Woman in the Moon

Frau im Mond (1929) German : Fritz Lang ♥♥♥

หนังเงียบเรื่องสุดท้ายที่ถูกหลงลืมของ Fritz Lang แต่ถือเป็นครั้งแรกแบบจริงจังกับภาพยนตร์แนว Sci-Fi สร้างยานอวกาศ นับถอยหลัง จุดระเบิด ไร้แรงโน้มถ่วง ลงจอดบนดวงจันทร์ สุดล้ำไปกับจินตนาการ กลายเป็นแรงบันดาลใจจริงๆให้กับขีปนาวุธ V-2 rocket ของนาซีเยอรมัน

แต่จะบอกว่าภาพรวมของหนังค่อยข้างย่ำแย่เลวร้ายพอสมควร โดยเฉพาะส่วนของเนื้อเรื่องราวที่หาสาระจับต้องอะไรแทบไม่ได้ ดราม่าชั่วโมงแรกสร้างความรวดร้าวฉาน น่าเบื่อหน่ายขั้นรุนแรง! นี่ถ้าไม่เพราะฉากการปล่อยจรวดสู่ห้วงอวกาศ มีความโคตรเจ๋งเป้ง ยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างแล้วละก็ สมควรอย่างยิ่งจะถูกหลงลืมเลือนไปตามกาลเวลา

ผมพยายามครุ่นคิดตามตลอดเกือบๆ 3 ชั่วโมงที่รับชม การเดินทางสู่ดวงจันทร์ครั้งนี้ มันจะมีนัยยะซ่อนเร้นอะไรแฝงอยู่หรือเปล่า? แต่เพราะดราม่าที่หนังนำเสนอมา ทำให้ประติดประต่ออะไรไม่ได้เท่าไหร่ สุดท้ายมองเห็นเพียงเรื่องราวการผจญภัย ค้นพบดินแดนใหม่ ท้าพิสูจน์ตนเอง และเสียดสีพฤติกรรมมนุษย์ ก็เท่านั้นเอง.

ระหว่างรับชม Frau im Mond ขอให้ตระหนักระลึกไว้โดยเสมอว่า เมื่อตอนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เทคโนโลยีด้านอวกาศของโลกยังคงเป็นเพียงความเพ้อฝันจินตนาการ มนุษย์ชาติเพิ่งเริ่มมีเครื่องบินได้เหมือนนกแค่ไม่กี่ทศวรรษเท่านั้น ยังอีกหลายปีกว่าดาวเทียมดวงแรก สปุตนิก 1 ของสหภาพโซเวียต จะขึ้นสู่วงโคจรโลก 4 ตุลาคม 1957 และ Neil Armstrong ขึ้นยาน Apollo 11 เหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ วันที่ 20 กรกฎาคม 1969 แล้วคุณอาจทึ่งไปกับความล้ำในหลายๆแนวคิด หลงนึกว่าได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง (ตรงกันข้ามคือ หลายๆอย่างของหนังกลายเป็นแรงบันดาลใจสร้างยานอวกาศจริงๆเสียด้วย)

Friedrich Christian Anton ‘Fritz’ Lang (1890 – 1976) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติเยอรมัน ได้รับการยกย่องฉายา ‘Master of Darkness’ เกิดที่ Vienna (ขณะนั้นเป็นดินแดนของ Austria-Hungary) พ่อเป็นสถาปนิก แม่เชื้อสาย Jews ก่อนเปลี่ยนมานับถือ Roman Catholics อย่างเคร่งครัด, โตขึ้นเรียนวิศวโยธาที่ Technical University of Vienna ไม่ทันจบตัดสินใจออกท่องโลกกว้างสู่ยุโรป แอฟริกา เอเชีย แล้วไปเรียนวาดรูปอาศัยอยู่กรุงปารีส, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เดินทางกลับบ้านเกิด สมัครเป็นทหารอาสาในกองทัพของ Austrian สู้กับรัสเซียและโรมาเนีย บาดเจ็บหนัก 3 ครั้ง และเกิด Shell Shock กลายเป็นภาพหลอนติดตาไม่รู้ลืม

ด้วยความรู้ด้านสถาปัตยกรรม และความทรงจำอันโหดร้ายจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เขามีความหลงใหลในการวาดภาพออกแบบสร้างฉากพื้นหลัง ตึกรามบ้านช่องในลักษณะลัทธิสำแดงพลัง ตีแผ่ด้านมืดของตนเองและโลกออกมา ซึ่งพอดีตรงกับยุคสมัยนิยม German Expressionist ทำให้ผลงานภาพยนตร์ของ Lang ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

ปี 1919 แต่งงานกับภรรยาคนแรก Lisa Rosenthal ปีถัดมาได้พบกับนักเขียนหญิงมากฝีมือ Thea von Harbou ร่วมกันพัฒนาบทภาพยนตร์ Destiny ขณะเดียวกันก็ลักลอบเป็นชู้กับเธอ, คืนหนึ่ง Rosenthal พบเห็นทั้งสองกำลังพรอดรักคาหนังคาเขา ยอมรับไม่ได้ … ตำรวจมาถึงที่บ้าน ร่างของเธอในอ่างอาบน้ำกระสุนทะลุอกจากปืน Revolver ของสามีไม่มีใครรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น เป็นการฆ่าตัวตาย/อุบัติเหตุ/หรือ… พวกเขาปิดข่าวไว้อย่างมิดชิด, สองปีจากนั้น Lang แต่งงานกับ von Harbou

ต้องถือว่า Thea von Harbou คือคู่บารมีของ Lang โดยแท้ เธอเป็นทั้งนักเขียนและนักแสดง ร่วมงานกันตลอดตั้งแต่ปี 1921 – 1933 ผลงานชิ้นเอกของทั้งคู่ประกอบด้วย Destiny (1921), Dr. Mabuse, der Spieler (1922), Die Nibelungen (1924), Metropolis (1927), Woman in the Moon (1929), และ M (1931) แต่เพราะ von Harbou เป็นนาซีที่เลือดข้นมาก ทำให้ Lang ต้องตัดสินใจหย่า (ทั้งๆที่คงรักอยู่) ลี้ภัยยังปารีส และอพยพสู่อเมริกาหลังจากนั้น

ความสนใจทางด้านสำรวจอวกาศของ Lang มีขึ้นตั้งแต่ตอนเริ่มสร้างสรรค์ Metropolis (1927) ทีแรกตั้งใจจะให้ตอนจบ สองตัวละครหลัก Maria กับ Freder ขึ้นยานอวกาศออกนอกโลก ไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเพียงสองคนไม่สนใครอื่น แต่ก็ล้มเลิกไปเพราะฟังดูไร้สาระเกิน ระหว่างนั้นได้มีโอกาสอ่านหนังสือ Die Rakete zu den Planetenräumen (1923) [แปลว่า By Rocket into Interplanetary Space] เขียนโดย Prof. Hermann Oberth ลุ่มหลงใหลในอนาคต ความเป็นไปได้ของมวลมนุษย์ชาติ ฝากฝังให้ภรรยา von Harbou พัฒนาเรื่องราวดังกล่าวให้กลายเป็นนวนิยาย/บทภาพยนตร์

เกร็ด: Lang ได้ติดต่อ Prof. Hermann Oberth นักฟิสิกส์/พัฒนาจรวด ให้มาเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิค และเสนอแนะความเป็นไปได้อื่นๆในมุมมองนักวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้หนังจึงมีความสมจริงในระดับหนึ่ง

เรื่องราวของ Wolf Helius (รับบท Willy Fritsch) นักธุรกิจหนุ่มผู้มีความลุ่มหลงใหลในการเดินทางท่องอวกาศ เชื่อมั่นในคำกล่าวสุนทรพจน์ของ Prof. Georg Manfeldt (รับบทโดย Klaus Pohl) ว่าเบื้องบนดวงจันทร์ย่อมต้องมีขุมทอง ทรัพย์สมบัติมูลค่ามหาศาลซ่อนเร้นอยู่ จึงอาสาให้ความช่วยเหลือสนับสนุนจนสามารถสร้างจรวดได้สำเร็จเสร็จสิ้น แต่ก่อนหน้าสองสามวันออกเดินทาง กลับถูกอีกบริษัทศัตรูคู่แข่ง ใช้วิธีการอันชั่วร้ายแทรกซึมชายผู้เรียกตัวเองว่า Walter Turner (รับบทโดย Fritz Rasp) ให้ออกเดินทางร่วมไปดวงจันทร์ครานี้ด้วย

Helius มีผู้ช่วยวิศวกร/เพื่อนสนิทคือ Ingenieur Hans Windegger (รับบทโดย Gustav von Wangenheim) ที่ก่อนหน้าวันจะออกเดินทาง ตัดสินใจหมั้นหมายนักวิทยาศาสตร์สาวสุดสวย Friede (Gerda Maurus) ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างจรวดลำนี้จนสำเร็จเสร็จ นั่นสร้างความรวดร้าวรานเล็กๆให้ชายหนุ่มเพราะตัวเขาคงแอบตกหลุมรักเธออยู่เหมือนกัน ซึ่งระหว่างต้องตัดสินใจเลือกว่าใครจะเดินทางไปดวงจันทร์ทริปนี้บ้าง หญิงสาวอาสาขอร่วมด้วย ขณะที่ Helius ปฏิเสธเสียงขันแข็ง แต่ว่าที่สามีของเธอ Windegger กลับยินยอมพร้อมใจ ช่วยไม่ได้ ไปก็ไป รวมแล้วขณะนั้นทั้งหมด 5 คน

การเดินทางมุ่งสู่ดวงจันทร์ประสบความสำเร็จด้วยดี แต่โดยไม่รู้ตัวมีหนู (สัตว์เลี้ยงของ Prof. Manfeldt) และเด็กชายคนหนึ่ง Gustav (รับบทโดย Gustl Gstettenbaur) แอบติดสอยห้อยตามไปด้วย รวมแล้วทริปนี้มีผู้โดยสารทั้งหมด 7 ตน

ณ บนดวงจันทร์ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีอากาศสามารถหายใจได้เหมือนอยู่บนโลกมนุษย์ Prof. Manfeldt ตัดสินใจออกเดินสำรวจจนได้พบขุมทอง ทรัพย์สมบัติที่ตนพร่ำเพ้อฝัน แต่ขณะเดียวกันเมื่อ Walter Turner ติดตามมาจนพบ แผนการชั่วร้ายจึงค่อยๆถูกเปิดเผย และอุบัติเหตุอันทำให้สูญเสียออกซิเจนไปเกินครึ่งถึง จักมีผู้สามารถเดินทางกลับได้เพียง 3 คนเท่านั้น ใครกันบ้างจะกลายเป็นผู้เสียสละในครานี้

Willy Fritsch (1901 – 1973) นักแสดงสัญชาติ German พระเอกแห่งยุคหนังเงียบ เกิดที่ Kattowitz, German Empire ตอนเด็กวาดฝันเป็นช่างซ่อม แต่เมื่อมีโอกาสกลายเป็นตัวประกอบที่ Großes Schauspielhaus Theatre เลยตัดสินใจเอาดีด้านนี้ เข้าเรียนการแสดงกับ Max Reinhardt ที่ Deutsches Theater รับคัดเลือกบทบาทสมทบภาพยนตร์ Miss Venus (1921), ไต่เต้าจนกลายเป็นพระเอก A Waltz Dream (1925), โด่งดังกับ Chaste Susanne (1926), The Last Waltz (1927), Hungarian Rhapsody (1928), Her Dark Secret (1929), ร่วมงานกับ Lang ครั้งแรก Spies (1928) และ Woman in the Moon (1929)

เกร็ด: Fritsch คือนักแสดงที่พูดภาษาเยอรมันคำแรกในหนัง Talkie เรื่อง Melody of the Heart (1929)

รับบท Wolf Helius นักธุรกิจหนุ่ม ท่าทางจะร่ำรวยมหาศาล แต่กลับชอบทำหน้านิ่วคิ้วขมวดติดกัน คงเพราะวันๆพบเจอแต่เรื่องเครียดๆ แถมทำอะไรก็ผิดพลาดพลั้งล้มเหลวไปเสียหมด ตกหลุมรักหญิงสาวก็โดนเพื่อนสนิทชิงตัดหน้าขอแต่งงาน เลยตัดสินใจคิดสั้นด้วยการไปตายยังดวงจันทร์เอาดาบหน้า แต่ก็ยังไม่มีอะไรสมหวังดังประสงค์เขาอีก สุดท้ายเมื่อสถานการณ์ถึงจุดอันเลวร้าย เลยขอเลือกเสียสละตนเอง ไม่ใช่เพราะอยากเป็นวีรบุรุษ แค่สนองจุดประสงค์การมาดวงจันทร์ตั้งแต่ต้นของตนเท่านั้นเอง

เป็นบทพระเอกที่สุดแสนรันทดเสียเหลือเกิน ตกหลุมรักหญิงสาวแต่มิอาจได้ครองคู่ เลยต้องการประชดชีวิตเสี่ยงความตาย ดูสิว่าโชคชะตาจะยังนำพาให้เอาตัวรอดอยู่ได้หรือเปล่า! ต้องชมเลยว่า Fritsch เป็นนักแสดงที่ถ่ายทอด ‘Expression’ ความรู้สึกอันรวดร้าว ทุกข์ทรมาน อัดอั้นเต็มอก ออกมาผ่านภาษากายได้อย่างลึกล้ำทรงพลัง ทั้งสีหน้า ดวงตา ริมฝีปากขมุบขมิบ ขมวดคิ้ววาดให้โค้งติดกัน แค่ภาพลักษณ์ก็ถือว่าอธิบายได้ทุกสิ่งอย่าง

Fritsch ถือเป็นอีกนักแสดงระดับ Superstar ค้างฟ้า แต่ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก เพราะเป็นชาวเยอรมัน แม้พยายามกีดกันตนเองไม่แสดงในหนังชวนเชื่อนาซี แต่กลับถูกเหมารวมว่าคือหนึ่งในผู้สนับสนุน และผลงานภาพยนตร์ในยุคหนังพูด ก็ไม่ค่อยโด่งดังประสบความสำเร็จเท่าตอนยุคหนังเงียบ

Gerda Maurus (1903 – 1968) นักแสดงหญิงสัญชาติ Austrian เกิดที่ Breitenfurt bei Wien, Austro-Hungarian Empire โตขึ้นเข้าสู่วงการละครเวที สร้างชื่อให้ตนเองที่ Vienna ได้รับการค้นพบโดย Fritz Lang ชักชวนมาแสดงนำ Spies (1928) ตามด้วย Woman in the Moon (1929), Treason (1929), ในยุคหนังพูด เข้าตาเป็นที่ชื่นชอบของ Joseph Goebbels เล่นหนังชวนเชื่อนาซีหลายเรื่อง ทำให้หลังสงครามสิ้นสุดแทบจะหมดอนาคตในวงการ แต่ก็สามารถผันตัวสู่วงการโทรทัศน์ สลับกับเป็นนักแสดงละครเวที

รับบท Friede Velten นักวิทยาศาสตร์สาวสวย หนึ่งในผู้ร่วมสร้างจรวดเดินทางสู่ดวงจันทร์ ตกอยู่ในสถานะรักสามเส้ากับชายสองคน ได้หมดไม่ว่าใครจะขอแต่งงาน แต่ลึกๆเหมือนว่าจะแอบชอบ Helius อยู่มากกว่า, ด้วยความกล้าหาญ ไม่หวาดกลัวเกรงอันตรายใดๆ ขันอาสาร่วมออกเดินทางครั้งนี้ และยินยอมพร้อมเสียสละตนเอง ถ้ามีเหตุการณ์คาดไม่ถึงเกิดขึ้น

คงไม่ผิดอะไรจะถือว่าตัวละครนี้เป็นตัวแทนของ Thea von Harbou (ใบหน้าของ Maurus คล้ายคลึงกับ von Harbout มากๆเลยนะ) แฝงความเป็น Feminist อยู่เล็กๆ ‘สิ่งที่ผู้ชายทำได้ ทำไมฉันถึงจะทำไม่ได้’ ถ้าไม่เพราะเธอ หนุ่มๆก็อาจไม่สามารถเดินทางไปสู่เป้าหมายดวงจันทร์ได้เช่นกัน

การแสดงของ Maurus ช่างมีความลุ่มลึกล้ำเสียเหลือเกิน ตัวละครของเธอไม่ค่อยมีการแสดง ‘Expression’ อย่างโดดเด่นชัดเจนนัก มักสงบนิ่ง ปกปิดบังตัวตนเอง ความรู้สึกหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน แต่ถ้าจับจ้องสังเกตดีๆ ก็จะพบว่ามีอะไรบางอย่างปั่นป่วนคลุ้มคลั่ง เล็ดลอนผ่านออกมาทางสีหน้า สายตา ท่าทาง อารมณ์

เกร็ด: ว่ากันว่าสาเหตุหนึ่งที่ Lang เลิกราหย่าร้างกับ von Harbou เพราะถูกจับได้ว่าเป็นชู้กับ Gerda Maurus

Gustav von Wangenheim ชื่อจริง Ingo Clemens Gustav Adolf Freiherr von Wangenheim (1895 – 1975) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Wiesbaden, German Empire สืบเชื้อสายชั้นสูงจาก Barons of Wangenheim, บิดาเป็นนักแสดงใช้ชื่อในวงการ Eduard von Winterstein ลูกไม้เลยหล่นไม่ไกลต้น เริ่มมีผลงานการแสดงในยุคหนังเงียบ Passionels Tagebuch (1914), โด่งดังกับ Das Haus zum Mond (1920), Nosferatu (1922), Woman in the Moon (1929), แต่การมาถึงของ Nazi ทำให้ตัดสินใจหลบหนีสู่สหภาพโซเวียต สร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อต่อต้านนาซี หลังสงครามจบจึงได้หวนกลับสู่ East German

รับบท Ingenieur Hans Windegger เพื่อนสนิทของ Wolf Helius คงเป็นวิศวกรผู้ออกแบบภายใน แรกๆดูเป็นคนพึ่งพาไว้วางใจได้ แต่เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน กลับแสดงความเสียสติแตก ลุกรี้ร้อนรน ทนหยุดนิ่งอยู่เฉยไม่ได้ อยากรีบหวนกลับโลกให้เร็วด่วนที่สุด และเมื่อจับไม้สั้นพ่ายแพ้ ออกอาการหมดสิ้นอาลัยตายอยากโดยสิ้นเชิง

นี่เป็นตัวละครที่อ่านภาษากายง่ายดายมากๆ ภายนอกดูเป็นคนชั้นสูงเลิศหรูหรา (เหมือนตัวตนจริงๆของ Wangenheim) แต่เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คับขันอันตราย กลั่นเอาความเสียสติแตกออกมาทางสีหน้า สายตา มือไม้ คนแบบนี้น่าปล่อยทิ้งไว้บนดวงจันทร์เสียกระไร

Klaus Pohl (1883 – 1958) นักแสดงสัญชาติ Austrian-Hungary เกิดที่ Vienna, Austrian Empire ดูแล้วคงได้รับการค้นพบโดย Fritz Lang เช่นกัน ชักชวนมาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Spies (1928), ตามด้วย Under Suspicion (1928), Woman in the Moon (1929), Ein Burschenlied aus Heidelberg (1930), M (1931), Madame Bovary (1937), Under the Bridges (1946) ฯ

รับบท Professor Georg Manfeldt นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องไส้แห้ง แต่มีความอัจฉริยะ และวิสัยทัศน์ก้าวไกล จนสามารถไปได้ถึงดวงจันทร์ ด้วยความลุ่มหลงใหลต้องการพิสูจน์ทฤษฎีของตนเอง ออกสำรวจโดยไม่ฟังเสียงทัดทามของใครๆ ตื่นเต้นหวงของเหมือนเด็กน้อย ทำให้เมื่อถึงจุดๆหนึ่งสะดุดพลาดพลั้ง ตกลงมาคอหักตาย แบบน่าเศร้าสลดเสียใจ

มองแววหนึ่งก็แอบคล้ายๆ Albert Einstein (ตอนนั้นถือว่าโด่งดังมีชื่อเสียง คว้ารางวัล Nobel Prize in Physics เรียบร้อยแล้วนะ) แต่จุดเด่นของชายคนนี้คือรูปลักษณ์เหมือนชาวยิว นี่คงเป็นความต้องการสะท้อนโลกทัศน์ของผู้กำกับ Lang ว่ากลุ่มผู้จักสามารถเปลี่ยนแปลงโลก คงมากจากบุคคลหน้าตาลักษณะเช่นนี้แหละ

Fritz Heinrich Rasp (1891 – 1976) นักแสดงสัญชาติเยอรมัน ‘ตัวร้ายที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ในยุคทองของวงการภาพยนตร์เยอรมัน’ เกิดที่ Bayreuth, Germany Empire โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง Theaterschule Otto Königin, Munich ประสบความสำเร็จล้นหลามในละครเวที ก่อนผันตัวสู่วงการภาพยนตร์ ผลงานเด่น อาทิ Orphan of Lowood (1926), Metropolis (1927), Diary of a Lost Girl (1929), The Threepenny Opera (1931), Emil and the Detectives (1931) ฯ

รับบทชายผู้เรียกตัวเองว่า Walter Turner พบเห็นครั้งแรกถูก Prof. Manfeldt ถีบตกบันได้ ต่อมาปลอมตัวเข้าพบ Wolf Helius แล้วให้ลูกน้องลักลอบขโมยแบบแปลนของจรวด รวมถึงเอกสารสำคัญ ส่งมอบให้ผู้ร่ำรวยทั้ง 5 เพื่อว่าจะได้ส่งเขาเป็นส่วนหนึ่งออกเดินทางสู่ดวงจันทร์ นำข้อมูลต่างๆที่ได้พบเห็น เกาะติดกลับมารายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ภาพลักษณ์ของ Rasp แค่พบเห็นก็สร้างความสั่นสะท้านในหัวอก รอยยิ้มเต็มไปด้วยเลศนัย พอถอดหมวกผมหวีสุดเนี๊ยบ (ทรง Hitler) ใครๆย่อมรับรู้ได้ว่าต้องไม่ใช่คนดีแน่ และช็อตนี้มีการใช้มายากลบางอย่าง แค่ปัดทรงนิดหน่อยก็สามารถเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ราวกับกลายเป็นคนละคน

ถ่ายภาพโดย Curt Courant (1899 – 1968) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติ German แต่เพราะตนเองเชื้อสาย Jews เมื่อถึงช่วง Nazi เรืองอำนาจ อพยพย้ายสู่เกาะอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Peter the Great (1922), Quo Vadis (1924), The Csardas Princess (1927), Woman in the Moon (1929), The Man Who Knew Too Much (1934) ฯ

Metropolis (1927) เป็นภาพยนตร์ที่ตระการตาไปด้วย Visual Effect ตารปัตรกับ Woman in the Moon (1929) ที่แทบทุกอย่างเป็นของจริงจับต้องได้ จรวดความสูง 12 เมตร สร้างขึ้นจากไม้ ในโรงถ่ายขนาด 3,000 ตารางเมตร สามารถขยับเคลื่อนย้ายด้วยเครน สังเกตจากภาพช็อตนี้ ไม่มีการใช้เทคนิคทางภาพยนตร์ใดๆประกอบร่วม

แต่ซีนนี้คือภาพถ่ายจากโมเดลจำลอง น่าจะขนาดใหญ่พอสมควร จึงสามารถใส่รายละเอียดรูปปั้นคนตัวเล็กๆ และสาดลำแสงไฟเห็นเป็นเส้นและเงา ขณะจรวดกำลังค่อยๆเคลื่อนย้ายมาสู่ฐานปล่อยตัว

เพราะความที่ยุคสมัยนั้น ยังไม่เคยมีการสร้างจรวดขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อน ทุกสิ่งอย่างจึงคือจินตนาการ/สมมติฐานของผู้สร้าง ซึ่งหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในหนัง ได้พัฒนาต่อกลายมาเป็นวิธีการสร้าง/ปล่อยจรวดในชีวิตจริง อาทิ
– การสร้างฐานปล่อยจรวด (Launch Pad)
– ครั้งแรกกับนับถอยหลัง ‘Countdown to Zero’ จาก 10 ถึง 0 (ปัจจุบันใช้คำเรียก Now แทน Zero)
– บริเวณด้านล่างของฐานปล่อยจรวด เพราะต้องแบกรับความร้อนมหาศาล จึงมักมีอ่างเก็บน้ำอยู่ภายใต้ (เพื่อระบายความร้อน)
– การจุดระเบิดมากกว่าหนึ่ง (Multistage) และดีดตัวของถังเชื้อเพลิงที่ใช้หมดแล้ว (Rocket Eject) เพื่อให้น้ำหนักยานอวกาศเบาลงก่อนถึงชั้นอวกาศ
– แม้ของจริงจะไม่ใช่ที่นอน แต่เก้าอี้ของนักบินอวกาศ ก็ตั้งในแนวแกนนอนหันหน้าขึ้นมองท้องฟ้า

ที่พื้นห้องควบคุม มีสายรัดเท้าเพื่อขณะแรงโน้มถ่วงเป็นศูนย์ (Zero Gravity) จะสามารถควบคุมการทรงตัวได้ อันนี้เห็นว่าสมัยก่อนเป็นเช่นนี้จริงๆ

ภาพพื้นหลังบนดวงจันทร์ พบเห็นโขดหิน เทือกเขา ดวงดาวดาราเต็มฟากฟ้า นั่นเป็นการวาดภาพบนกระจก Matte Painting ที่ได้รับความนิยมสูงมากๆในทศวรรษนั้น ดูมีมิติลึกเพราะความใสของกระจกทำให้สามารถซ้อนภาพไม่จำกัด

หน้าตาของ V2-Rocket คล้ายคลึงกันแค่ไหนก็ลองเปรียบเทียบดู

V-2, ชื่อเต็มๆ Vergeltungswaffe 2, ชื่อทางเทคนิค อาวุธล้างแค้น 2, เป็นขีปนาวุธระยะสั้นที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในประเทศเยอรมนีโดยมีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงที่กรุงลอนดอน ได้รับการทดสอบครั้งแรก 3 ตุลาคม 1942

ต่อมาจรวด V-2 ได้รับการพัฒนาต่อยอดเป็นขีปนาวุธต่อสู้พิสัยระยะไกล จนสามารถเข้าสู่บริเวณพื้นที่รอบนอกอวกาศ กลายเป็นต้นกำเนิดของจรวดสมัยใหม่ ถูกนำมาใช้ในโครงการสำรวจอวกาศโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต

ตัดต่อไม่มีเครดิต แต่คาดว่าคงเป็นผู้กำกับ Fritz Lang เองเลย, แม้หนังจะชื่อ Woman in the Moon แต่เล่าเรื่องในมุมมองของพระเอก Wolf Helius ที่ต้องพานพนอุปสรรคขวากหนาม ประสบปัญหาต่างๆในชีวิตมากมาย ไม่เว้นแม้ขณะมาถึงบนดวงจันทร์

ผู้กำกับ Lang เป็นคนไม่นิยมใช้ Title Card ขึ้นข้อความพร่ำเพรื่อ หลายครั้งพบเห็นตัวละครกำลังขยับปากสนทนา สร้างความฉงนสงสัยพูดคุยอะไรกัน แต่ถึงไม่รู้ก็หาใช่เรื่องสลักสำคัญ แค่เท่าที่ปรากฎขึ้นนั้น เพียงพอดีต่อความเข้าใจหนังแล้ว

แต่ด้วยความยาวเกือบๆ 3 ชั่วโมง คงทำให้หลายคนเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ เมื่อไหร่แม่เจ้าโวยจะจบลงเสียที ถ้าแบ่งหนังออกเป็น 3 องก์ คงเห็นภาพชัดขึ้น
– ชั่วโมงแรก เหตุการณ์ขณะอยู่บนโลกมนุษย์ พบเจอปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ต้องตัดสินใจเลือกบุคคลผู้จะร่วมออกเดินทางในครานี้
– องก์ 2 การออกเดินทาง เริ่มนับตั้งแต่ภาพแรกของจรวดปรากฎขึ้น สิ้นสุดวินาทีตกแป๊กลงดวงจันทร์
– องก์ 3 เหตุการณ์ขณะอยู่บนดวงจันทร์ พบเจอปัญหากันอีกแล้ว และต้องตัดสินหาบุคคลผู้จะเดินทางกลับโลกมนุษย์

เรื่องราวในองก์แรก ยังมีการเล่าย้อนอดีต Flashback (ของ Prof. Mannfeldt), คำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นของ Walter Turner (แทรกภาพผู้ร่ำรวยทั้ง 5) และตัดสลับกับเหตุการณ์งานเลี้ยงหมั้นหมายของ Friede กับ Windegger

ไฮไลท์ที่เอาจริงๆจะข้ามมาดูเฉพาะองก์นี้ของหนังเลยก็ได้ คือช่วงขณะกำลังจะออกเดินทาง มีการตัดต่อสลับไปมาอย่างแนบเนียนของ
– จรวดขนาดจริงๆกำลังเคลื่อนย้ายออกจากโรงเก็บ พบเห็นผู้คนงานเดินขวักไขว่
– ถ่ายภาพจากระยะไกล โมเดลจรวดขนาดย่อกำลังค่อยๆเคลื่อนออกมาจากโรงเก็บ
– ภาพของผู้สังเกตการณ์ นักข่าว นั่งรอชมจรวดอยู่บนสเตเดียมห่างไกลจากฐานปล่อยจรวด
ฯลฯ

และตอนจรวดกำลังทะยานขึ้นสู้ชั้นบรรยากาศ ว่าไปลีลาคล้ายๆ Dr. Strangelove (1964) ใช้การตัดต่อสลับไปมาระหว่างมาตรวัด/มิเตอร์ ปฏิกิริยาใบหน้าตัวละคร และภาพโมเดลจรวดทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้า แค่เพียงเท่านี้ก็สร้างความระทึกตื่นเต้นเร้าใจได้มากยิ่งทีเดียว

Frau im Mond หรือ Woman in the Moon เป็นชื่อที่ค่อนข้างเอาแต่ใจผู้แต่ง Thea von Harbou ไปเสียหน่อย อาจเพราะเพศหญิงในยุคสมัยนั้น ยังคงถูกริดรอนสิทธิ ไม่ได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมผู้ชายในสังคม จึงสร้างตัวละคร Friede Velten เป็นตัวแทนให้หนุ่มๆต่างแก่งแย่งชิงเป็นเจ้าของ และคือสาเหตุผลของการออกเดินทางสู่ดวงจันทร์ในครานี้ (รวมถึงตั้งเป็นชื่อจรวดด้วยนะ!)
– Wolf Helius ออกเดินทางสู่ดวงจันทร์ เพราะต้องการทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างบนโลก หนีไปให้ไกลจากหญิงสาวที่ตนรัก เพราะเธอกำลังจะแต่งงานกับเพื่อนสนิท
– Ingenieur Hans Windegger ดูแล้วคงไม่ได้อยากเดินทางสู่ดวงจันทร์สักเท่าไหร่ แต่เมื่อว่าที่ภรรยายืนกราน ตนเองเลยต้องติดตาม พอไปถึงก็กุรีกุจอรีบเร่งอยากกลับ แสดงความขลาดหวาดกลัวออกมาอย่างเสียสิ้นสติ
– Prof. Georg Manfeldt เดินทางสู่ดวงจันทร์เพื่อต้องการพิสูจน์ทฤษฎีของตนเอง ให้ได้รับการยินยอมรับจากทุกคนทั่วโลก
– Walter Turner ติดตามมาเพื่อเสาะแสวงหาบางสิ่งที่อาจเป็นผลประโยชน์มหาศาลต่อตนเอง
– เด็กชาย Gustav แอบลักลอบขึ้นจรวดมา เพื่อเติมเต็มความเพ้อฝันจากการอ่านหนังสือการ์ตูน
– เจ้าหนูตัวน้อย เลือกไม่ได้ ถูกขังอยู่ในกรงตลอดเวลา

สำหรับ Friede Velten แรงจูงใจของเธอเป็นสิ่งน่าพิศวงอย่างที่สุด เนื่องจากมิได้มีการพูดบอกออกมาตรงๆ แต่สามารถครุ่นคิดตีความได้ว่า
– เติมเต็มความฝันของตนเอง เพราะถือว่าคือหนึ่งในผู้ร่วมสร้างสรรค์จรวด คิดค้นทฤษฎี จึงต้องการพิสูจน์ความสำเร็จ
– เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของผู้หญิง ในเมื่อผู้ชายสามารถเดินทางไปถึงดวงจันทร์ ทำไมฉันถึงจะร่วมด้วยมิได้ (นี่คือ Feminist อย่างชัดเจน)
– เพราะ Wolf Helius ชายคนที่ตนมีใจให้มากกว่า ตัดสินใจไปดวงจันทร์แบบไม่บอกกล่าว พอทราบข่าวเข้าเลยต้องการติดตามเขาไป (แม้ว่าเจ้าตัวจะพยายามปฏิเสธเสียงขันแข็งก็ตามที)
– อีกเหตุผลหนึ่งย้อนแย้งกับข้อก่อนหน้า เพราะมิได้รักจริงในคู่หมั้น Windegger เลยต้องการทอดทิ้งเขา คาดว่าคงขลาดๆกลัวๆไม่น่าจะกล้าไปด้วย แม้มิจะเดาผิด ชีวิตก็เกิดเรื่องพลิกผันหลายรอบทีเดียว
ฯลฯ

ทำไม Friede ถึงตัดสินใจเสียสละตนเองอยู่บนดวงจันทร์? นี่ก็ค่อนข้างจะคลุมเคลือและมีเงื่อนงำพอสมควร
– เข้าใจง่ายแต่ผมคิดว่าไม่น่าใช่ … เพราะว่าที่สามี Windegger จับได้ไม้สั้น เลยต้องการอาศัยครองคู่อยู่กับเขาบนดาวดวงนี้
– ในความเชื่อของผมคือ เพราะเธอรับรู้นิสัย/ตัวตนคนจริงของ Wolf Helius คาดคิดว่าคงต้องทำบางสิ่งอย่าง เสียสละตนเองปักหลักอาศัยอยู่บนดวงจันทร์นี้แน่ และด้วยความรักที่เธอแอบมีให้ เลยตัดสินใจครองคู่อยู่ร่วมกับเขา

สรุปแล้ว Woman in the Moon ต้องการนำเสนออะไรกัน? จินตนาการ เพ้อฝัน มุ่งสู่อนาคตโลกใบใหม่ ขณะเดียวกันก็ทำการสะท้อนถึงความต้องการของมนุษย์ ประกอบด้วยบุคคลที่แสวงหาผลประโยชน์ ตะเกียกตะกายเพ้อฝัน ท้าพิสูจน์ตัวตนเอง หรือไม่สนใจอะไรทั้งนั้น แค่ไปตายเอาดาบหน้า และหญิงสาวผู้ติดตามคู่คนรักของตนเองไปสุดขอบฟ้าไกล

ดวงจันทร์ที่แสนพิลึกพิลั่น มีอากาศหายใจ แถมด้วยแหล่งแร่ขุมทอง, อาจมองว่านั่นคือจินตนาการของผู้สร้าง หรือความต้องการเปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์ ถึงแนวโน้ม/สิ่งที่สามารถค้นพบเจอได้ ในดินแดนไร้พรมแดนของโลกใบใหม่ มีความทรงคุณค่าดั่งลมหายใจ และมูลค่ามากมายมหาศาล

แซว: ในความเป็นจริง ก้อนหินจากดวงจันทร์ไม่ได้มีมูลค่าสักเท่าไหร่หรอกนะ แต่ก็มีคนนำงบประมาณของ Apollo Program ช่วงระหว่าง 1961-72 สูงถึง $25 พันล้านเหรียญ หารเฉลี่ยปริมาณก้อนหินที่นำกลับมา 842 ปอนด์ โดยเฉลี่ยคือ ออนซ์ละ $2 ล้านเหรียญ เมื่อเทียบกับราคาทองสมัยนั้น ออนซ์ละ $60 เหรียญ นับว่ามูลค่ามันมากมายมหาศาลจริงๆ

หนังของ Lang แทบทุกเรื่อง มีใจความต่อต้านสงคราม (และนาซี) ซ่อนเร้นอยู่เสมอ ซึ่งเรื่องนี้นอกจากชื่อจรวด Friede แปลว่า Peace, สันติภาพ, ภาพลักษณ์ตัวละครที่เรียกตนเองว่า Walter Turner ทรงผมช่างละม้ายคล้ายคลึง Adolf Hitler แถมนิสัย พฤติกรรม วัตถุประสงค์ต้องการไปถึงดวงจันทร์เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ ถ้ามองเห็นผลประโยชน์มูลค่ามากมายมหาศาล ก็ริเริ่มวางแผนยึดครองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งความโลภละโมบดังกล่าว นำพาให้เขาพบเจอจุดจบที่ ‘กรรมสนองกรรม’ โดนเข้ากับตนเองอย่างสาสมควร

ด้วยชื่อเสียงอันโด่งดังของ Fritz Lang จัดฉายรอบปฐมทัศน์ Frau im Mond อย่างเอิกเริกใหญ่โต ที่ UFA-Palast am Zoo, Berlin นักข่าว/นักวิจารณ์เกิน 100 คน ผู้เข้าร่วมชมอีกกว่า 2,000 คน แต่ด้วยความยาวและเสียงตอบรับที่ค่อนข้างแตก แม้จะชื่นชมใน Special Effect อันสุดยิ่งใหญ่อลังการ สุดท้ายก็ล้มเหลวไม่ทำเงินคืนทุน (ไม่มีรายงานทุนสร้างและรายรับ แค่บอกว่าขาดทุนย่อยยับเยิน)

ถึงผมจะใส่ไข่ซะเยอะกับบทความนี้ แต่ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังนะครับ ไดเรคชั่นของ Fritz Lang ยังคงเจ๋งมากๆ นักแสดงก็สมบทบาท โดยเฉพาะ Fritz Rasp ปัดผมแบบนี้หลอนสุดๆ โปรดักชั่นอลังการ ถ่ายภาพ ตัดต่อ ปัญหาเดียวจริงๆคือบทหนัง มันบ้าบอคอแตกอะไรก็ไม่รู้!

แนะนำคอหนังเงียบ ชื่นชอบแนว Sci-Fi ล้ำจินตนาการ, นักวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ หลงใหลการเดินทางอวกาศ, แฟนๆผู้กำกับ Fritz Lang ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับความโลภหลงใหล ชั่วช้าเลวทรามของผู้ร้าย

TAGLINE | “Frau im Mond ของผู้กำกับ Fritz Lang เกือบสมควรที่จะถูกลืมเลือน ถ้าไม่มีฉากการปล่อยจรวดสู่ห้วงอวกาศ ที่โคตรเจ๋งเป้ง!”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: