Gaslight (1944) : George Cukor ♥♥♥♡
จุดเริ่มต้นของศัพท์แสลง ‘Gaslighting’ นำเสนอเรื่องราวของ Ingrid Bergman ถูกสามี Charles Boyer ควบคุมครอบงำ ทำการด้อยค่า หลอกปั่นหัว ให้ครุ่นคิดว่าตัวเองเป็นคนบ้า แต่แท้จริงแล้วมีจุดประสงค์อะไรซ่อนเร้น?
เกร็ด: การหลอกปั่นหัว (Gaslighting) คือรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางจิตใจ (psychological manipulation) ด้วยการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความคลางแคลง ฉงนสงสัย ทำให้อีกฝ่ายขาดความเชื่อมั่น ลุ่มหลงผิด ครุ่นคิดไปเอง นำไปสู่วงจรอุบาทว์ของการที่คนอื่นเข้ามาบงการชีวิต จนนานวันเข้าอาจไม่สามารถถอนตัว เพราะเราจะรู้สึกว่าสิ่งที่คนอื่นพูดปั่นหัวเป็นเรื่องจริงขึ้นมาจริงๆ
หลังจากรับชม Spellbound (1945) และ Notorious (1946) ผมมีความกระตือลือล้นอยากหา Gaslight (1944) ผลงานคว้ารางวัล Oscar: Best Actress ของ Ingrid Bergman จะมีความยอดเยี่ยม ตราตรึง น่าประทับใจสักเพียงไหน พอพบเห็นเธอถูก ‘Gaslighting’ แม้งเอ้ย! กัดฟัน อัดอั้น เจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน
อาจเพราะผมเพิ่งรับชมผลงานของ Alfred Hitchcock เลยแอบรู้สึกว่าหลายสิ่งอย่างของ Gaslight (1944) รับอิทธิพลมาไม่น้อย! แต่แม้นักแสดงเล่นดี บทเยี่ยม ออกแบบฉาก คละคลุ้งบรรยากาศหนังนัวร์ กลับเหมือนมีบางสิ่งอย่างขาดหาย ไร้ลูกเล่น ภาษาภาพยนตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ … นี่สินะความแตกต่างระหว่างอัจฉริยะ vs. คนธรรมดา (จริงๆ Cukor ไม่ใช่บุคคลธรรมดาๆ ถือเป็นผู้กำกับระดับ ‘High Profile’ แค่ว่าไม่สามารถเทียบเคียง ห่างชั้นอัจฉริยะอย่าง Hitchcock)
A thriller soaked in paranoia, Gaslight (1944) is a period films noir that, like Hitchcock’s The Lodger (1927) and Hangover Square (1945), is set in the Edwardian age. It’s interesting to speculate about the prominence of a film cycle in the 1940s that can be described as ‘Don’t Trust Your Husband‘. It began with three Hitchcock films: Rebecca (1940), Suspicion (1941), and Shadow of a Doubt (1943), and continued with Gaslight (1944) and Jane Eyre (1944), Dragonwyck (1945), Notorious (1946), The Spiral Staircase (1946), The Two Mrs. Carrolls (1947), Sorry, Wrong Number (1948) and Sleep, My Love (1948). All of these films use the noir visual vocabulary and share the same premise and narrative structure: The life of a rich, sheltered woman is threatened by an older, deranged man, often her husband. In all of them, the house, usually a symbol of sheltered security in Hollywood movies, becomes a trap of terror.
นักวิจารณ์ Emanuel Levy วิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ของหนังนัวร์ ที่มักมีหลายสิ่งอย่างละม้ายคล้ายคลึงกัน
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Anthony Walter Patrick Hamilton (1904-62) นักเขียนนวนิยาย/บทละคอนเวที สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Hassocks, Sussex บิดาคือนักเขียนไส้แห้ง ขี้เมา ชอบใช้ความรุนแรงกับมารดา เลยส่งบุตรชายไปอาศัยอยู่โรงเรียนประจำ พออายุ 15 แต่งบทกวีลงนิตยสาร Poetry Review ตีพิมพ์นวนิยายเล่มแรก Monday Morning (1925), แจ้งเกิดกับบทละคอนเวที Rope (1929) [ได้รับการดัดแปลงภาพยนตร์ Rope (1948) กำกับโดย Alfred Hitchcock]
ทศวรรษ 30s คือช่วงเวลาหายนะของครอบครัว Hamilton เริ่มจากการเสียชีวิตของบิดา, ประสบอุบัติเหตุถูกรถชน ได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้งร่างกาย-จิตใจ ตามด้วยมารดากระทำอัตวินิบาต (เพราะล้มป่วยหนัก ทนทรมานไม่ไหว) เหล่านี้ทำให้เขาต่อต้านสังคม กลายเป็นคนมองโลกแง่ร้าย
ไม่เว้นแม้แต่ภรรยาแสนดี Lois Martin หลังแต่งงานกลายเป็นคนดูแลสถานะการเงิน แนะนำให้ย้ายไปอยู่บ้านชนบทเพื่อลดค่าใช้จ่าย แถมยังพยายามบังคับให้เขาละเลิกการดื่มแอลกอฮอล์ ของมึนเมา ช่วงแรกๆก็ยังรักกันดี แต่พอประสบหายนะทั้งหลาย ก็เริ่มมองพฤติกรรมของเธอในแง่ร้าย กลายมาเป็นบทละคอน Gas Light ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ยัง Richmond Theatre ณ กรุง London วันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1938
ละคอนเวที Gas Light ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีใน West End ทำการแสดงนาน 6 เดือน 141 รอบการแสดง ก่อนได้รับดัดแปลงภาพยนตร์ครั้งแรก Gaslight (1940) กำกับโดย Thorold Dickinson, นำแสดงโดย Anton Walbrook ประกบ Diana Wynyard
แต่ความโด่งดังของบทละคอนนี้เกิดขึ้นเมื่อเดินทางมายัง Broadway (ก่อนหน้านี้เคยไปทำการแสดงที่ Los Angeles ในชื่อ Five Chelsea Lane แต่ประสบความสำเร็จแค่กลางๆ) เปลี่ยนชื่อเป็น Angel Street ทำการแสดงที่ John Golden Theatre ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ปรากฎว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม กลายเป็นหนึ่งในการแสดง Non-Musical ต่อเนื่องยาวนานที่สุดตลอดกาล ด้วยจำนวน 1,295 รอบการแสดง (รอบสุดท้ายวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1944)
ความสำเร็จอย่างล้นหลามของละคอนเวที Broadway ทำให้สตูดิโอ M-G-M แสดงความสนใจดัดแปลง/สร้างใหม่ (Remake) จ่ายค่าลิขสิทธิ์สูงถึง $150,000 เหรียญ พร้อมข้อเรียกร้อง(ข่าวลือ)ทำลายฟีล์มทุกฉบับของ Gaslight (1940) … แต่ทว่ายังหลงเหลือฉบับเก็บไว้ในคลังของ British Film Institute ภายหลังมาทำการบูรณะ ‘digital remaster’ สามารถหารับชมทาง Youtube
ในตอนแรกโปรดิวเซอร์มีความสนใจ Vincente Minnelli ให้มาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แต่ทว่านักเขียนทั้งสอง John Van Druten และ Walter Reisch ต่างพยายามล็อบบี้ George Cukor น่าจะเพราะชื่อเสียงในการกำกับนักแสดงหญิง โดดเด่น โด่งดังกว่าใคร
George Dewey Cukor (1899-1983) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan, New York ในครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพจากประเทศฮังการี ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการเต้น การแสดง เป็นเพื่อนสนิทกับว่าที่โปรดิวเซอร์ดัง David O. Selznick โตขึ้นหนีจากโรงเรียนกฎหมาย ออกมาทำงานผู้ช่วยผู้จัดการโรงละคอน เคยได้กำกับ Broadway ที่มี Bette Davis นำแสดง (แต่ทั้งสองไม่เคยร่วมงานภาพยนตร์กัน เพราะ Cukor ไล่เธอออกจากละคอนเวทีเรื่องนั้น) การมาถึงของยุคหนังพูด เลือกเซ็นสัญญา Paramount Pictures แต่ผลงานแรกกลับถูกยืมตัวไปให้ Universal Pictures ทำงาน Screen Test กำกับบทพูดให้ All Quiet on the Western Front (1930), ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องแรกจริงๆคือ Grumpy (1930), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Royal Family of Broadway (1930), What Price Hollywood? (1932), โด่งดังจากการเป็น ‘Woman’s Director’ อาทิ Little Women (1933), Camille (1936), Holiday (1938), The Philadelphia Story (1940), Gaslight (1944), A Double Life (1947), Adam’s Rib (1949), Born Yesterday (1950), A Star Is Born (1954), คว้ารางวัล Oscar: Best Director จากภาพยนตร์ My Fair Lady (1964) ฯ
ในขณะที่ฉบับปี ค.ศ. 1940 พยายามทำการเคารพต้นฉบับละคอนเวที ไม่ค่อยมีการปรับเปลี่ยนพล็อตเรื่องราวไปจากเดิมมากนัก, Gaslight (1944) ทำการแก้ไขรายละเอียดต่างๆมากมาย เท่าที่ผมพอจะหาข้อมูลได้ ประกอบด้วย
- ปรับเปลี่ยนชื่อตัวละคร
- สามี Jack Manningham ฉบับ 1940 ใช้ชื่อ Paul Mallen/Louis Bauer และฉบับปี ค.ศ. 1944 กลายมาเป็น Gregory Anton/Sergis Bauer
- ภรรยา Bella กลายมาเป็น Paula Alquist Anton
- นักสืบ B. G. Rough กลายมาเป็น Brian Cameron
- สาวใช้ Nancy เพิ่มนามสกุลเป็น Nancy Oliver
- เพิ่มเติมตัวละคร Miss Bessie Thwaites (รับบทโดย Dame May Whitty)
- ต้นฉบับละคอนเวที Paula ไม่ใช่นักร้องอุปรากร หรือมีความสัมพันธ์ใดๆกับเจ้าของเก่าที่ถูกฆาตกรรม เป็นเพียงคู่รักข้าวใหม่ปลามัน เพิ่มย้ายเข้ามาอยู่บ้านหลังนี้
- ตัวละครนักสืบ จากชายสูงวัย อารมณ์ดี ร่างกายอวบอ้วน ชอบสร้างเสียงหัวเราะขบขัน กลายมาเป็นชายหนุ่มหล่อ (รับบทโดย Joseph Cotton) ตกหลุมรักแรกพบ Paula
- ความสำคัญของเข็มกลัด (Brooch) คือที่ซุกซ่อนรูบี้เม็ดงาม แต่ฉบับภาพยนตร์กลับเพียงวัตถุสูญหาย
- ความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับสาวใช้ Nancy แต่ฉบับภาพยนตร์ถูกครอบงำโดย Hays Code เลยไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดอันใด
ความคิดเห็นจากผู้ชมและนักวิจารณ์ หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าหนังฉบับปี ค.ศ. 1940 แม้จะเทียบโปรดักชั่นไม่ได้กับของ MGM แต่ก็มีหลายสิ่งที่โดดเด่นกว่า
Nothing like as lavish as the later MGM version … But in its own small-scale way a superior film by far. Lurking menace hangs in the air like a fog, the atmosphere is electric, and Wynyard suffers exquisitely as she struggles to keep dementia at bay. It’s hardly surprising that MGM tried to destroy the negative of this version when they made their own five years later.
นักวิจารณ์จากนิตยสาร TIME OUT
Paula Alquist (รับบทโดย Ingrid Bergman) เมื่อตอนเป็นสาวแรกรุ่น พบเห็นการเสียชีวิตของคุณย่า Alice Alquist นักร้องอุปรากรชื่อดัง กลายเป็นภาพติดตาฝังใจ พยายามจะลบลืมอดีตอันเลวร้าย ทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจด้วยการแต่งงานกับ Gregory Anton (รับบทโดย Charles Boyer)
แต่เขากลับพยายามโน้มน้าว เกลี้ยกล่อมเกลา ให้หวนกลับมาอาศัยอยู่บ้านหลังเดิม(ที่คุณย่าถูกฆาตกรรม) แล้วค่อยๆหลอกปั่นหัว พูดชี้นำ ควบคุมครอบงำจนหลงเชื่อว่ามีอาการทางจิต ประสาทหลอน ไม่สามารถควบคุมตนเองเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะ … ทั้งหมดนี้ทำไปเพื่ออะไรกัน?
Charles Boyer (1899-1978) นักแสดงสัญชาติ French-American เกิดที่ Figeac, France วัยเด็กเป็นคนขี้อาย แต่ค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียน Paris Conservatory กลายเป็นนักแสดงละคอนเวที มีผลงานภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ L’homme du large (1920), Liliom (1934), Le bonheur (1934), ก่อนอพยพย้ายสู่สหรัฐอเมริกา ผลงานเด่นๆ อาทิ Conquest (1937), Algiers (1938), Love Affair (1939), Hold Back the Dawn (1941), Gaslight (1944), The Earrings of Madame De… (1953) ฯ
รับบท Gregory Anton ชายวัยกลางคนที่ดูนิ่งๆ สีหน้าเย็นชา แต่มีคารมคมคาย สามารถพูดโน้มน้าว เกลี้ยกล่อมเกลา สรรหาสรรพข้ออ้างให้กับแฟนสาว Paula Alquist จนเธอยินยอมตอบตกลงแต่งงาน ชักชวนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยยังบ้านพักหลังเก่า ซึ่งเป็นของคุณย่าผู้ล่วงลับ Alice Alquist โดยมีจุดประสงค์เคลือบแอบแฝงบางอย่าง
ในตอนแรกมีการวางตัวนักแสดง Melvyn Douglas ประกบ Irene Dunne แต่ทว่ายังไม่ทันเริ่มโปรดักชั่น Douglas ตัดสินใจเกณฑ์ทหารเข้าร่วมสงครามโลก Dunne เลยจำต้องถอนตัวออกไปด้วย, ส้มหล่นใส่ Charles Boyer ตัวเลือกถัดไปของโปรดิวเซอร์พอดิบดี
แซว: แม้ว่า Boyer จะสูงพอๆกับ Ingrid Bergman แต่เพราะตัวละครเสมือนว่ามีพลังอำนาจ สามารถควบคุมครอบงำหญิงสาว เขาเลยจำต้องยืนบนกล่อง สวมรองเท้ายกพื้น 2 นิ้ว เพื่อให้แลดูสูงส่งกว่า
มันไม่ใช่ว่า Boyer เล่นไม่ดีหรืออย่างไร แต่ผมรู้สึกว่าภาพลักษณ์/บุคลิกภาพของพี่แกเด่นชัดเจนเกินไป ใบหน้าดูโฉดๆ เหี้ยมโหด มองยังไงก็เหมือนโจรผู้ร้าย! ท่าทางเริดเชิดเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง แถมน้ำเสียงสำเนียงแปลกๆ หยาบกระด้าง ฟังแล้วรำคาญแก้วหู เหมือนถูกข่มขู่ ไร้ความเป็นธรรมชาติ … มีคำเรียกผู้ชายลักษณะนี้ว่าภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic masculinity)
ส่วนการแสดงก็ถ่ายทอดออกมาอย่างรุนแรง ดูคลุ้มคลั่ง หลายครั้งไม่สามารถควบคุมตนเอง ใส่อารมณ์อย่างเว่อวังอลังการ (พี่แกเติบโตมาจากยุคหนังเงียบ ที่เลื่องชื่อในการแสดงออกภาษากาย) ตอนระหว่างพูดหลอกปั่นหัว จึงสร้างความหวาดกลัว อกสั่นขวัญแขวนให้กับตัวละคร(และผู้ชม) ใครกันจะกล้าหือรือ จึงสามารถควบคุมครอบงำภรรยา แทบจะไร้หนทางดิ้นหลบหนี
แต่เท่าที่ผมหาอ่านจากหลายๆความคิดเห็น ส่วนใหญ่จะชื่นชอบ Anton Walbrook จากหนังฉบับปี ค.ศ. 1940 เพราะความแนบเนียน การแสดงที่ดูเป็นธรรมชาติ ไม่ได้มุ่งเน้นแสดงออกทางอารมณ์/ภาษากายเว่อวังอลังการ(แบบ Boyer) สามารถใช้ลีลา ถ้อยคำพูด ควบคุมครอบงำภรรยาโดยที่ผู้ชมอาจถูกล่อหลอกปั่นหัวไปด้วยแบบไม่รู้ตัว … นั่นฟังดูเหนือชั้นกว่ามากๆเลยนะ
Ingrid Bergman (1915-82) นักแสดงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Stockholm มารดาจากไปตั้งแต่ยังไม่รู้เดียงสา บิดาใฝ่ฝันให้บุตรสาวเป็นนักร้องอุปรากร ส่งไปเรียนร้องเพลงตั้งแต่อายุสามขวบ หลังบิดาเสียชีวิตอาศัยอยู่กับลุง-ป้า เข้าศึกษาด้านการแสดง Royal Dramatic Theatre School (โรงเรียนเดียวกับ Greta Garbo) แค่เพียงปิดเทอมแรกก็ได้ทำงานตัวประกอบ Swedish Film Studio ปีถัดมาเลยตัดสินใจลาออก ทุ่มเทเวลาให้กับการแสดงเต็มตัว เครดิตภาพยนตร์เรื่องแรก Munkbrogreven (1935), Intermezzo, (1936), แจ้งเกิดกับ A Woman’s Face (1938) คว้ารางวัล Special Recommendation จากเทศกาลหนังเมือง Venice, เซ็นสัญญาสามปีกับ UFA แต่มีโอกาสแสดงหนังเยอรมันแค่เรื่องเดียว The Four Companions (1939), จากนั้นตอบตกลง David O. Selznick เดินทางสู่ Hollywood เริ่มจากสร้างใหม่ Intermezzo: A Love Story (1939) ตอนนั้นยังพูดอังกฤษไม่ชัดเท่าไหร่ ครุ่นคิดว่าถ่ายเสร็จคงกลับสวีเดน ที่ไหนได้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม, ผลงานเด่นๆ อาทิ Casablanca (1942), For Whom the Bell Tolls (1943), Spellbound (1945), The Bells of St. Mary’s (1945), Notorious (1946), Joan of Arc (1948), Stromboli (1950), Europe ’51 (1952), Journey to Italy (1954), Autumn Sonata (1978), คว้ารางวัล Oscar ทั้งหมดสามครั้ง Gaslight (1944), Anastasia (1956) และสาขาสมทบ Murder on the Orient Express (1974)
เกร็ด: Ingrid Bergman ในชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฟากฝั่ง Female Legends ติดอันดับ #4
รับบท Paula Alquist เมื่อตอนเพิ่งเป็นสาวแรกรุ่น (รับบทโดย Terry Moore อายุ 14 ปี) พบเห็นการเสียชีวิตของคุณย่า Alice Alquist กลายเป็นภาพติดตาฝังใจ พยายามจะลบลืมอดีตเลวร้าย ทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจด้วยการแต่งงานกับ Gregory Anton แต่กลับค่อยๆถูกเขาโน้มน้าว กล่อมเกลา จนยินยอมหวนกลับมาอาศัยอยู่บ้านหลังนั้น แล้วโดยไม่รู้ตัวค่อยๆสูญเสียตนเอง ทำอะไรผิดๆพลาดๆ หลงๆลืมๆ โดนตำหนิต่อว่า สงสัยว่าจะกลายเป็นคนบ้า
Bergman มีความสนอกสนใจบทบาทนี้ตั้งแต่รับชมละคอนเวที พยายามโน้มน้าวโปรดิวเซอร์ David O. Selznick ให้ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ แต่ถูกตั้งข้อต่อรองปรับแก้ไขสัญญาว่าจ้างที่เจ้าตัวไม่เห็นด้วย เลยทำได้เพียงก้มหน้ายินยอมรับโชคชะตา จนกระทั่งสตูดิโอ M-G-M ติดต่อเข้าหา … ไม่รู้เหมือนกันว่าต่อรองอะไรยังถึงได้ตัวมา
โดยปกติแล้ว Bergman มักรับบทสาวแกร่ง มากรัก โหยหาอิสรภาพ (เพราะสอดคล้องเข้ากับบุคลิกภาพของเธอเอง) พอได้ศึกษาตัวละครนี้จริงจังถึงพบว่าแตกต่างจากบทบาทอื่นๆ หญิงสาวผู้มีความเปราะบางทางจิตใจ เลยถูกควบคุมครอบงำ กลายเป็นนกในกรงขัง ค่อยๆสูญสิ้นอิสรภาพ ไม่สามารถดิ้นหลบหนีจากเงื้อมมือสามี ด้วยเหตุนี้เลยเกิดความโล้เล้ลังเล ขาดความเชื่อมั่นว่าจะสามารถแสดงออกมาได้ดี
แต่พอได้รับคำแนะนำจากผกก. Cukor ออกเดินทางไปศึกษาผู้ป่วยยังโรงพยาบาลจิตเวช เกิดความหลงใหลพฤติกรรมแปลกๆของหญิงคนหนึ่ง สายตาวอกแวก ท่าทางลุกลี้ร้อนรน เหมือนกลัวคนจะมาทำร้าย รู้สึกว่าละม้ายคล้ายบทบาทของตนเอง เลยนำมาปรับใช้กับการแสดง ทั้งสีหน้า ดวงตา อากัปกิริยาท่าทาง ค่อยๆนำพาตัวละครดำดิ่งสู่ความสิ้นหวัง
การคว้ารางวัล Oscar: Best Actress สร้างความภาคภูมิใจอย่างมากๆให้กับ Bergman เพราะมองว่านี่คือบทบาทอันท้าทาย “greatest challenges as an actress” แตกต่างจากภาพจำของตนเอง ช่วยเสริมความเชื่อมั่นในการเป็นนักแสดง พิสูจน์ว่าฉันสามารถเล่นเป็นใครอะไรก็ได้ เปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ
Joseph Cheshire Cotten Jr. (1905 – 1994) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Petersburg, Virginia, ตั้งแต่เด็กสนใจด้านการแสดง มีพรสวรรค์ในการเล่าเรื่อง ครอบครัวเลยส่งไปเรียน Hickman School of Expression ที่ Washington, D.C. จบออกมายังหางานไม่ได้ เป็น Lifeguard ที่ Wilcox, ทำงานโฆษณา, นักวิจารณ์, มีโอกาสรู้จักเป็นเพื่อนกับ Orson Welles ให้เสียงพากย์ Radio Drama ตามด้วยแสดงละคอนเวทีประกบ Katharine Hepburn แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Too Much Johnson (หนังสั้นที่ Welles กำกับ) ตามด้วย Citizen Kane (1941), The Magnificent Ambersons (1942), Shadow of a Doubt (1943), Duel in the Sun (1946), Portrait of Jennie (1948), The Third Man (1949) ฯ
รับบทนักสืบ Brian Cameron แม้เมื่อสิบปีก่อนจะยังไม่ได้ทำงาน Scotland Yard แต่ตั้งแต่เด็กมีความลุ่มหลงใหลเสียงร้องอุปรากรของ Alice Alquist และเคยได้รับถุงมือเป็นของขวัญ เมื่อมีโอกาสพบเจอ Paula ที่ใบหน้าละม้ายคล้ายกัน ตระหนักว่ามันต้องมีลับลมคมใน จึงพยายามรื้อฟื้นคดีความ สืบเสาะเบาะแส สอดแนมเห็นความผิดปกติมากมาย
ดั้งเดิมนั้นบทบาทนี้คือชายสูงวัย อารมณ์ดี ร่างกายอวบอ้วน ชอบสร้างเสียงหัวเราะขบขัน เคยติดต่อนักแสดง George Reeves แต่พอถูกเรียกเกณฑ์ทหารเข้าร่วมสงครามโลก โปรดิวเซอร์ Selznick จึงพยายามล็อบบี้นักแสดงในสังกัด Cotton & Bergman เชื่อว่าน่าจะช่วยเพิ่มความสนใจให้กับหนัง
แต่ว่ากันตามตรงการแสดงของ Cotton ไม่มีความน่าจดจำสักเท่าไหร่! ก็คล้ายๆแบบเดิม ‘typecast’ นักข่าว/นักสืบขุดคุ้ยหาข้อเท็จจริง พบเห็นมาตั้งแต่ Citizen Kane (1941) แต่แทนที่จะเต็มไปด้วยความกระตือรือล้น หมกมุ่นกับคดีความ น้ำเสียง แววตา ท่าทางกลับดูเอื่อยๆเฉื่อยๆ เหน็ดเหนื่ออ่อนล้า เหมือนคนขาด ‘passion’ แถมเคมีกับ Bergman ก็ไม่มีอะไรให้สัมผัสจับต้อง คือเอามาแค่ขายความหล่อ เสียดายของแท้ๆ
ในต้นฉบับละคอนเวที รวมถึงภาพยนตร์ปี ค.ศ. 1940 ตัวละครนี้ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรมากมาย ออกมาสร้างเสียงหัวเราะ และขบไขปริศนาคดีความ, แต่พอรับบทโดยนักแสดงหนุ่มหล่อ เกรดเอ มันจึงจำเป็นต้องเพิ่มฉาก ใส่รายละเอียด เพื่อให้คุ้มค่าจ้าง ถึงอย่างนั้นมันก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะเรื่องราวหลักๆหาได้โฟกัสที่ตัวละครนี้ หลายครั้งจึงดูเป็นส่วนเกิน ไม่มีความจำเป็น … Cotton ก็คงรับรู้ข้อจำกัดดังกล่าว จึงไม่ได้มีความกระตือลือร้นกับหนังสักเท่าไหร่
ถ่ายภาพโดย Joseph Ruttenberg (1889-1983) ตากล้องสัญชาติ Russian เกิดที่ Berdychiv, Zhytomyr oblast (ปัจจุบันคือ Ukraine) ในครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพสู่สหรัฐอเมริกันเมื่อปี ค.ศ. 1895, เริ่มทำงานเป็นช่างภาพนิตยสาร Boston Globe ก่อนเข้าร่วมสตูดิโอ Fox Film Coperation ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1915 ถ่ายทำหนังเงียบ แต่เพิ่งมามีชื่อเสียงในยุคหนังพูด Fury (1936), A Day at the Races (1937), Dr. Jekyll and Mr. Hyde (1941), Ziegfeld Girl (1941), Gaslight (1944), Julius Caesar (1953), และสามารถคว้า Oscar: Best Cinematograpy มากถึง 4 ครั้ง The Great Waltz (1938), Mrs. Miniver (1942), Somebody Up There Likes Me (1956) และ Gigi (1958)
งานภาพของหนังคละคลุ้งด้วยกลิ่นอายหนังนัวร์ ทั้งการจัดแสง เงามืด หมอกควัน เพื่อสร้างบรรยากาศลึกลับ หลอกหลอน สำหรับสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจตัวละคร, โดดเด่นกับการออกแบบโปรดักชั่น เสื้อผ้าหน้าผม สถาปัตยกรรมยุคสมัย Victorian (1837-1901) … เรื่องราวมีพื้นหลัง ค.ศ. 1875-85
แม้หนังมีพื้นหลัง Thornton Square, London แต่ทุกช็อตฉากถ่ายทำที่สตูดิโอ Metro-Goldwyn-Mayer Studios, Hollywood ระหว่างกันยายน – ธันวาคม ค.ศ. 1943
ต้องเริ่มที่คำอธิบาย Gas Lighting ผมไม่ค่อยแน่ใจคำแปลภาษาไทย ตะเกียงแก๊ส? โคมไฟแก๊ส? เอาว่ามันคือเทคโนโลยีที่เกิดจากการเผาไหม้ (Combustion) ของแก๊สเชื้อเพลิง (Coal Gas) ที่มาจากท่อส่งแก๊ส สำหรับจุดเตาปรุงอาหาร ตะเกียงส่องแสงสว่าง รวมถึงโคมไฟตามท้องถนนหนทาง
ประดิษฐ์คิดค้นโดย William Murdoch ชาว Scotland ประมาณปี ค.ศ. 1792, เริ่มแพร่หลายสู่กรุง London ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ก่อนเสื่อมความนิยมในศตวรรษถัดมา (ภายหลังการมาถึงของหลอดไฟ Thomas Edison) … เช่นนั้นแล้ว Gas Lighting ถือได้ว่าคือสิ่งสัญลักษณ์แห่งยุคสมัย Victorian Era
ด้วยข้อจำกัดมากมายของสื่อภาพยนตร์ยุคสมัยนั้น การจะเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่จริงมีความยุ่งยากลำบาก ไหนจะการเดินทาง ขนส่ง กล้องขนาดใหญ่เทอะทะ (และเรื่องราวมีพื้นหลังยุคสมัย Victorian Era สถานที่จริงขณะนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปมาก) ด้วยเหตุนี้จึกมักมีการจำลองสร้างฉากขึ้นภายในสตูดิโอ เพื่อให้สามารถควบคุมแสงสว่าง-เงามืด รวมถึงเอ็ฟเฟ็กหมอกควันยามค่ำคืน เพื่อให้ Thornton Square ไม่เพียงดูลึกลับ หลอกหลอน สอดคล้องกับข่าวฆาตกรรม ความตาย คนร้ายยังคงลอยนวล
ปล. ตั้งแต่ภาพแรกของหนัง จะพบเห็นเจ้าหน้าที่กำลังจุดโคมแก๊ส ‘Gas Lighting’ ยามค่ำคืน
หลังเสร็จสิ้นคลาสเรียนร้องเพลง Paula ลงมาพบเจอกับ Anton สังเกตสถานที่ที่พวกเขาสนทนา รายล้อมรอบด้วยเหล็กดัดที่มีลวดลาย … อะไรก็ไม่รู้ … ผมขอเรียกว่าดอกไม้หนามแหลม เพื่อสื่อถึงความรักที่มาพร้อมกับความเจ็บปวด เตรียมที่จะกักขังหญิงสาวให้อยู่ภายใต้การควบคุมครอบงำ
แวบแรกที่ผมเห็น Dame May Whitty รับบหญิงหญิงสูงวัย พูดพร่ำไม่หยุด บนขบวนรถไฟ ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ The Lady Vanishing (1938) ของผกก. Alfred Hitchcock ขึ้นมาโดยทันที! และเนื้อหาในประโยคพูดของคุณย่า ก็มีลักษณะคล้ายๆ Hitchcockian พร่ำรำพันถึงเหตุการณ์ฆาตกรรมเคยบังเกิดขึ้น สร้างความร้อนรน หวาดกังวลให้กับหญิงสาวขึ้นโดยทันที!
วันแรกของการถ่ายทำ Bergman ต้องเข้าฉากโอบกอด จุมพิตอย่างดื่มด่ำกับ Boyer นั่นสร้างความอึดอัด กระอักกระอ่วน แสดงออกแบบเดียวกับตัวละคร (เพราะพวกเขาไม่เคยรับรู้จักกันมาก่อน แรกพบเจอก็ต้องมาจุมพิตกันเสียแล้ว) นั่นกลายเป็นบทเรียนสำคัญชีวิตที่ทำให้ Bergman ปฏิเสธเข้าฉาก Love Scene ในวันแรกของการถ่ายทำ!
แต่หลังจากเรียนรู้จัก เกิดความสนิทสนม แม้ไม่ใช่เพื่อนไปมาหาสู่ Bergman ก็เอ่ยปากชื่นชมถึงความรอบรู้ เฉียวฉลาดของ Boyer เป็นบุคคลที่น่าหลงใหล ผิดแผกแตกต่างจากพระเอกคนอื่นๆโดยสิ้นเชิง
He was widely read and well educated, and so different.
Ingrid Bergman
หนังอาจดูเหมือนเต็มไปด้วย ‘mise-en-scène’ แต่จริงๆแล้วแทบไม่มีอะไรให้กล่าวถึงสักเท่าไหร่ ผกก. Cukor ไม่ได้ให้ความสนใจในลูกเล่น ภาษาภาพยนตร์มากนัก มุ่งเน้นการกำกับนักแสดง สีหน้า ปฏิกิริยาท่าทาง เพียงสร้างสัมผัสบรรยากาศให้กับสถานที่ให้มีกลิ่นอายหนังนัวร์เท่านั้นเอง
ออกแบบงานศิลป์ (Art Direction) โดย Cedric Gibbons, William Ferrari
ตกแต่งภายใน (Interior Decoration) โดย Paul Huldschinsky, Edwin B. Willis
เกร็ด: เฟอร์นิเจอร์ ของสะสม ข้าวของต่างๆในบ้านหลังนี้มันช่างมีมากมายมหาศาล ส่วนใหญ่ไม่ได้มีความจำเป็นอะไร ‘Bric-à-brac’ (คำนี้เพิ่งเริ่มใช้ในยุคสมัย Victoria Era) เพื่อสามารถสื่อถึงอาการป่วยของหญิงสาว ‘claustrophobia’ วิตกกังวลจนอยู่เฉยไม่ได้ หัวใจสั่น อึดอัด คล้ายหายใจไม่ออกเมื่อรู้สึกถูกกักล้อมหรือต้องอยู่ในสถานที่แคบ
ระหว่างออกเดินทางไปเยี่ยมชม Tower of London สายตาของ Gregory มีความลุ่มหลงใหล ตกหลุมรักเพชรเม็ดงาม เครื่องประดับมงกุฎของผู้นำอังกฤษ ขณะนั้นคือ Queen Victoria … นี่เป็นการบอกใบ้สำหรับคนที่ยังไม่ตระหนักถึงเป้าหมาย ความสนใจแท้จริงของชายคนนี้
มีนักแสดงอีกคนที่ต้องกล่าวถึง (Dame) Angela Lansbury (1925-2022) บุตรสาวของนักแสดงอังกฤษชื่อดัง Moyna MacGill อพยพย้ายสู่สหรัฐอเมริกาในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนหน้านี้เธอทำงานห้างสรรพสินค้า Bullocks Department Store แล้วได้รับชักชวนมาทดสอบหน้ากล้อง ทั้งไม่เคยมีความสนใจด้านภาพยนตร์มาก่อน แต่ความสามารถด้านการแสดงถือว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น (Natural-born Actress) ผ่านการคัดเลือกรับบทสาวใช้ Nancy Oliver ด้วยค่าจ้าง $500 เหรียญต่อสัปดาห์ แล้วแจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที และยังได้เข้าชิง Oscar: Best Support Actress
เกร็ด: ด้วยความที่ Lansbury ขณะนั้นอายุเพียง 17 ปี เลยไม่ได้รับอนุญาตให้สูบบุหรี่ ต้องรอคอยจนกระทั่งถึงวันเกิดครบรอบ 18 ปี หลังจาก Ingrid Bergman นำจัดงานเลี้ยง รับประทานเค้กเสร็จ ก็ถ่ายทำฉากนี้โดยทันที!
นี่น่าจะถือเป็นช็อตให้คำนิยามวิธีการ ‘gaslighting’ ถ่ายมุมก้มลงจากตะเกียงแก๊สที่ค่อยๆหรี่ลง (พร้อมเสียงก้าวย่างจากเพดานด้านบน) ส่งผลกระทบต่อหญิงสาว เกิดความกลัว หวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดว่าฉันสติหลอน จิตใจไม่สมประกอบ สูญเสียความเชื่อมั่น เพราะไม่สามารถหาคำตอบเหตุการณ์เหนือธรรมชาติบังเกิดขึ้น!
วิธีการที่หญิงสาวจะรักษาหายจากการถูก ‘gaslighting’ คือเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริง เข้าใจเหตุผลทำไมแสงไฟถึงติดๆดับๆ ได้ยินเสียงฝีเท้าของผู้ใด และที่สุดคือเผชิญหน้ากับบุคคลนั้น สร้างกำแพงขึ้นมาขวางกั้น เอาชนะความหวาดกลัว ลุกขึ้นยืนด้วยลำแข้งของตนเอง
ผมนึกถึงคำคมของโคนันยอดนักสืบ เลยคาดว่าน่าจะเป็นสำนวนญี่ปุ่น “หากจะซ่อนใบไม้ ให้ซ่อนไว้ในป่า” สอดคล้องเข้าสถานที่เก็บซ่อนเพชรเม็ดงาม ก็แค่ประดับไว้ในเสื้อผ้าสวมใส่ ไอ้โจรคนนี้มันก็ไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ แค่บังเอิญยามค่ำคืนหลังปิดตะเกียงแก๊ส ถึงสามารถพบเจอเพชรสะท้อนแสงจันทรา
This night will be a long night. But it will end. It’s starting to clear. In the morning, when the sun rises, sometimes it’s hard to believe there ever was a night. You’ll find that, too.
Brian Cameron
ตอนจบของหนังเป็นอะไรที่ผมแทบสำลัก คำกล่าวของ Cameron ยุคสมัยนั้นอาจฟังดูงดงาม โรแมนติก ท้องฟ้ายามค่ำคืนมืดมิด แต่อีกไม่นานเมื่อตะวันปรากฎบนขอบฟ้า ทุกสิ่งอย่างจักสว่างสดใส ราวกับไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น … แม้งโคตรน้ำเน่า เฉิ่มเชยชิบหาย รู้สึกเหมือนถูกยัดเยียดข้อคิด ‘gaslighting’ จากผู้สร้างภาพยนตร์!
ตัดต่อโดย Ralph E. Winters (1909-2004) สัญชาติ Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario เดินทางมาทำงานยัง Hollywood เริ่มต้นจากหนังเกรดบี ก่อนแจ้งเกิดกับ Gaslight (1944), ผลงานเด่นๆ อาทิ On the Town (1949), King Solomon’s Mines (1950), Quo Vadis (1951), Seven Brides for Seven Brothers (1954), Ben-Hur (1959), The Pink Panther (1963) ฯ
ต้นฉบับละคอนเวที เห็นว่ามีเพียงฉากเดียวเท่านั้นคือบ้านพักนางเอก มุ่งเน้นนำเสนอสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตวิทยาตัวละครที่ค่อยๆผันแปรเปลี่ยนจากการถูกหลอกปั่นหัว, ส่วนฉบับภาพยนตร์ไม่ได้จำเพาะเจาะจงมุมมองของ Paula Alquist หลายๆครั้งสลับสับเปลี่ยนมาเป็นนักสืบ Brian Cameron ทำให้หนังมีส่วนผสมของการสืบสวนสอบสวน ค้นหาเบื้องหลัง ข้อเท็จจริง
- อารัมบท, สิบปีก่อนเกิดคดีฆาตกรรม Alice Alquist ณ Thornton Square ทำให้หลานสาววัย 14 ปี Paula Alquist ตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านหลังนี้
- เรื่องราวความรักของ Paula
- Paula เข้าเรียนสอนร้องเพลงครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นตั้งใจจะแต่งงาน
- นัดพบเจอ Gregory Anton ร่วมรับประทานอาหาร Paula วางแผนจะไปท่องเที่ยวพักผ่อน
- ระหว่างเดินทางบนรถไฟ พบเจอกับคุณย่า Miss Bessie Thwaites
- แต่พอมาถึงสถานีปลายทาง Gregory Anton กลับมารอพบเจอ สร้างเซอร์ไพรส์ ตอบตกลงแต่งงาน
- หวนกลับมาบ้าน ณ Thornton Square
- หลังแต่งงาน Gregory โน้มน้าวให้ Paula กลับมาพักอาศัยอยู่บ้าน ณ Thornton Square
- ระหว่างอยู่ในห้องนั่งเล่น Paula หวนระลึกถึงความตายของคุณย่า Alice ทำให้ Gregory อาสานำทุกสิ่งอย่างไปจัดเก็บในห้องใต้หลังคา
- Gregory ว่าจ้างสาวใช้ Nancy ให้คอยชี้นำ ครอบงำ Paula
- ระหว่างแวะเวียนไปเยี่ยมชม Tower of London โดยไม่รู้ตัว Paula ทำเข็มกลัด (Brooch) สูญหาย
- ขณะเดียวกันพบเจอ(นักสืบ) Brian Cameron ทักคนผิด ครุ่นคิดว่า Paula คือ Alice Alquist
- ความผิดปกติของ Paula
- Miss Thwaites เล่าความผิดปกติให้กับนักสืบ Cameron สังเกตเห็นว่า Paula แทบไม่เคยก้าวออกจากบ้าน
- นักสืบ Cameron ต้องการจะรื้อฟื้นคดีฆาตกรรม Alice แต่ถูกทัดทานโดยหัวหน้า
- Gregory ทำการครอบงำ Paula กล่าวหาว่าเธอคือหัวขโมยภาพวาดที่หายไปจากฝาผนัง แล้วออกคำสั่งไม่ยินยอมให้เธอเข้าร่วมงานสังคม
- แต่ทว่า Paula มีความต้องการอย่างแรงกล้าจะเข้าร่วมคอนเสิร์ต ถึงอย่างนั้นเธอกลับถูกสามีปั่นหัวเรื่องนาฬิกาสูญหาย จนไม่สามารถควบคุมตนเองระหว่างการแสดง
- พอกลับมาบ้านก็ถูกปลูกฝังความคิดว่าตนเองเป็นคนบ้า ไม่สามารถควบคุมตนเอง
- ใครคือ Sergis Bauer?
- นักสืบ Cameron ทำการสอดแนม Gregory ยามค่ำคืนออกจากบ้านแล้วสูญหายตัวไปไหน?
- นักสืบ Cameron บุกเข้าไปในบ้านระหว่างที่ Gregory ออกไปยามค่ำคืน พูดคุยกับ Paula อธิบายเบื้องหลัง ข้อเท็จ ใครคือ Sergis Bauer?
- Gregory หลังจากค้นพบสิ่งที่ค้นหา เผชิญหน้ากับ Paula ต้องการที่จะฆ่าปิดปาก ก่อนได้รับความช่วยเหลือจาก Cameron
- หลังจากถูกจับกุม Paula เผชิญหน้ากับ Gregory และในที่สุดก็สามารถเอาชนะความกลัวที่มี
ผมเคยอธิบายไปแล้วว่าการมาถึงของนักแสดงเกรดเอ Joseph Cotton มันมีความจำเป็นต้องเพิ่มฉาก ใส่รายละเอียดให้กับนักสืบ Cameron ซึ่งทำให้การโฟกัสที่สภาพจิตวิทยาตัวละครลดน้อยลง เรื่องราวขาดความต่อเนื่องลื่นไหล ตัดสลับกลับไปกลับมา นี่คือข้อแลกเปลี่ยนที่นักแสดง(เกรดเอ)คนหนึ่ง ทำให้กายภาพของหนังปรับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
เพลงประกอบโดย Bronisław Kaper (1902-83) สัญชาติ Polish เกิดที่ Warsaw, Poland ในครอบครัว Ashkenazi Jewish เริ่มหัดเล่นเปียโนตั้งแต่อายุหกขวบ โตขึ้นเข้าเรียนการแต่งเพลง Warsaw Conservatory และยังศึกษากฎหมาย Warsaw University (ตามคำร้องขอบิดา) พอจบออกมามุ่งสู่ Berlin ทำงานในแวดวงละคอนเวที การมาถึงของ Nazi จึงอพยพย้ายสู่ Paris ก่อนเซ็นสัญญา MGM มุ่งสู่ Hollywood แจ้งเกิดกับ A Night at the Opera (1935), A Day at the Races (1937), Gaslight (1944), The Stranger (1946), Lili (1953), The Brothers Karamazov (1958), Mutiny on the Bounty (1962) ฯ
นอกจาก ‘diegestic music’ ได้ยินเสียงขับร้อง บรรเลงเปียโน หรือการแสดงคอนเสิร์ต, เมื่อไหร่ที่หนังมีบรรยากาศทะมึน อึมครึม เหมือนสิ่งชั่วร้ายกำลังคืบคลานเข้ามา หรือขณะตัวละครกำลังถูกปั่นหัว จิตใจสั่นไหว บทเพลงของ Kaper มักคลอประกอบพื้นหลังเบาๆ หรือไม่ก็ดังขึ้นมาปลุกเร้าอารมณ์แล้วก็เงียบหายไป
หลากหลายความเห็นของผู้ชมในส่วนของเพลงประกอบ ต่างบอกว่าฉบับของ Richard Addinsell เมื่อปี ค.ศ. 1940 มีความหลอกหลอน ไพเราะเพราะพริ้ง น่าจดจำกว่ามากๆ ขณะที่ผกก. Cukor ดูจะให้ความสำคัญกับ Beethoven, Chopin, Donizette และ Strauss II หลงใหลบทเพลงคลาสสิกมากกว่า … เพื่อให้สอดคล้องตัวละครเป็นนักร้องอุปรากร
- Gaetano Donizette: Lucia Di Lammermoor (1835) แปลว่า Lucia of Lammermoor อุปรากรโศกนาฎกรรมสามองก์ ดัดแปลงหยาบๆจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ The Bride of Lammermoor (1819) ประพันธ์โดย Sir Walter Scott
- บทเพลงที่ตัวละครของ Ingrid Bergman ขับร้องอุปรากรตอนต้นเรื่องคือ Il dolce suono (แปลว่า The Sweet Sound) อยู่ใน Act 3 Scene 2 หรือใครๆมักเรียกว่า ‘Mad Scene’ เป็นฉากที่ Lucia กลายเป็นบ้า
- ตัวละคร Bergman ขับร้องบทเพลงนี้ด้วยท่วงทำนองหวานแวว โรแมนติก (เพราะชายคนรักบรรเลงเปียโนอยู่เคียงข้าง) ซึ่งผิดกับวัตถุประสงค์แท้จริงของของบทเพลงที่เต็มไปด้วยอารมณ์คลุ้มคลั่ง สูญเสียสติแตก แต่ต้องถือเป็นการบอกใบ้ พยากรณ์อนาคต เพราะความสุขในครั้งนี้จักเปลี่ยนแปรสภาพสู่ขุมนรก
- แม้ว่า Bergman จะเคยฝึกฝนขับร้องอุปรากรมาตั้งแต่เด็ก แต่เธอก็เหินห่างมานาน ท่าทางยังได้อยู่ แต่บุคคลขับร้องคือ Marni Nixon (1930-2016) เจ้าของเสียง Soprano ที่มักเป็น ‘ghost singer’ ให้นักแสดง Hollywood หลายเรื่องทีเดียว อาทิ Deborah Kerr ภาพยนตร์ The King and I (1956), Natalie Wood เรื่อง West Side Story (1961), โดยเฉพาะ Audrey Hepburn ผลงาน My Fair Lady (1964)
- บทเพลงที่ตัวละครของ Ingrid Bergman ขับร้องอุปรากรตอนต้นเรื่องคือ Il dolce suono (แปลว่า The Sweet Sound) อยู่ใน Act 3 Scene 2 หรือใครๆมักเรียกว่า ‘Mad Scene’ เป็นฉากที่ Lucia กลายเป็นบ้า
- The Last Rose of Summer
- Gregory เล่นเปียโนให้กับ Paula หลังเสร็จสิ้นฮันนีมูน กลับมาปักหลักอาศัยอยู่บ้านที่ Thornton Square
- Johann Strauss II: Die Fledermaus (1874)
- Gregory เล่นเปียโนให้กับ Paula (จะมีฮัมเสียงตามด้วย) ระหว่างที่ Brian กับ Miss Thwaites ต้องการพบเจอ Paula แต่กลับถูกปฏิเสธ
- Ruggero Leoncavallo: Mattinata (1904) แปลว่า Morning ถือเป็นบทเพลงแรกของโลกที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับบันทึกเสียง Gramophone
- ดังขึ้นในคอนเสิร์ตก่อนการมาถึงของ Gregory และ Paula
- ระหว่างการแสดงเดี่ยวเปียโนโดย Jakob Gimpel จะเริ่มต้นด้วย Beethoven ก่อนเปลี่ยนเป็น Chopin แล้วยังมีการกระโดดข้ามอย่างเนียนๆ
- Beethoven: Piano Sonata No.8 in C minor, Op.13 (1798-99) หรือที่ใครๆรับรู้จักในชื่อ Sonata Pathétique บทเพลงแห่งความน่าสงสารเห็นใจ (pathetic) เอ่อล้นด้วยอารมณ์หลากหลาย รุนแรง ควบคุมคาดเดาไม่ได้ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวบรรเลงท่วงทำนองอันบ้าคลั่ง ก่อนจมปลักอยู่ในความห่อเหี่ยว ท้อแท้สิ้นหวัง … นี่กล่าวถึงแค่ท่อนแรก I. Grave — Allegro di molto e con brio แต่หนังนำมาใช้จริงๆแค่เริ่มต้น อารัมบทเพลงเท่านั้นเอง
- Frédéric Chopin: Ballade No. 1 in G minor, Op. 23 (1835-36) เป็นบทเพลงมอบสัมผัสโหยหา ต้องการครอบครองบางสิ่งอย่าง แต่กลับมิอาจเอื้อมมือไขว่คว้า จึงตกอยู่ในความมืดมิด สิ้นหวัง
- เพลงนี้แต่งขึ้นเมื่อตอนที่ Chopin เพิ่งอกหัก (ตอนอายุ 21 ปี) เลยรำพันความเจ็บปวด ทุกข์เศร้าโศกเสียใจ ยังคงโหยหา คร่ำครวญ คิดถึงเธอผู้ลาจากไป
แม้ในหนังจะมีการเปลี่ยนบทเพลงระหว่างการคอนเสิร์ตที่แนบเนียน แต่สำหรับคนดนตรีอาจรู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจ มันไม่ได้มีความจำเป็นสักเท่าไหร่ นั่นเพราะท่วงทำนองของ Beethoven: Sonata Pathétique มีความสอดคล้องเข้ากับเรื่องราวกำลังจะบังเกิดขึ้นอยู่แล้ว (ที่นางเอกกำลังจะไม่สามารถควบคุมตนเอง เพราะถูกปั่นหัวโดยสามี)
แต่ผมก็เข้าใจเหตุผลเล็กๆว่า Beethoven: Sonata Pathétique มันมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่หลากหลาย ราวกับพายุโหมกระหน่ำ (เหมาะกับการเริ่มต้นอารมณ์ตื่นตกใจ ฉงนสงสัย) ผิดกับ Chopin: Ballade No. 1 in G minor เริ่มต้นด้วยความละมุน นุ่มนวล พร่ำรำพันความรัก ก่อนค่อยๆไต่ไล่ระดับ จนมิอาจอดกลั้นฝืนทน แล้วค่อยระบายอารมณ์คลุ้มบ้าคลั่งออกมา
Gaslight นำเสนอเรื่องราวของหญิงสาวที่ถูกควบคุมครอบงำ ด้วยถ้อยคำหลอกปั่นหัว ทำให้เกิดอาการหลงผิด ครุ่นคิดมาก เชื่อว่าฉันเป็นอย่างที่อีกฝ่ายว่ากล่าวไว้ โดยไม่พินิจพิจารณาถึงความถูกต้องเหมาะสม สภาพจิตใจจึงค่อยๆตกต่ำทรามลง จนสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาในตนเอง
“อย่าให้คำพูดของใคร ทำลายคุณค่าในตัวของคุณเอง”
สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าฉบับภาพยนตร์ Gaslight (1944) น่าจะทำได้ดีกว่าต้นฉบับละคอนเวที คือการนำเสนอเบื้องหลัง ปมจากอดีต พบเห็นความตายคุณย่าต่อหน้าต่อตา ซึ่งช่วยให้การถูกหลอกปั่นหัว และอาการเสียสติแตกของหญิงสาวมีความน่าเชื่อถือ สมเหตุสมผลยิ่งขึ้น … ด้วยเหตุนี้ศัพท์แสลง ‘gaslighting’ จึงเริ่มต้นจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ใช่ฉบับละคอนเวทีหรือหนังปี ค.ศ. 1940
แต่เอาจริงๆมันไม่จำเป็นว่าเราต้องมีปมจากอดีตถึงถูก ‘gaslighting’ ใครๆก็สามารถโดนหลอก ปั่นหัว หลงเชื่อ คล้ายๆแบบพวกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ พวกมันรับรู้จุดอ่อน/ความละโมบโลภมากของมนุษย์ จึงพยายามพูดเกลี้ยกล่อม ล่อหลอก ควบคุมครอบงำ จี้แทงใจดำ จนพลั้งเผลอลืมตัว กระทำสิ่งสร้างความเสียหายแก่ตนเอง
แม้เรื่องราวของหนังมีความจำเพาะเจาะจงถึงภาวะชายเป็นพิษ (Toxic masculinity) แต่การถูก ‘gaslighting’ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงเพศสภาพ หญิงสาวครอบงำบุรุษก็มีมากมายถมไป! ชาย-ชาย หญิง-หญิง หรือแม้แต่พ่อ/แม่-ลูก โดยเป้าหมายส่วนใหญ่มักเกิดจากความต้องการครอบครองอะไรบางอย่างของอีกฝ่าย ไม่ก็พยายามสำแดงอำนาจ อวดอ้างบารมี … ไม่ใช่แค่บุคคลถูก ‘gaslighting’ ที่มีปัญหาจิตใจอ่อนแอ แต่คนที่พยายามหลอกปั่นหัวผู้อื่น ย่อมไม่ใช่คนจิตปกติเช่นเดียวกัน!
Patrick Hamilton เขียนบทละคร Gas Light ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1938 เพื่อระบายความรู้สึกอัดอั้น หลงผิด ครุ่นคิดว่าตนเองถูกควบคุมครอบงำ หลอกปั่นหัวโดยภรรยา แท้จริงแล้วน่าจะเกิดจากอาการซึมเศร้า (Depression) รอยแผลเป็นในใจ (Trauma) ของเขาเองมากกว่า … อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าทศวรรษ 30s คือช่วงเวลาที่เขาสูญเสียทั้งบิดา-มารดา ถูกรถชนได้รับบาดเจ็บสาหัส ทนทุกข์ทรมานอยู่ในโรงพยาบาลหลายเดือน งานเขียนของ Hamilton จึงหันเข้าหาด้านมืด มองโลกในแง่ร้าย ผจญหายนะทางอารมณ์ ตกอยู่ในความหดหู่ สิ้นหวัง
และแม้อาจไม่ใช่ความตั้งใจของ Hamilton แต่เรื่องราวเกี่ยวกับการใช้คำพูดโน้มน้าว เกลี้ยกล่อม ล่อหลอก ปั่นหัว จนใครอื่นเกิดความหลงเชื่อผิดๆ มันช่างละม้ายคล้าย Adolf Hitler กระทำการ ‘gaslighting’ ไม่ใช่รมแก๊สชาวยิวนะครับ แต่คือการชวนเชื่อ สร้างค่านิยมให้ชาวเยอรมันภาคภูมิใจในความเป็นอารยัน ต้องการยึดครอบครอง แผ่ขยายอุดมการณ์ กลายเป็นหมาอำนาจ จ้าวโลก!
แซว: เมื่อปี ค.ศ. 2016 นักข่าวชาวอเมริกันมีการเลือกใช้คำว่า ‘gaslighting’ อธิบายพฤติกรรม/การกระทำของ Donald Trump ระหว่างการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี … นี่แสดงให้ถึงวิวัฒนาการจากศัพท์แสลง ภาษาปาก (Colloquialism) กลายมาเป็นคำสามัญไปเรียบร้อยแล้วละ
ด้วยทุนสร้าง $2 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $2.263 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $4.61 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จ ได้กำไรกลับคืนมาไม่น้อย
ช่วงปลายปีได้เข้าชิง Oscar จำนวน 7 สาขา สามารถคว้ามา 2 รางวัล ประกอบด้วย
- Best Motion Picture พ่ายให้กับ Going My Way (1944)
- Best Actor (Charles Boyer)
- Best Actress (Ingrid Bergman) ** คว้ารางวัล
- Best Supporting Actress (Angela Lansbury)
- Best (Adapted) Screenplay
- Best Art Direction – Black-and-White ** คว้ารางวัล
- Best Cinematography – Black-and-White
นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมสายการประกวด (in-Competition) เทศกาลหนังเมือง Cannes ครั้งที่ #1 จัดขึ้นระหว่าง 20 กันยายน – 5 ตุลาคม ค.ศ. 1946 แต่น่าเสียดายไม่ได้รางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับมา
ปัจจุบันยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ แต่ทว่า Warner Archive Collection ได้ทำการสแกนใหม่ 4K Digital Transfer เมื่อปี ค.ศ. 2019 คุณภาพถือว่ายอดเยี่ยม นั่นแสดงว่า MGM จัดเก็บฟีล์มต้นฉบับไว้อย่างดี
ถึงผมจะรู้สึกว่าหนังนัวร์ไม่ใช่แนวถนัดของผกก. Cukor (โด่งดังจากหนังแนว Comedy, Drama) แต่การกำกับนักแสดง (ได้รับฉายา ‘woman’s director’) ทำออกมาอย่างยอดเยี่ยม ส่งให้ Ingrid Bergman คว้ารางวัล Oscar: Best Actress แค่นั้นก็ถือว่าน่าพึงพอใจมากๆ
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศทะมึนๆ ด้านมืดตัวละคร การหลอกปั่นหัว (gaslighting)
Leave a Reply