Force Majeure

Force Majeure (2014) Swedish : Ruben Östlund ♥♥♥♡

ครอบครัวในหนังเรื่องนี้ สามีภรรยาต่างใส่หน้ากากเข้าหากัน แต่แล้ววินาทีหนึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุหิมะถล่ม หัวโขนกระเด็นหลุดไป ตัวตนสันชาติญาณแท้จริงของพวกเขาจึงได้ถูกเปิดเผยออก, หนังรางวัล Jury Prize ในสายประกวน Un Certain Regard จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

มีคำพูดหนึ่งว่า “วินาทีเป็นตาย คือช่วงเวลาสิ่งตัดสินคุณค่าของคน” ผมมองหนังเรื่องนี้ตั้งแต่วินาทีที่พ่อวิ่งหนีเอาตัวรอดแต่เพียงคนเดียว ว่า’มนุษย์’เป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัว สำหรับแม่ก็คงไม่ต่างกัน แม้วินาทีนั้นจะไม่ได้วิ่งหนี แต่การกระทำของเธอต่อจากนั้น อ้างโน่นนี่นั่น ไม่พอใจ รับไม่ได้ แล้วไฉนตอนท้าย อีกครั้งกับความหวาดกลัวการขับรถโฉบเฉี่ยวเสียวตกเขา จึงลงจากรถโดยไม่หันมาแยแสลูกรักของตัวเองสักนิด, ถ้าคุณเห็นว่าผู้ชายในหนังเรื่องนี้พึ่งพาไม่ได้ ผมจะบอกว่าผู้หญิงก็คนนี้ก็ไม่ต่างกัน

หนังเรื่องนี้ต้องชมเลยว่ามีแนวคิดความตั้งใจที่ดี ใช้วิธีการนำเสนอแบบ Haneke-like ตั้งกล้องทิ้งไว้หน้าตรง ถ่าย long-take เพลงประกอบเป็นแค่ Intro/Coda ถือว่าสร้างพลังความเข้มข้นให้กับหนังเยอะมาก แต่ผมรู้สึกเนื้อเรื่องมีความเยอะ เครียด ว้าวุ่นวายจนเกินไป และเมื่อมองลึกลงไปถึงระดับจิตวิญญาณ มันมีหลายอย่างที่เป็นความขัดแย้งกันเอง

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัวโดยสันชาติญาณ แต่เราสามารถที่จะกดกักเก็บหรือที่เรียกว่า ใส่หน้ากาก ครอบชฎา สวมหัวโขน อันเป็นเหตุให้สามารถดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมได้โดยไม่เกิดอคติความขัดแย้ง นี่ไม่ใช่สิ่งที่แปลกอะไรในสังคมนะครับ, แต่ในบ้าน ครอบครัวกอปรด้วยสามีภรรยา พ่อแม่ลูก นี่เป็นสถานที่ที่หน้ากากมักจะถูกถอดวางทิ้งไว้ ไม่ได้สวมใส่เข้าหากัน กับครอบครัวไหนที่ยึดถือมั่นในหน้ากากของตนเองไม่ยอมปล่อยวางแม้สักวินาทีเดียว ผมก็ไม่รู้จะพูดยังไงนะครับ เดี๋ยวนี้มีเยอะมากในสังคม จะไปตัดสินถูกต้องไม่สมควรก็คงไม่เหมาะสมกระไร เอาเป็นว่าขอให้คำแนะนำไปแล้วกัน สำหรับชายหนุ่มหญิงสาวที่กำลังจะแต่งงาน ถ้าไม่สามารถกระชากหน้ากากของฝ่ายตรงข้ามออกก่อนให้เห็นตัวตนแท้จริงของเขาได้ ก็อย่าไปเสี่ยงไว้เนื้อเชื่อใจอะไรนะครับ ถ้าตัวตนแท้จริงยังให้เราเห็นไม่ได้ ก็แปลว่าเขาไม่ได้มีความจริงใจเต็มร้อยแท้จริงกับเราหรอก

Claes Olle Ruben Östlund (เกิดปี 1974) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติ Swedish เกิดที่ Styrsö เกาะเล็กๆทางตะวันตกของประเทศ ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบการเล่นสกี และเล่นกล้อง ทำให้มีโอกาสก็ทดลองถ่ายสารคดีเกี่ยวกับกีฬาชนิดนี้ คิดค้นเทคนิคใหม่ๆมากมาก, ต่อมาตัดสินใจเข้าเรียน University of Göteborg เพื่อศึกษาการสร้างภาพยนตร์ มีผลงานเรื่องแรก The Guitar Mongoloid (2004) คว้ารางวัลนักวิจารณ์ FIPRESCI prize จากเทศกาลหนังนานาชาติเมือง Moscow

