Floating Weeds (1959) : Yasujirô Ozu ♥♥♥♥♥
สร้างใหม่ (Remake) จากผลงานยุคหนังเงียบของตนเอง A Story of Floating Weeds (1934) เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยหนังพูดและภาพสีสันสวยสด แค่ฉากเปิดเรื่องก็สามารถทำให้คุณน้ำลายฟูมปากได้แล้ว ภาพถ่าย Impressionist ทิวทัศน์เมืองริมทะเล ติดประภาคารทุกช็อต ตัดต่อล่องลอยไปเรื่อยๆในสไตล์ Ozu ชีวิตมนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกัน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
“Floating weeds, drifting down the leisurely river of our lives,”
คำอุปมาอุปไมยนี้ ว่ากันว่าเป็นสำนวนที่คนญี่ปุ่นชอบใช้ เพื่อเปรียบเปรยมนุษย์ผู้ไร้ซึ่งแก่นสานหลักแหล่งในชีวิต มีสถานะเหมือนกับวัชพืช/ต้นแหน (Weeds/Duckweed) พบเจอเจริญเติบโตอยู่บนผิวน้ำ ไร้รากเกาะดินทำให้สามารถล่องลอยเรื่อยเปื่อย แต่มักพบในบริเวณน้ำนิ่ง ขึ้นเต็มบ่อเมื่อไหร่แสงแดดส่องไม่ถึงก้นบึง จะสร้างความเดือนร้อนให้กับระบบนิเวศอย่างสูง (แต่ก็เอาไปใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ได้นะครับ)
Floating Weed กับภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นการเปรียบเทียบพฤติกรรมของพ่อ ผู้มีอาชีพเป็นนักแสดง Kabuki นำพาคณะออกทัวร์ยังสถานที่ต่างๆ ปักหลักอยู่ 3-6 เดือน หรือจนกว่าหมดผู้ชมแล้วค่อยออกเดินทางไปยังเมืองใหม่ วนเวียนหวนคืนกลับมาทุกๆ 4-5 ปี (ที่ไหนประสบความสำเร็จหน่อย คงแวะเวียนไปเปิดการแสดงบ่อยๆ แต่ถ้าไม่ก็อาจ 10-20 ปีครั้งนึง) ซึ่งพฤติกรรมของเหล่านักแสดงเร่พวกนี้ สังเกตว่าแทบทั้งนั้นเป็นคนเสเพล เพลย์บอย นำร่องมาด้วยขณะแจกใบปลิวก็เหล่สาวก่อนเลย หลังเวทีก็แอบด้อมๆมองๆ เล็งหาคนสวยคนงาม เสพย์สมหมายปองจนเมื่อถึงคราเดินทางไปต่อก็ทิ้งขว้างลาจากไป พอถึงเมืองใหม่ก็วนกลับมาอีหรอบเดิม พฤติกรรมแบบนี้ … ไม่รู้จะสรรหาคำอะไรมาเปรียบเทียบดี
วัฏจักรวงจรลักษณะเพลย์บอยเช่นนี้ ว่าไปก็คล้ายคลึงกับการสร้างภาพยนตร์อยู่นะ กล่าวคือเวลาจะสร้างหนังแต่ละเรื่อง มองหาพล็อต->เขียนบท->หางบ->เตรียมงาน->คัดเลือกนักแสดง->ถ่ายทำ->หลังถ่ายทำ->ออกฉาย หรือจะมองเป็นวัฏจักรชีวิตก็ยังได้ เกิด->แก่->เจ็บ->ตาย แล้วไปเกิดใหม่ โอ้! ชีวิตมันช่างล่องลอยเรื่อยเปื่อยเสียนี่กระไร
Yasujirō Ozu (1903 – 1963) ปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fukagawa, Tokyo เป็นลูกคนรองจากพี่น้อง 5 คน ตอนเด็กๆชอบโดดเรียนไปดูหนังอย่าง Quo Vadis (1913), The Last Days of Pompeii (1913) กระทั่งได้รับชม Civilization (1918) ตัดสินใจโตขึ้นจะต้องกลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์, เรียนจบ ม.ปลาย อย่างยากลำบาก เพราะเป็นคนหัวช้า สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ไหนก็ไม่ติด โชคดีมีลุงเป็นนักแสดง ได้ทำงานกับสตูดิโอ Shochiku (ขัดขืนคำสั่งของพ่อ) เป็นผู้ช่วยตากล้อง กลับจากรับราชการทหารเลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ไม่นานได้กำกับหนังเงียบเรื่องแรก Sword of Penitence (1927) น่าเสียดายฟีล์มสูญหายไปแล้ว
ภาพยนตร์ของ Ozu ถือว่ามีความเป็นญี่ปุ่นอย่างยิ่ง จนถูกตราหน้าว่าชาตินิยมเกินไป จึงไม่ค่อยได้รับการส่งออกไปฉายต่างประเทศนัก กระนั้นแค่ภายในประเทศก็ถือว่าประสบความสำเร็จทำเงินต่อเนื่อง แทบไม่เคยขาดทุนสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้กว่าจะได้ถูกนำออกฉายยุโรปอเมริกาหรือตามเทศกาลหนัง ก็หลังจากผู้กำกับเสียสิ้นชีวิตจากไปแล้ว ปรากฎว่าสร้างความขนลุกขนพองให้กับผู้ชมรุ่นใหม่ ต้องการขวนขวายหาผลงานอื่นๆของปรมาจารย์ผู้นี้มารับชมอีก แต่ก็มีหลายเรื่องในยุคแรกๆที่สูญหายสิ้นสภาพไปแล้วตามกาลเวลา
ตากล้อง Kazuo Miyagawa เคยพูดหวนระลึกถึง Ozu ชายผู้ที่จดจำชื่อของทุกคนในกองถ่ายได้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มงาน เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ยิ้มแย้มแจ่มใส จิตใจดีงาม เหมือนภาพยนตร์ที่เขาสร้างไม่มีผิดเพี้ยน
“I’ll never forget that, from the first day on, he knew the names of everybody on the set fifty people in the crew, people he’d never worked with. He’d written their names down, I learned later. But everyone was impressed and became devoted to him.
Every single day working on this film was extremely pleasurable and enriching. In each of Ozu’s films you can sniff his personality. He was pure, gentle, light-hearted, a fine individual.”
– Kazuo Miyagawa
ช่วงหนึ่งในชีวิตของ Ozu เป็นการหวนระลึก นำอดีตมาปรับปรุงสร้างใหม่ถึง 3 เรื่องติดๆกัน สามารถเรียกว่า ‘ไตรภาค Remake’ ก็ยังได้ (แต่ในทั้ง 3 เรื่องนี้มีเพียง Floating Weeds ที่ Ozu พูดเอ่ยปาก ถือว่าเป็นการ Remake ขณะที่อีกสองเรื่อง แค่มีใจความความคล้ายคลึงกับต้นฉบับ) ประกอบด้วย
– Good Morning (1959) ใจความเดียวกับ I was Born, But … (1932)
– Floating Weeds (1959) สร้างใหม่จาก A Story of Floating Weeds (1934)
– Late Autumn (1960) ทำการดัดแปลง Late Spring (1949)
A Story of Floating Weeds (1934) ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ประสบความสำเร็จสูงสุดของ Ozu ทั้งคำวิจารณ์และรายรับเกินความคาดหมาย เมื่อกาลเวลาผ่านไปตัวเขาชอบบ่นพึมพัมตามประสาคนแก่ อยากที่จะสร้างอีกครั้ง Remake ให้ผู้ชมรุ่นใหม่ ด้วยเทคนิคประสบการณ์ วิวัฒนาการภาพยนตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป ได้มีโอกาสรับชมเรื่องราวดีๆอีกครั้ง จนกระทั่งปี 1959 ด้วยสัญญาที่เซ็นผูกมัดไว้กับสตูดิโอ Shochiku ต้องสร้างหนังให้ปีละเรื่อง แต่เพราะปีนั้นบังเอิญสร้าง Good Morning (1959) เสร็จเร็วตั้งแต่กลางปี ทำให้มีเวลาเหลือว่าง จึงหวนกลับไปพูดคุยกับสตูดิโอ Daiei ผู้ถือลิขสิทธิ์ต้นฉบับ อนุมัติสร้างใหม่โดยทันควัน
“Many years ago I made a silent version of this film. Now I wanted to make it again up in the snow country of Hokuriku, so I wrote this new script with Noda … but that year there wasn’t much snow, so I couldn’t use the locations I had in mind in Takado and Sado.”
เปลี่ยนผู้ร่วมงานจาก Tadao Ikeda เป็น Kogo Noda (1893 – 1968) นักเขียน เพื่อนสนิทของ Ozu ที่พบเจอ ถูกชะตา ร่วมงานกันตั้งแต่ Sword of Penitence (1927) แต่มาเยอะถี่ๆในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในผลงานชิ้นเอก อาทิ Late Spring (1949), Early Summer (1951), Tokyo Story (1953), Late Autumn (1960), An Autumn Afternoon (1962) ฯ
เรื่องราวมีพื้นหลังเริ่มต้นฤดูร้อนปี 1958 ที่เมืองริมทะเลบริเวณ Inland Sea คณะการแสดง Kabuki เดินทางด้วยเรือมาถึงฝั่ง นำโดย Komajuro (รับบท Ganjirō Nakamura) ที่เคยแวะเวียนมาหลายครั้งแล้ว จนใครๆต่างจดจำได้ ที่เมืองนี้เขามีหญิงสาวคนรัก Oyoshi (รับบทโดย Haruko Sugimura) ไม่ได้สมรสแต่มีบุตรชาย Kiyoshi (รับบทโดย Hiroshi Kawaguchi) เติบใหญ่ทำงาน Part-Time เป็นเสมียนไปรษณีย์ เก็บหอมรอมริบ เพื่อเป็นทุนใช้เรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่เขาไม่รู้ตัวว่า Komajuro นั้นเป็นพ่อ ปกปิดไว้เพราะไม่ต้องการให้เกิดความผิดหวังที่มีบิดาเป็นนักแสดงเร่
เกร็ด: ทัศนคติ ค่านิยมของคนญี่ปุ่นสมัยก่อน ต่ออาชีพเกี่ยวกับความบันเทิง มักเหมารวมคล้ายกับเกอิชา โสเภณี อาชีพชั้นต่ำ ตัวตลก คล้ายขอทานรับเงินจากน้ำจิตน้ำใจของผู้อื่น
เรื่องราวนี้ไปเข้าหูคนรักนักแสดง Sumiko (รับบทโดย Machiko Kyō) เกิดความริษยาควันออกหู ร้องขอไหว้วานให้ Kayo (รับบทโดย Ayako Wakao) ให้ไปเกี้ยวพาราสี Kiyoshi เพื่อสนองคืนทัศนคติดูถูกอาชีพของตนเอง แต่หญิงสาวกลับดันไปตกหลุมรักชายหนุ่ม ความไปเข้าหูของ Komajuro แสดงความปฏิเสธต่อต้าน ด้วยความฉงนสงสัยทำไมลุงถึงขัดขืนขนาดนั้น เป็นเหตุให้ความลับได้ถูกเปิดเผยออก
เกร็ด: สำหรับการแสดงของคณะ Kabuki เป็นฉากหนึ่งของ Chuji Kunisada (Kunisada Chūji) เรื่องราวของ Chuji Kunisada (1810 – 1850) ฮีโร่ที่มีลักษณะเหมือน Robin Hood จากเคยเป็นนักพนันและหัวขโมย วันหนึ่งกลับบ้าน ครอบครัวถูกเข่นฆ่าโดยผู้ตรวจการเมือง หลบลี้หนีภัยอาศัยอยู่ในป่า ปล้นคนรวยนำไปช่วยเหลือคนจน ทำให้กลายเป็น Historical Figure ปรากฎในบทละคร/นิยาย ของญี่ปุ่นบ่อยครั้ง, สำหรับฉากที่ปรากฎในหนัง Kunisada (แสดงโดย Sumiko) กำลังจะลาจากสองสหาย Gantetsu กับ Jōhachi ที่เทือกเขา Akagi ได้ยินเสียงห่านกับอีกา เลือกไม่ถูกว่าจะล่องลอยไปทิศไหน
Ganjirō Nakamura (1902 – 1983) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Osaka มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นนักแสดง Kabuki ได้รับการชักชวนจาก Kenji Mizoguchi รับบทเล็กๆใน Shin Heike Monogatari (1955) เข้าตาผู้กำกับ Akira Kurosawa ชักชวนมาเล่น The Lower Depths (1957) แจ้งเกิดในวงการภาพยนตร์ตอนอายุ 55 ปี ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ The Loyal 47 Ronin (1958), Enjō (1958), The Birth of Japan (1959), Floating Weeds (1959), When a Woman Ascends the Stairs (1960), The End of Summer (1961), An Actor’s Revenge (1963) ฯ
เกร็ด: เดิมนั้น Ozu ตั้งชื่อหนังเรื่องนี้ว่า A Ham Actor (大根役者) แต่รู้สึกว่าเป็นการดูถูก Nakamura มากไปหน่อย เลยหวนกลับไปใช้ชื่อเดิมของหนัง ตัดออกสั้นๆเหลือเพียง Floating Weeds
รับบท Komajuro หัวหน้าคณะนักแสดง Kabuki เป็นคนที่โลกต้องหมุนรอบเขา ค่อนข้างเอาแต่ใจ เห็นแก่ตัว แถมดูถูกอาชีพการงานของตนเองทำว่ามีความต่ำต้อย ไร้เกียรติ ปฏิเสธจะยอมรับตัวเองว่าเป็นพ่อ ใช้ชีวิตล่องลอยไร้แก่นสาน ไม่ชอบให้ใครแสดงความหึงหวง ยึดติดเหนี่ยวรั้งไว้ให้อยู่กับที่ นี่ทำให้เมื่อถึงคราต้องปักหลักปักฐานจริงๆก็มิอาจกระทำได้ เหมือนปลาที่แหวกว่ายอยู่ในกระแสน้ำตลอดชีวิต จับมาขึ้นบกมีหรือจะเอาตัวรอดได้
ในหนังของ Ozu อย่าคาดหวังว่านักแสดงจะถ่ายทอดอารมณ์อันสมจริงออกมาจากภายใน อย่าง Nakamura ในบทบาทนี้ นิ่งหน้าตาย ตอนโมโหโทโสเกรี้ยวกราดไม่พึงพอใจ มีเพียงคำพูดกระแทกกระทั้น และการแสดงออกทำร้ายตบตี เหมือนภายในไร้ความรู้สึกใดๆทั้งนั้น นั่นเพราะ Ozu เน้นที่การสร้างภาพ Impressionist ไม่ใช่ Expressionist ผู้ชมสามารถรับรู้เข้าใจอารมณ์ได้อยู่แล้ว จากคำพูดและการกระทำของตัวละคร
ซึ่งสิ่งที่ผมประทับใจต่อ Nakamura มากที่สุด คือภาพลักษณ์ใบหน้า ตอนยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นสุข มีความอิ่มเอิบเอมสมบูรณ์ แต่ขณะที่เหนื่อยผิดหวังเศร้าใจ ก็อมทุกข์ได้อย่างเศร้าสลดหดหู่ ว่าไป Impressionist แบบนี้ก็แอบเจ๋งเป้ง ดูดีมีระดับ ลึกล้ำกว่า Expressionist เสียอีกนะ
แรงบันดาลใจของตัวละครนี้ ส่วนหนึ่งมาจากพ่อของ Ozu ที่ช่วงชีวิตวัยเด็กไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน (พ่อส่งลูกๆและแม่ ไปอาศัยอยู่กับปู่ย่าต่างจังหวัดที่มีค่าครองชีพต่ำ ส่วนตัวเองทำงานหาเงินอยู่ Tokyo นานๆถึงไปเยี่ยมเยือน) ก็เหมือนไม่มีพ่อนะแหละ แต่ทุกครั้งที่พบเจอก็ชอบออกคำสั่งบังคับโน่นนี่ พยายามชี้ชักนำให้ทำตาม ก็แน่ละเขาจะยอมทำเสียที่ไหน
เกร็ด: เห็นมาหลายเรื่องทีเดียว พ่อ-ลูก ชักชวนกันไปตกปลา นี่คงเป็นงานอดิเรกของ Ozu และพ่อแน่ๆ
Hiroshi Kawaguchi (1936 – 1987) นักแสดงหนุ่มสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo เพราะพ่อเป็นโปรดิวเซอร์ทำงานกับ Daiei Film เลยได้เส้นสายเซ็นสัญญาเข้าเป็นนักแสดงในสังกัด ผลงานเด่น อาทิ Giants and Toys (1958), Floating Weeds (1959), Younger Brother (1960), Jokyo (1960) ฯ
รับบท Kiyoshi ชายหนุ่มสุดหล่อ อาศัยเติบโตอยู่กับแม่ หลังจบ ม.ปลาย วาดฝันเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ทำงานเก็บเงินรอวันสอบเข้า คิดว่าพ่อแท้ๆคงเสียชีวิตไปนานแล้ว เข้าใจว่า Komajuro คือลุงที่ชอบแวะเวียนมานั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่งด้วยกันบ่อยๆ การได้พบเจอ Kayo ตกหลุมรักใคร่ จนพร้อมยินยอมเสียสละทิ้งทุกสิ่งอย่าง แต่ได้รับคำทัดทานและรู้ความจริงเกี่ยวกับพ่อ กลายเป็นช่วงเวลาไปต่อไม่ถูกเลย
Kawaguchi ถือเป็นเด็กเส้นใหญ่ของสตูดิโอ Deiei ได้มาร่วมงานกับ Ozu ถือว่าเป็นโชคมากๆ (เพราะตอนนั้น Ozu ย้ายไปอยู่ Shochiku หวนกลับมาครั้งนี้ในโอกาสพิเศษเท่านั้น) เรื่องการแสดงไม่มีอะไรให้พูดถึงเท่าไหร่ ถือเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ หล่อเหลา เฉลียวฉลาด มีความคิดอ่านเป็นตัวของตนเอง
Machiko Kyō (เกิดปี 1924) นักแสดงหญิงจาก Yano Motoko, Osaka ก่อนเข้าวงการภาพยนตร์เป็นนักเต้น (Revue Dancer) แล้วอยู่ดีๆก็ได้แจ้งเกิดโด่งดังกับ Rashomon (1950) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa ตามด้วย Ugetsu (1953), Gate of Hell (1953), Odd Obsession (1959), Floating Weed (1959), The Face of Another (1966) ฯ โกอินเตอร์ประกบ Marlon Brando เรื่อง The Teahouse of the August Moon (1956) ได้เข้าชิง Golden Globe: Best Supporting Actress
รับบท Sumiko หญิงคนรักนักแสดงของ Komajuro ที่พอได้รับรู้ว่าเขาแอบมีเมียเก็บก็แสดงความอิจฉาริษยาอย่างออกนอกหน้า ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง แต่ก็ได้รับการตอบกลับอย่างไม่สนใจใยดี จึงวางแผนเอาคืนด้วยการใช้เงินหลอกล่อ Kayo ให้ไปเกี้ยวพา Kiyoshi จนทั้งคู่ตกหลุมรักกัน จะถือว่า Sumiko เป็นคู่กันเอาคืน Komajuro ได้อย่างสมกันดี
ผมละโคตรชอบฉากช่วงท้ายของหนังเลย หลังจากคณะล่ม Komajuro ถูกไล่ออกจากบ้าน ขณะกำลังนั่งรอรถไฟอย่างสิ้นสภาพ ค้นหาไม้ขีดจุดบุหรี่ Sumiko เดินเข้ามายื่นไฟให้ ครั้งแรกทำเป็นไม่สนปฏิเสธ แต่พอครั้งสองถูกคะยั้นจนยินยอม นี่เป็นการขอโทษ/ให้อภัย ที่งดงามมากๆ ไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ การกระทำอธิบายทุกสิ่งอย่าง
Machiko Kyō คือนักแสดงที่ได้รับการจัดอันดับ Kinema Junpo: Japanese Movie Star Actress อันดับ 3 (เป็นรองเพียง Setsuko Hara กับ Sayuri Yoshinaga) ความงามของเธออาจไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ฝีมือการแสดงก้าวข้ามผ่านยุค Classic สู่ความสมจริงถ่ายทอดจากภายในของ Method Acting คงซึมซับรับจาก Marlon Brando เมื่อครั้นได้ร่วมงานกันแน่ๆ ถือว่าเป็นนักแสดงที่มีชีวิตชีวาสุดในหนังเรื่องนี้ (แต่เหมือนจะสมจริงเกินไปจน Ozu ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ทั้งคู่เลยไม่ได้ร่วมงานกันอีก)
Ayako Wakao (เกิดปี 1933) นักแสดงหญิงหน้าใสจาก Tokyo เข้าสู่วงการเซ็นสัญญากับสตูดิโอ Daiei ขาประจำของผู้กำกับ Yasuzo Masumura ผลงานเด่นๆ อาทิ A Geisha (1953), Street of Shame (1956), Floating Weeds (1959), A Wife Confesses (1961) ฯ
รับบท Kayo หญิงสาวนักแสดง ที่คงจะเพิ่งเข้าร่วมคณะไม่นานนี้ ได้รับการไหว้วานด้วยเงินจาก Sumiko ให้เกี้ยวพาราสี Kiyoshi ครั้งแรกๆไม่ค่อยเต็มใจเท่าไหร่ แต่ต่อมากลับตกหลุมรักใคร่จนโงหัวไม่ขึ้น ด้วยความเป็นคนมีจิตใจดี สำนึกบุญคุณคน รู้ผิดเมื่อได้รับรู้ความจริงของพ่อ-ลูก มีความต้องการชดใช้ความผิด Komajuro ด้วยการติดตามเขาไป แต่เจ้าตัวกลับยิ้มแย้มยินดีพึงพอใจ ส่งเสริมขอให้ช่วยดูแล Kiyoshi เป็นแฟนสาว/ภรรยา ที่ผลักดันสนับสนุนให้เป็นคนดียิ่งๆขึ้นไป
Wakao คงเป็นอีกหนึ่งเด็กเส้นของ Daiei ที่กำลังทำเงินทำทองให้กับสตูดิโออย่างมาก ด้วยใบหน้าที่ยังสดใสวัยเยาว์ น่ารักน่าชัง ส่วนการแสดง แววตาสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกออกมาจากภายในได้อย่างสมจริง แต่หนังจะไม่ค่อยถ่ายให้เห็นใบหน้าของเธอสักเท่าไหร่ (นี่เป็นลักษณะการแสดงที่ Ozu ไม่ชมชอบเสียเลยนะ)
ทิ้งท้ายกับ Haruko Sugimura (1909 – 1997) นักแสดงหญิงจาก Hiroshima ขาประจำของ Ozu และ Mikio Naruse ผลงานเด่น อาทิ Late Spring (1949), Early Summer (1951), Tokyo Story (1953), Late Chrysanthemums (1954), Floating Weeds (1959), An Autumn Afternoon (1962), A Last Note (1995)
รับบท Oyoshi หญิงคนรักของ Komajuro ให้กำเนิด Kayo ยินยอมรับการตัดสินใจที่จะไม่บอกลูกชายเกี่ยวกับพ่อ แต่นั่นก็ทำให้เธอมีชีวิตเหน็ดเหนื่อยยากลำบากเล็กๆ ที่ยอมทนไปเพราะความรักกระมัง แปลกดีที่มีผู้หญิงรสนิยมแบบนี้ด้วย
Sugimura ไม่ใช่นักแสดงที่มีความสวยน่ารักประการใด มีภาพลักษณ์ที่เหมือนหญิงสาวจอมจุ้นจ้าน ปากจัด หัวรุนแรง ถ้าคุณจดจำเธอได้จาก Tokyo Story หรือ Good Morning ย่อมต้องหลงคิดไปว่าหนังเรื่องนี้จะต้องมาแบบเดิมแน่ แต่ไม่เลย เพราะคำพูดประโยคที่ว่า ‘ฉันแก่เกินจะอิจฉาริษยาใครแล้ว’ ทำเอาผมตะลึงทึ่ง คาดคิดไม่ถึงมาก่อนจะมีมุกนี้ด้วย
ถ่ายภาพโดย Kazuo Miyagawa หลังจากโด่งดังกับ Rashōmon (1950) ก็ได้โอกาสร่วมงานกับโคตรผู้กำกับดังหลายคน ผลงานเด่นอาทิ Ugetsu (1953), Sansho the Bailiff (1954), Floating Weeds (1959), Yojimbo (1961), Tokyo Olympiad (1965) ฯ
ด้วยสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Ozu ถ่ายภาพโดยตั้งกล้องไว้กับที่ไม่มีเคลื่อนไหว จุดประสงค์เพื่อให้เกิดลักษณะคล้าย ‘ภาพถ่ายที่มีชีวิต’ มักใช้ระดับสายตาของคนที่นั่งคุกเข่าบนเสื่อ เรียกว่า Tatami Shot เว้นแต่การสนทนาใช้ภาพหน้าตรง Medium Shot, ส่วนใหญ่ตัวละครมักเดินเข้าออกไปมาทำโน่นทำนี่ แต่ถ้ายืนหรือนั่งอยู่เฉยๆ จะมีการจัดวางตำแหน่งไม่ให้ซ้อนทับบดบังกัน
ไฮไลท์การถ่ายภาพของหนังที่ผมได้แนะนำไปแล้วคือ ฉากเปิดเรื่อง ร้อยเรียง 12 ภาพถ่ายทิวทัศน์ริมทะเล ทุกช็อตจะต้องเห็นประภาคารตั้งตระหง่าน มีลักษณะเหมือนภาพถ่าย Impressionist แฝงนัยยะถึงหลักแหล่ง ศูนย์กลาง สถานที่พึ่งพาได้ยามเกิดมรสุม (กับหนังเรื่องนี้ พ่อเป็นคนที่ล่องลอยไปมาไร้หลักแหล่ง แต่เมืองแห่งนี้ราวกับเป็นศูนย์กลาง สถานที่พึ่งพักพิงกายใจ เพราะมีหญิงคนรักและลูกชายหัวแก้วหัวแหวนอาศัยอยู่)
ไม่ใช่แค่ฉากเปิดเรื่องเท่านั้นที่เราจะมองเห็นประภาคาร ช็อตหนึ่งที่เจ๋งมากๆคือ สองพ่อลูกนั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่ง ประภาคารหลังน้อยนี้จะเห็นอยู่ลิบๆเป็นพื้นหลัง
ตัดต่อโดย Toyo Suzuki ของสตูดิโอ Deiei มีคนนับจำนวนทั้งหมด 962 ช็อต มากกว่าค่าเฉลี่ยหนังของ Akira Kurosawa ในทศวรรษนั้นกว่าสองเท่า
เรื่องราวของหนังดำเนินไปใน 1 ปี เริ่มต้นมาถึงช่วงฤดูร้อน -> ฤดูฝน -> ฤดูหนาว/หิมะ (แต่เหมือนจะไม่ค่อยมีสักเท่าไหร่) -> จบสิ้นที่ฤดูใบไม้ร่วง แยกย้ายกลับบ้าน, นี่ต้องใช้การช่างสังเกตสักหน่อยถึงจับจุดได้ เพราะหนังไม่ได้เอ่ยถึงระยะเวลา และเห็นไม่ค่อยเด่นชัดสักเท่าไหร่ เป็นการใช้ช่วงฤดูกาลเปรียบเทียบกับวงเวียนวัฏจักรของชีวิตมนุษย์
สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับ A Story of Floating Weeds (1934) คือการเพิ่มเติม Side-Story ส่วนของเรื่องราวยิบๆย่อยๆที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับใจความหลักของหนัง จริงอยู่มันทำให้การดำเนินเรื่องมีความเชื่องช้ายาวนานขึ้นกว่าเดิม แต่ให้มองว่ามันคืออรรถรส ความเรื่อยเปื่อยล่องลอยไร้แก่นสานของชีวิต ถ้าวันๆเรามัวแต่วุ่นอยู่แต่ทำงานงกๆ ไม่บิดขี้เกียจ ลุกเดินยืดเส้นสาย ไปเข้าห้องน้ำ ดื่มชากาแฟ อู้งาน ชีวิตมันคงเต็มไปด้วยความเครียดบัดซบน่าดูเลยละ
หนังของ Ozu จะมีลูกเล่นกวนๆแบบว่า ‘วันนี้พระอาทิตย์สวยจัง’ แต่ให้ตายเถอะ ผู้ชมจะไม่มีวันได้เห็นภาพพระอาทิตย์สวยจังนั้นหรอก เป็นแค่คำรำพันของตัวละคร แล้วทอดทิ้งให้ไปจินตนาการเอง เช่นกันกับหลายเรื่องราว อาทิ ตอนที่ Yatazo จีบสาวร้านตัดผม ขอให้โกนหนวด ตัดมาอีกทีเห็นแปะพลาสเตอร์ยาปิดแผลที่หน้า คงถูกแม่ยายจงใจลับคมมา, ความสัมพันธ์ระหว่าง Kiyoshi กับ Kayo เห็นแค่กอดจูบก็สามารถเพ้อไปได้ถึงว่าผ่านการร่วมรักกันเรียบร้อยแล้ว
เพลงประกอบโดย Takanobu Saito (หรือ Kojun Saitô) หนึ่งในขาประจำของ Ozu ร่วมงานกันตั้งแต่ Tokyo Story (1953), ฟังแล้วหวนระลึกถึงเพลงประกอบ Jazz นุ่มๆของ Alain Romans ในแฟนไชร์ Monsieur Hulot สร้างโดยผู้กำกับ Jacques Tati โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Les Vacances de Monsieur Hulot (1953) หรือ Monsieur Hulot’s Holiday ได้กลิ่นอายสัมผัสของท้องทะเลที่ผ่อนคลาย ล่องลอย เรื่อยเปื่อย ไร้แก่นสานสาระในชีวิต
พอได้ยินเพลงนี้ดังขึ้นในหนัง ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นผมต้องยิ้มร่าขึ้นทุกครั้ง ให้สัมผัสอันอิ่มเอิบ ผ่อนคลาย เบาสลาย ล่องลอย ประกอบกับเรื่องราวอันสุดแสนเรียบง่าย เรื่อยเปื่อย ครึกครื้นเครง เปิดฟังซ้ำๆไม่เบื่อเลย (น่าเสียดายเพลงที่ผมหาได้สั้นไปหน่อย และไม่เต็มเพลงด้วย)
แถมให้อีกบทเพลงที่หาฟังใน Youtube ได้ ช่างมีความไพเราะเพราะพริ้ง ตลบอบอวลด้วยความหวัง เพ้อฝัน อนาคตที่ไม่รู้เป็นอย่างไร แต่วันนี้ฉันมีความสุขใจ พร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นใหม่ ออกเดินทางขึ้นรถไฟ กระฉึกกระฉัก แล่นล่องลอยไป นี่แหละความหมายของชีวิต
ลูกที่ีเติบโตมากับแม่ไม่มีพ่อ หรืออยู่กับพ่อไม่มีแม่ แล้ววันใดวันหนึ่ง ใครที่ไหนไม่รู้มาพูดบอกว่า คนนี้แหละพ่อ คนนี้แหละแม่ เห้ย! ใครกันว่ะ? คงไม่มีลูกที่ไหนจะสามารถยินยอมรับการเข้ามามีตัวตน คนไม่รู้จักกลายมาเป็นบุคคลสำคัญของชีวิตได้ง่ายๆโดยทันทีแน่ วินาทีนั้นจะเกิดข้อคำถาม ตอนที่ฉันต้องการทำไมคุณถึงไม่อยู่เคียงข้างกาย หายหัวไปไหนตลอดเวลา แล้วมาหาฉันทำไมเอาตอนนี้
นี่เป็นจิตวิทยาที่ผมไม่สามารถตอบอะไรได้ ถ้าตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นจะครุ่นคิด รู้สึก พูด แสดงออกมาเช่นไร แต่คาดว่าเบื้องต้นคงปฏิเสธไม่ยอมรับไว้ก่อน คำพูดของ Kiyoshi ถูกต้องทุกประการ คงเป็นเรื่องของกาลเวลาอาจทำให้ค่อยๆครุ่นคิด ยินยอมรับได้ โตขึ้นก็มีแนวโน้มเข้าใจเหตุผลที่ทำไมพ่อ(หรือแม่) ถึงทอดทิ้ง ไม่สามารถอาศัยอยู่เคียงข้าง
Floating Weed คือเรื่องราวของพ่อ ผู้ปกปิดบังสถานะของตนเองต่อลูก ซึ่งสามารถมองได้สองเหตุผลตรงกันข้าม
– เป็นการเสียสละตนเอง เพื่อมิให้เกิดความอับอายต่ออาชีพการแสดงที่แสนต้อยต่ำของพ่อ
– ความเห็นแก่ตัว ข้ออ้างในการใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยเสเพล ไม่แน่ว่า Komajuro อาจซุกลูกเมียไว้ที่เมืองอื่นอีกก็ได้
ปัญหาของเรื่องราวนี้ เกิดจากทัศนคติ ค่านิยมผิดๆของคนสมัยก่อน ‘นักแสดง คืออาชีพต่ำต้อยเหมือนเกอิชา โสเภณี’ และพ่อผู้ขาดความทะนงตน ภาคภูมิในเกียรติ ศักดิ์ศรี ของชาตินักแสดง นี่เป็นการเดียดฉันท์อาชีพการงานหาเลี้ยงชีวิตของตนเอง บุคคลลักษณะนี้มีหรือจะสามารถปักหลักสร้างฐาน ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ประสบความสำเร็จเจริญมั่งมี แค่มีชีวิตอย่างขอไปที ไม่รู้จักพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเหนือกว่าเดิม
นี่แม้แต่ลูกชาย -ที่ตอนนั้นยังเรียกพ่อว่าลุง- ขณะนั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่ง ให้ความเห็นว่าต่อการแสดงที่รับชมว่า มีความเฉิ่มเชยตกยุค (Old-Fashion) แต่กลับโดนสวนไปว่า ‘ตราบใดที่ผู้ชมยังพึงพอใจอยู่ ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆต้องเปลี่ยนแปลง’
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าในบริบทนี้ Ozu กำลังพูดถึงตัวเองอยู่รึเปล่า, โลกในทศวรรษนั้นที่กำลังหมุนเร็วขึ้น จากหนังเงียบ->หนังพูด->ภาพสี การปรับตัวพัฒนาตนเองไม่ใช่เรื่องง่าย แค่ตอนนี้ก็ตามจะไม่ทันอยู่แล้ว ตราบใดที่ถ้าหนังของเขายังคงขายได้อยู่ มีสตูดิโอออกทุนสร้าง ผู้ชมจำนวนมาก และคำวิจารณ์ดีเยี่ยม คงไม่มีความจำเป็นอะไรต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
Ozu ค่อนข้างโชคดีที่ด่วนเสียชีวิตจากไปด้วยโรคมะเร็งไม่กี่ปีหลังจากนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงในวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นครั้งใหญ่ในทศวรรษถัดๆมา แม้แต่ Akira Kurosawa ยังแทบแย่ปรับตัวไม่ได้เลย ถึงขนาดเกือบฆ่าตัวตายสำเร็จ แล้วคนทำอะไรเชื่องช้าอย่าง Ozu มีหรือจะเอาตัวรอดได้
บุคคลที่ทั้งชีวิตเคยทำอะไรประสบความสำเร็จ ต่อให้ครั้งหนึ่งประสบความล้มเหลว สิ้นเนื้อประดาตัวจนหมดสิ้นเรี่ยวแรงเอาตัวไม่รอด ดูถูกเหยียดหยามอาชีพของตนเอง แต่เพราะโลกทั้งใบของเขามันก็คือสิ่งนั้น มิอาจปักหลักสร้างฐาน เปลี่ยนแปลงไปทำอะไรอย่างอื่นได้ สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นต้องหวนกลับคืนมา เป็นตัวของตนเองจนกว่าชีวิตจะหาไม่
ต่อให้โลกเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน ที่อยู่ของ Ozu คือการสร้างภาพยนตร์ คงไม่มีอะไรในชีวิตสุขใจไปกว่าเสียชีวิตในกองถ่ายขณะสร้างภาพยนตร์ … มันก็ไม่ถึงขนาดนั้นนะครับ แต่เอะ! นี่เป็นช่วงเวลาที่เขาเริ่มรู้ตัวเองว่ากำลังป่วยเป็นมะเร็งหรือเปล่า ถึงได้สร้าหนัง Remake หวนระลึกถึงเรื่องราวดีๆเก่าๆ และสังเกตจากชื่อภาพยนตร์สามเรื่องสุดท้ายถัดจากนี้ Late Autumn (1960), The End of Summer (1961), An Autumn Afternoon (1962) ล้วนสื่อไปถึงช่วงเวลาบั้นปลาย ใกล้ถึงจุดสิ้นสุด ความตายแทบทั้งนั้น
ข้อคิดที่ผมได้จากหนังเรื่องนี้คือ “อย่าดูถูกอาชีพการงานของตนเองและผู้อื่น” แต่เฉพาะกับอาชีพที่ถูกกฎหมายเท่านั้นนะครับ, สำหรับนักแสดง ผู้กำกับ ศิลปิน นักดนตรี คนไทยสมัยนี้ถือว่าเปิดกว้างมากขึ้นกว่าเดิม แต่ใช่ว่าจะได้รับการยอมรับจากคนรุ่นเก่าทั้งหมด ใครยังมีทัศนคติว่า ‘ศิลปินกินแกลบ’ ก็ควรเปิดโลกทัศน์เดินออกจากกะลาได้แล้วนะ
ความสมบูรณ์แบบไร้ที่ติของหนังเรื่องนี้ ค่อยๆทวีความชื่นชอบกลายเป็นตกหลุมรัก และเมื่อกาลเวลาผ่านไปกลายเป็นเรื่องโปรด ต้องชมเลยว่าสไตล์ของ Ozu อยู่ในจุดที่เบ่งบานสะพรั่ง ออกดอกออกผล เด็ดดอมหอมฉ่ำหวานอร่อย โดยเฉพาะบทเพลงที่มีความไพเราะผ่อนคลาย ราวกับได้ไปพักผ่อนตากอากาศริมทะเล ถือเป็นหนัง ‘feel good’ ดูจบแล้วรู้สึกดี อิ่มอกอิ่มใจ สุขสำราญเกษมเปรมปรีดิ์
เห็นว่าแผ่นหนังฉบับ Criterion ได้รวบรวม A Story of Floating Weeds (1934) กับ Floating Weed (1959) ทั้ง 2 เรื่องไว้ในชุดเดียว เป็นคอลเลคชั่นการันตีเลยว่าคุ้มค่ามาก คุณภาพสวยงามไร้ตำหนิ (น่าจะได้รับการ Remaster มาแล้วด้วยละ)
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะกับพ่อแม่ที่ทอดทิ้งหรือไม่ได้อาศัยอยู่กับลูก คู่สามีภรรยาลูกติดที่กำลังตัดสินใจจะเลิกร้างราหย่าขาดต่อกัน ลองรับชมหนังเรื่องนี้ (หรือต้นฉบับก็ได้) ก่อนตัดสินใจทำอะไร มันอาจทำให้คุณได้ข้อคิดเตือนสติบางอย่างที่เป็นประโยชน์แน่ๆ
แนะนำกับคอหนัง Classic สัญชาติญี่ปุ่น, ชื่นชอบการแสดง Kabuki (แต่อาจไม่จุใจเท่าไหร่), เรื่องราวแฝงข้อคิดการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์พ่อ-ลูก, แฟนๆผู้กำกับ Yasujirô Ozu และนักแสดงอย่าง Ganjirō Nakamura, Machiko Kyō, Ayako Wakao ฯ ไม่ควรพลาด
จัดเรต pg กับการกระทำรุนแรงของพ่อ
Leave a Reply