Female Trouble

Female Trouble (1974) hollywood : John Waters ♥♥♥♥

Female Trouble (1974) ไม่ใช่ปัญหาของหม่อมแม่ Divine แต่ขึ้นอยู่กับผู้ชมจะมองเห็นความอัปลักษณ์หรืองดงาม? ผลงานมาสเตอร์พีซของ John Waters อาจไม่มีฉากตราตรึงเท่า Pink Flamingo (1972) แต่แฝงแนวคิดสะท้อนปัญหาสังคมได้ทรงพลังกว่ามากๆ

We have a theory that crime enhances one’s beauty. The worse the crime gets, the more ravishing one becomes.

ตัวละคร Donald Dasher

ผู้กำกับ John Waters เลื่องชื่อลือรสนิยม ‘bad taste’ อะไรก็ตามที่มีความอัปลักษณ์ จอมปลอม น่ารังเกียจขยะแขยง สำหรับเขานั่นแหละคือความสวยงาม สำหรับภาพยนตร์ Female Trouble (1974) พยายามนำเสนอการกระทำชั่วร้าย อาชญากรรมรุนแรง ขัดแย้งขนบกฎกรอบทางสังคม ในสื่อภาพยนตร์มันช่างงดงามสมบูรณ์แบบ!

ลองนึกถึงภาพยนตร์อาชญากรรมสมัยนี้ ตัวร้ายยิ่งโหดโฉดชั่ว กระทำสิ่งอัปลักษณ์ กลับได้รับการยกย่องสรรเสริญ บางคนถึงขนาดคว้ารางวัล Oscar! ฉันท์ใดฉันท์นั้น Female Trouble (1974) เป็นภาพยนตร์ถือว่ามาก่อนกาล ทำการเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมา “crime is beauty” ภาพลักษณ์ภายนอกอาจดูน่ารังเกียจขยะแขยง แต่เมื่อถูกนำเสนอผ่านสื่อศิลปะ มันจะมีความงดงามทรงคุณค่า

นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมมองว่า Female Trouble (1974) ยอดเยี่ยมน่าประทับใจกว่า Pink Flamingo (1972) เพราะสามารถสะท้อนปัญหาเรื่องเพศ(สภาพ) ความรุนแรงในครอบครัว นำไปสู่การก่ออาชญากรรม ไม่เพียงตลกขบขัน (Black Comedy) แต่ยังสร้างความตระหนักรู้ถึงบางสิ่งอย่าง

แซว: แม้จะเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองของ ‘Trash Trilogy’ แต่กลับไม่มีอะไรต่อเนื่องมาจาก Pink Flamingo (1972) ถึงอย่างนั้นทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรตรงข้าม ราวกับจักรวาลคู่ขนาน เหมาะสำหรับรับชมติดต่อกันอย่างมากๆ


John Samuel Waters Jr. (เกิดปี 1946) ศิลปิน นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Baltimore, Maryland ได้รับการเลี้ยงดูแบบ Roman Catholic แต่ตั้งแต่รับชม Lili (1953) เกิดความหลงใหลหุ่นเชิดสไตล์ Punch and Judy (ที่ชอบใช้ความรุนแรง), วัยเด็กสนิทสนมกับ Glenn Milstead (หรือ Divine) หลังได้รับของขวัญวันเกิด กล้อง 8mm จากคุณยาย ร่วมกันถ่ายทำหนังสั้น Hag in a Black Leather Jacket (1964), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Mondo Trasho (1969), ตามด้วย Multiple Maniacs (1970)

Waters (และผองเพื่อน) ชื่นชอบการใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง เล่นยา มั่วกาม รสนิยมรักร่วมเพศ (เป็นเกย์เปิดเผย) กระทำสิ่งนอกรีตนอกรอย ไม่สนห่าเหวอะไรใคร หลงใหลวัฒนธรรม Counter-Cultural (ทำในสิ่งต่อต้านจารีตสังคม) กำไรจากภาพยนตร์หมดไปกับสิ่งอบายมุขทั้งหลาย

แซว: ผกก. Waters มีสองเอกลักษณ์ติดตัว คือชอบไว้หนวดดินสอ (เหมือนเอาดินสอมาขีดเป็นหนวด) และกิริยาท่าทางมีคำเรียกว่า ‘Camp Personality’ ไม่ต่างจากตัวละครในภาพยนตร์ ดูดัดจริต โอเว่อวังอลังการ

We are polar opposites when it comes to our politics, religious beliefs. But that’s what I loved about the whole trip. It was two people able to agree to disagree and still move on and have a great time. I think that’s what America’s all about.

John Waters

ความสนใจของ Waters ต้องการสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่นำเสนอด้านมืดของมนุษย์ มีความสกปรกโสมม ต่ำตม อาจม ท้าทายขนบกฎกรอบสังคม โดยรับอิทธิพลจากผู้กำกับหนังใต้ดินอย่าง Kenneth Anger, Andy Warhol, Mike & George Kuchar ฯ

To me, bad taste is what entertainment is all about. If someone vomits watching one of my films, it’s like getting a standing ovation. But one must remember that there is such a thing as good-bad taste and bad-bad taste. It’s easy to disgust someone; I could make a ninety-minute film of someone getting their limbs hacked off, but this would only be bad-bad taste and not very stylish or original. To understand bad taste, one must have very good taste. Good-bad taste can be creatively nauseating but must, at the same time, appeal to the especially twisted sense of humor, which is anything but universal.

แม้ว่า Pink Flamingos (1972) จะประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม แต่ผกก. Waters กลับไม่ค่อยพึงพอใจภาพรวมสักเท่าไหร่ เพราะมันมีเพียงการกระทำที่ดูอัปลักษณ์ แต่ยังขาดแนวคิดสนับสนุนเบื้องหลัง (กล่าวคือ Pink Flamingos แค่ทำการร้อยเรียงสารพัดสิ่งที่ผู้คนมองว่าสกปรกโสมม รสนิยมต่ำตม สังคมไม่ให้การยอมรับ เท่านั้นเอง!)

Pink Flamingos was a hard act to follow. All my humor is based on nervous reactions to anxiety-provoking situations, so I wanted the ideals rather than the action of Female Trouble to be horrifying.

นำมาสู่การพัฒนาบทหนัง Rotten Mind, Rotten Face (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Female Trouble เพราะไม่อยากให้นักวิจารณ์ขึ้นคำโปรย “Rotten Mind, Rotten Face, Rotten Movie”) สำหรับเป็น ‘vehicle role’ บทบาทขายการแสดงของเพื่อนสนิท Divine โดยนำเอาเรื่องราวกึ่งๆอัตชีวประวัติของเธอช่วงวัยรุ่น เคยถูกกลั่นแกล้ง บูลลี่ ครอบครัวไม่ให้การยินยอมรับ

ผสมเข้ากับความหมกมุ่น(ของผกก. Waters)ในคดีอาชญากรรม (Criminal Trials) อาทิ Alice Crimmins, Chicago Eight, โดยเฉพาะคดี Charles Manson ขนาดว่าเดินทางเข้าไปในเรือนจำเพื่อพบปะ Charles ‘Tex’ Watson (หนึ่งในสมาชิกครอบครัว Mason) พูดคุยสนิทสนม จนซึมซับรับแนวคิด ‘crime is beauty’

เกร็ด: แม้หนังขึ้นข้อความอุทิศให้ Charles ‘Tex’ Watson แต่ภายหลังผกก. John Waters ก็เริ่มรู้สึกผิดที่ทำเช่นนั้น

I am guilty, too. Guilty of using the Manson murders in a jokey, smart-ass way in my earlier films without the slightest feeling for the victims’ families or the lives of the brainwashed Manson killer kids.

John Waters เขียนความรู้สึกผิดในหนังสือ Role Models (2010)

พื้นหลัง Baltimore, Maryland นำเสนอเรื่องราวของ Dawn Davenport (รับบทโดย Divine) เริ่มตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมปลาย มาโรงเรียนสาย โดนเพื่อนกลั่นแกล้ง แม้แต่อาจารย์ยังบูลลี่ กลับมาบ้านวันคริสต์มาส พ่อ-แม่ยังปฏิเสธซื้อรองเท้าแฟชั่น เลยตัดสินใจโบกรถหลบหนี ร่วมเพศสัมพันธ์กับชายผู้ไม่ใยดี Earl Peterson ตั้งครรภ์คลอดบุตรสาว Taffy ปฏิเสธเลี้ยงดูเธอตามวิถีชาวอเมริกัน กักขังหน่วงเหนี่ยว บีบบังคับโน่นนี่นั่น ห้ามมีเพื่อน ห้ามไปโรงเรียน จนกลายเป็นเด็กดื้อรั้น เอาแต่ใจ ทำอะไรไม่เป็นสักสิ่งอย่าง

กลับมาที่ Dawn Davenport เพราะไร้งาน ไร้เงิน ร่วมก๊วนสองสาวเพื่อนสนิท Concetta และ Chicklette กลายเป็นโสเภณี โจรกระจอก ขาประจำร้านทำผม Lipstick Beauty Salon แต่งงานกับพนักงานตัดผม Gater Nelson ไม่นานก็เลิกราหย่าร้าง ก่อนได้รับว่าจ้างจากเจ้าของร้าน คู่สามี-ภรรยา Donald & Donna Dasher ต้องการพิสูจน์แนวคิด ‘อาชญากรรมกับความสวยความงามคือสิ่งเดียวกัน’

การเลิกรากับ Gater Nelson สร้างความไม่พอใจให้กับน้า Ida Nelson โกรธรังเกียจ Dawn Davenport ถึงขนาดเอาน้ำกรดราดใส่หน้า แม้รูปโฉมอัปลักษณ์ แต่กลับเป็นที่ถูกอกถูกใจของ Donald & Donna Dasher ทั้งยังผลักดันให้กลายเป็นนักแสดงไนท์คลับ เสพยาเกินขนาดจึงบีบคอบุตรสาวเสียชีวิต หลังทำการแสดง Trampoline ประกาศกร้าว ‘ใครต้องการตายเพื่อศิลปะ!’


Divine ชื่อจริง Harris Glenn Milstead (1945-88) นักร้อง/นักแสดงชาย สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Baltimore, Maryland ในครอบครัวชนชั้นกลาง (Upper Middle-class) ได้รับการเลี้ยงดูอย่างตามใจจนร่างกายอวบอ้วน เลยมักถูกเพื่อนๆกลั่นแกล้ง ล้อเลียน (Body Shaming) ทำให้สูญเสียความมั่นใจในตนเอง, พออายุ 15 ระหว่างทำงานพาร์ทไทม์ร้านดอกไม้ ค้นพบรสนิยมชื่นชอบแต่งหญิง (Drag) โปรดปรานนักแสดง Elizabeth Taylor, ด้วยความสนิทสนม John Waters มาตั้งแต่เด็ก ได้รับการชักนำพาเขาสู่แวดวง Counter-Cultural รวมถึงตั้งชื่อ Divine (นำจากตัวละครในหนังสือ Our Lady of the Flowers (1943))

รับบท Dawn Davenport หญิงสาวร่างท้วม เต็มไปด้วยปัญหาชีวิต (Female Trouble) ตั้งแต่วัยรุ่นถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง ครูล้อเลียน บิดา-มารดาไม่เคยตามใจ พอเติบใหญ่กลายเป็นโสเภณี มีบุตรนอกสมรส แต่งงานแล้วหย่าร้าง กลายเป็นอาชญากร ชอบใช้ความรุนแรง ซึมซับรับแนวคิด ‘สิ่งอัปลักษณ์คือความสวยงาม’ ทำทุกสิ่งอย่างด้วยโลกทัศน์ผิดๆ ถูกตัดสินประหาร กลับครุ่นคิดว่านั่นคือรางวัลแห่งชีวิต

Since the character turns from teenage delinquent to mugger, prostitute, unwed mother, child abuser, fashion model, nightclub entertainer, murderess, and jailbird, I felt at last Divine had a role she could sink her teeth into.

John Waters

แม้ว่าบทบาท Divine/Babs Johnson จะมีภาพจำที่กลายเป็น ‘Iconic’ แต่การแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของหม่อมแม่นั้นคือ Dawn Davenport ถือเป็น ‘venhicle role’ ที่ผกก. Waters ครุ่นคิดเขียนขึ้นเพื่อเธอโดยเฉพาะ นำพาตัวละครพานผ่านปัญหามากมาย แต่ไม่วายเลือกใช้ชีวิตตามใจ ไม่ยี่หร่าอะไรใคร เต็มที่สุดเหวี่ยง เหมือนคนมึนเมาเสพยา ของอยู่ขึ้นตลอดเวลา

เกร็ด: Female Trouble (1974) คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่ Divine รับเล่นสองบทบาท(หญิงสาว) Dawn Davenport และผู้ชายที่ข่มขืนเธอ Earl Peterson นั่นทำให้ซีเควนซ์ร่วมเพศสัมพันธ์ สามารถเรียกได้ว่า ‘fuck yourself!’

เกร็ด2: ในบรรดาผลงานการแสดงทั้งหมด Divine เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าโปรดปรานบทบาทใน Female Trouble (1974) มากที่สุด! เฉกเช่นเดียวกับผกก. John Waters ก็พึงพอใจภาพยนตร์เรื่องนี้ที่สุดเช่นเดียวกัน!


ถ่ายภาพโดย John Waters,

แบบเดียวกับ Pink Flamingos (1972) หนังไม่ได้มีการใช้เทคนิคภาพยนตร์อะไร ส่วนใหญ่ตั้งกล้องไว้เฉยๆ กำหนดกรอบให้นักแสดงเข้า-ออกเฟรม พูดสนทนา ระเบิดอารมณ์ออกมา นานๆครั้งถึงขยับเคลื่อนไหว แพนนิ่ง-ซูมมิ่ง-แทร็คกิ้ง ไม่เน้นความหวือหวา

ถ่ายทำด้วยกล้อง Eclair ฟีล์ม 16mm แล้วนำไปขยาย (blow-up) สำหรับฉาย 35mm จะทำให้ภาพดูแตกๆเบลอๆ (Noise) เห็นเป็นเม็ดๆ (Grain) มีความหยาบโลน มอบสัมผัสรกๆ ดูสกปรก (filthiest) ตามคำนิยาม “Homemade Technicolor”

John’s style was to plop the camera down and never move it, and he’d argue every time we tried to get him to shoot a close-up, reaction shot, or other cutaway.

โปรดิวเซอร์ Bob Maier 

สีสันของหนังถือว่าฉูดฉาดไม่เบา (รับอิทธิพลจาก Douglas Sirk) มีความจัดจ้าน หลากหลาย ‘Candy Color’ น่าจะครบถ้วนสีรุ้ง แถมปรับเปลี่ยนเฉด (Color Palette) ไปตามสถานการณ์ ไม่ใช่แค่เสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ แต่ยังการออกแบบฉาก พื้นหลัง ลวดลายฝาผนัง เฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของเครื่องใช้ อาทิ

  • ช่วงวัยรุ่นไปโรงเรียน โทนสีชมพู-เหลือง เน้นความสดใสร่าเริง
  • ตั้งแต่หลบหนีออกจากบ้าน เปลี่ยนมาเป็นโทนเขียว
  • ร้านทำผม Lipstick Beauty Salon โทนสีม่วง ดูมีลับลมคมใน
  • ห้องพักของ Divine หลังเสียโฉม รีโนเวทใหม่กลายเป็นโทนแดงแรงฤทธิ์ ดัดจริต ของขึ้น
  • ไนท์คลับฟากฝั่งเวที โทนสีขาว-ดำ
  • บนชั้นศาล ลวดลายไม้สีน้ำตาล มอบสัมผัสเหมือนมีมนต์ขลัง
  • ในเรือนจำ สีท้องฟ้า-สีเขียวนกเป็ดน้ำ (น้ำเงินอ่อนๆ) บรรยากาศแห่งความตาย

หนังใช้ทุนสร้าง $27,000 เหรียญ (เพิ่มขึ้นจาก Pink Flamingos (1972) กว่าเท่าตัว $10,000 เหรียญ) ถ่ายทำระหว่างฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1973 ถึงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1974 ยังสถานที่(บ้านเกิดของผกก. Waters) Baltimore, Maryland


If you watch some of my films, you can see what a huge influence Fuego (1969) was. I forgot how much I stole. … Look at Isabel’s makeup and hairdo in Fuego (1969). Dawn Davenport, Divine’s character in Female Trouble, could be her exact twin, only heavier. Isabel, you inspired us all to a life of cheap exhibitionism, exaggerated sexual desires and a love for all that is trash-ridden in cinema.

Isabel, you inspired us all to a life of cheap exhibitionism, exaggerated sexual desires and a love for all that is trash-ridden in cinema. We salute you, Isabel Sarli, a truly outstanding woman in film.

John Waters

ผกก. Waters มีความโปรดปราน Fuego (1969) [ภาษา Spanish แปลว่า Fire, ไฟ] ภาพยนตร์สัญชาติ Argentine แนว Sexploitation (เป็นส่วนผสมของ Sexual Exploitation แปลว่าการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ) กำกับ/นำแสดงโดยคู่สามีภรรยา Armando Bó และ Isabel Sarli เต็มไปด้วยฉาก Sex Scene เอากันแทบจะทุกๆสิบนาที แม้ถูกแบนห้ามฉายใน Argentina แต่ได้รับการยกย่อง “a milestone of Argentine cinema” … ทรงผมของ Isabel Sarli แบบเดียวกันเปี๊ยบกับ Dawn Davenport

การแตกหักระหว่าง Dawn Davenport กับบิดา-มารดา เกิดขึ้นในเช้าวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม (วันประสูติพระเยซูคริสต์ = การถือกำเนิด/เริ่มต้นชีวิตใหม่ของ Dawn Davenport) เมื่อเธอแกะกล่องของขวัญได้รับเพียงรองเท้าธรรมดาๆ เพราะบิดาไม่ต้องการให้บุตรสาวสวมใส่ส้นสูง ทำตัวเหมือนสาว Cha-Cha-Cha

  • มองมุมหนึ่งคือความปรารถนาดีของครอบครัว ไม่ต้องการให้บุตรสาวออกนอกลู่นอกรอย ยึดถือปฏิบัติตามวิถีอเมริกัน (และคาทอลิก)
    • สังเกตว่าทั้งบิดา-มารดา ต่างสวมใส่ชุดที่มีลวดลาย ดูเหมือนกรอบห้อมล้อม ยึดถือปฏิบัติตามวิถีครรลอง
  • แต่สำหรับ Dawn Davenport ครุ่นคิดว่านั่นคือความเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่ ไม่เคยเข้าใจหัวอก รับฟังความต้องการของตนเอง
    • ชุดสีเขียวของ Dawn Davenport สื่อถึงความเป็นธรรมชาติในตัวเธอ พูดบอก-แสดงออกความต้องการอย่างตรงไปตรงมา

ผมก็คนหนึ่งละที่ไม่สามารถจดจำ Divine ในภาพลักษณ์ผู้ชาย ไม่ได้แต่งหญิง รับบทเป็น Earl Peterson บุคคลที่ข่มขืน Dawn Davenport (ใช้นักแสดงแทน) จนตั้งครรภ์ … นี่เป็นการ “Fuck Yourself!” อย่างแท้จริง!

นัยยะของ “Fuck Yourself!” มันคือการกระทำตนเอง หรือคือตัวละคร Dawn Davenport ตัดสินใจทอดทิ้งครอบครัว หลบหนีออกจากบ้าน ปล่อยตัวปล่อยใจ ร่วมเพศสัมพันธ์กับชายแปลกหน้าจนตั้งครรภ์ นั่นคือการกระทำตนเองล้วนๆ เลือกหนทางเดินชีวิต โดยไม่มีใครคอยชี้แนะนำ

ใครช่างสังเกตจะพบว่ามีตัวประกอบคนหนึ่ง Susan Lowe (รับบทแคชเชียร์ร้านตัดผม Lipstick Beauty Salon) กำลังตั้งครรภ์ ทารกน้อยคนนี้ก็คือบุตรสาวของเธอ ถ่ายทำหลังสุดเพราะต้องรอให้คลอดเสียก่อน, ส่วนสายรกที่ Dawn Davenport กัดทิ้งนั้น ทำมาจากถุงยางอนามัยใส่เครื่องใน ตับไต เลือดจะได้ไหลนองออกมา

ในขณะที่ห้องนอนใต้หลังคาของ Taffy (สวมชุดขาว) มีเครื่องพันธนาการ กักขังหน่วงเหนี่ยว ส่งเสียงกรีดร้อง ปกคลุมด้วยความมืดมิด, เตียงนอนของ Dawn Davenport (สวมชุดดำ) ฝาผนังด้านหลังระยิบระยับด้วยดวงดาว กาแลคซี่ ราวกับดินแดนแห่งความเพ้อฝัน จมปลักอยู่ในจินตนาการของตนเอง

สองช็อตนี้แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้ง ไม่ลงรอยระหว่างมารดา-บุตรสาว แต่ในความเป็นจริงนั้น Taffy ก็คือเด็กหัวขบถ ดื้อรั้น เอาแต่ใจไม่ต่างจาก Dawn Davenport เรียกได้ว่า ‘กรรมสนองกรรม’ เคยกระทำอะไรใครไว้ เลยได้ผลนั้นกลับคืนสนอง

ร้านทำผม Lipstick Beauty Salon สถานที่สำหรับเสริมสวยความงาม (Beauty) สร้างภาพภายนอกให้ดูดี มีรสนิยม เหมือนชนชั้นสูง (ทรงผมคือส่วนที่อยู่สูงสุดบนร่างกายมนุษย์) รับได้เฉพาะสมาชิกที่ถูกจริตกับเจ้าของร้าน คู่สามี-ภรรยา Donald & Donna Dasher (แอบชวนให้นึกถึงคู่สามี-ภรรยา Raymond & Connie Marble จากภาพยนตร์ Pink Flamingos (1972))

  • นักแสดงรับบท The Marbles คือ David Lochary & Mink Stole, ขณะที่ Mary Vivian Pearce รับบท Cotton เพื่อนสาวของ Divine/Babs Johnson
  • นักแสดงรับบท The Dashers คือ David Lochary & Mary Vivian Pearce, ขณะที่ Mink Stole รับบทบุตรสาว Taffy Davenport

ผกก. Waters ดูจะหมกมุ่นกับเรื่องทรงผม ทำออกมาให้ดูเว่อวังอลังการ อาจเพราะมันเป็นเทรนด์แฟชั่นสมัยนั้น และในเชิงสัญลักษณ์ถึงการสร้างภาพ รสนิยมชนชั้นสูง … หลังจากนี้เขายังกำกับโคตรหนังเพลง Hairspray (1988) [ต้นฉบับของฉบับสร้างใหม่ Hairspray (2007)]

หลังจากถูกสาดน้ำกรด มองยังไงใบหน้าเสียโฉมของ Dawn Davenport ก็มีความอัปลักษณ์! แต่นั่นคือมุมมองคิดเห็นส่วนบุคคล รสนิยมทางสังคมที่ถูกปลูกฝัง เสี้ยมสอนสั่ง ซึ่งหนังได้ตั้งคำถามว่านั่นใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมหรือไม่?

นี่ไม่ใช่หนังที่นำเสนอแนวคิด ‘ความสวยงามแท้จริง คือสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ’ แต่เป็นการท้าทายมุมมอง รสนิยม ความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งสวยงาม-ความอัปลักษณ์ การแสดงออกของผองเพื่อนกลุ่มนี้จึงพูดชื่นชม ลุ่มหลงว่างดงาม นางแบบ อนาคตดาวดารา เจิดจรัสค้างฟ้า … สื่อศิลปะ ไม่ว่าจะสวยหรืออัปลักษณ์ ล้วนมีความงดงาม สร้างสุนทรียะในการรับชม

เมื่อตอน Pink Flamingos (1972) ตัวละครของ Edith Massey คือมารดานั่งในคอกเลี้ยงเด็ก โหยหาอยากกินไข่ ตกหลุมรักแต่งงานกับ Eggman, สำหรับ Female Trouble (1974) กลายเป็นคุณป้าขี้อิจฉา ราดกรดใส่ใบหน้า Dawn Davenport ระหว่างถูกขังในกรงนก พอถูกถามจะกินไข่ไหม? เธอตอบไม่เอาอีกต่อไป!

เปลี่ยนจากคอกเลี้ยงเด็กมาเป็นนกในกรง (สวมชุดขนนก พร้อมแขนติดตะขอเหมือนกรงเล็บ) แฝงนัยยะถึงการสูญเสียอิสรภาพของสตรีเพศ มักถูกกลั่นแกล้ง บูลลี่ ไม่ได้รับความยุติธรรม มีเพียงพระกฤษณะถึงสามารถปลดปล่อยจิตวิญญาณด้วยความรัก

หเรกฤษณะ (हरे कृष्ण, Hare Krishina) หรือมหามนตร์ เป็นมนตร์ความยาว 16 คำของลัทธิไวษณพในศาสนาฮินดู กล่าวถึงทั้งพระกฤษณะและพระราม ตามความเชื่อของลัทธิเคาทิยไวษณพ เป้าหมายของชีวิตคือความรักที่บริสุทธิ์อันมีต่อพระกฤษณะ มนตร์นี้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960s

หเร กฤษณะ หเร กฤษณะ
กฤษณะ กฤษณะ หเร หเร
หเร รามา หเร รามา
รามา รามา หเร หเร

บทสวดมนตร์/คำร้องหเรกฤษณะ

หลังจากสูญเสียบิดา มิอาจอดรนทนต่อมารดา ทำให้ Taffy ตกอยู่ในสภาวะสิ้นหวัง จนกระทั่งครุ่นคิดถึงหเรกฤษณะ ต้องการมอบความรักอันบริสุทธิ์แก่พระเจ้า/พระกฤษณะ ทำให้จิตใจเกิดความสุขสงบ พร้อมให้อภัยทุกสิ่งอย่าง … ตรงกันข้ามกับการแสดงออกของมารดา พุ่งทะยานสู่จุดสูงสุด เพื่อให้ตนเองกลายเป็นอมตะนิรันดร์

การแสดงโชว์ของ Dawn Davenport จะเพียงเสียงเจี๋ยวจ้าวจากผู้ชม ไร้ซึ่งบทเพลงประกอบ ซึ่งตรงกันข้ามกับการแสดงโชว์ทั่วๆไป (ที่มักมีเพลงประกอบ โดยเฉพาะเสียงรัวกลองสำหรับสร้างความตื่นเต้นลุ้นระทึก) ประกอบด้วยชุดการแสดงดังต่อไปนี้

  • กระโดดแทรมโพลีน (Trampoline) มันอาจไม่ได้ดูน่าตื่นตาตื่นใจสักเท่าไหร่ แต่สามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ เปรียบดั่งการมุ่งสู่จุดสูงสุดในอาชีพการงาน
  • ต่อด้วยหยิบหนังสือเล่มหนึ่งมาฉีกกระฉาก นี่ก็แฝงนัยยะถึงการฉีกขนบกฎกรอบ แหกธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดต่อกันมา
  • Dawn Davenport กระโดดเข้าไปในคอกเลี้ยงเด็ก ทำตัวเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสา หยิบปลาดิบยกขึ้นมาเหมือนจะกิน … ล้วนแสดงถึงอิสรภาพในการแสดงออก
  • ก่อนทิ้งท้ายด้วยการหยิบปืนขึ้นมา พูดซักถาม “Who want to die for art?!” แล้วลั่นไกใส่ผู้ชม

เกร็ด: ผกก. Waters ส่ง Divine ไปร่ำเรียนเทคนิคการกระโดดแทรมโพลีน (Trampoline) ยังสถาบัน Young Men’s Christian Association (YMCA) ฝึกฝนสตั๊นจนสามารถกระโดดพลิกตัวโดยวิกไม่หล่น ถ่ายทำเพียงเทคเดียวเท่านั้น!

ใครเคยรับชม Pink Flamingos (1972) ช่วงท้ายจะมีการพิจารณาคดีความบนศาลเตี้ย (Kangaroo Court) ก่อนที่ Divine จะตัดสินโทษคู่สามี-ภรรยา The Marbles ด้วยโทษประหารชีวิต!

กลับตารปัตรกับ Female Trouble (1974) มีการพิจารณาคดีความบนชั้นศาลจริงๆ ก่อนตัดสินโทษประหารชีวิต Divine … สังเกตว่าทรงผมของเธอยังสลับทิศทาง จากเปิดหน้าผากมาเป็นโมฮอก (แต่ยังเขียนคิ้วได้เว่อวังอลังการเหมือนเดิม)

มันอาจฟังดูผิดแผกแปลกประหลาด กลับตารปัตรขั้วตรงข้ามจากคนทั่วไป แต่นั่นคือรสนิยม ‘bad taste’ ของผกก. Waters เคยบอกว่าถ้าใครอ๊วกแตกอ๊วกแตนระหว่างรับชมหนัง นั่นไม่ต่างจากการยืนปรบมือให้เกียรติผู้สร้าง (Standing Ovation) ซึ่งก็เคยมีเช่นนั้นจริงๆนะครับ

If someone threw up at one of my screenings, it would be like a standing ovation.

John Waters

การถูกตัดสินโทษประหารชีวิต สำหรับอาชญากรทั่วไปย่อมรู้สึกหวาดกลัว ตัวสั่น ใครกันจะอยากตาย แต่ไม่ใช่สำหรับ Dawn Davenport (รวมถึงผกก. Waters) ศิลปินสรรค์สร้างผลงานศิลปะ สูงสุดหวนกลับสู่สามัญ ความตายคือจุดเริ่มต้นใหม่ แฝงนัยยะถึงความเป็นอมตะนิรันดร์ อยู่ยงคงกระพัน ได้รับการจดจำ ยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา

ตัดต่อโดย John Waters และ Charles Roggero, นำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองของ Dawn Davenport หญิงสาวเต็มไปด้วยปัญหา (Female Trouble) ตั้งแต่ยังวัยรุ่น โดนกลั่นแกล้ง บูลลี่ หนีออกจากบ้าน ถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ แต่งงาน-หย่าร้าง เสียโฉม กลายเป็นดารา ฆาตกร ขึ้นศาลไต่สวน จบลงด้วยโทษประหารชีวิตช็อตไฟฟ้า

หนังมีการขึ้นข้อความ (Title Card) เพื่อแบ่งแยกช่วงเวลาต่างๆในชีวิตของ Dawn Davenport ประกอบด้วย

  • Dawn Davenport: Youth 1960
  • Dawn Davenport: Career Girl 1961-1967
  • Dawn Davenport : Early Criminal 1968
  • Dawn Davenport : Married Life 1969
  • Dawn Davenport: Five years Later 1974

แต่หลังจากนี้ไม่รู้ผกก. Waters ลืมทำต่อ หรือจงใจช่างแม้ง (ตัวอักษร Five years Later 1974 มีลักษณะมอดไหม้ ลุกเป็นไฟ) มันจึงไม่สามารถแบ่งองก์ตามข้อความปรากฎนี้ได้ ผมเลยจำต้องจัดกลุ่มใหม่ดังต่อไปนี้

  • ช่วงเวลาวัยรุ่นของ Dawn Davenport
    • ไปโรงเรียนสาย โดนเพื่อนกลั่นแกล้ง ครูบูลลี่
    • กลับบ้านวันคริสต์มาส บิดา-มารดาไม่ยินยอมซื้อของขวัญตามใจ
    • ตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้าน ร่วมเพศสัมพันธ์กับ Earl Peterson
    • พลั้งพลาดตั้งครรภ์ คลอดบุตรสาว
  • ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นของ Dawn Davenport
    • เริ่มจากทำงานทั่วๆไป แต่พอเงินไม่พอใช้ก็หันมากระทำสิ่งผิดกฎหมาย กลายเป็นโจรกระจอก โสเภณี
    • ต่อล้อต่อเถียง ใช้ความรุนแรงกับบุตรสาว Taffy
    • เข้าเป็นสมาชิกร้านทำผม Lipstick Beauty Salon
    • แต่งงาน-หย่าร้าง Gater Nelson
  • การปลุกปั้น ค้นพบตัวตนเอง มุ่งสู่ดาวดาราของ Dawn Davenport
    • ได้รับชักชวนจาก Donald & Donna Dasher อาสาปลุกปั้นเป็นซุปเปอร์สตาร์
    • Dawn Davenport ถูกจองล้างจองผลาญโดย Ida Nelson เอาน้ำกรดราดใบหน้า
    • เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เปิดผ้าออกมาเสียโฉม
    • เมื่อหวนกลับบ้าน จัดการล้างแค้นตัดแขน Ida Nelson
    • บุตรสาว Taffy อดรนทนไม่ไหว ออกจากบ้านติดตามหาบิดา แต่ก็ต้องผิดหวังต่อไป
  • สู่จุดสูงสุดในชีวิตของ Dawn Davenport
    • Taffy เข้าร่วมลัทธิหเรกฤษณะ (Hare Krishna) ปลดปล่อย Ida Nelson แล้วถูกมารดาบีบคอเสียชีวิต
    • Dawn Davenport ขณะกำลังของขึ้น ทำการแสดงกระโดดแทรมโพลีน (Trampoline) ในไนท์คลับ แล้วประกาศกร้าว “Who wants to die for art?”
    • ถูกตำรวจล้อมจับกุมข้อหาฆาตกรรม
    • ขึ้นศาลไต่สวน ได้รับตัดสินโทษประหารชีวิต
    • ระหว่างอยู่ในเรือนจำ ครุ่นคิดคำกล่าวสุนทรพจน์ เชื่อว่าความตายคือจุดสูงสุดของชีวิต

ในส่วนเพลงประกอบของ Female Trouble (1974) เหมือนจะไม่ค่อยมุ่งเน้น ทำให้โดดเด่นเทียบเท่ากับ Pink Flamingos (1972) แต่ยังคงรับอิทธิพลจาก Kenneth Anger (ใครเคยรับชมหนังของ Anger ก็น่าจะเข้าใจวิธีการได้โดยทันที) เลือกบทเพลงฮิตบ้าง ไม่ฮิตบ้าง ส่วนใหญ่มาจาก B-sides ของแผ่นครั่ง โดยไม่สนห่าเหวลิขสิทธิ์ใดๆ แค่มีเนื้อคำร้องสอดคล้องเรื่องราวขณะนั้นๆ … เพียงอ่านตามเนื้อเพลง ก็จะเข้าใจเหตุการณ์บังเกิดขึ้น

แต่มีหนึ่งบทเพลงของหนังที่เป็น Original Song นั่นคือ Female Trouble คำร้องโดย John Waters, ทำนองโดย Bob Harvery, เรียบเรียงโดย Don Cooke, และขับร้องโดย Divine (เป็นครั้งแรกที่เธอแสดงความสามารถในการขับร้องเพลง)

I got lots of problems
Female Trouble
Maybe I’m twisted
Female Trouble

They say I’m a skank, but I don’t care
Go ahead, put me in your ‘lectric chair

I got lots of problems
Female Trouble
Maybe I’m twisted
Female Trouble

Hey, spare me your morals.
Look, everyone dies
What leads in me
Is paradise

I got lots of problems
Female Trouble
Maybe I’m twisted
Female Trouble

Oink! Oink! Oink! Oink!

I’m berserk!
I like it fine!
As long as I’m…
Grabbing a headline

Oh-ho-ho yeah!

I got lots of problems
Female Trouble
Maybe I’m Twisted
Female Trouble

ในขณะที่ Pink Flamingos (1972) ร้อยเรียงสารพัดสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าสกปรกโสมม รสนิยมต่ำตม สังคมไม่ให้การยอมรับ, Female Trouble (1974) พยายามตีแผ่ปัญหา เบื้องหลังที่มาที่ไป ทำไมตัวละครถึงกระทำสิ่งสกปรกโสมม รสนิยมต่ำตม ในสิ่งที่สังคมไม่ให้การยินยอมรับ

Female Trouble (1974) นำเสนอสารพัดปัญหาของสตรีเพศในสังคมอเมริกัน มักโดนกลั่นแกล้ง บูลลี่ กดขี่ข่มเหงจากครอบครัว เพื่อนฝูง ครูอาจารย์ รวมถึงผู้คนในสังคม พยายามสร้างบรรทัดฐาน กฎกรอบห้อมล้อม บีบบังคับให้พวกเธอต้องคอยปฏิบัติตาม แสดงความเรียบร้อยดั่งกุลสตรี มีหน้าที่ปรนิบัติสามี และเลี้ยงดูแลบุตรหลานให้เติบโตเป็นคนดี แต่มองอีกมุมหนึ่งนั่นคือการสูญเสียอิสรภาพ ไม่ต่างจากนกในกรง นักโทษถูกควบคุมขัง … มองในเรื่องการเรียกร้องสิทธิสตรี (และ Gay Right ก็ได้เช่นกัน)

ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ มันเลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตัวละครจะกลายเป็นคนหัวขบถ ต่อต้านสังคม ก่ออาชญากรรม กระทำสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งสามารถสะท้อนสภาพสังคมยุคสมัยนั้น ตั้งคำถามถึงวิถีอเมริกัน มันใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสม หรือแค่เพียงจินตนาการเพ้อฝัน … นี่คือลักษณะต่อต้านวิถีอเมริกัน (Anti-American Norm หรือ Anti-Family Values)

มันไม่ใช่เพราะตัวละคร Dawn Davenport รับบทโดยนักแสดงชาย/Drag Queen จึงกล้าที่จะต่อต้านขัดขืน ลุกขึ้นโต้ตอบเอาคืนความไม่ถูกต้องชอบธรรม (รวมถึงเผชิญหน้ากฎหมายบ้านเมือง) แต่หนังต้องการให้ผู้ชม(ไม่ว่าชายหรือหญิง หรือเพศสภาพใด)เกิดความตระหนัก พบเห็นโลกเป็นจริง ไม่ยินยอมสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ที่บังเกิดขึ้นในสังคม

ตัวของ Divine เคยมีชีวิตสมัยวัยรุ่นไม่ต่างจาก Dawn Davenport ถูกเพื่อนล้อเลียนน้ำหนักตัว รวมถึงความรักสวยรักงาม ชื่นชอบแต่งกายเป็นหญิง ตอนนั้นเก็บเอามาครุ่นคิดจริงจัง จนเกือบกลายเป็นคนคลุ้มบ้าคลั่ง โชคดีได้รับคำแนะนำจากเพื่อนสนิท John Waters มอบโอกาสด้านการแสดง ทำให้สามารถค้นพบตัวตนเอง รวมถึงมอบชื่อเสียง Divine จากนั้นเขา/เธอก็ช่างแม้งเรื่องน้ำหนักตัว ปลดปล่อยความต้องการ ทำทุกสิ่งอย่างตามใจฉัน เลิกรับฟังความคิดเห็นผู้อื่นใด ไม่ยี่หร่าอะไรใครอีกต่อไป!

ผมมาครุ่นคิดว่าถ้านักแสดงเล่นเป็น Dawn Davenport คือผู้หญิงอวบอ้วนทั่วไป (หรือจะไซส์ไหนก็ได้เหมือนกัน) ความแตกต่างมันจะมากมายแค่ไหน? ผมเชื่อว่าน่าจะมหาศาลเลยนะ เพราะผู้หญิงแท้ๆต่อให้สามารถปลดปล่อยตนเองสักเพียงใด แต่มันยังมีขอบเขต ‘ความเป็นสตรีเพศ’ ซึ่งแตกต่างจากบุรุษ/Drag Queen ที่เมื่อก้าวข้ามผ่านอัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกจึงมีความรุนแรง ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ ตอบสนองสันชาตญาณอย่างตรงไปตรงมา

(ด้วยเหตุนี้หนังเลยสร้างอิทธิพลให้กับชาว LGBTQIAN+ มากกว่าผู้หญิงแท้ๆเสียอีกนะ!)

นอกจากเรื่องสิทธิสตรี เสรีภาพในการแสดงออก ต่อต้านวิถีอเมริกัน Female Trouble (1974) ยังคือการปลดปล่อยทางศิลปะ! ผู้ชมจะได้พบเห็นพัฒนาการตัวละคร ความเปลี่ยนแปลงเฉดสีสัน/องค์ประกอบศิลป์ของหนัง แนวคิดอัปลักษณ์=สวยงาม สองสิ่งขั้วตรงข้ามที่สามารถเติมเต็มกันและกัน กระโดดแทรมโพลีน (Trampoline) ไปให้ถึงจุดสูงสุด และความตายทำให้กลายเป็นนิจนิรันดร์

“crime is beauty” อาจเป็นสิ่งที่หลายคนยินยอมรับไม่ได้สักเท่าไหร่ แต่ถ้าเรามองอาชญากรรมในเชิงสัญลักษณ์ ถึงพฤติกรรมหัวขบถ ท้าทายขนบกฎกรอบ ต่อต้านกฎหมายบ้านเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพในการครุ่นคิดแสดงออก นั่นคือความงดงาม/สุนทรียะที่เกิดจากการปลดปล่อยทางศิลปะ

สำหรับผกก. John Waters (และ Divine) ถือได้ว่าเป็นศิลปิน (Auteur) สรรค์สร้างผลงานที่สะท้อนแนวคิด อุดมการณ์ ด้วยวิธีการเฉพาะตัว มีความเป็นส่วนตัว และตอนจบของ Female Trouble (1974) นั่นคือเป้าหมายสูงสุดในชีวิต พร้อมยอมตายเพื่องานศิลปะ!

ในบทสัมภาษณ์ล่าสุด (ค.ศ. 2023) กับนิตยสาร Variety ผกก. Waters กล่าวถึงสารพัดสิ่งที่นำเสนอออกมาในภาพยนตร์ ล้วนคือสิ่งที่เขาชื่นชอบหลงใหล (Idolized) เลยต้องการเสียดสีประชดประชัน ต่อต้านแนวคิดเผด็จการที่พยายามสร้างขนบกฎกรอบขึ้นมาห้อมล้อมรอบ ตั้งคำถามถึงความถูกต้องเหมาะสม … อะไรที่ไม่ชื่นชอบจะไปสนใจมันทำไม

I look back on my work, and it was almost a political act, a strike against the tyranny of good taste. I always say I couldn’t have done that if my parents didn’t teach me those rules. Here’s the thing: All the things I made fun of were things I idolized. I didn’t make fun of stuff I hated, like romantic comedies.

John Waters

แม้หนังไม่ประสบความสำเร็จเทียบเท่า Pink Flamingo (1972) แต่ด้วยทุนสร้างเพียง $25,000 เหรียญ พร้อมชื่อเสียงฉาวๆของผกก. Waters และโปรแกรมฉายรอบดึก (Midnight Screen) ไม่กี่สัปดาห์ก็ได้ต้นทุนกลับคืนมา (ไม่มีรายงานรายรับ)

แซว: นักวิจารณ์ Rex Reed รังเกียจภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ แต่ผกก. John Waters กลับชื่นชอบคำด่ามากๆ ถึงขนาดนำข้อความมาใส่ลงในใบปิด รวมถึงหน้าปก DVD เมื่อปี ค.ศ. 2004

Where do these people come from? Where do they go when the sun goes down? Isn’t there a law or something? This compost heap is even dedicated to a member of the Charles Manson gang!

นักวิจารณ์ Rex Reed จากหนังสือพิมพ์ The New York Observer

ปัจจุบัน Pink Flamingos (1972) และ Female Trouble (1974) ได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K ตรวจอนุมัติโดยผู้กำกับ John Waters แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2022 หาซื้อ Blu-Ray และรับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel

Unlike the original elements of Waters’ other early films, which he kept in his attic for decades, the 16mm reversal original of Female Trouble was stored in a state-of-the-art climate-controlled vault by Warner Bros. The A/B original was scanned at MPI at Burbank, California, in 16-bit 4K resolution on a Lasergraphics Director film scanner. Thousands of instances of dirt, debris, scratches, splices, and warps were manually removed using MTI Film’s DRS, while Digital Vision’s Phoenix was used for jitter, flicker, small dirt, grain, and noise management. The original monaural soundtrack was remastered from the 16mm magnetic track and quarter-inch magnetic tape. Clicks, thumps, hiss, hum, and crackle were manually removed using Pro Tools HD and iZotope RX.

ทีแรกผมไม่ได้คาดหวังใดๆกับ Female Trouble (1974) เพราะถูกกลบมิดชิดด้วยชื่อเสียของ Pink Flamingo (1972) แต่พอรับชมไปเรื่อยๆก็เริ่มรู้สึกอึ้งทึ่ง รู้สึกว่าลุ่มลึกซึ้ง อาจไม่ได้มีฉากตื่นตาตะลึงเทียบเท่า กลับแฝงคุณค่า สะท้อนปัญหา สร้างความตระหนักถึงอะไรหลายๆอย่าง สนุกสนานเพลิดเพลิน ขบขำกลิ้งตกเก้าอี้ และที่ทำให้ผมต้องเรียกว่ามาสเตอร์พีซ เพราะคำพูดหม่อมแม่ Divine ประโยคนี้ “Who wants to die for art?” น่าจะเป็นบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุด!

ผมรู้สึกว่า Pink Flamingos (1972) และ Female Trouble (1974) สามารถเติมเต็มกันและกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ เหมาะสำหรับฉายควบ รับชมติดต่อเนื่องกัน พร้อมปิดท้าย Desperate Living (1977) ครบไตรภาค ‘Trash Trilogy’ แต่ผมคงไม่เขียนถึงนะครับ (เพราะหม่อมแม่ Divine ไม่ได้แสดงเรื่องนี้!)

จัดเรต NC-17 ในความอัปลักษณ์ที่งดงาม

คำโปรย | Female Trouble ไม่ใช่ปัญหาของหม่อมแม่ Divine แต่ขึ้นอยู่กับผู้ชมจะมองเห็นความอัปลักษณ์ที่งดงามหรือไม่?
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | งดงามมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: