For All Mankind (1989) : Al Reinert ♥♥♥♥
(mini Review) สารคดีที่ทำการร้อยเรียงเหตุการณ์สำคัญๆของโครงการ Apollo ไล่ตั้งแต่สุนทรพจน์ ปธน. John F. Kennedy ถึงเหตุผลในการออกเดินทางสำรวจดวงจันทร์ ยานอวกาศทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้า ชีวิตบนแรงโน้มถ่วงศูนย์ ก้าวย่างแรกของ Neil Armstrong รวมถึงฟุตเทจบางส่วนจาก Apollo 13, เข้าชิง Oscar: Best Documentary Features “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ระหว่างค้นหาข้อมูลภาพยนตร์ Apollo 13 (1995) ทำให้ผมพบเจอสารคดีเรื่องนี้เข้าโดยบังเอิญ -สามารถหารับชมได้บน Youtube- ระหว่างดูก็หวนระลึกขึ้นได้ว่า สมัยเรียนครูสอนวิทยาศาสตร์เคยเปิดให้รับชมแล้วนี่หว่า (ควบคู่กับสารคดีสมคบคิดที่ว่า มนุษย์ไม่ได้ไปดวงจันทร์จริงๆ) คุณค่าของมันสมควรกับชื่อ For All Mankind สำหรับมวลมนุษยชาติที่สุดแล้วกระมัง
นับตั้งแต่โบราณกาล เมื่อสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการจนสามารถแหงนเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้ายามค่ำคืน พบเห็นอะไรก็ไม่รู้ดวงกลมๆขนาดใหญ่โตมโหฬาร ส่องสว่างเจิดจรัสจ้ารายล้อมด้วยจุดสว่างเล็กๆมากมายเต็มไปหมด เกิดความใคร่สงสัยอยากรู้ นอนหลับฝันเกิดจินตนาการ เอื้อมมือไขว่คว้าต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ เดินทางไปให้ถึงแหล่งต้นกำเนิดแสงนั้น แล้วมองย้อนกลับมาเพื่อค้นหาคำตอบเป้าหมายแห่งชีวิต
Lucian of Samosata (125 AD – 180 AD) นักพูด/นักเขียนชาว Syrian ถือเป็นบุคคลแรกๆของโลกที่แต่งนวนิยายภาษากรีกเรื่อง A True History จินตนาการถึงการเดินทางไปดวงจันทร์ ดาวศุกร์ ชีวิตจากต่างดาว และสงครามระหว่างดาว ได้รับการกล่าวขวัญ ‘น่าจะเป็นนวนิยาย Science Fiction เรื่องแรกของโลก’
วิทยาศาสตร์ ในยุคสมัยก่อนแทบไม่ต่างกับเรื่องจินตนาการเพ้อฝัน ไล่เรียงมาอาทิ Galileo Galilei, Konstantin Tsiolkovsky, สู่ยุคของนักเขียนวรรณกรรมไซไฟ Jules Verne, H. G. Wells, Hugo Gernsback กลายมาเป็นภาพยนตร์ของ Georges Méliès, Fritz Lang, Stanley Kubrick
กระทั่งในที่สุด มนุษย์สามารถสร้างจรวด/กระสวยอวกาศ ส่งคนออกไปนอกโลกได้สำเร็จจริงๆ และ Neil Armstrong เหยียบย่างลงบนพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อ วันที่ 20 กรกฎาคม 1969
นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ใครก็ตามพานผ่านช่วงเวลานั้นมา ย่อมเกิดความรู้สึกอันไร้ซึ่งคำพูดบรรยายใดๆจะอธิบายได้ “นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของชายคนนึง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ”
“That’s one small step for man, one giant leap for mankind”.
Al Reinert ขณะนั้นเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย เร่งรีบกลับบ้านที่ Fort Worth เพื่อให้ทันเหตุการณ์วันที่ 20 กรกฎาคม 1969 จดจ่ออยู่หน้าโทรทัศน์เป็นชั่วโมงๆ กล่าวถึงวินาทีแห่งประวัติศาสตร์ มันช่างเหมือนฝัน เหนือจินตนาการ ‘surreal’ กับการที่จะมีใครสักคนอยู่บนตำแหน่งทั่วโลกสามารถเงยหน้าจับจ้องมอง และรับรู้ว่ามีมนุษย์คนหนึ่งยืนโบกมือให้กับเรา
หลังเรียนจบ Reinert ทำงานเป็นนักข่าว สังกัด Houston Chronicle และได้รับเลือกให้ติดตามภารกิจสุดท้าย Apollo 17 เติมเต็มความฝันที่อยากอยู่ใกล้ชิดกับเหล่านักบินอวกาศทั้งหลาย ซึ่งระหว่างปักหลักอยู่ Houston ได้มีโอกาสขุดคุ้ยฟีล์มเก่าๆของ NASA และค้นพบฟุตเทจมากมายมหาศาลที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะ
“They had this amazing trove of footage at NASA, but at that time nobody was doing anything with it. You’d see the same clips over and over on TV. They had miles of footage just sitting there”.
นับตั้งแต่วินาทีนั้น Reinert ตัดสินใจแน่วแน่จะรวบรวม ร้อยเรียง ฟุตเทจความยาวกว่า 6 ล้านฟุตเข้าด้วยกัน โดยใช้เวลาว่างขณะไม่ได้ทำข่าวอื่น ติดต่อสัมภาษณ์นักบินอวกาศ ผู้เกี่ยวข้องโครงการ กว่า 10 ปีที่สูญสิ้นไป กลายมาเป็นสารคดีน่าจะเรียกว่าบทกวี ‘tone poem’ พรรณาห้วงเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ
ภาพเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นฟุตเทจใหม่ ยังไม่เคยได้รับการเปิดเผยแพร่จากที่ไหนมาก่อน ประกอบด้วย
– ภาพแสงไฟของชนเผ่า Bedouin ในทะเลทราย Sahara พบเห็นเป็นจุดเล็กๆท่ามกลางความมืดมิด
– แสงอาทิตย์ปรากฎขึ้นตรงสุดขอบโลก
– การปล่อยกระสวยเชื้อเพลิงที่ใช้หมดแล้วออกจากยานแม่
– มนุษย์อวกาศออกนอกกระสวย ขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วกว่า 25,000 ไมล์ต่อชั่วโมง
– เพลงประกอบที่ดังขึ้นจากเทป Richard Strauss – Also sprach Zarathustra, Op. 30 ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ 2001: A Space Odyssey (1968)
– ภาพถ่ายทรงกลมโลก ระหว่างการเดินทางของกระสวยอวกาศสู่ดวงจันทร์
– ภาพ Close-Up ของดวงจันทร์
– ภาพพระอาทิตย์ขึ้นทางฝั่งของดวงจันทร์
– ยานสำรวจลงจอดภาคพื้นดวงจันทร์
– ก้าวย่างสองของ Buzz Aldrin
– การทดสอบทฤษฎีของกาลิเลโอ ก้อนหินกับขนนก ตกถึงพื้นพร้อมกัน
– รวบรวมหิน ดิน เก็บตัวอย่างจากพื้นผิวดวงจันทร์
– นักบินอวกาศหกลื่นล้ม (จากหลายๆมุมมอง)
– นักบินอวกาศ ขับรถแล่นออกนอกเส้นทางที่กำหนด
ฯลฯ
สำหรับบทสัมภาษณ์ที่ Reinert สนทนากับนักบินอวกาศหลายๆคน รวมแล้วกว่า 80 ชั่วโมง มีเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็น บอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก นอกนั้นคือเสียงบันทึกการสนทนากับศูนย์บัญชาการ และเพลงประกอบแนว Ambient โดย Brian Eno
สำหรับชื่อสารคดี For All Mankind เป็นคำที่ปรากฎอยู่บนแผ่นป้ายโลหะที่นักบินอวกาศยาน Apollo 11 ทิ้งไว้บนดวงจันทร์
Here men from the planet Earth first set foot upon the Moon, July 1969 AD. We came in peace for all mankind.
ลายเซ็นต์ของ Neil A. Armstrong, Michael Collins, Edwin E. Aldrin, Jr. และล่างสุด Richard Nixon, ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา
ซึ่งผู้กำกับก็ได้มีการปรับแก้ไขคำกล่าวสุนทรพจน์ของ John F. Kennedy ณ Rice Stadium ที่ Houston, Texas เมื่อวันที่ 12 กันยายน 1962
“The exploration of space will go ahead, whether we join it or not, and it is one of the greatest adventures of all time … We set sail on this new sea because there is new knowledge to be gained and new rights to be won, and they must be won and used for all people … We choose to go to the moon. We choose to go to the moon in this decade and do the other things, not because they are easy, but because they are hard ….”
จากคำว่า for all people มีการพากย์เสียงใหม่เป็น For All Mankind เพื่อให้สอดคล้องเข้ากับชื่อหนัง
สารคดีเข้าฉายเทศกาล Sundance Film Festival คว้ามา 2 รางวัล
– Grand Jury Prize: Documentary
– Audience Award: Documentary
ทั้งยังได้เข้าชิง Oscar: Best Documentary Features แต่พ่ายให้กับ Common Threads: Stories from the Quilt (1989) สารคดีที่ร้อยเรียงบทสัมภาษณ์ผู้ป่วยติดโรค AIDS ระยะสุดท้าย
เกร็ด: For All Mankind เป็นหนึ่งในสิบหนังเรื่องโปรดของ Christopher Nolan เลือกให้กับ Criterion Collection
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เหมาะสำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ เปิดหูเปิดตา เรียนรู้จัก พบเห็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ทรงคุณค่าที่สุดของมวลมนุษยชาติแห่งศตวรรษ 20
จัดเรตทั่วไป
Leave a Reply