First Man

First Man (2018) hollywood : Damien Chazelle ♥♥♥♥

เมื่อตอน Damien Chazelle ขึ้นรับรางวัล Oscar: Best Director จาก La La Land (2016) กลายเป็นผู้กำกับอายุน้อยสุดที่คว้ารางวัลนี้ มันช่างเป็นการเดินทางอันสั่นสะท้านสุดเหวี่ยง จำต้องทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลังแล้วพุ่งทะยานไปข้างหน้า ให้ถึงดวงจันทรากลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า

นี่ถ้าไม่เพราะผมเพิ่งเขียนถึง Gravity (2013) ของผู้กำกับ Alfonso Cuarón ตีความสถานะ ‘อวกาศ’ สะท้อนห้วงอารมณ์ความเป็นศิลปินของตนเองออกมา รับชมเรื่องนี้ผมก็คงครุ่นคิดว่า ก็แค่ชีวประวัติของ Neil Armstrong นักบินอวกาศคนแรกของโลกที่ก้าวย่างเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ 20 กรกฎาคม 1969

สิ่งหนึ่งที่ผมโคตรทึ่งในความหาญกล้าของ Chazelle คือการจงใจไม่ใส่ฉากปักธงชาติสหรัฐอเมริกาบนพื้นผิวดวงจันทร์ ถึงเขาอ้างว่าต้องการโฟกัสเกี่ยวกับตัวละครเท่านั้น แต่ก็ถูกพวก Trump-ist นักอนุรักษ์นิยม ขวาจัด แห่งสหรัฐอเมริกา แสดงเจตจำนงค์ #BoycottFirstMan อ่านทวิตเตอร์ของนักข่าวคนหนึ่ง

“This is where our country is going. They don’t think America is great”.

จริงๆประเด็นเรื่องธงชาติบนดวงจันทร์ เป็นที่ถกเถียงกันตั้งแต่ยุคสมัยนั้นแล้วว่า จะใช้สหรัฐอเมริกา หรือสหประชาชาติ ซึ่ง Neil Armstrong ก็ได้ให้ความเห็นแบบโคตรชาญฉลาด

“In the end, it was decided by Congress that this was a United States project. We were not going to make any territorial claim, but we were to let people know that we were here and put up a US flag. My job was to get the flag there. I was less concerned about whether that was the right artifact to place. I let other, wiser minds than mine make those kinds of decisions.”

– Neil Armstrong

นี่ทำให้ผมครุ่นคิดตั้งคำถามว่า การที่ NASA สามารถนำพามนุษย์ออกเดินทางไปก้าวย่างเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ นั่นคือคือความสำเร็จของมวลมนุษย์ชาติ หรือแค่สหรัฐอเมริกาชนกันแน่? กับประเทศโลกที่สามอย่างเราๆคงมองกันแบบแรก แต่ครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันจะเห็นว่า เงินภาษีของบรรพบุรุษพวกฉันต่างหากที่ทำให้โครงการ Apollo ประสบความสำเร็จ … Rashômon โดยแท้

First Man: The Life of Neil A. Armstrong (2005) คือหนังสือชีวประวัติ เขียนโดย James R. Hansen ถือเป็นครั้งแรกที่ Armstrong (และครอบครัว) ยินยอมให้สัมภาษณ์ทำเป็นหนังสือ เปิดเผยโลกส่วนตัว ชีวิตครอบครัว มุมมองอีกด้านที่สาธารณชนไม่เคยล่วงรับรู้มาก่อน

ก่อนหนังสือเล่มดังกล่าวจะตีพิมพ์ ข่าวคราวไปเข้าหูของผู้กำกับ Clint Eastwood ขอให้สตูดิโอ Warner Bros. ติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงมาตั้งแต่ปี 2003 เพราะก่อนหน้านี้ปู่เคยกำกับ/แสดงนำ Space Cowboys (2000) อยู่ในช่วงกำลังสนใจภาพยนตร์เกี่ยวกับอวกาศ แต่ไปๆมาๆกลับถอนตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ

Damien Sayre Chazelle (เกิดปี 1985) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ French-American เกิดที่ Providence, Rhode Island, พ่อเชื้อสายฝรั่งเศส สอนวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ Princeton University แม่เป็นชาวแคนาเดียน สอนประวัติศาสตร์ยุคกลางที่ The College of New Jersey, สมัยมัธยมเข้าเรียน Princeton High School วาดฝันอยากเป็นนักดนตรีแต่ครูบอกไม่มีพรสวรรค์ด้านนี้ เลยเปลี่ยนมาเรียนสร้างภาพยนตร์ คณะ Visual and Environmental Studies ที่ Harvard University, กำกับโปรเจคจบร่วมกับเพื่อนสนิท Justin Hurwitz เป็นหนังเพลง Jazz เรื่อง Guy and Madeline on a Park Bench (2009), ต่อมาทำหนังสั้น Whiplash ไปฉายเทศกาลหนังเมือง Sundance คว้ารางวัล Short Film Jury Prize จากนั้นพัฒนาเป็นหนังขนาดยาว Whiplash (2014) ได้เข้าชิง Oscar หลายสาขา

