The Flowers of St. Francis

The Flowers of St. Francis (1950) Italian : Roberto Rossellini ♥♥♥♡

คำสอนแปลกๆของนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี (Saint Francis of Assisi) ได้ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้หอมหวน ตลบอบอวล ด้วยกลิ่นดอกไม้งาม ทั้งผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini และ François Truffaut ต่างยกให้ ‘the most beautiful film in the world’

Pier Paolo Pasolini: among the most beautiful in Italian cinema.
François Truffaut: the most beautiful film in the world.

ไม่ใช่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีความงดงามด้วยภาพถ่ายทิวทัศน์ธรรมชาติ หรือดอกไม้เบ่งบานสะพรั่ง แต่คือจิตใจอันบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของศิษยานุศิษย์รุ่นแรก ภายใต้นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี (ค.ศ. 1181-1226) ผู้ให้กำเนิดคณะฟรังซิสกัน (Franciscan Order) ออกเผยแพร่หลักคำสอนคริสต์ศาสนาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 มาจนถึงปัจจุบัน

ผู้กำกับ Roberto Rossellini ไม่ได้มีความเชื่อศรัทธาต่อคริสตศาสนา (ขณะนั้นก็กำลังมีเรื่องอื้อฉาวกับนักแสดง Ingrid Bergman ทั้งสองต่างแต่งงานมีคู่ครองอยู่แล้ว กลับลักลอบคบชู้กันในกองถ่าย Stromboli (1950) จนฝ่ายหญิงตั้งครรภ์!) แต่ชื่นชอบการสอนศีลธรรมของคริสตจักร (Ethical Teaching) ที่สามารถใช้เป็นข้อคิด คติสอนใจ ปรับเปลี่ยนมุมมอง/ทัศนคติ ให้เห็นคุณค่าความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ

พัฒนาบทร่วมกับ Federico Fellini แล้วสรรค์สร้างด้วยแนวคิดของ Italian Neorealist ถ่ายทำจากสถานที่จริง ใช้เพียงนักแสดงสมัครเล่น (มีนักแสดงอาชีพเพียงคนเดียวเท่านั้น!) ผลลัพท์ทำให้หนังมีความบริสุทธิ์ ดูเป็นธรรมชาติ ราวกับสามารถพบเห็น ‘จิตวิญญาณ’ ของบรรดาคณะบาทหลวง และภาพยนตร์เรื่องนี้ … เป็นแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าต่อ Jean-Luc Godard สรรค์สร้างผลงานชิ้นเอก Vivre Sa Vie (1962)

แต่ผมมีความรู้สึกสองแง่สองง่ามในการรับชมพอสมควร เพราะคำสอนแปลกๆของ Saint Francis แม้ทำให้เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ๆ แต่ศรัทธาต่อพระเจ้านั้นดูงมงายในสายตาคนนับถือศาสนาอื่น ถูกทุบตีกระทำร้ายแล้วเรียกว่านั่นคือความสุขสูงสุด มาโซคิสม์หรือเปล่า?


Roberto Gastone Zeffiro Rossellini (1906-77) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่กรุง Rome, ครอบครัวอพยพมาจาก Pisa, Tuscany บิดาเป็นเจ้าของบริษัทก่อสร้าง ต่อมาสร้างโรงภาพยนตร์แห่งแรก(ในกรุงโรม)ชื่อว่า Barberini ทำให้ตั้งแต่เด็กชายเกิดความหลงใหลสื่อประเภทนี้ พอโตขึ้นก็สานต่อกิจการ จากนั้นเริ่มสรรค์สร้างสารคดี Prélude à l’après-midi d’un faune (1937), มีโอกาสช่วยงานผู้กำกับ Goffredo Alessandrini ถ่ายทำ Luciano Serra, pilota (1938), สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นแนวชวนเชื่อ The White Ship (1941) ติดตามด้วย A Pilot Returns (1942) และ The Man with a Cross (1943) รวมเรียกว่า Fascist Trilogy

หลังจากกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตทำลาย Italian Fascist อย่างราบคาบ ทำให้ Rossellini เป็นอิสระต่อพันธนาการ เตรียมงานสร้างภาพยนตร์ Anti-Fascist เรื่องแรก Rome, Open City (1945) แต่ไปไกลกว่านั้นตรงที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นยุคสมัย Italian Neorealism บันทึกสภาพปรักหักพัก ผลกระทบจากสงคราม ใช้นักแสดงสมัครเล่น เรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ดิ้นรน นำเสนอความทุกข์ยากลำบากของสามัญชนทั่วๆไป

ผลงานเด่นๆ อาทิ Rome, Open City (1945), Paisan (1946), Germany, Year Zero (1948), Stromboli (1950), Europe ’51 (1952), Journey to Italy (1954) ฯลฯ


Saint Francis ชื่อจริง Giovanni di Pietro di Bernardone (1811-1226) เกิดที่เมือง Assisi, Holy Roman Empire เป็นบุตรชายของพ่อค้ารํ่ารวย ขณะยังหนุ่มชื่นชอบเที่ยวเล่นสนุกสนาน ไม่จริงจังอะไรกับชีวิต จนกระทั่งล้มป่วยหนักแล้วได้ยินเสียงตรัสพระเยซู เรียกท่านให้สละความสุขทางโลกแล้วหันมาติดตามพระองค์ จึงบริจาคสมบัติมรดกทั้งหมด ออกเที่ยวขอทาน ทำงานรับใช้คนโรคเรื้อน จนมีผู้เลื่อมใสศรัทธา สอนให้ศิษยานุศิษย์เป็นคนสุภาพถ่อมตน ร่าเริง จริงใจ เป็นอันหนึ่งเดียวกับพระเจ้า สรรพสัตว์ ธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก

ภราดา Francis ได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 9 (Pope Gregory IX) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1228 ในฐานะองค์อุปถัมภ์สรรพสัตว์ สิ่งแวดล้อม พาณิชย์ และประเทศอิตาลี, โดยนิกายโรมันคาทอลิกและแองกลิคันจะมีพิธีอวยพรแก่สัตว์ทั้งหลาย วันฉลองนักบุญฟรังซิส 4 ตุลาคมของทุกปี

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เชิงว่าเป็นอัตชีวประวัติ Saint Francis มุ่งเน้นนำเสนอคำสอนที่มีสาระประโยชน์ เน้นความบันเทิงแฝงข้อคิด นำแรงบันดาลใจจากหนังสือสองเล่ม เขียนขึ้นช่วงศตวรรษที่ 14

  • Fioretti Di San Francesco แปลว่า Little Flowers of St. Francis รวบรวม 53 เรื่องสั้นเกี่ยวกับชีวิตของ Saint Francis คาดกันว่าจดบันทึกโดย Ugolino Brunforte (1262-1348)
  • La Vita di Frate Ginepro แปลว่า The Life of Brother Ginepro/Juniper ไม่ได้มีเรื่องราวเกี่ยวกับ Saint Francis ตรงๆ แต่คือศิษยานุศิษย์คนโปรด Brother Ginepro ได้รับฉายา God’s Jester (หรือ Jester of the Lord)

ผู้กำกับ Rossellini ร่วมงานกับนักเขียน(ขณะนั้น) Federico Fellini คัดเลือกมาเพียง 9 เรื่องราวโดยมุ่งเน้นศิษยานุศิษย์คนโปรด Ginepro พัฒนาบทร่าง (Treatment) จำนวน 28 หน้ากระดาษ 71 บทพูด สำหรับภาพยนตร์ความยาวไม่น่าจะเกิน 90 นาที


เริ่มต้นที่คณะ Franciscan นำโดย Saint Francis พร้อมศิษยานุศิษย์ เดินตากฝน ย่ำโคนเลน มาจนถึงกระท่อมหลังหนึ่ง (ที่พวกเขาสร้างขึ้นสำหรับพำนักอาศัย) แต่กลับถูกยึดครองโดยชาวบ้านพร้อมเจ้าลา แถมกล่าวหาว่านักบวชเหล่านี้คือขโมยกะโจร ถึงอย่างนั้น Saint Francis กลับรู้สึกยินดีเปรมปรีดา เชื่อว่านั่นคือประสงค์ของพระเป็นเจ้า ให้พวกเขาได้เข้าใกล้ชิดพระองค์

พระเจ้าข้า ลูกขอบพระคุณพระองค์ ที่ทรงโปรดให้ลูกมีส่วนในพระมหาทรมานของพระองค์

บทภาวนาของ Saint Francis of Assisi

เรื่องราวหลังจากนี้จะแบ่งออกเป็น 9 ตอน โดยมีข้อความอธิบายเหตุการณ์ที่กำลังบังเกิดขึ้น

  1. How Brother Ginepro returned naked to St. Mary of the Angels, where the Brothers had finished building their hut.
    • ภารดา Ginepro บริจาคเสื้อผ้าให้ขอทานคนหนึ่ง เลยได้รับคำสั่งจาก Saint Francis ไม่อนุญาตให้บริจาคเสื้อผ้าแก่ผู้ใด
  2. How Giovanni, known as “the Simpleton”, asked to follow Francis and began imitating him in word and gesture.
    • ชายสูงวัย Giovanni ต้องการอุทิศตนเองให้ Saint Francis แม้มีท่าทางเลอะๆเลือนๆ แต่ก็ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นศิษยานุศิษย์
  3. Of the wonderful meeting between St. Clare and St. Francis at St. Mary of the Angels.
    • บรรดาศิษยานุศิษย์ นัดหมายแม่ชี Saintess Clare ให้มาพบเจอกับ Saint Francis
  4. How Brother Ginepro cut off a pig’s foot to give to a sick brother.
    • ภารดา Ginepro หั่นขาหมูเพื่อมาทำเป็นอาหารแก่พี่น้องที่ล้มป่วย พอเจ้าของหมูมาเห็นเขาก็เลยตำหนิด่าทอ Saint Francis เลยสั่งให้ Ginepro ขอโทษด้วยจริงใจ แม้ดูเหมือนไม่เต็มใจแต่เจ้าของก็ยินยอมมอบหมูทั้งตัวให้
  5. How Francis, praying one night in the woods, met the leper.
    • ยามค่ำคืน Saint Francis สวดอธิษฐานพระเป็นเจ้า และได้พบกับผู้ป่วยโรคเรื้อนที่พยายามตีตนออกห่าง แต่เขาแสดงความรู้สึกสงสารเห็นใจ และพยายามเข้าหาชิดใกล้
  6. How Brother Ginepro cooked enough food for two weeks, and Francis moved by his zeal gave him permission to preach.
    • Saint Francis ได้รับบริจาคทานจากชาวบ้านจำนวนมาก ภารดา Ginepro จึงตัดสินใจทำอาหารทั้งหมดในคราเดียวซึ่งสามารถเลี้ยงคนได้สองสัปดาห์ นั่นทำให้ Saint Francis อนุญาติให้ Ginepeo ออกไปเผยแพร่ศาสนา แต่ด้วยข้อตกลงบางอย่า
  7. How Brother Ginepro was judged on the gallows, and how his humility vanquished the ferocity of the tyrant Nicalaio.
    • ภารดา Ginepro ระหว่างกำลังเดินทางไปเผยแพร่ศาสนา พบเจอกับจอมเผด็จการ Nicalaio สั่งให้ลูกน้องทำการทรมานสารพัดวิธี เพราะครุ่นคิดว่าคือศัตรูที่จะมาลอบทำร้าย แต่จนแล้วจนรอดกลับพบเห็นเพียงใบหน้าอันเบิกบาน จนเขายินยอมพ่ายแพ้ต่อความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาดังกล่าว
  8. How Brother Francis and Brother Leon experienced those things that are perfect happiness.
    • Saint Francis ให้คำแนะนำภารดา Leon ถึงสิ่งที่สามารถสร้างความสุขสูงสุด นั่นคือการถูกเพื่อนมนุษย์พูดขับไล่ กระทำร้ายร่างกาย เพราะนั่นคือวิธีการจะทำให้ใกล้ชิดความเจ็บปวดของพระเยซูคริสต์มากที่สุด
  9. How St. Francis left St. Mary of the Angels with his friars and traveled the world preaching peace.
    • ถึงเวลาแยกทาง Saint Francis มอบคำสอบสุดท้ายกับศิษยานุศิษย์ ก่อนแยกย้ายไปเผยแพร่ศาสนายังทิศทางที่พระเป็นเจ้ากำหนดไว้

นักแสดงแทบทั้งหมดไม่เคยพานผ่านประสบการณ์ด้านการแสดง บาทหลวงคณะ Franciscan ล้วนมาจากวิหาร Nocere Inferiore และ Maiori อยู่ที่ Campania, Salerno (บางคนก็เคยร่วมแสดง Paisà (1946)) ซึ่งทุกคนล้วนเต็มใจร่วมงานโดยไม่รับค่าจ้างใดๆ ผู้กำกับ Rossellini ต้องการทำอะไรตอบแทนให้สักอย่าง เมื่อพูดคุยสอบถามได้รับคำตอบที่สร้างความประหลาดใจให้ทุกคน นั่นคือขอการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ เพื่อสร้างรอยยิ้มให้ชาวบ้านละแวกนี้ (ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน) จักกลายเป็นเรื่องเล่า ‘talk-of-the-town’ ไปอีกหลายสิบปี

สำหรับนักแสดงอาชีพหนึ่งเดียวของหนัง Aldo Fabrizi (1905-90) สัญชาติอิตาเลี่ยน ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ Rossellini เรื่อง Rome, Open City (1946) รับบทบาทหลวงผู้เสียสละตนเองเพื่อชาวบ้าน แต่มาครานี้เล่นเป็นจอมเผด็การ Nicolaio สวมใส่ชุดเกราะอย่างเว่ออลัง พยายามปั้นแต่งสีหน้าดุดันให้ภารดา Ginepro บังเกิดความหวาดสะพรึงกลัว ดูเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย แต่จนแล้วจนรอดกลับกลายเป็นตัวเขาที่พ่ายแพ้ต่อจิตใจอันบริสุทธิ์ไร้เดียงสา … การแสดงของ Fabrizi แม้ดูเว่อวัง ‘Over-Acting’ แต่ก็ถือว่าเหมาะสมกับบทบาทนี้ที่เป็นขั้วตรงข้ามของ Ginepro จนได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมอย่างล้นหลาม


ถ่ายภาพโดย Otello Martelli (1902-2000) ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่กรุง Rome เริ่มมีผลงานภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ จนกระทั่งเริ่มมามีชื่อเสียงจากการร่วมงาน Roberto Rossellini ตั้งแต่ Paisà (1946), Stromboli (1950), The Flowers of St. Francis (1950) และยังเป็นขาประจำยุคแรกๆของ Federico Fellini อาทิ I Vitelloni (1953), La Strada (1954), La Dolce Vita (1960) ฯลฯ

ความสำเร็จของ Neorealist Trilogy (Rome, Open City (1945), Paisan (1946), Germany, Year Zero (1948)) ทำให้ผู้กำกับ Rossellini พยายามจะวิวัฒนาการแนวคิดของ ‘Neorealist’ ไม่ใช่แค่การบันทึกภาพวิถีชีวิต หรือสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันเท่านั้น … The Flowers of St. Francis (1950) คือการทดลองใช้แนวคิดของ ‘Neorealist’ กับภาพยนตร์แนวย้อนยุค (Period) พื้นหลังศตวรรษที่ 13 แต่เอาจริงๆก็แค่ถ่ายทำยังชนบทห่างไกลเท่านั้นเอง

การถ่ายภาพสไตล์ ‘Neorealist’ จะไม่เน้นลวดลีลา หรือใช้เทคนิคภาพยนตร์อันลึกล้ำ มีความเรียบง่าย ใช้แสงธรรมชาติ (ฉากกลางคืนก็ถ่ายกลางวันแล้วใช้ฟิลเลอร์ ‘Day for Night’) เนื่องจากมีตัวประกอบค่อนข้างมากจึงคงมีการซักซ้อม กำหนดระยะมุมกล้อง แต่ก็ให้ความรู้สึกเหมือนบันทึกสารคดีอยู่บ้าง

Rossellini said that his film was a humble and austere work, realistically describing the spirit of the story. … In the cinema, biblical and evangelical subjects took the form of big American films. Think of a film like The Bible by John Huston, The Robe, King of Kings, The Greatest Story Ever Told. The rhetoric of these films interferes with the spiritual message.


ตัดต่อโดย Jolanda Benvenuti ขาประจำผู้กำกับ Roberto Rossellini ตั้งแต่ Stromboli (1950), The Flowers of St. Francis (1950), Europe ’51 (1952), Journey to Italy (1954) ฯลฯ

แม้หนังจะมี Saint Francis คือศูนย์กลาง แต่เรื่องราวมักเกี่ยวข้องกับศิษยานุศิษย์ โดยเฉพาะภารดา Ginepro มักกระทำสิ่งต่างๆด้วยความบริสุทธิ์ หน้าตาใสซื่อ ไม่รู้ประสีประสา ก่อสร้างปัญหาจนต้องได้รับคำสั่งสอนจาก Saint Francis นับครั้งไม่ถ้วน

เรื่องราวเริ่มต้นตั้งแต่คณะ Franciscan ออกเดินทางมาตั้งรกรากยังท้องถิ่นธุรกันดารห่างไกล จุดประสงค์เพื่อเป็นฐานที่มั่นสำหรับการศึกษาเรียนรู้ของศิษยานุศิษย์ใหม่ๆ ทำความเข้าใจแนวคิด หลักคำสอน Saint Francis และท้ายที่สุดสามารถแยกย้ายออกไปเผยแพร่ศาสนาตามทิศทางประสงค์ของพระเป็นเจ้า

การที่หนังแบ่งออกเป็น 9 ตอน โดยแต่ละเรื่องราวต่างมีจุดเริ่มต้น-สิ้นสุด ลักษณะคล้ายๆ ‘Anthology’ เนื้อหาไม่ได้เชื่อมโยงถึงกัน มันจึงไร้ความจำเป็นจับมามัดรวมกลุ่มก้อน แบ่งแยกออกเป็นองก์ๆ -ผมเลยขอไม่เขียนถึงนะครับ- แต่ถ้าใครรับชมฉบับฉายสหรัฐอเมริกา (ที่ไม่ใช่แผ่นของ Criterion หรือ Master of Cinema) อาจจะไม่พบเจออารัมบทและข้อความคั่นแต่ละตอน เพราะมีการตัดออกไปโดยผู้จัดจำหน่าย (คงครุ่นคิดว่ามันไม่จำเป็นกระมัง)

เกร็ด: โครงสร้างการดำเนินเรื่องด้วยการแบ่งออกเป็นตอนๆ พร้อมข้อความอธิบายเหตุการณ์บังเกิดขึ้น คืออิทธิพลต่อผู้กำกับ Jean-Luc Godard ในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ Vivre Sa Vie (1962) (และอีกหลายๆเรื่อง) ด้วยแนวคิดคล้ายๆกัน


เพลงประกอบโดย Renzo Rossellini (1908-82) [น้องชายของ Roberto Rossellini] ร่วมงานกับ Enrico Buondonno (1912-2002) คีตกวี/บาทหลวง(คณะ Franciscan) เป็นทั้งที่ปรึกษาและร่วมเขียนเพลงให้สอดคล้องวิถีของ Saint Francis

แม้โดยปกติแล้วหนังแนว Neorealist มักไม่นิยมใส่บทเพลงประกอบ (นอกจาก ‘diegetic music’) เพื่อสร้างบรรยากาศอันตึงเครียด สะท้อนสภาพความเป็นจริงของสิ่งที่ถ่ายทำ แต่ผู้กำกับ Rossellini ได้ก้าวข้ามผ่านจุดนั้นมาแล้ว อีกทั้ง The Flowers of St. Francis (1950) นำเสนอเรื่องราวที่มีความสนุกสนาน ไร้เดียงสา คำสอนศาสนาที่สามารถปรับเปลี่ยนมุมมองโลกทัศน์ผู้ชม จึงเต็มไปด้วยท่วงทำนองอันบริสุทธิ์ ผ่อนคลาย และการขับร้องประสานเสียงที่อาจทำให้สัมผัสถึงสรวงสวรรค์

แต่เอาจริงๆผมรู้สึกว่า ‘sound effect’ ค่อนข้างจะโดดเด่นกว่าบทเพลงประกอบเสียอีกนะ อย่างเสียงกระดิ่งวัวของผู้ป่วยโรคเรื้อน มันช่างสั่นสะท้านทรวงใน และฉากที่ภารดา Ginepro ถูกทรมานโยนไปโยนมา เสียงเชียร์ที่มีความอื้ออึง (จนหนวกหู) ราวกับเสียงเพรียกปีศาจจากขุมนรก พยายามจะฉุดคร่า กระทำร้ายเทวบุตร แต่ก็สุดท้ายกลับพ่ายแพ้ภัยพาล (ซึ่งหลังจากจอมเผด็จการ Nicolaio ยินยอมรับความพ่ายแพ้ บทเพลงแห่งสรวงสวรรค์ก็โหมโรงขึ้นมา)


สิ่งสวยงามที่สุด! ในมุมมองของผู้กำกับ Rossellini ไม่ใช่ทิวทัศน์ธรรมชาติสวยๆ ขุนเขาลำเนาไพร แต่คือวิถีของ Franciscan ใช้หลักความสนุกสนานร่าเริง ‘perfect delight’ โต้ตอบทุกสิ่งอย่างด้วยรอยยิ้ม จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่องใส ไร้ความหมกมุ่นยึดติดวัตถุข้าวของใดๆ มีเพียงอิสรภาพล่องลอยไป ราวกับกลิ่นหอมของดอกไม้งาม

As the title indicates, my film wants to focus on the merrier aspect of the Franciscan experience, on the playfulness, the ‘perfect delight,’ the freedom that the spirit finds in poverty and in an absolute detachment from material things.

I believe that certain aspects of primitive Franciscanism could best satisfy the deepest aspirations and needs of a humanity who, enslaved by its greed and having totally forgotten the Poverello’s lesson, has also lost its joy of life.

Roberto Rossellini

ขณะที่ Saint Francis คือบุคคลผู้พานผ่านอะไรมามาก เคยใช้ชีวิตเตร็ดเตร่ สำมะเลเทเมา ไม่ยี่หร่าอะไรใคร ก่อนได้ค้นพบความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงสามารถเทศนาสอนสั่ง ให้คำแนะนำต่อลูกศิษย์ลูกหา มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาก็เพื่อเรียนรู้เข้าใจความทุกข์ทรมานของพระเยซูคริสต์

Brother Ginepro เป็นคนละอ่อนเยาว์วัย ยังไม่รู้เดียงสาใดๆต่อโลกกว้าง เลยมักกระทำสิ่งผิดพลาดพลั้งบ่อยครั้ง เพื่อให้ได้รับบทเรียน คำสอนสั่งจาก Saint Francis แต่ก็ไม่เคยหักห้ามปราม มอบอิสรภาพในการครุ่นคิดตัดสินใจ เพราะเชื่อว่าทุกสิ่งอย่างพระเป็นเจ้ากำหนดไว้แล้ว คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ ยินยอมรับ และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผุดผ่องใส เผชิญหน้าเหตุการณ์ร้ายๆด้วยรอยยิ้ม เบิกบานหฤทัย มองโลกในแง่ดีเข้าไว้

The innocent one will always defeat the evil one. I am absolutely convinced of this. And in our own era we have a vivid example in Gandhism.

ถ้าเป็นยุคสมัยอดีตที่มนุษย์ยังมีความเชื่อศรัทธาศาสนา (ไม่ว่าจะพุทธ, คริสต์, อิสลาม หรือศาสนาอื่นใด) ผมเห็นด้วยว่าแนวความคิด ‘ธรรมะย่อมชนะอธรรม’ คือสัจธรรมจริงแท้อย่างแน่นอน แต่โลกยุคสมัยนี้มันไม่มีบุคคลจิตใจบริสุทธิ์หลงเหลืออยู่แล้วนะครับ คนชั่วแม้งก็ครองเมืองทุกหนแห่ง หลักการอหิงสา ของมหาตมะ คานธี จึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง! (ดูอย่างนักโทษการเมืองบ้านเรา อดข้าวอดน้ำ มีประโยชน์อะไร? ใครไหนจะมาสงสารเห็นใจ?)

The Flowers of St. Francis (1950) ในปัจจุบันได้กลายสภาพเป็นภาพยนตร์แห่งอุดมคติ นิทานก่อนนอนสำหรับเด็ก นั่นเพราะค่านิยมโลกยุคสมัยใหม่ได้ปรับเปลี่ยนแปลงไป เรื่องราวต่างๆไม่สามารถจับต้องได้ เพ้อเจ้อไร้สาระ ศรัทธาศาสนาก็เสื่อมถดถอย น้อยคนถึงสัมผัสถึงความหอมหวน ตลบอบอวล รับชมแล้วรู้สึกเบิกบานหฤทัย

ผมไม่แปลกใจเลยว่าหนังเรื่องนี้สร้างอิทธิพลให้ผู้กำกับ Jean-Luc Godard ที่แม้ไม่ได้มีความเชื่อศรัทธาศาสนา/พระเจ้า แต่วิธีการสอนของ Saint Francis คือพลิกกลับตารปัตรความคิด มองโลกในทิศทางตรงข้าม! แม้คณะบาทหลวงถูกตำหนิต่อว่า กระทำร้ายร่างกาย แต่พวกเขากลับครุ่นคิดว่านั่นคือสุขที่สุด เพราะได้สัมผัสถึงความทุกข์ทรมานของพระเยซูคริสต์ (เมื่อตอนถูกตรึงไม้กางเขน)

ชื่อหนังภาษาอิตาเลี่ยน Francesco, giullare di Dio แปลตรงตัวว่า Francis, God’s Jester ไม่ได้หมายความว่า Saint Francis คือตัวตลกหรืออย่างไร แต่เป็นการสื่อถึง Francis และ Brother Ginepro ผู้ได้รับฉายา God’s Jester นำความร่าเริงสนุกสนาน แฝงข้อคิด คติสอนใจให้คริสตชน บังเกิดศรัทธาแรงกล้าในคริสตศาสนา


เข้าฉายในสายการประกวด (in-competition) เทศกาลหนังเมือง Venice แม้ผู้ชมจะชื่นชอบ ได้ยินเสียงหัวเราะ ปรบมือตลอดการฉาย แต่เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ค่อนข้างย่ำแย่ ด่าทอรุนแรงสุดน่าจะคือ ‘monument of stupidity’ เลยไม่สามารถคว้ารางวัลใดๆ และทำเงินในอิตาลีได้เพียง $13,000 เหรียญ

กาลเวลาทำให้หนังได้รับคำชื่นชมในวงกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสำนักวาติกัน เมื่อปี 1995 จัดให้ติดหนึ่งใน 45 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ด้านศรัทธาศาสนา (Religious) การันตีความเป็นอมตะโดยพลัน! แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผู้ชมสมัยใหม่จะให้ความสนใจสักเท่าไหร่นะครับ

หนังได้รับการบูรณะครั้งแรกเมื่อปี 2005 คุณภาพ High-Definition กลายเป็น DVD โดย Criterion Collection และ Masters of Cinema, ล่าสุดเมื่อปี 2021 ได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes Classics คงต้องรอแผ่นอีกสักพักใหญ่ๆ

แม้ส่วนตัวจะไม่ค่อยเข้าใจแนวคิดของศาสนาคริสต์ ยินยอมรับความเจ็บปวดเพื่อให้สัมผัสถึงความทุกข์ทรมานของพระเยซูคริสต์ แต่ถ้ามองข้ามหลักคำสอนศาสนา ภาพรวมผมค่อนข้างชื่นชอบหนัง ในความซื่อตรงของ Saint Francis และจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของ Brother Ginepro รู้สึกเบ่งบานสะพรั่งหัวใจ โดยเฉพาะการเอาชนะสิ่งชั่วร้ายเพียงแค่รอยยิ้ม ช่างเป็นอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ นิทานก่อนนอนให้หลับฝันดี

แนะนำชาวคริสเตียน นี่(น่าจะ)เป็นหนังสอนศาสนาเรื่องเยี่ยม, นักประวัติศาสตร์ สนใจศึกษาเรื่องราวของ Saint Francis of Assisi ผู้ให้กำเนิดคณะ Franciscan, นักเรียน/นักศึกษาภาพยนตร์ กำลังค้นคว้าวิวัฒนาการของ Neorealist กับผลงานที่ Robert Rossellini มีความโปรดปรานมากที่สุด

จัดเรต pg กับพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของมนุษย์โลก

คำโปรย | ผู้กำกับ Roberto Rossellinin ได้ทำให้ The Flowers of St. Francis ส่งกลิ่นหอมหวน ตลบอบอวล ดอกไม้เบ่งบานสะพรั่ง
คุณภาพ | ตลบอบอวล
ส่วนตัว | เบ่งบานสะพรั่ง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: