From Russia with Love (1963) : Terence Young ♥♥♥♥
ภาพยนตร์ลำดับที่ 2 หนึ่งในภาคที่ได้รับการยกย่องว่า ยอดเยี่ยมที่สุดของเพชฌฆาต 007, องค์กร SPECTRE ได้ส่งหญิงสาวสายลับชาวรัสเซีย ให้พบกับสายลับอังกฤษ James Bond จากศัตรูกลายเป็นมิตรแล้วกลายเป็นคนรัก, From Russia with Love มีสาวบอนด์ และเพลงประกอบที่ผมชอบที่สุดในแฟนไชร์
หลังจากความสำเร็จอันล้นหลามของ Dr. No, United Artists ไฟเขียวให้สร้างภาคต่อ และเพิ่มทุนสร้างให้ด้วยสองเท่า
สาเหตุที่ผู้สร้างหยิบ From Russia with Love ขึ้นมา ฟังดูไม่น่าเชื่อ เพราะประธานาธิบดี John F. Kennedy ได้เลือกนิยายเล่มนี้เป็น 1 ใน 10 นิยายโปรด (บอกกับนักข่าวใน Life Magazine) ผู้สร้างเลยต้องการเกาะกระแส นำนิยายเรื่องนี้มาสร้างทันที, ซึ่งถ้าเรียงลำดับนิยายที่ตีพิมพ์ From Russia with Love เขียนขึ้นก่อน Dr. No ส่วนเรื่องถัดไปคือ Goldfinger (ซึ่งก็กลายเป็นเรื่องที่ 3 ที่ได้สร้าง ฉายปีถัดไป)
ไม่รู้เป็นโชคดีหรือโชคร้าย ปธน. John F. Kennedy ได้มีโอกาสรับชม From Russia with Love ที่ White House เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1963 หลังจากนั้นเพียง 2 วันถัดมา ก็ถูกลอบสังหารยิงเสียชีวิต (22 พฤศจิกายน 1963) ถือว่านี่เป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่ท่านได้ดูนะครับ
Ian Fleming เขียนนิยายเรื่องนี้เป็นลำดับที่ 5 ในปี 1956 (ตอนนั้นคิดว่าจะให้นี่เป็นนิยายเล่มสุดท้าย) แรงบันดาลใจเกิดขึ้นขณะที่เขาได้ไปทำข่าวการประชุมตำรวจสากลที่ Istanbul, Turkey ให้กับ The Sunday Times เมื่อเดือนมิถุนายนปี 1955 และขากลับอังกฤษขึ้นรถไฟสาย Orient Express, เรื่องราววนเวียนอยู่กับองค์กร SMERSH หน่วยข่าวกรองลับของสหภาพโซเวียต ที่พยายามลอบสังหาร James Bond ด้วยวิธีต่างๆ มีการใช้หญิงสาวและเครื่อง Spektor (ในหนังเปลี่ยนเป็นชื่อ Lektor) ด้วยวิธีขุดบ่อล่อปลา หลอกให้เชื่อสนิทใจ แล้วตลบหลังฆ่า, เรื่องราวส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ Istanbul และบนรถไฟสาย Orient Express
Fleming เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ในนิยายที่เขาเขียน From Russia with Love เป็นเรื่องที่ดีที่สุด และส่วนตัวชอบที่สุด
Personally I think from Russia, with Love was, in many respects, my best book, but the great thing is that each one of the books seems to have been a favorite with one or other section of the public and none has yet been completely damned.
Ian Fleming
ในนิยายของ Ian Fleming ศัตรูหลักของ Bond ภาคนี้คือ SMERCH หน่วยข่าวกรองลับของสหภาพโซเวียต (นี่เป็นองค์กรสมมตินะครับ) แต่เพราะผู้สร้างไม่ต้องการนำเรื่องสงครามเย็นและการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับหนัง จึงทำการเปลี่ยนกลุ่มผู้ร้ายให้เป็น SPECTRE ที่แท้เป้าหมายแท้จริงจะยังไม่ถูกนำเสนอในภาพนี้ แต่มีความตั้งใจคือพยายามลอบสังหาร James Bond
ตอนจบของนิยายเล่มนี้ Fleming จงใจเขียนให้คนอ่านเกิดความคลุมเคลือว่า สุดท้ายแล้ว James Bond รอด/ไม่รอด, นี่ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นยังไงนะครับ ไม่เคยอ่านนิยาย แต่ตอนจบของหนัง จำเปลี่ยนเป็น ‘ต้องรอด’ เพื่อที่จะให้มีสร้างภาคต่อได้
ทีมงานส่วนใหญ่ของหนังยังคงกลับมาสานต่องานเดิม โปรดิวเซอร์ Harry Saltzman กับ Albert R. Broccoli ผู้กำกับ Terence Young, Richard Maibaum และ Johanna Harwood คนดัดแปลงบทภาพยนตร์ก็ยังกลับมา
Sean Connery กับการรับบท James Bond ภาคต่อ ยังคงมีเสน่ห์ ลีลาเย้ายวนเช่นเคย, กับหนังเรื่องนี้ เราจะเห็น Bond มีความเป็น playboy มากขึ้น รู้ทั้งรู้ว่า Tatiana Romanova ต้องคือสายลับ คนสองหน้า ที่แอบปลอมตัวเพื่อเป็นเหยื่อล่อลวงให้ติดกับ แต่มันเรื่องอะไรที่เขาจะไม่ยอมรับน้ำใจของศัตรู, ถือว่า Bond เล่นตามเกมของศัตรูเปะๆ ประหนึ่งตัวหมากรุก เดินหลงเข้าไปในกับดักที่ศัตรูวางไว้
ผมชอบตัวละคร Ali Kerim Bey รับบทโดย Pedro Armendáriz เป็นหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษ ประจำ Istanbul (British Intelligence station chief in Istanbul) จากคนรู้จักกลายมาเป็นเพื่อน และกลายเป็นเพื่อนตาย, ตอนที่ Kerim ชี้ให้ Bond เห็นถึงแผนการของหญิงสาว ที่ใช้ร่างกายยั่วยวนหลอกล่อ พอนอนด้วยกันคืนหนึ่งแล้ว เธอจะหาข้ออ้างเล่นตัว ประหนึ่งหมีติดน้ำผึ้ง ที่เผลอกินแล้วครั้งหนึ่งก็อยากลิ้มลองอีก แต่เธอจะไม่ยอมให้อีกง่ายๆ … ผมละขำกร๊ากเลย เออจริง นี่มันประหนึ่งเกมหมากรุกที่มีการวางแผน เตรียมการไว้เป็นอย่างดี มีชั้นเชิง ดำเนินตามสูตรเปะๆ
จริงๆในบทหนังและนิยาย ตัวละครนี้ต้องไม่ตายนะครับ แต่นักแสดง Pedro Armendáriz กลับชิงเสียชีวิตไประหว่างการถ่ายทำ มันเลยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตัดเขาออกจากบท นี่ถือว่าน่าเสียดายมากๆ จัดว่าเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์ (ชอบมากๆเรื่องมีเมียหลายคน) และคงกลายเป็นเพื่อนแท้ของ James Bond (ที่มีอยู่ไม่กี่คนหรอก)
สำหรับ Bond Girl ในภาคนี้ Tatiana Romanova ชื่อก็บอกแล้วว่า Russia แต่ก็มีการเล็งๆนักแสดงไว้หลากหลาย อาทิ Sylva Koscina, Virna Lisi (สองคนนี้ชาว Italian) Annette Vadim (ชาว Danish) Tania Mallet (ชาวอังกฤษ) ก่อนที่สุดท้ายจะตกเป็นของ Daniela Bianchi (ชาว Italian) รองนางงามจักรวาล (Miss Universe) ปี 1960, เห็นว่า Bianchi ไปเข้าคอร์สเรียนพูดภาษาอังกฤษเพื่อใช้ถ่ายหนัง แต่สุดท้ายผู้กำกับใช้เสียงของนักแสดงละครเวที Barbara Jefford พากย์ทับแทน (ให้มีสำเนียงรัสเซีย)
Bond Girl ในภาคนี้ถือว่ามีบทค่อนข้างเยอะทีเดียว, เริ่มต้นจากการเป็นสายลับสองหน้า เชื่อว่าตัวเองทำงานให้ Russia แต่ถูกตลบหลังด้วยองค์กร SPECTRE เมื่อได้พบกับ James Bond ก็เริ่มตกหลุมรัก (ก็ไม่รู้ไปรักกันอีท่าไหน สงสัยติดในใจลีลาบนเตียง… กระมัง) ฮาที่สุดก็ตอนบันทึกเสียง อธิบายลักษณะของเครื่อง Lektor ที่จะถูกขัดจังหวะด้วยคำพูดอันยั่วยวนหยอกเย้า ที่ขนาด M ยังทนฟังไม่ได้ นี่ทำให้ตัวละครนี้มีเสน่ห์มาก ไม่ใช่แค่ความสวยและหน้าอกของเธอ, ผมเรียก Bond Girl ของ Daniela Bianchi ว่า ‘สวยกระชากใจ’
นี่เป็นครั้งแรกกับการเปิดตัว Desmond Llewelyn ในบท Q แผนกสิ่งประดิษฐ์สุดทันสมัย (ชื่อของเขาคือ Major Boothroyd) แม้ภาคนี้จะยังไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก แค่ออกมาแนะนำของเล่น แต่ถือว่ามีความสำคัญระดับ ‘ชี้เป็นชี้ตาย’ ของ James Bond ถ้าไม่ได้กระเป๋าวิเศษใบนี้ช่วยไว้ ฉากนั้นเขาคงได้กลายเป็นศพแน่, นี่ทำให้ผมระลึกถึงของเล่นสมัยใหม่ของ Bond ที่บางชิ้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เหมือนเอาไว้โชว์เทคโนโลยีใหม่ๆเท่านั้น
ตัวร้ายของหนังเรื่องนี้ มีถึง 4 คน
บอสใหญ่เบอร์ 1 ยังไม่เห็นหน้า มีความเหี้ยมโหด จริงจัง ชอบเล่นกับแมว (แบบเดียวกับ The Godfather) แฟนๆ James Bond คงรู้กันดี ว่าชายคนนี้คือ Ernst Stavro Blofeld หัวหน้าขององค์กร SPECTRE, นักแสดงที่เป็นแบบถ่ายร่างกายคือ Anthony Dawson (คนที่เคยรับบท Professor Dent ใน Dr. No) ส่วนเสียงที่ได้ยินเป็นของ Eric Pohlmann
เบอร์ 3 Rosa Klebb รับบทโดย Lotte Lenya นักร้อง นักแสดงชาว Austrian, การแสดงของป้าถือว่าขโมยซีนไปเต็มๆ มีความดุดัน กร้าวแกร่ง ถือเป็นผู้หญิงแก่แดด แพศยา มากประสบการณ์, ชอบที่สุดก็คือตอนท้ายที่ปลอมตัวเป็นแม่บ้าน ขอบอกว่าเนียลและเหมือนมากๆ (ถ้าไม่เคยเห็นกันมาก่อน คงคิดว่าป้าแกเป็นตัวประกอบเฉยๆแน่)
เจ้าหน้าที่ที่ Rosa Klebb เลือกมาให้เป็นผู้ปฏิบัติการ คือ Donald ‘Red’ Grant รับบท Robert Shaw ด้วยร่างกายที่ฟิตปัง แข็งแกร่ง แถมยังเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศ, ฉากที่ Klebb มาดูตัว แล้วสวมสนับมือต่อยเข้าที่ท้อง นี่ถือเป็นอีกฉากในตำนาน เพื่อพิสูจน์ว่า คนๆนั้นมีความแข็งแกร่งเพียงพอ พร้อมแล้วที่จะออกปฏิบัติการ นี่ถือเป็นการทดสอบที่คาดไม่ถึง
ศัตรูคนสุดท้าย เบอร์ 5 เซียนหมากรุก Kronsteen รับบทโดย Vladek Sheybal ว่าไปตัวละครนี้ไม่เคยเจอกับ Bond ตัวต่อตัวเลยนะครับ เป็นเหมือนขงเบ้งจอมวางแผนจัดฉากอยู่ด้านหลัง โผล่มาไม่กี่ฉาก แต่เราจะเห็นเรื่องราวมีการดำเนินไป เคลื่อนไหวที่คล้ายกับการเดินหมากรุก ซึ่งก็เกิดจากแผนของชายคนนี้แหละ, เหตุที่ผู้กำกับเลือก Sheybal เพราะใบหน้าของเขาดูเฉลียวฉลาด (intellectual) ผู้ชมคงรู้สึกได้ว่าหมอนี่ต้องอัจฉริยะแน่ๆ
เป้าหมายของตัวร้ายภาคนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์ยิ่งใหญ่อลังการอะไร แค่เพียงต้องการแก้แค้น วางแผนฆ่า James Bond อย่างมีสไตล์ก็เท่านั้น, หนังใส่ประเด็นที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นภาคต่อ คือเพื่อแก้แค้นให้ Dr. No นี่ฟังดูก็สมเหตุสมผล พอรับได้ เพราะในภาคแรก Dr. No ก็มีการเปรยๆ ว่าตนเป็นสมาชิกของ SPECTRE อยู่ด้วย
ถ่ายภาพ Ted Moore, ลีลาการถ่ายภาพดูพัฒนาขึ้นจาก Dr. No พอสมควร มีการเคลื่อนไหวกล้องเร็วขึ้น หลากหลายมุมมอง มีนัยยะสะท้อนความรู้สึกของตัวละคร, สิ่งที่โดดเด่น ยังคงคือการจัดองค์ประกอบ ออกแบบของฉาก พื้นหลัง ที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์แฝง ภาคนี้เพิ่มสีสันลวดลายเข้ามา ชุดของตัวละครมีมากขึ้น (โดยเฉพาะของหญิงสาว มีมากพอเอาไปเดินแฟชั่นโชว์ยังได้)
ฉากวิ่งหลบเฮลิคอปเตอร์ เชื่อว่าหลายคนคงระลึกได้ว่า มีลักษณะคล้าย North by Northwest ฉาก Cropduster ที่ Cary Grant กระโดดหลบไปมา, แม้ความยอดเยี่ยมในการนำเสนอจะเทียบไม่ได้เลย แต่ถือว่าเป็นการโชว์เสี่ยงตายของ Stuntman ที่น่าทึ่งกว่า (เพราะเราจะเห็นเฮลิคอปเตอร์ พุ่งเฉียดพื้น หลบนักแสดงไปในระยะใกล้มากๆ)
เจ้าเครื่อง Spektor/Lektor ใครที่รู้ประวัติศาสตร์ คงสามารถคาดเดาได้ ว่าแรงบันดาลใจต้องมาจาก เครื่อง Enigma Machine ที่ Nazi ใช้เพื่อเข้ารหัสการสื่อสาร, ใครอยากรู้จัก เข้าใจเจ้าเครื่องนี้อย่างถ่องแท้ ไปหาหนังเรื่อง The Imitation Game (2014) ถอดรหัสลับ อัจฉริยะพลิกโลก นำแสดงโดย Benedict Cumberbatch มาดูนะครับ
ความซับซ้อนของเรื่องราวและแผนการลองสังหาร James Bond เทียบแล้วคงไม่ต่างจากเจ้าเครื่อง Lektor ที่ไม่ใช่ว่าได้มาแล้วจะสามารถไขรหัสได้ทันที ต้องใช้การแปล แกะภาษาให้ออกก่อน ถึงจะเข้าใจข้อความที่ศัตรูสื่อสารกันได้, จริงๆผมอยากเปรียบเครื่อง Lektor กับจิตใจของหญิงสาว Tatiana Romanova ที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน คาดเดาอะไรไม่ค่อยได้ แต่ดูแล้วมันไม่น่าใช่นะ (จริงๆมันควรจะเป็นอย่างนั้น แต่มองยังไงก็ไม่ใช่)
เกร็ด: ฉากการแข่งหมากรุก นำมาจากหมากกระดานที่ Boris Spassky แข่งเอาชนะ David Bronstein เมื่อปี 1960
ถึงชื่อหนังจะ From Russia แต่ไม่ได้ไปถ่ายที่ Russia เลยนะครับ (ตอนนั้นยังเป็นช่วงสงครามเย็นอยู่) ใกล้สุดก็ Istanbul, Turkey (ใครเคยเล่นเกม Assassin Creed Brotherhood คงจะรู้สึกคุ้นเคยกับ Istanbul เป็นอย่างดี โดยเฉพาะฉากในตลาดนี่พิมพ์เดียวกันเลย) ส่วนถ่ายภายในใช้บริการของ Pinewood Studios, London และฉากตอนจบ ถ่ายที่ Venice, Italy
เกร็ด: ก่อนเข้าสู่ฉากจบของหนัง ภาพเปิดช็อต Venice นกพิราบบินหนี นี่แสดงถึง Freedom ของทั้ง Bond และ Tatiana
ตัดต่อโดย Peter R. Hunt, ฉากเปิดเป็นการยั่วหลอก เริ่มต้นแนะนำตัวร้ายที่สามารถฆ่า James Bond (ตัวปลอม)ได้สำเร็จ (สมัยนั้นคงมีคนช็อค เพราะคิดว่า James Bond ถูกฆ่าตายจริงๆเป็นแน่) หลัง Title Sequence กลับมา เปิดตัวแชมป์โลกหมากรุก ที่ต้องถือว่าเป็นอัจฉริยะของโลก, แนะนำหนึ่งบู๊หนึ่งบุ๋น ที่เป็นสมาชิกของ Specter สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชม เกิดความฉงนว่า James Bond จะเอาตัวรอดไปได้ยังไง… กับฉากเปิดตัว James Bond กำลังนอนบนกกกับสาวบนเรือ เห็นแล้วกุมขมับ ไม่รู้ตัวเลยใช่ไหม ว่าอะไรๆเลวร้ายกำลังคืบคลานเข้ามา
ด้วยทุนสร้างที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีฉาก Action เพิ่มขึ้น แม้หลายฉากเมื่อดูสมัยนี้จะรู้สึกเชยๆ ไม่สมจริง อาทิ การยิงปืนปะทะกันในคาราวาน Gypsies ดูเหยาะแหยะ มั่วซั่วไปหมด, ฉากไล่ล่ากันในทะเลสาบ ปล่อยถังน้ำมัน แล้วระเบิดเป็นเส้นได้เว่อมาก ฯ แต่มีฉากหนึ่งที่สุดคลาสสิก เป็นที่กล่าวขาน มีความลุ้นระทึก ตื่นเต้นที่สุด คือการต่อสู้กับตัวร้ายในห้องรถไฟ หมอนี่แข็งแกร่งกว่า Bond ทุกสิ่งอย่าง ได้เปรียบพละกำลัง ไหวพริบ ประสบการณ์ แถมได้เปรียบอยู่ด้วย เกือบจะฆ่าสำเร็จแล้ว ถ้าไม่เพราะของเล่นชิ้นสุดท้ายที่ช่วยชีวิตไว้ James Bond คงได้สิ้นชื่อละครานี้
อีกฉากหนึ่งตอนจบ กับป้าเบอร์ 3 ที่ปลอมตัวมาเป็นคนใช้ ผมจำได้ตอนเห็นเธอครั้งแรก เห้ย! บอนด์ชิบหายแล้ว รอดจากศัตรูหนึ่งได้ มาเจอเข้าแบบนี้ จะไปรอดยังไง! … ปรากฎว่าเป็นหญิงสาวสายลับที่แปรพักตร์ หลงรัก James Bond เข้าไปแย่งปืน นั่นทำให้สถานการณ์พลิกกลับมาได้เปรียบ ขณะนั้นป้าเผยอาวุธลับสุดท้าย มีดที่ซ่อนอยู่ในรองเท้า มันน่าทึ่งว่า Bond คิดได้ยังไง เอาเก้าอี้ยันไว้ เธอพยายามเตะ … คำพูดตบท้ายของบอนด์ ‘She had her kicks!’ ฮะฮา เป็นคำตบท้ายที่เท่ห์ระเบิด
เพลงประกอบหนัง John Barry ขึ้นมาแทนที่ Monty Norman ในการสร้างเพลงประกอบทั้งหมด, สำหรับ Soundtrack และเพลงประกอบ From Russia with Love แต่งโดย Lionel Bart ผมถือว่ามีความไพเราะที่สุดในบรรดาเพลงประกอบหนัง James Bond ทุกภาค (ผมชอบมากกว่า Skyfall ของ Adele อีกนะ) น้ำเสียงของ Matt Monro คล้ายกับ Frank Sinatra มาก (ทีแรกผมคิดว่า Sinatra ร้องนะครับ) ทำนองเพลงมีความหวานแหวว หอมกรุ่น เหมือนตื่นขึ้นมาตอนเช้ากำลังจิบกาแฟอุ่นๆ ทั้งๆที่ความรู้สึกต่อ Russia ควรจะเยือกเย็น หนาวเหน็บ แต่เพลงกลับให้ความรู้สึกตรงข้าม นี่ทำให้เกิดความหลงใหล โหยหา คิดถึง … จากรัสเซียด้วยรักจริงๆ
ผมจ้องมอง Title Sequence ว่าสร้างยังไง? ก็พบว่า เป็นการฉายภาพ Projection ที่เป็นตัวอักษร Credit ขึ้นฉาก แล้วให้นักแสดงมาเต้นยั่วๆ เดินผ่านหน้าโปรเจคเตอร์ แล้วถ่ายภาพบันทึกไว้ (มันจะเหมือนเวลาฉายโปรเจคเตอร์ขึ้นจอแล้วมีคนเดินผ่าน จะเห็นภาพนูนๆ ม้วนๆ), สร้างโดย Robert Brownjohn (แทนที่ Maurice Binder จากความเห็นไม่ลงรอยกับผู้กำกับ แต่เขาก็กลับมาฉากเปิดให้ต่อตั้งแต่ Thunderball-1965) และนี่เป็นครั้งแรกของฉากเปิดหนัง James Bond ที่ให้ผู้หญิงมาเต้นๆ
ผมไม่เคยนั่งดู Title Sequence ทั้งหมดของ James Bond แล้วตัดสินหาว่า ภาคไหนสวยสุด แต่เชื่อว่าในบรรดาชาร์ทของคนจัดอันดับ หนึ่งในนั้นต้องมี From Russia with Love ติดอย่างน้อย Top 5 แน่ๆ คือมันสวยแพรวพราว ชอบที่สุดคือตอนขึ้นตัวอักษร 007 แล้วผู้หญิง(ที่เป็นแบบ) เต้นส่ายหน้าอกพริ้วมาก และตอนชื่อ Sean Conery ขึ้น ภาพ Close-Up ที่พุง/สะดือของผู้หญิง แล้วกระเพื่อมรัวๆ, ในหนังมีฉากเต้นลักษณะนี้อยู่ด้วยนะครับ ในปาร์ตี้ของชาว Gypsies จะมีเต้นโชว์สะดือ (ก็ไม่รู้ มีชื่อเรียกว่าท่าเต้นว่าอะไรนะครับ)
From Russia with Love เป็นหนังที่มีเป้าหมายคือ James Bond, โดยปกติแล้ว 007 มักจะเป็นคนเข้าไปยุ่ง วุ่นวายกับเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อกอบกู้โลก เพื่อสู้กับองค์กรก่อการร้าย ฯ แต่ภาคนี้เป้าหมายของเขามีแค่ขโมยเครื่อง Lektor ที่ก็ไม่ได้ต้องไปต่อสู้ ห้ำหั่นกับองค์กรอะไร ซึ่งเป้าหมายของหนังจะกลับกัน โดยองค์กรเหล่านั้น หมายหัว James Bond ผู้นี้ วางแผน ใช้เหยื่อล่อให้มาติดกับ แล้วฆ่าให้ตาย(อย่างมีสไตล์) แต่พี่แกทั้งหนังเหนียว ทั้งโชคช่วย เอาตัวรอดไปได้อย่างหวุดหวิดที่สุด, ศัตรูในภาคนี้ ผมถือว่าแข็งแกร่งที่สุด เฉลียวฉลาดที่สุด เท่าที่ James Bond เคยพบเจอมา (โดยที่ตัวเขาเองน่าจะไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำ!)
ด้วยทุนสร้าง $2 ล้านเหรียญ หนังโกยเงินทั่วโลก $78.9 ล้านเหรียญ สูงกว่า Dr. No เสียอีก นั่นทำให้ภาคต่อที่วางแผนไว้ ได้สร้างต่อโดยไม่ติดขัด
เกร็ด: นี่เป็นหนังเรื่องแรกที่มีการเขียน James Bond will return/be back. ในเครดิตตอนท้าย
From Russia with Love ถือเป็นหนังภาคต่อที่ทำได้ยอดเยี่ยมกว่าภาคแรก Dr. No แต่ผมคิดว่ายังไม่ดีที่สุดของแฟนไชร์นี้, ส่วนตัวชอบหนังเรื่องนี้มากๆ (ไม่ได้ชอบที่สุด แต่ติด Top5) โดยเฉพาะเพลงประกอบที่มีความไพเราะเพราะพริ้ง จักได้ยินทำนองประกอบอยู่เรื่อยๆ ฟังไม่เบื่อเลย, และ Daniela Bianchi ชาวรัสเซียที่ สวยกระชากใจ เธอคือสาว Bond ที่ผมชอบที่สุด จนการมาของ Vesper Lynd ใน Casino Royale (2006) รับบทโดย Eva Green ที่ สวยสังหารและบดขยี้หัวใจ
ปกติแล้วคุณสามารถดูหนังของ James Bond ภาคไหนก่อนก็ได้ ส่วนใหญ่จะไม่ต่อเนื่องกัน (มีการอ้างถึงกันบ้าง) แต่ถ้าดูเรียงลำดับตามเวลาฉาย จะได้อรรถรสที่เป็นการพัฒนาขึ้นตามกาลเวลา เดินไปพร้อมๆกับหนัง
แนะนำกับ คนชอบหนังแนวสายลับมาดเท่ห์, Bond Girl ภาคนี้ Daniela Bianchi สวยกระชากใจที่สุดแล้ว และแฟนๆปู่ Sean Connery คงไม่พลาด
จัดเรต PG มีฉากการต่อสู้ที่รุนแรงนิดหน่อย แต่ไม่เห็นเลือดถือว่าเด็กดูได้
Leave a Reply