Frenzy

Frenzy (1972) British : Alfred Hitchcock ♥♥♥♡

ผลงานรองสุดท้ายของ Alfred Hitchcock ที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น (Suspense) ลุ้นระทึก (Thriller) จับแพะชนแกะ พระเอกถูกใส่ร้าย ฆาตกรตัวจริงยังลอยนวล มีทั้งฉากเปลือยกาย ข่มขืน ฆ่ารัดคอ น่าจะเป็นภาพยนตร์รุนแรงที่สุดในสไตล์ Hitchcockian

นักวิจารณ์บางคนแสดงความคิดเห็นว่า Frenzy (1972) คือผลงาน ‘The Last Masterpiece’ เรื่องสุดท้ายของ Alfred Hitchcock แม้แต่ผู้กำกับ Béla Tarr ยังยกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องโปรด! แต่ผมมองว่ายังห่างไกลความลงตัว พล็อตขาดๆเกินๆ ดูจะหมกมุ่นกับเทคนิค วิธีการ เรือนร่างอิสตรี ให้ได้เรตติ้ง 18+ ไม่ได้สนเนื้อหาสาระอะไรนอกจากความบันเทิงสไตล์ Hitchcockian

แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีอยู่หลายฉากที่นำเสนอออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะฆาตกรรมรัดคอ ชวนให้ระลึกนึกถึงลีลาตัดต่อของ Psycho (1960) และไฮไลท์คือตอนฆาตกรพาเหยื่อสาวขึ้นห้อง พอปิดประตูลงกลอน กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลังลงบันไดชั้นสอง จนถึงทางเข้าอพาร์ทเม้นท์ และออกมาบริเวณท้องถนน พบเห็นผู้คนเดินสวนไปมาขวักไขว่ ไม่มีใครรับรู้เหตุการณ์ฆาตกรรมบังเกิดขึ้นกลางกรุงลอนดอน! … การเคลื่อนเลื่อนกล้องลักษณะนี้พบเห็นบ่อยครั้งทีเดียวในภาพยนตร์ของ Béla Tarr

เอาจริงๆผมไม่ได้ครุ่นคิดจะรับชม Frenzy (1972) เลยแม้แต่น้อย! แต่เพราะรู้สึกหงุดหงิดจากการรับชม The Man from London (2007) คือมันไม่ได้แย่ แค่ไม่อยากเสียเวลาเขียนถึง เลยหยิบเอาภาพยนตร์ที่คือแรงบันดาลใจ (ในการสรรค์สร้าง The Man from London) เหมือนจะมีความน่าสนใจมากกว่า มั้งนะ

เมื่อตอนสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ Hithcock อายุย่างเข้า 72-73 อยู่ในวงการมากว่า 50+ ปี มีผลงานกว่า 50+ เรื่อง ช่างเป็นระยะเวลาและปริมาณที่เยอะเสียจนผมเองก็ยังรับชมไม่ครบหมด ซึ่งก็มีผลงานทั้งคุณภาพดีเยี่ยม-ยอดแย่ เป็นไปตามวัฎจักร Frenzy (1972) ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี แล้วแต่ชื่นชอบความบันเทิงสไตล์ Hitchcockian


Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899-1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ Leytonstone, Essex ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ (grocery shop) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจภูมิศาสตร์ แผนที่ ขบวนรถไฟ ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร เข้าศึกษาภาคค่ำยัง London County Council School of Engineering and Navigation แต่พอบิดาเสียชีวิต เลยต้องแบ่งเวลามาทำงานเสมียนบริษัทโทรเลข Henley Telegraph and Cable Company, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มมีความสนใจด้านการเขียน กลายเป็นบรรณาธิการรุ่นก่อตั้ง The Henley Telegraph ก่อนย้ายมาแผนกโฆษณา ทำให้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ ‘Motion Picture’ เกิดความชื่นชอบหลงใหล Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang

เมื่อได้ยินข่าวว่า Famous Players-Lasky กำลังจะมาเปิดสตูดิโอสาขาที่ London ยื่นใบสมัครทำงานเป็นคนออกแบบ Title Card เนื่องจากสต๊าฟยังมีน้อย Hitchcock เลยมีโอกาสได้ทำทุกสิ่งอย่าง เขียนบท ออกแบบฉาก ผู้จัดการกองถ่าย เคยถูกส่งไปดูงานที่เยอรมัน The Last Laugh (1924), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกตั้งแต่ยุคหนังเงียบ The Pleasure Garden (1925), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Lodger: A Story of the London Fog (1927), Blackmail (1929), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), The Lady Vanishes (1938) เข้าตาโปรดิวเซอร์ David O. Selznick ออกเดินทางสู่ Hollywood สรรค์สร้างผลงาน Rebecca (1940), Suspicion (1941), Shadow of a Doubt (1943), Notorious (1946), หลังหมดสัญญาทาส ก็ดำเนินมาถึงจุดสูงสุดในอาชีพการงาน Strangers on a Train (1951), Rear Window (1954), Vertigo (1958), North by Northwest (1959), Psycho (1960), The Birds (1963) ฯลฯ

ตั้งแต่ย้ายไปทำงานอยู่ Hollywood ผู้กำกับ Hitchcock ไม่ค่อยมีโอกาสหวนกลับมาสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่ประเทศอังกฤษสักเท่าไหร่ ก่อนหน้านี้มีเพียง Stage Fright (1950) และ The Man Who Knew Too Much (1956) ทำให้เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น พบเห็นการเปลี่ยนแปลงตรอกซอกซอยแถวบ้านหลังเก่า Covent Garden เลยมองหาโปรเจคถ่ายทำยังสถานที่แห่งนี้ ก่อนมันจะไม่หลงเหลือเค้าโครงเดิมอีกต่อไป

ต้นฉบับของ Frenzy (1972) คือนวนิยายอาชญากรรม Goodbye Piccadilly, Farewell Leicester Square (1966) แต่งโดย Arthur La Bern (1909-90) นักเขียนชาวอังกฤษ ก่อนหน้านี้ยังเคยดัดแปลงบทภาพยนตร์ The Verdict (1964) ผู้กำกับ Hitchcock เลยพยายามติดต่อขอให้มาดัดแปลงนวนิยายของตนเอง แต่เหมือนเจ้าตัวจะตอบปฏิเสธ

เกร็ด: ชื่อนวนิยายเล่มนี้นำจากเนื้อร้องบทเพลง It’s a Long Way to Tipperary (1912) แต่งโดย Jack Judge และ Harry Williams กลายเป็นเพลงมาร์ชที่ได้รับความนิยมล้นหลามในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

It’s a long way to Tipperary,
It’s a long way to go.
It’s a long way to Tipperary,
To the sweetest girl I know!
Goodbye, Piccadilly,
Farewell, Leicester Square!

It’s a long long way to Tipperary,
But my heart’s right there.

ท่อนฮุคบทเพลง It’s a Long Way to Tipperary

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Anthony Shaffer (1926-2001) นักเขียนชาวอังกฤษ เพิ่งมีชื่อเสียงจากพัฒนาบทละครเวที Sleuth (1970) กำลังจะกลายเป็นภาพยนตร์ Sleuth (1972) นำแสดงโดย Laurence Olivier และ Michael Caine, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทื Frenzy (1972), The Wicker Man (1973), Death on the Nile (1978) ฯลฯ

เกร็ด: ผู้แต่งนวนิยาย Arthur La Bern กลับไม่ค่อยพึงพอใจฉบับภาพยนตร์สักเท่าไหร่ เพราะทำการเปลี่ยนแปลงหลายๆสิ่งอย่างจากนวนิยายไปมาก อาทิ

  • ในนวนิยายนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองฆาตกร Bob Rusk โดยที่ผู้อ่านจะไม่รับรู้ตัวตนแท้จริงจนกว่าจะถึงไคลน์แม็กซ์ แต่ภาพยนตร์รีบร้อนเปิดเผยตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง
  • แถมยังสร้างตัวละครขึ้นใหม่ Richard Blaney ใครก็ไม่รู้ จับพลัดจับพลู พบเจอเรื่องซวยซ้ำซวยซ้อน แถมยังมีการจับแพะชนแกะอีกต่างหาก
  • ในนวนิยายไม่มีเรื่องราวของสารวัตรใหญ่ Timothy Oxford และภรรยา ใส่มาเพียงเพื่อสร้างความสนุกสนาน บรรยากาศผ่อนคลาย … กระมัง

It will be done comedically.

Alfred Hitchcock เมื่อตอนประกาศจะดัดแปลงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 1968

เรื่องราวของ Richard Blaney (รับบทโดย Jon Finch) อดีตผู้นำฝูงบิน RAF (Royal Air Force) ถูกไล่ออกจากงานบาร์เทนเดอร์ เพราะเจ้าของร้านครุ่นคิดว่าเขาแอบดื่มเหล้าโดยไม่จ่ายเงิน เลยออกเดินทางมาหาเพื่อนสนิท Bob Rusk (รับบทโดย Barry Foster) เจ้าของกิจการร้านค้าย่าน Covent Garden บอกใบ้ให้คำแนะนำแทงหวยม้า แต่เขากลับเพิกเฉยเฉื่อยชา เอาเวลาไปดื่มสุรา ขณะกำลังมึนเมามายได้รับรู้ผลการแข่งขัน แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง ชีวิตช่างซวยซ้ำซวยซ้อน เลยหวนกลับไปหาแฟนเก่า Brenda Margaret Blaney (รับบทโดย Barbara Leigh-Hunt) ระบายความรู้สึกอึดอัดอั้น

Brenda ทำงานในบริษัทหาคู่ จู่ๆ Bob ก็บุกเข้ามากลางวันแสกๆ (ตอนไม่มีใครอยู่) พยายามพูดจาข่มขู่ บีบบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ จากนั้นใช้เนคไทด์ผูกรัดคอเข่นฆาตกรรม พอดิบพอดีขณะนั้น Richard กำลังเดินทางมาแวะเวียนหาอดีตภรรยา แอบพบเห็นโดยเลขานุการสาว เข้าใจผิดครุ่นคิดว่าเขาคือฆาตกร แจ้งความกับสารวัตรใหญ่ Chief Inspector Timothy Oxford (รับบทโดย Alec McCowen) จึงเริ่มออกไล่ล่าติดตามตัวผู้ร้าย


Jon Finch (1942-2012) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Caterham, Surrey หลังเรียนจบเข้าร่วมคณะการแสดงสมัครเล่น ฝึกฝนการร้องเพลง-เต้นรำ จากนั้นเริ่มมีผลงานโทรทัศน์ แจ้งเกิดจากภาพยนตร์ Macbeth (1971) เข้าตาผู้กำกับ Hitchcock เลยได้รับโอกาสแสดง Frenzy (1972), เคยได้รับการทาบทามบทบาท James Bond แต่เจ้าตัวกลับตอบปฏิเสธ เลยไม่ค่อยมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติสักเท่าไหร่

รับบทอดีตนาวาอากาศตรี Richard Ian ‘Dick’ Blaney อดีตผู้นำฝูงบิน RAF (Royal Air Force) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คาดว่าคงพานผ่านอะไรๆมามาก ทำให้เมื่อปลดประจำการกลับมาใช้ชีวิตปกติ ยังมิอาจปรับตัว ควบคุมตนเอง ถึงขนาดเคยใช้ความรุนแรงกับภรรยา Brenda Margaret Blaney เลยถูกศาลสั่งให้หย่าร้าง (แต่เธอยังคงรักเขาอยู่ ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์บาดหมาง) หลังจากนั้นก็เตร็ดเตร่ สำมะเลเทเมา ทำงานตามผับบาร์ หาความมั่นคงไม่ได้อีกต่อไป

วันหนึ่งราวกับว่าผลกรรมติดตามทัน Richard เพียงแค่ดื่มสุราก่อนเริ่มงาน สร้างความไม่พึงพอใจเจ้าของร้านจนถูกไล่ออก จากนั้นซวยซ้ำซวยซ้อน ถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นฆาตกรเข่นฆ่าอดีตภรรยา พยายามหลบหนีการจับกุมเพื่อพิสูจน์ว่าตนเองบริสุทธิ์ แต่กลับถูกทรยศหักหลังโดยเพื่อนสนิท Bob Rusk ทำให้ตระหนักว่าหมอนี่คือฆาตกรตัวจริง เลยหาหนทางวางแผนแหกคุก นั่นทำให้เรื่องราวยิ่งบานปลายออกไปใหญ่

เกร็ด: ในต้นฉบับนวนิยายจะมีตัวละครที่ถูกใส่ร้ายป้ายสี ตกเป็นแพะรับบาปในคดีความดังกล่าวชื่อว่า Blamey ซึ่งมาจากชื่อเต็ม Blameworthy ซึ่งก็น่าจะคือต้นแบบของ Richard ‘Dick’ Blaney

ถ้าเป็น Hitchcock ช่วงทศวรรษ 50s บทบาทนี้น่าจะตกเป็นของนักแสดงระดับ Superstar อย่าง Cary Grant, James Stewart ฯลฯ แต่หลังจากร่วมงาน Paul Newman เรื่อง Torn Curtain (1966) เห็นว่าเต็มไปด้วยอคติต่อ ‘method acting’ จริงอยู่นั่นคือเทคนิคการแสดงรูปแบบใหม่ แต่มันขัดแย้งกับการนำเสนอสไตล์ Hitchcockian ที่นักแสดงต้องทำตามคำแนะนำ/ไดเรคชั่นของผู้กำกับอย่างเปะๆ ไม่ค่อยมีพื้นที่ว่าสำหรับขายความสามารถด้านการแสดงสักเท่าไหร่ … อธิบายง่ายๆก็คือ ‘method acting’ ทำให้นักแสดงสมัยนั้นค่อยข้างจะเย่อหยิ่ง อวดดี ไม่ค่อยอยากทำตามคำแนะนำผู้กำกับรุ่นเก่าสักเท่าไหร่

ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับ Hitchcock จึงพยายามมองหานักแสดงหน้าใหม่ หรือจากสายละครเวที เพราะยังสามารถพูดคุย ชี้นิ้วสั่งการ ยินยอมพร้อมกระทำตามคำสั่งโดยง่าย แต่ก็ต้องแลกมากับ Charisma ของ Finch เทียบไม่ได้กับ Grant หรือ Stewart ทำให้หนังดูขาดสีสัน ความน่าสนใจลงไปพอสมควร

ตัวละคร Richard พอจะมีความน่าสนใจอยู่บ้างในช่วงแรกๆ เพราะพฤติกรรมแสดงออกล้วนคืออิทธิพลจากสงครามโลกครั้งที่สอง ‘shell shock’ แม้ไม่ได้รุนแรงจนเสียสติ แต่ก็ยังมิอาจปรับตัว เหล้าเข้าปากเมื่อไหร่ก็มีเรื่องให้ซวยซ้ำซวยซ้อน ไม่สามารถควบคุมสติสตางค์ของตนเอง

แต่ปัญหาของหนังคือความพยายามทำให้ตัวละครนี้กลายเป็น ‘Wrong Man’ ตามสไตล์ Hitchcockian จนดูยัดเยียด ซวยซ้ำซวยซ้อน แถจนสีข้างถลอก สรรหาข้ออ้างไปเรื่อยๆจนไม่มีทางดิ้นหลุดพ้นความผิด ถูกศาลตัดสินสินจำคุก คือมันเกินเลยเถิดจนไม่สามารถหาวิธีแก้ปัญหาที่สมเหตุสมผล ไฉนสารวัตรใหญ่ถึงเฉลียวฉลาดปานนั้น? แหกคุกออกมาง่ายดายเกินไปไหม? พอตอนจบผู้ร้ายมันจะไม่ดิ้นรนขัดขืนเลยหรือไง?


John Barry Foster (1927-2002) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Beeston, Nottinghamshire เข้าฝึกฝนการแสดงยัง Central School of Speech and Drama จากนั้นมีผลงานละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก The Battle of the River Plate (1956), โด่งดังจากซีรีย์ Van der Valk (1972-92), Frenzy (1972), ผลงานอื่นๆ อาทิ Heat and Dust (1983), Maurice (1987) ฯลฯ

รับบท Robert ‘Bob’ Rusk เจ้าของกิจการร้านขายผัก-ผลไม้ (grocery shop) อยู่ย่าน Covent Garden เพื่อนสนิทของ Richard Blaney พร้อมให้ความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา แต่เบื้องหลังคือฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer) เป้าหมายคือหญิงสาวผิวขาวผมบลอนด์ ชื่นชอบใช้ความรุนแรง (sadist) หลังบีบบังคับให้อีกฝ่ายมีเพศสัมพันธ์ ก็จะใช้เนคไทด์ผูกรัดมัดคอจนเสียชีวิต

โดยปกติแล้วเหยื่อของ Rusk จะถูกนำไปล่องลอยคอ โยนทิ้งลงแม่น้ำเทมส์ (River Thames) แต่หลังจากฆาตกรรม Brenda บังเอิญตำรวจพุ่งเป้าผู้ต้องสงสัยไปที่ Richard จึงสบโอกาสใส่ร้ายป้ายสีเมื่อเขาเดินทางมาขอที่พึ่งพักพิง ทำให้ตนเองยังสามารถเอาตัวรอดพ้น ก่ออาชญากรรมครั้งต่อๆไปอย่างไร้กังวล

เกร็ด: นักแสดงคนแรกที่อยู่ในความสนใจบทบาทนี้คือ Michael Caine แต่ถูกบอกปัดปฏิเสธเพราะรู้สึกขยะแขยงตัวละครดังกล่าว “I don’t want to be associated with the part.”

ผมไม่เคยรับชมซีรีย์ Van der Valk (1972-92) แต่พบว่ารับบทผู้บัญชาการตำรวจ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้าม/พลิกบทบาทมาเป็นฆาตกรต่อเนื่อง Bob ได้อย่างน่าประทับใจ! ด้วยภาพลักษณ์ดูอบอุ่นเหมือน Gene Wilder แต่จิตใจกลับเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้ายพอๆกับ Norman Bates จาก Psycho (1960) ต้องถือว่ารู้หน้าไม่รู้ใจ

เกมจิตวิทยากับเหยื่อรายแรก (Brenda) ต้องชมเลยว่า Foster สร้างความหลอกหลอน หวาดสะพรึง สั่นสะท้านถึงทรวงใน แต่ผมกลับไม่ค่อยชอบการดิ้นรนในรถบรรทุกกับเหยื่อคนที่สอง (Barbara) เพราะมันดันสร้างความตื่นเต้นลุ้นระทึก ให้ผู้ชมรู้สึกเป็นกำลังใจเชียร์ผู้ร้ายให้สามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ มันใช่เรื่องเสียงที่ไหน!


ถ่ายภาพโดย Gilbert Taylor (1914-2013) สัญชาติอังกฤษ จากเคยเป็นเด็กตีสเลทเมื่อครั้งผู้กำกับ Alfred Hitchcock สรรค์สร้างภาพยนตร์ Number Seventeen (1932), ก่อนกลายเป็นตากล้องระดับตำนานจาก Dr. Strangelove (1964), A Hard Day’s Night (1964), Thunderball (1965), Cul-de-sac (1966), Macbeth (1971), Frenzy (1972), The Omen (1976), Star Wars (1977) ฯลฯ

เกร็ด: เห็นว่าผู้กำกับ Hitchcock เรียกร้องอยากจะร่วมงาน Taylor แม้กว่า 40 แทบไม่มีโอกาสพบเจอหน้า แต่เห็นว่ายังคงติดต่อหากันอยู่เรื่อยๆ … เอาเวลาที่ไหนกันนะ?

การทำงานของผู้กำกับ Hitchcock จะมีวาดภาพ Storyboard ที่อธิบายรายละเอียด ทิศทาง มุมกล้อง รายละเอียดสำหรับขยับเคลื่อนไหวไว้พร้อมสรรพ ด้วยเหตุนี้เขามีหน้าที่กำกับหน้ากล้อง ไม่เคยมองผ่านเลนส์(หลังกล้อง)เลยสักครั้ง ปล่อยให้เป็นหน้าที่/การตัดสินใจของช่างภาพ ด้วยความเชื่อมั่นใจอย่างสุดๆ

หนังทั้งเรื่องถ่ายทำในประเทศอังกฤษ ส่วนใหญ่ปักหลักอยู่บริเวณ Covent Garden, London ซึ่งผู้กำกับ Hitchcock พยายามปรับปรุงสถานที่ให้มีละม้ายคล้ายความทรงจำเมื่อครั้ยสมัยยังเด็ก คือย่านขายผัก-ผลไม้ เต็มไปด้วยผู้คนสัญจรไปมามากมาย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นย่านร้านอาหาร ช็อปปิ้งมอลล์ไปแล้วนะครับ) หลายผับบาร์ก็ได้รับอนุญาตถ่ายทำตรงนั้นเลย ยกเว้นเพียงบางฉากภายใน ห้องพักโรงแรม/อพาร์ทเม้นท์ ถึงไปสร้างฉากถ่ายทำยัง Pinewood Studios

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ผมจะไม่ลงรายละเอียดมากนัก ขอกล่าวถึงเฉพาะฉากที่มีการนำเสนอน่าสนใจจริงๆ โดยจะขอเริ่มต้นที่การปรากฎตัว Cameo ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock หากันเจอไหมเอ่ย?

แซว: แผนการเดิมนั้น Hitchcock ต้องการเล่นเป็นศพแรกที่ถูกฆาตกรรม ล่องลอยคออยู่ในแม่น้ำเทมส์ (River Thames) แต่ใครจะไปยินยอมแบกรับความเสี่ยง! แถมการถ่ายทำวันแรก ปู่แกก็สะดุดล้มในโรงแรม ทำให้ต้องเปิดกองล่าช้าไปหลายชั่วโมง

ผู้กำกับ Hitchcock เป็นคนที่มีความตลกร้าย (Dark Humour) ตามแบบฉบับผู้ดีอังกฤษ ก็คิดดูว่าเริ่มต้นด้วยการนำเสนอฆาตกรต่อเนื่อง ฆ่ารัดคอด้วยเนคไทด์ จากนั้นตัดภาพมาที่พระเอกกำลังผูกเนคไทด์ เหมือนกำลังแอบบอกใบ้อะไรบางอย่าง แต่เพราะมันเป็นภาพสะท้อนในกระจก จึงสามารถสื่อถึงความเข้าใจผิด ‘Wrong Man’

การฆาตกรรม Brenda Blaney นี่เป็นครั้งแรกครั้งเดียวพบเห็นการเปลือยหน้าอก (ใช้นักแสดงแทนนะครับ) ในหนังของผู้กำกับ Hitchcock แทนสัญลักษณ์ของการถูกข่มขืนกระทำชำเรา เอาจริงๆดูธรรมดามากๆเมื่อเทียบภาพยนตร์ยุคสมัยนี้ (ที่มักใช้กำลังขัดขืน ดิ้นรน ฉีกกระชาก กดทับ ขย่ม และพบเห็นปฏิกิริยาแสดงออกทางสีหน้า) แต่ในกาลก่อนถือว่าโคตรรุนแรง น่าขยะแขยง ยินยอมรับกันแทบจะไม่ได้!

การนำเสนอฉากนี้ผมรู้สึกค่อนข้างน่าประทับใจทีเดียว เพราะมันไม่ได้เริ่มต้นด้วยการใช้ความรุนแรงเข้าข่มขืน แต่ค่อยๆสร้างบรรยากาศอันน่าสะพรึงกลัว จากคำพูดโน้มน้าว ชักจูง ลวงล่อหลอก แล้วจู่ๆพูดบอก “you’re my type of woman” ฝ่ายหญิงพยายามชักแม่น้ำทั้งห้า หาหนทางดิ้นหลบหนี แสดงสีหน้าหวาดสะพรึงกลัว เรียกว่าใช้เวลาพอสมควรในการสร้างสถานการณ์ ก่อนผู้ร้ายเข้ามาฉีกกระชากเสื้อผ้า แล้วโน้มตัวลงไปกดทับ … นี่คือศิลปะโดยแท้!

ส่วนไฮไลท์ของซีเควนซ์นี้คือตอนฆาตกรรมรัดคอ ใครเคยรับชม Psycho (1960) น่าจะเกิดความมักคุ้นเคยฉากฆาตกรรมในห้องน้ำเป็นอย่างดี! ด้วยลีลาตัดสลับไปมาอย่างรวดเร็วระหว่าง สีหน้าผู้ร้าย <> ปฏิกิริยาหญิงสาว <> เนคไทด์รัดคอ เวียนวนไปวนมาซ้ำๆอยู่อย่างนั้นจนสิ้นลมหายใจ สามารถสร้างความลุ้นระทึก รู้สึกเจ็บปวด ราวกับตนเองกำลังถูกบีบรัด ขาดอากาศหายใจ … แบบนี้เรียกว่า คลาสสิก!

Frenzy

ผมตกตะลึงในท่วงท่าของเธอคนนี้เป็นอย่างมากๆ นั่งไขว่ห้าง กางแขนสองข้างบนโซฟา ทำตัวราวกับราชินี (Queen) ผู้ไม่สนอะไรใครนอกจากฉันเอง! หักปลักหัวปลำว่า Richard คือฆาตกรเนคไทด์ แม้ค่ำคืนถัดมาจักเป็นประจักษ์พยาน (Alibi) ว่าเขาไม่ได้ออกไปเข่นฆ่าใคร กลับยังดื้อรั้นดึงดัน แถมปฏิเสธไม่ต้องการมีส่วนร่วมประการใด … ยัยนี่มันสลิ่มชัดๆ

อีกสิ่งหนึ่งน่าสนใจคือรูปภาพบนฝาผนัง (ตำแหน่งพอดิบพอดีกับที่หญิงสาวนั่งอยู่ตรงโซฟา) ป่าเขาลำเนาไพร ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าผลงานของใคร แต่สามารถสื่อถึงกรุงลอนดอนที่แม้มีความเจริญก้าวหน้า ตึกรามบ้านช่องสูงใหญ่ แต่ป่าคอนกรีตแห่งนี้กลับเต็มไปด้วยผู้คนที่มีความเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ ไม่ต่างจากสัตว์ร้าย อาศัยอยู่ในป่าดงดิบ

ผมถือว่านี่คือ ‘Perfect Shot’ ของหนัง! เริ่มจาก Barbara ได้รับคำชักชวนจาก Bob คาดว่าคงรู้จักกันมาก่อน จึงยินยอมติดตามเข้าไปในอพาร์ทเม้นท์ แต่เพราะผู้ชมตระหนักว่าหมอนี่คือฆาตกรต่อเนื่อง พอปิดประตูลงกลอน กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลังลงบันได ออกมาบริเวณท้องถนนใหญ่ นี่เป็นการมอบสัมผัสอันตราย ลางร้าย เพื่อสื่อว่าฆาตกรรมบังเกิดขึ้นกลางกรุงลอนดอน โดยไม่มีใครรับรู้หรือให้ความสนใจ

เกร็ด: อาคารหลังนี้ตั้งอยู่ 3 Henrietta Street ณ Covent Garden ปัจจุบันเพียงได้รับการปรับปรุง ซ่อมแซม ทาสีใหม่กลายเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร ได้รับความนิยมพอสมควรเลยละ

สารวัตรใหญ่ Timothy Oxford พบเห็นทีไรก็มักกำลังดื่มกิน รับประทานอาหาร ฟาสฟู้ดบ้าง ตามสั่งที่บาร์บ้าง กลับบ้านมาก็ดินเนอร์สุดหรูของภรรยา เหมือนว่าต้องการแฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ถึงความคอรัปชั่น โกงกินจนอิ่มหนำของหน่วยงานรัฐ/เจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้หนังจะไม่นำเสนอพฤติกรรมเหล่านั้นออกมาตรงๆ แต่การจับแพะชนแกะ เอาคนบริสุทธิ์เข้าซังเต มันก็ชัดเจนอยู่ถึงประสิทธิภาพการทำงาน

มื้ออาหารเย็น เต็มไปด้วยอาหารระดับเลิศหรู à la carte เอาจริงๆมันไม่ได้น่ารังเกียจถึงขั้นกินไม่ได้ แต่หนังต้องการนำเสนอในลักษณะตลกร้าย (Dark Humour) ผมครุ่นคิดว่าอาจต้องการสื่อถึงรสนิยมสารวัตรคนนี้ ไม่ได้เพลิดเพลินไปกับความคอรัปชั่น ยังพอมีสัมปชัญญะ เลยขบครุ่นคิด ไขปริศนาฆาตกรตัวจริง ส่วนหนึ่งคือได้รับคำชี้แนะนำจากภรรยา

หลังจากฆาตกรรม Barbara Milligan แบกลากเธอใส่ถุง ขึ้นรถบรรทุกมันฝรั่ง (เป็นผลิตผลที่เติบโตอยู่ใต้ดิน สะท้อนพฤติกรรมฆาตกรว่ามีความต่ำทราม และต้องตะกุยตะกายเพื่อค้นหาสิ่งที่ต้องการ) แต่ระหว่างกำลังจะพักผ่อนคลาย Bob ตระหนักว่าได้ทำบางสิ่งอย่างสูญหาย จึงนำสู่ซีเควนซ์ที่สร้างความลุ้นระทึก ตื่นเต้น ว่าจะสามารถขุดคุ้ยค้นหาสิ่งของนั้นกลับคืนมาได้หรือเปล่า?

มองผิวเผินๆซีเควนซ์นี้คือความบันเทิงสไตล์ Hitchcockian แต่อย่าลืมว่าฉากนี้นำเสนอผ่านมุมมองฆาตกร เราควรส่งกำลังใจเชียร์ผู้ร้าย ให้สามารถทวงคืนสิ่งสูญหาย? หรือสาปแช่งให้ทำผิดพลาดจนถูกจับได้? มันช่างอารมณ์ที่แปลกพิลึก!

Ricard มาขอความช่วยเหลือจาก Bob พาขึ้นมาบนอพาร์ทเม้นท์ที่เต็มไปด้วยรูปภาพศิลปะน่าสนใจทีเดียว

  • Chinese Girl หรือ The Green Lady (1952) วาดโดย Vladimir Tretchikoff (1913-2006) จิตรกรชาวรัสเซีย ผู้ชื่นชอบวาดภาพเสมือนบุคคลสีผิวต่างๆ โดยต้นแบบคือหญิงสาวชาวจีน Monika Sing-Lee ขณะนั้นทำงานร้านซักรีด อาศัยอยู่ Cape Town, South Africa ความโดดเด่นคือการใช้สี blue-green แสดงถึงความแปลกใหม่ ‘exotic’ ชวนให้ลุ่มหลงใหล (ไม่ใช่ลักษณะของ Racism นะครับ)
    • ภาพวาดดังกล่าวถูกทำเป็นภาพพิมพ์ เห็นว่าได้รับความนิยมล้นหลาม (Best-Selling) ปริมาณอันดับต้นๆของศตวรรษ 20th
  • อีกภาพวาดชื่อว่า Miss Wong ไม่แน่ใจว่าคนเดียวกันไหมนะ (น่าจะคนละคนมั้งนะ) เป็นอีกผลงานของ Tretchikoff ที่ได้รับความนิยมรองลงมา ระบายสีผิวเขียวอ่อนๆ ไม่มีโทนน้ำเงินเหมือนภาพ Chinese Girl (เหมาะกับชื่อภาพ The Green Lady มากกว่าเสียอีก!)

สำหรับอีกภาพวาดทางฝั่ง Ricard ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าผลงานของใคร แต่สังเกตจากท่าเต้นแทงโก้ ราวกับว่าเขากำลังเริงระบำอยู่ในกำมือของ Bob เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ตระเตรียมแผนอันโฉดชั่ว สำหรับใส่ร้ายป้ายสี ให้ตำรวจจับแพะชนแกะ เพื่อให้ตนเองสามารถก่อกระทำการฆาตกรรมอย่างผ่อนคลายไปได้อีกสักระยะ

แม้ผมรู้สึกว่าการที่ Richard ถูกจับกุม ขึ้นศาลไต่สวน ได้รับการตัดสินโทษจำคุก 25 ปี เป็นการจับแพะชนแกะที่เกินเลยไปไกล ในโลกความจริงย่อมไม่มีทางที่ตัวละครจะสามารถแหกคุกหลบหนีออกมา แต่ดูแล้วคงต้องการสื่อถึงขีดกำจัดของกระบวนการยุติธรรม เพราะต่อให้หลักฐานแน่นหนามัดตัว ก็ไม่ได้แปลว่าเขาคือผู้กระทำความผิดที่แท้จริง

หนังจงใจไม่นำเสนอรายละเอียดของคดีความนัก ใช้การถ่ายภาพจากภายนอกห้องพิจารณาคดี เพียงได้ยินเสียงแว่วๆของผู้พิพากษาล่องลอยมาเบาๆ ผิดกับการตะโกนโหวกเหวก ฉันไม่ใช่ฆาตกรของ Richard นั่นสร้างความฉงนสงสัยให้สารวัตรใหญ่ Timothy ทำไมผู้ต้องหาถือยืนกรานเช่นนั้น ภายหลังนั่งอยู่ตัวคนเดียว (ในห้องพิจารณาคดี) เหมือนมีอะไรบางอย่างไม่สมเหตุสมผล ติดค้างคาใจ … แต่เอาจริงๆผมมองในมุมของตำรวจ หลักฐานแน่นหนามัดตัว ไม่พบเห็นความผิดปกติของคดีความแม้แต่น้อยเลยนะครับ มันเหมือนว่าการทำเช่นนี้เพื่อให้หาหนทางออกให้กับความถูกต้องเท่านั้นเอง

แซว: เอาจริงๆถ้าหาทางออกไม่ได้ก็ตัดจบแม้งเลย! ผู้กำกับอื่นคงกล้าๆหน่อย แต่ Hitchcock ยังถูกครอบงำด้วยจริยธรรม/โลกทัศน์ของ Hays Code เลยต้องหาหนทางออกที่ถูกต้องเหมาะสม คนดีต้องรอด คนชั่วต้องรับกรรม

หนังจบลงด้วยการเผชิญหน้าสาม-สี่เส้า ตำรวจ-ฆาตกร-ผู้บริสุทธิ์ และหญิงสาวตกเป็นเหยื่อ (หันกันคนละทิศทาง) ในอพาร์ทเม้นท์ของ Bob จับได้คาหนังคาเขา ระหว่างกำลังแบกกระเป๋าขึ้นมาใส่ศพ ฉากนี้คือบทสรุปที่ดูคลาสสิก ไม่มีความน่าจดจำสักเท่าไหร่

ช็อตสุดท้ายของหนังคือภาพกระเป๋าเดินทาง ถ้าตามเรื่องราวคือเตรียมไว้ใส่ศพสาว ขณะเดียวกันสามารถสื่อถึงความลึกลับ สามารถซุกซ่อนเร้นบางสิ่งอย่างไว้ภายใน (เหมือนกรุงลอนดอนภายนอกดูยิ่งใหญ่ แต่ก็เต็มไปด้วยภัยซ่อนเร้นมากมาย) และท้ายสุดผมมองว่าคือสัญลักษณ์ของการเดินทาง นั่นคือผู้กำกับ Hitchcock แพ็กกระเป๋าเตรียมตัวกลับบ้าน (จะมองถึงการเดินทางมาสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ประเทศบ้านเกิดในรอบหลายปี, หรือทำหนังเสร็จแล้วกำลังเตรียมตัวกลับสหรัฐอเมริกาก็ได้เช่นกัน)

ตัดต่อโดย John Jympson (1930-2003) สัญชาติอังกฤษ แม้วัยเด็กอยากเป็นศัลยกรรมทางสัตว์แพทย์ แต่บิดาเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ สรรหางานในสตูดิโอ Ealing Studios เป็นผู้ช่วยในห้องตัดต่อ อาทิ Kind Hearts and Coronets (1949), The Cruel Sea (1953), The Ladykillers (1955), ได้รับเครดิตตั้งแต่ A French Mistress (1960), ผลงานเด่นๆอาทิ Zulu (1964), A Hard Day’s Night (1964), Frenzy (1972) and A Fish Called Wanda (1988) ฯลฯ

หนังมีปัญหาในทิศทางดำเนินเรื่องพอสมควร เพราะต้นฉบับนวนิยายจะนำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร Bob Rusk โดยจะไม่เปิดเผยรายละเอียดฆาตกรรม จนกระทั่งไคลน์แม็กซ์ถึงรับรู้ว่าที่อ่านมาทั้งหมดคือมุมมองฆาตกร … คงเป็นการหักมุมที่สนุกไม่น้อย

แต่ฉบับภาพยนตร์เร่งรีบร้อนเปิดเผย Bob Rusk คือฆาตกรต่อเนื่องประมาณ 1/3 ของเรื่องราว และมุมมองการนำเสนอก็ตัดสลับสับเปลี่ยนไปมาระหว่าง Richard Blaney, Bob Rusk และ Chief Inspector Timothy Oxford ซึ่งสร้างความสับสน เลื่อนลอย ไร้หลักแหล่ง … โดยเฉพาะฉากของสารวัตรตำรวจและภรรยา มีความเยิ่นเย้อยืดยาว ไม่ได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์อะไรกับเรื่องราวหลักเลยสักนิด!

  • อารัมบท พบศพล่อยลอยอยู่ในแม่น้ำเทมส์ (River Thames)
  • ความซวยซ้ำซวยซ้อนของ Richard Blaney
    • Richard ถูกเจ้านายขับไล่ออกจากงาน
    • ได้รับการชี้นำแทงม้าจาก Bob แต่กลับนำเงินไปดื่มกิน สภาพมึนเมามาย
    • เดินทางไปเยี่ยมเยียนอดีตภรรยา Brenda แล้วเธอพาไปรับประทานอาหารเย็น
  • ฆาตกรรม Brenda Blaney
  • การหลบหนีของ Richard Blaney
    • เลขาสาวของ Brenda รายงานต่อตำรวจ ครุ่นคิดว่า Richard คือผู้ต้องสงสัย/ฆาตกร
    • Richard เกี้ยวพาราสี Barbara พาขึ้นโรงแรม แต่ก็ต้องแอบหลบหนีออกมาตอนเช้าเพราะตกเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์
    • Richard ได้รับความช่วยเหลือจากลูกน้องเก่า ให้ที่หลบซ่อน แต่ภรรยาอีกฝ่ายกลับจุ้นจ้านวุ่นวาย วางอำนาจบาดใหญ่ ไม่ต้องการเข้ามายุ่งเกี่ยวคดีความดังกล่าว
  • ฆาตกรรม Barbara Milligan และความพยายามทำลายหลักฐานของ Bob บนรถบรรทุกมันฝรั่ง
  • ความพยายามพิสูจน์ตนเองของ Richard Blaney
    • Richard ขอความช่วยเหลือจาก Bob แต่กลับถูกทรยศหักหลัง โดนตำรวจจับกุมตัว ศาลตัดสินจำคุก 25 ปี
    • สารวัตรใหญ่ Timothy (และภรรยา) ขบครุ่นคิดไขปริศนา ก่อนค้นพบหลักฐานฆาตกรตัวจริง
    • Richard หาหนทางแหกคุกออกมาได้สำเร็จ
  • ฆาตกรรมรายที่สาม และการเผชิญหน้าของชายทั้งสาม (Richard vs. Bob vs. Timothy)

นี่ค่อนข้างจะผิดแผกแตกต่างจาก Hitchcockian อยู่พอสมควร ที่ชอบละเล่นกับความลึกลับ ลุ้นระทึก และการหักมุม whodunit? แต่ผมก็พอเข้าใจเหตุผลว่าผู้กำกับ Hitchcock เหมือนจะรับอิทธิพลจาก Italian Giallo เลยต้องการนำเสนอความงดงามของการฆาตกรรม (แบบเดียวกับ Psycho (1960)) มันเลยต้องรีบเปิดเผยตัวอาชญากร จากนั้นก็ใส่ความรุนแรง ภาพโป๊เปลือย ฆ่ารัดคอ (เพราะไม่ต้องงอนง้อกองเซนเซอร์ Hays Codes ล่มสลายเมื่อปี 1968)

แซว: Italian Giallo ถือกำเนิดขึ้นจากอิทธิพลผลงานของผู้กำกับ Hitchcock โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่จัดว่าคือเรื่องแรกของแนว The Girl Who Knew Too Much (1963) ล้อกับชื่อ The Man Who Knew Too Much (1934/56) เลยไม่น่าแปลกที่ต่างฝ่ายจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กัน … บ้างถือว่า Hitchcock คือบิดาทูนหัว (Godfather) ของแนว Giallo เลยด้วยซ้ำ


เพลงประกอบโดย Ronald Alfred Goodwin (1925-2003) สัญชาติอังกฤษ ได้รับการฝึกฝนเปียโนและทรัมเป็ตตั้งแต่อายุ 5 ขวบ โตขึ้นเข้าเรียนต่อ Guildhall School of Music ทำงานเป็น Copyist, วาทยากร, แต่งเพลงคลาสสิก, ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Whirlpool (1959), ผลงานเด่นๆอาทิ Village of the Damned (1960), Operation Crossbow (1965), The Battle of Britain (1969), Frenzy (1972) ฯลฯ

แรกเริ่มนั้นผู้กำกับ Hitchcock ใช้บริการของ Henry Mancini แต่ไม่รู้สื่อสารเข้าใจผิดกันหรืออย่างไร บทเพลงที่ออกมามีความละม้ายคล้าย Bernard Herrmann มากเกินไป! เลยถูกไล่ออก ไม่ได้รับค่าจ้างสักแดงเดียว

If I had wanted Bernard Herrmann, I would have hired him!

Alfred Hitchcock

ผมลองค้นใน Youtube ก็พบเจอคลิปที่มีคนนำบทเพลงไม่ได้ใช้ของ Mancini มาใส่ใน Opening Credit, ส่วนตัวรู้สึกว่าได้บรรยากาศลึกลับ สัมผัสถึงอันตราย สะท้อนด้านมืดของกรุง London อย่างน่าสนใจ (บทเพลงอาจไม่ค่อยเข้ากับฉากเปิดนี้ แต่สอดคล้องโทนหนังทั้งเรื่องมากกว่า) แต่ก็จริงดังว่ามีกลิ่นอาย Herrmann อยู่พอสมควร ถึงอย่างนั้นลายเซ็นต์ของ Mancini ค่อนข้างชัดเจนกว่า … น่าเสียดายจริงๆ

บทเพลงของ Goodwin (ที่ใช้ในหนังจริงๆ) ให้ความรู้สึกราวกับ Grand Opening พิธีเปิดอะไรสักอย่าง ซึ่งสอดคล้องภาพพื้นหลัง Opening Credit นำเสนอทิวทัศน์กรุง London จากเฮลิคอปเตอร์ เคลื่อนไปตามแม่น้ำเทมส์ (River Thames) ลอดใต้สะพาน Tower Bridge ดูมีความยิ่งใหญ่อลังการ ละลานตาไปด้วยสิ่งก่อสร้างงามตา แสดงถึงความเจริญรุดหน้าไม่ย่อหย่อนไปกว่าประเทศใดๆ

แต่ความยิ่งใหญ่(เกินไป)ของบทเพลงนี้เอง กลบเกลื่อนความมืดมิด บดบังสิ่งชั่วร้ายซุกซ่อนเร้น ฆาตกรต่อเนื่องที่ยังคงลอยนวล เพียงเสียงซุบซิบนินทา หวาดหวั่นสั่นสะพรึง กลับไม่มีใครใคร่สนใจจริงๆจังๆ ปฏิเสธเข้ามายุ่งวุ่นวาย แสดงความเห็นแก่ตัว สะท้อนโลกทัศน์ยุคสมัย ‘ปัจเจกบุคคล’ ได้เป็นอย่างดี!

การมาของ Goodwin ไม่ใช่เรื่องดีแม้แต่น้อย เพราะแทบไม่มีเวลาเพียงพอในการทำเพลงประกอบ (Mancini เล่าว่าจำนวนเพลงที่เขาแต่งขึ้น มีเกือบๆสองเท่าจากที่ได้ยินในหนัง) จึงต้องใช้เฉพาะฉากที่ต้องการสร้างบรรยากาศกดดัน บีบเค้นคั้นอารมณ์ ขณะซวยซ้ำซวยซ้อน ฆาตกรบีบคอเหยื่อ ลุ้นระทึกหลังรถบรรทุก หลบหนีออกจากคุก ฯลฯ

ซึ่งงานเพลงของ Goodwin ไม่ได้มีลูกเล่นสีสัน มอบสัมผัสสไตล์ลิสต์แบบที่ Hitchcockian ควรจะเป็น (แบบอย่าง Herrmann หรือแม้แต่ Mainichi ที่ผมฟังจากแค่ Opening Credit ยังรู้สึกว่าน่าจะทำให้หนังมีความลึกลับ ซับซ้อน น่าค้นหากว่านี้!) ให้ความรู้สึกปลอดภัย ‘play safe’ เสียมากกว่า

Alfred Hitchcock เติบโตขึ้นในย่านร้านค้าผัก-ผลไม้ ครอบครัวมีกิจการร้านขายของชำ เคยอาศัยอยู่ในแฟล็ตสองชั้น (ลักษณะคล้ายๆอพาร์ทเม้นท์ของ Bob Rusk) ช่วงวัยเด็กมักได้รับฟังเรื่องเล่าตำนาน Jack the Ripper (โด่งดังในช่วง 1888–1891) แม้จะผ่านมาหลายปีแต่นั่นคือวิธีที่ผู้ใหญ่สมัยนั้นล่อหลอกเด็กๆให้เชื่อฟัง ไม่ออกจากบ้านยามค่ำคืน แต่นั่นกลับสร้างความลุ่มหลงใหลให้เด็กชาย Hitchcock ครุ่นคิดถึงเหตุผล ที่มาที่ไป เพราะอะไรคนเหล่านั้นถึงกลายเป็นอาชญากร? เมื่อมีโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์ The Lodger: A Story of the London Fog (1927) ผลงานแจ้งเกิดลำดับที่สาม ก็เป็นการออกติดตามล่าฆาตกรต่อเนื่อง (เลียนแบบ Jack the Ripper)

หลายๆผลงานของผู้กำกับ Hitchcock พยายามนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอาชญากร ฆาตกรต่อเนื่อง (Serial Killer) แต่ยุคสมัยก่อนนั้นติดที่กองเซนเซอร์ Hays Code สั่งห้ามไว้อย่างชัดเจน เลยจำต้องหาหนทางหลีกเลี่ยง เบี่ยงเบนความสนใจ นำเสนอผ่านมุมมอง ‘Wrong Man’ ผู้บริสุทธิ์ที่จับพลัดจับพลู จับแพะชนแกะ ตกอยู่ในสถานการณ์คาดไม่ถึง ซึ่งเมื่อหนังจบ (แบบ Psycho (1960)) ก็ต้องหาคำอธิบายผ่านกระบวนการจิตวิเคราะห์ เพื่อมิให้เกิดการลอกเลียนแบบตาม

พานผ่านมาหลายทศวรรษ โลกทัศน์ของมนุษย์ก็ค่อยๆปรับเปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรม Hippie ถือกำเนิดช่วงต้นทศวรรษ 60s, Hays Code ล่มสลายเมื่อปี 1968, การมาถึงของ Italian Giallo ช่วงต้นทศวรรษ 70s ฯลฯ เหล่านี้กลายเป็นโอกาสให้ผู้กำกับ Hitchcock ได้สรรค์สร้างภาพยนตร์ที่ไม่ต้องปกปิด ซ่อนเร้น นำเสนอผ่านมุมมองอาชญากร ภาพเหตุการณ์ข่มขืน ฆาตกรรม ทำให้ออกมามีความงดงาม แลดูเป็นศาสตร์ศิลปะ นั่นก็คือ Frenzy (1972)

The film allowed the famously repressed Hitchcock to explore the darker sides of sexuality and violence that had always fascinated him. The zeitgeist of the era inhabits Frenzy and freed Hitchcock to bluntly reveal the depravity that harks back to the Jack the Ripper era that fascinated him as a child.

Raymond Foery ผู้เขียนหนังสือ Alfred Hitchcock’s Frenzy: The Last Masterpiece

ความรุนแรงที่ Hitchcock พยายามนำเสนอออกมานั้น สะท้อนความเก็บกด (Repression) ต่อการเป็นผู้ดีอังกฤษ (ที่เลื่องลือชาในการยึดถือปฏิบัติตามกฎระเบียบ ขนบประเพณี วิถีทางสังคมอย่างเคร่งครัด) รวมถึงฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ที่ถูกควบคุมครอบงำจาก Hays Code และสัญญาทาสระบบสตูดิโอสมัยก่อน (โดยเฉพาะโปรดิวเซอร์ David O. Selznick) เมื่อได้รับการปลดปล่อยสู่อิสรภาพ จึงเป็นการระบายความขึ้งเคียด แลดูคลุ้มบ้าคลั่ง ตามชื่อหนัง Frenzy

เนคไทด์ พันรอบคอเพื่อแสดงถึงวิทยฐานะ ความเป็นสุภาพบุรุษ มักใช้ในงานพิธีการ สำหรับให้เกียรติผู้คน/สถานที่ สร้างภาพแลดูดี มีความสูงศักดิ์ศรี เย่อหยิ่ง บางสิ่งอย่างค้ำคอ, เมื่อนำมาบีดรัด(คอ)หญิงสาว ราวกับพยายามปฏิเสธ(วิทยฐานะ)อีกฝั่งฝ่าย ไม่ยินยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียม

การนำเสนอฉากข่มขืน ทรมาน เข่นฆาตกรรมสองสาว (รวมถึงการนำเสนอตัวละครเพศหญิงอื่นๆ) ต่างมีความเป็นปัจเจกบุคคล กล้าคิด-กล้าพูด-กล้าแสดงออก ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน (กว่าบุรุษ) ถูกตั้งคำถามว่ามีลักษณะ Misogyny (รังเกลียดชังเพศหญิง) เหมือนว่าผู้กำกับ Hitchcock มีอคติอะไรบางอย่าง(ต่อเพศหญิง)หรือเปล่า?

Does Frenzy Degrade Women? I suspect that films like Frenzy may be sicker and more pernicious than your cheapie humdrum porno flick, because they are slicker, more artistically compelling versions of sado-masochistic fantasies.

ศาสตราจารย์ Victoria Sullivan ตีพิมพ์บทความในนิตยสาร New York Times เมื่อปี 1972

คนที่รับชมหลายๆผลงานของผู้กำกับ Hitchcock น่าจะรับรู้จัก ‘Hitchcock’s Women’ ในอุดมคติล้วนต้องเป็นสาวผิวขาว ผมบลอนด์ ดูเริดเชิดเย่อหยิ่ง แต่ก็มักเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม บางครั้งกระทำสิ่งชั่วร้าย เลยมักตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย แล้วถูกกลั่นแกล้ง ทรมาน (เหมือนนางเอก The Birds (1963) ถูกนกโจมตีสารพัดวิธี) เลวร้ายก็อาจถูกเข่นฆ่าตกตาย เหมือนเพื่อต้องการให้ผู้ชม(เพศหญิง)ได้รับบทเรียนสอนใจอะไรบางอย่าง (หรือจะมองว่าเป็นความอิจฉาริษยาของบุรุษเพศก็ได้เช่นกัน)

  • Brenda Blaney หลังเลิกรา Richard ประสบความสำเร็จกับอาชีพการงานใหม่ บริษัทจัดหาคู่ … เลยถูกเข่นฆาตกรรม
  • เลขาของ Brenda เป็นคนสอดรู้สอดเห็น เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ชื่นชอบการซุบซิบนินทา
  • Barbara Milligan เคยทำงานบาร์แห่งเดียวกับ Richard เมื่อตอนเขาถูกไล่ออก พยายามแสดงความสงสารเห็นใจ อาสาให้ความช่วยเหลือ ยินยอมร่วมรักหลับนอน … เลยถูกเข่นฆาตกรรม
  • ภรรยาของลูกน้องเก่า นิสัยเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ ไม่ยินยอมรับฟังความครุ่นคิดเห็นผู้อื่นใด พูดแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ชอบวางอำนาจบาดใหญ่ กดขี่ข่มเหงสามี แม้หลักฐานตำตายังปฏิเสธความรับผิดชอบใดๆ สลิ่มแท้ๆ
  • Mrs. Oxford พยายามปรุงอาหารเอาใจสามี ถือว่าเป็นความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ แต่เขาก็ยินยอมศิโรราบ ให้การสนับสนุน ปล่อยเธอเป็นใหญ่ในบ้านหลังนี้

Hitchcock shot scenes of murder like he shot scenes of love.

François Truffaut

ผมไม่คิดว่าผู้กำกับ Hitchcock จะรังเกียจผู้หญิงหรืออย่างไรนะ แต่เขามีมุมมองต่ออิสตรีเพศที่ชัดเจน (จากมารดาและพี่สาวเป็นต้นแบบอย่าง) และต้องถือว่าเป็นคนคร่ำครึ หัวโบราณ คงประมาณหญิงสาวต้องเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ รู้จักหน้าที่ในบ้าน เข้าใจวิทยฐานะทางสังคม เลยไม่ค่อยยินยอมรับสาวสมัยใหม่ที่ชอบปล่อยตัวปล่อยใจ ระริกระรี้แรดร่าน ไม่รู้จักการสำรวม ไม่สนจริยธรรมทางสังคม ความถูกต้องเหมาะสมบ้างเลยหรือไร?

ด้วยเหตุนี้ผู้ชม/นักวิจารณ์หลายๆคนจึงมองว่า Frenzy (1972) คือภาพยนตร์ที่ประมวลผลทุกสิ่งอย่างในชีวิตของ Alfred Hitchcock เปิดเผยธาตุแท้ตัวตน ความต้องการขั้นสูงสุด โดยไม่ต้องปกปิดซุกซ่อนเร้นอะไรใดๆอีกต่อไป!

Frenzy is steeped in the (English) past, yet contemporary in some of its ambitions, a testament to a director less encumbered by codes (of all sorts), but with complicated results that leave us wondering how well we ever really knew Hitchcock himself.

Christine Sprengler ผู้เขียนหนังสือ Hitchcock and Contemporary Art

เข้าฉายรอบปฐมทัศน์นอกสายการประกวด (Out of Competition) ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับถือว่าดีล้นหลาม นักวิจารณ์หนุ่ม(ขณะนั้น) Roger Ebert ให้คะแนนเต็ม 4/4 ชื่นชมการกลับมาในสไตล์ Hitchcockian เหมือนผลงานเคยสรรค์สร้างช่วงทศวรรษ 40s

A return to old forms by the master of suspense, whose newer forms have pleased movie critics but not his public. This is the kind of thriller Hitchcock was making in the 1940s, filled with macabre details, incongruous humor, and the desperation of a man convicted of a crime he didn’t commit.

Roger Ebert ให้คะแนน 4/4

ด้วยทุนสร้าง $2 ล้านเหรียญ สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา(และแคนาดา) $6.3 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $12.6 ล้านเหรียญ ถือว่าสไตล์ Hitchcockian แม้ในทศวรรษ 70s ก็ยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย

ส่วนตัวไม่ได้ชื่นชอบหนังนัก เพราะพบเห็นอะไรๆมาเยอะแล้วในผลงานก่อนๆหน้า เลยได้รับเพียงความบันเทิงสไตล์ Hitchcockian แต่ยังต้องชื่นชมลูกเล่นลีลา เทคนิคในการนำเสนอ หลายๆฉากมีความน่าประทับใจ พบเห็นอิทธิพลต่อผู้กำกับ Béla Tarr ค่อนข้างมากเลยทีเดียว

แนะนำคอหนังฆาตกรรม (Serial Killer) สืบสวนสอบสวน (Investigation) มีความตื่นเต้น (Suspense) ลุ้นระทึก (Thriller), หลงใหลสไตล์ Hitchcockian, สนใจบรรยากาศ London ช่วงทศวรรษ 70s, และโดยเฉพาะช่างภาพ ตากล้อง นักออกแบบฉาก สังเกตความแม่นเปะในรายละเอียดการนำเสนอ

จัดเรต 18+ กับการข่มขืน ฆ่ารัดคอ ระทึกแบบน่าหวาดสะพรึงกลัว

คำโปรย | Frenzy คือภาพยนตร์แนว Hitchcockian ที่จักสร้างความขึ้งเคียดให้ผู้ชม
คุณภาพ | ฮิตช์ค็อกเชียน
ส่วนตัว | ขึ้งเคียด

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: