Follow the Fleet (1936) : Mark Sandrich ♥♥♥♡
(mini Review) การร่วมงานครั้งที่ 5 ของคู่ขวัญพระนาง Fred Astaire กับ Ginger Rogers ฟินกับบทเพลง Let’s Face The Music And Dance ปลดเปลื้องทิ้งความทุกข์โศกเศร้าไว้เบื้องหลัง แล้วหันหน้ามายิ้มแย้มกับเสียงเพลงและการเต้นอันสุดแสนโรแมนติก
หลังความสำเร็จอันล้นหลามของ Top Hat (1935) ผู้กำกับ Mark Sandrich ก็ไม่ได้หายหน้าหายตาไปไหนไกล กลับมา ‘Follow’ สานต่อร่วมงาน Astaire & Rogers เป็นครั้งที่สาม (จากทั้งหมด 5 ครั้ง) แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสุดในคอลเลคชั่น แต่ความบันเทิง ลีลาการเต้นจัดเต็มครบทุกอรรถรส สุดมันส์ ขบขัน และโรแมนติก
หนังได้แรงบันดาลใจจากละคร Broadway เรื่อง Shore Leave (1922) แต่งโดย Hubert Osborne เคยดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง Hit the Deck (1929)
Fred Astaire รับบทเป็น Bake Baker นักเต้นหนุ่มเท้าไฟ มีแฟนสาว Ginger Rogers รับบทเป็น Sherry Martin ขอเธอแต่งงานแต่กลับถูกปฏิเสธ ช้ำรักเลยสมัครเป็นทหารเรือหายหน้าหายตาไปกว่าสองปี
บทเพลง We Saw the Sea แต่งโดย Irving Berlin ขับร้องโดย Fred Astaire และวงคอรัส, เพลงนี้โดดเด่นในคำร้องเล่นคำ แต่ไดเรคชั่นน่าผิดหวังอย่างยิ่งยวด เพราะเอาแต่ถ่ายหน้าตรงใบหน้าของ Astaire โยกเยกไปมา และถูกยกอุ้มกลิ้ง เพื่อ!
วันหนึ่งเรือรบจอดเทียบท่าอยู่ที่ San Francisco ได้อนุญาตให้ขึ้นบกพักผ่อน (Shore Leave) บังเอิญพบเจอกับอดีตแฟนสาวในห้อง Ballroom ชื่อ Paradise เลยต้องหวนระลึกความหลังกันสักหน่อย
บทเพลง Let Yourself Go แต่งโดย Irving Berlin เริ่มต้นขับร้องโดย Ginger Rogers จบแล้วดำเนินต่อไปเรื่อยๆจนถึง Dance Contest ใช้ทำนองเดียวกัน ทั้งสองจำต้องโชว์ความสามารถ Tab Dance อย่างสุดฝีมือ เพื่อเอาชนะคู่เต้นอื่นที่ทีมงานไป Scout สอดส่องดูตัวจากทั่ว Los Angeles Dance Halls เลือกมาแต่เด็ดๆทั้งนั้น
เกร็ด: มีเพียงครั้งนี้ครั้งเดียวที่ Rogers ฉายเดี่ยวเต้น Tab Dance ในหนังร่วมกับ Astaire บทเพลง Let Yourself Go ตอนไป Audition
ก็หลงคิดว่าเรือรบคงจอดเทียบท่าหลายวัน สัญญากันไว้อย่างมั่นเหมาะว่าจะหวนกลับมาพบกันอีก แต่ที่ไหนได้ พอหมด Shore Leave เรือก็ออกทันที ทำเอาสาวๆหัวเสียโกรธแค้นเคืองอย่างรุนแรง ทำได้เพียงรอวันพวกเขากลับมา
I’m Putting all My Eggs in One Basket อีกหนึ่งเพลงฮิตของ Irving Berlin เป็นการ Duet ระหว่าง Astaire & Rogers เริ่มต้นจากเดี่ยวเปียโนของ Astaire ตามด้วยคำร้องเกี้ยวพาราสี บอกว่าฉันทุ่มเท (ใส่ไข่หมดหน้าตัก) มอบให้เธอทุกสิ่งอย่าง ขอให้ยินยอมรับรักของเขา แต่เหมือนว่าหญิงสาวจะยังมิได้สนใจไข่ที่อยู่ในตะกร้าสักเท่าไหร่
นี่เป็นบทเพลงน่าจะตลกขบขันที่สุดของ Astaire & Rogers เพราะเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Astaire พยายามเต้นนำ แต่ Rogers กลับไม่สนใจ เต้นในท่าที่อยากเต้นเท่านั้น ขำกลิ้งตอนเธอยกมือตั้งท่าจะต่อยมวย แล้วช่วงท้ายโดนวงดนตรีแกล้งสลับทำนองไปมาระหว่าง Waltz กับ Dance หงุดหงิดมากๆเลยเลิก ปล่อยทิ้งหล่นตุ๊บแบบแมนๆ
เกร็ด: ถ่ายทำไปได้สักประมาณกลางเรื่อง Rogers จงใจประท้วงขอขึ้นค่าจ้างด้วยการปฏิเสธไม่ยอมมาซักซ้อมเต้น หวนกลับมาสองวันถัดจากนั้น ค่าตัวเพิ่มจาก $700 เหรียญต่อสัปดาห์ กลายเป็น $2,000 เหรียญต่อสัปดาห์ (ปี 2017 เทียบเท่า $36,000 เหรียญ) น่าจะพร้อมโบนัสกำไรอีก $10,000 เหรียญ แม้ไม่น่าจะเทียบเท่า Astaire แต่ถือว่าสูงไม่น้อยสำหรับผู้หญิงในทศวรรษนั้น … และน่าจะเป็นต้นกำเนิดบทเพลงนี้ด้วย
ไฮไลท์ของหนังอยู่ที่ 10 นาทีสุดท้าย บทเพลง Let’s Face the Music and Dance ที่ Irving Berlin แต่งไว้ตั้งแต่ปี 1932 ขับร้องโดย Fred Astaire
นี่คือบทเพลงสรุปใจความสำคัญของหนังทั้งเรื่อง เริ่มจาก Astaire เล่นไพ่เสียหมดตัว สาวๆที่เคยห้อมล้อมตีจากหมดสิ้นไม่มีใครเหลียวแล เคยคิดจะยิงปืนฆ่าตัวตาย แต่การได้พบเจอกับ Rogers ที่เหมือนจะท้อแท้ผิดหวังในรักมา โศกเศร้าน้ำตาคลอคิดฆ่าตัวตาย ช่วยเหลือชีวิตเธอไว้ นั่นทำให้เขาครุ่นคิดได้ ชักชวนกันทิ้งความโศกาไว้ข้างหลัง Let’s Face the Music and Dance
ผมมีโอกาสรู้จักได้ยินเพลงนี้มาก่อนรับชมหนังเสียอีกนะ เพราะชอบฟังเพลงเปิด Youtube ค้างไว้ แล้วมันก็ Random มาถึงเพลงนี้อยู่บ่อยๆ ด้วยความไพเราะมันเลยติดหูติดใจเป็นอย่างยิ่ง
ความงดงามของบทเพลงนี้ คือชุดของ Rogers (เลือกเองกับมือ) ช่างพริ้วไหวโบกสะบัด เวลาหมุนตัวกระโปรงยาวจะบานออกแล้วหมุนม้วนอย่างชดช้อย, นี่กลายเป็นบทเพลงและ Costume ที่ผมชื่นชอบสุดของ Rogers ยิ่งกว่าชุดขนนกใน Top Hat หรือชุดดอกทานตะวันใน Shall We Dance เสียอีก
มีอุบัติเหตุหนึ่งของช็อตนี้ เนื่องจาก ‘ชุดขน’ มีน้ำหนักค่อนข้างมาก ช่วงระหว่างการเต้นมือของ Rogers พลาดพลั้งไปกระแทกใบหน้าของ Astaire แต่ทั้งคู่ต่างเต้นรำต่อจนจบ พยายามถ่ายทำซ้ำใหม่กว่า 23 รอบ แต่ก็ไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์เดิมออกมาได้ (เพราะเป็นการเต้น Long Take ความยาวเกือบ 3 นาทีไม่มีตัด) เลยจำต้องเลือกครั้งที่มีปัญหานี้มาใส่ในหนัง … ไปสังเกตกันเองนะครับว่าตรงไหน
เกร็ด: ฉากการออกแบบนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้ Guillermo del Toro เคารพคารวะสร้างเลียนแบบในหนังเรื่อง The Shape of Water (2017) และให้นางเอกกับสัตว์ประหลาดเต้นรำคู่กัน
แม้ความยาว 110 นาที จะถูกตำหนิต่อว่าอย่างมาก ว่ามีความเอื่อยเฉื่อยเชื่องช้าเกินไป สามารถตัดอะไรๆออกได้เยอะ (โดยเฉลี่ยหนังของ Astaire & Rogers จะประมาณแค่ 90 นาทีเท่านั้น) คงเพราะหนังใส่เรื่องราวคู่ขนานของ Randolph Scott กับ Harriet Hilliard เข้ามาเพื่อเพิ่มสีสันในทิศทางตรงกันข้าม แต่ว่ากันตามตรง เรื่องราวของพวกเขาสู้ไฮไลท์การเต้นของคู่ขวัญพระนางไม่ได้เลยสักกะนิด
สำหรับสิ่งถูกใจนักวิจารณ์สุดของหนัง คือวิวัฒนาการของ Rogers ก้าวกระโดดขึ้นมาอีกจาก Top Hat คงเพราะความที่เริ่มมีอำนาจต่อรอง(ค่าตัว) และประสบการณ์ทำงานร่วมกับ Astaire มาหลายเรื่อง ยิ่งทำให้พวกเขาเข้าขากันขึ้นเรื่อยๆ
Follow the Fleet น่าจะมีนัยยะความหมายจริงๆว่า Follow the Success ของ Fred Astaire กับ Ginger Rogers
ด้วยทุนสร้าง $747,000 ล้านเหรียญ ในอเมริกาทำเงินได้ $1.532 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $2.727 ล้านเหรียญ สูงสุดเป็นอันดับสองของคู่ขวัญพระนาง Astaire & Rogers ในทศวรรษ 30s เป็นรองเพียง Top Hat (1935)
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ ไม่ได้สนใจเนื้อเรื่องเท่าไหร่ แค่รับชมการเต้นของ Fred Astaire กับ Ginger Rogers เพียงอย่างเดียว ก็สามามารถทำให้ผมฟินไปได้เป็นวันๆแล้ว
แนะนำกับคอหนังเพลง ชื่นชอบ Swing & Jazz, นักเต้น และแฟนๆของคู่ขวัญ Fred Astaire กับ Ginger Rogers ไม่ควรพลาด
จัดเรตทั่วไป
“แนะนำกับคอหนังเพลง ชื่นชอบ Swing & Jazz, นักเต้น และแฟนๆของคู่ขวัญ Fred Astaire กับ Ginger Rogers ไม่ควรพลาด”
เราเริ่มจากการเป็นแฟนหนังเก่าจากการดูหนังของทั้งคู่ทั้งหมดเลยค่ะ แต่ที่ชอบมากๆคงเป็น Shall We Dance 1937 กับThe Barkleys of Broadway 1949 เพราะแอบฉันทาคติเพราะใช้เพลงของ Gershwin ประกอบหลายเพลงในเรื่องค่ะ They Can’t Take That Away From Me นี่ชอบมาก (ถูกใช้ประกอบหนังออสการ์อย่าง Rain Man (1988)ด้วย)
ยังไงก็ขอบคุณสำหรับการรีวิวเรื่องนี้ด้วยค่ะ (จะไปดูช๊อตอุบัติเหตุเล็กๆนั้นอีกครั้งด้วย 555)
สำหรับความไม่เท่าเทียมเรื่องค่าแรงนักแสดงชายหญิงก็ยังเป็นปัญหามาถึงยุคปัจจุบัน แต่จิงเจอร์สมควรได้รับค่าแรงเพิ่มอย่างยิ่งเลยค่ะ หุๆ
เคยอ่านเรื่องดราม่าเรื่องชุดนางเอกจินเจอร์กับเฟรดแล้วแบบ เอ็นดูคู่นี้มาก 555 กระทบกระทั่งตอนทำงานแต่ก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่ในจอก็เล่นได้เข้าขากัน เคมีดีต่อกันสุดๆ XD