Funny Girl

Funny Girl (1968) hollywood : William Wyler ♥♥♥♡

แทบทุกสิ่งในหนังเพลงเรื่องนี้ เว่อวังอลังวิจิตรเกินไปอย่างน่าหงุดหงิด เว้นเสียแต่ความ ‘Born to Be’ ของ Barbra Streisand ช่างมีความโศภิต จริตจัดจ้าน จนมิอาจละลานสายตาไปได้แม้วินาทีเดียว

ก็ขนาดว่านักวิจารณ์ต่างประเทศ แซวหนังเรื่องนี้ ‘Wyler ไม่ใช่ผู้กำกับหรอกนะ แต่คือ Streisand ต่างหากกำกับการแสดงของตนเอง’

“Miss Streisand has been heard to claim William Wyler didn’t direct her, she directed herself”.

บอกตามตรงว่า ผมไม่ค่อยอภิรมณ์เริงใจต่อหนังสักเท่าไหร่ อารมณ์เดียวกับ Ben-Hur (1959) ถึงมีความยิ่งใหญ่อลังการงานสร้าง งดงามระดับวิจิตร แต่เรื่องนั้นมีเพียงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายเท่านั้นควรค่าแก่การเสียเวลารับชม ขณะที่ Funny Girl (1968) สิ่งอันเลอค่าคือลีลาการแสดง ทุกกิริยาขยับเคลื่อนไหว สายตาอารมณ์ จริตจ้านของ Barbra Streisand งดงามยิ่งกว่าเสื้อผ้าหน้าผ่อนผม เครื่องประดับ พลอย เพชร ไข่หิน หรือโปรดักชั่นฉากพื้นหลังเสียอีกนะ

แต่สำหรับคนที่ชื่นชอบงานด้านโปรดักชั่น แฟชั่นดีไซเนอร์ เครื่องประดับ นักออกแบบฉาก เรื่องนี้ต้องยกย่องเหนือเกล้าให้เลย เก็บรายละเอียดยิบย่อย ความประณีตสมจริง ถ้าในบรรดาหนังเพลงก็ระดับ The King and I (1956), Hello Dolly! (1969), ฝั่ง Bollywood เทียบชั้น Mughal-E-Azam (1960), Devdas (2002), Bajirao Mastani (2015) ฯ

แรกสุดของ Funny Girl คือหนังสือชีวประวัติของ Fanny Brice นักร้อง-นักเต้น-นักแสดง สังกัด Ziegfeld Follies เขียนโดย Isobel Lennart [เคยได้เข้าชิง Oscar สองครั้งจาก Love Me or Leave Me (1955), The Sundowners (1960)] ส่งเป็นบทภาพยนตร์ตั้งชื่อว่า My Man ให้กับโปรดิวเซอร์ Ray Stark แต่เป็น Mary Martin แนะนำเปลี่ยนเป็นละครเพลง Broadway น่าจะดีกว่า

(เพราะเรื่องราวคือชีวประวัตินักแสดง Broadway ถ้าไม่ได้รับดัดแปลงเป็นละครเวที/เพลง ณ Broadway ก็คงพิลึกพิลั่นพอสมควร)

Fanny Brice ชื่อในวงการของ Fania Borach (1891 – 1951) นักร้อง นักแสดง ตลก จัดรายการวิทยุ The Baby Snooks Show, เกิดที่ Manhattan แม่เป็นชาว Hungarian เชื้อสาย Jews โตขึ้นตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนเป็นนักร้องนักแสดงเร่ เข้าตา Florenz Ziegfeld เป็นนักแสดงนำ Ziegfeld Follies ช่วงปี 1910-11 และได้รับการว่าจ้างอีกครั้ง 1921 จนถึงปีสุดท้ายของวง 1936 บทเพลงโด่งดังของเธอชื่อ My Man (1921), เคยมีผลงานภาพยนตร์ อาทิ My Man (1928), Everybody Sing (1938) ประกบ Judy Garland, และรับบทเป็นตัวเองเรื่อง The Great Ziegfeld (1936), Ziegfeld Follies (1946)

มีนักแสดงหญิงหลายคนที่ได้รับติดต่อพูดคุยเพื่อรับบทนำ Anne Bancroft, Dorothy Fields, Eydie Gormé, Carol Burnett ก่อนมาลงเอยที่ Barbra Streisand ก่อนหน้านี้มีผลงาน I Can Get It for You Wholesale (1962) ซึ่งวันที่เธอมา Audition

“She looked awful … All her clothes were out of thrift shops. I saw Fran Stark staring at her, obvious distaste on her face”.

ถึงกระนั้น Stark ก็ยังตัดสินใจเลือกเธอให้เป็นนักแสดง การแสดงรอบทดสอบ (Preview) ได้รับเสียงปรบมือล้นหลามตั้งแต่เริ่มโหมโรง เปิดการแสดงปฐมทัศน์รอบแรก 26 มีนาคม 1964 ที่ Winter Garden Theatre ก่อนย้ายไป Majestic Theatre และ The Broadway Theatre สิ้นสุด 1 กรกฎาคม 1967 รวมทั้งสิ้น 1,348 รอบการแสดง เรียกว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม เข้าชิง Tony Award ถึง 8 สาขา แต่ไม่ได้สักรางวัลติดมือ [เรื่องที่คว้ารางวัล Best Musical ปีนั้นคือ Hello, Dolly!]

สำหรับฉบับภาพยนตร์ Stark ยังคงยืนกราน ต้องการให้ Streisand ที่แม้ยังไม่เคยเล่นหนังมาก่อนรับบทนำ

“I just felt she was too much a part of Fanny, and Fanny was too much a part of Barbra to have it go to someone else,

ขณะที่สตูดิโอ Columbia Pictures ต้องการให้ Shirley MacLaine รับบทนำแทน แต่เหมือนเธอจะบอกปัดปฏิเสธ เพราะความเป็นเพื่อนสนิทแถมเกิดวันเดียวกับ Streisand และไม่อยากให้เพื่อนรักเสียโอกาสสำคัญในชีวิต

สำหรับผู้กำกับ ก็มีเล็งๆไว้อาทิ Mike Nichols, George Roy Hill, Gene Kelly แต่ที่ได้เซ็นสัญญาคือ Sidney Lumet แล้วก็ถอนตัวออกไปหลังจาก Pre-Production ไปแล้ว 6 เดือน อ้างว่าความคิดเห็นต่าง ซึ่งก็ได้ถูกทดแทนด้วย William Wyler ที่ไม่เคยกำกับหนังเพลงมาก่อน

William Wyler ชื่อจริง Willi Wyler (1902 – 1981) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เชื้อสาย Jews เกิดที่ Mülhausen, German Empire (ปัจจุบันคือ France) พ่อเชื้อสาย Swiss ส่วนแม่ German มีศักดิ์เป็นหลานของ Carl Laemmle (หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Universal Studios) เมื่ออพยพสู่อเมริกาปี 1921 ได้รับชักชวนมาทำงานยัง Universal Studios เริ่มจากพนักงานทำความสะอาด ไต่เต้าขึ้นมาผู้ช่วย และผู้กำกับ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Crook Buster (1925), มีชื่อเสียงจาก Dodsworth (1936), Jezebel (1938), Wuthering Heights (1939), The Westerner (1940), The Little Foxes (1941), Roman Holiday (1953), Friendly Persuasion (1956) คว้า Oscar: Best Director ถึงสามครั้ง เรื่อง Mrs. Miniver (1942), The Best Years of Our Lives (1946), Ben-Hur (1959) [ทั้งสามเรื่องนี้คว้า Oscar: Best Picture ได้อีกด้วย!]

เห็นว่าขณะนั้น Wyler เริ่มสูญเสียความสามารถในการได้ยิน นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่บอกปัดกำกับ The Sound of Music (1965) แต่ไหนๆก็ไหนๆแล้ว

“If Beethoven could write his Eroica Symphony, then William Wyler can do a musical.”

เรื่องราวพื้นหลัง New York City เริ่มต้นก่อนหน้าสงครามโลกครั้งหนึ่ง, Fanny Brice (รับบทโดย Barbra Streisand) นักร้องนักเต้นมากฝีมือ แต่ด้วยความเปิ่นเป๋อ จึงยังไร้ซึ่งโอกาสโด่งดังแจ้งเกิด ค่ำคืนหนึ่งสวมใส่โรเลอร์เบต ทำการแสดงอย่างหายนะ กลับได้รับเสียงหัวเราะปรบมืออย่างล้นหลาม ทำให้มีโอกาสพบเจอชายหนุ่มแปลกหน้า สวม Jabot ยับๆ Nicky Arnstein (รับบทโดย Omar Sharif) เกิดเป็นความประทับใจเล็กๆแต่ไม่คาดคิดหวังจะได้พบเจอกันอีก

หลายเดือนถัดไปเมื่อแมวมองของ Florenz Ziegfeld (รับบทโดย Walter Pidgeon) เรียกตัวไปทดสอบการแสดง แม้จะไม่เป็นที่ประทับใจนัก กลับได้เสียงตอบรับชื่นชมล้นหลาม จึงมีโอกาสเจอ Nicky Arnstein แต่แค่เพียงวันเดียวก็ต้องร่ำจากแยกลา สัญญาว่าจะโทรหากลับล่วงผ่านเลยมาเป็นปีๆ บังเอิญพบกันอีกครานี้มีเวลาอยู่ด้วยกัน 7 วันขณะออกทัวร์ แต่แค่นั่นยังไม่เพียงพอเติบเต็มความรู้สึกของตัวเอง เลยกระทำการบ้าๆติดตามเขาไปจนสุดขอบปลายฟ้า ครองรักแต่งงาน แต่แล้ว…

Barbara Joan ‘Barbra’ Streisand (เกิดปี 1942) นักร้อง นักแสดงหญิง สัญชาติอเมริกัน หนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถคว้า Emmy, Grammy, Oscar และ Tony Award (รวมถึง Emmy) ได้ครบทุกสถาบัน เกิดที่ Brooklyn ในครอบครัวชาว Jews แม่เป็นนักร้องเสียง Soprano จึงได้ลูกคอติดมา โตขึ้นเป็นนักร้อง นักแสดงละครเพลง Broadway ออกรายการโทรทัศน์, ภาพยนตร์เรื่องแรก Funny Girl (1968), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Way We Were (1973), A Star Is Born (1976), Yentl (1983), The Prince of Tides (1991) ฯ

รับบท Fanny Brice หญิงสาวผู้มีลำขาอันเรียวเล็ก เหมือนจะขาดความมั่นใจ แต่ไร้ซึ่งความหวาดกลัวเกรง ครุ่นคิดอะไรพูดบอกออกมาตรงๆคมคายสายฮา ชื่นชอบมองหาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เข้ากับตนเองเท่านั้นโดยไม่สนอะไรอื่น ด้วยเหตุนี้เพราะความรักมากเลยมืดบอดมองไม่เห็นการสูญเสียศักดิ์ศรีของ Nicky Arnstein ชนวนเหตุให้เขาต้องทอดทิ้งบอกร่ำลาจาก เพราะมิอาจอาศัยอยู่ภายใต้ชายคากระโปรงหญิง

ในตอนแรก Streisand ไม่เคยได้ยินชื่อรู้จัก Wyler มาก่อน และเมื่อมีคนบอกเธอว่าเขาคว้า Oscar จากเรื่อง Ben-Hur ร้องอุทานพร้อมให้ความเห็นว่า

“Chariots! How is he with people, like women? Is he any good with actresses?”

ตรงกันข้ามกับ Wyler ที่หลังจากได้ร่วมงานกับ Streisand กล่าวชื่นชมไม่หยุดปาก

“I wouldn’t have done the picture without her. Her enthusiasm reminded him of Bette Davis, and he felt she represented a challenge for me because she’s never been in films, and she’s not the usual glamour girl”.

ความ ‘Born to Be’ ของ Barbra Streisand ตั้งแต่ภาพลักษณ์สวยเลิศงามสง่า ดั่งโด่งตาคม ประดับด้วยเสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับ ระยิบระยับแค่ไหนก็ยังโดดเด่นเป็นประกาย รอยยิ้ม คำพูด สำเนียง อ่อนหวานละมุ่นไม ฝีปากจัดจ้านคมคาย รับโต้คารมใครๆได้อย่างไม่กลัวเกรง แต่ที่เห็นจะเจิดจรัสสุดของเธอ คือ Charisma ผู้หญิงดั่งช้างเท้าหน้า เรียกว่าแรดร่านคงไม่ผิดอะไร ทำไปเพื่อสนองตัณหาราคะความต้องการของตนเอง ขึ้นรถไฟขึ้นเรือเพื่อไปครองคู่อยู่กินกับชายคนรัก ต่อให้สาวๆสมัยนั้นคงไม่เรื่องง่ายจะกล้าบ้าคลั่งขนาดนี้!

“Hello, gorgeous”

คำพูดประโยคแรกของหนัง กลายเป็นตำนานของ Streisand และในชีวิตจริงเมื่อตอนคว้ารางวัล Oscar: Best Actress จับจ้องมองรูปปั้นแล้วก็พูดประโยคนี้อีกครั้ง ทำให้ได้รับจัดติดอันดับ 81 ชาร์ท AFI’s 100 Years… 100 Movie Quotes

สำหรับนักแสดงชาย ตอนแรกเล็ง Frank Sinatra แต่เจ้าตัวยื่นข้อเสนอให้เพิ่มบทและใส่เพลงใหม่ๆเข้าไปด้วย จริงๆที่ถูกมองผ่านเพราะความสูงวัยเกินไปหน่อย โปรดิวเซอร์เลยเล็งๆ Cary Grant, Marlon Brando, Gregory Peck, Sean Connery, David Janssen, James Garner ก่อนมาลงเอยที่ Omar Sharif เพราะพื้นหลังเป็นคนอิยิปต์ ตรงกันข้ามกับ Streisand ที่มีเชื้อสายยิว! กระนั้นเมื่อการมาถึงของ Six-Day War (5-10 มิถุนายน 1967) สงครามหกวันระหว่างอิสราเอลกับอิยิปต์ หลังวิกฤตการณ์สุเอซ สตูดิโออยากที่จะเปลี่ยนตัวนักแสดง แต่ถูก Wyler และ Streisand ขู่จะถอนตัวถ้าไล่ออก Sharif

Omar Sharif ชื่อจริง Michel Dimitri Chalhoub (1932 – 2015) นักแสดงสัญชาติ Egyptian เกิดที่ Alexandria, Kingdom of Egypt ในครอบครัวเชื้อสาย Lebanese นับถือ Melkite Catholic จบการศึกษาจาก Cairo University สาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ออกมาทำงานธุรกิจค้าไม้ของพ่อ ก่อนมาสนใจเป็นนักแสดง ได้พบรักแต่งงานเปลี่ยนศาสนาอิสลาม ใช้ชื่อ Omar El-Sharif โด่งดังอย่างมากในประเทศจนเข้าตาผู้กำกับ David Lean กลายเป็นดาราค้างฟ้า Lawrence of Arabia (1962), ผลงานเด่นอื่นๆ Doctor Zhivago (1965), Funny Girl (1968) ฯ

รับบท Nicky Arnstein (1879 – 1965) นักพนัน/นักต้มตุ๋นมืออาชีพ ตัวจริงเกิดที่ Berlin, German Empire เชื้อสาย Jews แต่งงานอยู่กันกับ Fanny Brice (1918 – 27) มีบุตรด้วยกัน 2 คน

บทบาทของ Sharif คือบุคคลผู้ทะนงด้วยศักดิ์ศรี ‘ความเป็นชาย’ ยึดมั่นในโลกทัศนคติว่าตนเองเก่ง เหนือกว่า ต้องเป็นช้างเท้าหน้า แรกๆเพราะมีเงินมากกว่าเลยยังสามารถเป็นตัวของตนเอง สวมใบหน้า Poker Face ไม่มีใครล่วงรับรู้ความในได้ แต่พอภายหลังเมื่อโชคเริ่มหมด ธุรกิจล่มจม ตรงกันข้ามกับภรรยายิ่งโด่งดังกลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า นั่นทำให้ตัวเขารู้สึกละอาย สูญเสียความมั่นใจ ไม่ยินยอมรับความช่วยเหลือ ปล่อยตนเองผิดพลาดโง่ๆแถมยังไม่ยอมปรับตัวแก้ไข สุดท้ายก็มิอาจฝืนรั้งต่อไปได้ เลิกราอย่าขาด ไม่รู้จะมีโอกาสพบเจอหน้ากันอีกหรือเปล่า

ผมว่าการแสดงเรื่องนี้ของ Sharif โดดเด่นยิ่งเสียกว่า Lawrence of Arabia (1962) เพราะความที่ตัวละครต้องสะสมความปั่นป่วนพลุกพล่าน ดั่งกองไฟสุมอยู่ในทรวงอก เมื่อถ่ายทอดออกมามันจึงเจ็บปวดรวดร้าวราน อัดอั้นทุกข์ทรมาน ขัดจิตขัดใจผู้ชม ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงยินยอมเพื่อผู้หญิงคนรักไม่ได้ จะเอาศักดิ์ศรีลูกผู้ชายค้ำคอไปไหน! … แต่คนแบบนี้ถ้าเลือกเสียศักดิ์ศรีหลบใต้กระโปรงผู้หญิง เขาก็จะไม่มีค่าความเป็นคนหลงเหลืออยู่อีกเลยนะ

ว่ากันว่า Streisand ได้กลายเป็นชู้รักกับ Sharif ระหว่างถ่ายทำหนังเรื่องนี้ ซึ่งไม่นานนักทั้งคู่ก็ต่างเลิกรา สามี-ภรรยาของกันและกัน แต่สุดท้ายกลับไม่ได้ครองคู่อยู่กินหรือมีสัมพันธ์ไปมากกว่านี้, ผู้กำกับ Wyler ก็ได้ล่วงรู้ จึงพยายามสร้างแรงผลักดันให้ทั้งคู่ ให้เกิด Passion ร่วมกันในการแสดงอีกด้วย

ถ่ายภาพโดย Harry Stradling Sr. ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นอาทิ Mr. & Mrs. Smith (1941), Suspicion (1941), The Picture of Dorian Gray (1945), A Streetcar Named Desire (1951), My Fair Lady (1964), Funny Girl (1968), Hello Dolly! (1969) ฯ

หนังได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K เมื่อปี 2013 ทำให้คุณภาพคมชัดกริบ เสื้อผ้าเครื่องประดับ เพชร พลอย งามระยิบระยับสะท้อนแสงเป็นประกาย สีสันยังคงสวยสด เก็บตกรายละเอียดเล็กๆน้อยๆด้วยความประณีตระดับวิจิตรศิลป์

ไดเรคชั่นการถ่ายภาพไม่ได้มีความหวือหวาอะไรมาก โดดเด่นในการเลือกมุมกล้องให้นักแสดงออกมาดูดีเป็นที่สุด (Stradling เป็นตากล้องที่ดาราดังแห่งยุคเชื่อมือมากๆคนหนึ่ง เพราะสามารถเลือกมุมกล้องออกมาได้สวยงาม) อย่างช็อตนี้ มุมสวยสุดของ Streisand เชิดหน้าขึ้นเพื่อรับการจุมพิตอย่างนุ่มนวลจากเจ้าชาย คงค้างไว้สักพักเพื่อดื่มด่ำกับความโรแมนติก

และเมื่อเจ้าชายขับราชรถจากไป ปลดปล่อยอารมณ์ Singin’ in the Rain ขับร้องท่อนสุดท้ายบทเพลง People เป็น Long Take ถ่ายจากเครนมุมสูงเลื่อนลดระดับลงมาจน Close-Up ใบหน้าของหญิงสาวขณะเดินเลียบมาจนเกาะเสาไฟฟ้า เสร็จแล้วค่อยๆเคลื่อนออก รีบวิ่งไปลัลล้า สุขสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน

ผมเรียกห้วงอารมณ์ขณะนี้ว่า ‘ความฟินจากรอยจุมพิต’ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอิ่มเอิบ ประทับใจ สุขสำราญของหญิงสาว ตราประทับฝังตรึงอย่างสุดซึ้ง โรแมนติกหวานแหววจนน้ำตาลขึ้นมด

หนึ่งใน Sequence น่ารักน่าชังสุดของหนัง พ่อแง่แม่งอน เมื่อทั้งสองหวนกลับมาพบกันหนึ่งปีหลังครั้งล่าสุด ไม่เคยโทรศัพท์ติดตามหา แต่ก็อดไม่ได้เมื่อถูกเขาขอให้มาทางดินเนอร์ ถ่ายทำในห้องเล็กๆ ประดับประดาด้วยความงามอร่ามวิจิตร รูปปั้นพวกนี้ แม่จะงอนเลยทำท่าเลียนแบบตามโดยไม่รู้ตัว

สวยสุดของหนังคงช็อตนี้กระมัง พระอาทิตย์กำลังจะตกดิน เป็นพื้นหลังให้คู่รักหนุ่มสาว สะท้อนเรื่องราวขณะที่พวกเขากำลังจะต้องพลัดพรากแยกจากลา ก็ไม่รู้จักมีโอกาสหวนกลับคืนมาพบเจอกันอีกหรือเปล่า

แถมท้ายกับช็อตนี้ ณ จังหวะจบครึ่งแรกพอดิบพอดี เมื่อหญิงสาวตัดสินใจขึ้นเรือออกติดตามคนรัก สนองอิสรภาพ/เสรีภาพ ความต้องการของตนเอง ใครจะว่าแรดร่านก็ช่างมัน นี่คือสิ่งที่หัวจิตใจของฉันปรารถนา ใคร่ต้องการมาครอบครองเป็นเจ้าของ

ถ่ายติดเทพีเสรีภาพ ก็สะท้อนว่านั่นคือสิ่งที่เธอกำลังโหยหาไขว่คว้าต้องการมันอยู่พอดี

ตัดต่อโดย William Sands, Maury Winetrobe เล่าเรื่องในมุมมองสายตาของ Fanny Brice เริ่มจากปัจจุบัน ก่อนย้อนอดีตที่จุดเริ่มต้น ดำเนินไปข้างหน้าเรื่อยๆในช่วงเวลาสำคัญๆ ครั้งแรกของชีวิต อันประกอบด้วย
– ครั้งแรกของการกำลังจะได้ขึ้นเวที
– ครั้งแรกพบเจอ Nicky Arnstein ตกหลุมรัก
– ครั้งแรกทดสอบการแสดงกับ Florenz Ziegfeld
– ครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จทางการแสดง และพบเจอ Nicky Arnstein อีกครั้งหนึ่ง
– ครั้งแรกของการออกทัวร์ และหวนกลับมาพบเจอ Nicky Arnstein
– ครั้งแรกของการดินเนอร์ และเสียตัว (กระมัง)
– ครั้งแรกของการทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจ ขึ้นรถไฟ ขึ้นเรือ เพื่อครองคู่อยู่กินกับชายคนรัก
– ครั้งแรกของการมีลูกคนแรก
– ครั้งแรกที่สามีไม่ยอมไปรับชมการแสดงรอบปฐมทัศน์ของตนเอง
ฯลฯ

และเรื่องราวหวนกลับมาบรรจบต้น-ท้าย ด้วยครั้งแรกของการตัดสินใจเลิกร้างรา แยกจากชายคนรัก ปิดท้ายด้วยการขับร้องบทเพลง My Man ที่โด่งดังสุดของ Fanny Brice

สำหรับเพลงประกอบ นำจากการแสดง Broadway แต่งทำนองโดย Jule Styne คำร้องโดย Bob Merrill แต่เพราะความยาวเกินไป เลยทำการตัดออกถึง 8 บทเพลง และเขียนขึ้นใหม่ อาทิ The Swan, Funny Girl (นี่ถือเป็นธรรมเนียมของหนัง Musical ยุคสมัยนั้น จะไม่นำมาครบหมดทุกบทเพลง แล้วทำการแต่งเพิ่มให้มีความแตกต่าง)

I’m the greatest star สะท้อนกึกก้องกับความ ‘Born to Be’ ของ Barbra Streisand ที่ทำให้หวนระลึกถึงเสียงร้องของ Judy Garland ตอนเรื่อง A Star is Born (1954) ช่างมีความทรงพลัง กึกก้อง ไร้ขอบเขต ขนลุกขนพอง เพราะใครๆย่อมรู้ว่าผู้หญิงคนนี้ต้องกลายเป็นดาวดาราค้างฟ้าขึ้นสักวัน

His love makes me beautiful คือบทเพลงที่ขายลีลา ความสามารถ อัจฉริยภาพของ Streisand ได้อย่างเด็ดดวง ซึ่งถ้าคุณสามารถแบ่งแยก ฟังสำเนียงภาษาอังกฤษออก จะสัมผัสได้ถึงความจัดจ้าน เย้ายียวน กวนประสาท ร้ายกาจจนมิอาจหยุดอมยิ้ม

ฉากนี้คือว่า อดขำกับนักเต้นตัวประกอบด้วยไม่ได้ ก็ไม่รู้หลุดจริงสดๆ หลุดแกล้ง หรือเตี้ยมกันมา ใครกันจะไปทนได้เมื่อเห็นความมากด้วยลีลาของ Streisand นี่เรียกว่าสวยงามไปถึงภายในทรวง

หนึ่งใน Original Song ชื่อเพลง The Swan เมื่อท่วงทำนองดังขึ้น หลายคนคงระลึกได้ถึง Tchaikovsky: Swan Lake นักแสดงเต้นบัลเล่ต์ก็ยิ่งเคลิ้มเลย แต่คำร้องแต่งขึ้นใหม่หมดนะครับ และผมชอบลีลาการโคลงเคลงไปมาของภาพด้วย สะท้อนถึงชีวิตคู่ที่เริ่มระส่ำระส่ายไม่แน่นอน ทั้งยังคือครั้งแรกที่ Nicky Arnstein ไม่มารับชมการแสดงรอบปฐมทัศน์ของ Fanny Brice

เริ่มต้นด้วยท่าเต้นแท็ป ลายเซ็นต์ประจำตัวเวลาร่ำลาจาก จากนั้นขับร้องเพลง Funny Girl สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกอันเจ็บปวดรวดร้าว น้ำตาไหลพรากๆ ตัดกลับมาที่ห้องโถงโลงละคอนอันว่างเปล่า เสียงเพลงดังกึกก้องกังวาลย์ แต่ไม่หลงเหลืออะไรคั่งค้างคาภายในจิตใจ

ขณะขับร้องบทเพลงนี้ หญิงสาวหันหน้ามาตรงกระจกที่มีตะแกรงเหล็ก พบเห็นใบหน้าของเธอราวกับคนติดคุกติดตาราง ติดกับอยู่ในความทุกข์โศกเศร้าหมอง มิอาจตัดใจจากคนรักเพื่อโบยบินเป็นอิสระเสรี

ความตลกของ Funny Girl เกิดจากความสามารถในการตบมุกของ Barbra Streisand ที่ได้สร้างความแตกต่าง แปลกแยกจากฝูงหงส์ ใครทำอะไรฉันไม่สน ขอป็นตัวของตนเองไว้ก่อนเสมอ นี่มักสร้างความขัดแย้งไม่พึงพอใจให้ใครหลายคน แต่ผลลัพท์วัดจากจากผู้ชม ยกย่องสรรเสริญเรียกเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม ปรบมือ คงไม่มีใครหน้าไหนโง่งมเกินจะเลิกว่าจ้าง ว่าที่ Superstar ยังไงย่อมต้องโด่งดังค้างฟ้า

ว่าไปพล็อตของ Funny Girl ก็มีโครงสร้างคล้ายคลึง A Star is Born เมื่อดาวดวงหนึ่งกำลังไต่ขึ้นเจิดจรัสบนฟากฟ้า ย่อมทำให้อีกดาราที่เคยทอแสงจ้า พลันมืดหมองหม่นเคลื่อนคล้อยลงตกดิน นี่ถือเป็นวงจรวัฏจักรแห่งชีวิต ชื่อเสียงความสำเร็จหาใช่สิ่งจีรังยั่งยืน มีขึ้นก็ต้องมีลง สูง-ต่ำ รวย-จน ถ้ามิอาจยินยอมรับปรับตัวหรือเข้าใจ ก็อาจพบเจอความผิดหวังเศร้าสลด เลวร้ายบัดซบคือโศกนาฎกรรมก่อนถึงเวลาอันควร

แต่ความแตกต่างของเรื่องนี้อยู่ที่ความเป็น Feminist ของ Barbra Streisand โดดเด่นกว่า Judy Garland หรือ Janet Gaynor ใจความหนังต้องการสื่อว่า ผู้หญิงก็สามารถกลายเป็นช้างเท้าหน้าเดินนำผู้ชาย แต่ยุคสมัยนั้นเรื่องพรรค์นี้ยังคงยินยอมรับกันไม่ค่อยได้เท่าไหร่ เป็นสาเหตุให้เขาอับอายขายหน้าแทบแทรกแผ่นดินหนี ติดคุกรอนแรมเกือบๆสองปี ครุ่นคิดแน่นอนแล้วว่าขอให้เลิกร้างราต่อกัน

ประเด็น Feminist กับ Barbra Streisand คือของคู่กันแบบแยกไม่ออก ซึ่งกับหนังเรื่องนี้ไม่ใช่แค่กับคนรักเท่านั้นนะครับ ความแปลกแยกของเธอในทุกๆอย่าง ล้วนสื่อถึงการไม่ยินยอมก้มหัวให้กับขนบวิถีวัฒนธรรมที่เคยเป็นมา
– ทำไมฉันต้องร้องเล่นเต้นตามใครอื่น เป็นตัวของตนเองดีที่สุด
– ขึ้นเสียงต่อรอง Mr. Ziegfeld ทั้งๆไม่มีผู้หญิงไหนเคยกล้าทำมาก่อน (ส่วนใหญ่จะคิดว่า แค่ได้อยู่ในวงนี้ก็ดีตายห่า ยังจะมาร้องเรียกหาเรื่องมากทำไมอีก)
– ผู้ชายคนรักกำลังจากไป ความสุขของฉัน ‘Don’t Rain on My Parade’ ติดตามไปเพื่อสนองตัณหา ราคะ พึงพอใจ ต้องการของตนเอง
– เมื่อพบเห็นเขากำลังตกต่ำ อมทุกข์ เลยซุ่มแอบให้ความช่วยเหลืออย่างลับๆ
– และตอนจบ ยังไม่ทันที่คนรักจะพูดพร่ำทำอะไร เธอก็เป็นคนเอ่ยความเห็นขึ้นมาเอง เราคงต้องแยกย้ายจากกันจริงๆ! (จะบอกว่านั่นเป็นสิ่งที่ผมเองก็คาดคิดไม่ถึงเช่นกันจะจบลงแบบนี้)

My Man บทเพลงสุดท้ายในหนัง ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ขับร้องด้วยพลังแห่งจิตวิญญาณ ส่งถึงผู้ชายคนรักของฉัน ไม่ว่าเธอจะเคยผ่านมาเป็นอะไร แต่ชั่วชีวิตนี้ตราบยังมีลมหายใจ ขอเป็นคนของเขาแต่เพียงผู้เดียว

เกร็ด: เพื่อเพิ่มความทรงพลังกับฉากนี้ Wyler ให้ Sharif (ที่เป็นชู้รักกัน) ยืนหลบๆอยู่ด้านหลัง (ไม่เห็นในซีนหรอกนะครับ) เพื่อสร้างแรงกดดัน สายสัมพันธ์สวาทรัก ขับเคลื่อนให้ Streisand ถ่ายทอดบทเพลงนี้ออกมาอย่างทรงพลังที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้

ด้วยทุนสร้าง $14.1 ล้านเหรียญ ทำเงินสูงสุดแห่งปี $58.5 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม, เข้าชิง Oscar 8 สาขา คว้ามาเพียง 1 รางวัล
– Best Picture
– Best Actress (Barbra Streisand) ** คว้ารางวัล คู่กับ Katharine Hepburn เรื่อง The Lion in Winter (1968)
– Best Supporting Actress (Kay Medford)
– Best Cinematography
– Best Sound
– Best Film Editing
– Best Music, Original Song บทเพลง Funny Girl
– Best Music, Score of a Musical Picture (Original or Adaptation)

รางวัลใหญ่ปีนี้ตกเป็นของ Oliver! (1968) โดยผู้กำกับ Carol Reed ที่ตัดหน้า The Lion in Winter (1968) และอีกเรื่องที่ถูก SNUB ไม่ได้แม้แต่เข้าชิง 2001: A Space Odyssey (1968)

เกร็ด: มีเพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ Oscar ที่สาขา Best Actress ปีเดียวกันมอบให้ถึงสองคน, ก่อนหน้านี้มีอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นสาขา Best Actor เมื่อปี 1931/32 ผู้ชนะร่วมคือ Wallace Berry และ Fredric March

จริงๆนี่ก็ไม่ใช่หนังสมควรมีภาคต่อหรอกนะ แต่เพราะ Streisand ค้างสัญญาเล่นหนังกับ Ray Stark อีกเรื่องหนึ่ง ตัวเองก็ไม่คิดทำภาคต่อ กระนั่นเมื่อได้อ่านบทเกิดความชื่นชอบ เพราะได้เห็นพัฒนาการของ Fanny และสามีคนที่สาม จึงกลายมาเป็น Funny Lady (1975) ได้พระเอกใหม่คือ James Caan และ Omar Sharif กลับมารับเชิญเล็กๆ เข้าชิง Oscar 5 สาขาด้านเทคนิค รายรับไม่ขาดทุนแต่ก็น้อยกว่าภาคต้น

เท่าที่ติดตามอ่านจากหลายๆนักวิจารณ์ ลงความเห็นด้วยมติเดียวกันว่า แค่การแสดงของ Barbra Streisand ก็เพียงพอกลบจุดด้อยนานับประการของหนังลงหมดสิ้น ผมเองก็ไม่มีความเห็นต่าง แต่ลึกๆแล้วก็ผิดหวัง William Wyler ไม่เหมาะที่จะกำกับ Musical จริงๆนะแหละ

แนะนำคอหนัง Musical การแสดง Broadway เกี่ยวกับวง Ziegfeld Follies, ชื่นชอบแนวรักโรแมนติก ออกไปทาง Feminist, แฟชั่นดีไซเนอร์ นักออกแบบฉาก ฟินไปกับความอลังการของโปรดักชั่น, แฟนๆผู้กำกับ William Wyler และนักแสดงนำ Barbra Streisand, Omar Sharif ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับความแรดร่านของตัวละคร

TAGLINE | “Funny Girl คือการ ‘Born to Be’ ของ Barbra Streisand ช่างมีความโศภิต จริตจัดจ้าน จนมิอาจละลานสายตาไปได้แม้วินาทีเดียว”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: