
Fires Were Started (1943)
: Humphrey Jennings ♥♥♥♡
นักผจญเพลิง (Firefighter) ถือเป็นวีรบุรุษของประเทศอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คอยดับไฟจากเครื่องบินทิ้งระเบิดไม่ให้ลุกลามบานปลาย นำเสนอสไตล์สารคดีแต่ผลลัพท์ไม่ต่างจากภาพยนตร์ชวนเชื่อ (Propaganda)
Fires Were Started (1943) หรือ I Was a Fireman ภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) เรื่องแรกเรื่องเดียวของผู้กำกับ Humphrey Jennings ที่หลังจากผมมีโอกาสรับชมโคตรหนังสั้น Listen to Britain (1942) ก็อดใจไม่ไหวต้องรีบลองหาผลงานเรื่องนี้มาเชยชม
การชวนเชื่อที่ดี คือไม่รับรู้สึกว่ากำลังถูกชวนเชื่อ! นั่นเป็นสิ่งที่ผมสัมผัสได้จาก Fires Were Started (1943) เป็นภาพยนตร์ที่ไม่มีข้อความชักชวนเชื่อใดๆ แต่กลับสร้างความฮึกเหิม บังเกิดขวัญกำลังใจ เพราะการมีวีรบุรุษนักผจญเพลิง ทำให้ประชาชนไม่ต้องหวาดกลัวภยันตราย … ตึกรามบ้านช่อง สิ่งก่อสร้างอาจพังทลาย แต่ไม่ใช่จิตวิญญาณของชนชาวอังกฤษ
วิธีการนำเสนอ Fires Were Started (1943) ทำออกมาในลักษณะกึ่งสารคดี (DocuDrama) มีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา บันทึกภาพกิจวัตรประจำวันของนักผจญเพลิง รวมถึงภารกิจยามค่ำคืน … แค่นั้นแหละครับ! อาจไม่รู้สึกเต็มอิ่มหนำสักเท่าไหร่ แต่งดงามดั่ง ‘กวีภาพยนตร์’
Frank Humphrey Sinkler Jennings (1907-50) จิตรกร ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Walberswick, Suffolk บิดาทำงานสถาปนิก ส่วนมารดาเป็นจิตรกร ส่งต่อความชื่นชอบให้บุตรชาย ใช้เวลาว่างหลังเรียนสาขาภาษาอังกฤษ Pembroke College, Cambridge ในการวาดรูป เขียนแบบ ลุ่มหลงใหล Surrealist ทำงานเป็นนักออกแบบโรงละคร (Theatre Designer) แล้วเข้าร่วม GPO Film Unit สรรค์สร้างหนังสั้น จนกระทั่งการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง โด่งดังจากการกำกับภาพยนตร์ชวนเชื่อ
Jennings คือหนึ่งในศิลปิน Surrelist เคยเดินทางไปฝรั่งเศส ตีสนิทกับ André Breton, Salvador Dalí แล้วนำกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวเข้ามาเผยแพร่ในอังกฤษ 1936 Surrealist Exhibition ณ กรุง London, จากนั้นร่วมกับ Charles Madge และ Tom Harrisson ก่อตั้งองค์กรชื่อว่า Mass-Observation เมื่อปี ค.ศ. 1937 จุดประสงค์เพื่อทำการศึกษาวิจัยพฤติกรรมชาวอังกฤษ ด้วยการสังเกต สอดแนม จดบันทึกกิจวัตรประจำวันที่ดูไร้สาระ อย่างผู้คนเดินผ่านไป-มา เวลาข้ามถนนนิยมก้าวเท้าซ้ายหรือขวา? นั่งอยู่ในผับบาร์ มองหาตำแหน่งที่ฝ่ายชายนิยมสัมผัสแตะต้องหญิงสาวระหว่างเต้นรำ ฯลฯ
Mass-Observation อาจฟังดูเป็นกิจกรรมไร้สาระ แต่นั่นทำให้ Jennings ค้นพบสิ่งที่เรียกว่า Surrealist ในชีวิตประจำวัน! นำมาพัฒนาเป็นหนังสั้นสร้างชื่อ Spare Time (1939), การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ก็นำเอารายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่สังเกตเห็น มาพัฒนาเป็น London Can Take It! (1940), The Heart of Britain (1941), Words for Battle (1941), Listen to Britain (1942) ฯลฯ เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีของชาวอังกฤษ เมื่อต้องเผชิญหน้าแรงกดดันจากสงคราม
เกร็ด: ผู้กำกับ Lindsay Anderson ให้การยกย่อง Humphrey Jennings ว่า “the only real poet that British cinema has yet produced”.
