French Cancan

French Cancan (1955) French : Jean Renoir ♥♥♥♥

มันคงจะแปลกไม่น้อยถ้า Moulin Rouge ไม่เคยถูกสร้างโดยชาวฝรั่งเศส, Jean Renoir กลับมากำกับหนังที่บ้านเกิดอีกครั้งหลังถูกขับไล่ (Exile) ตั้งแต่ปี 1940 คราวนี้ใช้ Technicolor ถ่ายการเต้น Can-Can ที่สุดตื่นเต้นเร้าใจ แม้ต้องรอจนถึงช่วงท้ายก็ถือว่าคุ้มค่า

French Cancan เป็นหนึ่งในหนังเพลงที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง (ถ้าไม่นับหนังเพลงของ Hollywood) แม้กาลเวลาจะทำให้ความสนุกในการรับชมลดลงบ้าง (กับผู้ชมสมัยใหม่) แต่ความตื่นเต้นเร้าใจจากการเต้น/บทเพลง และภาพสีที่ยังคงสวยสด เป็นสิ่งที่ทำให้หนังดูดีไม่เสื่อมคลาย

Jean Renoir (1894 – 1979) ผู้กำกับชื่อดังในตำนานของฝรั่งเศส นับตั้งแต่สร้าง The Rules of the Game (1939) หนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดในโลก ถูกทางการฝรั่งเศสแบนขับไล่ออกนอกประเทศ เพราะใจความของหนังที่เป็นเชิงต่อต้านกลุ่มคนชั้นสูงและรัฐบาล, ช่วงทศวรรษ 40s ระหกระเหินสู่ Hollywood แต่ทำหนังไม่ประสบความสำเร็จเลย, ทศวรรษ 50s ออกจาก Hollywood เดินทางไปยังประเทศอินเดีย เพื่อสร้าง The River (1951) หนังสี Technicolor เรื่องแรกของเขา เสร็จแล้วกลับมายุโรป สร้างหนังที่ต่อมาถูกเรียกว่า Trilogy of Color Musical Comedy ประกอบด้วย
– Le Carrosse d’or (The Golden Coach, 1953) นำแสดงโดย Anna Magnani
– French Cancan (1954) นำแสดงโดย Jean Gabin กับ María Félix
– Eléna et les hommes (Elena and Her Men, 1956) นำแสดงโดย Ingrid Bergman กับ Jean Marais

French Cancan มีพื้นหลังในยุค 1890s ย่าน Montmartre, Paris ประเทศฝรั่งเศส, Henri Danglard (รับบทโดย Jean Gabin) เจ้าของ Café chantant (=Singing Café, ร้านอาหารที่มีการแสดงโชว์/Cabaret) ที่กำลังถังแตก มีความต้องการชุบชีวิตการเต้น Can-Can ขึ้นใหม่ เรียกชื่อว่า French Cancan โดยตั้งใจให้ Nini (รับบทโดย Françoise Arnoul) นักเต้นสาวสวยที่พบเจอโดยบังเอิญ เป็นจุดขายของการแสดงนี้ ในโรงละครแห่งใหม่ที่ชื่อ Moulin Rouge

เรื่องราวของหนังเรื่องนี้ไม่ใช่ต้นกำเนิดของ Moulin Rouge นะครับ เป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้น ตัวละครสมมติ โดยมีสถานที่กังหันลมสีแดง (Moulin Rouge แปลว่า Red Mill) เป็นพื้นหลังเท่านั้น

Jean Gabin (1904 – 1976) นักแสดงในตำนานผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดประเทศฝรั่งเศส มีผลงานอมตะ อาทิ Pépé le Moko (1937), Le Quai des brumes (1938), Le jour se lève (1939), Le plaisir (1952), Touchez pas au grisbi (1954) ฯ ก่อนนี้เคยร่วมงานกับ Jean Renoir มาแล้วจาก La grande illusion (1937), La bête humaine (1938) ฯ

รับบท Henri Danglard ชายสูงวัยผู้ไม่สนใจชื่อเสียงเงินทอง ทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง และผู้ที่มาชมการแสดงของเขา จัดว่าเป็นคนแห่งอุดมการณ์ มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล แค่โชคชะตาบางครั้งก็ชอบเล่นตลกให้ตกอับ ขัดคอ/ผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้คนอื่น

ผมเคยดูหนังของ Jean Gabin มาแค่ 2-3 เรื่อง เลยยังบอกไม่ได้ว่าชายคนนี้ยิ่งใหญ่ที่สุดยังไง ซึ่งกับ French Cancan การแสดงของเขามีความคลาสิก ลุ่มลึก หนักแน่น คมคาย วางมาดหล่อเท่ห์ๆ ถึงผมหงอกแก่แล้วแต่ยังมีดูดีมีเสน่ห์ และมีคำพูดคมๆ ตราตรึงหลายประโยค แฝงข้อคิดที่มีประโยชน์ไม่น้อย

Françoise Arnoul (1931 – ยังมีชีวิตอยู่) นักแสดงหญิงชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงในยุค 50s, รับบท Nini หญิงสาวบ้านๆที่มีความสามารถด้านการเต้น คงเพราะความน่ารักสดใสของเธอ เหมือนดั่งดอกไม้แรกผลิที่ทำให้บรรดาฝูงแมลง/ผู้คน ต่างโหยหาที่จะเด็ดดมชื่นชม, การแสดงของ Arnoul ถือว่าไม่เลวเลย มีทักษะด้านการเต้นค่อนข้างสูง ความไร้เดียงสาก็ดูน่ารักน่าชัง แม้หนังจะทำให้เธอไม่บริสุทธิ์ด้วยเหตุผลบางอย่าง แต่ใครๆก็ยังรู้สึกหลงใหลคลั่งไคล้ น่าเสียดายหลังจากทศวรรษนี้ Arnoul ก็ไม่ค่อยมีผลงานภาพยนตร์ดังๆ ประสบความสำเร็จอีกเท่าไหร่ จึงผันตัวไปเป็นนักแสดงละครโทรทัศน์แทน

María Félix (1914 – 2002) นักแสดง นักร้อง สัญชาติเม็กซิกัน ที่ถือว่าเป็นนักแสดงหญิงคนสำคัญในยุค Golden Age ของ Mexico ซึ่งทศวรรษ 50s เป็นช่วย go-inter ของเธอ รับเล่นหนังยุโรปหลายเรื่อง, รับบทเป็น Lola นักร้องนักเต้นสาวที่ Danglard ปลุกปั้นขึ้นก่อน Nini แต่น่าจะเพราะความอิจฉาริษยา เธอจึงไม่ค่อยชอบ Nini เสียเท่าไหร่ พยายามกลั้นแกล้งสารพัดทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้โด่งดังกว่า

เกร็ด: Édith Piaf มารับเชิญในหนังด้วยนะครับ แสดงเป็น Eugénie Buffet ขับร้องบทเพลง …

ถ่ายภาพโดย Michel Kelber ตากล้องชาวรัสเซีย ที่มีผลงานดังอย่าง The Hunchback of Notre Dame (1956), Main Street (1956) ฯ หนังทั้งเรื่องถ่ายทำในสตูดิโอ ทำให้สามารถควบคุมการจัดแสงได้ง่าย ซึ่งความสวยงามของหนังอยู่ที่การเลือกสีของฉากและเสื้อผ้านักแสดง ในช่วงแรกๆจะเป็นฉากพื้นหลังสีฟ้า ชุดน้ำเงิน สูทสีกรมท่า ส่วนช่วงท้ายการเต้น Can-Can พื้นหลังสีชมพู ผู้ชายใส่สูทสีดำ สาวๆหลากหลายสี ข้างใต้สีขาว

มุมกล้องจะเป็นระดับสายตาทั้งหมด นี่ทำให้ฉากเต้นทั้งหลาย เหมือนว่าเราเป็นหนึ่งในผู้ชมที่อยู่ในสถานที่แห่งนั้น ซึ่งบางครั้งเหมือนกล้องจะรู้ดีว่าผู้ชมอยากเห็นอะไร (ถึงถ่ายให้เห็นสิ่งที่อยู่ใต้กระโปรงสาวๆชัดเลย)

ตัดต่อโดย Borys Lewin ที่มีผลงานดังอย่าง The Earrings of Madame de… (1953), Elena and Her Men (1956) ฯ เริ่มต้นจาก Danglard ที่ได้ค้นพบ Nini จากนั้นหนังใช้มุมมองของเธอเล่าเรื่องจนจบ

ในฉากการเต้น มีส่วนผสมของ long-take และการตัดต่อเพื่อเปลี่ยนมุมมองของภาพ ซึ่งต้องถือว่ามีความสมดุลกันอย่างมาก คือจุดไหนอยากจะโชว์การเต้นก็มักจะปล่อยยาวเต็มที่ไม่มีตัด แต่พอถึงช่วงไม่โดดเด่นมากก็จะมีการตัดเปลี่ยนมุมมองทิศทางอื่นๆ ให้เห็นทั้งผู้ชมและนักเต้น, ช่วงท้ายมีการตัดให้เห็นหลังเวทีเพิ่มด้วย ในส่วนของ Danglard (เปรียบได้กับเขาคือคนที่อยู่ด้านหลัง ผลักดันให้ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้) เราจะเห็นปฏิกิริยาต่างๆของเขาต่อเสียงเชียร์ที่ดังกระหึ่ม มันคงทำให้เขาภาคภูมิใจน่าดู

สิ่งที่ผมทึ่งอย่างมาก คือหนังไม่ได้ใช้เทคนิคการตัดต่อสลับไปมาอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชม แต่ใช้ทักษะการเต้นของนักแสดง นำเสนอปฏิกิริยา/ความวุ่นวายของผู้ชม (ที่มักเห็นควบคู่ไปกับการเต้นเสมอ) และเสียงเพลงประกอบที่มีจังหวะตื่นเต้นเร้าใจ สามสิ่งนี้ทำให้ผู้ชมเหมือนดั่งเป็นส่วนหนึ่ง เข้าร่วมอยู่ในการแสดงเต้นนั้นด้วย ผลลัพท์คือ หัวใจคุณจะเต้นแรง รู้สึกสนุกสนานครื้นเครง อยากลุกขึ้นไปเต้นพร้อมๆกับหนัง

เพลงประกอบโดย Georges Van Parys คีตกวีและนักแต่งโอเปร่า (Operetta)

แต่หนังมีสิ่งหนึ่งที่อาจทำให้คุณไม่พึงพอใจเท่าไหร่ เพราะคนส่วนใหญ่จะจดจำการเต้น Can-Can จากทำนองเพลง Can Can Polka ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหนังจะใช้เพลงนี้แค่ครั้งเดียวเท่านั้นช่วงท้าย แบบไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ด้วย (นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมได้แค่ชอบ ไม่ถึงขั้นหลงรักหนังเรื่องนี้) จริงๆแล้วการเต้น Cancan มันไม่ใช่แค่กับ Can Can Polka นะครับ แบบในหนังนะถูกแล้ว คือมีเพลงอื่นร่วมด้วย เพราะเพลงนี้ความยาวแค่ 2 นาทีกว่าๆ สั้นมาก เวลาเต้นแค่นั้นจะไปเต็มอิ่มอะไร

ใจความของหนังเรื่องนี้ คือการเลือกระหว่างอุดมการณ์กับความฝัน ของหญิงสาวโดยการเปรียบกับชาย 3 คน
– รักแรกพบที่สวยงาม If you want a lover Alexandre’s perfect.
– การแต่งงานด้วยความเทิดทูนยกย่อง If you want a husband, marry Paulo.
– แต่ถ้าต้องการชื่อเสียงความสำเร็จก็ต้องเสียสละทุกอย่าง แบบ Henri Danglard

หญิงสาวตัดสินใจอะไรใครๆคงเดาได้ ซึ่งการตัดสินใจนี้ได้รับอิทธิพลมาจาก Henri Danglard ที่เป็นตัวแทนของ Jean Renoir ผู้ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ ต่อให้ถูกขับไล่ออกนอกประเทศ ไม่มีเงินทุน ก็ยังคงดิ้นรนเพื่อสร้างหนังต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราสามารถให้เหตุผลด้วยคำพูดง่ายๆคือ ‘ใจรัก’ อย่างอื่นไม่มีอะไรสำคัญกว่าหรอก

ส่วนตัวแค่ชอบแต่ไม่ถึงขั้นตกหลุมรัก สนุกสนาน ตื่นเต้น ไปกับการเต้น Can-Can ในช่วงท้ายที่ยอมรับเลยว่า direction แนวทางการกำกับของ Jean Renoir เหนือชั้นกว่า Moulin Rouge (1952) ของ John Huston เสียอีก

แนะนำกับคอหนังเพลง ชื่นชอบการเต้น Can-Can เรื่องราวของ Moulin Rouge, แฟนๆของผู้กำกับ Jean Renoir และ Jean Gabin ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต PG กับความอิจฉาริษยาที่รุนแรง

TAGLINE | “French Cancan ของ Jean Renoir มีความคลาสสิกที่ยังคงตื่นเต้นเร้าใจ และการแสดงของ Jean Gabin ที่ไม่ค่อยมีอะไรแต่ยังตราตรึง”
QUALITY | RARE
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: