Fargo

Fargo (1996) hollywood : Joel Coen ♥♥♥♥

ความโลภละโมบ เห็นแก่ตัว บ้าคลั่งเสียสติแตกของคน จะสามารถไปไกล ‘Far Go’ ได้ถึงขนาดไหน, ในโลกที่ไม่มีใครเต็มของสองพี่น้อง Coens ประกอบด้วย Frances McDormand, William H. Macy, Steve Buscemi, Harve Presnell ไม่ขำจนตายก็ขำไม่ออก หนาวเหน็บไปถึงขั้วของหัวใจ

ใครกันจะหลงลืมความ Easygoing เอาแต่พยักหน้าทำตาโตของ Frances McDormand
เครียดยิ่งกว่า A Serious Man ของ William H. Macy
พ่อตาขี้งก Harve Presnell กับเงินในกระเป๋าถือ
ใบหน้า Steve Buscemi โคตรจะ Funny Lookin’
ชาตินี้พูดไม่เคยเต็มประโยคของ Peter Stormare

โดยไม่รู้ตัว นี่คือภาพยนตร์ Masterpiece ที่เป็นพิมพ์เขียวให้กับสองพี่น้อง Joel Coen และ Ethan Coen ก่อกำเนิดคำเรียกที่ว่า ‘หนังสไตล์ Fargo’ … แต่มันก็แอบแปลกน่าฉงนอยู่นะ เพราะปกติถ้าผลงานของผู้กำกับคนไหนมีลักษณะโดดเด่นเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงๆ จะมีคำเรียกตามชื่อผู้กำกับ อาทิ หนังสไตล์ Ozu, หนังสไตล์ Truffaut ฯ แต่เฉพาะกับสองพี่น้อง Coens คงเพราะพวกเขาทำงานคู่กันโดยตลอด จะให้เรียกว่า ‘หนังสไตล์สองพี่น้อง Coens’ มันคงจะ…ยาวเกินไป ใครๆเลยมักเรียกผลงานของพวกเขาว่า ‘หนังสไตล์ Fargo’ แทน

กับคนที่ไม่ใช่แฟนๆของสองพี่น้อง Coens อาจไม่เข้าใจคำว่า ‘พิมพ์เขียว’ สักเท่าไหร่ คือถ้าคุณมีโอกาสรับชมผลงานเรื่องถัดๆไปอย่าง O Brother, Where Art Thou? (2000), No Country for Old Men (2007), Burn After Reading (2008), A Serious Man (2009) ฯ จักพบเห็นบางสิ่งอย่างที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันในจักรวาลของพวกเขา

จริงๆเพราะผมรับชมผลงานอื่นๆของสองพี่น้อง Coens มาก่อนกระมัง แล้วถึงค่อยมีโอกาสได้ดู Fargo นี่เป็นครั้งแรก เลยสามารถจับแนวคิด สไตล์ลีลา เกิดความเข้าใจรสนิยมของพวกเขาได้โดยทันที

Joel David Coen (เกิดปี 1954) และ Ethan Jesse Coen (เกิดปี 1957) สองพี่น้อง Coen Brothers, ต่างเกิดที่ St. Louis Park, Minnesota ในครอบครัว Jewish แม่เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ St. Cloud State University พ่อเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ University of Minnesota, ตั้งแต่เด็ก Joel เก็บเงินจากรับจ้างตัดหญ้า ซื้อกล้อง Vivitar Super 8 ร่วมกับน้องและเพื่อนข้างบ้านถ่ายทำหนังสั้นหลายเรื่อง โตขึ้น Joel เข้าเรียนสร้างภาพยนตร์ New York University ส่วน Ethan เรียนปรัชญา Princeton University

Joel เข้าสู่วงการภาพยนตร์ก่อน จากการเป็นผู้ช่วยนักตัดต่อ มีโอกาสรู้จักร่วมงานกลายเป็นเพื่อนสนิทของ Sam Raimi ตั้งแต่ The Evil Dead (1981) ซึ่งพอ Ethan จบออกมา พวกเขาก็สร้างภาพยนตร์ร่วมกันเรื่องแรก Blood Simple (1984) นำแสดงโดย Frances McDormand (ที่ไม่นานก็ได้แต่งงานกับ Joel) คว้ารางวัล Grand Jury Prize จากเทศกาลหนัง Sundance และ Independent Spirit Award: Best Director

ผลงานในช่วงแรกๆของสองพี่น้อง Coens ขึ้นๆลงๆเอาใจยากเสียเหลือเกิน Raising Arizona (1987) ประสบความสำเร็จล้นหลาม, Miller’s Crossing (1990) ขาดทุนย่อยยับ, Barton Fink (1991) ถึงจะคว้า Palme d’Or แต่ก็ไม่ทำเงิน, ล่าสุดก็ The Hudsucker Proxy (1994) ทุนสร้าง $30 ล้านเหรียญ แม้นำแสดงโดย Paul Newman, Jennifer Jason Leigh แต่ทำเงินในอเมริกาได้เพียง $3 ล้านเหรียญ บรรดานายทุนจึงเริ่มเกิดความหวาดหวั่นวิตกจริต  สองพี่น้อง Coens เลยยอมลดสเกลงานลง ใช้ทุนสร้างไม่เยอะมากในโปรเจคถัดไป แต่ให้เวลากับการพัฒนาเรื่องราวให้มีความซับซ้อนมากขึ้น

สำหรับ Fargo เลือกพื้นหลังคือรัฐบ้านเกิด Minnesota ขณะที่เรื่องราวแม้ตอนต้นเรื่องจะขึ้นว่า ‘THIS IS A TRUE STORY’ แต่ถ้าใครนั่งดูจนจบ End Credit จะมีข้อความขึ้นว่า

“The Persons and events portrayed in this production are fictitious”.

สรุปแล้วก็คือ ทั้งหมดในหนังเรื่องนี้แต่งขึ้นนะครับ อาจมีอ้างอิงจากเหตุการณ์จริงบ้างนิดหน่อย แต่สองพี่น้อง Coens ไม่ได้ดัดแปลงนำเรื่องราวมาจากไหนทั้งนั้น … พวกเขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลทำไมต้องโกหกหลอกลวงคนดูตั้งแต่ตอนต้นเรื่องว่า

“If an audience believes that something’s based on a real event, it gives you permission to do things they might otherwise not accept”.

ผลงานในยุคแรกๆของสองพี่น้อง Coens ในเครดิตมักแบ่งแยก Ethan เป็นโปรดิวเซอร์ ขณะที่ Joel เป็นผู้กำกับ (จริงๆต่างเหมารวมงานของกันและกัน ไม่เคยมีแบ่งแยก) จนกระทั่ง The Ladykillers (2004) ถึงค่อยขึ้นเครดิตเป็นกำกับร่วม โปรดิวเซอร์ร่วม เขียนบทร่วม (ร่วมหมดทุกอย่าง)

เรื่องราวของ Jerry Lundegaard (รับบทโดย William H. Macy) กำลังมีปัญหาการเงินครั้งใหญ่ เดินทางสู่ Fargo, North Dakota วางแผนให้โจรสองคน Carl Showalter (รับบทโดย Steve Buscemi) กับ Gaear Grimsrud (รับบทโดย Peter Stormare) เดินทางมาลักพาตัวภรรยาที่ Minneapolis เพื่อเรียกค่าไถ่จากพ่อตาจอมงก Wade Gustafson (รับบทโดย Harve Presnell) แต่เรื่องราววุ่นๆก็บังเกิดขึ้น ความผิดพลาดแบบไม่มีใครคาดคิดถึง ทำให้เรื่องราวไปเข้าหูตำรวจสาวท้องแก่ Marge Gunderson (รับบทโดย Frances McDormand) ต้องอุ้มครรภ์ออกปฏิบัติการติดตามไล่ล่าสืบคดี

William Hall Macy Jr. (เกิดปี 1950) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Miami, Florida, โตขึ้นเข้าเรียนที่ Bethany College เพื่อเป็นสัตวแพทย์ แต่ไม่นานก็ขอย้ายไป Goddard College เพื่อเรียนเป็นนักแสดงภายใต้ David Mamet จบออกมาเป็นนักแสดงละครเวที Off-Broadway, Broadway, ตามด้วยซิทคอม ซีรีย์โทรทัศน์, สมทบในภาพยนตร์ House of Games (1987), Homocide (1991), Mr. Holland’s Opus (1995), แจ้งเกิดโด่งดังกับ Fargo (1996), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Pleasantville (1998), Magnolia (1999), Seabiscuit (2004), Bobby (2006) ฯ

รับบท Jerry Lundegaard นายหน้า/ผู้จัดการขายรถที่ Oldsmobile, Minneapolis มีความต้องการร้อนเงินด่วนด้วยเหตุผลอะไรสักอย่าง เดินทางไปไกลถึง Fargo ติดต่อสองกุ้ยให้ลักพาตัวภรรยาเรียกค่าไถ่พ่อตา แต่เมื่ออะไรๆที่คิดไว้เกิดความผิดพลาดเสียหมด ถูกตำรวจติดตามมาจนพบเจอ รีบเผ่นแนบแต่จะหนีพ้นเอาตัวรอดเสียที่ไหน

Jerry ดูเป็นคนพึ่งพาไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ ทั้งๆที่มีความเพ้อฝันทะเยอทะยาน แต่คิดทำอะไรขาดความรอบคอบรัดกุม ผิดพลาดไปเสียทุกอย่าง แบบนี้ธุรกิจอะไรก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อเขาตกอยู่ในสภาวะเข้าตาหมาจนตรอก เกิดความคิดชั่วร้ายประการหนึ่ง นั่นทำให้ชีวิตพุ่งตกต่ำดิ่งลงเหวแบบไม่มีใครช่วยเหลือได้ สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง

Macy มีโอกาสได้มาทดสอบหน้ากล้องในบทอื่นๆ แล้วเกิดความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า ตัวเองเหมาะสมกับ Jerry นี้เป็นที่สุด แต่เมื่อสองพี่น้อง Coens ไม่ได้ติดต่อกลับไปขณะโปรดักชั่นกำลังจะเริ่มขึ้น บินตรงไป New York พูดเชิงข่มขู่ว่า

“I’m very, very worried that you are going to screw up this movie by giving this role to somebody else. It’s my role, and I’ll shoot your dogs if you don’t give it to me”.

น่าจะเป็นที่ฮวยจุ้ย เค้าโครงหน้า ริ้วรอยตีนกา ดวงตาโต และรอยยิ้มกว้างเกินของ Macy สะท้อนความปวกเปียก ป้อแป๋ อ่อนแอ ดูทึ่มทื่อ ไม่ใช่คนเฉลียวฉลาดมีอนาคตสักเท่าไหร่ เลยมักถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้อื่น ภาพลักษณ์เหมือนคนขี้แพ้ ไม่สามารถเอาตัวรอดในโลกกว้างได้

Frances Louise McDormand ชื่อเดิม Cynthia Ann Smith (เกิดปี 1957) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา สุดยอดนักแสดง Triple Crown of Action (Oscar, Tony, Emmy) เกิดที่ Gibson City, Illinois, เติบโตขึ้นในครอบครัวบุญธรรมของบาทหลวง Vernon W. McDormand วัยเด็กออกติดตามพ่อไปหลายเมือง (บาทหลวงจะย้ายเมืองทุกๆ 2-3 ปี) ก่อนปักหลักเรียนจบจากวิจิตรศิลป์สาขาการแสดงละครจาก Bethany College แะปริญญาโทสาขาเดียวกันจาก Yale School of Drama เพื่อนร่วมห้อง Holly Hunter, เข้าสู่วงการจากแสดงหนังเรื่อง Blood Simple (1984) ตกหลุมรักแต่งงานกับผู้กำกับ Joel Coen ร่วมงานเป็นขาประจำกันเรื่อยมา ผลงานเด่นอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ร่วมกับ Coens) อาทิ Mississippi Burning (1988), Almost Famous (2000), North Country (2005), Three Billboards Outside Ebbing, Missouri (2017) ฯ

รับบท Marge Gunderson หัวหน้าตำรวจที่ Brainerd, Minnesota ขณะนั้นกำลังท้องได้ 7 เดือน แม้มีความยากลำบากในการสืบคดี สามีก็หึงหวงรักมาก แต่ความเฉลียวฉลาดที่มากเกินตัว ทำให้สามารถติดตามเบาะแสจนค้นพบเจอทุกสิ่งอย่างที่อยู่เบื้องหลังคดีนี้

ความ ‘Easygoing’ ของตัวละคร เกิดจากสำเนียงการพูดที่มีคำเรียกว่า ‘Minnesota Nice’ เวลาพูดมักลงท้ายด้วยการลากเสียงยาว “Yah, you betcha” ช่างมีความขี้เกียจคร้านแฝงอยู่ แต่ขณะเดียวก็มีความลุ่นไหล นุ่มนวล (พยักหน้าตามไปด้วย) ผู้ฟังรู้สึกเป็นมิตร พึ่งพาได้ แม้บางครั้งอาจเป็นสิ่งที่ผู้ฟังกำลังเข้าใจผิดอยู่ก็เถอะ

“I’m not sure I agree with you a hundred percent on your police work, there, Lou”.

คนที่ไม่ถึงกับเก่งภาษาอังกฤษมาก ได้ยินประโยคนี้จะต้องครุ่นคิดตามถึงสองตลบ ฉันไม่แน่ใจ, ฉันเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ … เอะ ตกลงจะแน่ใจหรือไม่เห็นด้วยกันเนี่ย!

เกร็ด: ท่าเดินของ McDormand ไม่ได้จะเลียนแบบคนท้อง แต่เพราะ ‘Pregnancy Pillow’ ยัดขนนกเข้าไป นั่นเป็นท่าเดินที่จะสร้างสมดุลให้ตัวเองเป็นที่สุด

แม้กว่าที่ตัวละครนี้จะปรากฎตัวออกมาครั้งแรก 30 นาทีถัดไป แต่ก็จะสร้างความประทับใจล้นพ้นให้ตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตา พอเห็นว่าเธอท้องและเป็นตำรวจ จะเกิดความเห็นอกเห็นใจ เหนื่อยแทน สามีทำงานอะไรว่ะเนี่ย! พึ่งพาไม่เห็นจะได้, ผู้กำกับ Coens ให้นักแสดงครุ่นคิดพื้นหลังของตัวละครกันเอง ซึ่ง McDormand เล่าว่า ตัวละครของเธอกับสามีต่างเป็นตำรวจที่ Brainerd เมื่อแต่งงานก็รู้ว่าต้องมีใครสักคนหนึ่งลาออก เพราะตัวละครของเธอมีโอกาสก้าวหน้ามากกว่า สามีเลยยินยอมลาออกมาเป็นศิลปินวาดรูป

ใบหน้าของ McDormand ก็จะแบบว่า (ภาพนี้แหละ) ฟุ้งๆยุ่งๆ ตาโต ยิ้มร่า พยักหน้าเรื่อยเปื่อย แต่ใครจะไปคาดคิดว่าในความมุ้งมิ้งของเธอ กลับเต็มเปี่ยมด้วยความเฉลียวฉลาดรอบรู้ระดับอัจฉริยะ น่าจะเป็นคนเดียวในหนังเรื่องนี้ที่สามารถพึ่งพาได้จริงๆ

ด้วยเหตุนี้การจัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Heroes & Villains เมื่อปี 2003 ตัวละคร Marge Gunderson ติดอันดับ 33 ฝั่ง Heroes

Steven Vincent Buscemi (เกิดปี 1957) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York พ่อมีเชื้อสายอิตาเลี่ยน แม่เป็นชาว Irish นับถือ Roman Catholic, ตั้งแต่สมัยเรียนมีความสนใจด้านการแสดง โตขึ้นสมัครเข้า Lee Strasberg Institute ระหว่างนั้นก็ทำงานเป็นนักดับเพลิง (เห็นว่าตอน 9/11 เป็นหนึ่งในอาสาสมัครดับเพลิงตึก World Trade Center) สู่วงการภาพยนตร์จาก This Way it is (1985), เริ่มมีชื่อเสียงจากการได้ร่วมงานสองพี่น้อง Coens เรื่อง Millers Crossing (1990) โด่งดังกับ Reservoir Dogs (1992), Con Air (1997), Armageddon (1998), The Big Lebowski (1998), พากย์เสียง Monsters, Inc (2001) ฯ

รับบท Carl Showalter คำอธิบายตรงสุด Funny Lookin’ แค่เห็นหน้าก็ชวนให้ตลกขบขัน วันๆเอาแต่พูดพร่ามและยิ้ม ชอบยืนกรานว่าควบคุมทุกอย่างอยู่ แต่สถานการณ์มักเลยเถิดไปเสมอ ช่วงหลังโดนยิงเข้าที่ปาก … ขำไม่ออกเลยทีเดียว

ผมแทบไม่เคยเห็น Buscemi รับบทบาทลักษณะอื่นๆ จะเรียกว่า Typecast ก็ยังได้, ตัวละครมักต้องมีบางสิ่งอย่างที่เพี้ยนๆ บ้าบอคอแตก หลุดโลก คงเพราะภาพลักษณ์พี่แก เกิดมาหน้าตา Funny Lookin’ เป็นนิยามที่หนังพูดถึงได้ตรงสุดๆเลย

เกร็ดไร้สาระ: ‘Fuck’ ดังขึ้นทั้งหมด 75 ครั้ง

Rolf Peter Ingvar Storm (เกิดปี 1953) นักแสดงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Kumla, Sweden โตขึ้นเข้าเรียนเป็นนักแสดงที่ Royal Dramatic Theatre (ของประเทศสวีเดน) หลังจากสร้างชื่อให้ตัวเองมุ่งสู่ New York เคยได้รับการชักชวนจากสองพี่น้อง Coens เรื่อง Miller’s Crossing (1990) แต่ตอนนั้นบอกปัดปฏิเสธไป มีโอกาสอีกครั้งหนึ่งกับ Fargo (1996) แจ้งเกิดโดยทันที บทบาทอื่นๆอาทิ The Lost World: Jurassic Park (1997), The Big Lebowski (1998), Minority Report (2002), Constantine (2005) ฯ

รับบท Gaear Grimsrud หนุ่มหน้าเข้ม ไม่ค่อยชอบพูดคุยยิ้มแย้ม (มักพูดเป็นท่อนๆ ไม่เคยเต็มประโยค) อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ชอบใช้ความรุนแรงสุดโต่งในการแก้ปัญหา เหมือนจะไม่ค่อยมีสมองสติปัญญาสักเท่าไหร่ ทั้งยังเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจสุดๆเลย

คงเพราะจับคู่หูต่างกันได้สุดขั้วตรงข้าม ทำให้ทั้งสองเติมเต็มซึ่งกันและกันได้อย่างลงตัว Buscemi เอาแต่พูด ขณะที่ Storm หน้านิ่วคิ้วขมวด ใบหน้ามีอารมณ์เดียว แต่ข้างในครุ่นคิดอะไรไม่มีใครรับรู้ได้ นอกจากเห็นผลลัพท์การกระทำของเขาเลย

เกร็ด: ประมาณนาทีที่ 30 ตอนรถคันหนึ่งวิ่งผ่านตัดหน้า ตัวละคร Gaear สถบคำว่า “Jävla fitta!” เป็นภาษา Swedish แปลว่า “fucking cunt!”

ในบทหนังของสองพี่น้อง Coens มักจะมีเขียนแค่ ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร มีการพูดลักษณะเรื่องราวใดออกมา บทสนทนามีนิดหน่อย ที่เหลือคือ Ad-Lib ให้นักแสดงครุ่นคิดดั้นพูดสดออกมาเองเลย หลายครั้งมันเลยดูเหมือนพวกเขามีความกระอักกระอ่วน ไม่รู้จะพูดอะไรออกมา เว้นแต่นักแสดงที่มีความเป็นธรรมชาติส่วนตัวสูงๆอย่าง Buscemi อะไรก็ไม่รู้พร่ามออกมาจากปากได้หมด

ถ่ายภาพโดย Roger Deakins ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอังกฤษ เข้าชิง Oscar 14 ครั้ง เพิ่งคว้าได้จาก Blade Runner 2046 (2017) เป็นขาประจำของสองพี่น้อง Coens ตั้งแต่ Barton Fink (1991)

ถึงหนังจะชื่อ Fargo แต่ไม่ได้ไปถ่ายทำยังเมือง Fargo สักฉากเลยนะ, สถานที่ถ่ายทำปักหลักอยู่ Minneapolis กับ St. Paul แต่ฤดูหนาวปีนั้น หิมะตกน้อยสุดในรอบทศวรรษ ทำให้หลายๆฉากต้องนำหิมะปลอมผสมเข้ากับหิมะจริง ให้ดูเยอะเข้าไป เกิดสัมผัสของความหนาวเหน็บไปถึงขั้วของหัวใจ

แซว: สองพี่น้อง Coens ให้คำจำกัดความ Minnesota ว่า “Siberia with family restaurants.”

เมื่อผู้ชมเห็นรถวิ่งฝ่าหิมะตกตั้งแต่ฉากแรก ไม่ว่าจะรู้สึกร้อนตับแตกกับอากาศข้างนอก พลันรู้สึกเย็นๆสยิวกายขึ้นมาทันที นี่เรียกว่าการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โลกของหนัง, พบเห็นตัวละครใส่เสื้อคลุมกันหนาวหนาเตอะ ก็รู้สึกสั่นๆหนาวแทน และยิ่งนางเอกท้องแก่ เดินย่างก้าลำบากแสนเข็น ย้ำหิมะไปอย่างเชื่องช้า เกิดความวิตกจริตกลัวว่าจะลื่นหล่นล้มขึ้นมา … ทั้งหมดนี้ผสมผสานเป็นสัมผัสอึดอัดอั้นทรมาน สภาพอากาศของหนังเตรียมพร้อมให้ผู้ชมรับกับความรุนแรงบ้าคลั่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้

ไม่ยักกะรู้ว่า Jerry ติดคุกอยู่! ถ้าพิจารณาจากวิกฤตของเขาตอนนั้น ก็เกือบๆอยู่ในห้องขังละครับ (ได้เข้าจริงๆก็ช่วงท้ายเลย) พวกบริษัทที่ใช้บานเกล็ดแนวดิ่งอย่างนี้ เวลาเปิดสุดมองจากข้างนอก โดยไม่รู้ตัวราวกับซี่กรงขังติดคุกก็ไม่ปาน

จะมีช็อตหนึ่งก่อนหน้านี้เล็กน้อย บนผนังเต็มไปด้วยรูปภาพเจ้าของ/ผู้จัดการบริษัท ติดผนังเต็มแน่นจนแทบหาที่ว่างไม่ได้ นี่เป็นการประชดประชันที่รุนแรงมากๆเลยนะ ราวกับว่าคนพวกนี้กำลังจับจ้องมองมาที่เราอยู่ กระซิบในจิตวิญญาณ อย่าทำให้บริษัทของเราอับอายขายหน้าเสียชื่อเสียงเป็นอันขาด!

ถ้ามีคนใส่ผ้าคลุมปิดหน้าปิดตา เดินมาด้อมๆมองๆตรงหน้าบ้าน อย่ามัวทำหน้าตาเอ๋อเหรอ ทึ่มทื้อ ค้างอยู่อย่างนี้นะครับ Jean Lundegaard (รับบทโดย Kristin Rudrüd) แม้มีฉากจะออกไม่เยอะ แต่ตราตรึงในความซื่อบื้อของตัวละครได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะตอนเอาแต่หั่นผัก และการวิ่งหนีออกจากอ่างอาบน้ำ มีส่วนผสมของ Psycho (1960) กับ The Shining (1980) [ตอนทุบประตู]

หลายครั้งของหนังมีลักษณะเหมือนภาพ Surrealist อย่างช็อตนี้ ณ ลานจอดรถที่ขาวโพลนไปด้วยหิมะ (High Key) ตัดกับทุกอย่างที่ดูเป็นสีดำ รถ เสาไฟ ต้นไม้ คงต้องการสะท้อนความโดดเดี่ยวอ้างว้างของพระเอกขณะที่กำลังเดินไปขึ้นรถ, แต่จากนี้ เหมือนว่าน้ำแข็งขึ้นเกาะกระจกหน้ารถ ทำให้เขาต้องเอาไม้ขูดออกมาไถๆเคาะๆ, นี่มีนัยยะถึง อนาคตเบื้องหน้า (กระจกหน้า) ที่กำลังมองอะไรไม่เห็น (มีน้ำแข็งเกาะ เอาไม้มาขูดก็ไม่ค่อยออก)

ช็อตนี้ก็โคตร Abstract เช่นกัน ช่วงขณะ Gaear Grimsrud กำลังขับรถไล่ล่าอีกคันหนึ่งที่วิ่งผ่านมาพบเห็นพวกเขาขณะ… ภาพถ่ายจากหน้ารถ รอบข้างมืดมิดสนิท แสงไฟสว่างหน่อยจากด้านหน้ารถ ไกลลิบๆในความมืดเห็นไฟเบรคด้านหลังสีแดงราวกับดวงตาของปีศาจ

คือมันเป็นช็อตที่ ถ้าคุณไม่เคยรับชมพบเห็นหนังจะไม่สามารถบอกได้เลยว่าคืออะไร นี่แหละครับที่เรียกว่า Abstract

บางครั้งกับไดเรคชั่นเจ๋งๆ เลือกวางมุมกล้องถ่ายทำ Long Take ไม่จำเป็นต้องใช้การตัดต่อมาแทรกคั่น, ช็อตแนะนำตัวละคร Merge พร้อมสามี โต๊ะกินข้าวอยู่ด้านซ้าย หลังอาหารเช้ากินไข่ ส่วนประตูบ้านเปิดออกไปทำงานด้านขวา นี่สะท้อนความแตกต่างของทั้งสอง บ้านเดียวกันแต่ต้องมีคนหนึ่งที่เสียสละ (ปกติมักเป็นภรรยาที่เสียสละลาออกเป็นแม่บ้าน แล้วให้สามีก้าวหน้าในอาชีพการงาน แต่หนังจงใจกลับตารปัตรให้มันดูขบขันแบบหึๆ)

ช็อตที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรบนลานจอดรถนี้ กลับทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่อง Last Year At Marienbad (1961) คงเพราะเงาแสงอาทิตย์ที่สาดส่องลงมา แต่นัยยะคงไม่ได้มีความลึกซึ้งขนาดนั้น เพราะนี่เป็นแค่ฉากขโมยทะเบียนรถยนต์คันอื่นเท่านั้น

หลายคนอาจครุ่นคิดไม่ออกว่า ฉากของ Mike Yanagita มัน WTF อะไร? เหมือนจะไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับหนังแม้แต่น้อย

ก่อนที่ Marge จะมาพบเจอกับ Mike เธอได้ตามสืบคดีไปจนพบ Shep Proudfoot และพูดคุยกับ Jerry Lundegaard ยืนกรานว่ารถไม่ได้หาย, ค่ำคืนการพบเจอของพวกเขามันชัดเจนเลยว่า Mike เป็นผู้มีปัญหาทางจิต ต้องการร่วมรักหลับนอน ไม่แคร์ด้วยซ้ำว่าเธอกำลังท้องแก่ ซึ่งหลังจากวันถัดไป Marge คุยโทรศัพท์กับเพื่อนสาว รับรู้ว่าทุกสิ่งที่ Mike พูดออกมานั้นโกหก ด้วยสันชาติญาณความเฉลียวฉลาดส่วนตัว คงจับโยงท่าทางความสัมพันธ์กับ Jerry เลยตัดสินใจหวนกลับไปซักถามเขาอีกครั้ง ที่คราวนี้ถึงกับหัวเสียรุนแรงขับรถหนีหายไปเลย

นี่แปลว่าตัวละคร Mike ราวกับกระจกสะท้อนพฤติกรรมของ Jerry ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะทำให้ Marge เกิดข้อสงสัย ตระหนักอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ น่าจะเรียกว่าสันชาตญาณสัมผัสที่ 6 ซึ่งมันบังเอิญถูกเผงเลยละ!

แซว: หัวหมอนี่ หวีผมเถิกแบบว่า เหมือน ‘ลึงค์’ อย่างยิ่งเลยละ

ขณะที่ Gaear Grimsrud กำลังนั่งป่วยดูภาพยนตร์โทรทัศน์ (TV-Series) ฉากของ Bruce Campbell ในเรื่อง Generations (1989)

ผมชอบวินาทีนี้มากๆ ตอนที่ตัวละครหญิงในโทรทัศน์บอกว่าตนเองท้อง Gaear ทำหน้าเหวอตกใจอ้าปากค้าง คงเป็นสิ่งคาดคิดไม่ถึงสุดๆ ซึ่งเหตุการณ์ถัดจากนั้นของหนัง ก็ไม่มีใครคาดคิดถึงได้เช่นกัน!

แซว: นั่งมองช็อตนี้ เห็นวิธีเซนเซอร์ขวด/ยี่ห้อเบียร์ที่โคตรเท่ห์ แถมเซ็กซี่อีกต่างหาก

ไดเรคชั่นของฉากไคลน์แม็กซ์ เป็นความเหนือล้ำกวนประสาทของสองผู้กำกับเป็นอย่างมาก ไม่จำเป็นต้องพูดบอกว่าเกิดอะไรขึ้น แค่นำเสนอภาพบางส่วนก็ทำให้หลายคนเบือนหน้าหนีรับไม่ได้แล้ว ทั้งๆที่ก็ไม่ได้มีภาพอะไรรุนแรงเลยนะ แต่แค่สีหน้าของ McDormand ก็อธิบายได้ทุกสิ่งอย่าง

แน่นอนว่า Deakins ต้องได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ในปีนั้น ถือเป็นผลงานภาพโคตรสวยติด Top5 ของปู่แกเลย แต่พ่ายแพ้ถูก SNUB ให้กับ The English Patient อย่างน่าคับข้องแค้นใจ

ตัดต่อโดย Roderick Jaynes นามปากกาของสองพี่น้อง Coens (คงจะได้เงินเพิ่มกระมัง)

หนังไม่ได้ใช้มุมมองของตัวละครใดเป็นพิเศษ เริ่มต้นจาก Jerry Lundegaard ออกเดินทางสู่ Fargo ช่วงแรกก็สลับไปมาระหว่างความวุ่นๆในชีวิตเขา และนักเลงสองคนที่ว่าจ้างให้ลักพาตัว ผ่านไปประมาณ 30 นาที เมื่อความผิดพลาดใหญ่บังเกิดขึ้น หนังนำพาอีกชุดตัวละครเข้ามา หัวหน้าตำรวจ Marge Gunderson ค่อยๆสืบสวนไล่ล่าติดตามค้นหาเบาะแส ช้าๆได้พร้าเล่มงาม

สรุปแล้วหนังมี 3 เรื่องราวที่เกิดขึ้น ดำเนินเรื่องคู่ขนานกันไป
– เรื่องราวของ Jerry Lundegaard ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหาทางเอาตัวรอดในชีวิต
– สองกุ้ยคู่หูขั้วตรงข้าม Carl Showalter และ Gaear Grimsrud ลักพาตัวภรรยาของ Jerry เพื่อเรียกร้องค่าไถ่
– การสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมของ Marge Gunderson

เพลงประกอบโดย Carter Burwell หนึ่งในขาประจำของสองพี่น้อง Coens ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Being John Malkovich (1999), Adaptation (2002), Where the Wild Things Are (2009), Carol (2015), True Grit (2010), Three Billboards Outside Ebbing, Missouri (2017) ฯ

Fargo, North Dakota เริ่มจากเปียโนท่วงทำนองนุ่มๆเบาๆ ให้สัมผัสของความหนาวเน็บ เย็นยะเยือก, ตามด้วยท่วงทำนอง Norwegian Folk Song ชื่อว่า Denville Sauen (จะมีบทเพลงแยกชื่อ The Mallard) ให้สัมผัสของวิถีผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหิมะ, และท่อนสุดท้ายกระหึ่มด้วยการมาถึงของบางสิ่งอย่าง ไม่มีใครคาดเดาได้ว่านั่นคืออะไร แต่รับรู้ว่าต้องเป็นสิ่งยิ่งใหญ่อลังการ คาดคิดไม่ถึงอย่างแน่นอน

Fargo คือเรื่องราวของคนที่เต็มไปด้วยความโลภละโมบ เห็นแก่ตัว กระทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเงิน จนเกิดความบ้าคลั่งเสียสติแตก ไปได้ไกลถึงระดับกู่ไม่กลับ หันย้อนมาแก้ไขอะไรไม่ได้ทั้งนั้น แต่ทั้งนี้สุดท้ายแล้ว ก็มิมีใครสามารถหลบหนีรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมาย (หรือกฎแห่งกรรมก็ไม่รู้)

Mastermind ผู้อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งอย่างคือ Jerry Lundegaard เพราะเป็นคนทำอะไรไม่ประสบความสำเร็จสักอย่าง จึงคิดแผนการชั่วร้ายขโมยเงินจากพ่อตาของตนเอง แต่เมื่อทุกสิ่งอย่างบานปลายเลยเถิดควบคุมไม่ได้ ก็พยายามหลบลี้หนี สุดท้ายถูกจับขณะอยู่ใน Motel แห่งหนึ่ง กำลังดิ้นออกทางหน้าต่างแต่ก็ไม่ทันกาลเสียแล้ว

Wade Gustafson พ่อตาของ Jerry ชีวิตประสบพบเจอความสำเร็จ ร่ำรวยมั่งมี เงินทองเหลือล้นพ้นฟ้า แต่กลับมักมากเห็นแก่ตัว ขี้งกในสันดาน ไม่ยอมปล่อยวางเงินที่มี ก็เลยถูกยิงเข้าที่อก พกเงินไปโลกหน้าไม่ได้สักกะดอลลาร์เดียว

Carl Showalter นักเลงปากดีที่ชอบเรียกร้องโน่นนี่ พูดจาเรื่อยเปื่อยไร้สาระ เลยโดนยิงเข้าที่แก้ม ก็ยังคงปากเปียกปากแฉะพูดไม่รู้จักหยุดอีก ขณะว่าโชคชะตาเข้าข้างพบเจอเงินล้าน กลับร้อนรนไม่คิดแบ่งปันใคร สุดท้ายเลยถูกขวานจาม แล้วบดขยี้จนป่นปี้ไม่หลงเหลือเศษซากอะไร ทิ้งกระเป๋าเงินใบนั้น ใครได้ไปโชคดีชิบหาย (ไปโผล่เจออีกทีใน No Country for Old Men)

Gaear Grimsrud ด้วยอารมณ์ร้อนขี้ฉุนเฉียว ใช้กำลังความรุนแรงตัดสินปัญหา แถมสติปัญญาก็ต่ำต้อยด้อยเสียเหลือเกิน เมื่อจนมุมเมื่อครั้งคราไม่ได้พกอาวุธอะไรติดตัว ก็ออกวิ่งหนีโง่ๆ เลยโดนยิงเข้าที่ขาดิ้นทุรนทุราย ถูกจับติดคุกติดตาราง (ตัวละครที่น่าถูกฆ่ามากสุด กลับรอดตาย)

โลภละโมบ, เห็นแก่ตัว, พูดมากไร้สาระ, เกรี้ยวกราดฉุนเฉียว นี่คงเป็นสิ่งที่ผู้กำกับ Coens ต้องการนำพาอารมณ์ด้านมืดของมนุษย์ไปให้ไกลถึงขีดสุด ดูสิว่าจะยังสามารถดิ้นรนเอาตัวรอด หวนกลับมามีชีวิตอยู่ในสังคมได้ต่อหรือเปล่า

ขณะที่ Marge Gunderson ก็ไม่รู้คุณเธอจะโลกสวยสดใสไปไหน ดีเลิศสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ นี่ขนาดว่าท้องแก่แล้วด้วยนะ ยังสามารถค้นพบปัญหาและหนทางออก สิ้นเสร็จสรรพก่อนหน้าผู้ชายอื่นใด มีทัศนะคติแบบว่า

“There’s more to life than a little money, you know. Don’t you know that? And here you are. And it’s a beautiful day.”

ผมรู้สึกเหมือนนี่เป็นการประชดประชันของผู้กำกับ Coens เสียมากกว่า กวนตีนท้าถามผู้ชมว่า ผู้หญิง/คนลักษณะนี้นะหรือ จะสามารถเป็นที่พึ่งพิงพาแก้ปัญหาสังคม อุ้มอนาคตลูกหลานของประเทศชาติ ให้ถือกำเนิดแล้วก้าวย่างเดินต่อไปได้

เหมือนจะ Feminist แต่หนังก็ไม่ได้ยกย่องเชิดชูสิทธิสตรีสักเท่าไหร่ (พอจะมองมุมนั้นได้อยู่นะ) อย่างที่ผมบอกไปย่อหน้าที่แล้ว มันเหมือนการเสียดสีประชดประชันเสียมากกว่า ผู้ชายในโลกของ Coens มักอ่อนแอปวกเปียก น่าสมเพศเวทนา พึ่งพิงพาอาศัยไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ ขณะที่ผู้หญิงก็มักจะแรดร่าน บ้าบอคอแตก ติ๋งต้องเสียสติ … ก็ไม่ได้เห็นจะมีใครปกติดีสักคน

พระเอก/นางเอก หรือตัวละครในภาพยนตร์อื่นๆ มักต้องมีความโดดเด่น เก่งกาจ กระทำอะไรสักอย่างได้แตกต่างดีเยี่ยมไม่เหมือนใคร แต่ในโลกทัศน์ของสองพี่น้อง Coens ทุกคนมักมีความบ้าๆบอๆ แทบจะขั้วตรงข้าม, นี่อาจมาจากการที่สองผู้กำกับเป็นพี่น้องร่วมสายเลือด เวลาคนหนึ่งคิดบวก ก็จะท้าทายให้อีกคนคิดต่างหรือด้านลบตรงกันข้าม ภาพยนตร์ของพวกเขาเลยจะมีมุมมองกลับตารปัตร บิดๆเบี้ยวๆ อัปลักษณ์พิศดารแบบนี้แหละ

ด้วยทุนสร้าง $7 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ในอเมริกา $24.6 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั่วโลก $60.6 ล้านเหรียญ กำไรอย่างสวยสดงดงาม

เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes ถือว่าเป็นตัวเต็งหนึ่ง Palme d’Or ปีนั้น แต่สงสัยเพราะผลงานก่อนหน้า Barton Fink (1991) เคยคว้ารางวัลใหญ่ไปแล้ว เลยมอบให้แค่ Best Director กับ Joel Coen ปลอบใจแทน

เข้าชิง Oscar 7 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (William H. Macy)
– Best Actress (Frances McDormand) ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Screenplay Written Directly for the Screen ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography
– Best Film Editing

แม้รางวัลใหญ่จะพ่ายให้กับ The English Patient (1996) ตัวเต๋งจ๋าปีนั้น แต่กาลเวลาได้ทำให้ Fargo กลายเป็นตำนานไม่รู้ลืม และรางวัลสาขาบท ถือเป็น Oscar ตัวแรกของสองพี่น้อง Coens

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ในการแสดงของ Frances McDormand กับ William H. Macy เพี้ยนบ้าคลั่งสติแตก, ภาพถ่ายสวยๆของ Roger Deakins ยิ่งใหญ่เทียบเท่า Freddie Young ตอนถ่าย Doctor Zhivago (1965), และไดเรคชั่นอันเป็นเอกลักษณ์ ‘สไตล์ Fargo’

แต่เพราะการได้รับชมผลงานถัดๆมาของสองพี่น้อง Coens ทำให้เมื่อย้อนกลับไปพบเห็นพิมพ์เขียวต้นฉบับดั้งเดิม เลยทำให้ผมรู้สึกไม่จี๊ดจ๊าดโดนใจมากกว่านี้สักเท่าไหร่ (ก็เหมือนถ้าคุณดูหนัง James Bond ยุคใหม่ๆนี้จนติดตาตรึง หวนย้อนกลับไปดูภาคแรกๆสมัยป๋า Sean Connery คงได้แค่ชื่นชอบหลงใหล แต่ไม่ตราตรึงประทับใจเท่าที่ควร)

แนะนำกับคอหนัง Black Comedy, แนวสืบสวนสอบสวน, ผู้ชื่นชอบหิมะอากาศหนาว, ตากล้องที่หลงใหลในผลงานของ Roger Deakins, แฟนๆผลงานของสองพี่น้อง Coens และนักแสดง Frances McDormand, William H. Macy, Steve Buscemi ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความเพี้ยน บ้าคลั่ง เสียสติแตก และอาชญากรรม

TAGLINE | “Fargo ของสองพี่น้อง Coens นำพา William H. Macy ฝ่าลมหนาวไปได้ไกลแบบสุดๆ ก่อนที่ Frances McDormand จะดึงทุกคนหวนกลับคืนมา”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: