- สื่อถึงปัจจัยภายนอก ความไม่มั่นคงทางการเมือง ล้วนสร้างอิทธิพลต่อเด็กชายเฉินข่ายเกอ ให้เกิดความหวาดกลัว ตัวสั่นระแวง ต้องการได้รับการยินยอมรับจากสังคม นี่คืออีกเหตุผลที่เขาเข้าร่วมคณะยุวชนแดง
- Xiaosi (เด็กที่เก็บมาเลี้ยง) คือตัวแทนผู้กำกับเฉินข่ายเกอ สมัยยังเด็กมีความดื้อรั้น เพ้อฝันต้องการสืบสานต่ออาชีพของบิดา (พ่อของเฉินข่ายเกอคือผู้กำกับภาพยนตร์ นั่นคือความเพ้อฝันแรกตั้งแต่สมัยยังเด็ก)
- สงครามกลางเมืองจีนครึ่งหลัง (1945-49)
- Xiaosi พอเติบโตขึ้นเริ่มแสดงความขัดแย้ง คิดเห็นต่าง ไม่ลงรอย ต้องการปรับเปลี่ยนอุปรากรจีน ให้กลายเป็นการแสดงร่วมสมัย แต่เมื่อได้รับการปฏิเสธโดยเฉิงเตี๋ยอี จึงทำการแก่งแย่งฉกชิง ผลักไสให้สูญเสียโอกาสในการขึ้นแสดงเวที
- สะท้อนความขัดแย้งระหว่างเฉินข่ายเกอกับบิดา ที่มาถึงจุดแตกหักทางความคิดแล้วกระมัง
- ช่วงเวลาปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76)
- Xiaosi ถือเป็นตัวตั้งตัวตีในการประณามคณะการแสดงอุปรากร จ้องจับผิดต้วนเสี่ยวโหลว เต็มไปด้วยความกระหยิ่มยิ้มราวกับได้รับชัยชนะเหนือเฉิงเตี๋ยอี
- สะท้อนตรงๆถึงช่วงเวลาที่เฉินข่ายเกอเข้าร่วมคณะยุวชนแดง (คงประสบการณ์ตรงเลยกระมัง) พูดประณามบิดา ระบายความรู้สึกคาคั่งคลั่งภายในทั้งหลายออกมา
จะว่าไปแทบทุกรายละเอียดของหนัง สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างเฉินข่ายเกอกับบิดา เรียกว่ามีความเป็น ‘ส่วนตัว’ ของผู้กำกับสูงมากๆ แสดงออกถึงความตระหนักรู้ ยินยอมรับผิดต่อพฤติกรรมเลวร้ายเคยกระทำลงไป ไม่ได้คาดหวังการให้อภัย … แต่คงได้รับการยกโทษให้อยู่แล้วละ เพราะ Chen Huai’ai ยังเข้ามามีส่วนร่วมออกแบบศิลป์ ช่วยงานบุตรชายอย่างสุดความสามารถ
เกร็ด: ผู้กำกับเฉินข่ายเกอ สรรค์สร้างภาพยนตร์อีกเรื่อง Together (2002) ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับบิดา ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม
Farewell My Concubine (1993) เป็นภาพยนตร์ที่มักได้รับการเปรียบเทียบกับ The Blue Kite (1993) และ To Live (1994) เพราะนำเสนอเรื่องราวในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม จี้แทงใจดำกองเซนเซอร์ เลยถูกโดนแบนห้ามฉายโดยถ้วนหน้า (สองเรื่องหลังแทบจะถูกแบนถาวรเลยนะครับ) แต่ละเรื่องจะสะท้อนมุมมองของผู้กำกับ มีความเป็นส่วนตัวที่แตกต่างกันออกไป
ในบรรดาทั้งสามเรื่องนี้ Farewell My Concubine (1993) ถือว่าโชคดีที่สุดเพราะออกฉายในช่วงเวลาพอเหมาะพอเจาะ พอคว้ารางวัล Palme d’Or เลยได้รับการช่วยเหลือจากชาติตะวันตกร่วมกดดันรัฐบาลจีน ตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่ก็มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ถ้าเปรียบเทียบทั้งสามเรื่อง จะพบว่าหนังไม่ได้พยายามวิพากย์วิจารณ์การปฏิวัติทางวัฒนธรรมอย่างออกนอกหน้า (เหมือนสองเรื่องที่เหลือ) นำเสนอเหตุการณ์บังเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ปล่อยให้ผู้ชมตระหนักรับรู้สึกด้วยตนเอง … ในแง่ของศาสตร์ศิลปะภาพยนตร์ จึงอาจถือว่าทรงคุณค่ากว่าสองเรื่องนั้น
ช่วงระหว่างปัจฉิมบท ท่อนคำร้องที่สะท้อนความสับสนในอัตลักษณ์ทางเพศของเฉิงเตี๋ยอี ‘โดยกำเนิดฉันเป็นหญิง ไม่ใช่ชาย’ ได้รับการแก้ไขจากต้วนเสี่ยวโหลวให้พูดกล่าวว่า ‘ฉันเกิดเป็นชาย’ สื่อถึงการยินยอมรับเพศ’กำเนิด’ที่แท้จริงของอีกฝั่งฝ่าย หรือคือ(ยินยอมรับ)อดีต ตัวตน ชนชาติพันธุ์ เพราะนั่นคือสิ่งสร้างอัตลักษณ์ของประเทศชาติ พื้นรากฐานแห่งการพัฒนาอนาคต บทเรียนเสี้ยมสอนคนรุ่นหลัง อย่าให้ประวัติศาสตร์อันเลวร้ายบังเกิดอีกครั้งซ้ำรอยเดิม
ชื่อหนัง Farewell My Concubine จึงสามารถตีความถึงการร่ำลาอดีต แต่ไม่ใช่พยายามหลงลืม ลบเลือน หรือทำเหมือนไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น นำความผิดพลาด/ประสบการณ์ชีวิตเหล่านั้นมาเป็นรากฐานสำหรับก้าวดำเนินต่อไปข้างหน้า ด้วยความเข้มแข็ง มั่นคง พร้อมเผชิญทุกอุปสรรคขวากหนาม
หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยังเกาะฮ่องกง วันที่ 1 มกราคม 1993 เพื่อต้นรับวันปีใหม่สากล เสียงตอบรับดีล้นหลามจนได้รับเลือกเข้าฉายสายการประกวด เทศกาลหนังเมือง Cannes และสามารถคว้ามาสองรางวัล
- Palme d’Or เคียงคู่กับ The Piano (1993)
- FIPRESCI Prize รางวัลจากนักวิจารณ์
เกร็ด: จริงๆแล้วหนังอาจจะได้ถึงสามรางวัล Best Actor (เลสลี่ จาง) แต่พ่ายแพ้ให้กับ David Thewlis จากเรื่อง Naked (1993) ไปแค่คะแนนเสียงเดียว (สาเหตุเพราะคณะกรรมการมองว่าหนังเป็นผู้ชนะ Palme d’Or จึงอยากมอบรางวัลนี้แก่ภาพยนตร์เรื่องอื่นแทน) และเห็นว่าหนึ่งในคณะกรรมการ Claudia Cardinal จงใจโหวตเลสลี่ จาง ในสาขา Best Actress
สำหรับจีนแผ่นดินใหญ่ หนังได้เข้าฉายเฉพาะกรุงปักกิ่ง วันที่ 26 กรกฎาคม 1993 แต่เพียงสองสัปดาห์ก็ถูกสั่งแบน กองเซนเซอร์ให้เห็นผลถึงประเด็นรักร่วมเพศ (Homosexual) ความวุ่นวายในช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม และการฆ่าตัวตายของตัวละครหลัก เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พึงพอใจในระดับนานาชาติ (ว่าหนังรางวัล Palme d’Or แต่กลับถูกห้ามฉายในประเทศผู้สร้าง) หน่วยงานรัฐบังเกิดความหวาดกลัวจะส่งกระทบต่อการลงคะแนนเสียงเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2000 (ช่วงกลางเดือนกันยายน 1993) ด้วยเหตุนี้จึงทำการประณีประณอม ยินยอมหั่นหลายๆฉากออกไป 14 นาที แล้วนำฉายช่วงต้นเดือนกันยายน
ช่วงปลายปี จีนแผ่นดินใหญ่ยังคงปฏิเสธไม่ขอส่ง Farewell My Concubine (1993) แต่เลือกภาพยนตร์ Country Teachers (1993) เป็นตัวแทนเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film นั่นทำให้ฮ่องกงฉกฉวยโอกาสดังกล่าวอีกครั้ง (หลังจาก Ju Dou (1990)) สามารถเข้าถึงรอบห้าเรื่องสุดท้าย (แถมยังได้เข้าชิงอีกสาขา Best Cinematography) ถือเป็นเต็งหนึ่งจะคว้ารางวัล แต่กลับพ่ายให้หนังตลก Belle Epoque (1992) จากประเทศสเปน อย่างน่าผิดหวัง!
- Academy Award
- Best Foreign Language Film พ่ายให้ Belle Epoque (1992)
- Best Cinematography พ่ายให้ Schindler’s List (1993)
- Golden Globe: Best Foreign Language Film ** คว้ารางวัล
- BAFTA Award: Best Film not in the English Language ** คว้ารางวัล
เกร็ด: ผู้กำกับเฉินข่ายเกอสอบถามคณะกรรมการ Academy ว่าทำไมหนังถึงพลาด Oscar ส่วนใหญ่บอกว่าไม่เห็นการโปรโมทเท่าที่ควร ‘lack of communication’ แถมความสำเร็จจาก Palme d’Or และ Golden Globe เลยคิดว่ารางวัลนี้คงไม่จำเป็นสักเท่าไหร่ โห!
ฉบับเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา เห็นว่าถูกซื้อโดยเจ้าพ่อมาเฟีย Harvey Weinstein แล้วก็โดนหั่นฉากโน่นนี่นั่นออก 14 นาที เหลือความยาว 157 นาที แต่ก็ยังทำเงินได้สูงถึง $5.2 ล้านเหรียญ (เป็นหนังจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทำเงินสูงสุดในสหรัฐอเมริกาขณะนั้นโดยปริยาย)
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ คุณภาพ 4K แล้วเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2018 เข้าฉายในไทยเมื่อช่วงตรุษจีนปี 2020 (ก่อนโควิทจะเริ่มแพร่ระบาด) จัดโปรแกรมโดย Documentary Club ใครพลาดไปถือว่าโคตรน่าเสียดาย! ไม่รู้ฉบับดังกล่าวทำเป็น DVD/Blu-Ray แล้วหรือยัง (แบบเดียวกับ Yellow Earth (1984) เลยนะ!) ส่วนที่ผมรับชมเป็นของ BFI (British Film Institute) ที่ทำการสแกน 1080p เมื่อปี 2016 คุณภาพถือว่าค่อนข้างดี แก้ขัดไปก่อนก็แล้วกัน
ความประทับใจแรกของผมต่อ Farewell My Concubine (1993) ก็คือเลสลี่ จาง แม้แทบไม่ได้ยินเสียงเจ้าตัว (เพราะไม่สามารถพูดจีนแมนดาริน) แต่สีหน้าอารมณ์ ความเป็นเพศที่สาม ทำให้หนุ่มๆสาวๆตกหลุมรักคลั่ง (ผมเองก็เช่นกัน!) น่าจะเป็นผลงานการแสดงยอดเยี่ยมสุดในชีวิตก็ว่าได้ โดยเฉพาะโศกนาฎกรรมตอนจบ มันสะท้อนชีวิตจริงได้ใกล้เคียงกว่าผลงานอื่นใด
เช่นเดียวกับกงลี่ แสดงได้โคตรแร๊งค์มากๆ (เหมือนจะนำจากประสบการณ์ตรง) ร้อยลีลา มารยาเล่มเกวียน สร้างความโกรธรังเกลียด ยัยนี่มันจะโฉดชั่วร้ายถึงไหน แต่โชคชะตากรรมตัวละครกลับน่าสงสารเห็นใจโคตรๆ ทำเอาผมเองยังไม่กล้าตัดสินถูก-ผิด ชีวิตมันก็แบบนี้ มีดีมีชั่วคละคั่วกันไป
อีกไฮไลท์คือไดเรคชั่นผู้กำกับเฉินข่ายเกอ อย่างที่บอกไปว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือการแสดงความสำนึก ต่อพฤติกรรมอันโง่เขลา กระทำสิ่งโฉดชั่วร้ายต่อตนเอง ครอบครัว และประวัติศาสตร์ชาติ กลายเป็นตราบาปฝังใจ เลยใส่ไม่ยั้ง ไร้ความประณีประณอม ผลลัพท์คือมาสเตอร์พีซ มหากาพย์เรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศจีน
ถ้าคุณเป็นคนจีน หรือมีเชื้อสายจีน Farewell My Concubine (1993) คือภาพยนตร์ที่ต้องดูให้ได้ก่อนตาย จะเกิดจิตสำนึก รักชาติ รักประวัติศาสตร์ รักวัฒนธรรมท้องถิ่น ค้นพบเป็นสิ่งน่าภาคภูมิใจ ต้องอนุรักษ์เก็บรักษาการแสดงละครงิ้วไว้ให้คนรุ่นหลัง สืบสานต่อยอด และต้องไม่ถูกทำลายล้าง! แต่สำหรับผู้ชมต่างชาติก็ไม่จำเป็นขนาดนั้นนะครับ
แนะนำคอหนังมหากาพย์ (Epic) อิงประวัติศาสตร์ (Historical) เกี่ยวกับการแสดงละครงิ้ว (Chineses Opera) รักสามเส้าผสม ผสมรสนิยมรักร่วมเพศ (Homosexual), หลงใหลวัฒนธรรมจีน ต้องการศึกษาช่วงเวลาปฏิวัติทางวัฒนธรรม, โดยเฉพาะแฟนๆนักแสดงเลสลี่จาง จางเฟิงอี้ และกงลี่ ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง!
จัดเรต 18+ ต่ออาการสับสนในอัตลักษณ์ทางเพศ เสพฝิ่น ความคลุ้มบ้าคลั่งในช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม
คำโปรย | Farewell My Concubine ภาพยนตร์แห่งการร่ำราอดีตเคยยิ่งใหญ่ วัฒนธรรมล้ำค่าเกือบสูญสลาย และตัวตนเองของผู้กำกับเฉินข่ายเกอ ต่อความโง่เขลาเบาปัญญาในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ
Farewell My Concubine (1993)
(7/1/2016) หนังรางวัล Palme d’Or แห่ง Cannes เรื่องแรกและเรื่องเดียวของจีนแผ่นดินใหญ่ ชื่อไทยคือ “หลายแผ่นดิน แม้สิ้นใจ ก็ไม่ลืม” แต่ถ้าแปลตรงๆจากชื่อภาษาจีน จะได้ว่า “ฉู๋ปาอ๋องลาสนม” นี่คือหนังของจีนที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลกว่า เป็นหนึ่งในหนังจีนที่ดีที่สุด
ผู้กำกับรุ่นที่ 5 ของจีนแผ่นดินใหญ่ Chen Kaige เป็นผู้กำกับที่มีแนวทางของตัวเองชัดเจนมากๆ เขาเกิดมาในยุคที่จีนเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง มีเหตุการณ์ต่างๆมากมายเกิดขึ้น ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนมากๆในหนังเรื่องนี้ ว่าเกิดอะไรขึ้น หนังเรื่องนี้เราสามารถมองเป็น 2 เรื่องราว หนึ่งคือเรื่องราวของนักแสดงงิ้ว และสองคือประวัติศาสตร์จีนในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง นี่เป็นสองเรื่องที่ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้ แต่มันกลับมีจุดเชื่อมกันทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ธรรมดา มันลงตัวอย่างสวยงามมากๆ
หนังนำแสดงโดยนักแสดงผู้ล่วงลับไปแล้ว Leslie Cheung ที่หนังเรื่องนี้คือสุดยอดการแสดงที่เป็นที่กล่าวขานกันมากที่สุด ผมไม่รู้ว่าตอนแสดงงิ้ว Leslie Cheung เล่นเองหรือเปล่า แต่ถ้าเล่นเองจริงๆถือว่าสุดยอดมากๆ นี่เป็นการแสดงระดับตำนานเลย อีกสองตัวละครที่สำคัญไม่แพ้กันคือ Zhang Fengyi และ Gong Li ทั้งคู่ก็ถือว่าดีเด่นไม่แพ้กัน ผมมองว่าเรื่องนี้ไม่ได้ดำเนินเรื่องโดยใช้พระเอก นางเอกนะ เป็นกลุ่มของตัวดำเนินเรื่อง มี 3 คน ก็ 3 นักแสดงนี้แหละที่แบกเรื่องทั้งหมดไว้ มีจังหวะที่ทั้งสามแสดงอารมณ์อันขัดแย้งของตัวละครออกมาหลายรอบมาก ไม่ใช่แค่การแสดงงิ้วนะ แต่รวมถึงเรื่องราวในหนังด้วย ผมชอบช่วงที่ตัวละครพูดความรู้สึกตัวเองออกมามากๆ (เห็นหลายช่วงเลย) เวลาเราอ่านนิยาย เราจะสามารถเข้าใจความคิดตัวละครได้ เพราะนิยายมักจะเขียนบรรยายมันออกมา แต่ในหนังมันทำแบบนั้นไม่ได้ นอกจากจะใช้เสียงบรรยาย แต่หนังเรื่องนี้ใช้การแสดงนำพาความคิดของตัวละคร และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็พูดความรู้สึกออกมา ทำให้เราเข้าใจความคิดของตัวละครได้อย่างลึกซึ้งทีเดียว
กำกับภาพโดย Gu Changwei ซึ่งเป็นขาประจำของ Zhang Yimou และ Chen Kaige เห็นว่าเป็นเพื่อนสนิทกันด้วย ช่วงหลังๆนี่มาเป็นผู้กำกับด้วย สำหรับหนังเรื่องนี้ ความยอดเยี่ยมของการถ่ายภาพทำให้เขาได้เข้าชิง Academy Award สาขา Best Cinematography น่าเสียดายที่ไม่ได้รางวัล ผมชอบการกำกับภาพของหนังเรื่องนี้มาก แทบทั้งเรื่องมีการนำเสนอเหมือนเรากำลังดูการแสดงบนเวทีอยู่ ไม่ใช่แค่ตอนแสดงงิ้วนะ แต่ทั้งเรื่องเลย กล้องไม่ได้มีการหมุนหรือเคลื่อนไหวมากนัก มักใช้การถ่ายภาพนิ่งๆอยู่กับที่ ยกเว้นบางจังหวะที่ต้องการนำพาตัวละครไปที่จะมีการเคลื่อนกล้อง และช่วงที่ต้องการเน้นสีหน้า อารมณ์การแสดงถึงจะ close-up ไปที่หน้าของนักแสดง เราจะได้เห็นภาพสวยๆ มุมกล้องแปลกๆที่ปกติจะไม่ค่อยถ่ายกัน เช่น ถ่ายผ่านเปลวไฟ ผ่านตู้ปลา ผ่านกระจกสะท้อนภาพแปลกๆ มันไม่ใช่แค่ความหมายที่ใช่ แต่ยังอารมณ์ได้ด้วย ฉากผ่านตู้ปลานั้นเป็นช่วงที่ตัวละครของ Leslie Cheung กำลังจมดิ่งเข้าสู่วังวลแห่งกิเลส ส่วนถ่ายผ่านเปลวไฟในช่วงท้ายๆ ก็แสดงถึงอารมณ์ที่หมอดไหม้ ความคิดที่ถูกแผดเผา ชัดเจนไหมละครับ
ฉากเปิดเรื่องและปิดเรื่องก็เป็นที่กล่าวถึงนะ ในเนื้อเรื่องมันเหมือนเป็นการ reunion กันของ 2 ตัวละคร ที่เลือกถ่ายในสเตเดี้ยมที่ว่างเปล่า ทั้งสองตัวละครใส่ชุดงิ้ว มีแสงไฟส่องเฉพาะที่ทั้งสอง มีเสียงพูดดังจากไหนไม่รู้ แล้วทั้งสองก็แสดง ตอนจบก็ … มันคือการเปิดเรื่องและปิดเรื่องที่มีความหมายเยี่ยมมากๆ ประมาณว่าชีวิตของเรามันก็เหมือนการแสดง แต่ไม่มีใครเป็นคนดูหรอก มีแต่เราที่แสดงสิ่งต่างๆออกมา ตอนจบมันล้อกับบทงิ้วนะครับ ว่าชะตากรรมของตัวละครในงิ้วเป็นยังไง ชะตากรรมของนักแสดงก็ออกมาแบบนั้น
การตัดต่อก็ยอดเยี่ยมครับ Pei Xiaonan ตัดแบบไม่ง้อคนดูเลย คืออยู่ดีๆก็ข้ามปี ข้ามทศวรรษ ข้ามวัย สนใจแต่จุดที่ต้องการเล่าเท่านั้น ไม่ได้โฟกัสไปที่ตัวละครไหน แต่ทั้ง 3 ตัวมีบทบาทเท่าเทียมกันหมด ถึงกระนั้นเด่นสุดในจอก็หนีไม่พ้น Leslie Cheung ถ้าสังเกตหน่อย การกระโดดข้ามของการตัดต่อนั้น เรื่องราว ณ ช่วงนั้นจะต้องจบลงแล้วเสมอ นี่เป็นหนังที่ค่อนข้างยาวนะครับเกือบ 3 ชั่วโมง มีเรื่องราวต่างๆให้เล่ามากมาย มันมีข้อเสียนิดนึงคือ ปีในหนังมันผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ตัวละครนำมันไม่แก่วัยขึ้นตาม ในขณะที่นักแสดงเด็กสามารถเปลี่ยนตัวเป็นผู้ใหญ่ได้ แต่ผู้ใหญ่จะเปลี่ยนคนอื่นมันทำไม่ได้ ถ้าหนังเล่นกับจุดนี้สักนิดผมว่าจะยิ่งเยี่ยมยอดขึ้นไปได้อีก
เพลงประกอบ … เอิ่ม ผมได้ยินแต่เสียงดนตรีของงิ้วนะครับ ทั้งเรื่องเลย ไม่มีเสียงอื่นเลย ทั้งฉากที่เป็นการแสดงงิ้วและไม่ใช่งิ้ว Zhao Jiping เขาก็เป็นขาประจำของ Zhang Yimou นะครับ แต่ก็มาช่วย Chen Kaige ด้วย เราอาจจะไม่ได้เห็นฉากอารมณ์มีเพลงที่เร่งเร้าอารมณ์ขึ้น แต่บรรยากาศของหนังและการถ่ายภาพแบบแปลกๆมันก็เพียงพอให้เราสามารถบิ้วอารมณ์ตามความรู้สึกของตัวละครได้
หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิยายของ Lilian Lee ชื่อเดียวกับหนัง ซึ่ง Lilian Lee ก็ร่วมดัดแปลงนิยายมาเป็นบทหนังอย่างใกล้ชิดด้วย หนังเรื่องนี้มีส่วนผสมต่างๆมากมาย ทั้งรักสามเศร้า ประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนถ่ายการปกครอง จุดเปลี่ยนของการแสดงงิ้วกับการแสดงยุคใหม่ แนวคิดของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ถ้าสังเกตดีๆทุกเรื่องราวจะมี 2 มุมมองเสมอ ความคิดของตัวละครก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเหตุการณ์ ยุคสมัยในเรื่อง ผมมองว่านี่เป็นเรื่องราวที่แปลกมาก คือมันดูคล้ายกับชีวิตของคนเราที่มีจุดเปลี่ยนต่างๆมากมาย บ้างก็เปลี่ยนเอง บ้างก็เปลี่ยนเพราะคนอื่น บ้างก็เปลี่ยนเพราะปัจจัยรอบข้าง ความคิดของตัวละคร ณ จังหวะต่างๆก็ต่างกันไป ที่ผมว่าแปลกเพราะผมไม่เคยเจอหนังที่มีการเปลี่ยนเยอะขนาดนี้ เพราะถ้าผู้กำกับไม่ดี การตัดต่อไม่ได้ มันจะคุมเนื้อเรื่องไม่อยู่และหลุดไปไกล แต่ประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้กลับไม่หลุดประเด็นแม้แต่น้อย การตัดต่อที่รู้สึกเหมือนกระโดดไปมานั้นกลับเข้ากับหนังแหะ การถ่ายภาพแปลกๆ ก็ทำให้เรามีอารมณ์ที่แตกต่าง ผสมรวมๆเข้านี่กลายเป็นหนังที่สุดยอดมากๆ และดูล้ำยุคที่สุดในสมัยนั้นเลย
ผมทันอยู่นะครับ ตอนที่ Leslie Cheung เสียชีวิต มันช็อคมากๆ ผมดูหนังของเขามาก็หลายเรื่อง แต่ละเรื่องก็สุดยอดทั้งนั้น ผมเทียบการเสียไปของเขาพอๆกับการเสียไปของ Heath Ledger เลย แต่ว่าไปไฉนชีวิตของ Leslie Cheung ถึงคล้ายกับ Farewell my Concubine แล้วจบแบบเดียวกันละ!
ผมไม่เคยดูงิ้วรู้เรื่อง ถ้าไม่มีใครคอยบอกว่านี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรผมก็ไม่เข้าใจ มันก็คล้ายๆกับรำไทย นาฎศิลป์ โขน ทุกการรำมีเรื่องราว แต่ทุกครั้งที่ดูผมก็ไม่เคยรู้เลยว่าเรื่องราวนั้นคืออะไร ตอนสมัยเรียนมีอาจารย์ประจำชมรมนาฎศิลป์ หลังจากรำเสร็จ อาจารย์แกก็ดูกรึ่มๆ (ท่าจะเมา) ก็ขึ้นไปเวที บ่นทำนองตัดพ้อ แล้วก็เรียกนักแสดงขึ้นไปบนเวที แล้วก็สอนว่าท่าเต้นนี่หมายถึงอะไร ทำไมต้องทำนิ้วแบบนี้ โอ้! เห้ยมันมีเรื่องราวของมันจริงๆแหะ ไม่ใช่แค่เต้นให้สวยงาม แต่ทุกการรำมันมีความหมายอยู่ ทำไมต้องถอย 7 ก้าว ทำไมต้องใช้มือซ้ายยก เล็กๆน้อยๆพวกนี้ ถ้าเราสามารถเข้าใจก่อนที่จะดูได้ ผมว่ามันจะไม่ใช่แค่สวยงาม แต่จะยิ่งชื่นชมคนที่ประดิษฐ์ท่าพวกนี้ขึ้นมานะครับ
ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับทุกคนนะครับ ถึงจะเป็นหนัง Palme d’Or แต่ก็ไม่ได้ดูยากมาก ดูเอาเนื้อเรื่องสนุกแน่และอาจจะได้ประวัติศาสตร์จีนร่วมด้วย ใครชอบดูงิ้วก็ห้ามพลาดเลย ใครสาวกของ Leslie Cheung เรื่องนี้ก็ห้ามพลาดอยู่แล้ว และถ้าใครอยากดูหนังแนวคล้ายๆกันนี้ มีอีกเรื่องนึงที่ Chen Kaige กำกับด้วย ฉายเมื่อปี 2008 เรื่อง Forever Enthralled เป็นเรื่องของ Mei Lanfang อีกหนึ่งนักแสดงงิ้วชื่อดังมากๆของจีน หนังอาจไม่ยอดเยี่ยมเท่า Farewell, my Concubine แต่ก็แนะนำให้ดูสองเรื่องนี้ติดๆกันเลย แล้วคุณอาจจะหลงรักการแสดงงิ้ว
คำโปรย : “Farewell, my Concubine หนังจีนแผ่นดินใหญ่ที่ยอดเยี่ยมที่สุด กำกับโดย Chen Kaige พบกับการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ Leslie Cheung นี่เป็นหนังที่มีส่วนผสมระหว่างงิ้ว รักสามเศร้า และประวัติศาสตร์ของจีนได้อย่างลงตัวที่สุด”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : LOVE
Leave a Reply