Östlund เพิ่งจะมีผลงานล่าสุด The Square (2017) คว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่ต้องบอกว่าปีนี้หนังสายประกวดไม่แข็ง ค่อนข้างไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ และหนังเรื่องนี้ได้รับเสียงแตกจากนักวิจารณ์ คงต้องดูระยะยาวว่าจะยังได้รับการยกย่องพูดถึงมากน้อยแค่ไหน

สำหรับแรงบันดาลใจสร้างหนังเรื่องนี้ เกิดจากเพื่อนของ Östlund ที่เพิ่งแต่งงานอยู่กิน ตัดสินใจเดินทางไปเที่ยวพักร้อนแถบละตินอเมริกา ระหว่างกำลังรับประทานอาหารเย็น มีมือปืนจากที่ไหนไม่รู้บุกเข้ามาในร้านอาหาร กวาดยิงไปทั่ว สามีแทนที่จะปกป้องภรรยากลับวิ่งหาที่กำบังเอาชีวิตรอดเพียงคนเดียว ทำเอาภรรยาอึ้งไปเลย, เหตุการณ์นี้ทำให้เธอไม่สามารถหยุดพูดถึงวีรกรรมของสามี ซ้ำแล้วซ้ำอีกแบบทนรับไม่ได้ (คิดว่าคู่นี้คงน่าจะหย่าขาดกันไปแล้วนะครับ)

ความสนใจในพฤติกรรมนิยม (Behaviorism – ทฤษฎีที่ให้ความสำคัญในการศึกษาพฤติกรรม โดยเชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า) และสัญชาติญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ Östlund จึงได้ศึกษาหาข้อมูล อ่านวิจัยและค้นพบว่า คู่รักที่ประสบอุบัติเหตุคาดไม่ถึง อาทิ เรือล่ม, ซึนามิ, แผ่นดินไหว ฯ มีสถิติการหย่าร้างสูงมากๆ อาจเป็นผลกระทบจากการที่จิตใจอันบอบช้ำจากสถานการณ์ จนทำให้เกิดคำถามเรื่องการดำรงอยู่ของตัวเองขึ้นมา เช่น ทำไมฉันถึงรอด?, ฉันมีชีวิตเพื่ออะไร?, ทำไมฉันจึงทำอะไรๆ แบบที่ฉันทำ? แล้วฉันควรจะใช้ชีวิตแบบเดิมต่อไปรึเปล่า?

“กติกามารยาทของสังคมมักสอนเราว่าผู้ชายต้องปกป้องครอบครัวด้วยการเป็นฝ่ายต้อนลูกเมียให้ขึ้นเรือชูชีพก่อนตัวเอง แต่ในความเป็นจริง ผู้ชายกลับมักเห็นแก่ตัวทันทีเมื่อถึงเวลาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย”

reference: http://movie.mthai.com/bioscope/178000.html

5 วันพักร้อนของพ่อ Tomas (รับบทโดย Johannes Bah Kuhnke) ตัดสินใจมาเที่ยวเล่นสกีกับครอบครัวที่ Les Arcs รีสอร์ทที่ Savoie ประเทศฝรั่งเศส วันที่สองระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน ได้เกิดเหตุหิมะถล่ม Avalanche ในตอนแรกเหมือนว่าควบคุมได้ แต่ไปๆมาๆคงด้วยความผิดพลาด พ่อตัดสินใจวิ่งหนีเอาตัวรอด ทิ้งภรรยา Ebba (รับบทโดย Lisa Loven Kongsli) และลูกทั้งสองไว้ตรงนั้น เช่นนี้อีก 3 วันที่เหลือพวกเขาจะยังได้พักร้อนกันอีกหรือ?

Force Majeure เป็นคำภาษาฝรั่งเศส มีความหมายเช่นเดียวกับ ‘act of god’ แปลว่า เหตุสุดวิสัย คาดการณ์ไม่ถึง รวมถึง เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้

Johannes Bah Kuhnke นักร้องสัญชาติ Swedish ได้รับการชักชวนให้มาแสดงหนังเรื่องนี้เรื่องแรก รับบทพ่อที่ตอนแรกสวมหน้ากากโขนตลอดเวลา, Tomas ตัวจริงเป็นคนอ่อนแอ ขลาดเขลา พึ่งพาไม่ได้ จึงพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดูดีเข้มแข็ง ขยันขันแข่งเอาการเอางาน เอาใจใส่เลี้ยงดูแลครอบครัว ‘I’m a victim of my own instincts’ ครั้งหนึ่งเมื่อได้ตกอยู่ในสถานการณ์เป็นตาย -หิมะถล่ม- ตัวตนแท้จริงหรือสัญชาติญาณได้เผยธาตุแท้ออกมา นี่เป็นสิ่งที่ตัวเขาเองยินยอมรับไม่ได้ พยายามที่จะปกปิดป้อง หลงลืม โกหกหาข้ออ้าง กลายเป็นเหยื่อของสัญชาติญาณตนเอง

ถึงมันจะเป็นภาพที่ผู้ชายส่วนใหญ่รับไม่ค่อยได้ กับการร้องไห้โฮแบบหยุดไม่ได้ แสดงความอ่อนแอของตนเองให้ครอบครัวผู้อื่นเห็น แต่ผมกลับยกย่องตัวละครนี้นะ เพราะเป็นวินาทีแห่งการยอมรับตัวเองว่าเป็นคนอ่อนแอ เปิดเผยความจริงต่อครอบครัวที่ว่า ฉันอาจไม่ใช่พ่อที่ดีสมบูรณ์แบบอย่างที่ทุกคนหวัง แต่ขอให้เข้าใจ จะค่อยๆพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น

ชอบสุดๆเลยตอนจบที่สูบบุหรี่ ลูกชายถามว่าพ่อสูบด้วยเหรอ เขาตอบว่าใช่โดยไม่โกหกปิดบัง นี่มองได้คือจุดเริ่มต้นของการยินยอมรับตนเอง มีแนวโน้มสูงจะกลายเป็นพ่อที่ดีต่อไป

Lisa Loven Kongsli นักแสดงสาวสัญชาติ Norwegian เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 2008 มีผลงานอาทิ Fatso (2008), Knerten (2009), The Orheim Company (2012) ล่าสุดโกอินเตอร์เล่นหนัง Hollywood เป็นหนึ่งในนักรบอเมซอลเรื่อง Wonder Woman (2017), Ebba ผู้หญิงที่มีลูกแล้ว จะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘สัญชาติญาณแม่’ คือหวงแหน ดูแล ปกป้องลูกรักในไส้ของตนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ในสถานการณ์เป็นตาย -หิมะถล่ม- ทั้งๆที่ก็คงกลัวตาย แต่ลูกทั้งสองต้องมาก่อน ซึ่งเมื่อเธอเห็นการกระทำของสามีก็ยินยอมรับไม่ได้ ทำไมเขาถึงเป็นคนเห็นแก่ตัวแบบนี้!

ความว้าวุ่นในใจของผู้หญิงเป็นสิ่งยากจะสลัดออก แทนที่เธอจะมองว่านั่นคือจุดอ่อนความเห็นแก่ตัวของสามี ค่อยๆพูดคุยปรับความเข้าใจ กลับกลายเป็นหมกมุ่นต่อต้านรับไม่ได้ ยกตนเองว่ามี’คุณธรรม-ศีลธรรม-จริยธรรม’ สูงส่งเหนือกว่าเขา ยึดมั่นในความจริงที่ตนรับรู้ ครุ่นคิดมากจนกลายเป็นข้อขัดแย้งบาดหมาง หาทางระบายความอัดอั้นคับแค้นรุ่มร้อนใจนี้ออกไปจากอก ต้องการกระชากหน้ากากของเขา ประจานให้ทั้งโลกได้เห็น

ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่เธอกลับไม่พยายามทำความเข้าใจ Tomas ทำไมเขาต้องโกหก รับไม่ได้ แทนที่ทั้งคู่จะปรับความเข้าใจ เธอกลับเลือกที่จะประจานเขาต่อหน้าเพื่อนฝูง นี่เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวมากๆนะครับ เป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มผลักภาระความรับผิดชอบของตนเอง นี่ฉันทำดีแล้วนะ คนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกันฉัน ไม่สมควรน่าให้อภัยเสียจริง

วันที่ 3 หลังจากเหตุการณ์หิมะถล่ม เป็นเธอที่แสดงความเห็นแก่ตัวออกมาคนแรก ‘ฉันต้องการเล่นสกีคนเดียว’ นี่อาจไม่ใช่ช่วงเวลาเหมาะสมนัก แทนที่จะรอให้ทริปนี้จบสิ้นผ่านไปเสียก่อน หรือถ้าทนไม่ได้ก็เดินทางกลับบ้านกันเลย นี่แสดงถึงวุฒิภาวะการจัดการทางอารมณ์ของพวกเขาที่ไม่สามารถรั้งรีรออะไรได้ แต่การตัดสินใจแบบนี้ถือว่ายังไม่เลวร้ายเท่าไหร่ คือขอเวลาสำหรับปรับทัศนคติความเข้าใจของตนเอง แต่ประเด็นคือมันทำให้ Ebba เปลี่ยนไป … ในทางที่เลวลง

พอถึงตอนจบ Ebba สวนทางกับ Tomas โดยสิ้นเชิงนะครับ ขณะที่สามียอมรับตัวเองกระชากหน้ากากตัวเองออกมาได้ แต่ภรรยากลับสร้างหน้ากากใบใหม่ขึ้นมาสวมทับ ลูกสาวเดินไม่ไหวแทนที่ตัวเองจะอุ้มหรือให้สามีอุ้ม กลับร้องขอให้ผู้อื่นช่วย ปัดภาระความรับผิดชอบของตนเองโดยสิ้นเชิง

ผมคิดว่าเธอกำลังได้อิทธิพลจากเพื่อนสาวคนหนึ่งที่ได้พบเจอจากทริปนี้ด้วยนะครับ คำถามของเธอกระเสือกแบบว่าต้องรับรู้เข้าใจให้ได้ รายนั้นเป็นผู้หญิงมีลูกมีสามีแล้วแต่ปล่อยทิ้งไว้ที่บ้าน หนีมาเที่ยวคนเดียวแบบไร้ความรับผิดชอบ ด้วยทัศนะ ‘ความสุขของฉันไม่ได้อยู่ที่การกระทำเพื่อคนอื่น แต่คือกับตัวเองเท่านั้นเพียงพอ’

ผมประทับใจคู่ของ Mats (รับบทโดย Kristofer Hivju ที่มีผลงานซีรีย์ Games of Throne รับบท Tormund Giantsbane) กับ Fanni (รับบทโดย Fanni Metelius) เป็นอย่างยิ่ง -ชอบหนวดของ Hivju มากๆ- เห็นว่า Mats เป็นเพื่อนของ Tomas เลยชักชวนมาเที่ยวด้วยกัน แต่พี่แกกลับพาแฟนใหม่มาเที่ยวด้วย, มีคำถามหนึ่งของ Fanni แทงใจดำของผมเลย ‘การที่เธอทิ้งภรรยาและลูกมาอยู่กับฉันแบบนี้ ต่างกับ Tomas ที่ทิ้งลูกเมียในสถานการณ์เช่นนั้นอย่างไร?’ ใช่ครับไม่ต่างเลย แค่โดยมีสติกับสันชาติญาณ แล้วแบบไหนเลวร้ายกว่าละเนี่ย!

เด็กชายหญิง Vera (รับบทโดย Clara Wettergren) และ Harry (รับบทโดย Vera Vincent Wettergren) อายุ…ไม่รู้สิ ถึงไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก แต่พวกเขาไม่ไร้เดียงสาแล้วนะ เสียงร้องเรียก ‘ป๋ะป๋า’ ของ Harry หลอกหลอนมากๆ เป็นความหวาดกลัวสุดขั้วหัวใจ พ่อแม่ไม่รู้ตัวเลยหรือไงว่าสิ่งที่พวกเขากระทำแสดงออกต่อกันนี้ เด็กทั้งสองได้จดจำ เรียนรู้ ซึมซับสู่จิตวิญญาณของพวกเขาแล้ว

ไฮไลท์ที่หลายคนอึ้งไปเลย ตอนที่ Harry ขับเครื่องร่อนเข้ามาขัดจังหวะ พวกเขายังเด็กเลยไม่มีสิทธิ์เสียงสามารถพูดอะไรออกมาได้ แต่การแสดงออกก้าวร้าว ไม่พึงพอใจ มองเห็นชัดเจน!

เกร็ด: เลขห้อง 413 มีคนวิเคราะห์กันว่ามาจาก 4 คือ พ่อ-แม่-ลูกชาย-ลูกสาว ส่วน 1 กับ 3 มาจากเหตุการณ์ขณะพ่อ วิ่งหนีทิ้ง แม่-ลูกชาย-ลูกสาว ในขณะเหตุการณ์หิมะถล่ม

ถ่ายภาพโดย Fredrik Wenzel ในสไตล์ของหนัง Michael Haneke นิยมตั้งกล้องทิ้งไว้เฉยๆถ่าย Long-Take ให้สัมผัสเหมือนภาพวาด (ที่มีการเคลื่อนไหว) นักแสดงปลดปล่อยการแสดงออกมาเต็มที่ และเลือกมุมกล้องที่มีการจัดองค์ประกอบมองเห็นครบทุกสิ่งอย่าง

ตราตะลึงในความใหญ่อลังการของธรรมชาติ ภูเขาสูง อากาศหนาวเหน็บ และหิมะขาวโพลน, นี่เป็นสถานที่ไม่ได้มีความมั่นคงถาวรปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินเลยนะครับ แค่เสียงระเบิดหรือฤดูเปลี่ยนแปลง หิมะเหล่านี้ก็ถล่มหรือหลอมละลายกลายเป็นน้ำแล้ว จริงๆไม่ต้องรอนานขนาดนั้น เวลาเล่นสกีจะเห็นว่า ผู้เล่นต้องโยกหมุนตัวคดโค้งไปมา (เหมือนถนนเส้นที่ใช้สัญจรขึ้น-ลงภูเขา) มันจะค่อยๆเซาะชั้นหน้าหิมะออกไป แต่เราจะไม่เห็นสิ่งที่เป็นเนื้อของภูเขาจริงๆได้ง่ายหรอกนะ

นัยยะของภูเขาหิมะ ผมมองไม่ต่างจากทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งของซิกมันด์ ฟรอยด์ เทียบกันคือชั้นบนของหิมะแทนด้วยยอดภูเขาน้ำแข็งที่เรามองเห็น ซึ่งการเกิดหิมะถล่มคือการทลายสิ่งฉาบหน้า หลงเหลือคือเนื้อแท้ของภูเขาที่หลบซ่อนอยู่ หรือสิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเป็นตัวตนแท้จริงของมนุษย์, แต่ภูเขาหิมะมีจุดหนึ่งน่าสนใจ คือยามค่ำคืนหิมะตก ทำให้ชั้นของหิมะหนาขึ้น (นี่เป็นสิ่งที่ภูเขาน้ำแข็งไม่มี) นัยยะคงเป็นการสร้างบางสิ่งอย่างขึ้นมาปกปิดครอบตัวเองอีกชั้นหนึ่ง

มีหนังเกี่ยวกับ Alpine Skiing สองเรื่องที่ผมค่อนข้างหลงใหลประทับใจ คือ Downhill Racer (1969) และ On Her Majesty’s Secret Service (1969) แต่เพราะความบ้าคลั่งของกิจกรรมนี้ เรื่องหนึ่งแข่งสกีเอาเป็นเอาตาย อีกเรื่องแอ๊คชั่นไล่ล่า ใครกันจะไปเห็นลีลาความสวยงามแท้จริงของกีฬาประเภทนี้, ซึ่งหนังเรื่องนี้มันอาจไม่มีอะไรหวือหวาในเล่น แต่มีความเป็นธรรมชาติที่แสนธรรมดาจับต้องได้ ทำเอาผมละอยากเล่นสกีเป็นเลย ขาลงปลดปล่อยตัวลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก มีนัยยะถึงชีวิตที่ดำเนินเป็นไปตามวิถีธรรมชาติ เคลื่อนที่เลี้ยวหลบซ้ายขวาคือการตัดสินใจเลือกทางเดินทางของชีวิต, ไฮไลท์คือตอนเล่นวันสุดท้ายในหมอกหิมะที่มองอะไรแทบไม่เห็น นี่แทนด้วยอนาคตเบื้องหน้าที่ไม่รู้จะมีอะไรเกิดขึ้น การเล่นสกีจึงต้องไปข้างหน้าโดยพร้อมเพียงและเชื่อมั่นในกันและกัน (เอาจริงๆผมว่าสภาพอากาศแบบนั้น ไม่มีใครเขาเล่นกันนะครับ ความเสี่ยงสูงมาก การถ่ายทำก็น่าจะโคตรยากเลย!)

ตัดต่อโดย Jacob Secher Schulsinger เรื่องราวมีทั้งหมด 5 วัน
– วันแรก ถ่ายรูป เล่นสกีพร้อมหน้าทั้งครอบครัว
– วันที่สอง ขณะกำลังรับประทานข้าวกลางวัน เกิดเหตุไม่คาดฝัน เด็กๆกกตัวอยู่ในห้องนอน พ่อแม่ไปกินข้าวกับเพื่อน เป็นช่วงเวลาที่ ‘godawful dinner’
– วันที่สาม ช่วงเวลาของแม่ที่ปรับทัศนคติ ใช้เวลาอยู่กับตนเอง
– วันที่สี่ ช่วงเวลาของพ่อที่ปรับทัศนคติ ใช้เวลาอยู่กับตนเอง
– วันที่ห้า เหมือนจะเคลียร์ปัญหากันได้แล้ว เล่นสกีพร้อมหน้าทั้งครอบครัว

แต่ละวันจะคั่นด้วยภาพธรรมชาติของภูเขาหิมะ งานยามค่ำคืนของพนักงาน อาทิ จุดพลุเพื่อทำให้หิมะถล่มแบบควบคุมได้, ปรับสภาพทางหิมะให้สามารถใช้เล่นสกีได้วันถัดไป ฯ และกิจกรรมในห้องน้ำของสองพ่อแม่ อาทิ ล้างหน้า, อาบน้ำ, แปรงฟัน ที่จะต้องสอดคล้องกับบทเพลง Concerto No. 2 in G minor, Op. 8, RV 315, ‘L’estate’ (Summer) ประพันธ์โดย Antonio Vivaldi [นี่เป็นท่อนสองในบทเพลง The Four Seasons: Summer, ฤดูร้อน] เรียบเรียงโดย Pavel Fenyuk กำกับวงโดย Alexandr Hrustevich

ผมเกิดความคับข้องใจต่อการเลือกบทเพลงนี้อย่างยิ่ง เพราะภาพที่เห็นคือหิมะขาวโพลนหนาวเหน็บ แต่กลับได้ยินเพลงฤดูร้อนของ The Four Seasons (เพลงนี้ใครฟังบ่อยจะคุ้นหู จดจำได้แน่นอน) จริงอยู่มันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร ทำนองเข้ากับหนังดี แถมการตีความหมายตามเรื่องราวของบทเพลงก็ถือว่าใช่ แต่มันรู้สึกหงุดหงิดขัดใจยังไงชอบกล

จริงๆผมตั้งใจจะเขียนบทความเพลง The Four Seasons มาสักพักหนึ่งแล้วแต่ยังไม่มีโอกาสสักที เอาว่าครานี้จะขอพูดถึงเฉพาะ Summer แบบคร่าวๆก่อนแล้วกัน

มีผู้ประพันธ์ Sonnets (บทกวี) ที่ใช้พรรณาเคียงคู่กับบทเพลง ขอหยิบมาเฉพาะฤดูร้อนก่อนนะครับ

Under a hard Season, fired up by the Sun

Languishes man, languishes the flock and burns the pine
We hear the cuckoo’s voice;
then sweet songs of the turtledove and finch are heard.
Soft breezes stir the air, but threatening
the North Wind sweeps them suddenly aside.
The shepherd trembles,
fearing violent storms and his fate.

Adagio e piano – Presto e forte
The fear of lightning and fierce thunder
Robs his tired limbs of rest
As gnats and flies buzz furiously around.

Presto
Alas, his fears were justified
The Heavens thunders and roar and with hail
Cuts the head off the wheat and damages the grain.

ภายใต้แสงสุริยันอันเร่าร้อนแรง, ผู้คนอ่อนระทวย ฝูงนกอ่อนล้า ลำพังต้นสนก็พร้อมลุกไหม้ได้ทุกเมื่อ สายลมเอื่อยๆที่กำลังพัดเพลิดเพลินมา อยู่ดีๆลมเหนือก็หวนเอากระแสลมรุนแรง คนเลี้ยงแกะเกิดอาการสั่นสะท้าน หวาดกลัวเสียงคำรามของของอัสนีบาตและโชคชะตา, ใครเป็นคนดีจักรอดพ้น คนชั่วจะถูกฟ้าดินลงทัณฑ์ให้สาสม ดั่งการเกี่ยวข้าวที่เมื่อตัดรวงทิ้งไป ทุกสิ่งอย่างก็จะค่อยๆเหี่ยวแห้งเฉาหมดสิ้นชีวี

อธิบายเป็นภาษาเข้าใจง่ายก็คือ เบื้องหน้าขณะนี้ที่เงียบสงบ กำลังมีพายุบ้าคลั่งโหมกระหน่ำกำลังพัดเข้ามา ไม่นานก็มาถึงซึ่งได้ทำให้เกิดความปั่นป่วนอลม่านวุ่นวาย ความจริงแท้จะถูกเปิดเผย คนชั่วจะถูกตัดหัวชดใช้กรรม

ก็ถือว่าตรงกับเรื่องราวของหนังนะครับ พายุอัสนีบาตก็คือขณะที่เกิดหิมะถล่ม สังเกตว่าบทเพลงจะเลือกช่วงเบาๆไว้วันแรกๆ พอวันที่ 3 และ 4 จะมีความปั่นป่วนเร่งรีบอลม่าน นั่นคือจิตใจของพวกเขากำลังสับสนว้าวุ่นวายบ้าคลั่ง และตอนที่พายุผ่านไปทุกอย่างก็จะจบลงพร้อมเพียงโดยพอดี

มีคำเรียกหนังเรื่องนี้ว่า Snow Therapy ก็ถือว่าตรงในแง่เรื่องราวที่ดำเนินไป แต่สุดท้ายผมมองว่าเป็นความล้มเหลวเพราะบำบัดไม่สำเร็จ เริ่มต้นก้าวเดินไปข้างหน้า สุดท้ายวนเวียนวกกลับมาที่เดิมแค่ในมุมกลับกัน กล่าวคือเริ่มต้น Tomas ใส่หน้ากาก เขาถอดออกตอนจบ ส่วน Ebba ต้นเรื่องเธอไม่มีหน้ากาก ตอนจบสร้างขึ้นใหม่แล้วสวมใส่ทับไป นี่ทำให้ผมเกิดข้อสงสัยว่าผู้กำกับมีความตั้งใจอะไรกันแน่ในการสร้างหนังเรื่องนี้?

ผมถอยตัวเองออกไปก้าวหนึ่งพยายามครุ่นคิดมองผู้กำกับ Ruben Östlund ค้นหาว่าเขาคือใคร มีความสนใจยังไง พบว่าชื่นชอบการเล่นสกีก็อย่างหนึ่ง ปลดปล่อยชีวิตตัวเองให้เป็นไปดั่งธรรมชาติลู่ลม แต่การสร้างหนังเรื่องนี้เขาพยายามเอาพฤติกรรมของมนุษย์มาปกปิดบังตัวตน สัญชาติญาณ กับสถานการณ์แบบในหนัง Östlund เคยให้สัมภาษณ์พูดว่า ‘ผมคงวิ่งหนีไม่สนใจใครแบบ Tomas’ เห้ย! นี่เอ็งเป็นถึงผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้นะ แทนที่จะมีความตั้งใจอันแน่วแน่ว่าฉันจะไม่เป็นแบบอย่างตัวละครที่สร้างขึ้น กลับแทนด้วยตัวเองใส่ลงไปในหนัง

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ศิลปิน’ นะครับ คือเอาความคิดของตัวเอง จิตวิญญาณสวมใส่ลงไปในงานศิลปะที่สร้างขึ้น โดยปกติแล้วก็เพื่อให้ผู้ชมรับรู้และเข้าใจตัวตนของเขา แต่หนังเรื่องนี้มันเหมือนว่า Östlund ยังปกคลุมตนเองด้วยหิมะขาวโพลน สวมหัวโขนที่ยังมีบางส่วนปกปิดเอาไว้ ไม่ได้รับการเปิดเผยออกมาทั้งหมด อาจต้องรับชมหนังของเขาอีกสองสามเรื่องถึงค่อยๆเข้าใจตัวตนของผู้กำกับก็เป็นได้

มันมีวิธีไหนไหมที่เราจะสามารถเปลี่ยนแปลง ควบคุมสันชาติญาณของตนเอง?, มีครับ นั่นคือการมี’สติ’ แบบเดียวกับสถานการณ์ตอนจบของหนัง ถ้าทุกคนใจเย็น ไม่รีบร้อน หรือสนแต่จะเอาตัวรอดหน่ายเดียว ทุกอย่างก็จะเป็นไปอย่างมีอารยะ สงบเรียบร้อยปลอดภัย (แซวด้วยว่าให้ผู้หญิงและเด็กก่อน) แต่ในความเป็นจริงนั่นถือเป็นสถานการณ์ที่ยังหยุดยั้งคิดได้ ไม่ได้แปลว่าตอนพวกเขาเจอเหตุการณ์ที่ทันด่วนจริงๆ จะมีใครสามารถควบคุมสติและสถานการณ์ได้

โชคดีที่มีพุทธศาสนา ทำให้บทเรียนของหนังเรื่องนี้มีแนวทางแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริง นั่นคือการนั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ นี่เป็นสิ่งที่สามารถทำให้เราควบคุมสติของตนเองได้แม้ในยามฉุกเฉินทันด่วน ถ้าจิตเราไม่วู่วามวอกแวกไปกับสถานการณ์นั้นๆ ย่อมสามารถคิดหาทางออกหนทางแก้ไขได้ทุกปัญหา

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ แนวทางการแก้ปัญหาทันด่วนด้วยสติแบบง่ายๆ ให้เห็นภาพเข้าใจแล้วกันนะครับ สมมติว่าเรากำลังเดินๆอยู่แล้วบังเอิญพบเจองูเห่าขวางทางอยู่ข้างหน้า ชูชันแผ่แม่เบี้ยเหมือนกำลังจะทำอันตรายต่อเรา ถ้าคุณเป็นคนขาดสติคงกรี๊ดลั่นออกวิ่งโดยทันที การันตีว่าร้อยทั้งร้อยโดนฉกกัดแน่นอน วิธีการที่ผมใช้ก็คือหายใจเข้าลึกๆครั้งหนึ่งเรียกสติให้หวนกลับคืนมา พูดสนทนาบอกว่าไม่ได้มาร้ายแล้วค่อยๆก้าวย่องถอยย่างไปอย่างช้าๆ เท่านี้ถ้าไม่เคยทำกรรมเวรกับเจ้างูไว้รุนร้ายแรงเอาตายเมื่อชาติปางก่อน เขาก็จะยอมถอยไม่กระทำร้ายเรา

ฉากตอนจบของหนัง เห็นว่าผู้กำกับได้แรงบันดาลใจจากคลิปหนึ่งใน Youtube ที่ชื่อ Idiot Spanish bus driver almost kills students โชคดีคลิปยังอยู่ เอามาแทรกให้รับชมดู, อ่านคอมเมนต์แล้วแบบว่า … wtf มาก (ผู้หญิงคนนั้นนะ)

ฉากสุดท้ายการออกเดินไปเรื่อย มีนัยยะถึงชีวิตที่ดำเนินต่อไป ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษนะครับ

หนังได้ฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes สาย Un Certain Regard คว้ารางวัล Jury Prize ถือว่าเป็นที่ 2 ก็ได้, เป็นตัวแทนของประเทศสวีเดนส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film เข้ารอบ Shortlist แต่ไม่ถึง 5 เรื่องสุดท้าย, และได้เข้าชิง Golden Globe สาขาเดียวกัน แต่ไม่ได้รางวัล

ส่วนตัวช่วงแรกๆก็ชอบแนวคิดของหนัง เทคนิควิธีการนำเสนอน่าสนใจ แต่ไปๆมาๆผมเริ่มเบือนหน้าหนี หน่ายในความเครียด ว้าวุ่นวาย ไร้สาระ สิ่งที่ผมมองเห็นคือบุคคลที่ไร้วุฒิภาวะทางอารมณ์ คนเห็นแก่ตัวสองคนสวมหน้ากากเข้าหากัน เลยไม่รู้สึกว่ามันน่ามีความอภิรมณ์แม้แต่น้อย

แต่หนังเรื่องนี้ท้าทายจิตวิญญาณของผู้ชมมากๆ นี่ผมไม่เถียงเลย ทำให้ได้ทบทวนเรื่องการมีสติสัมปชัญญะด้วย เหตุผลที่ฝึกสมาธิก็เพื่อรักษาสติให้คงอยู่กับตัวตลอดเวลา, มันคือวินาทีวัดใจจริงๆนะครับ สมมติว่ารู้ตัวอีก 5 วินาทีกำลังจะตายแน่ คุณจะดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดไม่ยอมรับความจริง หรือยินยอมโดยสดุดีแล้วยิ้มแย้มปล่อยวาง

แนะนำกับผู้ชื่นชอบการเล่นสกี ภาพวิวทิวทัศน์สวยๆ ภูเขาหิมะ, นักคิด นักปรัชญา ครุ่นคิดทำความเข้าใจ’สติ’, คนหนุ่มสาวที่กำลังจะใช้ชีวิตคู่ (ผมว่าหนังเหมาะกับคู่ที่ยังไม่แต่งงานมากกว่าแต่งงานแล้วนะครับ)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ ที่ปรึกษาปัญหาชีวิตทั้งหลาย ศึกษาค้นหาต้นตอของปัญหาครอบครัวนี้

จัดเรต 15+ กับความเครียด และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

TAGLINE | “Force Majeure คุณค่าของคนตัดสินที่วินาทีเป็นตาย แต่คุณค่าของหนังคุณต้องตัดสินใจเอง”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: