Fiddler on the Roof (1971) : Norman Jewison ♥♥♥♥
ก่อนการปฏิวัติรัสเซีย ชาวยิวกลุ่มเล็กๆในเมือง Anatevka, ประเทศ Ukraine อาศัยอยู่ด้วยประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อโลกภายนอกพยายามแทรกตัวเข้าไปมีอิทธิพล ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง, เล่าเรื่องในลักษณะหนังเพลง เข้าชิง Oscar 8 สาขา ได้มา 3 รางวัล ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, บันทึกเสียง และเพลงประกอบดัดแปลงของ John Williams, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ฉากแรกของหนัง รุ่งอรุณวันใหม่ พระอาทิตย์กำลังค่อยๆเคลื่อนขึ้นที่สุดขอบฟ้า กล้องแพนไปรอบๆหมู่บ้าน หยุดที่ชายคนหนึ่งกำลังสีไวโอลินอยู่บนหลังคา จากนั้นตัดไปที่ตัวละครหลักของหนัง Reb Tevye (รับบทโดย Topol) เล่าถึงความเป็นมาของชื่อ Finddler on the Roof และจุดเริ่มต้นของคำว่า ‘Tradition’
You may ask, ‘How did this tradition get started?’ I’ll tell you! … I don’t know.
ผมเคยรับชมหนังเรื่องนี้เมื่อครั้นมานานมาแล้ว จดจำได้เลือนลางว่าค่อนข้างชอบมาก โดยเฉพาะการแสดงของ Topol และเสียงไวโอลินที่เสนาะหู บาดลึกไปถึงขั้วหัวใจ, มารับชมครั้งนี้เป็นความตั้งใจมานาน (เพราะไม่ได้ดูมานานมากแล้ว) รู้สึกไม่ผิดหวังเลย เป็นหนังที่มีกลิ่นอายบ้านๆ ขี้ดินโคลนเลน เรื่องราวก็แสนธรรมดาเรียบง่าย แต่แฝงแนวคิดปรัชญาลึกซึ้ง วาทะคมคาย และเทคนิคการเล่าเรื่องที่มีความหลากหลาย เสียอย่างเดียวคือหนังยาวไปหน่อยถึง 3 ชั่วโมง ทำให้ตอนจบรู้สึกเนือยเหนื่อย แต่ก็รู้สึกคุ้มค่าทุกวินาที
สิ่งที่สร้างความประทับใจอย่างมากในการรับชมครั้งนี้ คือการสังเกตพบว่า หนังใช้การเต้น/เหวี่ยง ส่วนบนของร่างกายมากกว่าเต้นด้วยเท้า นี่อาจจะเป็น Tradition ของชาว Anatevka ด้วยส่วนหนึ่ง แต่ก็มีนัยยะถึง on the Roof ตามชื่อหนังด้วย, ลองสังเกตการเคลื่อนไหวของไหล่และมือ ในบทเพลง If I were a rich man ร้องเล่นเต้นโดย Topol นี่เป็นบทเพลงที่ผมชอบสุดในหนังด้วยนะครับ
ดัดแปลงจากละครเพลง Fiddler on the Roof (1964) ของ Jerry Bock (ทำนอง) กับ Sheldon Harnick (คำร้อง) ที่ได้แรงบันดาลใจจาก นิยายรวมเรื่องสั้น Tevye and his Daughters (หรือ Tevye the Dairyman) แต่งโดย Sholem Aleichem นักเขียนชาวรัสเซีย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1894
เรื่องราวของครอบครัวชาวยิว พ่อ Reb Tevye กับลูกสาวทั้งหลายที่เติบโตเป็นหญิงแรกรุ่น พร้อมจะแต่งงานออกจากบ้าน แต่โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่มีใครต้องการยึดมั่นตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่เคยมีมา นั่นทำให้ Tevye ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนเองต่อโลกที่เปลี่ยนไปด้วย
ในต้นฉบับ Tevye มีลูกสาวทั้งหมด 7 คน (ลูกสาวแท้ๆ 6 คน และหลานอีก 1 คน) ประกอบด้วย Beilke, Chava, Hodel, Shprintze, Taybele, Tzeitel (หลานสาวคนเล็กไม่มีชื่อ) แต่ในหนังจะมีแค่ 5+1 คน และที่มีบทบาทจริงๆมีแค่ 3 คนเท่านั้น ประกอบด้วย
– Tezeitel พี่สาวคนโต รับบทโดย Rosalind Harris ตกหลุมรักหนุ่มเย็บผ้า Motel Kamzoil รับบทโดย Leonard Frey
– Hodel พี่คนรอง รับบทโดย Michele Marsh เป็นคนเฉลียวฉลาด ตกหลุมรักกับหนุ่มนักปฏิวัติจาก Kiev ชื่อ Perchik รับบทโดย Michael Glaser
– Chava คนกลาง รับบทโดย Neva Small ตกหลุมรักกับหนุ่มนอกความเชื่อ (ที่ไม่ใช่ชาวยิว) Fyedka รับบทโดย Raymond Lovelock
ประเพณีดั้งเดิมของหมู่บ้านแห่งนี้ การแต่งงานยังคงเป็น ‘คลุมถุงชน’ คือจะมีแม่สื่อ Yente (รับบทโดย Molly Picon) ที่ถ้าหนุ่มๆบ้านไหนสนใจสาวคนไหน ก็จะติดต่อผ่าน Matchmaker เพื่อให้ทาบทาม ถ้าครอบครัวของฝ่ายหญิงตกลง ก็จะมีการหมั้นหมายแต่งงานกัน, สามสาวจะได้คู่ครองสมตามที่ใจหวังหรือไม่ ต้องติดตามกัน
ต้นฉบับละครเพลง Broadway เรื่อง Fiddle on the Roof ถือว่าประสบความสำเร็จที่สุดในยุคทองของ Broadway Musical เข้าชิง Tony Award 10 สาขา กวาดมา 9 รางวัล รวมถึง Best Musical, และเป็นละครเพลงเรื่องแรกที่มีจำนวนการแสดงเกิน 3,000 รอบ (จำนวนเปะๆคือ 3,242 รอบ) ยึดครองสถิติยาวนานต่อเนื่องที่สุดในโลกเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ก่อนถูกละครเพลงเรื่อง Grease แซงได้
ฉบับภาพยนตร์สร้างโดยผู้กำกับชาวแคนาดา Norman Jewison ที่มีผลงานดัง อาทิ In the Heat of the Night (1967) ที่สามารถคว้า Oscar: Best Picture, Moonstruck (1987) หนังรางวัล Silver Bear: Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Berlin ฯ
นำแสดงโดย Chaim Topol (1935-ยังมีชีวิตอยู่) นักแสดง ตลก นักร้อง นักเขียน โปรดิวเซอร์ เกิดที่ Palestine ปัจจุบันเป็นประเทศ Israel มีผลงานการแสดงเรื่องแรกคือ Sallah Shabati (1964) หนังตลกเกี่ยวกับความวุ่นวายของการอพยพและตั้งถิ่นฐานในประเทศ Israeli ได้เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film ที่ทำให้เขาได้รางวัล Golden Globe: Most Promising Newcomer – Male นี่ทำให้มีโอกาสได้รับงานจาก Hollywood ในบทสมทบ Dr. Hans Zarkov จากหนังเรื่อง Flash Gordon (1980), Milos Columbo ในหนัง James Bond เรื่อง For Your Eyes Only (1981)
รับบท Reb Tevye คนส่งนม ที่มีปรัชญาชีวิตน่าสนเท่ห์อย่างยิ่ง, Tevye ชอบอ้างคำพูดจากหนังสือดีๆ (แต่เหมือนว่าเขาจะอ่านหนังสือไม่ออกนะ) นี่เพื่อทำให้ตัวเองดูทรงภูมิ เฉลียวฉลาด แต่จริงๆแล้วเขาเป็นคนช่างคิดช่างสงสัย คิดหน้าคิดหลังคิดถึงจิตใจผู้อื่น และชอบโอนอ่อนผ่อนตาม ปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ได้, มีพฤติกรรมหนึ่งของตัวละครนี้คือ ชอบหันมามองหน้ากล้องที่เหมือนพูดกับผู้ชม แต่จริงๆคือเขาพูดกับพระเจ้าในศรัทธาของตน (คือเปรียบผู้ชมเหมือนกับพระเจ้าที่ได้แค่มองลงมา แต่ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง)
การแสดงของ Topol ถือว่าเข้าถึงจิตวิญญาณของตัวละครนี้อย่างถ่องแท้ สามารถทำให้ผู้ชมจะรู้สึกดีใจ เสียใจ เห็นใจ เข้าใจการตัดสินใจทุกสิ่งอย่างได้โดยง่าย, ผมชอบช่วงเวลาการครุ่นคิดของตัวละครนี้มา หนังใช้การ Freeze ค้างภาพเหตุการณ์นั้นไว้ แล้ว Tevye หันมาพูดกับกล้อง มองย้อนกลับไป ทบทวนใคร่ครวญก่อนตัดสินใจ นี่คือการ “คิดก่อนพูด/คิดก่อนทำ” เพราะแบบนี้แหละที่ทำให้ตัวละครนี้ดูเฉลียวฉลาด
Norma Crane รับบท Golde ภรรยาของ Tevye ที่แต่งงานใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันกว่า 25 ปี เรียกว่ามีความเข้าใจกันและกันเป็นอย่างดี, ความรักของคนสมัยก่อนถือว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ ผู้ใหญ่มักเสี้ยมสอนว่า ‘อยู่ๆกันไปเดี๋ยวก็รักกัน’ ลองฟังบทเพลงนี้ เมื่อ Tevye เกิดคำถามภรรยาของตนว่า Do You Love Me? สามีภรรยาอยู่ด้วยกันมานาน เธอจะตอบคำถามนี้ยังไง?
Leonard Frey รับบท Motel Kamzoil ชายหนุ่มช่างตัดเสื้อ ตัวละครนี้น่ารักน่าชังมากๆ ภาพลักษณ์เป็นคนติ๋มๆ ดูอ่อนแอปวกเปียก ทำอะไรด้วยตนเองไม่ค่อยได้ แต่ครึ่งหนึ่งเพื่อความรักความสุขของตนเอง เขากล้าที่จะพูดกับ Tevye ขอแต่งงานกับ Tezeitel นี่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึงมาก่อน
Paul Mann รับบท Lazar Wolf คนขายเนื้อ, ภาพลักษณ์เป็นชายสูงวัยร่างใหญ่ รุ่นราวคราวเดียวกับ Tevye ร่ำรวยมีฐานะเงินทอง แต่เพราะภรรยาด่วนจากไป ทำให้โดดเดี่ยวอ้างว้าง เกิดตกหลุมรัก Tezeitel ขอเธอแต่งงานผ่านแม่สื่อ Tevye จะตอบว่ายังไง?
ถ่ายภาพโดย Oswald Morris ตากล้องยอดฝีมือชาวอังกฤษผู้มีผลงานดังอย่าง Moulin Rouge (1952), Moby Dick (1956), Lolita (1962), Oliver! (1968), The Man with the Golden Gun (1974) ฯ กั
หนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นการถ่ายภาพ Masterpiece ของ Morris มีช็อตสวยๆมากมาย อาทิ นักไวโอลินเล่นเพลงบนหลังคาขณะพระอาทิตย์ขึ้น/ตกดิน
ทิศทางของมุมกล้อง มีความหลากหลายอย่างมาก อาทิ มุมก้ม, มุมเงย, ระดับสายตา ฯ หลายครั้งเวลา Tevye เงยหน้ามองท้องฟ้าเพื่อพูดกับพระเจ้า กล้องจะถ่ายมุมก้มลงมา (กล้องทำตัวเหมือนตัวเองเป็นมุมมองของพระเจ้า)
ส่วนภาพมุมเงย ไม่ได้มีความหมายหยิ่งผยอง หรือพยายามทำตัวใหญ่กว่าพระเจ้านะครับ เป็นการแสดงความนอบน้อม ต่ำต้อย ของตัวละครในฉากนั้นๆ (ถ่ายด้วยมุมเงย จะทำให้เราเห็นพวกเขาชัดๆ)
ลีลาการเคลื่อนกล้องถือว่ามีความลื่นไหล ชีวิตชีวา ทั้งการเคลื่อนเข้าออก, แพนซ้ายขวา ยิ่งกับฉากเต้นจะมีการเพิ่มเร็ว ความวุ่นวายในฉาก และการตัดต่อที่กระชับฉับไว เพื่อสร้างความสนุกสนาน ครึกครื้น ตื่นเต้น, ผมนำ Sequence: Wine Bottle Dance มาให้ชม รู้สึกว่าเป็นอะไรที่เจ๋งมาก เอาขวดไวน์วางบนหัว (บนหมวก) แล้วเต้นโดยใช้ขาก้าวย่าง (นี่สะท้อนกับชื่อหนัง on the Roof ด้วยนะครับ)
การจัดวางตำแหน่ง, เมื่อ Tevye ต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างเหตุการณ์รอบข้างจะหยุดนิ่ง แล้ว Tevye จะปรากฎยืนห่างออกไป กำลังครุ่นคิดใคร่ครวญ แล้วหันกลับมามองสิ่งที่เขาต้องตัดสินใจอีกครั้ง (นี่เหมือนการคิดนอกกรอบ มองจากภายนอกเข้ามา)
หนังถ่ายทำฉากภายในที่ Pinewood Studios ประเทศอังกฤษ, ส่วนฉากภายนอกถ่ายที่ SFR Yugoslavia เมือง Mala Gorica, Lekenik และ Zagreb
ตัดต่อโดย Antony Gibbs กับ Robert Lawrence, เล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ Reb Tevye ทั้งเรื่อง ผู้ชมจะมีสถานะเสมือนพระเจ้าที่เฝ้ามองดูเรื่องราว แต่ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้, หลายครั้ง Tevye จะหันมาคุยกับกล้อง (fourth wall), บางครั้งคิดพูดกับตัวเอง (ภาพรอบข้าง Freeze หยุดนิ่ง), และครั้งหนึ่งเป็นภาพเรื่องราวในความฝัน
เรื่องราวของหนังแบ่งออกได้เป็น 4 องก์/ส่วน
1. เรื่องราวของ Tezeitel
2. เรื่องราวของ Hodel
3. เรื่องราวของ Chava
4. เรื่องราวของชาวยิวใน Anatevka
ทั้ง 4 เรื่องจะถือว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมาก ผู้ชมสามารถคาดเดาได้แทบจะตั้งแต่เรื่องแรกเลยว่า จะต้องมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป นี่ถือว่าเป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของหนัง
เด่น: เข้าใจว่ามันคือวัฎจักรการเปลี่ยนแปลง แม้จะไม่เหมือนกันเปะๆ แต่ความน่าสนใจคือ อะไรที่ต่างออกไป
ด้อย: สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ คล้ายเดิมเหมือนเดิม ทำให้เรื่องราวขาดความสดใหม่ ไม่น่าสนใจ
เท่าที่ผมอ่านบทความของนักวิจารณ์หลายๆแห่ง ล้วนบ่นเรื่องความยาวของหนัง (181 นาที) ซึ่งเรื่องราวช่วงหลังๆไม่สามารถทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจ เต็มอิ่มได้เหมือนกับช่วงแรกๆ โดยเฉพาะความที่เมื่อผู้ชมสามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่หนังกลับไม่มีสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้น (เช่นบทเพลงเพราะๆ สนุกๆ) ให้รู้สึกว่ามีอะไรมากกว่าครึ่งแรก นี่ทำให้ช่วงท้ายๆดูเอื่อยเฉื่อย เหนื่อย ปากหาว เกิดความเบื่อหน่ายโดยทันที
แต่ความเบื่อหน่ายนี้ไม่ทำให้ผมชอบหนังลดลงนะ คือมองในแนวคิด สาระของหนังที่เป็นประโยชน์ จะพบว่าครึ่งแรกให้ทั้งปรัชญาและความบันเทิงที่ต้องบอกเลยว่าสมบูรณ์แบบ ส่วนครึ่งหลังมองได้คือการเติมเต็มเรื่องราว, ปัญหาเกิดเพราะ หนังยาวมากๆๆ จึงต้องตัดบทเพลง/เรื่องราวอะไรๆออกไปอย่างเยอะ ดูแล้วคงต้องการคุมเวลาด้วยละ ไม่เช่นนั้นจะได้ 3 ชั่วโมงเปะๆเลยได้ยังไง นี่ทำให้ครึ่งหลังทุกสิ่งอย่างดูเร่งรีบ เร้ารน จบไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ (แต่ภาพช็อตจบสวยนะครับ)
เพลงประกอบ นำมาจากละครเพลง แต่งโดย Jerry Bock ทำนองโดย Sheldon Harnick เรียบเรียงเป็นภาพยนตร์โดย John Williams และเดี่ยวไวโอลินโดย Isaac Stern, ดนตรีพื้นบ้าน Tradition ของรัสเซีย/ยูเครน ผสมผสานกับไวโอลิน ให้กลิ่นอายความคลาสสิก เมื่อใส่สไตล์ของ John Williams เข้าไป ทำให้มีสัมผัสที่ลุ่มลึกแต่ยิ่งใหญ่อลังการ
เกร็ด: นี่เป็นรางวัล Oscar ตัวแรกของ John Williams จากการเข้าชิงเรื่องที่ 4
สังเกตว่าแต่ละเพลงที่ผมนำมา มีเรื่องราวที่แสนจะธรรมดามากๆ อาทิ
– Tradition เล่าเรื่องราว พื้นหลังของหมู่บ้าน วิถีชีวิตที่ดำเนินไป เป็นมา
– If I were a rich man พูดถึงความเพ้อฝันของชายคนหนึ่ง ถ้าฉันเป็นคนรวยมีเงินทองล้นฟ้า ก็อยากทำโน่นนี่นั่นดั่งใจ แต่ความจริงใช่ว่าจะเป็นได้ดั่งฝัน
– Do You Love Me? คำถามง่ายๆ คำตอบง่ายๆ แต่การจะพูดออกมานั้นยากเหลือเกิน … ก็แค่คำๆเดียวเองนะ
เหล่านี้แสดงถึงว่า หนังเป็นเรื่องราววิถี’ชีวิต’ของมนุษย์
ชื่อหนัง Fiddler on the Roof มีนัยยะถึงปรัชญาชีวิต, มันเป็นความบ้าบิ่นของใครสักคนที่ขึ้นไปเล่นไวโอลินบนหลังคาบ้าน ถ้าพลาดตกลงมาย่อมต้องคอหักเสียชีวิตแน่ๆ เปรียบการกระทำนี้กับชีวิตมนุษย์ ได้กับคนที่เดินอยู่บนเส้นด้าย ริมปากเหว (on the edge) เวลาดีใจสนุกสนานก็ร้องรำทำเพลงอย่างสุดเหวี่ยง เวลาทำงานก็ทุ่มเทสุดกำลังความสามารถ เรียกว่าทุกวันเต็มที่กับชีวิต ตายไปพรุ่งนี้จะได้ไม่เสียดาย
Tradition vs Revolution มนุษย์ส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะผู้ใหญ่และคนสูงวัย) มักต้องการใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความสงบ ตามแบบอย่างที่เคยมีเคยเป็นมา นี่เรียกว่า Tradition แต่วัยรุ่นหนุ่มสาวคนยุคใหม่ มักจะมองสิ่งเดิมๆ เก่าแก่ เชย ล้าสมัย พวกเขาต้องการ Revolution เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่าง, นี่เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างของ Generation วัยวุฒิ/คุณวุฒิ อันก่อให้เกิดทัศนคติความเชื่อที่แตกต่างกัน
แนวคิดเรื่องการแต่งงาน ต้องถือว่าเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญของโลก ที่ทำให้ทัศนคติ มุมมอง วิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง, แม้ปัจจุบันใช่ว่าประเพณีคลุมถุงชนจะหมดไป (ยังพบเห็นได้ในประเทศอินเดีย, เวียดนาม ฯ) แต่เมื่อหลายๆคนได้พบเห็น เข้าใจวิถีแนวคิดใหม่นี้ ก็เหมือนกบที่ค้นพบโลกภายนอกกะลา เรียนรู้ว่ามันก็มีทางเลือกของการตัดสินใจ ไม่จำเป็นต้องยึดมั่นทำตามขนบธรรมเนียมที่เรียนรู้เข้าใจมาเสมอไป
ไม่มีใครรู้ว่า Tradition ขนบธรรมเนียมประเพณี มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน เมื่อไหร่? แต่ผมเชื่อว่าย่อมต้องเกิดมาจากการ Revolution ปฏิวัติอะไรสักอย่างในอดีต เมื่อคนสมัยหนึ่งไม่ยอมรับสิ่งที่เคยมีมา นั่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากนั้นสืบทอดต่อเนื่องมาจนกลายเป็น Tradition แล้ววนรอบกลับไปเกิดขึ้นแบบเดิมอีก, นี่มองได้คือวัฏจักรของโลกคล้ายๆกับ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืนตลอดกาล ยกเว้นจิตวิญญาณของมนุษย์และความเชื่อในพระเจ้า
การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครในโลกสามารถหยุดยั้งได้ สิ่งที่หนังเรื่องนี้นำเสนอคือ ‘วิธีการคิด’ เพื่อที่จะยอมรับเข้าใจ ปรับตัวกับการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ๆ, ซึ่งมันย่อมต้องมีสิ่งที่ รับได้เลย, ก็พอรับได้ และรับไม่ได้ กระนั้น ‘ไม่มีอะไรในโลกที่มนุษย์ยอมรับ/ให้อภัยไม่ได้’ ต่อให้มันจะขัดกับความเชื่อทุกสิ่งอย่างของตนเอง กาลเวลาจะค่อยๆรักษาแผลเยียวยา ถ้าเราไม่หลงยึดติดกับมันมากเกินไป สุดท้ายก็จักยอมรับ ให้อภัย เข้าใจได้หมดสิ้น นี่คือเหตุผลที่ผมจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ด้วยทุนสร้าง $9 ล้านเหรียญ หนังทำเงิน $83.3 ล้านเหรียญ เห็นว่าสูงที่สุดแห่งปี, เข้าชิง Oscar 8 สาขา ได้มา 3 รางวัล
– Best Picture (พ่ายให้กับ The French Connection)
– Best Director
– Best Actor (Topol)
– Best Supporting Actor (Leonard Frey)
– Best Art Direction
– Best Cinematography ** ได้รางวัล
– Best Sound ** ได้รางวัล
– Best Music, Scoring Adaptation and Original Song Score ** ได้รางวัล
ตอนผมหยิบหนังเรื่องนี้มาดูครั้งแรก เพราะปกหนังที่สวยงาม และชื่อหนังเท่ห์ชะมัด
ตอนเริ่มตกหลุมรัก คงตั้งแต่ฉากแรก ชายคนหนึ่งสีไวโอลินอย่างบ้าคลั่งอยู่บนหลังคาบ้าน
ตอนดูจบ คงคลั่งกับการแสดงของ Topol ประทับใจ เห็นใจ เข้าใจ เจ็บปวด ถือว่าระดับตำนานเลยละ
ความรู้สึกที่ผมว่ามา ล้วนเกิดขึ้นอีกครั้งในการรับชมครั้งนี้ ไม่รู้เพราะสิ่งเหล่านี้คือความใกล้ตัว จับต้องได้หรือเปล่านะ โดยเฉพาะแนวคิด ปรัชญาของการใช้ชีวิต ซึ่งนี่คงเป็นบทเรียนจำฝังใจผมมาตั้งแต่ตอนรับชมครั้งแรก “ไม่มีอะไรในโลกที่มนุษย์ยอมรับ/ให้อภัยไม่ได้”
แนะนำกับคอหนังเพลง Broadway บทเพลงเพราะๆ งานภาพสวยๆ, ชื่นชอบเรื่องราวแฝงแนวคิด ปรัชญาชีวิต การแต่งงาน, ผู้ชื่นชอบการแสดงของ Topol และหนังของ Norman Jewison ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 13+ กับสุรา ความเชื่อและการคลุมถุงชน
Leave a Reply