Frankenweenie

Frankenweenie (2012) hollywood : Tim Burton 

ภาพยนตร์ Stop-Motion อนิเมชั่นเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ remake หนังสั้นที่ Tim Burton เคยสร้างไว้เท่านั้น แต่เป็นการเคารพคารวะทั้งจักรวาลสัตว์ประหลาด ตั้งแต่ Luigi Galvani นักฟิสิกส์คนแรกที่ทดลอง Bio-Electricity ปล่อยกระแสไฟฟ้าใส่กบให้ขยับได้, นิยาย/ภาพยนตร์เรื่อง Dracula, Frankenstein, The Mummy ฯ รวมถึงเต่ายักษ์ Gamera ของญี่ปุ่น

ผมแอบแปลกใจที่ทำไม Burton ถึงเลือก Gamera แทนที่ Gojira ค้นเล่นๆก็ไปพบกระทู้ขำๆใน pantip หัวข้อ ‘ทำไมใครๆก็ยกให้กาเมร่าเหนือกว่าก๊อตซิล่าหลายขุม’ [LINK] เอิ่ม… ไม่ยักรู้ว่ามันเทียบกันได้ด้วยนะ เช่นนั้นคงไม่แปลกอะไรที่แฟนพันธุ์แท้สัตว์ประหลาด อาจจะชื่นชอบ Gamera มากกว่า (แต่ Gojira ถือว่าโด่งดังคนรู้จักเยอะกว่านะ!)

เกร็ด: Luigi Galvani นักฟิสิกส์สัญชาติอิตาเลี่ยน เมื่อปี 1771 คือบุคคลแรกที่ทำการทดลองปล่อยกระแสไฟฟ้าใส่ร่างกบตาย ปรากฎว่าทำให้ขากระตุกขยับได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาไฟฟ้าชีวภาพ (Bio-Electricity) ตามด้วยการค้นพบระบบประสาทและการทำงาน, การทดลองนี้จึงได้รับเกียรติตั้งชื่อว่า ‘Galvani’ คุ้นๆว่า Burton ใส่การทดลองนี้ในหนังเรื่อง Edward Scissorhands (1990) ด้วยนะ

Timothy Walter Burton (เกิดปี 1958) ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ นักเขียน/นักวาดสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Burbank, California ครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการร้าน Gift Shop มีของเล่นมากมาย ทำให้ Burton นิยมชมชอบเล่นกล้องถ่ายภาพทำหนังสั้น สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์นำมาทำเป็น Stop-Motion อนิเมชั่น โตขึ้นเข้าเรียน California Institute of the Arts ศึกษา Character Animation (CalArts) จบออกมาสมัครงานที่ Walt Disney ทำงานเป็น animator วาดภาพ storyboard ออกแบบ concept artist ให้กับอนิเมชั่นเรื่อง The Fox and the Hound (1981), Tron (1982), The Black Cauldron (1985) ฯ

ระหว่างอยู่ที่ Disney ยังมีโอกาสสร้างอนิเมชั่น/Stop-Motion ขนาดสั้นความยาว 6 นาที Vincent (1982) เรื่องราวของเด็กชายที่หลงใหลชื่นชอบ Vincent Price (เด็กคนนั้นก็แทนด้วย Tim Burton นะแหละครับ), กำกับหนังสั้นคนแสดงเรื่องแรก Hansel and Gretel (1982) ดัดแปลงจากนิทานก่อนของ Grimm Brothers แต่ใช้นักแสดงเอเชีย และตอนจบมีการต่อสู้กังฟู ตั้งใจฉายโทรทัศน์เทศกาล Halloween แต่ถูกขึ้นหิ้งไว้, และผลงานถัดมาหนังสั้นคนแสดงอีกเรื่อง Frankenweenie (1984) แต่หลังจากสร้างเสร็จ Burton ก็ถูกไล่ออกด้วยเหตุผลว่า ‘สูญสิ้นเปลืองงบประมาณไปกับผลงานที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก’

“[Burton] had been wasting company resources, and his film was not suitable for the target young audiences.”

ทีแรกผมเข้าใจว่า Frankenweenie (1984) คือ Stop-Motion อนิเมชั่นขนาดสั้น แต่จริงๆแล้วคือ Live-Action ขนาดสั้น ตั้งใจออกฉายช่วงปิดเทอมฤดูร้อนแต่เลื่อนไปฉายเทศกาลคริสต์มาสแทน พัฒนาบทภาพยนตร์โดย Lenny Ripps นำแสดงโดย Barret Oliver รับบท Victor Frankenstein, Shelly Duvall รับบทแม่ และ Daniel Stern รับบทพ่อ

คลิปนี้ 6 นาทีแรกเป็น Stop-Motion เรื่อง Vincent (1982) ส่วนที่เหลือคือ Frankenweenie (1984)

แรงบันดาลใจเชื่อว่าไม่ต้องบอกใครๆย่อมรู้ได้ จากนิยาย Frankenstein (1818) ของนักเขียนหญิงสัญชาติอังกฤษ Mary Shelley (1797-1851) ที่เคยได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์นับครั้งไม่ถ้วน แต่ฉบับมีชื่อเสียงโด่งดังสุดคือ Frankenstein (1931) โดยผู้กำกับ James Whale และมี Boris Karloff รับบท สัตว์ประหลาด

เกร็ด: Frankenstein คือชื่อนักวิทยาศาสตร์ผู้ให้กำเนิดสัตว์ประหลาด ไม่ใช่ชื่อของมันนะครับ

ต้องถือเป็นบุญคุณที่ Disney ไล่ Burton ออกครั้งนั้น ทำให้เขาได้เปิดโลกทัศน์กว้างไกล มีโอกาสสร้างภาพยนตร์ในความสนใจกับสตูดิโออื่น จนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง อาทิ Beetlejuice (1988), Batman (1989), Edward Scissorhands (1990), Big Fish (2003), Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street (2007) ฯ ระหว่างนั้นก็หวนกลับมาร่วมงานกับ Disney อยู่บ่อยครั้ง อาทิ Ed Wood (1994), Corpse Bride (2005) ฯ และเมื่อปี 2007 เซ็นสัญญากับ Disney Digital 3D เพื่อสร้างภาพยนตร์ 2 เรื่องในรูปแบบสามมิติ คือ Alice in Wonderland (2010) และ Frankenweenie (2012)

โปรเจค remake เรื่อง Frankenweenie เริ่มต้นหลังเสร็จจาก Stop-Motion อนิเมชั่นเรื่อง Corpse Bride (2005) มอบหมายให้ Josann McGibbon กับ Sara Parriott พัฒนาบทภาพยนตร์ขึ้นใหม่ แต่ยังไม่เป็นที่พอใจจึงส่งต่องานให้ John August เข้ามาปรับแก้ ไปๆมาๆเปลี่ยนทุกอย่างใหม่หมด กว่าจะได้เริ่มสร้างจริงๆก็หลัง Burton เสร็จจาก Alice in Wonderland (2010)

เรื่องราวดำเนินขึ้นในเมือง New Holland, เด็กชาย Victor Frankenstein (พากย์เสียงโดย Charlie Tahan) อาศัยอยู่กับครอบครัว พ่อ Edward (พากย์เสียงโดย Martin Short) แม่ Susan (พากย์เสียงโดย Catherine O’Hara) และสุนัขชื่อ Sparky วันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เจ้าตูบเพื่อนรักเสียชีวิตถูกรถชนตาย Victor ยังทำใจไม่ได้ แต่เมื่อได้เห็นการทดลอง Galvani ของอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ Mr. Rzykrusk (พากย์เสียงโดย Martin Landau) เกิดไอเดียสุดบรรเจิด ที่อาจทำให้ Sparky ฟื้นคืนชีพขึ้นมา

เกร็ด: New Holland คือชื่อเมืองมีอยู่จริงที่ Pennsylvania อีกทั้งโรงเรียนชื่อ New Holland Elementary School และมีกิจกรรม New Holland’s Fall Festival หรือ Pennsylvania Dutch ในอนิเมชั่นเปลี่ยนใช้ชื่อว่า Dutch Day

สำหรับนักพากย์ นอกจากตัวละครเด็กๆ Burton ใช้บริการของนักแสดงมีชื่อหน้าคุ้นเคย ที่ต่างร่วมงานกันมาแล้วทั้งนั้น เว้นแต่สองคู่ขา Johnny Depp และ Helena Bonham Carter (แต่ก็ได้อวตารรูปลักษณ์ของทั้งสองใส่ตัวละคร Victor และ Elsa แบบชัดเจนมากๆ)

ถึงจะพูดกันเล่นๆ แต่ใครๆคงรู้สึกได้ว่าตัวละคร Victor Frankenstein อาจเป็นลูกหลานของ Victor Van Dort จากเรื่อง Corpse Bride ด้วยรูปลักษณ์ที่เหมือน Johnny Depp แค่ตัวเล็กกว่า ยังสดใสร่าเริงไร้เดียงสา แต่พอพบกับความทุกข์โศกก็แสดงความอัจฉริยะออกมาที่ทำให้โลกต้องตะลึง

ขณะที่เจ้าหมา Sparky สายพันธุ์บุลล์เทร์เรียร์ (Bull Terrier) รับอิทธิพลจากอนิเมชั่นซีรีย์ฉายโทรทัศน์เรื่อง Family Dog (1993) สร้างสรรค์โดย Brad Bird ที่ Burton เป็น Executive Producer ร่วมกับ Steven Spielberg ออกฉายทางช่อง CBS

สำหรับการสร้าง Sparky ขึ้นโครงร่างด้วยกลไกที่สามารถหมุนขยับเคลื่อนไหวได้อย่างละเอียดอ่อนกว่า 300 ชิ้นส่วน (ขณะที่มนุษย์มีข้อต่อเพียง 40-45 ชิ้นเท่านั้น), ส่วนการแสดงออกทางสีหน้าต่อยอดจาก Corpse Bride ใช้เฟือง/กลไกไขลาน บิดนิดนึงสามารถขยับเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องใช้การเปลี่ยนหัวให้เสียเวลา

“Sparky has to do so much in the film, He has to run, jump, lie down, move his eyebrows, snarl his lips… We can’t make him do everything in one puppet so there are different versions where we can make him breathe and his ribs go in and out, or when he runs and his spine grows. “

สำหรับตัวละคร Elsa van Helsing (พากย์เสียงโดย Winona Ryder) เด็กหญิงเพื่อนข้างบ้านของ Victor เธอเป็นคนจิตใจอ่อนโยน เว้นแต่รูปลักษณ์เหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ตาละห้อย และทรงผมที่เว่ออลังการ เหมือนปีกนกอะไรสักอย่าง อยากที่จะโบยบินแต่มิสามารถทำได้

เกร็ด: Elsa คือชื่อที่มาจากนักแสดงหญิง Elsa Lanchester ผู้รับบทใน Bride of Frankenstein (1935), ส่วน Van Helsing มาจากชื่อตัวละคร Abraham Van Helsing ในนิยาย Dracula

นี่เป็นการกลับมาร่วมงานครั้งที่ 3 ระหว่าง Ryder กับ Burton ถัดจาก Beetlejuice (1988) กับ Edward Scissorhands (1990) นึกถึงภาพลักษณ์เดิมๆของเธอ เห็นตัวละครนี้ต้องบอกว่าไม่เคยเปลี่ยนไปจริงๆ

เธอเลี้ยงสุนัขพันธ์ุ Poodle (พูเดิล) ตั้งชื่อว่า Persephone (ราชินีแห่งยมโลกและศรีภรรยาของฮาเดส เป็นธิดาของ Zeus กับ Demeter) ตอนแรกทรงผมจะไม่มีขาวๆหยิกม้วนแบบนี้ พบเห็นช่วงท้าย ใครรับชม Bride of Frankenstein (1935) ย่อมมีความคุ้นเคยอย่างแน่นอน

ตัวละครที่เป็นไฮไลท์คือ Mr. Rzykruski (พากย์เสียงโดย Martin Landau) ครูสอนวิทยาศาสตร์ที่มีความคิดสูงสุดโต่ง (ด้วยเหตุนี้ใบหน้าจึงยาวเป็นพิเศษ) ได้รับการเคารพนับถือจาก Victor เป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอก แต่เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจความสำคัญของวิทยาศาสตร์จึงถูกขับไล่ต้องออกจากเมืองแห่งนี้ไป

“Science is not good or bad, Victor. But it can be used both ways. That is why you must always be careful.”

ด้วยสำเนียง Eastern European ที่หนาเตอะคล้ายๆกับ Vincent Price (ไอดอลของผู้กำกับ Burton) คงมีแต่ปู่ Landau เท่านั้นกระมังสามารถดัดจริตเสียงได้เหมือนจริงขนาดนี้

สำหรับเพื่อนร่วมชั้นเรียนของ Victor ทุกคนจะสามารถชุบชีวิตสัตว์เลี้ยงของตนที่ตายจากไปได้ และพวกเขาจะมีภาพลักษณ์เหมือนกับ…อะไรสักอย่าง

Edgar ‘E’ Gore (พากย์เสียงโดย Atticus Shaffer) เด็กชายหลังค่อม มีลักษณะคล้าย Quasimodo จากเรื่อง The Hunchback of Notre Dame แต่ส่วนใหญ่จะบอกว่าคล้ายกับ Igor (เพราะชื่อออกเสียงตรงกัน) ผู้ช่วยของ Victor Frankenstein [จริงๆตัวละครนี้ไม่มีในฉบับนิยายของ Mary Shelley, ตอนภาพยนตร์ Frankenstein (1931) ผู้ช่วยหลังค่อมชื่อ Fritz, ถือเป็น Stock Character ที่อยู่ดีๆก็ใส่เข้ามาเป็น Parody แล้วได้รับความนิยมอย่างสูง], Edgar ได้ชุบชีวิตปลาตายในอ่าง มันกลับโปร่งใสหายตัวได้ (เรื่อง The Invisible Man), อีกครั้งชุบชีวิตหนูจากถังขยะ กลายร่างเป็น Werewolf (จาก The Wolfman) แล้วกลับคืนสู่ซากศพจากการถูกกระแสไฟฟ้าที่คอ Sparky ช็อต

Weird Girl/Mr. Whiskers (พากย์เสียงโดย Catherine O’Hara ที่ยังให้เสียง Susan แม่ของ Victor และครูสอนพละที่มาแทน Mr. Rzykruski) เด็กหญิงตากลมโต ปากจู๋ หน้าตาเหมือน Kitty-Kat เลี้ยงเจ้าแมวพันธุ์เปอร์เซียสีขาว (Persian) มีความสามารถทางโทรจิต, ทำการทดลองคืนชีพค้างคาว แต่เจ้าเหมียวกลับคาบไว้ ปฏิสนธิรวมร่างกลายเป็นแวมไพร์ (คราบของ Dracula) เสียชีวิตจากถูกไม้ปักตอกกลางหัวใจ

Nassor (พากย์เสียงโดย Martin Short ที่ยังให้เสียง Edward พ่อของ Victor) คู่แข่ง rival ของ Victor ที่ชื่นชอบการทดลองต่างๆนานา มีภาพลักษณ์ทรงผมคล้ายกับ Boris Karloff (มีฉากหนึ่งหมุนตัวเข้าไปในโลง กลายเป็นมัมมี่) ได้ชุบชีวิตหนู Hamster ชื่อ Colossus ที่เจ้าตัวมัมมี่ไว้ ก่อนถูก Gamera เหยียบแผละตายอนาถ

Toshiaki (พากย์เสียงโดย James Hiroyuki Liao) อีกหนึ่งคู่แข่ง Rival ของ Victor ภาพลักษณ์ Mad Scientist, คงเพราะเป็นตัวละครสัญชาติญี่ปุ่น ชุบชีวิตเต่าชื่อ Shelly จากตัวกระเปี๊ยกกลายเป็น Gamera ตัวยักษ์ใหญ่มหึมา หดหัวคืนร่างจากการถูกไฟช็อต

Bob (พากย์เสียงโดย Robert Capron) เด็กอ้วนที่เป็นหนูทดลองการบินให้กับ Toshiaki ต่อมาพยายามชุบชีวิต Sea Monkey ในสระน้ำแต่กลับกลายร่างเป็น Gremlins หลายสิบตัว ที่พอกินป๊อปคอร์ก็ระเบิดเละเป็นจุน

แม้ Christopher Lee จะไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรกับอนิเมชั่นเรื่องนี้ แต่ก็มาเป็น Archive Footage เรื่อง Horror of Dracula (1958) ปรากฎตัวอยู่ในรายการโทรทัศน์ที่พ่อ-แม่ ของ Victor รับชมอยู่

กับความมากมายหลากหลายขนาดนี้ ต้องถือว่าผู้กำกับ Tim Burton ตั้งใจสร้าง Frankenweenie เพื่อแสดงความเคารพคารวะต่อจักรวาล Monster ที่เขาชื่นชอบอย่างเป็นที่สุด รวบรวมแทบทุกสิ่งอย่างไว้ในเรื่องเดียว ราวกับ Monster Universe แต่แปลกที่สตูดิโอผู้สร้างกลับไม่ใช่ Universal Studio เสียอย่างนั้น!

ถ่ายภาพโดย Peter Sorg ใช้กล้องดิจิตอล Canon EOS 5D Mark II ถ่ายภาพขาว-ดำ เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของอนิเมชั่นที่มีความอึมครึม ทะมึนมืดมน สร้างสัมผัสที่แตกต่างให้กับภาพยนตร์ Stop-Motion อนิเมชั่นอย่างมากทีเดียว

ผู้กำกับ Burton ให้สัมภาษณ์บอกถึงเหตุผล ทำไมต้องถ่ายทำอนิเมชั่นเรื่องนี้ด้วยภาพขาว-ดำ และความตั้งใจที่ว่า ถ้าสตูดิโอไม่อนุญาตให้ถ่ายด้วยวิธีการนี้ ก็จะไม่คิดสร้างขึ้นอย่างแน่นอน

“I find black and white very beautiful. It gives a real sense of emotion. I was really excited about seeing this in black and white because there’s a depth to it that I love. It’s not right for every project but when you take the colour out of something, sometimes you start looking at other things, such as textures and characters. I was very happy that the studio went along with the idea. If they’d wanted it in colour, I wouldn’t have done it.”

สร้างฉากขึ้นที่ Three Mills Studios ใน East London จำนวน 3 โรงใหญ่ แต่มีการกั้นห้องแบ่งออกเป็น 30 พื้นที่ ทำงานแตกต่างกันออกไป ซึ่งทีมงานส่วนใหญ่ล้วนเคยร่วมงานกับ Burton เรื่อง Corpse Bride, หุ่นที่ใช้ทั้งหมดประมาณ 200 ตัว แค่เฉพาะของ Victor ก็ 18 ตัวเข้าไปแล้ว

หลายฉากของอนิเมชั่นลอกเลียนนำจาก Frankenstein (1931) มาทั้งดุ้นเลย ห้องใต้หลังคา, สุสาน, แม้แต่ฉากไคลน์แม็กซ์ ณ กังหันลมขนาดใหญ่ ฯ การได้เห็นสถานที่อันคุ้นเคยในรูปแบบ Stop-Motion ทำให้สัมผัสที่ได้รับค่อนข้างแตกต่างออกไป ราวกับก้อนดินน้ำมันของเด็กเล่นที่มีชีวิต นี่สร้างความสะพรึง หลอกหลอน ให้กับเด็กๆที่รับชมมากกว่าผู้ใหญ่แน่ๆ

เห็นว่าอนิเมชั่นเรื่องนี้ ได้รับการแปลงภาพกลายเป็น 3 มิติ ฉายในโรง IMAX 3D มันคงเป็นประสบการณ์ที่แปลกพิลึกเลยละ ผมก็ไม่เคยคิดว่าจะมีหนังภาพขาว-ดำ เรื่องไหน กล้าทำฉายแบบสามมิติ แถมโรง IMAX ด้วยนะ ข้องใจตัวเองว่าพลาดไปได้ยังไง (แล้วก็มานึกย้อนได้ว่าตอนนั้นยังบวชอยู่ T_T)

ตัดต่อโดย Chris Lebenzon กับ Mark Solomon ไม่ได้ใช้มุมมองของใครเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆและ Sparky เน้นกับ Victor Frankenstein เพราะเป็นพระเอก คนแรกที่คิดค้นการชุบชีวิต และฮีโร่ผู้กอบกู้โลกได้สำเร็จ

ผมค่อนข้างชอบครึ่งหลัง ขณะที่เรื่องราวมีการเล่าตัดสลับระหว่างเด็กๆทั้ง 5-6 คน ทำการทดลองเพื่อฟื้นคืนชีพของสัตว์เลี้ยงของตนเอง เรียกว่ามันคือ Pattern ก็ยังได้เพราะทุกคนทำเหมือนกันหมด แค่ผลลัพท์ออกมาแตกต่าง, ซึ่งพอแนะนำทุกตัวละครครบหมดแล้ว ก็ถึงเวลาเอามายำรวมกัน สร้างความสับสนวุ่นวายอลม่านปั่นป่วนให้เกิดขึ้นอย่างมั่วซั่วแต่มีแบบแผนที่สวยงามลงตัวอย่างยิ่ง

เพลงประกอบโดย Danny Elfman จะว่านี่คือ Stop-Motion อนิเมชั่นเรื่องแรกของ Burton ที่ Elfman ไม่ต้องแต่งเพลงประกอบคำร้องขึ้นก่อน (เพราะเรื่องอื่นเป็น Musical ทั้งหมด)

อดไม่ได้ต้องเปรียบเทียบกับ ParaNorman ที่ออกฉายในปีเดียวกัน แถมพยายามทำให้อนิเมชั่นมีกลิ่นอายหนัง Horror ยุคเก่าๆ แต่นักแต่งเพลงของเรื่องนั้นหาได้สร้างสรรค์ผลงานโดดเด่นเทียบเท่า Elfman แม้แต่น้อย แค่เพลงเปิด Logo ของ Disney ก็สร้างความแตกต่างได้อย่างน่าสะพรึงทีเดียว

สำหรับ Main Title เป็นดนตรีทำนองนุ่มๆ สะท้อนความรู้สึกที่อยู่ในจิตใจตัวละคร Victor Frankenstein มีความสุข-ทุกข์ อิ่มเอิบ-เศร้าหมอง สามารถตีความทางอารมณ์ออกได้ทั้งสองฝั่ง ก็เหมือนกับชีวิตมนุษย์ที่ไม่มีอะไรแน่นอน ผันแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

Theremin ยังคงเป็นเครื่องดนตรีพระเอกของหนังแนว Horror ที่สร้างความขนลุกขนพองได้มาก แม้ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้ได้ยินเท่าไหร่ แต่กลับหนัง/อนิเมชั่น ที่ต้องการเคารพคารวะเรื่องราวเก่าก่อน นี่เป็นสิ่งขาดไม่ได้ และ Elfman ราวกับว่ามีความเชี่ยวชาญเครื่องดนตรีชนิดนี้เป็นอย่างดี นำมาใช้ได้อย่างโดดเด่นทรงพลังมากๆ โดยเฉพาะกับบทเพลง Re-Animation และ A Premonition

เพลงนี้ไม่มีนักร้องคอรัสนะครับ เสียงสั่นๆสะท้านที่ได้ยินนั่นคือเครื่องดนตรีไฟฟ้าเธรามิน (Theremin) ที่ผู้เล่นจะทำการโบกมือไปมาในอากาศเพื่อสร้างและควบคุมเสียง

มีการ Cover เพลงประกอบของอนิเมชั่นเรื่องนี้ รวมอัลบัมชื่อ Frankenweenie Unleashed! (Music Inspired by the Motion Picture) มีบทเพลงหนึ่งไพเราะใช้ได้เลย Strange Love ขับร้องโดย Karen O เธอเข้าไปเสนอตัวกับผู้กำกับเองเลย ว่าอยาก Remix ทำเพลงให้กับอนิเมชั่นเรื่องนี้โดยเฉพาะ ผลลัพท์ก็คงสมใจอยาก

ใจความแบบเด็กๆของอนิเมชั่นเรื่องนี้ ชีวิตจริงมันเป็นไปไม่ได้หรอกกับสัตว์เลี้ยงหรือคนที่เรารัก เมื่อเสียชีวิตไปแล้วจะหวนกลับคืนมามีชีวิต ต้องเรียนรู้จักทำความเข้าใจตัวเอง ยอมรับความเศร้าเสียใจผิดหวัง และปล่อยวางกับสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านไป เพราะมันไม่สามารถหวนคืนกลับมาได้ มัวแต่จมอยู่ในความทุกข์จะมีประโยชน์อันใด ชีวิตต้องการเดินต่อไป

“When you lose someone you love, they never really leave you. They just move into a special place in your heart. He’ll always be there.”

เด็กๆทั้งหลาย พวกเขาต่างมีความโหยหาต้องการอะไรบางอย่าง (ไม่ใช่แค่ความรักในสัตว์เลี้ยงของตนเท่านั้น) แต่มิอาจแสดงออกมาได้ มักถูกครอบครัวหรือสังคมกีดกันควบคุมหักห้ามไว้ เป็นเหตุให้เกิดความเก็บกดหมกมุ่นสะสมอยู่ภายใน, เราสามารถมองสัตว์ประหลาดทั้งหลาย เป็นสิ่งสะท้อนตัวตน ความรู้สึกอัดอั้นที่อยู่ภายในจิตใจของเด็กๆทั้งหลาย ที่ได้ระเบิดปะทุออก/ฟื้นคืนให้มีชีวิตนอกร่างกาย ออกมาเพ่นพ่านทำลายล้างทุกสิ่งอย่างที่ขวางหน้า จนกว่าจะพึงพอใจหรือได้รับความพ่ายแพ้

  • สุนัขผู้ซื่อสัตย์ มั่นคง ต้องการเป็นที่รักของเจ้าของ และพร้อมเสียสละตัวเองเพื่อผู้อื่น
  • ปลาหายตัวได้ สะท้อนการมี/ไม่มีตัวตน (The Invisible Man)
  • แมวเหมียวรวมร่างกับค้างคาว กลายเป็นผีดิบแวมไพร์ดูดเลือด ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ (Dracula)
  • ภายนอกสร้างภาพว่าเข้มแข็ง แต่ภายในอ่อนแอ ปวกเปียก ไร้ค่า (The Mummy)
  • ความเก็บกด อัดอั้นสะสมในจิตใจ แปรสภาพกลายเป็นสัตว์ประหลาดที่มีความชั่วร้าย แข็งแกร่ง ยิ่งใหญ่โต (The Wolfman, Gomora)
  • สำหรับ Gremlins สัตว์ในจินตนาการที่คนมักต่อว่ามันเมื่อเครื่องจักรหยุดทำงาน เรียกว่าตัวขี้เกียจสันหลังยาว สนแต่การกินจนท้องแตกตาย

การปลดปล่อยสัตว์ประหลาด(ในจิตใจ)ทั้งหลาย ให้ออกมาเพ่นพ่านตามท้องถนน นี่เป็นสิ่งผู้ใหญ่คนทั่วไปที่ไหนจะยินยอมรับได้ ด้วยเหตุนี้ช่วงไคลน์แม็กซ์ ฝูงชนจึงแห่กันไปรุมล้อมพร้อมเผาทำลายกังหันลมขนาดใหญ่ สถานที่แห่งชีวิตและจิตวิญญาณของมนุษย์ (กังหันลม หมุนเป็นวงกลมราวกับวัฏจักรแห่งชีวิต) สัตว์ประหลาดจากจิตใจมนุษย์ตัวสุดท้าย Sparky หลังจากต่อสู้เอาชนะเหนือผู้อื่น จำต้องได้รับการพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งว่าสามารถทำตัวเป็นประโยชน์ มิได้เป็นเพศภัยคุกคามต่อใคร ซึ่งพอทุกคนได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ต่างก็ยินยอมพร้อมใจคืนชีพให้กับเจ้าหมานิสัยดีตนนี้ กลับฟื้นคืนมามีชีวิตอีกครั้ง

เกร็ด: กังหันลม (Windmill) มักทำงานในการเปลี่ยนพลังงานลมไปหมุนเพื่อใช้ในการทำงานประเภทอื่น อาทิ โรงโม่ โดยใช้พลังงานลมในการบดอัดธัญพืชหรือเมล็ดพันธุ์ให้ละเอียด นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ใช้ในการวิดน้ำอีกด้วย

จากร่างที่ไร้วิญญาณถูกทำให้เคลื่อนไหวมีชีวิต นี่ก็คล้ายกับ Stop-Motion อนิเมชั่น ที่เกิดจากหุ่น/ตุ๊กตาไม่มีชีวิต ค่อยๆทำการขยับเคลื่อนไหว นำมาเรียงร้อยต่อกัน ฉายเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวราวกับกลายเป็นมีชีวิต, นี่คือใจความที่ผมถือว่าเป็น’คำนิยาม’ของ Stop-Motion เลยนะ

สำหรับผู้กำกับ Tim Burton อนิเมชั่นเรื่องนี้คือจดหมายรักส่งถึงภาพยนตร์แนว Horror ทั้งหมดทั้งหลายที่เขาชื่นชอบ ถึงจุดนี้คงไม่ต้องพูดบอกอีกแล้วว่ามีอะไรบ้าง ขณะเดียวกันยังถือได้ว่าเป็นการปรับปรุง/เสริมต่อ/เติมเต็ม ความฝันของตัวเขาเองตั้งแต่ตอนที่สร้าง Frankenweenie (1984)

ด้วยทุนสร้าง $39 ล้านเหรียญ ในอเมริกาทำเงิน $35.2 ล้านเหรียญ รายรับทั่วโลก $81.5 ล้านเหรียญ ถึงฉายโรงจะเท่าทุนแต่รายรับจากแผ่น DVD/Blu-Ray และลิขสิทธิ์ Streaming น่าจะกำไรมหาศาลอยู่

เป็นปีที่การแข่งขันสาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นค่อนข้างน่าผิดหวังทีเดียว เข้าชิง Oscar, Golden Globes, BAFTA Award, Annie Award แต่ไม่ได้สักรางวัล ผู้ชนะปีนั้นคือ Brave กับ Wreck-It Ralph

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้ เหตุผลเพราะสัมผัส Nostalgia ใครๆที่ชื่นชอบชมหนังแนว Horror น่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี, จริงๆผมก็ไม่ได้หลงใหลชื่นชอบแนว Horror เสียเท่าไหร่ แต่เพราะดูหนังมามากเลยรู้จักเยอะ เห็นอะไรๆของอนิเมชั่นเรื่องนี้นำพาชวนให้หวนระลึก เป็นอารมณ์เปรมปรีดิ์ อิ่มเอิมสุขใจเสียจริง

แนะนำอย่างยิ่งกับแฟนๆหนัง Horror Classic ทั้งหลาย อาทิ Frankenstein, Dracula ฯ ชื่นชอบ Stop-Motion อนิเมชั่น ผลงานแนวๆของผู้กำกับ Tim Burton, และแฟนๆ Winona Ryder, Martin Landau ไม่ควรพลาด

จัดเรต pg กับบรรยากาศงานภาพหลอนๆ ทะมึนๆ เด็กๆคงขนหัวลุกพอง นอนหลับฝันร้ายสะดุ้งตื่นกลางดึก

TAGLINE | “Frankenweenie ผลงาน Stop-Motion อนิเมชั่นขายความ Nostalgia ของผู้กำกับ Tim Burton เคารพคารวะจักรวาล Monster ทั้งปวง”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: