Gandhi (1982) : Richard Attenborough ♥♥♥♥
มหาตมา คานธี พยายามอย่างยิ่งจะใช้หลัก ‘อหิงสา’ ไม่เบียดเบียน ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา แต่ท้ายสุดก็มิอาจเอาชนะสันดานธาตุแท้มนุษย์ ถูกเข่นฆาตกรรมโดยผู้มีความครุ่นคิดเห็นต่าง ปัจจุบันหลงเหลือเพียงตำนานลือเล่าขาน ค่อยๆถูกหลงลืมเลือนไปตามกาลเวลา, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ประวัติศาสตร์โลกนับครั้งได้! ที่หลักอหิงสาของมหาตมา คานธี จะประสบความสำเร็จในการประท้วง เรียกร้อง ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา (ในระดับมหภาค) นั่นเพราะสันดานธาตุแท้มนุษย์คือการเข่นฆ่า ยิ่งยุคสมัยนี้กอปรความด้านได้อายอด สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ยึดถือมั่นในวัตถุสิ่งของรูปธรรม ปฏิเสธความเชื่อศรัธาศาสนานามธรรม ตายไปตกนรกแล้วไง ปัจจุบันร่ำรวยสุขสบาย เท่านั้นก็เหลือเฟือเพียงพอแล้วสำหรับชาตินี้
Gandhi (1982) เป็นภาพยนตร์ที่มักได้รับการเขม่นจากผู้ชม/นักวิจารณ์ นั่นเพราะดันไปแก่งแย่งชิง Oscar: Best Picture (และอีกหลายๆสาขา) มาจาก E.T. the Extra-Terrestrial (1982) อันที่จริงคุณภาพก็ไม่ได้เลวร้าย แต่กาลเวลาเลือกจดจำ E.T. มากกว่า Gandhi เท่านั้นเอง!
ผมจะเคยรับชม Gandhi (1982) มาแล้วหลายครั้ง แต่ครานี้กลับยังพบเห็นความน่าประทับใจในไดเรคชั่นของ Richard Attenborough เกือบๆสมราคา 8 รางวัล Oscar (ถ้าไม่มี E.T. ให้เปรียบเทียบ) ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ David Lean อาจพบความล้มเหลว … ก็น่าคิดไม่น้อยถ้าผู้กำกับ Lean ได้สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ จะทำออกมาได้ระดับเดียวกับ Lawrence of Arabia (1962) หรือเปล่า?
มหาตมา คานธี (1869 – 1948) ชื่อเต็มว่า โมหันทาส กรัมจันท์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) ผู้นำ/นักการเมืองที่มีชื่อเสียงชาวอินเดีย เกิดที่แคว้นคุชราต ทางทิศตะวันตกของอินเดีย ในครอบครัวนับถือศาสนาฮินดู เมื่ออายุ 13 ปี สมรสกับเด็กหญิงกัสตูรบา, Kasturba (1869 – 1944) ตามประเพณีท้องถิ่นที่นิยมให้เด็กแต่งงานกันเร็วๆ ทั้งสองมีบุตร-ธิดา รวมทั้งหมด 5 คน
ค.ศ. 1888 เป็นปีที่บุตรคนแรกของคานธีได้ถือกำเนิดขึ้น ขณะเดียวกันครอบครัวตัดสินใจส่งเขาไปร่ำเรียนวิชากฎหมายยังประเทศอังกฤษ ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะปรับตัวเข้ากับมารยาท วัฒนธรรม ขณะเดียวกันตัดสินใจเปลี่ยนมารับประทานมังสวิรัติ และสำเร็จการศึกษาและสอบได้เป็นเนติบัณฑิต
ค.ศ. 1894 ได้รับมอบหมายให้เป็นทนายในประเทศแอฟริกาใต้ ซื้อตั๋วรถไฟชั้นหนึ่งแต่ถูกผู้โดยสารผิวขาวไม่พึงพอใจ จึงไปประท้วงเจ้าหน้าที่ให้สั่งย้ายไปนั่งชั้นสาม คานธีไม่ยินยอมเลยถูกรุมทำร้ายโยนออกมาจากขบวนรถไฟ ความไม่พึงพอใจดังกล่าวทำให้เขาริเริ่มต้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนอยู่หลายปี ทอดทิ้งเครื่องแต่งกายตะวันตก หวนกลับมาสวมใส่เสื้อผ้าพื้นเมืองดั้งเดิม เมื่อเดินทางกลับบอมเบย์ปี ค.ศ. 1915 มีชาวอินเดียจำนวนมากไปรอต้อนรับ ถึงขนาดรพินทรนาถ ฐากุร, Robindronath Tagore (1861 – 1941) มหากวีแห่งอินเดีย ขนานนามคานธีว่า ‘มหาตมา’ อันแปลว่า ผู้มีจิตใจสูงส่ง
คานธีออกเดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อรู้เห็นวิถีชีวิต ความเป็นจริงของชาวอินเดีย ค.ศ. 1916 ก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน ด้วยวิธีขอความร่วมมือผนึกกำลังคนละเล็กคนละน้อยจนเป็นพลังที่สั่นคลอนประเทศได้
ค.ศ. 1919 ได้มีการประกาศกฎหมาย Rowlatt Act ที่ทำการกดขี่ชาวอินเดีย คานธีใช้วิธีขอความร่วมมือว่าในวันที่ 30 มีนาคม ประชาชนทุกคนจะหยุดงาน ทำให้อำนาจรัฐบาลอังกฤษเกิดการสั่นคลอนอย่างชัดเจน แต่แผนการดังกล่าวมีช่องโหว่คือตัวคานธีเอง รัฐบาลอังกฤษจับเขาคุมขังคุก สร้างความไม่พึงพอใจให้ประชาชนจนเกิดเหตุจารจลทั่วทั้งประเทศ
วันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1919 รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจปล่อยตัวคานธี ซึ่งพอเข้าตัวรับรู้ถึงความรุนแรงที่บังเกิดขึ้น ตัดสินใจอดอาหารเพื่อเรียกร้องประชาชนกลับคืนสู่ความสงบ ขณะเดียวกันในวันนั้น ประชาชนนับพันไปรวมตัวสังสรรค์ที่สวนสาธารณะชัลลียันวาลา เมืองอมฤตสระ แต่ทว่า นายพลเรจินัลด์ ดายเออร์, Reginald Dyer ผู้บังคับบัญชากองทหารอังกฤษ ออกคำสั่งให้กองทัพรัวปืนใส่กลุ่มประชาชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,500 ศพ บาดเจ็บประมาณ 3,000 คน เป็นปฏิบัติการทางทหารที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษเสื่อมเสียเกียรติยศอย่างยากจะฟื้นตัว
ค.ศ. 1930 คานธีต้องการประท้วงกฎหมายอังกฤษที่ห้ามคนอินเดียทำเกลือกินเอง วันที่ 12 มีนาคม จึงเริ่มออกเดินทางไปยังชายทะเลในตำบลฑัณฑี พร้อมกับประชาชนนับแสนคนที่เต็มใจไปพร้อมกัน ใช้เวลา 24 วัน ระยะทาง 400 กิโลเมตร ทางการอังกฤษดันทุรังจับกุมคานธีและประชาชนนับแสนคนในวันที่ 4 พฤษภาคม ทำให้จำนวนแรงงานอาชีพหายไปเป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจและระบบบริหารงานของรัฐบาลอังกฤษเกิดความปั่นป่วนอย่างใหญ่หลวง จนต้องทะยอยปล่อยตัวประชาชนออกมาเรื่อยๆ
ค.ศ. 1939 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง มีการเดินขบวนรณรงค์ เรียกร้องอิสรภาพ ทำให้คานธีถูกจับกุมคุมขัง ระหว่างอยู่ในคุกภรรยากัสตูรบา ได้เสียชีวิตลงปี ค.ศ. 1944
ค.ศ. 1945 ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศอังกฤษ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ประกาศจะให้อินเดียได้ปกครองตนเอง แต่ทว่าก่อนจะมอบเอกราชจำต้องมีรัฐบาลชาวอินเดียขึ้นเสียก่อน เนื่องด้วยไม่สามารถตกลงกันได้ว่าระหว่างพรรคคองเกรสที่นับถือศาสนาฮินดู กับสันนิบาตมุสลิม จึงเกิดความขัดแย้งจนกลายเป็นเหตุนองเลือดรุนแรงไปทั่วทุกหัวระแหง คานธีรู้สึกเศร้าโศกเสียใจอย่างมาก อิสรภาพอยู่แค่เอื้อมแต่เรากลับทะเลาะกันเองภายใน เขาจึงหอบสังขารวัย 77 ปี ออกเดินเท้าไปยังภูมิภาคต่างๆเพื่อขอร้องให้ชาวอินเดียหันมาสมัครสมานาสามัคคีกัน
เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1947 ได้มีการเจรจาตกลงระหว่างพรรคคองเกรส กับสันนิบาตมุสลิม โดยผลสรุปคือเมื่ออินเดียได้รับเอกราช จะแบ่งประเทศออกเป็น 2 ส่วน โดยให้พื้นที่ที่คนส่วนใหญ่นับถือฮินดูเป็นประเทศอินเดีย และพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่นับถืออิสลามเป็นประเทศปากีสถาน
13 มกราคม ค.ศ. 1948 คานธีเดินทางไปปากีสถาน เพื่อหวังสมานฉันท์กับชาวมุสลิม แต่เพราะเจ้าตัวนับถือฮินดู สันนิบาตมุสลิมจึงคัดค้านการเพราะเกรงจะเกิดอันตราย เขาเลยประกาศอดอาหารอีกครั้ง
30 มกราคม ค.ศ. 1948 ในตอนเย็นคานธีกำลังสวดมนต์ไหว้พระอยู่ที่สนามหญ้า ขณะพูดว่า ‘เห ราม’ (ภาษาอังกฤษ Oh God) แปลว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า, นายนาถูราม โคทเส (Nathuram Vinayak Godse) ชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนาไม่ต้องการสมานฉันท์กับมุสลิม ได้ยิงปืนใส่ 3 นัด ล้มลงสิ้นลมหายใจในวัย 78 ปี
ค.ศ. 1952 โปรดิวเซอร์ Gabriel Pascal ทำข้อตกลงกับนายกรัฐมนตรีอินเดียขณะนั้น Jawaharlal Nehru เพื่อสรรค์สร้างภาพยนตร์อัตชีวประวัติมหาตมา คานธี แต่น่าเสียดายที่ Pascal พลันด่วนเสียชีวิตเมื่อปี 1954 ยังไม่ทันริเริ่มต้นทำอะไรทั้งนั้น
ต่อมาผู้กำกับ David Lean และโปรดิวเซอร์ Sam Spiegel หลังเสร็จจาก The Bridge on the River Kwai (1957) เกิดความสนใจในเรื่องราวของมหาตมา คานธี วางแผนต้องการสร้างเป็นผลงานเรื่องถัดไป คาดหวังให้ Alec Guinness รับบทแสดงนำ แต่สุดท้ายพวกเขาตัดสินใจเปลี่ยนไปทำ Lawrence of Arabia (1962)
ค.ศ. 1962 ผู้กำกับ Richard Attenborough มีโอกาสพบปะพูดคุย Motilai Kothari แนะนำให้รู้จักมหาตมา คานธี หลังจากมีโอกาสอ่านหนังสือชีวประวัติ(คานธี)ของ Louis Fischer เกิดความใคร่สนใจดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ แต่ก็คาดคิดว่าโปรเจคนี้คงต้องใช้เวลาเตรียมการยาวนานเกินกว่า 20 ปี เพราะคงไม่มีสตูดิโอไหนสนใจให้ทุนสร้างอย่างแน่นอน
ค.ศ. 1964 ก้าวแรกของผู้กำกับ Attenborough คือการได้พบเจอนายกรัฐมนตรี Jawaharlal Nehru, บุตรสาวของคานธี Indira Gandhi และ Lord Louis Mountbatten (ผู้ปกครองอินเดียคนสุดท้าย) ทุกคนพร้อมให้การส่งเสริมสนับสนุน แต่การเสียชีวิตของ Nehru ทำให้โปรเจคเกิดความล่าช้าไปอีกพอสมควร
ช่วงปลายทศวรรษ 60s ผู้กำกับ Lean ยังคงแสดงความสนใจสรรค์สร้างภาพยนตร์อัตชีวประวัติมหาตมา คานธี แต่คงประสบปัญหาเดียวกับ Attenborough ไม่มีสตูดิโอไหนสนใจให้ทุนสร้าง ไม่นานพี่แกก็เปลี่ยนความสนใจไปสรรค์สร้าง Ryan’s Daughter (1970) ประสบความล้มเหลวจนไปต่อแทบไม่ถูก
ค.ศ. 1976 ผู้กำกับ Attenborough สามารถต่อรองงบประมาณส่วนหนึ่งได้จากสตูดิโอ Warner Bros. ทำข้อตกลงโปรดิวเซอร์ Joseph E. Levine แลกเปลี่ยนกับการสร้างภาพยนตร์ A Bridge Too Far (1977), Magic (1978) และหุ้นส่วนจากละครเวที The Mousetrap
งบประมาณอีกส่วนหนึ่งขอได้จากรัฐบาลอินเดีย โดยนายกรัฐมนตรี(ขณะนั้น) Indira Gandhi ตัดงบจาก National Film Development Corporation of India เมื่อได้ทุนสร้างเพียงพอแล้ว Attenborough จึงจัดงานแถลงข่าว ณ กรุงเดลี มีผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากทีเดียว
Richard Samuel Attenborough, Baron Attenborough (1923 – 2014) ผู้กำกับ/นักแสดง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Cambridge โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง Royal Academy of Dramatic Art ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อาสาสมัครทหารอากาศ เข้าร่วมสังกัด Royal Air Force Film Production Unit กลายเป็นนักแสดงภาพยนตร์ชวนเชื่อ อาทิ In Which We Serve (1942), Journey Together (1943) ปลดประจำการเริ่มต้นจากละครเวที ตามด้วยภาพยนตร์ อาทิ The Great Escape (1963), Séance on a Wet Afternoon (1964), Guns at Batasi (1964), The Sand Pebbles (1966), Jurassic Park (1993), กำกับเรื่องแรก The Angry Silence (1960), โด่งดังที่สุดกับ Gandhi (1982)
สำหรับบทภาพยนตร์ แรกเริ่มต้นพัฒนาโดย Robert Bolt (1924 – 1995) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ ที่มีผลงานดัดแปลง Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965), A Man for All Seasons (1966) แต่บทยังไม่เป็นที่พึงพอใจของโปรดิวเซอร์ ไม่ทันปรับปรุงแก้ไขล้มป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
ส้มหล่นตกใส่ Bank John Briley (1925 – 2019) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ก่อนหน้านี้พัฒนาบท Pope Joan (1972) ซึ่งทีแรก Attenborough ได้รับมอบหมายกำกับแต่ถอนตัวออกไป ด้วยความประทับใจในบทดังกล่าวเลยติดต่อให้มาพัฒนาบทมหาตมา คานธี
ผมไปอ่านเจอบทสัมภาษณ์ของ Briley แสดงทัศนะต่อบทหนัง Gandhi ที่พัฒนามาก่อนหน้าฉบับของตนเอง (มีฉบับอื่นๆนอกจากของ Robert Bolt อีกนะครับ) ว่าทั้งหมดล้วนมาจากนักเขียนชาวอังกฤษ พวกเขาคงไม่เข้าใจสาเหตุผลว่าทำไมคานธี ถึงพยายามต่อต้านสหราชอาณาจักร แต่เพราะตัวเขาเป็นนักเขียนชาวอเมริกัน มันชัดเจนในมุมมองคนนอก ไม่มีใครอยากถูกปกครองภายใต้ชนชาติพันธุ์อื่น
“All the previous screenwriters had been English, and they had a very English point of view, namely, that Gandhi was this wise, profound, slightly unpleasant philosopher who didn’t appreciate all the British had done for India. Indeed, in the last screenplay, Gandhi’s off in the distance. The hero is an English schoolmaster in the Himalayas, and everybody’s wondering why Gandhi wants to get rid of the English. But I’m an American. It seemed clear to me that the story was about kicking the British out”.
John Briley
นำแสดงโดย Sir Ben Kingsley ชื่อเกิด Krishna Pandit Bhanji (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Snainton, North Riding of Yorkshire ปู่ทวดเป็นพ่อค้าเครื่องเทศเชื้อสาย Gujarati Indian บิดาเป็นหมอ ส่วนมารดาเป็นนักแสดง, โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง De La Salle College (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Ben Kingsley Theatre) ได้รับการค้นพบโดย Dick James ชักชวนมาเข้าร่วม Royal Shakespeare Company มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักแสดงละครเวที West End, ภาพยนตร์เรื่องแรกๆ Fear Is the Key (1972), โด่งดังกับ Gandhi (1982), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Schindler’s List (1993), Shutter Island (2010), Hugo (2011), Iron Man 3 (2013) ฯ
นักแสดงที่มีชื่อพัวพันกับบทบาทนี้ อาทิ Alec Guinness, Tom Courtenay, John Hurt, Dustin Hoffman แต่สุดท้ายบิดาของผู้กำกับ Michael Attenborough เป็นผู้แนะนำ Ben Kingsley ด้วยเหตุผลภาพลักษณ์ และต้นตระกูลมีเชื้อสายอินเดีย
Kingsley เตรียมตัวรับบทด้วยการศึกษาจากฟุตเทจ Newsreel, อ่านหนังสือชีวประวัติ, พูดคุยกับญาติพี่น้อง จากนั้นออกเดินทางไปปักหลักอาศัยอยู่อินเดีย รับประทานมังสวิรัติ ลดน้ำหนัก ฝึกโยคะ รวมไปถึงหัดปั่นด้าย เคยให้สัมภาษณ์ว่าเรียนทำเสื้อไม่ยากเท่าไหร่ แต่การต้องแบ่งสมาธิพูดพร้อมไปด้วยค่อนข้างท้าทายทีเดียว!
เฉกเช่นเดียวกับ Anthony Hopkins เกิดมาเพื่อรับบท Hannibal Lecter, Ben Kingsley ถือเป็นตัวตายตัวแทน ‘อวตาร’ ของมหาตมา คานธี ไม่เพียงภาพลักษณ์ที่สามารถทำให้ชาวอินเดียเข้าใจผิด ลีลาการแสดงยังมีความสงบงาม เชื่องช้าแต่มั่นคง ทุกย่างก้าวล้วนกอปรด้วยสติ สมาธิ ครุ่นคิดแก้ปัญหาด้วยปัญญา ยึดหลังอหิงสา โหยหาความเสมอภาคเทียม ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา
เห็นว่าบทหนังของ John Briley จะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างคานธีกับ (ว่าที่นายกรัฐมนตรี) Jawaharlal Nehru มีบทบาทโดดเด่นพอๆกัน แต่การแสดงอันโคตรตราตรึงของ Kingsley กลบเกลือนความสำคัญตัวละครอื่นๆจนหมดสิ้น ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งเหมาะสม เพราะ Charima ของมหาบุรุษผู้นี้ ยิ่งใหญ่เกินหาสิ่งอื่นใดมาเปรียบ
ถ่ายภาพโดย Billy Williams (เกิดปี 1929) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Women in Love (1969), Gandhi (1982), On Golden Pond (1981) ฯ
หนังถ่ายทำด้วยฟีล์ม 35mm ระบบ Panavision (2.39:1) แล้วค่อยไปทำการขยายขนาด (Blow-Up) เป็นฟีล์ม 70mm ซึ่งเป็นค่านิยมการฉายหนังระดับมหากาพย์ (Epic) ของยุคสมัยนั้น ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ อลังการงานสร้าง
แทบทั้งหมดของหนังถ่ายทำยังสถานที่จริง Delhi, Gujarat, Bihar, Punjab, West Bengal เว้นแต่ฉากที่แอฟริกาใต้ยังถ่ายทำยัง Maharashtra, ใช้ระยะเวลาถ่ายทำ 6 เดือน พฤศจิกายน 1980 ถึง พฤษภาคม 1981
ฉากงานศพของมหาตมา คานธี ถ่ายทำวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1981 ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิต 33 ปี ซึ่งทีมงานประกาศรับสมัครตัวประกอบด้วยใบปลิว และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ได้ผู้เข้าร่วมกว่า 300,000 คน กลายเป็นสถิติโลก ‘ตัวประกอบมากสุดในฉากเดียว’ ที่ดูแล้วคงไม่มีเรื่องไหนมาทำลายได้ (เพราะยุคสมัยนี้ถ้าต้องการฝูงชนจำนวนมาก ทำด้วย CGI คงจะประหยัดงบประมาณกว่า)
การถ่ายทำใช้ทีมงาน 11 ชุด (ตัวประกอบสามแสนคนจะใส่ชุดขาว ส่วนทีมงานใส่เสื้อผ้ามีสีสัน) กล้อง 19 ตัว (ถ่ายจากหลายมุมมอง) ได้ฟุตเทจความยาวกว่า 20,000 ฟุต ตัดต่อเหลือเพียง 2 นาที 5 วินาที (125 วินาที)
แซว: ฝูงชนปริมาณมากขนาดนี้ไม่มีทางที่จะจ่ายค่าตัวได้หมด มีเพียง 94,560 คนเท่านั้นที่ได้ค่าตัว (จากการเซ็นสัญญาไว้ล่วงหน้า) ส่วนที่เหลือล้วนมาด้วยใจ อาสาสมัครแบบไม่ได้ค่าตัว
Gandhi (1982) เป็นภาพยนตร์ที่ผมถือว่าใช้ประโยชน์จากความยาวของภาพ (2.39:1) ได้ยอดเยี่ยมมากๆเรื่องหนึ่ง นอกจากทิวทัศน์พื้นหลังสวยๆ ยังพบเห็นการจัดวางตำแหน่ง องค์ประกอบภาพ แบ่งแยกฝักฝ่ายอย่างชัดเจน
ยกตัวอย่างช็อตนี้ การชุมนุมครั้งแรกของคานธี สังเกตว่าผู้คนต่างยืนจับกลุ่มพวกพ้องของตน ขณะที่ผู้หญิง/ภรรยาพบเห็นอยู่ไกลลิบๆ (ยุคสมัยนั้น สตรียังคงเป็นช้างเท้าหลัง ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง ต้องคอยเดินตามหลังบุรุษเท่านั้น)
ไม่ใช่แค่ Long Shot หรือ Extreme-Long Shot เท่านั้นที่โดดเด่น มุมกล้องระยะใกล้ Close-Up ก็พบเห็นบ่อยครั้งในหนัง โดยเฉพาะใบหน้าของคานธี ชายตัวเล็กๆที่คำพูด ความครุ่นคิดของเขา ยิ่งใหญ่เกินกว่าระบบ Panavision จะบีบให้เล็กลงได้ (แต่ยกเว้นกับการพูดครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ เพราะยังอ่อนวัย ขาดประสบการณ์ เลยไม่สามารถใส่พลังในการพูดโน้มน้าวผู้คนได้)
นี่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ Daniel Day-Lewis บทบาทเล็กๆที่ก็พอใช้ได้เลยนะ
เป็นอีก Sequence ที่ใช้ประโยชน์จาก Panavision ได้ตราตรึงมากๆ แบ่งแยกภาพออกเป็นสองฝั่งฝ่าย
- General Jan Smuts ได้รับการต้อนรับด้วยขบวนแถว เสียงเพลง เกียรติยศ
- มหาตมา คานธี ล้อมรอบด้วยฝูงชน เป็นที่สนใจของนักข่าว กลายเป็นศูนย์กลางทางจิตใจของคนในชาติ
มหาตมา คานธี ในมุมมองชาวอินเดีย อาจดูเหมือนเทพเจ้าจุติลงมาบนโลก คอยให้คำแนะนำด้วยสันติวิธี ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย แต่ฉากนี้ทำให้เขาดูเหมือนเป็นมนุษย์คนหนึ่ง แสดงพิธีแต่งงานพร้อมภรรยาให้เพื่อนนักข่าว (รับบทโดย Martin Sheen) ก่อนตบท้ายด้วยคำพูดอันน่าทึ่ง ‘ฉันแต่งงานเมื่อตอนอายุ 13 ปี’ จริงๆเหรอนี่!
การปั่นด้าย สวมใส่เสื้อผ้าท้องถิ่น เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของคานธี ไม่ต้องการถูกควบคุม ครอบงำ สวมใส่สิ่งที่จะทำให้ตนเองตกเป็นทาสวัตถุจากโลกตะวันตก ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมวิถีพื้นบ้าน รู้จักพึ่งพาตนเอง เพียงพอใจในสิ่งที่มี ใช้ชีวิตด้วยสติ และยังเป็นการฝึกสมาธิ (การปั่นด้าย ต้องใช้สมาธิในการทำอย่างมากนะครับ)
ความขัดแย้งภายในระหว่างฮินดูกับมุสลิม เป็นสิ่งที่แม้แต่คานธีก็ไม่สามารถหาหนทางแก้ปัญหาได้ เขาจึงจำเป็นต้องเลือกฝั่งฝ่าย ตำแหน่งสุดท้ายของทุกคนในช็อตนี้ก็แบ่งแยกชัดเจนเลยว่า ใครอยู่ฝั่งไหน
ผมรู้สึกเสียดายเล็กๆที่หนังไม่ได้ขยี้ปัญหาขัดแย้งภายใน ให้มีความสมเหตุสมผลมากกว่านี้ (อาจเพราะผู้กำกับเชื่อว่า ผู้ชมน่าจะรับรู้ปัญหาดังกล่าวดีอยู่แล้ว เลยไม่จำเป็นต้องนำเสนออะไรลึกซึ้ง) โดยเฉพาะการเลือกข้างของคานธี เอาจริงๆนี่น่าจะเป็นการตัดสินใจผิดพลาดที่สุดในชีวิตก็ว่าได้
การเสียชีวิตของมหาตมา คานธี จริงๆแล้วเกิดขึ้นขณะกำลังสวดมนต์ แต่หนังนำเสนอฆาตกรบุกเข้ามายิงปืนแสกหน้า ขณะกำลังเดินและโอบกอดบุตรสาวสองคนเคียงข้าง
ผมมาครุ่นคิดถึงสาเหตุผลที่ทำไมผู้กำกับเลือกนำเสนอภาพ คานธีโอบลูกสาวทั้งสองคนในฉากนี้ ได้ข้อสรุปว่าพวกเธออาจเป็นสัญลักษณ์ความสมานฉันท์ระหว่างฮินดู-มุสลิม แม้ว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น แต่ถือว่าสะท้อนอุดมการณ์ เพ้อฝัน สิ่งที่เขาต้องการให้เป็นในวาระสุดท้ายของชีวิต (อินเดียและปากีสถาน อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข)
ภาพสุดท้ายของหนัง สังเกตว่าจงใจไม่ถ่ายให้เห็นพระอาทิตย์ (ขณะที่ภาพแรกของหนัง นำเสนอดวงอาทิตย์กำลังเคลื่อนคล้อยตกดิน) นั่นอาจหมายถึงการลาลับไปแล้วของมหาตมา คานธี แต่สิ่งที่หลงเหลือคือแสงสว่าง/คุณความดีงามที่ยังสาดสะท้อนบนผิวน้ำ
ตัดต่อโดย John Bloom (เกิดปี 1935) สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ The French Lieutenant’s Woman (1981), Gandhi (1982), A Chorus Line (1985), Notes on a Scandal (2006) ฯ
หนังเริ่มต้นจากการถูกลอบสังหารของมหาตมา คานธี จากนั้นเล่าย้อนอดีตผ่านเหตุการณ์สำคัญๆในชีวิต ประกอบด้วย
- การเรียกร้องสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมในประเทศแอฟริกาใต้
- เดินทางกลับอินเดีย ค่อยๆเรียนรู้ปัญหาการกดขี่ข่มเหงของชาวอังกฤษ
- แคมเปญเรียกร้องอิสรภาพ อดอาหารประท้วง, เดินไปทำเกลือ, ขึ้นเรือสู่เกาะอังกฤษ
- อินเดียได้รับอิสรภาพ แต่ก็มาพร้อมความขัแย้งแบ่งแยกประเทศ
หลายๆเหตุการณ์ในหนัง สังเกตว่าใช้การเล่าเรื่องด้วยคำพูดมากกว่านำเสนอภาพ หรืออาจจะนำเสนอแบบผ่านๆ ยกตัวอย่าง คานธีเดินทางสู่ประเทศอังกฤษ ใช้เทคนิคเล่าเรื่องด้วย Newsreel ฯ นี่อาจเพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณ ไม่ก็ถูกตัดออกเพราะระยะเวลานำเสนอเยิ่นยาวนาน แต่ขณะเดียวกันมันคือความคิดสร้างสรรค์ของผู้กำกับ/นักตัดต่อ สร้างความแตกต่างในไดเรคชั่นนำเสนอ ทำให้ผู้ชมไม่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย มีอะไรใหม่ๆมานำเสนออยู่เรื่อยไป
อีกหนึ่งเทคนิคที่พบเห็นบ่อยคือการตัดสลับระหว่าง Action-Reaction ยกตัวอย่าง คานธีกำลังกล่าวสุนทรพจน์ จะมีการตัดสลับให้เห็นสีหน้า ปฏิกิริยาผู้ฟังอยู่บ่อยครั้ง, หรือฉากผู้ชุมนุมกำลังเผชิญหน้าทหารม้า ตัดสลับไปมาภาพทั้งสองฝั่ง สร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก และอารมณ์บางอย่างที่พ่วงมากับเหตุการณ์นั้น (อาทิ สงสารเห็นใจ, เศร้าสลด, เคียดแค้น ฯ)
เพลงประกอบโดย
- George Fenton (The Blue Planet, The Wind That Shakes The Barley) สำหรับท่วงทำนองดนตรีคลาสสิก ทางฝั่งตะวันตก
- Ravi Shankar (The Apu Trilogy) สำหรับดนตรีพื้นบ้านอินเดีย
น่าเสียดายสำหรับงานเพลง ใช้เพียงมอบสัมผัสบรรยากาศ ‘impression’ ให้กับหนังเท่านั้น กล่าวคือ ถ้าเรื่องราวดำเนินอยู่ในอินเดียก็มักใช้เพลงของ Shankar, หรือถ้าเกี่ยวกับชาวอังกฤษก็ใช้ทำนองคลาสสิกของ Fenton ซึ่งมีความขัดแย้ง ‘contrast’ กันพอสมควร แต่ก็ถือว่าสอดคล้องเข้ากับเนื้อหาหนัง (ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างชาวอินเดีย กับสหราชอาณาจักร)
ถึงจะบอกว่าน่าเสียดาย แต่งานเพลงของ Shankar ผมให้เต็มสิบเลยนะ กลิ่นอายอินเดียจัดเต็ม ครบเครื่องดนตรีพื้นบ้าน สนุกสนาน รุกเร้า งดงามตราตรึง … ไม่รู้เพราะเหตุผลนี้หรือเปล่าเลยได้เข้าชิง Oscar: Best Original Score แต่ก็ยังไม่ดีพอพ่ายให้กับ E.T.
บทเพลง Ending Credit ชื่อ For All Mankind ขับร้องโดย Vaishnava Janato & Raghupati Raghava Raja Ram
Oh Lord Rama, descendent of Raghu, Uplifter of the fallen.
You and your beloved consort Sita are to be worshipped.
All names of God refer to the same Supreme Being,
including Ishvara and the Muslim Allah.
Oh Lord, Please give peace and brotherhood to everyone,
as we are all your children.
We all request that this eternal wisdom of humankind prevail.
หลักอหิงสา ของมหาตมา คานธี ได้แรงบันดาลใจจากการศึกษาหลักคำสอนของหลากหลายศาสนา ครอบครัวนับถือฮินดู, ในอินเดียยังพบเห็นมุสลิม พราหมณ์ ซิกข์, เดินทางไปศึกษาต่อสหราชอาณาจักรพบเจอคริสเตียน ฯ พยายามค้นหาสัจธรรมที่เป็นจุดร่วมสากล และค้นพบหลักธรรมที่เหมือนๆกันว่า ‘การทำร้ายสิ่งอื่น ประหนึ่งทำร้ายตนเอง’ ตั้งแต่นั้นจึงพยายามไม่เบียดเบียน ละเว้นความรุนแรง ใช้กำลังทำร้ายไม่ใช่แค่เฉพาะกับมนุษย์ แต่ยังทุกสรรพสิ่งมีชีวิตร่วมโลกใบนี้
น่าเสียดายที่หลักอหิงสา ในระดับมหภาคแทบจะไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง ส่วนหนึ่งอาจเพราะขาดผู้นำดีแท้ๆอย่างมหาตมา คานธี เลยไม่สามารถโน้มน้าวชักจูงฝูงชนให้เห็นพ้องคล้อยตาม ด้วยเหตุนี้แนวความคิดดังกล่าวจึงแทบจะเรียกได้ว่า ‘อุดมคติ’ มันคงดีถ้าปัญหาขัดแย้ง สามารถแก้ไขได้โดยสันติวิธี
แต่ถึงจะเป็น ‘อุดมคติ’ เรายังสามารถนำหลายๆแนวคิดของหลักอหิงสา (ที่สอดคล้องกับพุทธศาสนา) มาปรับประยุกต์ใช้ระดับจุลภาค ในชีวิตประจำวันทั่วไป อาทิ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น(และสรรพสัตว์) ฝึกสมาธิให้มีสติ สงบจิตสงบใจ ลดละแก้ปัญหาด้วยกำลัง ความรุนแรง และรู้จักเพียงพอดีในความต้องการตนเอง
ความน่าสนใจในเรื่องราวชีวิตมหาตมา คานธี แม้ได้รับชัยชนะด้วยหลักอหิงสาต่อเภทภัยภายนอก (สหราชอาณาจักร) แต่ท้ายสุดกลับพ่ายแพ้ภัยตนเอง (ประเทศแตกแยก, ถูกลอบฆ่าจากบุคคลคลั่งศาสนา) ผมถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนความตกต่ำทางจิตใจของมนุษย์ชาติ ปฏิเสธความสงบสุข สันติภาพ ไม่ยินยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียม ใครครุ่นคิดเห็นต่างคือศัตรูเท่านั้น และมีเพียงความรุนแรงเท่านั้นเป็นหนทางแก้ปัญหา
ลองเปรียบเทียบกับการเมืองไทย หลายต่อหลายครั้งมีความพยายามที่จะใช้หลักอหิงสา ในการประท้วง เรียกร้อง ทวงคืนประชาธิปไตย แต่น่าจะนับครั้งได้ (จริงๆผมรู้สึกว่ามันไม่มีเลยนะ!) ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา
หลังจากรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมไม่ครุ่นคิดว่าผู้กำกับ Richard Attenborough จะริหาญกล้าเปรียบเทียบตัวเองดั่งมหาตมา คานธี (แบบที่ผู้กำกับระดับ ‘ศิลปิน’ มักนิยมสรรค์สร้างงานศิลปะขั้นสูง) สรรค์สร้าง Gandhi (1982) คงด้วยจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่มหาบุรุษแห่งแดนภารตะ ให้เป็นที่รู้จักต่อชนชาวตะวันตก นำเสนอแนวความคิด ทัศนคติ วิธีการโลกตะลึง ไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่งมันจะเกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึงเหล่านี้ขึ้นได้
ซึ่งการจะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมรู้สึกว่า Attenborough มีความเคารพยกย่องคานธี ในระดับสูงสุด! ส่วนหนึ่งอาจเพราะเขาเป็นชาวอังกฤษ เคยอาสาสมัครรับใช้ชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แรกเริ่มอาจไม่เข้าใจว่าทำไมชายคนนี้ถึงพยายามต่อต้านสหราชอาณาจักร แต่กาลเวลาทำให้ค่อยๆเรียนรู้จักความสำคัญของสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาพเท่าเทียม ซึ่งหลักอหิงสาของคานธี เป็นสิ่งน่าทึ่ง ตกตะลึง คิดได้ไง อุดมคติที่ควรเผยแพร่ มหาบุรุษต้องได้รับการยกย่อง วาดฝันให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ทั่วโลกโหยหาสันติภาพ วิถีชีวิตแบบเพียงพอดี สุขสงบภายในจิตใจ แก้ไขปัญหายุคสมัยนั้น (ทศวรรษ 80s) ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง คอรัปชั่น จิตใจตกต่ำ สังคมเสื่อมทราม นั่นอาจเป็นหนทางออกของอนาคตอันมืดหมองมัว
หนังฉายรอบปฐมทัศน์ที่กรุงเดลี วันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1982 และสองวันถัดมา Royal Premiere ที่ Odeon Leicester Square, กรุง London โดยมี Prince Charles และ Princess Diana เข้าร่วมงาน
ด้วยทุนสร้าง $22 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา $52.7 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั่วโลก $127.8 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยทีเดียว
ขณะที่ในอินเดีย ประเมินกันว่าสามารถทำเงินสูงกว่า ₹100 Crore (มากกว่า 1 พันล้านรูปี) กลายเป็นภาพยนตร์ต่างชาติทำเงินสูงสุด(ในอินเดีย)ขณะนั้น (และอาจจนถึงปัจจุบัน) เทียบค่าเงินเมื่อปี 2015 เท่ากับ $14.9 ล้านเหรียญ
เข้าชิง Oscar 11 สาขา คว้ามา 8 รางวัล ประกอบด้วย
- Best Film
- Best Director
- Best Actor (Ben Kingsley)
- Best Original Screenplay
- Best Cinematography
- Best Editing
- Best Art Direction
- Best Makeup พ่ายให้กับ Quest for Fire
- Best Costume Design
- Best Sound Mixing พ่ายให้กับ E.T. the Extra-Terrestrial
- Best Original Score พ่ายให้กับ E.T. the Extra-Terrestrial
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ Gandhi (1982) สร้างความประหลาดใจให้ผู้ชม/นักวิจารณ์เป็นอย่างมาก ถึงคุณภาพจะยอดเยี่ยมสมราคา(ตามยุคสมัยนั้น) แต่ตัวเต็งหนึ่งคือ E.T. the Extra-Terrestrial ของผู้กำกับ Steven Spielberg กลับพลาดโอกาสครั้งสำคัญนี้ไป แถมเมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ผู้คนยกย่องจดจำ E.T. มากยิ่งกว่า Gandhi เสียอีก!
ส่วนตัวมีความชื่นชอบหนังพอสมควร ประทับใจงานภาพสวยๆ หลากหลายไดเรคชั่นดำเนินเรื่องน่าสนใจ โดยเฉพาะการแสดงราวกับกลับชาติมาเกิดของ Ben Kingsley เกือบๆสมราคา 8 รางวัล Oscar (ถ้าไม่มี E.T. ให้เปรียบเทียบ)
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แนะนำให้ลองศึกษาทำความเข้าใจหลักอหิงสา ของมหาตมา คานธี นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วคุณอาจค้นพบความสุขสงบภายในจิตใจ
จัดเรต PG กับความรุนแรงเล็กๆน้อยๆ ที่พอพบเห็นบ้างประปราย
อินทิรา ไม่ได้บุตรสาวของคานธี ครับ
แต่นางเป็นลูกสาวของเนรูห์ นางแต่งงานกับพิโรช คานธี นางเลยได้ใข้นามสกุลคานธี พิโรช คานธี ไม่ได้เป็นญาติกับคานธี แค่นามสกุลเหมือนกัน