ความสำเร็จของ Listen to Britain (1942) ทำให้ผู้กำกับ Jennings ครุ่นคิดว่าตนเองกำลังดำเนินไปในทิศทางถูกต้อง ภาพยนตร์ชวนเชื่อที่ดีไม่ควรมี ‘voice of God’ สำหรับชี้ชักนำทางผู้ชม แค่เพียงการบันทึกภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน ก็สามารถสร้างความฮึกเหิม ขวัญกำลังใจ ไม่หวาดกลัวเกรงต่อภยันตรายใดๆ
ผมหารายละเอียดที่มาที่ไปของ Fires Were Started (1943) ไม่ได้มากนัก แต่มีนักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นว่าอาจสร้างขึ้นเพื่อโต้ตอบกลับภาพยนตร์ชวนเชื่อนาซี Baptism of Fire (1940) ที่นำเสนอภาพการสู้รบทางอากาศระหว่าง Germany vs. Poland (ประเทศแรกที่ถูกรุกราน) ทำให้เมืองต่างๆ(ในโปแลนด์)ตกอยู่ในเปลวเพลิง มอดไหม้วอดวาย
เกร็ด: Baptism of Fire การล้างบาปด้วยไฟ เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับวิถีชาวคริสเตียนที่นิยมทำการแบ๊บติสต์/พิธีจุ่มศีลด้วยน้ำ แต่ความหมายของ John the Baptist คือการแผดเผาสิ่งชั่วร้ายที่อยู่ภายใน ให้หลงเหลือเพียงจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง
I indeed baptize you with water unto repentance: but he that cometh after me is mightier than I, whose shoes I am not worthy to bear: he shall baptize you with the Holy Ghost, and with fire.
Matthew 3:11 จาก King James Version 1611
ในทางทหาร Baptism of Fire คือศัพท์แสลงที่ใช้เรียกทหารกำลังเข้าร่วมสู่รบสงครามเป็นครั้งแรก! ซึ่งคำว่า fire ไม่ได้หมายถึงแค่ไฟสงคราม แต่ยังรวมถึงอาวุธปืน (firearm) และเวลาออกคำสั่งยิงก็ตะโกนว่า FIRE!
การทำงานของผู้กำกับ Jennings เริ่มต้นถ่ายทำโดยไม่มีบท ไม่มีสคริป ใช้นักแสดงที่เป็นนักผจญเพลิงมืออาชีพตัวจริง! ถ่ายทำยังสถานที่จริง! (ฉากภายในถ่ายทำยัง Pinewood Studios) และจำลองสถานการณ์ไฟลุกไหม้ขึ้นจริงๆ (แต่ไม่มีใครตายจริงนะครับ!)
เรื่องราวของหนังได้รับการพัฒนาขึ้นระหว่างถ่ายทำ จากความช่างสังเกตของผกก. Jennings (พี่แกเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Mass-Observation เลยไม่แปลกที่จะมองเห็นอะไรหลายๆอย่าง) เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ วิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน มอบอิสระนักแสดงในการพูดคุยสนทนา หลากหลายสำเนียงภาษา บางครั้งเหมือนจะพูดคำหยาบคาย (คำหยาบสมัยนั้นกับสมัยนี้ มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันมากๆ) เหล่านี้เพื่อ ‘ความเป็นธรรมชาติ’ ที่จับต้องได้
ถ่ายภาพโดย Cyril Montague Pennington-Richards (1911-2005) ผู้กำกับ/ตากล้อง สัญชาติอังกฤษ, วัยเด็กมีความเพ้อฝันอยากเป็นวิศวกร แต่ไม่มีเงิน ไม่มีความรู้ ถึงอย่างยังสามารถเปิดร้านซ่อมวิทยุ จนกระทั่งอายุ 19 เข้าร่วมบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองทำงานเป็นตากล้องให้กับ Crown Film Unit ถ่ายทำสารคดี/หนังชวนเชื่อ Fires Were Startes (1943), A Christmas Carol (1951), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Horse’s Mouth (1953)
งานภาพของหนังอาจไม่ได้ใช้เทคนิคอะไรหวือหวา ส่วนใหญ่กล้องแทบไม่ขยับเคลื่อนไหว เพียงแพนนิ่งบางครั้งครา แต่โดดเด่นมากๆคือองค์ประกอบภาพ ทิศทางมุมกล้อง พยายามทำออกมาในสไตล์กึ่งสารคดี (Docu-Drama) ให้ดูเป็นธรรมชาติ มีความสมจริง เก็บรายละเอียดเกี่ยวกับวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน และภารกิจของนักผจญเพลิงประจำกรุง London
เกร็ด: ผู้กำกับ Jennings ให้คำนิยามงานภาพของหนังว่า “camera poems”
สังเกตว่าหนังแทบไม่ค่อยถ่ายภาพกองไฟ หรือตำแหน่งที่กำลังลุกไหม้ตรงๆ (มักพบเห็นจากระยะไกลๆ หรือวัสดุที่สามารถควบคุมเพลิงได้ง่าย) มุมกล้องส่วนใหญ่คือฟากฝั่งนักผจญเพลิง กำลังฉีดพ่น จับสายยาง แต่หมอกควันและความสว่างจากแสงไฟ กลับทำให้ผู้ชมรู้สึกเร่าร้อนระอุ มอดไหม้ทรวงใน … นี่ต้องชมเสียง ‘Sound Effect’ ที่มีความสมจริงอย่างมากๆด้วยเช่นกัน


วิธีการอันแนบเนียนก็คือการใช้แสงจากสป็อตไลท์ถ่ายย้อนเข้ามา ในบริเวณปกคลุมด้วยหมอกควันฟุ้งๆ ให้ความรู้สึกเหมือนมีกองเพลิงกำลังคุกรุ่นอยู่ด้านหลัง แล้วมีการจุดไฟกองเล็กๆตรงบันได ล่อหลอกผู้ชมให้หลงเชื่อสนิทใจ! นี่เป็นช็อตที่ดูอันตราย แต่ตอนถ่ายทำคงไม่ได้มีความเสี่ยงอะไร

นี่เป็นอีกช็อตที่มองผ่านๆดูอันตรายมากๆ แต่กองไฟถูกจุดขึ้นในบริเวณที่สามารถควบคุมการลุกลาม แล้วใช้แสงสป็อตไลท์ส่องผ่านหมอกควัน (มันสามารถใช้เชื้อเพลิงที่พอเผาไหม้แล้วมีควันออกมาเยอะๆได้) … นี่คือความมหัศจรรย์/มายากลของสื่อภาพยนตร์โดยแท้!

เอาจริงๆผมรู้สึกว่าโศกนาฎกรรมของตัวละครหนึ่งในหนัง ไม่ได้มีความจำเป็นสักเท่าไหร่ แต่บริบทยุคสมัยนั้น ‘การเสียสละ’ คือลักษณะหนึ่งของการชวนเชื่อ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเป็นเกียรติ ภาคภูมิใจ พร้อมต่อสู้ เผชิญหน้าศัตรู ไม่ต้องการให้ความตายของเพื่อนร่วมชาติต้องสูญเสียเปล่า … ความเป็นวีรบุรุษของนักผจญเพลิง ถือว่าเทียบเท่าทหารหาญที่เข้าร่วมสู้รบสงคราม

ตัดต่อโดย Stewart McAllister (1914-62) ทั้งสองร่วมงานกันตั้งแต่ London Can Take It! (1940), The Heart of Britain (1941), Words for Battle (1941), Listen to Britain (1942), Fires Were Started (1943), The Silent Village (1943), A Diary for Timothy (1945) ฯลฯ
หนังไม่ได้นำเสนอผ่านมุมมองตัวละครใด ทำการร้อยเรียงกิจวัตรของหน่วย Heavy Unit One, Sector C14 ในวันที่มีนักผจญเพลิงคนใหม่เข้ามาประจำการ และเตรียมพร้อมออกปฏิบัติภารกิจยัง Trinidad Street โดยสามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็นครึ่งแรก-ครึ่งหลัง
- เตรียมความพร้อมตอนกลางวัน
- เช้าตรู่รถดับเพลิง Heavy Unit One เดินทางมาถึงสำนักงาน รวมถึงบรรดาพนักงาน และสมาชิกใหม่
- ซ่อมแซม ชะล้าง ทำความสะอาดรถดับเพลิง และซักซ้อมแผนการปฏิบัติงาน
- ยามบ่ายช่วงเวลาผ่อนคลาย รับประทานอาหาร หลับนอน และพาสมาชิกใหม่ทัวร์รอบกรุง London (อารัมบทสถานที่ที่จะเกิดเหตุไฟไหม้ในค่ำคืนนี้)
- ภารกิจยามค่ำคืน
- ยามสนธยา เตรียมความพร้อมก่อนออกปฏิบัติภารกิจ มีการร้องรำทำเพลง สร้างขวัญกำลังใจ
- เมื่อได้รับมอบภารกิจ เดินทางมุ่งสู่ Trinidad Street เตรียมการฉีดน้ำ แต่ก็เต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ
- หลังจากเพลิงเริ่มลุกลามบานปลาย ต้องติดต่อขอกำลังเสริม และสูบน้ำขึ้นจากแม่น้ำ
- เมื่อกองกำลังเสริมมาถึง จึงเริ่มสามารถควบคุมเพลิง
- ภารกิจเสร็จสิ้น หวนกลับสำนักงาน และพิธีไว้อาลัยแก่ผู้เสียสละชีพ
ทั้งโครงสร้างและทิศทางดำเนินเรื่องของหนัง มีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ร้อยเรียงชุดภาพ ‘montage’ ตรงโน้นนิดตรงนี้หน่อย เพื่อสร้างสัมผัสกวีภาพยนตร์
ไฮไลท์การตัดต่อก็คือเครือข่ายประสานงาน ผมดูไม่ค่อยรู้เรื่องหรอกว่าใครติดต่ออะไรกับใคร แต่สัมผัสได้ถึงระบบการทำงานที่มีแบบแผน เป็นขั้นเป็นตอน คลอบคลุมทุกองค์กรเกี่ยวข้อง มันอาจดูวุ่นๆวายๆ แต่พวกเขาทั้งหลายล้วนมุ่งมั่นทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจ เพื่อให้ภารกิจดับเพลิงค่ำคืนนี้ ประสบความสำเร็จลุล่วงโดยดี … หน่วยงานที่คอยติดต่อประสานงานเบื้องหลัง สมควรได้รับการสรรเสริญไม่น้อยกว่านักผจญเพลิงเลยนะครับ!
เพลงประกอบโดย William Alwyn (1905-1985) คีตกวีสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Northampton วัยเด็กหลงใหลใน Flute และ Piccolo เข้าศึกษาต่อยัง Royal Academy of Music ณ กรุง London จากนั้นเป็น Flautist ให้กับ London Symphony Orchestra ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนทฤษฎีดนตรี แล้วมีโอกาสทำเพลงออร์เคสตรา Concerto, Piano Suite, Chamber Music, ละครเวที และประกอบภาพยนตร์ อาทิ The True Glory (1945), The October Man (1947), Odd Man Out (1947), The Crimson Pirate (1952), A Night to Remember (1958), The Running Man (1963) ฯลฯ
งานเพลงของ Alwyn จะคอยแทรกแซมอยู่ตามช่องว่างของหนัง เมื่อไหร่ไม่มีการพูดคุยสนทนา หรือขณะร้อยเรียงชุดภาพกิจวัตรประจำวัน (ยกเว้นช่วงระหว่างกำลังดับเพลิง จะมีเพียงเสียง ‘Sound Effect’ ที่โคตรสมจริง!) เพื่อสร้างบรรยากาศเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ผู้ชมรู้สึกปลอดภัยไร้กังวล ขณะที่ช่วงท้ายมอบความซาบซึ้งและภาคภูมิใจ ต่อการเสียสละเพื่อชาติและผืนแผ่นดิน
สำหรับสองบทเพลงขับร้อง ต่างมีท่วงทำนองสนุกสนาน ขับขานด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ สามารถมองว่าเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ตระเตรียมความพร้อมก่อนออกปฏิบัติภารกิจเสี่ยงอันตราย!
One Man went to Mow บทเพลงสำหรับเด็ก (Nursery Rhyme) เป็นที่รู้จักโด่งดังในประเทศอังกฤษ … ผมขี้เกียจหาข้อมูล เหมือนจะเอาไว้ให้ฝึกหัดนับตัวเลข จากหนึ่งคนหนึ่งสุนัข เป็นสองคนสองสุนัข ตามเนื้อคำร้องเหมือนจะสิ้นสุดที่แปดคน แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป … จะว่าไปพอถึงคนที่แปด มันแอบปัก ‘Death Flag’ ไว้ด้วยนะ!
One man went to mow
Went to mow a meadow
One man and his dog
Went to mow a meadowTwo men went to mow
Went to mow a meadow
Two men, one man and and his dog
Went to mow a meadow…
Eight men went to mow
Went to mow a meadow
Eight men, Seven men, Six men, Five men, Four men, Three men, Two men, one man and and his dog
Went to mow a meadow
ส่วนอีกเพลงที่สมาชิก Heavy Unit One, Section C14 ขับร้องก่อนออกไปปฏิบัติภารกิจชื่อว่า Please Don’t Talk About Me (When I’m Gone) (1930) ต้นฉบับแต่งโดย Sam H. Stept, คำร้องโดย Sidney Clare, ฉบับเก่าแก่สุดที่พบเจอใน Youtube ขับร้องโดย Gene Austin บันทึกเสียงเมื่อปี ค.ศ. 1931
นี่ก็เป็นอีกบทเพลง ‘Death Flag’ ไม่ต้องการให้พูดถึงเมื่อฉันจากไป! แต่ถึงอย่างนั้นความเสียสละของนักผจญเพลิง/ทหารหาญที่เข้าร่วมสู้รบสงคราม จักได้รับการจดจำเยี่ยงวีรบุรุษตราบนานเท่านั้น!
Years we’ve been together
Seems we can’t get along
No matter what I do
it don’t appeal to you
Makes No difference wether
I am right or I’m wrong
If we can’t be sweethearts
This much you can do.Please don’t talk about me when I’m gone,
Oh, honey,
Though our friendship ceases from now on,
And listen,
If you can’t say anything that’s nice,
It’s better not to talk at all, Is my advice,
We’re parting,
You go your way, I’ll go mine,
It’s best that we do,
Here’s a kiss! I hope that this
brings, Lots of luck to you
Makes no difference how I carry on,Remember,
Please don’t talk about me when I’m gone
เกร็ด: บทเพลงนี้เคยได้รับการขับร้องโดย Norma Shearer ประกอบภาพยนตร์ The Women (1939)
มองผิวเผิน Fires Were Started (1943) คือภาพยนตร์กึ่งสารคดี (DocuDrama) บันทึกภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน การทำงานของนักผจญเพลิง (Firefighter) รวมถึงเครือข่ายที่อยู่เบื้องหลัง คอยติดต่อประสานทุกภาคส่วนในการควบคุมเปลวไฟไม่ให้ลุกลามบานปลาย สร้างความเชื่อมั่น การันตีความปลอดภัย แม้ทรัพย์สินอาจเสียหาย ตึกรามบ้านช่องพังทลาย แต่ตราบยังมีชีวิตและลมหายใจ ย่อมสามารถเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
เราสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ถึงไฟสงคราม (World Wars 2) ที่กำลังลุกลามบานปลายมาถึงประเทศอังกฤษ ถูกโจมตีโดยเครื่องบินทิ้งระเบิด ได้รับความเสียหายย่อยยับเยิน ถึงอย่างนั้นไม่มีอะไรให้ต้องหวาดกังวล เพราะเรามีกองกำลังรักษาดินแดน Home Guard (ชื่อเดิมคืออาสาสมัครรักษาดินแดน Local Defence Volunteers, LDV) และกองทัพอากาศ RAF (Royal Air Force) คอยขับไล่ศัตรูผู้มารุกราน และโดยเฉพาะนักผจญเพลิง ทำให้ทุกค่ำคืนพานผ่านไปอย่างราบรื่น
ไม่ใช่แค่นักผจญเพลิง กองกำลังรักษาดินแดน หรือกองทัพอากาศ แต่ยังหน่วยงาน/เครือข่ายที่คอยติดต่อประสานงานอยู่เบื้องหลัง สมควรได้รับเครดิตไม่น้อยหน้ากันนะครับ! ภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยให้ผู้ชมเกิดความตระหนักถึงอย่างมากๆ เพราะถ้าไม่มีพวกเขา ใครจะคอยแจ้งเหตุไฟไหม้ ติดต่อกรมชลประทานให้จ่ายน้ำ หรือขอกำลังเสริมช่วยดับเพลิงไม่ให้ลุกลามบานปลาย … กลุ่มคนเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นผู้ ‘ปิดทองหลังพระ’ อย่างแท้จริง!
อย่างที่บอกไปว่าผู้กำกับ Jennings หมดความสนใจในหนังชวนเชื่อที่เต็มไปด้วย ‘voice of God’ คอยชี้ชักนำทางความครุ่นคิดเห็นของผู้ชม, Fires Were Started (1943) เป็นภาพยนตร์ที่ไม่มีอะไรเช่นนั้นอยู่เลย แต่กลับสามารถสร้างความฮึกเหิม บังเกิดขวัญกำลัง ผู้ชมรู้สึกภาคภูมิใจ แทบไม่แตกต่างจากหนังชวนเชื่อเลยสักนิด!
ผมเคยกล่าวไว้ว่า Triumph of the Will (1935) เป็นภาพยนตร์ชวนเชื่อที่เอ่อล้นด้วยพลัง ดั่งเปลวเพลิงเร่าร้อนแรง, Listen to Britain (1942) ราวกับน้ำเย็น (calm voice) ที่สร้างความสงบ ผาสุข ผ่อนคลายจิตวิญญาณ … เช่นนั้นแล้ว Fires Were Started (1943) คือการดับไฟด้วยน้ำเย็น ถือเป็นอีกชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศอังกฤษต่อนาซีเยอรมัน
แม้ว่าฉากดับเพลิงจะเป็นการสร้างสถานการณ์สมมติ ‘reconstruction scene’ แต่นักวิจารณ์ต่างยกย่องสรรเสริญในความสมจริง และบันทึกประวัติศาสตร์ประเทศอังกฤษ ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ได้รับการโหวตชาร์ท British Film Institute (BFI): Top 100 British films ติดอันดับ 89
ผลงานของผู้กำกับ Humphrey Jennings (น่าจะ)ทุกเรื่องได้รับการบูรณะคุณภาพ 2K โดย British Film Institute (BFI) สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray รวมอยู่ในคอลเลคชั่น The Complete Humphrey Jennings มีทั้งหมด 3 Volume หรือจะหารับชมได้ทาง BFI Player (เว็บไซด์สตรีมมิ่งของ BFI)
อาจเพราะผมคาดหวังค่อนข้างสูงกับ Fires Were Started (1943) ดูไปสักครึ่งชั่วโมงเลยเริ่มรู้สึกเหนื่อยหน่าย ออกอาการเซ็งๆ เอาจริงๆหนังไม่ได้ย่ำแย่ เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ร้อยเรียงให้กลายเป็น ‘กวีภาพยนตร์’ แต่แค่มันไม่น่าประทับใจเทียบเท่า Listen to Britain (1942) อาจเพราะความเป็นหนังสั้น-ยาว (Short Film vs. Feature Length) มีหลายสิ่งอย่างที่ผู้สร้างต้องตระหนักถึงความแตกต่าง
จะว่าไปภาพยนตร์เกี่ยวกับนักผจญเพลิง มีปริมาณน้อยนิด The Towering Inferno (1974), Always (1989), Ladder 49 (2004), Only the Brave (2017) ฯลฯ รวมถึงอนิเมะสองเรื่องที่เบี้ยวๆเกี่ยวกับอาชีพนี้ Ride Your Wave (2019) และซีรีย์ Enen no Shoubouta/Fire Force (2019-)
จัดเรต pg กับความเร่าร้อนรุนแรงของเปลวเพลิง
Leave a Reply