Foreign Correspondent

Foreign Correspondent (1940) hollywood : Alfred Hitchcock ♥♥♥♡

ภาพยนตร์เรื่องที่สองของ Alfred Hitchcock หลังจากย้ายมาอยู่ Hollywood เข้าชิง Oscar 6 สาขา รวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่ไม่ได้สักรางวัล, ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ New York Globe จับพลัดจับพลูตกอยู่ในสถานการณ์ชี้เป็นชี้ตายของยุโรป เตรียมรายงานข่าวสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังปะทุขึ้นแล้ว

หนังเรื่องนี้ถูกจัดให้เป็นแนวชวนเชื่อ (Propaganda) เพราะปีที่ออกฉาย สงครามโลกครั้งที่สองได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในยุโรป แต่ชาวอเมริกันทั้งหลายยังคงสุขสบายไม่สนอะไร ประเทศของเราอยู่ห่างไกล เดือดเนื้อร้อนใจไปใยใช่เรื่อง, ซึ่งหนังได้ทำการส่งเสียงเรียก ปลุกกระแสให้ผู้คนเกิดความตื่นตระหนัก สงครามที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยนะ!

เกร็ด: สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นที่ยุโรปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1939 จากการที่ Germany บุกประเทศ Poland ทำให้อีก 2 วันถัดมา 3 กันยายน อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามต่อเยอรมันทันที

เกร็ด 2: อเมริกาพยายามวางตัวเป็นกลางมาตลอดในช่วงแรกของสงครามครั้งนี้ จนกระทั่งถูกญี่ปุ่นโจมตี Pearl Harbour โดยไม่ทันตั้งตัว เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ทำให้ปธน. Franklin D. Roosevelt ประกาศเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรทันที

Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899 – 1980) ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ ได้รับการฉายาว่า ‘The Master of Suspense’ บุกเบิกหนังแนวใคร่สงสัย Suspense และระทึกขวัญจิตวิทยา Psychological Thriller, หลังจากสร้างภาพยนตร์ประสบความสำเร็จล้นหลามในประเทศบ้านเกิดอยู่หลายปี เมื่อปี 1939 ได้รับการชักชวนจากโปรดิวเซอร์ชื่อดัง David O. Selznick ให้มาสร้างหนังที่ Hollywood เซ็นสัญญาทาส 7 ปี ซึ่งหลังจากภาพยนตร์เรื่องแรก Rebecca (1940) ผู้กำกับ Hitchcock ถึงเริ่มตระหนักได้ในความผิดพลาดของตนเอง

“[Selznick] was the Big Producer. … Producer was king, The most flattering thing Mr. Selznick ever said about me—and it shows you the amount of control—he said I was the ‘only director’ he’d ‘trust with a film’.”

ในรอบ 7 ปีนี้ Hitchcock มีความพยายามหลายครั้งจะลบลี้หนีหน้า ชักชวนโปรดิวเซอร์อื่นให้มายืมตัวไปใช้งาน อย่างหนังเรื่องนี้ โปรดิวเซอร์ Walter Wanger ติดต่อขอตัวจาก Selznick ได้สำเร็จ หลังจากสาธยายความยากในการดัดแปลงบันทึกส่วนตัว Personal History ของนักข่าว Vincent Sheean ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาตั้งแต่ปี 1935 ใช้เวลา 5 ปี นักเขียน 16 คน แต่ยังไม่สามารถหาเรื่องราวเป็นที่พึงพอใจ (Selznick คงรำคาญจึงยินยอมให้ยืม)

Walter Wanger เป็นอีกหนึ่งโปรดิวเซอร์ชื่อดังของ Hollywood ยุคก่อน ที่คอหนังสมัยนี้น่าจะไม่ค่อยรู้จักแล้ว คุมงานสร้างหนังดังอย่าง The Sheik (1921), Stagecoach (1939), Joan of Arc (1948), Invasion of the Body Snatchers (1956), Cleopatra (1963) ฯ เคยดำรงตำแหน่งประธาน Academy of Motion Picture Arts and Sciences (หรือ Oscar) 2 สมัย ตั้งแต่ปี 1939 – 1945 ซึ่งปี 1946 หลังลงจากตำแหน่ง จึงได้รับมอบ Honorary Academy Award

แต่ใช่ว่าพอได้ Hitchcock มาเป็นผู้กำกับแล้วทุกอย่างจะลงตัว เพราะ Wanger เป็นคนที่โคตรเรื่องมาก มีความต้องการเปลี่ยนบทภาพยนตร์ไปเรื่อยๆ ตามรายงานข่าวใหม่ประจำวันที่ทำให้สถานการณ์ในยุโรปเปลี่ยนไป สร้างความเอือมระอาให้ผู้กำกับเป็นอย่างยิ่ง แต่เพราะข่าวใหม่วันนี้อีกไม่กี่วันข้างหน้า/ตอนหนังออกฉาย ก็จะกลายเป็นข่าวเก่าแล้ว Hitchcock จึงโต้เถียงสวนกลับและสามารถเอาชนะมาได้

บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ New York Globe มีความไม่พึงพอใจกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศในยุโรป ที่ไม่สามารถนำเสนอหลักฐานข้อเท็จจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ จึงมอบหมายให้ Johnny Jones (รับบทโดย Joel McCrea) นักข่าวหน้าใหม่ผู้ยังประสีประสา ออกเดินทางสู่ยุโรปพร้อมชื่อใหม่ Huntley Haverstock แต่ชายหนุ่มกลับไปตกหลุมรักหญิง Carol (รับบทโดย Laraine Day) และจับพลัดจับพลูหนีเอาตัวรอดจากกลุ่มคนที่วางแผนกระทำการบางสิ่งอย่าง

สำหรับนักแสดงนำ Hitchcock มีความต้องการ Gary Cooper และ Joan Fontaine สำหรับบทนำ แต่ Cooper ขณะนั้นบอกว่าไม่อยากเล่นหนัง Thriller ส่วน Fontaine มี Selznick เป็นเจ้าของสัญญา ไม่แปลกถ้าไม่อนุญาตให้ยืมตัว (เพราะ Wanger นำ Hitchcock ไปแล้ว จะมาขอคนอื่นไปอีกใช่เรื่องที่ไหน)

Joel Albert McCrea (1905 – 1990) นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติอเมริกา เกิดที่ South Pasadena, California, เคยเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ Los Angeles Times ให้กับดารา/ผู้กำกับดังหลายคนใน Hollywood เคยเป็นหนึ่งในตัวประกอบหนังเรื่อง Intolerance (1916) ทำให้เขาสนใจการแสดงมาตั้งแต่นั้น รับบทนำครั้งแรก The Jazz Age (1929) และ The Silver Horde (1929), ผลงานเป็นที่รู้จัก อาทิ The Most Dangerous Game (1932), Bird of Paradise (1932), Sullivan’s Travels (1941), The More the Merrier (1941), Ride the High Country (1962) ฯ

รับบท Johnny Jones หรือชื่อใหม่ในวงการ Huntley Haverstock ชายหนุ่มหัวขบถที่ส้มหล่นทับ ได้รับโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เดินทางไปยุโรปเพื่อขุดคุ้ยความจริง แนวโน้มสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้น จับพลัดจับพลูพบเจอคนต่างๆมากมาย ล่วงรู้ในสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เห็น ซึ่งความดวงดีของเขายังทำให้รอดพ้นความตายมานักต่อนัก เรียกได้ว่าคือ Spy ก็คงไม่ผิดอะไร

ถ้าคุณรับชมหนังของ Hitchcock มาเยอะ จะรู้สึกความจับพลัดจับพลูของตัวละครนี้ คล้ายคลึงกับหนังเรื่อง North by Northwest (1959) ที่ตัวละครของ Cary Grant กว่าจะเอาตัวรอดได้ก็ลุ้นกันเยี่ยวเหนียวทีเดียว

Laraine Day (1920 – 2007) นักแสดงสาวสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Roosevelt, Utah มีพี่น้อง 8 คน ต่อมาครอบครัวย้ายไปมาอยู่ California ทำให้มีโอกาสเล่นหนังและเซ็นสัญญากับ MGM แต่ก็อยู่ไม่นานเพราะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่

รับบท Carol Fisher ลูกสาวของ Stephen Fisher (ตัวร้ายของเรื่อง) ก็ไม่รู้เธอหลงเสน่ห์อะไรพระเอก คงจะตกหลุมรักแรกพบ แต่ไม่นานก็ผิดใจ ปรับความเข้าใจได้ ไม่นานเดี๋ยวก็มีปัญหากันอีก เป็นอย่างนี้ซ้ำไปมาหลายรอบ (ผู้หญิงเป็นเพศที่เข้าใจยากเสียจริง), ประเด็นคือพ่อของเธอคือบุคคลที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์หลายสิ่งอย่าง ระหว่างครอบครัวกับความถูกต้อง สุดท้ายเธอจะเลือกอะไร

Herbert Brough Falcon Marshall (1890 – 1966) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ ที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วสูญเสียขาข้างหนึ่ง (นี่ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันนะ นึกว่าทำไมตัวละครถึงมีท่าเดินประหลาดๆ) ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานร่วมกับ Hitchcock เรื่อง Murder! (1930) ผลงานการแสดงอื่นที่เด่นๆ อาทิ Trouble in Paradise (1932), The Letter (1940), The Little Foxes (1941), The Moon and Sixpence (1942), The Razor’s Edge (1946), The Fly (1958) ฯ

รับบท Stephen Fisher ผู้นำกลุ่ม Universal Peace Party แต่แท้จริงแล้วหาได้ต้องการสร้างสันติสุขให้เกิดกับโลกไม่ ปากอ้างว่าทำเพื่อชาติ (ก็ไม่รู้มันเกี่ยวยังไงนะ) เพราะรักมากจึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกสาวกลายเป็นส่วนหนึ่ง กระนั้นเมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถหนีไปได้แล้ว จึงตัดสินใจเล่าความจริงตั้งใจให้เธอฟังทั้งหมด

George Sanders (1906 – 1972) นักแสดงลูกครึ่งสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Saint Petersburg, Russian Empire สืบเชื้อสายมาจากลูกหลานของ Czar, ครอบครัวหนีมาอยู่อังกฤษในช่วง Russian Revolution เมื่อปี 1917 หลังเรียนจบทำงานเป็นในบริษัทผลิตโฆษณา พบกับ Greer Garson ที่ได้แนะนำให้เขากลายเป็นนักแสดง, ผลงานเด่นๆอาทิ All About Eve (1950), King Richard and the Crusaders (1954), พากย์เสียง Shere Khan เรื่อง The Jungle Book (1967)

รับบท Scott ffolliott แค่ชื่อก็ไม่รู้จะอ่านออกเสียงอย่างไรแล้ว เป็นคนหน้านิ่งแต่วาทะคมคายแบบกวนประสาท มีความเฉลียวฉลาดหลักแหลม ไหวพริบปณิธานค่อนข้างดี ช่างสังเกต และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่ง (ไม่เช่นนั้นคงถูกฆ่าไปนานแล้ว) เป็นคู่หูที่เข้าขากับ Johnny Jones ได้เป็นอย่างดี

Albert Bassermann (1867 – 1952) นักแสดงผู้ยิ่งใหญ่สัญชาติเยอรมัน เกิดที่ Mannheim, Germany เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที มีชื่อเสียงโด่งดังใน่วง 2-3 ทศวรรษแรกของศตวรรษ 20 และผลงานการแสดงประปราย แต่การมาถึงของ Nazi ทำให้ตัดสินใจอพยพมาอยู่อเมริกาปี 1938 กลายเป็นตัวประกอบยอดฝีมือ มีผลงานเด่นอาทิ The Red Shoes (1946) ฯ

รับบท Van Meer ชายสูงวัยสัญชาติ Dutch ผู้มีเบื้องหลังอิทธิพลต่อยุโรปเป็นอย่างยิ่ง (แต่ก็ไม่รู้อิทธิพลอะไรนะครับ) ถึงไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก แต่ทุกครั้งที่ปรากฎตัว สามารถแย่งซีนแสดงออกได้สมจริง ซึ่ง Bassermann พูดอังกฤษไม่ได้สักคำ แต่ใช้การลักท่องจำจนพอฟังรู้เรื่อง ความทุ่มเทยอดเยี่ยมขนาดนี้ ถึงขนาดว่าได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor

ถ่ายภาพโดย Rudolph Maté ตากล้องในตำนานสัญชาติ Polish เจ้าของผลงานอมตะ The Passion of Joan of Arc (1928), Vampyr (1932) หลังจากทำงานอยู่ยุโรปหลายปี อพยพมา Hollywood เพราะตนเองมีเชื้อสาย Jews ถึงไม่เคยได้ Oscar: Best Cinematography แต่ได้เข้าชิง 5 ปีติด จาก Foreign Correspondent (1940), That Hamilton Woman (1941), The Pride of the Yankees (1942), Sahara (1943), Cover Girl (1944)

งานภาพของหนังเรื่องนี้ ช่วงแรกๆอาจไม่มีอะไรหวือหวาเท่าไหร่ แต่หลังๆปรากฎไฮไลท์อยู่หลายฉากทีเดียว

ขณะ Stephen Fisher พยายามเค้น Van Meer ให้พูดถึง Clause 27 (ถือเป็น MacGuffin ของหนัง) เหมือนสายตาของชายชราจะพร่ามัวมองอะไรไม่ค่อยเห็นแล้ว กระนั้นช็อตที่หนังใส่มาราวกับเป็นสิ่งที่เขาจินตนาการขึ้น … ราวกับกลุ่มของปีศาจ อสูร ยืนนั่งอยู่ท่ามกลางความมืดมิด โดยมีแสงไฟดวงใหญ่สาดส่องเข้าหน้าของตน นี่เป็นช็อตที่ผมเห็นแล้วสะดุ้งขนลุกซู่เลยละ มันหลอนๆยังไงชอบกล

ไฮไลท์ของหนังอยู่ช่วงท้ายเมื่อเครื่องบิน Short Empire ถูกยิงตก จะมีช็อตหนึ่งในห้องของนักบินเป็น long take ขณะเครื่องบินพุ่งลงสู่ทะเล กระแทกผืนน้ำ แล้วทะลักเข้ามา, ฉากนี้ Hitchcock ให้สัมภาษณ์ว่า ไปจ้างนักบินเก่งๆ เอากล้องติดหน้าเครื่อง แล้วให้ไปบินทิ้งดิ่งลงมหาสมุทรใกล้ผืนน้ำที่สุดแล้วค่อยยกหัวขึ้น เอาภาพฟุตเทจนี้ฉายใส่กระดาษฟาง (rice paper) บนผืนน้ำ แล้วให้ห้องเครื่องจำลองพุ่งใส่กระดาษฟาง (จะเห็นตอนเครื่องบินพุ่ง) ตอนน้ำทะลักเข้ามาก็จะไม่เห็นภาพที่ฉากผ่าน Rear Projection แล้ว, นี่เป็นฉากที่มีความเนียนสมจริงมากๆ อย่างคาดไม่ถึงทีเดียว

สำหรับช็อตลอยคออยู่บนปีกเครื่องบิน สังเกตให้ดีจะพบว่าพื้นหลังแท้จริงเป็นฟุตเทจฉายจาก Rear Projection ไม่ได้ไปถ่ายจริงในทะเลแต่อย่างใด, มีความจำเป็นอีกอย่างที่ต้องสร้างถังน้ำขนาดใหญ่ขึ้นเองด้วย เพื่ออำนวนความสะดวกกับ Herbert Marshall เพราะเขามีขาแค่ข้างเดียว แต่ต้องแสดงฉากนี้ด้วยตนเอง

ฉากที่ Hitchcock ปรากฎ Cameo อยู่ช่วงต้นๆของหนัง เดินอ่านหนังสือพิมพ์ขณะที่ Jones พบกับ Van Meer ครั้งแรกบนถนน

เกร็ด: ฉากที่ Jones ขอ Carol แต่งงาน (ฉากขณะเดินทางบนเรือกลับประเทศอังกฤษ) นั่นคือแบบเดียวกับที่ Hitchcock ขอแฟนสาว Alma แต่งงาน เมื่อปี 1926 เธอเป็นนักเขียนบทที่ก็มีผลงานร่วมกับสามีหลายเรื่อง ทั้งคู่อยู่ด้วยกันจนวันตายมีลูกสาว 1 คน

ตัดต่อโดย Dorothy Spencer นักตัดต่อหญิงสัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ John Ford ที่มีผลงานอมตะอย่าง Stagecoach (1939), My Darling Clementine (1946) ร่วมงานกับ Hitchcock สองครั้งกับ Foreign Correspondent (1940), Lifeboat (1944) ได้เข้าชิง Oscar: Best Edited 4 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รางวัล ประกอบด้วย Stagecoach (1939), Decision Before Dawn (1951), Cleopatra (1963), Earthquake (1974)

สำหรับหนังเรื่องนี้ การตัดต่อเป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของหนัง, ภาพรวมถือว่าเละมาก เพราะหนังเหมือนจะเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ Johnny Jones แต่หลายครั้งกลับจงใจนำเสนอสิ่งที่อยู่ด้านหลัง ความชั่วร้ายที่ค่อยๆคืบคลาน แต่ความยาวที่มากเกินไป ทำให้หนังอืดอาดเกินไป โดยเฉพาะฉากบน Westminster Cathedral ตัวละครที่รับบทเป็นบอดี้การ์ด ยื้อยักมากครั้งจนน่ารำคาญ

กระนั้นถ้าเราสามารถมองเจาะจงเฉพาะแต่ละฉาก จะพบว่าเป็นความพยายามสร้างความลุ้นระทึกที่ยอดเยี่ยม และประสบความสำเร็จมากๆด้วย (แค่ภาพรวม หนังดำเนินเรื่อง เคลื่อนไปได้ค่อนข้างน่าผิดหวัง)

อีกปัญหาที่ผมพบในช่วงการตัดต่อคือ การที่หนังมีตัวละครมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถกระจายบทได้ทั่วถึง ซึ่งบางคนที่โผล่มา เป็นลูกสมุนของตัวร้าย อยู่ดีๆก็หายหัวไปเลย … ไม่มีใครตอบได้ว่าหายไปไหน สร้างความคับข้องใจให้กับผมอย่างยิ่ง

เพลงประกอบโดย Alfred Newman ครั้งแรกครั้งเดียวที่ได้ร่วมงานกับ Hitchcock แต่ต้องถือว่ามีความสมบูรณ์แบบมากๆ, บทเพลงมีลักษณะช่วยสร้างบรรยากาศ เสริมเติมอารมณ์ของหนังให้เกิดความลงตัวพอดี กับฉากโรแมนติกมีความหวานแหววมดขึ้นน้ำตาล, ฉากไล่ล่ามีความตื่นเต้นเร้าใจ, ขณะกำลังถูกปองร้ายเกิดความลุ้นระทึกหวาดเสียว ฯ

ก็ไม่รู้ทำไม Newman ถึงไม่ได้ทำเพลงให้กับ Hitchcock อีกนะครับ ส่วนตัวคิดว่าถ้าทั้งสองได้เข้าคู่กัน น่าจะยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ไม่แพ้ Bernard Herrmann อย่างแน่นอน

หนังของ Hitchcock พระเอกมักเกิดจากการจับพลัดจับพลู แส่เรื่องชาวบ้าน หาเหาใส่หัว มักเป็นคนธรรมดาสามัญจับต้องได้ แต่มีความคิดกระทำบ้าระห่ำทุ่มเทเกินตัว นี่เป็นสาเหตุมักทำให้ผู้ชมอยากเป็นกำลังใจ ให้เขาสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์คับขันต่างๆได้

กับหนังเรื่องนี้ที่ Hitchcock เลือกใช้อาชีพนักข่าว แทนที่จะเป็นสายสืบ/นักการเมือง/นักวิชาการ มองได้จากเป้าหมายของคนอาชีพนี้ ทำให้ตัวละครมีความกล้าเสี่ยง ไปในที่ไม่ควรไป กระทำในสิ่งที่ไม่มีใครสามารถคาดคิดถึงได้ เพื่อเนื้อข่าวที่ออกมาจะได้มีความถูกต้องสมจริง ผู้อ่านทางบ้านราวกับได้ประสบพบเจอเรื่องราวเหล่านี้ด้วยตนเอง มันจึงมีความทรงพลังจับต้องได้ และรู้สึกเหมือนผู้ชมได้รับรู้ข้อเท็จจริงไปพร้อมๆกับหนัง (หนังมีส่วนผสมของทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่งนะครับ แต่ผู้ชมสมัยนั้นย่อมต้องหลงคิดว่า ทั้งหมดนี้คือความจริงแน่ๆ)

หลังจากหนังถ่ายทำเสร็จ Hitchcock เดินทางกลับอังกฤษ (ไปหาแม่ ที่ไม่ยอมอพยพลี้ภัยไปอยู่อเมริกาช่วงสงครามด้วยกัน) กลับมาวันที่ 3 กรกฎาคม โทรเรียก Ben Hecht หนึ่งในนักเขียนบท ต้องการเปลี่ยน Epilogue ตอนจบของหนังใหม่ ถ่ายทำเพิ่ม เป็นฉากกล่าวสุนทรพจน์ที่สถานีวิทยุ มีใจความปลุกเร้าชักชวนชาวอเมริกาให้ตื่นตัว รับรู้ว่าสงครามกำลังเกิดขึ้นแล้ว นี่ถือเป็นใจความสำคัญของการชวนเชื่อ (Propaganda) เลยนะครับ

“Okay, we’ll tell ’em, then. I can’t read the rest of the speech I had, because the lights have gone out, so I’ll just have to talk off the cuff. All that noise you hear isn’t static – it’s death, coming to London. Yes, they’re coming here now. You can hear the bombs falling on the streets and the homes. Don’t tune me out, hang on a while – this is a big story, and you’re part of it. It’s too late to do anything here now except stand in the dark and let them come… as if the lights were all out everywhere, except in America. Keep those lights burning, cover them with steel, ring them with guns, build a canopy of battleships and bombing planes around them. Hello, America, hang on to your lights: they’re the only lights left in the world!

สำหรับฉากจบเดิมของหนัง พระเอกนางเอกกำลังนั่งจู๋จี้กันอยู่บนเครื่องบิน ขณะเดินทางกลับอเมริกา ไม่รู้ฟุตเทจต้นฉบับนี้สูญหายไปแล้วหรือยังนะครับ

เกร็ด: ก่อนหนังจะใช้ชื่อ Foreign Correspondent เคยมี Working Title ชื่อ Personal History และ Imposter แต่ผมว่าทั้ง 2-3 ชื่อหนังนี้ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่เลยนะ

Josef Goebbels รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาแถลงข่าวและโฆษณาชวนเชื่อของนาซีเยอรมัน หลังจากรับชมหนังเรื่องนี้ก็สามารถตระหนักได้ทันทีว่า มีองค์ประกอบของหนังชวนเชื่อ เรียกว่า

“A masterpiece of propaganda, a first-class production which no doubt will make a certain impression upon the broad masses of the people in enemy countries.”

ถ้าคุณเคยอ่านชีวประวัติของ Alfred Hitchcock ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนเข้าวงการภาพยนตร์ ถูกเรียกให้ไปรับใช้ชาติ แต่เพราะน้ำหนักตัวมากเกินเลยถูกจัดให้ไปอยู่ฝ่ายวิศวกรรม ซ่อมแซมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ นี่ไม่ได้ทำให้เลือด ‘รักชาติ’ ของเขาลดลงแม้แต่น้อย, การได้ย้ายมาอยู่อเมริกา ก็ยังคงเป็นห่วงประเทศชาติบ้านเกิดอังกฤษ โดยเฉพาะแม่ของเขาที่ไม่ยอมอพยพย้ายหนีไปไหน ถ้าจะตายก็ขอสิ้นชีพที่แผ่นดินบ้านเกิด … ไม่ใช่ว่า Hitchcock กลัวตายหรือยังไงถึงมาอยู่อเมริกา แต่เพราะสัญญาทาสที่เซ็นไว้แล้วทำให้เขาดิ้นหลุดไม่พ้นต้องรักษาสัญญา แต่ระหว่างนั้นก็ไปๆกลับๆ ประเทศอังกฤษบ่อยครั้ง (เป็นห่วงแม่) การเปลี่ยนตอนจบของหนังเรื่องนี้ มองได้คือการเรียกร้องให้ชาวอเมริกันตระหนักรู้ตัวเองได้สักที สงครามมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวแม้แต่น้อย

หลังจากหนังเรื่องนี้ Hitchcock ได้เคยทำหนังสั้นชวนเชื่อ (ความยาวแค่ 1.52 นาที เรียกว่าสป็อตโฆษณายังดีกว่า) เรื่อง The Fighting Generation (1944) ให้กับ U.S. Treasury Department เพื่อที่จะเพิ่มยอดขายพันธบัตรสงคราม (Wars Bond) นำเงินไปใช้สนับสนุนการทำสงคราม เผื่อใครสนใจนำมาให้รับชมกันด้วย

ด้วยทุนสร้าง $1.48 ล้านเหรียญ ถือว่าค่อนข้างสูงทีเดียว (หมดไปกับค่านักเขียนบทกว่า 250,000 เหรียญ) ทำเงินได้เพียง $1.59 ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับ, เข้าชิง Oscar 6 สาขา ประกอบด้วย
– Best Picture
– Best Supporting Actor (Albert Bassermann)
– Best Writing, Original Screenplay
– Best Cinematography, Black-and-White
– Best Art Direction, Black-and-White
– Best Effects, Special Effects

ว่ากันตามตรงคุณภาพหนังเรื่องนี้ไม่ค่อยน่าพึงพอใจเท่าไหร่ เป็นผลงานระดับรองลงมาของ Hitchcock แต่กลับได้เข้าชิง Oscar ถึง 6 สาขา เว่อจริงๆ สงสัยเพราะอิทธิพลความสำคัญของหนังต่อยุคสมัย ได้สร้างความสั่นสะเทือนเลือนลั่นให้กับอเมริกาและคณะกรรมการ Academy เป็นอย่างมาก จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องยกย่องสนับสนุน

ในปีนั้นยังมีหนังของ Hitchcock อีกเรื่องที่ได้เข้าชิง Oscar หลายสาขา คือ Rebecca (1940) สามารถคว้า Best Picture ไปครองได้สำเร็จด้วย แต่ Hitchcock กลับพลาด Best Director ให้กับ John Ford อย่างฟังไม่ขึ้น (พาลให้ทั้งชีวิตของ Hitchcock ไม่เคยได้รางวัล Oscar สักตัว)

ส่วนตัวรู้สึกแค่ชอบหนังเรื่องนี้ แม้เรื่องราวจะมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน และหลายฉากมีความน่าสนเท่ห์ชวนให้หลงใหล แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับผลงานระดับตำนานเรื่องอื่นๆของ Hitchcock ถือว่าค่อนข้างน่าผิดหวัง เลยไม่สามารถเกิดประทับใจอะไรกับหนังได้มากกว่านี้

แนะนำกับคอหนัง Spy, Thriller ตัวละครจับพลัดจับพลู ลุ้นระทึกเอาตัวรอด, สนใจประวัติศาสตร์ อิทธิพลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศอเมริกา, ชื่นชอบนักแสดง Joel McCrea, George Sanders และแฟนๆผู้กำกับ Alfred Hitchcock ไม่ควรพลาด

โดยเฉพาะคนทำงานสายข่าวทั้งหลาย รับชมหนังแล้วลองตั้งคำถามเรื่องจรรยาบรรณของสื่อดูนะครับ

จัดเรต 13+ กับความเฉียดตาย และบรรยากาศลุ้นระทึก

TAGLINE | “Foreign Correspondent ถึงไม่ใช่หนังระดับตำนานของ Alfred Hitchcock แต่ก็ได้ปลุกกระแสให้คนอเมริกันสนใจ รับฟังสถานการณ์โลก”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

2
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
1 Thread replies
3 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
wtypethaiWarut Jala Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Warut Jala
Guest

Joseph Goebbels นี่ไม่ใช่นักวิจารณ์หนังนะครับ แต่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาแถลงข่าวและโฆษณาชวนเชื่อในรัฐบาลนาซีเยอรมัน และเป็นคนสนิทของอดอลฟ์ ฮิตเลอร์ด้วย

%d bloggers like this: