From Here to Eternity

From Here to Eternity (1953) hollywood : Fred Zinnemann ♥♥♥♥

ไม่ว่าประเทศไหนๆก็คงเหมือนกัน! เพราะสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจ’ มักทำให้มนุษย์เกิดความอหังการ อ้างอวดดี เย่อหยิ่งจองหอง ผยองไปกับโลกทัศนคติผิดๆ เดินหลงจากเส้นทางเป้าหมาย ตราบจนชั่วนิรันดร์ไม่อาจหวนกลับคืน, คว้า Oscar 8 สาขา รวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

“Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men”.

– John Emerich Edward Dalberg-Acton, 1st Baron Acton

“อำนาจฉ้อฉลฉันใด อำนาจเบ็ดเสร็จฉ้อฉลเบ็ดเสร็จฉันนั้น” คำกล่าวนี้ของ Lord Acton (1834–1902) นักประวัติศาสตร์ นักการเมือง นักเขียนชาวอังกฤษ ได้รับการถกเถียง/อ้างอิงจากนักวิชาการทั้งไทย-เทศ พบเห็นแทบทุกบทความที่เอ่ยกล่าวถึง ‘อำนาจ’ คือสิ่งทำให้สภาวะทางจิตวิทยาของมนุษย์ปรับเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่จำเป็นว่าบุคคลนั้นจะมีอำนาจจริงๆ เพียงแค่การครุ่นคิดถึง (Think of Power) ก็สามารถกระตุ้นต่อมบางอย่างให้รู้สึกถึงพลังอันยิ่งใหญ่

แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับ “ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายจึงมักเป็นคนเลว” เพราะบุคคลที่ใช้อำนาจเป็น จักสามารถมองเห็น ‘ขอบเขต’ ล่วงรับรู้ว่าแท้จริงแล้วนั้นคือสิ่งลวงตา มีเหมือนไม่มี จึงไม่นำพาให้ลุ่มหลงใหล เกิดความฉ้อฉล คอรัปชั่น … ผู้ยิ่งใหญ่ที่ดีแท้ มีมากมายถมไป!

From Here to Eternity คือภาพยนตร์ที่นำเสนอความคอรัปชั่นภายในกองทัพทหาร เมื่อผู้บังคับบัญชาพยายามครอบงำ กดขี่ข่มเหงนายทหารใต้สังกัดให้ปฏิบัติตามคำสั่ง หลงระเริงไปกับ ‘อำนาจ’ จนลืมเลือนหน้าที่รับผิดชอบ สะท้อนภาพใหญ่ๆกับการเมืองของสหรัฐอเมริกา กว่าจะยินยอมเข้าร่วมสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่สอง ต้องรอให้เกิดความสูญเสียหายที่ Pearl Harbour ขึ้นเสียก่อน!


Alfred ‘Fred’ Zinnemann (1907 – 1997) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian เกิดที่ Rzeszów (ปัจจุบันคือประเทศ Poland) ในครอบครัวชาว Jews ตอนเด็กมีความฝันต้องการเป็นนักดนตรี กลับเรียนจบกฎหมายที่ University of Vienna แล้วเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ในภาพยนตร์ เข้าเรียนต่อ Ecole Technique de Photographie et Cinématographie ที่ Paris จบมาทำงานเป็นตากล้องทำงานใน Berlin และขอครอบครัวอพยพย้ายสู่ Hollywood ครั้งหนึ่งเป็นตัวประกอบใน All Quiet on the Western Front (1930) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Wave (1935) ถ่ายทำใน Mexico ใช้นักแสดงสมัครเล่น ถือเป็นหนังแนว Social Realism เรื่องแรกๆของโลก

พ่อ-แม่ ครอบครัวของ Zinnemann ถูกฆ่าล้างชาติพันธุ์โดย Nazi ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างความเจ็บปวดชอกช้ำให้กับเขาเป็นอย่างมาก แต่เพราะติดสัญญาทาสกับสตูดิโอ MGM ทำให้สร้างหนังทิ้งๆขว้างๆอยู่ 2-3 เรื่อง จนกระทั่งได้รับอิสรภาพ มีโอกาสสร้างหนังเรื่อง Act of Violence (1949) ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่สะท้อนปัญหาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และตั้งคำถามเกี่ยวกับจริยธรรมของสงคราม (Ethics of Wars) ตามด้วย High Noon (1952), From Here to Eternity (1953), The Nun’s Story (1959), The Sundowners (1960), A Man for All Seasons (1966), Julia (1977) ฯ

ดัดแปลงจากนวนิยาย From Here to Eternity (1951) แต่งโดย James Ramon Jones (1921 – 1977) อดีตทหารผ่านศึกสังกัด 25th Infantry Division, 27th Infantry Regiment ประจำอยู่ Schofield Barracks, Oahu, Hawaii ตั้งแต่ก่อนการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าร่วบรบในยุทธการ Battle of Mount Austen, The Galloping House และ Sea Horse ได้รับบาดเจ็บที่เข่า ปลดประจำการ กรกฎาคม 1944

หลังจากได้งานเป็นนักข่าว เริ่มเขียนนวนิยายเล่มแรก From Here to Eternity เรียบเรียงจากความทรงจำ ประสบการณ์ตรงพบเห็นเครื่องบินทหารญี่ปุ่นบุกโจมตี Pearl Harbour วันที่ 7 ธันวาคม 1941, เสร็จสิ้นวางขายเดือนกุมภาพันธ์ 1951 กลายเป็นหนังสือขายดี Best-Selling คว้ารางวัล National Book Award และต่อมาติดอันดับ 100 Best Novels แห่งศตวรรษ 20 จัดโดย Modern Library Board

เกร็ด: ความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้ ทำให้ Jones เขียนภาคต่อออกมาอีกสองเล่มคือ The Thin Red Line (1962) และ Whistle (1978) แต่เรื่องหลังเหมือนยังไม่เสร็จดี ฝากฝังก่อนตายให้ Willie Morris สานต่อที่เหลือจนจบ

ด้วยความยาวของหนังสือกว่า 800 หน้า แม้ขายดีแค่ไหนก็สร้างความหนักใจให้กับสตูดิโอสร้างภาพยนตร์ แถมเรื่องราวเต็มไปด้วยประเด็นละเอียดอ่อนมากมาย จนถูกมองว่า ‘unfilmable’ นั่นทำให้ Columbia Pictures จ่ายค่าลิขสิทธิ์ดัดแปลงเพียง $82,000 เหรียญ (เพราะไร้ซึ่งคู่แข่งต่อรองราคา)

ความท้าทายของ Daniel Taradash (1913 – 2003) ผู้ดัดแปลงบทภาพยนตร์เรื่องนี้ คือทำอย่างไรให้ผ่านทั้ง Hays Code และสร้างความพึงพอใจต่อกองทัพ เพื่อสามารถถ่ายทำยังสถานที่จริง Schofield Barracks, Hawaii
– ในนิยาย ตัวละคร Lorene คือโสเภณีขายตัว แต่ในหนังเปลี่ยนเป็น Hostess ในคลับส่วนตัวแห่งหนึ่ง
– เหตุผลการมีลูกไม่ได้ของ Karen ในนิยายเพราะสามีติดโรคหนองในจากความสำส่อน, ส่วนภาพยนตร์ ท้องแล้วแท้ง ตัดประเด็นโรคติดต่อทิ้งไปเลย
– มีทหารนายหนึ่งเป็นคนลักร่วมเพศ (Homosexual) ถูกล้อเลียนจนตัดสินใจฆ่าตัวตาย … แม้หนังจะตัดประเด็นนี้ทิ้งไป แต่การแสดงออกของ Fatso ต่อ Maggio ก็ยังสามารถตีความในลักษณะ รังเกียจพวกรักร่วมเพศ
– เรื่องราวของ Maggio ในคุกถูกกระทำร้ายโดย Fatso ถูกตัดทิ้งออกไป และการเสียชีวิตของเขาเพิ่มเติมตกจากหลังรถ ไม่ใช่แค่ถูกซ้อมหนักเพียงอย่างเดียว (ประมาณว่า กองทัพไม่ยินยอมรับการใช้ความรุนแรงแบบป่าเถื่อนต่อนักโทษ)
– กัปตัน Holmes ในนิยายได้รับการเลื่อนขั้นสมปรารถนา และถูกย้ายเพื่อไปรับตำแหน่งใหม่ที่อื่น, ภาพยนตร์ส่งเสริมคนผิดไม่ได้ เลยถูกไต่สวน ขึ้นศาลทหาร เอาตัวรอดด้วยการยื่นใบลาออก [เห็นว่ากองทัพแนะนำให้ออกมาแบบนี้เลย เป็นสิ่งที่พวกเขากระทำกันจริง! นี่สร้างความรวดร้าวฉานยิ่งยวดต่อผู้กำกับ Zinnemann เรียกฉากนั้นว่า “the worst moment in the film”]
ฯลฯ

เรื่องราวมีพื้นหลังปี 1941 เมื่อนายทหาร Robert E. Lee Prewitt (รับบทโดย Montgomery Clift) ได้รับคำสั่งโยกย้ายมาประจำการยัง Schofield Barracks, Hawaii ด้วยสาเหตุผลว่า Captain Dana Holmes (รับบทโดย Philip Ober) เคยพบเห็นความสามารถต่อยมวยเก่งกาจ ต้องการให้มาเข้าร่วมแข่งขันชิงแชมป์ในสังกัดของตน แต่เจ้าตัวกลับบอกปัดปฏิเสธเพราะเลิกชกอย่างเด็ดขาด นั่นสร้างความคับข้องขุ่นเคืองใจอย่างรุนแรง สั่งการให้จ่า Milton Warden (รับบท Burt Lancaster) ใช้อำนาจในทางมิชอบ กลั่นแกล้ง ลงโทษ ตัดเวลาพักผ่อน บีบบังคับให้ยินยอมจำนน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่คิดยอมความเสียที


นำแสดงโดย Edward Montgomery Clift (1920 – 1966) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Omaha, Nebraska, ด้วยความไม่ชื่นชอบโรงเรียน ตัดสินใจเลือกการแสดง เข้าสู่วงการ Broadway ตั้งแต่อายุ 15 ปี สิบปีต่อมาแม้ไม่ได้มีความสนใจมุ่งสู่ Hollywood แต่ก็ไม่ให้เสียโอกาสเข้าเรียน Actors Studio แจ้งเกิดกับ Red River (1948), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Heiress (1949), A Place in the Sun (1951), I Confess (1952), From Here to Eternity (1953), The Young Lions (1958), Judgment at Nuremberg (1961) ฯ

รับบท Private Robert E. Lee ‘Prew’ Prewitt จากเคยยศสิบโท เป็นนักเป่าแตร แต่ไม่พึงพอใจที่ผู้บัญชาการยกตำแหน่งของตนให้ผู้อื่น เลยขอย้าย ลดตำแหน่ง มาประจำการยัง Schofield Barracks, Hawaii แต่ไม่วายพบเจอปัญหาซ้ำๆ เพราะ Captain Holmes ต้องการให้เขาเป็นนักมวยในสังกัด แต่เจ้าตัวบอกปัด เลยถูกกลั่นแกล้งสารพัด

Prewitt สนิทสนมกับ Private Angelo Maggio (รับบทโดย Frank Sinatra) วันพักผ่อนนำพาไปท่องเที่ยวยัง New Congress Club พบเจอตกหลุมรัก Lorene (รับบทโดย Donna Reed) แต่ไม่ค่อยมีเวลาขายขนมจีบ เกี้ยวพาเธอสักเท่าไหร่ ความซวยเกิดขึ้นเมื่อ Maggio ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตโดย James R. ‘Fatso’ Judson (รับบทโดย Ernest Borgnine) จัดการฆ่าล้างแค้นได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องหลบหนีอาศัยยังบ้านพักของ Lorene และการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง โศกนาฎกรรมจึงบังเกิดขึ้น

Clift เป็นนักแสดง Method Acting ที่ทุ่มเทกายใจให้กับบทบาทอย่างมาก ร่ำเรียนเป่าแตร หัดชกมวย ฝึกซ้อมเดินแถวทหาร แถมเลียนแบบน้ำเสียงพูดของ Jamie Jones (ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้จากประสบการณ์ตนเอง คงไม่ผิดอะไรจะถือว่าตัวละครนี้คือตัวแทนของเขา) ใบหน้าอันตึงเข้มเครียด แสดงความมุ่งมั่นต่ออุดมการณ์ ทุ่มเทนตนเองเพื่ออาชีพทหาร แต่กลับไร้เดียงสาต่อชีวิตและความรัก มองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งอื่นนอกจาก เพื่อตัวตนเอง

“Clift forced the other actors to be much better than they really were. That’s the only way I can put it. He got performances from the other actors, he got reactions from the other actors that were totally genuine”.

– Fred Zinnemann

ฉากที่ได้รับการกล่าวขวัญสุดของหนัง คือตอนเมา เศร้าเสียใจต่อการจากไปของเพื่อนรัก Maggio ว่ากันว่า Clift เมาจริงจัง (ขณะที่ Lancaster ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยสักหยด) สติแม้เลือนลาง แต่ยังสามารถถ่ายทอดการแสดงอันสมจริง 

แซว: แม้ Clift จะไปร่ำเรียนการต่อยมวยอย่างหนัก แต่เขาไม่สามารถเลียนแบบท่วงท่าทางอย่างมืออาชีพได้ ด้วยเหตุนี้เฉพาะฉากต่อสู้ สังเกตให้ดีจะมีการใช้นักแสดงแทน


Burt Lancaster (1913 – 1994) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน ชายผู้ขึ้นชื่อเรื่องรับบทตัวละคร ‘Tough Guys’ เกิดที่ Manhattan, New York สมัยเด็กมีความสนใจยิมนาสติกและบาสเกตบอล เข้าเรียน New York University ด้วยทุนกีฬาแต่ลาออกกลางคันมาเป็นนักแสดงละครสัตว์เล่นกระโดดผาดโพน สมัครเป็นทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปลดประจำการมาเป็นนักแสดง Broadway ภาพยนตร์เรื่องแรก Desert Fury (1947) แต่กลับออกฉายหลังภาพยนตร์เรื่องที่สอง The Killers (1946), โด่งดังกับ From Here to Ethernity (1953), Trapeze (1956) คว้า Silver Bear for Actor จากเทศกาลหนังเมือง Berlin, Elmer Gantry (1960) คว้า Oscar: Best Actor, Judgment at Nuremberg (1961), Birdman of Alcatraz (1962) คว้า Volpi Cup for Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Venice, Atlantic City (1980) ฯ

รับบท First Sergeant Milton Warden ลูกน้องคนสนิทของ Captain Holmes เป็นผู้ควบคุมดูแลกิจการงานทุกสิ่งอย่างในกองพัน ให้ดำเนินเดินไปอย่างสงบราบรื่น ถือว่าเป็นคนมีความสามารถด้านการบังคับบัญชา แต่ไม่ใคร่สนใจตำแหน่งก้าวหน้า นอกเสียจากเมียของหัวหน้า ใช้หน้าที่การงานบุกไปที่บ้านของ Karen Holmes (รับบทโดย Deborah Kerr) ไม่สนถูกผิดศีลธรรม แค่ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเธอเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ Lancaster เคยเล่นแต่บทเบาๆ ไม่ใช่ดราม่าตึงเครียดขนาดนี้ แถมพอพบเห็นความจริงจังของ Clift เลยเกิดความประหม่า เกร็งๆ ทำผิดพลาดบ่อยครั้ง (Monty เรียกเขาว่า ‘a big bag of wind’ นี่เป็นคำตำหนิต่อว่านะครับ) ภาพลักษณ์เหมือนจะเป็นคนดีมีศีลธรรม ชอบช่วยเหลือปกป้องลูกน้องในสังกัดไม่ให้ถูกกลั่นแกล้งทำร้าย แต่ตนเองกลับลักลอบมีชู้กับเมียหัวหน้า พรอดรักริมชายหาดไม่อายฟ้าดิน แบบนี้เรียกว่ากลับกลอก ‘หน้าไหว้หลังหลอก’

แซว: เพราะต้องมีฉากเปลือยอก Lancaster เลยชักชวนให้ Clift โกนขนหน้าอก (ประมาณว่า ถ้าโกนคนเดียวมันจะเขินๆหน่อย)


Deborah Kerr ชื่อจริง Deborah Jane Trimmer (1921 – 2007) นักแสดงหญิงสัญชาติ Scottish เจ้าของสถิติเข้าชิง Oscar: Best Actress ถึง 6 ครั้งแต่กลับไม่เคยได้, เกิดที่ Glasgow, Lanarkshire, วัยเด็กฝึกหัดเป็นนักเต้นบัลเล่ต์ แต่ต่อมาหันเอาดีด้านการแสดงมากกว่า เข้าเรียน Hicks-Smale Drama School จบออกมาเป็นมีผลงานละครเวที West End, ภาพยนตร์เรื่องแรกคือ Contraband (1940) แต่ฉากของเธอถูกตัดออก, เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Life and Death of Colonel Blimp (1943) ตามด้วย Black Narcissus (1947), Quo Vadis (1951), From Here to Eternity (1953), The King and I (1956), An Affair to Remember (1957), The Innocents (1961) ฯ

รับบท Karen Holmes สามีของ Captain Dynamite Holmes ความสัมพันธ์ของทั้งคู่อยู่ในช่วงแตกหัก เพราะต่างเห็นตีนงูนมไก่ รับรู้ธาตุแท้ของกันและกัน ด้วยเหตุนี้เธอจึงพยายามมองหาชู้รักคนใหม่ หว่านโปรยเสน่ห์ไปเรื่อยให้กับทหารผู้อาจมีอนาคตเติบใหญ่ ใกล้เคียงสุดคือ Milton Warden เลยขอให้เขาสมัครเป็นผู้บังคับบัญชาการ แต่เจ้าตัวกลับบอกปัดนั่นไม่ใช่สิ่งที่ฉันต้องการ สุดท้ายเลยจำต้องเลิกราเดินจาก หวนกลับไปหาสามีที่แม้เกลียดชังก็มิอาจดิ้นหลบหนีไปไหนได้พ้น

แรกสุดในความสนใจของสตูดิโอคือ Joan Crawford แต่เธอยื่นข้อเสมอต้องให้ตากล้องประจำตัวของตนถ่ายทำเท่านั้น เลยถูกบอกปัดปฏิเสธไป, สำหรับ Deborah Kerr ทีแรกใครๆคาดคิดว่าเธอคงบอกปัด แต่เจ้าตัวกลับแสดงควาามสนใจยิ่งยวด กำลังต้องการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ไม่ให้กลายเป็น Typecast อยู่พอดี

ปกติแล้ว Kerr จะรับบทหญิงสาวที่ ‘Lady-like’ เรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าพลิกบทบาทสุดขั้ว สวมใส่ชุดว่ายน้ำบิกินี่สุดเซ็กซี่ สายตาแสดงความระร่าน โหยหาต้องการ ถูกผิดศีลธรรมช่างแม้ง ขอแค่สนองตัณหาราคะของตนเองก็เพียงพอแล้ว ถึงกระนั้นความบ้าในตำแหน่งชนชั้น ฉันไม่มีวันลดตัวลงไปแต่งงานกับคนยศศักดิ์ต้อยต่ำกว่า นั่งคงคือสาเหตุให้ตัวละครเลิกร้างรากับจ่า Warden หวนกลับไปหาสามีจอมกะล่อน แล้วค่อยแอบไปร่อนหาชู้รักใหม่รายต่อไป

แซว: ด้วยบทบาทที่โรแมนติกซาบซ่านขนาดนี้ คงไม่แปลกถ้า Kerr กับ Lancaster จะมีความสนิทสนมลึกซึ้งล่วงเกินเลย แต่พวกเขาก็ไม่ได้มากเกินกว่าหนังเรื่องนี้ เพราะต่างก็แต่งงานมีสามี-ภรรยา กันอยู่แล้ว


Donna Reed ชื่อเดิม Donna Belle Mullenger (1921 – 1986) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Denison, Iowa ในครอบครัว Methodist สมัยเรียนได้รับหนังสือ How to Win Friends and Influence People ที่สร้างอิทธิพลให้อย่างยิ่ง ทำให้มีความสนใจด้านการแสดง ได้รับการโหวตให้เป็น Campus Queen จบออกมาทดสอบหน้ากล้องเซ็นสัญญากับสตูดิโอ MGM มีผลงานเล็กๆน้อยๆมากมายในช่วงสงครามโลก ก่อนได้รับบทนำครั้งแรก It’s a Wonderful Life (1946), คว้า Oscar: Best Supporting Actress เรื่อง From Here to Ethernity (1953) ฯ

รับบทโฮสเตสสาว Lorene ชื่อจริงคือ Alma Burke สาวสู้ชีวิตที่พยายามทำงานเก็บเงิน แล้วหาบ้านปักหลักตั้งถิ่นฐาน ใช้ชีวิตสุขสำราญอย่างตามใจปรารถนา เมื่อได้พบเจอ Prewitt ลุ่มหลงใหลในนิสัยซื่อตรงไปตรงมาของเขา แปลกแตกต่างจากใครอื่น เลยยินยอมให้สนิทสนมตกหลุมรักใคร่ แต่แล้วก็ผิดหวังเพราะเขาแต่งงานกับกองทัพไปเรียบร้อยแล้ว ไม่สามารถแบ่งปันเสี้ยวส่วนหนึ่งของหัวใจให้กับเธอได้เลย

Zinnemann ได้เล็ง Julie Harris ให้รับบทบาทนี้ แต่สตูดิโอยืนกรานต้อง Reed เท่านั้น! ทำให้ผู้กำกับไม่หวังอะไรเท่าไหร่แต่สุดท้ายกลับผิดคาด! เพราะเธอตีบทแตกกระจุยกระจาย

ก็เหมือนกับ Kerr ใครเคยรับชมผลงานก่อนหน้านี้ของ Reed ยกตัวอย่าง It’s a Wonderful Life เต็มไปด้วยความน่ารัก หวานแหวว ใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา เรื่องนี้เป็นการพลิกบทบาทที่ไม่มีใครคาดคิดถึง กร้านโลก เยือกเย็นชา ถึงขนาดได้รับฉายา ‘เจ้าหญิง’ เย่อหยิ่งไม่แยแสใยดีต่อใครจริงจัง แต่หลังจากตกหลุมรักเปิดใจให้ Prewitt พยายามทำทุกสิ่งเพื่อฉุดเหนี่ยวรั้ง เกลี้ยกล่อมสุดแรงเกิดจนหมดพลัง เพราะรับรู้ว่าคือการร่ำลาจากชั่วนิรันดร์

แซว: ทั้งๆมีเวลาปรากฎตัวในหนังมากกว่า Deborah Kerr แต่กลับได้รับโอกาสเข้าชิงแค่ Best Supporting Actress ถึงกระนั้นก็ไร้คู่แข่งเทียมทาน คว้ารางวัลครั้งแรกครั้งเดียวในชีวิต


Francis Albert Sinatra (1915 – 1998) นักร้อง/นักแสดง ศิลปินผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 เกิดที่ Hoboken, New Jersey ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านดนตรี แจ๊ส Big Band หลงใหลใน Gene Austin, Rudy Vallée, Russ Colombo, Bob Eberly, และไอดอลคือ Bing Crosby ด้วยนิสัยเกเรทำให้ถูกไล่ออกจากโรงเรียน ทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ เริ่มต้นร้องเพลงตามคลับต่างๆ ต่อด้วยรายการวิทยุ จนกระทั่งได้รับการค้นพบโดย John Quinlan เป็นผู้สอนร้องเพลงให้, เซ็นสัญญากับค่าย Columbia ปี 1943 ออกอัลบั้มแรกในชื่อ The Voice of Frank Sinatra (1946) แล้วห่างหายไปช่วงหนึ่งก่อนหวนกลับมาในนามวง Rat Pat ประกอบก้บคว้า Oscar: Best Supporting Actor เรื่อง From Here to Eternity (1953) กรุยทางสู่ความเป็นอมตะ

รับบท Private Angelo Maggio เพื่อนสนิทขี้เล่นของ Prewitt เป็นคนร่างเล็กผอมบาง จึงมักถูกกลั่นแกล้ง ลงโทษให้ทำโน่นนี่นั่น ครั้งหนึ่งไม่พึงพอใจ James R. ‘Fatso’ Judson (รับบทโดย Ernest Borgnine) มีเรื่องทะเลาะใช้ความรุนแรง จองเวรอาฆาตพยาบาท กระทั่งว่าครั้งหนึ่งหลบหนีหน้าที่การงาน ถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน กักขังในเรือนจำของ Fatso คราวนี้เลยโดนหนักจนต้องหลบหนี แต่แล้วชีวีก็ถึงกาลดับสิ้นสูญ

ตำนานเล่าว่า เหตุผลที่ Sinatra ได้รับบทนี้ เพราะเขามีเส้นสายกับมาเฟียทำการล็อบบี้เจ้าของ Columbia Pictures (นี่เป็นแรงบันดาลใจ Sub-Plot ของ The Godfather ด้วยนะ!) แต่ข้อเท็จจริงบ้างว่าภรรยาขณะนั้น Ava Gardner เป็นคนโน้มน้าวเจ้าของสตูดิโอให้เลือก Sinatra แสดงภาพยนตร์เรื่องนี้

ช่วงปีดังกล่าวถือเป็นจุดตกต่ำของ Sinatra ชีวิตคู่กำลังร้าวฉานกับภรรยา Gardner (แต่ง-หย่าร้าง 1951-57) ขณะนั้นแยกกันอยู่ สภาพจิตใจหดหู่ ขนาดว่าเคยประกาศจะฆ่าตัวตายกับ Clift และ Lancaster แต่ก็ถูกโน้มน้าว หว่านล้อม ช่วยเหลือกอดคอเอาตัวรอดกันไปได้ กลายเป็นหนี้บุญคุณทั้งชีวิต

แต่จะว่าไปบทบาทนี้ของ Sinatra ตรงกันข้ามกับอารมณ์เจ้าตัวขณะนั้นเลยนะ ขี้เล่น ร่าเริงสนุกสนาน แต่ไฮไลท์คือตอนเมามาย (ก็ไม่รู้เมาจริงหรือแสร้งเล่น) ความกระเปียกเทียบไม่ได้กับ Borgnine สมฉายาลูกลิง เอาตัวรอดไปได้อย่างหวุดหวิดจริงๆ กระนั้นเมื่อถึงคราชีวิตหาไม่ มันช่างรวดร้าวระทมใจ คนแบบนี้ทำไมถูกกลั่นแกล้งรุนแรงถึงขนาดนี้!

แซว: Sinatra คาดไม่ถึงเหมือนกันว่าตนเองจะกวาดรางวัลนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมแห่งปี ภายหลังครุ่นคิดว่าผลงาน The Man with the Golden Arm (1955) โดดเด่นกว่าเป็นไหนๆ กลับไม่ได้ลุ้นรางวัลอะไรอย่างมึนๆ


ถ่ายภาพโดย Burnett Guffey (1905 – 1983) สัญชาติอเมริกัน เจ้าของสองผลงาน Oscar: Best Cinematography เรื่อง From Here to Eternity (1953) และ Bonnie and Clyde (1967) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ All the King’s Men (1949), In a Lonely Place (1950), Birdman of Alcatraz (1962) ฯ

หนังเดินทางไปปักหลักถ่ายทำยังสถานที่จริง ค่ายทหาร Schofield Barracks, Hawaii ฉากในเมืองก็ Honolulu, Diamon Head, Waikiki Beach และซีนจูบสะท้านโลกที่ Halona Cove

งานภาพของหนังอาจไม่มีเทคนิคตื่นตระการตาให้รู้สึกหวือหวาอะไร แต่มีความลื่นไหลต่อเนื่องอย่างเป็นธรรมชาติ ส่วนใหญ่ถ่ายระยะ Medium Shot ขยับเคลื่อนไหลไปตามตัวละครให้อยู่กึ่งกลางช็อต

สำหรับฉากกลางคืน ดูแล้วคงเป็นการถ่ายทำตอนกลางวันด้วยฟิลเลอร์ Day-for-Night เพราะข้อจำกัดรูรับแสงของกล้องสมัยก่อน แสงสว่างยามค่ำคืนคงไม่เพียงพอแน่ๆ, สังเกตจากเบื้องหลังซีนจูบสะท้านโลก ชัดเจนเลยว่าพระอาทิตย์ยังคงสาดส่องแสง

ฉากนี้ได้รับการยกย่องเป็น Iconic เกิดการเลียนแบบ ทำซ้ำ พบเห็นได้มากมายเกลื่อนกลาด, ในนิยายเห็นว่ามีการบรรยายเลิฟซีนอย่างโจ่งครึ่ม! แต่ภาพยนตร์ยังมิอาจนำเสนอเช่นนั้นได้ กระนั้นจังหวะที่คลื่นซัดเข้ามากระทบชายฝั่ง นัยยะคือการโล้สำเภา ร่วมรัก มี Sex ที่มีความสวยงาม ลุ่มลึกล้ำ โรแมนติกที่สุดแล้วในภาษาภาพยนตร์

“Nobody ever kissed me the way you do”.

คือผมก็ไม่รู้มันยังไงนะ แต่คาดว่าคงสร้างความเซ็กซี่เร้าอารมณ์ ผู้ชายเกิดความกระหยิ่มยิ้มพึงพอใจ ที่สามารถมอบความสุขสำราญให้หญิงสาวในลีลาไม่เคยสัมผัสถึงมาก่อน

เพราะความเร่าร้อนรุนแรงของฉากนี้ ทำให้กองเซนเซอร์สั่งให้หั่นออกบางจุด และห้ามนำเสนอ Lancaster-Kerr กอดจูบบนโปสเตอร์หนัง แต่เพราะพิมพ์ฟีล์มทั้งม้วนส่งออกฉายไปแล้ว บรรดาโรงหนังทั้งหลายเลยต่างเก็บเศษฟีล์มที่ตัดออกส่วนนี้ไว้เป็นของที่ระลึก แล้วคงแอบส่องดูยามดึกๆ

ตัดต่อโดย William A. Lyon (1903 – 1974) ยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน คว้ารางวัล Oscar: Best Film Edited สองครั้งจาก From Here to Eternity (1953) และ Picnic (1955)

เราสามารถแบ่งหนังออกเป็น 2 เรื่องราวคู่ขนาน ที่มักตัดสลับกันไปมา
– เรื่องราวของนายทหาร Robert E. Lee Prewitt ย้ายมาประจำการยัง Schofield Barracks ถูกกลั่นแกล้งสารพัด ตกหลุมรัก Lorene/Alma Burke แต่สุดท้ายชีวิตดับดิ้นอยู่ยัง Hawaii แห่งนี้
– อีกฝั่งของจ่า Milton Warden มือขวาของ Captain Holmes คอยควบคุมดูแลลูกน้องในสังกัด ลักลอบเป็นชู้รักเมียนาย Karen Holmes สุดท้ายไม่ขอก้าวหน้า จมปลักอยู่กับการเป็นนายทหารยังค่ายฝึกแห่งนี้

นี่ก็เท่ากับว่า หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสองตัวละครที่เป็น ‘นายทหาร’ ชนชั้นต่ำสุดในพิระมิดกองทัพ โดยคนหนึ่งขันแข็งว่าจะทำตามอุดมการณ์เป้าหมายของตนเอง อีกคนหนึ่งแสร้งทำเป็นก้มหัวแต่คิดคนทรยศไม่สนอะไรใคร

การมาถึงของ Pearl Habour นำจาก Archive Footage หยิบยืมจากคลังเก็บของกองทัพอากาศสหรัฐฯ นี่ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาการสร้างได้มากมหาศาลทีเดียว


เพลงประกอบโดย George Duning (1908 – 2000) สัญชาติอเมริกัน เข้าชิง Oscar 5 ครั้งไม่เคยคว้ารางวัล ผลงานเด่นๆ อาทิ All the King’s Men (1949), From Here to Eternity (1953), Picnic (1955), 3:10 to Yuma (1957) ฯ

Soundtrack ของหนังมีสัมผัส Jazz อยู่เล็กๆ เริ่มต้นแทรกจังหวะมาร์ชทหาร, ฉากจูบสะท้านโลกก็มีความโรแมนติกหวานแหวว, ช่วงท้ายมุ่งสู่ความตายก็สั่นสะท้านถึงทรวง, ตอนจบก็ล่องลอยไปพร้อมสายน้ำ

บทเพลงที่ได้รับการจดจำสูงสุด แทบเรียกได้ว่าคือ Main Theme ของหนัง Re-enlistment Blues (1953) แต่งโดย James Jones, Fred Karger, Robert Wells เพราะเสียงเป่าทรัมเป็ตนั่นแหละ ระบายความอึดอัดคับข้องของตัวละครออกมาได้อย่างทรงพลัง ทำเอาทุกคนต้องปรบมือยกย่อง

ส่วนอีกเพลงที่ Prewitt เป่าไว้อาลัยให้กับเพื่อนสนิท Maggio ชื่อ Taps (1862) แต่งโดย Daniel Butterfield [เรียกได้ว่า เพลงชาติประจำงานศพ]

ชื่อหนังสือ/ชื่อหนัง นำจากบทกวี Gentlemen-Rankers (1892) แต่งโดย Rudyard Kipling เกี่ยวกับทหารในสังกัด British Empire ผู้ซึ่งกำลังหลงทาง(ผิด) และไม่สามารถหาทางกลับ(มาเป็นคนดี)ได้ชั่วนิรันดร์

We’re poor little lambs who’ve lost our way,
Baa! Baa! Baa!
We’re little black sheep who’ve gone astray,
Baa—aa—aa!
Gentlemen-rankers out on the spree,
Damned from here to Eternity,
God ha’ mercy on such as we,
Baa! Yah! Bah!

อ่านบทกวีเต็มๆได้ที่: https://www.bartleby.com/364/224.html

From Here to Eternity นำเสนอสิ่งที่คือความหลงผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรคือดอกบัว ผู้มีอำนาจใช้มันเพื่อสนองความต้องการส่วนตน, ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งใครๆย่อมสามารถเข้าใจได้ แต่แปลกเมื่อตนเองกลับกลายเป็นบุคคลประเภทนั้น ไม่รู้ทำไมเหมือนกันถึงได้มืดบอดสนิท ติดอยู่ในกะลาครอบของตนเอง

ชัยชนะสงครามโลกครั้งที่สองของสหรัฐอเมริกา ทำให้ปวงประชาเกิดความอหังการ อ้างอวดดี เย่อหยิ่งจองหอง ผยองไปกับโลกทัศนคติผิดๆ ความที่ผู้กำกับ Fred Zinnemann ไม่ใช่อเมริกันชนแท้ๆ จึงอยากสะกิดย้ำเตือน ความเป็นจริงหาได้สวยเลิศหรูหราดั่งภาพมายาขนาดนั้น!

สงครามโลกครั้งที่สอง ปะทุเริ่มต้นขึ้นในยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 1939 ทุกวันยิ่งทวีความรุนแรงเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ สองปีกว่าๆที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมหลังจากเหตุการณ์โจมตี Pearl Harbour วันที่ 7 ธันวาคม 1941 พวกคุณมัวแต่กินขี้ปี้นอน หรี่สาว ลอบมีชู้ นอกใจเมีย ชะล่าใจกันอยู่หรือไงว่าฉันไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย ถึงได้เคลื่อนไหวเชื่องชักช้ายิ่งกว่าเต่าคลานขนาดนี้

ความเป็นจริงคงไม่ต่างจากภาพยนตร์เรื่องนี้สักเท่าไหร่ ในฐานทัพเต็มไปด้วยทหารที่มีความขี้เกียจคร้าน ผู้บัญชาการมัวแต่เอาเวลาไปหลีสาวนอกใจเมีย มอบหมายหน้าที่การงานให้ลูกน้องคนสนิท ซึ่งก็เอาเวลาว่างไปตีซี้เมียนาย กดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบนายทหารผู้ไม่ยินยอมก้มหัวให้ หาเรื่องชกต่อยตี เข้าแข่งขันทัวร์นาเมนต์เพื่อพิสูจน์ว่ากองพันฉันเจ๋งเป้งที่สุดในปฐพี

“อำนาจทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงไป” แล้วถ้าเปลี่ยน ‘มนุษย์’ เป็น ‘ประเทศชาติ’ จะมีความแตกต่างกันไหม?

นี่คงไม่ถึงขั้น Anti-American หรือ Anti-Military แต่คือการสะท้อนข้อเท็จริงที่ว่า ความยิ่งใหญ่มหาอำนาจของสหรัฐอเมริกา นั่นเป็นเพียงภาพมายาเพ้อฝัน เพื่อเมื่อไหร่ถูกเปิดโปง ค้นพบสิ่งชั่วร้าย คอรัปชั่นภายใน ไม่เพียงใครๆย่อมรู้สึกอับอาย แต่ยังจะสูญเสียหน้าตาเชื่อมั่นศรัทธา ทุกสิ่งอย่างสร้างมาพังทลายป่นปี้ย่อยยับเยินโดยไม่รู้ตัว

เอาจริงๆหลายปีถัดมา ช่วงทศวรรษ 70s เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวได้ถือกำเนิดขึ้น เริ่มต้นจาก Pentagon Papers ตามด้วย Watergate Scandal เมื่อความฟ่อนเฟะภายในของประธานาธิบดี Richard Nixon ได้ถูกเปิดโปงออกสู่สาธารณะ จนที่สุดต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง ครั้งแรกครั้งเดียวในประวัติศาสตร์! ใครมีชีวิตผ่านช่วงเวลานั้น คงสูญเสียความมั่นเชื่อมั่นศรัทธาในประเทศชาติโดยสิ้นเชิง … แต่ไม่กี่ปีหลังจากนั้น ผู้คนกลับหลงลืมเลือน ช่างแม้ง!

โลกยุคสมัยปัจจุบันนี้ ทุกหย่อมหญ้าล้วนเต็มไปด้วยความคอรัปชั่นคดโกงกิน แถมเป็นสิ่งใครๆยินยอมรับกันได้ด้วยนะ ก้มหัวให้กับอำนาจรูปแบบใหม่ มีชื่อเรียกว่า ‘อำนาจแห่งทุนนิยม’ นี่แปลว่าพวกเราได้หลงทาง ‘From Here to Eternity’ ชั่วนิจนิรันดร์แล้วสินะ T_T


ด้วยทุนสร้างประมาณ $1.7–2.5 ล้านเหรียญ ทำเงินล้นหลามถล่มทลาย $30.5 ล้านเหรียญ สูงสุดแห่งปี และเมื่อเทียบค่าเงินปี 2017 เท่ากับ $277 ล้านเหรียญ

เข้าชิง Oscar 13 จาก 12 สาขา คว้ามา 8 รางวัล
– Best Picture ** คว้ารางวัล
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actor (Montgomery Clift)
– Best Actor (Burt Lancaster)
– Best Actress (Deborah Kerr)
– Best Supporting Actor (Frank Sinatra) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actress (Donna Reed) ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography Black-and-White ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing ** คว้ารางวัล
– Best Costume Design Black-and-White
– Best Sound, Recording ** คว้ารางวัล
– Best Score of a Dramatic or Comedy Picture

เกร็ด:
– จำนวนรางวัลที่ได้รับ ครองสถิติสูงสุดสมัยนั้น และเทียบเท่า Gone With the Wind (1939)
– ถือเป็นเรื่องที่สองถัดจาก Mrs. Miniver (1942) เข้าชิงสาขาการแสดงครบถ้วน Best Actor, Best Actress, Best Supporting Actor, Best Supporting Actress แถมยัง +1 รวมเป็น 5 คน
– นับเป็นเรื่องที่สองถัดจาก Mutiny on the Bounty (1935) ที่สองนักแสดงนำชายเข้าชิง Oscar: Best Actor พร้อมกัน ด้วยเหตุนี้เลยดูเหมือนพวกเขาถูกแบ่งผลโหวต ผลลัพท์เลยส้มหล่นใส่ William Holden จาก Stalag 17 (1953) คว้ารางวัลปีนี้ไปครอง

ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้อย่างมาก ประทับใจในไดเรคชั่นของผู้กำกับ Fred Zinnemann ดูคล้ายๆการต่อยมวย ค่อยๆออกหมัดสะสมแต้มไปเรื่อยๆ เน้นลำตัวซ้ำๆให้เกิดความชอกช้ำจุกเสียด จนกระทั่งถึงยกสุดท้ายไคลน์แม็กซ์ ฮุคท่าไม้ตายจนผู้ชมน็อกสลบคาเวที!

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เรียนรู้จักธาตุแท้ของสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจ’ อย่าปล่อยให้ตนเองกลายเป็นผู้ลุ่มหลงใหลยึดติด ถูกจับผิดเมื่อไหร่ก็เสียหมา อย่าเพ้อคิดว่าตอนนี้ฉันยังเอาตัวรอดได้อยู่ แต่สักวันเดี๋ยวก็ย่อมรู้ ผลเวรกรรมมันจักตามสนองอย่างเท่าทัน

แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งทหาร ตำรวจ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ไม่ใช่ให้ลอกเลียนแบบทำตาม พยายามอย่าให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีกในชีวิตจริงเลย

จัดเรต 15+ กับความคอรัปชั่น วางอำนาจบาดใหญ่ ใช้กำลังเข้าห่ำหั่นแก้ปัญหา

คำโปรย | From Here to Eternity หมัดเด็ดของผู้กำกับ Fred Zinnemann ตราตรึงชั่วนิรันดร์
คุณภาพ | สิรึ
ส่วนตัว | ชอบมาก

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
19 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
Lingly Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Lingly
Guest
Lingly

คือตอนแรกดูแบบไม่รู้ไรเลย จ่าจะไปเป็นชู้กับเมียนาย หูยยยย มีการวันนั้นฝนตก ใบกล้วยบัง 555 ลิงลี่ไปเผือกมาค่ะ จากหนังสือไบโอ(อีกแล้วค่ะ) ว่าที่เม้าท์ๆ Burt Kerr ในจอร้อนแรงมาก จนทั้งคู่อดใจไม่ไหว มีนอกจอค่ะ เพื่อนร่วมเมาเลยมีแค่มอนตี้กับซินาตร้า 😂

เสียดายรางวัลออสการ์มอนตี้ไม่ได้ ซีนเป่าแตรนั่นเราร้องไห้ตามเลย

ฮาสุดคงเป็นความขี้แซะของหนังเกี่ยวกับกองทัพ ยิ่งซีนท้ายๆสองสาวนางเอกเจอกันก็ช่างโลกกลมเหลือเกิน 5555 ก็เพราะPrewittทำให้สามีคุณนายต้องลาออก 5555

ชอบเรื่องนี้มากค่ะ ถ้ามีโอกาสอยากไปอ่านนิยายเลย เพราะบางประเด็นที่แรงเกินไปในหนังไม่ได้สร้าง

%d bloggers like this: