Faust

Faust (1926) German : F. W. Murnau ♥♥♥♥

เฟาสต์ (Faust) คือตำนานเรื่องเล่าโศกนาฏกรรมของเยอรมัน ชายผู้ขายวิญญาณให้กับปีศาจเมฟิสโต (Mephisto) เพื่อแลกกับทุกสิ่งอย่างบนโลก แต่มันคุ้มค่าแล้วหรือ?, ผลงาน Masterpiece เรื่องสุดท้ายที่สร้างในบ้านเกิดของ F. W. Murnau ก่อนอพยพย้ายมาอยู่อเมริกา “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

มีภาพยนตร์อยู่ 3-4 เรื่องของผู้กำกับ F. W. Murnau ที่นักวิจารณ์และผู้ชมส่วนใหญ่มองว่าเป็น Masterpiece ประกอบด้วย Nosferatu (1922), The Last Laugh (1924), Sunrise: A Song of Two Humans (1927), 4 Devils (1928) [เรื่องหลังสุดเห็นว่าฟีล์มสูญหายไปแล้ว แต่นักวิจารณ์สมัยนั้นยกย่องว่าคือผลงานดีที่สุดของ Murnau] แต่ผมจะขอเพิ่ม Faust (1926) เข้าไปอีกเรื่อง เพราะเหมือนว่า Murnau ขณะนั้นได้ทำสัญญากับปีศาจจริงๆ (เซ็นสัญญากับ Hollywood) ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างจากประเทศบ้านเกิดสู่อเมริกา และพอบรรลุข้อสัญญาก็ด่วนเสียชีวิตจากไปด้วยวัยเพียง 42 ปีเท่านั้น

ประมาณสัก 5 นาทีแรกผมก็รู้สึกได้แล้ว ว่าหนังเรื่องนี้โคตร Epic บ้าพลัง ต้องยกย่องระดับ Masterpiece เท่านั้นถึงควรค่าความยิ่งใหญ่ เปิดมาด้วยฉากที่ปีศาจ Mephisto ท้าพนันต่อรองกับเทวดา Archangel ถ้าสามารถเปลี่ยนชายคนที่ชื่อ Faust จากคนดีกลายเป็นคนเลวได้ ขอให้ตนได้ครอบครองโลกมนุษย์, ฉากถัดมา Mephisto สยายปีกปกคลุมเมือง Staufen ที่ Faust อาศัยอยู่ … ต้องใช้จินตนาการ วิสัยทัศน์ระดับไหนกันถึงคิดนำเสนอ ถ่ายฉากภาพนี้ออกมาได้

เกร็ด: ช็อตนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ฉากหนึ่งในบทเพลง Night on Bald Mountain ของอนิเมชั่นเรื่อง Fantasia (1940)

ต้องขอเล่าตำนาน Faust ก่อนนะครับ, เฟาสต์ หรือเฟาสตุส (Faustus) เป็นตัวเอกในตำนานโศกนาฏกรรมของชาติเยอรมัน ชายที่ขายวิญญาณของตนเองให้ปิศาจเมฟิสโตฟิลีส (Mephistopheles) เพื่อแลกกับองค์ความรู้ทุกสิ่งอย่างในโลกสมดั่งใจ, ที่มาของตัวละคร Faust มีหลายข้อสันนิษฐาน อาทิ
– Johann Faust (1400-1466) จิตรกรสัญชาติเยอรมัน ที่ถูกกล่าวหาว่าทำงานให้กับปีศาจ มีการเล่นเวทย์มนต์คาถาอาทิ พิมพ์หนังสือด้วยเลือด (จริงๆคือหมึกสีแดง)
– Johann Georg Faust (1480–1540) นักมายากล เล่นแร่แปรธาตุ และนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ที่ชอบเดินทางเร่ร่อนผจญภัยไปทั่ว แต่เพราะคนสมัยนั้นหลงคิดว่า การแสดงละเล่นของ Faust เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ มนุษย์ทำไม่ได้เลยคิดว่าเขาเป็นพ่อมด

ตำนานของ Faust มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็น Chapbook (หนังสือเล่มเล็กๆ) ครั้งแรกในปี 1587 ตีพิมพ์ในหนังสือภาษาเยอรมันชื่อเรื่อง Historia von D. Johann Fausten ไม่มีบันทึกชื่อผู้แต่ง (anonymous), ส่วนฉบับมีชื่อเสียงที่สุด คือละครเวทีภาษาอังกฤษของ Christopher Marlowe เรื่อง The Tragical History of the Life and Death of Doctor Faustus ซึ่งได้นำมาเขียนเป็นหนังสือชื่อ The Tragical History of Doctor Faustus ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1604

สำหรับฉบับภาษาเยอรมันที่ได้รับการยกย่องพูดถึง และเป็นต้นฉบับแรงบันดาลใจให้กับหนังเรื่องนี้ เขียนโดย Johann Wolfgang von Goethe (1749 – 1832) แบ่งออกเป็นสองตอน (ว่ากันว่า Goethe ใช้เวลาเขียนทั้ง 2 เล่มรวมเวลาแล้วกว่า 50 ปี)
– Faust. Der Tragödie erster Teil โศกนาฏกรรมของเฟาสต์ ตอนที่ 1 ตีพิมพ์ปี 1808, เมื่อ Mephisto นำพา Faust ให้รู้จักกับตัณหาราคะ ลักลอบมีสัมพันธ์ชู้สาวกับ Gretchen หญิงสาวผู้บริสุทธิ์อ่อนโยนไร้เดียงสา อันเป็นเหตุให้ครอบครัวของเธอถูกทำลายสิ้น (โดย Mephisto) พอ Faust รับรู้ค้นพบความจริงก็ตัดสินใจช่วยเหลือเธอสำเร็จ แต่ตนเองหลงเหลือแต่ความอับละอาย ท้อแท้ สิ้นหวัง

  • Faust. Der Tragödie zweiter Teil โศกนาฏกรรมของเฟาสต์ ตอนที่ 2 ตีพิมพ์ปี 1832 (หลังจาก Goethe เสียชีวิต), Mephisto นำพา Faust เดินทางย้อนเวลาไปยุคสมัยกรีก-โรมัน พาไปพบกับ Helen of Troy ที่เป็นตำนานเรื่องความสวยอันดับหนึ่งใต้หล้า ทำสงครามแย่งชิง ตกหลุมรักแต่งงาน ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเป็นสุขจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งวินาทีขณะที่ Mephisto จะนำเอาวิญญาณของ Faust ไป เหล่าเทพเทวดากลับลงมาพาขึ้นสวรรค์ เพราะ ‘gratuitous’ ที่มีต่อพระเจ้า

Faust ของ Goethe ได้รับการกล่าวขวัญยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของเยอรมัน มีความสำคัญเทียบเท่ากับผลงานกวีเอกของโลก อาทิ Homer, Dante, Shakespeare ฯ เนื่องจากเป็นเรื่องราวของมนุษย์ที่ตกเป็นทาสของกิเลสจนถึงกับขายวิญญาณให้ปีศาจ แรงบันดาลใจมามาจากความเชื่อเรื่องแม่มด และซาตานที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล และวรรณกรรมหลายๆเรื่องก็มักหยิบประเด็นนี้มาพูดถึงทั้งทางตรงทางอ้อม

UFA GmbH คือสตูดิโอสร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในเยอรมันช่วงครึ่งแรกของศตวรรษ 20 มีความสนใจนำตำนานเรื่อง Faust มาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ ตอนแรกเล็ง Ludwig Berger ให้เป็นผู้กำกับ แต่ Murnau ที่มีความสนใจเช่นกัน พอรู้ข่าวก็เข้าไปพูดคุยกดดันโปรดิวเซอร์ และดึงเอาตัว Emil Jannings ที่เคยร่วมงานกันจาก The Last Laugh (1924) ให้มาช่วยก่อกวนอีกคน จนพวกเขายินยอมเปลี่ยนใจให้ Murnau กำกับ

Friedrich Wilhelm Murnau (1888-1931) เป็นผู้กำกับหนังสัญชาติเยอรมัน ที่ทรงอิทธิพลมากสุดคนหนึ่งแห่งยุคหนังเงียบ, เกิดที่ Bielefeld, German Empire มีความหลงใหลในวรรณกรรมของ Schopenhauer, Nietzsche, Shakespeare, Ibsen ตั้งแต่ตอนอายุ 12 เข้าเรียนภาษาศาสตร์ (Philology) ที่ University in Berlin มีความสนใจในประวัติศาสตร์ศิลปะ และวรรณกรรม เคยเป็นนักแสดงในงานของโรงเรียนเข้าตาผู้กำกับ Max Reinhardt ชักชวนให้เข้าโรงเรียนการแสดงของตน, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 รับใช้ชาติตำแหน่งผู้บังคับบัญชา (Commander) ที่ Eastern Front ต่อมาเข้าร่วมทหารอากาศ ขับเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดตอนเหนือของฝรั่งเศส รอดชีวิตจากเครื่องตก 8 ครั้งโดยไม่เคยบาดเจ็บสาหัส

สิ้นสุดสงครามโลก ร่วมกับ Conrad Veidt ก่อตั้งสตูดิโอของตนเอง สร้างภาพยนตร์เรื่องแรกคือ The Boy in Blue (1919) น่าเสียดายฟีล์มสูญหายไปแล้ว, สำหรับผลงานสร้างชื่อเสียงของ Murnau เป็นที่รู้จักทั่วโลกคือ Nosferatu (1922) ที่ดัดแปลงลอกเลียนมาจากนิยาย Dracula (แต่เพราะติดเรื่องลิขสิทธิ์ จึงไม่มีปรากฎคำว่า Dracula ในหนังสักคำ) และ The Last Laugh (1925) ได้รับการยกย่องว่า ‘หนังเงียบสนิท’

สำหรับ Faust คือผลงานเรื่องสุดท้ายที่สร้างในประเทศเยอรมัน ก่อนเซ็นสัญญาปีศาจกับ Fox Studio อพยพย้ายมาอยู่ Hollywood, ดัดแปลงจากวรรณกรรม Faust. Der Tragödie erster Teil โศกนาฏกรรมของเฟาสต์ ตอนที่ 1 ของ Johann Wolfgang von Goethe มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็กน้อยให้เข้ากับวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ แต่ใจความสำคัญยังคงคล้ายเดิม

Frans Gösta Viktor Ekman (1890 – 1938) นักแสดงในตำนานสัญชาติ Swedish, เกิดที่ Stockholm เป็นอัจฉริยะที่เรียนรู้การแต่งหน้าด้วยตนเอง ‘self-taught master of disguise’ รับบทได้ทั้งชาย-หญิง เด็ก-คนแก่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่น่าจะที่สุดของสวีเดนยุคนั้น, เช่นกันกับวงการภาพยนตร์ เป็นนักแสดงคนแรกๆในหนังทดลองของ Victor Sjöström เรื่อง Trädgårdsmästaren (1912) แถมยังเป็นนำแสดงในหนังพูดเรื่องแรกของสวีเดน För hennes skull (1930), ส่วนระดับโลกโด่งดังขีดสุดจากการรับบท Faust ทั้งตอนแก่และหนุ่ม

ในตอนแรก Faust มีภาพลักษณ์ของชายสูงวัยเหมือนศาสดาผู้มีความรอบรู้ทรงภูมิทางวิทยาศาสตร์ท่วมตัว แต่ด้วยเหตุการณ์บางอย่างทำให้ตัวเขารู้สึกสิ้นหวังไร้ค่า แต่จิตใจยังเต็มเปี่ยมด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยานไม่สิ้นสุด โชคชะตาชักนำพาให้พบกับปีศาจ แลกเปลี่ยนความเยาว์กับทุกสิ่ง เกิดเป็นความเห็นแก่ตัว ต้องการครอบครองและกระทำทุกสิ่งอย่าง

คงเพราะทั้งชีวิตเรียนรู้จักแต่ตัวอักษรในตำราหนังสือ ไม่เคยออกไปพบเจอชีวิตโลกกว้าง ทำให้หลังจากได้รู้จัก Mephisto ปีศาจตนนี้ได้ชี้ชักนำพา เปิดโลกทัศน์สู่ความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุดของชีวิต จากคนแก่ไร้เรี่ยวแรงโรยรากลับเป็นชายหนุ่มหน้าใสหล่อบึกบัน เสกสรรกระทำอะไรก็ได้สมประสงค์ แต่ Faust กลับกลายเป็นเหมือนเด็กไม่รู้เดียงสา ปล่อยปละเผลอเรอ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีของชีวิต นั่นทำให้เขากำลังได้รับบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิต

การแสดงของ Ekman ต้องถือว่าเป็น Faust ที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ ถึงรูปลักษณ์กายภาพเปลี่ยน แต่จิตใจกลับมีความเหมือนคล้ายทั้งแก่หนุ่ม, ชายแก่ดักดานมีสายตาที่โหยหายบางสิ่ง ส่วนชายหนุ่มหน้าใสไร้เดียงสา อยากรู้อยากเห็นต้องการครอบครองทุกสิ่งอย่าง แต่พอได้เต็มอิ่มสมใจอยาก กลับมาโหยหาอีกครั้ง สายตาเหม่อลอยมองออกไปไกล แต่ความต้องการแท้จริงอยู่ในใจใกล้นิดเดียว

ผมรู้สึกทั้งสมเพศและเห็นใจตัวละครนี้ แต่ก็รับรู้เข้าใจเหตุผลของทุกสิ่งที่เกิดขึ้น อันเนื่องจากความรอบรู้ทรงภูมิของชายแก่เปรียบได้ดั่งกบในกะลา แต่ทางปฏิบัติกลับไม่เคยออกไปพบเจอโลกความจริง เรื่องราวความบัดซบทั้งหลายที่เกิดจากกิเลสตัณหาและการชี้ชักนำของเพื่อนเลวสู่หนทางที่ผิด นั่นคือบทเรียนชีวิตที่ไม่มีใครสอนได้นอกจากเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งพอเมื่อ Faust ได้เรียนรู้ข้อเท็จจริง เข้าใจทุกสิ่งอย่างแล้ว เขาย่อมจะสามารถเลือกตัดสินเดินทาง ตามความคิดหัวใจที่ถูกต้องแท้จริงได้

Emil Jannings (1884 – 1950) นักแสดงสัญชาติ German เป็นชายคนแรกที่ได้รางวัล Oscar: Best Actor จากหนังเรื่อง The Last Command (1928), เกิดที่ Rorschach, Switzerland พ่อเป็นนักธุรกิจสัญชาติอเมริกัน ส่วนแม่เป็นชาว German อพยพย้ายมาอยู่ Leipzig และ Görlitz หลังพ่อด่วนเสียชีวิต, มีความชื่นชอบหลงใหลในการแสดงตั้งแต่เด็ก เริ่มจากเป็นเด็กฝึกงานในโรงละครเวที ออกทัวร์ทั่วประเทศจนพอมีชื่อเสียง ตอนสงครามโลกครั้งที่ 1 กลายเป็นนักแสดงที่ช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับทหารกล้าทั้งหลาย

แม้จะไม่พึงพอใจในข้อจำกัดของภาพยนตร์ยุคหนังเงียบ แต่ Jannings ได้เซ็นสัญญากับ UFA Production มีผลงานการแสดงเรื่องแรก Die Augen der Mumie Ma (The Eyes of the Mummy, 1918) ค่อยๆประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งได้รับบท Othello (1922) ตามมาด้วย The Last Laught (1924) ที่ทำให้กลายเป็นนักแสดงขวัญใจของชาวเยอรมัน

หลังจาก Faust รู้สึกว่า Jannings ได้ถูก Murnau เหน็บตามไปอเมริกาด้วย เซ็นสัญญากับ Paramount Pictures ได้เล่นหนัง Hollywood อาทิ The Way of All Flesh (1927) กำกับโดย Victor Fleming [รู้สึกฟีล์มจะสูญหาไปแล้ว] ตามมาด้วย Street of Sin (1928) และ The Last Command (1929) ของผู้กำกับ Josef von Sternberg แต่อนาคตต้องจบลงเพราะการมาถึงของยุคหนังพูด เพราะตัวเขาพูดอังกฤษสำเนียงเยอรมันชัดมาก และขณะนั้น Nazi กำลังค่อยๆเรืองอำนาจ ทำให้ Jannings ตัดสินใจกลับไปรับใช้ชาติบ้านเกิด ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็กลายเป็น Idol ให้ทหารเยอรมันอีกครั้ง

Mephisto ปีศาจผู้สงสัยในอำนาจของพระเจ้า เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนจะมีชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่หากไม่หลงเชื่อในภาพลวงตาแห่งสวรรค์ หลังจากท้าพนันกับ Archangel ยินยอมทำตามทุกคำสั่งของ Faust เพื่อชักจูงชวนปลุกปั่นป่วนจิตใจ ให้ค่อยๆเข้าสู่ด้านมืดของโลก

การแสดงของ Jannings ต้องยกสามจอกคารวะเลย ท่าทางลีลาโดยเฉพาะสายตา หยอกเย้าเล่นเร้ากวนประสาท เย่อหยิ่งจองหอง เหมือนเด็กขี้อิจฉาตาร้อน, ผมชอบสายตาของพี่แกตอนมองรูปปั้นของพระแม่มารีย์อย่างมาก ช็อตนี้ไม่ได้มีนัยยะว่าปีศาจหวาดกลัวแสงสว่าง แต่มันคือความต้องการโหยหาอยากได้ โดยเฉพาะความรักที่ตนไม่เคยได้ตอบแทนมา จึงทำให้เกิดความอิจฉาพระแม่ พระบุตรทั้งหลายของพระเจ้า … ถ้าเพียงผู้ให้กำเนิด Mephisto มอบความรักความเอาใจใส่ให้สักนิดนะ เขาคงไม่กลายเป็นผู้เห็นแก่ตัว ต้องการครอบครองทุกสิ่งอย่าง

Faust และ Mephisto เกิดมาคู่กันเป็นของตาย ดีกับชั่วแม้เป็นขั้วตรงข้ามแต่มักไปด้วยกันได้สักระยะหนึ่ง จนกว่าฝ่ายใดมองเห็นรับรู้ว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่ตนต้องการ ก็หวนกลับคืนสู่ฝั่งของตนเอง, ถึงกายของ Faust จะถูกลวงหลอกล่อไปไกลแล้ว แต่ใช่ว่าตัวตนแท้จริงของเขาจะกลายเป็นดั่งที่ Mephisto ต้องการ ตอนจบก็อยู่ที่แล้วแต่ผู้ชมจะตีความแล้วว่าจะให้ตายแล้วขึ้นสวรรค์หรือลงนรก

แถมให้อีกคนกับนักแสดงหญิงที่ผมชื่นชอบประทับใจมาก Camilla Horn (1903 – 1996) นักแสดงนักเต้นสัญชาติ German ที่ตอนนั้นอนาคตไกลมาก อีกทั้งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับ Marlene Dietrich แสดงร่วมกันเป็นตัวประกอบหนังเรื่อง Madame Doesn’t Want Any Children (1925) แต่ขณะที่ Dietrich หนีไปอเมริกาก่อนช่วง Nazi ยึดอำนาจ เธอไม่ได้ไปซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถรับงานแสดงใน Hollywood ได้เลย, สำหรับหนังเรื่องนี้ เห็นว่า Murnau ได้เชิญ Lillian Gish นักแสดงสัญชาติอเมริกันมาร่วมแสดง แต่เธอต้องการให้ Charles Rosher มาเป็นตากล้องเท่านั้น ทำให้สุดท้าย Horn ได้เสียบแทน ถือเป็นภาพยนตร์รับบทนำเรื่องแรก (น่าจะประสบความสำเร็จที่สุดด้วย)

รับบท Gretchen หญิงสาวผู้มีความน่ารักสดใสซื่อบริสุทธิ์ นี่เป็นตัวละครดั่งภาพสะท้อนของ Faust ที่ครั้งหนึ่งเป็นผู้มีจิตใจดีงามแต่ถูกล่อลวงด้วยปีศาจ, Gretchen ก็เช่นกันถูกล่อลวงจาก Faust ให้ตกหลุมรักหลงใหลจนได้เสีย ผลลัพท์ของการปล่อยตัวปล่อยใจครั้งนั้นก็คือ สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง แม่ที่รัก พี่ชายที่หวงหา อีกทั้งลูกในไส้แท้ๆก็ไม่มีใครเหลียวแล … วินาทีที่ Faust หวนระลึกคิดถึงเธอ รับรู้สิ่งเกิดขึ้นกับหญิงสาว จิตใจคงสั่นสะท้านเพราะมันเป็นสิ่งสะท้อนเข้าสู่ตนเอง โอ้ละหนอ! นี่ฉันกำลังทำบ้าอะไรอยู่

ความน่ารักกุ๊กกิ๊กของ Horn สดใสตราตรึงมากๆ เล่นตัวยื้อยักอย่างพอเหมาะพอดี แต่พอถึงคราวซึมเศร้าหดหู่ หมดอาลัยตายอยาก ทั้งภาพลักษณ์ การเคลื่อนไหว ท่าทาง ทุกสิ่งอย่าง ทำเอาหัวใจผู้ชมสั่นสะท้าน เจ็บปวดรวดร้าว

สังเกต: ข้างหลังช็อตนี้เป็นภาพวาดนะครับ บันไดมันโค้งผิดปกติมากๆ เป็น Expressionist รูปแบบหนึ่ง บ่งบอกถึงจิตใจของหญิงสาวที่บิดเบี้ยวไปแล้ว

ถ่ายภาพโดย Carl Hoffmann ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติ German, กับหนังเรื่องนี้ความโดดเด่นอยู่ที่การจัดแสง/ความมืด ที่มีนัยยะแสดงถึงความดีชั่ว, ลีลาการซ้อนภาพ, เคลื่อนกล้องและ Special Effect การออกแบบพื้นหลัง/วาดภาพฉาก ในรูปแบบ German Expressionist

ด้วยความที่ Faust เป็นหนังแนวเหนือธรรมชาติ (Supernatural) มีตัวละครจากสวรรค์/นรก ซึ่งเราสามารถใช้แสงสว่างแทนความดี ความมืดแทนความชั่ว และหมอกควันขมุกขมัวคือกึ่งกลาง/ระหว่าง/ไม่แน่ใจ, ส่วนวิธีการจัดแสง มักจะมีการส่องสว่างชี้ชักนำสายตาขอผู้ชม เพราะ Maunau ต้องการใช้แสงสว่างประหนึ่งจุดโฟกัสของภาพ รอบข้างควรมืดมิดไม่จำต้องให้ความสนใจมาก อย่างช็อตนี้ จะเห็นว่ามีแสงสาดส่องที่มือของ Faust ชัดมาก

การซ้อนภาพเห็นได้บ่อยครั้งในหนัง แสดงถึงสิ่งที่เป็นปาฏิหารย์ล่องลอยหรือวิญญาณ/อดีต แต่ไฮไลท์คือการเฟดเข้าออกขณะซ้อนภาพหรือหายตัว, นี่ไม่ใช่เทคนิคมายากลของ Georges Méliès ที่ใช้การหยุดภาพการเคลื่อนไหว แล้วนำคนสัตว์สิ่งของหยิบเข้าดึงออกหายปุ๊ปปับ แต่จะใช้การค่อยๆปรากฎ ค่อยๆหายตัว นี่ใช้ความวุ่นวายยากกว่ามาก และเห็นได้บ่อยครั้งในหนัง

การเคลื่อนกล้องเห็นได้บ่อยครั้งในหนัง สมัยนั้นนี่ถือเป็นสิ่งทำได้ยาก เพราะกล้องมีขนาดใหญ่ราคาแพงทำให้ไม่มีใครอยากเสี่ยงเสียเท่าไหร่, ไฮไลท์คงเป็นขณะ Faust ขึ้นพรมเดินทางท่องโลกไปกับ Mephisto ฉากนี้ได้แรงบันดาลใจจาก Destiny (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang ใช้การตัดสลับเห็นระหว่างตัวละคร กับการเคลื่อนกล้องผ่านสถานที่ต่างๆ ป่าไม้ ลำธาร เมือง ฯ สังเกตคงดูรู้ว่าเป็นโมเดลจำลอง Miniature ต้องถือว่ามีความอลังการงานสร้างไม่น้อย ออกแบบ Art Direction โดย Robert Herlth ไม่ใช่ใครอื่น คือคนที่สร้างฉากนี้ใน Destiny นะแหละ

สำหรับสไตล์การออกแบบ German Expressionist เป็นการสื่อแทนอารมณ์ความรู้สึกของเรื่องราว/ตัวละคร มันอาจมีรูปลักษณ์บิดเบี้ยวเกินจริงไม่ได้สัดส่วน นี่ไม่จำเป็นต้องกับการออกแบบเมืองเท่านั้นนะครับ อย่างช็อตนี้ขณะที่ Faust กำลังจะเรียกปีศาจ เขาอยู่ระหว่างทางแยก 4 แพร่ง ระหว่างพระจันทร์กับความมืด (ต้นไม้ที่มีแต่กิ่งก้าน คือจิตใจที่ไร้ใบสดชื่น)

 

ด้วยทุนสร้างถึง 2 ล้านดอยช์มาร์ก สูงสุดขณะนั้นก่อนการมาถึงของ Metropolis (1927), ส่วนสิ้นเปลืองสุดของหนังกลับไม่ใช่การออกแบบสร้างฉาก หรือ Special Effect อลังการ แต่คือวิธีการถ่ายทำของ Murnau ที่ใช้กล้องสองตัวถ่ายทำพร้อมกัน (คนละทิศทาง) แล้วมีการถ่ายฉากเดิมซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง (เปลี่ยนมุมกล้องไปเรื่อยๆ) ซึ่งในขั้นตอนกระบวนการตัดต่อ เท่าที่สามารถระบุได้ในปัจจุบันมีอย่างน้อย 5 ฉบับตัดต่อของหนังที่แตกต่างกัน

Murnau ไม่เคยมีโอกาสให้สัมภาษณ์เหตุผลที่ทำไมต้องทำหนังหลายฉบับ แต่เหตุผลที่นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งหลายวิเคราะห์และเข้าใจตรงกันคือ เพื่อแบ่งแยกประเทศ/ภูมิภาคที่เข้าฉาย อาทิ ฉากที่ Marthe ยื่นแก้ว(น่าจะใส่สุรา)ให้กับ Mephisto ฉบับฉายอเมริกาเนื่องจากอยู่ในช่วง Prohibition Era จึงทำให้ตัวละครปฏิเสธไม่รับมาดื่ม ขณะที่ฉบับอื่นจะมีทั้งยกกระดก/ขอเพิ่ม ฯ

ฉบับที่ฉายประเทศฝรั่งเศส ได้รับการพูดถึงว่าเป็นฉบับแย่ที่สุดของหนัง เพราะมีฉากผิดพลาด อาทิ เห็นมือของตัวประกอบกำลังจับประตู, นักแสดงลื่นล้ม, Gratchen เหยียบชุดของตนเอง ฯ ทั้งๆที่ฉบับอื่นไม่พบความผิดพลาดเหล่านี้แต่ประการใด, นี่เหมือนเป็นความจงใจกลั่นแกล้งผู้ชมชาวฝรั่งเศสโดยเฉพาะ เพราะตอนสงครามโลก Murnau เป็นทหารขับเครื่องบินต่อสู้กับฝรั่งเศสหลายครั้ง ถูกยิงตกก็หลายครา คงเลยเกลียดขี้หน้าประชาชาวชาตินี้เป็นอย่างยิ่ง

หนังมีเพลงประกอบที่ประพันธ์เพื่อให้วงออเครสต้าเล่นด้วยนะครับ ในเครดิตขึ้นว่าเป็นผลงานของ Werner Richard Heymann แต่ผมไม่รู้โน๊ตต้นฉบับยังหลงเหลือถึงปัจจุบันหรือเปล่า

ตำนานของ Faust ขายวิญญาณให้ปีศาจ (pact with the devil) กลายเป็นอิทธิพล ‘cultural motif’ ต่อเรื่องราวต่างๆมากมาย อาทิ
– ภาพยนตร์ อาทิ Rosemary’s Baby (1968), The Omen (1976), The Shining (1980), Mephisto (1981), Little Shop of Horrors (1986), O Brother, Where Art Thou? (2000), Constantine (2004), Star Wars: Episode III – Revenge of the Sith (2005), Ghost Rider (2007) ฯ
– มังงะ/อนิเมชั่น อาทิ Belladonna of Sadness (1973), Ghost Rider, Hellblazer, V for Vendetta, Kuroshitsuji, Puella Magi Madoka Magica ฯ
– เกม ล่าสุดเลยคือ The Witcher 3: Hearts of Stone
– บทเพลงคลาสสิก อาทิ Beethoven: Opus 75 no 3 (1809) บทเพลง Aus Goethes Faust: ‘Es war einmal ein König’, Schubert: Gretchen am Spinnrade (1814), Wagner: Faust Overture (1840), Liszt: Faust Symphony (1854–57) และ Mephisto Waltzes ฯ

ผมตัดสินใจหยิบ Night on Bald Mountain ของ Modest Mussorgsky (1839–1881) คีตกวีชาวรัสเซียมาให้ฟังแล้วกันนะครับ กอปรกับอนิเมชั่นที่อยู่ใน Fantasia (1940) ให้สัมผัสที่ใกล้เคียงกับเรื่องราวนี้พอดีเลย

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เฉลียวฉลาด มีสมองสามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ จดจำทำความเข้าใจ และมีสติสามารถควบคุมสันชาติญาณของตนเองได้ นี่คือเหตุผลที่เราเรียกตัวเองว่า ‘สัตว์ประเสริฐ’ แต่ก็มีหลายครั้งที่ความโลภโกรธหลง นำพาให้เสียสติยั้งคิด แค่นี้ไม่ได้ ต้องขวนขวายมาเพิ่ม เป็นผู้เอาชนะเท่านั้น ฉันต้องการทุกสิ่งอย่าง วินาทีที่หน้ามืดตามัว ขาดสติยั้งคิดไม่สามารถควบคุมตนเอง ปลดปล่อยให้เป็นตามสันชาติญาณ เราสามารถมองได้ว่า คนผู้นั้นคือ ‘สัตว์เดรัจฉาน’

แต่การกระทำชั่วไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าเดรัจฉานนะครับ สติเท่านั้นคือสิ่งกำหนดความประเสริฐหรือเลวร้าย เพราะบางครั้งอย่าง Mephisto ความชั่วกระทำอย่างครุ่นคิดใตร่ตรองมีสติ นี่แปลว่าทั้งความดีความชั่วคือกรอบที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาเท่านั้น ทำแบบนี้คือความดี ทำแบบนี้คือความชั่ว สร้างประโยชน์คือสมควร เสียประโยชน์คือไม่เหมาะสม

ซึ่งการจัดพวกความดีความชั่วของหนัง แบ่งแยกไม่ได้ตามสติ กล่าวคือ Faust แม้กระทำความชั่วมากมาย แต่เหมือนเพราะว่าเขาขาดสติยับยั้งคิด ส่วนหนึ่งได้รับการชักจูงอย่างจงใจจาก Mephisto ทำให้หลงคิดเข้าใจผิด แต่พอรับรู้ผลกระทบสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนก็รู้สึกผิดรุนแรง พยายามหาทางแก้ไข แม้จะสำเร็จ/ไม่สำเร็จ อย่างน้อยก็ถือว่าได้ทำ ด้วยเหตุนี้ตอนจบ Faust ถึงได้ขึ้นสวรรค์ และ Mephisto ไม่สามารถทวงคืนสิทธิ์ชนะพนันของตนได้

‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ ผมเพิ่งเขียนถึงหนังเรื่อง Destiny (1921) ไปเมื่อวาน คำพูดนี้จริงแต่มีสร้อยต่ออีกนิด ‘แต่มิอาจฝืนโชคชะตาฟ้าดินได้’, หนังเรื่องนี้บดขยี้ทำลายแนวคิดนี้ไปเลยนะครับ นี่ทำให้ผมมองเห็นความแตกต่างระหว่างสองปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติเยอรมัน Fritz Lang กับ F. W. Murnau คนหนึ่งชาตินิยมยิ่งชีพ-อีกคนหัวก้าวหน้าเสรีนิยม ซ้ายจัด-ขวาจัด เรียกว่าสุดขั้วตรงกันข้ามเลย

  • Fritz Lang เกิดกรุงเวียนนา ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 จดจำความเลวร้ายที่เกิดขึ้นเป็นภาพหลอนฝังลึกอยู่ในใจ ไม่ต้องการรับรู้เห็นมันเกิดขึ้นอีก ทำให้ต่อต้านนาซีสุดหัวใจ
  • F.W. Murnau เกิดในเยอรมัน ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นนักบินทิ้งระเบิด ไม่เคยได้รับบาดเจ็บสาหัส ไม่มีภาพหลอนฝังจดจำ ยกย่องชาติพันธุ์ของตนเองเป็นใหญ่ ถ้าไม่ด่วนรีบเสียชีวิตไปก่อนคงได้กลายเป็นผู้สร้าภาพยนตร์คนสำคัญของนาซีเป็นแน่

ระหว่าง Destiny กับ Faust ถึงจะคนละเรื่องราวแต่มีหลายอย่างคล้ายกันพอสมควร ต้องถือว่า Murnau รับอิทธิพลมาเยอะเหมือนกัน แต่ใจความหลักของหนังเป็นการตอบโต้-ขัดแย้ง-ตรงกันข้าม กับแนวคิดของ Lang โดยสิ้นเชิง, ตอนจบกับการนำเสนอว่า ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ นี่ไม่ได้พูดถึงโชคชะตาฟ้าดิน หรือเผื่อแผ่ความเสมอภาคเท่าเทียม รักคนทั้งโลกเลยนะครับ ประมาณว่าทุกการกระทำผิดพลาดของชาวเยอรมันที่เกิดขึ้น(ในช่วงสงครามโลก) มันอาจถูกชี้ชักนำโดยอำนาจมืดของปีศาจ (เช่น นาซี) ถ้าสุดท้ายพวกเราคิดได้ มีจิตใจดี ยังไงก็มีโอกาสขึ้นสวรรค์ … WTF!

ส่วนตัวชอบหนังเรื่องนี้มากๆ แต่ที่ไม่ตกหลุมรักเพราะตอนจบผมมองว่า Faust ควรตกนรกมากกว่าขึ้นสวรรค์ นี่คือสิ่งที่โคตรขัดใจอย่างสุดๆ, จริงๆ ผมแอบคาดการณ์ไว้แล้วละว่า หนังเรื่องนี้ต้องได้จบแบบ Happy แน่ๆเพราะหนังของ Murnau เหมือนว่าจะชอบให้จบแบบผู้ชมรู้สึกดี มากกว่าคั่งค้างคาหรือคับข้องใจ ซึ่งเรื่องนี้สามารถมองได้อีกใจความหนึ่งคือ การหาข้ออ้างแก้ตัว

การที่ตอนจบ Faust ขึ้นสวรรค์ มันกลายเป็นค่านิยมความเชื่อผิดๆของมนุษย์สมัยไหนๆไปแล้วนะครับ ที่บอกว่าถ้าเราเกิดหลงเดินทางผิด กระทำสิ่งชั่วร้ายมากมาย แล้ววันหนึ่งครุ่นคิดรู้สำนึกตัวขึ้นมาได้ ก็ยังมีโอกาสตายแล้วไปสู่สรวงสวรรค์, คือมันขัดกับแนวคิดของพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิงเลยที่ว่า ‘กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง’ ผลกรรมของ Faust การันตีว่าต้องลงนรกชดใช้กรรมแน่ จบแบบนี้คือการมอบความหวังที่สวยเลิศหรูเกินไป และมองแง่ร้ายคือ เป็นการหาข้ออ้างแก้ตัวเข้าข้างตัวเอง ไม่รู้ไม่ตั้งใจ ยอมรับความผิดตนเอง ขอให้อภัยฉันเถอะ … เอาเถอะแนวคิดปรัชญาตะวันตก จะเอาฝั่งเราไปเทียบมันก็ใช่เรื่องอยู่

แนะนำกับคอหนังเงียบ ชื่นชอบสไตล์ German Expressionist รู้จักหลงใหลในโศกนาฎกรรม Faust, นักปรัชญา นักศาสนา (เน้นตะวันตก) มองหาสิ่งที่เป็นความดีชั่ว, แฟนๆนักแสดง Gösta Ekman, Emil Jannings และผู้กำกับ F. W. Murnau ห้ามพลาดเด็ดขาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมนุษย์ทุกคนที่อายุเกิน 15+ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงมันจะขัดใจผมที่ว่า ทำผิดสำนึกตัวได้แล้วขึ้นสวรรค์ แต่หนังได้เปิดโลกทัศน์การกระทำดีชั่วให้เห็นอย่างชัดเจน แบบไหนเหมาะสม แบบไหนควรทำไม่ควร รับชมแล้วจะเป็นผู้มีสติขึ้น และมีความรู้สึก’อยากเป็นคนดี’

จัดเรต 15+ ในความชั่วร้ายกาจของ Memphisto

TAGLINE | “Faust เป็นหนังที่ Gösta Ekman ขายวิญญาณให้กับ Emil Jannings แต่ผู้กำกับ F. W. Murnau กลับได้ขึ้นสวรรค์”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: