Funny Game

Funny Games (1997) Austrian : Michael Haneke ♥♥♡

ผู้กำกับ Michael Haneke เขียนบทความ ‘Violence and the Media’ เพื่ออธิบายจุดประสงค์การสร้าง Funny Games ฉบับ 1997 และรีเมค 2007 โคลนมาเหมือนเปะเปลี่ยนแค่ภาษาและนักแสดง เพราะต้องการให้ผู้ชมตระหนักถึงอิทธิพลของสื่อ ที่ได้ปลูกฝังหยั่งรากลึกความรุนแรงเข้ามาในชีวิตประจำวันเรียบร้อยแล้ว

“Anyone who leaves the theater doesn’t need the film; anyone who stays does”.

– Michael Haneke

ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้ทำให้เส้นแบ่งบางๆระหว่าง โลกความจริง vs. แฟนตาซี เลือนลางจางหายจนแทบกลายเป็นสิ่งๆเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ฆาตกรโรคจิตในหนัง Horror ยุคสมัยนี้เชือดคอ เลือดพุ่ง ดูมีความสมจริงจังจนผู้ชมไม่สามารถแบ่งแยกแยะออก ไหนเหตุการณ์จริง ไหนเกิดจากปรุงแต่งรังสร้างสรรค์

เพราะเหตุนั้นมนุษย์จึงมีแนวโน้มที่จะจดจำ ตราฝังใจ แสดงออกความรุนแรงด้วยสันชาตญาณ เข้าใจว่านั่นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไป บุคคลในสื่อภาพยนตร์/โทรทัศน์สามารถกระทำได้ แล้วเหตุอันใดไฉนฉันถึงต้องหยุดยับยั้งความต้องการของตนเอง

ใครสนใจอ่านบทความเต็มๆ สมัครสมาชิกแล้วโหลดมาอ่านเป็นภาษาอังกฤษ: https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1002/9781444320602.ch30

ส่วนตัวไม่ได้มองความรุนแรงของสื่อในแง่ร้ายสุดโต่งขนาดนั้น มีความคิดเห็นเป็น ‘ดาบสองคม’ เพราะบางคนจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงแสดงออก เพื่อระบายบางสิ่งอย่างคาคับคลั่งภายในจิตใจออกมา ซึ่งก็ยังดีกว่าไปกระทำเรื่องชั่วร้ายในชีวิตจริง … ผู้กำกับ Haneke ก็คนหนึ่งละนะ!

Funny Games ในมุมมองของผมคือภาพยนตร์ที่พยายามชี้แนะนำผู้ชม ให้สามารถแยกแยะความรุนแรงออกจากสื่อ ผ่านตัวละครที่ชอบหันมาพูดคุยสบตาหน้ากล้อง ‘breaks the fourth wall’ กระทำสิ่งไม่มีใครสามารถครุ่นคิดคาดเดา ขบขันไม่ออกกับเกมบ้าๆ ระมัดระวังตัวควบคุมสติสตางค์ตนเองต่อคนแปลกหน้า

ก่อนรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ อยากแนะนำให้ทดลองหา Salò, or the 120 Days of Sodom (1975) ของผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini แล้วอ่านบทความเก่าที่ผมเคยเขียนไว้ เพื่อปรับความครุ่นคิดเข้าใจ/มุมมองต่องานศิลปะประเภท ‘High Art’ อย่าจดจ่อเพียงแค่เรื่องราวการกระทำ ครุ่นคิดให้ลึกซึ้งกว่านั้น เพราะอะไร? เพื่ออะไร? ทำไม? แฝงนัยยะอะไร? นั่นอาจเพียงพอให้คุณสามารถดู Funny Games จบแบบไม่อ๊วกแตกอ๊วกแตนก็เป็นได้


Michael Haneke (เกิดปี 1942) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Austrian เกิดที่ Munich, บิดาเป็นผู้กำกับ Fritz Haneke ส่วนมารดาคือนักแสดง Beatrix von Degenschild หลังจากผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง อพยพไปเติบโตขึ้นที่ Wiener Neustadt, Austria เข้าเรียนยัง University of Vienna ศึกษาปรัชญา จิตวิทยา และการแสดง จบออกมาทำงานนักวิจารณ์ ตัดต่อรายการโทรทัศน์ จนมีโอกาสกำกับซีรีย์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Seventh Continent (1989), ตามด้วย Benny’s Video (1992), Funny Games (1997), โด่งดังระดับนานาชาติ The Piano Teacher (2001), Caché (2005), The White Ribbon (2009), Amour (2012) ฯ

ผลงานของ Haneke ขึ้นชื่อเรื่องความรุนแรงแบบไม่บันยะบันยัง แต่เจ้าตัวให้สัมภาษณ์บอกว่าไม่ได้ชื่นชอบสักเท่าไหร่ ที่ทำไปเพื่อให้ผู้ชมเกิดความตระหนัก ครุ่นคิดถึง หวาดสะพรึงจนไม่ต้องการนำมันเข้ามาในชีวิต, ขณะเดียวกันสามารถมองได้ว่า เพราะผู้กำกับเติบโตขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยุคสมัย Great Depression ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก มุมมองต่อโลกจึงออกไปทางเหี้ยมโหดร้ายทารุณ

เห็นว่าตั้งแต่ Benny’s Video (1992) ที่ผู้กำกับ Haneke ต้องการสร้างภาพยนตร์ที่สะท้อนความรุนแรงจากสื่อ โดยมีเป้าหมายหลักคือผู้ชมชาติตะวันตก/สหรัฐอเมริกา แต่ด้วยข้อจำกัดในการหาทุนสร้าง และตอนนั้นยังไม่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติสักเท่าไหร่ จึงจำต้องเลือกใช้ทีมงาน German ถ่ายทำยังประเทศ Austria

ผู้กำกับ Haneke แม้เติบโตขึ้นใน Austria แต่พูดฝรั่งเศสคล่องแคล่ว (บิดาเป็นชาวฝรั่งเศส) ขณะที่เยอรมันไม่เป็นสับปะรดนัก (แต่ก็ดีกว่าอังกฤษที่ย่ำแย่สุดๆ) ด้วยเหตุนี้หลังเขียนบทเสร็จจึงต้องส่งต่อให้คนแปลภาษา สูญเสียเวลาในการพัฒนาบทไม่น้อยทีเดียว

เรื่องราวของครอบครัวชาวเยอรมัน ประกอบด้วยสามี George (รับบทโดย Ulrich Mühe), ภรรยา Anna (รับบทโดย Susanne Lothar) และลูกชาย George Jr. เดินทางไปพักร้อนยังบ้านริมทะเลสาป ประเทศออสเตรีย อยู่ดีๆถูกรุกรานโดย Peter (รับบทโดย Frank Giering) และ Paul (รับบทโดย Arno Frisch) เริ่มต้นจากมาช่วยขนย้ายเรือ ตามด้วยขอไข่ไปทำอาหาร จากนั้นใช้ไม้กอล์ฟฟาดไปที่ขาของ George จนเดินไม่ได้ จากนั้นก็เริ่มเล่นเกม…


นำแสดงโดย Susanne Lothar (1960 – 2012) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Hamburg พ่อ-แม่ต่างเป็นนักแสดงชื่อดัง แต่หย่าขาดเมื่อเธออายุ 5 ขวบ โตขึ้นเข้าเรียน Hochschule für Theater und Musik กลายเป็นนักแสดงประจำโรงละคร Deutsches Schauspielhaus กระทั่งแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Strange Fruit (1983), ผลงานเด่นๆ อาทิ Funny Games (1997), The Piano Teacher (2002), The Reader (2008), The White Ribbon (2009) ฯ

รับบท Anna แม่ผู้มีความอ่อนไหวต่ออะไรเล็กๆน้อยๆ เริ่มสังเกตความผิดปกติของสองชายแปลกหน้า ต้องการขับไล่ให้ออกจากบ้านแต่ไม่ยินยอมไปเสียที กระทั่งว่าเมื่อเกมเริ่มต้นถึงได้รับรู้จุดประสงค์ พยายามอย่างยิ่งจะดิ้นรนหลบหนี แต่ก็ไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จสักคราเดียว

นักแสดงที่อยู่ในใจของ Haneke คือ Isabelle Huppert แต่เธอบอกปัดเพราะตระหนักว่าตนเองคงทุ่มเทกายใจไม่ไหวแน่ๆ เมื่อรับชมหนังก็รู้สึกเสียดาย แต่ยังคงยืนกรานความคิดเดิม ไม่สามารถเล่นหนังได้รับ Lothar แน่ๆ

ผมละอึ่งทึ่งตราตรึงในความทุ่มเทพยายามของ Lothar เสียจริง! กว่าใบหน้าจะปรากฎความซีดเซียวอ่อนเรี่ยวแรงขนาดนั้น เห็นว่าต้องร่ำร้องไห้เข้าฉากไม่ต่ำกว่า 20 เทค ถึงเป็นที่พึงพอใจผู้กำกับ ทำเอาเธอขยับเคลื่อนไหวไปต่อไม่ได้จนต้องใช้คนพยุงแบกหาม


Friedrich Hans Ulrich Mühe (1953 – 2007) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Grimma, East Germany ไม่ทันเรียนจบออกมาฝึกงานก่อสร้าง ต่อมาได้งาน รปภ. ประจำกำแพงเบอร์ลิน แล้วเปลี่ยนมาร่ำเรียนการแสดง Theaterhochschule ‘Hans Otto’ Leipzig มีผลงานละครเวทีประจำ Deutsches Theater ต่อด้วยภาพยนตร์ Olle Henry (1983), ผลงานเด่นๆ อาทิ Benny’s Video (1992), Funny Games (1997), โด่งดังสุดคงเป็น The Lives of Others (2006)

รับบท George แรกเริ่มพยายามประณีประณอมต่อสองชายแปลกหน้า แต่ถูกตัดกำลังด้วยการทำให้ขาหัก มิสามารถขยับเคลื่อนไหวทำอะไร ได้แต่แสดงสีหน้าอารมณ์โกรธเกลียดเคียดแค้น และยินยอมก้มหัวเล่นเกม แม้ต้องสูญเสียเกียรติศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย

มีขณะที่ตัวละครนี้เกิดอาการช็อค/ชักกระตุก ร่ำร้องไห้แบบควบคุมตนเองไม่ได้ แม้หนังมิได้ถ่ายระยะ Close-Up จับจ้องใบหน้าอารมณ์ แต่พบเห็นระยะไกลๆยังสัมผัสได้ถึงความทรงพลัง ขนลุกขนพอง … โดยปกติแล้วผู้ชายควรคือบุคคลคนพึ่งพาได้ในสถานการณ์ลักษณะนี้ แต่ถูกตัดกำลังกลายเป็นตัวถ่วงเสียอย่างนั้น!


Arno Frisch (เกิดปี 1975) นักแสดงสัญชาติ Austrian ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ Haneke รับบทนำเรื่อง Benny’s Video (1992) และตามด้วย Funny Games (1997)

รับบท Paul หนึ่งในสองฆาตกรโรคจิต ร่างกายผอมสูง มีความเฉลียวฉลาดหลักแหลม พูดจายียวนกวนประสาท ชอบชักชวนตัวละครและหันหน้าพูดคุยกับผู้ชมให้ร่วมเล่นเกม ทายดูสิว่าจะมีใครสามารถเอาตัวรอดจนหนังจบหรือเปล่า

ใบหน้านิ่งๆ สายตาอันเย่อหยิ่งจองหอง ไม่แคร์ยี่หร่าอะไรต่อตัวละคร แค่ได้ทำสิ่งตอบสนองความต้องการ พึงพอใจสูงสุดของตนเอง นี่เป็นภาพลักษณ์ของ Frisch ที่โคตรธรรมดาสามัญ แต่กลับกลายเป็นฆาตกรโรคจิตผู้เยือกเย็นโหดโฉดชั่วร้าย

แซว: ภาพลักษณ์ของ Frisch ชวนให้ผมนึกถึง Ben Whishaw


Frank Giering (1971 – 2010) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Magdeburg, East Germany ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ Haneke ซีรีย์ฉายโทรทัศน์ The Traitor (1996), The Castle (1997) ประทับใจจนชักชวนมาแสดงภาพยนตร์ Funny Games (1997)

รับบท Peter หนึ่งในสองฆาตกรโรคจิต ร่างกายอวบๆ มีความอ่อนแอปวกเปียก สติปัญญาด้อยกว่า Paul เลยชอบทำอะไรเฟอะฟะผิดพลาดพลั้งบ่อยครั้ง

แม้ตัวละครจะถูกพูดแซวว่าเป็นตุ๊ด แต๊ว เกย์ อีแอบ แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไปนะครับ เพราะภาพลักษณ์ดังกล่าวสะท้อนด้านอ่อนแอ ขลาดหวาดกลัว ต้องการได้รับความยินยอมรับจากสังคม ซึ่งก็มีเพียง Paul ที่แม้จะโดยล้อบ่อยครั้งแต่คือบุคคลเดียวผู้เข้าใจ สามารถตอบสนองความรู้สึก/ต้องการของเขาได้

แซว: ถ้าเทียบ Paul + Peter กับหนังเรื่อง A Clockwork Orange (1971) จะตรงมากๆกับแก๊งค์ Droogs จับคู่ตัวละคร Alex + Dim (ชายร่างอวบๆที่มักถูก Alex กลั่นแกล้งอยู่เสมอ)


ถ่ายภาพโดย Jürgen Jürges สัญชาติ German ขาประจำของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder, Wim Wenders และ Roland Klick ผลงานเด่นๆ อาทิ Mord und Totschlag (1967), Angst essen Seele auf (1974), Faraway, So Close! (1993), Funny Games (1997), Paths in the Night (1999) ฯ

‘สไตล์ Haneke’ มักมีลักษณะ 1 ช็อต 1 ฉาก ชอบการถ่ายทำ Long Take ด้วยระยะภาพ Long Shot ไม่ค่อยพบเห็น Close-Up จับจ้องสีหน้าอารมณ์ (แต่เรื่องนี้ผมว่า Haneke อดไม่ได้จริงๆที่จะบันทึกความทุ่มเทพยายามของนักแสดง เลยยังพอพบเห็นอยู่บ้าง) เน้นการขยับเคลื่อนไหว ตำแหน่งทิศทาง และสื่อความหมายผ่านภาษาภาพยนตร์

แซว: งานภาพของ Funny Games ทั้งสองฉบับ มักได้รับการเปรียบเทียบตรงๆเพื่อค้นหาว่าใครโดดเด่นกว่าระหว่าง Jürgen Jürges และ Darius Khondji แต่ปรากฎว่าผู้ชนะกลับคือ Michael Haneke เพราะเหมือนเปี๊ยบแยกไม่ออก นั่นแปลว่าทุกสิ่งอย่างถูกกำหนด ควบคุมโดยผู้กำกับไม่ใช่ตากล้อง!

เริ่มต้นด้วยช็อต Bird Eye View ราวกับพระเจ้าจับจ้องมองลงมาจากฟากฟ้า พบเห็นการขับรถเดินทางของครอบครัวนี้ กำลังมุ่งสู่การพักร้อนหายนะ

จุดเริ่มต้นของเกมมาจากรีโมทสำหรับเปิดประตูบ้าน ซึ่งสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์ของสื่อโทรทัศน์ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาลงไปเปิดประตูเข้าออก

สุนัขตัวนี้ พอเข้าบ้านมามันมีท่าทีลุกรี้ร้อนรน เดินสำรวจด้อมๆดมๆไปทั่วชั้นบนล่าง เชื่อว่ามันคงได้กลิ่นสาปเลือด อาจจะจากเหยื่อรายก่อนหน้าที่ถูก Peter และ Paul ลักลอบเข้ามาเล่นเกมฆาตกรรม

ไข่ เป็นสัญลักษณ์ที่สามารถตีความได้ร้อยแปด ผมมองเป็นสัญลักษณ์ของความเปราะบาง คล้ายๆสำนวน ‘ลูกไก่(ไข่)ในกำมือ’ เมื่อถูกบีบก็ตาย(แตก) คลายก็รอด(ไม่แตก) ซึ่งการกระทำดังกล่าวดูเหมือนเพื่อยั่วโมโห บทพิสูจน์ความอดทน/การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของ Anna (คือถ้าเธอห่อไข่ไก่อย่างดีแล้วส่งให้ตั้งแต่ครั้งแรก มันอาจไม่มีปัญหาใดๆเกิดขึ้นก็ได้)

กอล์ฟ เป็นหนึ่งในกีฬายอดฮิตของคนชนชั้นสูงในสังคม กล่าวคือต้องมีเงินและเวลาถึงสามารถออกรอบเล่นได้ เป้าหมายคือการหวดลูกให้ลงหลุม ความสำเร็จช่างน้อยนิดต้องใช้ความเพียรพยายาม

ขณะเดียวกันไม้กอลฟ์ยกถือตำแหน่งนั้นของ Peter ราวกับสัญลักษณ์ของลึงค์ อวัยวะเพศชาย ขนาดยาวขนาดนั้นสะท้อนถึงอีโก้ ความเย่อหยิ่งยโสโอหังอวดดี ส่งเหนือกว่าศีรษะอีก นั่นแปลว่าการกระทำของพวกเขานี้ เพื่อสนองความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อื่นใดเคลือบแอบแฝง!

การหวดเข้าที่ขาของ George อธิบายง่ายๆตรงสำนวน ‘ขัดขา’ หรือตัดกำลังของบุคคลผู้มีวังชา สามารถลุกขึ้นมาต่อกรเอาชนะพวกตนเองได้ให้สูญเสียโอกาสและความหวังนั้นไป

มนุษย์ยุคสมัยนี้สร้างผนังกำแพงล้อมรอบบ้าน เพื่อปกป้องกันอันตรายจากภายนอกมิให้เข้ามารุกราน แต่ขณะเดียวกันก็มีสถานะเหมือนกรงขังคุก คนในก็ไม่สามารถหลบหนีปีนป่ายออกไปไหนได้เช่นกัน

ความหวังเดียวเท่านั้นของ George Jr. คือบ้านหลังข้างๆ แต่กลับเสร็จ Paul และ Peter ไปก่อนหน้านั้นแล้ว แน่นอนรวมถึงปืนลูกซองในมือของเด็กชาย นี่เป็นการท้าทายความกล้า ระหว่างฆ่าคนกับตัวตาย สุดท้ายโดนตลบหลังย้อนแย้งเข้าหาตัวแบบเจ็บปวดรวดร้าว

รายการโทรทัศน์ที่ Peter กดดูจากรีโมท ล้วนเต็มไปด้วยการต่อสู้ แข่งขัน เอาชนะกันด้วยความรุนแรง นี่คือฉากเล็กๆที่สะท้อนถึงอิทธิพลสื่อ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ไปเรียบร้อยแล้ว

ระหว่างที่ Peter ทำการเข่นฆาตกรรมใครคนใดคนหนึ่ง Paul เดินลงมาห้องครัวเปิดตู้เย็นทาแยมเตรียมรับประทานอาหาร ปัง! สิ่งชั่วร้ายเกิดขึ้นโดยเขามิได้ใคร่สนใจ ราวกับคือสิ่งปกติสามัญในชีวิตประจำวัน

เราสามารถเปรียบเทียบเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นชั้นบน คล้ายๆกับละคร/ภาพยนตร์/รายการบนจอโทรทัศน์ที่กำลังเปิดรับชม เรื่องราวขณะนั้นโจรเข่นฆาตกรรมฝ่ายพระเอก มันควรเป็นสิ่งน่าหวาดสะพรึงกลัว แต่ผู้ชมบางทีก็กำลังทำอาหารทาแยมปิ้งหนมปัง ไม่ได้ใคร่แคร์ยี่หร่าว่ามันจะเป็นเรื่องจริง-สมมติแต่ง เบลอเข้าหากันอย่างเลือนลาง

โคตร Long Take กว่าสิบนาทีของหนัง เพื่อทอดทิ้งอารมณ์อันเวิ้งว้างว่างเปล่าจากการสูญเสียใครคนหนึ่ง เลือดอาบเต็มจอโทรทัศน์ (ประมาณว่า ดูทีวีมากไปจนไม่สามารถแยกแยะ ความจริง-ความฝัน) จากนั้นค่อยๆเรียกสติคืนกลับมา เมื่อสองหนุ่มก็ไม่รู้หลบลี้หนีหน้าหายไปไหน นี่คือช่วงเวลาที่จักสามารถดิ้นรนเอาตัวรอด … แต่จะมีปัญญาหรือเปล่า?

การกดย้อนกลับด้วยรีโมท เป็นท่าไม้ตายของตัวร้ายที่สุดตีนมากๆ ชีวิตจริงแม้ใครก็รู้ว่ามิอาจเกิดขึ้นได้ แต่ในโลกของโทรทัศน์/ยุคสมัยนี้มีหนทาง Alternate Choice ผู้ชมสามารถเปลี่ยนแปลงตอนจบเองได้ ผมว่ามันเป็นอะไรที่คาดไม่ถึง เหี้ยมโหดรุนแรง หมดสิ้นหวังไร้หนทางออก

ความหวังสุดท้ายที่อุตส่าห์ทอดทิ้งปมไว้ตั้งแต่ตอนต้น แต่ก็ไม่เป็นผลอยู่ดี ซึ่งนัยยะของการปล่อยทิ้งให้น้ำ นั่นคือการดื่มด่ำจมลงสู่ดินแดนแห่งความหมดสิ้นหวัง สิ้นไร้หนทางหลบหนีเอาตัวรอด

ตัดต่อโดย Andreas Prochaska, ร้อยเรียงเรื่องราวผ่านครอบครัวชาวเยอรมัน George, Anna และ George Jr. ซึ่งแต่ละคนก็จะมีช่วงเวลาโดดเด่นของตนเอง แต่ก็ไม่สามารถหลบหนีจาก Paul และ Peter ได้พ้น

หนังพยายามหาจังหวะสร้างโอกาสบางอย่าง เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกมีประกายแห่งความหวัง ธรรมะย่อมชนะอธรรม สุดท้ายสองอาชญากรต้องได้รับผลกรรมอย่างสาสม! แต่จนแล้วจนรอด และเมื่อปรากฎท่าไม้ตาย ใช้รีโมทกดย้อนกลับหลัง ผมว่าแค่นั้นก็น่าทำให้ใครๆรับรู้ได้ว่า ไม่มีแสงสว่างใดๆปรากฎขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้

แซว: เมื่อตอน Peter พูดว่า “We’re not up to feature film length yet”. นั่นเมื่อนาทีที่ 95 จริงๆถือว่าเป็น Feature-Length แล้วละนะ

สำหรับเพลงประกอบมีเพียง Diegetic Music เพื่อสร้างความสมจริงจัง บรรยากาศอันตึงเคร่งเครียดให้กับหนัง ซึ่งตอนต้นระหว่างการเดินทางขับรถ จากบทเพลงคลาสสิก George Frideric Handel: Care selve, ombre beate กลายมาเป็นเฮฟวี่เมทัล Bonehead ของวง Naked City (จริงๆต้องถือว่าเป็นแนว Avant-Garde/Experimental เสียมากกว่า) นั่นสะท้อนถึงความเกรี้ยวกราดรุนแรงที่เกิดขึ้นบัดดลแบบไม่ทันตั้งตัว (ใครเคยรับชม L’Eclisse ของ Michelangelo Antonioni น่าจะคุ้นเคยการอยู่ดีๆบทเพลงคนละแนวดังขึ้นแบบนี้)

การมาถึงของ Paul และ Peter เริ่มต้นด้วยมารยาทพูดคุยทักทาย แต่สักพักก็เริ่มออกลวดลายเรียกร้องโน่นนี่นั่น สร้างความอึดอัดอั้นไม่พึงพอใจให้คนในครอบครัว จากนั้นโดยไม่ทันรู้ตัวพ่อโดนไม้กอล์ฟฟาดเข้าให้ นี่มันเกิดบ้าอะไรขึ้นมากันแน่!

ผู้บุกรุก Paul และ Peter เป็นตัวแทนของสื่อสองประเภท
– Paul ตัวแทนการสื่อสารประเภทโต้ตอบสองทาง ชอบหันมาพูดคุยสบตาผู้ชม ‘breaks the fourth wall’ ราวกับมีตัวตนจับต้องได้
– ขณะที่ Peter ตรงกันข้ามกับ Paul ไม่เคยหันมาพูดคุยสบตาหน้ากล้อง แทนการสื่อสารทางเดียวหรือแบบโบราณดั้งเดิม

Paul ตัวละครที่แม้หันมาสื่อสารพูดคุยกับผู้ชม แต่หลายๆคนน่าจะตระหนักได้ว่ามันก็คือสื่อสารทางเดียวคล้ายๆ Peter นะแหละ แค่ว่าทำให้เราฉุกครุ่นคิดทบทวน ถ้าเปรียบเทียบคงเหมือน ‘จิตใต้สำนึก’ คอยชี้นำอยู่เรื่อยๆว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริง เป็นการสมมติสร้างแต่งขึ้นมา!

คือถ้าหนังตัดตัวละคร Paul ทอดทิ้งไปเลยแล้วหลงเหลือเพียง Peter ทุกสิ่งอย่างก็จักดำเนินไปตามครรลองคลองธรรม ผู้ชมพบเห็น คาดเดาเรื่องราวได้อย่างแม่นยำ พอเรื่องราวจบสิ้นสุดลงโดยไม่รู้ตัวก็ตราฝังลงในจิตสำนึก/ความทรงจำ ไร้ซึ่งสติครุ่นคิดทบทวนหยุดยับยั้ง ตระหนังว่าการกระทำเหล่านั่นเป็นสิ่งดีเลวชั่วร้ายประการใด

เพราะสื่อยุคสมัยนี้นำเสนอความรุนแรงแบบปล่อยผ่าน แอ๊คชั่นระเบิดตูมตาม ฆาตกรกรีดคอเลือดพุ่งสาด ฯ ผู้ชมพบเห็นแล้วเกิดความสุขสำราญ พึงพอใจ สำเร็จความใคร่ เห้ย! ใครกันรู้สึกแบบนั้นมันความวิปริตผิดปกติแล้วนะ

Funny Games คือภาพยนตร์ที่ชักชวนให้ผู้ชมตระหนัก/ครุ่นคิด/ทบทวนถึงภาพความรุนแรง จิตใจเรารู้สึกเช่นไร ชื่นชอบพอ คลื่นไส้ขยะแขยง ตราฝังความรู้สึกนั้นเพื่อนำไปปฏิเสธต่อต้าน อย่าให้ธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้กลายเป็นสามัญสำนึกไปได้

ความเข้าใจของผู้กำกับ Michael Haneke มีเพียง ‘ความรุนแรง ถึงสามารถต่อกรกับ ความรุนแรง’ (หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง) สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยความรุนแรงระดับคลุ้มคลั่ง แน่นอนว่าคนเกลียดเรื่องพรรค์นี้ย่อมยินยอมรับไม่ได้ เดินออกจากโรงหนังไปก็ไม่เป็นไร เพราะกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่พวกคุณ, แต่สำหรับบุคคลผู้ชื่นชอบคลั่งไคล้หลงไหลความรุนแรง นี่อาจเป็นมื้ออาหารที่ทำให้คุณปรับเปลี่ยนมุมมองโลกทัศนคติ ได้มีโอกาสครุ่นคิดแบบจริงจัง นี่ใช่สิ่งที่ฉันต้องการในชีวิตประจำวันจริงๆหรือเปล่า

สิ่งที่ผมว่ามัน Funny Games คือการย้อนแย้งกันเองนี่แหละ ‘ความรุนแรง ถึงสามารถต่อกรกับ ความรุนแรง’ แต่ความเข้าใจนี้ของผู้กำกับ Haneke อาจไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนการทำสิ่งชั่วๆเพื่อเอาชนะคนชั่ว นั่นไม่ทำให้เรากลายเป็นคนดีขึ้นมาหรอกนะ

การจะเอาชนะความรุนแรงที่มั่นคงและยั่งยืน มีเพียงทางสายกลางพุทธศาสนาเท่านั้นคือสัจนิรันดร์ ฝึกสมาธิเพื่อมิให้จิตหมกมุ่นครุ่นยึดติด ปลดปล่อยวางต่อกิเลสตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ ยกตัวอย่างเรื่องราวขององคุลิมาล เข่นฆ่า 999 คน เพื่อสำเร็จอวิชชาต้องให้ได้ครบคนที่ 1,000 ออกเดินทางตั้งใจไปหามารดา พานพบเจอพระพุทธเจ้าวิ่งไล่ติดตามเท่าไหร่ก็ไม่ทันสักที “สมณะ… หยุดก่อน หยุดก่อนสมณะ”

“เราหยุดแล้ว แต่ท่านนั้นแหละยังไม่ย่อมหยุด”

ว่าไปมีสิ่งที่โคตรตลกของสื่อและความรุนแรง เกิดจากความคิดเห็นต่างของคนสองรุ่น
– ผู้ใหญ่/สูงวัย คนหัวโบราณ อนุรักษ์นิยมคร่ำครึ พบเห็นเด็กยุคสมัยนี้เล่นเกมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง กราดยิง ฆ่ากันตาย เลือดสาดเต็มหน้าจอ ครุ่นคิดว่านั่นเป็นสิ่งชั่วร้าย ปลูกฝังความรุนแรง
– ขณะที่เด็กๆ คนรุ่นใหม่ หัวก้าวหน้า การเล่นเกมลักษณะดังกล่าวเพื่อความบันเทิงสนุกสนาน บ้างเพื่อระบายความรู้สึกอึดอัดอั้นทุกข์ทรมาน เอาชนะได้แล้วรู้สึกผ่อนคลายเบาสบาย แทบไม่ได้เก็บนำมาหมกมุ่นครุ่นยึดติดแต่ประการใด

เรื่องของเกม E-Sports ก็เฉกเช่นกัน ผู้ใหญ่/คนมีอำนาจ มักอ้างสิ่งที่คือศีลธรรมจรรยาของสังคม มองว่าเกมคือผลประโยชน์ของธุรกิจ มากกว่าเป็นกีฬาส่งเสริมพัฒนาสมอง สติปัญญา ความสามัคคี ตรงกันข้ามกับคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นผ่านวัฒนธรรมเกมออนไลน์ นี่คือสิ่งหนึ่งที่คือตัวตนพวกเขา ต่อสู้ ชัยชนะ พิสูจน์ตนเอง ได้รับการยอมรับ หรือเรียกได้ว่า ‘โลกทั้งใบ’ เลยก็ว่าได้

ข้อสรุปส่วนตัวเกี่ยวกับความรุนแรงจากสื่อ มองว่ามันคือดาบสองคม เหรียญสองด้าน มีทั้งประโยชน์และให้โทษขึ้นอยู่กับมุมมองของคน ยุคสมัยที่มีแต่ภาพยนตร์/โทรทัศน์ มันยังพอควบคุมจำกัดช่วงเวลา จัดเรตติ้ง ฯ แต่ปัจจุบันนี้อินเตอร์เน็ตมันเปิดกว้างกว่า เด็ก 6 ขวบ เลือกวันเกิดหลอกๆก็สามารถเล่น The Witcher เกมเรต R ได้อย่างสบายๆ … มีเพียงการสร้าง ‘จิตสำนึก’ เท่านั้นถึงแก้ปัญหาเหล่านี้ได้


ความตั้งใจจริงๆของผู้กำกับ Haneke สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ชมชาวอเมริกัน (ประเทศที่คือต้นตอแห่งความรุนแรง) แม้ตอนนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่หลายปีถัดมาได้รับการชักชวนให้ Remake เป็นภาษาอังกฤษ ยินยอมตกลงด้วยข้อเรียกร้องต้องได้นักแสดงนำ Naomi Watts พอสมปรารถนาก็ทำการโคลนแทบทุกสิ่งอย่าง … น่าจะเป็นครั้งแรกครั้งเดียวของวงการเลยกระมัง หนังสองเรื่องเหมือนกันแทบจะเปะๆจนแทบแยกไม่ออก

เอาว่าแล้วแต่รสนิยมส่วนตัวของผู้ชมแล้วกันนะครับ อยากดูต้นฉบับภาษาเยอรมัน หรือรีเม้คภาษาอังกฤษ มันคงได้สัมผัสบรรยากาศไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่

ถึงผมจะมีความเข้าใจในศิลปะขั้นสูง ‘High Art’ แต่รสนิยมส่วนตัวคงเป็นไปไม่ได้จะยินยอมรับภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงคลุ้มคลั่งขนาดนี้ แม้จะแฝงข้อคิดสาระอันทรงคุณค่าก็ตามเถอะ

จัดเรต NC-17 โปรดจงใช้วิจารณญาณในการรับชม

คำโปรย | Funny Games กลเกมของผู้กำกับ Michael Haneke นำเสนอความรุนแรงเพื่อต่อต้านความรุนแรง แต่คงไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจได้
คุณภาพ | คลุ้มคลั่งรุนแรง
ส่วนตัว | ละเหี่ยใจ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: