Frankenstein

Frankenstein (1931) United State : James Whale ♥♥♥◊

ใน Frankenstein มีฉากหนึ่งที่เด็กหญิงสอนให้ชายแปลกหน้าโยนดอกไม้ลงในทะเลสาบ ดอกไม้นั้นลอยน้ำได้ ด้วยความเข้าใจที่ว่าถ้าโยนเด็กหญิงคนนั้นลงไปเธอก็น่าจะลอยได้เช่นกัน โชคร้ายที่มันไม่เป็นแบบนั้น แม้ไม่ใช่ความตั้งใจที่จะทำร้ายเด็กหญิง แต่ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นทำให้เขาก็ถูกตราหน้าว่าเป็นสัตว์ประหลาด

Frankenstein และ Bride of Frankenstein เป็นผลงานการกำกับของ James Whale ผู้กำกับชาวอังกฤษ ให้กับ Universal Pictures เชื่อว่าคนสมัยนี้น่าจะรู้จักกับตัวละครนี้เป็นอย่างดี เพราะมีหนังมากมายที่อ้างอิงถึง Frankenstein ในรูปแบบต่างๆมากมาย แต่น้อยคนที่จะได้ดูหนังเวอร์ชั่นแรกๆที่สร้างชื่อเสียงอันโด่งดังให้กับตัวละครนี้ ซึ่งมีความยอดเยี่ยม เคยติดอันดับ AFI: Greatest American Films Of All Time ของปี 1998 และ Bride of Frankenstein ติด All-TIME 100 Movies ของนิตยสาร TIME

จุดเริ่มต้นของ Frankenstein มาจากนิยายของ Mary Shelley เธอเริ่มเขียนขึ้นตั้งแต่อายุ 18 ปี ตีพิมพ์ครั้งแรกกับ Lackington, Hughes, Harding, Mavor & Jones ในปี 1818 ตอนนั้นเธออายุได้ 20 พอดี เรื่องราวในนิยายมีความเป็น Gothic ผสม Romantic นักวิเคราะห์สมัยใหม่จะมองว่ามีส่วนผสมของ Horror และ Science Fiction, แนว Horror เพิ่งเริ่มถูกเรียกในช่วงยุคหนังเงียบขณะ German Expressionism กำลังโด่งดัง, ส่วนความเป็น Sci-Fi มองได้จากการที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ “turns to modern experiments in the laboratory” ผลลัพท์ของการทดลองถึงมันออกมา Fantasy ไปเสียหน่อย แต่ไม่ใช่ว่า Sci-Fi ก็มีลักษณะนี้ไม่ใช่เหรอ เพ้อฝันถึงสิ่งที่มีแนวโน้มเป็นจริงได้ในอนาคต ไม่ใช่จินตนาการล้วนๆแบบ Fantasy ถึงขนาดมีบางคนบอกว่า Frankenstein เป็นนิยาย Sci-Fi เรื่องแรกๆของโลก

หลังจากนิยายวางขาย เกือบ 70 ปี ถึงเริ่มมีการดัดแปลงเป็นการแสดง Broadways เรื่อง Frankenstein, or The Vampire’s Victim (1887) ในยุคหนังเงียบก็เคยมีการดัดแปลงถึง 3 ครั้ง เรื่องสั้น Frankenstein (1910) ความยาว 16 นาที กำกับโดย J. Searle Dawley เวอร์ชั่นนี้ได้รับการค้นพบแล้วนะครับ ผมแนบลิ้งค์มาให้ด้วย คลิกเข้าไปชมได้เลย, Life Without Soul (1915) [สูญหายไปแล้ว] และ The Monster of Frankenstein (1920) [สูญหายไปแล้ว] สำหรับเวอร์ชั่นที่เป็นที่เป็นหนังพูด Frankenstein ถือว่าดัดแปลงมาจากบทละครของ Peggy Webling ที่เปิดการแสดงในประเทศอังกฤษช่วงปี 1927

Frankenstein (1910) : [youtube link]

James Whale ผู้กำกับชาวอังกฤษ ที่ถูก hollywood ดึงตัวมาโดย Paramount Pictures ในปี 1929 และมาอยู่กับ Universal Picture ในปี 1931 เซ็นต์สัญญา 5 ปี หนังที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขา เป็นแนว horror กับสตูดิโอ Universal ทั้งหมด ประกอบด้วย Frankenstein (1931), The Old Dark House (1932), The Invisible Man (1933) และ Bride of Frankenstein (1935) Whale ก็ทำหนังแนวอื่นๆด้วยนะครับ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเลย ผมคงไม่ขอพูดถึง, สไตล์ของ Whale ได้อิทธิพลมาจาก German Expressionism อย่างเต็มๆ สำหรับการสร้าง Frankenstein เห็นว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก The Golem (1915), The Cabinet of Dr. Caligari (1920) และ Dracula (1931) ที่นำแสดงโดย Bela Lugosi

Universal หลังจากความฮิตของ Dracula สตูดิโอจึงต้องการสร้างหนังสัตว์ประหลาดอีก และได้สนใจสร้าง Frankenstein (Universal เรียกจักรวาลหนังแนว Monster,Horror ว่า Universal Monsters หรือ Universal Horror) โดย Carl Laemmle, Jr. เจ้าของสตูดิโอและโปรดิวเซอร์วางแผนให้ Robert Florey เป็นผู้กำกับและ Bela Lugosi รับบทเป็น Monster แต่เมื่อ Lugosi ถอนตัว (คงเพราะเสียเวลาแต่งหน้านาน) ทำให้ Florey ถูกเด้งออกจากการเป็นผู้กำกับด้วย (ทั้งสองได้ไปทำหนังร่วมกันในเรื่อง Murders in the Rue Morgue-1932) หวยจึงมาตกที่ James Whale ซึ่งเพิ่งเซ็นสัญญากับทาง Universal มีความสนใจต่อนิยายเรื่องนี้อยู่พอดี เขาเข้ามาปรับปรุงแก้ไขบทจนเป็นที่พอใจจึงเริ่มกระบวนการสร้าง

นักแสดงแทบทั้งนั้นใน Frankenstein ล้วนเคยปรากฎตัวในหนัง Universal Horror มาแล้วทั้งนั้น Frederick Kerr ผู้รับบท พ่อของ Frankenstein, Lionel Belmore ที่รับบท Herr Vogel รวมถึง Marilyn Harris เล่นเป็นเด็กหญิงที่ถูก Monster ฆ่า

Colin Clive รับบท Henry Frankenstein ใน Frankenstein และ Bride of Frankenstein เขาเป็นชายหนุ่มอนาคตไกล เริ่มการแสดงในหนังเรื่อง Journey’s End (1930) กำกับโดย James Whale คงเพราะความชอบส่วนตัวของผู้กำกับ จึงจับดึงตัวเขามาร่วมกันอีก (สงสัยเพราะทั้งสองเป็นคู่ขากัน) เห็นว่า Clive เป็น Homosexual นะครับ เขาฝืนแต่งงานแต่ก็ไปไม่รอด ติดเหล้าอย่างหนัก ตอนถ่าย Bride of Frankenstein เห็นว่าสภาพของ Clive แย่มากๆ เขาเมาตลอดเวลา ขนาดโปรดิวเซอร์ Lawmmle อยากจะไล่เขาออกแต่ Whale ยื้อไว้เพราะถ้าไล่ Clive ออก Whale จะลาออกด้วย, Colin Clive เสียชีวิตในปี 1937 รวมอายุเพียง 37 ปีเท่านั้น

Boris Karloff นักแสดงชาวอังกฤษ รับบทเป็น Monster สัตว์ประหลาดตัวนี้ไม่มีชื่อนะครับ แม้ใครๆจะคิดว่าเขาชื่อ Frankenstein ก็เถอะ Mary Shelley ผู้แต่งนิยายเคยให้สัมภาษณ์เมื่อนานมากแล้วว่า เธอจงใจไม่ตั้งชื่อให้กับสัตว์ประหลาดตนนี้ เพราะการไม่มีชื่อมันมีความน่าสนใจกว่า กระนั้นในนิยายก็มีชื่อเรียกต่างๆมากมาย อาทิ wretch, creature, monster, demon, it ฯลฯ เธอเล่าต่อว่าสร้างตัวละครนี้มาจากความทรงจำวัยเด็ก ที่มีแต่พ่อไม่มีแม่ Monster จึงเปรียบเสมือนตัวตนของเธอ ที่ภายนอกดูเข้มแข็งน่ากลัว แต่จิตใจอ่อนไหวและอ่อนโยน, Boris Karloff ผู้รับบทนี้หลังจาก Bela Lugosi ถอนตัวไป เขาได้สร้างตัวละครให้มีลักษณะเหมือนเด็กเกิดใหม่ การเคลื่อนไหวที่ดูเก้งก้าง ส่วนหนึ่งอาจเพราะเครื่องแต่งกายที่ว่ากันว่า รองเท้าอย่างเดียวก็หนัก 5 กิโลแล้ว (ออกแบบโดย Jack P. Pierce) และที่พูดไม่ได้เพราะ Karloff ต้องใส่คางปลอมเพื่อให้ได้โครงสี่หน้าเหลี่ยม จึงส่งเสียงอู้อี้ในลำคอได้อย่างเดียว ตัวละครนี้ถือว่าสร้างความขนลุกขนพองให้กับคนดูอย่างมาก เพราะการที่เขาไม่ควรมีตัวตนในโลก ร่างกายเกิดจากชิ้นส่วน ศพของมนุษย์ที่เสียชีวิตไปแล้ว ถูกนำทดลองมาทดลองให้กลับมามีชีวิต เห็นว่าผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้ดูหนังในรอบทดลองฉาย กรีดลั่นและสลบไปเลย นั่นทำให้ Carl Laemmle ต้องขอให้ Edward Van Sloan (เขารับบทเป็น Dr. Waldman ในหนังนะครับ) ออกมาพูดคำเตือนก่อนหนังฉาย Opening Credit ที่มีใจความว่า “It might even horrify you” และประโยคตบท้าย “well, ––we warned you!”

ถ่ายภาพโดย Arthur Edeson บรรยากาศที่อึมครึม มืดหม่น การจัดแสงที่ทำให้เกิดความรู้สึกหลอนๆ, มีการใช้เทคนิคแพนกล้อง 360 องศา (ฉากเปิดเรื่อง) ที่ถือเป็นหนังเรื่องแรกที่ใช้เทคนิคนี้, การเคลื่อนไหวกล้องที่โดดเด่นมาก งานภาพที่เข้ากับฉากหลัก ต้องชื่นชมการออกแบบฉากในหนังด้วย โดยเฉพาะห้องทดลองของ Frakenstein ที่มีความประหลาดมากๆ (นี่เป็นการออกแบบสไตล์ German Expressioniam ที่คล้ายๆกับ The Cabinet of Dr. Caligari-1920) Edeson ถือว่าเป็นผู้กำกับภาพที่โดดเด่นมากๆคนหนึ่ง เขาได้ร่วมงานถ่ายหนังของ Whale อีก 3 เรื่อง (ล้วนเป็นแนว Horror ทั้งหมด) เมื่อปี 1919 เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อนตั้ง American Society of Cinematographers อีกด้วย

ตัดต่อโดย Clarence Kolster และ Maurice Pivar เห็นว่ามีหลายฉากในหนังถูกขอให้ตัดออกจากหนัง (Censor) โดยเฉพาะฉากที่ Monster โยนเด็กหญิงลงน้ำ และประโยค “It’s alive! It’s alive! In the name of God! Now I know what it feels like to be God!” ที่เป็นการดูหมิ่นศาสนาอย่างรุนแรง

ทั้งๆที่คำว่า “It’s alive! It’s alive” เป็นคำที่ถูกแบนในหลายๆรัฐ แต่นี่เป็นคำพูดที่ฮิตติดปากคนอเมริกา ถึงขนาดติดอันดับ 49 คำพูดสุดฮิตของ AFI: 100 Years…100 Movie Quotes

เพลงประกอบใน Frankenstein มีแค่เฉพาะ Opening Credit กับ Ending Credit เท่านั้นแต่งโดย Bernhard Kaun เพราะยุคนั้นยังไม่มีหนังเรื่องไหนที่ใส่เพลงประกอบในหนัง (เริ่มที่ King Kong -1933)

เสียงในหนังที่ต้องพูดถึงคือเสียงฝนตกฟ้าผ่า และเสียงฝีเท้าที่ได้ยินชัดมากๆ นี่กระมังที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเสียงที่ใช้สร้างบรรยากาศสำหรับหนัง Horror ยุคใหม่ เสียงฟ้าผ่าขณะที่ Dr.Frankenstein พูดว่า It’s Alive ฟังแล้วรู้สึกว่า มันมีชีวิตจริงๆ

ใจความของ Frankenstein คือ life-death การเกิดและการตาย สิ่งที่ Frankenstein ค้นพบคือ มนุษย์ประกอบด้วย กายและจิต มีร่างกายที่หัวใจเต้น เลือดไหลเวียนมันยังไม่พอที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตได้ จิตที่เขาค้นพบ เป็นอนุภาคที่มีความถี่สูงกว่า Ultraviolet มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ วิธีที่จะสามารถจับความถี่ประเภทนี้ได้ สมมติด้วยวิธีการจับฟ้าผ่า (ชื่อ Frankenstein ก็น่าจะมาจาก Benjamin Franklin ผู้ค้นพบประจุไฟฟ้า และสร้างสายล่อฟ้า + Albert Einstein ผู้ค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ, จริงๆชื่อ Frankenstein เป็นชื่อปราสาทในเยอรมันนะครับ ไม่ได้มโนขึ้นจากการผสมชื่อแบบนั้น) การเกิดขึ้นของชีวิตในห้องทดลอง ทำให้ Frankenstein หลงคิดไปว่าตัวเองกลายเป็นพระเจ้า (ทั้งๆที่พระเจ้าไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยเลย) ประเด็นนี้คิดไปก็ปวดหัวนะครับ เอาจริงๆผมไม่เข้าใจความรู้สึกของ Frankenstein หรอกที่บอกว่าตัวเองรู้สึกเหมือนพระเจ้า ผมว่ามันเป็นแค่ความดีใจสุดๆของคน SuperEgo สูงเท่านั้น ไม่น่าจะมีใครเข้าใจความรู้สึกของพระเจ้าได้หรอก ถ้าจะให้ใกล้เคียงที่สุด ผมว่าไปถามแม่ที่เพิ่งคลอดลูกดีกว่านะครับ ขณะเด็กน้อยกำลังคลอดถามแม่ว่ามันทรมานแค่ไหน แล้วทำไมเธอถึงดีใจเมื่อเมื่อคลอดสำเร็จและได้เห็นหน้าลูกที่อยู่ในครรภ์มาถึง 9 เดือน ผมว่าความรู้สึกนั้นน่าจะใกล้เคียงกับความรู้สึกการให้กำเนิดมนุษย์ของพระเจ้ามากที่สุด

ประเด็นที่ผมสนใจมากกว่าคือพฤติกรรมของ Monster สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาจากห้องทดลอง ถึงสมองจะมาจากฆาตกร แต่ท่าทางการกระทำชัดเจนเลยว่า เหมือนเด็กเกิดใหม่ นี่ต้องชมการแสดงของ Karloff เลยนะครับ ที่เขาทำให้เรารู้สึกว่า Monster ตัวนี้ มีแต่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้นที่มีความน่ากลัว ในใจเขาหวาดกลัว, ไม่รู้ว่าต้องทำตัวยังไง, ไม่มีใครคอยให้คำชี้นำ, นั่นทำให้เขาพยายามค้นหาเหตุผลที่ตัวเองเกิดมา การได้พบกับเด็กหญิง นั่นคือสิ่งมีชีวิตเด็กคนแรกที่เขาได้พบเจอ ความใคร่สงสัย อยากรู้อยากเข้าใจ ฉากที่เขาโยนเด็กหญิงลงน้ำ นี่ก็คือความไม่รู้ ไร้เดียงสา แน่นอนว่ามนุษย์คนอื่นๆย่อมไม่เข้าใจ ทั้งชาวเมืองในหนังและคนที่ดูหนังเรื่องนี้ ต่างมองว่านั่นเป็นการกระทำที่ไม่ใช่มนุษย์ ก็ใช่นะสิ เหมือนว่าถ้าเราเอามีดไปให้เด็ก 3 ขวบเล่น แน่นอนเขาต้องพลาดทำบาดตัวเองหรือทำให้คนอื่นบาดเจ็บแน่ๆ ผมเปรียบความคิด จิตใจของสัตว์ประหลาดเหมือนกับเด็กอายุ 3 ขวบ เขาไม่รู้ว่าอันตรายคืออะไร ไม่รู้อะไรสักอย่าง แบบนี้จะถือว่า ‘ผิด’ หรือเปล่า?

ถ้าจะให้โทษ ผมคงต้องโทษ Dr.Frankenstein มันเหมือนว่าเขาไม่มีความสามารถในการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขาสร้างมาได้ หลังจากสร้างชีวิต เขาก็ไม่รู้จะทำยังไงกับมันต่อ แถมหนีความรับผิดชอบไปแต่งงานเสียอย่างนั้น ผมไม่รู้ Mary Shelley สร้างตัวละคร Frankenstein มาจากความทรงจำของพ่อเธอหรือเปล่า เธอสร้างสัตว์ประหลาดให้แทนตัวตนของเธอเอง ส่วน Frankenstein เปรียบเสมือนพ่อผู้ให้กำเนิด ลูกที่เหมือนไม่ได้ตั้งใจมี แม่ที่เสียไป (เหมือนแม่ไม่มี) พ่อตัดสินใจทิ้งลูกไปมีเมียใหม่ ทิ้งให้เติบโตขึ้นโดยไม่เข้าใจตัวเอง ถ้าเป็นจริงนี่ผมว่า Shelley โชคดีอย่างหนึ่งที่พอเธอโตขึ้นไม่ได้กลายเป็นแบบพ่อ คือสามารถหาแนวทางการมีชีวิตที่ถูกต้องได้ ไม่กลายไปเป็นสัตว์ประหลาดที่เป็นสัตว์ประหลาดจริงๆ

หลังจากการตายของเด็กหญิง ทำให้ผู้คนต่างเดือดดาษ รวมตัว มีมติหมู่ร่วมกันตามล่าสัตว์ประหลาด ผมสงสัยจิตใจของพวกเขาทำด้วยอะไรกัน พวกเขาเห็นแต่สัตว์ประหลาด ไม่มีใครเห็นเป็นมนุษย์เลย (ในบริบทหนังมันเชิง สิ่งที่ไม่ได้เกิดจากพระเจ้าไม่ใช่มนุษย์) เราจะเห็นการตามล่าสัตว์ประหลาด อยู่ในบริเวณภูเขาที่มีโขดหิน ถ้ำสำหรับหลบซ่อน ไม่มีต้นไม้ หรือแม่น้ำอยู่เลย ฉากนี้แสดงถึงจิตใจของมนุษย์ขณะนั้นที่ดูแข็งเหมือนหิน ยากจะเปลี่ยนซึ่งความเชื่อ ตอนจบไปรวมกันที่โรงสีเก่า (old mill) สัตว์ประหลาดต้องถูกฆ่าด้วยไฟเพื่อเป็นการชำระล้างบาป โรงสีข้าวเป็นสถานที่เก็บอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต การเผาโรงสีข้าวเพื่อฆ่าสัตว์ประหลาด มีหมายถึงเพื่อเป็นการชำระล้างบาปให้กับจิตใจของมนุษย์

นี่เป็นหนังที่ถ้าเราสังเกตให้ดีจะเห็นสัญลักษณ์ต่างๆซ่อนไว้มากมาย ที่ผมชอบที่สุดคือดอกไม้ที่เด็กหญิงยื่นให้ชายแปลกหน้า เธอไม่รู้ว่าเขาคือตัวอันตราย ดอกไม้คือสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ การกระทำของเธอก็บริสุทธิ์ การกระทำของชายแปลกหน้าก็บริสุทธิ์ใจ (เอาจริงๆมีคนตีความฉากนี้เหมือนกับ first sex ที่จบลงด้วยการเสียพรหมจรรย์ของหญิงสาวที่ญาติผู้ใหญ่ไม่ยินยอม พ่อจึงเกิดความโกรธแค้นต่อผู้ที่ทำลายความบริสุทธิ์ของลูกสาว จึงออกตามล่าและฆ่าด้วยไฟ)

ฤาสัตว์ประหลาดใน Frankenstein จะคืออัตลักษณ์ของมนุษย์ ดั่งคำที่ว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นตามฉายาของพระองค์ นี่น่าคิดนะครับ ผมได้ดู Frankenstein (1910) หนังสั้นตามลิ้งค์ที่ผมใส่ไว้ให้ ตอนจบของหนังถือว่าเซอร์ไพรส์มากๆ เพราะมันเหมือนว่า สัตว์ประหลาดที่ Frankenstein ได้สร้างขึ้นมา แท้จริงมันคือตัวเขาเอง ซึ่งถ้ามองกันอย่างนี้ก็จะเห็นว่ามีความเป็นไปได้อยู่ เพราะจิตใจที่แท้จริงของ Frankenstein เห็นได้ชัดหลังจากที่เขาสร้างสัตว์ประหลาดสำเร็จแล้ว ทีแรกก็ดีใจอย่างเป็นที่สุด แต่เมื่อสัตว์ประหลาดทำในสิ่งที่เขาควบคุมไม่ได้ และได้ฆ่าเด็กน้อย เขาแสดงความเสียใจอย่างที่สุดที่สร้างมันขึ้นมา นี่คือตัวตนที่แท้จริงของเขา มีความอ่อนแอ อ่อนไหว ลังเล ไม่มีความเข้มแข็งเลย มันดูน่ารังเกียจขยะแขยงด้วยซ้ำตอนที่เขาดื้อดันไม่ฟังเตือนของใคร ซึ่งพอมาเปรียบเทียบกับสัตว์ประหลาด มองกลับกัน สิ่งที่อยู่ในจิตใจของ Frankenstein เป็นภาพลักษณ์ภายนอกของสัตว์ประหลาด และภายนอกของ Frankenstein คือสิ่งที่อยู่ในจิตใจของสัตว์ประหลาด

ตอนที่หนังฉายได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ มีนักวิจารณ์เปรียบเทียบกับ Dracula (1931) ที่ฉายก่อนหน้าในปีเดียวกันว่า ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน เปิดฉายครั้งแรกใน New York สามารถทำเงินได้ $53,000 รวมโปรแกรมฉายคาดว่าทำเงินไปถึง $12 ล้าน จากทุนสร้าง $262,007

ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับ คอหนังแนว Horror, ชอบดูหนังเก่าๆ อยากศึกษาสไตล์ German Expressionism, ชอบ Frankenstine แนะนำกับเด็กอายุ 13+ ขึ้นไป (ไม่ควรเปิดให้เด็กเล็กดู), หนังดูไม่ยากเลยนะครับ คนไม่เคยดูหนังมาก่อนก็น่าจะดูได้

TAGLINE | “ความบริสุทธิ์ที่สวยงามของ Frankenstein เปรียบได้กับเด็กน้อยถือมีด เขาไม่รู้ว่ามีดเป็นสิ่งอันตรายจนกว่าจะทำบาดตัวเอง”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: