For Heaven’s Sake (1926)
: Sam Taylor ♥♥♥♡
หนุ่มแว่นเป็นมหาเศรษฐี จับพลัดจับพลูตกหลุมรักหญิงสาวหน้าตาดี แต่เธอมีฐานะยากจนคนชั้นล่าง ต้องอาศัยพระเจ้าช่วยกล้วยทอด ถึงได้สำเร็จสมความปรารถนา! For Heaven’s Sake คือหนังเงียบทำเงินสูงสุดอันดับสองของ Harold Llyod เป็นรองเพียง The Freshman (1925)
For Heaven’s Sake เป็นภาพยนตร์ที่ Harold Lloyd ให้คำนิยามว่า ‘gag picture’ เน้นขายความบันเทิงเริงรมณ์เหนือเนื้อหาสาระประโยชน์ ซึ่งถ้าใครเป็นแฟนพันธุ์แท้หนุ่มแว่น อาจรู้สึกแปลกๆที่เห็นรับบทมหาเศรษฐี (เพราะหลักสูตร Stereotype ของตัวละคร คือโหยกระหายความสำเร็จ) ถึงกระนั้นแม้ไม่ได้ดิ้นรนไขว่คว้าอะไร แต่เพื่อให้ได้แต่งงานครองคู่หญิงสาว เขาจึงต้องเสียสละหลายสิ่งอย่าง (เรียกว่ากลับตารปัตรทุกสิ่งอย่างที่เคยสร้างมา)
หลังเสร็จจาก The Freshman (1925) บริษัทผู้สร้าง Harold Lloyd Film Corporation (ก่อตั้งโดย Harold Lloyd) หมดสัญญากับ Pathé Exchange เลยอพยพย้ายมาสังกัด Paramount Picture ที่พร้อมให้ทุน จ่ายค่าจ้างสูงกว่า ด้วยข้อแม้สร้างภาพยนตร์ปีละ 1-2 เรื่อง
สำหรับผลงานแรกในสังกัดใหม่ Paramount Picture ดึงเอาตัวผู้กำกับขาประจำ Sam Taylor (1895 – 1958) ผลงานเด่นๆ อาทิ Safety Last! (1923), Girl Shy (1924), The Freshman (1925) ฯ
เรื่องราวของมหาเศรษฐีสวมแว่น J. Harold Manners (รับบทโดย Harold Lloyd) จับพลัดจับพลูมาอยู่ในเขตเมืองชนชั้นล่าง (Lower Town) บังเอิญจุดไฟเผารถลากการกุศลของนักบุญ Paul (รับบทโดย Paul Weigel) เลยจ่ายเงินค่าทำขวัญ 1,000 เหรียญ แม้นั้นเพียงแค่เศษเงิน แต่มีปริมาณมหาศาลต่อคนยากคนจน กลายเป็นข่าวใหญ่ลงหน้าหนังสือพิมพ์
เมื่อความทราบข่าวถึง J. Harold Manners ไม่พึงประสงค์สร้างชื่อเสียงให้ตนเองสักเท่าไหร่ เลยออกเดินทางกลับไปเพื่อเรียกร้อง … แต่กลับตกหลุมรัก Hope (รับบทโดย Jobyna Ralston) เลยยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครองรักแต่งงานกับเธอ
หนังประกอบด้วยสาม Sequence ใหญ่ๆ
– แนะนำตัว J. Harold Manners มหาเศรษฐีผู้ใช้เงินราวกับเศษกระดาษ เมื่อรถคันเก่าพัง เดินเข้าโชว์รูม เซ็นเช็คซื้อคันใหม่ แล้วขับพุ่งออกไป ขับโฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียนไล่ล่าโจรผู้ร้าย จากนั้นน้ำมันหมดกลางทาง เดินลงไปกำลังจะเปิดดูเครื่องยนต์ รถไฟพุ่งเข้าชน ทอดถอนหายใจ แค่เสียดายเวลาไม่ใช่สิ่งของไร้ค่า
– เมื่อเศรษฐีแว่น จับพลัดจับพลูพบเจอตกหลุมรักหญิงสาว พ่อตาขอให้เขารวบรวมบรรดานักเลงอันธพาล กวาดต้อนเข้าร่วมโบสถ์วันอาทิตย์, เริ่มต้นคือใช้กำลังหาเรื่องเพื่อเรียกร้องความสนใจ จากนั้นวิ่งหนีอุตลุต เตะตูดคนยืน ขว้างปาสิ่งข้าวของใส่ ฯลฯ สุดท้ายพาเข้ามาในโบสถ์ สงบเงียบเพราะตำรวจเดินเข้ามา โดยไม่รู้ตัวทุกคนประสานน้ำใจขับร้องเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า
– ตัดข้ามมาวันแต่งงานของเศรษฐีแว่น แต่เขากลับถูกลักพาตัวโดยพรรคพวกชนชั้นสูง บรรดาลูกน้องพบเห็นเข้าเกิดความหงุดหงิดหัวเสีย ดื่มเหล้ามึนเมามาย ตรงรี่ไปถึงบ้านตั้งใจหาเรื่องวุ่นวาย ทำให้เขาต้องคิดค้นหาวิธีการพากลับ ขึ้นแท็กซี่ประตูซ้ายออกประตูหลัง ขึ้นรถเมล์เดินวนลงโดยพลัน เต็มไปด้วยความจ้าละหวั่นเหมือนลูกแกะแตกฝูง ต้องให้คนเลี้ยง(แกะ)กวาดต้อนพากลับบ้าน
เกร็ด: เห็นว่ายังมีอีกฉากหนึ่งที่เกี่ยวกับกลุ่มใต้ดิน (Underworld) ได้รับการกล่าวเอ่ยถึงแต่ถูกตัดออกไป เพราะทำให้หนังยาวเกินกว่า 1 ชั่วโมง (3-4 Reel) แต่ก็มีการนำไปแทรกใส่ใน Speedy (1928) ลองสังเกตหาดูเองนะครับว่าตอนไหน
แค่ปรากฎชื่อหนังยัง Opening Credit ก็มีความยียวนกวนประสาทแล้ว มองผิวเผินก็แค่ดาวตกชนดวงจันทร์ เทวดาจากฟากฟ้าลงมาจุติ แต่ไอ้การที่มีเส้นๆพุ่งๆชนหน้า มันตีความแบบเสื่อมๆด่าเxยได้เหมือนกัน
ฉากที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง คือตอนที่ Hope นำพาเศรษฐีแว่น เดินวนไปรอบๆเพื่อแนะนำโน่นนี่นั่น แต่สายตาของเขากลับจับจ้องมองแต่เธอไม่สนใจอะไรอื่น ซึ่งกล้องจะเคลื่อนเดิน แพนนิ่ง ติดตาม ตัดข้อความขึ้นคำรำพัน Title Card ว่า “Very pretty!” และตบมุกด้วยกลิ้งม้วนล้มพบเห็นภาพเธอ!
และมีอยู่ซีนหนึ่งที่โคตรจะ Breathtaking ใจหายวูบวาบ นั่นคือเมื่อรถบัสไม่มีคนขับวิ่งด้วยความเร็วสูง ข้างหน้าคือทางข้ามรถไฟที่กำลังวิ่งสวน จะทันแหล่ ไม่ทันแหล่ … ใครเคยรับชม Sherlock Jr. (1924) ของ Buster Keaton น่าจะคุ้นเคยกับความเสียวสันหลังวาปของฉากข้ามรถไฟ แท้จริงแล้วมันคือการถ่ายถอยหลัง (Backward) แล้วเวลาฉายค่อยให้ฟีล์มเล่นไปข้างหน้า
แซว: ผมไปอ่านเจอบทความหนึ่ง เขียนถึงการแข่งขันระหว่าง Buster Keaton และ Harold Llyod ที่มักชอบคัทลอกเลียนแบบมุกตลก (แต่ไม่ใช่ค่อยกับ Charlie Chaplin ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว) แต่ตราบใดที่มันขายได้ สร้างความบันเทิง เรียกเสียงหัวเราะ ผู้ชมก็พร้อมให้อภัย
reference: https://haroldlloyd.us/contributors-corner-2/lloyd-v-keaton/
ความร่ำรวยมหาเศรษฐีของหนุ่มแว่นใน For Heaven’s Sake (1926) ทำให้ตัวละครสามารถล่องลอยไปมา ครุ่นคิดกระทำอะไรก็ได้ดั่งใจ -เงินซื้อได้ทุกอย่าง- เปรียบเทียบราวกับพระเจ้าก็ไม่ปาน ซึ่งคำอธิษฐานของหญิงสาวชื่อ Hope ทำให้เขาเสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์ (คฤหาสถ์ชนชั้นสูง) โปรยเงินโปรยทาน พานพบเจอตกหลุมรัก ชี้ชักนำบรรดาลูกแกะน้อยทั้งหลาย กวาดต้องให้เข้ามารับฟังเทศน์ธรรมวันอาทิตย์ จนได้รับความนับหน้าถือตา เชื่อมั่นศรัทธา ว่าจะทรงอยู่เคียงข้างมนุษย์ตลอดไป
เมื่อเข้าฉายทำเงินได้ $2.59 ล้านเหรียญ สูงสุดอันดับสองของ Harold Lloyd ในยุคหนังเงียบ เป็นรองเพียง The Freshman (1925) ที่รายรับ $2.65 ล้านเหรียญ [จะเรียกว่าก้าวสู่ขาลงแล้วก็ได้]
reference: http://www.silentsaregolden.com/articles/lloydvschaplin.html
ผมพยายามค้นหาสำบัดสำนวน “พระเจ้าช่วยกล้วยทอด” จุดเริ่มต้นแปลมาไหน เท่าที่รู้คือจากภาษาอังกฤษ Oh my God! ดูยังไงก็ไม่เกี่ยวกับกล้วยทอดเลยสักนิด, ไปเจอบทความหนึ่งเกริ่นมาอย่างน่าสนใจ แต่ไปๆมาๆกลับสอนวิธีทำกล้วยทอดซะงั้น และตอนจบบอกว่า ฉันไม่รู้อยู่ดีว่าที่มาที่ไปคืออะไร … จบเห่! ช่างแม้ง
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังนะ มีหลายมุกที่ตกเก้าอี้ ฮากลิ้ง โดนใจอย่างมาก แต่ในส่วนเรื่องราวกลับรู้สึกค้างคา สั้นเกิ้น จบแล้วเหรอเนี่ย ยังไม่รู้สึกเต็มอิ่มหนำสักเท่าไหร่ แทบไร้สาระประโยชน์ เพียงความบันเทิงรมณ์เท่านั้นได้รับมา
จัดเรต PG กับการใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา และพฤติกรรมขี้เมาอาละวาด
Leave a Reply