หลังจาก WB หมดระยะสัญญาลิขสิทธิ์สิบปีกับหนังสือ First Man: The Life of Neil A. Armstrong ทำให้ Universal Studios และ DreamWorks ร่วมกันดึงโปรเจคมาครอบครอง เลือก Chazelle จากความประทับใจใน Whiplash (2014) และมอบหมายให้ Josh Singer (Spotlight, The Post) ดัดแปลงบทภาพยนตร์

ทีแรก Chazelle คงอยากที่จะสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นก่อน La La Land (2016) แต่อาจด้วยความล่าช้าในการเตรียมงาน คัดเลือกนักแสดง เลยตัดสินใจพักโปรเจคไว้ก่อน  ทุ่มเวลาให้กับหนังเพลงในฝัน เสร็จสำเร็จทำกำไรติดไม้ติดมือพร้อมรางวัล สานต่อ First Man คาดหวังคงสร้างกระแสความสนใจได้มากทีเดียว

“I was fascinated by the psychology of what it must take to take a trip like this. I have a hard enough time flying in an airplane so the idea of taking what were essentially glorified coffins, little sardine cans sticking people in and hurling them at the tip of a rocket into deep space and sending them farther than any person has ever gone before by a multiple of 30 was just both fascinating and awe-inspiring to me”.

– Damien Chazelle

เริ่มต้นปี 1961, นักบิน Neil Armstrong (รับบทโดย Ryan Gosling) กำลังขับเครื่องบินทดสอบ X-15 บังเอิญหลุดออกไปนอกชั้นบรรยากาศไม่น่ารอดแน่ แต่ด้วยสันชาตญาณพิเศษจึงสามารถหาหนทางหวนกลับสู่โลก รักษาสถิติไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เอาตัวรอดตายได้อย่างหวุดหวิดทุกครั้งไป

กลับสู่พื้นผิวโลก ครอบครัวของเขาขณะนั้นประกอบด้วยภรรยา Janet Armstrong (รับบทโดย Claire Foy) ลูกชายหนึ่ง และลูกสาววัยสองขวบครึ่งป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง ไม่มีทางรักษาหายจนกระทั่งเสียชีวิตจากไป นั่นกลายเป็นแรงผลักดันให้เขาสมัครเข้าร่วมโปรเจค Gemini ได้รับคัดเลือกเป็นนักบินอวกาศ NASA Group 2 ภารกิจมุ่งสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์กับยาน Gemini 8 แต่เกิดอุบัติเหตุขั้นร้ายแรงขึ้นเสียก่อน เมื่อกระสวยอวกาศหมุนควงสว่างไม่ยอมหยุด กระนั้นด้วยสันชาติญาณพิเศษจึงสามารถหาหนทางหวนกลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง

ได้รับการยกย่องอย่างสูงถึงความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สำหรับโครงการ Apollo จึงถูกมั่นหมายอย่างดีจจาก NASA จะสามารถปฏิบัติภารกิจ เป็นมนุษย์คนแรกก้าวย่างเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์กับยาน Apollo 11 สำเร็จลุล่วงปลอดภัย ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ เขาจำต้องละทิ้งทุกสิ่งอย่างจากครอบครัว ปากอ้างว่าการมองโลกจากดวงจันทร์จะทำให้พบเห็นอีกมุมมองหนึ่งที่แตกต่าง แต่ตัวเขากลับยิ่งถลำจมปลักลึกอยู่ในโลกส่วนตัวตนเองเพียงผู้เดียว

Ryan Thomas Gosling (เกิดปี 1980) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ London, Ontario ตั้งแต่เด็กมีโอกาสรับชมหนังนัวร์เรื่อง Dick Tracy (1945) จึงเกิดความสนใจอยากเป็นนักแสดง อายุ 12 สมัครคัดเลือกนักแสดง The Mickey Mouse Club ได้เซ็นสัญญาสองปี เดินทางมาอาศัยอยู่ Orlando, Florida ร่วมรุ่นเดียวกับ Justin Timberlake, Britney Spears, Christina Aguilera แม้ความสามารถจะไม่ค่อยมีแต่ได้รับประสบการณ์อย่างมาก หลังจากหมดสัญญากับ Disney หวนกลับแคนาดา แสดงซีรีย์โทรทัศน์ ดิ้นรนไปเรื่อยๆจนมีชื่อเสียงโด่งดังครั้งแรกกับ The Notebook (2004), Blue Valentine (2010), Drive (2011), La La Land (2016), Blade Runner 2049 (2017) ฯ

รับบท Neil Alden Armstrong (1930 – 2012) นักบินอวกาศ วิศวกร ทดสอบการบิน สัญชาติอเมริกัน, ไม่ใช่ความเพ้อใฝ่ฝันทะเยอทะยานที่ตัวเขาอยากไปก้าวย่างเหยียบดวงจันทร์ แต่คือสัญชาติญาณเอาตัวรอดที่มีสูงกว่าใครอื่นจนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจาก NASA แรงผลักดันเกิดจากการสูญเสียลูกสาวสุดที่รัก แปรสภาพความโศกกลายเป็นการทุ่มเทกายใจให้จมอยู่กับงาน ค่อยๆปิดกั้นกีดกันตนเองจากครอบครัว พรรคพวกพ้อง และพร้อมเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อความสำเร็จนั้น

Gosling ถือเป็นตัวเลือกแรกหนึ่งเดียวของ Chazelle เห็นว่าคุยๆตอบตกลงกันตั้งแต่ก่อนสร้าง La La Land (2016) บอกว่าชายคนนี้มีมุมลึกลับที่ปกปิดบังซ่อนเร้นไว้ เหมือน Neil Armstrong คือแทบไม่เคยเปิดเผยเรื่องราวส่วนตนเองออกสู่สาธารณะ และก็มีความขี้เล่นหยอกล้อ ‘dry joke’ ตลกกวนประสาทแบบไม่ค่อยขำเท่าไหร่คล้ายกันด้วย

เพราะผมจะไม่ได้มักคุ้นกับตัวจริงของ Neil Armstrong เลยบอกไม่ได้ว่าการแสดงของ Gosling สมจริงมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าพิจาณาจากทิศทางของเรื่องราว ก็ต้องระดับสรรเสริญเลยว่า สามารถถ่ายทอดตัวละครนี้ได้อย่างมีมิติลุ่มลึกล้ำ สามารถหลบซ่อนเร้นความรู้สึก หวาดสะพรึงกลั่ว ทุกสิ่งอย่างเก็บกดดันไว้ภายในตัวตนเองแต่เพียงผู้เดียว การเดินทางไปสู่ดวงจันทร์คือวิถีหนทางระบายความคลุ้มคลั่งนั้นออก (นี่ไม่ต่างอะไรกับ ‘ศิลปิน’) เพื่อให้สามารถปลดปล่อยวาง โยนทิ้งสายรัดข้อมือของภรรยา (จริงๆไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบนนั้น แต่เห็นว่า Armstrong ให้เวลากับตนเอง ปิดการสื่อสาร อยู่เงียบๆอยู่บนดวงจันทร์นานหลายนาที นี่อาจเป็นสิ่งที่เขาทำจริงๆก็ได้)

Claire Elizabeth Foy (เกิดปี 1984) นักแสดงหญิง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Stockport, Greater Manchester ครอบครัวมีเชื้อสาย Irish โตขึ้นเข้าเรียน Liverpool John Moores University จบสาขาการแสดง ต่อด้วย Oxford School of Drama อีกหนึ่งปีเต็ม ระหว่างนั้นแสดงละครเวที ตามด้วยซีรีย์โทรทัศน์ เริ่มมีชื่อเสียงจากซีรีย์ The Crown (2016-17), สำหรับภาพยนตร์ อาทิ First Man (2018), The Girl in the Spider’s Web (2018) ฯ

รับบท Janet Shearon Armstrong (1934 – 2018) เธอมีความใคร่สนใจหนึ่งเดียวเท่านั้น คือชีวิตครอบครัวที่เรียบง่ายสุขสงบ แต่ไม่เคยคาดคิดว่าทุกวันต้องหวาดหวั่นระแวง ไม่รู้สามีจะกลับบ้านปลอดภัยดีหรือเปล่า พวกเขามีลูกด้วยกัน 3 คน แต่หลังสูญเสียลูกสาว สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของ Neil อดรนทนกลั้นอยู่หลายปี จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งแทบไม่หลงเหลืออะไรให้พูดคุยสนทนากันอีก

เกร็ด: ในชีวิตจริง Janet หย่าร้างกับ Neil เมื่อปี 1994

มีเพียงผู้กำกับ Chazelle ที่ได้สนทนาพูดคุยกับ Janet Armstrong (Foy ไม่ได้มีโอกาส เพราะ Janet ไม่อยากพบเจอ บอกว่าแปลกพิลึกที่จะสนทนาเรื่องราวชีวิตตนเองกับคนแปลกหน้า) ซึ่งการตีความตัวละครนี้ของ Foy ทำให้เธอดูเป็นหญิงแกร่ง ก้าวร้าว แม้ลึกๆจะอึดอัดอั้นทุกข์ทรมานจากความไม่สนใจของสามี แต่ก็สามารถฟันฝ่าเอาชนะได้แทบทุกอุปสรรคขวากหนาม

แซว: สองนักแสดงนำไม่มีใครเป็นอเมริกันสักคน, Gosling เคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องธงเช่นกัน บอกว่าคงรู้สึกแปลกๆถ้าตนเอง

ผมไปเจอบทสัมภาษณ์ของ Foy เล่าถึงการทำงานในหนังเรื่องนี้ ที่ได้รับอิสรภาพพอสมควรในการ ‘improvised’ ให้เหมาะสมกับเหตุการณ์เรื่องราว

“It’s definitely not an improvised movie by any stretch of the imagination. But the improvisations that we were allowed to do, whether they without dialogue or with moments of dialogue, meant that they gave it color and a depth because we had to invent this family and these relationships these people were having”.

ถ่ายภาพโดย Linus Sandgren สัญชาติ Swedish ที่เพิ่งคว้า Oscar: Best Cinematographer เรื่อง La La Land (2016), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ American Hustle (2013), Battle of the Sexes (2017) ฯ

ความระห่ำในการถ่ายภาพ คือเลือกใช้กล้องทั้งหมด 3 ขนาด ประกอบด้วย
– Super 16mm สำหรับถ่ายในจรวด/กระสวยอวกาศ มีความมืดๆ กล้องสั่นๆ ดูไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่
– ฟีล์ม 35mm, Techniscope ขนาด 2.39 : 1 สำหรับถ่ายฉากปกติทั่วไปบนพื้นโลก
– ฟีล์ม 65mm, IMAX สำหรับถ่ายทำฉากบนดวงจันทร์

เครื่องบินทดสอบรุ่น North American X-15 ประเภทเครื่องยนต์จรวด (Hypersonic Rocket-Powered) ทำความเร็วสูงสุด Mach 6.72 ที่ 7,274 กม./ชม. โดย William J. Knight เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 1967 สำหรับ Neil Armstrong ขึ้นบินทั้งหมด 7 ครั้ง สถิติความเร็วสูงสุดคือ Mach 5.74 ที่ 6,420 กม./ชม. และครั้งสุดท้ายหลุดออกไปนอกชั้นบรรยากาศโลก แต่ด้วยไหวพริบเฉพาะตัวทำให้สามารถหวนกลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัย, มันจะมีช็อต Horizon ภาพดวงอาทิตย์สุดขอบปลายฟ้าสะท้อนปรากฎบนหมวกนักบิน ไม่เพียงงดงามมากๆ แต่ยังสะท้อนนัยยะถึงบางสิ่งที่ตัวละครไขว่คว้าค้นหา

ใครเคยรับชม The Right Stuff (1983) น่าจะจดจำช็อตเคารพคารวะ Chuck Yeager นักบินคนแรกที่สามารถทำความเร็วผ่าน Supersonic, Mach 1 นี่ย่อมเป็นการสื่อเล็กๆว่า Neil Armstrong ถือว่าเป็น ‘The Right Stuff’ ของจริงเช่นกัน!

ในชีวิตจริงเป็นเช่นนั้นหรือเปล่าไม่รู้ แต่หนังพยายามสื่อให้การสูญเสียชีวิตของลูกสาววัยสองขวบครึ่ง แปรสภาพเป็นพลังผลักดันให้ Neil Armstrong ขยันขันแข็งก้มหน้าก้มตาทำงาน ราวกับเพื่อไม่ให้ต้องครุ่นคิดถึง เศร้าโศกเสียใจ จมปลักอยู่กับความทุกข์ยากลำบาก นั่นเป็นสาเหตุให้เขาค่อยๆสร้างกำแพงขึ้นมาปกปิดกั้นห้อมล้อมตนเอง แม้แต่ภรรยาและลูกชายสองคนที่เหลือก็มิอาจก้าวเข้าไปอยู่ข้างในทดแทนกันได้

และนี่คงคือเหตุผลด้วยว่า เมื่อเขาทราบข่าวการเสียชีวิตของเพื่อนนักบิน หรือขณะอุบัติเหตุ Apollo 1 พยายามปลีกตัวไม่ค่อยอยากสุงสิงอยู่กับใคร ที่งานศพแวบหนึ่งปรากฎเห็นภาพลูกสาวสร้างความรวดร้าวระทมใจ ใช้เวลาส่วนตัวจับจ้องมองดวงจันทร์ คาดหวังถ้าได้ไปถึงตรงนั้นจะสามารถปลดปล่อย ทอดทิ้ง ความรู้สึกเลวๆร้ายๆดังกล่าววางลงได้

ใครเคยรับชม La La Land จะรับรู้ถึงความเฉลียวฉลาดในการจัดแสงสีอย่างมีมิติ นี่เป็นช็อตเล็กๆที่ก็แฝงความหมายอย่างลึกล้ำทีเดียว, Neil กับ Janet เต้นรำหมุนวนไปมา แต่โคมไฟสองอันกลับส่องสว่างเพียงด้านเดียว อีกข้างหนึ่งกลับมืดมิดสนิทปิดไว้ นี่เป็นการสะท้อนถึงสถานะของพวกเขาตอนนี้ ราวกับกำลังอยู่คนละฝั่งโลก คนหนึ่งปกปิดเก็บกดความรู้สึกไว้ภายใน (Neil) อีกคนยังคงส่องแสงสว่างเปิดอกรับฟัง (Janet)

เกร็ด: บ้านของ Neil Armstrong ปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนทำลายกลายเป็นอย่างอื่นไปแล้ว แต่มีแบบแปลนเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ Armstrong Air and Space เลยนำมาปลูกสร้างขึ้นใหม่ รายละเอียดใกล้เคียงของจริงทั้งหมด

อีกหนึ่งความบ้าระห่ำของผู้กำกับ Chazelle คือการถ่ายภาพในกระสวยอวกาศ พบเห็นเพียงนักบิน และภาพที่อยู่นอกกระจก (ในมุมมองของตัวละคร) ขณะที่ยาน Gemini 8 กำลังพุ่งทะยานออกนอกชั้นบรรยากาศโลก นี่เป็นการสร้างสัมผัส ‘ประสบการณ์’ ให้ผู้ชมร่วมรับรู้สึกไปกับตัวละคร ความสั่นสะเทือนแบบคลุ้มคลั่ง ชวนให้อ๊วกแตกอ๊วกแตนอยู่ตั้งหลายนาที ของจริงมันคงยิ่งๆกว่านี้อีก ทนกันเข้าไปได้ยังไง ยอดมนุษย์โดยแท้

ฉากที่เป็นการสะท้อนความยากลำบากในชีวิตของภรรยานักบินอวกาศ หวนนึกถึงคำพูดประโยคหนึ่งใน The Right Stuff (1983)

“The government can spend all kinds of money teaching you how to be a fearless test pilot, but they don’t spend a god-damned thing teaching you how to be the fearless wife of a fearless test pilot”.

– Glennis Yeager

เห็นว่า Janet เมื่อรับรู้ว่าเกิดอุบัติเหตุผิดพลาด มีการปิดสัญญาณออกอากาศถ่ายทอดสด Gemini 8 เธอรีบเดินทางตรงรี่ไปยัง NASA ต่อว่าบรรดาผู้บริหาร ไร้มาตรการรองรับป้องกันภัยแบบนี้โดยสิ้นเชิง!

ผมชอบความวุ่นวายของฉากนี้เป็นอย่างมาก ขณะที่พ่อไปปฏิบัติภารกิจเพื่อโลก แต่ลูกๆในครอบครัวยังเป็นเด็กทำตัวไร้เดียงสา ร้องเรียกความสนใจ คนเป็นแม่/ภรรยา เลยยิ่งชอกช้ำระกำหนัก พะวงหน้าพะวงหลัง เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด!

เผื่อคนสนใจ คลิปสัมภาษณ์นักบินอวกาศ Apollo 11 ก่อนออกเดินทาง

นี่เป็นเหตุการณ์จริงๆที่ Janet บีบบังคับให้ Neil ให้พูดคุยกับลูกชายทั้งสอง ถึงการเดินทางไปดวงจันทร์ของพ่อ เพราะมีโอกาสที่เขาจะไม่ได้หวนกลับมาอีก, สังเกตหลอดไฟและการจัดแสง มีเพียงฝั่ง Neil เท่านั้นไร้ซึ่งหลอดไฟอยู่ศีรษะ ขณะที่ลูกชายคนโตส่องสว่างดวงใหญ่สุด เพราะเขาโตพอจะรับรู้ถึงโอกาสที่พ่อจะไปไม่กลับ

ก้าวย่างขึ้นสู่ยาน Apollo 11 หลอดไฟยาวที่สะท้อนปรากฎในหมวกนักบิน ว่าไปราวกับเส้นทางสู่ The Wizard of Oz (1939) ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน … อันนี้ผู้กำกับ Chazelle ให้สัมภาษณ์พูดเองเลยนะ ว่าเขามองดวงจันทร์คือ Oz ขณะที่ Neil Armstrong ก็คือ Dorothy

แซว: ตอน La La Land ฉากแรกที่เต้นบนไฮเวย์ Chazelle ก็เคยบอกว่าได้แรงบันดาลใจจาก The Wizard of Oz (1939) สงสัยจะเป็นเรื่องโปรดนะเนี่ย!

ถ้าใครเคยดูคลิปจริงๆที่ถ่ายบนดวงจันทร์ ก็จะพบเห็นภาพสะท้อนพื้นผิวดวงจันทร์บนหมวกนักบินอวกาศแบบนี้เลยแหละ ซึ่งในบริบทของหนังสามารถตีความได้ถึงการมองเห็นตัวเอง มุมมองผ่านสายตาที่สะท้อนอยู่ในกระจก ดินแดนห่างไกลสุดที่มนุษยชาติก้าวย่างเหยียบ แต่มันกลับเวิ้งว้างว่างเปล่า เงียบสงัด ไม่มีอะไรทั้งสิ้นนอกจากฝุ่นผง

น่าจะถือเป็นลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Chazelle ที่ช็อตจบในหนังของเขา ตัวละครต้องจับจ้องมองกัน ไร้ซึ่งคำพูดคุยสนทนา

นัยยะของการพบเจอกันครั้งนี้ เพื่อบ่งบอกว่าโลกของ Neil และ Janet ได้แบ่งแยกตัดขาดกันโดยสิ้นเชิงแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ภาพสะท้อนใบหน้าของภรรยา ยังคงซ้อนทับอยู่เบื้องหลังสามี ก็แปลว่าเธอยังคงให้การสนับสนุนผลักดันเขาต่อไป (อดรนทนต่อไปได้อีกสักพักใหญ่ๆ)

ตัดต่อโดย Tom Cross ขาประจำของ Chazelle เช่นกัน คว้า Oscar: Best Film Editing จากเรื่อง Whiplash (2014), หนังเล่าเรื่องในมุมมองของ Neil Armstrong ทั้งหมด โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 องก์
– องก์แรก, ขณะเป็นนักบินทดสอบ X-15 และการเสียชีวิตของลูกสาว
– องก์สอง, โครงการ Gemini ตั้งแต่สมัคร สัมภาษณ์ ฝึกอบรมเตรียมตัว ไปจนถึงปฏิบัติภารกิจ Gemini 8
– องก์สาม, โครงการ Apollo เริ่มจากอุบัติเหตุร้ายแรงของ Apollo 1 ตระเตรียมตัว กลุ่มชุมนุมผู้ประท้วง ให้สัมภาษณ์ออกสื่อ ออกเดินทาง ถึงดวงจันทร์ และหวนกลับคืนมา

หนังมีการแทรกใส่ Archive Footage และเสียงสนทนาจริงๆขณะล่อนลงจอดบนดวงจันทร์ โดยเฉพาะประโยคอมตะของ Neil Armstrong

“That’s one small step for [a] man, one giant leap for mankind”.

ความโดดเด่นของการตัดต่อ สังเกตว่าหลายๆครั้งฉากเดียวกัน จะมีการตัดสลับเปลี่ยนมุมมองไปเรื่อยๆ หรือดำเนินเรื่องคู่ขนานระหว่าง Neil กับ Janet นี่เพื่อสะท้อนประโยคคำพูดของ Neil Armstrong เองเลย

“You’re down here and you look up and you don’t think about it too much. But space exploration changes your perception”.

เพลงประกอบโดย Justin Hurwitz เพื่อนสนิทร่วมรุ่นเดียวกับ Chazelle, เรื่องนี้จัดเต็มวง Orchestra และยังมีการใช้ Theremin, Moog Synthesizer, Leslie Speakers และ Echoplex เพื่อสร้างเสียงหลอนๆ ให้สัมผัสแห่งห้วงอวกาศ

เห็นว่าจริงๆแล้วเป็น Gosling ที่ค้นพบว่า Neil Armstrong ชื่นชอบฟังเพลงแปลกๆ โดยเฉพาะเสียงของ Theremin นำมาเสนอให้ Chazelle เกิดความประทับใจอย่างมาก เป็นเหตุให้ Hurwitz ต้องหัดเล่นจนคล่องแคล่วเพื่อจะสามารถแต่งเพลงประกอบได้

ขอเริ่มที่บทเพลงรักระหว่าง Neil กับ Janet น่าจะคือ Lunar Rhapsody (1947) แต่งโดย Harry Revel แสดงโดย Samuel Hoffman ถือเป็นบทเพลงแรกๆที่นำ Theremin มาบรรเลงร่วมกับดนตรีปกติ และเหมือนจะเป็นบทเพลงที่ Neil พกติดตัวขึ้นไปบนยาน Apollo 11 ดังขึ้นระหว่างการเดินทางมุ่งสู่ดวงจันทร์ด้วยนะ

บทเพลงที่สร้างข้อกังหาให้กับเหล่านักอนุรักษ์นิยม ขวาจัด แห่งสหรัฐอเมริกา คือ Whitey On The Moon (1970) แต่งโดย Gil Scott-Heron, ขับร้องโดย Leon Bridges นี่ทำให้ผมนึกถึงตอน The Martian (2015) ที่ถูกนำไปเป็นคลิปสั้นๆล้อเลียนในงาน Oscar ถ้าเป็นคนผิวสีติดอยู่บนดาวอังคาร จะมีใครหน้าไหนยินยอมไปช่วยเหลือไหม?

Docking Waltz ในฉากยาน Gemini 8 เข้าจอดเทียบท่า สัมผัสของบทเพลงถือว่ารับอิทธิพลมาเต็มๆจาก Johann Strauss II: The Blue Danube คาดว่าคงจะให้ยิ่งใหญ่เทียบเท่า 2001: A Space Odyssey (1968) เป็นแน่แท้

บทเพลง Apollo 11 Launch อารมณ์ประมาณ Armageddon (1998) ขึ้นกระสวยอวกาศเพื่อไปปฏิบัติภารกิจกอบกู้โลก, บทเพลงจะทวีความเร้าใจขึ้นเรื่อยๆ ขนหัวลุกพองเมื่อพบเห็นยาน Apollo 11 ทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้า

Sequence นี้ในหนัง สังเกตว่าจะไม่ได้แค่ถ่ายภายในกระสวยอวกาศ มุมมองนักบินอย่างเดียวเท่านั้นอีกต่อไป มีมุมกว้างขณะยานจุดระเบิด กำลังทะยานตัวขึ้น ไปจนถึงชั้นอวกาศ ปลดปล่อยท่อนเชื้อเพลิงไม่ได้ใช้ (Stage 2) นี่มองได้เป็นการเปิดโลกทัศน์มุมใหม่ หลังจากอุดอู้คุดคู้อยู่ภายในมาแสนนาน และคงเพื่อสร้างสัมผัสอันขนหัวลุกพองด้วยกระมัง หลายคนคงเฝ้ารอคอยช็อตฉากคลาสสิกในหนังเกี่ยวกับการเดินทางสู่ห้วงอวกาศ ไม่มีช็อตลักษณ์นี้ก็กระไรอยู่!

บทเพลงได้รับการกล่าวขวัญสูงสุดของหนัง The Landing (from First Man) เหตุการณ์จริงก็ลุ้นระทึกกลัวเชื้อเพลิงหมดแบบนั้นเลย แต่ด้วยสันชาติญาณเอาตัวรอดขั้นสูงสุดของ Neil Armstrong ความโชคดีระดับ 99 ไม่มีอะไรสามารถเข่นฆ่าเขาได้อย่างแน่นอน

ความทรงพลังของบทเพลงนี้ จะค่อยๆไต่ระดับความขนหัวลุกพอง จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็จะซาบซ่านไปถึงขั้วหัวใจ, จัดเต็มด้วย Orchestra อลังการเครื่องดนตรีถึง 94 ชิ้น!

ราวกับเสียงสายลมพัดหลอนๆ (ของ Theremin) บาดจิตบาดใจของผู้ก้าวย่างเดิน ในบทเพลง Moon Walk ความเวิ้งว้างว่างเปล่า ณ สถานที่แห่งนี้ ชักชวนให้ตั้งคำถามเล็กๆ เราจะมาทำไมกัน? ดูมันไม่เห็นจะมีอะไรน่าอภิรมณ์เลยสักอย่าง นี่นะหรือคือสิ่งที่มนุษยชาติไขว่คว้าเสาะแสวงหาคำตอบ

ทิ้งท้ายกับ Quarantine ด้วยสัมผัสอันโหยหวนของ Theremin ทอดทิ้งความโดดเดี่ยว อ้างว้าง เดียวดาย อะไรคือสิ่งที่หลงเหลืออยู่ภายในจิตใจของ Neil Armstrong คงไม่มีใครบ่งบอกได้นอกจากตัวเขาเอง

การจะเป็นผู้ชนะ ที่หนึ่ง ‘First Man’ จำต้องแลกมาด้วยอะไรต่อมิอะไรนานับประการ ซึ่งก่อนจะไปถึงจุดนั้นมักเริ่มจากตั้งมั่นในจิต พัฒนาศักยภาพตนเองให้เข้มแข็งแกร่ง กล้าได้กล้าเสี่ยง พิสูจน์ตนเองให้ได้รับการยอมรับ และผสมด้วย ‘Luck’ โชคชะตาฟ้ากำหนด โอกาสประสบเป้าหมายความสำเร็จก็จักมาเยือน

ภาพยนตร์ชีวประวัติ Neil Armstrong ไม่เพียงนำเสนอสิ่งเรียกได้ว่า ‘ด้านมืด’ ตัวตนอีกฝั่งของวีรบุรุษ ที่มิเคยได้รับการเปิดเผยเล่าสู่กันฟังมาก่อน พบเห็นความทุ่มเทเสียสละทุกสิ่งอย่างรอบตัวและครอบครัว เพื่อหน้าที่การงาน ด้วยเป้าหมายอุดมการณ์สูงสุดคือเป็นผู้ชนะ อันดับหนึ่ง ‘First Man’ คนเดียวเท่านั้นจะได้รับการจดจำไปจนกว่าโลกยุคสมัยนี้จะถึงการวินาศดับสิ้นสูญ

เห็นว่าในบทหนังและฉบับตัดต่อแรก มีเรื่องราวของ Buzz Aldrin (รับบทโดย Corey Stoll) ที่สองตลอดการของโครงการสำรวจอวกาศ Apollo ให้ความสำคัญพอสมควรทีเดียว โดยเฉพาะความขัดแย้งไม่ค่อยลงรอยเท่าไหร่กับ Neil แต่สุดท้ายจำต้องตัดออกเป็นส่วนใหญ่ เพราะชื่อหนังคือ First Man (ไม่ใช่ Second Man) และความยาวก็ปาเข้าไป 141 นาทีเสียแล้ว

บุคคลน่าสงสารเห็นใจสุดของหนัง เห็นจะเป็น Janet Armstrong ภรรยาผู้อยู่เบื้องหลัง ถูกทอดทิ้งไว้บนโลก เธอพยายามอย่างยิ่งจะฉุดดึงรั้งเขาลงมาแต่ก็มิอาจทำได้ อดรนทนสร้างภาพต่อไปอีกสักพักคงเพราะเคยรักมาก ยังรักอยู่ คาดหวังหลังจากวันนั้นอะไรๆคงเปลี่ยนแปลงไป แต่ในความเป็นจริงอะไรๆคงเลวร้ายลงเรื่อยๆ ไม่งั้นคงไม่เลิกราอย่าร้าง (แล้ว Neil ก็รีบร้อนแต่งงานใหม่สองเดือนหลังจากนั้น!)

Ryan Gosling หลังจากได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ Neil Armstrong แสดงทัศนะให้ความเห็นว่า

“I think Neil was extremely humble, as were many of these astronauts, and time and time again he deferred the focus from himself to the 400,000 people who made the mission possible. I might have cognitive bias, [but] I don’t think that Neil viewed himself as an American hero. From my interviews with his family and people that knew him, it was quite the opposite”.

– Ryan Gosling

สิ่งที่ผมเองยังต้องยินยอมรับนับถือในตัว Neil Armstrong จากการรับชมภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่องนี้ คือการให้เกียรติต่อผู้อื่น เศร้าโศกเสียใจทุกครั้งเมื่อเพื่อนร่วมงานได้รับอุบัติเหตุสูญเสียชีวิต ไม่ชอบขี้หน้า Buzz Aldrin เพราะหมอนี่ดีแต่ปาก ไม่คำนึงสนถึงหัวอกจิตใจคนฟัง แต่โชคชะตาจับพลัดพลูให้ต้องร่วมงานกัน ก็ยังเคารพและยอมรับการตัดสินใจของเบื้องบน ก้าวข้ามผ่านอคติ ขัดแย้ง ชนะทุกอุปสรรคขวางกั้น เป็นที่หนึ่งอันน่ายกย่องในความทุ่มเท ตั้งมั่น เสียสละ

คนที่เคยรับชมผลงานก่อนหน้าของ Damien Chazelle โดยเฉพาะ Whiplash (2014) น่าจะรับรู้ถึงสภาวะทางจิตใจของเขา ผ่านช่วงเวลาฝึกหัดซ้อมดนตรี ตีกลองจนเลือดสาดกระเซ็น ทุกข์ทรมานแสนสาหัส แต่ประสบความล้มเหลวเพราะไม่ใช่บุคคลมีพรสวรรค์ ด้วยเหตุนี้จึงเสาะแสวงมองหาสิ่งที่สามารถเป็นพรแสวงให้กับตนเอง นั่นคือการสร้างภาพยนตร์ แต่ก็ยังมิใช่เรื่องง่ายๆอีกที่จะพิสูจน์ตนเอง ได้รับการยอมรับ เป็นผู้ชนะ และที่หนึ่ง จนสามารถคว้า Oscar: Best Director ในฐานะผู้กำกับอายุน้อยสุดในวงการ (ขณะนั้น)

ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถมอง First Man เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนความรู้สึก จิตวิทยา ตัวตนเองของ Damien Chazelle กว่าจะมาเป็นผู้ชนะ ที่หนึ่ง คว้า Oscar เติมเต็มความเพ้อฝันมุ่งสู่ดวงจันทร์ ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน The Wizard of Oz

น่าสนใจทีเดียวว่า โปรเจคหลังจากนี้ของ Chazelle จะเลือกทำงานอะไร? ค้นหาหนทางใหม่ หรือหวนกลับไปแนวดนตรี Musical ที่ตนค่อนข้างถนัด เพราะถือได้ว่าผู้กำกับก้าวข้ามผ่าน ‘ยุคแรก’ ในวงการภาพยนตร์แล้วละ สร้างผลงานที่ประสบความสำเร็จ เติมเต็มความใฝ่ฝัน ต่อจากนี้คือการทำงานเพื่อยกระดับมาตรฐานตนเอง ก้าวสู่ความสำเร็จขั้นต่อไป มุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร กระมัง??

ทุนสร้างประมาณ $70 ล้านเหรียญ ทีแรกได้รับความคาดหมายว่าอาจทำเงินระดับเดียวกับ Gravity (2013) แต่รายรับสัปดาห์แรกกลับได้เพียง $16 ล้านเหรียญ อันดับสามใน Boxoffice รองจาก Venom และ A Star is Born ดูแล้วคงไม่สามารถคืนทุนได้อย่างแน่นอน

เหตุผลของบรรดานักวิเคราะห์ที่หนังทำเงินต่ำกว่าเป้าหมายไปมาก เพราะประเด็น #BoycottFirstMan ตรงกันข้ามเจตจำนงค์ของอเมริกาในยุคสมัย Trump-ist และอาจด้วยเนื้อหาความยาว เป็นภาพยนตร์ไม่คุ้มค่าเท่าไหร่กับการรับชมใน IMAX นี่ทำให้ปลายปีอาจหมดลุ้นรางวัลความสำเร็จใดๆ เพราะขาดแรงส่งผลักดันที่น่าสนใจ

ทีแรกผมค่อนข้างมีความหวาดหวั่นวิตกต่อหนังพอสมควร เพราะจากสองผลงานก่อนหน้าของ Chazelle ชี้ชักนำไดเรคชั่นโปรเจคนี้ว่าต้องออกมา ‘เขย่า’ เร้ารุนแรงแน่ๆ แต่หลังจากมีโอกาสรับชมก็พบว่าผิดคาด มีอะไรๆเจ๋งๆซ่อนเร้นอยู่เยอะ โดยเฉพาะเสียง Theremin ในเพลงประกอบของ Justin Hurwitz หลอกหลอน ทรงพลัง งดงามไร้ที่ติ

แนะนำคอหนังอวกาศ สนใจชีวประวัติ Neil Armstrong โครงการ Gemini, Apollo, ประวัติศาสตร์โลกช่วงขณะก้าวย่างเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์, หลงใหลในเสียงของ Theremin, แฟนๆผู้กำกับ Damien Chazelle และนักแสดงนำ Ryan Gosling, Claire Foy ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับอาการสั่นสะทกสะท้าน และความโลกส่วนตัวสูง

TAGLINE | “การเดินทางของ Damien Chazelle ช่างสั้นสะท้านสุดเหวี่ยง เพื่อให้ได้เป็น First Man เลยต้องแลกมากับทุกสิ่งอย่าง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: