Funeral Parade of Roses (1969)
: Toshio Matsumoto ♥♥♥♥
หลายๆไดเรคชั่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ Stanley Kubrick สร้าง A Clockwork Orange (1971) ต่างเพียงความรุนแรงที่สะสมในตัวเด็กชาย ได้แปรสภาพให้เขาเติบโตขึ้นกลายเป็นเกย์ ดำเนินเรื่องแบบไม่เรียงตามลำดับเวลา (Non-Chronological Order) ความจริง-ความฝัน อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ซ้อนทับกันอย่างเบลอๆ ดูยากยิ่งกว่า 8½ (1963) แต่คือ Masterpiece ของแนว LGBT ที่สั่นสะเทือนวงการภาพยนตร์ใต้ดินญี่ปุ่น
ในบรรดาหนัง LGBT (Lesbian-Gay-Bi-Trans) เท่าที่ผมเคยรับชมมา ส่วนใหญ่มักเป็นแนวรักใคร่โรแมนติก การยอมรับตัวเอง ไม่ก็ต่อสู้กับความหยามเหยียด (Racism) แต่สำหรับ Funeral Parade of Roses แม้จะพอมีองค์ประกอบเหล่านั้นอยู่บ้าง เนื้อหาหลักๆคือการค้นหาเหตุผลคำตอบ ทำไมเด็กคนชายหนึ่งถึงเติบโตขึ้นกลายเป็นเกย์? เส้นแบ่งบางๆระหว่างเพศสภาพอยู่ตรงไหน? โลกด้านหลังกระจกมีอะไรน่าหลงใหลดึงดูด? และเป้าหมายปลายทางชีวิตของพวกเขาคืออะไร?
ตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอะไรที่ห้ามสปอยอย่างเด็ดขาด แม้จะปรากฎ Death Flag มาตั้งแต่ชื่อหนัง แต่จะบอกว่าพอถึงโศกนาฎกรรมวินาทีนั้นเข้าจริง ยังมีบางสิ่งอย่างอึ้งทึ่งช็อคยิ่งกว่า เว้นเสียถ้าคุณเคยรู้จัก Oedipus Rex คงช่วยไม่ได้ที่สามารถคาดเดาตอนจบออกก่อน
Funeral Parade of Roses เป็นภาพยนตร์ที่ถือว่ามีความล้ำยุคเหนือกาลเวลา ผู้ชมสมัยนั้นคงเกาจนหัวล้านก็อาจไม่เข้าใจอะไรทั้งนั้น ผมเองก็คาดการณ์ผิดพลาดไปเยอะ รับชมตอนกำลังง่วงหงาวหาวเต็มแก่ ประมาณครึ่งเรื่องเลยยอมแพ้ขอนอนก่อนดีกว่า รู้ตัวว่าต้องขณะสมองปลอดโปร่งร่างกายสมบูรณ์พร้อมเท่านั้นถึงสามารถทำความเข้าใจหนังได้ และพอเมื่อทุกสิ่งอย่างเกิดความกระจ่างแจ้ง ขอที่จะยืนปรบมือสักสิบนาทีให้ผู้กำกับ Toshio Matsumoto ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นอิทธิพลต่อปรามาจารย์ผู้กำกับ Stanley Kubrick ได้อย่างไร!
ผมประเมินว่าประมาณ 30% ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ส่งอิทธิพลต่อผู้กำกับ Kubrick กลายเป็น A Clockwork Orange (1971) ไม่เพียงแค่เทคนิคไดเรคชั่น แต่ยังแนวคิดตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ความรุนแรง’ สามารถส่งผลกระทบ ก่อให้เกิดผลอะไรขึ้นได้บ้างกับมนุษย์
Toshio Matsumoto (1932 – 2017) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ชนบท Nagoya, Aichi เติบโตเอาตัวรอดผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความหลงใหลในการวาดรูป แต่ครอบครัวไม่ส่งเสียถ้าจะเลือกเรียนศิลปะ เลยจำต้องเข้าเรียนหมออยู่หลายปี พัฒนาความสนใจเกี่ยวกับสมองและโรคจิตเภท สุดท้ายแอบเปลี่ยนสาขาวิชาเรียน จบด้านศิลปะจาก University of Tokyo
ระหว่างเรียนอยู่ที่ Tokyo ค่อยๆเกิดความสนใจในสื่อภาพยนตร์ หลงใหลใน Italian Neorealist และแนว Experimental หลังเรียนจบทำงานในบริษัทผลิตภาพยนตร์เล็กๆ เพื่อเรียนรู้จักเทคนิคต่างๆ จนมีโอกาสสร้างสารคดีขนาดสั้นแนวทดลองเรื่องแรก Ginrin (1955), ปี 1963 ตีพิมพ์หนังสือทฤษฎีภาพยนตร์เกี่ยวกับแนวคิด Avant-Garde ชื่อ Eizo no hakken (Image Discovery) ตั้งคำถามเกี่ยวกับมุมมองการเล่าเรื่อง ‘Point-of-View’
ภาพยนตร์เล่าเรื่องสมัยนั้น นิยมที่จะดำเนินไปในมุมมองตัวละครหนึ่งใด แตกต่างจากแนวสารคดี มักสนใจประเด็นหัวข้อเนื้อหา มากกว่านำเสนอความต่อเนื่องทางเรื่องราวและเวลา ยกตัวอย่างหนังสั้นเรื่อง Guernica (1950) ของผู้กำกับ Alain Resnais และ Robert Hessens ที่มีการผสมผสานความจริงเข้ากับแฟนตาซี นำเสนอการสู้รบสงครามผ่านภาพวาดของ Pablo Picasso
ด้วยเหตุนี้กับผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Funeral Parade of Roses (1969) เพื่อพิสูจน์แนวคิดทฤษฎีนี้ จึงเล่าเรื่องในลักษณะไม่เรียงตามลำดับเวลา (Non-Chronological Order) ความจริง-ความฝัน อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ซ้อนทับกันอย่างเบลอๆ นำภาพของอะไรก็ไม่รู้แทรกใส่เข้ามา เหมือนจะไร้สาระแก่นสาน แต่วัตถุประสงค์เพื่อบอกว่า การเล่าเรื่องไม่จำเป็นต้องดำเนินตามเวลาหรือมุมมองบุคคลหนึ่งใด
พื้นหลังกรุง Tokyo ทศวรรษ 60s, Eddie (รับบทโดย Peter) เกย์หนุ่ม ตกหลุมร่วมรักกับ Gonda (รับบทโดย Yoshio Tsuchiya) เจ้าของกิจการบาร์เกย์ Genet ที่ขณะนั้นมี Leda (รับบทโดย Osamu Ogasawara) เป็นผู้จัดการและอาศัยอยู่ด้วยกัน
Shinnosuke Ikehata หรือ Peter (เกิดปี 1952) นักร้องนักแสดง สัญชาติญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ทำงานในบาร์เกย์ มาทดสอบหน้ากล้องเป็นที่ถูกใจผู้กำกับ Matsumoto เลยผันตัวมาเป็นนักแสดง หลายคนอาจจดจำเขาได้จากบทตัวตลก ‘The Fool’ เรื่อง Ran (1985), รับบท Eddie ความที่วัยเด็กถูกแม่หัวเราะเยาะเรื่องพ่อทำให้เกิดอคติต่อความเป็นชาย อยากรู้อยากลองใช้เครื่องสำอางค์ โหยหาตัวตนอีกด้านแต่ถูกบังคับหักห้าม ปะทุระเบิดออกมาด้วยความคับข้องแค้นกลายเป็นตราบาปฝังใจ เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงโตขึ้นเลยกลายเป็นเกย์ ชีวิตไม่ได้มีเป้าหมายอะไร แต่โดยไม่ตัวสิ่งที่ตนได้ค้นพบกลับเป็น …
เกร็ด: Peter เป็นคนออกแบบเสื้อผ้าหน้าผมของตนเองทั้งหมด ซึ่งล้วนเป็นเทรนด์แฟชั่นของทศวรรษนั้นก็ว่าได้
Yoshio Tsuchiya (1927 – 2017) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น แจ้งเกิดโด่งดังกับบทชาวนาหัวร้อน Rikichi เรื่อง Seven Samurai (1954) [และได้ร่วมงานบทสมทบกับ Akira Kurosawa อีกหลายเรื่อง] ตามด้วย Godzilla Raids Again (1955) [และอีกหลายๆเรื่องในจักรวาลสัตว์ประหลาดของ Toei], รับบท Gonda เจ้าของกิจการบาร์เกย์ Genet ที่ก็เพียงฉากบังหน้า แท้จริงร่ำรวยจากการค้ายา ก่อนหน้านี้เคยแต่งงานมีเมียลูก แต่สมัครเป็นทหารไปสู่รบสงครามเวียดนาม พบเห็นความชั่วช้าสามาลย์ของเวียดกง กลับมามิอาจทนหวนคืนสู่อ้อมอกอดีตคนรัก แปรสภาพตัวเองกลายเป็นเกย์เฒ่า ตอนแรกตกหลุมรัก Leda มอบหน้าที่ผู้จัดการร้านให้เธอ แต่ต่อมาเพมื่อพบเจอ Eddie บางสิ่งอย่างดึงดูดให้พวกเขามิอาจแยกจากกัน
Osamu Ogasawara พบเจอจากการ Audition เช่นกัน, ลึกๆแล้ว Leda ไม่ถูกกับ Eddie ริษยาในความงาม แถมรับรู้ตัวว่าคนรักแอบไปสุงสิงนอกใจ เมื่อความคับข้องแค้นถึงขีดสุด เลยใช้แผนชั่วช้าผลักไสให้พ้นทาง แต่ความดันแตก Gonda ทราบความจริง เลยถูกหักอกเลิกรา สุดท้ายเลยตรอมใจฆ่าตัวตาย รอบตัวโรยด้วยกลีบกุหลาบ
นักแสดงส่วนใหญ่ของหนัง ถ้าไม่เป็นเพื่อนเกย์/ติดยาของ Peter ก็บุคคลมีชื่อในวงการมารับเชิญตามคำชักชวนของผู้กำกับ Matsumoto แต่ชาวต่างชาติอย่างเราๆส่วนใหญ่คงไม่มักคุ้นอยู่แล้วละ
ถ่ายภาพโดย Tatsuo Suzuki ตากล้องยอดฝีมือที่มักถ่ายทำหนัง Indy แต่ก็เคยคว้ารางวัล Japan Academy Prize: Best Cinematography เรื่อง Sharaku (1995)
ไดเรคชั่นการถ่ายทำ รับอิทธิพลเต็มๆจากยุคสมัย French New Wave แทบทุกฉากถ่ายทำยังสถานที่จริงแสงธรรมชาติ ถือกล้องแบกแอบถ่ายบนท้องถนน Shinjuku หลายฉากไม่ได้รับอนุญาตก็ลักลอบ ให้ผู้คนที่สรรจรไปมากลายเป็นตัวประกอบฟรีๆแบบไม่รู้ตัว
จัดจ้านแพรวพราวด้วยเทคนิค อาทิ High Key, Low Key, Fast-Motion, Jump Cut, Rapid-Zoom, Freeze Frame, Manga Style, Solarisation ฯ นอกจากนี้ยังเสริมเข้าไปด้วยไดเรคชั่นของสารคดี มีการสัมภาษณ์จริงๆ (เป็นฟุตเทจตอน Audition คัดเลือกนักแสดง) รวมถึงแทรกใส่เรื่องราวของทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์ ผสมคลุกเคล้าเบลอเข้าด้วยกันจนกลายเป็น หน้ากล้อง-หลังกล้อง (ความจริง-แฟนตาซี)
ฉาก Prologue เริ่มต้นด้วยความขาวโพลนของการถ่ายภาพ High Key กับคนยังไม่เคยรับชมคงจินตนาการไม่ออกแน่ว่าภาพนี้คืออะไร? (ลองไปเดาเองแล้วกันนะครับ) นัยยะสื่อถึงใจความของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ สองสิ่งที่แบ่งแยกกันด้วยเส้นบางๆ กำลังผสมกลมกลืนเข้าด้วยกันจนแยกไม่ออก (แต่ช็อตนี้ เจ้าเส้นตรงมันกำลังจะแยกออกจากกันนะ –)
“กระจกวิเศษเอ๋ย จงบอกข้าเถิดใครงามเลิศในปฐพี”
เปลี่ยนมาภาพ High Key บ้างกับช็อตนี้ Leda มองเข้าไปในกระจกแล้วอธิษฐาน แต่คำตอบที่ได้รับกลับเป็น Eddie เดินออกมา นี่สะท้อนความอิจฉาริษยาที่อยู่ภายในจิตใจของเธอ (สังเกตว่าสองหนุ่มสาวสวมชุด ขาว-ดำ กิโมโน/พื้นบ้าน-แฟชั่น/โมเดิร์น ตัดกันด้วยนะ)
กระจก เป็นของเล่นชิ้นสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ พบเห็นบ่อยครั้งเพื่อใช้สะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของตัวละคร เฉกเช่นเดียวกับ หน้ากาก-ใบหน้า รูปลักษณ์ภายนอกแต่งหญิง-แต่ตัวตนแท้จริงกลับมีงูเลื้อยอยู่ในเป้ากางเกง
ในญี่ปุ่นมักจะมีการจัดแสดงงานศิลปะแบบแปลกๆ ฉากนี้ก็ถือว่าเป็นลักษณะหนึ่ง ให้นักแสดงสวมชุดเหมือนคนไว้ทุกข์ มีผ้าปิดปาก ถือกล่องสี่เหลี่ยมเหมือนอัฐิ คนนอนอยู่บนถนน ผู้คนเดินไปมาจับจ้องมองแบบใคร่สงสัย อะไรว่ะ!
นัยยะของฉากนี้สะท้อนกับชื่อหนัง Funeral Parade นำเสนอนามธรรมให้เป็นรูปธรรม คงไม่น่ามีอะไรลึกซึ้งกว่านั้น
จริงๆผมก็ไ่ม่รู้จักโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องนี้หรอกนะ บังเอิญพบเจอใน Trivia ของ IMDB คือ Oedipus Rex (1967) กำกับโดย Pier Paolo Pasolini สัญชาติอิตาเลี่ยน ซึ่งก็มีเรื่องราวแรงบันดาลใจจากตำนานโศกนาฏกรรมกรีก Oedipus Rex แบบเดียวกับหนังเรื่องนี้เลยละ!
นี่คือช็อตที่เป็น Jump Cut ชายนิรนามคนหนึ่งเข้ามาพูดคุยกับ Eddie เดี๋ยวโผล่ยืนอยู่ด้านซ้าย แปปๆกระโดดไปยืนด้านขวา ชักชวนไปดื่มกาแฟแต่เธอไม่ยินยอม ต้องการตามตื้อไม่เลิกจนต้องวิ่งหนีไปจนถึงสถานที่จัดแสดงงานศิลปะแห่งหนึ่ง
นักแสดงที่รับบท Guevera คือ Toyosaburo Uchiyama เห็นว่าคือศิลปินนักวาดรูป ซึ่งก็คือเจ้าของผลงานภาพวาดพวกนี้ที่บังเอิญจัดแสดงอยู่ใน Tokyo ขณะนั้นพอดี ผู้กำกับเลยชักชวนให้มารับบทตัวละครชื่อเดียวกับนักปฏิวัติ Che Guevara ซึ่งก็เหมือนว่าได้ทำการสร้างหนังแนว Avant-Garde สร้างสัมผัสมิติใหม่ให้วงการภาพยนตร์เช่นกัน
การแสดงออกภายนอกของมนุษย์ก็เหมือนการสวมหน้ากาก โดยเฉพาะในสังคม/คนที่เราไม่รู้จัก เพื่อปกปิดตัวตนแท้จริงภายในไม่ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ เฉกเช่นเดียวกับเกย์/กระเทย รูปร่างหน้าตาก็คือผู้ชาย แต่พอสวมเครื่องสำอางค์ ขีดเขียนหน้าสวมวิก แต่งตัวเหมือนผู้หญิง ทำตัวสะดีดสะดิ้งก็กลายเป็นอิสตรีเพศไปโดยทันที
หลายครั้งทีเดียวที่หนังแทรกใส่ Surrealist ภาพของชาย 7 คน ยืนเรียงหน้ากระดานถอดเสื้อผ้าหันหลังให้ ถ่ายด้วยภาพ High Key และมีใครคนหนึ่งเหน็บดอกไม้ไว้ที่แก้มก้น
Rose, ดอกกุหลาบ ในหนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของ LGBT ซึ่งการที่ใครคนหนึ่งเหน็บไว้ตรงแก้มก้นก็สามารถสื่อถึงได้ว่า หมอนั่นย่อมไม่ใช่ผู้ชายอย่างแน่นอน ซึ่งการยืนเรียงหน้ากระดานของคนทั้ง 7 แล้วมีเพียงคนเดียว คำนวณด้วยสมการคณิตศาสตร์คือแนวโน้มความเป็นไปได้ หนึ่งในเจ็ดของบุรุษเพศ (ร้อยละ 14) จะต้องเป็นเกย์หรือกระเทย
กำลังอยู่ในฉาก Sex Scene แล้วอยู่ดีๆ กระโดดกลายเป็นขณะถ่ายทำภาพยนตร์ นี่เป็นความพยายามลบเลือนเส้นแบ่งบางๆระหว่าง โลกความจริง-แฟนตาซี ภาพหน้ากล้อง-หลังกล้องถ่ายภาพยนตร์ จนบางครั้งแทบแยกไม่ออกว่าเป็นคือฉากของอะไร
เห็นว่าหลายคนที่เป็นตัวประกอบฉากนี้ ก็ทีมงามในกองถ่ายจริงๆนะแหละ ช่างจัดไฟ, Art Director ฯ
Fast-Motion/Fast Forward คือไดเรคชั่นหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ Stanley Kubrick ปรับประยุกต์ใช้ใน A Clockwork Orange (1971), แรงบันดาลใจของฉากนี้นำจากแนวคิดของ Slapstick Comedy เร่งรีบให้เกิดความขบขัน ผ่อนคลายความตึงเครียดเล็กๆของหนัง และเพลงประกอบที่เลือกใช้ Jacques Offenbach: Can Can Polka การันตีความเร้าใจ
แซว: ไม้แขวนเสื้อ หนึ่งคือ Marilyn Monroe สองน่าจะ Humphrey Bogart หรือเปล่าเอ่ย?
วินาทีแรกที่ผมเห็น Emiko Azuma ผู้รับบทแม่ของ Eddie ชวนให้ระลึกถึง Pauline Taylor ผู้รับบทนักจิตวิทยาหญิงเรื่อง A Clockwork Orange (1971) ขณะที่เปิดรูปภาพให้ Alex ตอบเติมเต็มช่องว่าง ขณะนอนเข้าเฝือกอยู่บนเตียง,
และที่ประหลาดยิ่งไปกว่านั้น สองนักแสดงหน้าเหมือนนี้ ต่างมีบทบาทที่เกี่ยวกับจิตวิทยาของตัวละครเอก
– แม่ของ Eddie คือสาเหตุที่ทำให้เขาเกิดปม Oedipus แต่ในลักษณะแบบพิลึกพิลั่นเสียหน่อย
– Dr. Taylor นักจิตวิทยาสาวของ A Clockwork Orange (1971) คือผู้ทำการทดสอบ Alex DeLarge ว่าสามารถกลับมาเป็นคนปกติได้หรือยัง
หนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตของคนเมายา จะมีใครไหมสามารถเดินเป็นเส้นตรง? แทบทุกตัวละครในหนังที่ทดลองเดิน พบว่าเบี่ยงเบน(ทางเพศ)ทั้งนั้น เว้นเสียแต่ Guevera ลูกผู้ชายทั้งแท่ง คนเดียวเท่านั้นที่ไม่ล้ม เป็นความจงใจอย่างชัดเจนมากๆ
กับคนที่มิอาจเดินเป็นเส้นตรง จักถูกเปลื้องอาภรณ์ออกชิ้นหนึ่ง นี่ก็เสมือนการถอดหน้ากากตัวตนออก แต่บางคนก็ใช่ว่าจะสวมไว้ชั้นเดียวเสียที่ไหน
หลังจากฉากนี้ก็เป็นการเปิดเพลงเต้นของคนเมายา ถือเป็น Sequence บังคับของหนังแนว ‘Drug Movie’ โดยกล้อง Hand-Held เคลื่อนไหวอย่างอิสระโฉบเฉี่ยวไปมา เหมือนจิตวิญญาณที่โบยบินออกจากร่างของพวกเขา คุ้นๆว่าหนังไทยเรื่อง น้ำพุ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ก็มีฉากลักษณะนี้เช่นกัน เมื่อปุ๊เมายา
มีสองสิ่งเกิดขึ้นพร้อมกันในช็อตนี้
– Eddie กำลังสวมหน้ากาก แต่งองค์ทรงเครื่องด้วยเครื่องสำอางค์เพื่อกลายร่างเป็นหญิง
– ขณะที่เพื่อนของเธอกำลังปอกกล้วย (สัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชาย) และกลืนกินโม็คเข้าไป
เมื่อนำทั้งสองสิ่งดังกล่าวนี้มารวมกัน จะสื่อถึงเหตุและผลของการเป็นเกย์ กลายร่างจากชาย->หญิง เพื่อที่จะกลืนกินสนองความต้องการทางเพศของตนเอง
ฉากการต่อสู้ระหว่าง Eddie กับ Leda คือ Sequence ที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง เพราะมันคือ Comedy ล้วนๆ ใช้การ Fast-Motion มีภาพในจินตนาการ และแทรกช็อตนี้ที่มีลักษณะเหมือนมังงะ/หนังสือการ์ตูน ภาพนิ่งขึ้นข้อความโต้ตอบแทนเสียงพูดสลับไปมา
แถมด้วยเพลงประกอบช่วยเสริมความขบขันได้มากๆทีเดียว Marx Augustin: Oh du lieber Augustin [แปลว่า Oh, you dear Augustin] แม้ในหนังจะมีเพียงเมโลดี้ แต่ผมคัทลอกคำร้องแปลเป็นภาษาอังกฤษมาให้ท่อนหนึ่ง ต้องถือว่าตรงกับช่วงขณะของเรื่องราวพอดีด้วยนะ
“Money’s gone, girlfriend’s gone,
All is lost, Augustin!
O, you dear Augustin,
All is lost!”
นี่คือวินาทีที่ Eddie จากเด็กชายกลายเป็นหญิงสาว นั่งลงตรงหน้าโต๊ะเครื่องแป้งของแม่ พบเห็นภาพสะท้อนในกระจกถึงเพศสภาพอีกตัวตนหนึ่งของเขา ซึ่งหลังจากทาปากด้วยลิปสติก ก็จุมพิตเอาใบหน้าถูไถ อยากเสียเหลือเกินจะกลืนกินรวมร่าง ให้กลายเป็นอีกฝากฝั่งของตนเอง แต่ก็ถูกขัดขวางโดยแม่ที่มาพบเจอเข้า ทุบตีจากกลายเป็นตราบาปฝังใจไม่รู้ลืม
ถึงตอนเด็กจะไม่สามารถทำสำเร็จ แต่เมื่อโตขึ้นพบรักแรกกับชายชื่อ Guevera นี่คือวินาทีที่ Eddie กลายร่างเป็นหญิงโดยสมบูรณ์แบบทั้ง (เฉพาะทางใจนะครับ กายยังเป็นชาย ด้วยหน้ากากสวมเป็นหญิง)
เทคนิคนี้มีชื่อว่า Solarisation หรือ Sabatier effect คือการที่ส่วนหนึ่งของฟีล์ม Negative ยังไม่ทันเข้าห้องมืดล้าง มีบางส่วนถูกแสงจ้าง ทำให้ภาพเกิดลักษณะการสลับสี จากบริเวณที่ควรดำกลับขาว หรือขาวกลับดำ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเบลอแถบไปทั้งแบบนี้เลย
ซึ่งผลลัพท์ที่ออกมากับฉากนี้ราวกับว่า Eddie กับ Guevera ได้กลายเป็นส่วนๆหนึ่งคนเดียวกัน ชาย+หญิง ไปเสียแล้ว
นี่เป็นฉากที่ผู้กำกับ Matsumoto ได้แรงบันดาลใจจากสป็อตโฆษณาหนึ่งของญี่ปุ่น (ก็ไม่รู้โฆษณาอะไรนะ) ประมาณว่าเกย์/กระเทย สวยกว่าผู้หญิงจริงๆ พอโดนเหลียวหลังเข้าใส่ก็สะบัดลอยชาย ผลลัพท์ออกมากลายเป็นอีก Comedy ที่ฮาตกเก้าอี้เลยละ
และนี่เป็นครั้งสุดท้ายของหนังกับ Fast-Motion พร้อมเพลงประกอบ Marx Augustin: Oh du lieber Augustin
ผมไม่ค่อยอยากอธิบายฉากนี้สักเท่าไหร่ แต่ขอพูดเป็นเชิงนัยๆว่า วินาทีที่ชีวิตอยู่ในห้วงความสุขที่สุด กลับพลิกตารปัตรกลับ 180 องศา พบเจอโศกนาฎกรรมอันคาดไม่ถึง (เส้นแบ่งบางๆระหว่างสุข-ทุกข์ เลือนลางจางหาย)
– ตะปูปักคอ = อ้ำอึ้งพูดไม่ออก
– ดวงตา = มิอาจเผชิญหน้าความจริง หมดสิ้นอนาคตวิสัยทัศน์
คงไม่เอ่ยถึงไม่ได้กับฉากที่คือชื่อหนัง Funeral Parade of Roses ก็ไม่รู้พระสงฆ์นิกายอะไรนะครับ แต่ที่ฮาคือดอกไม้ที่มาประดับคือพลาสติก (ดอกไม้พลาสติก = ของปลอม = มักใช้เป็นสัญลักษณ์ของ LGBT) และหลังจากช็อตนี้ ผู้เข้าร่วมทุกคนก็จะเดินพาเรดตามหลังพระไปเยี่ยมชมสุสาน ซึ่งก็จะพบว่า
สุสานแห่งนี้กำลังจะจมน้ำ นี่ก็เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของสองสิ่งที่กำลังเบลอเข้าหากัน บนบก-ผืนน้ำ ชีวิต-ความตาย นี่เรากำลังเดินมุ่งสู่อะไร? ซึ่งคำพูดของ Eddie ที่รำพันขึ้นมาว่า ‘อยากให้ญี่ปุ่นจมลงใต้บาดาล’ นี่สะท้อนถึงความต้องการลึกๆของเธอ ต้องการเป็นบุคคลผู้มีเพศสภาพที่สะท้อนอยู่ในกระจก หรือคือกลายร่างเป็นผู้หญิงทั้งกายและใจ
ตรงกันข้ามกับ Prologue ภาพ Low Key ขณะที่ Eddie เลิฟซีนกับ Gonda หลังจากไม่มีมือที่สามให้มาก่อกวนรำคาญใจอีกต่อไป แต่พวกเขากำลังจะได้ค้นพบความจริงบ้างอย่าง
ไฮไลท์ของฉากนี้คือการตัดสลับไปมาแบบไฟกระพริบแวบๆกับภาพการเต้นมันส์สุดเหวี่ยง (ภาษาเทคนิคเรียกว่า Metric Montage) นี่เป็นการสะท้อนถึงความสุขสำราญเริงร่าของทั้งคู่ที่กำลังถึงจุดไคลน์แม็กซ์แห่งชีวิต
การได้รับรู้ความจริงของ Gonda ทำให้เขามีสีหน้าซีดเผือก ตัวสั่นเทา เหงื่อไหลพลักๆ ชวนให้ระลึกถึงตัวละครนักเขียน Mr. Frank Alexander (รับบทโดย Patrick Magee) ใน A Clockwork Orange (1971) วินาทีที่ได้ยินเสียงเพลง Singin’ in the Rain ระลึกได้ว่าชายหนุ่มคนนี้ แท้จริงแล้วคือใคร!
ชายผู้นี้ที่ปรากฎขึ้นมาตอนไคลน์แม็กซ์คือใครกัน? หาข้อมูลได้คือ Choji Yodogawa นักวิจารณ์ชื่อดังของญี่ปุ่น ปัจจุบันคงแทบไม่มีใครรู้จักแล้วกระมัง แทรกมาช็อตนี้เป็นการล้อเลียนแบบขำๆ เพื่อให้ผู้ชมเกิดวิจารณญาณขึ้นว่า นี่มันไม่ใช่เรื่องขำออกเลยนะ!
ตัดต่อโดย Toshie Iwasa ในเครดิตได้ร่วมงานกับ Matsumoto อีกเรื่องคือ Demons (1971)
ไดเรคชั่นของการตัดต่อมีลักษณะเหมือนเศษเสี้ยวความทรงจำของคนเมายา นำเสนอตรงโน้นนิดตรงนี้หน่อย กระโดดไปมาระหว่างความจริง-ความฝัน อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ไม่มีอะไรเป็นจุดหมุนของเรื่องราว จำต้องพบเห็นเข้าใจรายละเอียดทั้งหมดก่อน ถึงค่อยสามารถนำมาร้อยเรียงประติดประต่อกลายเป็นภาพรวมเหมือนกระเบื้องโมเสก (Mosaic)
สำหรับคนที่ดูไม่รู้เรื่อง คำแนะนำเบื้องต้นคือให้ทนดูจบไปก่อนรอบหนึ่ง แล้วทำการจัดแบ่งแยกแยะเหตุการณ์ต่างๆออกเป็นหมวดหมู่ โดยอาจใช้จุดเริ่มต้นเมื่อ Eddie ร่วมรักกับ Gonda ถูกพบเห็นโดย Leda มีเหตุการณ์อะไรดำเนินไปข้างหน้า และเกิดขึ้นก่อนหน้าบ้าง
– ก่อนหน้า: Eddie ให้การช่วยเหลือหนึ่งในผู้ชุมนุมประท้วง -> ไปทำงานสายถูก Leda ต่อว่า -> ตำรวจมาค้นหาคนหาย -> Gonda รีบร้อนซุกยาในกระเป๋า -> Leda บ่นต่อ Gonda ขณะที่เขานำยาออกจากกระเป๋าใส่ในแจกัน (นัยยะของการซุกยา = มีชู้กับ Eddie)
– หลังจาก: Eddie ขอลงกลางทาง เดินเรื่อยเปื่อยพบเห็นคนเดินพาเรด ถูกซี้เซ้าโดยชายคนหนึ่ง -> มาถึง Art Gallery พบเจอ Guevera -> ขึ้นสู่ Tokyo Tower -> สนิทสนมจนร่วมงานถ่ายทำภาพยนตร์ -> ปาร์ตี้มั่วยา
หลายครั้งของการตัดต่อ มักมีการแทรกฟุตเทจอะไรก็ไม่รู้เข้ามา มีลักษณะเหมือนคำอธิบาย/ส่วนขยาย (Adjective) หรือการสร้างสัมผัสนอก เพื่อให้สองเหตุการณ์มีส่วนเกี่ยวข้อง ดำเนินต่อเนื่องกันไปได้ อาทิ
– ตอนตำรวจมาค้นหาคนหายในบาร์ เป็นสาเหตุให้ Eddie เริ่มนึกย้อนถึงอดีตนับตั้งแต่พ่อหายไปจากชีวิตของเขา
– เพื่อนของ Eddie กับ Tony เดินออกจากบาร์เซไปเซมาแล้วก็ล้มลง -> ภาพโทรทัศน์เบลอๆเหมือนคนเมา
– ภาพของ Eddie ล้มลงหมดสติใน Art Gallery -> เพื่อนของ Eddie กับ Tony เมาล้มลง
ฯลฯ
เช่นกันกับการขึ้นข้อความ Title Card -มาแนวเดียวกับหนังของ Godard- คัทลอก Quote เจ๋งๆ จากบทกวีนักเขียนชื่อดัง(บ้างไม่ดังบ้าง) บางครั้งก็พูดออกมาตรงๆ ที่สามารถใช้อธิบาย หรือสอดคล้องเข้ากับเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้น
“All definitions of cinema have been erased. All doors are now open”.
– Jonas Mekas ผู้ได้รับฉายาว่า ‘The Godfather of American Avant-Garde cinema’.
เพลงประกอบโดย Joji Yuasa นักแต่งเพลงร่วมสมัยสัญชาติญี่ปุ่น,
นอกจาก Marx Augustin: Oh du lieber Augustin และ Jacques Offenbach: Can Can Polka ที่ถูกเรียบเรียงเป็นทำนองสนุกสนาน บทเพลงอื่นๆมักสร้างสัมผัสหลอนๆ เขย่าประสาท สะกดจิตผู้ชม มอบประสบการณ์ใหม่ในการรับชมภาพยนตร์
บทเพลงห้ามสูบบุหรี่บนเตียง ถ้ารักฉันจริงเปิดไฟจ้องหน้ากันดีกว่า, นัยยะของเพลงนี้ เป็นการโหยหาความรักของเกย์/กระเทย ร้องขออย่างสูบบุหรี่บนเตียงเปรียบได้กับ Sex แบบบันเทิงเริงชั่วคราวไปที ถ้ารักฉันจริงก็ต้องยอมรับตัวตนแท้หลังเปิดไฟได้
Sequence นี้มีชื่อว่า Guevara’s Delirium (ความคลุ้มคลั่งของ Guevara) เป็นการฉายภาพซ้ำๆ เงาลางๆโยกศีรษะไปมา ซูมเข้าใบหน้าของ Guevara อย่างรวดเร็ว เสียง Sound Effect ก็มีลักษณะพยายามสูบผู้ชมเข้าไป นี่ราวกับเป็นการสะกดจิตล้างสมองเพื่อสร้างสัมผัสใหม่ให้กับภาพยนตร์ Avant-Garde นัยยะคงพยายามสื่อถึงการผสมผสานหลายๆสิ่งเข้าด้วยกันจนกลายเป็นสิ่งใหม่
คนยุคสมัยนี้มีทัศนะว่า Homosexual คือรสนิยมไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Eddie เมื่อครั้นวัยเด็กในบริบทของหนังเรื่องนี้ สาเหตุที่ทำให้เขากลายมาเป็นรักร่วมเพศ ยังไงผมก็มองว่าคือความผิดปกติ! แค่ว่าเมื่อถึงจุดๆหนึ่งอดีตค่อยๆเลือนลาง ทุกสิ่งอย่างกลายเป็นปกติสามัญ หลงเหลือเพียงว่าฉันชอบผู้ชาย นั่นแปรสภาพกลายเป็นรสนิยมส่วนตัวของเขาไปแล้ว
Funeral Parade of Roses คือเรื่องราวของเด็กชายที่ได้รับการเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมไม่สมประกอบ เติบโตขึ้นเลยมีจิตใจความต้องการ/รสนิยมทางเพศที่แตกต่างผิดปกติ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งตัวเขาก็ได้ย้อนกลับหาบุคคลผู้ให้กำเนิด ผลลัพท์คือลักษณะของงูกินหาง กงเกวียนกำเกวียน กฎแห่งกรรม
มันมีอะไรในโลกด้านหลังกระจก ที่ทำให้ใครหลายคนเคลิบเคลิ้มหลงใหล แปรสภาพกลายเป็น LGBT? ในความเข้าใจของผมมีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นคือ ‘Sex Drive’ แรงขับเคลื่อนทางเพศที่ต้องการให้ตนเองได้รับการยินยอมรับ ครอบครองเติมเต็มบางสิ่งอย่างที่ขาดหายไปในชีวิต วัยเด็กไม่ได้รับเพียงพอ ถูกหักห้าม หรือโดนแก่งแย่งขโมยชิงไป ตราฝังลึกความคับข้องแค้นอัดอั้นอยู่เต็มอก โตขึ้นเมื่อได้รับอิสรภาพเสรีพ้นพันธการจากทุกสิ่ง ก็จักสนองตัณหาอยากนั้นจนกว่าจะสาสมแก่ใจ
“I am the wound and the blade. Both the torturer and he who is flayed”.
– Charles Pierre Baudelaire (1821 – 1867) นักกวีสัญชาติฝรั่งเศส ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Flowers of Evil (1857)
ผู้กำกับ Matsumoto ดูเหมือนจะมีความใคร่สนใจในวังวนเวียนของชีวิต ทุกสิ่งอย่างที่เขานำเสนอแม้มีลักษณะยุ่งเยิงกระเซอะกระเซิง ปะติดปะต่อกันได้อย่างยากยิ่ง แต่กลับมีความสมมาตรเติมเต็ม คลุกเคล้าผสมผสานกันได้อย่างลงตัวจนกลายเป็นเนื้อหนึ่งเดียว
นี่แสดงว่าความสนใจของผู้กำกับต่อเพศที่สามเกย์/กระเทย คงเป็นเพียงเรื่องการผสมผสานระหว่างกาย-จิต สองสิ่งขั้วตรงกันข้ามแต่ยังสามารถผสมผสานคลุกเคล้ากลมกลืน ซึ่งจุดเริ่มต้นของความกลมกล่อมนี้เกิดจากความไม่สมดุล (พ่อที่สูญหาย) สิ่งที่ไม่เคยมีเลยอยากได้ และพอครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง ก็จักสูญเสียหมดสิ้นไปตามวาระกรรม
ความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด รับเอาอิทธิพลวัฒนธรรมจากชาติยุโรปตะวันตกและอเมริกา แต่ขณะที่ความเจริญทางวัตถุรุดหน้า จิตใจคุณธรรมคนกลับเชื่องช้าหยุดนิ่ง อีกทั้งเภทภัยภายนอกอย่างสงครามคาบสมุทรเกาหลี อินโดจีน เวียดนาม ฯ คนหนุ่มวัยรุ่นที่เติมโตขึ้นในทศวรรษ Great Depression จึงต่างแสวงมองหาอะไรใหม่ๆ ทำให้ตนเองปลีกวิเวก Escapist หลุดออกจากโลก
ความต้องการอะไรใหม่ๆ Experimental, Avant-Garde ในความสนใจของผู้กำกับ Matsumoto มันก็คือแนวคิดของการหนีโลก เพราะวัยเด็กที่คงจะขาดบางสิ่งอย่างไม่ได้รับการเติมเต็มตอบสนอง พอเติบโตขึ้นเลยแสวงโหยหาต้องการให้ได้มาครอบครอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเขาก็ไม่รู้หรอกตัวเองหรอกว่าคืออะไร อนาคตเป้าหมายมันช่างว่างเปล่าเสียเหลือเกิน ซึ่งสุดท้ายแล้วในความเข้าใจของเขา ทุกสิ่งมันคงหวนย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้น เกิด-ตาย ชีวิตก็เท่านี้
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ คือการแทรกใส่ห่าอะไรก็ไม่รู้เข้ามาระหว่างฉาก
– ขณะแม่กำลังทุบตีลูก อยู่ดีๆปรากฎภาพผู้ประกาศข่าวรายการโทรทัศน์ พูดขึ้นว่า ‘นั่นอาจเป็นสิ่งส่งผลกระทบต่อเด็กในอนาคต’
– ฉากไคลน์แม็กซ์ตอนจบ อยู่ดีๆมีใครก็ไม่รู้ปรากฎตัวขึ้นแล้วพูดว่า ‘น่ากลัวใช่ไหมละ คำสาปของโชคชะตามนุษย์’
ในมุมมองของผมรู้สึกว่ามันเวิร์คมากๆเลยนะ เพราะนั่นเป็นไดเรคชั่นที่หนังเพาะบ่มมาตั้งแต่ต้นๆเรื่อง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็จะแบบ อยากแทรกใส่อะไรก็มาเถอะ! แล้วสองวินาทีนี้มันถูกที่ถูกเวลา น่าจะถูกใจคนดูหนังอาร์ทเป็นแน่ๆ
แนะนำคอหนังแนวทดลอง Avant-Garde, Cult Film, ชาวสีรุ้ง LGBT ทั้งหลาย, ผู้ชื่นชอบความท้าทายเข้าใจงานศิลปะ, และคนเคยอ่าน Oedipus Rex ไม่ควรพลาด
จัดเรต NC-17 แบบเดียวกับ A Clockwork Orange (1971) เพราะความบ้าคลั่งรุนแรงเสียสติแตกเกิ้น
Leave a Reply