Floating Clouds

Floating Clouds (1955) Japanese : Mikio Naruse ♥♥♥♥

Ukigumo ผลงาน masterpiece ของผู้กำกับ Mikio Naruse ที่น้อยคนอาจรู้จัก, นี่เป็นหนังที่นักวิจารณ์ในญี่ปุ่น จัดอันดับภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยมตลอดกาลครั้งล่าสุด (Kinema Jumpo ปี 2009) โดยให้ Floating Clouds ติดอันดับ 3 (เป็นรองเพียง Tokyo Story และ Seven Samurai), เรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอดิ้นรนค้นหาสถานที่ที่เป็นของตก แต่กลับไม่ค้นหาไม่พบ ลงเอยด้วยการล่องลอยไปมา (floating endless) จนกระทั่งเสียชีวิต

นี่เป็นหนัง melodrama ที่โคตรน้ำเน่าเรื่องหนึ่ง หญิงสาวที่ตกอยู่ในห้วงของความรัก และชายหนุ่มที่ตัดสินใจไม่ใช้ชีวิตอยู่แต่ในความฝัน หนังให้คำนิยาม ‘ความรัก’ บน ‘ความจริง’ เป็นไปได้หรือไม่ ที่คนเราจะใช้ชีวิตอยู่บนความฝันในโลกความจริงที่โหดร้าย, ถ้าคุณเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวที่ชอบเพ้อฝัน และเชื่อในรักแท้ หนังเรื่องนี้น่าจะช่วงตอกย้ำในความคิดของคุณ มองความรักเป็นสิ่งจำเป็นและขาดไม่ได้, สำหรับวัยผู้ใหญ่ หนังเรื่องนี้อาจทำให้คุณเกิดความรู้สึก Nostalgia กับความรัก และหนังสะท้อนความจริงที่เจ็บปวดว่า โลกมันไม่ได้สวยงามดั่งเราเคยฝันไว้

Mikio Naruse เป็นผู้กำกับรุ่นเดียวกับ Akira Kurosawa, Yasujirō Ozu และ Kenji Mizoguchi แต่เพราะญี่ปุ่นมีปรมาจารย์ชื่อดังถึง 3 คนแล้ว ทำให้ชื่อของ Mikio Naruse ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนอกญี่ปุ่นนัก ทั้งๆที่ผลงานของ Naruse ได้รับการยอมรับในญี่ปุ่นเทียบเท่ากับ Kursawa และ Ozu เลยด้วยซ้ำ, สไตล์ของ Naruse ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างหนังให้มีความเยือกเย็น มืดมัวและมองโลกในแง่ร้าย (bleak and pessimistic outlook) ชอบทำหนังแนว Shomin-Geki (Working-Class Drama) โดยมีผู้หญิงเป็นตัวดำเนินเรื่อง, ผลงานของ Naruse มักได้รับการเปรียบเทียบกับ Ozu บ่อยครั้ง เพราะหลายเรื่องมีแนวคิดสอดคล้องกัน ใครที่ชอบหนังของ Ozu แนะนำให้ลองหาผลงานของ Naruse มาดูด้วยนะครับ

ผลงานเอกของ Naruse ประกอบด้วย Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955) และ When a Woman Ascends the Stairs (1960) ซึ่งในบรรดา 3 เรื่องนี้ Floating Clouds ได้รับการยกย่องและพูดถึงมากที่สุด เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จที่สุดของ Naruse อีกด้วย ซึ่งสามารถคว้ารางวัล
– Blue Ribbon Awards สาขา Best Film
– Kinema Junpo Award ได้ 4 รางวัล Best Film, Best Director, Best Actor และ Best Actress
– Mainichi Film ได้ 4 รางวัล Best Film, Best Director, Best Actress และ Best Sound Recording
สมัยนั้นยังไม่มี Japan Academy Prize นะครับ (เริ่มครั้งแรกปี 1978) ซึ่งการที่หนังกวาดเรียบ จากงานประกาศรางวัลทั้ง 3 ของญี่ปุ่น ในยุคที่หนังของ Kurosawa และ Ozu กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก แสดงให้เห็นว่า Mikio Naruse ถือว่ามีความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ไม่แพ้ปรมาจารย์ทั้งสองเลยทีเดียว

ครั้งหนึ่ง Kurosawa พูดชมถึงสไตล์ Melodrama ของ Naruse ว่า ‘เปรียบเสมือนแม่น้ำสายใหญ่ ที่เบื้องบนดูสงบนิ่ง แต่ลึกลงไปมีกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก’, Yasujirō Ozu เมื่อได้ชม Floating Clouds ในปี 1955 เรียกหนังเรื่องนี้ว่า “a real masterpiece”

สร้างจากนิยายในชื่อเดียวกันของผู้แต่ง Fumiko Hayashi ที่เขียนเสร็จก่อนเสียชีวิตเมื่อปี 1951 ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Yōko Mizuki, หนังของ Naruse ดัดแปลงมาจากผลงานของ Hayashi หลายเรื่องเลยละ เพราะผลงานของเธอขึ้นชื่อเรื่องมีความ Feminist สูงมากๆ ซึ่งตรงกับความสนใจของ Naruse (เห็นว่าทั้งสองรู้จักกันด้วยนะครับ Naruse ชื่นชอบผลงานของ Hayashi และ Hayashi ชื่นชอบผลงานของ Naruse) สำหรับ Floating Clouds มีพื้นหลังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (Post-Wars) ตัวละครหญิงดิ้นรนค้นหาสถานที่ที่เป็นของเธอ แต่ไม่สามารถค้นพบ ลงเอยด้วยการล่องลอยไปมา (floating endless) เหมือนกับก้อนเมฆ ไม่มีที่พักพิงทางจิตใจ จนกระทั่งเสียชีวิตในตอนจบ

The female main character struggles to find where she belongs in post-war Japan, and ends up floating endlessly until her death at the novel’s end.

นำแสดงโดย Hideko Takamine ในบท Yukiko Koda หญิงสาวที่เชื่อในรักแท้ แต่เพราะโลกความจริงมันช่างโหดร้าย ทำให้เธอต้องเปิดใจยอมรับกับทุกสิ่งทุกอย่าง กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ชอบการเสียดสี ซ้ำเติม แต่เบื้องลึกในใจ ยังคงจมอยู่ในอดีตที่แสนหวาน ในความฝันที่วาดไว้ว่า สักวันอดีตเหล่านั้นคงกลับมาหาเธอ, Takamine เป็นหนึ่งในนักแสดงชื่อดังแห่งยุคทองของญี่ปุ่น การแสดงของเธอโดยเฉพาะกับหนังเรื่องนี้ ถือว่าเป็นจุดสูงสุดในชีวิตเลยละ ทำเงินมากมาย กวาดรางวัลนับไม่ถ้วน, นิตยสาร Kinema Jumpo จัดอันดับ Japanese Movie Star แห่งศตวรรษที่ 20 ชื่อของ Hideko Takamine ติดอันดับนักแสดงหญิงผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในญี่ปุ่นลำดับที่ 4 ใครเป็นคอหนังญี่ปุ่น ควรจะต้องรู้จักชื่อของเธอไว้ด้วยนะครับ

Masayuki Mori รับบท Kengo Tomioka คนรักของ Yukiko Koda ตั้งแต่สมัยสงครามโลก พบรักกันที่ Da-Lat, Vietnam แต่พอสงครามจบ Tomioka ต้องกลับมาหาภรรยา และใช้ชีวิตอยู่บนความพ่ายแพ้สงครามของญี่ปุ่น, ตัวละครนี้เป็นผู้ชายประเภท ต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่ยอมสูญเสียอะไรสักอย่าง นี่เป็นความมักมากประเภทหนึ่ง ที่พอเขาเริ่มควบคุมการสูญเสียไม่ได้ เขาก็จะสูญเสียทุกอย่าง, การปรากฏตัวของตัวละครนี้เปรียบเสมือนสายลม ที่เดี๋ยวพัดไปพัดมา เดี๋ยวรัก เดี๋ยวหลง ปากอย่าง-คิดอย่าง-ใจอย่าง-และทำอีกอย่าง คงมีแค่รักแท้อย่าง Yukiko Koda เท่านั้นที่สามารถเข้าใจความคิด ความรู้สึก ความต้องการของเขาได้

ผมจำหน้าของ Masayuki Mori ได้ตั้งแต่ตอนเขาเล่น Rashomon และ Ugetsu นะครับ จะว่าตัวละคร Tomioka ในเรื่องนี้ ดูคล้ายกับบทที่เขาเล่นใน Ugetsu มากๆ ตรงที่นอกใจภรรยาไปชอบผู้หญิงที่สวยกว่า อ่อนวัยกว่า แต่สุดท้ายก็ซมซานกลับมาหาคนรักเก่า, ไม่รู้ตัวจริงพี่แกเป็นแบบนี้ด้วยหรือเปล่า ถึงได้รับบทคล้ายๆกันนี้อยู่เรื่อยๆ, Masayuki Mori ก็ถือเป็นนักแสดงชายที่ทรงอิทธิพลที่สุดในญี่ปุ่นคนหนึ่งนะครับ นิตยสาร Kinema Jumpo จัดลำดับ 3 เป็นรองเพียง Toshiro Mifune และ Yujiro Ishihara เท่านั้น

ถ่ายภาพโดย Masao Tamai, ผมรู้สึกงานถ่ายภาพจะค่อนข้างคล้ายกับงานภาพยุคแรกๆของ Yasujirō Ozu นะครับ คือมีการถ่ายมุมเงยระดับต่ำกว่าสายตา และชอบแช่ภาพถ่ายทิ้งไว้นานๆ และตอนที่กล้องเคลื่อนไหว ก็มักเคลื่อนตามตัวละคร (ให้ตัวละครเป็นจุดศูนย์กลาง) ให้ความรู้สึกเหมือนกับภาพนิ่งที่มีฉากหลังเคลื่อนไหว มากกว่าเห็นตัวละครเคลื่อนไหว, ซึ่งแนวทางนี้ก็ไม่เชิงเรียกว่าสไตล์ Ozu นะครับ เป็นวิวัฒนาการที่ได้มาจากยุคหนังเงียบของญี่ปุ่น ทำให้รู้สึกเหมือนมีความคล้ายกันแต่จริงๆต่างกันเยอะอยู่, งานภาพของหนังเรื่องนี้ผมลองวิเคราะห์ดู ไม่ได้มีการจัดวางองค์ประกอบแบบเดียวกับหนังของ Ozu แถมเราจะได้เห็นมุมกล้องแปลกๆ ซึ่ง Ozu มักจะหน้าตรงเท่านั้น แต่กับหนังเรื่องนี้มีถ่ายจากฝั่งซ้าย ฝั่งขวา เห็นเป็น Isometric ไม่ใช่ Oblique

ตัดต่อโดย Hideshi Ohi นี่ถือว่าเด่นมากๆนะครับ ช่วงแรกมีการตัดสลับระหว่างอดีตกับปัจจุบัน อดีตเป็นภาพ Flashback ย้อนเล่าเรื่องให้เราเข้าใจพื้นหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (ช่วงสงครามโลก) พอหมดช่วงแล้วก็ดำเนินเรื่องไปข้างหน้า โดยใช้เทคนิคการกระโดด ไม่ใช่ jump-cut นะครับ แต่เป็น scene jump-cut คือพอจบฉากหนึ่ง ก็กระโดดข้ามช่วงเวลาไปอนาคตข้างหน้าเลย ไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปมากน้อยเท่าไหร่ เป็นแบบนี้ตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งหนังมักไม่ค่อยมีฉากที่ช่วงเวลาต่อเนื่องกันยาวนัก, กระนั้นการกระโดดนี้ข้ามช่วงเวลาแบบนี้กลับดูลื่นไหลต่อเนื่องเหมือนดั่งสายน้ำไหล ผมเรียกการตัดต่อแบบนี้ว่า time jump ข้ามช่วงเวลาที่ไม่สำคัญไป นำเสนอเฉพาะช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อตัวละครและเนื้อเรื่องเท่านั้น เราจึงเห็นใจความของหนังมีความต่อเนื่อง แม้เรื่องราวจะไม่ต่อเนื่องกันเลยก็เถอะ

เพลงประกอบโดย Ichirō Saitō เจ้าของเพลงประกอบสุดหลอนจาก The Life of Oharu, ตอนเพลง intro ดังขึ้น ความคิดแวบแรกที่เข้ามาในหัว คือเหมือนเพลง Arab (คล้ายๆ Lawrence of Arabia) มีเสียงขลุ่ยที่เด่นมาก และเสียงกลอง ฟังช่วงแรกๆอาจรู้สึกไม่ค่อยเข้ากับหนังเท่าไหร่ แต่พอสักกลางเรื่องก็จะเริ่มคุ้น เพราะบรรยากาศของเพลงมันจะดูลึกลับ หลอนๆ ซึมเศร้า และหดหู่, การเลือกขลุ่ยและกลอง หนังใช้เป็นตัวแทนของป่าที่ลึกลับซับซ้อน เหมือนกับจิตใจ เป็นที่หลบซ่อนของความต้องการของตัวละครทั้งหลาย, ใน Da-Lat ที่เป็นรังรักของคู่พระนาง ที่พอทั้งสองกลับจากสงคราม ผู้หญิงนั้นไม่อาจลืมเลือนรสชาติรัก ที่นั่นคือโลกความจริงของเธอ, แต่ผู้ชายกลับต้องการลืมเพราะที่นั่นเป็นเหมือนแค่ความฝัน ไม่ใช่ความจริงสำหรับเขา

ผมชอบโปสเตอร์หนังที่เลือกมามากนะครับ
ผู้ชายยืนอยู่ แสดงถึงอิทธิพล ผู้นำ ตำแหน่งที่อยู่สูงกว่าผู้หญิง
นางเอกนั่งอยู่ แสดงถึงเบี้ยล่าง ผู้ตาม ที่อยู่ต่ำกว่าผู้ชาย
และผู้หญิงอีกคนที่อยู่นอกกรอบ คือคนที่นอก (ชู้) ที่ระดับต่ำกว่านางเอกเสียอีก

หญิงสาวไม่สามารถตัดใจลืมเลือนช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิตของเธอได้ สิ่งที่เธอต้องการแม้รู้ว่าวันคืนเหล่านั้นไม่สามารถย้อนคืนกลับมาได้ ก็คือนานๆครั้งก็ยังดีที่ทำให้ระลึกได้ถึงช่วงเวลานั้น การได้อยู่กับเขาแค่เพียงเสี้ยวนาที ก็ทำให้เธอมีความสุข, สำหรับผู้ชายนี่ดูเป็นสิ่งที่ขอมากไป แต่กับพระเอกในเรื่อง เขาก็ต้องการเช่นนั้นเหมือนกัน เพื่อเป็นการหนีออกจากโลกที่โหดร้าย การอยู่ด้วยกันคือช่วงเวลาแห่งความสุขของทั้งคู่ แต่เขาก็ corrupt เธอ เพราะต่างก็เข้าใจกันดี รู้ว่าไม่ว่าทำอะไรเธอต้องให้อภัยเขาได้ การอยู่กับเธอจึงแทนที่จะเหมือนคู่รัก แต่เหมือนคู่เล่นเสียมากกว่า

บอกตามตรง ผมว่าหนังเรื่องนี้มันน้ำเน่านะ ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าทนดูไปได้ยังไง คงเพราะอยากรู้ว่าจุดจบ โชคชะตาจะเล่นตลกอะไร, ซึ่งกลับผิดคาดเลยละ ตอนจบกลับเป็นอะไรที่สวยงามมากๆ ขณะที่ทั้งสองกำลังจะได้กลับไปอยู่ในป่าอีกครั้ง (คราวนี้เป็นป่า Hokkaido) ที่นั่นกำลังจะกลายเป็นรังรักใหม่ของทั้งคู่ แต่โชคชะตาเล่นตลกที่ทำให้เธอเจ็บป่วยใกล้ตาย ซึ่งทำให้พระเอกรู้สึกตัวว่า สิ่งที่เขาต้องการที่สุดคืออะไร หลังจากไม่รู้กี่ปีที่เลี่ยงไม่คิดถึง ไม่แสดงออกมา การอยู่ด้วยกันช่วงสุดท้ายนี้ทำให้รู้ว่า ตัวเขาขาดเธอไม่ได้ ผู้หญิงที่เข้าใจเขาที่สุด, และเมื่อเธอจากไปก็ทำให้เขาเศร้าโศกเสียใจที่สุด นี่เป็นภาพที่สวยงามมากๆ วินาทีที่พระเอกระลึกความจริงได้ ความตายก็พรากความสุขที่สุดในชีวิตของเขาไปแล้ว

ประโยคหนึ่งในหนังที่เจ๋งมากๆ You can’t fight FATE. ไม่มีใครสามารถต่อสู้กับโชคชะตาได้ แต่เราสามารถทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้, ผมเชื่อว่าก่อนหน้าสงคราม พระเอกน่าจะเป็นคนที่รักภรรยามากๆ แต่งงานโดยไม่คิดนอกใจเธอแน่ๆ แต่เพราะสงครามทำให้เขาต้องออกจากบ้าน เดินทางไกล เกิดความเหงา อ้างว้าง โดดเดี่ยวเดียวดาย และบังเอิญได้พบกับหญิงสาววัยรุ่นสวยสะคราญ ทำให้เขาไม่ฝืนต่อโชคชะตาความต้องการของตน, พอสงครามจบกลับมาบ้านเกิด อะไรๆก็เปลี่ยนไป โชคชะตาพลิกผัน ความคิดเปลี่ยนไป โลกเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป แต่ความต้องการของมนุษย์ยังคงเหมือนเดิม แม้เขาจะพยายามเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่โชคชะตาก็นำพาเขากลับสู่เข้าวิถีเดิม, ในหนังเราจะรู้สึกพระเอกไม่สามารถเอาชนะโชคชะตา(ความต้องการ)ของตัวเองได้เลย แต่เราสามารถทำความเข้าใจเขาได้นะครับ ว่าทำไมถึงกลายเป็นแบบนี้ อะไรคือสาเหตุ และอะไรคือปัญหา

ประเด็น Feminist ในหนัง แสดงถึงผลกระทบของสงครามต่อผู้หญิง เพราะความที่ผู้ชายมักจะเปลี่ยนไป(หลังจากสงคราม) แต่ผู้หญิงซึ่งไม่ได้ออกไปรบก็จะไม่เข้าใจว่าทำไม เกิดอะไรขึ้น?, กับคนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างเต็มๆ โอกาสที่เขาจะกลับเป็นปกติน้อยมากๆ มีความเป็นไปได้ที่จะเลิกรากับผู้หญิงที่เคยคบกันหรือแต่งงานกันแล้ว, ในสมัยนั้นผู้หญิงที่ถูกทิ้งมักไม่มีตัวเลือกในการใช้ชีวิตเหลืออยู่มาก ถ้าไม่กลายเป็นโสเภณี ก็กลายเป็นคนบ้า ติดยา ขอทานอยู่ข้างถนน สังคมไม่เหลียวแล, ต้องถือว่านางเอกในหนังเรื่องนี้ โชคดีที่เอาตัวรอดได้ (จริงๆก็น่าจะพอเดาได้อยู่ว่าเธอทำงานอะไร) ที่ภายหลังโชคดีได้แต่งงานกับผู้ชายรวยๆ, การจะรวยในสมัยนั้น ถ้าไม่โชคดี ฉลาด ก็ต้องแกมโกง, หนังต้องการนำเสนอว่า สงครามก็มีผลกระทบต่อผู้หญิงไม่น้อยกว่าผู้ชาย

นี่ไม่ใช่หนังที่เหมาะกับเด็กแน่นอน แม้จะไม่มีฉาก love scene ที่โจ่งแจ้ง แต่คำพูดและการกระทำ ที่เราสามารถจินตนาการไปต่างๆนานาได้เอง โดยไม่ต้องมีฉากพวกนี้ปรากฏอยู่เลย แต่รู้ได้เพราะเรื่องราวมันสื่อไปทางนั้นจริงๆ, นี่ทำให้ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เจ๋งมากๆ เพราะมีความคลุมเคลือ ไม่ได้บอกเราหรือนำเสนอทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกขั้นทุกตอน การกระโดดข้าม Time Jump ทำให้เราต้องคิดค้นหาคำตอบเอาเองว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาที่หายไป มันจึงมีความพิศวงน่าค้นหา มีมิติที่แล้วแต่ใครจะคิดจินตนาการ เข้าใจได้

ถ้าคุณไม่รู้จะหยิบหนังเรื่องใดของ Mikio Naruse มาดู หรือถ้ามีโอกาสเลือกดูได้แค่เรื่องเดียว ผมแนะนำให้เลือก Floating Clouds มาดูนะครับ นี่คือผลงานที่เป็นตัวแทนของ Naruse ดูเรื่องเดียวเข้าใจสไตล์ของเขาเลย และถือเป็นผลงานที่ดีที่สุด ประสบความสำเร็จที่สุด ได้รับการยอมรับที่สุดของเขาด้วย

แนะนำกับคอหนังญี่ปุ่น, หนังคลาสสิคเจ๋งๆ, แฟนหนังของ Ozu แนะนำให้หาหนังของ Naruse มาดูนะครับ, จัดเรต 13+ กับเรื่องราวที่สามารถจินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกลได้

TAGLINE | “Floating Clouds ผลงาน Masterpiece ของ Mikio Naruse ที่จะทำให้คุณล่องลองเหมือนก้อนเมฆ ตามหาจุดเชื่อมกันระหว่างความฝันกับความจริง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: